http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนพฤศจิกายน 2563]

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับมาทรงตัว หลังแข็งค่าเร็วต้นเดือน-สัปดาห์นี้ต้องจับตาการปรับสถานะของนักลงทุนในช่วงสิ้นปี

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 30.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 30.20-30.40 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์  ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO)ระบุว่าในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าตลาดจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เพื่อรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐ

โดยในวันอังคาร จะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) คาดว่าจะปรับตัวลงมาที่ระดับ 57.0จุด จากเดิม 59.3จุด เนื่องจากการลงทุนชะลอตัวลง แต่โดยรวมถือว่าฟื้นตัวได้ดีจากยอดสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ต่อด้วยในวันพุธ รายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP Employment) คาดว่าจะฟื้นตัวที่ระดับ 4.2 แสนตำแหน่ง และในวันพฤหัส คาดตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (Initial Jobless Claims) จะลดลงมาที่ระดับ 7.65 แสนตำแหน่ง

วันศุกร์ คาดว่าเงินเฟ้อไทย (Thailand CPI) จะรายงานหดตัว 0.4% จากเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ที่ขยายตัวต่ำเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ไฮไลท์อยู่ที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (US Nonfarm Payrolls) ในคืนวันศุกร์ คาดว่าจะขยายตัว 5.0 แสนตำแหน่ง ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานปรับตัวมาที่ 6.8% อย่างไรก็ดีตัวเลขในตลาดแรงงานดังกล่าวชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐพื้นตัวช้าลงกว่าในช่วงไตรมาสที่สามมาก

ส่วนในตลาดเงิน ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องในสัปดาห์ก่อนล่าสุดแต่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2018 ในสัปดาห์นี้ มีความเสี่ยงจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ชะลอลงหลังการระบาดของไวรัสมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงต้องระวังว่าถ้าช่วงปลายปีไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ตลาดอาจปิดรับความเสี่ยงลงซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์พลิกแข็งค่ากลับได้

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 91.0-93.0จุด ระดับปัจจุบัน 91.8 จุด

ฝั่งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท หลังจากแข็งค่าเร็วในช่วงต้นเดือนก็ทรงตัวมาตลอดเช่นเดียวกันกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ สัปดาห์นี้ต้องจับตาการปรับสถานะของนักลงทุนในช่วงสิ้นปี แม้มุมมองหลักยังคงเห็นว่าสินทรัพย์ทางการเงินในฝั่งเอเชียมีความน่าสนใจเพราะมีกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไปจนถึงช่วงไตรมาสที่หนึ่งปีหน้า แต่ถ้าตลาดเริ่มระวังตัวว่าเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกจะยังไม่ฟื้นตัวดี ก็อาจเกิดแรงขายทำกำไรในเอเชียด้วยเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ส่อง 8 ร่างกฎหมาย ยกเครื่องอุตสาหกรรม ‘อ้อย-น้ำตาล’

“อ้อย” พืชเศรษฐกิจสำคัญ มูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสูงถึงปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมากกว่า 4 แสนครัวเรือน

ขณะเดียวกันก็ถือเป็นพืชการเมืองในตัวเองในยุคราคาตกต่ำมักจะเห็นได้จากการชุมนุมใหญ่เรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยเหลือ กระทั่งเกิด พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยการนำระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 มาใช้

กล่าวคือ เมื่อตัดอ้อยเข้าโรงงานหรือที่เรียกว่าการหีบอ้อยเป็นน้ำตาลทราย จนไปสู่ระบบการขายในประเทศและส่งออก รายได้ทั้งหมดจะแบ่งให้ชาวไร่ 70% และโรงงาน 30%

แต่ในระยะ 4-5 ปีมานี้ ปัญหาของอุตสาหกรรมนี้มีปัญหาสะสมมากขึ้น

ด้านหนึ่งเริ่มเมื่อปี 2559 บราซิลแจ้งต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) กล่าวหาไทยการสร้างระบบและ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่กำหนดให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงในทุกกระบวนการ โดยส่งออกน้ำตาลไปทุ่มตลาดโลกในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จนเกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งกล่าวหารัฐบาลไทยยังอุดหนุนเกษตรกรและโรงงานน้ำตาล อาทิ อนุมัติให้จ่ายเงินเพิ่มให้กับชาวไร่อ้อย หรือให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินมาจ่ายเงินเพิ่มให้ชาวไร่อ้อย และปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ การอุดหนุนปัจจัยการผลิตเกินกว่าที่ตกลงไว้กับดับเบิลยูทีโอรวมไปถึงอุดหนุนเอทานอลที่ส่วนใหญ่ผลิตจากกากน้ำตาลด้วย

ต่อมารัฐบาลเจรจากับบราซิล สัญญาว่าจะแก้ไขตามที่บราซิลเรียกร้อง รวมทั้งยกร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ แต่ในระหว่างที่กฎหมายฉบับใหม่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อปี 2561 รัฐบาลได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.และระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายขึ้นมาใช้เป็นกติกาชั่วคราวไปก่อน

ผลกระทบจากมาตรการชั่วคราวทำให้ราคาน้ำตาลภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาลดลงอย่างมาก ผลผลิตอ้อยราคาตกต่ำ

ซ้ำร้ายการบริโภคน้ำตาลทรายของโลกในระยะหลังยังมีแนวโน้มลดลง กดดันราคายิ่งขึ้นไปอีก

ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายได้รับบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมนี้เรียบร้อยแล้ว และมีจำนวนมากถึง 8 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างกฎหมายของรัฐบาล ร่างกฎหมายที่เสนอโดยรัฐมนตรี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน 6 ฉบับ และร่างกฎหมายเสนอโดยองค์กรชาวไร่อ้อยและชาวไร่อ้อยอีก 1 ฉบับ

เป้าหมายหลักของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ เพื่อลดแรงกดดันจากการฟ้องร้องของบราซิล รวมทั้งคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาราคาอ้อยที่ลดลงอย่างมาก และมีแนวโน้มจะต่ำไปอีก

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ของรัฐบาล เสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย 2527 กลับพบว่าปรับแก้ในสาระสำคัญเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขประเด็นปลีกย่อย ไม่ได้แตะการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม และระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในปัจจุบันแต่อย่างใด

ขณะที่ร่างกฎหมายเสนอโดยองค์กรชาวไร่อ้อย 4 องค์กรและชาวไร่อ้อย เสนอแก้ไขหรือเพิ่มนิยามคำว่า “อ้อย” “น้ำตาลทราย” และให้รวม “น้ำอ้อย” ด้วย และ “ผลพลอยได้” ให้รวม “กากอ้อย/กากตะกอนกรอง” เข้าไปด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในการคำนวณส่วนแบ่งผลประโยชน์ให้รวมน้ำอ้อยและผลพลอยได้อื่นๆ ด้วย

พร้อมทั้งเสนอเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิให้มีความยืดหยุ่นขึ้น และลดเงื่อนไขที่เคยกำหนดให้ต้องมาจากหน่วยราชการต่างๆ และเพิ่มจำนวนตัวแทนชาวไร่และโรงงาน

ส่วนสาระสำคัญของร่างอื่นๆ อีก 6 ฉบับร่างอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดกับร่างขององค์กรชาวไร่อ้อย แต่มีจุดร่วมที่สำคัญอยู่ที่ 2 ประเด็นหลักๆ คือ เสนอแก้หรือเพิ่มนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” ให้รวม “น้ำอ้อย” และนิยามคำว่า “ผลพลอยได้” ให้รวม “กากอ้อย” และ “เอทานอล” เข้าไปด้วย

เป้าหมายขององค์กรชาวไร่อ้อยและอีก 6 ร่างดังกล่าวสะท้อนความพยายามในการปรับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้มาบรรเทาปัญหาราคาอ้อยที่มีแนวโน้มตกต่ำลง

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เสนอข้อสรุปต่อร่างกฎหมายทั้ง 8 ฉบับ ว่าเมื่อพิจารณาร่างกฎหมายของรัฐบาลมีการแก้ไขในส่วนที่เป็นประเด็นทางเทคนิค และประเด็นปลีกย่อยเป็นหลัก แทบจะไม่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการที่ไทยดำเนินการในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ร่างรัฐบาลเสนอแก้บางประเด็นอาจเกินความจำเป็น เช่น ตัดที่มาของเงินกองทุนจากรัฐ หรือในกรณีค่าอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้น ให้นำส่วนต่างไปหักจากค่าอ้อยในปีถัดไป อาจซ้ำเติมปัญหาเสถียรภาพราคาอ้อยให้แย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาตกต่ำต่อเนื่อง

สำหรับร่างขององค์กรชาวไร่อ้อยประชาชน และร่างของ ส.ส.อีก 6 ฉบับ หลายฉบับพยายามแก้ปัญหาราคาอ้อยที่ตกต่ำ โดยพยายามเพิ่มน้ำอ้อยและผลพลอยได้เข้ามาในการคำนวณราคาอ้อยด้วย แต่ปัญหาร่วมของทุกร่างคือ แต่ละร่างไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ใน พ.ร.บ. ทำให้ถึงแม้ในกรณีที่สามารถแก้ไข พ.ร.บ.ตามร่างที่เสนอก็จะยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ จนกว่าจะมีการดำเนินการออกกฎหมายลูก ประกาศ ระเบียบต่างๆ ขึ้นมาแทนของเดิม ซึ่งต้องไปเจรจาต่อรองกัน จากประสบการณ์ในช่วงกว่า 36 ปีของการใช้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายชี้ให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนระบบโดยวิธีนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก

ดร.วิโรจน์มีข้อเสนอแนะว่า วิธีหนึ่งที่จะทำให้การแก้ พ.ร.บ.ครั้งนี้ช่วยแก้ปัญหาราคาอ้อย คือการเพิ่มสูตรการคำนวณที่ใช้เกณฑ์มาตรฐานและเชื่อมโยงกับข้อมูลที่หาได้ง่าย และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปเข้าไปใน พ.ร.บ. ซึ่งคณะวิจัยเคยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้ และสามารถนำมาปรับเพิ่มเข้าไปในการแก้ไขครั้งนี้ได้โดยไม่ยาก

นอกจากนี้ การมีกองทุนรักษาเสถียรภาพของระบบจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย จึงควรแยกบัญชีกองทุนรักษาเสถียรภาพออกมาเป็นบัญชีเฉพาะ และกำหนดกติกาการเก็บเงินและจ่ายเงินให้ชัดเจน โดยใช้หลักและเครื่องมือทางสถิติมาช่วย โดยตั้งเป้าหมายให้เงินออกเท่ากับเงินเข้าในระยะยาว หากกองทุนนี้รักษาวินัยไว้ได้ก็น่าจะสามารถกู้เงินมาจ่ายชดเชยได้ในกรณีที่จำเป็น และถึงแม้อาจจะมีการขอเงินประเดิมจากรัฐบาลหรือจำเป็นต้องกู้จากธนาคารรัฐ

ที่สำคัญ แนวทางดังกล่าวก็น่าจะอยู่ในวิสัยที่ชี้แจงได้อย่างสมเหตุสมผล ในกรณีถูกฟ้องจากข้อกล่าวหาทุ่มตลาดในอนาคต

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กฟผ. ขอเถอะ! ช่วยลด PM 2.5 ไม่เผาไร่อ้อย-วัชพืชในฤดูเก็บเกี่ยว

กฟผ. ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่เผาไร่อ้อย ตอซังข้าว-วัชพืชช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เพื่อความปลอดภัย-ระบบไฟฟ้าของประเทศ ทั้งยังลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 รักษาสิ่งแวดล้อม

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะเทศกาลเปิดหีบอ้อย โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยบางส่วนนิยมใช้วิธีการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ คือ วิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5

ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยได้กำหนดมาตรการในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ไม่เกินร้อยละ 20 ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเก็บเกี่ยวอ้อยสดมากยิ่งขึ้น

“กฟผ. จึงขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนไม่จุดไฟเผาไร่อ้อย ตอซังข้าวและวัชพืช เพื่อร่วมกันลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และโดยเฉพาะการเผาในพื้นที่ใกล้แนวเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เนื่องจากควันและเขม่าจากการเผาไหม้ อาจส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรสู่พื้นดิน ก่อให้อันตรายต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดไฟฟ้าตกหรือดับ กระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า”

ทั้งนี้ ในส่วนของเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ กฟผ. ดูแลรับผิดชอบนั้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบไฟฟ้า เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานที่เชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งจะมีการปรับแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสมก่อนส่งจ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน

ดังนั้นเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจึงต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการดูแลและบำรุงรักษาระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงเป็นประจำ เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและเชื่อถือได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม หากพบเหตุการณ์ผิดปกติและไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. สามารถแจ้งที่ศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. โทร. 1416

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เกษตรกรไทย 25 เปอร์เซ็นต์เลิกอาชีพ หากไร้พาราควอต

สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2563 ฉลองครบรอบ 43 ปี จัดเสวนา “ก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อเกษตรกรไทยไร้พาราควอต” นำโดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง ทุเรียน และผักปลอดสารพิษ (GAP) พร้อมแนะทางออกรัฐแก้ปัญหาให้ถูกจุด ลดต้นทุนการผลิต ย้ำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ คุยกันก่อนออกนโยบาย หยุดเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤต หักแขนขาเกษตรกร

ดร. จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รอบปีที่ผ่านมา ประเด็นสารกำจัดวัชพืช พาราควอต ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเด็นถกเถียงถึงความอันตรายของสารดังกล่าว ว่าเป็นจริงหรือไม่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายด้านและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในสาธารณชนในหลายด้าน ได้แก่ การตกค้างของพาราควอต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงแล้วว่า ไม่พบการตกค้างในพืช ผัก ผลไม้ ประเด็นโรคเนื้อเน่า ได้ตรวจสอบไม่พบพาราควอต แต่พบแบคทีเรียเป็นเหตุของโรคดังกล่าว ประเด็นการพบพาราควอตในขี้เทาทารก ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในกระบวนการวิจัย เช่นเดียวกับ การพบพาราควอตในเห็ด ไม่มีบทสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้จัดทำแบบสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ ผลกระทบหลังห้ามการใช้พาราควอต พบว่า ร้อยละ 94.7 ไม่เห็นด้วยกับการแบนพาราควอต ร้อยละ 91 ไม่เห็นด้วยกับการแบนเพราะไม่มีสารทดแทนเทียบเท่าทั้งด้านราคาและประสิทธิภาพ ประเด็นที่น่าสนใจ ร้อยละ 25 จะเลิกประกอบอาชีพเกษตรกร หากไม่มีสารเคมีที่ใช้ทดแทนพาราควอต เหตุส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากกว่า 3 เท่า ร้อยละ 54 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 46 กระทบต่อต้นทุน 1-2 เท่า ทั้งนี้ เมื่อเทียบสัดส่วนเกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกพืชประมาณ 5 ล้านราย อาจเลิกทำเกษตรกรรมสูงถึง 1.25 ล้านราย ในปีหน้า

ด้านนายพนม ชมเกษม นายกสมาคมชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า ไร่ข้าวโพดได้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดอื่นมาควบคุม แต่ไม่สามารถจัดการได้ แตกต่างจากพาราควอต แม้ว่าจะใช้ปริมาณมากขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยใช้เครื่องจักรมาร่วมด้วย แต่ก็สามารถจัดการได้เฉพาะวัชพืชที่ห่างต้น หรือระหว่างต้นเท่านั้น แต่วัชพืชใกล้โคนต้น ไม่สามารถใช้ได้ เป็นส่วนที่จัดการยากที่สุด ปัจจุบัน ต้นทุนเพิ่มสูงถึงไร่ละ 500 บาท จากเดิมใช้พาราควอต ใช้เพียงไร่ละ 100 บาทเท่านั้น

จะเลิกทำก็ไม่ได้ เพราะหนี้สินท่วมอยู่ ต้องทนทำต่อไป แบบไร้ทางออก นายสาโรช ดอกไม้ศรีจันทร์ เกษตรกรไร่อ้อย จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า ต้นทุนการผลิตอ้อยตอนนี้เต็มเพดานแล้ว ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ตอนนี้เพื่อนเกษตรกรรายย่อย ทำกันเองในครอบครัว ก็เจอปัญหาหนัก ทั้งปัญหาถูกบีบราคา รัฐบาลบังคับให้ซื้อรถตัดอ้อยคันละ 5 ล้านบาท หนี้สินก็เพิ่ม ทำเกษตรวันนี้ จ่ายหนี้ หยุดทำ หนี้ก็พุ่ง เงินชดเชยจากรัฐบาลก็ไม่เพียงพอ ไม่คุ้มกับต้นทุน และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้แก้อย่างถูกจุด ควรควบคุมต้นทุนการผลิตจะดีที่สุด

นายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ผู้ปลูกทุเรียนจะทราบดีว่ารากอยู่ตื้น การใช้รถจักรหรือเครื่องตัดหญ้าต้องระวังมาก เพราะจะทำลายรากทุเรียน ทำให้ต้นทุเรียนเป็นโรค รวมทั้งเครื่องจักรมีราคาสูง 2-3 แสนบาทต่อเครื่อง ส่วนกลูโฟซิเนต สารทางเลือกที่ได้รับคำแนะนำ ไม่สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะช่วงออกดอก หากฉีดพ่นจะกระทบต่อการเจริญโต ผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน ส่วนการว่าจ้างแรงงานฉีดพ่นสารเคมี ค่าใช้จ่ายลิตรละ 200 บาทต่อไร่ โดย 1 วันแรงงานทำได้แค่ 4 ไร่ต่อคน หากมีจำนวนไร่มาก เช่น 100 ไร่ ทำไม่รู้กี่วันเสร็จ แถมค่าใช้จ่ายรวมสูงถึง 20,000 บาทต่อครั้ง หากช่วงฝนตกชุกต้องฉีดเพิ่มขึ้นอีก ต่างจาการใช้พาราควอตแบบเดิมที่สามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ดี

ดร. จรรยา มณีโชติ กล่าวสรุปว่า การแบนพาราควอต ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการแข่งขันของเกษตรกร อาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 73 ซึ่งระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ และพึงช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้ให้มีที่ทำกินโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นใด” จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้พาราควอต เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เจริญแล้วยังใช้กันอยู่ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้ง ในปีหน้าเตรียมจัดตั้ง มูลนิธิเกษตรเข้มแข็ง เป็นกระบอกเสียงให้เกษตรกว่า 30 ล้านราย เพื่อดำเนินการต่อสู้ ช่วยเหลือและเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต

จาก https://www.naewna.com วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

10 ปี FTA อาเซียน-จีนลุยสู่การค้าสู่ยุคใหม่ ส่งออกไทยไปจีนโต 4 เท่า

‘พาณิชย์’ ร่วมฉลองครบรอบ 10 ปี FTA อาเซียน-จีน พร้อมหารือแนวทางยกระดับความตกลงฯรับเทรนด์การค้ายุคใหม่ เผยผลพวงค้าไทย-จีนโต 4 เท่า ทุเรียนสด มังคุด ผลิตภัณฑ์ยาง มันสำปะหลังใช้สิทธิสูงสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีน ในการประชุมเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Area (ACFTA) 10th Anniversary Forum) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานของการจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo: CAEXPO) ครั้งที่ 17 ณ นครหนานนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรัฐบาลจีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน

นางอรมน กล่าวว่า ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในกรอบความตกลง FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) ได้ใช้โอกาสนี้ แสดงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกระหว่างอาเซียนและจีน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง ACFTA ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างอาเซียนและจีน โดยให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใสของกฎระเบียบ มาตรการที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก รวมทั้งร่วมกันพิจารณาความร่วมมือสาขาใหม่ๆ อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับความตกลงฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน ซึ่งการพัฒนาความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการขยายการค้าและการลงทุน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน และอาเซียน-จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้เผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ไทยยังได้แสดงบทบาทนำในการผลักดันให้อาเซียนและจีนเร่งหารือ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการเปิดเสรีสินค้าเพิ่มเติม ที่จะเป็นประโยชน์กับอาเซียนและจีน โดยปัจจุบันอาเซียนและจีนมีการลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลง ACFTA เป็นศูนย์แล้วกว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด สินค้าที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด รถยนต์และยานยนต์ขนส่งบุคคล และมันสำปะหลัง

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาเป็นเวลา 8 ปี ติดต่อกัน โดยในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,200 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 50,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. - ก.ย. 2563 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 58,456 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.84% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 22,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากจีนมูลค่า 36,316 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกของไทย ในปี 2562 กับปี 2547 (ก่อนจัดทำความตกลง ACFTA) การส่งออกจากไทยไปจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 310% หรือเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

‘พาณิชย์’ จ่อฟื้นเจรจาข้อตกลง FTA ไทย – EFTA

‘พาณิชย์’ ร่วมประชุมกับรัฐสภา EFTA ผ่านระบบประชุมทางไกล กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า หารือความเป็นไปได้ในการฟื้นเจรจา FTA ไทย – EFTA พร้อมชวน EFTA เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve การจับคู่ธุรกิจออนไลน์ หวังช่วยขยายความร่วมมือการค้าการลงทุนฝ่าโควิด-19

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการรัฐสภาสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA Parliamentary Committee) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563

การประชุมครั้งนี้นำโดยนายสเวน โรล์ แฮนเซ็น (H.E. Mr. Svein Roald Hansen) ประธานคณะกรรมาธิการรัฐสภาสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป เป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน และความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับไทย

“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมกับฝ่ายรัฐสภา EFTA เป็นครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ มีภารกิจเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจา หรือมีแนวโน้มจะเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ EFTA “

โดยได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย – EFTA และโอกาสกลับมาเจรจา FTA ระหว่างกัน นอกจากนี้ ได้เชิญชวน EFTA ให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรม S-Curve เช่น หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขยายความร่วมมือการค้าการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ในช่วงสถานการณ์โควิด – 19

ทั้งนี้ ในปี 2562 สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เป็นคู่ค้าลำดับที่ 16 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 9,770.20 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 2.02% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 5,670.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 4,100.01 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและชิ้นส่วน รถยนต์และอุปกรณ์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น และสินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สุริยะเร่งเครื่องดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-หุ่นยนต์เต็มสูบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานประจำปี OIE Forum ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่าแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญของประเทศไทยหลังจากนี้ ได้แก่ มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและท้องถิ่น กระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่การผลิต  ที่พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าศักยภาพที่สร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งเร่งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ มีศักยภาพต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย 

“ผมได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวง เดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญเหล่านี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและขับเคลื่อนให้เกิดผลโดยเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพในสาขาที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งเร่งผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาอื่น ๆ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเมกะโปรเจกต์ เช่น อุตสาหกรรมระบบราง เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในสนามบินและท่าเรือ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และธุรกิจดิจิทัล” นายสุริยะกล่าว

จาก  https://www.thaipost.net   วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"ธรรมนัส" นำทัพเกษตรจัดงานวันดินโลก 63 หวังชูความสำคัญของทรัพยากรดิน

ก.เกษตรฯ เตรียมจัดงานวันดินโลกปี 2563 "Keep soil alive, protect soil biodiversity : รักษ์ปฐพีคืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน" ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 4–8 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 26 พ.ย.63 ที่กรมพัฒนาที่ดิน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานวันดินโลกปี 2563 "Keep soil alive, protect soil biodiversity : รักษ์ปฐพีคืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน" กรมพัฒนาที่ดิน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานวันดินโลก ประจำปี 2563 มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ชุมชน เกษตรกร เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวันดินโลก และสร้างความตระหนักเรื่องความสำคัญของทรัพยากรดิน มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน วัด โรงเรียน ชุมชน เกษตรกร ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 4 – 8 ธ.ค.63 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในการจัดกิจกรรมวันดินโลกนั้น กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP) จะกำหนดหัวข้อหลักการจัดงานในแต่ละปี โดยคัดเลือกประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือผลกระทบ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก เน้นความสำคัญของการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดิน ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร เพื่อให้ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 2 คือการขจัดความอดอยากหิวโหย หรือ Zero Hunger ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2573

"ในปีนี้ กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP) ได้กำหนดจัดงานวันดินโลก 5 ธ.ค.63 ในหัวข้อ 'Keep soil alive, protect soil biodiversity : รักษ์ปฐพี คืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน' เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมขององค์กรและบุคคล ในรูปแบบของการร่วมมือ และสร้างเครือข่ายมากขึ้น ผ่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้ จากการที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences–IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ประกาศนียบัตรและประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศพระเกียรติคุณ โดยให้การรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลกตามข้อเสนอของประเทศไทย ส่งผลให้วันดินโลก ได้รับการบรรจุในปฏิทินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ซึ่งประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ ด้าน FAO โดยกลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก หรือ Global Soil Partnership : GSP ได้จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นวาระในการสื่อความสำคัญของทรัพยากรดินให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ไม่จำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มของนักวิชาการหรือเกษตรกรเท่านั้น

ด้านนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานวันดินโลก ปี 2563 กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดกิจกรรมการจัดแสดงนิทรรศการวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพในดิน การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สืบสานแนวพระราชดำริ รักษา และต่อยอด การจัดการดินอย่างยั่งยืน และชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตแสดงระบบนิเวศดิน น้ำ ป่า และสิ่งมีชีวิตในดิน รวมทั้งการจัดเสวนานักวิชาการเกษตร และหมอดินอาสา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประกวดแข่งขันต่างๆ การประกวดโต้วาที การเล่านิทาน การประกวดวาดภาพชิงรางวัล และการจัดจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยของเกษตรกร จึงขอเชิญชวนเกษตรกรและผู้สนใจร่วมกิจกรรมวันดินโลก ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา.

จาก  https://www.thairath.co.th วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เริ่มแล้ว! กอน.เคาะ 57 โรงงานเปิดหีบอ้อย 15 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป ย้ำรับอ้อยสด 80%

“กอน.” เคาะกำหนดเปิดหีบอ้อยฤดูหีบปี 2563/64 เริ่มตั้งแต่ 15 ธ.ค.เป็นต้นไป เน้นย้ำ 57 โรงงานเฝ้าระวังอ้อยไฟไหม้อย่างรัดกุม และยึดเป้าหมายการรับอ้อยสด 80% อ้อยไฟไหม้ 20% เพื่อเดินหน้าลดฝุ่น PM 2.5 ตามมติ ครม. ส่วนเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตต้องรอฝ่ายนโยบายตัดสินใจ

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ได้เห็นชอบกำหนดวันเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ของโรงงานน้ำตาลทราย 57 แห่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 63 เป็นต้นไป โดยมอบหมายให้แต่ละโรงงานประกาศแจ้งให้ชาวไร่อ้อยได้รับทราบอย่างชัดเจนและให้ทุกภาคส่วนช่วยดูแลปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างรัดกุมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการตัดอ้อยสด 80% ต่อวัน และอ้อยไฟไหม้ 20% ต่อวัน

“โรงงานจะทยอยเปิดการผลิตแต่ละแห่งก็อาจจะใช้เวลาต่างกันไปแล้วแต่ความพร้อม ดังนั้น โรงงานใดที่จะยังไม่ได้เปิดหีบในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอ้อยไฟไหม้ จึงขอให้ทุกส่วนได้มีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และให้สอดรับกับนโยบายลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ด้วยการรับอ้อยสด 80% อ้อยไฟไหม้ 20% ซึ่งกรณีอ้อยไฟไหม้ 20% ไม่ได้หมายถึงให้เผาอ้อยก่อนตัดได้” นายเอกภัทรกล่าว

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 11 มิ.ย. 2562 กำหนดมาตรการดูแลฝุ่น PM 2.5 สำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการกำหนดให้ไม่มีอ้อยไฟไหม้ใน 3 ปี หรือให้เหลือ 0-5% ต่อวันภายในฤดูหีบ 2564/65 ซึ่งในฤดูหีบปี 63/64 กำหนดสัดส่วนรับอ้อยสด 80% ต่อวัน อ้อยไฟไหม้ 20% ต่อวันจากฤดูหีบปีที่ผ่านมาสามารถลดอ้อยไฟไหม้ได้ 50% ต่อวันอ้อยสด 50% ต่อวัน (50:50) โดยคณะกรรมการอ้อย (กอ.) ได้ประเมินผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 63/64 จะอยู่ที่ประมาณ 67.04 ล้านตันอ้อย ซึ่งยังคงเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตัน เนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม กอน.ยังได้รับทราบหลักการการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในฤดูหีบปี 63/64 ที่จะมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าหีบเท่านั้น ส่วนวงเงินสำหรับการช่วยเหลือและส่งเสริมการตัดอ้อยสดจะได้นำเสนอแนวทางเพื่อให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอ ครม.ให้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือซึ่งคงไม่สามารถระบุเม็ดเงินชัดเจนได้เพราะขึ้นอยู่กับนโยบาย โดยในฤดูหีบปีที่ผ่านมา ครม.ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตรวม 10,000 ล้านบาท โดยช่วยเหลืออ้อยทุกตัน และช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้ที่ตัดอ้อยสด

สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 63/64 กอน.ยังไม่ได้เห็นชอบในครั้งนี้ เนื่องจาก กอน.จะต้องนำประเด็นต่างๆ ไปกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณก่อนพิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นของปีนี้จะสูงกว่าฤดูกาลผลิตของปีที่ผ่านมา โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ 850 บาทต่อตันขึ้นไป

จาก  https://mgronline.com  วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

จับตาอ้อยไฟไหม้ ชาวไร่ตัดส่งโรงงานเริ่ม 15 ธ.ค.นี้

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้เห็นชอบกำหนดวันเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2563/64 ของโรงงานน้ำตาลทราย 57 แห่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมนี้ โดยมอบหมายให้แต่ละโรงงานประกาศแจ้งให้ชาวไร่อ้อยได้รับทราบอย่างชัดเจน และให้ทุกภาคส่วนช่วยดูแลปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างรัดกุม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการตัดอ้อยสด 80% ต่อวัน และอ้อยไฟไหม้ 20%ต่อวัน สอดรับกับนโยบายลดพีเอ็ม 2.5

“คณะกรรมการอ้อย หรือ กอ. ได้ประเมินผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 2563/64 จะอยู่ที่ประมาณ 67.04 ล้านตันอ้อย เป็นปริมาณที่ต่ำกว่าฤดูหีบปีที่ผ่านมาที่ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 74.89 ล้านตัน เนื่องจากประสบภาวะภัยแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก” นายเอกภัทร กล่าว

นายเอกภัทร กล่าวว่า กอน.ยังรับทราบหลักการการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในฤดูหีบปี 2563/64 ที่จะมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าหีบเท่านั้น ส่วนวงเงินสำหรับการช่วยเหลือและส่งเสริมการตัดอ้อยสดจะเสนอแนวทางเพื่อให้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้พิจารณาในขั้นสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอ ครม.ให้จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือ ซึ่งในฤดูหีบปีที่ผ่านมาครม.ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยโดยอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตรวม 10,000 ล้านบาทโดยช่วยเหลืออ้อยทุกตัน และช่วยเหลือพิเศษกับผู้ที่ตัดอ้อยสด

สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นฤดูผลิตปี 2563/64 กอน.ยังไม่ได้เห็นชอบในครั้งนี้ เนื่องจากกอน.จะต้องนำประเด็นต่างๆ ไปกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณก่อนพิจารณาและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป เบื้องต้นราคาอ้อยขั้นต้นของปีนี้จะสูงกว่าฤดูการผลิตของปีที่ผ่านมา โดยประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ 850 บาทต่อตันขึ้นไป

จาก  https://www.matichon.co.th วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วช. จับมือม.เกษตรฯ มอบกล้าพันธุ์อ้อยสะอาดเกษตรกร หนุนผลิตท่อนพันธุ์คุณภาพ

วช. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มอบกล้าพันธุ์อ้อยสะอาดนำร่อง ภายใต้โครงการการพัฒนาและผลิตท่อนพันธุ์สะอาดนำร่องเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบกล้าพันธุ์อ้อยสะอาดนำร่อง ภายใต้โครงการการพัฒนาและผลิตท่อนพันธุ์สะอาดนำร่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้น โดยมีดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล ไชยแสน จากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม จาก วช. ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเกษตร กลุ่มเรื่อง อ้อยและน้ำตาล ปีงบประมาณ 2563

สำหรับการมอบกล้าพันธุ์อ้อยสะอาดฯ ครั้งนี้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีท่อนพันธุ์อ้อยสะอาดเพื่อต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในสภาวะแล้งที่เกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์และมอบกล้าพันธุ์สะอาดให้กับเกษตรกรในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โรงงานน้ำตาล จำนวน 7 โรงงาน และมอบท่อนพันธุ์สะอาดจำนวน 1,000 ตัน ให้เกษตรกรและโรงงานน้ำตาลที่เข้าร่วมงาน

จาก  https://siamrath.co.th  วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“สุริยะ” แนะพัฒนาอุตสาหกรรมสอดคล้องโลกยุคใหม่พลิกวิกฤตสู่ความเชื่อมั่นประเทศไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในงานประจำปี OIE Forum ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยมีทิศทางการเติบโตที่ค่อนข้างดี แต่ปีที่แล้วเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างประเทศ ตามมาด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมการบริการและการผลิตในสาขาต่างๆ รวมไปถึงภาคการค้าการลงทุน

แต่จากการบริหารจัดการที่เข้มแข็งทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ อีกทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ โดยใช้ศักยภาพที่มีอยู่ของภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญได้แก่

มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและท้องถิ่น กระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่การผลิต  ที่พึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมาพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าศักยภาพที่สร้างสายการผลิตและมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นในประเทศ รวมทั้งเร่งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยเพิ่มศักยภาพของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ด้วยการนำงานวิจัยมาต่อยอดสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบสมองกลฝังตัวเชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย

โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ New Normal อย่างกลุ่ม Medical Service Robot หรือกลุ่ม Smart Farming ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าให้กับผู้บริโภค ด้วยการพัฒนาและยกระดับด้านระบบมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารและการวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ ควบคู่กับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดการสูญเสียระหว่างการขนส่ง

สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย, ชุด PPE ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสทางการตลาด ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าวัตถุดิบและการชะลอคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ให้มีการพัฒนาด้าน Supply Chain Management และการตลาดออนไลน์ในรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรับรองมาตรฐานและการตลาด ด้วยการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในประเทศให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเพียงพอโดยมีตลาดภายในประเทศรองรับ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ด้วย

“ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญเหล่านี้  เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและขับเคลื่อนให้เกิดผลโดยเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพในสาขา      ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งเร่งผลักดันมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมในสาขาอื่น ๆ เพื่อขยายผลการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์”

รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับเมกะโปรเจกต์ เช่น อุตสาหกรรมระบบราง เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในสนามบินและท่าเรือ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการปฏิรูปไปสู่ Smart Government โดยเร่งนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ

          นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ สศอ. เร่งรัดดำเนินการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศในหลายมิติเพื่อรองรับการปรับตัวสู่ฐานวิถีใหม่หรือ New Normal อาทิเช่น การขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งนอกจากการดำเนินการขับเคลื่อนงานด้านนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมในหลายเรื่องไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์กับภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้างแล้ว

กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึก การจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมและระบบเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบ Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการเป็นองค์กร Smart Government ที่พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป

จาก  https://www.thansettakij.com    วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขานรับมาตรการดูแลเงินบาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ประเมินแนวโน้มการส่งออกของไทยว่าตลอดทั้งปีนี้ จะติดลบ 7-8% แต่ถือว่าเป็นการปรับตัวที่ดีขึ้นจากช่วงต้นปีที่เคยประเมินไว้ว่าจะติดลบ 10-12% หลังจากที่ 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ตัวเลขติดลบ 7.62% ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องและคาดว่าปี 2564 การส่งออกจะพลิกกลับมาเติบโตได้ 4% ภายใต้สมมติฐานเงินบาทไม่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งและไม่มีการกลับมาระบาดของโควิด-19 รอบใหม่

“นโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ทำให้หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าการค้าของโลกจะกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่จะใช้เม็ดเงินถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการลงทุน รวมถึงการเก็บภาษีคนรวยซึ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เงินทุนอาจไหลเข้ามาไทยในระยะต่อไปที่จะทำให้บาทแข็งค่าได้ ดังนั้น ก็หวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะไม่เพียงกระทบส่งออกยังรวมถึงราคาสินค้าเกษตรของไทยด้วย ดังนั้น 3 มาตรการที่ ธปท.ออกมาดูแลค่าบาทล่าสุดจะเริ่มในปีหน้านับว่าเป็นการดูแลค่าเงินบาทระยะกลาง และระยะยาวซึ่งถือเป็นมาตรการที่ดี คาดว่าจะเกิดผลให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนปีหน้า”

นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากการส่งออกของเวียดนามปี 2562 พลิกกลับมาแซงไทยด้วยมูลค่าส่งออก 567,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยอยู่ที่ 483,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปี 2561 เวียดนามยังส่งออกต่ำกว่าไทยอยู่ 20,000 ล้านเหรียญฯ ดังนั้น เรื่องข้อตกลงการค้าเสรีและ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นประเด็นที่ไทยจะต้องวางบทบาทในการเข้าร่วมให้มากขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับผลกระทบโควิด-19 กับธุรกิจต่างๆ จากการสอบถามข้อมูลสมาชิก พบว่า 70% ไม่สามารถจ่ายโบนัสปีนี้ให้กับพนักงานได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และบริการที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และปลายปีนี้บางส่วนอาจยังคงต้องปลดพนักงานออกด้วยเพราะปี 2564 แม้ว่าจะมีแนวโน้มเรื่องวัคซีนที่ดีแต่กว่าจะทำให้คนเชื่อมั่นเดินทางมาท่องเที่ยวไทยก็น่าจะยังมีไม่มากนัก.

จาก  https://www.thairath.co.th   วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

กลุ่ม KTIS “หลอดชานอ้อย” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นายภูมิรัฐ หวังปรีดาเลิศกุล ผู้อำนวยการฝ่ายไร่ กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร  ผนึกความร่วมมือกับนายเคนนี่ ซี แคน วง กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิกซ์เซี่ยน ฟู้ดส์ จำกัด ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ “หลอดชานอ้อย” ภายใต้การผลิตของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่ม KTIS เพื่อให้บริการในร้านชานมไข่มุก “ดาคาซี่” (DAKASI) ทุกสาขา สำหรับผลิตภัณฑ์หลอดชานอ้อย ต่างจากหลอดกระดาษทั่วไป คือ ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ให้ความปลอดภัยในการบริโภค และจากการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ทำให้ช่วยลดการตัดไม้มาทำเยื่อกระดาษหรือหลอดกระดาษอีกด้วย ซึ่งหลอดชานอ้อย ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

จาก  https://www.banmuang.co.th  วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

วอนธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยหลังเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ว่า ได้ขอให้ รมว.คลัง กระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศอย่างต่อเนื่องในส่วนของโครงการ “คนละครึ่ง” ให้มากขึ้น เนื่องจากมองว่าโครงการนี้มีประโยชน์ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดีในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้น

นอกจากนี้ยังได้หารือกับ รมว.คลัง เรื่องการดูแลค่าเงินบาท ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้แล้ว ในขณะที่ผู้ส่งออกอยากให้เงินบาทอ่อนค่าลงไประดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินบาทถือว่าแข็งมาก อยู่ที่ 30.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และมีโอกาสแข็งค่าต่อไปอีก ตามที่หลายสำนักวิเคราะห์ว่าปีหน้าบาทจะแข็งไปที่ 29.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกเกิดความเสี่ยง ขณะที่หลายๆประเทศค่าเงินยังไม่แข็งขนาดนี้

“ทุกครั้งที่คุยกับ ธปท.เราก็บอกว่าอยากให้ดูแลค่าเงินในระดับที่เหมาะสม เดิมมองว่าควรที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วันนี้ถ้าอยากให้ผู้ส่งออกสบายใจค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะตอนนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมาตรการช่วยค่าบาทแข็งที่ ธปท.ออกมา 3 มาตรการนั้น มองว่าทำให้ค่าบาทอ่อนลงมาเล็กน้อยเท่านั้น”.

จาก  https://www.thairath.co.th   วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ชาวไร่อ้อยจ่อยื่น “สุริยะ” ของบหมื่นล้าน ซื้อปัจจัยผลิตกระตุ้น ศก.-ตัดอ้อยสด

ชาวไร่อ้อยเตรียมยื่น “สุริยะ” หวังชง ครม.ช่วยเหลือปัจจัยการผลิตอ้อยฤดูหีบปี 63/64 วงเงิน 10,000 ล้านบาทเช่นฤดูหีบที่ผ่านมา โดยช่วยทุกตันอ้อยเพื่อกระตุ้น ศก. ย้ำไม่ได้คัดค้านตัดอ้อยสด 80% อ้อยไฟไหม้ 20% แต่ควรคำนึงถึงพื้นที่ที่ต่างกัน แรงงาน รถตัด

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า ขณะนี้องค์กรชาวไร่อ้อยกำลังหารือเพื่อที่จะเสนอ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้พิจารณาเสนอโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตฤดูการผลิตปี 2563/2564 วงเงิน จำนวน 10,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเช่นฤดูหีบปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในฤดูหีบปีที่ผ่านมารัฐได้สนับสนุนเงินดังกล่าว 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 6,500 ล้านบาทช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกรายที่จดทะเบียนถูกต้อง และอีก 3,500 ล้านบาทช่วยชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดตันละไม่เกิน 92 บาท ดังนั้นฤดูหีบปี 63/64 ซึ่งรัฐกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยสดเข้าหีบ 80% อ้อยไฟไหม้ 20% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนอ้อยสดที่สูงมากการช่วยเหลือสัดส่วนจะไปอยู่ที่อ้อยสดมากอยู่แล้ว แต่ก็ควรจะช่วยเหลืออ้อยไฟไหม้ด้วยเพราะบางพื้นที่การตัดอ้อยสดต้องมีต้นทุนสูงกว่า

“ชาวไร่อาจจะอาศัยช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายเข้าสภาฯ วันที่ 25-26 พ.ย.นี้เพื่อขอบคุณรัฐบาลที่ผลักดันที่จะทำให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยที่ใช้มานาน และขอให้สนับสนุนเงินปัจจัยการผลิตไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีเพราะชาวไร่จดทะเบียนชาวไร่ถูกต้องชัดเจน ซึ่งกรณีมีกระแสข่าวว่ารัฐจะขอเงินสนับสนุน 7,500 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเฉพาะอ้อยสดเห็นว่าวงเงินนี้ยังต่ำเกินไป” นายธีระชัยกล่าว

ทั้งนี้ การตัดอ้อยสดเป็นไปตามมติ ครม.ที่ผ่านมาเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยกำหนดให้การตัดอ้อยไฟไหม้เหลือ 0-5% ภายในฤดูผลิตปี 64/65 และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 2 กำหนดไว้รับอ้อยสด 80% และอ้อยไฟไหม้จะเหลือเพียง 20% หรือ 80:20 จากปีที่ผ่านมาทำได้ 50:50 ซึ่งชาวไร่อ้อยไม่ได้คัดค้านถึงการตัดอ้อยสดแต่อย่างใดแต่ต้องการให้รัฐพิจารณาอย่างสมเหตุสมผลทั้งความพร้อมด้านแรงงาน รถตัดอ้อย และพื้นที่ โดยพื้นที่ภาคอีสานนั้นเป็นลักษณะภูเขา ไม่ใช่แปลงใหญ่ การใช้รถตัดยังไม่เอื้อซึ่งต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยน แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ราคาอ้อยตกต่ำและยังประสบภัยแล้งทำให้ปริมาณอ้อยลดลงอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องประสบภาวะขาดทุน

“อ้อยไฟไหม้นั้นผมเห็นว่าบางรายเขาก็ไม่ได้เจตนาก็มีไม่ใช่ไม่มีนะ แต่ภาพรวมการตัดอ้อยสดใครๆ ก็อยากทำเพราะราคาดี แต่เราต้องดูที่เหตุและผลด้วย เครื่องตัดอ้อยราคายังแพงมากที่เขาซื้อไป 2-3 ปีมานี้ก็ขาดทุนกัน ซึ่งการเปิดหีบอ้อยในฤดูหีบปี 2563/64 ทางโรงงานน้ำตาลทรายเองมองว่าควรจะเริ่มวันที่ 7 ธ.ค.นี้ แต่ชาวไร่อ้อยเห็นว่าน่าจะ 15 ธ.ค.เพราะแรงงานไม่มีเพราะบางส่วนทำนายังอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวก็คงจะต้องทยอยเปิด” นายธีระชัยกล่าว

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยต้องการให้รัฐพิจารณาวงเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเช่นฤดูหีบที่ผ่านมาทั้งในด้านปัจจัยการผลิตและการตัดอ้อยสด ทั้งนี้ หากพิจารณาจากต้นทุนการผลิตปี 63/64 ของชาวไร่จะอยู่ที่ประมาณ 1,133 บาทต่อตัน โดยมีการประเมินว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 63/64 จะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 900 บาทต่อตัน แม้ว่าทิศทางจะดีขึ้นแต่หากพิจารณาจากต้นทุนก็ยังคงสูง ขณะเดียวกัน ปริมาณผลผลิตอ้อยที่จะเข้าหีบคาดว่าจะลดต่ำต่อเนื่องเหลือไม่เกิน 70 ล้านตัน และยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่ต้องติดตามที่จะกระทบให้ราคาอ้อยลดลงได้อีก

จาก https://mgronline.com  วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เหล้า ยา เครื่องดื่ม อาจราคาพุ่ง หลังกากน้ำตาลลดตามผลผลิตอ้อย

โรงงานน้ำตาล ส่งสัญญาณอุตสาหกรรมที่ใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า เตรียมรับมือต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม หลังปริมาณกากน้ำตาล ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาล มีปริมาณลดลงตามทิศทางปริมาณอ้อย ส่งผลให้ราคากากน้ำตาลที่นำไปทำเป็นเอทานอลปรับตัวเพิ่ม และกระทบเป็นลูกโซ่สูงอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเอทานอลเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าต่อไป

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่คาดว่า จะมีผลผลิตอ้อยเหลือเพียง 70 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่ม มีความเสี่ยงจากวัตถุดิบที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กากน้ำตาล หรือโมลาส ที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงในทิศทางเดียวกับผลผลิตอ้อย หลังจากในรอบการผลิตของปีก่อนมีปริมาณกากน้ำตาลอยู่ที่ 3.38 ล้านตัน หรือคิดเป็นปริมาณกากน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 45.24 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มดังกล่าวทำให้ราคากากน้ำตาลมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเอทานอล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่นำโมลาสไปเป็นวัตถุดิบ จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนโมลาสที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง คุณภาพผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้ก็ลดลง ส่งผลให้มีต้นทุนวัตถุดิบมันสำปะหลังไปผลิตเป็นเอทานอลสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องทิศทางความต้องการบริโภคเอทานอลภายในประเทศ

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำกากน้ำตาล (โมลาส) ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมผลิตสุรา และอุตสาหกรรมยา จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

“ผลผลิตอ้อยเข้าหีบ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในปีนี้ที่ คาดว่า จะมีปริมาณลดลง ทำให้ปริมาณโมลาสที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเมื่ออุปทานในตลาดลดลงแต่ดีมานด์ยังสูงจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ราคาจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องบริหารความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ดี”

ขณะที่ปริมาณกากอ้อย หรือชานอ้อย ที่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าพลัง งานชีวมวล เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐนั้น เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการโรงงานแต่ละรายจะสามารถบริหารซัพพลายด้านวัตถุดิบได้เพียงพอ จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

"เกษตรฯ-พาณิชย์" ตั้ง 4 อนุกรรมการขับเคลื่อนแผนตลาดนำการผลิต

"เกษตรฯ-พาณิชย์" เห็นชอบตั้ง 4 คณะอนุกรรมการฯ ร่วมขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ได้เห็นชอบในหลักการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตขึ้น 4 คณะ เพื่อให้เกิดกลไกการบูรณาการระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ อย่างเป็นรูปธรรม ประอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) โดยให้มีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดทำระบบ ด้านการผลิตและการตลาดของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ใช้ข้อมูลจากฐานเดียว และจัดทำข้อมูลให้ตรงกลุ่มผู้ใช้งาน รวมถึงการสร้างความแม่นยำให้กับข้อมูล

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกแบบ พัฒนา และจัดทำแพลตฟอร์มกลาง เพื่อการซื้อขายสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ และสินค้าเกษตรแปรรูป รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน

และ4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผน ออกแบบและพัฒนาตามหลักสูตร รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้ส่งออก เพื่อให้ผลิตสินค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ชุด สามารถเรียกหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาให้ข้อมูล หรือเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ รวมถึงสามารถแต่งตั้งคณะทำงานย่อยของตนเองได้ เพื่อให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามบทบาทภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ห่วงบาทแข็งแตะ28 ชี้มาตรการธปท.สกัดเงินไหลเข้าไม่อยู่

ธนาคารกสิกรไทย รายงานว่า อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทกลับมาแข็งค่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพิ่มมาตรการดูแลเงินบาท ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือน ที่ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียก็มีแรงหนุนจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาช่วงกลางสัปดาห์หลังทางการส่งสัญญาณเตือนถึงการแข็งค่าที่เร็วเกินไป ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดมองว่า มาตรการธปท. ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ ปรับเกณฑ์ FCD คลายเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย และกำหนดลงทะเบียนแสดงตัวตนซื้อ-ขายตราสารหนี้ เป็นมาตรการที่เน้นดูแลสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การสกัดเงินทุนไหลเข้า

โดยในเมื่อวันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2563 เงินบาท อยู่ที่ระดับ 30.29 เทียบกับระดับ 30.22 บาท ต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 พฤศจิกายน 2563) สำหรับสัปดาห์นี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการ ธปท.และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึง สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าและมาตรการล่าสุดของธปท.ว่า มาตรการสกัดการแข็งค่าเงินบาทด้วยการผ่อนคลายและเปิดเสรีการไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติมเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมแต่ไม่มีผลในระยะสั้น เป็นเพียงส่งสัญญาณว่าแบงก์ชาติห่วงใยต่อสถานการณ์เงินบาทแข็งค่ามากและเร็วเกินไป มาตรการเหล่านี้จะส่งผลต่อการชะลอตัวการแข็งค่าของเงินบาทได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อเปิดเสรีการไหลออกของเงินทุนมากขึ้นดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นเก็งกำไรที่เคลื่อนย้ายมายังภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสหนึ่งปีหน้า ขณะนี้และในระยะต่อไป นักลงทุนต่างชาติและกองทุนต่างๆ ยังโยกเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดพันธบัตรระยะสั้นและไม่มีประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือ ทำ Open position เอาไว้ ตรงนี้สะท้อนว่า นักลงทุนสถาบันเหล่านี้และนักเก็งกำไรยังคงคาดการณ์ว่า เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังสูงกว่าหลายประเทศ

นายอนุสรณ์กล่าวว่า มาตรการของธปท. มาตรการที่ 1 ให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศและโอนเงินระหว่างบัญชี FCD มาตรการที่ 2 เพิ่มวงเงินสำหรับการลงทุนในต่างประเทศและเปิดให้นำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน มาตรการที่ 3 ให้นักลงทุนต่างชาติแสดงตัวก่อนการซื้อขายตราสารหนี้

“ทั้ง 3 มาตรการยังเป็นมาตรการที่อยู่ในกรอบหรือทิศทางการเปิดเสรีทางการเงินอยู่ และมีความจำเป็นที่ทางการต้องติดตามตรวจสอบธุรกรรมการเคลื่อนย้ายเงินทุนเก็งกำไรที่มีมากกว่าปกติด้วยทั้ง3 มาตรการจะมีผลต่อการสกัดกั้นการแข็งค่าเงินบาทได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากโอกาสที่เงินจะไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศมีไม่มากเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องสถานะทางการเงินโดยรวมของบุคคลและนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่ทำให้คนไทยและผู้ประกอบการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและรายได้เงินสกุลต่างประเทศได้คล่องตัวขึ้น และน่าจะทำให้ ทางการสามารถติดตามธุรกรรมที่ผิดปกติได้ง่ายขึ้นบ้าง หากไม่มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม มีโอกาสมากขึ้นที่ปลายปีหรือไตรมาสแรกปีหน้า เงินบาทอาจจะหลุดระดับ 30 อาจจะได้เห็นเงินบาทที่ระดับ 28-29 บาท ต่อดอลลาร์ได้” นายอนุสรณ์ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ส่งออก ต.ค.ดีกว่าที่คาด ลบ 6.71% ลุ้นทั้งปีหดตัวแค่ 7% ยันปีหน้าฟื้นแน่

ส่งออก ต.ค.ดีกว่าที่คาด ทำได้มูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.71% เผยได้รับปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การขนส่งเป็นปกติ การสั่งซื้อสินค้าดีขึ้น หลายประเทศอัดฉีดเศรษฐกิจ และสินค้าดาวรุ่งยังส่งออกได้ดี ทั้งอาหาร สินค้าทำงานที่บ้าน และสินค้าป้องกันติดเชื้อ ด้านตลาดส่งออกฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดทั้งปี 63 ส่งออกติดลบ 7% แต่ปีหน้าบวกแน่

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. 2563 มีมูลค่า 19,376.68 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.71% ทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ และยังเห็นสัญญาณดี เพราะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าที่เป็นภาคการผลิตจริง ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,330.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.32% เกินดุลการค้า 2,046.53 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออก 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 192,372.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.26% การนำเข้ามีมูลค่า 169,702.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.61% โดยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 22,670.21 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวมาจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลายประเทศผ่อนคลายการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลกปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 และมีการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่สินค้าดาวรุ่งก็ยังส่งออกได้ดี ได้แก่ สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโซลาร์เซลล์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมสินค้าหลายตัวยังส่งออกได้ลดลง โดยเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรลด 8.8% เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 4.7% เช่น ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ทางด้านตลาดส่งออก มีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดหลักเพิ่ม 4.8% เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 17% บวกต่อเนื่อง 4 เดือนติด สหภาพยุโรป (อียู) 15 ประเทศ ลดเหลือ 0.4% มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต้องระวังเรื่องการล็อกดาวน์ ญี่ปุ่นลด 5.3% ตลาดศักยภาพสูง ลด 13.5% โดยจีน ลด 6.1% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 27.2% CLMV ลด 17% ซึ่ง CLMV ยังน่าห่วงจากโควิด-19 ระบาดในพม่า เอเชียใต้ เพิ่ม 15.6% โดยอินเดีย เพิ่ม 13.7% บวกเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 2.8% โดยตะวันออกกลางลด 18.1% ทวีปแอฟริกาลด 16.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 2% แต่ทวีปออสเตรเลียเพิ่ม 4.2% ละตินอเมริกาเพิ่ม 12.9%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,329 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 7% แต่ถ้าส่งออกได้เกินเดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกก็จะติดลบน้อยกว่า 7% โดยการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 จากสถานการณ์การค้าโลกจะดีขึ้น หลังจากที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความผันผวนน้อยลง การมีวัคซีนโควิด-19 แต่คงต้องใช้เวลาอีก และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะส่งผลให้การค้าในเอเชียดีขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ทำให้คู่ค้าหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน การขาดแคลนตู้สินค้า ที่ขณะนี้พบว่าไปรออยู่ที่จีนเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวน และราคาน้ำมันที่แม้จะฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิม ทำให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,329 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 7% แต่ถ้าส่งออกได้เกินเดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกก็จะติดลบน้อยกว่า 7% โดยการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปี 2564 จากสถานการณ์การค้าโลกจะดีขึ้น หลังจากที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีความผันผวนน้อยลง การมีวัคซีนโควิด-19 แต่คงต้องใช้เวลาอีก และการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะส่งผลให้การค้าในเอเชียดีขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ทำให้คู่ค้าหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะในยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน การขาดแคลนตู้สินค้า ที่ขณะนี้พบว่าไปรออยู่ที่จีนเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวน และราคาน้ำมันที่แม้จะฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิม ทำให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

จาก https://mgronline.com วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ปิดฉากพลังงานอาเซียน ก้าวข้ามยุคเปลี่ยนผ่านสู่นวัตกรรมใหม่

"สุพัฒนพงษ์"ระบุ สมาชิกอาเซียนประสานเสียงผลักดัน การเปลี่ยนผ่านและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางพลังงานไปสู่นวัตกรรมที่ดีกว่า ขยายซื้อขายไฟ 4 ประเทศ 100 เมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 35 % ภายในปี '68

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง (The 38th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: The 38th AMEM) ซึ่งประเทศเวียดนาม เป็นเจ้าภาพจัดประชุมรูปแบบออนไลน์ ว่า ที่ประชุมอาเซียนต้องการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยั่งยืนทางพลังงานในอนาคต พร้อมกับการตระหนักถึงผลกระทบจากโควิด-19 และความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยต้องการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมทางพลังงาน ที่ตอบสนองต่อระบบพลังงานรูปแบบใหม่

ทั้งนี้ในการประชุม AMEM ครั้งที่ 38 มีผลสำเร็จสำคัญที่เกิดขึ้นได้แก่ เห็นชอบแผนปฏิบัติการความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงาน ระยะที่ 2 ปี 2564 – 2568 (APAEC Phase II) โดยมีแนวคิดคือ "มุ่งเน้นการกระตุ้นการเปลี่ยนผ่านและเสริมสร้างความเข้มแข็งในด้านความยืดหยุ่นทางพลังงาน เพื่อไปสู่นวัตกรรมที่ดีกว่า" โดยในด้านการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (APG) มีการขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีภายในภูมิภาคจาก 3 เป็น 4 ประเทศ และมีการให้คำมั่นจะลงนามในบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศคือ สปป ลาว-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (LTMS-PIP) ในปริมาณ 100 เมกะวัตต์ และจะเริ่มทำการซื้อขายภายในปี 2565-2566

ด้านการเชื่อมโยงด้านก๊าซ (TAGP) ได้มีการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติ (สถานีกักเก็บ LNG) ปัจจุบันอาเซียนมีความสามารถในการรองรับได้ทั้งสิ้น 38.75 ล้านตัน/ปี ใน 9 สถานี และส่งเสริมการค้า small scale LNG และการสร้างเสถียรภาพของตลาด LNG ในภูมิภาค ขณะที่ด้านถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์พลังงานอาเซียน หรือ ASEAN Centre of Excellence for Clean Coal and Technology เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ถ่านหินของภูมิภาค

นอกจากนี้ในเรื่องประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน (EE&C) ในปี 2561 อาเซียนสามารถลดความเข้มการใช้พลังงาน ได้ร้อยละ 21 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นในปี 2563 จึงเพิ่มเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานจากเดิม ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 32 ภายในปี 2568 ส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) อาเซียนเพิ่มเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2568 จากเดิมที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 และเร่งสนับสนุนกิจกรรมด้านพลังงานทดแทนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่ร้อยละ 23 ภายในปี 2568

ด้านนโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาคอาเซียน (REPP) ได้จัดทำการศึกษาทิศทางพลังงานของภูมิภาค อาเซียน ฉบับที่ 6 (AEO6) และเพิ่มแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆที่อาจจะเกิดขึ้นกระทบต่อภาคพลังงาน ด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน (CNE) อาเซียนจะเดินหน้าส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ และเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ในภูมิภาค ความร่วมมือเครือข่ายการกำกับกิจการพลังงานอาเซียน (AERN) มุ่งเน้นการร่วมมือกันในการศึกษาการเพิ่มบทบาทขององค์กรกำกับกิจการพลังงานและการศึกษาแนวทางการ ซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตามยังมีกรอบความร่วมมืออาเซียน +3 จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก โดยได้เน้นย้ำความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ และการเป็น Low Carbon Society ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ อาเซียนขอบคุณหน่วยงานทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ที่สนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการทำการศึกษาต่าง ๆ

“การประชุม AMEM ครั้งที่ 38 นี้ไทยได้แสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศของภูมิภาคอาเซียน และได้นำเสนอ นโยบายและผลักดันความร่วมมือทางด้านพลังงานในภูมิภาค เพื่อการพัฒนาทางพลังงานของประเทศไทยและสอดรับ กับนโยบายในการส่งเสริมและฟื้นฟูเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนา อย่างยั่งยืนในอนาคต” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

‘เคเอสแอล’ ลุ้นยอดขายปีหน้าโต 10%

“เคเอสแอล” ตั้งเป้ายอดขายปี64 เติบโต 10% รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลตลาดโลกขยับ ปริมาณการผลิตเพิ่ม เมินร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ชี้เงื่อนไขเข้มกำหนดปลูกพืชใหม่80% บิดดิ้งค่าไฟอาจไม่คุ้มทุน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในงวดปี 2563/2564 คาดว่า ยอดขายจะปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปี ผลการดำเนินงานในงวดปี 2562/2563 ที่คาดว่าจะต่ำสุดแล้ว จากปัจจัยลบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณหีบอ้อยลดลง โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า จะมากจากปริมาณการขายที่คาดว่าจะมีการส่งออกเติบโตขึ้น ขณะที่ราคาน้ำตาลปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ มาอยู่ที่ระดับ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์

สำหรับปริมาณอ้อยเข้าหีบของประเทศ ปี 2563/2564 น่าปรับเพิ่มขึ้น ประเมินจากปริมาณน้ำฝนที่เริ่มตกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น สะท้อนปริมาณอ้อยฤดูกาลใหม่ และน่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 40-50 % หรือ อยู่ที่ 90-100 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับฤดูกาลที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 70 ล้านตันอ้อย ขณะเดียวกันราคาขายและปริมาณการส่งออกก็ดีขึ้นเช่นกัน

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจเอทานอล ในปี 2564 คาดว่า จะดีขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางราคาขายที่น่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 25-26 บาทต่อลิตร เทียบกับปี 2563 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22-23 บาทต่อลิตร เนื่องจากวัตถุดิบปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2562/2563 ออกมาน้อย ส่งผลให้ราคากากน้ำตาล(โมลาส) แพงขึ้นจาก 3,000 บาทต่อตัน เป็น 5,000 บาทต่อตัน

โดยปีนี้ คาดว่ายอดขายเอทานอล จะลดลงประมาณ 5-6% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สำหรับการผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ปรับลดลง แต่ในส่วนของเอทานอลทางการแพทย์เพิ่มขึ้น จากการที่รัฐผ่อนผันกฏหมายให้สามารถจัดซื้อเอทานอลไปใช้ทางการแพทย์ได้ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการจัดซื้อเอทานอล สำหรับนำไปผลิตเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 และมาตรการนี้กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นทางผู้ผลิตเอทานอล จะขอให้ภาครัฐขยายระยะผ่อนผันกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในปี 2564 คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ ประมาณ 60 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ บริษัท ยังไม่มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติม และกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ใช้ป้อนโรงงานน้ำตาลก็คุ้มค่ากว่าการขายไฟให้กับรัฐและต้องลงทุนเชื่อมสายส่ง

อีกทั้ง บริษัท ไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ภาครัฐเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ในปี 2564 เนื่องจากพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการในเบื้องต้น ยังไม่คุ้มค่า เพราะกำหนดให้ประมูลแข่งขันค่าไฟฟ้าซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง ขณะที่การจัดหาวัสถุดิบป้อนโรงไฟฟ้ายังดำเนินการได้ยาก เนื่องจากกำลังให้ต้องมีพื้นที่ปลูกพืชใหม่ประมาณ 80%

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทกลับมา "แข็งค่า"ที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ ด้วยแรงหนุนจากการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลก

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.32 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.15-30.35 บาทต่อดอลลาร์

 ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO)ระบุว่าในสัปดาห์นี้แนะนำติดตามทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องถ้าเฟดส่งสัญญาณเพิ่มนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยวันจันทร์ จะมีการประกาศตัวเลขจีดีพีของสิงคโปร์ไตรมาสที่สาม คาดว่าจะฟื้นตัว 9.5% จากไตรมาสก่อน แม้ยังหดตัว 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนประเทศไทย จะมีการรายงานตัวเลขการส่งออก (Customs Exports) คาดว่าจะหดตัวลดลงเหลือเพียง 4.9% ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะหดตัวลง 13.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชี้ว่าไทยยังเกินดุลการค้าและภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกทั่วทั้งเอเชียฟื้นตัวมากแล้ว

ส่วนในวันพุธ จะมีการประกาศรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งล่าสุด (FOMC Minutes) ที่ตลาดมองว่าเฟดอาจมีการส่งสัญญาณเตรียมซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

ขณะเดียวกันก็จะมีการรายงานตัวเลขจีดีพีสหรัฐ ประจำไตรมาสที่สาม (ครั้งที่สอง) คาดว่าจะขยายตัว 33.2% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) โดยมีความน่าสนใจอยู่ที่การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะกลับสู่ช่วงขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน ขณะที่ตลาดก็คาดว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) จะลดลงมาที่ระดับ 7.33 แสนตำแหน่ง

ฝั่งตลาดเงิน เชื่อว่าสัปดาห์นี้จะมีทิศทางเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk On) โดยมองบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีมีโอกาสปรับตัวขึ้นพร้อมการอ่อนค่าของดอลลาร์ ประเด็นหลักที่นักลงทุนสนใจคือการเพิ่มนโยบายทางการเงินเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด ถ้าไม่สามารถออกนโยบายทางการคลังได้ในช่วงนี้

ขณะที่เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) น่าสนใจที่สุด เมื่อฟื้นตัวต่อเนื่องจากระดับ 1.27 ดอลลาร์ในช่วงเดือนกันยายน มาที่ 1.32 ดอลลาร์ในปัจจุบัน และมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ถ้าอังกฤษและสหภาพยุโรปสามารถหาข้อตกลงบางอย่างได้ก่อนสิ้นปีนี้

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 91.0-93.0จุด ระดับปัจจุบัน 92.4จุด

 ด้าน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นพร้อมกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ด้วยแรงหนุนจากการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลก หลังการประกาศนโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์นี้ เชื่อว่านักลงทุนจะเข้าลงทุนในสกุลเงินเอเชียต่อโดยใช้ความคาดหวังเรื่องนโยบายการเงินของสหรัฐก่อนช่วงวันหยุดขอบคุณพระเจ้า ขณะที่ในระยะยาว สินทรัพย์ทางการเงินในฝั่งเอเชียก็มีความน่าสนใจมากขึ้นเนื่องจากเป็นกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคไปจนถึงช่วงไตรมาสที่หนึ่งปีหน้า

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.00-30.50 บาทต่อดอลลาร์

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเช้านี้ (23 พ.ย.) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 30.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้าที่ 30.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้แม้เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่มีโอกาสขยับแข็งค่าขึ้นตามทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ตลาดรับรู้มาตรการดูแลเงินบาทล่าสุดของธปท. ไปมากแล้ว

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.10-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามตัวเลขการส่งออกเดือนต.ค. ของไทย สัญญาณของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูล PMI เดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ อังกฤษ และยูโรโซน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563

CPTPP ประโยชน์ & โทษต่อประเทศไทยแค่ไหน?

การเป็นสมาชิก CPTPP นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นไม่มีมิติเดียว สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ แถลงทั้งหมดว่าเราได้อะไรบ้าง เสียอะไรบ้าง แล้วยังเจรจาต่อรองอะไรได้บ้างก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว?

เห็นหลายคนออกมาแสดงความเห็นในสื่อต่างๆ แล้วอยากแสดงความเห็นส่วนตัวบ้าง เพราะแม้ไม่เคยทำหน้าที่ในการเจรจาระหว่างประเทศในฐานะเป็นผู้แทนของประเทศไทย แต่การทำหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศภาคเอกชนมากว่า 30 ปีนั้น ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร

การเจรจาระหว่างคู่สัญญาที่เป็นต่างประเทศที่ผมทำหน้าที่เจรจานั้น ก็ไม่ต่างจากการเจรจาของรัฐบาล เพียงแต่ระดับของการเจรจาที่ผมทำหน้าที่นั้นเป็นธุรกิจและการค้า ประเด็นเจรจามีน้อยกว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาล หรือองค์กรระหว่างประเทศที่มีผลกระทบหลายด้าน

สมัยเรียนหนังสือ เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ International Trade and Commercial Policy ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อมาทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศให้หลายโครงการขนาดใหญ่ ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายต่างประเทศที่ว่าจ้าง ก็ทำให้รู้ถึงการเจรจาที่ไม่มีใครได้ทั้งหมด เรื่องการเป็นสมาชิก CPTPP นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้นไม่มีมิติเดียว ฉะนั้น ก่อนที่จะลงนามก็ต้องรอบคอบ บวกลบคูณหาร ไม่มีสัญญาอะไรที่เรามีแต่ได้ คนอื่นมีแต่เสีย

ที่จริงเรื่องนี้ติดตามมาตั้งแต่เริ่มต้นที่เรียกว่า TPP ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศด้วย ไม่ใช่แค่ประเด็นทางการค้า แต่ก็เป็นเรื่องดีที่คนไทยจะตระหนักในข้อผูกมัด ถ้าลงนามเป็นสมาชิกในเรื่อง sensitive ไม่ว่าเรื่องยา เรื่องพันธุ์พืช แต่สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขเงื่อนเวลาอีกหลายขั้นตอนที่ต้องพิจารณาเป็นขั้นไป สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ แถลงทั้งหมดว่าเราได้อะไรบ้าง เสียอะไรบ้าง แล้วยังเจรจาต่อรองอะไรได้บ้างก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว ประชาชนก็ควรฟังรัฐบาลบ้าง การคัดค้านบางเรื่องบางประเด็นที่มีผลให้เข้าร่วมไม่ได้เลย อาจเป็นผลเสียมากกว่า

โลกนี้เป็นโลกของการแข่งขัน แม้จะเป็นภาคีสมาชิกในสนธิสัญญาอะไรก็ยังต้องแข่งขัน เพียงแต่มีเวทีพิเศษเฉพาะกลุ่มสมาชิกและกลุ่มสมาชิกก็ต้องไปแข่งกับกลุ่มสมาชิกอื่นซึ่งมีอีกมากมายทั่วโลก บางประเทศที่เป็นสมาชิกหลายกลุ่มก็ต้องทำตามข้อตกลงให้ครบ ไม่งั้นก็อาจถูกแอนตี้หรือถูกบีบได้ ในที่สุดก็กลายเป็นสมาชิกที่ไม่แอคทีฟ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็ต้องช่วยกันคิด ไม่มีอะไรดีไปหมดหรือเลวไปหมด ได้ไปหมดไม่มีเสียเลย เพราะมันเป็นการแลกเปลี่ยน

เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าในภูมิภาคต่างๆ นี้ ถ้าไม่คิดเยอะๆ ก็คิดว่าทำไมต้องไปเป็นสมาชิกที่ทำให้เราเสียสิทธินั้นสิทธินี้ ไม่เห็นดีกับประเทศเลย เราอยู่ของเราอย่างนี้เป็นอิสระ ใครจะมาสั่งไม่ได้ ก่อนไปเรียนหนังสือก็เคยคิดคล้ายๆ นี้ว่าบ้านเราในน้ำมีปลาในนามีข้าว ไม่จำเป็นต้องค้าขายกับใคร เราก็อยู่ได้ แต่พอได้เรียนรู้เรื่องของการค้าระหว่างประเทศช่วงที่ไปเรียนหนังสือ โดยเฉพาะ International Economic ก็รู้ว่าการค้าระหว่างประเทศทำให้คู่สัญญาดีขึ้นได้ เป็น win/win ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งต้องเสียเสมอไป หรือทุกเรื่องทุกกรณีไป

ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยที่มีข้าวเยอะเหลือกิน กับซาอุดีอาระเบียที่มีน้ำมันเยอะเหลือใช้ในประเทศ เรามีข้าวเยอะ เราก็มีข้าวราคาถูกมากบริโภคในประเทศแต่เราไม่มีน้ำมัน เราต้องซื้อจากต่างประเทศราคาแพงมาก ซาอุดีอาระเบียมีน้ำมันราคาถูกมากจนเกินความต้องการ เกือบจะไม่มีค่า แต่ปลูกข้าวไม่ได้ต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งก็จะแพงมาก

ถ้าไทยกับซาอุดีอาระเบียมาค้าขายกัน ไทยขายข้าวให้ในราคาที่ไม่แพง แต่มีข้อตกลงว่าซาอุดีอาระเบียก็ต้องขายน้ำมันให้ไทยในราคาที่ไม่แพงเหมือนกัน ซาอุดีอาระเบียก็เห็นด้วย มีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง ทั้งไทยทั้งซาอุดีอาระเบียก็จะมีข้าวกินในราคาไม่แพง และมีน้ำมันใช้ในราคาไม่แพงอีกเช่นกัน นี่คือประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศ

แต่เมื่อเป็นเรื่องของเขตการค้าเป็นพหุภาคี ไม่ใช่ทวิภาคีแบบตัวอย่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มันก็ต้องเจรจากัน เพราะสินค้าจะมีหลายตัว ตัวไหนที่เป็นเรื่องสำคัญกับความอยู่รอดก็ยอมไม่ได้ แต่ถ้ามีทางออกก็อาจลดหย่อนเงื่อนไขกัน เจรจากันไปมา จนกว่าจะตกลงกันได้ รัฐบาลก็ต้องฟังเสียงประชาชนก่อนจะไปตกลงกับเขา เพราะรัฐบาลไปลงนามก็เท่ากับประชาชนถูกผูกพันไปด้วย

เรื่องการค้าระหว่างประเทศไม่ว่าทวิภาคี พหุภาคี ก็ต้องเจรจากันในรายละเอียด ถ้าคิดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วตัดสินเข้าหรือไม่เข้า อาจเสียประโยชน์อย่างที่ยกตัวอย่าง ต้องคิดทั้งระยะสั้นระยะยาว...ด่ากันไปด่ากันมา ไม่เกิดประโยชน์อะไร

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563

รัฐมนตรีเอเปครับรองแถลงการณ์ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ยกระดับ WTO

รัฐมนตรีเอเปครับรองแถลงการณ์ร่วม ปรับทิศทางการทำงานมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้ารับมือผลกระทบโควิด-19 ยกระดับการทำงาน WTO สร้างความเชื่อมั่นค่า-ลงทุนเสรีและเป็นธรรมมุ่งสู่การจัดทำ FTAAP ในอนาคต

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ได้ร่วมกับรัฐมนตรีเอเปครับรองแถลงการณ์ร่วมในรอบ 2 ปี ปรับทิศทางการทำงานรับมือผลกระทบโควิด-19 ส่งเสริมการไหลเวียนสินค้า บริการ และบุคลากรที่จำเป็นหนุนระบบการค้าพหุภาคีพร้อมร่วมมือยกระดับการทำงานของ WTO สร้างความเชื่อมั่นระบบการค้า การลงทุนที่เสรีและเป็นธรรม

ดร.สรรเสริญ สมะลาภาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งที่ 31 ผ่านระบบทางไกล ภายใต้แนวคิด ‘เน้นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมั่งคั่งร่วมกัน การพัฒนาบริบทด้านการค้าและการลงทุน การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี และการขับเคลื่อนความยั่งยืนเชิงนวัตกรรม’ซึ่งเอเปคได้ออกแถลงการณ์ร่วมในเรื่องการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี โดยสนับสนุนการปรับปรุงบทบาทและการดำเนินงานของ WTO เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของระบบการค้าพหุภาคีการจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี 2563 ของเอเปคการจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ที่จะสิ้นสุดวาระในปี 2563และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)

โดยในการประชุมครั้งนี้ ยังได้มีการหารือในเรื่องการส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก และรัฐมนตรีเอเปคได้รับรองรายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน ประจำปี 2563 เพื่อมอบหมายให้เขตเศรษฐกิจเร่งสานต่อการดำเนินการที่ยังไม่แล้วเสร็จให้สำเร็จตามเป้าหมายโบกอร์ต่อไป

ดร.สรรเสริญ เพิ่มเติมว่า ไทยได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยมีประเด็นสำคัญ คือ1. เสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคี ให้มีเสถียรภาพ ลดการหยุดชะงักทางการค้า และสนับสนุนการเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก อาทิ การอุดหนุนประมง และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นต้น เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (The Twelfth WTO Ministerial Conference : MC12)2. สนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายโบกอร์ ซึ่งแสดงถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในภาพรวมของเขตเศรษฐกิจเอเปค

3. ให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งคำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยพร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการหรือข้อริเริ่มทางการค้า เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของสมาชิกเอเปคจนนำไปสู่การจัดทำความตกลง (FTAAP) 4.สนับสนุนการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในภูมิภาคเอเปคโดยจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO และยินดีให้ความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจเอเปคในการกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่จำเป็น เพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

“การประกาศแถลงการณ์รัฐมนตรีเอเปคในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณในระดับนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานของเอเปคและเพื่อรับมือกับผลกระทบในยุคก่อนและหลังโควิด-19 รวมทั้งสะท้อนการดำเนินงานที่สอดรับกับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ของเอเปค ทั้งในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า เสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต และส่งเสริมความร่วมมือเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่จำเป็น รวมทั้งให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงพลังงานตลอดจนการมีส่วนร่วมขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งสมาชิกเอเปคเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ในปี 2562 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 337,888.75ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วน 70.2% ของการค้ารวมของไทย เป็นการส่งออก 171,250.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (69.54%) และการนำเข้า 166,637.91ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (70.53%)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563

ส่อง 4 ชาติสมาชิก CPTPP เหตุไฉนยังไม่ให้สัตยาบัน

แม้ความตกลง CPTPP จะมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561โดยสมาชิก 7 ประเทศได้ให้สัตยาบันรับรองแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีสมาชิกอีก 4 ประเทศยังไม่ให้สัตยาบัน ด้วยเหตุผลอะไร?

ขณะที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)ได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาผลการศึกษา ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อเร่งเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และเพื่อตัดสินใจเชิงนโยบายว่าจะพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบข้อเสนอรายงานของ กมธ. CPTPP แล้ว โดยในส่วนของประเด็นผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช คณะอนุกรรมาธิการฯเห็นว่าไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าเจรจาความตกลง CPTPP  หากยังไม่มีการเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกรในหลายเรื่อง เช่น การยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV, การเพิ่มงบประมาณวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช และขยายพันธุ์เพื่อเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรและเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งในข้อเท็จจริงของความตกลง CPTPP ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ข้อตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 โดยสมาชิกที่ให้สัตยาบันรับรอง CPTPP แล้ว 7 ประเทศได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ขณะที่ยังมีสมาชิกที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันฯอีก 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย บรูไน ชิลี และเปรู ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า ความตกลง CPTPP ดีจริงหรือ เพราะมีผลบังคับใช้แล้วมาเกือบ 2 ปี แต่ทำไม 4 ประเทศนี้ยังไม่ให้สัตยาบันรับรอง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าแต่ละประเทศยังอยู่ในสถานะและขั้นตอนที่แตกต่างกัน ดังนี้

เปรู : ขณะนี้เปรูมุ่งให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ดีรัฐสภาไม่มีประเด็นขัดแย้งต่อเนื้อหา CPTPP เนื่องจากทุกกระทรวงได้ให้ความเห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างรอรัฐสภาเห็นชอบ

ขั้นตอนต่อไป : หากรัฐสภาเห็นชอบ จะต้องนำเสนอต่อประธานาธิบดีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

ประเทศสมาชิก CPTPP ลงนามความตกลงเมื่อ 8 มี.ค.2561

ชิลี : CPTPP ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร(สส.)แล้วแต่ยังเหลือขั้นตอนของวุฒิสภา(สว.) ล่าสุดผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการด้านรัฐธรรมนูญของวุฒิสภาแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562

ขั้นตอนต่อไป : จะต้องเข้าสู่การพิจารณาและลงคะแนนเสียงของวุฒิสภา แต่เกิดการประท้วงภายในประเทศชิลีเมื่อปลายปี 2562 เรื่องสวัสดิการสังคม ความเท่าเทียมทางรายได้ และต่อต้านการดำเนินนโยบายของรัฐ รัฐบาลจึงยังไม่ผลักดันประเด็นนี้ให้วุฒิสภาพิจารณา ทั้งนี้หากสภาสูงให้ความเห็นชอบแล้ว ก็จะประกาศกฎหมายเป็นกฎหมายในราชกิจจาฯต่อไป

บรูไน : เนื่องจากสถานการณ์โควิด จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบัน โดยแผนเดิมบรูไนตั้งเป้าให้สัตยาบัน CPTPP ในช่วงกลางปี 2563

มาเลเซีย : เนื่องจากมาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม 2563  และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ในการให้สัตยาบัน

ขั้นตอนต่อไป : มาเลเซียอยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวน และศึกษาความตกลงฯให้ถี่ถ้วนก่อนให้สัตยาบัน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 22 พฤศจิกายน 2563

ออกมาตรการชุดใหญ่ดูแลค่าเงินบาท

ธปท. เร่งผลักดันมาตรการเพื่อให้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยไม่แข็งค่าเกินไป

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยภายนอกทั้งผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผันผวนของเงินบาท

นอกจากนี้ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย ช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น ธปท. จึงเห็นควรดำเนินมาตรการ ดังนี้

1. เปิดให้คนไทยฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (Foreign Currency Deposit : FCD) และโอนเงินระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยได้เสรี จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น สามารถทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน ตลอดจนทำให้คนไทยสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการซื้อขายทองคำเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ.

2. ปรับกฎเกณฑ์และกระบวนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในมิติของวงเงินและผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทยและสนับสนุนให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้มากขึ้น

1) เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนโดยตรงได้เป็น 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี จากเดิม 200,000 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี และไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ลงทุนผ่านตัวกลางในประเทศ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

2) ไม่จำกัดวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสำหรับนักลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

3) เปิดให้มีการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศมาซื้อขายในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงิน เช่น กองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

3. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Pre-trade Registration) ผู้ลงทุนในตราสารหนี้ไทยต้องลงทะเบียนแสดงตัวตนก่อนการซื้อขาย ทำให้ ธปท. ระบุตัวตนและติดตามพฤติกรรมของนักลงทุนได้อย่างใกล้ชิด เป็นการยกระดับการติดตามข้อมูลและเอื้อให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์ ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับการดำเนินการของหลายประเทศ อาทิ เกาเหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวันทั้งนี้ มาตรการข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ที่กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ธปท. ผลักดันร่วมกันแบบองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 20 พฤศจิกายน 2563

เตือนอุตสาหกรรมใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบต้นทุนเพิ่ม

            โรงงานน้ำตาล ส่งสัญญาณอุตสาหกรรมที่ใช้เอทานอลเป็นวัตถุดิบรับมือต้นทุนผลิตเพิ่ม หลังราคาวัตถุดิบต้นน้ำอย่างกากน้ำตาลปรับตัวสูง

             นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่คาดว่า จะมีผลผลิตอ้อยเหลือเพียง 70 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่ม มีความเสี่ยงจากวัตถุดิบที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กากน้ำตาล หรือ โมลาส ที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงในทิศทางเดียวกับผลผลิตอ้อย หลังจากในรอบการผลิตของปีก่อนมีปริมาณกากน้ำตาลอยู่ที่ 3.38 ล้านตัน หรือคิดเป็นปริมาณกากน้ำตาลต่อตันอ้อยอยู่ที่ 45.24 กิโลกรัม

              ทั้งนี้ ด้วยแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ราคากากน้ำตาลมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเอทานอล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่นำโมลาสไปเป็นวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนโมลาสที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง คุณภาพผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้ก็ลดลง ส่งผลให้มีต้นทุนวัตถุดิบมันสำปะหลังไปผลิตเป็นเอทานอลสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องทิศทางความต้องการบริโภคเอทานอลภายในประเทศ

              ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำกากน้ำตาล ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมผลิตสุราและอุตสาหกรรมยาจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

                “ผลผลิตอ้อยเข้าหีบ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในปีนี้ที่ คาดว่า จะมีปริมาณลดลง ทำให้ปริมาณโมลาสที่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเมื่ออุปทานในตลาดลดลงแต่ดีมานด์ยังสูงจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ราคาจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องบริหารความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้ดี”

              ขณะที่ปริมาณกากอ้อย หรือชานอ้อย ที่ถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่หน่วยงานภาครัฐนั้น เชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการโรงงานแต่ละรายจะสามารถบริหารซัพพลายด้านวัตถุดิบได้เพียงพอ จึงเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

ผู้ว่าฯ ขอนแก่น รับมือฝุ่น PM 2.5 สั่งห้ามเผาฟางข้าว-ใบอ้อย เด็ดขาด

ผู้ว่าฯ ขอนแก่น เผยมาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 ขอความร่วมมือห้ามเผาฟางข้าว-ใบอ้อย เด็ดขาด ให้นำไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยชีวภาพ ทำของที่ระลึก

วันที่ 19 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายพื้นที่ของ จ.ขอนแก่น เริ่มเข้าสู่ช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ประจำฤดูกาลผลิต 2563/2564 ทำให้ขณะนี้เกษตรกรเริ่มทำการเกี่ยวข้าวกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบการลงแขกเกี่ยวข้าวแบบวิถีดั้งเดิมของคนในครอบครัวหรือชุมชน รวมทั้งการใช้รถเกี่ยวข้าว

เมื่อทำการเกี่ยวแล้วเสร็จก็จะนำมาตาก โดยเฉพาะที่ในเขต ต.พระลับ อ.เมืองขอนแก่น ที่เกษตรกรนำข้าวมาตากเต็มพื้นที่ลานวัด,โรงเรียน รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะในชุมชนตามที่ทางการกำหนด

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรทั้ง 26 อำเภอของจังหวัด เริ่มทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีกันอย่างต่อเนื่องแล้ว ทำให้พื้นที่ตากข้าวที่ปีนี้จังหวัดได้เปิดพื้นที่ของทางการเป็นพื้นที่ตากข้าวให้กับเกษตรกรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แทนการนำข้าวไปตากบนถนน เนืองแน่นไปด้วยข้าวเปลือกจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเฝ้าผลผลิตของเกษตรกรตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน เมื่อการเก็บเกี่ยวเกิดขึ้นก็จะส่งผลต่อฟางข้าวที่มีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นมาตรการรับมือต่อภาวะฝุ่น PM 2.5 ในระยะนี้จึงต้องเริ่มแผนปฏิบัติงานทันที ได้กำชับและเน้นย้ำให้ทุกอำเภอ โดยเฉพาะฝ่ายปกครองและเกษตร รวมทั้งสำนักงานสิ่งแวดล้อม ได้ทำความเข้าใจและขอความร่วมมือในการห้ามเผาฟางข้าวเด็ดขาด

"มาตรการห้ามเผาทั้งจังหวัด เรายังคงเน้นหนักและบังคับใช้ตามข้อกฎหมายในด้านต่างๆ อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังสถานการณ์ภาวะฝุ่น PM 2.5 อีกทั้งในช่วงต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไป จะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งจะทำให้ปริมาณของฟางข้าวและใบอ้อยที่คงเหลือจากการเก็บเกี่ยวก็จะมีเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นแนวทางที่จังหวัดได้แจ้งไปยังทุกอำเภอคือการนำฟางข้าวและใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมาแปรสภาพเป็นปุ๋ยชีวภาพ, ทั้งในรูปแบบของการไถกลบตอซัง, การนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์, การนำมาเป็นอาหารสัตว์อัดก้อน, การนำมาทำเสวียนล้อมโคนต้นไม้ ตามเทคนิคทางวิชาการที่สำนักงานเกษตรจังหวัดจะลงพื้นที่เข้าไปทำความเข้าใจและประสานการทำงานร่วมกันกับชุมชน

และพิเศษที่สุดในปีนี้คือการที่จังหวัดได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานด้านฝีมือ ในกรที่จะนำฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมาทำเป็นของที่ระลึกที่สวยงามของจังหวัด โดยเฉพาะไดโนเสาร์ตัวน่ารักและงานฝีมือต่างๆ จากฝีมือของเกษตรกรขอนแก่นที่ขณะนี้มีนำมาวางจำหน่ายที่ศูนย์โอทอปด้านข้างศาลากลางจังหวัดกันแล้ว"

ผู้ว่าราชการขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า จังหวัดได้กำหนดแผนการรับมือต่อทุกสถานการณ์แบบต่อเนื่องเดือนต่อเดือน โดยมีแผนเผชิญเหตุ แผนรับมือ แผนป้องกัน แผนปราบปราม แผนการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยมีแผนการบูรณาการการทำงานร่วมกันจากทุกหน่วยงานแบบเป็นทีม

ดังนั้นในระยะนี้การรับมือกับภาวะมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงฤดูแล้งปีหน้า จากภาวะอากาศที่แห้ง มาตรการกำจัดมลพิษ ด้วยการสั่งห้ามเผาฟางข้าวและใบอ้อยในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตนี้จะช่วยให้สถานการณ์ดังกล่าวในจังหวัดนั้นเบาบางลง.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียม 12 มาตรการ ร่วมรับมือภัยแล้งปี 64

กรมส่งเสริมการเกษตรขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียม 12 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 พร้อมสั่งการสำนักงานเกษตรจังหวัดเร่งรณรงค์สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร “เกษตรร่วมรับมือภัยแล้ง ปี 2564” แจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบทุกระยะ กำชับเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำดูแลพืชอย่างถูกวิธี

วันที่ 19 พ.ย.2563 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้พิจารณาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ พันธุ์ข้าว แนวโน้มการตลาด และโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ที่จะดำเนินการในช่วงฤดูแล้งได้กำหนดแผนนโยบายการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 โดยมีแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.48 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.48 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.56 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด จำนวน 0.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.02 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.28 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.21 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่)

สำหรับการจัดสรรน้ำด้านการเกษตร พบว่า เนื่องจากบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงไม่สามารถจัดสรรน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 บางพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 2564 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2

ทั้งนี้ในส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร 12 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน ขับเคลื่อนมาตรการและลงพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลพืชอย่างถูกวิธี คือ

1. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ "เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2564" ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 2563 – พ.ค. 2564 ใน 77 จังหวัด เป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในทุกด้านเพื่อรับมือภัยแล้ง ได้แก่ วิธีการปรับตัว การดูแลรักษาพืชในฤดูแล้ง เฝ้าระวังโรค แมลงศัตรูพืช นำเสนอกรณีตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับภัยแล้ง เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและการบริการของรัฐ

2. การเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค. – พ.ค. 2564 โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนข่าวสาร สถานการณ์แล้ง การขาดแคลนน้ำ เยี่ยมเยียน ติดตามให้คำแนะนำทางวิชาการในการดูแลรักษาสวน การให้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ย เพื่อป้องกันความเค็มสร้างความเสียหายแก่พืช แนะนำให้เกษตรกรรักษาความชื้นในแปลง เช่น ลอกดินเลนในร่องสวนมาปิดบนแปลงหรือโคนต้น การใช้วัสดุคลุมดินช่วยให้ประหยัดน้ำ และการตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น 

3. คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 2563 – เม.ย. 2564 ใน 77 จังหวัด โดยบูรณาการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปให้บริการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ณ จุดที่มีปัญหาและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ประเด็นการรับมือกับสถานการณ์แล้ง แจ้งสถานการณ์ และวิธีการปรับตัว ข้อมูลการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ

4. โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ดำเนินการใน 77 จังหวัด โดยการอบรมให้ความรู้ และศึกษาดูงานการปลูกพืชทางเลือกใหม่ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชชนิดใหม่ที่เหมาะสม

5. โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมาย 2,000 ราย/แปลงเรียนรู้ จำนวน 444 ไร่ ใน37 จังหวัด ๆ ละ 12 ไร่ โดยจัดอบรมให้ความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาแก่เกษตรกรในพื้นที่เหมาะสมมากหรือปานกลาง รวมทั้งจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา 

6. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรัง เป้าหมายเกษตรกร 5,000 ราย/5,000 ไร่ ใน 23 จังหวัด โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เพื่อให้มีพื้นที่ในการจัดทำแปลงเรียนรู้ และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชหลากหลายตามความต้องการของตลาด มีการทำแผนการผลิต แผนการตลาด

7. โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เป้าหมายเกษตรกร 2,500 ราย/50 จุด พื้นที่ 200 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง โดยถ่ายทอดความรู้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าสำหรับเกษตรกร การจัดทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร

8. โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป้าหมาย 77 จังหวัด 882 อำเภอ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรประสบในแต่ละช่วงเวลา นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในการดูแลรักษาผลิตผลทางการเกษตร 

9. โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและการบริการสมาชิกและเกษตรกร กิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการควบคุมศัตรูพืช ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลิตหัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา/บิวเวอร์เรีย) เพื่อนำไปผลิตจุลินทรีย์ และผลิตจุลินทรีย์/ศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต

10. โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการอารักขาพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลิตจุลินทรีย์/ศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต, ผลิตไวรัสเอ็นพีวี เพื่อกำจัดหนอนกระทู้หอมในพืชผัก, ผลิตแตนเบียนแมลงดำหนาม, ผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แตนเบียนบราคอน, สารสกัดธรรมชาติ เช่น สะเดา และศัตรูธรรมชาติ (แตนเบียนอะนาไกรัส แมลงช้างปีกใส) เพื่อควบคุมศัตรูมันสำปะหลัง

11. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ปี 2563/64 เป้าหมาย 77 จังหวัด โดยดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียวเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 

12. โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 77 จังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงมากขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพมาตรฐาน 

 นอกจากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมประสานและช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดหาช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตพืชฤดูแล้ง สร้างการรับรู้เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้โดยเฉพาะข้าวรอบที่ 2 ควบคุมพื้นที่ปลูกไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนด และพืชไร่พืชผักส่งเสริมให้มีพื้นที่ปลูกตามจำนวนที่กำหนด รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้ง การรักษาความชื้น และลดการเผาตอซัง ฟางข้าว เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นหมอกควันด้วย หากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563

อุตเลิกช่วยอ้อยไฟไหม้ลดฝุ่นพิษ ขอครม.7.2พันล.ช่วยแค่อ้อยสด

อุตเลิกช่วยอ้อยไฟไหม้ลดฝุ่นพิษ ขอครม.7.2พันล.ช่วยแค่อ้อยสด เปิดหีบต้นธ.ค.ราคาขั้นต้น800บ.อัพ

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยถึงมาตรการลดการตัดอ้อยไฟไหม้เข้าระบบตามนโยบายรัฐบาลให้เหลือ 0-5% ภายใน 3 ปีหรือภายในฤดูผลิต 2564-65 ว่า ฤดูการผลิตปีนี้ คือ 2563-64 สอน.จะผลักดันมาตรการลดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งเข้าระบบเพื่อหีบเป็นน้ำตาลทราย ให้ได้ตามเป้าหมาย 80:20 คือจะรับอ้อยสด 80% และอ้อยไฟไหม้จะเหลือเพียง 20% หลังจากฤดูการผลิต 2562-63 ยังอยู่ระดับ 50:50 ดังนั้นเกษตรผู้ปลูกอ้อยต้องปรับตัว เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาเตือนเรื่องสภาพอากาศในฤดูหนาวแล้ว นอกจากนี้อ้อยสดะยังเพิ่มคุณภาพความหวาน ความสะอาด ช่วยให้ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ปีนี้จะใช้มาตรการสำคัญคือ ชาวไร่ที่ตัดอ้อยไฟไหม้จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนเช่นที่ผ่านมาที่รัฐจะแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน ช่วยต้นทุนการผลิต และเพิ่มเงินให้อ้อยสด แต่รอบใหม่นี้เงินจะมีก้อนเดียวช่วยเฉพาะอ้อยสด เบื้องต้นคาดว่าจะช่วยตันละ 130 บาท จากปริมาณอ้อยคาดเข้าระบบประมาณ 70 ตัน ซึ่งอ้อย 80% อยู่ที่ 56 ล้านต้น จึงคิดเป็นวงเงิน7,280 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือกอน. พิจารณา เพื่อเสนอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือครม.ต่อไป”นายเอกภัทรกล่าว

นายเอกภัทร กล่าวว่า เบื้องต้นโรงงานน้ำตาลกำหนดเปิดหีบตัดอ้อยเข้าระบบต้นเดือนธันวาคมนี้ ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 จากการพิจารณาราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจากการทำราคาขายล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 16 เซนต์ต่อปอนด์ คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2563-64 จะอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อตันอ้อยขึ้นไป ค่าความหวาน10ซีซีเอส จำนวนนี้ยังไม่รวมเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้มากกว่า 900 บาทต่อต้นอ้อยแน่นอน โดยปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าระบบจะอยู่ที่ระดับ 60-70 ตันอ้อน

นายเอกภัทร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามนอกจากมาตรการจากภาครัฐ จากการหารือกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาต่างสนับสนุนนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ โดยปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลหลายโรงประกาศรับซื้ออ้อยสดในราคาถึงตันละ 1,000 บาทต่อตันอ้อย อาทิ กลุ่มมิตรผล นอกจากนี้กลุ่มมิตรผลยังประกาศรับซื้อใบอ้อยเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าชีวมวล อีกตันละ 1,000 บาทเช่นกัน

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนประชุมกนง.วันนี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.19 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.10-30.30 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) ระบุว่าช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงจากระดับสูงสุดตลอดกาล ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐติดลบ 0.5% ขณะที่ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ย่อตัวลงราว 0.2% เนื่องจากตลาดกลับมากังวลกับการระบาดของไวรัสที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันมีแรงขายทำกำไรกลุ่มเทคโนโลยีประกอบ หลังกลต.สหรัฐกดดันให้บริษัทจดทะเบียนจากจีนต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎ

ส่วนฝั่งตลาดเงินก็กลับสูงช่วงปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) เมื่อนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกโรงย้ำอีกครั้งว่า ข่าวดีของยาต้านไวรัสไม่ได้ส่งผลกระทบกับมุมมองเศรษฐกิจในระยะยาว และต้องใช้เวลานานกว่าเศรษฐกิจจะกลับไปจ้างงานเต็มอัตรา กดดันให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลง 3.4bps ไปที่ระดับ 0.87% และเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันนี้ มองว่านักลงทุนส่วนหนึ่งยังมีความสนใจที่จะกลับเข้าลงทุนในหุ้นและบอนด์ไทย แต่ตลาดเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ขณะเดียวกันหุ้นโลกก็เริ่มติดแนวต้านจึงชะลอการลงทุนลงไว้ก่อน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

อุตฯขอ 7.2 พันล้านแก้ปัญหาเผาไร่อ้อย

กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแก้ปัญหาเผาไร่อ้อยลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประกาศไม่ช่วยเหลืออ้อยไฟไหม้เตรียมของบ ครม.7.2 พันล้านช่วยชาวไร่กลุ่มตัดสดเท่านั้น ตันละ 130 บาท

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เพื่อลดปัญหามลพิษฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สอน.จึงกำหนดมาตรการลดการตัดอ้อยไฟไหม้เข้าระบบตามนโยบายรัฐบาลให้เหลือ 0-5% ภายใน 3 ปี หรือภายในฤดูการผลิต 2564-2565

ส่วนฤดูการผลิตปีนี้ (2563-2564) สอน.จะผลักดันมาตรการลดการเผ้าอ้อยก่อนตัดส่งเข้าระบบเพื่อหีบเป็นน้ำตาลทรายให้ได้ตามเป้าหมาย 80:20 คือจะรับอ้อยสด 80% และอ้อยไฟไหม้จะเหลือเพียง 20% หลังจากฤดูการผลิต 2562-2563 ยังอยู่ระดับ 50:50

ดังนั้นเกษตรผู้ปลูกอ้อยต้องปรับตัวเพราะการเผาใบอ้อยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกมาเตือนเรื่องสภาพอากาศในฤดูหนาวแล้ว จะส่งผลให้ฝุ่นกระจายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้อ้อยสดยังเพิ่มคุณภาพความหวาน ความสะอาด ช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

ในปีนี้จะใช้มาตรการสำคัญคือ ชาวไร่ที่ตัดอ้อยไฟไหม้จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนเช่นที่ผ่านมาที่รัฐจะแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน ช่วยต้นทุนการผลิตและเพิ่มเงินให้อ้อยสด แต่รอบใหม่นี้เงินจะมีก้อนเดียวช่วยเฉพาะอ้อยสด เบื้องต้นคาดว่าจะช่วยตันละ 130 บาท คิดเป็นวงเงินประมาณ 7,200 ล้านบาท โดยจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน.พิจารณาเพื่อเสนอให้นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ต่อไป

สำหรับสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลในปัจจุบันเบื้องต้นโรงงานน้ำตาลกำหนดเปิดหีบตัดอ้อยเข้าระบบต้นเดือน ธ.ค.นี้ ต่อเนื่องถึงต้นปี 2564 จากการพิจารณาราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก จากการทำราคาขายล่วงหน้าอยู่ที่ประมาณ 16 เซนต์ต่อปอนด์ คาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิต 2563-2564 จะอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อตันอ้อยขึ้นไป ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส. จำนวนนี้ยังไม่รวมเงินช่วยเหลือจากรัฐ ทำให้ราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้มากกว่า 900 บาทต่อตันอ้อยแน่นอน โดยปีนี้คาดว่าปริมาณอ้อยเข้าระบบจะอยู่ระดับ 70 ตัน

“นอกจากมาตรการจากภาครัฐจากการหารือกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลต่างสนับสนุนนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้โดยปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลหลายโรงประกาศรับซื้ออ้อยสดในราคาถึงตัน 1,000 บาทต่อตันอ้อย เช่น กลุ่มมิตรผล นอกจากนี้กลุ่มมิตรผลยังประกาศรับซื้อใบอ้อยเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าชีวมวล อีกตันละ 1,000 บาทเช่นกัน ซึ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น”

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

'สุพัฒนพงษ์'ชี้เงินร้อนเก็งบาท สอท.จี้ธปท.ดูแลห่วงซ้ำส่งออก

 “สุพัฒนพงษ์”ชี้เงินร้อนแสวงหากำไรปลายปีดัน“บาทแข็ง” ด้านส.อ.ท.ห่วงค่าเงินแข็งขึ้นถึง 10% จากต้นปีกระทบส่งออกแข่งขันเวียดนามยาก จี้แบงก์ชาติแก้ไขด่วน นักเศรษฐศาสตร์คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย 0.5% จับตาส่งสัญญาณดูแลค่าเงิน

ค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (17 พ.ย.) ที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบวันก่อนหน้า แม้ว่ากระทรวงการคลังส่งสัญญาณพบการเก็งกำไรและได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อออกมาตรการดูแลก็ตาม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ เป็นผลระยะสั้นที่เกิดขึ้นจากช่วงปลายปี นักลงทุนต่างชาติจะต้องหาแหล่งพักเงินและแสวงหากำไรจึงมีการเคลื่อนย้ายเงินมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดี

“เรื่องนี้มองเป็นเรื่องระยะสั้นเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดว่ามีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 (ศบศ.) ในวันนี้ (18 พ.ย.) จะมีการรายงานผลของมาตรการเศรษฐกิจต่างๆที่รัฐบาลมีการออกไปก่อนหน้านี้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร เช่น นโยบาย เราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง แต่วาระในการจัดทำโครงการคนละครึ่งในเฟสใหม่ ตามที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ต่ออายุมาตรการออกไป คาดว่าจะยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของศบศ.ในวันนี้ เนื่องจากยังจะต้องจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณาเพิ่มเติม

เทียบ 18 ประเทศบาทแข็งอันดับ4

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่มีปัญหาเงินบาทแข็งค่าเพิ่มมากขึ้น โดยได้เปรียบเทียบค่าเงินของ 18 ประเทศในช่วงวันที่ 1 เม.ย.-16 พ.ย.2563 พบว่าเงินบาทมีอัตราการแข่งค่าอยู่อันดับที่ 4 ของภูมิภาค โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทวันที่ 1 เม.ย.2563 อยู่ที่ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ และวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 30.34 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 8.20% อัตราการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าวรองจากดอลลาร์ออสเตรเลียที่แข็งค่าขึ้น 15.55% เงินรูเปียอินโดนีเซีย 13.20% และเงินวอนเกาหลีใต้ 9.18%

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศส่งออกคู่แข่งมีหลายประเทศที่เงินแข็งค่าน้อยกว่าไทย โดยเงินหยวนจีนแข็งค่า 6.80% เงินดองเวียดนาม 1.66% ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีต้นทุนสูงกว่าเวียดนามกว่า 6% ซึ่งสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จะมีกำไรไม่มาก หากยิ่งค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งมากก็ยิ่งสู้ได้ยาก ดังนั้นจึงต้องการให้ ธปท.เข้ามาดูแลในเรื่องนี้เร่งด่วน

“ขณะนี้ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาก หากนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 ที่ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นถึง 10% เป็นการแข็งค่าขึ้นเร็วมาก ทำให้เวียดนามอยู่เฉยๆก็ได้กำไรมากกว่า ทำให้กระทบต่อการส่งออกไทยพอสมควร ซึ่งเป็นการซ้ำเติมจากภาวะโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกและค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์” นายสุพันธุ์ กล่าว

หนุนเปิดคนละครึ่งเฟส 2

นายสุพันธุ์ ยังหนุนให้รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่มเติมโครงการคนละครึ่งในระยะที่ 2 (เฟส 2) เพราะเป็นโครงการที่เห็นประโยชน์อย่างแท้จริง ช่วยทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาคึกคัก ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และควรสนับสนุนให้มีผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ก็ควรจะได้ทั้งหมด

ส่วนผู้ที่ได้ไปแล้วก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงควรจะพิจารณาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควรจะปรับให้โรงแรมขนาดเล็ก หรือโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาต แต่เสียภาษีและมีประกันสังคมถูกต้อง เพราะที่ผ่านมามีแต่โรงแรมขนาดใหญ่ได้ประโยชน์

ความเชื่อมั่นอุตฯฟื้นตัว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.2563 ที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,333 ราย ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม 45 กลุ่มอยู่ที่ระดับ 86.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.2 ในเดือน ก.ย.2563 โดยค่าดัชนีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 6 นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภคสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต่อเนื่องส่งผลดีต่อความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้าง

กังวลค่าบาทเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมันคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือน ก.ย.2563 จากปัจจัยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนสูง เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีต่อเนื่องเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวภาคการส่งออกของไทย

ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออกลดลง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งอาจทำให้กิจการประสบปัญหาขาดสภาพคล่องโดยเฉพาะเอสเอ็มอี

รวมทั้งการสำรวจครั้งนี้ได้สอบถามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจมากขึ้น 4 อันดับแรก คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก 66.9% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 57.1% อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 44.2% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 38.4% ส่วนปัจจัยที่กังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 37.7%

บาทแข็งสุด30.15 ต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า วานนี้เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเปิดตลาดที่ระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดที่ระดับ 30.21 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าสูงสุดที่ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์

ปัจจัยหลักที่หนุนให้เงินบาทแข็งค่า คือ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดทุนที่ส่งผลให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ สะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จากข่าววัคซีนของ Moderna ที่มีประสิทธิภาพถึง 94.5% ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ ไม่ได้ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลสะท้อนจากกระแสเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าหุ้นและบอนด์ไทยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.15 - 30.25 บาทต่อดอลลาร์ตลอดสัปดาห์นี้ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่จะรอการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุมกนง. ครั้งแรกหลังผู้ว่าการธปท. ท่านใหม่

“นักลงทุนและผู้ประกอบการ ควรจับตา ความกังวลของกนง. ต่อการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งถ้าหากกนง. มีความกังวลมากขึ้น อาจจะตีความได้ว่า กนง. ก็พร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เงินบาทไม่แข็งค่าอย่างรวดเร็วในระยะสั้น และ ในระยะถัดไป กนง.ก็อาจออกนโยบายเพื่อช่วยรักษาสมดุลของเงินเข้า-ออก ที่จะช่วยให้เงินบาทไม่แข็งค่ามาก อาทิ การเปิดช่องทางให้นักลงทุนไทย โดยเฉพาะรายย่อย ออกไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น หรือ อนุญาตให้ผู้ประกอบการไม่ต้องรีบแลกรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศมาเป็นเงินบาท”

คาดกนง.คงดอกเบี้ย

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร คาดว่าการประชุมกนง.วันนี้จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% เนื่องจากการส่งสัญญาณของกนง.ครั้งก่อนหน้า ถือว่าชัดเจนว่ากนง.ไม่น่าขึ้นดอกเบี้ย เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยถือว่าอยู่ระดับต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งกนง.น่าจะเก็บกระสุนไว้ รองรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ถือว่าดีกว่าคาดการณ์ ทำให้เริ่มมีมุมมองที่บวกขึ้นสำหรับเศรษฐกิจไทย

“การลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ช่วยอะไร ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นคาดว่ากนง.น่าจะคงดอกเบี้ยยาวถึงสิ้นปีหน้า หากประเทศอื่นไม่ขึ้นดอกเบี้ย หรือไม่มีเหตุการณ์รุนแรงออกมา กนง.อาจเปลี่ยนมุมมองได้”

นายเชาว์เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดกนง.ยังไม่ปรับเปลี่ยนดอกเบี้ย และคงดอกเบี้ยต่อเนื่องในปีนี้ โดย กนง.คงติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งคาดธปท.อาจมีปรับประมาณการเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่ใช่เร็วๆนี้ สะท้อนมุมมองที่ดีขึ้น และอีกส่วนต้องติดตามประเด็นต่างๆ แม้สถานการณ์ดีขึ้น ถือว่าสอดคล้องเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ดังนั้นความจำเป็นลดดอกเบี้ยคงไม่มี แต่มีข้อกังวล คือ ค่าเงินบาท หากแข็งค่าไปเรื่อยๆ ที่กสิกรไทยคาดการณ์ปีหน้าน่าจะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ ดังนั้นจะเป็นโจทย์กนง. ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ในการรับมือกับการแข็งค่าของเงินบาท

“ต้องชั่งน้ำหนักว่าค่าเงินเป็นอย่างไร หากแข็งค่าแต่อย่างอื่นๆพอไปได้ ก็ไม่น่ากังวลมาก แต่หากอย่างอื่นๆแย่ด้วย กนง.ก็อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า แต่ Room จะลดต่อก็ไม่เยอะ ดังนั้นกนง.คงทำด้วยความระมัดระวัง”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563

เอกชนใช้สิทธิ FTA และ GSP 8 เดือนแรกลดลง 15.72%

คต. เผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP 8 เดือนแรกของปี 63

ใช้สิทธิฯ ส่งออกอาหาร ของใช้อุปโภค/บริโภค เติบโตต่อเนื่อง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 พบว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 40,511.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.61 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 37,565.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,945.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ 8 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 15.72

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 37,565.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 16.84 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 77.37 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 12,785.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 12,209.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,369.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,089.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,075.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 100) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 91.26) 3) ไทย-เปรู (ร้อยละ 89.87) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 83.37) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 72.60) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป มันสำปะหลัง เป็นต้น

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-สิงหาคม 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,945.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.90 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 80.78 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,608.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ* เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.17 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 82.41

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 221.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.90 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 63.33 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 92.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 82.32

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ สับปะรดกระป๋อง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 22.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.48 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพดหวาน ข้าว สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เลนส์แว่นตา กรดซิทริก เป็นต้น

สำหรับ 8 เดือนแรกของปี 2563 สินค้าอาหาร/เกษตรแปรรูป อาทิ ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) น้ำผลไม้ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส อาหารปรุงแต่ง ผลไม้สด ยังคงเป็นดาวเด่นในการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงฯ โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อาทิ อินเดีย สหรัฐอเมริกา หรือในอาเซียน ในขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่บ้านหรือทำงานที่บ้าน (Work from home)

ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกไปได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย, อาเซียน, อาเซียน-เกาหลี) เครื่องล้างจานชนิดใช้ตามบ้านเรือน (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยไม้ (อาเซียน-อินเดีย) เฟอร์นิเจอร์ทำด้วยโลหะ (ไทย-ออสเตรเลีย) เครื่องสุขภัณฑ์ติดตั้งถาวรที่คล้ายกัน ที่เป็นเซรามิก (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) แชมพู (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศติดผนัง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารสุนัขหรือแมว (ไทย-ออสเตรเลีย, อาเซียน-อินเดีย, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

“บีบีจีไอ” ผนึก Manus Bio เล็งตั้ง รง.ผลิตภัณฑ์ชีวภาพในไทย

 “บีบีจีไอ” ทุ่มเงินกว่า 800 ล้านบาทถือหุ้น 5% ใน Manus Bio รุกธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยี Syn Bio พร้อมตั้งบริษัทร่วมทุน “Win Ingredients” ตั้งโรงงานผลิตในไทย ประเดิมทดลองทำตลาดสารให้ความหวานจากหญ้าหวานในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) เปิดเผยว่า บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ร่วมลงทุนใน Manus Bio Inc. สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (high value bio-based products) ด้วยเทคโนโลยีชีวนวัตกรรมกระบวนการหมักขั้นสูง โดยบีบีจีไอได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้น Series B Preferred Stock มูลค่ากว่า 800 ล้านบาทใน Manus Bio ถือหุ้นราว 5% พร้อมทั้งได้ตั้งบริษัทร่วมทุน คือ Win Ingredients เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยบีบีจีไอถือหุ้นใหญ่ 51% ใน Win Ingredients

ทั้งนี้ บริษัท Win Ingredients มีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง ผ่านการนำเทคโนโลยี Synthetic Biology (Syn Bio) แบบ Multi-Products ในประเทศไทย นับเป็นโรงงานแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในต้นปี 2564 บริษัทฯ จะนำเข้าผลิตภัณฑ์ชีวภาพสารให้ความหวานจากหญ้าหวานภายใต้แบรนด์ Nutra Sweet มาทดลองตลาดก่อนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เน้นลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (B2B) รวมทั้งรายย่อย (B2C) หลังจากนั้นจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายช่วงปลายปี 2564 เพื่อตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพขั้นสูงในไทย

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) (บีบีจีไอ) กล่าวว่า ในต้นปี 2564 บีบีจีไอจะออกหุ้นกู้วงเงิน 1 พันกว่าล้านบาท เพื่อใช้รีไฟแนนซ์เงินกู้ที่ใช้ในการซื้อหุ้น Series B Preferred Stock ของ Manus Bio และใช้เป็นเงินลงทุนธุรกิจ

ส่วนแผนการร่วมทุนตั้งโรงงาน Syn Bio แบบ Multi Products ในไทยคาดว่าจะตั้งในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งใกล้กับโรงงานผลิตเอทานอลของบีบีจีไอ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และใช้วัตถุดิบในการผลิตคือน้ำตาลทราย โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยแบคทีเรียเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพคุณภาพสูง Manus Bio เป็นเจ้าของสิทธิบัตรสายพันธุ์แบคทีเรียที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ได้ถึง 6 หมื่นชนิด เช่น สารให้ความหวานจากธรรมชาติ สารปรุงแต่งสี กลิ่น รสจากธรรมชาติ วัตถุดิบชีวภาพสำหรับใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง รวมถึงวัตถุดิบชีวภาพสำหรับใช้ในการผลิตยาหรือชีวเภสัชภัณฑ์ ฯลฯ โดยมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพคุณภาพสูง กำลังผลิต 1.3 ล้านลิตรต่อปี ที่เมือง Augusta รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ กลุ่มบางจากฯ ตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสีเขียวจากบีบีจีไอและบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG เพิ่มเป็น 40-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25-30% และอนาคตจะเป็นธุรกิจหลักที่สร้างการเติบโตให้แก่กลุ่มบางจากฯ

จาก https://mgronline.com วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

เกษตรฯ ออก 12 มาตรการ รับมือสถานการณ์ฤดูแล้ง ปี 63/64

กรมส่งเสริมการเกษตรขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียม 12 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 พร้อมสั่งการสำนักงานเกษตรจังหวัดเร่งรณรงค์สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร “เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2564” แจ้งเตือนเกษตรกรให้ทราบทุกระยะ กำชับเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำดูแลพืชอย่างถูกวิธี

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อมูลของคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้พิจารณาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ พันธุ์ข้าว แนวโน้มการตลาด และโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ที่จะดำเนินการในช่วงฤดูแล้งได้กำหนดแผนนโยบายการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 โดยมีแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.48 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.48 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.56 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด จำนวน 0.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.02 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.28 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.21 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่)

สำหรับการจัดสรรน้ำด้านการเกษตร พบว่า เนื่องจากบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงไม่สามารถจัดสรรน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 บางพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 2564 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขานรับนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้เตรียมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร 12 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทุกด้าน ขับเคลื่อนมาตรการและลงพื้นที่ให้คำแนะนำการดูแลพืชอย่างถูกวิธี ดังนี้

1.การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ "เกษตรร่วมใจรับมือภัยแล้ง ปี 2564" ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย.2563–พ.ค.2564 ใน 77 จังหวัด เป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในทุกด้านเพื่อรับมือภัยแล้ง ได้แก่ วิธีการปรับตัว การดูแลรักษาพืชในฤดูแล้ง เฝ้าระวังโรค แมลงศัตรูพืช นำเสนอกรณีตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับภัยแล้ง เผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลและการบริการของรัฐ

2.การเฝ้าระวังน้ำเค็มรุกพื้นที่พืชสวน 9 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ดำเนินการช่วงเดือน ม.ค.–พ.ค. 2564 โดยสำรวจพื้นที่เสี่ยง แจ้งเตือนข่าวสาร สถานการณ์แล้ง การขาดแคลนน้ำ เยี่ยมเยียน ติดตามให้คำแนะนำทางวิชาการในการดูแลรักษาสวน การให้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ย เพื่อป้องกันความเค็มสร้างความเสียหายแก่พืช แนะนำให้เกษตรกรรักษาความชื้นในแปลง เช่น ลอกดินเลนในร่องสวนมาปิดบนแปลงหรือโคนต้น การใช้วัสดุคลุมดินช่วยให้ประหยัดน้ำ และการตัดแต่งกิ่ง เป็นต้น

3.คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 2563–เม.ย. 2564 ใน 77 จังหวัด โดยบูรณาการหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปให้บริการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ณ จุดที่มีปัญหาและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ประเด็นการรับมือกับสถานการณ์แล้ง แจ้งสถานการณ์ และวิธีการปรับตัว ข้อมูลการให้ความช่วยเหลือต่างๆ

4.โครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ดำเนินการใน 77 จังหวัด โดยการอบรมให้ความรู้ และศึกษาดูงานการปลูกพืชทางเลือกใหม่ รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชชนิดใหม่ที่เหมาะสม

5.โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมาย 2,000 ราย/แปลงเรียนรู้ จำนวน 444 ไร่ ใน37 จังหวัดๆ ละ 12 ไร่ โดยจัดอบรมให้ความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาแก่เกษตรกรในพื้นที่เหมาะสมมากหรือปานกลาง รวมทั้งจัดทำแปลงเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา

6.โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรัง เป้าหมายเกษตรกร 5,000 ราย/5,000 ไร่ ใน 23 จังหวัด โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่ม เพื่อให้มีพื้นที่ในการจัดทำแปลงเรียนรู้ และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชหลากหลายตามความต้องการของตลาด มีการทำแผนการผลิต แผนการตลาด

7.โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เป้าหมายเกษตรกร 2,500 ราย/50 จุด พื้นที่ 200 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และการให้น้ำแก่พืชที่ถูกต้อง โดยถ่ายทอดความรู้การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าสำหรับเกษตรกร การจัดทำแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับไร่นา เพื่อเป็นตัวอย่างและจุดเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร

8.โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป้าหมาย 77 จังหวัด 882 อำเภอ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน สำหรับแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรประสบในแต่ละช่วงเวลา นำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ ในการดูแลรักษาผลิตผลทางการเกษตร

9.โครงการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนและการบริการสมาชิกและเกษตรกร กิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการควบคุมศัตรูพืช ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลิตหัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา/บิวเวอร์เรีย) เพื่อนำไปผลิตจุลินทรีย์ และผลิตจุลินทรีย์/ศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต

10.โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร กิจกรรมส่งเสริมการอารักขาพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ดำเนินการใน 77 จังหวัด ผลิตจุลินทรีย์/ศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เช่น ไตรโคเดอร์มา บิวเวอร์เรีย แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต, ผลิตไวรัสเอ็นพีวี เพื่อกำจัดหนอนกระทู้หอมในพืชผัก, ผลิตแตนเบียนแมลงดำหนาม, ผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงหางหนีบ มวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แตนเบียนบราคอน, สารสกัดธรรมชาติ เช่น สะเดา และศัตรูธรรมชาติ (แตนเบียนอะนาไกรัส แมลงช้างปีกใส) เพื่อควบคุมศัตรูมันสำปะหลัง

11.โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร ปี 2563/64 เป้าหมาย 77 จังหวัด โดยดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียวเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

12.โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 77 จังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงมากขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณภาพมาตรฐาน

ด้านนางปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมประสานและช่วยเหลือเกษตรกรในการจัดหาช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตพืชฤดูแล้ง สร้างการรับรู้เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้โดยเฉพาะข้าวรอบที่ 2 ควบคุมพื้นที่ปลูกไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนด และพืชไร่พืชผักส่งเสริมให้มีพื้นที่ปลูกตามจำนวนที่กำหนด รวมทั้งแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้ง การรักษาความชื้น และลดการเผาตอซัง ฟางข้าว เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นหมอกควันด้วย หากเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลหรือแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

Circular จะกลายเป็น “เครื่องมือกีดกันทางการค้า” ตัวต่อไป

“สุริยะ” เร่งดันแผน Circular Economy ส่วนหนึ่งในนโยบาย BCG คาดอาจเป็นเครื่องมือใช้กีดกันทางการค้าในอนาคต ด้าน “สมอ.” เร่งทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ “กลต.” ดึงรายใหญ่ใน SET 50 เป็นต้นแบบแจ้งแผนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนดึงรายกลางเข้าร่วมนโยบาย มั่นใจเป็นโปรไฟล์ ESG สร้างความเชื่อมั่นด้านสิ่งแวดล้อม ดึงการลงทุนไม่ยาก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานใน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ระหว่าง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ และจะกลายเป็นเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าในอนาคตแน่นอน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่า เป็นต้นเหตุในการทำลายสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG โมเดล โดยบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมใน 3 มิติพร้อมกัน ได้แก่ Bio Circular และ Green

นับจากนี้ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการโดยเฉพาะ สมอ. ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่กำกับดูแลและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ เพื่อกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ไปบ้างแล้ว โดยกำหนดมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ มาตรฐานการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ใหม่ และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562

เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ ในการจัดการทรัพยากรในองค์กร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้กำหนดให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะ SET 50 เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) เพื่อให้สะท้อนการประกอบธุรกิจ ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม เช่น นโยบาย เป้าหมาย และผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 2565

โดยจะเริ่มให้รายใหญ่นำร่อง และเป็นพี่เลี้ยงให้รายกลางดำเนินตาม แนวทางนี้จะส่งผลต่อการลงทุนเช่นกัน เนื่องจากจะเห็นแผนงานจองบริษัทต่างๆ ว่ามุ่งไปด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนอย่างมาก

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

'ดอน' ชงครม.เคาะ 'CPTPP'

“ดอน”เตรียมนำท่าทีไทยต่อ CPTPP หารือที่ประชุมครม. พร้อมเร่งเรียกประชุมกนศ.หาข้อสรุปเอฟทีเอไทย-อียู หลังลงนามอาร์เซ็ปสำเร็จเตรียมชงเข้า ครม.ภายในปีนี้ ขณะนักวิเคราะห์ชี้้ อาร์เซ็ป เพิ่มอิทธิพลด้านเศรษฐกิจและการเมืองของจีน

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังจากความสำเร็จของการลงนามในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) ที่มีการลงนามในเวทีประชุมผู้นำสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมา ไทยจะเร่งรัดเข้าสู่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศในข้อตกลงอื่นๆที่อยู่ระหว่างการหารือและเจรจาให้เร็วขึ้น

ดังนั้น เร็วๆนี้ตนจะเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) เพื่อติดตามประเด็นและหารือเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ โดยมีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณาเช่นเรื่องของเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งต้องเตรียมที่จะเดินหน้าเช่นกัน

“เส้นทางของการค้าระหว่างประเทศ ในเวทีต่างๆเป็นเส้นทางที่เราต้องเดิน จากการที่สหรัฐเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะเดโมแครตให้ความสำคัญกับเวทีการค้าแบบพหุภาคีเราจึงต้องเตรียมความพร้อมไว้ให้มากที่สุด”

ส่วนการเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เบื้องต้นได้ทราบว่าคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สรุปการศึกษาข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมซีพีทีพีพีแล้วโดยผลการศึกษาจะส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่วมกับผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หาก ครม.มีมติให้เดินหน้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีได้ประเทศไทยก็จะเริ่มขั้นตอนการเจรจากับแต่ละประเทศสมาชิกและจะต้องแสดงความจำนงค์ในการเข้าเป็นสมาชิกต่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกซีพีทีพีพีซึ่งปกติจะมีการประชุมในเดือน ส.ค.ของทุกปี อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้หารือกับชาติสมาชิกซีพีทีพีพีมาแล้วเบื้องต้นทุกประเทศยินดีที่จะให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกและพร้อมที่จะเปิดการประชุมรอบพิเศษให้กับประเทศไทยคาดว่าจะสามารถแสดงความจำนงค์เพื่อสมัครเป็นสมาชิกได้ภายในเดือน มิ.ย.2564

“ซีพีทีพีีพีเป็นเรื่องที่ได้รับการรายงานในสภาแล้วกำลังจะกลับมาที่ ครม. เมื่อครม.มีมติให้เดินหน้าก็จะเข้าสู่การเจรจา ซึ่งกรณีประเทศไทยหากเราแสดงความสนใจเขาพร้อมที่จะเปิดรอบพิเศษให้โดยที่ไม่ต้องรอให้ถึงการประชุมใหญ่ในเดือน ส.ค.เขาบอกว่าไทยพร้อมเมื่อไหร่ก็จะจัดประชุมให้คิดว่าประมาณเดือน มิ.ย.เขาจะเปิดรอบพิเศษให้ได้เพื่อให้เราได้เข้าไปเริ่มเจรจาตามขั้นตอน”

อาร์เซ็ปเบียดอิทธิพลอเมริกา

ด้านเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างความเห็นนักวิเคราะห์มองว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอาร์เซ็ปมีเพียงเล็กน้อย และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผล แต่ข้อตกลงนี้ถือเป็นชัยชนะทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในช่วงที่สหรัฐดูเหมือนรามือจากเอเชียแปซิฟิก ผลพวงจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าสหรัฐภายใต้การนำของโจ ไบเดน จะเข้ามาเจรจาข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่กับเอเชียแปซิฟิกหรือไม่

รายงานจากซิตี้รีเสิร์ชระบุ สารทางการทูตของอาร์เซ็ปอาจสำคัญเท่ากับด้านเศรษฐกิจ นั่นคือ “รัฐประหารเพื่อจีน” ข้อตกลงฉบับนี้ประสบความสำเร็จหลายด้านท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน และความกังวลเรื่องการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ

อาร์เซ็ปชี้ให้เห็นว่า 1. เอเชียตะวันออกเปิดเสรีธุรกิจอย่างมาก และยอมรับว่าการบูรณาการทางการค้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นมีประโยชน์ 2. โลกเข้าใจว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาวงจรคู่ของจีนที่เน้นตลาดภายในประเทศ ไม่ได้หมายความว่าจีนจะหันกลับไปมองตนเองอย่างเดียว 3. เป็นการส่งสัญญาณว่า เมื่อพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิกไม่อยากเลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐ แม้แต่พันธมิตรด้านความมั่นคงที่เหนียวแน่นกับสหรัฐอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ไม่อยากเลือกเช่นกัน

อาร์เซ็ปไม่แกร่งเท่าซีพีทีพีพี

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า อาร์เซ็ปไม่แกร่งเท่ากับซีพีทีพีพี ภาษีในหมู่สมาชิกหลายประเทศต่ำอยู่แล้วจากข้อตกลงทวิภาคีที่มีอยู่หรือข้อตกลงพหุภาคีอื่นที่เล็กกว่าอาร์เซ็ป ทำให้ผลประโยชน์โดยตรงทางเศรษฐกิจมีจำกัด

กาเร็ธ ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย จากบริษัทที่ปรึกษาแคปิตอลอีโคโนมิกส์ ยกตัวอย่าง การค้าในหมู่ 10 ชาติอาเซียนกว่า 70% ภาษีเป็น 0 อยู่แล้ว การลดภาษีเพิ่มเติมจากอาร์เซ็ปจะค่อยๆ มีผลบังคับใช้ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าการปฏิบัติตามข้อตกลงจะทำได้เต็มที่

กระนั้น ไซมอน แบปติสต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์โลก บริษัทที่ปรึกษาดิโอโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาร์เซ็ปช่วยวางรากฐานความร่วมมือระหว่างสมาชิกให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะชาติที่ยังไม่มีข้อตกลงทวิภาคีระหว่างกัน และอาจมีการจับคู่กันระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก และระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ที่มีข้อพิพาทการค้าระหว่างกัน

ส่วนอินเดียที่ร่วมเจรจามาตั้งแต่แรกถอนตัวไปเมื่อปีก่อน เพราะกังวลว่าสินค้าราคาถูกจากจีนจะทะลักเข้าประเทศสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตอินเดีย กรณีนี้ลีเธอร์จากแคปิตอลอีโคโนมิกส์ กล่าวว่า อาร์เซ็ปที่ลงนามกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดโอกาสให้อินเดียกลับมาอีก สมาชิกบางราย เช่น ญี่ปุ่นมองว่าการที่อินเดียร่วมด้วยสำคัญกับการคานอำนาจเศรษฐกิจของจีน “แต่การปะทะกันที่หิมาลัยทำให้การลงนามที่มีจีนเกี่ยวข้องด้วยยากยิ่งขึ้นสำหรับอินเดีย”

บทวิเคราะห์จากซิตี้รีเสิร์ช อ้างจากกลุ่มคลังสมองสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ระบุ อินเดียเป็นหนึ่งในผู้เสียหายรายใหญ่จากอาร์เซ็ป ถ้ายังอยู่ในข้อตกลงนี้จีดีพีแท้จริงจะเพิ่มขึ้น 1.1% ภายในปี 2573 แต่เมื่อไม่ได้ร่วมอาร์เซ็ป อินเดียจึงไม่ใช่ฐานการผลิตทางเลือกที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับอาเซียน

รายงานจากเอชเอสบีีซีชี้ว่า แม้ไม่มีอินเดีย สมาชิกปัจจุบัน 15 ชาติก็จะเติบโตคิดเป็น 50% ของผลผลิตโลกภายในปี 2573

“ในมุมมองระดับโลก ข้อตกลงอาเซ็ปแม้ไม่แข็งแกร่งเท่าเมกาดีลอื่นๆ แต่ก็ส่งสัญญาณว่าเอเชียเดินหน้าเปิดเสรีทางการค้า แม้ภูมิภาคอื่นจะไม่ไว้ใจ ด้วยเหตุนี้จึงอาจเป็นการตอกย้ำแนวโน้มที่เคยดำเนินมาหลายสิบปีว่า แรงโน้มถ่วงเศรษฐกิจโลกยังผลักไปทางตะวันออกอย่างไม่ลดละ” นักเศรษฐศาสตร์เอชเอสบีซีระบุ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานปาฐกถาพิเศษ “การประกาศความสำเร็จการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)” ว่า มั่นใจว่าอาร์เซ็ป จะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุน โดยเฉพาะการสนับสนุนสินค้าของไทยที่มีจุดแข็งอย่างสินค้าเกษตร ให้บุกตลาดอีก 14 ประเทศได้ อย่างมันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา ประมงอาหาร ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอุตสาหกรรม ที่จะได้ประโยชย์อีก เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย มอเตอร์ไซค์ รวมถึงภาคบริการและการลงทุน อย่าง ธุริจบริการก่อสร้าง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ที่ไทยมีศักยภาพมาก รวมถึงธุรกิจคอนเทนต์ อย่าง ภาพยนตร์ แอนิเมชัน เกมส์ เป็นต้น อีกทั้ง ความตกลง ยังก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างสมาชิก ซึ่งยังไม่มีในความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน+1 เลย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า การส่งเสริมและคุ้มครองวิสาหกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และความร่วมมือในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

“การให้สัตยาบันของไทยนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 เห็นชอบให้ไทยให้สัตยาบันแล้ว ซึ่งผมจะเร่งผลักดันนำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาได้ทันประชุมสมัยนี้ ที่เริ่มเปิดประชุมเดือนพ.ย.2563 -ก.พ.2564 ถ้าผ่านความเห็นชอบ จะเข้าสู่กระบวนการให้สัตยาบัน ซึ่งไทยน่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้สัตยาบันได้เพื่อให้อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ได้ภายในกลางปีหน้าเป็นต้นไป ”

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563

กระทรวงอุตสาหกรรมผนึก 4 องค์กรยักษ์ขานรับนโยบาย BCG

กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบาย BCG จับมือ 4 องค์กรยักษ์ใหญ่ ก.ล.ต. ,ส.อ.ท. ,จีซี และ เอสซีจี เดินหน้าผลักดันมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ภาคอุตสาหกรรม

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตฯ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ จีซี และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจีเพื่อส่งเสริมมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG

ทั้งนี้  ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ และนำมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุในการทำลายสิ่งแวดล้อมรัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG โมเดล โดยบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมในสามมิติพร้อมกัน ได้แก่ Bio Circular

และ Green เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะ สมอ. ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่กำกับดูแลและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCGอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรภายในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การร่วมมือกันครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน  ตลอดจนสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย รวมทั้งสอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว”

โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็น Big Brother ชั้นนำของไทยที่ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จในการจัดการภายในองค์กรตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะผนึกกำลังร่วมกันผลักดันให้มีการนำมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG โดยกำหนดมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ  มาตรฐานการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ใหม่ และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562

เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้ในการจัดการทรัพยากรในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นมีจำนวนลดน้อยลง จนกระทั่งนำไปสู่การไม่มีของเสีย

“หลังจากนี้ สมอ. จะเริ่มเดินสายรณรงค์ให้ความรู้แก่ทุกภาคส่วนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักในความสำคัญของมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

ติดตามจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 และสัญญาณนโยบายการเงินของ ธปท.

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.00-30.50 โดยการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่นำไปสู่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในหลายรัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มล่าช้าออกไปจนหลังการเข้าทำงานของคองสภาคองเกรสชุดใหม่ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มที่จะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า สำหรับไทย รายงานจีดีพีไตรมาสที่ 3 ที่จะสะท้อนถึงการหดตัวน้อยลงจากการฟื้นตัวของการบริโภคและส่งออกจะสนับสนุนค่าเงินบาท ด้านนโยบายการเงินคาดว่า ธปท. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธนี้ แต่คาดว่าจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายต่อเนื่องจากความกังวลผลกระจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดในสหรัฐฯ และยุโรปที่รุนแรงขึ้นมากภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ที่ให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพมากถึง 90% บริษัท Pfizer และ BioNTech ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการเริ่มใช้วัคซีนได้จริงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอย่างไทย หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อนแนวโน้มที่โจ ไบเดนจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินในเอเชีย โดยระหว่างวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี นักลงทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยสุทธิสูง 1.84 หมื่นล้านบาทและซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 3.07 หมื่นล้านบาท กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 และในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดกังวลสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ โดยความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ลดลงหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดมีความกังวลสูงขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของสหรัฐฯ มากกว่า 1 แสนรายต่อเนื่องทำให้หลายรัฐในสหรัฐฯ ทั้ง นิวยอร์ค แมรี่แลนด์ มินเนโซต้า ไอโอว่า ยูทาร์และอีกหลายรัฐกำหนดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ด้านประธานเฟดโพเวลกล่าวในงานสัมมนาธนาคารกลางที่ซินทราว่าการค้นพบวัคซีนนั้นเป็นเรื่องดีสำหรับในระยะกลาง แต่เตือนว่าความไม่แน่นอนของวัคซีนยังสูงมาก ทั้งด้านระยะเวลา การผลิต การจัดจำหน่ายและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยบาทปิดตลาดที่ 30.18 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคงหนีไม่พ้นข่าวความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยตลาดเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงภายหลังจากที่บริษัท Pfizer ของสหรัฐฯ ที่ร่วมมือกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนีผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ผลมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% ในการป้องกันไวรัสสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 0.975% อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯมากกว่า 1 แสนรายติดต่อกันเกือบ 2 สัปดาห์ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไม่น้อย โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่13 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่าสหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมจำนวน 10.9 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิต 2.48 แสนราย รั้งอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธานเฟดที่แสดงความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงในปัจจุบันและมองว่ายังคงมีคนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือในช่วงหลังวิกฤต ดังนั้น เฟดจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คุณโพเวลเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการการคลังเพิ่มเติม เช่นเดียวประธานเฟดสาขาดัลลัส ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้าจะเผชิญอุปสรรคอย่างมาก โดยเน้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐมีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้เองจึงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีอยู่ที่บริเวณ 0.88% ณ เวลา 16.00น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

ค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินออมได้

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือนตุลาคมสูงขึ้นมาที่ 50.9 จาก 50.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น ทั้งด้านภาพรวมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และแนวโน้มรายได้ จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น (Steepening) กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลง ซึ่งมาจากแรงเข้าซื้อเพื่อเกร็งกำไรในค่าเงินบาท รวมไปถึงความต้องการของนักลงทุนภายในประเทศ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยต่างประเทศ ทำให้ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.56% 0.67% 0.88% 1.12% และ 1.42% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นแรงเข้าซื้อในหุ้นกู้ระยะสั้นเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA ถึง AA- ที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปีเป็นกลุ่มที่ credit spread มีการปรับตัวลดลงมากสุดอยู่ที่ 5-7 bps ส่วน credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม BBB+ ลงไปทรงตัวในระดับเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านยังคงไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 19,076 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 13,788 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,518 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 230 ล้านบาท

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

กรอ.ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย หนุนรง.ใช้สารเคมีเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศโอโซน โดยมีการส่งเสริมการใช้สารเคมีทางอุตสาหกรรมที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือ สาร HCFCs เป็นสารที่ถูกควบคุมภายใต้พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยการลดและเลิกการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 และมีพันธกรณีในการลดและเลิกใช้สารดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมายให้เริ่มควบคุมปริมาณการใช้ในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งมีค่าฐานที่ 927 โอดีพีตัน และให้ลดปริมาณการใช้ลงตามลำดับ 10% ในปี พ.ศ. 2558, 35% ในปีปัจจุบันพ.ศ. 2563, 67.5% ในปี พ.ศ. 2568 และควบคุมปริมาณการใช้สาร HCFCs ให้เท่ากับศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2583

ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ร่วมกับธนาคารโลก ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินงาน(Implementing Agency: IA) จัดทำโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 23,052,037 เหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 - 2561 โดยเน้นให้ความช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคการผลิตโฟมและเครื่องปรับอากาศ ในการปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนใหม่ที่ไม่ทำลาย ชั้นบรรยากาศโอโซนและมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ ซึ่งปัจจุบันโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ และสามารถลดปริมาณการใช้สาร HCFCs ได้ 61.9% สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดที่ 15% สำหรับปี พ.ศ. 2561 โดยมีการนำเข้าเพียง 353.16 โอดีพีตัน เทียบกับปริมาณโควตาการนำเข้าซึ่งกำหนดไว้ที่ 788 โอดีพีตัน

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับธนาคารโลกและภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมศุลกากร ธนาคารออมสิน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และภาคเอกชน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ระยะที่ 2 ซึ่งประเทศไทยได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล จำนวน 5,083,929 เหรียญสหรัฐ เพื่อดำเนินการลดและเลิกใช้สาร HCFCs ในช่วงปี พ.ศ. 2563 - 2566 ซึ่งเป็นมาตรการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคนิควิชาการแก่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) รวมถึงภาคอุตสาหกรรมผลิตตู้เย็น และตู้แช่เชิงพาณิชย์ ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศโอโซน

นอกจากนี้ โครงการ จะมีการเสริมสร้างศักยภาพ ด้านการตรวจวิเคราะห์ชนิดสารทำความเย็นให้แก่กรมศุลกากร รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 เป็นสารทำความเย็น ในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยมีเป้าหมายในการจัดอบรมให้แก่ช่างซ่อมบำรุง จำนวน 5,500 คน ซึ่งจะเห็นได้ว่า โครงการ นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการและยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จะเป็นประโยชน์ ในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

ติดตามจีดีพีไทยไตรมาสที่ 3 และสัญญาณนโยบายการเงินของ ธปท.

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มการแข็งค่าโดยประเมินกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 30.00-30.50 โดยการระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่นำไปสู่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในหลายรัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มล่าช้าออกไปจนหลังการเข้าทำงานของคองสภาคองเกรสชุดใหม่ในเดือนมกราคมมีแนวโน้มที่จะกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า สำหรับไทย รายงานจีดีพีไตรมาสที่ 3 ที่จะสะท้อนถึงการหดตัวน้อยลงจากการฟื้นตัวของการบริโภคและส่งออกจะสนับสนุนค่าเงินบาท ด้านนโยบายการเงินคาดว่า ธปท. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพุธนี้ แต่คาดว่าจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายต่อเนื่องจากความกังวลผลกระจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดในสหรัฐฯ และยุโรปที่รุนแรงขึ้นมากภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยได้รับปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการค้นพบวัคซีนโควิด-19 ที่ให้ผลการทดสอบที่มีประสิทธิภาพมากถึง 90% บริษัท Pfizer และ BioNTech ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการเริ่มใช้วัคซีนได้จริงภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศที่พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอย่างไทย หลังจากที่ในสัปดาห์ก่อนแนวโน้มที่โจ ไบเดนจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินในเอเชีย โดยระหว่างวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี นักลงทุนต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยสุทธิสูง 1.84 หมื่นล้านบาทและซื้อหุ้นไทยสุทธิที่ 3.07 หมื่นล้านบาท กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 และในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดกังวลสถานการณ์โควิด-19 ในสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้นกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ โดยความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ลดลงหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดมีความกังวลสูงขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ของสหรัฐฯ มากกว่า 1 แสนรายต่อเนื่องทำให้หลายรัฐในสหรัฐฯ ทั้ง นิวยอร์ค แมรี่แลนด์ มินเนโซต้า ไอโอว่า ยูทาร์และอีกหลายรัฐกำหนดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ด้านประธานเฟดโพเวลกล่าวในงานสัมมนาธนาคารกลางที่ซินทราว่าการค้นพบวัคซีนนั้นเป็นเรื่องดีสำหรับในระยะกลาง แต่เตือนว่าความไม่แน่นอนของวัคซีนยังสูงมาก ทั้งด้านระยะเวลา การผลิต การจัดจำหน่ายและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยบาทปิดตลาดที่ 30.18 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคงหนีไม่พ้นข่าวความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยตลาดเข้าสู่โหมดเปิดรับความเสี่ยงภายหลังจากที่บริษัท Pfizer ของสหรัฐฯ ที่ร่วมมือกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนีผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ผลมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% ในการป้องกันไวรัสสำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดที่ระดับ 0.975% อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับที่มีผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯมากกว่า 1 แสนรายติดต่อกันเกือบ 2 สัปดาห์ ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไม่น้อย โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่13 พฤศจิกายน 2563 ระบุว่าสหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมจำนวน 10.9 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิต 2.48 แสนราย รั้งอยู่ในอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธานเฟดที่แสดงความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงในปัจจุบันและมองว่ายังคงมีคนบางกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือในช่วงหลังวิกฤต ดังนั้น เฟดจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คุณโพเวลเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการการคลังเพิ่มเติม เช่นเดียวประธานเฟดสาขาดัลลัส ที่กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงหลายไตรมาสข้างหน้าจะเผชิญอุปสรรคอย่างมาก โดยเน้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐมีความจำเป็น ด้วยเหตุนี้เองจึงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลงในช่วงท้ายสัปดาห์ โดยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีอยู่ที่บริเวณ 0.88% ณ เวลา 16.00น. ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

สำหรับประเด็นภายในประเทศมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเดือนตุลาคมสูงขึ้นมาที่ 50.9 จาก 50.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้น ทั้งด้านภาพรวมเศรษฐกิจ การจ้างงาน และแนวโน้มรายได้ จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันสูงขึ้น (Steepening) กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลง ซึ่งมาจากแรงเข้าซื้อเพื่อเกร็งกำไรในค่าเงินบาท รวมไปถึงความต้องการของนักลงทุนภายในประเทศ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยต่างประเทศ ทำให้ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.56% 0.67% 0.88% 1.12% และ 1.42% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นแรงเข้าซื้อในหุ้นกู้ระยะสั้นเช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA ถึง AA- ที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปีเป็นกลุ่มที่ credit spread มีการปรับตัวลดลงมากสุดอยู่ที่ 5-7 bps ส่วน credit spread ของหุ้นกู้ในกลุ่ม BBB+ ลงไปทรงตัวในระดับเดียวกับสัปดาห์ก่อนหน้า

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านยังคงไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่าสุทธิประมาณ 19,076 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 13,788 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,518 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 230 ล้านบาท

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563

แก้ฝุ่น PM 2.5 ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้า กทม. โลจิสติกส์ป่วน-ต้นทุนพุ่ง

รัฐตื่นตัวฝุ่น PM 2.5 ถล่มกรุง “บิ๊กป้อม” สั่งงัดแผนแก้พื้นที่เสี่ยง ห้ามเผาพืชเกษตร 9 จังหวัดภาคเหนือ “สรท.” โอดห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ ทำธุรกิจชะงัก กระทบต้นทุน ชี้โลจิสติกส์ป่วนแน่ เผยท่าเรือคลองเตยอาจสะดุด 1 แสนตู้ แฉต้นตอรถเครื่องดีเซลเกลื่อนเมืองรถใหม่จดทะเบียนพุ่ง 1.18 ล้านคัน กทม.ประชุมด่วน 17 พ.ย. จ่อปิดไซต์ก่อสร้าง-โรงเรียน 437 แห่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ ” รายงานว่า วันนี้ (13 พ.ย. 63) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการมอบนโยบายให้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในกรุงเทพฯและปริมณฑล พร้อมให้เร่งติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้มากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง

งัดแผนป้องกันเผาป่า

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืช หรือวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่การเกษตรว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มักทวีความรุนแรงในเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้มาตรการแรกคือใช้แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะเข้มข้น

ขึ้นตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2563-31 พฤษภาคม 2564 ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก

ลดเผาอ้อย 1.2 ล้านไร่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มีนโยบายลดการเผาอ้อยให้เหลือไม่เกิน 50% ซึ่งพบว่ามีตัวเลขปริมาณอ้อยไฟไหม้เพียง 37.18 ล้านตัน หรือคิดเป็น

49.65% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด เท่ากับไทยลดพื้นที่การเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ซึ่งในฤดูกาลผลิต 2563/2564 จะนำ 3 มาตรการให้ชาวไร่ลดการเผา โดยหากลดอ้อยไฟไหม้เหลือ 20% จะให้ราคาสูงกว่าผู้ที่ขายอ้อยไฟไหม้

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ได้จัดทำแผนบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ โดยปีนี้เน้นสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ลงลึกในระดับชุมชน และทำแผนระดับหมู่บ้าน จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563

รถดีเซลเกลื่อนถนน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากต้นตอปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่มาจากเครื่องยนต์ดีเซลนั้น จากอดีตถึงปัจจุบัน “ไม่ได้ลดลง” เลย สังเกตจากตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนใหม่ของกรมการขนส่งทางบก

มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 2563) ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มีรถปิกอัพและรถแวนจดทะเบียนใหม่ 191,721 คัน รวมรถปิกอัพ-แวนที่จดทะเบียนแล้วทั้งหมด 6,856,963 คัน รถใช้งานในภาคเกษตรกรรม 336 คัน รวมจดทะเบียนทั้งหมด 109,050 คัน

ขณะที่ตัวเลขรถจดทะเบียนใหม่ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ประเภทรถบรรทุก 8 เดือนแรกมีจำนวน 58,019 คัน รวมทั้งหมด 1,187,328 คัน รถเครื่องยนต์ดีเซลป้ายแดงแจ้งจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่รถเก่าก็ไม่ได้หายไปจากท้องถนน รวมถึงรถแท็กซี่ที่รัฐผ่อนผันให้ต่ออายุการใช้งานเพิ่มจาก 9 ปีเป็น 12 ปี

เปิดแผนแก้ฝุ่นจิ๋ว

นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า 17 พ.ย.นี้จะประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ กทม. มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก

กรมธุรกิจพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ หลังฝุ่นเริ่มกลับมาในฤดูหนาวที่อากาศปิดในเดือน ธ.ค. 2563-ก.พ. 2564

ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุง

กทม.เตรียมการรับมือ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น ห้ามรถยนต์บรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป วิ่งเข้าพื้นที่ กทม.ช่วงเวลา 06.00-21.00 น. ให้วิ่งได้ถึงถนนกาญจนาภิเษก ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563-28 ก.พ. 2564 รอการพิจารณาจากกองบังคับการตำรวจจราจร จากปัจจุบันให้วิ่งเข้าได้ในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็น แต่ประกาศใหม่จะห้ามตลอดเวลา

“อยู่ที่ตำรวจจะออกประกาศคุมทั้งพื้นที่ หรือแยกเป็นพื้นที่ รอผลวันที่ 18 พ.ย.นี้ ที่ตำรวจประชุม เพราะมีสภาอุตสาหกรรมฯไม่เห็นด้วย”

นอกจากนี้จะมีการกำกับดูแลไซต์ก่อสร้าง เช่น ให้ล้างพื้นที่ ล้อรถบรรทุก ฉีดพ่นละอองน้ำงดกิจกรรมกลางแจ้งในโรงเรียนเฉพาะเด็กเล็ก, ติดเครื่องตรวจวัดฝุ่นใน 20 สวนสาธารณะ จ่อปิดไซต์ก่อสร้าง-โรงเรียน

2.ค่าฝุ่นระดับ 51-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น ปิดการเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง ไม่เกิน 3 วัน/ครั้ง, ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักสายรอง, ให้รถเก็บขนมูลฝอยให้เสร็จก่อนตี 4, และ 3.ค่าฝุ่นระดับ 76-100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เช่น หยุดการก่อสร้างอาคารและรถไฟฟ้า 5-7 วัน, ปิดการเรียนไม่เกิน 15 วัน/ครั้ง, ให้บุคลากรของ กทม.เหลื่อมเวลาทำงาน และงดใช้รถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น

คมนาคมประชุมด่วน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า วันที่ 16 พ.ย.นี้จะมีประชุมเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธาน มีติดตามการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา และมีข้อเสนอให้ที่ประชุมพิจารณา โดยมาตรการระยะสั้นปี 2563-2564 เช่น บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถ ปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน แก้ปัญหารถติด ลดฝุ่น, มาตรการระยะกลางปี 2565-2569 เช่น ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ เพิ่มจุดจอดรถ เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นพลังงานสะอาด มาตรการภาษี จำกัดการใช้รถเก่า และมาตรการระยะยาวปี 2570-2575 เช่น บังคับมาตรการทางภาษี จำกัดการเดินทาง ห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า กรมจะลดอายุรถที่ตรวจสภาพรถครั้งแรกโดย ตรอ. ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศึกษาให้ โดยแนะว่าควรลดจำนวนปีรถจะตรวจสภาพครั้งแรก จากเดิมอายุ 7 ปี เหลือ 5 ปี

โอดสูญรายได้ 100 ล้าน/วัน

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. คัดค้านออกนโยบายห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้า กทม. เวลา 06.00-21.00 น. เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด กทม.ชี้แจงว่า คำสั่งยังไม่ได้บังคับใช้ ต้องรอกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พิจารณาออกคำสั่งในส่วนของตำรวจจราจรก่อน

“รถบรรทุกบนถนนมี 30,000-40,000 คัน/วัน หรือคิดเป็น 2% จาก 5-6 ล้านคัน/วัน ขอ กทม.คุมรถยนต์ดีกว่า เพราะผู้ประกอบการจะสูญเสียรายได้วันละ 100 ล้านบาท และเกิดภาวะสินค้าตกค้างที่ท่าเรือคลองเตยไม่น้อยกว่า 2,000 ตู้ วันที่ 16 พ.ย.นี้ ตำรวจจราจรนัดสมาคมไปหารือแล้ว”

สหพันธ์ขนส่งฯค้าน

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ไม่ตรงจุด ซ้ำยังเป็นการสร้างปัญหาใหม่ ทำให้จราจรติดขัดมากขึ้นอีก ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีมากขึ้น เนื่องจากทางหลวงหมายเลข 9 ก่อนถึงสุวรรณภูมิ-รังสิต-วังน้อย เป็นการข้ามจากภาคตะวันออกไปภาคใต้ และภาคตะวันตกเข้ามาในกรุงเทพฯ เมื่อไม่ให้ใช้วงแหวนเข้าเมือง แน่นอนว่ารถต้องติดหนัก

“หากประกาศแล้วส่งผลกระทบต่อการสัญจรก็คงต้องร้องเรียน ผมพูดมาหลายครั้งแล้วว่า การห้ามรถใหญ่วิ่งนั้นไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ว่าเราห่วงเรื่องต้นทุนผู้ประกอบการจะเพิ่ม แต่การออกประกาศจะทำให้รถยิ่งติด ฝุ่นจะยิ่งเพิ่ม”

สรท.เดือดร้อน

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สรท.ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะออกประกาศห้ามรถบรรทุกขนส่งเข้าเขตพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ในเวลา 06.00-21.00 น. เพราะจะกระทบต่อการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออก ที่ต้องขนส่งผ่านกรุงเทพฯชั้นใน เพื่อไปขึ้นเรือ ณ ท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งแต่ละเดือนมีปริมาณกว่า 30,000 ตู้ หากประกาศห้าม 3 เดือนเท่ากับกระทบ 1 แสนตู้สินค้า ผู้ประกอบการอาจเสียเวลาและมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

“จากเดิม 24 ชม.อาจขนส่งได้ 2-3 เที่ยว หากประกาศห้าม รถต้องจอดค้างคืนในรอบนอก เมื่อส่งเสร็จก็อาจกลับไม่ทันเวลาที่กำหนด ซึ่ง 24 ชม.อาจวิ่งได้แค่ 1 เที่ยว หรือต่ำกว่านั้น ระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ทางเอกชนมองว่ากระทบแน่นอน ในแง่ที่ต้องเปลี่ยนบรรทุกไปใช้รถยนต์ขนาดเล็กแทน ซึ่งต้องใช้รถจำนวนมากขึ้น ต้นทุนก็เพิ่ม เช่น เดิมบรรทุก 1 คัน ก็อาจต้องใช้รถยนต์แทน 6 คัน

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

สรุป “RCEP” คือ? ไทยได้ประโยชน์อย่างไรกับข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่สุดของโลก

รู้จัก ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค “RCEP” หรือ “อาร์เซ็ป” ข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่ที่สุดในโลก คืออะไร ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับมีอะไรบ้าง ภาคเอกชน ภาครัฐ ต้องเตรียมตัว ปรับตัวอย่างไร

15 พฤศจิกายน 2563 ผู้นำ15 ประเทศได้ร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) หรือ “อาร์เซ็ป” ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือเกือบ 30% ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 817.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านดอลลาร์หรัฐ ประมาณ 326 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก

15 ประเทศที่ร่วมลงนามความตกลง RCEP ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  ไทย บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัย ครอบคลุม คุณภาพสูง และได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน อีกทั้งมีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า และเรื่องใหม่ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

ความตกลง RCEP  มีทั้งหมด 20 บท

1.บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป

2.การค้าสินค้า

3.กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า

4.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

5.สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

6.มาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง

7.การเยียวยาทางการค้า

8.การค้าบริการ ภาคผนวกบริการการเงิน ภาคผนวกบริการโทรคมนาคม ภาคผนวกบริการวิชาชีพ

9.การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา

10.การลงทุน

11.ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ

12.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

13.ทรัพย์สินทางปัญญา

14.พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

15.การแข่งขัน

16.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ

17.บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน

18.บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น

19.การระงับข้อพิพาท

20.บทบัญญัติสุดท้าย

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามความตกลง RCEP คือ สามารถเปิดตลาดการค้าการลงทุนในอีก 14 ประเทศ โดยสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ มีดังนี้

1.หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น

2.หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว รวมทั้งอาหารแปรรูปอื่น ๆ

3. หมวดสินค้าอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องแต่งกาย รวมทั้งจักรยานยนต์

4.หมวดบริการ หมวดการก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น

5.การค้าปลีก

 สิ่งที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการในการที่จะเตรียมตัวและปรับตัว เพื่อให้เข้ากับข้อตกลงการค้าการลงทุนใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก RCEP คือ จะต้องเร่งศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะหลังจากลงนามวันนี้ แต่ละประเทศจะต้องนำไปให้สัตยาบันโดยผ่านกระบวนการของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยต้องผ่านที่ประชุมสภาฯ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ในกลางปีหน้า โดยในการมีผลบังคับใช้จะต้องมีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และกลุ่มประเทศอื่น 3 ประเทศ แจ้งให้สัตยาบัน ความตกลงก็สามารถบังคับใช้ได้เลย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

ค้าไทยยุค “ไบเดน” ไม่รื่น บาทจ่อแข็งค่าขึ้นกระทบแข่งขัน

พาณิชย์วิเคราะห์ละเอียดยิบ ค้าไทยยุค “ไบเดน” มีได้-เสีย จับตาทุ่มเงินกระตุ้นศก.ดันเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก กระทบส่งออก เทรดวอร์ผ่อนคลายโอกาสไทยส่งออกสหรัฐฯและจีนเพิ่ม เอกชนลุ้นระทึกต่อสิทธิจีเอสพีไทยหรือไม่ หลังสิ้นสุดโครงการ 31 ธ.ค.นี้

จากหลายนโยบายของโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังรับตำแหน่ง เช่น Buy America กำหนดให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้น 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, Innovate in America เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา รวมถึงการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน 4 ปีข้างหน้าเพื่อพลังงานสะอาด, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง (เดิม 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง)

ด้านความสัมพันธ์ทางการค้า ยังคงนโยบายโดดเดี่ยวจีน แต่มีแนวโน้มประนีประนอมมากขึ้น ไม่เพิ่มความรุนแรงหรือลดการใช้มาตรการทางภาษีกับจีน มีแนวโน้มสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคี โดยยึดหลักกติกาสากลเช่น ความร่วมมือเพื่อปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณากลับเข้าร่วมความตกลง TPP (CPTPP ในปัจจุบัน) เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในยุคไบเดนน่าจะผ่อนคลายลง แต่ยังคงมาตรการภาษีที่มีอยู่เดิม ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ นอกจากจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชียเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคเอเชียรวมถึงจีนที่กำลังฟื้นตัว โดยสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจีนสูงที่อาจได้รับผลบวก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากไบเดนจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสูงกว่าสมัยทรัมป์ ส่วนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาจกระทบต่อการส่งออกรถยนต์สันดาปของไทย ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญอันดับ 6 ของไทย (มูลค่า 696.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีสัดส่วน 4.7% ของการส่งออก 9 เดือนปี 2563)

อย่างไรก็ดีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายใต้โครงการปัจจุบันของสหรัฐฯจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้สหรัฐฯยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะต่ออายุโครงการแก่ประเทศที่ได้รับสิทธิ รวมถึงไทยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้การต่ออายุโครงการฯไปถึงปี 2565 อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมาย (เมื่อ 24 ก.ย.63) ซึ่งจะต้องผ่านวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีก่อนการบังคับใช้

“ไบเดนชนะเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะต่ออายุ GSP แต่เงื่อนไขอาจจะเข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าที่สหรัฐฯ สนใจ โดยไบเดนจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์การค้าที่ต้องมีผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯด้วยเช่นกัน รวมถึงประเด็นการกลับเข้าร่ม CPTPP เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ ยุคไบเดนจะกลับเข้าสู่กฎกติกาการค้าโลกภายใต้ WTO รวมถึงหากสงครามการค้าผ่อนคลายลงจะเป็นผลดีต่อการค้าโลกที่จะคลายความกังวลลง และจะกลับมาขยายตัวมากขึ้น ด้านหนึ่งจะทำให้การย้าย หรือขยายฐานการลงทุนของจีนมาไทย หรือในอาเซียนเพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ แทนฐานผลิตสินค้าในจีนที่เสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ สูง อาจชะลอตัวลง แต่ไทยจะได้อานิสงส์ส่งออกไปจีนและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่อง GSP ไทยจะรับการต่ออายุในโครงการใหม่จากสหรัฐฯหรือไม่ยังต้องติดตาม เพราะเป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาลโดนัล ทรัมป์ที่ยังรักษาการ ขณะที่โจ ไบเดนจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม 2564 หากไทยไม่ได้รับการต่อ GSP จะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ใช้สิทธิ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราปกติเกิน 10% จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันมาก และค่าเงินบาทมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่ายุคทรัมป์ จากไบเดนประกาศจะอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล จะทำให้เม็ดเงินกระจายทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ซึ่งไทยเป็นแหล่งลงทุนหนึ่งที่สหรัฐฯ สนใจลงทุนในพันธบัตร และตลาดหุ้น ทำให้มีความต้องการเงินบาทสูงขึ้น และอาจแข็งค่าขึ้น กระทบความสามารถในการส่งออก   

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563

องค์กรสิทธิฯ ห่วงข้อตกลงค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกกระทบเกษตรกร

องค์กรสิทธิมนุษยชนกังวล ข้อตกลงการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกที่มีจีนหนุนหลังอาจส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายเล็กและแรงงานในประเทศยากจน 

ที่ประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีกำหนดลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีในวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ย.นี้ที่กรุงฮานอยของเวียดนามหลังจากเริ่มเจรจากันตั้งแต่ปี 2012

ข้อตกลงซึ่งจะลดภาษีระหว่างกันนี้จะกลายเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากสมาชิกทั้ง 15 ประเทศมีประชากรรวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันราว 30% ของจีดีพีโลก

ทว่ามูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์สระบุว่า บรรดาองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรต่างกังวลว่าข้อตกลงนี้จะส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายเล็ก ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดิน และทำให้แรงงานในประเทศยากจนตกที่นั่งลำบาก

เอเรียสกา คูรูนิอาวาตี จากองค์กรสิทธิมนุษยชน Solidaritas Perempuan ในอินโดนีเซียเผยว่า แม้ว่าข้อตกลงจะมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านนโยบายกีดกันทางการค้า กระตุ้นการลงทุน และเปิดโอกาสให้สินค้าเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในภูมิภาค แต่ข้อตกลงยังขาดกฎเกณฑ์ที่ปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม และจะกระทบกับเกษตรกรรายเล็กและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19   อยู่แล้ว

ด้าน คาร์ทินี ซามอน นักวิจัยจากองค์กร GRAIN ที่ทำงานร่วมกับเกษตรรายเล็กเผยกับมูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์สว่า ข้อตกลงนี้อาจนำมาสู่การตกงาน การปิดกิจการของธุรกิจเล็กๆ การบั่นทอนสิทธิ์ของแรงงาน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งป่าและที่ดิน “หนึ่งในข้อกังวลของเราคือ มันอาจจะเอื้อให้ที่ดินเกิดการเปลี่ยนมือจากชุมชนชนบทไปสู่งค์กรต่างชาติ”

ซามอนยังห่วงอีกว่า ข้อตกลง RCEP มีแนวโน้มทำให้เกิดการจับจองที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ การตัดไม้ทำลายป่า และทำลายระบบนิเวศเพิ่มขึ้น

ส่วน รัศมี บันกา นักเศรษฐศาสตร์ของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) มองว่า การบังคับใช้ข้อตกลง RCEP ในช่วงที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับโรคระบาดจะทำให้ประเทศยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปราะบางมากขึ้น

“ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จะเผชิญกับการนำเข้าเพิ่มขึ้นแต่การส่งออกลดลง ซึ่งกระทบกับดุลการค้าและทำให้ฐานะทางการเงินของประเทศแย่ลง”

เมื่อปีที่แล้ว อินเดียถอนตัวออกจากข้อตกลง RCEP โดยอ้างความแตกต่างทางภาษีและนโยบายกีดกันอื่นๆ หลังจากเกษตรกรรวมตัวกันประท้วงข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากกลัวว่าสินค้านำเข้าราคาถูกจากประเทศอื่น อาทิ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะทะลักเข้าประเทศ

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

คลอดผลศึกษาพัฒนาแหล่งน้ำ3จว.ริมโขง สทนช.คัด33โครงการสำคัญเพิ่มศักยภาพพื้นที่

สทนช.คลอดผลการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดอีสาน คัด 33 โครงการสำคัญ เร่งด่วนจากกว่า 1,500 โครงการ นำร่องเพิ่มศักยภาพด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมความมั่นด้านน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ดำเนินการศึกษาโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย นครพนมและมุกดาหาร เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 จังหวัด บรรเทาปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างยั่งยืน สร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20ปี ที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การเกษตร และอุตสาหกรรม รวมทั้งการแก้ปัญหาอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ และฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม

ทั้งนี้จากผลการประเมินศักยภาพของพื้นที่และความต้องการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน พบว่า ในพื้นที่เป้าหมายพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ

โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภค บริโภค นอกจากนั้นยังมีบางพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบปัญหาอุทกภัย และอนาคตมีความจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เลขาธิการ สทนช.กล่าวต่อว่า การศึกษาข้อมูลทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำ 6 ด้าน ตามลำดับ คือ ภัยแล้งและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ปัญหาอุทกภัย ปัญหาคุณภาพน้ำ การจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ โดยได้กำหนดแนวจัดทำแผนหลักการจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2564-2580) จำนวน1,523 โครงการ รวมงบประมาณกว่า 36,114 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นได้มีการคัดเลือกโครงการสำคัญ เกิดผลสัมฤทธิ์สูง สร้างผลประโยชน์ในวงกว้างต่อหลายตำบล หลายอำเภอ ที่ควรจะดำเนินการก่อนจำนวน 33 โครงการกักเก็บน้ำต้นทุนได้เพิ่ม 100.4 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์รวม 107,000 ไร่ และประชากรได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 66,334 ครัวเรือน

นอกจากนี้ ได้มีการพิจารณาโครงการเร่งด่วนและสำคัญ ในการแก้ปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งและการส่งเสริมพื้น ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อศึกษาความสมของโครงการให้ครอบคลุมทุกๆด้าน จำนวน 3 โครงการคือ 1.โครงการฟื้นฟูพัฒนาหนองกอมเกาะ จ.หนองคาย ด้วยการขุดลอกหนองและคลองระบาย ยกระดับเก็บกักน้ำให้หนองกอมเกาะได้ความจุน้ำ 11 ล้านลบ.ม. และก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 6,850 ไร่ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 5,550 ครัวเรือน และยังสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการประมง การวิจัย และการท่องเที่ยวได้ 2.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยมุก จ.มุกดาหาร เป็นแผนก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายเก็บน้ำในพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารจำนวน 4 แห่ง ปริมาณความจุเก็บกักรวม 13.5 ล้านลบ.ม. งานประตูระบายน้ำ 2 แห่งและคลองส่งน้ำห้วยมุก-ห้วยโปความยาว 10.4 กิโลเมตร เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ไม่น้อยกว่า 13,000 ไร่ ช่วยบรรเทาภัยน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร และ3. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยบ่อ จ.นครพนม ประกอบด้วย ด้วยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยบ่อ ยกระดับฝายห้วยบ่อ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยมุดเค พร้อมระบบสูบน้ำส่งนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนในประเทศได้ 8.83 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่เกษตรได้รับประโยชน์ราว 6,300 ไร่ เป็นต้น

“สทนช.จะได้นำแผนที่ผ่านการเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่เสนอผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในระยะต่อไป ทุกโครงการประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณพื้นที่ของโครงการ จะต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำสามารถนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวให้กับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 จังหวัดกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพโดดเด่นด้านระบบการขนส่ง สามารถเชื่อมโยงการค้า-การลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้แต่ละจังหวัดยังมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่การแต่งกาย ภาษาที่ใช้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวได้อีกด้วย” เลขาธิการสทนช.กล่าวย้ำในตอนท้าย

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ก.อุตฯ จัด 3 มาตรการเข้ม แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ลดฝุ่น PM2.5

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ในฤดูการผลิต 2563/2564 ด้วย 3 มาตรการเข้ม ส่งเสริมตัดอ้อยสด ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ให้มีอ้อยไฟไหม้ไม่เกินร้อยละ 20 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ตามนโยบายของภาครัฐแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ว่า “จากนโยบายให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกินร้อยละ 50 ต่อวัน และการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ลดลงโดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37.18 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยสามารถลดพื้นที่การเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียม 3 มาตรการในการส่งเสริมตัดอ้อยสด ดังนี้

1.ลดอ้อยไฟไหม้เหลือร้อยละ 20 ด้วยมาตรการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้

2.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดหาเครื่องสางใบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยสมาชิกกลุ่มเรียนรู้พัฒนาด้านอ้อยยืม จำนวน 112 เครื่อง โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 – 4

3.กรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติให้ความเห็นชอบหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีทุกรายเต็มจำนวนโดยคิดแยกเป็นรายโรง และมี นโยบายที่จะผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดมีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ เป็นการจูงใจให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน พร้อมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดกรอบวงเงินการช่วยเหลือต่อไป

"สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2563/2564 คาดการณ์ว่าเกษตรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 800 บาท/ตันอ้อย ซึ่งคาดว่าราคาอ้อยในปี 2563/2564 มีราคาสูงกว่าฤดูการผลิตที่แล้วแน่นอน

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดทำระบบจดทะเบียนชาวไร่อ้อยแบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีความประสงค์จะจดทะเบียนชาวไร่อ้อยเพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ก็สามารถจดทะเบียนชาวไร่อ้อยได้ภายใน 10 นาที ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2565" สุริยะกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ก.เกษตรฯจัดงาน‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ครบ65ปี

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานแถลงข่าวจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวงประจำปี 2563 ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมพร้อมจัดงานวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2563 ครบปีที่ 65 แห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน ภายใต้แนวคิด “9 ใน 9 สิ่งสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวง” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน2563 ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ประกาศก้องถึงพระเกียรติคุณแห่งองค์พระบิดาแห่งฝนหลวง และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ของพระองค์ร่วมกัน

ภายในงานจัดนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง ภายใต้แนวคิด “9 ใน 9 สิ่งสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวง” นิทรรศการผลงานภาพจิตรกรรม“ฝนหลวง สืบสาน รักษา ต่อยอด” นิทรรศการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ 20 หน่วยงาน ในปีนี้มีไฮไลท์ของงาน คือ นำเสนอภาพยนตร์ในรูปแบบ 4 มิติ(4D Experience) ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกว่า 60 ร้านค้า เป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ซึ่งมีทั้งผัก ผลไม้ อาหารสดและอาหารแปรรูปทางการเกษตร รวมทั้งมีกิจกรรมการสาธิตเสริมสร้างอาชีพจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ อาทิ สาธิตทำอาหารแปรรูปจากปลานิล การทำสาวไหม การสอนทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน การประดิษฐ์พัดเดคูพาจและการแสดงดนตรีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง

ร้อยเอกธรรมนัสกล่าวต่อว่า การเตรียมความพร้อมจัดงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2563 ซึ่งปีนี้ครบปีที่ 65 แห่งการกำเนิดฝนหลวงพระราชทาน นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริที่จะคิดค้น วิจัย หาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พุทธศักราช 2545 เฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้ประชาชน เยาวชน ได้มีโอกาสแสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงก่อให้เกิดเทคโนโลยีฝนหลวง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ไทย-อาเซียน อ้าแขนรับ อินเดีย ร่วม RCEP ย้ำ เป้า 2 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2020

ไทยมุ่งสานต่ออาเซียน-อินเดีย สนับสนุนการเชื่อมโยงในภูมิภาค ร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 17.50 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 17 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ พร้อมด้วยนายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวสรุป ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมว่า เป็นการทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดีย ในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในอนาคตให้พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรม

ด้านนายกรัฐมนตรีอินเดียได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนว่า เป็นศูนย์กลางของนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย และพร้อมจะร่วมกับอาเซียนเพื่อเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ รวมทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านกรอบความร่วมมือต่าง ๆ โดยย้ำความร่วมมือกันรับมือกับโรคโควิด-19 ทั้งในส่วนของยา การป้องกัน การรักษา ต้องส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระบบสาธารณสุข และการวิจัย อินเดียยินดีส่งเสริมการพัฒนากับประเทศอาเซียน และสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านดิจิทัล เพื่อเป็นส่วนสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนกับอินเดีย

รวมทั้งประสงค์เพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน ตลอดจนยินดีที่จะมีการทบทวนกลไก และความร่วมมือภายหลังโควิด-19 เพื่อเพิ่มความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งอาจขยายไปสู่ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย และความร่วมมืออื่นๆ ที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย อาเซียนยินดีกับการมีส่วนร่วมของอินเดียในภูมิภาคตามแนวนโยบายมุ่งตะวันออก และเห็นว่าความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งระหว่างกันจะช่วยเสริมสร้างสันติสุข เสถียรภาพ และความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ตลอดจนเพิ่มพูนความเข้าใจของประชาชนทั้งสองฝ่าย ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับผลกระทบของโรคโควิด-19 และเร่งให้เศรษฐกิจและสังคมฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง ครอบคลุม และยั่งยืน

ซึ่งเชื่อว่าอินเดียจะให้การสนับสนุนอาเซียนในทุกโครงการด้านสาธารณสุข โดยอาเซียนคำนึงถึงความสำคัญของความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะความร่วมมือในการวิจัย พัฒนา ผลิต กระจายยาและวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อให้เป็นสินค้าสาธารณะของโลก ตลอดจนแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และยินดีที่จะผลักดันความร่วมมือภายใต้กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ

นอกจากนี้ ไทยย้ำถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจว่า อาเซียนคำนึงถึงความสำคัญของการบรรลุเป้าหมายการค้าร่วมกันจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้ได้ภายในปี ค.ศ.2020 โดยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยอาเซียนจะยึดมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา และขอย้ำว่า อาเซียนยังคงรอต้อนรับอินเดียในการเข้าร่วมความตกลง RCEPและพร้อมสนับสนุนสภาธุรกิจอาเซียน-อินเดีย เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือในการการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ SMEs ผู้ประกอบการสตรี และผู้ประกอบการรุ่นใหม่

ตลอดจน อาเซียนสนับสนุนให้อินเดียมีบทบาทส่งเสริมการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 (MPAC 2025) สอดคล้องกับแนวคิด “การเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ” ของอาเซียน โดยจะผลักดันโครงการถนนสามฝ่ายอินเดีย-เมียนมา-ไทย และส่วนขยายไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนามให้ดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมยินดีที่อินเดียสนใจจะขยายความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมได้ภายใต้หลักการของ AOIP และ IPOI รวมทั้งชื่นชมบทบาทของอินเดียในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมไอทีในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมทั้งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอาเซียน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำว่า อาเซียนมุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับอินเดียให้ก้าวหน้าอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งสามเสาของประชาคมอาเซียนตามแนวทางภายใต้แผนปฏิบัติการฉบับใหม่ ค.ศ.2021-2025 เพื่อให้ภูมิภาคเติบโตอย่างเข้มแข็ง พร้อมรับมือกับโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“สุพัฒนพงษ์” ปลื้ม ศก.ไทยเริ่มดีขึ้น สัญญาณลงทุนอีอีซีมาแล้ว มั่นใจปี 64 ไปต่อ

 “สุพัฒนพงษ์” มั่นใจ ศก.ปี 2564 ฟื้นตัวต่อเนื่อง ลงทุนอีอีซีรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาทช่วยขับเคลื่อน แย้มให้ดูตัวเลข ศก. “สศช.” ไตรมาส 3 จันทร์นี้ “บีโอไอ” โชว์สัญญาณลงทุนมาแล้วหลังออกบัตรส่งเสริม 9 เดือนในอีอีซีทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าพุ่ง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งแรก ว่า ขณะนี้มีสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีที่จะฟื้นตัวกว่าที่คาดไว้ และจะต่อเนื่องในปี 2564 ซึ่งจากการที่รัฐได้เร่งมาตรการต่างๆ รองรับโดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะก่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยในปี 2564 คาดว่าจะเกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

“โครงการท่าเรือแหลมฉบังก็จะเร่งผลักดันให้เข้าบอร์ดอีอีซีเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการลงทุนในสิ้นปีนี้ เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีก้าวหน้าในการดึงการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมากำหนดโครงการหลักไว้ 5 โครงการ ลงทุน 6.52 แสนล้านบาทก็จะรองรับได้อย่างดี ซึ่งพบว่าสัญญาณลงทุนจริงเริ่มมาโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการออกบัตรส่งเสริมฯ การลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจปีนี้น่าจะฟื้นตัวกว่าที่คาด ขอให้รอข่าวดีจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 วันที่ 16 พ.ย. 63 นี้อีกครั้ง” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ อีอีซี)กล่าวว่า กบอ.ยังได้รับทราบการลงทุนกับ บมจ.ทีโอทีในการบริการโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในอีอีซีที่จะเสร็จใน 3 เดือน ที่ปัจจุบันทางอีอีซีได้ดำเนินการไปพอสมควร และหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านไทยก้าวหน้าไปก่อนแล้ว 2 ปีที่จะมีส่วนสำคัญในการดึงการลงทุนในปี 2564 ที่คาดว่าการลงทุนทั้งรัฐและเอกชนจะมากกว่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้เติบโตได้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มีโครงการขอรับการส่งเสริมในอีอีซี 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 63) จำนวน 313 โครงการ มูลค่ารวม 109,430 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณาจากตัวเลขออกบัตรส่งเสริม 9 เดือนอยู่ที่ 309 โครงการ เพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 185,000 ล้านบาท เพิ่ม 47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นสัญญาณการลงทุนจริงที่เริ่มกลับมา

“ตัวเลขออกบัตร 9 เดือนแรกในอีอีซีเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ใกล้จะลงแล้ว ปกติบีโอไอจะเริ่มตั้งแต่มายื่นขอส่งเสริมการอนุมัติ และเมื่อจะลงทุนจริงก็จะออกบัตรส่งเสริมก็จะเริ่มต้นลงทุน การที่ตัวเลขออกบัตรที่เพิ่มขึ้นในอีอีซีก็ชี้ว่าโครงการที่ส่งเสริมฯ ไปกำลังจะลงทุนแล้ว” นายนฤตม์กล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“พาณิชย์” วิเคราะห์นโยบายไบเดน มีผลดีไทยเพิ่มส่งออก-ดึงการลงทุน

“พาณิชย์” วิเคราะห์นโยบาย “ไบเดน” ชี้สงครามการค้ามีแนวโน้มผ่อนคลายลง ส่งผลส่งออกไทยฟื้นตัว แต่สหรัฐฯ ยังคงสกัดกั้นอำนาจจีน ทำให้การลงทุนหันมาไทยเพิ่ม คาดหันให้ความสำคัญ WTO ส่งผลการแก้ไขปัญหาการค้าดีขึ้น ด้าน GSP มีโอกาสได้ต่อแบบมีเงื่อนไข ย้ำไทยต้องระวังถูกเล่นงานเรื่องค่าเงิน จับตาการกลับเข้า CPTPP แนะต้องเร่งส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพเจาะสหรัฐฯ เพิ่มการขายออนไลน์

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการวิเคราะห์นโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและการค้าของไทย ว่า ในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนน่าจะผ่อนคลายลง แต่จะยังคงมาตรการภาษีที่มีอยู่เดิม ทำให้ไทยยังมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และยังจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชีย เป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในภูมิภาคเอเชียที่กำลังฟื้นตัว ทั้งการส่งออกไปยังจีน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และการส่งออกไปอาเซียนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้การส่งออกไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากสงครามการค้า และอาจได้ผลบวกสำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานจีนสูง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังคงมีเป้าหมายสกัดกั้นอำนาจจีน ทำให้การลงทุนมีแนวโน้มไหลออกจากจีน และนักลงทุนต่างชาติเลือกกระจายหรือย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นแทน เช่น อาเซียน (เวียดนาม ไทย) สหรัฐฯ ละตินอเมริกา และอินเดีย ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแพทย์ แต่การย้ายฐานจากจีนอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลง ซึ่งไทยต้องปรับกลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายมากขึ้น

ส่วนนโยบายการค้า สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) ร่วมกับพันธมิตร จะเป็นผลดีต่อไทยในการเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสากลในระบอบพหุภาคี เพิ่มความร่วมมือกับคู่ค้า เช่น อาเซียน ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยขยายการค้าเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ เน้นทำการค้าแบบประนีประนอม เช่น ผ่อนมาตรการกับสหภาพยุโรป เลิกคว่ำบาตรประเทศผู้ผลิตน้ำมัน แต่จะมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและแรงงานเพิ่มขึ้น และในด้านการลงทุน จะเน้นการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีสื่อสาร เป็นโอกาสให้นักลงทุนและธุรกิจไทยขยายการลงทุนไปยังในสหรัฐฯ หรือประเทศใกล้เคียง เช่น แคนาดา และเม็กซิโก ที่มีความตกลง USMCA กับสหรัฐฯ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดขยายฐานกระจายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย

สำหรับโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่จะหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค. 2563 สหรัฐฯ คาดว่ามีแนวโน้มที่จะต่ออายุ แต่เงื่อนไขอาจจะเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าที่สหรัฐฯ สนใจ และไทยยังต้องระวังในเรี่องการบิดเบือนค่าเงินที่อาจถูกสหรัฐฯ จัดกลุ่มเป็นประเทศที่ต้องติดตามนโยบายค่าเงินอย่างใกล้ชิดด้านอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งต้องติดตามการพิจารณากลับเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ที่จะมีผลกระทบต่อการค้าของไทย

อย่างไรก็ตาม ในการขยายตลาดสหรัฐฯ ไทยควรเน้นผลักดันการส่งออกในกลุ่มสินค้า เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ทูน่ากระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง สตาร์ชมันสำปะหลัง ผ้าผืนทำจากไหม โครงก่อสร้างทำด้วยเหล็ก ผ้าผืนทำจากฝ้าย เครื่องสุขภัณฑ์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง-ภาพ และอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าสู่ตลาด ใช้การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และเน้นโปรโมตสินค้าไทยในเมืองใหญ่และเมืองรองเพื่อให้ติดตลาด

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“กรมชล” สร้างประตูระบายน้ำ 3 จังหวัดลุ่มน้ำยม

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์  รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมุ่งออกแบบก่อสร้างเชิงวิศวกรรมชลประทานให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชนแต่ละท้องถิ่น  สำหรับลุ่มน้ำยมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก สภาพพื้นที่ไม่เอื้อต่อการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงปรับมาใช้แผนก่อสร้างประตูระบายน้ำ และสร้างฝายกันน้ำเป็นช่วงๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ แต่ละแห่งสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ  2,000,000 – 10,000,000 ลบ.ม.รวมๆแล้วก็เกือบ 100 ล้านลบ.ม. ก็ช่วยลดปัญหาภัยธรรมชาติและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานในท้องถิ่นได้อย่างดี

“การก่อสร้างฝายมีศักยภาพในการเก็บกักน้ำ เทียบเท่าประตูระบายน้ำไม่ได้ เพราะฝายเก็บกักน้ำได้น้อยกว่า แถมลุ่มน้ำยมมีปัญหาชะล้างหน้าดินค่อนข้างเยอะ หากเป็นโครงการประตูระบายน้ำ สามารถยกบานประตูขึ้น เพื่อให้ตะกอนดินไหลออกไปตามลำคลอง ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ฝายทำไม่ได้ มักมีตะกอนดินไหลมากองอยู่หน้าฝายทำให้เกิดปัญหาดินทับถมบ่อยครั้ง กรมชลประทานจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหญ้าแฝกและปลูกไม้ยืนต้นในแหล่งต้นลำธาร เพื่อลดปัญหาการชะล้างหน้าดิน เก็บรักษาความชุ่มชื้นในดิน ลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมอีกทางหนึ่ง”นายเฉลิมเกียรติกล่าว

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า  เพื่อให้แผนการก่อสร้างประตูระบายน้ำและฝายกันน้ำทุกโครงการเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ผู้ได้รับประโยชน์ กรมชลประทานได้เปิดโอกาสให้ประชาชน องค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดตำแหน่งที่ตั้งโครงการ รูปแบบหัวงาน และระดับเก็บกักน้ำที่เหมาะสม

“ กรมชลประทานได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อประตูระบายน้ำแต่ละแห่งให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชน เช่น ปตร.บ้านวังน้ำเย็น เปลี่ยนชื่อเป็น ปตร.วัดพระธาตุแหลมลี่  ปตร.บ้านหาดอ้อน เปลี่ยนเป็น ปตร.ขอนไม้แดง  ปตร.บ้านบาน ชื่อเปลี่ยนเป็น ปตร.เวียงเชียงชื่น ปตร.บ้านเกาะน้อย เปลี่ยนเป็น ปตร.หาดเสี้ยว ให้สอดคล้องกับเป็นอัตลักษณ์เด่นของชุมชน คือ ผ้าหาดเสี้ยว (ลายผ้าตีนจก) กรมชลประทานวางแผนออกแบบก่อสร้างประตูระบายน้ำแห่งนี้ให้มีลวดลายผ้าตีนจกซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของผ้าหาดเสี้ยวด้วย เพื่อเพิ่มความสวยงามแก่สถานที่  สร้างความภูมิใจแก่ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้แวะเข้ามาเช็คอินที่ประตูระบายน้ำแห่งนี้ในอนาคต” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

นายเฉลิมเกียรติกล่าวว่า  ปัจจุบัน กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสม ในการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมทุกโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและดำเนินการก่อสร้างต่อไป หากเป็นไปตามแผนที่กำหนด กรมชลประทานคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างประตูระบายน้ำได้ภายในปี 2565 -2566  ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ  3 ปี เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะมีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จากโครงการมากกว่า 100,000 ไร่ ทำให้พี่น้องประชาชนกว่า 12,000 ครัวเรือนมีความสุขเพิ่มมากขึ้นเพราะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง มีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

หวั่น “ภัยแล้ง” รุนแรง เตรียมแผนคุมเข้ม

เกษตรฯ เคาะพื้นที่ปลูกข้าว จัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ใช้โมเดลจัดการเสี่ยงสาธารณภัยครอบคลุมทุกมิติ หวังคุมเข้มรับมือแล้งหากแผนหลุดเป้า

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563/64 คาดว่าจะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วนไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อ ภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านเกษตร และเตรียมการให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยใช้กรอบแนวคิด "Smart DRM for 3s : SEP - SDGs - SEDRR" มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบครอบคลุมทุกมิติ  ซึ่งจะเสนอ (ร่าง) แผนดังกล่าว เข้าคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 และได้กำหนดแผน นโยบายและมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยมีแผนการเพาะปลูกทั่วประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.48 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.56 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) และลุ่มน้ำแม่กลองจำนวน 0.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.02 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน - ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน  0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.28 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.21 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่) อย่างไรก็ตาม ด้านการจัดสรรน้ำ ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภค - บริโภค การรักษาระบบนิเวศ์ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับของความสำคัญ

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,380 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 64% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 24,451 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 47% ของความจุน้ำใช้การ) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของน้ำใช้การ จำนวน 2 แห่ง คือ ภูมิพล แม่มอก ปริมาณน้ำไหลลงอ่างและระบาย ช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง (1 พ.ย.63 – ปัจจุบัน) ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 1,512.01 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 403.89 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พ.ย. 63) ในส่วนของสภาพอากาศในขณะนี้พายุดีเปรสชั่น "เอตาว" (พายุระดับ 2) ได้อ่อนกำลัง   ลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกของประเทศไทยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ย. 63)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

เกษตรฯ ชี้นโยบาย Free Trade with Alies โจ ไบเดน “ไทย” คือเป้าหมายนักลงทุน

กระทรวงเกษตรฯ วิเคราะห์จุดแข็งภาคเกษตรไทย หลัง “โจ ไบเดน” ชนะศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ สศก. เผยไทยได้โอกาสขยายตลาดสินค้าเกษตรออร์แกนิค เกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นสินค้าที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ย้ำไทยจะเป็นหนึ่งแหล่งรองรับนักลงทุนสหรัฐที่ย้ายฐานออกมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร ด้านการต่างประเทศ จาก นโยบาย Free Trade with Alies

วันที่ 11 พ.ย. 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่ผลการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “โจ ไบเดน” จากพรรคเดโมแครต เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีผลกระทบทั้งมุมโอกาสและปัญหาต่อประเทศไทย ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

โดยเฉพาะภาคเกษตรในภาพรวม สหรัฐอเมริกามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก รัฐบาลสหรัฐถือว่ามีอิทธิพลอันดับต้น ๆ ของโลก และการค้าโลก ใช้เงินสกุล US ดอลลาร์ เป็นหลัก การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐส่งผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลกการเคลื่อนไหวของค่าเงิน US ดอลลาร์ ส่งผลต่อค่าเงินสกุลอื่นทั่วโลก

สหรัฐคือตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของไทย เงินสำรองระหว่างประเทศไทยของไทย ก็มีเงินสกุล US ดอลลาร์ อยู่ไม่น้อย ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตาม US ดอลลาร์สหรัฐ ยังคงให้สิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) กับสินค้า 644 รายการ สหรัฐคือกลุ่มทุนซีกโลกตะวันตกที่ลงทุนในไทยมากอันดับต้น ๆ

ทั้งนี้ นโยบายของสหรัฐภายใต้การนำของผู้นำคนใหม่จะส่งผลให้นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ มีแนวโน้มกลับมาผ่อนคลายมากขึ้น การค้าจะเปิดเสรีมากขึ้น สหรัฐจะเข้าสู่กติกาการค้าโลกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเพิ่มรายจ่ายภาครัฐเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ อีกทั้งเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีธุรกิจและภาษีคนรวย ซึ่งอาจมีผลทำให้ภาวะการลงทุนภายในประเทศของสหรัฐชะลอตัวลง

แต่จะเป็นผลดีต่อไทยและประเทศในแถบเอเชียที่จะเป็นแหล่งรองรับนักลงทุนสหรัฐที่ย้ายฐานออกมา โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมเกษตร ด้านการต่างประเทศ นโยบาย Free Trade with Alies เน้นทำการค้าเสรีแบบมีเงื่อนไขแต่ยังคงถ่วงดุลอำนาจจีน โดยสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศพันธมิตรเดิม โดยเฉพาะสมาชิกในความตกลงการค้า TPP เดิม

ด้านการเกษตรภาพรวม ขยายฐานเสียงสู่ชาวอเมริกันชนชั้นกลางในเขตชนบท ด้านนโยบายการค้าสินค้าเกษตร เน้นนโยบายการค้าที่ส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวอเมริกัน เน้นการจัดการการผลิตที่ล้นตลาด (global overcapacity) เพื่อป้องกันการทุ่มตลาดและส่งผลต่อการค้า รวมทั้งเข้มงวดในมาตรการด้านการจัดการและกำหนดบทลงโทษกับคู่ค้าที่ฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว

ซึ่งคาดว่าสหรัฐจะมีการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สหรัฐจะหันกลับมาใส่ใจกับการลดปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยวางแผนตั้งเป้าหมายให้อเมริกาเป็นอุตสาหกรรมเกษตรรายแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จในการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Net-zero emission) และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำ การขนส่ง พลังงาน ให้เพียงพอและรองรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้

“การที่ โจ ไบเดน ได้รับชัยชนะนั้น สศก. ได้ติดตามและวิเคราะห์ประเมินทิศทางนโยบายต่อภาคเกษตร คาดว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศจะผ่อนคลายมากขึ้น มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับที่ โจ ไบเดนให้ความสำคัญ รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยอาหาร การแสดงที่มาของผลผลิต การควบคุมการผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพ

โดยไทยมีโอกาสขยายการเปิดตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์ออแกนิค หรือสินค้าเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งการเน้นนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของสหรัฐให้เติบโต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าอุปโภค บริโภค และสินค้าเกษตรและอาหารของไทยด้วยเช่นกัน”

ด้าน นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สศก. กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การค้าระหว่างไทยและสหรัฐที่ผ่านมาว่า จากข้อมูลการส่งออกตั้งแต่ปี 2560 – 2562 ประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ มูลค่าเฉลี่ย 8.45 แสนล้านบาท โดยส่งออกสินค้าเกษตรมูลค่าเฉลี่ย 1.28 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15.18 ของมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐทั้งหมด สินค้าส่งออกมูลค่าสูงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์และปลาและสัตว์น้ำ ของปรุงแต่งจากพืชผัก ผลไม้และลูกนัต ธัญพืช อาหารสัตว์เลี้ยง และยางพารา

อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้ประกาศการระงับสิทธิ GSP สำหรับสินค้าไทยจำนวน 231 รายการ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ด้วยเหตุผลว่าไทยไม่ปรับปรุงกฎระเบียบที่จะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดเนื้อสุกรของไทยได้อย่างเพียงพอ โดยสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้ เป็นสินค้าเกษตรจำนวน 44 รายการ แต่มีการนำเข้าในตลาดสหรัฐเพียง 22 รายการ ที่จะได้รับผลกระทบทำให้มีราคาขายสูงขึ้นจากการเสียภาษีนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่อาจตามมาในอนาคต ไทยจึงควรเร่งปรับตัว โดยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเร่งเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้า (Value Added) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจและยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น และให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

เงินทุนไหลเข้าไทยคึกคัก ดันบาทแข็งค่า กรอบวันนี้ 30.25-30.45 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้11 พฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 30.35 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.43 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.25-30.45 บาทต่อดอลลาร์

ในคืนที่ผ่านมา ตลาดเงินถูกกดดันด้วยแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นวันที่สอง ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง 1.4% โดยนักลงทุนกลับเข้า ลงทุนในกลุ่มพื้นฐาน (Value) และวัฏจักร (Cylclical) หนุนให้ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อ 0.9% พร้อมกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้น 2.7% ด้วยความหวังว่าวัคซีนจะทำให้การบริโภคฟื้นตัวได้เร็ว

ส่วนตลาดเงิน กลับมาเป็นการอ่อนค่าของดอลลาร์ 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก แม้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีจะปรับตัวขึ้นต่อไปที่ 0.94% (+1.5bps) แต่ราคาทองคำทรงตัวในระดับ 1872 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ชี้ว่านักลงทุนยังไม่ทิ้งสินทรัพย์ปลอดภัยไปทั้งหมด

ด้านเงินบาท ได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าของต่างชาติ อย่างหนาแน่น โดยมียอดซื้อสุทธิในหุ้นถึง 619.9 ล้านดอลลาร์ สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ พร้อมกับมีเงินที่ไหลมาพักในตราสารหนี้ตลอดสัปดาห์นี้ที่ 88.7 ล้านดอลลาร์แล้ว

ในระยะสั้น เชื่อว่าการพลิกมุมมองของนักลงทุนกลับมาหากลุ่ม Cyclical value เป็นมุมมองเชิงบวกกับค่าเงินบาท ส่วนในในระยะยาว เชื่อว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องจริงเมื่อการเดินทางสามารถทำได้เป็นปกติ

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

อีอีซีปรับแผนลงทุนรับ”ไบเดน”

อีอีซีปรับแผนลงทุนรับ”ไบเดน” หวังลงทุนคึกทะลุเป้า1.7ล้านล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(เลขาฯอีอีซี) กล่าวถึงแผนการลงทุนอีอีซี ว่า สำนักงานอีอีซีเตรียมหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับแผนการลงทุนอีอีซีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะ 5 ปี(2563-67 )ใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากนโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ ที่จะส่งผลบวกต่อการลงทุนที่คาดว่าจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น จากแผนเดิมประเมินการลงทุน5ปีในอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาท

“การลงทุนในอีอีซีต้องมารีวิวใหม่ ทั้งเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามนโยบายลดโลกร้อนของนายไบเดน เทคโนโลยี5จีของไทย และข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศฉบับต่างๆที่จะเอื้อต่อการลงทุน”นายคณิศกล่าว และว่า สำนักงานอีอีซีต้องการให้รัฐบาลพิจารณาข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น เพราะเวลานี้ประเทศเพื่อนบ้านทำไปพอสมควรแล้วโดยเฉพาะเวียดนามที่เข้าร่วมหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี)แล้ว หากดำเนินการได้โอกาสที่จะดึงการลงทุนมาไทยจะมากขึ้น

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

ครม.ไฟเขียวขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ ช่วยชาวไร่อ้อย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (10 พ.ย.) มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 สำหรับเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยและการปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ขยายระยะเวลากำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี จากเดิม 4 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2570 และเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ขยายระยะเวลากำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี จากเดิม 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2572 รวมทั้งเห็นชอบการพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยโครงการปี 2559-2561 และโครงการปี 2562-2564 ระยะเวลารวม 1 ปี

กระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งว่า การพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยของโครงการปี 2559-2561 งบประมาณที่ได้รับอนุมัติมีเพียงพอ ขณะที่โครงการปี 2562-2564 จำเป็นต้องขอจัดสรรกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 185.05 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10CCS สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ในอัตรา 790.62 บาทต่อตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 338.84 บาทต่อตันอ้อย ส่วนฤดูกาลผลิตปี 2561/62 อยู่ในอัตราตันอ้อยละ 680.77 บาท และผลตอบแทนหารผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 291.76 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งทั้ง 2 ฤดูกาลผลิตต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจึงต้องจ่ายชดเชยให้โรงงานในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 จำนวน 19,730.74 ล้านบาท และฤดูกาลผลิตปี 2561/62 จำนวน 3,068.47 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,799.21 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนรวม 4,649.46 ล้านบาท

จาก https://mgronline.com   วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พาณิชย์​เล็งตั้งกองทุนหนุนการค้าไทย-ลาว

รมช.วีรศักดิ์ สั่งไอทีดี เร่งศึกษาการตั้งกองทุนอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-ลาว หลังชาติมหาอำนาจรุกหนักในลาว ทำให้การค้าไทยลาว-เสียเปรียบ หวั่นระยะยาวสินค้าชาติอื่นตีตลาดลาวแทนที่สินค้าไทย

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี :ITD เร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ไทย-สปป. ลาว” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว  โดยการยกระดับประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุนให้แก่นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ไทย และ สปป.ลาว

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-ลาว เกิดจากการได้ลงพื้นที่พบปะกับนักธุรกิจไทยที่ได้เข้าไปทำการค้าและลงทุนใน สสป.ลาว ซึ่งมักจะพบกับปัญหาหลายอย่าง เช่น ต้นทุนในการติดต่อประสานงานในการค้าขายและต้นทุนการขนส่งสินค้าข้ามแดนสูง การขนส่งสินค้าทางเรือ และการจัดการเอกสารการค้าผ่านแดน รวมถึงการขออนุญาตนำเข้าส่งออกใช้เวลานาน  การจัดเก็บค่าธรรมเนียม การตรวจคนเข้าเมือง การศุลกากร และการกักกัน มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีต้นทุนแฝงที่ค่อนข้างสูง ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างกันของไทยและสปป.ลาว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2562  ของ ITD ที่พบว่า สปป.ลาวยังคงประสบกับปัญหาด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าหลายประการ

ทั้งในด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอ การพัฒนากลไกการประสานงาน และบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ การขาดบุคลากร ทรัพยากรและขีดความสามารถในการดำเนินการและอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น การลดการทุจริตของเจ้าหน้าที่ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแก่นักธุรกิจ และผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นปัญหาปลีกย่อยต่างๆแล้ว ยังมีประเด็นที่น่ากังวลเรื่องที่ชาติมหาอำนาจเข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนลาวในหลายๆด้านซึ่งมีแนวโน้มว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างไทย-ลาว อาจมีบทบาทน้อยลง รวมถึงรถไฟความเร็วสูงจากจีน-ลาว จะช่วยให้สินค้าจีนเข้าสู่ลาวได้มากขึ้น เป็นผลให้สินค้าจีนจะเข้ามาแย่งตลาดของสินค้าไทยในลาว ขณะเดียวกัน ลาวยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ชายแดนกับเวียดนามมากกว่าไทย เพราะเป็นทางออกสู่ทะเลของลาว ซึ่งจะทำให้การค้าไทยลาว-เสียเปรียบ  แม้ว่าขณะนี้ ประเทศไทยยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศลาวก็ตาม

"ผมจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกทางการค้าไทย-สปป.ลาว ขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้ สปป.ลาว สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีความสมบูรณ์และเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขประเด็นทางด้านเทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยและสปป.ลาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการที่ยังมีความซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกับการค้าในปัจจุบันมากขึ้น กำหนดเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปค้าขาย และลงทุน ในสปป.ลาวให้ได้รับความสะดวก ปลอดจากกฏเกณฑ์ที่ซับซ้อนยุ่งยาก ที่จะส่งผลต่อการแข่งกันทางการค้าให้มากที่สุด" นายวีร​ศักดิ์​กล่าว

ทั้งนี้ รมช.พาณิชย์​เห็นว่า สถาบัน ITD มีความคล่องตัวสูงในการเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายได้สะดวกและรวดเร็วกว่าหน่วยงานอื่น ดังนั้น จึงมองว่าควรใช้ประโยชน์จากสถาบัน ITD ในการศึกษาเรื่องดังกล่าว โดยทำหน้าที่ในการประสานเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศมาหารือกัน เพื่อนำไปสู่กลไกในการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการค้าไทย-ลาว เพื่อลดอุปสรรคและข้อจำกัดทางการค้า  ซึ่งหากได้ผลดี  อาจขยายไปร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นด้วย

จาก https://www.banmuang.co.th    วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ครม.เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 2 ฤดูกาล  

ครม. เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ปี 60-61 และ 61-62 พบราคาต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ต้องจ่ายส่วนต่างให้โรงงาน 22,799.21 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ระดับความหวาน 10 ซีซีเอส ฤดูการผลิต ปี 60-61 ในอัตรา 790.62 บาทต่อตัน และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทราย 338.84 บาทต่อตัน ส่วนฤดูการผลิต ปี 61-62 กำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย อยู่ในอัตรา 680.77 บาทต่อตัน และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทราย 291.76 บาทต่อตัน

 "การดำเนินโครงการทั้ง 2 ฤดูการผลิตนั้น พบว่ามีราคาต่ำกว่าอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ดังนั้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจึงต้องจ่ายชดเชยให้กับโรงงาน รวม 22,799.21 ล้านบาท โดยในฤดูการผลิต ปี 60-61 จ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 19,730.74 ล้านบาท ส่วนในฤดูการผลิต ปี 61-62 จ่ายเงินรวมทั้งสิ้น 3,068.47 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากโรงงานนำส่งเข้ากองทุนรวม 2 ฤดูการผลิตนั้นอยู่ที่ 4,649.46 ล้านบาท โดยสถานะของกองทุน ณ สิ้นปี 62 มีสถานะทางการเงินติดลบ 5,800 ล้านบาท ซึ่งทางเลขาฯ กองทุน จะมีการชี้แจงแผนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเงินในส่วนที่ติดลบนี้ให้กระทรวงอุตสาหกรรมต้นสังกัดต่อไป"

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.62 เรื่องการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 62-64 สำหรับเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย รวมถึงการปรับพื้นที่ปลูกอ้อยจากเดิมที่มีการขยายระยะเวลาชำระเงินเสร็จสิ้นจากเดิมไม่เกิน 4 ปี เป็นชำระไม่เกิน 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.70 และเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร ขยายเวลาชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี จากเดิม 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.72 

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโครงการในปี 59-61 และโครงการในปี 62-64 เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเรื่องนี้แล้ว โดยกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า การพักชำระหนี้และดอกเบี้ยครั้งนี้ โดยดอกเบี้ยโครงการในปี 59-61 มีงบประมาณที่ใช้เพียงพอ แต่โครงการในปี 62-64 จำเป็นต้องขอจัดสรรกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีก 180 ล้านบาท

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สกพอ.จ่อถก”สุพัฒนพงษ์” ปรับแผนลงทุนอีอีซี

สกพอ. เตรียมหารือ "สุพัฒนพงษ์" ปรับแผนลงทุนอีอีซี รับนโยบาย "ไบเดน" เน้นสิ่งแวดล้อม หวังดึงนักลงทุนสหรัฐฯเข้าไทยปี 65

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เรื่อง การขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ อีอีซี ปี 2565 เดินหน้าต่อเนื่อง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ว่า สกพอ.เตรียมหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาแนวทางการปรับแผนการลงทุนอีอีซีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมายระยะ 5 ปี (2563-2567) ใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะนโยบาย ของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ที่จะส่งผลบวกต่อการลงทุนที่คาดว่าจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมอยู่ที่ระดับ 1.7 ล้านล้านบาท เนื่องจากนโยบายของ โจ ไบเดนจะเน้นเรื่องลดภาวะโลกร้อนก็จะดึงนักลงทุนจากสหรัฐอมเริกาได้มากขึ้นและอีอีซีจะต้องพัฒนาคืออุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Green)

นอกจากนี้ สกพอ. ต้องการให้รัฐบาลได้พิจารณาเรื่องข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านทำไปพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเวียดนามที่ได้เข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้า เพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก(CPTPP) ซึ่งหากดำเนินการได้โอกาสที่จะดึงการลงทุนจะมีมากขึ้นส่วนของโครงการศูนย์ซ่อมอากกาศยานอู่ตะเภา(MRO)ยังถูกบรรจุไว้ในงบปี 65 เผื่อกรณีแผนฟื้นฟูของการบินไทยผ่าน ต้องติดตามในช่วงเดือนมการาคม2564

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ครม.เห็นชอบขยายชำระเงินกู้สินเชื่อผลิตอ้อย

ครม. เห็นชอบขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลิตอ้อย พร้อมกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกู้ โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 สำหรับเงินกู้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และการปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ขยายระยะเวลากำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี จากเดิม 4 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2570 และเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ขยายระยะเวลากำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี จากเดิม 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน2572 รวมทั้งเห็นชอบการพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยโครงการปี 2559-2561 และโครงการปี 2562-2564 ระยะเวลารวม 1 ปี ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งว่าการพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยของโครงการปี 2559-2561 งบประมาณที่ได้รับอนุมัติมีเพียงพอ ขณะที่โครงการปี 2562-2564 จำเป็นต้องขอจัดสรรกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน185.05 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10CCS สำหรับฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ในอัตรา 790.62 บาท/ตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 338.84 บาท/ตันอ้อย ส่วนฤดูกาลผลิตปี 2561/62 อยู่ในอัตราตันอ้อยละ 680.77 บาท และผลตอบแทนหารผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอยู่ที่ 291.76 บาท/ตันอ้อย ซึ่งทั้ง 2 ฤดูกาลผลิตต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจึงต้องจ่ายชดเชยให้โรงงานในฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 จำนวน 19,730.74 ล้านบาท และฤดูกาลผลิตปี 2561/62 จำนวน3,068.47 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 22,799.21 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนรวม 4,649.46 ล้านบาท

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“กรมเจรจาฯ”ปูพรหมลงพท.ให้ความรู้เกษตรกร

"กรมเจรจาฯ" กางแผนงานปี 64 ปูพรหมลงพื้นที่ ให้ความรู้เกษตรกร ผู้ประกอบการและ SMEs ไทย ใช้ประโยชน์ FTA

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า แผนการทำงานในประเทศ ปี 2564 ด้านการเข้าถึงและสร้างความเข้าใจกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย กรมฯ จะเน้นการลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อติวเข้มให้ความรู้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทย ได้รับทราบข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า และสามารถวางแผน รับมือ ใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการดำเนินโครงการและกิจกรรม ของกรมฯ ในปี 2563 ที่สามารถช่วยเพิ่มยอดขาย ขยายการส่งออกด้วย FTA แก่เกษตรการ และผู้ประกอบการได้

ซึ่งในปี 2564 กรมฯ จะเดินหน้าสานต่อโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการจัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA ขยายการส่งออกไปตลาดอาเซียนและจีน โดยใช้แต้มต่อจากเอฟทีเอ จัดร่วมกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย โครงการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ขยายการส่งออกด้วยเอฟทีเอ จัดร่วมกับ ศอ.บต. และ โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ

ทั้งนี้ เพื่อจัดกิจกรรมและให้คำแนะนำได้ตรงกับความต้องการ อาทิ ให้ความรู้ด้านการตลาด กฎระเบียบ มาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษีของประเทศคู่ค้า ให้คำปรึกษาเชิงลึกเรื่องการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และการจับคู่ธุรกิจเพื่อให้เกิดการค้าขาย สร้างรายได้กลับสู่ท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พาณิชย์ลุ้นส่งออกดีขึ้น หลัง‘ไบเดน’คว้าผู้นำสหรัฐ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ แถลงถึงยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์รองรับหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามมาโดยตลอดร่วมกับภาคเอกชน เพราะมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ในปี 2562 สหรัฐฯเป็นคู่ค้า

อันดับที่ 4 ของไทย รองจาก อาเซียน จีน และญี่ปุ่น และในปี 2563 มูลค่าการค้าไทย-สหรัฐ ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ส่วนตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐฯช่วงเดือนมกราคม-กันยายน รวม 9 เดือนแรกของปีมีมูลค่าการค้า ทั้งสิ้น 7.9แสนล้านบาท คิดเป็น 14.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทยหรือบวก 7.4% มีสินค้า 4 กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เครื่องตกแต่งบ้านของใช้ในบ้าน อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์ เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น

เมื่อผลการเลือกตั้งเป็น “โจ ไบเดน” คาดว่าสหรัฐจะหันมาให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น ผ่านองค์การการค้าโลก(WTO) มากขึ้น และที่ต้องจับตาการกลับมาใช้CPTPP (ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) โดยอาจเพิ่มการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น FTA(เขตการค้าเสรี) กับประเทศต่างๆ และเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน มาเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเจรจาทางการค้ามากขึ้นในภาพรวมคิดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของการค้าโลก ที่ผ่อนปรนขึ้น ซึ่ง ประเทศไทยจะมีผลในทางบวกร่วมกันด้วย ซึ่งวันนี้คาดการณ์ว่าวัตถุดิบที่ไทยจะส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐอาจจะมีโอกาสมากขึ้น หากสงครามการค้าผ่อนคลายลงไทยก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ด้วย หรือประเทศไทยอาจจะใช้วิธีพหุภาคีเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พาณิชย์ จับตานโยบายโจ ไบเดน คาดการค้า เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ส่งผลบวกต่อไทย

จุรินทร์ ประเมิน โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลให้บรรยากาศการค้า และเศรษฐกิจโลกดีขึ้น โดยรวมส่งผลบวกต่อไทย

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ รองรับหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามมาโดยตลอดร่วมกับภาคเอกชน เพราะมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในช่วงปีที่ผ่านมา (2562) สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของประเทศไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น

โดยในปี 2563 มูลค่าการค้าไทยสหรัฐฯ เดือนมกราคมถึงกันยายน มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ดังนั้นจากลำดับที่ 4 มาเป็นลำดับที่ 2 รองจากอาเซียน ส่วนตัวเลขการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เดือนมกราคม-กันยายน รวม 9 เดือนแรกของปี มีมูลค่าการค้า 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 14.7% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เป็นบวก 7.4% เฉพาะเดือนกันยายน ปี 2563 เป็นบวกถึง 19.7% ซึ่งสินค้า 4 กลุ่มหลักเป็นตัวสำคัญประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์, อาหาร, เครื่องตกแต่งบ้าน ของใช้ในบ้าน, อุปกรณ์วัสดุทางการแพทย์

เมื่อผลการเลือกตั้งเป็น โจ ไบเดน นั้นเราคาดว่าเรื่องที่ยังคงอยู่ คือ

1.สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แต่อาจผ่อนปรนลง

2.เรื่องอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโดแปซิฟิก

3.คาดว่าการใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้า หรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐฯน่าจะยังคงอยู่ เช่น GSP หรือการจัดการกับการทุ่มตลาด และเซฟการ์ด แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่า โจ ไบเดน จะมีความแตกต่างจากช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ โดยคาดว่าสหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น ผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) มากขึ้น และที่ต้องจับตาการกลับมาใช้ CPTPP โดยอาจเพิ่มการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น FTA กับประเทศต่างๆ และเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน มาเป็นเงื่อนไขต่อรองหรือเจรจาทางการค้ามากขึ้น

ในภาพรวมคิดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมของการค้าโลกที่ผ่อนปรนขึ้น ซึ่งประเทศไทยจะมีผลในทางบวกร่วมกันด้วย ซึ่งวันนี้คาดการณ์ว่าวัตถุดิบที่ไทยจะส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯอาจจะมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น หากสงครามการค้าผ่อนคลายลงไทยก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้ด้วย หรือประเทศไทยอาจจะใช้วิธีพหุภาคีเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าได้มากขึ้น

"ผมให้กระทรวงพาณิชย์ต้องเดินหน้าทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิดต่อไปในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ ให้ร่วมมือกับอาเซียนใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อเจรจาต่อรองทางการค้าร่วมกัน และปรับรูปแบบการเจรจาทางการค้าเป็นอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ให้ความสำคัญแพลตฟอร์มของสหรัฐฯ เช่น Amazon โดยต้องเปิดห้องหรือร้านในนั้นมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯจะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันมิตรกับสหรัฐฯได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเวทีการเจรจา FTA ใหม่ๆ ที่มีสหรัฐฯร่วมอยู่ด้วย เรื่องสงครามการค้าจะยังอยู่ แต่ไทยยังมีโอกาสส่งสินค้าไทยทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และสินค้าสหรัฐฯในตลาดจีนได้ และไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มมากขึ้น

ส่วนประเด็นการปฏิรูป WTO โดยสหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้กลไก WTO เดินหน้าต่อได้ ทั้งการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ และการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อไทย และการทบทวนสิทธิ์ GSP ที่สหรัฐฯจะให้ความสำคัญกับมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสในการเจรจาทบทวนการคืนสิทธิ์ GSP ให้ไทยด้วย.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ACE เปิดรับซื้อชีวมวลกว่า 50 ชนิด 1.7 ล้านตัน เข้าโรงไฟฟ้า ช่วยลดฝุ่น PM 2.5

ACE ขานรับบอร์ดสิ่งแวดล้อม ลด PM 2.5 ชูแนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” ประสานผู้นำชุมชน-หน่วยงานรัฐ-เกษตรกร รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 50 ชนิดรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล 12 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านตัน

นางสาวจิรฐา ทรงเมตตา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE ผู้นำด้านพลังงานสะอาด เปิดเผยว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเร่งด่วน ทางบริษัทได้ตระหนักถึงความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศ บนหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล โดยดำเนินการภายใต้แนวทาง “ลดเผา รายได้เพิ่ม” เปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรที่หลากหลายกว่า 50 ชนิด อาทิ ฟางข้าว แกลบ ใบอ้อย ต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด ฯลฯ เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ รวม 12 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ในปี 2563 และ 2564 ตั้งเป้าหมายรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.7  ล้านตัน โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ซึ่งมักเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 บริษัทฯ จะรับซื้อในปริมาณมากขึ้น 40-50% ของปริมาณรับซื้อปกติ ทั้งนี้แม้จะเกินปริมาณการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในเดือนนั้นก็ตาม แต่มีวัตถุประสงค์จะดำเนินการ เพื่อลดฝุ่นละออง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งที่ผ่านมาในแต่ละปีสามารถช่วยลดได้มากกว่า 434 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“ช่วงหน้าแล้ง บริษัทจะซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเกินกว่าที่ใช้จริงและนำมาเก็บสต็อก เพราะต้องการลดการเผาในไร่นา ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด โดยประสานผู้นำชุมชน หน่วยงานรัฐและเกษตรกรโดยตรง เชิญชวนนำมาขายให้ ACE ในราคายุติธรรมและรับซื้อเกือบทุกชนิดที่มีในประเทศไทย เพราะนอกจากมีส่วนร่วมลดฝุ่น PM 2.5 และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรทั่วประเทศด้วย”

ทั้งนี้ ตลอด 9 ปีตั้งแต่ปี 2555 การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลของ ACE ได้รับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรในปริมาณรวมแล้วมากกว่า 5 ล้านตัน มีส่วนช่วยลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่โล่งเทียบเท่าปริมาณ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาฟางข้าว ตอซังข้าวในนาข้าวเนื้อที่รวมกว่า 10.8 ล้านไร่/ปี

ขณะเดียวกันยังเป็นช่องทางให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ทดแทนการเผาได้ปีละมากกว่า 1,200 ล้านบาท ช่วยให้สร้างมูลค่าเพิ่มกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน มากกว่า 5,000 ล้านบาท

“การที่ ACE สามารถรับซื้อวัสดุได้ในปริมาณมาก และหลากหลายกว่า 50 ชนิด ครอบคลุมวัสดุทางการเกษตรเกือบทุกประเภทที่มีในประเทศไทย ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่จะรับซื้อไม่กี่ชนิด เพราะ ACE มีเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลที่ทันสมัยและบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความรู้จริงเกี่ยวกับการเดินโรงไฟฟ้าชีวมวลมากว่า 30 ปี ทำให้สามารถผสมผสานใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลาย จนถึงวันนี้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทฯ ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน พร้อมจะเปิดรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน”

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลของ ACE ทั้งหมด 12 โครงการ รวมกำลังผลิต 988 ล้านหน่วยต่อปี กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ อาทิ ชลบุรี, ขอนแก่น, สุรินทร์, นครราชสีมา, ร้อยเอ็ด, บุรีรัมย์, ลำปาง, หนองคาย, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี ซึ่งแต่ละพื้นที่ล้วนเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศ

บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE คือ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานสะอาดที่ครอบคลุม ตั้งแต่โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล พลังงานขยะ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงธุรกิจซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ แล้ว จำนวน 18 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 239.91 เมกะวัตต์ จากในแผน 36 โครงการ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ผุดนิคมเกษตร-ชีวภาพแห่งแรกของเอเชียลงทุน2หมื่นล้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์นเป็นไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน คอมเพล็กซ์ (Bio-Circular Green Complex) แห่งแรกของเอเชีย ภายในประกอบด้วยโรงงาน เกษตรแปรรูปปาล์มน้ำมัน ยางพารา และพลังงานทดแทน พร้อมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น โรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากทะลายปาล์ม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศตั้งให้เป็นเขตประกอบการอุตสาหกรรมลำดับที่ 26 ของประเทศ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 ถือเป็นความสำเร็จที่ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมกันผลักดันเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลหลายด้าน คือ 1. การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (เอส-เคิร์ฟ) สาขาเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 3. การเชื่อมโยงภาคเกษตรกรรมกับภาคอุตสาหกรรม และ 4. เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี) เต็มรูปแบบ

“ไทยเป็นผู้นำด้านผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งโครงการ เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์นจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตที่มีคุณภาพเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพและเป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อยอดอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไปสู่อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเป็นโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมเอส-เคิร์ฟ สาขาเกษตรชีวภาพขนาดใหญ่ลำดับแรกของประเทศ ซึ่งมีการลงทุนใหม่กว่า 20,000 ล้านบาท เกิดจ้างแรงงานในพื้นที่กว่า 8,000 อัตราภายใน 3 ปี และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่โดยรอบเขตประกอบการอุตสาหกรรมกว่า 2.5 ล้านไร่” นายสุริยะ กล่าว

นายสมชาย โกกนุทาภรณ์ ประธานกลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น กล่าวว่าบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น ภายใต้การออกแบบและพัฒนาระบบ การบริหารจัดการทรัพยากรภายในอย่างเกื้อกูลกัน สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนด้านพลังงาน วัตถุดิบ วัสดุเหลือใช้ และกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างเหมาะสม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำมาซึ่งอุตสาหกรรมที่ปราศจากของเสีย และปราศจากมลภาวะตลอดทั้งกระบวนการ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กระบวนการผลิต และลดต้นทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม ผสานกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้

ซึ่งโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยอีสเทิร์น ตั้งอยู่บนถนนสาย 344 ต.เขาซก อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี บนเส้นทางยุทธศาสตร์การเกษตรของภาคตะวันออก มีพื้นที่โครงการกว่า 725 ไร่ แบ่งโซนออกเป็น พื้นที่อุตสาหกรรมกว่า 510 ไร่ และพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียวกว่า 215 ไร่ สอดคล้องตามแนวทางการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการสามารถรองรับพืชเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน พืชพลังงาน อาหาร ผลไม้ พืชสมุนไพร และวัตถุดิบอื่นๆ ทางชีวภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรทั้งระบบในภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ตอนบน

ทั้งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการสร้างบุคลากรเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพขั้นปลาย ในอนาคต และเป็นศูนย์กลางบูรณาการด้านเกษตรชีวการแพทย์ระดับ(ไบโอ เมดิเคิล ฮับ) หรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ยา เครื่องสำอาง อาหารจากเกษตรชีวภาพ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงอยู่ระดับบนของห่วงโซ่การผลิตในอนาคต โดยมีหน่วยงานภาครัฐร่วมกันบูรณาการผลักดันขับเคลื่อน โครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และจังหวัดชลบุรี

จาก https://www.thaipost.net   วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เกษตรกรชาวไร่อ้อย เตรียมจดทะเบียนรับสิทธิประโยชน์ กับ สอน.ตั้งแต่วันที่ 2-30 พ.ย.นี้

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดบริการรับจดทะเบียนชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ดีๆ ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย “ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2563 (เว้นวันหยุดราชการ) ระหว่างเวลา 08.30 - 16.30 น. โดยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ที่เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และหน่วยประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น”

นายกิติกร สุขสม รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดให้บริการรับจดทะเบียนชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ประจำปี 2563 ครั้งที่ 2 เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถจดทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2563 (เว้นวันหยุดราชการ) ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. โดยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียน ได้ที่เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1 - 8 และหน่วยประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับจากการจดทะเบียน คือ

1. ได้รับสิทธิ์ในการส่งอ้อยเข้าโรงงานอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2. ได้รับเงินค่าอ้อยเพิ่มขึ้นกรณีที่การประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายมากกว่าราคาอ้อยขั้นต้น

3. ได้รับการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็ก รวมถึงโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร

จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกท่านมาจดทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-202-3290 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.ocsb.go.th ในหัวข้อ “ประกาศ-คำสั่ง” เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการรับบริการ

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ตลาดเงินโลกแกว่ง ลุ้นนโยบายกระตุ้นศก.สหรัฐ เงินไทยสัปดาห์นี้ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดเงินโลกแกว่ง ลุ้นนโยบายกระตุ้นศก.สหรัฐ เงินไทยสัปดาห์นี้ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 9พฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 30.62 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.56 บาทต่อดอลลาร์

กรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.55-30.75 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์นี้แนะนำจับตาความเคลื่อนไหวของตลาดการเงินหลังทราบผลการเลือกตั้งสหรัฐแล้วส่วนใหญ่ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไม่ได้น่าสนใจมาก

มีเพียงวันพุธที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) ตลาดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% และมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยลงเหลือ 0.10% เหมือนธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวต่อ

วันพฤหัส ทางการสหรัฐจะประกาศตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ประจำสัปดาห์ (Initial Jobless Claims) ซึ่งคาดว่าจะลดลงมาเหลือระดับ 7.25 แสนตำแหน่ง แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี โดยรวมยังมีคนตกงานมากกว่าช่วงก่อนโควิดถึงกว่า 10 ล้านคนในสหรัฐ

แม้เศรษฐกิจในสหรัฐจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ค่าเงินดอลลาร์กลับไม่ฟื้นตัวเพราะนักลงทุนมีความหวังกับเศรษฐกิจโลกหลังยุคของโดนัลด์ ทรัมป์มากกว่า

ขณะที่ในสัปดาห์นี้ต้องติดตามค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ว่าจะแข็งค่าต่ำกว่า 103 เยนต่อดอลลาร์ และยูโร (EUR) ว่าจะสามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 1.20 ดอลลาร์ต่อยูโรได้หรือไม่ และธนาคารกลางทั่วโลกจะมีความเห็นอย่างไรกับการอ่อนค่าของดอลลาร์ในช่วงนี้

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 92.0-93.0จุด ระดับปัจจุบัน 92.2จุด

ส่วนเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นตามสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ด้วยแรงหนุนจากการซื้อตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศ 2.3 หมื่นล้านบาทหลังการเลือกตั้งสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าบอนด์ยีลด์ของไทยให้ผลตอบแทนที่ไม่ผันผวน แต่ได้รับประโยชน์จากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า

สัปดาห์นี้ต้องระวังทิศทางของตลาดทุนว่าจะมีปัญหาการเมืองเข้ามากดดันบ้างหรือไม่เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ยังไม่ยอมแพ้ ขณะที่ตลาดก็มีโอกาสถูกขายทำกำไรเนื่องจากปรับตัวขึ้นมาแรงต่อเนื่องในสัปดาห์ก่อนเช่นกัน

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

‘ไบเดน’ผงาดผู้นำมะกันคนใหม่ ไทยผวาก่อ"คาร์บอนวอร์"

นักวิชาการ จับตา “ไบเดน” ผงาดผู้นำสหรัฐฯ ก่อ “สงครามคาร์บอน” บังคับคู่ค้าติดฉลาก-เก็บภาษีคาร์บอน เปิดปมใหม่ใช้กีดกันการค้า

นักวิชาการ จับตา “ไบเดน” ผงาดผู้นำสหรัฐฯ ก่อ “สงครามคาร์บอน” บังคับคู่ค้าติดฉลาก-เก็บภาษีคาร์บอน เปิดปมใหม่ใช้กีดกันการค้า สรท.จี้เอกชนไทยเตรียมรับมือ ประธานสภาอุตฯฟันธงสหรัฐฯคัมแบ็กร่วม CPTPP กมธ.เตรียมชงรัฐบาลลุงตู่ตัดสินใจร่วม-ไม่ร่วม 

ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผลอย่างไม่เป็นทางการ “โจ ไบเดน”คาดจะได้เป็นผู้นำคนใหม่ หลายฝ่ายคาดหวังสงครามการค้ากับจีนที่ดำเนินมาในยุคโดนัลด์ ทรัมป์จะผ่อนคลายลง แต่มีแนวโน้มจะร่วมมือกับพันธมิตรเช่นยุโรป เพื่อกดดันจีนในการทำสงครามเทคโนโลยี (เทควอร์) มากขึ้น และอีกสงครามหนึ่งที่นักวิชาการคาดว่าจะเกิดหากไบเดนได้เป็นผู้นำสหรัฐฯคนใหม่คือ สงครามคาร์บอน (คาร์บอนวอร์) ซึ่งเปรียบเสมือน “หนีเสือปะจระเข้” และอาจส่งผลกระทบกับไทย

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากหนึ่งในนโยบายที่ไบเดนให้ความสำคัญคือ การลดภาวะโลกร้อน และประกาศจะนำสหรัฐฯกลับเข้าร่วมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (Paris Climate Accords) หรือความตกลงลดสภาวะโลกร้อน (ที่สมัยทรัมป์ไม่ให้ความสำคัญ และถอนตัวออกมา) โดยมีแผนจัดประชุมผู้นำประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศเพื่อกำหนดเป้าหมายอย่างจริงจังมากขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของโลกร้อน

“ที่น่าจับตามอง คือเวลานี้ห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯได้เป็นผู้ขับเคลื่อน กำหนดให้สินค้านำเข้าไปจำหน่ายต้องติดฉลากคาร์บอน (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบรายละเอียดว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์นั้นสู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดอายุการใช้งานมีปริมาณเท่าใด โดยการให้ติดฉลากส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องเขียน เสื้อผ้า และเครื่องนอนต่างๆ เพื่อผู้บริโภคได้ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ซึ่งหากไบเดนมาอาจออกเป็นนโยบายบังคับให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยึดถือปฏิบัติในการบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน”

เก็บภาษีเพิ่มต้นทุน

 นอกจากนี้ต้องจับตามองสหรัฐฯในยุคไบเดนอาจมีการเก็บภาษีคาร์บอน(Carbon Tariffs) สำหรับสินค้านำเข้า ซึ่งใน 2 เรื่องนี้แม้จะมีเป้าหมายเพื่อลดโลกร้อน แต่อีกมุมหนึ่งอาจกลายเป็นประเด็นใช้กีดกันการค้า ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนและทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นกระทบความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่เวลานี้หลายประเทศในยุโรปมีกระแสจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันคาร์บอน (เอกชนฝรั่งเศสเคยเสนอรัฐบาลให้เก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้เรียกเก็บ) และในงานวิจัยยังเรียกร้องให้เก็บภาษีถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันในอนาคต ซึ่งเป็นสิทธิของแต่ประเทศสามารถทำได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ผูกพันไว้ในความตกลงของ WTO จากทิศทางแนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณให้เห็นว่าสงครามคาร์บอน หรือคาร์บอนวอร์อาจเกิดขึ้นในยุคของไบเดน

จี้เอกชนไทยรับมือ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า เรื่องฉลากคาร์บอนหรือคาร์บอนฟุตพริ๊นปริ้นท์นี้ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่ได้บังคับต้องติดฉลาก แต่ก็มีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าหลายรายของไทยได้เริ่มดำเนินการโดยให้หน่วยงานรับรองระหว่างประเทศมาตรวจวัดการปล่อยก๊าซและให้การรับรองฉลาก เพื่อสร้างเลือกให้กับผู้บริโภค ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้หากสหรัฐฯ ในยุคไบเดนบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน และมีการเก็บภาษีคาร์บอนจะกระทบต้นทุนผู้ส่งออกแน่นอน แต่อีกด้านหากสหรัฐฯบังคับให้สินค้าจากทุกประเทศรวมถึงสินค้าที่ผลิตในสหรัฐถือปฏิบัติต้องติดฉลากคาร์บอนเช่นเดียวกันก็คงไม่เสียเปรียบกันมาก ขึ้นกับต้นทุน และราคาใครต่ำกว่าก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน

“เวลานี้มีหลายสินค้าของไทยที่มีการติดฉลากคาร์บอนในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากๆ เช่นสินค้าเกษตร เช่น น้ำตาล รวมถึงสินค้าด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”

เร่งรัฐตัดสินใจ CPTPP

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนต่างก็มีนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก หากไบเดนมาเชื่อว่าสหรัฐฯ จะกลับเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) แน่นอน ทั้งนี้เพื่อคานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้ ดังนั้นไทยต้องเข้าไปเจรจาใน CPTPP ซึ่งแน่นอนว่าความตกลงย่อมส่งผลทั้งทางบวกและทางลบ แต่หากไทยอยู่เฉยๆ ก็จะได้รับผลด้านลบอย่างเดียว

 นายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP กล่าวว่า ผลการพิจารณาศึกษาขณะนี้เสร็จแล้ว และได้บรรจุในวาระการประชุมเพื่อรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร และวันนี้ (5 พ.ย.63 เวลา 16.10 น.) ตนและทีมงานได้เตรียมรายงานผลต่อสภา แต่หากไม่ทันก็ จะเป็นพุธหน้า ทั้งนี้หากได้รายงานและเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้อภิปรายและลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว จะได้ส่งรายงานสรุปที่จะมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่ยังเป็นข้อกังวลแล  ะจุดอ่อนของไทย ส่วนการตัดสินใจจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่อยู่ที่รัฐบาล แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ช้าก็เร็วไทยคงต้องเข้าร่วม เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบคู่แข่งขันมาก

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563  

อุตฯอัด3มาตรการหนุนตัดอ้อยสด คาดราคาขั้นต้นไม่ต่ำกว่า800บาท/ตันอ้อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ว่า จากนโยบายให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 50% ต่อวัน และการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563ปรับตัวลดลงโดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37.18 ล้านตัน หรือคิดเป็น 49.65% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยสามารถลดพื้นที่ในการเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย

สำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียม 3 มาตรการในการส่งเสริมตัดอ้อยสด ดังนี้

1.ลดอ้อยไฟไหม้เหลือ 20% ด้วยมาตรการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้

2.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้จัดหาเครื่องสางใบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยสมาชิกกลุ่มเรียนรู้พัฒนาด้านอ้อยยืม จำนวน 112 เครื่อง โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1-4

3.กรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติให้ความเห็นชอบหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาทจ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีทุกรายเต็มจำนวน โดยคิดแยกเป็นรายโรง และมีนโยบายที่จะผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM2.5 เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดมีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ทั้งนี้เพื่อ เป็นการจูงใจให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานให้มากขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดกรอบวงเงินการช่วยเหลือต่อไป

นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2563/2564คาดการณ์ว่าเกษตรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 800 บาท/ตันอ้อย ซึ่งคาดว่าราคาอ้อยในปี 2563/2564 มีราคาสูงกว่าฤดูการผลิตที่แล้วแน่นอน

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้จัดทำระบบจดทะเบียนชาวไร่อ้อยแบบดิจิทัล เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีความประสงค์จะจดทะเบียนชาวไร่อ้อยเพียงแค่ใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ก็สามารถจดทะเบียนชาวไร่อ้อยได้ภายใน 10 นาที ทั้งนี้คาดว่าระบบดังกล่าวจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2565

จาก https://www.naewna.com วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 

ผ่าแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64

กรมชลประทาน คิกออฟ แผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64” มี  12 เขื่อน ไฟเขียวน้ำปลูกข้าวนาปรัง ส่วนที่เหลืออัดเม็ดเงินกว่า 5 พันล้าน  จ้างงานเกษตรรกทั่วประเทศ แนะปลูกพืชน้ำน้อยแทน หากฝืนปลูกจะเสียหายตอนข้าวออกรวง

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  รักษาราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 (ระหว่าง 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64) ทั่วทั้งประเทศ วางแผนการจัดสรรน้ำไว้ 15,701 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นน้ำอุปโภคบริโภค 2,578 ล้าน ลบ.ม. (16%) รักษาระบบนิเวศ 7,615 ล้าน ลบ.ม.(49%) เกษตรกรรม 5,120  ล้าน ลบ.ม.(33%) อุตสาหกรรม 388 ล้าน ลบ.ม. (2%) และสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2564 (พ.ค. - ก.ค.)อีกประมาณ 10,156 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ไว้ประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม. เน้นสนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำสนับสนุนการทำนาปรังได้ จึงขอให้เกษตรกรหันมาทำการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อลดความเสียหายต่อผลผลิต สำหรับข้าวนาปี 2563 ที่มีบางส่วนปลูกล่าช้านั้น กรมชลประทาน จะช่วยเหลือพื้นที่เหล่านี้ด้วยการใช้น้ำท่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ให้ข้าวที่กำลังออกรวงได้รับความเสียหาย มีทั้งหมด

สำหรับพื้นที่สนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งปี 2563/64  มีทั้งหมด 12  เขื่อน  เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล, เขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ,เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดขอนแก่น,เขื่อนสิริธร จังหวัดอุบลราชธานี,เขื่อนลำตะคอง,เขื่อนลำพระเพลิง,เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา,เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี,เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี,เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก,เขื่อนคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขื่อนบางลาง จังหวัดปัตตานี

นายสัญญา กล่าวว่า อยากให้เกษตรกรติดตามในเรื่องของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ข้าวยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) เพราะช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมีฝนตก การดูแลผลผลิตทางการเกษตรต้องให้ความใส่ใจ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และในขณะเดียวทางทางกรมชลประทานจะจัดเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ลงไปให้คำแนะนำประชุมกลุ่มย่อยในการเตรียมการปลูกพืชฤดูแล้งจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง

สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(5 พ.ย. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,907 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกัน 12,525 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม.

ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ในแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 (ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2563 - 30 เม.ย. 2564) และมาตรการรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ประกอบด้วย  เร่งเก็บกักน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูฝนปี 2563 สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค กปภ.สาขาต่าง ๆ และวางแผนรองรับในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง โครงการชลประทานขนาดใหญ่ และแหล่งน้ำธรรมขาติขนาดใหญ่ ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน พร้อมติดตามและกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ ยังได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อให้มีปริมาณน้ำอุปโภค บริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 2563/64 ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปี 2564 การเฝ้าระวังคุณภาพในลำน้ำสายหลัก และสายรอง เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น การส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกจัดการน้ำเสียตามหลัก 3R การติดตาม ประเมินผล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 เป็นไปตามแผน รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ยังได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รถบรรทุกน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะประสบกับปัญหาภัยแล้ง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา สำหรับมาตรการการจ้างแรงงานชลประทาน นั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 5,662 ล้านบาท ได้กำหนดเป้าหมายการจ้างแรงงานไว้ประมาณ 94,248 คน  โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเกษตรกรในพื้นที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ ประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอให้พิจารณาจ้างเกษตรกร หรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และลุ่มน้ำ ตามลำดับ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

ดันตัดอ้อยสดมุ่งเป้าอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 20% ฤดูผลิตปี 63/64

 “สุริยะ” เดินหน้าแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ด้วยมาตรการส่งเสริมตัดอ้อยสดเต็มสูบ สู่เป้าหมายอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 20% ในฤดูการผลิตปี 2563/2564

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 50% ต่อวัน และการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ลดลงโดยมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ 37.18 ล้านตัน คิดเป็น 49.65% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

ทั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยสามารถลดพื้นที่การเผาอ้อยได้ถึง 1.2 ล้านไร่ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อย สำหรับในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียม 3 มาตรการในการส่งเสริมตัดอ้อยสด ดังนี้

1.ลดอ้อยไฟไหม้เหลือ 20% ด้วยมาตรการส่งเสริมให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้

2.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้จัดหาเครื่องสางใบอ้อย ให้กับชาวไร่อ้อยสมาชิกกลุ่มเรียนรู้พัฒนาด้านอ้อยยืม จำนวน 112 เครื่อง โดยสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 – 4

3.กรณีมีนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติให้ความเห็นชอบหักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยไฟไหม้ในอัตราตันละ 30 บาท จ่ายคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีทุกรายเต็มจำนวนโดยคิดแยกเป็นรายโรง

และมีนโยบายที่จะผลักดันโครงการเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด ลดฝุ่น PM 2.5 เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดมีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ เป็นการจูงใจให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงาน พร้อมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดกรอบวงเงินการช่วยเหลือต่อไป

สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2563/2564 คาดการณ์ว่าเกษตรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 800 บาท/ตันอ้อย ซึ่งคาดว่าราคาอ้อยในปี 2563/2564 มีราคาสูงกว่าฤดูการผลิตที่แล้วแน่นอน

นอกจากนี้ สอน. ได้จัดทำระบบจดทะเบียนชาวไร่อ้อยแบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีความประสงค์จะจดทะเบียนชาวไร่อ้อยเพียงใช้บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ก็สามารถจดทะเบียนชาวไร่อ้อยได้ภายใน 10 นาที ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์พร้อมใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2565

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

เตรียมถก RCEP โค้งสุดท้าย10-15 พ.ย.นี้

พาณิชย์ เตรียมถก RCEP โค้งสุดท้าย10-15 พ.ย. นี้ ทบทวนแผนงาน AEC การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) จัดทำกรอบฟื้นฟูหลังโควิด-19 พร้อมลงนาม MoU อำนวยความสะดวกสินค้าจำเป็นสู้โควิด ประเดิมคุยสวิตเซอร์แลนด์สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์เตรียม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 10-15 พฤศจิกายนนี้ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 19 การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) และการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อเตรียมการสำหรับผู้นำอาเซียนในการประชุมอาเซียนซัมมิท

สำหรับการประชุม AEC Council ครั้งที่ 19 เป็นการประชุมระดับสูงที่สุดของเสาเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมาของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อาทิ ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียน ผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ การทบทวนแผนงาน AEC ระยะครึ่งทาง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) โดยในปีนี้ อาเซียนได้จัดทำกรอบฟื้นฟูและแผนดำเนินงานภายหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากผู้นำเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการตามแผนฯ ทันที

ส่วนการประชุมเตรียมการของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็น ภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญ คือ หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ที่ไม่จำเป็นและไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO ในสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกำหนดให้แจ้งมาตรการที่ประกาศใช้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่ง MoU ฉบับนี้จะมีอายุ 2 ปี และสามารถทบทวนได้ตามสถานการณ์ นอกจากนี้ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าสวิตเซอร์แลนด์เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสวิตเซอร์แลนด์

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะหารือโค้งสุดท้ายก่อนการประชุมผู้นำอาร์เซ็ป ซึ่งความตกลงอาร์เซ็ปจะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และเป็นไปตามกฎกติกา รวมทั้งจะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาความเชื่อมโยงให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่ารวม 107,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 62,841 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 44,833 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับเดือน ม.ค. - ก.ย. 63 มีมูลค่าการค้ารวม 70,567 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 41,746 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 28,821 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

ก.พลังงานเตรียมทำแผนพลังงานแห่งชาติตามข้อเสนอ สศช.

กระทรวงพลังงานเตรียมทบทวนแผนพีดีพีใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เดินหน้าจัดทำค่าพยากรณ์ไฟฟ้าใหม่ปี 2564 พร้อมจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติรวม 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกันตามข้อเสนอ สศช. ปรับมิติใหม่จากโฟกัสแค่ในประเทศ มองโลกให้กว้างขึ้นสู่การดันไทยฮับซื้อขายไฟ-LNG

นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ที่ปัจจุบันเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018Rev.1) เพื่อนำมาสู่การจัดทำแผน PDP2022 โดยในช่วง 6 เดือนข้างหน้ากระทรวงพลังงานจะเริ่มกระบวนการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

“ขณะนี้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จ้างนิด้าจัดทำโมเดลค่าพยากรณ์ฯ ให้เหมาะสมกับปัจจุบันคาดว่าจะเสร็จกลางปี 2564 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 ซึ่งการจัดทำดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ให้ทบทวนให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป” นายกวินกล่าว

นอกจากนี้ สศช.ยังเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติที่จะรวม 5 แผนพลังงานประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ มิติใหม่ของการวางแผนพลังงานดังกล่าวระยะต่อไปจะโฟกัสยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในภูมิภาค จากเดิมจะมองแค่มิติในประเทศอย่างเดียว ดังนั้น การจัดทำแผนพลังงานทั้งหมดจะต้องมองในหลายองค์ประกอบมากขึ้นโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แบตเตอรี่ พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสำรองที่สูงในระยะสั้นนั้นขณะนี้ทางสนพ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการลดระดับสำรองอยู่ เช่น การขายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและการเร่งปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบเร็วขึ้น (Buy Out) เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 6 เดือน

จาก https://mgronline.com   วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

เกษตร เรียกทูตถกแผนรับมือสหรัฐตัดจีเอสพี

“เฉลิมชัย” เรียกทูตเกษตร วางแผนรับมือ สหรัฐฯ ตัด จีเอสพี ขณะ สศก.แนะเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรลงทุนประเทศมีจีเอสพีเป็นแต้มต่อ

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงปลายเดือนพ.ย.2563 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมอบนโยบายตามแผนงานปีงบประมาณ 2564อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร)ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ หรือ ทูตเกษตร ทั่วโลก เพื่อผลักดันนโยบายและแผนงานภาคการเกษตร ให้สามารถปรับตัวสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ได้สั่งการให้ ทูตเกษตร เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการเกษตรและความต้องการของต่างประเทศ ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯสามารถกำหนดนโยบายและแผนงานให้ภาคการเกษตรสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึง การปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น มาตรการการทำประมงที่ผิดกฏหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู) ที่สหรัฐอเมริกา กำลังจะนำมาใช้ นโยบายGreen Dealที่ จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป หรืออียู

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก.กำลังศึกษาผลกระทบเชิงลึกต่อภาคเกษตร หลังสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) สินค้าไทย กรณีไม่เปิดตลาดหมูเนื้อแดงให้สหรัฐ โดยมีผลใวันที่ 30 ธ.ค. 2563

สำหรับผลกระทบต่อสินค้าเกษตร หลังมีการระงับจีเอสพีมีสินค้าจำนวน 231 รายการ พบเป็นรายการสินค้าเกษตรจำนวน 44 รายการ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าพืชผัก ผลไม้ ลูกนัต เครื่องเทศ เมล็ด ผลและสปอร์ ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช รวมถึงน้ำตาลและกลูโคส โดยการระงับสิทธิจีเอสพีดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้าเกษตรที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากภาษีนำเข้าที่จะเพิ่มขึ้นจาก 0% เป็น 1.9 - 9.6% จากรายการสินค้าเกษตร 44 รายการพบว่ามีสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าในตลาดสหรัฐฯจำนวน 22 รายการ ประกอบด้วย สินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บตามมูลค่าสินค้า (Ad valorem) จำนวน 13 รายการ

นอกจากนี้ ทำให้ไทยจะมีต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นประมาณ 17.72 ล้านบาท ซึ่งสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบต้นทุนทางภาษีเพิ่มขึ้นมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ พืชมีชีวิต ไขมันและน้ำมันที่ได้จากพืช พืชผักปรุงแต่ง กลูโคสและน้ำเชื่อมกลูโคส และเครื่องเทศ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรที่ถูกเรียกเก็บภาษีตามสภาพ (Specific Rate) อีก 9 รายการ ซึ่งจะมีภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าของสินค้าอีกจำนวนหนึ่งด้วย เช่น ถั่วลิสงปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสียเมล็ดถั่วบีน เมล็ดพืชผักที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก มะม่วงปรุงแต่ง และถั่วมะแฮะแห้ง

อย่างไรก็ดี การดำเนินการต่อไปของไทยเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรรมให้เกิดความยั่งยืน ไทยควรปรับตัวต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยลดต้นทุนการผลิตเพื่อชดเชยกับอัตราภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นผ่านนโยบายของรัฐบาล เช่น การทำเกษตรแปลงใหญ่ และการปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งเร่งเสริมสร้างประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้า (Value Added)พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้บริโภคมีความพึงพอใจและยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นอีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการขยายตลาดไปยังประเทศอื่นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น การส่งเสริมให้มีการเปิดตลาดกับประเทศคู่เจรจา เอพทีเอ ของไทยให้มากขึ้น เช่น เร่งทำข้อตกลงทางการค้า โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯรวมทั้งการไปลงทุนผลิตในประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิจีเอสพีอยู่ เป็นต้น

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

วิกฤติโควิด-19 คือ โอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย

ภาคเกษตรเคยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับแรงงานส่วนเกินในเมืองใหญ่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 แต่ยิ่งนานวันภาคเกษตรยิ่งด้อยความสำคัญ โดย ล่าสุดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP ไทย เกษตรกรในปัจจุบันเกินกว่าครึ่งหนึ่งจึงต้องพึ่งพารายได้นอกภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของรายได้ทั้งหมด โดยมีแนวโน้มอายุมากขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และยังมีหนี้หลักแสนแม้จะอายุแตะ 80 ปี

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนัก คือ การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้สินค้าเกษตรไม่สามารถขนส่งไปถึงมือลูกค้า อีกทั้งครัวเรือนเกษตรกรไทย ยังไม่สามารถพึ่งพารายได้นอกภาคเกษตร เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาด หลายครอบครัวจึงเผชิญภาวะรายได้ลดลง และอาจมีความยุ่งยากในการหาเงินมาจ่ายหนี้

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤติโควิด-19 อาจเป็นโอกาสเติบโตของภาคเกษตรไทย คือ การที่แรงงานรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำ รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร และพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อให้รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ภาคเกษตรเคยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับแรงงานส่วนเกินในเมืองใหญ่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เพราะแรงงานที่มาแสวงหารายได้ในเมืองใหญ่ต่างหันหน้ากลับบ้านเกิดหลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เปลี่ยนกรุงเทพฯ เมืองที่ไม่เคยหลับใหลให้กลายเป็นเมืองที่ร้างไร้ผู้คนในชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคธุรกิจที่เจ็บหนักที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ คือ ภาคโรงแรม การท่องเที่ยว และบริการ รวมถึงเหล่าธุรกิจที่ต้องบริโภคแบบแนบชิดสนิทเนื้ออย่างสถานบันเทิง ร้านอาหาร รวมถึงโรงภาพยนตร์ และงานคอนเสิร์ตต่างๆ อุตสาหกรรมเหล่านี้คือเครื่องยนต์ขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตวันโตคืน ในขณะที่ภาคเกษตรยิ่งนานวันยิ่งลดน้อยด้อยความสำคัญ โดยล่าสุดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของจีดีพีไทย

หน้าตาครัวเรือนเกษตรกรปัจจุบันเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงต้องพึ่งพารายได้นอกภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าการเกษตรกลับกลายเป็นอาชีพเสริมของครอบครัว ดังนั้นการเกษตรในปัจจุบันจึงอาจไม่หลงเหลือศักยภาพในการดูดซับแรงงานส่วนเกินจากวิกฤติเฉกเช่นในอดีต

งานวิจัยภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทย จะพลิกโฉมอย่างไรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน? นำเสนอว่าต้นทุนในภาคการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อกำไรที่ลดลงจนการปลูกสินค้าเกษตรหลายชนิดกลับยิ่งทำยิ่งจน อีกทั้งหนี้สินครัวเรือนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่เกษตรกรอายุ 85 ปี ยังมีมูลหนี้เฉลี่ยสูงถึงหลักแสนบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่แรงงานในภาคเกษตรมีแนวโน้มแก่ชราลง เพราะคนรุ่นใหม่ต่างหันหน้าไปหาอาชีพอื่น โดย พ.ศ.2561 เกษตรกรไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 46% โดยอายุเฉลี่ยของหัวหน้าครอบครัวในภาคการเกษตรสูงถึง 58 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรไทยอยู่ในช่วงขาลงอย่างเต็มขั้น แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้หลายอุตสาหกรรมทรุดหนัก อาจเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคการเกษตรจะกลายเป็นกลจักรสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะไม่กระทบกับกระบวนการการผลิตของภาคเกษตรในส่วนต้นน้ำมากนัก แต่สิ่งที่ทำให้เกษตรกรเจ็บหนักคือ วิกฤติดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมกลางน้ำ คือการขนส่งและการแปรรูปต้องหยุดชะงักไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าเกษตรบางชนิดมีแนวโน้มลดลง ซ้ำร้ายด้วยภัยแล้งตั้งแต่ปลายปีก่อน ผนวกกับโรคระบาดทั้งพืชและสัตว์ ผลลัพธ์คือจีดีพีภาคเกษตรครึ่งปีแรกของไทยลดลงถึง 5.2%

การศึกษาพบว่า สมาชิกในครัวเรือนภาคการเกษตร 75% เผชิญภาวะว่างงาน หรือถูกลดเวลาทำงาน รายได้ที่เคยส่งกลับมาสู่บ้านเกิดต้องหยุดชะงัก เกิดเป็นแรงกระเทือนทางรายได้ (income shock) ที่ส่งผลให้เกษตรกรหลายครัวเรือนเผชิญภาวะเงินตึงมือ โดยพบว่าเกือบ 60% เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ โดยครัวเรือนที่มีฐานะยากจนจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่า

อย่างไรก็ดี ภาคการเกษตรในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างมาก โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี มองว่าราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นราว 2.1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากผลผลิตทั่วโลกที่ลดลง จากการคาดการณ์โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จีดีพีของภาคเกษตรจะกลับมาปิดที่ +1.2% สวนทางกับตัวเลขการส่งออก การผลิต และการท่องเที่ยว รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวม

การระบาดของโควิด-19 ยังอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อแรงงานวัยหนุ่มสาวที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้บนอินเทอร์เน็ต และมีทักษะด้านดิจิตอล ต่างเดินทางกลับบ้านเกิดหลังจากเมืองใหญ่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป

ปัจจัยแรกที่นับว่าเป็นจุดอ่อนของภาคเกษตรไทยในปัจจุบันคือ แรงงานที่มีแนวโน้มสูงอายุขึ้น ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการปรับใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการจัดจำหน่าย การระบาดของโควิด-19 เปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน อีกทั้งหลายอุตสาหกรรมนอกภาคเกษตรยังประสบปัญหาหนัก จึงนับเป็นโอกาสที่รายได้จากภาคเกษตรจะกลับมามีบทบาทในฐานะ "รายได้หลัก" ของครัวเรือนอีกครั้ง

ปัจจัยที่สองคือ ปัญหาคาราคาซังของภาคเกษตรไทยนับตั้งแต่อดีตนั่นคือ การกระจายตัวของที่ดินและการเข้าถึงแหล่งน้ำ เกษตรกรไทยกว่า 50% จัดอยู่ในประเภทเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ โดยเกษตรกรกว่า 40% ทำหาเลี้ยงชีพบนที่ดินเช่า ซ้ำร้ายคือที่ดินกว่า 58% ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบชลประทานได้

การนำเสนอใน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 ระบุว่า ประเทศไทยต้องใช้น้ำราว 1 แสนลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี ขณะที่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 7.5 แสนล้านลูกบาศก์เมตร แต่เรากลับกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เพียง 5.7% เท่านั้น นี่คือโจทย์สำคัญที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะหากขาดแหล่งน้ำการเกษตรจะไม่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี หากยังไม่แก้โจทย์นี้ ภายหลังวิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย สุดท้ายแรงงานรุ่นใหม่ก็ต้องหันหน้าไปหางานในเมืองอยู่ดี

ปัจจัยสุดท้าย คือ นวัตกรรม ในวันที่ข้อมูลสารสนเทศราคาถูก เราสามารถเข้าถึงเทคนิควิธีใหม่ๆ ในการเพิ่มผลผลิตภาคการเกษตรจากผู้เชี่ยวชาญผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในรูปแบบบทความและวิดีโอ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อคาดการณ์ และวิเคราะห์ข้อมูลที่อาจส่งผลต่อผลผลิตไปจนถึงระบบรายรับรายจ่ายผ่านแพลตฟอร์มแบบครบวงจร

เช่น Farmbook.co นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งแพลตฟอร์มเรียกรถเกี่ยวข้าวอย่าง Getz Trac รวมถึงระบบ Internet of Things ซึ่งประกอบด้วยเซนเซอร์ตรวจจับพารามิเตอร์สำคัญ เช่น ความชื้น หรือแสงสว่าง เพื่อนำมาใช้ประมวลผลและเพิ่มผลผลิตให้มากที่สุด

นอกจากภาคการผลิตแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่ายออนไลน์ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกคนสามารถผันตัวเป็นผู้ประกอบการ สร้างแบรนด์ และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทางตรงแบบไม่ต้องผ่านตัวกลาง โดยใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งภาคเอกชนที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และมีการแข่งขันสูงจนต้นทุนต่ำกว่าในอดีตอย่างมาก

แต่ทั้ง 3 ปัจจัยก็ยังต้องอาศัยแรงผลักจากภาครัฐที่สามารถออกแบบนโยบายเพื่อจูงใจให้เกษตรกรรุ่นใหม่เดินหน้าทำการเกษตร ลดการกระจุกตัวของที่ดิน ขยายโครงข่ายแหล่งน้ำผ่านระบบชลประทาน หรือโครงการขุดบ่อน้ำสำหรับการเกษตร รวมถึงหนุนเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางการเกษตร รวมถึงการนำไปใช้จริงเชิงพาณิชย์ และที่ขาดไม่ได้คือพัฒนาทักษะทางธุรกิจและดิจิตอลให้เกษตรกรรุ่นใหม่

ทั้งนี้ ถึงเวลาที่รัฐต้องก้าวข้ามนโยบายที่เน้นช่วยเหลือระยะสั้นอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้ ประกันราคา หรือเงินชดเชยเมื่อประสบภัยพิบัติ เพราะนโยบายเหล่านี้สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรไม่ปรับตัว

อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรแบกรับความเสี่ยงที่สูงเกินควร เช่น การปลูกพืชเพียงชนิดเดียวแทนที่จะปลูกหลายชนิดเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยรัฐต้องปรับเปลี่ยนสู่การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้เกษตรกรปรับตัวยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการลงทุนในบุคลากรและนวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาว.

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563

ผลิตน้ำตาลทรายวูบ ภัยแล้งฉุดอ้อยเข้าหีบในโรงงานลดลง 5 ล้านตัน

ภัยแล้งกระหน่ำ ส่งผลต่อการผลิตอ้อยลดลง 5 ล้านตัน เหลือ 70 ล้านตันในปีนี้ กระทบต่ออุตฯอ้อยและน้ำตาลทราบอย่างหนัก เร่งเตรียมความพร้อมรับมือ แนะชาวไร่ไม่ต้องเร่งตัดอ้อย ด้วยวิธีการเผา จะกระทบต่อรายได้ลดลง

นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า จากที่ประเทศประสบปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน ส่งผลให้ปริมาณการปลูกอ้อยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูการผลิต 2563/2564 นี้ คาดว่า จะมีอ้อยเข้าหีบหายไปประมาณ 5 ล้านตัน เหลือประมาณ 70 ล้านตัน ลดลงจาก 75 ล้านตันในปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 โรง จะจัดสัมมนา workshop ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อย ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะเปิดหีบอ้อยได้ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของโรงงานน้ำตาล ที่รับผิดชอบงานด้านฝ่ายไร่และด้านการผลิตน้ำตาลของแต่ละโรงงาน ประชุมร่วมกันเพื่อวางกรอบการบริหารจัดการด้านผลผลิตอ้อยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บผลผลิตอ้อย โดยรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ส่วนฝ่ายโรงงานวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงสุด และบริหารจัดการต้นทุนต่อหน่วยน้ำตาลของโรงงานที่ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จะเร่งแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยทุกโรงงานจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสนองนโยบายภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายลดอ้อยไฟไหม้ในฤดูเก็บเกี่ยวนี้ เหลือไม่เกิน 20% จึงวางแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่ในการจัดเก็บผลผลิต พร้อมสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาว่ากำลังการผลิตของโรงงานมีเพียงพอในการหีบอ้อยตามกรอบเวลา ดังนั้น ชาวไร่จึงไม่ต้องเร่งจัดเก็บผลผลิตด้วยวิธีการเผาอ้อยที่ต้องถูกหักเงินค่าอ้อย ทำให้ได้รับรายได้ลดลง

“โรงงานน้ำตาลวางแผนจัดเก็บผลผลิตอ้อยสอดคล้องกับความสามารถการหีบของแต่ละโรง โดยจะสนับสนุนรถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาอย่างเต็มที่ และรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาลและไฟฟ้า ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้แก่ชาวไร่จากการเพาะปลูกอ้อย” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ยังกำหนดแนวทางในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพให้แก่ผู้อยู่ในระบบอุตสาหกรรม โดยให้ TSMC เป็นองค์กรมีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิสาขาวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาอาชีพผู้ปฎิบัติงานด้านเพาะปลูกอ้อย เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรฝ่ายไร่ให้มีคุณภาพ รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคต

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

เงินเฟ้อต.ค.ฟื้นตัว ติดลบน้อยลง 0.50%

เงินเฟ้อต.ค.63 ติดลบ 0.50% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 มีทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นชัดเจน หลังราคาสินค้าอาหารสด ผักสด เพิ่มสูงขึ้น  คาดทั้งปีเงินเฟ้อติดลบเหลือ 0.85% 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2563 และลดลง 0.50% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันของปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และถือว่าติดลบน้อยลง ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวค่อนข้างชัดเจน แต่ยังไม่ฟื้นเร็วนัก

ส่วนเงินเฟ้อ 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) ลดลง 0.94% และเงินเฟ้อพื้นฐานน  ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก ลดลง 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2563 และเพิ่มขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 เฉลี่ย 10 เดือน เพิ่มขึ้น 0.31%สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อฟื้นตัวดีขึ้น มาจากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.57% โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 3.53% ผักสด เพิ่ม 13.54% จากผลกระทบของฝนตก น้ำท่วม ทำให้ผลผลิตเสียหาย ผลไม้สด เพิ่ม 0.33% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.54% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.94% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.44% นอกบ้าน เพิ่ม 0.68% แต่ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลด 1.76% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 1.20%

ทั้งนี้ แม้สินค้ากลุ่มอาหารจะสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อก็ถูกฉุดโดยกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่ลดลงถึง 1.70% มีสินค้าสำคัญที่เป็นตัวฉุดหลัก คือ น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 13.82% ค่าโดยสารสาธารณะ ลด 0.01% การสื่อสาร ลด 0.03% เคหสถาน ลด 0.21% การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลด 0.08% บันเทิง การอ่าน การศึกษา ลด 0.24% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.21% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.07%

“เงินเฟ้อที่เริ่มติดลบน้อยลง มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด แต่ก็ถูกฉุดโดยราคาน้ำมันที่แม้ราคาจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังลดลง เมื่อเทียบกับฐานของปีก่อน ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ราคาทรงตัวและลดลง จึงไม่ได้มีแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ”

สำหรับมาตรการของรัฐบาล ที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน และช้อปดีมีคืน ไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า ไม่มีผลทำให้สินค้าแพงขึ้น และกระทบต่อเงินเฟ้อ แต่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้ ขณะที่ผู้ประกอบการ จะมีการแข่งขันกันลดราคา เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคไปซื้อสินค้า โดยเฉพาะช้อปดีมีคืน

ทั้งนี้ สนค. กำลังจะติดตามผลว่าจะช่วยหมุนการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจได้กี่รอบ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค จะไม่เพิ่มขึ้น เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการลดราคาสินค้าล็อต 7 อีก 13,700 รายการ

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี คาดว่า ในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน จะยังติดลบอยู่ แต่ลบน้อยลง ทำให้ไตรมาส 4 ติดลบที่ 0.4% และทั้งปี จะติดลบอยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางอยู่ที่ลบ 1.1% แต่น่าจะติดลบแค่ 0.85% โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ราคาพลังงาน ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้ติดลบเพิ่มขึ้นได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

โรงงานน้ำตาล 58 แห่งเตรียมพร้อมหีบอ้อย ธ.ค.นี้ รับผลผลิตอ้อยแค่ 70 ล้านตัน

โรงงานน้ำตาลจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยประจำฤดูกาลผลิตปี 2563/64 วางแนวทางการบริหารจัดการด้านการจัดเก็บผลผลิตอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยเป็นน้ำตาล ลุ้นเพิ่มผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยหลังประมาณการอ้อยเข้าหีบปีนี้ลดจากปีก่อนเหลือเพียงประมาณ 70 ล้านตัน พร้อมกำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 โรงได้จัดสัมมนา workshop ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายน 2563 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อย ฤดูกาลผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะเปิดหีบอ้อยได้ภายในต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของโรงงานน้ำตาลที่รับผิดชอบงานด้านฝ่ายไร่และด้านการผลิตน้ำตาลของแต่ละโรงงาน ประชุมร่วมกันเพื่อวางกรอบการบริหารจัดการด้านผลผลิตอ้อยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการจัดเก็บผลผลิตอ้อย โดยรณรงค์ให้ชาวไร่อ้อยจัดส่งอ้อยสดเข้าหีบเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ส่วนฝ่ายโรงงานวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยให้ได้ปริมาณน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) สูงสุด และบริหารจัดการต้นทุนต่อหน่วยน้ำตาลของโรงงานที่ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมุ่งแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยทุกโรงงานจะพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อสนองนโยบายภาครัฐที่กำหนดเป้าหมายลดอ้อยไฟไหม้ในฤดูเก็บเกี่ยวนี้เหลือไม่เกิน 20% จึงวางแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวไร่ในการจัดเก็บผลผลิต พร้อมสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาว่ากำลังการผลิตของโรงงานมีเพียงพอในการหีบอ้อยตามกรอบเวลา ดังนั้น ชาวไร่จึงไม่ต้องเร่งจัดเก็บผลผลิตด้วยวิธีการเผาอ้อยที่ต้องถูกหักเงินค่าอ้อย ทำให้ได้รับรายได้ลดลง

“โรงงานน้ำตาลวางแผนจัดเก็บผลผลิตอ้อยสอดคล้องกับความสามารถการหีบของแต่ละโรง โดยจะสนับสนุนรถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาอย่างเต็มที่ และรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตน้ำตาลและไฟฟ้า ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้แก่ชาวไร่จากการเพาะปลูกอ้อย” นายสิริวุทธิ์กล่าว

ขณะเดียวกัน การสัมมนาครั้งนี้จะหารือแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยต้องการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกอ้อย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งติดต่อกัน ส่งผลให้ปริมาณอ้อยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูกาลผลิตนี้คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 70 ล้านตัน ลดลงจาก 75 ล้านตันในปีก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายยังกำหนดแนวทางในการสร้างมาตรฐานวิชาชีพให้แก่ผู้อยู่ในระบบอุตสาหกรรม โดยให้ TSMC เป็นองค์กรมีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิสาขาวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพเกษตรกรรม สาขาอาชีพผู้ปฏิบัติงานด้านเพาะปลูกอ้อย เพื่อยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพของบุคลากรฝ่ายไร่ให้มีคุณภาพ รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในอนาคต

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

ส.อ.ท.ชง 5 ข้อ หนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ดันพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์

ส.อ.ท.ชง 5 ข้อเสนอ หนุนใช้พลังงานหมุนเวียน ดันส่งเสริมพลังงานลม 7 พันเมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี ช่วยเกิดการลงทุน 1.34 แสนล้าน พร้อมลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าขยะ ปรับปรุงระเบียบการผลิตไฟฟ้าใช้เอง

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ได้ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดสัมมนา “AEDP ภาคประชาชน หรือแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ภาคประชาชน” เพื่อนำเสนอปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะในการพัฒนาพลังงานต่าง ๆ อันได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทติย์และพลังงานลม การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือ Prosumer ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยหลังจากรับฟังความเห็นแล้ว จะจัดทำฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนธันวาคม 2563 นี้

สำหรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนั้น ประกอบด้วย 1.ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Infrastructure) ส่งเสริมความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Demand) ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (Supply) การกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐจะต้องมีการทางานประสานกันระหว่างกระทรวง กรม และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ และทั้ง 3 การไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางคณะทางานฯยังได้มีการนำเสนอโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจำนวน 13,500 คัน และ จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 433 สถานีเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้า ซึ่งได้มีการศึกษาไว้ถึง 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร-เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี กทม.-สระบุรี และ กทม.-อยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 3 เส้นทางเป็นระยะเวลา 10 ปี เท่ากับ 127,878 ล้านบาท

2. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ (Waste to Energy) การจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แม้จะมีมาตรการลดปริมาณการทิ้งขยะ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำใปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) หรือหลัก (3Rs) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเกิดขยะ แต่ยังเหลือปริมาณขยะจำนวนมากที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ การนำขยะมาผลิตไฟฟ้า เป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการขยะชุมชน ซึ่งสามารถเปลี่ยน “Waste เป็น Wealth” ได้

ดังนั้น ทางคณะผู้จัดทำฯ จึงมีข้อเสนอให้ภาครัฐลดขั้นตอนและความซับซ้อนการขออนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ควรมีผังเมืองรองรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ภาครัฐและภาคเอกชนสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเพื่อลดปัญหาการต่อต้านจากชุมชน ประชาชนควรมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดเก็บและขนขยะแบบคัดแยกอย่างเป็นระบบ สถาบันการเงินควรสนับสนุนเงินทุนแก่โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะ สนับสนุนงบประมาณแก่อปท.ในการจัดการบริหารจัดการขยะ และ สามารถนำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด

3.การผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน ควรจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานหมุนเวียนลำดับแรกเข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการแรกเกิดขึ้นในปี 2542 โดยเป็นการนำของเหลือทางการเกษตรคือ ไม้สับและกากอ้อย มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และได้พัฒนาต่อเนื่องมาตลอด จนเชื้อเพลิงชีวมวลหลักที่จัดหาได้ง่าย เช่น แกลบ และทะลายปาล์มเปล่า จนเต็มศักยภาพ ทำให้มีการเพาะปลูกไม้โตเร็วเพื่อสนองความต้องการ ต้องถือว่าเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาโรงไฟฟ้าโดยให้ชุมชนเกษตรกรฐานรากมีส่วนร่วมโดยตรงโดยการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วย

นอกเหนือจากการเป็นผู้จัดหาและจาหน่ายเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าอีกทาง จะเป็นการสร้างการยอมรับของชุมชนได้อย่างดี ลดความขัดแย้ง และลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้สู่ฐานรากได้อย่างมีตรงเป้า เป็นมาตรการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ได้อย่างมีประสิทธิผลอีกด้วย หากดำเนินการ 150 เมกะวัตต์ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 10,300 ล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผน PDP 2018 Revised 1 ในปริมาณรวม 1,933 เมกะวัตต์ มูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 134,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานอีกร่วมหมื่นตาแหน่ง ถือเป็นความคุ้มค่า และเป็นโครงการที่ต้องรีบขับเคลื่อนโดยเร็ว

4.การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ปัจจุบันตุ้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคามีราคาถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า หรือ ที่เรียกว่า Grid Parity ซึ่งประชาชนและภาคเอกชนสนใจที่จะติดตั้ง Solar Rooftop เป็นจำนวนมาก แต่นโยบายภาครัฐในปัจจุบันยังไม่เอื้ออานวยให้มีการติดตั้ง Solar Rooftop มากนัก

ทางคณะทำงานฯจึงเสนอให้ภาครัฐ ลดขั้นตอนในการออก สามารถยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ได้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยไม่ต้องขอใบอนุญาต ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นสามารถขอใบอนุญาตติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ แทนการขอ อ.1 และ พค.2 หรือขอใบยกเว้น โดยที่ไม่ต้องขอ รง.4 . ภาครัฐต้องมีการสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ Solar Rooftop ให้แก่ประชาชน อนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer หรือ การซื้อขายระหว่างกันได้ และมี National Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน P2P ภาครัฐควรมีการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจาก Solar Rooftop ในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย ส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าและใช้เอง และควรมีการสนับสนุนทางการเงินที่ครบวงจร

ทั้งนี้ การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ภาครัฐควรมีการกำหนดเป้าหมายในการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมไว้ในแผน PDP อย่างชัดเจนโดยเพิ่มเป้าหมายพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในอัตราที่เหมาะสม ควรมีการเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไฟฟ้าที่เหมาะสม ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตและความซ้ำซ้อนลง

5.การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง Prosumer ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง หรือ ที่เรียกว่า Prosumer ของประชาชนและอนุญาตให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้และเกินกว่าความต้องการใช้ให้แก่คนอื่นได้ ซี่งเป็นการใช้โครงข่ายระบบส่งและระบบจาหน่ายของการไฟฟ้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยภาครัฐควรมีนโยบายในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าว เช่น ปรับข้อกฎหมายตลาดของพลังงานไฟฟ้าจาก Enhanced Single Buyer ไปสู่ Wholesale Power Market ปรับปรุง Grid Code ให้เหมาะสม และรองรับเทคโนโลยีปัจจุบัน

รวมทั้งเร่งพัฒนา Microgrid System ให้ชัดเจนมากขึ้น จัดทำ Road Map ที่เป็นรูปธรรม ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเข้ามาของ Prosumer พัฒนา Digital Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน อนุญาตให้บุคคลที่สามสามารถใช้โครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าได้ (Third Party Access-TPA) และมีการกำหนดอัตราค่าบริการการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่ชัดเจน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

“จุรินทร์” ถกบิ๊กเอกชนต่างชาติ ร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ส่งออก

 “จุรินทร์” ถกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หารือฟื้นฟูเศรษฐกิจและการส่งออกร่วมกัน เผยรับพิจารณาข้อเสนอต่างด้าวถือหุ้นธุรกิจบริการในไทยได้ 100% บางรายการในช่วง 3 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุน เดินหน้าเจรจาเอฟทีเอ 5 ฉบับ คลายล็อกเรื่องการท่องเที่ยว และแก้ปัญหาการขนส่งสินค้า

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย หรือ Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand : JFCCT นำโดยนายสแตนลีย์ คัง ประธาน JFCCT เข้าพบ ว่า ได้หารือกับภาคเอกชนต่างประเทศ ที่ทำธุรกิจในไทย และเป็นรายใหญ่ติดลำดับท้อป 50 ของไทย เพื่อร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และภาคการส่งออกร่วมกัน โดยทางหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทยได้ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาในเรื่องการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นธุรกิจบริการในไทยได้ 100% บางรายการในช่วง 3 ปีนี้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยในช่วงที่โควิด-19 โดยกระทรวงพาณิชย์รับจะพิจารณาให้ภายใต้ขั้นตอนและกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ยังได้ขอให้ไทยทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ มากขึ้น ซึ่งได้แจ้งว่า ขณะนี้ไทยมีเป้าหมายที่จะทำข้อตกลงเอฟทีเอ 5 ฉบับ คือ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู), เอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค), เอฟทีเอไทย-EFTA, เอฟทีเอไทย-ยูเรเซีย และเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ส่วนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ได้แจ้งไปว่ารัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง มีแนวคิดที่จะลดวันกักตัว แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัญหาโควิด-19 และสุขภาพของคนไทยด้วย

ส่วนปัญหาเรื่องการขนถ่ายสินค้าและการหาตู้ขนส่งสินค้าให้เพียงพอ ได้รับไปหารือใน กรอ. พาณิชย์ ซึ่งมีสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยอยู่ และสามารถเชิญหอการค้าร่วมต่างประเทศเข้ามาหารือในวาระนี้ได้

นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้หอการค้าร่วมต่างประเทศได้พูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งปกติพบกันปีละครั้ง ให้เพิ่มเป็นอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้า และร่วมกันทำงาน คลี่คลายปัญหาที่ติดขัด เพื่อช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจและเป้าหมายการเพิ่มการส่งออกให้กับประเทศ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ธุรกิจต่างด้าวที่จะเข้ามาลงทุนในไทยสามารถที่จะถือหุ้น 100% ภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้รับข้อยกเว้นอยู่แล้ว หรืออาจจะใช้ช่องทางการลงทุนผ่านข้อตกลงเอฟทีเอ ส่วนการปลดล็อกธุรกิจภายใต้บัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะพิจารณาทุกปี โดยมีหลัก คือ เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแล เป็นธุรกิจที่รัฐบาลต้องการดึงดูดการลงทุน ซึ่งปีนี้ กำลังจะเสนอให้ถอดธุรกิจที่คนต่างด้าวไม่ต้องขออนุญาต เพิ่มอีก 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจบริการโทรคมนาคมสำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

สอน. เตรียมความพร้อมเปิดหีบอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564

สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เตรียมความพร้อมก่อนเปิดหีบอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ตามที่โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศได้ส่งข้อมูลแจ้งสภาพความพร้อมของโรงงานน้ำตาลที่จะทำการหีบอ้อย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

ทางสำนักงานได้ดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่จากกองอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการลงพื้นที่ ตรวจความพร้อมสภาพความพร้อมเครื่องจักร และอุปกรณ์ของโรงงานน้ำตาลในการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ร่วมกับคณะควบคุมการผลิตประจำโรงงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนชาวไร่อ้อย ผู้แทนโรงงานน้ำตาล และผู้แทนสำนักงานประจำโรงงาน เพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเก็บตัวอย่างน้ำอ้อย การวิเคราะห์คุณภาพอ้อย การตัดสินข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพอ้อยและความบริสุทธิ์ของอ้อย พ.ศ.2559 โดยจะทำการตรวจสอบความพร้อมตั้งแต่เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบของโรงงาน รวมไปถึงเครื่องมือวิเคราะห์คุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้การดำเนินการเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2563/2564 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

จ.ชัยภูมิร่วมรับฟังปัญหาข้อร้องเรียนคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาล

วันที่ 4 พ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประชุมภูแลนคา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัด จ.ชัยภูมิ นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.ชย. เป็นประธานการประชุมคณะทำงานรับฟังและประมวลปัญหาข้อร้องเรียน กรณีการคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ครั้งที่ 2/2563 เพื่อรับฟังข้อมูลรอบด้านถึงปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่จะเกิดกับประชาชน รวมทั้งรับฟังการชี้แจงข้อประเด็นต่างๆที่ประชาชนเป็นกังวลหรือสงสัย จากฝ่ายโรงงานและส่วนราชการ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมฯ

ต่อมาช่วงเวลา13.00น.นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.ชัยภูมิ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์รวมถึงการเคร่งครัดในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์ไข้เลือดออก และโรคติดต่ออื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้ได้มีการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) กับนายอำเภอและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง 16 อำเภอ เพื่อรับทราบข้อสั่งการต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

‘เงินบาท’ เปิดตลาดวันนี้ ‘ แข็งค่าสุด’ ในรอบ1เดือนครั้งใหม่

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ1เดือนครั้งใหม่ที่31 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดการเงินและหุ้นฟื้นตัว รอผลประชุมเฟดและผลการเลือกตั้งสหรัฐ หากไบเดนชนะ หนุนสกุลเงินเอเชียและเงินบาทแข็งต่อได้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.90-31.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นทั่วโลก ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นพร้อมกัน 2.2% และ2.1% ตามลำดับ แม้ผลเลือกตั้งจะยังไม่ชัดเจน แต่นักลงทุนก็กล้าที่จะมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีโอกาสเกิดขึ้นไม่ว่าประธานาธิบดีจะเป็นใครหรือจะมีการต่อสู้กันทางกฎหมายกันต่อภายในเดือนนี้ สังเกตุได้จากดัชนีวัดความกลัว VIX Index ที่ลดลงจาก 36จุด มาที่ระดับ 29จุด ในปัจจุบัน

ส่วนฝั่งนโยบายการเงิน ในวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และสหรัฐ (เฟด) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.10% และ 0.00-0.25% ตามลำดับ นอกจากนี้ ถ้าการเลือกตั้งมีความผันผวนมาก ก็คาดว่าจะเห็นเฟดส่งสัญญาณเตรียมใช้นโยบายทางการเงินเข้ามาสนับสนุนตลาดการเงินต่อด้วย

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน กลับเป็นกระแสการอ่อนค่าของดอลลาร์ 0.2% แต่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงถึง 12bps มาที่ระดับ 0.78% สวนทางกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นถึง 3.6% หมายความว่าตลาดตราสารหนี้มีความกังวลกับการเมืองสหรัฐมาก

ส่วนเงินบาทช่วงเช้านี้ปรับตัวแข็งค่าไปพร้อมกับตลาดหุ้นและสกุลเงินเอเชีย อย่างไรก็ดี ระยะสั้นจำเป็นต้องตามผลการเลือกตั้งสหรัฐต่อเนื่อง ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถพลิกกลับมาชนะได้ อาจเห็นตลาดกลับไปปิดรับความเสี่ยงและเงินบาทอ่อนค่ากลับ แต่ถ้าสุดท้ายโจ ไบเดน สามารถเก็บคะแนนเสียงที่เหลือจนเป็นประธานาธิบดีได้สำเร็จ ก็จะเห็นเงินบาทแข็งค่าได้ต่อ

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

กรมชลฯ ขานรับนโยบายรบ.หนุนน้ำพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น

  กรมชลประทาน สนองนโยบายรัฐบาล สนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่เป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรกว่า 400,000 ราย กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่กว่า 6,800 กลุ่ม บนพื้นที่ 6,600,000 ไร่ ช่วยลดต้นทุนและสร้างอำนาจการต่อรองให้กับเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย คือหนี้สิน ความยากจน ไม่มีตลาด ผลิตแล้วไม่ได้ราคา ขาดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่า และถูกกดราคาขายผลผลิต เป็นต้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการสร้างโมเดลเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรจับกลุ่มรวมตัวกันทำเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาไปสู่ GAP ปลูกพืชอินทรีย์ตามที่ตลาดต้องการ นำไปสู่การค้าขายออนไลน์ มีการใช้ระบบ smart farm เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เช่น ระบบน้ำหยด โซล่าเซลล์ เซ็นเซอร์ และโดรน เป็นต้น

ในส่วนของกรมชลประทานได้สนับสนุนโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ด้วยการพัฒนาระบบชลประทานให้มีความพร้อมรองรับการใช้น้ำของเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งในพื้นที่ที่จะวางโครงการชลประทาน ทุกวันนี้ต้องมองเป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่มีน้ำเต็มศักยภาพแล้วจะสามารถส่งให้นาข้าวได้เพียงอย่างเดียว ต้องวิเคราะห์ตามภูมิสังคม เช่น พื้นที่ภาคใต้ปลูกข้าวเป็นส่วนน้อย เน้นการปลูกพืชสวนและผลไม้ จึงต้องทำการวิเคราะห์อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดมายิ่งขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับเกษตรแปลงใหญ่ จึงต้องวิเคราะห์ความต้องการแต่ละพื้นที่ และเกษตรวิถีใหม่ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือการเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ กรมชลประทาน จึงพัฒนาเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนความรู้ ด้วยการนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศออสเตรเลียด้วยระบบ Water Ordering แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการบริหารจัดการน้ำในประเทศไทย จึงใช้เป็น Water Requesting and Sharing ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือระหว่างประเทศของกรมชลประทานกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในการนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร จ.สิงห์บุรี มีสภาพเก่าแก่ อายุ 60 กว่าปี จำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ พร้อมนำระบบและเทคโนโลยี Water Requesting and Sharing มาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการส่งน้ำในพื้นที่นำร่อง เพื่อให้เกษตรกรได้รับน้ำอย่างเพียงพอและวางข้อกำหนดร่วมกันในการใช้น้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563

บอร์ดบีโอไออนุมัติลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท กิจการอีวี-ผลิตไฟฟ้า-น้ำตาล

บอร์ดบีโอไอ เห็นชอบอนุมัติ 6 โครงการใหญ่ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กิจการผลิตไฟฟ้า และกิจการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อม

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งเสริมการลงทุน 6 โครงการใหญ่ รวมมูลค่าเงินลงทุน 35,687.43 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1.บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด กิจการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อม เงินลงทุน 5,071.84 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดสระแก้ว ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) โดยมีกำลังการผลิตน้ำตาลและน้ำเชื่อมปีละประมาณ 374,550 ตัน ผลิตเพื่อการส่งออก 1,777.45 ล้านบาท/ปี คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการจำหน่าย

2. บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เงินลงทุน 3,247 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง จังหวัดระยอง ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PLUG-IN HYBRID ELECTRIC VEHICLES-PHEV) ปีละประมาณ 5,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BATTERY ELECTRIC VEHICLES-BEV) ปีละประมาณ 1,000 คัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งสิ้น

3.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ชลบุรี จังหวัดชลบุรี ผลิตไฟฟ้า 157.32 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง และน้ำปราศจากแร่ธาตุ 1,566 ลูกบาศก์เมตร/วัน

4.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เงินลงทุน 5,400 ล้านบาท ตั้งครงการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี จังหวัดชลบุรี ผลิตไฟฟ้า 157.32 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง

5.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า และไอน้ำ เงินลงทุน 11,300 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ผลิตไฟฟ้า 290 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 120 ตัน/ชั่วโมง

6.บริษัท บางกอก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด กิจการผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำปราศจากแร่ธาตุ เงินลงทุน 4,668.59 ล้านบาท ตั้งโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ผลิตไฟฟ้า 162 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 90 ตัน/ชั่วโมง และน้ำปราศจากแร่ธาตุ 250 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563

ชป.เผย'ลุ่มน้ำเจ้าพระยา'แล้งนี้น้ำต้นทุนมีน้อย วอนปชช.ใช้น้ำอย่างประหยัด

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคารหม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯว่า ปัจจุบัน (4 พ.ย.63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,097 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม.เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,525 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า พายุโซนร้อน “โคนี” (พายุระดับ3 ) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งเมืองดานัง ประเทศเวียดนามในคืนพรุ่งนี้ (5 พ.ย.63) หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในระหว่างวันที่ 6 - 7 พ.ย.63 บริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงสั่งการให้โครงการชลประทานที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเดิมโดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ในส่วนทางภาคใต้ขอให้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค.63 นี้ รวมทั้งเตรียมพร้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยต่างๆ ในพื้นที่ ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจในเขต จ.สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร และสุราษฏร์ธานี เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน จะทำการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด ซึ่งในส่วนของนาปีที่ปลูกล่าช้า กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวไม่ให้ขาดแคลนน้ำ จนกว่าจะทำการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก และงดทำนาต่อเนื่องหลังจากเก็บเกี่ยวไปแล้ว พร้อมย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ เก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน ร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรให้มากที่สุด และสั่งการให้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่เคยถูกน้ำท่วม การเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับช่วยเหลือประชาชนหากเกิดวิกฤติ รวมไปถึงการประสานแจ้งเตือนประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ เพื่อลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563

ส.อ.ท.เตรียมส่ง AEDP ภาคประชาชนยื่นรัฐชง 5 ข้อเร่งรัดพลังงานหมุนเวียน

ส.อ.ท.จัดทำ AEDP ภาคประชาชนเตรียมส่งมอบหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานธ.ค.นี้ โดยเรียกร้อง 5 ข้อให้พัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งเร่งรัดโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์-เพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์-ให้นำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% หนุนผุดโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มพลังงานหมุนเวียนได้ร่วมกับมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จัดสัมมนา “AEDP ภาคประชาชน หรือแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ภาคประชาชน” ซึ่งหลังจากรับฟังความเห็นแล้วจะจัดทำฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในเดือน ธ.ค.นี้

สำหรับเสนอที่ ส.อ.ท.เสนอแนะประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. การผลิตไฟฟ้าจากพืชเกษตร หรือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเสนอ ให้กำหนดระยะนำร่อง 150 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 10,300 ล้านบาท และหากดำเนินการได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่จะรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,933 เมกะวัตต์ จะทำให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 134,000 ล้านบาท รวมถึงช่วยให้เกิดการจ้างงานอีก 1 หมื่นตำแหน่ง

2. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม คณะทำงานได้เสนอให้เพิ่มเป้าหมายพลังงานลมเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และกำหนดอัตรารับซื้อที่เหมาะสม พร้อมเปลี่ยนแปลงโครงข่ายไฟฟ้าให้เหมาะสมและลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตและลดความซ้ำซ้อนลง ส่วนโซลาร์ฯ เสนอให้ลดขั้นตอนในการออกใบอนุญาต โดยสารมาระยื่นขออนุญาตทางออนไลน์ได้ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยไม่ต้องขอใบอนุญาต ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นให้ขอใบอนุญาตติดตั้งระบบไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แทนการขอ อ.1 และ พค.1 หรือขอใบยกเว้นโดยที่ไม่ต้องขอ รง.4 พร้อมกันนี้ขอให้มีการอนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Peer to Peer หรือการซื้อขายระหว่างกันได้และมี National Energy Trading Platform รองรับการซื้อขายระหว่างกน ขณะเดียวกันรัฐควรรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากโซลาร์รูฟท็อปในอัตรา 2.60 บาทต่อหน่วย

3. การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ได้เสนอแนวคิดการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยให้ลดขั้นตอนและลดความซ้ำซ้อนในการขออนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ควรมีผังเมืองรองรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะ นอกจากนี้ ประชาชนควรมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดเก็บขยะแบบคัดแยกอย่างเป็นระบบ สถาบันการเงินควรสนับสนุนเงินทุนแก่โรงไฟฟ้าขยะ สนับสนุนงบประมาณแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดการบริหารจัดการขยะและให้นำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ในสัดส่วนไม่เกิน 20% ของปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมด

4. การผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง Prosumer โดยภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชนและอนุญาตให้ขายไฟฟ้าที่ผลิตได้และเกินความต้องการใช้ให้แก่คนอื่นได้ พร้อมกันนี้ให้ปรับข้อกฎหมายตลาดของพลังงานไฟฟ้าจาก Enhanced Single Buyer ไปสู่ Wholesale Power Market ปรับปรุง Grid Code ให้เหมาะสมและรองรับเทคโนโลยีปัจจุบัน โดยจัดทำโรดแมป ที่เป็นรูปธรรมในการเปลี่ยนโครงสร้างระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเข้ามาของ Prosumer พัฒนา Digital Energy Trading Platform เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน อนุญาตให้บุคคลที่สามสามารถใช้โครงข่ายไฟฟ้าได้ ฯลฯ

5. ยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ได้เสนอให้รัฐส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยให้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยคณะทำงานฯ ได้เสนอโครงการต้นแบบ รถหัวลากไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้าซึ่งจะมีการนำรถบรรทุกหัวลากเก่ามาดัดแปลงเป็นรถบรรทุกไฟฟ้าจำนวน 13,500 คัน และจะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 433 สถานีเพื่อรองรับการชาร์จไฟฟ้าของรถบรรทุกหัวลากไฟฟ้าซึ่งได้มีการศึกษาได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ กทม.-อีอีซี กทม.-สระบุรี และ กทม.-อยุธยา มูลค่าเงินลงทุนรวม 3 เส้นทางระยะเวลา 10 ปีเท่ากับ 127,878 ล้านบาท

จาก https://mgronline.com วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563

จีดีพีเกษตรทรุด ปี’63 พิษโควิด-ภัยแล้ง หดตัวติดลบ 3.4%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจ (จีดีพี) การเกษตรตลอดปี 2563 คาดว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงติดลบ 3.4 ถึง ลบ2.4% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสาขาพืช และสาขาบริการทางการเกษตร มีทิศทางปรับตัวลดลงตามการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร

ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 มีฝนตกเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที ส่วนสาขาประมง คาดว่าจะปรับตัวลดลง ทั้งการทำประมงทะเลและประมงน้ำจืด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ในขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ คาดว่าจะขยายตัวได้ตามความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

“การคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 สศก.ยังมีปัจจัยและสถานการณ์สำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ โดยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อและความเสี่ยงของการกลับมาระบาดในรอบที่ 2 และความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งในด้านการค้าและความมั่นคงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุน ” นายฉันทานนท์ กล่าว

สำหรับการประเมินภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3/2563 พบว่าปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งสาขาพืช ยังคงปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ สาขาบริการทางการเกษตร ลดลงอยู่ที่ 0.2%

สาขาประมง ลดลงอยู่ที่ 0.9% ส่วนสาขาป่าไม้ลดลงอยู่ที่ 1% ส่วนสาขาปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องอยู่ที่ 2.4% จากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่ที่สำคัญของไทย

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563

เอกชนชงรัฐตั้งคณะทำงาน ลุยการค้าเสรีหวั่นตกขบวน

ภาคเอกชนจี้รัฐเร่งตั้งคณะทำงานลุยการค้าเสรี หวั่นไทยตกขบวน-เสียโอกาสเวทีโลก

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.เตรียมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐที่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ กับ กกร. ในเรื่องเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อให้เกิดการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในอนาคต โดยอยากให้จัดตั้งขึ้นเร่งด่วนและเร็วที่สุด เพราะไม่อยากให้ไทยตกขบวนและไม่ให้ไทยเสียโอกาสในเวทีการค้าโลก

นอกจากนี้ กกร.เห็นว่า เอฟทีเอ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันยังอยู่ในการเตรียมการ เช่น เอฟทีเอไทย-อังกฤษ, เอฟทีเอไทย-อียู และซีพีทีพีพี เป็นต้น ซึ่ง กกร.ได้พิจารณาแล้วว่ามีหลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันในเอฟทีเอเกือบทุกกรอบ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี ได้แก่ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่, แรงงาน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ทั้งนี้เช่นเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ถ้านายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตได้รับชัยชนะ สหรัฐจะกลับเข้าสู่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ซีพีทีพีพี) แน่นอน เพราะเดโมแครตเป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งถ้าไทยไม่เร่งรีบจะตกขบวน ต่างจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ถ้าหากได้รับชัยชนะอีกครั้ง จะทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนไทยต้องกลับมาพึ่งพาตนเอง และจะต้องทำสินค้าตรงตามต้องการ หาตลาดเสริมไม่พึ่งพาสหรัฐเพียงอย่างเดียว

นายกลินท์ กล่าวว่า กกร.ยังมีแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจโรงแรมที่มีข้อเสนอของภาคเอกชนได้เสนอไปยังภาครัฐก่อนหน้านี้ เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงแรมที่ยังมีศักยภาพตามความเหมาะสม โดย กกร.ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวโดยละเอียด

“กกร.หารือกว้างขวาง เรื่องการค้าเสรีเอฟทีเอ โดยจะเสนอตั้งคณะทำงานระหว่างภาครัฐกับ กกร. เตรียมตัวรับมือ และจัดตั้งเร็วที่สุด กลัวจะเสียโอกาสเวทีโลก ส่วนการช่วยเหลือโรงแรมที่ยังไม่เปิดกิจการระดับ 2-3 ดาว ได้เสนอภาครัฐไปแล้วเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคืบหน้าเท่าไร ซึ่งการจัดตั้งกองทุนซื้อโรงแรม กกร.ตั้งคณะทำงานศึกษาอย่างละเอียด”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนไม่ใช่เข้าซื้อโรงแรมอย่างเดียว แต่เข้าร่วมทุนและเปิดโอกาสให้เจ้าของโรงแรมซื้อกลับคืนได้ เพื่อไม่ให้เจ้าของโรงแรมเสียประโยชน์ ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำ เอกชนไทยจะต้องเตรียมตัวมากขึ้น ส่วนเรื่องไทยโดนตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสินค้าไทย ยอมรับได้รับผลกระทบระดับหนึ่ง แต่ถ้าค่าเงินบาทอ่อนค่า จะช่วยบรรเทาผู้ประกอบการได้ เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่าจะเหมือนกับโดนกระทบสองเด้ง จึงอยากให้ค่าเงินบาทอ่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดโลกประเทศอื่นๆได้ต่อไปด้วย

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563

บาทเปิด 31.04 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มผันผวน

บาทเปิด 31.04 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มผันผวน

เงินบาทเปิดตลาด 31.04 บาทต่อดอลลาร์ แนวโน้มผันผวน เกาะติดผลเลือกตั้งสหรัฐ ให้กรอบวันนี้ 30.95-31.20 บาทต่อดอลลาร์

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 31.04 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดช่วงเย็นวันที่ 3 พ.ย. ที่ระดับ 31.06 บาท/ดอลลาร์ โดยทิศทางการเคลื่อนไหวมีความผันผวนมากจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะผันผวนต่อเนื่องไปจนกว่าจะรู้ผลเลือกตั้งชัดเจน

"เช้านี้บาทผันผวนมาก มีหลุด 31.00 บาท/ดอลลาร์ลงไปก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลจากการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ทยอยออกมาในแต่ละจุด" นักบริหารเงิน ระบุ

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563

จัด “Thailand ESCO FAIR 2020” หนุนใช้พลังงานมีประสิทธิภาพพร้อมก้าวสู่ Smart Industry

สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัทจัดการพลังงาน เตรียมจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมก้าวสู่ Smart Industry

นายหิน  นววงศ์ ประธานคณะทำงานโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนสำหรับผู้ประกอบการด้วยบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เปิดเผยว่า ESCO ได้ดำเนินการร่วมกับ สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ Thailand ESCO Fair 2020 "Move Forwards to Smart Industry by ESCO" ซึ่งสนับสนับโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้  เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนด้วยศักยภาพของ ESCO ตามยุทธศาสตร์หลักของแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2558 - 2579 เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยบริการของบริษัทจัดการพลังงาน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานด้วยการนำเอาธุรกิจ ESCO ที่มีมาตรฐานการทำงานและความเป็นมืออาชีพ มาเป็นเครื่องมือช่วยให้เกิดการเพิ่มผลประหยัดพลังงานของประเทศได้มากขึ้น

สำหรับงานสัมมนาดักล่าวจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ งานสัมมนาและงานนิทรรศการ มุ่งเน้นการนำเสนอให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยให้ภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ในสถานประกอบการ นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการที่ผ่านมา เพื่อให้สถานประกอบการอื่นๆ เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้บริการของบริษัทจัดการพลังงาน

“จากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 (COVID-19) และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป กลายเป็นวิถีความปกติใหม่ New Normal ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไป  และเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ Smart Industry”

นายหิน กล่าวต่อไปอีกว่า ในงานสัมมนาจะมีการเสวนาการนำเสนอโครงการที่ประสบความสำเร็จชื่อว่า “Success Cases of ESCO Projects” โดยสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล ESCO Project Awards นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “รับมือในโลกยุค Disruption” โดย ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ขณะที่ในส่วนของงานนิทรรศการ จะมีบูธนิทรรศการจำนวนกว่า 40 บูธ เกี่ยวกับด้านการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทดแทน อุปกรณ์และ Technology และสินเชื่อด้านพลังงาน แบ่งออกเป็น บริษัท ESCO จำนวน 19 บูธ สมาชิกสมาคมบริษัทจัดการพลังานไทยและบริษัทที่สนใจขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทจัดการพลังงาน จำนวน 9 บูธ สถาบันการเงิน มีธนาคารมาให้นโยบายการให้สินเชื่อ จำนวน 6 บูธ (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์) องค์กรสนับสนุนธุรกิจ ESCO จำนวน 3 บูธ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง) ตลอดจนบูธของ ESCO Information Center (สถาบันพลังงานฯ) และสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

“งานสัมมนากำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 08.30 – 16.00 น. ณ ห้องภิรัช ฮอลล์ 2-3 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

ส่งออกไทยตั้งรับผู้นำสหรัฐคนใหม่ เชื่อนโยบายการค้าไม่เปลี่ยนมาก

ผู้ส่งออกตั้งรับผลเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ระบุ “ทรัมป์-ไบเดน”ใครชนะ เชื่อนโยบายไม่เปลี่ยนไปมาก สงครามการค้ากับจีนยังมีอยู่ ตัด GSPไม่กระทบไทยมาก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เผยว่า คงต้องติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งของสหรัฐฯที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยทาง สรท. มองว่า ไม่ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือนายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครต  จะเป็นฝ่ายชนะ แต่นโยบายการทำการค้าของสหรัฐฯกับประเทศต่าง ๆ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่หากนายโจ ไบเดน  ชนะการเลือกตั้ง นโยบายการค้าจะมีความประนีประนอมมากขึ้น เนื่องจากนายไบเดนให้การสนับสนุนในเรื่องของความสัมพันธ์อันดีกับประเทศพันธมิตรและไม่สนับสนุนการขึ้นภาษีกับประเทศจีนเพราะภาระจะตกเป็นของผู้บริโภคในสหรัฐฯเอง

นอกจากนี้มองว่า จนกว่าจะมีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ นโยบายทางการเงินของสหรัฐฯจะยังคงไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าทั้งสองพรรคจะยังคงมุ่งเน้นในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ การอัดฉีดเม็ดเงินผ่านมาตรการต่าง ๆ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า และอาจส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทของไทยให้แข็งค่าขึ้นกระทบความสามารถในการแข่งขันส่งออก

สำหรับการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศลากร(GSP) ของสหรัฐฯ ต่อสินค้าไทยอีก 231 รายการที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้ ในจำนวนนี้มีเพียง 147 รายการที่ไทยใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP โครงการดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯทั้งหมด จึงมองว่าไม่ได้กระทบกับการส่งออกสินค้าของไทยไปในตลาดสหรัฐฯมากนัก เพราะเวลานี้มีหลายสินค้าที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากความต้องการภายในประเทศของสหรัฐฯ เอง หลังจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ความต้องการนำเข้ามากขึ้น โดยมั่นใจว่าผู้ส่งออกไทยยังสามารถรักษาตลาดการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯได้

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

สรท.ชี้ส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัว

สรท.เผยเดือนก.ย.ส่งออกไทยคิดลบ3.8% มูลค่า19,621 ล้านดอลลาร์ ติดลบน้อยลง ขณะที่ 9เดือนแรกส่งออกไทยคิดลบ 7.33% คาดส่งออกไทยทั้งปีติดลบ 7%

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงษ์ ประธานผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท. )เปิดเผยว่า สรท. ปรับเป้าส่งออกปี 63 ติดลบ 7% จากเดิมติดลบ 8 ถึงติดลบ 10% เนื่องจากการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว โดยขณะนี้มีการสั่งสินค้าเข้าเพิ่มขึ้น แต่คงต้องเฝ้าระวังเรื่องการระบาดโควิด-19รอบสอง โดยเฉพาะประเทศกลุ่มยุโรปและสหรัฐ

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐต้องดูผลเลือกตั้งว่าใครจะได้รับเลือกตั้งระหว่างนานโดนัส ทรัมป์และนายโจ ไบเดน เพราะมีนโยบายที่แตกต่างกัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

บิ๊กป้อม’เคาะแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง63/64 คลอด9มาตรการรับมือมั่นใจน้ำกิน-ใช้ไม่ขาด

ไฟเขียวแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2563/64 เผยปริมาณน้ำต้นทุนมากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย “บิ๊กป้อม” สั่งคุมเข้มการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมคลอด 9 มาตรการรับมือสถานการณ์น้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง มั่นใจน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอ

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้เห็นชอบแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 (1 พ.ย. 2563 - 30 เม.ย. 2564) ที่จัดสรรสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยวางลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ดังนี้ 1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อการเกษตรกรรม และ 4.เพื่อการอุตสาหกรรม ทั้งนี้จากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณวันที่ 1 พ.ย.2563 พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ จำนวน 41,879 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) สามารถนำมาจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2563/64 ทั้งประเทศ รวม 22,847 ล้านลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2564 จำนวน 19,032 ล้าน ลบ.ม.

“ปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณมากกว่าเล็กน้อยเท่านั้น จำเป็นจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ที่น้ำต้นทุนจากเขื่อน 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งพบว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนทั้ง 4 แห่งดังกล่าวรวมกันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงสามารถจัดสรรน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภครักษาระบบนิเวศ และเกษตรต่อเนื่อง (ไม้ผลไม้ยืนต้น) เท่านั้น ส่วนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำอื่นๆ นั้น ให้คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน(JMC) ในพื้นที่วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เฉพาะอย่างยิ่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ต้องไม่มีปัญหา” รองนายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังได้เห็นชอบ 9 มาตรการหลักรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ได้แก่ 1.เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน 2.จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมวางแผนวางท่อน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาข้างเคียง และแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง 3.ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 4. กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งที่ชัดเจน มีการติดตามกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 6.วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ การแย่งน้ำ กรณีไม่อาจสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ให้มีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่รวดเร็วและชัดเจน 7.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8.ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ในฤดูแล้งปี 2563/64 ได้คาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยในด้านน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค พบว่า ในเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 41 สาขาในพื้นที่ 28 จังหวัด ส่วนในเขตการให้บริการของประปาท้องถิ่นมีพื้นที่เสี่ยงจำนวน 50 จังหวัด 334 อำเภอ 966 ตำบล และในด้านการเกษตร มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 45 จังหวัด 176 อำเภอ 489 ตำบล นอกจากนี้ยังมีที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำของน้ำเค็มจำนวน 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล (กปน.) แม่น้ำท่าจีนบริเวณสถานีปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสถานีปากคลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบ้านสร้าง

จาก https://www.naewna.com   วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

ค่าเงินบาทแข็ง คาดดอลลาร์อ่อนค่ายาว

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.00-31.50 จับตาผลเลือกตั้งสหรัฐฯ มองดอลลาร์อ่อนค่าในระยะยาว

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.21 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 7.7 พันล้านบาท และ 3.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ขณะที่เงินยูโรร่วงลงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน หลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนธันวาคมท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสอง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนยังจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. โดยคาดว่านายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครตมีโอกาสคว้าชัยชนะ แต่หากกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำสมัยที่ 2 คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับภาพใหญ่ นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับความชัดเจนของผลการเลือกตั้ง หากคะแนนเสียงออกมาสูสีมากและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคัดค้าน จะทำให้ตลาดผันผวนสูง อนึ่ง เรามองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะยาวเนื่องจากการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงและการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในอีกหลายปีข้างหน้า นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามผลการประชุมเฟดวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะยังคงให้คำมั่นเรื่องการสนับสนุนเศรษฐกิจ ส่วนการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) มีแนวโน้มเพิ่มมาตรการ QE อีก 1 แสนล้านปอนด์ ขณะที่ข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานสหรัฐฯที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ล้วนอยู่ในความสนใจของตลาดเช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั้งในและต่างประเทศ โดยการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐมีบทบาทหลักในการประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวรุนแรงและตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง จากภาวะดังกล่าว เราประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ในการประชุมวันที่ 18 พ.ย. แต่ผลของการปิดเมืองรอบใหม่ในยุโรปกำลังเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2564

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563

ราชกิจจาฯ ประกาศแบน 2 สาร "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส" แต่ไม่เป็นศูนย์

ตามคาด ราชกิจจาฯ ประกาศ อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่3) หลังมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ประกาศแบน 2 สารเคมี "พาราควอต-คอร์ไพริฟอส" ให้ผู้นำเข้า คงค่ามาตรฐานตาม LOD ไม่เป็นศูนย์ บังคับใช้ 1 มิ.ย.64

2 พฤศจิกายน 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) โดยโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยอาหารที่มีสารพิษตกค้าง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา5 วรรคหนึ่ง และมาตรา6 (2) (3) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคาว่า “วัตถุอันตรายชนิดที่4” ในข้อ 3 ของประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387พ.ศ. 2560  เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “วัตถุอันตรายชนิดที่ 4” หมายความว่า วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง โดยเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ.2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ตามบัญชีหมายเลข1 แนบท้ายประกาศนี้ เว้นแต่วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดอื่นให้เป็น ดังนี้

(1) ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) ได้ไม่เกินที่กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ (2) ตรวจพบปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) ที่ไม่ได้ กำหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ ได้ไม่เกินข้อกาหนดของคณะกรรมาธิการของโครงการมาตรฐานอาหาร เอฟ เอ โอ/ดับบลิว เอช โอ (Codex Alimentarius Commission,Joint FAO/WHO Food Standards Programme)

(3) กรณีนอกเหนือจาก (1) และ (2) ตรวจพบดีฟอลต์ลิมิต (default limit) สำหรับพืชและสัตว์ได้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมสารพิษตกค้างต่อกิโลกรัมอาหาร เว้นแต่ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit)สาหรับพืช ที่กาหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศนี้ (4) ตรวจพบปริมาณสารพิษสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Extraneous Maximum Residue Limit, EMRL) ได้ไม่เกินที่กาหนดไว้ในบัญชีหมายเลข 4 แนบท้ายประกาศนี้”

ข้อ 3ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นลำดับที่83  ถึงลาดับที่87ในบัญชีหมายเลข1 วัตถุอันตรายชนิดที่4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560  เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกคาง ดังนี้

83. คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos)

84. คลอร์ไพริฟอส-เมทิล (chlorpyrifos-methyl)

85. พาราควอต (paraquat)

86. พาราควอตไดคลอไรด์ (paraquat dichloride)

87. พาราควอต [บิส (เมทิลซัลเฟต)] {paraquat [bis (methyl sulfate)]} หรือ พาราควอตเมโทซัลเฟต (paraquat methosulfate)

ข้อ4 ให้ยกเลิกลำดับที่1  คลอร์ไพริฟอส (chlorpyrifos) และลำดับที่23  พาราควอต (paraquat) ในบัญชีหมายเลข ๒ ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่387 พ.ศ. 2560  เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้างลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ข้อ 5 ให้ยกเลิกบัญชีหมายเลข 5 วิธีการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการสารพิษตกค้าง ในอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 และให้ใช้บัญชี หมายเลข 5 แนบท้ายประกาศนี้แทน ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2564  เป็นต้นไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

“พาณิชย์”เตรียมหารือสหรัฐฯ  แก้ปัญหาถูกตัด GSP

 “พาณิชย์” เตรียมประสานหารือสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หาทางออกร่วมกัน ย้ำถูกตัด GSP รอบนี้ มีสินค้ากระทบแค่ 147 รายการ เสียภาษีเพิ่ม 600 ล้านบาท ไม่ใช่ 25,000 ล้านบาท ส่วนการต่ออายุโครงการ GSP ที่จะหมดอายุ 31 ธ.ค.63 อาจล่าช้า แต่ถ้าต่อแล้ว ก็ได้สิทธิย้อนหลัง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) รอบใหม่จำนวน 231 รายการ ที่จะมีผลในวันที่ 30 ธ.ค.2563 ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งทราบว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิ GSP เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ เน้นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ , การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ และการส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง

ส่วน กรณีที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยเพิ่มเติมอีก 231 รายการ โดยให้สาเหตุจากการเปิดตลาดสินค้าและบริการ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทยไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีสินค้าเพียง 147 รายการ จาก 231 รายการ ที่จะได้รับผลกระทบ คือ มีภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 600 ล้านบาท มิใช่ 25,000 ล้านบาท และมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาต่ออายุโครงการ GSP ที่สหรัฐฯ ให้สิทธิแก่ทุกประเทศ (119 ประเทศกำลังพัฒนา และพัฒนาน้อยที่สุด) จะสิ้นสุดอายุโครงการในวันที่ 31 ธ.ค.2563 นั้น ขณะนี้สหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย แต่อาจมีความล่าช้าและต่ออายุไม่ทันระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ เพราะโดยปกติ ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการอาจใช้เวลาหลายเดือน และต่ออายุให้หลังจากหมดอายุแทบทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา หากสหรัฐฯ ต่ออายุโครงการไม่ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ สหรัฐฯ จะให้สิทธิย้อนหลัง เพื่อให้การให้สิทธิ GSP เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีการต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 2561 สหรัฐฯ ได้ประกาศต่ออายุในเดือนมี.ค.2561 โดยให้มีผลใช้บังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2561

ปัจจุบันการให้สิทธิฯ GSP ของสหรัฐฯ เป็นการให้ฝ่ายเดียว ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการทบทวนคุณสมบัติของประเทศที่ได้รับสิทธิอย่างต่อเนื่อง และในปี 2562 ได้ประกาศระงับสิทธิ GSP ทั้งประเทศกับอินเดียและตุรกี ด้วยเหตุผลด้านการเปิดตลาดสินค้าและบริการ และด้านเกณฑ์ระดับการพัฒนาประเทศตามลำดับ และได้ระงับสิทธิบางรายการสินค้ากับยูเครน ด้วยเหตุผลด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และยังมีหลายประเทศที่สหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการพิจารณาระงับสิทธิ GSP เพิ่มเติม ด้วยเหตุผลการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้ และในประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น เอริเทรีย ซิมบับเว คาซัคสถาน และอาเซอร์ไบจาน เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

FTA ‘อังกฤษ-ญี่ปุ่น’ สะเทือนไทย

พาณิชย์-นักวิชาการ ส่งสัญญาณเอกชนตั้งรับเอฟทีเออังกฤษ-ญี่ปุ่นมีผลบังคับใช้ จับตาเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร รองเท้า ได้รับผลกระทบเชิงลบ จี้รัฐบาลเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-อังกฤษ เพื่อรักษาตลาดและดึงการลงทุนแดนผู้ดีเพิ่ม

วันที่ 23 ตุลาคม 2563 สหราชอาณาจักร (UK/อังกฤษ) และญี่ปุ่นได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (UK-Japan CEPA) และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2564 ถือเป็นความตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญความตกลงแรกหลังจากอังกฤษได้ลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่ง CEPA นี้คาดจะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทยกับอังกฤษ และไทยกับญี่ปุ่นแน่นอน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยคาดการณ์ว่า UK-Japan CEPA จะช่วยให้การค้าระหว่างอังกฤษและญี่ปุ่นขยายตัวได้กว่า 1.52 หมื่นล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาขาที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงฯคือภาคการผลิต สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม การค้าดิจิทัล การ

ตัวอย่างเช่น การส่งออกเนื้อหมู เนื้อวัว และแซลมอนของอังกฤษจะได้รับการลดภาษีเพิ่มเติม ขณะที่ญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์จากการที่อังกฤษยกเลิกภาษีสินค้านำเข้า เช่น ECU (Electronic Control Unit) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ และการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์และรถรางเร็วกว่าในกรอบ FTA ญี่ปุ่น-สหภาพยุโรป(EU) และทั้งสองฝ่ายยังได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างกันเพิ่มขึ้นทั้งด้านการค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ

“จากการประเมินเบื้องต้น UK-Japan CEPA จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก เนื่องจากสินค้าและบริการที่สองฝ่ายได้ประโยชน์เพิ่มเติมส่วนใหญ่ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยในทั้งสองตลาด ขณะที่รูปแบบและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษ ญี่ปุ่น และไทยยังคงเป็นเช่นเดิม”

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปอังกฤษที่น่าจะได้รับผลกระทบจากความตกลงนี้คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ รองเท้า เป็นต้น เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสินค้าไทยในอังกฤษ ส่วนกลุ่มที่ไม่น่าได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลไม้เมืองร้อน และสินค้าเกษตรแปรรูป ที่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และญี่ปุ่นผลิตไม่ได้

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นที่น่าจะได้รับผลกระทบจากต้องแข่งขันกับสินค้าจากอังกฤษเพิ่มขึ้นได้แก่ เซรามิก ของเด็กเล่น ผัก ยา ปุ๋ย และเยื่อไม้ เป็นต้น ด้านการลงทุน ไทยไม่น่าได้รับผลกระทบ เพราะญี่ปุ่นไปลงทุนในอังกฤษ หรืออังกฤษมาลงทุนในญี่ปุ่นเป็นอุตสาห กรรมที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นหลัก ส่วนการมาลงทุนในไทยเน้นใช้แรงงานและเทคโนโลยีขั้นกลาง

“ในสถานการณ์เช่นนี้ไทยควรทำเอฟทีเอกับอังกฤษเพื่อรักษาตลาด และทำคลัสเตอร์อุตสาหกรรมกับญี่ปุ่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เพื่อให้สามารถส่งออกไปญี่ปุ่นมากขึ้นจากการที่ญี่ปุ่นทำเอฟทีเอกับอังกฤษ”

สอดคล้องกับนายชัยชาญ เจริญสุข ที่ปรึกษาบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า สินค้าไทยต่างจากอังกฤษ และญี่ปุ่นจึงไม่กระทบไทยมาก ไทยควรเร่งทำเอฟทีเอกับอังกฤษ และเอฟทีเอกับอียู ซึ่งถือเป็น 2 ตลาดใหญ่ของไทย จากที่ผ่านมาไทยถูกอียูตัดจีเอสพีมาหลายปีแล้วทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

ส่งออกไทย64ท้ายท้าทายหลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP

สหรัฐฯ เดินเกมตัดสิทธิ GSP ไทย 2 ครั้งในปี 63 ปัจจัยท้าทายการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ปี 64

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลอดสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เปราะบางเรื่อยมา จากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จนกระทั่งโค้งสุดท้ายก่อนหมดวาระก็ยังตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยถึง 2 ครั้งในปี 2563

โดยการตัดสิทธิครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน รวมมีมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ฯ ไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการส่งกลับสินค้าเพื่อการซ้อมรบ บวกกับอานิสงส์จากกิจกรรม WFH และสินค้าเพื่อการป้องกันโควิด-19 ทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 น่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 6.4 มีมูลค่าส่งออกราว 33,300 ล้านดอลลาร์ฯ

สำหรับการตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยครั้งที่ 2 จำนวน 231 รายการ รวมเป็นมูลค่าการส่งออก 601 ล้านดอลลาร์ฯ เริ่มมีผลทางภาษีในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ไม่น่าจะหลุดจากกรอบที่เคยประเมินไว้ว่าถ้าหากนายโจ ไบเดนได้เป็นผู้นำคนใหม่ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2564 จะยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10-12 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ตาม หากนายโดนัลด์ ทรัมป์บริหารประเทศต่อในสมัยที่ 2 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ น่าจะยังเติบโตเป็นบวกได้ใกล้เคียงร้อยละ 5.0 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิ GSP ก็มีผลให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าไทยที่ต้องแข่งขันรุนแรงกับคู่แข่งในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ผู้ประกอบการไทยคงต้องรับภาระไว้ค่อนข้างมากเพื่อให้ราคาแข่งขันได้ อาทิ ที่นอนทำด้วยาง/พลาสติก เพลาขับสำหรับรถยนต์นั่ง ส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ พลาสติกที่ทำจากเอทิลีน/โพรพิลีน และท่อและวาล์ว

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

ยิ่งใกล้เลือกตั้งสหรัฐ ตลาดเงินโลกยิ่งแกว่ง ค่าบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 2 พฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 31.16 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.05-31.25 บาทต่อดอลลาร์

สัปดาห์นี้ต้องจับตาความผันผวนจากการเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน และรายงานตัวเลขตลาดแรงงาน

โดยอีเวนท์หลักคือการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน ในปัจจุบันตัวแทนจากพรรคเดโมแครต นายโจ ไบเดน มีคะแนนนำในแทบทุกรัฐที่คะแนนความนิยมของทั้งสองพรรคใกล้เคียงกัน ที่ต้องจับตามากที่สุดคือฟลอริดา เนื่องจากเป็นรัฐใหญ่ มีการรายงานผลที่เร็ว และถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ แพ้อาจนำไปสู่การเสียตำแหน่งประธานาธิบดีได้

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ 4-5 พฤศจิกายน เชื่อว่าเฟดจะ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% แต่มองการสื่อสารจะเป็นลักษณะสวนทางกับความเสี่ยงหลักแบ่งเป็นสองกรณี

กรณี1.ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ “ปรับตัวลง” (โอกาสเกิดขึ้น 60%) เชื่อว่าเฟดจะสื่อสารในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น และอาจมีการพูดถึงนโยบายการเงินที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดความผันผวน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก เช่น Negative Interest Rate หรือ Yield Curve Control แต่

กรณี2.ถ้าตลาดหุ้นสหรัฐ “ปรับตัวขึ้น” หลังเลือกตั้ง (โอกาสเกิดขึ้น 40%) เชื่อว่าเฟดจะลดการสื่อสารในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงินลง และหันไปสนับสนุนการใช้นโยบายการคลังในปี 2021 ทันที

ส่วนในช่วงท้ายสัปดาห์ ตลาดมองว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) จะชะลอตัวลงเหลือ 600,000 ตำแหน่งในเดือนล่าสุดเนื่องจากเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้ง แต่ตัวเลขการว่างงาน (Unemployment Rate) จะลดลงไปที่ระดับ 7.7%

ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ทำให้ตลาดเงินผันผวนได้มากในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าโอกาสเอียงไปทางการแข็งค่าของดอลลาร์มากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากประเด็นที่น่าจับตาที่สุดคือผลการเลือกตั้ง ที่อาจไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้เร็ว นำไปสู่ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะปรับฐาน และนักลงทุนฝั่งสหรัฐจะกลับมาพักในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์ก่อน

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 93.7-94.7จุด ระดับปัจจุบัน 94.0 จุด

ด้านเงินบาท สัปดาห์นี้คาดว่าจะแกว่งตัวตามการเคลื่อนไหวของดอลลาร์และตลาดหุ้นโลกเป็นหลัก ในระยะสั้นถ้าตลาดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) หลังเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่ากลับพร้อมกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ แต่ในทางกลับกันถ้าเกิดการปรับฐานอาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าเร็วเนื่องจากจะมีแรงขายลดสินทรัพย์เสี่ยงของนักเก็งกำไรทั่วโลกมากดดันทันที

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563

ส่องสินค้าเกษตรแนวโน้มตัวไหนราคาดี -ตัวไหนราคาตก

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์สินค้าเกษตรเดือน พ.ย.น้ำตาลทรายดิบ -ยางพาราแผ่นดิบ -มันสำปะหลัง -ปาล์มน้ำมัน-สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ด้านข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง

ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. )คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 14.79 -14.87 เซนต์/ปอนด์ (10.24 - 10.29 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 - 1.00

เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความกังวลกับสภาวะอากาศที่แห้งแล้งในประเทศบราซิลและสหภาพยุโรปอาจทำให้ผลผลิตอ้อยลดลงส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลลดลง  ขณะที่มีความต้องการนำเข้าน้ำตาลของประเทศจีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง อาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับลดลงได้

ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.15 – 56.61 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.11 – 8.85 เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลงจากการขาดแคลนแรงงาน และยางแผ่นรมควันขาดตลาดเนื่องจากเกษตรกรหันไปขายน้ำยางพาราสดกันมากขึ้น

มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.74 - 1.79 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.58 – 3.47 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลผลิตปี 2563/64 ผลผลิตออกสู่ตลาดยังไม่มาก ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นจากตลาดประเทศจีนที่ต้องการนำไปทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีปริมาณสต็อกคงเหลือลดลง

ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 5.20 - 5.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.20 – 7.78 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น

สุกร ราคาอยู่ที่ 78.34 – 78.84 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.66 – 1.31 เนื่องจากความต้องการสุกรมีชีวิตจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีอย่างต่อเนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ประกอบกับคาดว่าความต้องการเนื้อสุกรภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น จากมาตรการวันหยุดเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ

กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 133.25 – 134.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนร้อยละ 0.19 – 0.75 เนื่องจากอากาศที่เริ่มเย็นลงทำให้กุ้งเจริญเติบโตช้า เกษตรกรชะลอการเพาะเลี้ยงตามการแปรปรวนของภูมิอากาศในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล

ในขณะที่ความต้องการของตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการวันหยุดเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการกุ้งเพิ่มขึ้น

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่8,547 - 8,739 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.45 - 3.62 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับผู้นำเข้าข้าวบางส่วนยังคงมีสต็อกข้าวเพียงพอจึงชะลอการนำเข้าข้าว

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 11,180 - 11,433 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 4.20 - 6.31 ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 12,112 - 12,332 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.61 - 3.36

 เนื่องจากการเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลังของประเทศไทย ทำให้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าว โดยคาดว่าผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่ที่จะออกสู่ตลาดเดือนพฤศจิกายน 2563 จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับโรงสียังคงประสบปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ระบายข้าวหอมมะลิออกสู่ตลาดในช่วงนี้เพื่อรองรับข้าวฤดูกาลใหม่

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.39 - 7.42 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50 -1.00 เนื่องจากอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นแรกที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563

เตรียมรับมือ 'ซูเปอร์ไต้ฝุ่นโคนี' จับตา 'สถานการณ์น้ำ' และภาพรวมเขื่อน (1 พ.ย.63)

เตรียมรับมือ "ซูเปอร์ไต้ฝุ่นโคนี" มาอัพเดทสถานการณ์น้ำ-เขื่อน รับมือพายุฝน แต่ละแห่งมีปริมาณน้ำเท่าไร? ขณะนี้มีประเทศไหนที่ประสบภาวะนำ้ท่วมแล้วบ้าง? อัพเดทวันที่ 1 พ.ย.63

ใกล้ไทยเข้ามาเต็มที สำหรับ ซูเปอร์ไต้ฝุ่น "โคนี" ที่ได้รับการจัดอันดับว่า รุนแรงที่สุดในปีนี้ ได้ก่อกำลังเข้าถล่ม ‘ฟิลิปปินส์’ แล้วในเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยคาดว่า จะมีประชาชนเสี่ยงภัยและได้รับผลกระทบสูง 31 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าอ่าวตังเกี๋ย และใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 4 - 5 พ.ย. 2563 โดยหางพายุจะส่งผลกระทบบางพื้นที่ของประเทศไทย

สำหรับ ซูเปอร์ไต้ฝุ่นโคนี เป็นพายุไต้ฝุ่นที่แรงที่สุดในโลกในปีนี้ โดยก่อกำลังแรงขึ้น 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือประมาณ 140 ไมล์ต่อชั่วโมง และลมกระโชกแรงสูงสุด 310 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือ190 ไมล์ต่อชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1พฤศจิกายน 2563) ฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 โดยมีการระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ

ปัจจุบันสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมทั้งหมด 47,536 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% แต่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อนหน้า 2562 ประมาณ 3,061 ล้าน ลบ.ม. ที่มีอยู่ราว 50,597 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67% ของความจุอ่าง โดยขณะนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 23,607 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถรับน้ำได้อีก 28,595 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 12,467 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 50% ของความจุอ่าง โดยเป็นปริมาณที่ใช้การได้ราว 5,771 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของความจุน้ำใช้การ มีปริมาณน้ำระบายอยู่ราว 17.80 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทำให้ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีก 12,404 ล้าน ลบ.ม

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563

จับตาส่งออกปี64 อย่าฟื้นตัวแค่เชิงเทคนิค

ประเทศไทยที่พึงพาการส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพี แต่ปี2563 นี้ ประเมินว่าการส่งออกไทยจะติดลบ หรือ เข้าใจง่ายๆคือรายได้ประเทศติดลบ แต่ประเมินว่า ปี 2564 การส่งออกไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัว แต่จะเป็นการฟื้นตัวแบบไหน

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กำลังเป็นปัญหาปวดหันของทีมเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศ  ประเทศไทยที่พึงพาการส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพี แต่ปี2563 นี้ ประเมินว่าการส่งออกไทยจะติดลบ หรือ เข้าใจง่ายๆคือรายได้ประเทศติดลบ แต่ประเมินว่า ปี 2564 การส่งออกไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัว แต่จะเป็นการฟื้นตัวแบบไหน

สมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ปี2564กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า การส่งออกจะขยายตัว 4% ขณะที่ปี 2563 คาดว่าการส่งออกจะติดลบ 7% หรือ อาจจะต่ำกว่า เนื่องจากทิศทางการส่งออกหลายๆอย่างส่งสัญญาณดีขึ้น เช่น คำสั่งซื้อหลายรายการสินค้ากลับมาที่ไทยด้วยเหตุผลสองอย่าง หนึ่งคือ โลจิสติกส์ไทยไม่ได้ปิด และสองคือ ไทยไม่มีสถานการณ์การติดเชื้อที่ทำให้ต้องหยุดการผลิตสินค้า ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยความมั่นใจกับสถานการณ์การปลอดเชื้อในประเทศซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นเรื่องสุขอนามัยเพิ่มขึ้นด้วย

“การส่งออกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาจากปัจจัยการเติบโตทางเทคนิคที่บอกว่าเมื่อปีก่อนหน้าติดลบอีกปีจะเป็นบวก แต่ต้องมองว่ามูลค่าการส่งออกของไทยปัจจุบันเฉลี่ยที่ 2 แสนล้านดอลลาร์  ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยหลุดจากกรอบชี้ให้เห็นว่าศักยภาพการส่งออกไทยยังดีอยู่มาอย่างต่อเนื่องรวมถึงปี2564ที่จะมาถึงด้วย”

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการส่งออก ม.ค.-ก.ย.2563 มูลค่า 172,996 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.33%  และคาดว่าอีก 3 เดือนจากนี้การส่งออกจะไม่แย่ลงทำให้ประเมินว่าปีนี้ จะติดลบเพียง 7%

ขณะที่การส่งออกของไทยปี 2561 มูลค่า 252,959 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.9% ปี 2562 มูลค่า 246,268 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.64%  ส่วนปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4%  แม้แผนการส่งเสริมการส่งออกปี2564 ที่เดิมจะมีการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์)ช่วงเดือนพ.ย.ของทุกปี นั้นล่าสุดยังไมีมีการประชุมทั้งระบบออนไลน์ และออฟไลน์

สมเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้กรมดำเนินการจัดบิสซิเนส แมชชิ่งในกลุ่มธุรกิจที่เผชิญปัญหาต้นทุนการค้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเด็นการขนส่งและโลจิสติกส์ต่างๆ เบื้องต้นได้ จัดให้บริษัทของไทยจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ,สปป.ลาว,เมียนมา,เวียดนาม) เนื่องจากเอกชนหลายรายมีปัญหาต้นทุนค่าขนส่งทางถนนไปยังตลาดดังกล่าว ดังนั้นการบริหารจัดการฝั่งดีมานด์และซับพลายธุรกิจที่ต้องการขนส่งสินค้าให้สอดคล้องกันจะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์สามารถลดลงได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

“เราทำหน้าที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจได้เจอกันได้คุยกันและถ้าความต้องการตรงกันก็เป็นการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการต้นทุนทางธุรกิจโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ให้มีสัดส่วนที่ลดลงหลังจากที่พบว่าเอกชนหลายรายเผชิญปัญหาต้นทุนการทำธุรกิจด้านต่างๆเพิ่มขึ้น”

ในส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ทางเรือ พบว่าบริษัทเรือไม่ใช่ของคนไทยดังนั้นการต่อรองเรื่องต่างๆดำเนินการได้ยากแต่จะเน้นการเจรจาพร้อมการจัดการฝั่งดีมานด์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ต้นทุนด้านการขนส่งนี้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและรับไม่ ขณะเดียวกันต้องไม่มาเป็นอุปสรรคเพิ่มสำหรับการส่งออกของด้วย ส่วนสาเหตุปัญหามาจากจีนมีความต้องการใช้เรือจำนวนมากทำให้บริษัทเรือส่วนใหญ่หันไปให้บริการที่นั่นมากกว่าเพราะมีโอกาสคุ้มทุนการเดินเรือในแต่ละครั้ง

โดยเมื่อเร็วๆนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรวมผู้ประกอบการไทยด้านโลจิสติกส์ชั้นนำของประเทศกว่า 50 ราย บนเว็บไชต์www.tiloglogistix.com/matching2020พร้อมจับมือสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 แห่งทั่วโลก ดึงผู้ประกอบการต่างชาติร่วมเจรจาการค้า โดยผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วม ประกอบด้วย กลุ่มบรรจุ (Packing) คลังสินค้า (Warehouse & Loading) เทคโนโลยีและนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Logistics IT & E-Logistics) และบริการขนส่งสินค้า (Transportation & Logistics Service Providers) รวมถึง Start up ด้านโลจิสติกส์

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ต้นทุนการขนส่งสินค้าข้าวในขณะนี้สูงขึ้นมาก และพบว่ามีค่าใช้จ่ายแฝงที่จากเดิมไม่ต้องจ่ายก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากบริษัทเรือบางแห่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้หลังประสบปัญหาการระบาดโควิด-19 ทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลง จนทำให้ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเดินเรือระหว่างประเทศลดลง และนำไปสู่การแย่งชิงเรือและพื้นที่ขนส่งในที่สุด

“ต้นทุนการขนส่งที่เเพงขึ้น ก็จะไปบวกกับราคาสินค้าปลายทางซึ่งก็ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยลดลงเพราะเมื่อราคาแพงกว่าคู่แข่งโอกาสสินค้าไทยก็จะลดลง จึงอยากให้ช่วยกันเร่งแก้ปัญหาเพราะแม้จะดูเป็นปัญหาเล็กน้อยแต่อาจกระทบขีดควาสามารถการแข่งขันส่งออกของไทยได้”

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยที่ประชุมหารือถึงเรื่องต้นทุนการขนส่ง เช่น ค่าระวางเรือกับค่าทำเนียมเรือที่มีราคาสูง และที่อาจมีการยกเลิกตู้ที่ประเทศไทยจองไว้หรือที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยบังคับให้ภาคเอกชนหรือผู้ส่งออกต้องไปใช้ท่าเรือชายฝั่ง A0 ซึ่งค่อนข้างคับแคบ ทำให้ติดอุปสรรคที่ต้องการความรวดเร็วการเรียกเก็บค่าการใช้ร่องน้ำ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับภาคเอกชนในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็วต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563