http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนพฤศจิกายน 2565]

 

‘เฉลิมชัย’สั่งกรมชลฯจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำโดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นอันดับแรก เพื่อรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือกว่า 5,382 หน่วย เฝ้าระวังในจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ที่สำคัญได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ

ด้านนายประพิศกล่าวว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูแล้งของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ได้กำหนดพื้นที่เฝ้าระวังอุทกภัยใน 16 จังหวัดภาคใต้ ทั้งหมด 90 จุด พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง รวม 1,189 หน่วย เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้ทันที รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก ตลอดจนดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,845 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 39,896 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 76 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดีขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2565/2566 ทั้งประเทศไปแล้ว 1,659 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 6 ของแผนฯ

จาก https://www.naewna.com/    วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565

ข่าวดี “เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย” ไทยรุ่งเรือง แจ้งโอน วันที่ 28 พ.ย.

ริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด – ศรีเทพ แจ้งข่าวดี  “เงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย”  เบื้องสุดท้าย ปีการผลิต 2564/2565 กำหนดการโอนเงิน วันที่ 28 พ.ย.

บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด – ศรีเทพ โพสต์เฟซบุ๊ค แจ้งข่าวดี ประกาศ สำรองจ่ายเงินค่าอ้อยเบื้องสุดท้าย ประจำปีการผลิต 2564/2565 เนื่องด้วยทาง บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ศรีเทพ ได้เห็นถึงความสำคัญของชาวไร่ในการเตรียมความพร้อมในการนำอ้อยเข้าหีบ  ปีการผลิต 2565/2566 และ ปลูกอ้อยใหม่(ปลายฝน) ในปีการผลิต 2566/2567

ทาง บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด จึงสำรองจ่ายเงินค่าอ้อยเบื้องสุดท้าย 15 บาท / ตัน (ก่อนประกาศไม่รวม C.C.S.) สำรองจ่ายเงินเบื้องสุดท้ายจะโอนเข้า บัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ของชาวไร่ในวันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2565 อย่างไรก็ดี ทางบริษัทมีความจริงใจและขอบคุณชาวไร่ที่สนับสนุนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีตลอดมาและตลอดไป

จากhttps: https://www.thansettakij.com/    วันที่ 26 พ.ย.2565

กระทรวงอุตฯ เผยฤดูหีบอ้อย 2565/66 ราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท

"สุริยะ" มั่นใจฤดูหีบอ้อย 2565/66 ราคาอ้อยไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาทตามราคาโลก เดินหน้าแก้ปมอ้อยไฟไหม้ ตั้งเป้าไม่เกิน 5% ของอ้อยเข้าหีบทั้งหมด คาดผลผลิตฤดูนี้อยู่ที่ 106.96 ล้านตันอ้อย ลุ้นมติกอน.เปิดหีบ1 ธ.ค.65

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ว่า เพื่อจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM2.5 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ฤดูการผลิตปี 2564/65 กรอบวงเงินช่วยเหลือ 8,159 ล้านบาท ล่าสุดจ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว 125,194 ราย วงเงิน 8,103.74 ล้านบาท

สำหรับในฤดูการผลิตปี 2565/66 กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เกษตรกรที่ร่วมมือรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกับปีนี้แน่นอน

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับชาวไร่อ้อยบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ปี 2565 – 67 วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 6,000 ล้านบาท

“แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/66 คาดการณ์ว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท แต่ต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำตาลตลาดโลกด้วย หากรวมพรีเมี่ยมอยู่ที่ประมาณ 20 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้มั่นใจได้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นปีนี้จะมีราคาสูงกว่าตันละ 1,000 บาท แน่นอน” นายสุริยะกล่าว

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คาดการณ์ผลผลิตอ้อยปี 2565/66 ตามมติคณะกรรมการอ้อยอยู่ที่ 106.96 ล้านตันอ้อย พื้นที่ 10.25 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10.44 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2564/65 ซึ่งอยู่ที่ 92.07 ล้านตันอ้อย สำหรับกำหนดวันเปิดหีบต้องรอขอความเห็นชอบจาก กอน.ก่อน

รายงานข่าวจากกอน.แจ้งว่า ขณะนี้กอน.ยังไม่กำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาวันเปิดหีบอ้อย เนื่องจากคณะกรรมการฝ่ายโรงงาน 7 คนลาออกจากกอน.จากปัญหาขัดแย้งเรื่องการเพิ่ม ‘กากอ้อย’ ในคำนิยามผลพลอยได้ของพ.ร.บ.อ้อยฉบับใหม่ หลังจากนี้ต้องติดตามผลเจรจาอีกครั้ง

เบื้องต้นกำหนดเปิดหีบช่วง 1-7 ธันวาคมนี้ จากความพร้อมแต่ละพื้นที่ดังนี้ ภาคเหนือ 22-24 พ.ย. ปริมาณอ้อย 24.58 ล้านตัน ภาคกลาง 25 พฤศจิกายน ปริมาณอ้อย 24.88 ล้านตัน ภาคตะวันออก 1 ธ.ค. ปริมาณอ้อย 6.51 ล้านตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 พ.ย. ปริมาณอ้อย 50.99 ล้านตัน รวมปริมาณอ้อย 106.96 ล้านตัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com/    วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565

ส่งออกนํ้าตาลถึงทางสามแพร่ง โรงงานแจ้งเลิกสัญญา อนท.เตรียมกำหนดราคาเอง

น้ำตาลไทยจ่อปรับใหญ่ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล แจ้งยกเลิก 3 สัญญาส่งมอบ 8 แสนตัน ให้อนท.บริหารส่งออก เตรียมแนวทางปฏิบัติใหม่ตั้ง TSMC เป็นคนจัดสรรโควตา กำหนดราคาขายเองปีผลิตหน้า ขณะ 3 รมต.อ้อยฯ ตื่นดับไฟ เตรียมใช้อำนาจตั้งผู้แทนฝ่าย รง.กลับร่วมกรรมการ กอน.เคลื่อนระบบเดินหน้า

รายงานข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย,สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล) เผยว่า 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ทำหนังสือลงวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ถึงผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เรื่อง สัญญาส่งมอบน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรระหว่างโรงงานน้ำตาลและบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด

สาระสำคัญระบุว่า ตามที่บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และบริษัทโรงงานน้ำตาลทรายได้ร่วมลงนาม “สัญญาส่งมอบน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออกนอกราชอาณาจักรระหว่างโรงงานน้ำตาลและบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด” ตั้งแต่ปี 2561-2565 จำนวน 3 ฉบับ (ฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 ฉบับลงวันที่ 29 มกราคม 2562 และฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2565) นั้น

ล่าสุด 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายได้รับทราบจากโรงงานสมาชิกว่า เนื่องจากการทำสัญญาทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว เป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เรื่อง การจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทราย และอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 15 มกราคม 2561 ซึ่งขณะนี้ประกาศดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นสัญญาทั้ง 3 ฉบับข้างต้น จึงมีสภาพพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติแล้ว

ส่งออกนํ้าตาลถึงทางสามแพร่ง โรงงานแจ้งเลิกสัญญา อนท.เตรียมกำหนดราคาเอง

เตรียมนับ 1 ใหม่ขายผ่าน TSMC

แหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้สัญญาทั้ง 3 ฉบับมีสภาพที่พ้นวิสัยที่ต้องปฏิบัติตามแล้ว แต่ในข้อเท็จจริงสำหรับฤดูการผลิต 2565/2566 โรงงานยังมีข้อผูกพันในการส่งมอบน้ำตาลทรายให้ อนท.จำนวน 8 แสนตันเพื่อใช้ทำราคาและคำนวณราคาน้ำตาลส่งออกอยู่ ซึ่งเวลานี้ อนท.ได้บริหารการจำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าในฤดูหีบอ้อยใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายกับต่างประเทศไปแล้วสัดส่วนมากกว่า 50% ของปริมาณน้ำตาลที่จะส่งออก ดังนั้นทางโรงงานน้ำตาลจึงยังต้องส่งมอบน้ำตาลให้กับ อนท.เพื่อบริหารการส่งออก ไม่ให้เสียชื่อเสียงประเทศ

อย่างไรก็ดีเพื่อเตรียมแนวทางปฏิบัติใหม่ในฤดูการผลิตหน้า (ปีการผลิต 2566/2567) กรณีโรงงานน้ำตาลไม่ต้องส่งน้ำตาลให้กับ อนท.แล้ว ในเบื้องต้นทางโรงงานน้ำตาลได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการกำหนดราคาน้ำตาลทรายดิบเพื่อใช้คำนวณราคาอ้อยโดยวิธีใหม่ สาระสำคัญ คือ 1.โรงงานน้ำตาลจะส่งมอบน้ำตาลทราบดิบ จำนวน 4 แสนตันผ่านบริษัทส่งออกเพื่อมอบหมายให้บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด หรือTSMC (TSMC เป็นสถาบันกลางในการกำหนดนโยบาย และเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของโรงงานน้ำตาลไทยที่มาจากทั้ง 3 สมาคม) ดำเนินการขายน้ำตาลให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการกำหนดราคาขายด้วย ทั้งนี้ TSMC จะเป็นผู้จัดสรรจำนวนน้ำตาลที่ส่งมอบของแต่ละโรงงานตามสัดส่วนผลผลิตให้กับ TSMC เหมือนที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน โดยสรุปคือTSMC จะทำหน้าที่ต่าง ๆ ข้างต้นแทน อนท.

2.บริษัทส่งออกน้ำตาล(ปัจจุบันมี 8 บริษัท)จะเป็นผู้ดำเนินการส่งออกน้ำตาลและรับเงินค่าน้ำตาลแล้วจึงนำส่งโรงงานน้ำตาลหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเหมือนที่เคยปฏิบัติตามปกติ 3.จาก TSMC จะได้รับมอบหมายจากบริษัทส่งออกให้ดำเนินการขายและกำหนดราคาขาย ในการนี้เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการขาย เพื่อให้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งการเปิดประมูลขายน้ำตาลให้กับผู้ซื้อต่างประเทศในนามบริษัทส่งออก, การกำหนดราคาน้ำตาล โดยการส่งคำสั่งขายผ่านไปยังบริษัทส่งออก เพื่อบริษัทส่งออกจะได้ส่งคำสั่งขายดังกล่าวต่อไปยังผู้ซื้อตามสัญญา และกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของรายได้จากการขายน้ำตาลที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯเป็นการล่วงหน้า และ 3.TSMC ทำหน้าที่จัดสรรโดยผ่านทางบริษัทส่งออก ให้โรงงานน้ำตาลทุกโรง (ปัจจุบันเปิดดำเนินการ 57 โรง) ได้รับเงินค่าน้ำตาลเป็นเงินบาท ในราคาเฉลี่ยที่เท่ากันเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่งออกนํ้าตาลถึงทางสามแพร่ง โรงงานแจ้งเลิกสัญญา อนท.เตรียมกำหนดราคาเอง

“แนวทางปฏิบัติใหม่นี้ยังเป็นการหารือและเป็นแนวทางในเบื้องต้น ซึ่งต้องรอดูว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งนี้ถ้าจะทำคงต้องหารือร่วมกันของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายอีกครั้ง คาดจะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้”

อนท.เร่งนักกฎหมายตีความ

ด้าน นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าโรงงานน้ำตาลยังต้องปฏิบัติตามสัญญาในการส่งมอบน้ำตาลทรายดิบจำนวน 8 แสนตันให้กับ อนท.เพื่อใช้ทำราคาและคำนวณราคาส่งออกอยู่ เพราะถือเป็นสัญญาเอกชนกับเอกชน โดย อนท.ถือเป็นบริษัทเอกชน และมีสัญญาซื้อขายน้ำตาลกับโรงงานน้ำตาลที่เป็นเอกชนเช่นกัน ในมุมมองสัญญาทั้ง 3 ฉบับข้างต้นยังมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ได้ประสานให้นักกฎหมายให้ช่วยดูสาระสำคัญของสัญญาและช่วยตีความ ในเบื้องต้นจากที่ได้อ่านสัญญาทั้ง 3 ฉบับ ยอมรับว่ายังตอบยากว่าพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามหรือยัง

“ในจำนวนน้ำตาลทรายดิบ 8 แสนตันที่โรงงานมีสัญญาส่งมอบให้ อนท.เพื่อใช้ทำราคาและคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก และเพื่อใช้คำนวณในระบบการแบ่งผลประโยชน์ ชาวไร่อ้อยกับโรงงาน 70 : 30 ในจำนวนนี้ อนท.มีสิทธิส่งออกผ่านบริษัทส่งออก 4 แสนตัน และอีก 4 แสนตัน จะขายคืนให้โรงงานน้ำตาล”

3 รมต.ลุยตั้งกรรมการเอง

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาลเผยอีกว่า จากที่ผู้แทนฝ่ายโรงงานได้ลาออกจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายหลายชุด เพื่อแสดงการคัดค้านในการนำ “กากอ้อย”เป็นผลพลอยได้ที่ต้องนำมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ที่ใกล้จะมีผลบังคับใช้ และประกาศเดินหน้าสู่ระบบกลไกเสรีที่ภาครัฐไม่ควรเข้ามาแทรกแซง ทำให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบในเวลานี้สะดุดลง ล่าสุดทราบมาว่า 3 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง (อุตสาหกรรม,เกษตรและสหกรณ์,พาณิชย์) จะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อ้อยฯในการแต่งตั้งผู้แทนจากฝ่ายโรงงานบางโรงเข้าไปเป็นคณะกรรมการ กอน.เพื่อที่ กอน.ได้มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฯให้เดินหน้าได้ต่อไป

อนึ่ง บริษัทส่งออกน้ำตาลทราย ณ ปัจจุบันมี 8 บริษัทได้แก่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล จำกัด (บจก.), บจก.แปซิฟิค ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น, บจก.ส่งออกน้ำตาลสยาม, บจก.ที.ไอ.เอส.เอส., บจก.การค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล, บจก.เค.เอส.แอล.เอ็กซ์ปอร์ตเทรดดิ้ง, บจก.เวิลด์ ชูการ์ เอ็กซ์ปอร์ต และ บจก.ร่วมกำลาภเอ็กซ์พอร์ต

 

จาก https://www.thansettakij.com/   วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565