http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2558)

รายงานพิเศษ : พระราชดำริรัชกาลที่5....สู่มรดกชลประทาน ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต

งานชลประทานของประเทศไทย เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการ ขุดลอกคลองขึ้นใหม่ในบริเวณทุ่งราบภาคกลางพร้อมอาคารชลประทานจำนวนมาก โดยเฉพาะการขุดคลองรังสิต ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประชาชนในทุ่งรังสิตและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งด้านการเกษตร การคมนาคม และการอุปโถคบริโภค ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สัมปทานขุดคลองแก่บริษัทเอกชน ชื่อบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ดำเนินการขุดคลองรังสิตเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2433 ในบริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเดิมเรียกว่า ทุ่งหลวง และปัจจุบันเรียกว่า ทุ่งรังสิต โดยขุดคลองสายใหญ่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำนครนายก แล้วสร้างระบบคลองเป็นเครือข่ายติดต่อถึงกัน พร้อมสร้างประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เพื่อควบคุมและจัดการน้ำ

คลองรังสิตนั้น มีชื่อเต็มว่า คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นคลองสายหลักในโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย และยังถือเป็นโครงการคลองชลประทานเพื่อการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทุ่งรังสิต ซึ่งมีพื้นที่ี่ขนาดใหญ่ครอบคลุม 5 จังหวัดคือ จังหวัดปทุมธานี นครนายก กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ให้เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว รองรับการขยายตัวของการส่งออกข้าว จนทำให้ข้าวกลายเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในขณะนั้น

นอกจากคลองรังสิต จะเป็นคลองสายหลักที่ใช้ทั้งด้านการเกษตร การคมนาคม และการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรม พาณิชยกรรม รวมทั้งใช้เป็นคลองส่งน้ำ และคลองระบายน้ำ โดยมีประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ได้ทำหน้าที่ในการควบคุมและจัดการน้ำ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์ยาวนานมากกว่า 100 ปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อครั้งเกิดมหาอุทกภัยในปี 2554 ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ทำหน้าที่ในการควบคุมและจัดการน้ำไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เมื่อปี 2555 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งการก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม และการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่ ทำให้ในปัจจุบันสามารถระบายน้ำได้ถึง 144 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นปริมาณน้ำ 12.44 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน

โครงการประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต ถือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาลและยาวนาน ในการประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) ภาคพื้นยุโรปครั้งที่ 26 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 66 ที่จัดขึ้น ณ เมืองมงต์เปลิเย่ร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมประกวดอาคารชลประทาน หรือ Heritage Irrigation Structures ( HIS ) เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางชลประทานด้วย กรมชลประทานได้เสนอ โครงการประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต ส่งเข้าประกวดด้วย

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย(THAICID) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ส่งอาคารชลประทานจำนวน 3 โครงการ เพื่อชิงรางวัล HIS ดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต ซึ่งจุดเด่นที่เป็นโครงการอายุมากกว่า 100 ปี ที่ยังมีการใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนอีก 2 โครงการอาคารชลประทานที่ส่งเข้าประกวด คือ โครงการลำเหมืองมหัศจรรย์ จ.น่าน เป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นทางลำเลียงน้ำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และ โครงการระหัดวิดน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีจุดเด่นคือ ใช้ภูมิปัญญาในสมัยก่อนคิดวิธีใช้พลังงานธรรมชาติในการยกระดับน้ำเข้าแปลงเกษตร

“ผลการตัดสินปรากฏว่า โครงการประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิตได้รับรางวัล ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชลประทาน

โดยนายสาธิต มณีผาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านจัดสรรน้ำ พร้อมด้วยคณะเป็นตัวแทนผู้รับมอบโล่รางวัลจาก ICID ส่วนอีก 2 โครงการอาคารชลประทานแม้จะไม่ได้รับรางวัลขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางชลประทาน แต่ก็ยังเป็นโครงการชลประทานที่ยังใช้ประโยชน์ได้จนถึงปัจจุบันเช่นเดียวกัน” เลขาธิการTHAICID กล่าว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากการขุดคลองรังสิต พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์แล้ว ยังได้มีการขุดคลองขึ้นมากมาย เป็นยุคที่มีการขุดคลองมากที่สุดก็ว่าได้ โดยพระองค์ทรงส่งเสริมให้หน่วยราชการและเอกชนขุดคลองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งขุดคลองใหม่และขุดลอกคลองเก่า เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกและเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดข้างเคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ และเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวออกสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น คลองเปรมประชากร คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลจร คลองราชมนตรี คลองทวีวัฒนา คลองนราภิรมย์ คลองประปา เป็นต้น จนทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “เวนิสตะวันออก”

กรมชลประทาน ในฐานะที่รับผิดชอบประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต ได้มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ และคลองรังสิต อย่างต่อเนื่อง นอกจากสามารถระบายน้ำได้สูงสุดถึงวันละ 12.44 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วยังสามารถสูบน้ำได้สองทิศทางทั้งสูบเข้าและสูบออก ทำให้นอกจากจะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างได้แล้ว ยังสามารถการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ได้อีกด้วย

ในส่วนของคลองรังสิตประยูรศักดิ์ รวมทั้งคลองสาขาต่างๆ กรมชลประทานได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำ “โครงการคลองสวย น้ำใส ร่วมใจกำจัดวัชพืชทุ่งหลวงรังสิต” เพื่อแก้ไขปัญหาวัชพืชในทุ่งรังสิตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้เนื่องจากตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ทุ่งรังสิตประสบปัญหาวัชพืชทางน้ำแพร่กระจายอย่างหนาแน่น เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีหลัง ที่วัชพืชและผักตบชวาได้สร้างปัญหากีดขวางทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำไม่ดี รวมถึงการส่งน้ำไปเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ก็ติดขัด ซึ่งโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อยู่อาศัยของราษฎรโดยรอบมากกว่า 200,000 ครัวเรือน

หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลรักษา “ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต” มรดกชลประทาน ที่เกิดจากพระราชดำริรัชกาลที่ 5 ก็จะสามารถใช้งาน สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน....แน่นอน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 30 ตุลาคม 2558

พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ดันไทยแกร่งจาก'ภายใน'

'นโยบาย “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้างอยู่นั้น เริ่มเห็นความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าอีกไม่นาน...เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับสมบูรณ์ตามความตั้งใจของรัฐบาล

เขตเศรษฐกิจพิเศษ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เศรษฐกิจ มาตรา 44 การวางรากฐานของเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตไปด้วยความยั่งยืน หนีไม่พ้นต้องหันมาสร้างเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่ง เพื่อเป็นเกราะกำบังสารพันวิกฤติจากภายนอกที่คอยถาโถมเข้ามาเรื่อย ๆ และหนึ่งในแนวทางสร้างเกราะกำบัง ที่รัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กำลังพยายามปั้นอยู่คือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่ล่าสุดได้เป็นรูปเป็นร่างเรียบร้อยแล้ว

ด้วยการประกาศกำหนดพื้นที่ที่ต้องใช้พัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย และก่อร่างสร้างนโยบายดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จจนจับต้องได้ในสัปดาห์นี้ “ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” ขอนำรายละเอียดของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่ มานำเสนอเพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้อ่านอย่างละเอียด ว่าแต่ละพื้นที่นั้นครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโอกาสต่อไป...

ม.44 แปลงพื้นที่เป็นของรัฐสำหรับการกำหนดเขตพื้นที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ล่าสุดได้ออกประกาศมาแล้วระยะแรกรวม 5 จุด กินพื้นที่กว่า 2,932 ตร.กม. หรือคิดเป็น 1,832,480 ไร่ โดยพื้นที่แต่ละแห่ง มีทั้งพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ทหาร และพื้นที่สาธารณประโยชน์ของกระทรวงมหาดไทย ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ และที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

ล่าสุดนายกฯได้ใช้ “โอสถทิพย์” คือใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ให้นำพื้นที่ทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ทันที เพื่อให้ปัญหาการกำหนดเขตที่ดินนั้นหมดไปเรื่องนี้นายกฯ ได้ปรารภอยู่เสมอว่า เรื่องการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้แม้มีปัญหาผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเคยประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณนั้น แต่ให้ถือว่าเป็นการจัดระเบียบไปด้วยในตัว เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกบุกรุกทั้งสิ้น

ดังนั้นเวลาที่รัฐดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยขอคืนพื้นที่มาใช้ประโยชน์ ก็สามารถทำได้ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าได้ทำผิดกฎหมายก็ตาม ซึ่งตอนนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไปหาแนวทางช่วยเหลือให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนพื้นที่ระยะแรก 1.83 ล้านไร่เขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรกกว่า 1,832,480 ไร่

ที่ประกาศออกมานั้น แบ่งออกเป็นพื้นที่ในจังหวัดตาก พื้นที่รวม 886,875 ไร่ รวม 14 ตำบลใน 3 อำเภอ เริ่มจาก 3 ตำบลในอำเภอแม่ระมาด คือ ตำบลขะเนจื๊อ ตำบลระมาด และตำบลแม่จะเรา ต่อมาเป็น อำเภอแม่สอด มี 8 ตำบล เริ่มจาก ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่ปะ ตำบลท่าสายลวด ตำบลแม่สอด ตำบลแม่ตาว ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กุ และตำบลมหาวัน สุดท้ายคืออำเภอพบพระ มี 3 ตำบล คือ ตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ และตำบลวาเลย์จังหวัดมุกดาหาร 361,542.5 ไร่ รวม 11 ตำบลใน 3 อำเภอ เริ่มจาก อำเภอหว้านใหญ่ 4 ตำบล คือ ตำบลปงขาม ตำบลหว้านใหญ่ ตำบลชะโนด และตำบลบางทรายน้อย อำเภอเมืองมุกดาหาร 5 ตำบล คือ ตำบลบางทรายใหญ่ ตำบลมุกดาหาร ตำบลศรีบุญเรือง ตำบลคำอาฮวน และตำบลนาสีนวน สุดท้ายคือ อำเภอดอนตาล มี 2 ตำบล คือ ตำบลโพธิ์ไทร และตำบลดอนตาลจังหวัดสระแก้ว 207,500 ไร่ รวม 4 ตำบล ใน 2 อำเภอ เริ่มจากอำเภอวัฒนานคร มี 1 ตำบล คือ ตำบลผักขะ และอำเภออรัญประเทศ มี 3 ตำบล คือ ตำบลบ้านด่าน ตำบลป่าไร่ และตำบลท่าข้าม ,จังหวัดตราด 31,375 ไร่ รวม 3 ตำบล ใน 1 อำเภอ คือ อำเภอคลองใหญ่ เริ่มจาก ตำบลไม้รูด ตำบลคลองใหญ่ และตำบลหาดเล็ก และจังหวัดสงขลา 345,187.5 ไร่ รวม 4 ตำบล ใน 1 อำเภอ คืออำเภอสะเดา เริ่มจาก ตำบลปาดังเบซาร์ ตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม และตำบลสำนักแต้ว

ขณะที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในระยะที่ 2 แต่รัฐบาลได้ยกระดับและประกาศให้เข้ามาอยู่ในระยะแรกด้วยนั้น ก็มีพื้นที่รวมกว่า 13 ตำบล ใน 2 อำเภอ เริ่มจาก 12 ตำบลในอำเภอเมืองหนองคาย เริ่มจากตำบลค่ายบกหวาน ตำบลในเมือง ตำบลบ้านเดื่อ ตำบลพระธาตุบังพวน ตำบลโพธิ์ขัย ตำบลโพนสว่าง ตำบลมีชัย ตำบลเวียงคุก ตำบลสีกาย ตำบลหนองกอมเกาะ ตำบลหาดคำ และตำบลหินโงม และอำเภอสระใคร มี 1 ตำบล คือ ตำบลสระใครเผยค่าเช่าที่ดินเบื้องต้น

สำหรับอัตราค่าเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านที่ดินได้มีการเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ กนพ.พิจารณาเบื้องต้นแล้ว ได้แก่ ที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสงขลา มีราคาที่ดินเปล่าอยู่ที่ไร่ละ 40,000 บาทต่อปี

ส่วนที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาวางโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคพร้อมแล้วอยู่ที่ไร่ละ 220,000 บาทต่อปี, ที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ดินเปล่าค่าเช่าไร่ละ 36,000 บาทต่อปี ที่ดินนิคมฯ ไร่ละ 160,000 บาทต่อปีด้านที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษอำเภออรัญ ประเทศ จังหวัดสระแก้ว ราคาค่าเช่าที่ดินเปล่าไร่ละ 32,000 บาทต่อปี ที่ดินในนิคมฯไร่ละ 160,000 บาทต่อปี, ที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ที่ดินเปล่าไร่ละ 24,000 บาทต่อปี ที่ดินในนิคมฯ ไร่ละ 125,000 บาทต่อปี ที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดหนองคาย จะเปิดให้เช่าเฉพาะที่ดินเปล่าราคาค่าเช่าที่ไร่ละ 24,000 บาทต่อปี โดยที่ในนิคมฯ จะมีเอกชนเป็นผู้พัฒนาและกำหนดราคาค่าเช่ายังไม่โดนใจเอกชนอย่างไรก็ตามอัตราค่าเช่าที่ออกมา

ล่าสุด... ยังไม่โดนใจเอกชนมากนัก นายกฯ จึงมอบหมายให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ไปหาข้อสรุปที่โดนใจอีกครั้งกับกระทรวงการคลัง มหาดไทย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และภาคเอกชน พร้อมทั้งดูโปรโมชั่นอื่น ๆ เช่น ค่าแรกเข้าที่ต้องจ่ายในช่วงที่ต้องเข้ามาลงทุนด้วยว่า จะเป็นอย่างไรจากนี้คงได้เห็นภาพแล้วว่า นโยบาย “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่รัฐบาลกำลังเร่งสร้างอยู่นั้น เริ่มเห็นความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและเชื่อว่าอีกไม่นาน...เขตเศรษฐกิจพิเศษฉบับสมบูรณ์ตามความตั้งใจของรัฐบาลคงน่าจะบรรลุผล เพื่อปูทางไปสู่การสร้างเศรษฐกิจภายในให้แข็งแกร่งต่อไป!.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม 2558

“สมคิด” สั่งปฏิรูป 6 ด้าน ศก.

 “อภิศักดิ์” เจ้าภาพทำแผนเอื้อต่างชาติลงทุน เสร็จก่อนสิ้นปี

“สมคิด” สั่งงานกระทรวงการคลัง ปฏิรูปงาน 6 ด้าน ทั้งภาษี บริการลงทุน สร้างอำนาจแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ พัฒนาตลาดเงิน-ทุน ช่วยธุรกิจเพื่อสังคม ทำแผนเสร็จก่อนสิ้นปี นำชี้แจงต่างชาติ หวังเวิลด์แบงก์ขยับอันดับไทยดีขึ้น

 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มอีก

ดังนั้น ในเฟส 2 รัฐบาลจึงเน้นการทำงานด้านการปฏิรูปผ่านหน่วยงานต่างๆ จึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงการคลังเร่งดำเนินการ 6 ด้าน ประกอบด้วย

1.การปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ยืนยันไม่ให้กระทบต่อคนจน

2.การอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนกับภาคธุรกิจ หลังจากไทยถูกลดอันดับการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจจากธนาคารโลกจากอันดับ 47 ไปอยู่อันดับ 49 เนื่องจากประเทศอื่นเร่งปรับปรุงแก้ไข จึงมีอันดับดีขึ้น โดยวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อการอำนวยความสะดวกนักธุรกิจชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีรับทราบว่ามีแผนดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ซึ่งหวังว่าปีหน้าจะได้รับการทบทวนอันดับดีขึ้น 3.กลุ่มงานพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำการศึกษาแนวทางดึงดูดการลงทุนผ่านกองทุนนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการร่วมลงทุน ทั้งคนไทยและต่างประเทศ 4.กลุ่มปฏิรูปตลาดเงิน ตลาดทุน โดย สศค.ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ศึกษาแนวทางพัฒนาตลาดการเงินให้มีมาตรฐานสากล ทั้งตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนในการปรับปรุงแก้ไข 5.การปฏิรูปกลุ่มงานด้านสินทรัพย์โดยกรมธนารักษ์ เพื่อนำทรัพย์สินมาหาประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มในที่ดินทำเลที่สำคัญ เช่น พัฒนาในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน โดยกำชับ สคร.ดูแลกรรมการตัวแทนจากกระทรวงการคลังให้ทำหน้าที่เหมือนกับเจ้าของผู้ถือหุ้น ไม่ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจทำงานแบบไม่มีจุดหมาย และ 6.กลุ่มงานด้านการคลังเพื่อสังคม เพื่อดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมการช่วยเหลือทางสังคมมากขึ้น

นายสมคิด กล่าวต่อว่า เมื่อมาตรการทุกด้านมีความชัดเจนจะเริ่มนำไปชี้แจงกับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเวทีการประชุม Asia Economic Forum ช่วงเดือน พ.ย.นี้จะมีการหารือการปฏิรูปด้านต่างๆ ด้วย

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างประเทศจะใช้ระบบ Scoring ด้วยการนำข้อมูลของเอสเอ็มอีใส่ในระบบ เมื่อระบบบอกว่าผ่านก็จะให้สินเชื่อได้ ทำให้เกิดความรวดเร็ว ขณะที่ของไทยระบบบัญชีของเอสเอ็มอียังไม่มีมาตรฐาน หากนำมาใส่ระบบแล้วจะไม่เกิดผล แบงก์ของไทยจึงต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังมีแนวทางดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบบัญชีมาตรฐาน จึงคาดว่าแนวทางระบบ Scoring จะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาประจำปี Boost Up เศรษฐกิจไทยด้วยพลังเอสเอ็มอี จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น เป็นแผนระยะ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 59-63

โดยแผนนี้จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรระบบเซมิออโตเมชั่นมาใช้ช่วยปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ลดต้นทุนลง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ คาดว่าจะนำเสนอแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างพิจารณาต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็ออกมาตรการสนับสุนน เอสเอ็มอี ด้านการเงินการคลัง เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอีรายที่มีปัญหาเพื่อประคับประคองให้อยู่ต่อไปได้

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม 2558

อุตฯ เตรียมแผน8มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร

ผู้ว่าฯ อุตรดิตถ์ เตรียมวางแผน 8 มาตรการหลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 ด้าน ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เผยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยมากปีนี้แล้งหนักสุดในรอบ 40 ปี

อุตรดิตถ์ 2 นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะหัวหน้าทีมประเทศไทยจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ได้ชี้แจงถึงมาตรการหลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรมีแนวทาง 8 มาตรการ ดังนี้ 1.การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้การอบรมอาชีพ กระทรวงพาณิชย์ จะจัดสินค้าที่จำเป็นจำหน่ายในราคาพิเศษ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร 2.การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3.การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4.การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7.การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8.การสนับสนุนอื่นๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ พ.ศ.2556 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธ.ก.ส.) จัดทำแผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คาดการณ์สถานการณ์ และสถานภาพน้ำ

ด้าน ดร.สุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) เปิดเผยถึงข้อมูลสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ว่า การทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงปีนี้ถือว่าวิกฤติภัยแล้งรุนแรงมากในรอบ 40 ปี เนื่องจากมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยมาก ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 141.11 เมตร รทก. ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 4,852.46 ล้านลูกบาศก์เมตร (51.02%) สามารถรับน้ำได้อีก 4,657.54 ล้านลูกบาศก์เมตร (48.98%) ปริมาณน้ำพร้อมใช้งาน 2,002.46 ล้านลูกบาศก์เมตร (30.07%) เมื่อเทียบกันกับปริมาณน้ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจุบันมีน้ำน้อยกว่า 1,108.3 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำ 3.5 ล้าน ลบ.ม./วัน

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม 2558

ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เผยปริมาณน้ำเหลือใช้งานได้เพียง 30 % หลังฝนตกเข้าเขื่อนน้อย

ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ เผยปริมาณน้ำเหลือใช้งานได้เพียง 30 % หลังฝนตกเข้าเขื่อนน้อย พร้อมเร่งชี้แจงแนวทาง 8 มาตรการหลักช่วยเหลือเกษตรกร วอน ปชช. ใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ด้านประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ กำหนด 3 มาตรการ รับสถานการณ์ภัยแล้ง แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง หันไปเลี้ยงสัตว์น้ำอื่นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อป้องกันความเสียหาย

     วันที่ 30 ตุลาคม นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์(อขส.) ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ว่า ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำทำนาในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อทราบถึงปริมาณน้ำต้นทุน และ กำหนดแนวทาง 8 มาตรการหลักสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 โดยปีนี้ถือว่าวิกฤติภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด เพราะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อยมาก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 4,900.65 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 51.53 เหลือน้ำพร้อมใช้งาน 2,050.65 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็นร้อยละ 30.79

     ทั้งนี้เขื่อนสิริกิติ์ ได้ระบายน้ำตามแผนของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน คณะกรรมการ ฯ จึงได้มีแผนการระบายน้ำตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558 จะระบายน้ำวันละ 5.0 ล้านลูกบาศก์เมตร วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ระบายน้ำวันละ 8.0 ล้านลูกบาศก์เมตร แม้ว่าปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันของเขื่อนทั้ง 4 แห่ง จะมีปริมาณน้ำมากกว่าเป้าที่ได้ตั้งไว้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก สามารถจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และ รักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ได้ เนื่องจากปีนี้ฝนไม่ตกบริเวณเหนือเขื่อนส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างไม่มากนัก

     อย่างไรก็ตาม จึงขอให้เกษตรกรพิจารณางดการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำสูง ตลอดจนขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงได้ในอนาคต

     ด้านนายสังวาล ดูระยับ รักษาการแทนประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงปลาในกระชัง 511 ราย รวมกว่า 6,900 กระชัง มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งได้กำหนดมาตรการรับสถานการณ์ภัยแล้งไว้ 3 แนวทาง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดอุตรดิตถ์ หลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ 1.การแจ้งเตือนภัยเกษตรกร โดยกำหนดรูปแบบการเลี้ยงที่สอดคล้องกับระดับน้ำ 2.การให้คำแนะนำด้านวิชาการ และ 3.การวางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยต้องลด หรืองดการเลี้ยงสัตว์นำในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่สันดอน โดยเกษตรกรอาจหันไปเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย เช่น กบ ปลาดุก ปลาหมอ เป็นต้น

     นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดแนวทางป้องกันความเสียหายจากสภาวะภัยแล้งไว้ 6 แนวทาง ได้แก่ จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค ปรับสภาพดินและคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงปลา งดเว้นการรบกวนสัตว์น้ำและขนย้ายสัตว์น้ำในบ่อ ทำร่มเงาให้สัตว์น้ำเข้าพักและป้องกันการระเหยของน้ำบางส่วน ลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำ และ แจ้งความเสียหายเพื่อรับความช่วยเหลือต่อไป

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 30 ตุลาคม 2558

รับภัยแล้งลุกลามหนักทั่วประเทศ วอนดื่มให้หมดขวดประหยัดทุกหยด

29 ต.ค. 58 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมรามากาเดนส์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการประชุมสัมมนา เรื่อง"นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2559"โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดทั้ง17 กรมจากทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งในข่วงเช้านายสุเทพ น้อยไพโรจน์ ว่าที่อธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำว่าจากการประเมินปริมาณน้ำในปีนี้จะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย20-25%ขณะนี้พื้นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประสบภาวะวิฤกติน้ำน้อย โดยมีน้ำใช้การได้รวมทั้ง4 เขื่อน คาดว่าจะได้น้ำไม่เกิน 4,250 ล้านลบ.ม.จึงจำเป็นต้องมีแผนบริหารจัดการให้ชัดเจน ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่สามารถจัดสรรเพื่อการเกษตรได้ ซี่งต้องกันไว้เพื่ออุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ และ ผลักดันน้ำทะเลเท่านั้น โดยให้เจ้าหน้าที่เร่งชี้แจงกับเกษตรกร หากเกษตรกรเชื่อฟังจะไม่มีปัญหาเหมือนที่ปี57 ที่มีปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าระบบปะปา ซึ่งขอให้ประชาชนดื่มน้ำให้หมดขวดหมดแก้ว อย่าทิ้งน้ำเพราะทุกหยดถ้าประหยัดได้ ลดการปล่อยมาจากเขื่อน ซึ่งถึงเวลาที่ทุกคนต้องประหยัดน้ำกันจริงๆ

นายสุเทพ กล่าวถึงปริมาณน้ำท่าในปีนี้ ทางกรมชลประทาน จะปล่อยน้ำเฉพาะรักษาระบบนิเวศน์เท่านั้น ซึ่งมีบางพื้นที่อาจไม่มีน้ำลอยกระทง ยอมรับว่ามีหลายจังหวัดได้ทำเรื่องขอน้ำเข้าพื้นที่เพราะลำคลองบางแห่งน้ำแห้งแล้ว ซึ่งกรมชลฯทำได้แค่ปล่อยน้ำในระดับนอนคลอง และได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่มีจำกัดจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ในเขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่งัด ปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่สามารถปล่อยให้การเกษตรได้เลย จะปล่อยเฉพาะน้ำปะปาเท่านั้น ในขณะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องมีการควบคุมการใช้น้ำอย่างประหยัด โดยต้องปลูกพืชใช้น้ำน้อย แม้ว่าน้ำในเขื่อนบางเขื่อน เช่นเขื่อนลำพระเพลิง จะเก็บน้ำได้มากขึ้นแต่ในภาพรวมค่อนข้างน่าเป็นห่วง ในส่วนภาคตะวันตก ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นต้องลงไปชี้แจงปรับเปลี่ยนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย แทนการปลูกข้าวที่ใช้น้ำมาก

สำหรับปริมาณน้ำในลุ่มเจ้าพระยา เป็นน้ำใช้การได้ 4,250 ล้านลบ.ม. ซึ่งจัดสรรในฤดูแล้งปี2558/2559 เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,100 ล้านลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ1,400 ล้านลบ.ม. จะคงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพื่อการเกษตรในลุ่มเจ้าพระยา 400 ล้านลบ.ม.โดยจะใช้สนับสนุนพืชไร่ เช่นอ้อย จำนวน372,485 ไร่ และไม้ผล จำนวน354,385 ไร่ โดยสำรองน้ำไว้ปีหน้าสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ 1,350 ล้านลบ.ม.

ทั้งนี้มีปริมาณน้ำล่าสุดในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นน้ำใช้การได้ 640 ล้านลบ.ม. เขื่อนภูมิพล 1,170 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 2,060 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 380 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่าง ส่วนในลุ่มแม่กลอง มีปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นน้ำใช้การได้ 2,200 ล้านลบ.ม. เขื่อนศรีนครินทร์ 2,980 ล้านลบ.ม. รวม 5,213 ล้านลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 39

ด้านนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่ากำชับเจ้าหน้าที่ทุกกรมเมื่อลงไปชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจแล้วไม่ใช่จบแค่นั้น เพราะปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิฤกติภัยแล้งระดับชาติ และตั้งระดับจังหวัดด้วย เป็นวอร์รูมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ตลอดฤดูแล้งช่วง6 เดือน โดยตั้งเป็นทีมประเทศไทย ทุกกระทรวงทำงานร่วมกับท้องถิ่น ติดตามสถานการณ์วิฤกติภัยแล้งระดับชาติ และตั้งเป็น"ทีมประเทศไทย" ที่มีทุกกระทรวงเกี่ยวข้อง ในการลงพื้นที่ และ ต้องลงพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรนำมาตรการ8 ด้านของรัฐบาล ไปช่วยให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา22 จ.มีภาวะวิฤกติมากที่สุด

ขณะที่นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าการทำงานแก้วิฤกติภัยแล้งครั้งนี้ เป็นรูปแบบทีมประเทศไทย โดยทุกกระทรวง มาทำงานร่วมกันทั้งหมดจนถึงระดับท้องถิ่น ทำแผนชุมชน ตามมาตรการที่4 โดยการทำแผนเริ่มตั้งแต่วันที่2พ.ย.-2ธ.ค. เพื่อให้พื้นที่แต่ตำบลคัดเลือกโครงการขึ้นมาของบ ซึ่งมี7,125 ตำบล จะทำแผนเสนอมาจังหวัด พิจารณาเห็นชอบแผน รวมกรอบวงเงินเสนอครม.ประมาณเดือนมกราคม ปี59 และจัดงบลงพื้นที่ ตามความจำเป็นเหมาะสมแต่โครงการ เป็นงบปลายเปิด โดยเริ่มโครงการได้ ประมาณกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ปีหน้า ครอบคลุมพื้นที่กระทบแล้งทั่วประเทศ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ตุลาคม 2558

เร่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตร ดันสู้ตลาดโลกลูกค้าไทย-เทศยอมรับ

 นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)กล่าวว่า เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างขีดความสามารถการแข่งขันให้สินค้าเกษตรไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และขยายช่องทางการค้าทั้งในประเทศ ระดับภูมิภาคอาเซียนหรือเออีซี และตลาดโลก ปี 2559 มกอช.มีแผนเร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ตรงความต้องการของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น ทั้งมุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ในการผลิตได้จริง โดยตั้งเป้าจัดทำมาตรฐานเพิ่มจากเดิมที่ได้ประกาศใช้มาตรฐานทั่วไปแล้ว 250 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานสินค้า 96 เรื่อง มาตรฐานระบบการผลิต 120 เรื่อง และมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป 34 เรื่อง ในปีนี้จะจัดทำมาตรฐานทั่วไปเพิ่มอีก 19 เรื่อง อาทิ พริก กากมันสำปะหลัง GAP เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไร่ GAP ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำจืด

ขณะเดียวกันยังเร่งประกาศบังคับใช้มาตรฐานบังคับ 2 เรื่องคือ หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน และเตรียมประกาศใช้มาตรฐานบังคับ 2 เรื่อง ได้แก่ การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ GAP ฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไม เพื่อช่วยสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขโรคตายด่วน หรือ EMS ในกุ้งทางหนึ่ง ทั้งยังเร่งจัดทำมาตรฐานบังคับเพิ่มอีก 1 เรื่องคือ การปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดีสำหรับท่าเทียบเรือประมง สะพานปลา แพปลา และตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำ

นอกจากนั้นมกอช.ยังมีแผนสนับสนุนการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ เร่งส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ มุ่งผลักดันให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ เข้าสู่การรับรองมาตรฐานทั้งแบบกลุ่มหรือแบบเดี่ยวตามความเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดสูงขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการเชื่อมโยงการผลิตสินค้าเกษตรด้วยระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยใช้KasetQRCode เป็นเครื่องมือสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการ SME และรายใหญ่ เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่าย มีรายได้

 เพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า Q ได้หลายช่องทางมากขึ้น

ปีนี้ มกอช.ยังมุ่งขับเคลื่อนนโยบายด้านเกษตรอินทรีย์โดยเน้นจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย ให้ครอบคลุมทั้งพืชอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ และสัตว์น้ำอินทรีย์ ขณะเดียวกันยังร่วมกับกรมการข้าว กรมปศุสัตว์กรมวิชาการเกษตร และกรมประมง ผลักดันให้เกษตรกรพัฒนาระบบการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สินค้าที่ได้รับการรับรองสามารถใช้เครื่องหมาย “Organic Thailand” ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มสมรรถนะการแข่งขันและขยายโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มกอช.ยังเข้าร่วมกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาเซียน

นางสาวดุจเดือนกล่าวด้วยว่า มกอช.มีแผนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเจรจาเปิดตลาดและแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่มีปัญหากับประเทศคู่ค้า อาทิ กฎระเบียบย่อยภายใต้กฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารฉบับใหม่ หรือ FSMA ของสหรัฐ 7 ฉบับ เร่งเจรจากับเวียดนามแก้ปัญหาระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าผลไม้ไทย และติดตามกฎระเบียบต่างๆ เช่น IUU ฉลากสินค้าของสหรัฐ พร้อมบูรณาการการทำงานด่านสินค้าเกษตร และหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบรับรองการนำเข้า-ส่งออก

นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มสินค้าพืชสวนและอาหาร ซึ่งอาเซียนประกาศรับรองแล้ว 40 เรื่อง ประกอบด้วย มาตรฐานผลไม้ 20 มาตรฐาน ผัก 16 มาตรฐาน และพืชอื่นๆ 4 มาตรฐาน คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการค้าสินค้าเกษตรระหว่างอาเซียน และผลักดันให้สินค้าอาเซียนเข้าตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอนาคต

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 29 ตุลาคม 2558

รมว.อุตฯเร่งตั้งคณะกรรมการคลัสเตอร์

รัฐมนตรีอุตสาหกรรม เร่งตั้งคณะกรรมการคลัสเตอร์หวังขับเคลื่อนตามเป้าหมาย พร้อมเร่งทำแผน Productivity ก่อนชง กอช. เตรียมหารือนายกฯ เสนอแนวทางแก้ปัญหาอุปสรรคดำเนินธุรกิจ 9 พ.ย.

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างจัดทำแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (Productivity) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2563 โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้นและช่วยลดต้นทุนลง ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) อยู่ระหว่างจัดทำ และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างให้พิจารณาต่อไป ขณะที่การส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยมีคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรก รวม 6 กลุ่มอุตสาหกรรมนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารทุกคลัสเตอร์เป้าหมาย ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการรายคลัสเตอรทั้ง 6 อุตสาหกรรม และอีก 1 คณะอนุกรรมการบริหารจัดการ ที่จะดึงตัวแทนจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มซูเปอร์คลัสเตอร์ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดนี้จะตั้งได้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนกรณีที่ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ หรือ Doing Business ของไทยมาอยู่ที่อันดับ 49 จากปีก่อนที่อันดับ 46 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเรียกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทั้งหมดเข้าหารือในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย การปรับลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยลดขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบให้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนานำเอาระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาตด้วย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 29 ตุลาคม 2558

"สมคิด" แจงส่งออกไทย 9 เดือนดีขึ้น ติดลบน้อยเป็นอันดับ 4 ของประเทศผู้นำส่งออก

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การส่งออกปีนี้ ทั้งโลกติดลบเกิน -10% เทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ 9 เดือนที่ผ่านมา ส่งออกของไทยอยู่ที่ -4% ถือว่าดีกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็น TOP Exporter ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 4 ดังนั้น จึงไม่อยากให้เข้าใจว่าการส่งออกแย่ เพราะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่เชื่อมั่น

"ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้ต้องติดลบแน่นอน เพราะมุมมองมันไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเทียบปีนี้กับปีที่แล้ว เดือนต่อเดือน แต่ความสำคัญไม่ใช่เทียบแบบนี้ ต้องดูตั้งแต่ต้นปีมาว่า เป็นอย่างไรขึ้นมา ซึ่งต้นปี ม.ค.-ก.พ. มูลค่าส่งออกอยู่แค่ 16-17 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้อยู่ที่เกือบ 19 พันล้านเหรียญสหรัฐ แล้วถ้าเอาพวกทองคำ หรืออะไรออกไป ก็จะติดลบแค่ -3% ถือว่าพัฒนาดีขึ้นอย่างชัดเจน" นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ตนบอกได้เลยว่า ส่งออกเดือน ต.ค. จะติดลบมากแน่นอน ถ้าเทียบปีต่อปี เพราะปีที่แล้วมูลค่าส่งออกสูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงต้องดูพัฒนาการเป็นสำคัญ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 ตุลาคม 2558

ก.แรงงาน จับมือ ก.ไอซีที เร่งสำรวจข้อมูลแรงงานเด็กฯ เชื่ออ้อยถูกปลดออกสินค้าห้ามนำเข้าสหรัฐ

ก.แรงงาน จับมือ ก.ไอซีที เร่งดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานการณ์แรงงานเด็กในประเทศไทย รักษาระดับที่มีความสำเร็จมาก กรณี สหรัฐฯ ประเมินให้ไทยแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก เชื่อ ปลดอ้อยเป็นสินค้าแรกจาก 5 รายการที่สหรัฐขึ้นบัญชีฯ ด้าน "เลขารัฐมนตรีแรงงาน" เผย สถานการณ์แรงงานเด็กเป็นเรื่องระดับประเทศ ทุกภาคส่วนร่วมมือแก้ไขปัญหาให้เป็นผลงานประเทศชาติ

พลโท จารุวุฒิ ศิระพลานนท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อพิจารณาถึงความร่วมมือในการดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานการณ์แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทย ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี 2 ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ตามที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาประเมินให้ประเทศไทยมีการดำเนินการภายในประเทศปี 2557 เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก อยู่ในระดับที่มีความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ซึ่งมีเพียง 13 ประเทศ จาก 140 ประเทศที่ผ่านการประเมินในระดับที่มีความสำเร็จมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องหารือเพื่อรักษามาตรฐานการดำเนินงานดังกล่าวเอาไว้

"เรื่องสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กเป็นเรื่องระดับประเทศ มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศ เพราะฉะนั้นในการดำเนินการใดก็ตาม ต้องเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อให้เป็นผลงานของประเทศชาติ" เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าว

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในรายงานการประเมินผลของปี 2557 ดังกล่าวมีเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องจัดทำรายงานผลการสำรวจสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กเพื่อไม่ให้มีผลต่อการถูกปรับลดระดับลง ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นที่ยอมรับจากประเทศไทยและนานาชาติได้เข้ามาช่วยทำงานร่วมกันเพื่อให้ประเทศไทยได้รับการปลดออกจากการถูกขึ้นบัญชีเนื่องมาจากประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ในสินค้า 5 ประเภท ประกอบด้วย กุ้ง อ้อย ปลา เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามกเกี่ยวกับเด็ก ดังนั้นถ้าเราสามารถปลดล็อคสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น

นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผลการสำรวจสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย นอกจากจะตอบโจทย์รายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาแล้ว เป้าหมายจากนั้นคือสามารถปลดสินค้าอ้อยที่กระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริการะบุว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ เพื่อจะรายงานผลการประเมินอีกครั้งภายในเดือนพฤษภาคม 2559 ต่อไป

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 29 ตุลาคม 2558

พลังงานเตรียมซ้อมแผนรองรับวิกฤติด้านไฟฟ้า

กระทรวงพลังงาน จับมือ กฟผ.-กฟน.-กฟภ. ฝึกซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมทบทวน-ปรับปรุงแผนให้มีมาตรฐานสากล

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการจัดทำแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งมีการทบทวนและปรับปรุงแผนให้มีมาตรฐานสากลและมีความทันสมัยอยู่เสมอ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ การฝึกซ้อมจึงเป็นการเสริมสร้างความชำนาญให้กับผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นในปีที่ผ่านมา โดยได้ส่งบุคลากรจาก 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) เข้ารับการอบรมการบริหารจัดการสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้ากับการไฟฟ้าประเทศฝรั่งเศส ภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างบริหารและจัดการในสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน : ด้านการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้าตามมาตรฐานสากล เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในสายงานและนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาใช้พัฒนาการบริหารจัดการสภาวะวิกฤติของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลต่อไปรวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีผลต่อระบบไฟฟ้าของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า ปี 2558 นี้ มีความเข้มข้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะได้มีการนำโปรแกรมจำลองระบบไฟฟ้าบางส่วนของประเทศไทย มาใช้ในการฝึกซ้อมสถานการณ์สมมุติด้านวิกฤติไฟฟ้า

โดยได้จำลอง 2 เหตุการณ์ คือ 1)กรณีอุบติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศลาว ส่งผลกระทบระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายจังหวัด 2)วิกฤติการส่งจ่ายก๊าซธรรมชาติรอบกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อมได้มีการพัฒนาการตัดสินใจและทักษะการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และที่พิเศษกว่านั้นคือการฝึกซ้อมแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า ในปีนี้ ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้าประเทศฝรั่งเศส ในการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า และการบริหารจัดการสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้า มาร่วมสังเกตการณ์และประเมินการฝึกซ้อมพร้อมทั้งให้คำแนะนำหลังการฝึกซ้อม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาแผนรองรับสภาวะวิกฤติด้านพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเป็นสากลต่อไปในอนาคต

“การฝึกซ้อมในครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์ คือ System Operator ผู้ที่ดูแลระบบหากเกิดวิกฤติสามารถดำเนินได้ตามกฎระเบียบขั้นตอนที่วางไว้ และเป็นการพัฒนาบุคลากร เพื่อเสริมสร้างทักษะผู้ดูแลให้มีความชำนาญมากขึ้น โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นหลักของภูมิภาคอาเซียนต่อไป เพื่อรองรับระบบโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid, APG) ในอนาคต ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ในการพัฒนาพลังงานของประเทศ ให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และจัดหาพลังงานให้เพียงพอ"นายทวารัฐ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'บิ๊กฉัตร'ยันน้ำมีพอใช้ตลอดแล้ง สั่งกรมชลฯรายงานทุกครั้งก่อนระบาย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เปิดเผยถึงปริมาณน้ำว่า ล่าสุดมีน้ำใช้การได้ 4.2 พันล้านลบ.ม. ยอมรับว่าตนเป็นห่วงการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน อยากให้บริหารน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในสถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ตนได้สั่งการกรมชลฯ ว่าการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ ให้รายงานตรงต่อตนทุกครั้ง ก่อนที่จะระบายน้ำแต่ละครั้งเพื่อให้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด และตนขอยืนยันว่าปริมาณน้ำกินน้ำใช้ รักษาระบบนิเวศน์ มีเพียงพอตลอดฤดูแล้งแน่นอน

"วันนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งชาวบ้านได้รับการชี้แจงแล้ว 2 แสนราย ใน 22 จังหวัด รวมทั้งให้ทราบถึงมาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือ 8 มาตรการที่เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง จะสามารถอยู่ได้ช่วงนี้ มีการแจกพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชใช้น้ำน้อย อย่างไรก็ตามขณะนี้เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่ายังทำภาระกิจไม่จบ ต้องถามอีกรอบเกษตรกรมีความเข้าใจอย่างไรเพื่อนำมาแก้ไข สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2 ล้านไร่ เกษตรกรอาจรับความเสี่ยง แต่จะพยายามจัดสรรปริมาณน้ำที่เหลือ 700 กว่าล้านลบ.ม. ให้ทั่วถึงทุกกลุ่มพืชเพื่อให้อยู่รอดได้ถึงเก็บเกี่ยว" รมว.เกษตรฯ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำจะได้ 4.3 พันล้านลบ.ม. ยังไม่เพียงพอกับการเกษตร ซึ่งการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน โดยมีกระทรวงมหาดไทยลงไปด้วย ทำให้เกษตรกรมีความเข้าใจมากขึ้น หากเกิดภัยพิบัติเป็นปัญหาภัยแล้ง ประกาศเป็นพื้นที่วิฤกติภัยแล้ง จะช่วยเหลือตามระบบกระทรวงการคลัง

"เราเข้าใจดีว่าเกษตรกรเองมีความหวังอยากได้ผลผลิต ต้องยอมรับความเสี่ยงเอง วันนี้ได้เข้าไปทำความเข้าใจครบ 100% แล้ว เพราะทางราชการไม่มีสิทธิไปห้ามชาวนาปลูกข้าว โดยจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงเกษตรกร ให้เข้าใจการจัดโซนนิ่งปลูกพืชชัดเจนไป พร้อมกับตั้ง 882 ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรให้ครบวงจรว่าในพื้นที่เขาควรทำอะไร ซี่งเป็นพื้นฐานข้อมูลมีความสำคัญให้เกิดภายในสามเดือนนี้ ทั้งมาตรการลดต้นทุน การเพิ่มโอกาสแข่งขัน  สามารถทำไปพร้อมกันได้ต่อเนื่องจะเกิดการปรับโครงสร้างเกษตรไปด้วยทั้งระบบ" รมว.เกษตรฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แผนการบริหารจัดการน้ำ

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลป์ยะ  รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแลง พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย” ซึ่งจัดโดยสภาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ว่านโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาล ในปี 2558-2569 นับเป็นแผนจัดการน้ำที่สมบูรณ์ที่สุด

โดยได้จัดสรรงบประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบปกติของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำของประเทศ โดยเน้นการบูรณาการตามแผนน้ำรวมทั้งการพิจารณาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างแผนงานและงบประมาณ ใน 6 ด้าน คือ 1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2560 ทุกหมู่บ้านจะต้องมีน้ำอุปโภคบริโภค  เป็นประปาหมู่บ้าน 7,490 แห่ง ประปาโรงเรียน  6,132 แห่ง  2. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรม 3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. การจัดการคุณภาพน้ำ 5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ

สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการของกระทรวงเกษตรฯ ในการเตรียมการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งแรก วันที่ 9 ต.ค.58 ซึ่งเป็นวันแรกที่กระทรวงเกษตรฯ ส่งทีมสร้างความเข้าใจใน 8 มาตรการที่รัฐบาลจะนำมาช่วยเหลือตรงกับความต้องการของประชาชน ประกอบด้วย การส่งเสริมความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ,ชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน

การสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร, การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง, การเพิ่มประสิทธิภาพน้ำต้นทุน, การเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กองทุนฟื้นฟูฯสนองนโยบายรัฐ คืนความสุขให้เกษตรกรครั้งที่2

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงที่มาโครงการ “คืนความสุขให้เกษตรกรไทยคืนที่ดินทำกินให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ครั้งที่ ว่า ปัจจุบันกองทุนชำระหนี้แทนเกษตรกรแล้ว 28,524 ราย เป็นเงิน 5,823,856,102.41 บาท แยกเป็นสถาบันเจ้าหนี้ ได้แก่ ธ.ก.ส. 3,337 ราย ธนาคารพาณิชย์ 3,130 ราย นิติบุคคล 600 รายสหกรณ์ 21,049 ราย และหนี้ NPA 458 ราย และตามพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2544 มาตรา 37/9 วรรคสอง เมื่อกองทุนรับภาระชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ของเกษตรกรตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ทรัพย์สินของเกษตรกรที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ตกเป็นของกองทุน และเกษตรกรจะได้รับทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุนโดยการเช่าซื้อ หรือซื้อตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืนไปจากกองทุน และดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของเกษตรกรที่ตกเป็นของกองทุน พ.ศ. 2553

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกษตรกรสมาชิกกองทุนฯที่ได้รับการชำระหนี้แทนจากกองทุนฯ ได้ชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาและขอไถ่ถอนหลักประกันคืน ซึ่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯได้คืนหลักประกันไปบ้างแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยดำเนินงานต่อเนื่องจากครั้งที่ผ่านมา เพื่อสานภารกิจให้บรรลุตามเป้าหมาย ซึ่งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯตระหนักว่าการรักษาที่ดินทำกินให้เกษตรกรเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จตามเจตนารมณ์ เพราะยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ต้องการหลักประกันคืน จึงจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อแจ้งให้เกษตรกรสมาชิกที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นตามสัญญาทราบถึงขั้นตอนวิธีการขอไถ่ถอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันคืน และได้รับหลักประกันคืนจากกองทุน เป็นการประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อรณรงค์ให้สมาชิกที่ได้รับการชำระหนี้แทนจากกองทุนที่มีความรับผิดชอบต่อการชำระหนี้คืนกองทุนให้เสร็จสิ้นตามสัญญา และประเด็นสำคัญที่สุดคือ สำนักงานมีความภูมิใจที่สามารถรักษาที่ดินทำกินของเกษตรกรส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

โดยการจัดงานคืนความสุขให้เกษตรกรไทยฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมไชยยงค์ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นการคืนหลักประกันให้เกษตรกรสมาชิกครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกคืนที่ดินไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาครั้งนี้เกษตรกรสมาชิกสมาชิกยื่นความจำนงขอหลักประกันคืน และมีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวข้างต้น 130 ราย แต่วันนี้เป็นตัวแทนมารับมอบหลักประกันคืน 50 ราย จำนวนที่ดิน 68 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ 326 ไร่ 3 งาน 84.5 ตารางวา สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การแก้ปัญหาไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร

จาก http://www.naewna.com วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประเทศกำลังพัฒนาก้าวสู่ Consumer Economy ไม่ง่าย

การค้าโลกในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงซบเซา สังเกตได้จากก่อนวิกฤต แฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2552 มูลค่าการค้าโลกขยายตัวมากกว่าเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกราว 3-5 เท่า แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าจีดีพีโลก โดยในปี 2555-2557 จีดีพีโลกขยายตัวเฉลี่ย 3.4% ขณะที่มูลค่าการค้าโลกขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1% ต่อปี

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพารายได้จากการส่งออกในสัดส่วนสูงได้รับผลกระทบอย่างมากและมีส่วนทำให้ประเทศเกิดใหม่หลายประเทศนำโดยจีนมีแนวคิดที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจโดยหันมาเน้นการบริโภคในประเทศ (Consumption-Led Growth) แทนการส่งออก (Export-Led Growth) มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศที่มีความผันผวน โดยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

แม้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีชนชั้นกลางมากขึ้นนับเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ที่ช่วยให้การบริโภคเติบโตได้มาก แต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบเพื่อให้การบริโภคในประเทศกลายมาเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจถือเป็น "โจทย์ที่ไม่ง่าย" และต้องใช้เวลา เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่

1.การพึ่งพาภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม "ต่ำ" ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่พึ่งพาภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ส่งผลให้รายได้ต่อหัวอยู่ในระดับต่ำ นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวสู่สังคมแห่งการบริโภค ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพาภาคการผลิตและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ส่งผลให้รายได้ต่อหัวสูงและการบริโภคเพิ่มขึ้นแท้จริงในระยะยาว โดยไม่ต้องอาศัยการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นอย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายใช้อยู่ในปัจจุบัน

2.อัตราการออมสูงระบบสวัสดิการสังคมของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังด้อยคุณภาพและไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องออมเงินเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาลและใช้จ่ายหลังเกษียณในสัดส่วนที่สูง เห็นได้จากอัตราการออมต่อ GDP ของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึง 2 เท่า นอกจากนี้ การที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้การบริโภคชะลอลง

3.ระบบการเงินขาดการพัฒนา ทำให้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อการบริโภคและการลงทุนได้ยาก โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่และเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ประกอบกับตลาดเงินตลาดทุนของหลายประเทศยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งประชาชนขาดความรู้เรื่องการลงทุนในสินทรัพย์อื่นนอกเหนือจากการฝากเงินซึ่งให้ผลตอบแทนต่ำ ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนทำให้ประชาชนขาดโอกาสในการเพิ่มรายได้เพื่อใช้บริโภคในอนาคต

และ 4.กำลังซื้ออ่อนไหว เนื่องจากหลายประเทศเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ทำให้ค่าเงินซึ่งแสดงถึงอำนาจซื้อของประชาชนผันผวนจากปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่นในปัจจุบันที่ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาอ่อนค่ามาก หลังสหรัฐทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนทำให้การบริโภคของประเทศกำลังพัฒนาชะลอลง

ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการบริโภคภาคเอกชนต่อจีดีพีของประเทศเศรษฐกิจใหม่ อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในภูมิภาคแอฟริกามีสัดส่วนเกิน 60% แต่เนื่องจากภาคการผลิตยังมุ่งเน้นเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก หรืออาจเป็นเพียงการผลิตเพื่อส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นหรือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเท่านั้น ทำให้ประชากรยังมีรายได้ต่อหัวไม่สูง พอที่จะใช้การบริโภคเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปที่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจพัฒนาจนประชากรมีรายได้ต่อหัวสูง ทำให้มีการบริโภคมากขึ้นและกลายเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้สำเร็จ ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าจะเติบโตอย่างยั่งยืนเสมอไป สังเกตได้จากบทเรียนวิกฤต Hamburger ในสหรัฐซึ่งเกิดจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อสนองการบริโภคที่เกินตัวของชาวอเมริกัน ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนสูงเป็นเท่าตัวของ GDP นอกจากนี้ หลายประเทศในยุโรปที่มีระบบสวัสดิการสังคมดีเยี่ยมได้กดดันให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นกว่า 100% ต่อ GDP จนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมาถึงปัจจุบัน

 ดังนั้น แม้เศรษฐกิจการบริโภคจะช่วยลดความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกได้ระดับหนึ่ง แต่หากผู้บริโภคในประเทศขาดวินัยในการใช้จ่าย และรัฐบาลขาดการใช้นโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจจะกลายเป็นสังคมบริโภคนิยมแทนที่จะเป็นสังคมบริโภคที่มีคุณภาพ ซึ่งอาจนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวได้เช่นกัน

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สศท.4 ศึกษาพบ 8.2 ล้านไร่ ไม่เหมาะทำนา มีผลหันมาปลูกอ้อยโรงงานแทน

นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในปี 2557 ไทยมีผลผลิตข้าวที่เกินความต้องการตลาดอยู่ที่ 5.371 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด โดยไทยมีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวอยู่ 11.223 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 77.267 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.52 โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า มีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมากที่สุดถึง 8.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 จากพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมทั้งประเทศ

นางราตรีกล่าวต่อว่า สศท.4 ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน รวม 323 คน ในปีการเพาะปลูก 2556/57 ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงาน ได้แก่ จำนวนแรงงานดูแลรักษา จำนวนแรงงานเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ปลูกอ้อย ค่าปุ๋ย ต้นทุน และผลตอบแทน ตามลำดับ โดยได้พบว่า การปลูกอ้อยโรงงาน เกษตรกรต้องใช้แรงงานในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรไม่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยโรงงาน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยโรงงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องส่งเสริมให้ความรู้หรือฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงานให้แก่เกษตรกร

นอกจากนี้ นางราตรีกล่าวว่า ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยแก่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย และควรจัดหาหรือขายพันธุ์อ้อยโรงงานราคาถูกให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่ต้องการลงทุนปลูกอ้อยโรงงาน โดยประสานงานให้โรงงานน้ำตาลรับซื้อผลผลิตอ้อยโรงงานจากเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานในราคาดีเพื่อจูงใจ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยมากยิ่งขึ้น

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม 2558 

สศท.4 ศึกษาปัจจัยการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม สู่การปลูกอ้อยโรงงาน ใน จ.ขอนแก่น

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 เผยผลศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวหันปลูกอ้อยโรงงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ปีเพาะปลูก 56/57 ระบุ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร คือ จำนวนแรงงานเป็นส่วนใหญ่ แนะ การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทดแทนแรงงานและการให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงาน จะเป็นปัจจัยให้เกษตรกรหันปลูกอ้อยโรงงานมากขึ้น

          นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในปี 2557 ไทยมีผลผลิตข้าวที่เกินความต้องการตลาดอยู่ที่ 5.371 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของผลผลิตข้าวทั้งหมด โดยไทยมีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวอยู่ 11.223 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 77.267 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 14.52 โดยในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า มีพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมากที่สุดถึง 8.2 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 จากพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมทั้งประเทศ

          สศท.4 ได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงานพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน รวม 323 คน ในปีการเพาะปลูก 2556/57 ซึ่งผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกรในการเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวไปปลูกอ้อยโรงงาน ได้แก่ จำนวนแรงงานดูแลรักษา จำนวนแรงงานเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ปลูกอ้อย ค่าปุ๋ย ต้นทุน และผลตอบแทน ตามลำดับ โดยได้พบว่า การปลูกอ้อยโรงงาน เกษตรกรต้องใช้แรงงานในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรไม่ตัดสินใจเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยโรงงาน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยโรงงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องส่งเสริมให้ความรู้หรือฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกอ้อยโรงงานให้แก่เกษตรกร

          นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการซื้อปุ๋ย และควรจัดหาหรือขายพันธุ์อ้อยโรงงานราคาถูกให้แก่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรที่ต้องการลงทุนปลูกอ้อยโรงงาน โดยประสานงานให้โรงงานน้ำตาลรับซื้อผลผลิตอ้อยโรงงานจากเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนมาปลูกอ้อยโรงงานในราคาดีเพื่อจูงใจ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวมาปลูกอ้อยมากยิ่งขึ้น นางราตรี กล่าวทิ้งท้าย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

'บิ๊กฉัตร'คืนโฉนดเกษตรกร222 คาดปี59ต้องเพิ่มอีก1.2หมื่นคน

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯได้มอบโฉนดที่ดินให้กับเกษตรกรจากที่มีการผ่อนชำระหนี้สินผ่านกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร ในกรณีที่กองทุนฟื้นฟูฯ ไปซื้อหนี้จากธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เกษตรกรที่อยู่ในขั้นตอนการถูกฟ้องยึดทรัพย์ในโครงการ"คืนความสุขให้กับเกษตรกรไทย คืนที่ดินทำกินให้สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรครั้งที่2" ที่สำนักงานปฎิรูปที่ดิน

โดยพล.อ.ฉัตรชัย กล่าวภายหลังว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นการคืนโฉนดที่ดินให้กับเกษตรกรที่นำไปจำนองกับธนาคาร ครั้งนี้มีเกษตรกรที่มีการผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนทั้งหมด222 รายจากทั้งหมด2.8 หมื่นรายที่เข้าโครงการ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเกษตรกรขอเข้าโครงการผ่อนชำระหนี้โดยผ่านกองทุนฟื้นฟู กว่า 5 แสนราย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถจัดการได้เบื้องต้นเพียง 2.8 หมื่นราย ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะขยายโครงการให้เกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอีก 1.2 หมื่นราย โดยใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งในการมอบโฉนดครั้งนี้ ตนได้ย้ำกับเกษตรกรได้รับคืนโฉนดจากนี้ไปให้รู้จักหลักการออมเงิน และการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สินเหมือนในอดีต

ขณะเดียวกันขอให้เกษตรกรน้อมนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ไม่มีหนี้สินในระยะยาว อย่างไรก็ตามหนี้สินเกษตรกรในส่วนที่เป็นหนี้เสีย(เอ็นพีแอล)ในขณะนี้ทางกองทุนฟื้นฟูฯได้เข้าเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อเข้าหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ หรือขายทอดตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุดให้สามารถกลับเข้าไปประกอบอาชีพในที่ทำกินของตนเองได้อีกครั้ง ตนได้เร่งรัดให้ทุกงานที่เกี่ยวข้องดูแลเข้าไปช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดและจากนี้ไปอยากให้เกษตรกรใช้จ่ายอย่างประหยัดด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ครม.ไฟเขียว "สุเทพ น้อยไพโรจน์" นั่งอธิบดีกรมชลฯ -เด้ง 4 รองอธิบดีกระทรวงเกษตรฯ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 6 ราย ดังนี้ 1. นางวิมลพร ธิติศักดิ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 2. นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์เหล่าวิชยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 3. นายสุรพล จารุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4. นางกุลรัศมิ์ อนันต์พงษ์สุข รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 5. นางนฤมล พนาวงศ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 6. นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมชลประทาน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

นอกจากนี้ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ตั้งธง"สถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค"17แห่ง เสร็จปี63

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นการศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบการบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ครั้งที่ 2 ว่า

โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการทบทวนและศึกษาความเป็นไปได้ การคาดการณ์ปริมาณการขนส่งสินค้าและเส้นทางการขนส่งสินค้า รูปแบบการลงทุนและการบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและจังหวัดที่จะมีการดำเนินการก่อสร้าง 17 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย สถานีขนส่งสินค้าในจังหวัดชายแดน 9 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา และนราธิวาสและเมืองหลักอีก 8 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคทั้ง 17 แห่ง แล้วเสร็จภายในปี 2563

นายจิรุตม์ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเร่งผลักดันโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนน และเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ประกอบกับรองรับการเปิดเสรีตามกรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียนและการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC รวมถึงสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนขึ้นในหลายพื้นที่ อันจะส่งผลให้จังหวัดชายแดนกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดในส่วนภูมิภาคด้วย

ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีสถานีขนส่งสินค้าจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งสินค้าร่มเกล้า เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และสถานีขนส่งสินค้าคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมขนถ่ายและกระจายสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดังนั้นการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดพื้นที่เป้าหมายนั้น จะทำหน้าที่เป็นศูนย์เชื่อมต่อและเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายสินค้าในส่วนภูมิภาคที่สำคัญ

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 27 ตุลาคม 2558

“สุวิทย์”เผยจัดทัพทูตพาณิชย์เสร็จต้นพ.ย.นี้ พร้อมเริ่มลุยเจาะอาเซียน และ 50 เมืองสำคัญ 

         “สุวิทย์”เผยจัดทัพทูตพาณิชย์ ดึงคนเก่งดูแลตลาดอาเซียนเสร็จต้นพ.ย.นี้ พร้อมเดินแผนเจาะตลาดอาเซียนเชิงลึก และตลาดสำคัญ 50 เมืองของโลกได้ทันที ระบุทูตพาณิชย์ต้องลงไปเคาะประตูบ้าน ขายสินค้า และรับคำสั่งซื้อส่งต่อให้ผู้ส่งออกไทย คิวต่อไปนำ CEO กลุ่มอาหาร อัญมณี สุขภาพ พบนายกฯ ก่อนประชุมบอร์ดส่งออก แก้ปัญหาข้ามกระทรวง

               นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดทัพทูตพาณิชย์ตามยุทธศาสตร์การเจาะลึกอาเซียน (Deepening ASEAN) โดยปรับเปลี่ยนนำทูตพาณิชย์ที่เก่งที่สุดมาประจำอยู่ในอาเซียน 9 ประเทศ คาดว่าในช่วงต้นเดือนพ.ย.2558 น่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้แผนการบุกเจาะตลาดอาเซียนทำได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดอาเซียนในฐานะตลาดส่งออกอันดับ 1 และยังเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

               ทั้งนี้ หลังจากปรับทัพทูตพาณิชย์ จะมีการดำเนินการตามแผนการบุกเจาะตลาดเชิงลึก มุ่งเน้นตลาดเมืองสำคัญ 50 เมืองของโลก และ 50 เมืองของอาเซียน โดยทูตพาณิชย์จะต้องเข้าไปสำรวจว่าแต่ละเมือง มีโอกาสสำหรับสินค้าและบริการของไทยอย่างไร แล้วทำแผนในการบุกเจาะตลาด

               “ต่อไปทูตพาณิชย์จะทำหน้าที่เป็น Backstopping หรือเป็นหน่วยงานสนับสนุนที่จะไปหาตลาด ตรวจสอบความต้องการของตลาด และส่งคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ตนเองประจำอยู่มายังผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มยอดการส่งออกให้กับสินค้าไทยได้”นายสุวิทย์กล่าว

               นายสุวิทย์กล่าวว่า สำหรับการเร่งผลักดันการส่งออกในระยะสั้น กระทรวงฯ จะมุ่งการเปิดตลาดใหม่ และเน้นการผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่ยังเติบโตได้ โดยจะจัดคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปยังตลาดการค้าการลงทุนในหลายประเทศที่เศรษฐกิจยังเติบโตในอัตราสูง เช่น CLMV โดยจะเริ่มต้นจากกัมพูชาต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และตลาดใหม่ที่ยังมีความสด เช่น อิหร่าน เป็นต้น

               ส่วนการแก้ไขปัญหาการส่งออกและผลักดันการส่งออกอย่างเร่งด่วน กระทรวงฯ มีแผนที่จะนำ CEO กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่ม Wellness (สุขภาพ ความงาม อายุรเวช) เป็นต้น เข้าพบปะหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมมือกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และผลักดันการส่งออก หลังจากที่ได้เชิญ CEO กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เข้าพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีมาแล้ว

               นอกจากนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการส่งออกที่มีหลายกระทรวงเข้าเกี่ยวข้อง และปรับโครงสร้างการส่งออกทั้งระบบอย่างบูรณาการ

               นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า การส่งออกในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) ทำได้ 161,563 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.98% ซึ่งแม้จะไม่ดีนัก แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าเอาตัวรอดไปได้ เพราะหากเทียบการส่งออกกับประเทศที่เป็น Top 20 ประเทศผู้ส่งออกใหญ่สุดของโลก ซึ่งมีตัวเลขส่งออก 8 เดือน พบว่า การส่งออกของไทยถือว่าติดลบน้อยกว่าหลายประเทศ โดยรัสเซีย ลบ 30.7% ออสเตรเลีย ลบ 21.8% นิวซีแลนด์ ลบ 17.6% อินเดีย ลบ 15.3% สิงคโปร์ ลบ 14% ญี่ปุ่น ลบ9.2% เกาหลีใต้ ลบ 9.0% สหรัฐฯ ลบ 6.1%

                อย่างไรก็ตาม พบว่า แม้มูลค่าส่งออกจะลดลง แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดคู่ค้าทุกประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย ออสเตรเลีย ชิลี แอฟริกาใต้ และรัสเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความต้องการสินค้าไทยยังคงมีเพิ่มขึ้น

จาก http://manager.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

เทคโนฯปลูกอ้อย'4แถว1ร่อง' ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต30ตันต่อไร่

ทำมาหากิน : เทคโนฯ ปลูกอ้อย '4 แถว 1 ร่อง' ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต 30 ตันต่อไร่ : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

                      แนวคิดการปลูกอ้อยแบบ 4 แถวต่อ 1 ร่องที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาด้วยระบบน้ำหยอด ที่สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้ 30 ตันต่อไร่ โดยเสถียร มาเจริญรุ่งเรือง เกษตรกรหัวก้าวหน้า อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี มาปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของแผนกวิชาช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี นอกจากเป็นองค์ความรู้ให้นักศึกษาแล้วยังเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในพื้นที่ให้มีการพัฒนาการปลูกแบบไม่รอฝน นำเครื่องจักรกลมาใช้แทนแรงงานคนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี

                      “ในหลักสูตรนอกจากเราจะสอนทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ก็ยังมีปราชญ์ชาวบ้านหรือเกษตรกรแกนนำในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในสาขานั้นๆ มาให้ความรู้กับนักศึกษาเราด้วย อย่างคุณเสถียร ก็มาแนะนำวิธีการปลูกอ้อย 4 แถว 1 ร่องให้ได้ผลผลิต 30 ตันต่อไร่”

                      อ.ชลิต บัวอุไร หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี กล่าวถึงหลักสูตรการปลูกอ้อยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญขอคนเมืองกาญจน์ที่ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี ซึ่งได้รับความสนใจของจากนักศึกษาเป็นจำนวนมากในแต่ละปีการศึกษา

                      อ.ชลิต เผยว่าการผลิตอ้อยในฟาร์มอ้อยของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรีจะอยู่ในแผนกพืชศาสตร์ แต่ในส่วนวิชาช่างกลเกษตรจะสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการที่เครื่องจักรกลทางการเกษตรกรเริ่มจากการวางแผนเตรียมดิน การไถดิน โดยเครื่องปลูกอ้อย ซึ่งมีทั้งมีเครื่องปลูกอ้อยชนิด 1 ร่อง 4 แถวและ 1 ร่อง 2 แถว ซึ่งในกระบวนการผลูกนั้นจะให้นักศึกษาร่วมกับคนงานฝึกการปฏิบัติการปลูก พร้อมการดูแลจนกระทั่งการเก็บเกี่ยว

                      หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลเกษตรระบุอีกว่าทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตอ้อยจะใช้เครื่องจักรทางการเกษตรเพื่อลดต้นทุนทางด้านแรงงานและอุปกรณ์เครื่องจักรเหล่านี้ก็เป็นของวิทยาลัย ยกเว้นเครื่องเก็บเกี่ยวอ้อยจะเป็นของโรงงานน้ำตาลราชบุรีที่เป็นผู้รับซื้อผลผลิต เนื่องจากมูลค่าเครื่องจักรเก็บเกี่ยวผลผลิตมีมูลค่าสูง

                      “แปลงปลูกมีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ จะเป็นแปลงทดลองเพื่อการศึกษา ทำให้มีรูปแบบการปลูกที่หลากหลาย ต้นพันธุ์จะใช้ขอนแก่น3 เพราะทนแล้งได้ดี เหมาะกับพื้นที่เมืองกาญจน์ ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลาประมาณ 8 เดือนและจะตัดอย่างน้อย 3 ครั้งบางแปลงถ้าดูแลดีหน่อยก็ถึง 5 ครั้ง”

                      ขณะที่ รศ.ดร.ศักดา อินทรวิชัย ผู้จัดการโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาการปลูกพืชเศรษฐกิจกล่าวในระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาระดมความคิดเห็นเกษตรกรแกนนำผู้ปลูกอ้อยจากทั่วประเทศในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาการปลูกพืชเศรษฐกิจที่จ.กาญจนบุรี โดยระบุว่าอ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดที่สร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกร ดังนั้นการมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

                      “วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรีเป็นอีกสถาบันการศึกษาในเครือข่ายของเราเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกอ้อยให้กับเกษตรกรในเครือข่าย ก่อนจะได้รับใบรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพตามที่ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพกำหนด" ผู้จัดการโครงการเผย

                      การปลูกอ้อยแบบ 4 แถว 1 ร่อง นับเป็นอีกเทคโนโลยีการปลูกที่มาจากประสบการณ์และภูมิปัญญาของเกษตรกรก่อนจะมาทดลองในแปลงปลูกในสถาบันการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ปักหมุดตั้งนิคมกำจัด

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการใช้พื้นที่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ที่เหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาและขอใช้พื้นที่ของทหารแล้วไม่สำเร็จ โดยพื้นที่ภาคกลางและปริมณฑล และภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาคตะวันตกจะเชื่อมกับพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมต่อไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)กนอ.จึงเห็นว่าพ้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม โดยพื้นที่ที่จะมีความเป็นไปได้มากที่สุด จะต้องเป็นพื้นที่ของภาคเอกชน จึงได้ร่วมกับบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ศึกษาหาพื้นที่ใน 3 ภูมิภาค ว่าควรเป็นจังหวัดใด โดยเบื้องต้นจะเน้นการนำขยะหรือของเสียจากนิคมบริการมาบริหารจัดการเพื่อผิตเป็นกระแสไฟฟ้าเป็นหลักก่อน

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะอันตราย 2.4 ล้านตัน จากขยะทั้งหมดที่มี 30 ล้านตัน ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าหมายนำขยะเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้อง 1.2 ล้านตันต่อปี ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 1 ล้านตัน โดยมีปริมาณขยะที่อยู่ระหว่างการแจ้งเพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดอีก 800,000 ตัน และขยะอันตรายที่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมเข้าสู่ระบบกำจัดอีก 200,000 ตัน

          ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)กล่าวว่า การเลือกพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าคาดว่าจะมีแผนออกมาชัดเจนภายใน 2 ปี โดยแต่ละพื้นที่ควรห่างจากแหล่งรับซื้อกากขยะอุตสาหกรรมไม่เกิน 100 กิโลเมตร เพื่อสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบกากขยะที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปริมาณขยะ 10 ตันต่อวัน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

คลังชงครม.เร่งลงทุนเว้นภาษีค่าสร้าง'รง.'ซื้อเครื่องจักร-อุปกรณ์ส่งออกก.ย.ลบอีก5.5%   

          บิ๊กตู่-ทีม ศก.รัฐบาลพบซีอีโอบริษัทยักษ์รถยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ บิ๊กค่ายมิตซูฯหนุนกระตุ้นในประเทศ เรียกร้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ส่งออก ก.ย.ลบอีก 5.51%

          'บิ๊กตู่'เปิดนายกฯพบซีอีโอ

          เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พบปะกับภาคเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ ตามกำหนดการ "Prime Minister meet CEOs" ครั้งที่ 1 ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ได้แก่ มิตซูบิชิ มอเตอร์สและบริษัท ออโต อัลไลแอนซ์ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท เอชจีเอสที บริษัท ซีเกต (เทคโนโลยี) บริษัท มิตซูบิชิ อิเลกทริกส์ คอนซูเมอร์ บริษัท ไทย ซัมซุง อีเลกทริกส์

          บิ๊กค่ายรถหนุนกระตุ้นในปท.

          ภายหลังการหารือ พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ว่า นายมอริคาซุ ชอกกิ (Morikazu Chokki) ประธานบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ระบุว่าบริษัทให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยเป็นลำดับสองรองจากญี่ปุ่นในด้านการผลิต และในปีนี้มีแผนขยายการลงทุนอีก 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ ในภาคการเกษตรและเอสเอ็มอี จึงอยากให้พิจารณาส่งเสริมภาคการเงิน เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนในส่วนภูมิภาคมีกำลังซื้อน้อยลง นายกฯจึงมอบหมายให้นายสมคิดนำเรื่องนี้ไปพิจารณา โดยกำชับว่าต้องไม่เป็นการสร้างความต้องการเทียม ซึ่งเป็นการบิดเบือนตลาดและต้องไม่เป็นการเพิ่มหนี้ในครัวเรือนให้กับประชาชนมากเกินไป

          พล.ต.วีรชนกล่าวว่า นายกฯยังกล่าวถึงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งไทยกำลังจะประสบภาวะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน จึงได้เร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมต่างๆ โดยที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงแรงงานได้ร่วมมือกันเร่งผลิตบุคลากรที่มีฝีมือ รองรับการขยายการลงทุนในอนาคต นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการเร่งซ่อมแซมเส้นทางการขนส่งที่แออัดและชำรุด เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันกำลังปรับโครงสร้างทางภาษีทั้งระบบ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์อีโค และรถยนต์ไฟฟ้า โดยนายกฯได้ขอให้ผู้ประกอบการต่างชาติศึกษาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ จากนโยบายของรัฐบาล

          ซีอีโอจี้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

          จากนั้น นายเทรเวอร์ เนกัส (Mr.Trevor Negus) ประธานและผู้บริหารระดับสูง นำคณะผู้บริหารระดับสูงบริษัทออโต้ อัลลิแอนซ์ ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด และมาสด้า เข้าหารือกับคณะนายกรัฐมนตรี โดยนายเทรเวอร์แสดงความเข้าใจสถานการณ์ของไทย และยังคงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพ และยืนยันที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มสดใสขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลพัฒนาด้านสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันเส้นทางการขนส่งเริ่มแออัดและชำรุด เป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท เอชจีเอสที บริษัท ซีเกต (เทคโนโลยี) บริษัท มิตซูบิชิ อิเลกทริกส์ คอนซูเมอร์ บริษัท ไทย ซัมซุง อีเลกทริกส์ เห็นว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นสินค้าส่งออกของไทยเป็นลำดับต้น และยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทประสบอุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยในนิคมอุตสาหกรรม ทำให้กระทบกระเทือนต่อการผลิตและส่งมอบสินค้า ซึ่งนายกฯได้ยืนยันว่ารัฐบาลส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางน้ำ อาทิ การสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย การสร้างถนนเชื่อมกับเส้นทางประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างระบบรถไฟทางคู่ รวมถึงโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตของอาเซียนได้

          ส่งออกก.ย.ลบอีก5.5%

          ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศเดือนกันยายน 2558 ว่า การส่งออกไทยมีมูลค่า 18,816 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.51% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 16,022 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 26.20% ทำให้ได้ดุลการค้า 2,794 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 การส่งออกไทยมีมูลค่ารวม 161,563 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.98% และการนำเข้ามีมูลค่ารวม 153,805 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.46% ได้ดุลการค้า 7,758.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

          นายสมเกียรติกล่าวว่า ขณะที่การนำเข้าติดลบมากสุดทำสถิติ 7 ปีนับจากปี 2552 โดยกลุ่มเชื้อเพลิง ติดลบ 44% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลบ 28.1% สินค้าทุน ลบ 23.09% อุปโภคบริโภค ลบ 7.88% อีกปัจจัยคือราคาน้ำมันโลกที่ลดลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก จึงทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 9.9% ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก สำหรับแนวโน้มการส่งออก 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ มีทิศทางดีขึ้นและการติดลบน่าจะลดลง ดูจากการติดลบในเดือนกันยายนลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 6.69% และปกติ 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คำสั่งซื้อสินค้าจะมีเข้ามามาก ดังนั้น การส่งออกทั้งปีนี้คาดว่าจะติดลบ 3.5% ใกล้เคียงกับประมาณการไว้ที่ติดลบ 3%

          ออกกม.เว้นภาษีบ.จ่ายไม่ครบ

          นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปี 2558 นี้กรมจะเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมาย เพื่อจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าระบบภาษีมากขึ้น เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีหลักการว่าจะไม่คิดภาษีในความผิดย้อนหลังสำหรับผู้ที่ยื่นภาษีไม่ครบ แต่จะไม่ใช้คำว่านิรโทษกรรม อยากให้รอติดตามว่าจะเป็นอะไร

          "มีผู้ประกอบการทั่วประเทศประมาณ 7 ล้านราย เป็นเอสเอ็มอี 2.7 ล้านราย โดยมีนิติบุคคลที่ยื่นเสียภาษีประมาณ 6 แสนราย ในจำนวนนี้มีบางรายที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องในระยะที่ผ่านมา กรมจะไม่ไปดูหากมีการเข้าระบบอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นปี 2559 ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับที่มีคดีอยู่กับกรมคงจะล้างไม่ได้" นายประสงค์ กล่าว

          กสอ.ดันโครงการอุ้มเอสเอ็มอี

          นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่ กสอ.จะเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางการเงิน ด้วยการเปิดโครงการเอสเอ็มอีเทิร์นอะราวด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีระยะ 2 คาดว่าจะสามารถเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ตุลาคม เพื่ออนุมัติแผนและประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป

          แผนดำเนินงานของโครงการดังกล่าว จะใช้งบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วงเงิน 630 ล้านบาท คณะกรรมการบริหารโครงการเอสเอ็มอีเทิร์นอะราวด์ มีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และจะมีคณะกรรมการชุดเล็กของแต่ละจังหวัด เพื่อพิจารณาความเดือดร้อนของเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน และปัญหาของธุรกิจ โดยทีมงานจะเข้าไปภายในโรงงานเพื่อประเมินสภาพปัญหาจริง หลังจากจะพิจารณาส่งเรื่องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยเหลือตรง

          อัดงบ1.46พันล.ปี59ดูแลต่อ

          "โครงการเอสเอ็มอีเทิร์นอะราวด์นี้ จะเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาทางการเงิน ให้สามารถเข้าถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 1 แสนล้านบาทของรัฐ ตั้งเป้าหมายตลอดโครงการไว้ที่ 1.7 หมื่นราย ซึ่ง กสอ.คงไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด จึงต้อง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีระยะ 2 ที่จะช่วยเหลือรายที่มีปัญหา รายใหม่ และรายที่แข็งแรงและพร้อมออกสู่สากล รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6 หมื่นราย" นายสมชายกล่าว

          นายสมชายกล่าวว่า สำหรับแผนดำเนินการของปี 2559 กสอ.ได้รับงบประมาณรวม 1.46 พันล้านบาท และจะดำเนินการสนับสนุนเอสเอ็มอีและโอท็อป อาทิ การให้ความรู้พื้นฐาน แนวคิดการทำธุรกิจ ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ การดำเนินงานระบบพี่เลี้ยง สนับสนุนให้ตั้งธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดโดยใช้กลยุทธ์ธุรกิจปรับปรุงคุณภาพ  เป็นต้น

          คลังเตรียมชงครม.เร่งลงทุน

          ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังบรรยายพิเศษ นโยบายของกระทรวงการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กับกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะสรุปมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงปี 2558-2559 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากขณะนี้การลงทุนภาคเอกชนยังน้อยมาก ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน กระทรวงการคลังจะมีมาตรการส่งเสริมเกี่ยวกับภาษีสำหรับผู้ลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่แล้ว และอุตสาหกรรมที่ไม่ได้บีโอไอ โดยเป็นอุตสาหกรรมทั่วไป ไม่ได้เน้นกลุ่มใดเป็นพิเศษ

          ค่าสร้างรง.-ซื้อเครื่องจักรลดภาษีได้

          นายอภิศักดิ์กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่จะให้จะเป็นด้านภาษีที่เกี่ยวกับการปลูกสร้างไม่รวมที่ดิน เครื่องจักร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รถยนต์ แต่รายละเอียดต้องรอเสนอ ครม.ก่อน

          แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอ ครม.ดังกล่าวจะเป็นการให้นำค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนในช่วงปี 2558-2559 มาลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ได้เพิ่มเติมเท่าตัว เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการลงทุน ทั้งค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงงาน ค่าซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งปกติกลุ่มที่ได้บีโอไออาจจะนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้ 5 ปี ปีละ 20% จะเพิ่มให้เท่าตัวเป็น 5 ปี ปีละ 40% เป็นต้น แต่กลุ่มที่ไม่ได้บีโอไอที่ไม่ได้รับการลดหย่อนภาษีจะได้ตรงนี้ไปด้วย คาดว่าจะทำให้นักลงทุนที่ยังลังเลในการลงทุนตัดสินใจลงทุนในช่วงนี้มากขึ้น

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนของเอกชนในปัจจุบัน หลายกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มขยับเพื่อเตรียมลงทุนจริงมากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอาหาร หลังรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนล็อตใหญ่ออกมา ซึ่งเรื่องนี้ยอมรับว่าต้องใช้เวลา คงไม่สามารถลงทุนได้ทันที เพราะมูลค่าสูง ดังนั้นต้องศึกษาความคุ้มค่าอย่างรอบคอบ แต่เมื่อเทียบกับภาวะการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาที่แทบไม่ขยับเลยเพราะการบริโภคในประเทศชะลอตัว ประกอบกับเศรษฐกิจโลกถดถอยด้วย

          ท้าตู่โชว์ข้อมูลโกงตำบลละ5ล.

          กรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระบุว่ามีการหักหัวคิว 20-30% ในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทของรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงรายละเอียดไปหมดแล้ว หากนายจตุพรมีหลักฐานก็ให้นำมาแสดง อย่ากล่าวลอยๆ ขอให้นำหลักฐานมาแสดงว่าเป็นใคร และทำอย่างไร จะได้ตรวจสอบโดยไม่มีการละเว้นใดๆ ทั้งสิ้น

          เมื่อถามถึงมาตรการควบคุมโครงการดังกล่าวไม่ให้เกิดการทุจริต พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การควบคุมการทุจริต พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดูแลอยู่ และและมีทหารลงพื้นที่ไปดูแลโครงการอยู่ด้วย ได้กำชับไปทั้งหมดแล้ว คิดว่าไม่น่ามีปัญหาใดๆ หรือถ้ามีปัญหาขอให้นำหลักฐานมาแสดงด้วย

          หจก.ปูดผู้ใหญ่บ้านเรียกเงิน

          นายพิศาล ปั่นวงษ์ก๋อ ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เจเอ แพล้น ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า โครงการตำบลละ 5 ล้านบาทเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น โครงการส่วนใหญ่จะต้องจ้างแรงงานประชาชน เพราะจะทำให้เม็ดเงินลงสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามได้รับทราบจากข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งของอำเภอพิชัย ให้ข้อมูลว่าโครงการจะลงสู่หมู่บ้านหรือตำบลใดบ้าง โดยเฉพาะโครงการที่จะต้องให้ผู้รับเหมาดำเนินการ ซึ่งพบว่ามีผู้ใหญ่บ้านรายหนึ่งไปพบกับผู้รับเหมารวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัด เจเอ แพล้นด้วย โดยแจ้งว่าสามารถติดต่อให้งานได้ แต่จะต้องจ่าย 25% โดยต้องจ่ายล่วงหน้าก่อน 10% แต่ได้ปฏิเสธไปเพราะขาดทุนแน่นอน หรือหากรับงานก็ต้องใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ชาวบ้านเสีย ประโยชน์

          นายพิศาลกล่าวด้วยว่า กำลังรวบรวมหลักฐานกับผู้รับเหมาหลายรายที่ผู้ใหญ่บ้านรายนี้เข้าไปติดต่อ นำไปร้องศูนย์ดำรงธรรมและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ขณะเดียวกันอยากให้นายสุระศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ตรวจสอบอีกทางด้วย เพราะแจ้งต่อที่ประชุมส่วนราชการว่า ห้ามไม่ให้มีการทุจริตงบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาท

          อปท.ยันไม่เกี่ยวตำบลละ5ล้าน

          ด้านนายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยกรณีผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งให้คุมเข้มองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ เรื่องการใช้เงินงบประมาณตำบลละ 5 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ว่า น่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยประกาศว่า การใช้งบดังกล่าวจัดสรรผ่านระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทั้งจังหวัด อำเภอ ไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ อบต. ล่าสุดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง อบต.และเทศบาล ได้ส่งบุคลากรด้านช่างและการคลังเข้าไปสนับสนุน เพื่อประมาณการค่าก่อสร้าง ออกแบบ และร่วมเป็นกรรมการตรวจรับงานร่วมกับฝ่ายปกครอง หาก สตง.จะปราบปรามการทุจริตจากการใช้งบตำบลละ 5 ล้านบาทควรมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการของหน่วยงานระดับจังหวัด และอำเภอ

          นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิก สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การใช้งบตำบลละ 5 ล้านบาทไม่เกี่ยวกับ อปท.หรือ อบต.ตามที่ผู้ว่าการ สตง.กล่าวอ้าง อปท.เป็นเพียงองค์กรสนับสนุนตามคำร้องขอบุคลากร เพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์เท่านั้น ซึ่งภาพรวมพนักงานท้องถิ่นพร้อมให้ความร่วมมือ

          บิ๊กฉัตรชงนายกฯจ่ายเงินสวนยาง

          พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา จากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำว่า ในที่ 27 ตุลาคม จะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบสูตรการชดเชยแบบจ่ายเงินสดให้เกษตรกร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 40% ของเงินชดเชยจะจ่ายให้คนกรีดยาง และอีก 60% เป็นค่าปัจจัยการผลิตให้กับเจ้าของสวนยาง จ่ายเป็นเงินสดเข้าบัญชีเกษตรกรผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

          "การช่วยเหลือครั้งนี้ จะให้กับชาวสวนยางพาราทั่วประเทศ ตามที่ได้ทะเบียนเกษตรกรไว้ คือ 8.5 แสนครัวเรือน ส่วนคนกรีดก็จะได้ไป 40% ของงบประมาณที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ" พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          นายสุนทร รักษ์รงค์ แกนนำแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง กล่าวว่า หากสูตรการชดเชยเป็น 60% ส่วน 40% เพื่อชดเชยให้คน กรีดยาง สูตรนี้น่าจะเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างเกษตรกรและรัฐบาล เพราะจากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาส่วนต่างราคาชดเชยให้กับเกษตรกร ที่ได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี นายกฯเป็นประธาน ได้เสนอการชดเชยที่ราคา 1,250 บาท/ไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ต่อครัวเรือน หรือประมาณ 12,500 บาท/ครัวเรือน จะชดเชยให้กับผู้มีเอกสารสิทธิที่ขึ้นทะเบียนไว้ 8.5 แสนครัวเรือน ในสูตรนี้รัฐบาลต้องใช้เงิน 11,000 ล้านบาท ซึ่งก็น่าจะรับได้กันทั้ง 2 ฝ่าย

จาก มติชน วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ขันนอตศูนย์แก้วิกฤติภัยแล้ง ย้ำผู้ว่าฯสร้างการรับรู้ให้ประชาชน 

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งระดับชาติ ปี 2558/59 (ศก.กช.)เปิดเผยว่า หลังพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ แก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งระดับชาติปี 2558/59(ศก.กช.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการดำเนินงานตามโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผล กระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 พร้อมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ 13 หน่วยงาน ที่ปฏิบัติงาน ช่วยเหลือเกษตรกรจากวิกฤติปัญหาภัยแล้ง

          ล่าสุด ศก.กช.มีหนังสือขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศก.กจ. (ระดับจังหวัด)ดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.ขอให้เร่งรัดการทำงานของชุดปฏิบัติการในการลงพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร พร้อมทั้งรายงานผลการตอบรับหรือการให้ความร่วมมือของเกษตรกรต่อแนวทางการแก้ไข 2.ให้ติดตามและวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกข้าว รวมทั้ง ปัญหาและแนวทางแก้ไข พร้อมรายงานให้ศก.กช.ทราบ 3.ให้ติดตามการดำเนินงาน ตามมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 ของกรมชลประทาน

          4.ให้ประสานข้อมูลจากโครงการชลประทานจังหวัด เพื่อเตรียมเฝ้าระวังพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ที่เก็บเกี่ยวแล้วในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด โดยให้ชุดปฏิบัติการฯ ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ และขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว ให้ใช้น้ำจากระบบชลประทานน้อยที่สุด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีแนวโน้มจะปลูกข้าวต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2558/59 และ 5.ให้ประสานข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ติดตามผลสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการตามแผนชุมชน เพื่อแก้วิกฤติภัยแล้งด้านการเกษตรทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และด้านปรับปรุงบำรุงดิน ตามมาตรการที่ 1 การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้ง ปี 2558/59

          "ขอให้เกษตรกรพิจารณาเรื่องการเพาะปลูกข้าวในสภาวะเสี่ยงเรื่องน้ำ และอาจเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่สร้างมูลค่าสูงแทน หรือการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการประมงตามแหล่งน้ำที่เตรียมไว้จะช่วยลดความเสี่ยงความเสียหายของพืชผล จากภาวะขาดแคลนน้ำในปี 2559 ได้ นอกจากนี้ ทุกส่วนราชการเร่งปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกร เต็มที่ เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง อาทิ การจ้างแรงงาน และสนับสนุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน" นายธีรภัทร กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ส่งออกติดลบ5.51%ร่วงต่อเนื่องเดือนที่9 เหตุศก.โลกไม่ฟื้นชาติคู่ค้าแย่คำสั่งซื้อหดตัว

ส่งออกไทยยังกู่ไม่กลับ ล่าสุดเดือนกันยายนติดลบ 5.51% ร่วงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9ปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้น คำสั่งซื้อจากชาติคู่ค้าร่วง แต่พาณิชย์ยังยืนยันคงเป้าทั้งปีติดลบแค่ 3%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกันยายน 2558 ว่า ส่งออกของไทยเดือนกันยายนมีมูลค่า18,815.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 9 เพราะการส่งออกยังลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญทั้งญี่ปุ่น ติดลบ 20.6%, สหรัฐ ติดลบ 3.6%, ฝรั่งเศส ติดลบ 18.1%, จีน ติดลบ 17.9%, เกาหลีใต้ ติดลบ 15.9% และสหราชอาณาจักร ติดลบ 10.1% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัว ทำให้สินค้าเกี่ยวเนื่องราคาลดลง ดังนั้นจึงส่งผลให้ 9 เดือนแรกปี 2558 (มกราคม-กันยายน) ส่งออกมีมูลค่า 161,563.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 4.98%

สำหรับมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรในเดือนกันยายนติดลบ 9.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดย ข้าว ติดลบ 28.8% ซึ่งเป็นการลดลงทั้งปริมาณส่งออกและราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังติดลบ 28.6% เพราะจีนลดการนำเข้า อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ติดลบ 7.4% และยางพารา ติดลบ 7.4% ซึ่งราคายางพาราที่ตกต่ำ แม้ปริมาณส่งออกจะสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง ยังคงขยายตัวเช่นเดียวกับน้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป รวมถึงไก่แปรรูป

สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าส่งออกโดยรวมติดลบ 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลงจากปีก่อนหน้ามาก แต่ในส่วนของรถยนต์และส่วนประกอบ ที่เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1ของไทย ขยายตัว 20.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และคาดว่าช่วงที่เหลือของปีจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง และทองคำ ขยายตัว 589.5% เพราะมีการส่งออกเพื่อทำกำไรมาก

การนำเข้าเดือนกันยายน 2558 มีมูลค่า 16,021.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 26.20% ซึ่งมาจากการลดลงของกลุ่มเชื้อเพลิง 44% สินค้าวัตถุดิบและ

 กึ่งสำเร็จรูป ลด 28.1% เพราะผู้นำเข้ารอดูสถานการณ์ค่าเงิน ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 2,794 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เมื่อรวม 9 เดือนการนำเข้ามีมูลค่า 153,804.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 10.46% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 7,758.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ในช่วงที่เหลือ 3 เดือนจากนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม) หากไทยส่งออกได้ เดือนละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้การส่งออกรวมทั้งปีติดลบประมาณ 3.5-4% หรือใกล้เคียงที่ประเมินไว้ว่าจะติดลบ 3% แต่ถ้าทำได้แค่เดือนละ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐส่งออกทั้งปีจะติดลบประมาณ 5% แต่ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงกำหนดเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ติดลบ 3%”

นอกจากนี้ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.1% จากเดิม 3.3% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว คาดว่าทั้งปีน่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การค้าโลกทั้งปีขยายตัวติดลบ 11.1% เงินบาทแม้จะอ่อนค่าลง แต่เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นถือว่าลดลงน้อยมาก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ปัญหาเกษตร ที่นีมีคำตอบ : ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง

คำถาม ขอความรู้เรื่องปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงมีคุณสมบัติและคุณประโยชน์อย่างไร และมีขั้นตอนการผลิตอย่างไรครับ

ธรรมนูญ รัตนาธรรม

อ.แม่ทา จ.ลำพูน

คำตอบ ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ได้มาจากการนำวัสดุอินทรีย์ และอนินทรีย์ธรรมชาติ ที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัสสูง มาผ่านกระบวนการหมักจนสลายตัวสมบูรณ์ หรือการนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านกระบวนการหมักและสลายตัวสมบูรณ์แล้ว มาผสมกับวัสดุอินทรีย์ และ/หรืออนินทรีย์ธรรมชาติ ที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน และฟอสฟอรัสสูง

พืชแต่ละชนิด ต้องการปริมาณธาตุอาหารที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของการเจริญเติบโต ดังนั้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ควรคำนึงถึงความต้องการ ปริมาณ และชนิดของธาตุอาหารในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืช รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดิน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่มีปริมาณธาตุอาหารหลักแต่ละชนิด ได้แก่ สูตรไนโตรเจนสูง และฟอสฟอรัสสูง จะสามารถช่วยให้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ตรงตามความต้องการของพืชในช่วงการเจริญเติบโต จะทำให้ประหยัดการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต

นักวิชาการเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แนะนำไว้ดังนี้

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน ปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เท่ากับ 4.0-5.0, 3.0-4.0 และ 1.0-2.0 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ส่วนผสมที่ใช้ในการผลิต ประมาณ 100 กิโลกรัม ประกอบด้วย กากเมล็ดถั่วเหลือง หรือปลาป่น 60 กิโลกรัม มูลสัตว์ 40 กิโลกรัม สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง แล้วนำมาขยายเชื้อในกากน้ำตาล 26-30 ลิตร

วิธีการขยายเชื้อสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ให้เจือจางกากน้ำตาล โดยนำกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 50 ลิตร ใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซอง คนให้เข้ากัน จากนั้นปิดฝาถัง ตั้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 3 วัน

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน ผสมกากเมล็ดถั่วเหลืองหรือปลาป่นและมูลสัตว์ตามส่วนผสมให้เข้ากัน นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง เทลงในสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ที่ขยายเชื้อแล้ว จำนวน 26-30 ลิตร คนประมาณ 5-10 นาที นำไปรดลงบนกองวัสดุที่ผสมในข้อ 1 คลุกเคล้าให้ทั่วกองเพื่อให้ความชื้นสม่ำเสมอทั่วทั้งกอง ตั้งกองปุ๋ยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้มีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร แล้วใช้วัสดุคลุมกองให้มิดชิด เพื่อรักษาความชื้นในกองปุ๋ยระหว่างการหมัก กลับกองปุ๋ยทุก 5 วันและควบคุมความชื้นในระหว่างการหมัก 50-60 เปอร์เซ็นต์ หมักกองปุ๋ยเป็นเวลา 10-15 วันหรือจนกระทั่งอุณหภูมิภายในกองปุ๋ยลดลงเท่ากับภายนอกกองปุ๋ยจึงนำไปใช้ได้

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส ผลิตจากหินฟอสเฟต ซึ่งมีปริมาณฟอสฟอรัสสูง แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช หมักกับปุ๋ยหมักรำข้าวเพื่อช่วยในการดูดซับความชื้นและปรับลักษณะเนื้อวัสดุหมักให้เหมาะสม และใช้สารเร่ง พด.9 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ละลายหินฟอสเฟตให้อยู่ในรูปฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้

ส่วนผสมที่ใช้ในการผลิต ปริมาณ 100 กิโลกรัม ประกอบด้วย หินฟอสเฟต 80 กิโลกรัม รำข้าว 10 กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก 10 กิโลกรัม และสารเร่ง พด.9 จำนวน 1 ซอง

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส ผสมหินฟอสเฟต รำข้าวและปุ๋ยหมัก ตามส่วนผสม ให้เข้ากัน นำสารเร่งพด.9 จำนวน 1 ซอง เทลงในน้ำ 20 ลิตร คนประมาณ 5-10 นาที นำไปรดลงบนกองวัสดุในข้อ 1 คลุกเคล้าให้ทั่วกองเพื่อปรับความชื้นให้สม่ำเสมอทั่วกอง ตั้งกองปุ๋ยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ให้มีความสูง ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แล้วใช้วัสดุคลุมกองให้มิดชิด เพื่อรักษาความชื้น จากนั้นหมักกองปุ๋ยเป็นเวลา 4-5 วัน จึงนำไปใช้

คุณสมบัติเด่นของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัสสูง สามารถเลือกใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงตามความเหมาะสมของดินและพืช มีการปลดปล่อยธาตุอาหารให้แก่พืชแบบช้าๆ ทำให้ลดการสูญเสียธาตุอาหาร มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินและพืช เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการทดแทน หรือลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรสามารถทำใช้เองได้

การใช้ประโยชน์ของปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เมื่อการนำไปใช้กับพืชชนิดต่างๆ ก็จะนำปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ทั้ง 2 สูตร ดังกล่าวมาผสมกันตามปริมาณธาตุอาหารที่พืชแต่ละชนิดต้องการ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน

อัตราและวิธีการใช้

-ข้าว ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่

-พืชไร่ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่

-พืชผัก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส อัตรา 25-50 กิโลกรัมต่อไร่

-ไม้ผล/ไม้ยืนต้น ใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรฟอสฟอรัส อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อไร่

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม 2558

เมื่อเกษตรกรผลิตก๊าซชีวภาพใช้เอง

เกษตรกร ผลิตก๊าซชีวภาพ จากบันทึกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถึงการศึกษารูปแบบการผลิตและการใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพของเกษตรกรกรณีศึกษาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองทราย จังหวัดกาญจนบุรี ศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลักไม้ลาย จังหวัดนครปฐม ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านดอนขุนห้วย 2 จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง จังหวัดระยอง กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเหล่ามะละกอ จังหวัดราชบุรีและศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนตําบลหนองไฮ จังหวัดอํานาจเจริญ

ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ผลิตก๊าซชีวภาพในบอลลูน โดยใช้วัตถุดิบในการผลิตจากมูลสัตว์ซึ่งเป็นสิ่งเหลือใช้จากกิจกรรมในภาคปศุสัตว์ทั้งในส่วนของอาชีพหลักและอาชีพเสริมของครัวเรือนเกษตรกร ได้แก่ การเลี้ยงโคนม โคเนื้อ กระบือ สุกร แพะ ม้า เป็ด และไก่

นอกจากนี้เกษตรกรบางส่วนได้ผลิต ก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารและเศษผักผลไม้ในครัวเรือนโดยเกษตรกรได้มีข้อสังเกตว่ามูลสุกรเป็นวัตถุดิบที่ทําให้เกิดก๊าซชีวภาพได้ดีที่ควรนํามาเป็นวัตถุดิบในขั้นตอนเริ่มต้นการผลิตก๊าซชีวภาพ ควรระวังในการเติมมูลสัตว์ไม่ควรมีการปนเปื้อนกากมะพร้าว หรือของเปรี้ยว เพราะจะทําให้ไม่เกิดก๊าซหรือใช้เวลานานมาก ในการเกิดก๊าซ และควรหมั่นตรวจสอบดูแลและซ่อมแซมรอยรั่วต่าง ๆ เพื่อป้องกันการรั่วซึมของก๊าซ รวมถึงการดูแลระดับน้ำในขวดดักไอน้ำให้อยู่เหนือปลายท่อก๊าซ 1-2 เซนติเมตร

เกษตรกรกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินในการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สําหรับเกษตรกรที่ออกค่าใช้จ่ายการติดตั้งทั้งระบบจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,500-10,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงงาน เมื่อพิจารณาประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อการ ลดรายจ่ายของครัวเรือนด้านพลังงานพบว่า เกษตรกรสามารถลดรายจ่ายด้านก๊าซหุงต้มลงได้เฉลี่ยร้อยละ 30-100

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ในแต่ละวัน ผลกระทบที่เกิดจากการผลิตและใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพ เมื่อนํามาวิเคราะห์แล้วสรุปภาพรวมพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถลดรายจ่ายได้จาก 2 ส่วน คือ การใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนการซื้อก๊าซหุงต้ม และการใช้ปุ๋ยที่เกิดจากการผลิตก๊าซชีวภาพ นําไปใส่ต้นไม้ทดแทนการซื้อปุ๋ยได้บางส่วนการผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนการซื้อก๊าซหุงต้มโดยสามารถประหยัดรายจ่ายได้ประมาณ 200-800 บาทต่อเดือน เกษตรกรสามารถนําเงินจํานวนนี้ไปใช้สําหรับอํานวยความสะดวกให้กับครอบครัว หรือเก็บเป็นเงินออม ได้ทําให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจที่สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ ผลพลอยได้จากการผลิตก๊าซชีวภาพ คือ ปุ๋ย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่นําปุ๋ยที่ได้ไปใช้สําหรับใส่ต้นไม้และพืชผักของตนเอง สามารถ ประหยัดรายจ่ายในการซื้อปุ๋ยได้ในบางส่วน

 เกษตรกรจํานวนหนึ่งสามารถสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ด้วยการรวมกลุ่มกันเพื่อรับจ้างติดตั้งบอลลูนก๊าซชีวภาพ เช่นที่จังหวัดกาญจนบุรีและ จังหวัดราชบุรี และเกษตรกรส่วนใหญ่คิดว่าการผลิตก๊าซชีวภาพใช้เองทําให้เกิดการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่าย มีทั้งเครือข่ายระดับชุมชนและจังหวัดมีการเรียนรู้การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและทรัพยากรที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาการผลิตก๊าซชีวภาพ ทําให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของเกษตรกร เช่น การเติมน้ำตาลอ้อยเพื่อเพิ่มก๊าซ การใช้พืชอวบน้ำเพื่อให้ได้ก๊าซมากขึ้น และการต่อท่อพักก๊าซ เป็นต้น

นอกจากนี้การใช้พลังงานก๊าซชีวภาพ ทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ช่วยลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1.91-8.66 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อเดือน เท่ากับ 22.92-103.92 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อีกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 27 ตุลาคม 2558

เกษตรจว.ยันปุ๋ยแพง ฝ่ายปกครองทําเอง

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นางลัทธพรรณ วรากุลศิริศักดิ์ ผอ.สตง.กาฬสินธุ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณเหลือจ่าย ตามแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัดเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตอ้อย (ซื้อปุ๋ยอินทรีย์) ว่า เท่าที่ตรวจสอบพบว่าราคาปุ๋ยที่ซื้อมีราคาแพงกว่าท้องตลาด 6 อำเภอ ที่ดำเนินการ ผู้ได้รับสัญญาเป็นบริษัทเดียวกันทั้งหมด และมีผู้เสนอราคาแข่งขัน 2 บริษัท เสนอราคาขายปุ๋ยห่างกัน 10 สตางค์/กก. ทั้ง 6 อำเภอ ขณะนี้ต้องรอสรุปผลการตรวจสอบ คาดว่าอีกไม่นานจากนั้น จะรายงานให้ผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดินได้รับทราบ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ในส่วนของรายละเอียดยังเปิดเผยไม่ได้

นายประยงค์ ภูดินทราย หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สนง.เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับมอบหมายจากนายประพาส บุญสุข เกษตรจังหวัด กาฬสินธุ์ ชี้แจงว่า ทาง สนง.เกษตรจังหวัดได้ขอใช้ งบประมาณเหลือจ่ายงบกลุ่มจังหวัดฯ (ซื้อมันสำปะหลัง) มาดำเนินการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อย ในสมัยที่นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย เป็น ผวจ.กาฬสินธุ์ ทาง สนง.เกษตรจังหวัดฯ เป็นเพียงเจ้าของโครงการ แต่การดำเนินการ ผวจ.กาฬสินธุ์ ในขณะนั้นเป็นผู้มอบอำนาจให้นายอำเภอ 6 อำเภอ เป็นผู้ดำเนินการ และมีคณะกรรมการตั้งราคากลางเป็นผู้กำหนดราคา โดยมีเกษตรกรร่วมโครงการ 400 ราย อ.สมเด็จเกษตรกร 100 ราย เป็นเงิน 1,425,000 บาท อ.กุฉินารายณ์ เกษตรกร 100 ราย เป็นเงิน 1,425,000 บาท อ.ท่าคันโท เกษตรกร 100 ราย เป็นเงิน 1,425,000 บาท อ.เมือง กาฬสินธุ์ เกษตรกรกร 40 ราย เป็นเงิน 570,000 บาท อ.ยางตลาด เกษตรกร 40 ราย เป็นเงิน 570,000 บาท และ อ.ดอนจาน มีเกษตรกรร่วมโครงการ 20 ราย เป็นเงิน 285,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5,700,000 บาท

“การจัดซื้อจัดจ้าง การตั้งราคากลาง และแต่งตั้ง กรรมการโครงการทั้งหมด สนง.เกษตรจังหวัดฯ ไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของฝ่ายปกครองอำเภอต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด จะซื้อปุ๋ยราคาเท่าไหร่ ยี่ห้ออะไร คุณสมบัติอย่างไร ใครได้รับสัญญาเสนอราคา จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ทางเกษตรจังหวัดไม่ทราบ และให้ข้อมูลกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ไปหมดแล้ว พร้อมให้ตรวจสอบเอกสารทุกอย่าง” นายประยงค์กล่าว.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

กนอ.เล็งปัดฝุ่นตั้งนิคมฯขยะ 

"อรรชกา" สั่ง กนอ.เร่งศึกษาหาที่ตั้งนิคมกำจัดกากขยะครบวงจร หลังทหารเมินให้ใช้พื้นที่เล็งปักธงภาคกลาง-ปริมณฑล ตะวันตก ตะวันออก คาด 2 ปีชัดเจน พร้อมเตรียมดันเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาความเป็นไปได้การใช้พื้นที่ในภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ที่เหมาะสมสำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาและขอใช้พื้นที่ของทหารแล้วไม่สำเร็จ

ทั้งนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง/ปริมณฑล และภาคตะวันออก เป็นโซนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาคตะวันตกที่จะเชื่อมกับโซนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

"กนอ.เห็นว่าพื้นที่ ที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ที่สุด น่าจะเป็นพื้นที่ของภาคเอกชน จึงได้ร่วมกับบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ตั้งเป้าหมายศึกษาหาพื้นที่ใน 3 ภูมิภาคว่า ควรเป็นจังหวัดใด โดยเบื้องต้นจะเน้นการนำขยะหรือของเสียจากนิคมบริการ มาบริหารจัดการเพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าเป็นหลักก่อน" นางอรรชกากล่าว นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะอันตราย 2.4 ล้านตัน จากขยะทั้งหมดที่มี 30 ล้านตัน ตั้งเป้านำขยะเข้าสู่ระบบการจัดการที่ถูกต้องได้ 1.2 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันดำเนินการได้เพียง 1 ล้านตัน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่า กนอ.กล่าวว่า ภายใน 2 ปีจะมีความชัดเจนทั้งด้านแผนการดำเนินงาน และพื้นที่จัดตั้งนิคมฯ ซึ่งไม่ควรห่างจากแหล่งรับซื้อกากขยะอุตสาหกรรมเกินกว่า 100 กิโลเมตร

เพื่อสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบกากขยะที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปริมาณขยะ 10 ตันต่อวัน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นยังอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด อย่างไรก็ตามหากจัดตั้งได้สำเร็จ จะสามารถพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบตามนโยบายของรัฐบาล.

จาก http://www.thaipost.net  วันที่ 27 ตุลาคม 2558

ลุ่มเจ้าพระยาจ่อทำนาปรังก.เกษตรแจ้งไม่มีน้ำจ่าย

          'บีโอไอ'ชงยกเว้นภาษี กระตุ้นเอกชนเร่งลงทุนช่วงนี้ ก.อุตฯส่งที่ปรึกษาช่วยปรับแผนธุรกิจ 'เอสเอ็มอี' 1.7 หมื่นราย    

          ราชประสงค์ไม่หวั่นจัดปีใหม่วัดอรุณ

          เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายชาย ศรีวิกรม์ นายกสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ (อาร์เอสทีเอ) กล่าวว่า ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเสนอแผนการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ (เคานต์ ดาวน์) ที่วัดอรุณวรารามราชวรมหาวิหารนั้น ไม่น่าจะกระทบกับกิจกรรมเคานต์ดาวน์ที่ย่านราชประสงค์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่อาจมีผลกระทบบางสถานที่ที่จัดงานเคานต์ดาวน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเช่น เอเชียทีค เพราะคนจะหันมาเที่ยวงานที่วัดอรุณฯ มากขึ้น ทางสมาคมเตรียมประชุมหารือจัดงานเคานต์ดาวน์ที่ย่านราชประสงค์ เชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

          น.ส.วารุณี กิจเจริญพูลสิน ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากจะมีการจัดงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ที่วัดอรุณฯ ไม่น่าจะมีผลกระทบกับคนที่จะร่วมงานเคานต์ ดาวน์ที่ย่านราชประสงค์ เพราะย่านราชประสงค์ มีเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแลนด์มาร์ค จึงมีนักท่องเที่ยวมาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว หากสถานการณ์บ้านเมืองปกติแบบนี้ เชื่อว่าบรรยากาศการออกมาร่วมงานเคานต์ดาวน์ปีนี้น่าจะคึกคักแน่นอน

          'บิ๊กป้อม'สั่งกวาดล้างปาล์มเถื่อน

          รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานนั้น น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แจ้งถึงปัญหาราคาน้ำมันปาล์มของไทยที่สูงกว่าราคาประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซียที่ราคาน้ำมันปาล์มต่ำกว่าไทยประมาณ 4 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่งผลให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มราคาถูกจากเพื่อนบ้านเข้ามาขายในไทย ทำให้น้ำมันปาล์มของไทยล้นสต๊อก จึงขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ช่วยจับกุมและดำเนินคดี

          "พล.อ.ประวิตรสั่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน โดยกล่าวในที่ประชุมว่าต้องกวาดล้างปัญหาลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร โดยคณะทำงานจะมีตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทหาร และกรมศุลกากร โดยคณะทำงานจะเร่งกวาดล้างการลักลอบน้ำมันปาล์มโดยเร็ว" รายงานข่าวระบุ

          'บิ๊กฉัตร'ย้ำน้ำไม่พอปลูกนาปรัง

          ส่วนปัญหาสถานการณ์น้ำนั้น พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูลเกษตรกรเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วประมาณ 6.26 ล้านไร่ จากทั้งหมด 11.91 ล้านไร่ และจะมีการปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่ ที่เสี่ยงจะเสียหาย จากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีไม่เพียงพอ

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปี 2559 น้ำต้นทุนสำหรับการเกษตรแทบจะไม่มี โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ที่ขณะนี้มีน้ำในเขื่อนหลักประมาณ 4,300 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าน้ำต้นทุนปีก่อนประมาณ 30% หรือมีปริมาณ 6,000 ล้าน ลบ.ม. หากยังมีการเพาะปลูก กรมชลประทานจะไม่มีน้ำสนับสนุนให้ เกษตรกรต้องเสี่ยงกับความเสียหายเอง

          นายสุเทพกล่าวว่า กรมชลประทานจะจัดสรรน้ำต้นทุน 4,300 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้ 1.น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคจนกว่าจะถึงฤดูแล้งเมษายน 2559 ประมาณ 1,100 ล้าน ลบ.ม. 2.น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ เจือจางน้ำเสีย ผลักดันน้ำเค็มและอื่นๆ 1,400 ล้านลบ.ม. และ 3.สำรองสำหรับอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศช่วงฤดูแล้ง ก่อนที่ฝนจะตกช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 1,000 ล้าน ลบ.ม. และ4.น้ำเพื่อการเกษตรจะเหลือน้ำเพียง 800 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จะขอความร่วมมือจากชาวนาว่าอย่าเพิ่งปลูกข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้ปี 2559 เกิดวิกฤตน้ำขาดแคลนอีก จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำต้นทุนที่ไม่มี เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับชาวนา

          รบ.วอนอย่าตั้งแง่ต้านโรงไฟฟ้า

          พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการสำคัญๆ หลายโครงการ เช่น โครงการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2578 (PDP 2015) กำหนดการผลิตไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโรงงานไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงงานไฟฟ้าจากขยะ แต่ที่ผ่านมาบางโครงการยังมีปัญหาเรื่องความเข้าใจของสังคม ที่อาจเกิดจากการให้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐไปสู่ประชาชนยังไม่สมบูรณ์ นายกฯเน้นย้ำให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจัดเวทีรับฟังความคิดความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่าง

          พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนเปิดใจกว้างรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกลาง ตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย และเทคโนโลยี โดยหลีกเลี่ยงการตั้งแง่ต่อต้านตั้งแต่เริ่มต้น ปัญหาที่ผ่านมาคือนายทุนและกลุ่มการเมืองบางส่วนมักแสวงหาประโยชน์ โดยละเลยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น ปลูกฝังความเชื่อว่าการเผา การฝังกลบเป็นวิธีกำจัดขยะดีที่สุด โดยหวังที่จะขายหรือให้เช่าที่ดินของตน แทนที่จะรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่าขยะเป็นเชื้อเพลิง สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

          "นายกฯกำชับให้หน่วยงานภาครัฐขยันสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะเขาอาจมีบทเรียนจากอดีตที่ทำให้ไม่ไว้วางใจในความปลอดภัยของเทคโนโลยี หลายประเทศพัฒนาโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน พลังงานชีวมวล และสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ๆ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว จึงอยากให้คนไทยหันมาพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างมีจิตสำนึก เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

          อุตฯส่งที่ปรึกษาช่วย'เอสเอ็มอี'

          นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เร็วๆ นี้จะว่าจ้างที่ปรึกษาธุรกิจเข้าไปช่วยวินิจฉัยปัญหาและแนะนำการประกอบธุรกิจภายในสถานประกอบการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวม 17,000 รายทั่วประเทศ คาดว่าจะใช้เวลาช่วยเหลือต่อราย 3-12 วัน ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของโครงการ โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายได้รับความช่วยเหลือจะเป็นธุรกิจที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว แต่ประสบปัญหาขาดทุนจากสาเหตุปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ลักษณะความช่วยเหลือจึงเน้นปรับแผนธุรกิจเร่งด่วน ทั้งด้านการผลิต การตลาด การลดต้นทุนต่างๆ เพื่อให้ประกอบธุรกิจได้ต่อไป

          นายอาทิตย์กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะของบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 630 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งภาคการค้า บริการ และ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนมาตรการ ช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้านต่างๆ อย่างบูรณาการ คาดว่าจะเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ โดยงบประมาณช่วยเหลือเอสเอ็มอีปีนี้รวม 2,600 ล้านบาท

          ยกเครื่องศูนย์'บีโอซี'เป็น'บีเอสซี'

          นายอาทิตย์กล่าวว่า นอกจากนี้มอบหมายให้ กสอ.ยกเครื่องศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม (บีโอซี) ทั่วประเทศ 13 จุด เป็นศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่แบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (บีเอสซี) เดิมเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้เริ่มต้นธุรกิจ เปลี่ยนเป็นการให้บริการเอสเอ็มอีที่ครบวงจรมากขึ้น คาดว่าจะเปิดตัวภายในปี 2559 โดยจะพัฒนา 3 จุดสำคัญ คือ 1.ข้อมูลต้องครบวงจร ตามที่เอสเอ็มอีต้องการ 2.มีที่ปรึกษาซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประจำอยู่ที่ศูนย์ และ 3.การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้บริการออนไลน์

          "ปัจจุบันผู้ประกอบการมาใช้ศูนย์บีโอซีไม่มากนัก สาเหตุอาจมาจากไม่เข้าถึงเอสเอ็มอีมากพอ หรือเอสเอ็มอีเองอาจยังไม่รู้จักผม จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเป็นศูนย์บีเอสซีเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเอสเอ็มอีมากขึ้น ทั้งรายที่ประกอบกิจการอยู่แล้ว และรายที่ต้องการข้อมูลเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ" นายอาทิตย์กล่าว และว่า เบื้องต้นจะพัฒนาศูนย์หลักเพื่อให้บริการอย่างสมบูรณ์แบบ 4 ศูนย์ คือ ศูนย์ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 และกล้วยน้ำไท ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 ส่วน ศูนย์ที่ให้บริการทั่วไปอีก 8 ศูนย์ จะอยู่ตามศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ส่วนแนวทางการรับบริการ ผู้ประกอบการสามารถขอรับบริการ 3 ช่องทาง คือ การติดต่อโดยตรงที่ศูนย์ ผ่านคอลเซ็นเตอร์ 1358 และผ่านทางเว็บไซต์ http://boc.dip.go.th/

          'บีโอไอ'ชงกระตุ้นเอกชนเร่งลงทุน

          นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอเสนอมาตรการกระตุ้นการลงทุนของเอกชนถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมาตรการที่เสนอเพิ่มเติมนี้เป็นมาตรการระยะสั้น คือส่งเสริมให้เอกชนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว ให้ตัดสินใจลงทุนเร็วขึ้นในช่วงนี้ ใครลงทุนเร็วจะได้สิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นภาษี

          นางหิรัญญากล่าวว่า สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเอกชนที่ต้องการลงทุนใน ไทย บีโอไอมีหน่วยงานศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (โอเอสโอเอส) ที่ให้ข้อมูลอันเป็นพื้นฐานต่อการลงทุนอยู่แล้วหากต้องการลงทุนอุตสาหกรรมนี้จะต้องติดต่อใคร หน่วยงานใด ข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้กับเอกชนในระยะยาว จะยังเป็นแผนเดิมที่บีโอไอออกสิทธิประโยชน์ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว

          ปปท.จับตาเงินตำบลละ5ล้าน

          นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบเงินโครงการเงินอุดหนุนตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงินกว่า 36,000 ล้านบาท ว่า สั่งการให้สำนักงาน ป.ป.ท แต่ละเขตพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ ประสานกับกระทรวงมหาดไทย เข้าไปตรวจโครงการแต่ละ พื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ทุจริต เงินงบประมาณและให้นำไปใช้ตรงเป้าหมาย

          นายกัณห์ รัตนสกุลชาติ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ธ.ก.ส.สาขาจังหวัดสุรินทร์ เร่งให้สินเชื่อกองทุนหมู่บ้านฯใน จ.สุรินทร์ ไปแล้ว 800 กองทุนเป็นเงิน 800 ล้านบาท ส่วนอีก 100 กว่ากองทุน คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะได้รับครบแน่นอน ธ.ก.ส.สาขาจังหวัดสุรินทร์ ยังให้ความรู้และพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ถือเป็นพี่เลี้ยงให้กองทุนหมู่บ้านฯ ให้ขึ้นจนถึงระดับเอและบีจนสามารถให้สินเชื่อในการดำเนินการต่อไปได้

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อตกลงการค้าเสรี TPP l โอฬาร สุขเกษม

เดิมทีการค้าโลกขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างรัฐคู่ค้าเป็นสำคัญ  เมื่อการค้าและการเชื่อมโยงระหว่างกันมีเพิ่มมากขึ้น การกำหนดหรือข้อตกลงระหว่างคู่ค้าด้วยกันก็ไม่เพียงพอ ต้องขยายคู่ค้าคู่สัญญากับรัฐใหม่ๆ ต่อไปอีก จากนั้นได้มีการขยับเพื่อทำข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยอัตราภาษีศุลกากรและการค้า หรือ GATT (The General Agreement on Tarffs and Trade) ขึ้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการทำการค้าอย่างเสรี (Free Trade) และลดอุปสรรคที่ขัดขวางการค้าเสรีของโลก ได้แก่ ลดการตั้งกำแพงภาษี การตั้งข้อกีดกันทางการค้า ต่อมาได้พัฒนาจากข้อตกลงให้มากยิ่งขึ้นโดยจัดตั้งองค์กรการค้าโลก หรือ World Trade Organization: WTO ขึ้นมา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 ที่เมืองมาร์ราเกซ ประเทศโมร็อคโค องค์กรนี้มีเป้าหมายให้การค้าระหว่างกันมีเสรีมากขึ้น รวมไปถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าบริการด้วย องค์กรใหม่แห่งนี้มีสภาพเหมือนกับธนาคารโลกหรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

องค์กรการค้าโลกทำให้ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลกได้เป็นสมาชิก และมีพันธกรณีที่ต้องลดภาษีนำเข้าลง ทำให้ประเทศต่างๆ มีทั้งได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์จากการลดภาษีลงดังกล่าว การค้าเสรีก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันประเทศหรือกลุ่มประเทศที่มีกำลังเศรษฐกิจสูง ก็พยายามเกาะกลุ่มกันเพื่อตกลงทำการค้าเสรีหรือ FTA (Free Trade Area) หรือได้ขยับขยายกลายเป็นกลุ่มภูมิภาค โดยกลุ่มแรกที่ดำเนินการสำเร็จก็คือ กลุ่มสหภาพยุโรปรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวในปี 2535 กลายเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ต่อมาในทวีปอเมริกาเหนือก็ประกาศรวมตัวกันตั้งกลุ่มข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement:NAFTA) ในภายหลัง ซึ่งประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก

ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีไทยเป็นสมาชิก 1 ในนั้น ก็รวมกลุ่มโดยมุ่งเน้นเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นตลาดเดียว ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นี้ ดังที่เราทราบๆ กันว่าจะมีการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้วการร่วมกลุ่มยังมีอีกหลายลักษณะ คือ รวมกลุ่มของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็มี การรวมกลุ่มระหว่างกลุ่มภูมิภาคต่อกลุ่มภูมิภาคหรือแบบพหุภาคีก็มี การเจรจาทำการค้าเสรีแบบประเทศต่อประเทศหรือแบบทวิภาคีก็ยังมีอยู่ต่อไป การรวมกลุ่มนี้เป็นทิศทางที่เคลื่อนไหวกันทั่วไปบนโลกใบนี้แต่บางทีแนวคิดแบบนี้แม้ภาพหนึ่งจะดี แต่อีกภาพหนึ่งก็อาจจะเสียหายได้ อย่างยุโรปตลาดเดียวก็มีปัญหาหลังประกาศใช้ รวมถึงสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเช่นกัน  ปัญหาแรงงานเคลื่อนย้ายได้เสรี (ภายใต้กฎหมายที่กำหนด) การเคลื่อนย้ายโรงงานจากฐานการผลิตเดิมไปยังฐานผลิตใหม่ที่ต้นทุนต่ำกว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุน  เป็นต้น

การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตนั้นเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาที่สำคัญ เพราะทำให้ประเทศต่างๆ ที่เคยทำการผลิตมาก่อนและผลิตมายาวนาน เมื่อย้ายโรงงานออกไป ทำให้คนในประเทศว่างงานเพิ่มมากขึ้น ในขณะรัฐสวัสดิการยังคงเดิมหรือต้องทำให้ดีกว่าเดิม ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ต่อไป แม้แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยก็เผชิญปัญหาการย้ายฐานการผลิตออกไปอยู่เช่นกัน ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นการย้ายฐานไม่ได้มีสิ่งจูงเพียงเพื่อแสวงหาค่าแรงงานที่ต่ำกว่าเท่านั้น ยังมีปัจจัยอย่างอื่นด้วย เช่น มีตลาดในประเทศนั้นๆ รองรับ หรือประเทศนั้นๆ ยังมีโควตาหรือมีสิทธิพิเศษทางศุลกากรในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป หรือแม้แต่สิทธิพิเศษที่ประเทศนั้นได้รับจากประเทศอื่นในฐานะคู่เจรจาทวีภาคีด้วย

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้การค้าทั่วโลกตกต่ำลงไปด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่แท้จริงแล้วการค้าเสรีของโลกก็มีส่วนทำให้หลายต่อหลายประเทศต้องประสบปัญหาจากข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวด้วย  เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือเป็นประเทศมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง  ยังใช้เงื่อนไขต่างๆ มากีดกันทางการค้าอยู่ไป ซึ่งตอนแรกจะกีดกันทางการค้าโดยออกกฎหมายมาตรฐานสินค้า ออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า ออกกฎเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชน ออกกฎเกณฑ์ห้ามใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 โดยไม่เป็นธรรม ออกกฎเกณฑ์ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ออกกฎเกณฑ์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม สารพัดที่จะดำเนินการเมื่อไม่สามารถใช้ภาษีเป็นกำแพงกั้นสินค้าทะลักเข้าประเทศตนเองได้อีกต่อไปแล้ว

สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ก็ไม่อาจรอดพ้นจากผลกระทบทางลบของนโยบายการค้าเสรีเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและมหาอำนาจทางการเมืองแล้วจะอยู่ยงคงกระพัน เพราะเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงถึงกันหมด หมายถึงการเชื่อมโยงทางการเงิน หรือเงินทุนถึงกันด้วย  เมื่ออิรักบุกยึดครองคูเวตในวันที่ 2 สิงหาคม 2533 ทำให้นานาประเทศประกาศคว่ำบาตรอิรัก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบหายไปจากตลาดประมาณ 4 ล้านบาร์เรล/วัน กลายเป็นวิกฤตราคาน้ำมันโลกครั้งที่ 3  ราคาน้ำมันดิบขึ้นจาก 20 ดอลลาร์สหรัฐฯเป็น 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ  ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน และโดยสหรัฐอเมริกามีปัญหาสืบเนื่องไปด้วย ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ต้องปรับฐานเศรษฐกิจกันใหม่หมดเพื่อความอยู่รอด ซึ่งประเทศไทยเองก็ต้องปรับฐานการผลิตโดยเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มาเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกแทน นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

สหรัฐอเมริกาได้พยายามจะขยับขยายเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเล็งไปที่การทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบพหุภาคี โดยเสนอทำ FTA ระหว่างสหรัฐฯกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี สิงคโปร์ ในปี 2541 แต่ก็ไม่ได้เดินหน้าต่อ หากแต่ชิลี สิงคโปร์และนิวซีแลนด์ได้เดินหน้าเจรจาทำ FTA ระหว่าง 3 ประเทศต่อไปตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2548 ได้มีประเทศบรูไนเข้าร่วมด้วย โดยเรียกการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีครั้นนี้ว่า Trans – Pacific Strategic Economic Partnership : TPP มีผลบังคับใช้ในปี 2549 โดยข้อตกลงในกรอบนี้ครอบคลุมไปถึงทวีป เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ และครอบคลุมเกือบทุกสาขา ทั้งด้านการค้า สินค้า การค้าภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน การเชื่อมโยงระหว่างการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมด้วย

ต่อมาในเดือนกันยายน 2551 นายจอร์จ เอช. ดับเบิลยู.  บุช ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาเห็นว่า TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง และครอบคลุมในหลายประเด็น ทั้งการเข้าถึงตลาด การกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การค้าสินค้า การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การลงทุนและการบริหารทางการเงิน จึงประกาศว่าสหรัฐฯพร้อมที่จะเข้าร่วมด้วย แต่ก็ยังไม่มีอะไรจริงจัง ขณะที่ปีเดียวกันนั้นมีประเทศออสเตรเลีย เวียดนามและเปรู ได้ประกาศเข้าร่วมเพิ่มเติม จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายนปี 2552 นายบารัก โอบามา ได้ประกาศจะร่วมกับ TPP ในระหว่างการเยือนเอเชียและการเข้าร่วมประชุม APEC และในเดือนธันวาคม 2552 สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯได้แสดงความจำนงอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมกับ TPP หลังจากนั้น สมาชิกกลุ่ม TPP ก็ได้มีการจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่หลายครั้งในปีถัดมา จนกระทั่งในปี 2556 มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น สังเกตจะเห็นว่าว่ามีสมาชิกอาเซียนมีอยู่ 4 ประเทศที่เข้าร่วม คือ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ทั้งนี้ความตกลง TPP จะเป็นต้นแบบสำหรับการเจรจาทำความตกลงเปิดเสรีทางเศรษฐกิจการค้าในกลุ่ม APEC หรือ Free Trade Area of  the Asia Pacific : FTAAP ที่จะมีขึ้นในปี 2563 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า

สำหรับประเทศไทยแล้วภาคธุรกิจเอกชนไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยก็ผลักดันให้ภาครัฐตัดสินใจเข้าร่วมด้วย แต่การผลักดันไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากนักการเมืองในไทยสร้างปัญหาให้คนไทยเกิดความแตกแยก  เกิดการทุจริตคอรัปชั่น ไม่เคารพต่อกฎหมายบ้านเมืองจึงเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี 2557 และย้อนหลังไปในปี  2549 ประเทศไทยก็มีการปฏิวัติขึ้นเช่นกันด้วยเหตุผลเดียวกันด้วย ทำให้การเจรจาการค้าแบบทวิภาคีหรือการเจรจา FTA ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯต้องหยุดชะงักลง เพราะสหรัฐฯต้องการเจรจากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ก็ทำให้บรรยากาศไม่เอื้อต่อการเข้าเป็นสมาชิก TPP ดังกล่าว เนื่องจากการปฏิวัติได้คว่ำกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2550  และการยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารถือเป็นข้อติดขัดที่สำคัญในการเจรจา

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ข้อตกลงการค้า TPP ของสมาชิก 12 ประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ได้ผ่านความเห็นชอบขั้นสุดท้ายไปแล้ว  โดยครอบคลุมเกือบครบทุกด้าน จะมีข้อสงวนไว้น้อยมาก เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงฉบับนี้โดยสามารถกำจัดกำแพงภาษีสินค้าส่งออกของสหรัฐฯได้มากถึง 18,000 ชนิด และจะเกิดข้อบังคับด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านการคอรัปชั่นที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ขอบข่ายของข้อตกลงรวมถึงสินค้าผู้บริโภคและสินค้าอุตสาหกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา กฎข้อบังคับสำหรับการค้าขายทางอินเทอร์เน็ต หรือ ecommerce การส่งเสริมสิทธิของแรงงาน โดยเฉพาะการกำจัดแรงงานเด็ก ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองมนุษย์ สัตว์ หรือพืช หรือสุขภาพอนามัยด้วย ทั้งนี้แต่ละประเทศต้องผ่านขั้นตอนให้รัฐสภานำไปพิจารณาก่อนจึงมีผลบังคับใช้ได้

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการศึกษาข้อดีข้อเสียของ TPP ว่า ได้เสนอให้ที่ประชุมรับทราบแล้วว่าผลกระทบของการเข้าร่วม TPP หลักๆ จะมีอยู่ 2 ข้อ 1. ผลทางจิตวิทยาว่ามูลค่าการค้าภายในกลุ่มจะเพิ่มขึ้น และ 2. ผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยบางรายการ อย่างไรก็ตาม ในสมาชิก TPP ปัจจุบัน 12 ประเทศ มีที่ทำความข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) กับไทยแล้ว 9 ประเทศ เหลือเพียงสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกเท่านั้นที่ไม่มี FTA โดยไทยกับสหรัฐฯ มีระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) อยู่แล้ว ดังนั้น ผลกระทบของ TPP จึงยังไม่มากนัก

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ไทยเป็นสมาชิกความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RSEP) ที่เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคี 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แม้ขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศที่ร่วมโครงการ ASEP จะน้อยกว่า TPP แต่มีจำนวนประชากรมากกว่า ขณะที่สิ้นปี 2558 นี้ก็จะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และกว่าจะมีผลบังคับคงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี เพราะแต่ละประเทศต้องไปปรับระบบให้สอดคล้องกับความตกลง เราจึงยังมีเวลาในการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทย ขณะนี้จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจ

นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เดินนโยบาย “Strategic rebalance” ต่อเอเชีย จึงได้มุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์กับเอเชียในทุกมิติ  ทั้งด้านการทหาร การเมืองและเศรษฐกิจ รวมไปจนถึงการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ อาทิ ASEAN Regional Forum (ARF), Lower – Mekong Initiative (LMI), Trans Pacific Partnership (TPP) รวมทั้งสหรัฐฯพยายามกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงกับพันธมิตรในภูมิภาคด้วย และดูเหมือนว่าแม้การรวมกันในรูปแบบ TPP จะมีตลาดเล็กกว่าการรวมตัวกันของ ASEAN บวก 3 ด้านประชากรก็ตาม แต่หากในอนาคตข้างหน้าหากสามารถขยายได้ครอบคลุมมากขึ้น ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เหมือนกัน และต้องคอยดูต่อไปว่า นี่จะเป็นแผนปิดล้อมจีน หรือทำให้โลกบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีตามวัตถุประสงค์ขององค์กรการค้าโลกกันแน่

ญี่ปุ่นบอกว่าจีนน่าจะเข้าร่วมกับ TPP แต่จีนไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธเพียงแต่กระทรวงพาณิชย์จีนพูดว่า เป็นเรื่องที่ดี จีนเปิดกว้างสำหรับกลไกใดๆ ก็ตามที่ปฏิบัติตามกฎขององค์กรการค้าโลก และสามารถกระตุ้นการผนวกรวมด้านเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก จีนหวังว่าข้อตกลงนี้จะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ด้านการค้าและการลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิก

ไทยแม้ยังไม่ได้เป็นสมาชิก TPP และข้อตกลงดังกล่าวก็ยังไม่มีผลปฏิบัติ  ไทยก็อาจได้รับผลกระทบจากการทำความตกลง FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายได้ เว้นแต่ในกลุ่มอาเซียนบวก 3 ซึ่งหมายถึงอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลี หรือประเทศอื่นๆ ที่ไทยได้ทำ FTA ไว้แล้ว ส่วนไทยกับสหรัฐอเมริกานั้นการเจรจาด้าน FTA ยังไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อปี 2549 แต่ไทยยังคงได้ประโยชน์จาก GSP ที่สหรัฐฯให้ความอนุเคราะห์แก่ไทยมายาวนาน โดยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย Trade Preferences Extension Act of 2015 (H.R.1295) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงสิทธิพิเศษทางศุลกากร Generalized Scheme of Preferences (GSP) ที่ให้แก่ประเทศไทยซึ่งหมดอายุตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 ได้รับการต่ออายุถึงเดือนธันวาคม 2560 และในภาพรวม ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์จาก GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยกว่า 4,900 รายการ

TPP ที่สร้างกันขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกค้าขายกันอย่างเป็นธรรม ขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคของการค้าเสรีออกไป และคำนึงถึงมาตรฐานขั้นสูง อีกทั้งคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งแม้เป้าหมายสูงสุดจะไม่ได้ตั้งเอาไว้ให้ทุกประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนคงปรารถนาจะให้เกิดขึ้นจริงเป็นเช่นนั้น และ TPP ต้องพร้อมที่จะรับประเทศอื่นๆ หากปรารถนาที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย โดยวัดจากข้อเท็จจริงในการปฏิบัติ หากสมาชิกในกลุ่มเห็นว่าควรปฏิเสธการเข้าเป็นสมาชิกของประเทศหนึ่งประเทศใด  ก็น่าเสียดายที่การค้าของโลกไม่ได้มีมาตรฐานที่เป็นธรรมที่มีเพียงมาตรฐานเดียว ครับ

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ธปท. ชี้ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพแม้จีนจะลดดอกเบี้ย และอีซีบีคงดอกเบี้ย

ธปท. ชี้ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพแม้จีนจะลดดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้เงินยูโรปอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

               นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ ขณะที่มีการตัดสินนโยบายการเงิน 2 เรื่องใหญ่ คือ ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากระดับ 1.135 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร มาเคลื่อนไหวราว 1.10 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ (26 ต.ค.) โดยช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ตลาดให้ความสนใจต่อการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่ง ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.05

                อย่างไรก็ตาม ตลาดประเมินว่า ECB ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อยู่ และอาจกลับมาเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อกลุ่มยูโรโซนในระยะต่อไป ซึ่งทาง ECB จะทำการประเมิน และทบทวนนโยบายการเงินในการประชุมในเดือนธันวาคมนี้อีกครั้ง

              ส่วนการตัดสินนโยบายของธนาคารกลางจีนในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ต.ค.) ที่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี ลงร้อยละ 0.25 และปรับลดสัดส่วนกันสำรอง (RRR) ของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 0.5 สำหรับธนาคารที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้ SME และภาคชนบท ก็ถือว่าเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ทางการจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้า การประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาคส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเล็กน้อย

               สำหรับในอาทิตย์นี้ ตลาดยังติดตามผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมทั้งการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งจะมีการหารือกันถึงแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปีข้างหน้า

 จาก http://manager.co.th วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คลังชงครม.ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุน

รัฐมนตรีฯคลัง เล็งเสนอมาตรการกระตุ้นการลงทุนให้ ครม.พิจารณาก่อนหารือนายกฯลดอุปสรรคภาคธุรกิจ  ยืนยันไม่มีการนิรโทษกรรมภาษีแน่นอน แต่จะไม่มีการตรวจภาษีย้อนหลัง หากภาคธุรกิจทำบัญชีเดียว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ นโยบายของกระทรวงการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนออกมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มเช่นเดียวกับการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โดยเบื้องต้น คาดว่าจะเป็นมาตรการทางด้านภาษี ของผู้ที่จะต้องการลงทุน

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับการลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน เพื่อให้รัฐบาลหาแนวทางในการช่วยเหลือ และลดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น

รมว.คลังเผยไม่ย้อนหลังภาษีหากมีบัญชีเดียว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ภาคธุรกิจ มีความกังวลว่า จะมีการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หากร่วมดำเนินการบัญชีเดียวนั้น ยืนยันว่า จะดูแล SME โดยไม่มีการนิรโทษกรรมภาษีอย่างแน่นอน และจะไม่มีการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง แต่หากในระยะต่อไปกลุ่ม SME ยังดำเนินการไม่ถูกต้อง อาจจะมีการเรียกเก็บย้อนหลังได้ ทั้งนี้ มองว่าทำบัญชีเดียวนั้นจะส่งผลให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังเตรียมผลักดันในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงิน ซึ่งประกอบด้วย การชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้ความสะดวกสบายมากขึ้น ในการจับจ่ายใช้สอย และการทำบัญชีเดียวของ SME เพื่อให้กลุ่ม SME ที่ทำบัญชีไม่ถูกต้องเข้ามาทำให้ถูกต้องตามระบบ

 จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อตกลงค้าเสรีใหม่มาเเล้ว! "อาเซป"ฉลุย "พาณิชย์"มั่นใจ ศก.เหนือกว่า "ทีพีพี"

นอกเหนือจากการถกเถียงเรื่องการเข้าร่วม "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) หรือทีพีพี" ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นประโยชน์หรือไม่ ล่าสุดวานนี้  นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า   ขณะนี้ในส่วน การเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ระดับภูมิภาค (RCEP) หรืออาเซป มีสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ได้ข้อสรุปในการลดภาษีสินค้ากลุ่มแรกเหลือ 0% ทันที จำนวน 65% ของสินค้าที่มีการค้าขายในกลุ่มอาเซป ที่มีอยู่ประมาณ 8-9 พันรายการ และอีก 20% จะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี ส่วนสินค้าที่เหลืออีกประมาณ 15% ส่วนใหญ่เป็นสินค้า อ่อนไหว แต่จะเจรจาให้ปรับลดภาษีลงในระยะต่อไป

"การเปิดเสรีการค้าแม้ภาพรวมจะลดเหลือ 0% แค่ 65% แต่ไทยจะได้ประโยชน์ในแง่การสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเอฟทีเอที่อาเซียนทำกับ 6 ประเทศ ทำให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น"

ทั้งนี้ เชื่อว่า การเปิดเสรีการค้าแม้ภาพรวมจะลดเหลือ 0% แค่ 65% แต่ไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเอฟทีเอที่อาเซียนทำกับ 6 ประเทศ ทำให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ การเปิดเสรีในกรอบอาเซปจะช่วยผลักดันให้กลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกประสบความสำเร็จ สร้างประโยชน์ให้กับไทยในทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการค้าบริการ เพราะหากเทียบอาเซปกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) หรือทีพีพี ไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า เนื่องจากในกลุ่มอาเซปมีจีนกับอินเดียอยู่ด้วย แต่ในทีพีพีไม่มี

สำหรับการเจรจากรอบอาเซป เดิมตั้งเป้าการเจรจาให้จบภายในปีนี้ แต่ขยายระยะเวลาเจรจาเป็นปี 2559 และเริ่มบังคับใช้ในปี 2560 ซึ่งหากเจรจาสำเร็จจะเกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลังจัดประชุมพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย “SETA2016”  

 ยอดใช้พลังงานพุ่ง ทรัพยากรในประเทศขาดแคลน ภาครัฐ-เอกชนประสานความร่วมมือดึงต่างชาติร่วมเวทีพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย หรือ SETA 2016 ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการการ และการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดหาทางออกพลังงาน หวังผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้พลังงานที่ยั่งยืนของเอเชีย

               รศ.ดร.ธัชชัย สุมิตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย 2559 (SETA2016) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งองค์กรภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ได้ร่วมมือจัดการการจัดประชุม และนิทรรศการระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการพลังงาน และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย ประจำปี 2559 (SETA 2016) ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ

               ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าวเพื่อเป็นเวทีระดมความคิดหาทางออกในเรื่องพลังงาน ทั้งพลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงาน การกระจายเชื้อเพลิงให้เหมาะสม รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านพลังงาน การจัดการระบบผลิต และระบบส่งกระแสไฟฟ้า การใช้ในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน อีกทั้งเป็นการผลัดดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา และนำเสนอองค์ความรู้ของเอเชีย รวมถึงส่งเสริมนโยบาย และการวางแผนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรืองานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคง

               “คณะทำงานเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านพลังงาน เนื่องจากทรัพยากรภายในประเทศมีน้อยลง ประกอบกับการผลักดันโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหินยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 (มกราคม-กรกฎาคม2558) ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้พลังงานในปริมาณสูงถึง 46,333 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8 % คิดเป็นมูลค่ากว่า 638,366 ล้านบาท”

จาก http://manager.co.th วันที่ 25 ตุลาคม 2558

จีนจุดพลุความร่วมมือ2ลุ่มน้ำ จับมือ 5 ชาติอาเซียนริมน้ำโขงกระชับสัมพันธ์หลากมิติASEAN

จีนเปิดเกมรุกผนึก 5 ชาติอาเซียนสร้างกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครอบคลุมการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม นัดเปิดตัวเป็นทางการ 12 พฤศจิกายนนี้ที่เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองปันนา

นายจาง จิ่ว หวน อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ในฐานะรองประธานสมาคมการทูตสาธารณะแห่งประเทศจีน (China Public Diplomacy Association) ได้เปิดเผยถึงแนวนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะสร้างกลไกความร่วมมือใหม่ระดับนานาชาติในชื่อ “ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง” ระหว่าง 6 ชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องประกอบด้วย จีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อเร็วๆนี้

โดยอดีตทูตจีนกล่าวว่ากลไกความร่วมมือที่มีอยู่เดิมนั้นมีหลายกลไก เช่น กลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ GMS : Greater Mekong Subregion ที่มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก แต่ก็เป็นเพียงการแก้บางปัญหา ยังไม่ตอบสนองความต้องการของ 6 ประเทศได้จริง จึงต้องมีกลไกใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายครอบคลุมทุกด้าน

ขอบเขตของความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง มี 3 ด้านหลักคือ

1.การเมือง เน้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ลดความสงสัย สนับสนุนการใช้ประโยชน์ร่วมกันในแม่น้ำโขง

2.เศรษฐกิจ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งด้านการค้า การลงทุน

3.สังคม กระตุ้นการไปมาหาสู่กัน สร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชน รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม

 การพัฒนาและปัญหาของแม่น้ำโขงมีหลายมิติ นอกจากเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วม การขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว ยังมีปัญหาอาชญากรรมดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวใหญ่ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาด้านความปลอดภัยจากยาเสพติด การค้าของเถื่อน เป็นปัญหาร่วมกันที่กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน จึงต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศในการตรวจการแม่น้ำโขง ซึ่งความร่วมมือนี้มีอยู่แล้วและต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

“ความร่วมมือนี้จะช่วยให้ประชาคมอาเซียนก้าวคืบหน้าดียิ่งขึ้น สมาชิกอาเซียนเก่าเติบโตเร็ว สมาชิกที่เข้ามาใหม่เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา ยังพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า ความแตกต่างดังกล่าวมีผลต่อการรวมตัวของอาเซียน กลไกความร่วมมือนี้จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาทำให้กลุ่มอาเซียนใหม่พัฒนาดีขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของอาเซียน” นายจางกล่าว

กลไกความร่วมมือที่วางไว้นี้จะมี 3 ระดับ คือระดับผู้นำประเทศ ที่จะประชุมร่วมกัน 1-2 ปีต่อครั้ง ระดับรัฐมนตรี และระดับข้าราชการชั้นสูง โดยในวันที่ 12 พฤศจิกายนศกนี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ 6 ประเทศที่เมืองเชียงรุ่ง เขตสิบสองปันนา เพื่อเปิดกลไกความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ ในประเด็นจุดประสงค์ เป้าหมายความร่วมมือ

แม่น้ำโขงมีความยาวทั้งสิ้น 4,940 กิโลเมตร เชื่อมต่อ 6 ประเทศ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม อยู่ในเขตจีน 2,130 กิโลเมตร ช่วงที่อยู่ในจีนเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง หรือ “หลานชางเจียง”

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 24 ตุลาคม 2558

กล่อม'ชาวนา'ปลูกพืชอื่น ใช้น้ำน้อยเพื่อหนีภัยแล้ง

นายจิรชัย มูลทองโร่ย หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมกับผู้ตรวจราชการ 20 กระทรวง

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เห็นชอบแผนงานตรวจราชการแบบบูรณาการ ในปี 59 โดยมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการทุกกระทรวง ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับเกษตรกร ได้รับทราบถึงปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า พร้อมกับชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล โดยแนวทางหลักผู้ตรวจฯ ต้องหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกข้าวลง หรือเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชใหม่ให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งเหมือนในปีที่ผ่านมา

“เรื่องดังกล่าวเป็นข้อเสนอจากผู้ตรวจฯ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เสนอให้การตรวจราชการปีหน้า ต้องเน้นเรื่องการติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งควบคู่ไปกับงานตรวจด้านอื่นๆ ด้วย โดยชี้แจงนโยบายของรัฐบาลที่ออกมา 8 มาตรการ โดยเฉพาะการจูงใจให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกข้าว หันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีมูลค่ามากกว่าการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว

ซึ่งกระทรวงไหนมีภารกิจอย่างไรที่เกี่ยวข้องก็ให้ช่วยสนับสนุนกันด้วย ขณะเดียวกันนอกจากการให้ความรู้เกษตรกรแล้ว ยังต้องรณรงค์ให้ชาวบ้านใช้น้ำประปาอย่างประหยัดด้วย”นายจิรชัยกล่าว

ขณะเดียวกันยังกำหนดแนวทางการตรวจราชการเรื่องอื่น เช่น ติดตามโครงการที่ลงไปยังพื้นที่ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของรัฐบาล วงเงิน 136,000 ล้านบาท ผ่าน 3 มาตรการ คือมาตรการแรก คือ การส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน

ด้วยการให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อ แห่งละ 30,000 ล้านบาท วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กู้เงินต่อไปให้สมาชิกแบบปลอดดอกเบี้ย 2 ปีมาตรการที่ 2 คือ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลด้วยการให้กระทรวงมหาดไทย จัดสรรงบประมาณลงตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 แห่ง วงเงินรวม 36,275 ล้านบาทมาตรการสุดท้าย คือ มาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท ของรัฐทั่วประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท ของรัฐทั่วประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท

"ซึ่งทุกมาตรากรผู้ตรวจราชการแต่ละกระทรวงต้องติดตามผลการดำเนินงานว่า เงินที่ลงไปยังพื้นที่มีผลสำเร็จอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงรวบรวมรายละเอียดเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป"นายจิรชัยกล่าว

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม 2558

หนุนปลูกอ้อยอินทรีย์ ดีกว่าเคมีตันละ 100 บ.

ด้วยการปลูกอ้อยโรงงาน เกษตรกรใช้สารเคมีมากเกินความจำเป็น เริ่มตั้งแต่หลังจากไถเตรียมดินยกร่องจะฉีดยาคุมวัชพืช ใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้น อ้อยอายุได้ 2-3 เดือน ฉีดยาฆ่าหญ้าซ้ำ ใส่ปุ๋ยเคมีแต่งหน้า บางครั้งยังมีการฉีดยาป้องกันโรคแมลง และเมื่อถึงฤดูหีบอ้อยบางรายยังใช้วิธีเผาเพื่อเร่งตัดส่งเข้าโรงงานเข้าให้อีก

เพื่อปฏิวัติระบบการทำไร่อ้อยใหม่ ให้เกษตรกรลดต้นทุน หยุดการใช้ปุ๋ย-เคมีภัณฑ์ กลุ่มวังขนาย ได้ร่วมกับ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และ กรมส่งเสริมการเกษตร ศึกษารูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ โดยยึดหลักสากลของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ ภายใต้มาตรฐานไอโฟม (IFOAM : International Federation of Organic Agriculture Movements) ที่ทั่วโลกยอมรับ นำไปส่งเสริมนำร่องให้เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี, สุพรรณบุรี และลพบุรี เปลี่ยนมาปลูกอ้อยระบบอินทรีย์ เพื่อส่งแปรรูปทำน้ำตาลออร์แกนิก จำนวน 800 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวน 30,000 ไร่

สำหรับชาวไร่อ้อยที่เปลี่ยนหันมาปลูกอ้อยระบบนี้ ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย แนะว่า เกษตรกรต้องเริ่มแรกด้วยทำแนวป้องกัน จะใช้วิธีปลูกกล้วยเป็นแนวกำแพง หรือยกคันดินกันน้ำจากแปลงข้างเคียงไหลเข้ามาในแปลงตัวเอง จากนั้นเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อจะได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้ตรงกับความต้องการของดิน ควบคู่กับการใส่ฟิลเตอร์เค็กหรือขี้หม้อกรอง วัสดุเหลือใช้จาก การแปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำตาล ไร่ละ 10-20 ตัน ซึ่งทางบริษัทวังขนายจะแจกให้เกษตรกรนำไปใส่ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุฟอสฟอรัส (P)

การปลูกอ้อยด้วยระบบนี้เปรียบเทียบกับการปลูกแบบเคมี ดร.ณรงค์ บอกว่า ในปีที่ 1 ถ้าเป็นอ้อยเคมีหลังหักต้นทุนแล้ว เกษตรกรจะได้กำไรไร่ละ 4,750 บาท ส่วนอ้อยอินทรีย์จะได้แค่ 3,900 บาท แต่ในปีที่ 2 อ้อยเคมีจะได้ไร่ละ 5,400 บาท แต่อ้อยอินทรีย์จะได้ 7,200 บาท และยังสามารถไว้ตอได้ 5-6 ปี

“ตออ้อยนี่แหละคือกำไรล้วนๆที่เกษตรกรจะได้รับ ต่างจากการปลูกแบบเคมีจะไว้ตออ้อยได้แค่ 2-3 ปีเท่านั้น ส่วนราคารับซื้อในช่วง 1-3 ปี ทางบริษัทจะราคาสูงกว่าแบบเคมีตันละ50 บาท แต่ถ้าเกษตรกรทำได้ถึงขั้นได้ใบรับรอง GMP จากกรมวิชาการเกษตร บริษัทจะให้ราคารับซื้อสูงกว่าการปลูกแบบทั่วไปตันละ 100 บาท” ดร.ณรงค์ กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แจงสี่เบี้ย : สหกรณ์การเกษตรหัวหินส่งเสริมอาชีพสมาชิก พร้อมนำเอาเทคโนโลยี Coop Hub มาใช้

กว่า 30 ปี ที่สหกรณ์การเกษตรหัวหิน จำกัดแห่งนี้ ได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิก โดยสหกรณ์การเกษตรหัวหินได้รับจัดตั้งเป็นสหกรณ์เป็นประเภทสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2521 เพื่อแก้ไขปัญหาเงินทุนในการประกอบอาชีพ การขายผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ราคาต่ำ โดยมีสมาชิกแรกตั้ง 176 คน แบ่งสมาชิกเป็น 9 กลุ่ม มีทุนดำเนินงานแรกตั้ง 160 หุ้น เป็นเงิน 14,600 บาท

เมื่อตั้งเป็นสหกรณ์แล้วจึงดำเนินการด้านธุรกิจสินเชื่อ โดยเปิดวงเงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ตั้งแต่ปี 2522 มีวงเงินกู้ยืมเครดิตเงินสด 1,800,000 บาท ปล่อยให้สมาชิกกู้ 130 ราย เป็นเงิน 1,400,000 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกันกันเองซึ่งเป็นบุคคลภายในกลุ่ม ดำเนินธุรกิจมา 5 ปี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเนื่องจากสมาชิกยังขาดความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งคณะกรรมการส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังเข้าใจว่ารัฐบาลต้องคอยช่วยเหลือสหกรณ์ในหลายๆด้าน

ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรหัวหิน จำกัด ได้ดำเนินการให้บริการแก่สมาชิก 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การให้บริการด้านสินเชื่อ โดยการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งสหกรณ์ฯจะจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาให้สมาชิกกู้เพื่อลงทุนทำการเกษตร ทั้งนี้สหกรณ์ฯมีสินเชื่อ 3 ประเภท 1.เงินกู้ระยะสั้น / 2.เงินกู้ระยะกลาง / และ 3.เงินกู้ระยะยาว การพิจารณาเงินกู้จะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้ทันต่อความต้องการของสมาชิก 2.การให้บริการด้านเงินฝาก เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้คุณค่าและประโยชน์ของการออมทรัพย์ สหกรณ์ฯมีการให้สมาชิกฝากเงิน 2 ประเภท คือ 1.ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ / และ2.ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ชนิดพิเศษ 3.การให้บริการด้านการซื้อ สหกรณ์ฯจะจัดหาวัสดุการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์และสิ่งของจำเป็นมาจำหน่ายกับสมาชิก และ 4.การให้บริการด้านธุรกิจการขาย การรวบรวมผลผลิตของสมาชิกทำให้เกิดอำนาจต่อรอง ผลผลิตจะขายได้ในราคาที่สูงขึ้น สมาชิกไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้สหกรณ์ฯได้ดำเนินการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกคือ สับปะรด อ้อย และยางพารา จากสมาชิก โดยสหกรณ์จะจ่ายเงินเฉลี่ยคืนกับสมาชิกไม่เกินร้อยละ5 ต่อยอดรวบรวมผลผลิตการดำเนินงานที่ผ่านมาของสหกรณ์นั้นมีการล้มลุกคลุกคลานจนสมารถยืนขึ้นได้อย่างเข้มแข็ง เพราะหลายฝ่ายต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาให้คำปรึกษา ในวิธีการของสหกรณ์ที่ถูกต้อง จนในปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรหัวหินเป็นที่พึ่งที่สมาชิกต่างให้ความไว้วางใจ นอกจากจะให้ความมั่นคงด้านอาชีพแล้ว สหกรณ์แห่งนี้ยังมีสวัสดิการต่างๆให้กับสมาชิก อีกทั้งสหกรณ์ฯได้นำเอาโปรแกรมของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้ามาใช้ในการบริหารงาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีความถูกต้อง อีกทั้งมีโครงการนำร่องในการนำเอาโปรแกรม ค็อป ฮับ (Coop Hub) เพื่อให้สมาชิกและประชาชนทั่วไปเข้าตรวจสอบดูข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน หรือ ข้อมูลทั่วไปของสหกรณ์ว่าเป็นอย่างไร

ความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรหัวหิน จำกัด ที่ได้สร้างประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ให้กับสมาชิกและครอบครัว รวมทั้งชุมชน ภายใต้ความร่วมมือของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการที่ยึดหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการดำเนินกิจการต่างๆของสหกรณ์ ตามความต้องการของสมาชิก สิ่งที่ทำให้สหกรณ์การเกษตรหัวหิน จำกัด แห่งนี้ประสบความสำเร็จ คือ การร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้ง สมาชิก คณะกรรมการดำเนินการ และฝ่ายจัดการ ที่รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลและร่วมกันขับเคลื่อนสหกรณ์แห่งนี้ ให้เดินไปสู่เป้าหมายที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสมาชิกทุกคน เพื่อประโยชน์ของมวลสมาชิกและชุมชน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภัยแล้งฉุด ศก.การเกษตรวูบ

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 ปี 2558 (ก.ค.-ก.ย.58) พบว่า หดตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี 2558 สำหรับปัจจัยหลักทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 หดตัว ยังคงเป็นปัญหาภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูกหลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก มีไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร สร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวนาปี

สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ของไทย เนื่องจากระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานและสินค้ามีคุณภาพ ส่วนสาขาประมง การผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากปัญหาโรคตายด่วน (EMS) คลี่คลายลง ขณะที่การทำประมงทะเลประสบปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน การยกเลิกสัมปทานประมงในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายประมงอย่างเคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อการออกเรือไปจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเรือประมงขนาดเล็ก ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำที่จับได้ลดลง ขณะที่การผลิตประมงน้ำจืดลดลง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรบางส่วนต้องงดการเลี้ยงปลา มีการปล่อยลูกปลาน้อยลง หรือชะลอการเลี้ยงออกไป

ด้านนายคนิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวว่า หากจำแนกแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าว สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ลำไย มังคุด และเงาะ เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง สาขาปศุสัตว์ ในไตรมาส 3 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยสินค้าหลักทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดที่ยังคงเพิ่มขึ้น ประกอบกับระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ดี สาขาประมง ไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ในเดือนกรกฎาคม 2558 มีปริมาณ 11,542.30 ตัน ลดลงจาก 19,278.70 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2557 หรือลดลงร้อยละ 40.1 สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 3 ปี 2558 หดตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เป็นต้น

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สศอ.เร่งผลักดันอุตฯ สิ่งแวดล้อม

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ในจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปซึ่งมีกว่า 8,000 โรง เป็นโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจากกระทรวงอุตสาหกรรมมากกว่า 2,000 โรงงาน แต่เป็นโรงงานที่สามารถผลิตเพื่อส่งออกเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบดำเนินการยกระดับผู้ประกอบการในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เหลือที่มีความสนใจ โดยโครงการนี้จะให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิค รวมถึงการยกระดับองค์ความรู้ของบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย สามารถลดปริมาณของเสียจากการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินโครงการ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่เข้าร่วมโครงการในปี 2558 จำนวน 31 โรงงาน มีแนวทางลดต้นทุนการผลิต และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งหากได้ดำเนินการตามแนวทางที่แนะนำไว้ จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 23,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และตลอดระยะเวลา 3 ปี

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เตือนแชร์น้ำตาลระบาดชายแดนแม่สอด จ่อถก ส.อ.ท. แก้ปัญหา

ชายแดนแม่สอดคึกคัก ส่งออกน้ำตาลทรายไปเมียนมา ทะลัก 1 ล้าน กก./วัน ก่อนส่งต่อไปจีน หลัง 2 ด่านเชียงราย ปิด ขณะนายด่านเตือน แชร์น้ำตาลระบาด หวั่นเกิดปัญหา จ่อถก ส.อ.ท.-ผู้ประกอบการ 20 ต.ค. 58

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 58 ที่ด่านชายแดน อ.แม่สอด และใกล้เคียง ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์กองทัพน้ำตาลทรายทะลักจำนวนมาก ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ละวันจะมีน้ำตาลทรายผ่านเพื่อส่งออกไปยังฝั่ง จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา ไม่ต่ำกว่าวันละ 1,000 ตัน หรือ 1 ล้านกิโลกรัม นอกจากจะส่งผลให้เกิดความแออัดบริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แล้ว ตามท่าเรือผ่อนปรนต่างๆ อีกกว่า 20 แห่ง ก็พลอยแออัดไปด้วย

สาเหตุเนื่องจากด่านเชียงของ และด่านเชียงแสน จ.เชียงราย ที่เป็นจุดส่งออกน้ำตาลเข้าประเทศเมียนมา เพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีน มีการสั่งปิดการส่งออก จึงทำให้ผู้ค้าส่งออกน้ำตาลทราย ต้องหันมาส่งออกทางด่านชายแดนตากแทน

ทั้งนี้ นอกจากมีการส่งออกน้ำตาลทรายแล้ว ยังมีแชร์น้ำตาลทรายในพื้นที่จนระบาดไปทั่ว ซึ่งทางด่านศุลกากรแม่สอด ได้เตือนประชาชนให้ระมัดระวังการที่จะต้องสูญเสียเงินจากเรื่องดังกล่าวด้วย

นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ นายด่านศุลกากรแม่สอด เปิดเผยว่า ขณะนี้การส่งออกน้ำตาลทางด่านแม่สอดเพิ่มมากขึ้น เพราะด่านจังหวัดอื่นมีการระงับส่งออก ซึ่งในแต่ละวันจะมีรถบรรทุกเข้ามาจนทำให้การจราจรเกิดความแออัด แต่ก็เป็นผลดี เพราะส่งออกได้มากทำให้ยอดเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งเกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ราคา แต่ขณะนี้เกิดธุรกรรมผิดปกติ แบบแชร์ลูกโช่ เพราะผู้ได้โควตาจะนำมาเร่ขาย หลายๆ คนเก็บเงินมัดจำแล้วค่อยๆ ส่งน้ำตาลให้ ซึ่งนานไปหากไม่มีใครสั่งซื้อน้ำตาล ก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งวันพรุ่งนี้จะเชิญสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการส่งออกน้ำตาลทราย มาพูดคุย

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'บิ๊กฉัตร'จ่อตรวจศูนย์แก้ภัยแล้ง เผยน้ำ4เขื่อนหลักมี4พันลบ.ม.

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือพร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ (ศก.ชก.) ณ ห้อง War room 137 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการดำเนินงานตามโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2558 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 481 แห่ง มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 19,882 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 39  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 อ่างฯ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวม 4,047ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างรวม 43.82ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายรวม 4.48ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ว่าจะมีน้ำใช้การได้ไม่น้อยกว่า 3,677 ล้าน ลบ.ม. ณ วันที่ 1 พ.ย. 2558 ปัจจุบันมีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 370 ล้าน ลบ.ม.) เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำ ณ วันเดียวกันของปีที่แล้ว (20 ตุลาคม 2557, 6,777 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งพบว่า มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาวปริมาณฝนจะลดลง ดังนั้น ปริมาณน้ำใช้การได้จำนวน 4,047 ล้าน ลบ.ม จะต้องบริหารจัดการเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ ไปจนถึงเดือนเมษายน 2558 (อีก 6 เดือนข้างหน้า) ซึ่งทุกส่วนจะต้องใช้น้ำร่วมกันอย่างประหยัด โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ขณะที่สถานการณ์เพาะปลูกข้าว (ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2558 ,ปรับปรุงรายสัปดาห์) พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศทั้งในและนอกเขตชลประทานรวม 61.67 ล้านไร่ รอเก็บเกี่ยว (อยู่ในระยะช่วงอายุข้าว 90 - 120 วันซึ่งใช้น้ำน้อย) รวม 53.39ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 7.98ล้านไร่ (มีโอกาสปลูกต่อเนื่อง) ปลูกต่อเนื่อง 1.40 ล้านไร่ (จะเก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค. 58 - ม.ค. 59) มีความเสี่ยงสูง ซึ่งพื้นที่ทั่วไปนอกลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปี พอเข้าสู่ฤดูแล้งจะปรับตัวไปประกอบอาชีพนอกภาคเกษตรซึ่งเป็นวิถีปกติ 

สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่จะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำที่จะส่งผลถึงภาคส่วนอื่นๆ เช่น การอุปโภคบริโภค การรักษานิเวศน์ มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งในและนอกเขตชลประทานรวม 11.91 ล้านไร่ รอเก็บเกี่ยว (อยู่ในระยะช่วงอายุข้าว 90 - 120 วันซึ่งใช้น้ำน้อย) รวม 4.94ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 6.26ล้านไร่ (มีโอกาสปลูกต่อเนื่อง) ปลูกต่อเนื่อง 1.39 ล้านไร่ (จะเก็บเกี่ยวเดือน ธ.ค.58 - ม.ค. 59) มีความต้องการใช้น้ำจำนวน 382ล้าน ลบ.ม. จึงความเสี่ยงจะเสียหายสูงเนื่องจากน้ำจะไม่เพียงพอ

ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินงาน 8มาตรการ  ภายใต้วงเงินงบประมาณ รวม 11,000 ล้านบาท ในห้วง 6 - 21 ตุลาคม 2558 (15 วัน) แบ่งเป็น  1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยมี โครงการตามแผนชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้านการเกษตร เกษตรกรเป้าหมาย 412,430 ราย  - ช่วงวันที่ 9-22 ต.ค. 58 เกษตรกรพิจารณาเลือกเมนู 4 ด้านได้แก่ พืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว สัตว์ปีก กบ ปลาดุก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด - เริ่มดำเนินการฝึกอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิต ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58  - อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการ ลดค่าครองชีพโดยจำหน่ายสินค้าราคาเหมาะสม เป้าหมาย 400 ครั้ง เริ่มดำเนินการ 1 พ.ย. 58  ส่วน2,มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน ซึ่งมีเรื่องการ การลดหรือยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินอยู่ระหว่างดำเนินการ เรื่อง การให้สินเชื่อและการขยายระยะเวลาชำระหนี้ โดย  - ธ.ก.ส. เสนอบอร์ดเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 58 - ธ.ออมสิน เริ่มดำเนินการ 1 พ.ย. 58  ขณะเดียวกันยังมีเรื่อง การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ ส่วนมาตรการที่3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งมีเรื่องจ้างงานชลประทาน เป้าหมาย 106,939 ราย แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 28,195 รายพื้นที่นอกลุ่มเจ้าพระยา 78,744 ราย มีการจ้างงานแล้ว 10,505 ราย (ลุ่มเจ้าพระยา 260 ราย พื้นที่นอกลุ่มเจ้าพระยา 9,502 ราย) คิดเป็นเงิน 121.36 ล้านบาท เรื่อง จ้างงานเร่งด่วน กระทรวงแรงงานได้จัดสรรงบประมาณให้จังหวัดแล้ว 65 ล้านบาท (เป้าหมาย 95 ล้านบาท พื้นที่นอกลุ่มเจ้าพระยา) คงเหลือ 30 ล้านบาท

4.มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง - จัดทำแผนชุมชน 77 จังหวัด 882 อำเภอ 6,816 ตำบล แล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 58สรุปความต้องการได้ 38,166 โครงการ งบประมาณ 38,071.06 ล้านบาท ทั้งนี้ ทีมประเทศไทย จะสำรวจความต้องการและแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งทั้งประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้คณะกรรมการอำนวยการฯ เสนอครม.เพื่อพิจารณา

5. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ - สร้างการรับรู้โดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯระดับจังหวัด ใน 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วงวันที่ 9-22 ต,ค. 58  เป้าหมาย 201,646 ราย ผลสะสม (9-20ต.ค.) 104,924ราย (52%) ผลวันนี้ 17,895 ราย

6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนซึ่งมีตั้งแต่ การปฏิบัติการฝนหลวง วันที่ 19 ต.ค. 58 ขึ้นปฏิบัติการ 4 หน่วย ได้แก่ หน่วยฯจังหวัดเชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรีและอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีฝนตกในพื้นที่  6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ตาก (2.7) ลำพูน ลำปาง กาญจนบุรี และเพชรบุรี นอกจากนั้นยังมีเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล เป้าหมาย 5,997 แห่ง แบ่งเป็น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2,896 แห่ง นอกลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3,101 แห่ง อยู่ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จัดทำรายละเอียดเพื่อขอทำการตกลงกับสำนักงบประมาณ

7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  เป็นบริการภาครัฐ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และ8. มาตรการสนับสนุนอื่นๆ โดยมี การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ.2556 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งแผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน ธ.ก.ส. เสนอบอร์ดเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 58

ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 เพื่อเร่งรัด ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการทั้ง 8 ข้อ ให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ให้สามารถลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน ลดภาระการชำระหนี้ และสร้างรายได้จากการจ้างงาน สร้างอาชีพอื่นที่เหมาะสมกับภูมิสังคม สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมีมูลค่าสูง    อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการที่ภาครัฐเร่งรัดดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้แก่พื้นที่ที่จะประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว ก็ขอฝากเน้นย้ำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกข้าว หรือพืชที่ใช้น้ำมาก มาเป็นการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยอื่น ๆ ที่สร้างมูลค่าสูง หรือการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ และการประมงตามแหล่งน้ำที่ได้เตรียมไว้ จะช่วยลดความเสี่ยง ความเสียหายของพืชผล จากภาวะขาดแคลนน้ำในปี 2559 ได้ และอาจจะเป็นอาชีพใหม่ ๆ ที่มีรายได้มากขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รมช.เกษตรฯเผยมาตรการเข้ม ช่วยเกษตรกรยังยื่นไม่อัดฉีดเงิน

นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรจะเข้าสู่ครม.ในอีก 2 สัปดาห์ โดยมาตรการจะไม่อัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร แต่จะใช้วิธีเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งการประชุมวันนี้เกษตรกรขอให้ช่วยเหลือโดยตรง โดยการขอเป็นเงินโดยตรงเข้ากระเป๋า แต่ฝั่งรัฐบาลอยากให้ทำเป็นมาตรการที่ยั่งยืน

ส่วนมาตราช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 2,500 บาทต่อไร่ ต้องหาวิธีการว่าถ้าให้ไปแล้วเกษตรกรจะจัดสรรเงินอย่างไร จึงถือเป็นมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ส่วนเรื่องชดเชยส่วนต่างราคาทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยตกลงกันเป็นที่พอใจว่าจะไม่มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้รมว.เกษตรฯ เตรียม 6 มาตรการในการดูแลในการช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ เรื่องตลาดเพื่อรองรับยางพารา มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และการจัดการองค์กรที่เกี่ยวข้องกับยา

ขณะที่นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้  กล่าวว่า สิ่งที่เราเรียกร้องคือการช่วยเหลือ ซึ่งมติว่าต้องขัดกับประเด็นขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ไม่ก่อให้เกิดความหนักใจต่อรัฐบาล ความช่วยเหลือดังกล่าวได้หยุดเลือดที่ไหลของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเฉพาะคนกรีดยางที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือมาก่อน ในส่วนของภาคเกษตรกรก็ใช้วิธีที่ให้เขาสะท้อนมาว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่การกำหนดจากข้างบน ทั้งนี้เราพอใจเพราะการช่วยของรัฐบาลเพราะการช่วยเหลือไปถึงคนกรีดยางด้วย

นายสุนทร กล่าวต่อว่า การช่วยเกษตรในระยะสั้นต้องส่งเสริมความเข้มแข็ง และความมั่นคง ซึ่งการที่จะทำให้ยางราพาปรับราคาขึ้นนั้นเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นต้องทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่อย่างยั่งยืน จึงคิดหลักการปลูกพืชร่วมยาง ทำวนเกษตรแบบผสมผสาน รวมถึงลดระเบียบการปลูกยางจาก 80 ต้นเหลือ 40 ต้นต่อไร่ เพื่อให้พื้นที่สามารถปลูกพืชอื่นได้ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ขณะที่ระยะกลางเสนอให้นายกฯใช้มาตรา 44 สั่งให้มีการใช้ยางในประเทศเพื่อลดปริมาณยางที่ค้างอยู่ ส่วนระยะยาวเสนอให้ใช้พ.ร.บ.การยาง เป็นเครื่องมือและกลไกในการแก้ปัญหาต่างๆ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผู้ว่า ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง3ด้าน

"วิรไท" ผู้ว่าธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยง 3 ด้าน ห่วงจีดีพีไทยยังขยายตัวต่ำ พร้อมตั้งเป้าให้ธปท.เป็นธนาคารระดับสากล

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงาน “ผู้ว่าธปท. พบสื่อมวลชน” ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป มี 3 ด้าน คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลักมีความผันผวน โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ซึ่งหากมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทยพบว่ายังแข็งแกร่งและรองรับกรณีเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ร้อยละ 6 ของจีดีพี แม้อาจมีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่หากเทียบกับดุลบัญชีเดินสะพัดยังต่ำ ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรไทย มีร้อยละ 8-9 การพึ่งพาเงินต่างประเทศยังต่ำมาก ส่วนค่าเงินบาทของไทยแม้จะมีความผันผวนบ้าง แต่มีความผันผวนน้อยกว่าเงินสกุลอื่นๆเพราะบางประเทศ เช่น มาเลเซียได้รับผลบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยระยะสั้นมีความเสี่ยงด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ ( จีดีพี ) มากกว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยจีดีพี 2-3ปีข้างหน้ายังโตต่ำ หากเทียบ10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธปท.จะดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ให้เป็นอุปสรรค แต่ยอมรับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ 5-6 ปี จะทำให้ประชาชนไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง ฐานเงินออมประเทศต่ำ และอาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว

ส่วนเศรษฐกิจระยะกลางถึงระยะยาว จะมีการปรับโครงสร้างใหม่ เช่น การเพิ่มการลงทุนขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคุณภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มการแข่งขันในอนาคต. โดยสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นอกจากนี้ต้องยกระดับคุณภาพเกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรมากกว่าการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร

ส่วนการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดูแลเศรษฐกิจ มองว่าความเห็นต่างเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องปกติ และการแก้เศรษฐกิจไม่ได้มีสูตรเดียว ส่วนการทำงานของตนจะดำเนินการเหมือนผู้ว่าธปท.ในอดีตและจะพยายามทำตามหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้จะผลักดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารกลางที่ยอมรับระดับสากล (World Class ) และ สานต่อแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ภัยแล้งฉุดเศรษฐกิจการเกษตรQ3หด4.9%

สศก. เผย แล้งกระทบ ฉุดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ไตรมาส 3 หด 4.9% คาด ทั้งปียังหดตัว

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2558 พบว่า หดตัวลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ประกอบกับในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายพื้นที่ของประเทศยังคงประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก มีไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร สร้างความเสียหายต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด โดยเฉพาะข้าวนาปี

นอกจากนี้ ยังมีพืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ลำไย มังคุด และเงาะ โดยส่วนใหญ่ผลผลิตลดลง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ยังคงเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมทั้งสิ้น

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรมชลประทาน ชี้ ปี 59 แล้งหนักยาวนาน รุนแรงกว่าปีนี้ ยันระบายน้ำตามแผน ไม่ให้กระทบภาพรวม

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกับ รายการ ไอ.เอ็น.เอ็น.โฟกัสเศรษฐกิจ ว่า สถานการณ์ภัยแล้งปี 2559 จะรุนแรงและยาวนานมากกว่าปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำของกรมชลประทาน มีน้อย โดยน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการทำนาในลุ่มเจ้าพระยา แต่มีพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ปีนี้ก็สนับสนุนให้ทำพืชไร่ พืชผัก แต่นาปรังคงจะไม่ได้ ทั้งนี้ ทางกรมชลประทาน มีแผนการระบายอย่างชัดเจน เพราะหากระบายน้ำตามใจเกษตรกร ก็จะทำให้ภาคส่วนอื่น ๆ ได้รับผลกระทบได้

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เงินบาทอ่อนค่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 35.40/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (20/10) ที่ระดับ 35.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากเมื่อคืน (20/10) นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.โดยนางเยลเลนไม่ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หรือนโยบายการเงินตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้แต่อย่างใด ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้นั้น มีความเป็นไปได้ลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขที่แข็งแกร่ง ทางด้านตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ โดยเมื่อคืน (20/10) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านประจำเดือนกันยายนออกมาอยู่ที่ระดับ 1.206 ล้านยูนิต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.132 ล้านยูนิต และดีกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.150 ล้านยูนิต ทั้งนี้ ระหว่างวัน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.35-35.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1363/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (20/10) ที่ระดับ 1.1369/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของยูโรโซน ส่งผลให้ค่าเงินยูโรมีความกดดันน้อยลงเกี่ยวกับแนวโน้มที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนสิ้นปีนี้ โดยแนวโน้มในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ (22/10) นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความคิดว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะยังไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ แต่อีซีบีอาจจะส่งสัญญาณเพิ่มเติมในการกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงต่อไปในปีนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวระหว่าง 1.133-1.1382 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1344/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 119.89/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (20/10) ที่ระดับ 119.50/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ทางประเทศญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่ายอดส่งออกในเดือนกันยายนของญี่ปุ่นได้มีชะลอการเติบโตลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งการลดลงของยอดการส่งออกอาจส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงไตรมาสที่ 3/2558 โดยเมื่อวันอังคาร (20/10) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้เปิดเผยยอดส่งออกของญี่ปุ่น ประจำเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% หากเทียบเป็นรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.4% อีกทั้งยังชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 3.1% อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ได้ให้ความเห็นว่า ต่อการหดตัวลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นว่าเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของทางเศรษฐกิจในจีน ซึ่งความเห็นดังกล่าวก็สอดคล้องกับตัวเลขจีดีพีของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวเพียง 6.9% ในไตรมาส 3/2558 นับเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก ทั้งนี้ บีโอเจอาจจะปรับเปลี่ยนการคาดการณ์เศรษฐกิจในที่ประชุมกำหนดนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคมนี้ และนักลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกอาจจะถ่วงเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ตกต่ำลงและจะเป็นปัจจัยสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลญี่ปุ่นให้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางการเงินและการคลังเพิ่มเติมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 119.60-120.07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 120.02/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

 ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรปประชุมและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (22/10), ยอดขายบ้านมือสองเดือนกันยายนของสหรัฐ (22/10), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนกันยายนจาก Conference Board ของสหรัฐ (22/10), ดัชนีภาวะทางธุรกิจที่มีการปรับทบทวนเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (23/10) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนตุลาคมของสหรัฐ (23/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +4.20/4.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.00/6.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผอ.2 เขื่อนยักษ์ย้ำน้ำเหลือน้อย!

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 20 ต.ค. นายวีระศักดิ์ ศรีกาวี ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พร้อมนายประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่ทรัพยากรน้ำภาค 7 พร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขื่อนศรีนครินทร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงเขื่อนวชิราลงกรณ และ พ.อ.เรืองศักดิ์ อรรคทิมากูล รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 พ.อ.สมจิตร คำประพันธ์ หัวหน้าสำนักงานผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 (หน.สง.ผบ.พล.ร.9) ค่ายสุรสีห์ ร่วมประชุมเพื่อหารือเรื่องแนวทางการประชาสัมพันธ์การบริหารการจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กลองให้มีประสิทธิภาพ ที่ห้องประชุม 2 อาคารสำนักงานเขื่อนศรีนครินทร์ หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยมีนายพิศิษฐ์ ยินดีวี เครือข่ายประชาชนภาคประชาสังคม จ.กาญจนบุรี พร้อมทีมงานเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นสำหรับการประชุมในครั้งนี้

การประชุมเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานได้กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์น้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ผลสรุป พบว่าปริมาณน้ำที่เหลือใช้ในลุ่มน้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2558 ที่เขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันมีน้ำใช้งานได้ จำนวน 2,613 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34.94% ส่วนที่เขื่อนวชิราลงกรณ ปัจจุบันมีน้ำใช้งานได้ จำนวน 2,577 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 44.06% ซึ่งปริมาณน้ำจากทั้ง 2 เขื่อนที่ระบายลงสู่แม่น้ำแม่กลอง จำนวน 5,190 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน วันที่ 31 ต.ค.2558 กรณีน้ำน้อยที่สุด อยู่ที่จำนวน 4,433 ล้านลูกบาศก์เมตร กรณีน้ำน้อย อยู่ที่จำนวน 5,333 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อนำมาเฉลี่ยกันจะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่จะนำไปใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 5,752 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ดังนั้น ต้องประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องภาคเกษตรกรให้หยุดทำนาปรัง และหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน และจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารจากกรมชลประทานเป็นหลัก นายวีระศักดิ์ ศรีกาวี ผอ.เขื่อนศรีนครินทร์กล่าวท้ายสุด.

จาก  http://www.thairath.co.th  วันที่  21  ตุลาคม  2558

เขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ โครงการแก้ปัญหาเอาไฟฟ้าไปแลกกับน้ำ

ด้านมูลค่าผลิตผลที่นำมาบริโภค รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 17,016 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่มาจากด้านพืช 15,196 บาท โดยเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรของครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 77

จากการติดตามประเมินผลตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2558 ในโครง การเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีเพาะปลูก 2557/58 ระหว่าง วันที่ 1 พฤษภา คม 2557–30 เมษายน 2558 ของกรมชล ประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการผลิตโดยการสุ่มตัวอย่าง และเก็บข้อมูลจากเกษตรกร 400 ครัวเรือน รวม 3 อำเภอ 14 ตำบล ที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรบริเวณฝั่งขวาของเขื่อนทดน้ำผาจุก ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 เมื่อวันก่อนนายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่2จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อการสำรวจ พบว่าเกษตรกรมีรายได้เงินสดจากการปลูกพืชรวมเป็นเงินเฉลี่ย 245,160บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปีจำนวน 103,391 บาท รองลงมาเป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปรังจำนวน 51,108 บาท และอ้อยโรงงาน จำนวน 68,163 บาท

ด้านรายจ่ายเป็นเงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน173,109บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงค่าน้ำมัน ค่าจ้างแรงงานในการทำนาปี 81,947 บาท รองลงมาเป็นรายจ่ายทำนาปรัง 41,125 บาท และรายจ่ายปลูกอ้อยโรงงาน 38,681 บาท

ด้านมูลค่าผลิตผลที่นำมาบริโภครวมทั้งสิ้นเท่ากับ 17,016 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่มาจากด้านพืช 15,196 บาท โดยเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรของครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ77เฉลี่ย 8,277 บาทต่อครัวเรือน โดยแยกเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ 5,297 บาท และ ค่าไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำ 2,668 บาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

นอกจากนี้ เกษตรกรเห็นว่า โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นโครง การที่ตรงกับความต้องการของตน เองในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 59 เห็นว่ามีความเหมาะสมกับพื้นที่และช่วยให้มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับมากเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ54 ส่วนหนี้สินนั้นซึ่งเป็นข้อมูลการสำรวจ ณ วันที่ 30 เมษายน 2558

 ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 74 เฉลี่ย 242,317 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ จำนวน 237,324 บาท คิดเป็นร้อยละ 73 และหนี้นอกระบบ จำนวน 4,993 บาททั้งนี้ทัศนคติของเกษตรกรเห็นว่าโครงการฯ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาด แคลนน้ำในช่วงฤดูฝนหรือฝนทิ้งช่วง คิดเป็นร้อยละ71โดยความคาดหวังของเกษตรกรต่อการผลิตด้านการเกษตรภายหลังมีโครงการฯส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 63 และคาดหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อทำการเกษตรได้ คิดเป็นร้อยละ 82 เช่น คาดว่าจะช่วยให้มีน้ำเพียงพอเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง และทำให้มีจำนวนรอบของการผลิตเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย ในการจัดหาน้ำ คือลดทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าในการนำมาใช้เป็นพลังงานเพื่อสูบน้ำทำการเกษตรลงไปได้ ซึ่งเมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จก็จะสามารถหยุดการใช้น้ำมันและไฟฟ้ามาแลกกับน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ควบคู่กับการลดหรือบรรเทาภัยจากน้ำท่วม และสามารถขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย.

จาก http://www.dailynews.co.th    วันที่  21  ตุลาคม  2558

สั่ง5เขื่อนโคราชปล่อยน้ำช่วยเกษตรกร

นครราชสีมา-ชลประทานสั่ง5เขื่อนหลักปล่อยน้ำหลังหยุดการส่งจ่ายมา1เดือนแนะสูบน้ำดิบให้แหล่งกักเก็บเต็มตลอดเวลา

นายชิตชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวว่า สำนักงานชลประทานได้สั่งการให้ทุกเขื่อนหลักทั้ง5แห่ง

ระบายน้ำออกจากเขื่อน เพื่อจัดส่งน้ำไปช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ เป็นครั้งแรก หลังจากที่หยุดระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นระยะเวลาเกือบ 1 เดือน ซึ่งการจัดส่งน้ำครั้งนี้บางส่วนได้ส่งน้ำไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานเพื่อการหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังออกรวง และใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากการขาดน้ำและยืนต้นตาย

นอกจากนี้ สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ได้ประสานให้โรงผลิตน้ำประปาในแต่ละพื้นที่ได้มีการเร่งดำเนินการสูบปริมาณน้ำดิบที่ได้มีการจัดส่งออกไป เข้าไปกักเก็บในแหล่งกักเก็บน้ำให้เต็มอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบแต่หากในพื้นที่ใดที่ได้มีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ากักเก็บน้ำจนเต็มความจุ ทางชลประทานก็จำเป็นที่จะต้องมีการลดปริมาณน้ำออกจากเขื่อน ทั้งนี้ก็เพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ในการติดตามปริมาณน้ำที่ได้มีการจัดส่งออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในการระบายน้ำลงสู่ที่ต่ำ

ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำภายในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำกักเก็บรวมอยู่ที่ 580.92 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ หรือมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้อยู่ที่ 251.22 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ ของความจุกักเก็บทั้งสิ้น 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร

จาก  http://www.posttoday.com    วันที่  21  ตุลาคม  2558

ปภ.แจงคืบหน้าการติดตามสถานการณ์น้ำ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจงคืบหน้า การติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมร่วมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า หลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 และ 6 ตุลาคม 2558 ให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด และพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 55 จังหวัด ตามกรอบแนวทาง 8 มาตรการสำคัญ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งใน 3 มาตรการ คือ มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ มุ่งเน้นการจ้างงานประชาชนในการป้องกัน ยับยั้ง หรือลดความเสียหายจากสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการในเชิงป้องกัน หรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินจังหวัดละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วจำนวน 24 จังหวัด รวมวงเงินงบประมาณกว่า 102 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ในพื้นที่ประสบภัย, มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติประสานฝ่ายปกครองจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้จังหวัดใช้ในการวางแผน กำหนดกรอบแนวทางและเสนอโครงการฯ ส่งให้กระทรวงมหาดไทย รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ โดยดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ในกรอบวงเงินทดรองราชการฯ จังหวัดละ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างเข้มข้นทุกพื้นที่ เพื่อเชื่อมโยงการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชนที่ประสบภัย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งในทุกมิติ

จากhttp://www.innnews.co.th   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

โครงการ 1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 สหกรณ์การเกษตร ปรับกลยุทธ์ “การตลาด นำการผลิต” ตั้งเป้า 100 สหกรณ์ฯ ภายในปีนี้

          นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทุกภาคส่วนจึงเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร ซึ่งหอการค้าฯ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน จึงได้กำหนดให้เป็น พันธกิจหลัก 1 ใน 3 ขององค์กร "ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างธรรมภิบาล และรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน"ที่ผ่านมาหอการค้าทั่วประเทศได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกร ซึ่งมีการดำเนินงานผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่ "โครงการทำนา 1 ไร่ได้เงิน1 แสน" ครอบคลุมพื้นที่ 67 จังหวัด และ "โครงการ 1 บริษัท ดูแลอย่างน้อย 1 ชุมชน" จำนวน 133 โครงการ ซึ่งอยู่ในการดูแลของสมาชิกหอการค้าฯ 69 บริษัท ในพื้นที่ 59 จังหวัด

          นายอิสระ กล่าวว่า ระบบสหกรณ์การเกษตรของไทยมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์การเกษตรกว่า 3,800 แห่ง มีสมาชิกกว่า 6 ล้านคน และเงินทุนดำเนินงานประมาณ 2.3 แสนล้านบาทต่อปี แต่การบริหารจัดการระบบสหกรณ์ยังขาดความเข้มแข็ง สมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีความรู้เฉพาะด้านการเกษตร ยังมีช่องว่างในการปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารจัดการ การทำการตลาดตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Move Up the Value Chain) หากเกษตรกรได้มีการพัฒนาในส่วนนี้ จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้น จะเกิดประโยชน์ต่อสมาชิกสหกรณ์ และต่อเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างมหาศาล

          หอการค้าฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของระบบสหกรณ์ฯ จึงได้ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรผ่าน โครงการ "1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 สหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการของภาคธุรกิจ เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทำการวิจัย และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ในขณะนี้ ได้เข้าไปช่วยเหลือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมกับหอการค้าจังหวัดและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งแล้ว และประสบผลสำเร็จ ซึ่งหอการค้าไทยมีเป้าหมายที่จะเข้าไปดูแล 100 สหกรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2559

          นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า สหกรณ์ได้เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร หากสามารถดำเนินงานตามระบบแล้ว สหกรณ์จะเป็นหน่วยขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

          สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ 1 หอการค้า ดูแลอย่างน้อย 1 สหกรณ์การเกษตร นั้น หอการค้าไทยจะเข้าไปช่วยเหลือ หรือขับเคลื่อนเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ จะต้องมีเครือข่ายร่วมเข้าร่วมดำเนินงานในหลาย ๆภาคส่วน โดยขณะนี้ หน่วยงานที่สำคัญ คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่จะเป็นหน่วยงานกลาง ในการประสานงานในการเข้าไปดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด ในขณะนี้ มีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 29 แห่ง โดยมีหอการค้าจังหวัดดูแลรับผิดชอบ จำนวน 17 หอการค้าจังหวัด

          นายสมเกียรติ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดที่ได้เริ่มดำเนินโครงการต้นแบบ ได้แก่ หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก มีรูปแบบ การพัฒนาการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตามตลาดที่ต้องการ โดยได้กำหนดบทบาทหน้าที่การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน และกำหนดขั้นตอนข้อปฏิบัติของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ และมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโรงการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม ประมาณ 34 เปอร์เซนต์

          นอกจากนี้ ยังมีหอการค้าจังหวัดอ่างทอง ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบ การตลาด นำการผลิต โดยจะใช้วิธีการสำรวจปริมาณความต้องการตลาด เพื่อนำมาให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการผลิตสินค้าตามปริมาณของตลาด และได้ขยายพื้นที่ไปในหลายจังหวัดด้วยกัน

          นางนุชจรินทร์ ศรีทองพนาบูลย์ ประธานอาวุโส หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ได้ริเริ่มดำเนินการโครงการเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา จนประสบผลสำเร็จได้ โดยเริ่มต้นมาจากสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม และสหกรณ์การเกษตรนิคมบางระกำ ประสบปัญหาในการดำเนินงาน และเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นดำเนินงาน โดยผ่านโครงการ "ผลิตข้าวคุณภาพ ตลาดทางเลือกของชาวนาผ่านกลไกสหกรณ์ ขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ของ กอ.รมน. ที่มีการควบคุมการผลิตของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม สูงขึ้นประมาณ 34 เปอร์เซนต์

          คณะทำงานได้ขยายผลโครงการ ฯ ไปยังสหกรณ์การเกษตรภายในกลุ่มจังหวัดของภาคเหนือ โดยมีสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย สหกรณ์วังชิ้น จังหวัดแพร่, สหกรณ์การเกษตรเมืองอุตรดิตถ์, สหกรณ์การเกษตรลับแล, สหกรณ์การเกษตรตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์, สหกรณ์การเกษตรหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์, สหกรณ์การเกษตรสามง่าม จังหวัดพิจิตร, สหกรณ์การเกษตรบ้านตาก จังหวัดตาก และกลุ่มเกษตรกรการผลิตข้าวอินทรีย์ จังหวัดนครสวรรค์

          นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ กรรมการคณะกรรมการลดความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจพอเพียง หอการค้าไทยกล่าวว่า เป้าหมายของการจัดตั้งสหกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพ เพิ่มรายได้และลดต้นทุน ในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์สำหรับอ้อย นั้น การรวมกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็ก เข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อที่โรงงานสามารถเข้าไปพัฒนาและให้การสนับสนุนได้สะดวก เช่น การสนับสนุนเงินทุนผ่านระบบสินเชื่อของโรงงานน้ำตาล , การสนับสนุนปัจจัยการผลิต , การรวมกลุ่มสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ หากมีการรวมกลุ่มจะทำให้สามารถต่อรองได้ และต้นทุนต่ำลง รวมทั้งการที่โรงงานเข้าไปช่วย เช่น การจัดตั้งสถานีขนถ่ายย่อย ชาวไร่อ้อยจึงสามารถตัดอ้อยได้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านแรงงาน , การขอรับการสนับสนุนเรื่องระบบน้ำ เช่น เรื่องการขอรับการช่วยเหลือเรื่องระบบชลประทาน หากมีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำของสหกรณ์สามารถเจรจากับปั้มน้ำมันเรื่องขอลดราคาค่าน้ำมันได้ โดยโรงงานเข้าไปรับรองให้ความมั่นใจในเรื่องการชำระเงินให้

          สำหรับตัวอย่างของการสนับสนุนสหกรณ์ชาวไร่อ้อย รวมสมาชิกสหกรณ์ชาวไร่อ้อยจำนวนประมาณ 5,000 ราย ได้แก่ สหกรณ์ลำน้ำพรม มีสมาชิกจำนวน 2,877 ราย , สหกรณ์ขอนแก่น มีสมาชิกจำนวน 1,097 ราย ,และสหกรณ์เลย มีสมาชิกจำนวน 920 รายหมายที่จะเข้าไปดูแล 100สหกรณ์ ภายในปี พ.ศ. 2559

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เขื่อนเจ้าพระยาระดับน้ำเริ่มลด เตือนเกษตรกรกักเก็บไว้ใช้

สถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาที่จุดวัดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปรากฏว่าระดับน้ำเริ่มลดลง โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนลดลง 14ซ.ม. ไปอยู่ที่ 16.21 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.)  ส่วนท้ายเขื่อนลดลงไปอยู่ที่ 8.03 ม.รทก. โดยเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับลดการระบายน้ำลงเหลือ 310 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วิ)

นายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยาเปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่น้อยลง เมื่อตรวจสอบที่จุดวักน้ำ อ.เมืองนครสวรรค์อยู่ที่ 617ลบ.ม./วิ ประกอบกับฤดูฝนจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ รวงมทั้งสถานการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ทั้งเขื่อนภูมิพล ที่มีปริมาณน้ำ 4,923ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของความจุเขื่อน ใช้งานได้จริง 1,123 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 8 ของปริมาณน้ำปัจจจุบัน เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 4,821 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 สามารถใช้งานได้จริง 1,971 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 21 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ391 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ใช้งานได้จริง 348 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 608 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจะเขื่อน ใช้งานได้จริง 605 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของปริมาณน้ำปัจจุบัน ซึ่งโดยภาพรวมไม่สามารถจัดสรรเพื่อการเพาะปลูกได้นอกฤดู เกษตรกรจึงควรเร่งกักเก็บน้ำในแหล่งต่างๆเช่นบึง สระ หรือภาชนะกักเก็บ ไว้ใช้หน้าแล้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำปศุสัตว์และพืชสวน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จากภาวะภัยแล้งที่กำลังคืบคลานเข้า

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เปิด 'โรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร และโรงไฟฟ้าชีวมวล 

          คุณอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิด 'โรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร และโรงไฟฟ้าชีวมวล' โดยมี คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ทีซีซี, คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัท ทีซีซี, ท่านปลัดสมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ พล.ท.สมศักดิ์ นิลบรรเจิดกุล แม่ทัพภาคที่ 3, คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท คริสตอลลา, คุณขจร เทพย์ปฏิพัธน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มบริษัท คริสตอลลา ให้การต้อนรับ ณ โรงงานน้ำตาลทิพย์ จ.กำแพงเพชร

จาก Society News วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เปิดผลประเมินเขื่อนทดน้ำผาจุก สศท.2ชี้แก้ปัญหาตรงจุด-เกษตรกรได้ประโยชน์

นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2558 ในโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีเพาะปลูก 2557/58

 (1 พฤษภาคม 2557 - 30 เมษายน 2558) ของกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการผลิต โดยการสุ่มตัวอย่าง และเก็บข้อมูลจากเกษตรกร 400 ครัวเรือน รวม 3 อำเภอ 14 ตำบล (ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2558) ที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรบริเวณฝั่งขวาของเขื่อนทดน้ำผาจุก

จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรมีรายได้เงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน 245,160 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นรายได้

 จากการปลูกข้าวเจ้านาปีจำนวน 103,391 บาท รองลงมาเป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปรังจำนวน 51,108 บาท และอ้อยโรงงาน จำนวน 68,163 บาท

ด้านรายจ่ายเงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน 173,109 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่ เป็นค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย/ยา ค่าน้ำมัน ค่าจ้างแรงงานในการทำนาปี 81,947 บาท รองลงมาเป็นรายจ่ายทำนาปรัง 41,125 บาท และรายจ่ายปลูกอ้อยโรงงาน 38,681 บาท

ด้านมูลค่าผลิตผลที่นำมาบริโภค รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 17,016 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่มาจากด้านพืช 15,196 บาท โดยเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรของครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 77 เฉลี่ย 8,277 บาท/ครัวเรือน โดยแยกเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ 5,297 บาท และ ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ 2,668 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกจากนี้ เกษตรกรเห็นว่า โครงการดังกล่าว ตรงกับความต้องการในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 59 มีความเหมาะสมกับพื้นที่และช่วยให้มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับมากเท่ากันคิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนหนี้สิน (ณ 30 เมษายน 2558) คิดเป็นร้อยละ 74 เฉลี่ย 242,317 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ คิดเป็นร้อยละ 73 (หนี้ในระบบ จำนวน 237,324 บาท และหนี้นอกระบบ จำนวน 4,993 บาท)

ทั้งนี้ ทัศนคติของเกษตรกร เห็นว่าช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝน/ฝนทิ้งช่วง คิดเป็นร้อยละ 71 โดยความคาดหวังของเกษตรกรต่อการผลิตด้านการเกษตรภายหลังมีโครงการ ส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 63 และคาดหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อทำการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 82 เช่น คาดว่าจะช่วยให้มีน้ำเพียงพอเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง มีจำนวนรอบการผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำ ลดหรือบรรเทาภัยจากน้ำท่วม และขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

พาณิชย์เตรียมเรียกเอกชนหารือส่งออก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หรือเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2558 นี้จะทยอยเชิญผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ 4-5 เซ็กเตอร์ เช่น กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร อัญมณี และสุขภาพ เข้ามาหารือถึงความคืบหน้าสถานการณ์ส่งออก ก่อนจะสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

โดยก่อนหน้านี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้หารือกับผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ ไปแล้วก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง และการหารือครั้งใหม่จะเป็นการอัพเดทข้อมูล และเจาะปัญหาอย่างเจาะจงมากขึ้น เช่น อัญมณีที่ติดปัญหาภาษี กระทรวงพาณิชย์จะมีหน้าที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ให้ส่งออกได้ในปริมาณและมูลค่าที่มากขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์และกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เพื่อเพิ่มส่งออก ซึ่งภาครัฐและผู้ผลิตรถยนต์ในไทย จะเร่งเจรจาโดยตรงกับบริษัทแม่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ในญี่ปุ่น, ยุโรปและอเมริกา ให้จัดสรรการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกจากไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลังจากพบว่าผู้ผลิตรถยนต์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนกำลังเจรจากับบริษัทแม่ให้เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ เช่น กรณีที่ค่ายรถยนต์ได้ย้ายฐานผลิตรถยนต์บางรุ่นไปอินโดนีเซีย เป็นต้น ทั้งนี้หากบริษัทแม่ตกลง ก็จะทำให้เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้ายานยนต์ของไทย แต่ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยมองว่า ไทยยังคงได้เปรียบหลายประเทศ เพราะมีแรงงานฝีมือ และมีฐานการผลิตที่ใหญ่

ในขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชน จะส่งเสริมแผนการให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถบรรทุก เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทแม่ไปลงทุนผลิตรถบรรทุกในประเทศอื่น อีกทั้งจะให้ความสำคัญกับรถกระบะ ซึ่งเป็นรถยตน์ที่มีการส่งออกจำนวนมาก เพื่อเป็นฐานการส่งออกอย่างยั่งยืน รวมถึงจะส่งเสริมนโยบายการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ด้วย

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

หออีสานปัดฝุ่นผันน้ำโขง แก้ปัญหาน้ำแล้ง 20 จังหวัด/พื้นที่เกษตร 30 ล้านไร่

หอการค้าภาคอีสาน เดินหน้าผลักดันเมกะโปรเจ็กต์ โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงแก้ปัญหาภัยแล้ง เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศต้นเดือนพ.ย.นี้ที่จังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรจุไว้ในแผนพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืน เผยหากพัฒนาเต็มรูปแบบจะสามารถป้อนน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 20 จังหวัดภาคอีสาน คลุมพื้นที่การเกษตร 30 ล้านไร่

นายสมชัย ไกรครุฑรี ที่ปรึกษาหอการค้าไทย และอดีตประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย ครั้งล่าสุดที่จังหวัดเลย ซึ่งมีหอการค้าจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัดเข้าร่วมประชุม มีมติเห็นชอบในการนำผลการศึกษาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เข้าที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2558 ที่จังหวัดอุดรธานี เป็นเจ้าภาพ โดยจะนำเสนอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าบรรจุเอาไว้ในแผนพัฒนาภาคอีสานอย่างยั่งยืนต่อไป

“ที่ประชุมหอการค้าภาคอีสาน หอการค้าจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ได้เสนอให้มีการนำเอาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นโครงการเดิมที่เคยมีนักวิชาการเสนอความคิดและโครงการให้กับทางรัฐบาล เมื่อปี 2544 และต่อมาเมื่อ ปี 2551 คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีเห็นชอบให้กรมทรัพยากรน้ำ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการศึกษารายละเอียด โดยกระทรวงการคลังได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,151 ล้านบาท มาดำเนินการศึกษาและออกแบบ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555”

สาเหตุที่มีการนำเสนอโครงการดังกล่าว เป็นเพราะสภาพปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการจัดการบริหารน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปลี่ยนแปลงไปมาก และส่งสัญญาณเตือนความเดือดร้อนให้เห็นแล้วทุกแห่ง(ดูตารางปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ) หอการค้าจังหวัดหนองบัวลำภูในฐานะของผู้นำเอกชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยผ่านทางองค์กรภาครัฐและเอกชนหลายองค์กร จึงเห็นว่าโครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขง Water Grid System ซึ่งเป็นแนวความคิดของนักวิชาการน้ำ ที่ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2551 แล้ว เป็นโครงการที่ควรผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันเฉียงเหนืออย่างเป็นรูปธรรม

นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า ทางหอการค้าจังหวัดอุดรธานีพร้อมด้วยหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดหนองบัวลำภู เลย หนองคาย และอุดรธานี ได้ร่วมกันผลักดันและติดตามโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงมาโดยตลอด และทุกครั้งที่มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ได้มีการนำเข้าเรื่องนี้เข้าที่ประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ

“ผมเองไม่มีความรู้เรื่องของน้ำ แต่ก็ได้รับความรู้จากนักวิชาการ โดยเฉพาะ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทานว่า เนื่องจากว่าพื้นที่ภาคอีสานนั้นใหญ่เป็นที่ 3 ของประเทศ แต่มีปัญหามากในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ที่ผ่านรัฐบาลหลายสมัยได้มีความพยายามเข้ามาทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้เห็นว่าโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงนั้น น่าที่จะเป็นโครงการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำของภาคอีสาน หากสามารถทำได้สำเร็จ ก็จะทำให้ภาคอีสานเป็นอีสานเขียวได้ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล”

โครงการดังกล่าวมีแนวความคิดที่จะใช้แรงโน้มถ่วงตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ชลประทานของภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด โดยมีจุดเริ่มต้นผันน้ำอยู่ที่การปรับปรุงปากแม่น้ำเลย อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ซึ่งเป็นจุดสูงสุด ทำการผันน้ำผ่านคลองชักน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำ ไปยังอุโมงค์ผันน้ำ เพื่อที่จะไปลงในพื้นที่ของจังหวัดหนองบัวลำภู และพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ต่อไปยังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น ต่อไปยังอุโมงค์ผันน้ำชี มูล แล้วกระจายน้ำออกไปยังเครือข่ายในทุกพื้นที่จำนวน 17 จังหวัด 113 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 30.64 ล้านไร่ หากโครงการดังกล่าวได้มีการพัฒนาเต็มศักยภาพ

 ผลการศึกษารายละเอียดโครงการ ยังระบุว่า การพัฒนาโครงการโขง ชี มูล ระยะที่ 1 เพื่อนำร่องการพัฒนา คือ จะดำเนินการเจาะอุโมงค์ 1 อุโมงค์ ส่งน้ำให้จังหวัดหนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี เติมน้ำให้เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มน้ำพอง ได้พื้นที่ชลประทาน 1.66 ล้านไร่ จะต้องใช้งบประมาณจำนวน 126,514.43 ล้านบาท

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ปลัดมท.ประชุมแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประชุมแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง พร้อมวางกรอบ 5 แนวทาง จัดทำแผนชุมชน

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมบูรณาการการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง และพิจารณาแนวทางการจัดทำแผนชุมชน เพื่อติดตามการดำเนินงานการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้งปี 2558 - 59 ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามมาตรการที่ 4 ในการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558 – 59 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือต่อไป โดยที่ประชุมได้เสนอกรอบแนวทางการจัดทำแผนชุมชน เพื่อให้ที่ประชุมหารือถึงซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ 5 ประการ คือ

 1. การน้อมนำหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ให้ประชาชนตัดสินใจทำด้วยตนเองอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

2. เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

3. สร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนอาชีพ

4. ลดความขัดแย้งจากการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่

5. สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนที่สมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ และดำเนินการตามแนวทาง “ประชารัฐ” ที่มีประชาชนและราชการ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ในการดำเนินการด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงขอบเขตตัวอย่างโครงการที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนกับโครงการความช่วยเหลืออื่น ๆ โดยกำหนดกรอบการเสนอโครงการประเภทการจัดการแหล่งน้ำการเกษตรกรของชุมชน การผลิตด้านการเกษตร การแปรรูปการเกษตร ด้านเศรษฐกิจพอเพียงสร้างแหล่งอาหารในชุมชน การพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ เป็นต้น รวมถึงได้หารือถึงแนวทางการวางแผนด้านการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตด้านการเกษตรที่จะออกสู่ท้องตลาดในช่วงเวลาต่อไป เพื่อการบริหารจัดการโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างครบวงจร และสอดคล้องกับการกำหนดโซนนิ่งภาคการเกษตรที่จะมีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม 2558

ประชุมชลประทานโลก โอกาสทองของไทย

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ประตูทดน้ำ น้ำหลาก ประเทศไทยได้รับเกียรติและความไว้วางในจากนานาชาติให้เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศครั้งที่ 67 ขึ้นในปี 2559 ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้

เพราะนอกจากทำให้ทั่วโลกได้รับทราบการชลประทานของไทยแล้ว ยังจะได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย รวมทั้งยังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประทศไทย เพราะการประชุมครั้งนี้จะมีนักวิชาการจากทั่วโลกมาร่วมประชุมกว่า 1,000 คนโดยจะจัด ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6–12 พฤศจิกายน 2559

พร้อมกันนี้จะมีการหารือร่วมกันในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร” โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ประการ คือ1. การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2. การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง อย่างเช่น สถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังคุกคามประเทศไทยในขณะนี้ เราจะมีวิธีการในการรับมืออย่างไรให้ผ่านวิกฤติน้ำแล้ง จะลดปริมาณการใช้น้ำของทุกภาคส่วน หรือจะจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ ใหม่ ๆ เพื่อเก็บกักน้ำท่าก่อนไหลลงสู่ทะเล เป็นต้น และ 3. เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจนและความหิวโหย โดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร

ส่วนประเด็นเนื้อหาทางวิชาการจะพิจารณาตามกรอบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ประกอบด้วยเนื้อหาทางด้านวิชาการเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริห้วยฮ่องไคร้ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแม่งัดสมบูรณ์ชล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแหลมผักเบี้ย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการบริหารจัดการเพื่อใช้ประโยชน์แหล่งน้ำร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน และการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ อีกด้วยและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและให้ทั่วโลกรู้จักชลประทานของประเทศไทยที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมากยิ่งขึ้น

ในการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศครั้งที่ 66 ซึ่งจัดในปลายปี 2558 นี้ ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส และได้มีการจัดกิจกรรมประกวดอาคารชลประทาน หรือ Heritage Irrigation Structures ( HIS ) เพื่อร่วมลงทะเบียนเป็นมรดกทางชลประทานด้วยนั้น

ประเทศไทยได้ส่งสิ่งก่อสร้างทางชลประทานเข้าร่วมประกวด 3 แห่ง คือ 1. ประตูจุฬาลงกรณ์และคลองรังสิต ซึ่งมีจุดเด่นที่เป็นโครงการอายุมากกว่า 100 ปี ที่ยังมีการใช้ประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน และเป็นการพัฒนาพื้นที่ชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 2. ลำเหมืองมหัศจรรย์ จ.น่าน เป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อเป็นทางลำเลียงน้ำจากภูมิปัญญาชาวบ้านและ 3. ระหัดวิดน้ำลำตะคอง จ.นคร ราชสีมา ซึ่งมีจุดเด่นคือ ใช้ภูมิปัญญาในสมัยก่อนคิดวิธีใช้พลังงานธรรมชาติในการยกระดับน้ำเข้าแปลงเกษตรโดยปัจจุบันก็ยังใช้งานได้อยู่

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 ตุลาคม 2558

แหล่งน้ำจากพ่อสร้างผลผลิตที่ดีแก่เกษตรกร

โอภาส กลั่นบุศย์ เกษตรกร น้ำ แหล่งน้ำ โครงการเทิดพระเกียรติ ที่ สำนักงาน อ.ต.ก. อ.เมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกเมื่อวันก่อน นายโอภาส กลั่นบุศย์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการโครงการเทิดพระเกียรติ “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน”

ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “แหล่งน้ำจากพ่อ สร้างผลผลิตที่ดีแก่เกษตรกร สู่ตลาดคุณภาพ อ.ต.ก.” โดยทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิม พระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำแล้ว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริ มาปฏิบัติผ่านโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถนำผลผลิตออกมาจำหน่ายโดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมกิจกรรมกว่า 26 หน่วยงาน

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” และกิจกรรมคู่ขนาน ได้แก่การจัดเวทีทางวิชาการ การสาธิตอาชีพเสริม การฝึกอบรมให้ความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร การออกร้านจำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด ในราคาประหยัดนายโอภาส รองปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริมาปฏิบัติ โดยผ่านโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ไกลแหล่งน้ำ ท้องถิ่นทุรกันดารที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้ง อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

ส่วนการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 นั้น เนื่อง จากในเขื่อนหลัก ยังกักเก็บน้ำได้น้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าในการเพาะปลูกปี 2558/59 จะมีน้ำไม่เพียงพอ ต่อการเกษตร ซึ่งในเดือนตุลาคม 2558 นี้

ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งลงพื้นที่เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรกรแต่ละท้องที่ได้รับทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดพร้อมทั้งในฤดูการผลิตหน้าจะต้องมีการส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้มีงานทำหรืออาชีพเสริม เช่นการจ้างงานแก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้นอกเหนือจากการทำนาอีกด้วย

สำหรับการจัดโครงการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้ชื่อ“การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน” ณ สำนักงาน อ.ต.ก.จังหวัดพิษณุโลกครั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การสาธิตการทำเกษตรแบบประหยัดน้ำแต่ให้ผลผลิตดีและคุ้มค่า การประกวดไก่ชนการประกวดนกกรงหัวจุกเป็นต้นนอกจากนี้ยังมีการเปิดบูธจำหน่ายสินค้าการเกษตรถึง 140 บูธให้ได้เลือกซื้อเลือกหาในราคาถูก และทางศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ก็ได้นำสินค้าประเภทอุปโภคบริโภค และผลผลิตทางการเกษตรและเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์มาวางจำหน่าย พร้อมให้ส่วนลดด้วยการเข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง ประเทศยั่งยืน โดยการตัดคูปองส่วนลดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์มาแลกซื้อได้อีกด้วย ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจเข้าซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากตลอดของการจัดงานในครั้งนี้.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 19 ตุลาคม 2558

หน่วงน้ำปิดเขื่อนปากมูลแก้วิกฤติภัยแล้ง

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเรียกประชุมส่วนราชการเพื่อเตรียมการรับมือปัญหาภัยแล้งในปีหน้าที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง โดยให้ทุกภาคส่วนได้ศึกษาข้อมูลการใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการหน่วงน้ำให้อยู่ในพื้นที่ให้นานที่สุด หากจำเป็นจะต้องมีการปิดเขื่อนปากมูลเพื่อทำการกักเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และเข้าร่วมการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมทางไกลจากห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงสถานการณ์และแนวโน้มวิกฤติปัญหาภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล โดยกล่าวว่า ปริมาณน้ำที่กักเก็บตามโครงการชลประทานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีประมาณร้อยละ 33 ขณะที่ปริมาณกักเก็บน้ำปีที่แล้วที่มีร้อยละ 43 ยังมีผลกระทบและก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ดังนั้นปัญหาภัยแล้งในปีหน้าจะเกิดวิกฤติและรุนแรงกว่าปีนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ได้เห็นชอบแผนบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเห็นชอบโครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤติภัยแล้ง ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่วิกฤติภัยแล้งในพื้นที่การเกษตรเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยารวม 22 จังหวัด และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดให้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป และดำเนินการรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำและการเก็บกักน้ำไว้ใช้อีกด้วย

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม 2558

สมชัยมองศก.โลก 59ดีหนุนส่งออกคาดเฟดยังไม่ขึ้นดบ.

ปลัดกระทรวงการคลัง มอง เศรษฐกิจโลกปีหน้าฟื้น หนุนส่งออกไทยดีขึ้น คาด เฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยต้นปีหน้า

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2559 เชื่อว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นกว่าในปี 2558 และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจะทำให้ภาคการส่งออกของไทยกลับมาขยายตัวจนสามารถกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในหลายโครงการ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นกว่าปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.8

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นในปีหน้าแต่เชื่อว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นปีอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบาง ซึ่งหากปรับขึ้นอาจกระทบต่อการฟื้นตัวได้ ดังนั้น จึงไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทย

จาก   www.innnews.co.th วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2558

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเผยไทยยังมีน้ำกักเก็บน้อย

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เผย เขื่อนหลายแห่ง ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บน้อย ทุกภาคมีฝนตกเล็กน้อย

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผย ทุกภาคมีฝนตกเล็กน้อย บางพื้นที่ถึงกระจาย โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ของภาคใต้บริเวณ จังหวัดภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ด้านอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์น้อย สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์พอใช้ เว้น เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง โดยส่วนใหญ่เขื่อนมีปริมาณน้ำใช้เพื่อการเกษตรอยู่ในเกณฑ์น้อย และภาพรวมปริมาณน้ำท่าแม่น้ำสายหลักทุกภาคยังอยู่ในเกณฑ์น้อย

จาก   www.innnews.co.th วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2558

เริ่มแล้ววันนี้! เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน หยุดจ่ายน้ำให้เกษตรในพื้นที่ชลประทาน

นายนันทชัย ตรีรุจิราภาพงศ์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำที่ 1 โครงการส่งน้ำแควน้อยบำรุงแดน เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ได้สิ้นสุดการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการชลประทานจำนวน 150,000 ไร่แล้วในวันนี้ ที่ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ได้เก็บเกี่ยวและใกล้เก็บเกี่ยวหมดแล้ว และได้ประสานงานกับท้องถิ่น อำเภอ ออกประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำของเขื่อนแควน้อย เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งนับจากนี้ไปตลอดถึงฤดูฝนปี 2559 เนื่องจากปีนี้ เขื่อนแควน้อยสามารถเก็บน้ำได้น้อยมาก ประมาณ 40 % หรือ มีน้ำใช้การได้ 35 %  หรือ  337 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม. ) จากความจุอ่างที่สามารถกักเก็บได้ 939 ล้านลบ.ม.

นายนันทชัยกล่าวอีกว่า นับจากวันที่ 18 ตุลาคม 2558นี้ เป็นต้นไป เขื่อนแควน้อยฯมีแผนในการปรับลดการระบายน้ำลงอีก จากเดิมระบายน้ำออก 6 ลบ.ม. ต่อวินาที จะปรับลดการระบายน้ำเหลือ 2 ลบ.ม. ต่อวินาที  เพื่อการบริหารจัดการน้ำในอีก 7 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ นายนันทชัย ยังกล่าวว่า เป้าหมายและแผนของกรมชลประทาน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ต้องบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และเนื่องจากภาพรวมของปี  2558 มีต้นทุนน้ำที่ค่อนข้างต่ำ จึงมีแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค  รักษาระบบนิเวศน์เป็นประการแรก ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้นมีไม่เพียงพอ ขณะนี้ นอกจากออกประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานทราบถึงสถานการณ์น้ำเพื่องดการทำนาปรังแล้ว ยังร่วมกับหลายหน่วยงานในการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง การทำอาชีพเสริมอื่น ๆ การพักชำระหนี้ของธกส. เป็นต้น

จาก   http://www.matichon.co.th วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2558

พพ.เร่งแก้ปัญหาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

พพ.เร่งแก้ปัญหาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เตรียมเปิดทางให้โครงการพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคอีสานเดินหน้าต่อเต็มกำลัง

นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานเดินหน้าจัดระเบียบผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่พบว่าผู้ประกอบการบางแห่งยังไม่มีความคืบหน้าในการเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบจริง โดยขณะนี้ประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) และทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟภ. กฟน.) ซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ตรวจสอบสัญญาโดยละเอียดและมีแนวทางดำเนินการจะเข้มงวดใช้มาตรการยกเลิกสัญญาทันที หากพบการกระทำที่ส่อว่าผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยการจำหน่ายใบอนุญาตต่อและไม่กระทำตามสัญญา

ทั้งนี้ นอกจากการจัดระเบียบดังกล่าวแล้ว พพ. พบว่าปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนหลายแห่ง แม้จะได้รับสัญญา PPA แล้ว แต่พบว่ายังไม่ดำเนินการก่อสร้าง โดยกลุ่มโรงไฟฟ้าเหล่านี้แม้ยังไม่ได้ก่อสร้างจริงแต่จะได้รับสิทธิการเข้าระบบสายส่ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ระบบรองรับไฟฟ้าของสายส่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องคำนวนไว้ก่อนเต็มจนไม่สามารถเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าได้

เบื้องต้น พพ.ได้ตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในภาคอีสานพบว่ามีโรงไฟฟ้าประมาณ 80 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวมมากกว่า 400 เมกะวัตต์ ที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าหรือลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งจะต้องตรวจสอบหาสาเหตุของการที่ยังไม่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ระบบสายส่งในพื้นที่ภาคอีสานสามารถรองรับกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรายใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อปัญหาเรื่องการเข้าระบบสายส่งดังกล่าวในอนาคต

“พพ.ต้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งระบบของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยเฉพาะปัญหาการรองรับของระบบสายส่งที่เป็นปัญหาใหญ่ จึงต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการทุกแห่งที่ถือสัญญาแล้วให้ทำตามเงื่อนไขในสัญญาอย่างเคร่งครัด เพราะหากพบกลุ่มนายทุนที่มองการซื้อขายใบอนุญาตเป็นเรื่องธุรกิจ ไม่จริงใจจะร่วมกับภาครัฐเดินหน้าโครงการไฟฟ้าพลังงานทดแทนจริง หากพบ พพ.จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณายึดใบอนุญาตต่อไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจจริงได้เข้าระบบผลิตไฟฟ้า” นายธรรมยศ กล่าว

จาก   http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2558

รัฐเข็นโรงงานเปิดกิจการหนุนเศรษฐกิจ

นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวเลขของผู้ที่ได้รับใบอนุญาต ประกอบกิจการโรงงานที่เสี่ยงต่ออันตรายและสิ่งแวดล้อม (รง.4) ในปี 2557 จนถึงปัจจุบันพบว่า มีการออกใบ รง.4 จำนวน 10,400 แห่ง ในจำนวนนี้ มีผู้ประกอบการ 3,268 ราย ที่ยังไม่แจ้งเริ่มประกอบกิจการ คิดเป็นเงินลงทุนที่ยังไม่เกิดการลงทุน 674,022 ล้านบาท โดยหากเกิดการลงทุน ก็จะเกิดการ จ้างงานใหม่ 151,682 คน สำหรับในส่วนที่เปิดกิจการแล้วมีจำนวน 6,000 แห่ง หรือประมาณ 80% ของที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมทุกจังหวัดลงไปสำรวจว่าผู้ที่ยังไม่แจ้งดำเนินกิจการอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานกี่ราย และติดปัญหาด้านใดบ้าง รวมทั้งจะช่วยเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถประกอบกิจการได้โดยเร็ว เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป

ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย. 2558 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 5,302 ราย ลดลง 13% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2557 แต่เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 2558 มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 45,515 ล้านบาท ขณะที่การจดทะเบียนเลิกมีจำนวน 1,878 ราย เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2557 และเพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.2558 มีทุนจดทะเบียนเลิก 5,167 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด คือ ก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 575 ราย

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 17 ต.ค. 2558

ตั้งโรงงานนํ้าตาลใหม่ยื่นขอแค่30แห่ง ลุ้น10โรงชิงดำเกิดได้แน่ไม่เกินพ.ย.

สอน.เผยยอดยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลทรายใหม่หดเหลือแค่ 30 ราย และขยายโรงงาน 16 ราย หลังปิดรับคำขอไปเมื่อต้นต.ค. โดยจะใช้เวลา 45 วัน ต้องตรวจสอบหลักฐานระยะห่างจากโรงงานเดิม 50 ก.ม. รายใดไม่ถึงตัดทิ้ง คาดผ่านเกณฑ์ไม่เกิน 10 ราย ขณะที่ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ คาดสรุปผลสิ้นต.ค.นี้ ก่อนส่งถึงมือ”ประยุทธ์”เบื้องต้นรับแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายใหม่

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่สอน.ออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้เอกชนที่มีความสนใจส่งเอกสารและรายละเอียดตามที่ระบุในการยื่นคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลและขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิม ซึ่งเปิดรับคำขอไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ประกอบการที่สนใจส่งเอกสารกลับมาในส่วนของการขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่จำนวน 30 โรงงาน จากเดิมที่สอน.แจ้งไปจำนวน 57 คำขอหรือคิดเป็นการขอตั้งโรงงานใหม่ราว 70 โรงงาน ขณะที่มีคำขอในส่วนการขยายกำลังการผลิตส่งกลับมา 16 โรงงาน จากที่แจ้งไป 21 คำขอ โดยหลังจากวันปิดรับคำขอแล้ว ทางสอน.จะตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ภายใน 45 วัน ก่อนจะให้ใบอนุญาตต่อไป

สำหรับหลักเกณฑ์การขอตั้งโรงงาน ได้กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร และจะต้องมีแผนเตรียมปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาเข้าสู่โรงงานในปีแรกไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตของฤดูกาลผลิตนั้นๆ และกำหนดจำนวนวันหีบอ้อยของโรงงานทั่วประเทศเฉลี่ย 120 วันต่อปี และต้องไม่ใช่อ้อยของเกษตรกรที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่พื้นที่เดิม และต้องมีปริมาณอ้อยจากการส่งเสริมและพัฒนาอ้อยฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และไม่ใช่อ้อยของเกษตรที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานน้ำตาลอื่น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งอ้อยวัตถุดิบ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ที่ลดลงกว่าครึ่งนั้น แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา มีการยื่นขอมาในลักษณะที่มีการลงทุนจริงและไม่ลงทุนจริง เพื่อกีดกันรายอื่นๆ ขณะที่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาได้เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยู่นอกเหนือวงการน้ำตาล แต่มีความสนใจเข้ามายื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลได้ โดยหลังจากนี้ไปสอน.จะต้องไปลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการแสดงสิทธิ์หรือเป็นเจ้าของที่ดินในการตั้งโรงงาน ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน เนื่องจากจะใช้เป็นการตรวจสอบรัศมีของโรงงานที่จะตั้งขึ้นใหม่กับโรงงานเดิมที่มีอยู่แล้วจะต้องห่างกันไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร หากโรงงานใดมีระยะห่างไม่ถึง ก็จะถือว่าคำขอนั้นตกไป และจะนำรายถัดๆไปมาพิจารณาแทน ซึ่งจำนวนคำขอดังกล่าวทางสอน.คาดว่าจะสามารถพิจารณาได้ทั้งหมดและให้ใบอนุญาตได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2558 นี้

ส่วนจะมีโรงงานน้ำตาลใหม่เกิดขึ้นได้กี่แห่งนั้น คงต้องรอการพิสูจน์ระยะห่างของที่ตั้งจากโรงงานน้ำตาลเดิมก่อนว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งเท่าที่พิจารณาเบื้องต้นจากการขีดวงแผนที่ตั้งโรงงานน่าจะมีโรงงานใหม่เกิดขึ้นได้ไม่เกิน 10 แห่ง ห่างพิจารณาตามระยะห่าง 50 กิโลเมตร จากโรงงานน้ำตาลเดิม ขณะที่การขอขยายกำลังการผลิตนั้น คาดว่าน่าจะได้รับการอนุมัติเกือบทั้งหมด

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลที่ทำอยู่แล้วและต้องการจะลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่มีการยื่นคำขอเข้ามา เช่น กลุ่มน้ำตาลมิตรผล วังขนาย กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น ไทยรุ่งเรือง บริษัท น้ำตาลเอราวัณฯ อุตสาหกรรมน้ำตาลโคราช และกลุ่มน้ำตาลเกษตรไทย เป็นต้น

ส่วนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น นายชลัช ชินธรรมมิตร์ คณะทำงานปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เปิดเผยว่า ขณะนี้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งคณะทำงานขอให้ทางโรงงานน้ำตาลและชาวไร่ เสนอความคิดเห็นเข้ามาอีกครั้ง และจะสรุปในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ก่อนที่จะนำเสนอไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อนำมาใช้ในฤดูหีบอ้อยที่จะถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยในเบื้องต้นทุกฝ่ายเห็นไปแนวทางเดียวกันว่า สมควรจะให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ในบางประเด็น โดยเฉพาะการนำผลพลอยได้จากการผลิตอ้อย เช่น การผลิตเอทานอล การผลิตไฟฟ้า มาแบ่งรายได้เข้าสู่ระบบ เพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในช่วงราคาน้ำตาลทรายตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 11-12 เซ็นต์ต่อปอนด์ แต่สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ยังไม่ได้ข้อยุติ

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เร่งเติมน้ำ4เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาฝนหลวงฉวยโอกาสดินชุ่มชื้นระดมปฏิบัติการ   

          นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการปฏิบัติการ ฝนหลวงเพื่อสนับสนุนการเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำแหล่งต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ โดย ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2558 เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,056 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ 1,861 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 328 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 469 ล้าน ลบ.ม.

          ทั้งนี้หากรวมทั้ง 4 เขื่อนจะมี ปริมาณน้ำ 3,714 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม ในอีก 2 สัปดาห์ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม กรมฝนหลวงและการ บินเกษตรยังคงเดินหน้าเติมน้ำในเขื่อน ตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนให้ถึง 4,400 ล้าน (เขื่อนภูมิพล เขื่อน สิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์) นั้นโดยคาดว่าจะสามารถเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลให้ได้ประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 60 ล้าน ลบ.ม. รวมทั้งสิ้นประมาณ 810 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากในช่วงนี้ ดินมีสภาพชุ่มชื้น หรือ ในทางเทคนิคเรียกว่า "ดินอิ่มตัวด้วยน้ำ (Saturated Soil)" ซึ่งจะส่งผลให้น้ำฝน ที่ตกลงสู่พื้นดินจะกลายเป็นน้ำผิวดิน (น้ำท่า) ได้เร็วจึงจะไหลลงเขื่อนต่างๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงใช้โอกาสนี้ในการเร่งปฏิบัติการ ก่อนที่สภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้จะมีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นแต่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับฤดูแล้งนี้และฤดูฝนปีหน้า ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ทำตามคำแนะนำจากภาครัฐเพื่อให้สามารถมีน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรในฤดูฝนต่อไป

          สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคใต้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย มากขึ้นเนื่องจากฝนตามธรรมชาติและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ดังนั้นจึงยังเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ จังหวัดสงขลา จนกว่าหมดปัญหาหมอกควัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'บิ๊กฉัตร'กังวลปี'59แล้งหนัก   

          เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กังวลสถานการณ์แล้งในช่วงต้นปี 2559 ที่จะกระทบกับเกษตรกรอย่างรุนแรง คาดว่าจะหนักกว่าปี 2558 โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะคาดการณ์ว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ น้ำในเขื่อนจะมีจำนวนประมาณ 4,100 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่มากกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม. จึงได้สั่งการให้ข้าราชการ กระทรวงเกษตรฯลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าจากนี้ต่อไปต้องใช้น้ำให้ประหยัด เพราะน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับกิจกรรมด้านการเกษตร แต่จะไม่ประกาศงดการเพาะปลูก หากเกษตรกรยืนยันจะดำเนินการเพาะปลูกอยู่จะต้องรับความเสี่ยงเอง

          นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558 ในเขตชลประทาน ในวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกแล้ว 14.16 ล้านไร่ จากแผน 15.78 ล้านไร่ หรือ 89% ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 22,263 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 5.29 ล้านไร่ โดยยังมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง จำนวน 1.23 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีข้าวอายุไม่เกิน 1 เดือน ประมาณ 1 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 6.27 ล้านไร่ จากแผน 7.45 ล้านไร่ หรือ 84% ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูก 1.18 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 21,644 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 4.47 ล้านไร่ และสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 5.54 ล้านไร่ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 69,486 ไร่ และมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 1.49 ล้านไร่

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เลาะรั้วเกษตร : ปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร

เริ่มต้นปีงบประมาณ 2559 ด้วยความราบรื่น สำหรับการบริหารงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้การนำของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์......ที่ว่าราบรื่น เพราะม็อบเกษตรกรที่ขู่ว่าจะชุมนุมประท้วงที่นั่นที่นี่ก็ไม่ปรากฏ....ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ที่ข้ามห้วยมาจากกระทรวงอื่น ก็ได้รับการต้อนรับจากชาวกระทรวงเกษตรฯ เป็นอย่างดี บรรดาอธิบดีใหม่ของกรมต่างๆ ที่ผิดฝาผิดตัวอยู่บ้างก็เข้าไปนั่งทำงานที่กรมของตนอย่างเงียบๆ ผิดกับอธิบดีที่นั่งอยู่ที่เดิมซึ่งโหมกิจกรรมให้รัฐมนตรีลงพื้นที่ไปตรวจงานทุกสัปดาห์

เมื่อก่อนการลงพื้นที่ของผู้บริหารระดับสูง ถือว่า “ช้างเหยียบนาพระยาเหยียบเมือง” จะต้องเดือดร้อนถึงผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ต้องเกณฑ์ชาวบ้านมาต้อนรับมากมาย ชาวบ้านที่มาก็มาอย่างเต็มใจบ้าง มาอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราวว่าให้มาทำอะไรบ้าง ที่สำคัญคือ ต้องมีการจ่ายค่ารถและค่าเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย แม้จะไม่มากนักแต่ก็ต้องจ่าย....

มาสมัยนี้ รัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัยสาริกัลยะ ประกาศ ไม่ต้องเกณฑ์คนมาต้อนรับ ใครมีงานอะไรก็ทำไป ไม่ต้องเสียเวลา....สร้างความสบายใจให้คนในพื้นที่เยอะเลย...แต่สิ่งที่ต้องกังวลแทน คือ งานที่จัดให้รัฐมนตรีดู.....เมื่อก่อนอาจจะ “ผักชี” ประเภทต้นไม้ยังไม่ออกจากถุงดำ..แต่มายุคนี้ “ผักชี” ไม่ได้แล้ว ต้องเป็นงานที่ทำจริง ต้นไม้ปลูกจริง เกษตรกรก็ต้องเป็นเกษตรกรที่ทำจริง รู้เรื่องจริง ประสบความสำเร็จจริง ใครจะจัดกิจกรรมให้รัฐมนตรีไปเยี่ยมคงต้องดูให้รอบคอบ ทิ้งนิสัยสมัยเก่าๆ ต้องเอาใจนักการเมืองให้หมด....

โครงการ หรือกิจกรรมที่รัฐมนตรีอยากเยี่ยมเยียน ต้องสอดคล้องกับนโยบายสำคัญที่ได้ประกาศไปแล้ว คือ การลดต้นทุนการผลิต และการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง......หน่วยงานไหนเกี่ยวข้องเรื่องใดเตรียมตัวได้....ถ้าไม่มีพื้นที่ให้รัฐมนตรีลงไปตรวจเยี่ยม อาจมีเคือง

พูดถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะได้เอกสารแผ่นพับมา 1 แผ่น พิมพ์สี่สีสวยงาม จั่วหัวว่า “นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” พร้อมกับพาดหัวตัวใหญ่ว่า “ปี 2559 ปีแห่งการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร” พร้อมกับมีภาพกราฟิก เป็นชาร์จ วงกลม 4 ลูกศร ภายในวงกลม เขียนว่า 4 หลักการลดต้นทุน

ลูกศรที่ 1 ชี้ไปที่ “ลดปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ) ลูกศรที่ 2 ชี้ไปที่“เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลูกศรที่ 3 ชี้ไปที่ “เพิ่มการบริหารจัดการ (รวมแปลง + รวมคน +เครื่องมือ)” ลูกศรสุดท้าย ชี้ไปที่ “การตลาด วางแผน/เพิ่มช่องทาง”

4 หลักการที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่เคยมีรัฐมนตรีคนไหนยกมาเป็นนโยบายสำคัญ จนกำหนดให้เป็น “ปีแห่งการลดต้นทุนการผลิต” คนที่ต้องการลดต้นทุนการผลิตมากที่สุดคือ เกษตรกร โดยเฉพาะในลูกศรที่ 1 และ 2 เกษตรกรส่วนใหญ่ดำเนินการอยู่แล้ว ลูกศรที่ 4 เกษตรกรที่หัวก้าวหน้า หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ จะทำการตลาดเองด้วย และทำได้ดี ส่วนลูกศรที่ 3 เรื่องการบริหารจัดการ ถ้าเกษตรกรที่ทำการตลาดเองจะบริหารจัดการพื้นที่และการผลิตของตนเองอยู่แล้ว แต่ถ้าการบริหารจัดการแปลว่า การรวมแปลง รวมคน รวมเครื่องมือ นี่อาจจะเป็นปัญหามากกว่าแก้ปัญหา อาจจะทำได้ในกรณีที่ทางราชการเข้ามาดูแล แต่ถ้าให้เกษตรกรจัดการกันเองต้องอยู่ในรูปกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มสหกรณ์

ในเอกสารนโยบายรัฐมนตรี ยังระบุนโยบายการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย 5 ข้อ คือ1.ต้องไม่มีคอร์รัปชั่น โปร่งใสทั้งการทำงาน และการให้ข้อมูล 2. ยึดถือนโยบายของนายกรัฐมนตรี “ทำก่อน ทำทันที” โดยแบ่งการทำงาน 3 ระยะ คือ เร่งด่วน ต่อเนื่อง ยั่งยืน 3. เป้าหมายการทำงาน คือ เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง 4. การทำงานทุกระดับต้องมีเป้าหมาย และมีผู้รับผิดชอบชัดเจน 5. ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

แค่ข้อ 1.....ข้อเดียวหลายคนในกระทรวงเกษตรฯ ก็หนาวแล้ว...

ปิดท้ายสัปดาห์นี้ด้วยสิ่งมงคล ขออนุโมทนากับการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของพระภิกษุ “จิตตะ สังวะโร” หรือ ผู้ตรวจราชการพิเศษ ชวลิต ชูขจร อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ว่าท่านจะบวชเพื่ออะไร และบวชกี่วัน ก็คาดหวังว่าท่านจะลึกซึ้งในรสพระธรรม และนำมาปฏิบัติในทางโลกได้อย่างสอดคล้อง.....สาธุ

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผอ.เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เผยปริมาณน้ำน้อยสุดในรอบ 15 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในขณะนี้อยู่ที่ 472.37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49.21%มีปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่าง 325.26 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนการระบายน้ำลงท้ายเขื่อนในช่วงนี้ระงับการระบายน้ำ เนื่องจากมีฝนตกลงมาในพื้นที่ใต้เขื่อนจึงปิดประตูระบายน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด

โดยในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมามากเปรียบเทียบปี 2557 ช่วงนี้จะมีปริมาณน้ำประมาณ 600 ล้านลบ.ม. แต่ปี 2558 คาดว่าจะมีน้ำเก็บได้ประมาณ 500-600 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องมีการใช้น้ำอย่างประหยัด

นายปัญญา กัลปสุต ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักในปีนี้คาดว่าจะมีเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค  และปล่อยน้ำรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการเกษตรอย่างแน่นอน จึงขอความร่วมมือกับทางเกษตรกรและชาวนาไม่ควรทำนาปรังในปีนี้ เพราะจะไม่มีน้ำไปช่วยอย่างแน่นอน โดยฤดูฝนจะหมดลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้าแต่น้ำในเขื่อนก็น้อยมาก ซึ่งนับตั้งแต่เปิดเขื่อนป่าสักมาน้ำมีปริมาณน้อยที่สุดในรอบกว่า 15 ปี จึงต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันประหยัดน้ำตั้งแต่วันนี้

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็น ปธ.ประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมชลประทานโลก

     พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดประชุมชลประทานโลก เพื่อเตรียมจัดประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนม์พรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2559

     ในการประชุมครั้งที่ 2 จะมีนักวิชาการทั่วโลก 1,000 คน เข้าร่วมหารือการบริหารจัดการน้ำในสภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลง พร้อมเตรียมเสนอพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทั่วโลกได้รับรู้

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แนวทางแก้ปัญหาน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พลเอกฉัตรชัย  สาริกัลป์ยะ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย  จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ร่วมกับ International Development Research Centre (IDRC) ว่า รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์การาบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 ขึ้น

ซึ่งเป็นแผนจัดการน้ำที่สมบูรณ์ที่สุด โดยได้จัดสรรงบประมาณ 50,000 – 60,000 ล้านบาท เป็นงบปกติในการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวการจัดการน้ำของประเทศ โดยเน้นการบูรณาการตามแผนน้ำรวมทั้งการพิจารณาไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างแผนงานและงบประมาณใน 6 ด้านคือ  1. การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2560 ทุกหมู่บ้านจะต้องมีน้ำอุปโภคบริโภค เป็นประปาหมู่บ้าน 7,490  แห่ง ประปาโรงเรียน 6,132 แห่ง   2. การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ทั้ งการเกษตรและอุตสาหกรรม  3. การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย   4. การจัดการคุณภาพน้ำ   5. การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน  และ  6. การเพิ่มประสิทธิ์ภาพการบริหารจัดการ

สำหรับการเตรียมการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง กระทรวงเกษตรฯ จะส่งทีมสร้างความเข้าใจในมาตรการที่รัฐบาลจะนำมาช่วยเหลือในช่วงหน้าแล้ง  ประกอบด้วย การส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน, การสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร,  การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง,  การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ , การเพิ่มประสิทธิภาพน้ำต้นทุน, การเสริมสร้างสุขภาพเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการสนับสนุนอื่นๆ

จาก http://www.dailynews.co.th   วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'ปราโมทย์'ชี้สถานการณ์น้ำวิกฤต จี้เร่งประกาศงดส่งน้ำทำนาปรัง

นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักว่ามีปริมาณน้ำระดับ 3.6-3.7 พันล้านลบ.ม.เรียกว่าเข้าสู่ภาวะวิฤกติแล้ว รัฐบาล กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งประกาศงดส่งน้ำทำนาปรัง และเตือนประชาชนทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงสถานการณ์จริง และหน้าที่รัฐต้องบริหารวิฤกติให้ได้ ในช่วงฤดูแล้งนี้อย่าไปคาดหวังกับดินฟ้าอากาศ ภายใน 5-6 เดือนนี้ต้องจำกัดการใช้น้ำให้ได้เพื่อกันน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ผลักดันน้ำเค็ม จะต้องประกาศงดส่งน้ำทำนาปรัง ให้ชาวนารับรู้ว่าจะไม่ส่งน้ำให้ จะเกิดโกลาหลก็ว่ากันอีกที ซึ่งภาครัฐเองต้องสร้างความขัดเจนให้กับสังคมก่อน เพราะไปชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว ชาวนาก็ไม่ฟังก็ยังปลูกนาปรังรองสองเป็นล้านไร่

ทางด้านกรมชลประทาน ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าให้น้ำไม่ได้ ต้องเก็บน้ำไว้กินไว้ใช้ก่อน ควรสื่อสารทางตรง ว่ามันเป็นวิฤกติที่ทุกคนต้องช่วยกันประหยุดน้ำ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายกว่า และฝ่ายบ้านเมือง กระทรวงต่างๆ ในชุมชน ท้องถิ่นก็ต้องช่วยกัน การใช้โครงการต่างๆ เท่ากับจ่ายเงินไปทิ้งไม่มีอะไรรูปธรรม รัฐบาลต้องบริหารวิฤกติให้ได้ วางแผนน้ำในอนาคตให้ชัดเจน จะแก้ไขอย่างไรต่อไปสำหรับน้ำแล้งน้ำท่วม ที่จะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมทั้งประเทศมากกว่า

"นาปรังขึ้นปีละเป็นล้านๆ ไร่น้ำไม่พอแน่นอนต้องประกาศให้ชัดว่างดส่งน้ำ และให้ท้องถิ่นลงโทษกันเองด้วย ทำนาปรังดึงน้ำในคลองต่างๆ ไปใช้หมด ตั้งเครื่องสูบน้ำกันเป็นแถวประเด็นนี้สังคมต้องจัดการกันเอง กรมชลฯ ส่งน้ำมาในคลองส่งให้นิดเดียวอยู่ๆ เอาไปทำนาหมด เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกับบริหารเกิดวิฤกติ เชื่อฟังกัน เอาแต่ได้อย่างเดียวไม่ได้ จะวุ่นวายไม่จบ" นายปราโมทย์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'สมคิด'สนใจร่วมTPPขอศึกษาข้อดีข้อเสีย

รองนายกฯ "สมคิด" เผย สนใจร่วม TPP แต่ต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้รอบครอบ ชี้ ในอาเซียนอาจสนใจเข้าร่วมหวังหนุนการค้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในขณะนี้ยอมรับว่ามีความสนใจ ในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก หรือ TPP โดยยอมรับว่า เป็นเรื่องสำคัญ และมีความสนใจที่จะเข้าร่วม TPP แต่ทั้งนี้มองว่า ในขณะนี้ยังพอมีเวลา ในการศึกษาถึงข้อดี และข้อเสียต่างๆ

อย่างไรก็ตาม มองว่า การเข้าร่วม TPP เชื่อว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีความสนใจในการเข้าร่วม เพราะจะส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

จาก www.innnews.co.th   วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'ฉัตรชัย'เร่งผลักดันโครงการผันน้ำแม่ยวม-แม่โขง

"พล.อ.ฉัตรชัย" เตรียมเสนอ "กนช." ไฟเขียวโครงการผันน้ำแม่ยวม-แม่โขง คาดใช้งบ 2.2 ล้านล้านบาท ยันต้องเริ่มภายในต้นปี 59

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุม คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอ 2 โครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวม และโครงการสูบน้ำแม่น้ำโขงวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปี 2559 ที่น้ำในประเทศไทยมีแนวโน้มวิกฤตกว่าปี 2558 จากภาวะเอลนินโญ่

ทั้งนี้ 2 โครงการดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของกรมชลประทาน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายในปีนี้ หากนายกฯเห็นชอบ จะสามารถดำเนินการในเฟสแรกได้เลยต้นปี 2559 ส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้มากขึ้น จากที่ช่วงแล้งในปี 2558/59 นั้น น้ำใน4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ สามารถนำมาใช้การได้เพียง 3,700 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เท่านั้น หากสถานการณ์เอลนินโญ่รุนแรงขึ้นตามที่คาดกันเอาไว้ มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณน้ำฝนในปี 2559 /60 จะเบาบาง และจะเกิดปัญหาแล้งรุนแรงมากกว่าปี 58 ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการจะลำบากมากยิ่งขึ้น

ส่วนโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมนั้น จะเลือกพื้นที่ในฝั่งประเทศไทยเป็นหลักซึ่งจะเป็นการเติมน้ำในฝั่งตะวันตก ลงเขื่อนภูมิพล หากดำเนินการเสร็จจะเก็บน้ำได้ประมาณ 2,000 ล้านลบ.ม. ส่วนโครงการสูบน้ำแม่น้ำโขง หากทำทั้งโครงการเสร็จสมบูรณ์ จะเพิ่มน้ำได้ประมาณ 40,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เบื้องต้นเฟสแรกระยะเร่งด่วนจะเติมน้ำในเขื่อนลำปาวก่อน

อย่างไรก็ตามที่กังวลคือมูลค่าก่อสร้างที่ต้องใช้เงินมหาศาล จากการศึกษาเบื้องต้น ของกรมชลประทานเมื่อหลายปีที่ผ่านมา คาดว่า 2 โครงการต้องใช้งบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท มาถึงปัจจุบันต้นทุนหลายอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะต้นทุนโครงการก่อสร้างคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ศึกษา เดิมเฟสแรกประมาณ 1 แสนล้านบาท

สำหรับการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำที่ผันผวน และเกิดขึ้นบ่อยในประเทศไทย ทางกระทรวงเกษตรฯและกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว ว่าต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือโดยเฉพาะน้ำแล้งในปี 2559 /60คาดว่าจะมีน้ำต้นทุนน้อยกว่าปัจจุบันถึง 2,000 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตามตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ ที่เป็นการเก็บกักน้ำเฉพาะหน้า แหล่งน้ำเล็กๆตามชุมชน และไร่นา ซึ่งคาดว่าสิ้นสุดปีนี้ จะมีน้ำต้นทุนเพิ่ม เพื่อสำรองไว้ใช้ในหน้าแล้งประมาณ 2,000 ล้านลบ.ม. เช่นกันโดนปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีความคืบหน้า ยังไม่ถึง 50% ของโครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่สามารถเก็บกักน้ำไว้เป็นต้นทุนแล้วประมาณ 700 ล้านลบ.ม.

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'สมคิด'เผยนโยบาย 4 ด้านหวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว

"สมคิด" ประกาศเดินหน้านโยบาย 4 ด้าน หวังดึงเศรษฐกิจฟื้นตัวระยะยาว พร้อมขอความร่วมมือทุกฝ่ายช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา Post Forum 2015 “ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย กับทีมเศรฐกิจใหม่” ว่า หลังจากได้ออกมาตรการช่วยเหลือรายย่อย ทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา มองว่าเป็นมาตรการที่ขับเคลื่อนและพยุงให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นปัญหาในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ได้หวังจะให้จีดีพีขยายตัว ทั้งนี้ ก้าวต่อไปของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว 4 ด้าน

ประกอบด้วย 1.การปรับความสมดุลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ที่เคยพึ่งพาการส่งในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาความอยากจนในต่างจังหวัด เพื่อเติบโตเหมือนกับในเมืองหลวง จึงต้องให้น้ำหนักในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะต้องการให้เกษตรกร 30 ล้านคนมีฐานะดีขึ้น ผ่านความร่วมมือจากท้องถิ่น ทั้ง อบต. อบจ. กรอ.ภูมิภาค โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในพื้นจะเข้ามาช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนา

ส่วนการปรับระบบการผลิตของเอกชน จากเคยเน้นเพียงให้มีต้นทุนต่ำ ขยับไปสู่การใช้นวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าการผลิต แทนระบบรับจ้างการผลิตจากออเดอร์ในช่วงที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันค่าเงินบาทแม้จะอ่อนเหลือ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังส่งออกไม่ได้มากนัก โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกัน ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม สวทช. มหาวิยาลัย สภาวิจัย เพื่อมาร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเติบโตขึ้นมาจำนวนมาก มุ่งเน้นไปสู่ในกลุ่ม Start Up ที่มีศักยภาพ ผ่านการร่วมลงทุน การหาเงินทุน เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างจริงจัง

3.การดูแลผู้ประกอบการผ่านระบบคลัสเตอร์ เพื่อเน้นในกลุ่มซุปเปอร์คลัสเตอร์ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม และจะยกระดับจากการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปสู่ภาคบริการ ซึ่งมีจุดแข็งคือการท่องเที่ยว ดังนั้นจะเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับท้องถิ่นซึ่งให้บีโอไอไปศึกษาเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ

4.การพัฒนาระบบการเงินการคลังของประเทศ ยกระดับตลาดทุน เดินรื้อกฎระเบียบตลาดทุนให้สอดคล้องกับทิศทางของตลาดโลก นอกจากนี้จะปฏิรูประบบงบประมาณ โดยจะให้งบประมาณสองขา คืองบประมาณที่จัดสรรตามยุทธศาสตร์ ที่เป็นวาระสำคัญจะบูรณาการทกกระทรวงที่่เกี่ยวข้อง กับงบประมาณตามภาระกิจของส่วนราชการ หรืองบประจำ

“กรณีที่ดร.วีรพงษ์​ มารางกูร ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นแบบตัว “ยู” แต่เชื่อว่า หากดำเนินการตามที่รัฐบาลวางแผนไว้ จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบเครื่องหมายไนกี้ แน่นอน” นายสมคิด กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

อ้อยพันธุ์ใหม่ 'อู่ทอง 14 - อู่ทอง 15'

                      กรมวิชาการเกษตรประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่ 2 พันธุ์ “อู่ทอง 14” “อู่ทอง 15” ให้ผลผลิตสูงถึง 18-28 ตันต่อไร่ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่แก่เกษตรกร

                      นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 2 พันธุ์ คือ “อ้อยพันธุ์อู่ทอง 14” และ “พันธุ์อู่ทอง 15” คณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชได้ประกาศเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นทางเลือกให้ชาวไร่อ้อยที่ต้องการใช้พืชพันธุ์ใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะการเพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

                      สำหรับอ้อยพันธุ์อู่ทอง 14 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่ 84-2-646 กับพันธุ์พ่ออู่ทอง 3 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี อ้อยพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือ ปลูกในพื้นที่ดินด่าง pH 7.8 ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 21.19 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 ที่ให้ผลผลิต 14.96 ตันต่อไร่ คิดเป็น 42% และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 3.34 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 คิดเป็น 58%

                      หากปลูกในดินด่างชุดตาคลีที่มี pH 8.1 จะให้ผลผลิต 17.1 ตันต่อไร่ ส่วนในดินด่างชุดลำนารายณ์ที่ค่า pH 8.0 จะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 27.32 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และเมื่อปรับปรุงดินด้วยการใส่กำมะถันผงในอ้อยปลูก จะให้ผลผลิตสูงถึง 28.64 ตันต่อไร่ ขณะที่พื้นที่ปลูกปลายฝนเขตน้ำฝน จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 18.28 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ที่ให้ผลผลิต 16.56 ตันต่อไร่ คิดเป็น 10% และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.57 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 คิดเป็น 8% สำหรับพื้นที่ปลูกต้นฝนเขตน้ำฝนให้ผลผลิตเฉลี่ย 12.53 ตันต่อไร่

                      ส่วนอ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 เป็นลูกผสมตัวเองของพันธุ์อู่ทอง 2 มีลักษณะเด่น คือ ถ้าปลูกในดินร่วนปนทรายจะให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 16.97 ตัน/ต่อร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 ที่ให้ผลผลิต 15.08 ตันต่อไร่ คิดเป็น 13% ทั้งยังสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 ที่ให้ผลผลิต 15.55 ตันต่อไร่ คิดเป็น 9% และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.47 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 คิดเป็น 11% และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง3 คิดเป็น 5%

                      สำหรับพื้นที่ปลูกปลายฝนเขตน้ำฝนให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.91 ตันต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ที่ให้ผลผลิต 14.53 ตันต่อไร่ คิดเป็น 23% และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.37 ตันซีซีเอสต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ประมาณ 12% เป็นต้น สนใจสอบข้อมูลได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี โทร.0-3555-1543, 0-3555-1433

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯฟื้น คำสั่งซื้อเพิ่ม-ค่าเงินบาทอ่อน-รัฐกระตุ้นศก.

สอท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนแตะระดับ 82.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เหตุคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่ม เงินบาทอ่อนค่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในโค้งสุดท้าย แต่ยังไม่วายห่วงปัญหาภัยแล้งปีหน้าจะหวนกลับมาทำกำลังซื้อหด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนกันยายนพบว่า อยู่ที่ระดับ 82.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 82.4 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายน 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างขยายตลาดและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกในช่วงเดือนกันยายน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือนสิงหาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย การใช้จ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก และการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( SMEs )จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

“หลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรีล่าสุด เปลี่ยนเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมาดูแลเศรษฐกิจ ได้สร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้บริโภคให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ได้กระตุ้นไปน่าจะเห็นชัดในช่วง 2-3 เดือนของปีนี้” นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และการปรับลดค่าโอน-จดจำนองบ้านเหลือ 0.01% เชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่มผู้มีเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กล้าใช้จ่ายจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จะเริ่มมีความมั่นใจและกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง และขณะนี้อยู่ในช่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีราคาที่ไม่สูงมากนัก อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือ SMEs และเงินที่รัฐบาลอัดฉีดลงไปในส่วนท้องถิ่นต่างๆ น่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแต่สิ่งที่ผู้ประกอบการยังกังวล คือ ปัญหาภัยแล้งที่จะทำให้กำลังซื้อลดลงในปีหน้า ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัว จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาข้าว ยางพารา เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน พบว่า กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่า 50% ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 81.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 80.8 ในเดือนสิงหาคม จาก อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ 50% ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 90.2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 89.8 ในเดือนสิงหาคม จากอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะภาครัฐได้แก่ อยากให้ภาครัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการที่รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว รวมถึงกำหนดแผนปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมและเป็นไปตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน พร้อมทั้งต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือรูปแบบ PPP (Public–Private Partnership) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯเซ็ง!ชาวนาดื้อปลูกนาปรัง หลังคุยไร้ผล-เดือนเดียว1.2ล.ไร่

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหาร ว่า ได้กำชับให้ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้เร่งรัดช่วยเหลือเกษตรกร ใน 8 มาตรการหลัก ที่ขอความร่วมมืองดทำนาปรังเริ่มปลูกฤดูแล้งนี้ ให้สามารถอยู่ได้ และมีรายได้ อย่าไปเสี่ยงทำนาอาจขาดทุน และมีมาตรการลดรายจ่าย จ้างงาน พร้อมกับดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน หลังจากที่รัฐบาลลงขอความร่วมมืองดทำนาปรัง รอบ 2 ในฤดูแล้งนี้ อาจยาวนานกว่า 8 เดือน ซึ่งสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง ขณะนี้ล่าสุดมีปริมาณ 3.6 พันล้าน ลบ.ม.แต่ยังไม่เพียงพอทำการเกษตร โดยให้กรมฝนหลวง พยายามทำฝนหลวงเพิ่มน้ำต้นทุนตอนเหนือเขื่อน ซึ่งช่วงนี้สภาพอากาศมีความชื้น สามารถขึ้นปฎิบัติการได้จนถึงปลายเดือนนี้ แต่คาดหวังมากไม่ได้ เนื่องจากตอนนี้หมดช่วงมรสุมไปแล้ว อย่างไรก็ตาม อ่างเล็กๆ น้อยๆ ที่รัฐบาลไปขุดไว้ สามารถเก็บน้ำได้มากว่า 5 พันล้าน ลบ.ม.จะนำใช้ในการอุปโภคบริโภคของชุมชนได้

ทั้งนี้ ขอความความร่วมมือเกษตรกร ปลูกพืชให้ดูความเสี่ยงได้รับความเสียหาย รวมทั้งทุกภาคส่วน คนในเมือง ภาคบริการ อุตสาหกรรม ต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และประหยัดน้ำ ซึ่งวิฤกตแล้งไม่จบง่ายๆ ส่วนมาตรการการจ้างงาน โดยกรมชลประทาน พร้อมเริ่มวันที่ 15 ต.ค.นี้ ให้ประชาชนมาติดต่อได้เป็นต้นไป และได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจตั้งขึ้นมาติดตามข้อมูลต่างๆ ปริมาณฝนตก ในพื้นที่เพาะปลูก และรายงานความช่วยเหลือ ที่สำคัญ มาตรการที่ 4 ยังเปิดให้ทางกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับหน่วยงานอื่น เข้าไปทำแผนชุมชน ระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยพื้นที่เป้าหมายแรก คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีเกษตรกร 1.95 แสนราย โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าทำตวามเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำ ได้ประมาณ 20% ให้หันปลูกพืชอื่น ส่วนที่เหลือทำให้เสร็จภายใน 30 วัน

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา 7.5 ล้านไร่ ที่ผ่านมามีการเพาะปลูกไปแล้ว 6 ล้านไร่เศษ และมีการเก็บเกี่ยวแล้วกว่า 4 ล้านไร่ โดยยังปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ต่อเนื่อง กว่า 1.23 ล้านไร่ หลังจากที่กรมชลฯ ได้แจ้งเตือนถึงปริมาณน้ำไม่เพียงพอเป็นระยะ ว่ากลุ่มที่ปลูกอาจมีน้ำไม่พอเลี้ยงให้ข้าวเจริญเติบโตได้ ซึ่งเป็นข้าวปลูกใหม่อายุไม่เกิน 1 เดือนอยู่ด้วย ช่วงนี้ยังเหลือเวลาฤดูฝนอีก 15 วัน คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน จะได้ปริมาณน้ำอยู่ในระดับ 3.7 - 3.8 พันล้าน ลบ.ม.แบ่งเป็นอุปโภคบริโภค รักษาตลิ่งลำน้ำต่างๆ และผลักดันความเค็ม วางน้ำไว้ 3.5 พันล้าน ลบ.ม. และช่วงรอยต่อหน้าแล้งกับหน้าฝน ปี 59 ประมาณ 1 พันล้าน ลบ.ม. สำหรับน้ำส่วนเกินจะให้ไม้ผล และพืชใช้เวลายาวๆ พืชไร่ อ้อย

ส่วนปลูกข้าวใช้น้ำมาก ขอชาวนางดเพาะปลูก ต้องเห็นใจกรมชลประทานด้วย ถ้าตัดสินใจทำไปเสี่ยงเสียหายเอง และได้ขอร่วมมือกระทรวงมหาดไทย ลงชี้แจง อบต.หยุดสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ไม่สูบน้ำไปใช้การเกษตร มั่นใจว่าจะคุมน้ำไว้ได้ทั้งหมด โดยสถานีสูบน้ำลุ่มน้ำปิง จ.ตาก มี 12 แห่ง กำแพงเพชร 52 แห่ง นครสวรรค์ 58 แห่ง ส่วนต่อเชื่อมลุ่มน้ำน่าน จ.อุตรดิกษ์ 88 แห่ง พิษณุโลก 66 แห่ง จ.พิจิตร 59 แห่ง แม่น้ำป่าสัก 8 แห่ง ใน จ.สระบุรี

"เราไม่ลอยแพชาวนา ถ้ามีน้ำท่าแค่ไหนให้แค่นั้น จะไม่ระบายน้ำจากเขื่อน 4 แห่ง มากกว่าวันละ 14 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำกินน้ำใช้ถ้าน้ำท่าหมด ระบบจะรี่ลง หยุดการรับน้ำ ไม่เข้าระบบชลประทาน โดยปัจจุบันมีน้ำท่าไหลที่นครสวรรค์ ระดับอัตราการไหล 800 ลบ.ม.ต่อวินาที ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 2.2 พัน ลบ.

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ก.เกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกโครงการ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกโครงการ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด และเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ให้ได้นานที่สุด

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 42,853 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 เป็นปริมาตรน้ำใช้การได้ 19,050 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์ รวม 4 เขื่อน มีปริมาตรน้ำในเขื่อน 10,329 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 42 คิดเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 3,633 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 2558 จะมีความต้องการใช้น้ำไม่น้อยกว่า 3,677 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ 44 ล้าน ลบ.ม. แต่จากที่มีฝนตกชุกกระจายทางตอนบนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา อย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวโน้มที่ดี คาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือน ต.ค.นี้ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้ง 4 แห่ง จะอยู่รวมกันประมาณ 3,600-3,700 ล้าน ลบ.ม. ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ ซึ่งกรมชลประทานได้ติดตามการคาดการณ์ปริมาณฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมถึงกรมฝนหลวงและการบินเกษตรก็เร่งปฏิบัติการดำเนินการเติมน้ำในเขื่อนด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทุกโครงการ บริหารจัดการน้ำท่าที่เกิดจากปริมาณฝนที่ตกในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการผันน้ำท่าที่เหลือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ยังสามารถเก็บน้ำได้ เพื่อเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ให้ได้นานที่สุด

นายธีรภัทรกล่าวเพิ่มเติมถึงการขับเคลื่อนมาตรการบรรเทาผลกระทบภัยแล้งตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบใน 8 มาตรการแล้วนั้น ในของมาตรการการจ้างงาน โดยการจ้างแรงงานชลประทาน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยจะเริ่มรายงานครั้งแรกวันที่ 15 ตุลาคม 2558 สำหรับมาตรการอื่น ๆ อยู่ระหว่างส่วนราชการทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ นอกจากนั้น ได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด ลงพื้นที่ชี้แจงสถานการณ์ผลกระทบและมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 9 - 22 ตุลาคม 2558 เกษตรกรเป้าหมาย 195,311 ราย มีเกษตรกรเข้าร่วมรับฟังแล้ว 23,637 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของเป้าหมาย

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2558 ในเขตชลประทานทั้งประเทศ (ณ วันที่ 9 ต.ค. 58) มีการเพาะปลูกแล้ว 14.16 ล้านไร่ จากแผน 15.78 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 89 มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 22,263 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 5.29 ล้านไร่ ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่นาปีต่อเนื่องจำนวน 1.23 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกแล้ว 6.27 ล้านไร่จากแผน 7.45 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูก 1.18 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากขาดน้ำในช่วงต้นฤดูฝน 21,644 ไร่ และมีพื้นที่ที่ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  4.47 ล้านไร่ สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 5.54 ล้านไร่ พื้นที่ได้รับความเสียหาย 69,486 ไร่ และมีพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 1.49 ล้านไร่

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ก.เกษตรและสหกรณ์ ใช้โอกาส "ดินชุ่มชื้น" เร่งเติมน้ำลง 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันนี้ (14 ต.ค. 58) ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมชลประทานได้ปรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การจาก 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ในเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) นั้น

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อสนับสนุนการเติมน้ำในอ่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในขณะนี้ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนเป็นไปตามเป้าที่วางไว้เดิม โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ต.ค. 58) เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 1,056 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ ประมาณ 1,861 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนประมาณ 328 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 469 ล้านลูกบาศก์เมตร หากรวมทั้ง 4 เขื่อนจะได้ปริมาณน้ำ 3,714  ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาอีก 2 สัปดาห์ก่อนสิ้นเดือนตุลาคม กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเดินหน้าเติมน้ำในเขื่อน ตั้งเป้าหมายเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนให้ถึง 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยคาดว่าจะสามารถเติมในเขื่อนภูมิพลให้ได้ประมาณ 150 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 300 ล้านลูกบากศ์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประมาณ 300 ล้านลูกบากศ์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนประมาณ 60 ล้านลูกบากศ์เมตร รวมทั้งสิ้นประมาณ 810 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงนี้ ดินมีสภาพชุ่มชื้น หรือในทางเทคนิคเรียกว่า "ดินอิ่มตัวด้วยน้ำ (Saturated Soil)" ซึ่งจะส่งผลให้น้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นดินจะกลายเป็นน้ำผิวดิน (น้ำท่า) ได้เร็วจึงจะไหลลงเขื่อนต่าง ๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงใช้โอกาสนี้ในการเร่งปฏิบัติการก่อนที่สภาพอากาศจะไม่เอื้ออำนวย ถึงแม้จะมีน้ำใช้การเพิ่มขึ้นแต่ยังคงไม่เพียงพอสำหรับฤดูแล้งนี้และฤดูฝนปีหน้า ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนทำตามคำแนะนำจากภาครัฐเพื่อให้สามารถมีน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรในฤดูฝนต่อไป

สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคใต้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายมากขึ้น เนื่องจากฝนตามธรรมชาติและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรง ดังนั้นจึงยังเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดกระบี่ จังหวัดสงขลา จนกว่าหมดปัญหาหมอกควัน ทั้งนี้สามารถติดตามผลการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละหน่วยได้ทาง application Fonluang+ และ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ก.พลังงานอัดฉีดงบปี’59 กว่าหมื่นล้าน เร่งขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน-พลังงานทดแทน

กระทรวงพลังงาน เร่งขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน อัดฉีดงบปี 2559 จำนวน 10,152 ล้านบาท เพิ่มความเข้มข้นการประหยัดพลังงานของประเทศให้ได้ตามเป้า พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุน SME ให้มีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผ่านกลไกการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 เปิดเผยว่านับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) กระทรวงพลังงานได้นำแผน EEP มาเร่งดำเนินการเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผน ซึ่งได้รับทราบว่าในช่วงปี 2555 – 2558 ที่คณะกรรมการได้อนุมัติจัดสรรเงินไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 23,946 ล้านบาท ได้มีการใช้จ่ายผ่านโครงการต่าง ๆ รวมเป็นเงิน 21,344 ล้านบาท ได้ก่อให้เกิดผลประหยัดรวม 31,150 ล้านบาท ผ่านโครงการที่สำคัญ ๆ เช่น การกำกับดูแลการใช้พลังงานในอาคารภาครัฐกว่า 10,000 แห่ง การใช้พลังงานในภาคเอกชนที่เป็นอาคารควบคุม 2,250 แห่ง และโรงงานควบคุม 5,500 แห่ง

และจากมาตรการช่วยเหลือด้านเงิน เช่น สนับสนุนด้านการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โครงการนำร่องใช้ระบบท่อก๊าซจำนวน 100 ครัวเรือน การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 733 ระบบ เป็นการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลชุมชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 343 แห่ง

นอกจากนี้ คณะกรรมการกองทุนฯ ยังได้พิจารณาจัดสรรเงินกองทุนฯ เพื่อเดินหน้าตาม Road Map แผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยได้เห็นชอบอนุมัติงบปี 2559 ในวงเงินรวม 10,152 ล้านบาท จำแนกเป็น 1) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 8,146 ล้านบาท 2) แผนพลังงานทดแทน จำนวน 1,854 ล้านบาท และ 3) แผนบริหารกลยุทธ์ จำนวน 150 ล้านบาท โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามแนวทางปี 2558 คือ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และแผนยุทธศาสตร์การอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการตามแผนฯ ในปี 2559 จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้รวม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,351 ล้านบาท/ปี อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและยกระดับการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการรายย่อย SME ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

โดยเป็นผลมาจากโครงการสำคัญ ๆ เช่น โครงการเงินหมุนเวียน เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Saving Loan) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินพิเศษ เพื่อช่วยเหลือการลงทุนแก่ SME มีลักษณะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 3.5% หรือ Soft Loan สำหรับเป็นเงินทุนเปลี่ยนแอร์อินเวอเตอร์ และเปลี่ยนหลอด LED เป็นต้น รวมทั้งมาตรการบังคับ เช่น การกำกับดูแลโรงงาน/อาคารควบคุมตามกฎหมาย ในการจัดทำแผนและเป้าหมายประหยัดพลังงาน อาคารควบคุมในภาครัฐและเอกชน การประหยัดพลังงานเชิง Area Base เช่น อุตสาหกรรมน้ำแข็ง ข้าว อาหาร และอาหารสัตว์

ในส่วนการดำเนินงานตามแผนพลังงานทดแทนในปี 2559 คาดว่าจะก่อให้เกิดการจัดตั้งระบบผลิตในรูปแบบการนำร่องพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 4.18 MW ใช้พลังงานทดแทนด้านความร้อน คิดเป็น 65 ktoe/ปี ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.65 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ ณ ปี 2558 เป็นร้อยละ 13.75 ในปี 2559

โดยเป็นผลมาจากโครงการสำคัญ ๆ เช่น โครงการสนับสนุนแบบให้เปล่า (Direct Subsidy) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนหัวเผา (Burner) จากหัวเผาน้ำมันเตา หรือ LPG มาเป็นหัวเผาชีวมวล (Biomass Pallet) รวมทั้งการสร้างต้นแบบในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อุทยานราชภักดิ์ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านห่างไกลตามแนวพระราชดำริ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล การติดตั้งระบบโคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ และโครงการนำร่องใช้น้ำมัน B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะทดลองในระดับการทำงานจริง (Field Scale Test) โดยจะมีปริมาณน้ำมัน B20 (ผสมพิเศษ) ที่มาทดลองทั้งสิ้น 28 ล้านลิตร

ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนของงานสนับสนุน ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรและการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานให้แก่ เยาวชน ครู ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานและอาคาร บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการกระตุ้นและปลูกฝังจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงาน ภายใต้โครงการต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนทุนการศึกษา โครงการประกวดบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงานดีเด่น, Energy Mobile Unit เข้าถึงชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ, รณรงค์การเลือกซื้อและ ใช้อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง

 "การอนุมัติงบประมาณปี 59 เป็นการขับเคลื่อนการประหยัดพลังงานให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย SME รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกร ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งจะสามารถช่วยบรรเทาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานลงได้ถึง 3.62 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์" พล.อ.อ.ประจิน กล่าวเพิ่มเติม

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

300บริษัทลุยเขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงงานน้ำตาลเท3หมื่นล้าน-EXIMปล่อยกู้

ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน-รับเหมาก่อสร้าง-ค้าบริการ-สิ่งทอ แห่ปักธงแม่สอด-สระแก้ว รับเขต ศก.พิเศษ 300 บริษัทแห่จดทะเบียน กว่า 30 รายยื่นขอส่งเสริมลงทุน ยักษ์น้ำตาล "กว้างชุ่นหลี" จ่อตั้งโรงงานสระแก้ว "รอสโซ่" ขอ BOI โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แจม EXIM ลอนช์สินเชื่อพิเศษรับนักลงทุน

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้ออกประกาศกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ (แม่สอด/ตาก-มุกดาหาร-สระแก้ว-ตราด) ในวันที่ 19 มกราคม 2558 ปรากฏ 9 เดือนที่ผ่านมา มีนักลงทุนรายใหญ่สนใจเข้ามาติดต่อที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service หรือ OSS) มากกว่า 30 บริษัท นอกจากนี้ยังเกิดการจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ดำเนินการกิจการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง-ธุรกิจที่ใช้แรงงาน-ธุรกิจบริการ เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ และมีบริษัทที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประเดิมเป็นครั้งแรก จำนวน 4 บริษัท

แห่เปิดบริษัทสระแก้ว-แม่สอด

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้ามาว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-จนสิ้นเดือนกันยายน 2558 มีบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดตาก และสระแก้ว ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นโครงการนำร่องมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในจังหวัดตากมีบริษัทใหม่ที่จดทะเบียนรวมทั้งสิ้นถึง 170 บริษัท ขณะที่สระแก้วมีจำนวน 125 บริษัท และเมื่อพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า บริษัทส่วนใหญ่เป็น บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง, ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บริษัทแม่สอด แลนด์, บริษัทพิมลรัตน์ พร็อพเพอร์ตี้, บริษัทจงซิงไท่พัฒนา, บริษัทริมเมย-เมียวดี, บริษัทเหรียญทองซีเมนต์, บริษัทพัฒนาภัทร คอนสตรัคชั่น, ห้างหุ้นส่วนจำกัดวงษ์ต่ายก่อสร้าง ใน อ.แม่สอด

บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในจังหวัดสระแก้ว อาทิ บริษัทพาวเวอร์ เทรด, บริษัทเคทีจี เอ็นจิเนียริ่ง ทีม, บริษัทซีวีเค (2015), บริษัททรัพย์ถาวร (2015), ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภัทรานิตย์ (2015) ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอพาร์ตเมนต์และหอพัก, ธุรกิจโรงแรม, บริษัทซื้อขายสินค้าเกษตรพืชไร่, บริการรับขนส่งสินค้า, การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ไฟฟ้า

 นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เข้าไปตั้งบริษัทในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อีกไม่ต่ำ 4-5 บริษัท อาทิ บริษัทโหย่ง จิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล, บริษัทสนุก การ์เม้น, บริษัทดิ โอน ดีไซน์, บริษัทไทย ฟู่ การ์เม้นท์ และบริษัทซวงเชี๋ยว บรา เป็นต้น รวมทั้งบริษัทเอ็กซ์ตรีมวอเทอร์พาร์ค ที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจสระว่ายน้ำและสวนน้ำในพื้นที่ด้วย

"บริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 แห่ง จะเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง รวมถึงธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนี้กลุ่มการ์เมนต์ เพราะต้องการใช้แรงงานเข้มข้นในภาคการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน"

"กว้างชุ่นหลี" สนลงทุนสระแก้ว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ได้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เข้ามาติดต่อที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (One Start One Stop Investment Center) เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีน ทางศูนย์จึงให้นักลงทุนเหล่านั้นประสานไปยังศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service หรือ OSS) ในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด เพื่อที่นักลงทุนจะได้เข้าไปติดต่อปรึกษาขอคำแนะนำในการยื่นเอกสารขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อไป

เฉพาะศูนย์ OSS ที่จังหวัดสระแก้ว ปรากฏมีนักลงทุนเข้ามาติดต่อถึง 33 บริษัท อาทิ บริษัทเวิร์ลด์ เอ็นเอส จากประเทศเกาหลี สนใจที่จะเข้ามาก่อสร้างเมืองใหม่, บริษัทสหไทยพัฒภัณฑ์ ประกอบกิจการค้าขาย เงินลงทุน 40 ล้าน, บริษัทคอมเพล็ก ประกอบกิจการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภค เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท, บริษัท Cape&KantaryHotels ประกอบกิจการโรงแรม, บริษัทพีเอส.เอ็นเตอร์ไพรส์ โซลูชั่น ประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำดื่มและก๊าซหุงต้ม ตั้งบนพื้นที่ 10 ไร่ เงินลงทุน 5 ล้านบาท

บริษัทอรัญ-ศรีโสภา เงินลงทุน 15 ล้านบาท ประกอบกิจการท่องเที่ยว, บริษัทวรัญญา อินเตอร์เทรด แอนด์ คอนสตรัคชั่น ประกอบกิจการคลังสินค้า/ห้องเย็น เงินลงทุนระหว่าง 500-1,000 ล้านบาท, บริษัทเชิดพงษ์ เอ็นจิเนียริ่ง ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 1 MW เงินลงทุน 50 ล้านบาท, บริษัท JWD Group กิจการโลจิสติกส์, บริษัททีคิว อินดัสทรีสตาร์ซ ประกอบกิจการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย, บริษัทบุชัยอินเตอร์ ทำคอนกรีตผสมสำเร็จ, บริษัทเนียนเกษม ผลิตคอนกรีตสำเร็จ บริษัทน้ำตาลกว้างชุ่นหลี ตั้งโรงงานน้ำตาล เงินลงทุน 10,000-30,000 ล้านบาท, บริษัทอรัญคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์, บริษัทซิ้ลเคนเท็กซ์ ผลิตเครื่องนอน, บริษัทโรงสีดีดีรุ่งเรือง, บริษัทสมชัยค้าข้าว และยังมีบริษัทประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ที่ตั้งบริษัทในสระแก้วแล้วอีก 6 บริษัท อาทิ บริษัทมีเดียมาร์ค กำลังผลิต 5.9 MW, บริษัทนอร์ท โซล่า เพาเวอร์ 4 MW, บริษัทเฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ 8 MW, บริษัทบีเอ็มพี เอ็นเนอร์ยี่ 8 MW และบริษัท เอ็น.พี.เอส.สตาร์กรุ๊ป 6 MW

รอสโซ่นำร่องตั้งโรงงานที่แม่สอด

ส่วนนักลงทุนที่ยื่นคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว ล่าสุดมีจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัทอินฟินิท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ มีนายพฤทธิพงษ์ ไทยแช่ม กับนายโชคพิทักษ์ ศรีหิรัญรัตน์ เป็นกรรมการ ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตำบลโพธิ์ชัย จังหวัดหนองคาย 2) บริษัทรอสโซ่ ผู้ผลิตชุดชั้นในชายและชุดกีฬา เงินลงทุน 180 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ อ.แม่สอด จ.ตาก 3) บริษัทโหย่ง จิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล มีนายลี เจี้ย เจ๋อ เป็นกรรมการ ตั้งโรงงานผลิตชุดชั้นในและยกทรง เงินลงทุน 55 ล้านบาท ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ

4) บริษัทแม่สอด กรีน เพาเวอร์ มีกรรมการประกอบไปด้วย นายมนตรี คงตระกูลเทียน ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, นายวิวัฒน์ ไม้แก่นสาร และนายไพสิฐ เอาฬาร ตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เงินลงทุน 23 ล้านบาท ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

"บริษัทเหล่านี้ถ้าเป็นกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี และลดหย่อนอีก 50% ในปีที่ 9-13 ถ้าเป็นกิจการทั่วไปในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล +3 ปี (แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี) หากได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปีอยู่แล้ว ให้ได้รับการลดหย่อน 50% ในปีที่ 9-13 เป็นการเพิ่มเติม แต่ถ้าโรงงานทั่วไปที่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ สามารถเปิดดำเนินการผลิตได้ภายในปี 2560 จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนจาก BOI อีกคือ +2 ปี" แหล่งข่าวในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกล่าว

EXIM ให้สินเชื่อเขต ศก.พิเศษ

นายอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจ 1 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปี 2558 ธนาคารได้ทำโปรดักต์เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้วยการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ที่มีจุดเด่นคือเป็นสินเชื่อระยะยาวสูงสุดถึง 15 ปี มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมจัดการเงินกู้ให้และปลอดชำระเงินต้น 2 ปีแรก

 ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี และธนาคารได้เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา โดยนายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ และผู้บริหารธนาคาร ได้ลงพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศเขตเศรษฐกิจทั้ง 5 จังหวัด แล้วพบว่านักลงทุนจากภายนอกที่จะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ยังค่อนข้างลังเล ทั้งในแง่แรงจูงใจ การมอบอำนาจการบริหารในพื้นที่ และราคาที่ดินเอกชนที่เพิ่มสูง ขณะที่นักลงทุนในพื้นที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากกว่าในระยะนี้

 ดังนั้นเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ทางธนาคารกำลังพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อนี้ใหม่ โดยจะเพิ่มการปล่อยกู้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนด้วย แต่ยังคงระยะเวลากู้สูงสุด 15 ปี พร้อมกับสร้างแรงจูงใจมากขึ้น ด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนมากขึ้น "อัตราดอกเบี้ยเดิมเราคิดปีที่ 1 ไพรมเรต -1% ต่อปี (ไพรมเรตอยู่ที่ 6.5% ต่อปี) และปีที่ 2-15 คิดที่ไพรมเรต แต่ของใหม่จะจูงใจมากขึ้น แต่คงไม่ถึงขนาดปลอดดอกเบี้ยและไม่ต่ำเหมือนซอฟต์โลนของธนาคารออมสิน แต่จะผ่อนปรนจากอัตราดอกเบี้ยเดิม ขณะนี้ยังไม่สรุป ธนาคารจะมีการหารือกันในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ สินเชื่อตัวนี้ยังรองรับพื้นที่ 9 จังหวัดที่รัฐบาลประกาศให้เป็น Super Cluster ด้วย

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

มิตรผลคว้า "รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม"ยกระดับคุณภาพโรงงานสู่มาตรฐาน

          เดินหน้าสู่ความสำเร็จอีกขั้น บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จากัด สาขามิตรภูเวียง ในเครือกลุ่มมิตรผล ได้รับโล่  "รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม" ประจำปี 2558 ในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น มีขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อิมแพค เมืองทองธานี

          รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้องค์กรที่ได้รับเป็นแบบอย่างแก่สถานประกอบการให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันเทียบเท่าระดับสากล ภายใต้กฎเกณฑ์พิจารณา "การบริหารจัดการ" อาทิ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัด เก็บและการส่งมอบให้ลูกค้า "การประกอบธุรกิจ" เป็นต้นว่า การสร้าง มูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ "การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและ องค์ความรู้" อาทิ โครงการ Mitr Phol Best Innovation Awards  "ผลกระทบของกิจการต่อระบบเศรษฐกิจ"และ "การทาคุณประโยชน์ต่อสังคม" อาทิ โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน  ยึดหลักธรรมาภิบาล ในการประกอบธุรกิจ

          จากการที่บริษัทฯ รวมเกษตรกรอุตสาหกรรมได้รับรางวัลดังกล่าว เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีการบริหารงานโดดเด่นมากที่สุด เหมาะแก่การเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสถานประกอบการรายอื่น และนับเป็นการได้รับรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ของกลุ่มมิตรผล ตั้งแต่รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทบริหารงานคุณภาพ ในปี 2548, รางวัลอุตสาหกรรม ดีเด่น ประเภทการจัดการพลังงาน ในปี 2549 และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในปี 2550 และรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2558

          นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งพัฒนา ธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย ด้วยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการ รวมทั้งนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศ ตามแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการ ผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมกับการยกระดับความสามารถและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติ

จากhttp://www.prachachat.net  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

แห่ตุนใบรง.4ยอดพุ่ง5พันฉบับอุตฯงงตัวเลขเปิดจริงน้อยมาก   

          "อรรชกา" สั่งกรมโรงงานฯไล่จี้ผู้ประกอบการทั่วไทย ที่ได้ "ใบ รง.4" ไปแล้วไม่ลงทุน เร่งหาเหตุแนวทางแก้ไขด่วน

          นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตประกอบการโรงงาน รง.4 ช่วงระหว่าง ปี 2557-2558 เพราะอะไรจึงไม่มีการลงทุนก่อสร้างโรงงาน ซึ่งแต่ละปีมีการขออนุญาต รง.4 กว่า 5,000 ใบ และมีสัดส่วนการลงทุนจริงกว่า 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ตามกฎหมาย รง.4 ไม่ได้มีเกณฑ์กำหนดว่าจะต้องลงทุนภายในกี่ปี

          "ผู้ประกอบการเมื่อได้ใบ รง.4 แล้วยังไม่ลงทุนมีมาก แต่ปีนี้อาจมากกว่าปกติ เพราะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ บางบริษัทอาจจะยังไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งอาจมาจาก 1.ไม่มีเงินทุน 2.ภาวะเศรษฐกิจ 3.ชุมชนและสิ่งแวดล้อม เมื่อได้ข้อมูลจะส่งให้รัฐมนตรีรับทราบภายในเดือน ต.ค.นี้ รายที่มีปัญหาเรื่องเงินลงทุนจะให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ประสานกับ SME Bank ให้"

          ทั้งนี้ ในหลักเกณฑ์ของ รง.4 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาของการลงทุน เหมือนกับที่นักลงทุนยื่นขอบัตรส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพราะเอกชนบางรายอาจเจอปัญหา ซึ่งอาจกลับมาลงทุนปีที่ 3 ก็เป็นได้ ต่างจากส่วนของบีโอไอหากได้บัตรส่งเสริมแล้วไม่ลงทุนภายใน 3 ปี รัฐเสียหาย เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ไปแล้ว ส่วน รง.4 ยังไม่ลงทุนก็ได้ ซึ่งรัฐไม่ได้เสียหายอะไร ดังนั้นหากจะไปกำหนดระยะเวลาให้ตั้งโรงงานภายในกี่ปีต้องไปแก้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องยาก

          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สาเหตุที่เอกชนยังไม่ลงทุนในขณะนี้ต้องมาวิเคราะห์ก่อน อาจประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ผังเมืองหรือไม่ ส่วนกรณีเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว เอกชนมองว่าเป็นโอกาสที่ต้องลงทุนมากกว่า ไม่ควรที่จะรอ

          "ทุกคนมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี บางรายรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ แต่ในความเป็นจริง เอกชนไม่ควรรอ ควรลงทุนก่อสร้างโรงงานได้แล้ว เพราะยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ราคาวัสดุก่อสร้างยิ่งถูก ขณะที่มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งมาตรการด้านภาษี เชื่อว่าอีก 2-3 เดือน กลุ่มนี้จะทยอยลงทุน"

          แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงมีความกังวลว่า จำนวนผู้ประกอบการโรงงานจะทำการขอต่อใบอนุญาตก่อนหมดอายุไม่ทัน เนื่องจากจำนวนบุคลากรของ กรอ.ไม่เพียงพอ มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คน/โรงงาน โดยเฉพาะช่วงเดือน ก.ย.ของทุกปี ที่เริ่มทยอยขอต่อใบอนุญาตกัน จึงได้ประชุมแนวทางบูรณาการสำหรับการพิจารณาการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โดยการเตรียมว่าจ้างให้บริษัทเอาต์ซอร์ซเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้ลงตรวจโรงงาน และประเมินสถานภาพโรงงานเพื่อให้ทันการต่อใบอนุญาตในปีถัดไป โดยเฉพาะสมุทรปราการที่มียื่นมาถึง 1,200 คำขอ/ปี และสมุทรสาคร ปทุมธานี ซึ่งเป็นเขตที่มีโรงงานจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการโรงงานผลิตอาหาร การบูรณาการครั้งนี้เพื่อสอดรับกับ พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

"KTIS" ชูแผนปั๊มรายได้ รุกโรงไฟฟ้า-น้ำตาลพรีเมี่ยม

ปีนี้เป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำตาลน้ำตาตกใน เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ 11-12 เซนต์/ปอนด์ ร่วงกว่าครึ่งของราคาต้นทุนที่อยู่เฉลี่ย 18-20 เซนต์/ปอนด์ จากภาวะน้ำตาลล้นตลาดโลก และประเทศบราซิลผู้ส่งออกอันดับหนึ่งลดค่าเงิน ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจน้ำตาล จนหลายบริษัทจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ซึ่งยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูงอย่าง บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ก็ประกาศแผนปรับตัวแล้ว

"ประพันธ์ ศิริวิริยะกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTIS เล่าว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่ 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 50 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์และนครสวรรค์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 1,920 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มขายไฟเชิงพาณิชย์ได้ทันปลายไตรมาส 4/58 ต่อเนื่องถึงปีหน้า ที่สามารถรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าแบบเต็มปี จากปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิงแล้ว จำนวน 1 โรง กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์

ส่วนการปรับตัวของธุรกิจน้ำตาล เขายอมรับว่า รายได้จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลอาจจะทรงตัวตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ลงหนักในปีนี้ ทางกลุ่มจึงได้ปรับแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ โครงการผลิตน้ำเชื่อมกำลังการผลิต 400 ตัน/วัน ซึ่งมีลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย คือ บริษัทผลิตน้ำอัดลม เช่น โค้ก และแลคตาซอย เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ใหม่อีกชนิดคือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) กำลังผลิต 500 ตัน/วัน โดยใช้เงินทุนสร้างโรงงานใหม่รวมกว่า 1 พันล้านบาท น่าจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในไตรมาส 4 นี้และจะรับรู้รายได้ทันที เนื่องจากมีลูกค้ารายสำคัญคือบริษัทนิสชินชูการ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นบริษัทที่ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น พันธมิตร KTIS ถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยได้เซ็นสัญญาซื้อสินค้าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคาดว่า 2 ผลิตภัณฑ์นี้จะทำรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 80-100 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และถึงจุดคุ้มทุนในเวลาประมาณ 5 ปี

ดังนั้น โครงสร้างรายได้ของบริษัทในปีนี้ จะเริ่มเห็นสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้า 30% ของรายได้รวม ที่เหลือ 70% จะเป็นน้ำตาล และปีหน้ารายได้จากโรงไฟฟ้าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ส่วนน้ำตาลจะลดเหลือ 60% ของรายได้รวม และเชื่อว่าในปี 2559 รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเข้ามาเต็มทั้งปี ก็จะทำให้รายได้รวมของบริษัทเติบโตขึ้นราว 10% เทียบกับปีนี้ ซึ่งจะทำให้กำไรขยายตัวตามไปด้วย

"ธุรกิจน้ำตาลรายได้คงจะทรงตัว แต่เราได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยผลิตน้ำเชื่อมกับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ ซึ่งเริ่มในช่วงไตรมาส 4 เช่นกัน โดยนิสชินชูการ์ ที่เป็นลูกค้าหลักได้เซ็นสัญญารอซื้อไว้แล้ว ทางซูมิโตโมก็เข้ามาช่วยดูแลคุณภาพการผลิตทุกขั้นตอน จะสนับสนุนให้รายได้จาก 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 80-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน" ประพันธ์กล่าว

ขณะที่ "ชุนซึเกะ ซึจิยามะ" กรรมการและผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า ปีหน้าราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีโอกาสจะฟื้นตัวขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 13.50-15 เซนต์/ปอนด์ หรือประมาณ 290-320 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน จากปีนี้ปรับตัวลดลงอย่างหนักทำจุดต่ำสุดที่ 11 เซนต์/ปอนด์

ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาจากความต้องการน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น เพราะจีนเผชิญภัยแล้ง ขณะที่บราซิลยังมีปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกน้ำตาล นอกจากนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัว ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการเอทานอลมากขึ้น

แผนธุรกิจของหุ้น KTIS ที่หันมารุกธุรกิจโรงไฟฟ้าและน้ำตาลเกรดพิเศษ เพื่อกระจายฐานสร้างรายได้ เป็นอีกความหวังที่รอเวลาพิสูจน์

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559 และผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยนางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ ได้จัดแถลงข่าวเพื่อสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย รวมทั้งมุมมองของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปี 2558 และแนวโน้มในปี 2559 พร้อมทั้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ 22 ที่ทริสเรทติ้งได้ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2536

          ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559

          นางสาววัฒนากล่าวว่า ทริสเรทติ้งมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจยังคงอ่อนตัวลง จากปัจจัยลบหลายประการ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งทำให้รายได้ครัวเรือนของภาคเกษตรกรรมถดถอยลง รวมทั้งการชะลอตัวที่เกินกว่าความคาดหมายของเศรษฐกิจจีนและการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกก็ทำให้รายได้จากการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของไทยมาโดยตลอดกลับลดลงถึง 4.8% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ โดยในอดีตการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคการส่งออกมากกว่า 40% ในขณะที่การลงทุนจากภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ที่น่าจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่สุดของประเทศในช่วงนี้กลับล่าช้า ประกอบกับการสูงขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของ GDP ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายสินค้าและบริการภายในประเทศชะลอตัวและลดลง ในขณะที่กลุ่มปิโตรเลียมยังได้รับผลกระทบในทางลบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับลดลง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2558

          ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2558 ในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปจนถึงสิ้นปี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะช่วยสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ดีขึ้นเนื่องจากขณะนี้จะเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวของประเทศที่จะต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2559 ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำหรับปี 2558 อยู่ที่ระดับ 2.5% ได้ ท่ามกลางแรงกดดันด้านการส่งออกจากการอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน

          สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2559 นั้น ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้หรือไม่เพียงใด ส่วนราคาพืชผลทางการเกษตรก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรหลักที่เป็นคู่แข่งของไทย เช่น ประเทศบราซิลที่อาจต้องลดการผลิตและส่งออกสินค้าลง ในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าของไทยรายใหญ่เป็นอันดับ 1 (11% ของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2557) ประกอบกับความล่าช้าในการปรับตัวของผู้ส่งออกสินค้าขั้นต้นยังน่าจะเป็นปัญหาของการส่งออกของไทยไปอีกในระยะปานกลางถึงระยะยาว ในขณะเดียวกันโครงสร้างตลาดการส่งออกของไทยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือ สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอาจเพิ่มขึ้นในปี 2559 เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ สหรัฐฯ เคยเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ของไทยมาก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยจีน โดยในปี 2557 มีสัดส่วนสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ 10.5% อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกของไทยก็ยังคงต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า และข้อจำกัดทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้าต่างๆ รวมทั้งการลดลงของสิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ผู้ส่งออกไทยเคยได้รับก็ทยอยลดลง ทำให้เชื่อว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้ายังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย โดยทริสเรทติ้งเชื่อว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2559 น่าจะอยู่ในระดับ 2.5%-3% บนสมมติฐานที่โครงการขนาดใหญ่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ และไม่เกิดปัญหาทางการเมืองภายในประเทศปะทุขึ้นมาอีก ซึ่งจะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น

          ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันและแนวโน้มในปี 2559

          ทริสเรทติ้งสรุปภาพรวมของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่บริษัทได้ให้บริการจัดอันดับเครดิตแก่ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนซึ่งอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมทั้งการเกษตร และกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ผันผวน เช่น อุตสาหกรรมโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว รับเหมาก่อสร้าง และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

          อุตสาหกรรมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

          ที่อยู่อาศัย ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงปี 2558-2559 อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2557 โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งใน

ด้านลบ อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าคาด ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจนทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารลดลง และจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยด้านบวก ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ต้นทุนค่าแรงและวัสดุก่อสร้างที่ทรงตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะออกมาในไม่ช้า

          ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีจำนวนทั้งสิ้น 19 ราย มีอันดับเครดิตในระดับตั้งแต่ "BB+" ถึง "A+" มียอดขายที่อยู่อาศัยรวมประมาณ 60%-65% ของยอดขายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทริสเรทติ้งพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงเนื่องจากมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนเงินกู้ต่อทุนโดยเฉลี่ยของผู้ประกอบการทั้ง 19 รายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.04 เท่าในปี 2556 และ 1.13 เท่าในปี 2557 เป็น 1.22 เท่า ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าคงเหลือ (รวมที่ดิน โครงการระหว่างก่อสร้าง และจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้ว) ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 339,000 ล้านบาทในปี 2556 มาอยู่ที่ 405,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 และ 430,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 โดยสินค้าคงเหลือดังกล่าวเป็นต้นทุนที่จะต้องใช้เวลาในการระบายถึงประมาณ 3 ปี

          อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ยอดรับรู้รายได้รวมของผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งทั้ง 19 รายยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 16% มาอยู่ที่ 112,787 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่ายอดรับรู้รายได้ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในปีนี้น่าจะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มียอดขายที่รอรับรู้เป็นรายได้คงเหลือ (Backlog) ในระดับที่ค่อนข้างสูง

          สินเชื่อเช่าซื่อรถยนต์ ในปี 2558-2559 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2557 จากผลกระทบของโครงการรถยนต์คันแรกในช่วงเดือน ก.ย. 2554 - ธ.ค. 2555 (1.25 ล้านคัน) ที่กระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถยนต์เกินอัตราที่แท้จริง เกิดเป็นการก่อหนี้ภาคครัวเรือนในระดับสูงและเกิดปัญหาอุปทานส่วนเกินในรถยนต์มือสองจนกระทั่งราคารถยนต์มือสองลดลงอย่างต่อเนื่องนานถึง 2 ปีตั้งแต่กลางปี 2556 และราคาลดลงมากถึง 30%-35% ในช่วงดังกล่าว เมื่อรวมกับผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 แล้วส่งผลให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

          ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 20 รายในฐานข้อมูลของทริส

          เรทติ้งมีมูลค่า 1.8 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 หดตัวลง 2% ในปี 2557 และ 0.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากที่ขยายตัวเกินจริงถึง 38% ในปี 2555 และ 21% ในปี 2556 ในขณะเดียวกัน คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจาก 1.2% ในปี 2555 เป็น 2.2% ในปี 2557 และขยับขึ้นเป็น 2.4% ณ เดือน มิ.ย. 2558 ผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 8 ราย มีอันดับเครดิตตั้งแต่ระดับ "BBB-" ถึง "AAA" โดยรายใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ 3 ราย ได้แก่ ธ. ธนชาต (AA-/Stable) ธ. ทิสโก้ (A/Stable) และ ธ. เกียรตินาคิน (A-/Stable) นอกจากนี้ ยังมี บมจ. อยุธยาแคปิตอล ออโต้ลีส (AA-/Stable) และ บจก. โดโยต้าลีสซิ่ง (หุ้นกู้มีค้ำประกัน AAA/Stable)

          แม้ว่าการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2557 และครึ่งแรกของปี 2558 จะมีอัตราต่ำกว่าที่เคยติดลบถึง 9% ในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 แต่การหดตัวในรอบนี้มีระยะเวลาที่ยาวนานกว่า และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในระยะสั้น โดยเฉพาะเมื่อราคารถยนต์มือสองยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวต่อไปในปี 2559 ทริสเรทติ้งจึงมองว่าทิศทางการขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จะยังคงจำกัด ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์น่าจะมีทิศทางที่ทรงตัวถึงลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการได้ตัดหนี้สูญออกไปจำนวนมากและมีภาระต้นทุนทางเครดิตในการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยในปี 2559 จะทำให้การถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

          ภาคการเกษตร ปี 2558 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ โดยในส่วนของ ธุรกิจน้ำตาล นั้น ในปีการผลิต 2557/2558 ยังคงเป็นปีที่ทั่วโลกมีอุปทานส่วนเกินเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ทั้งนี้ United States Department of Agriculture (USDA) ประเมินว่ามีอุปทานน้ำตาลส่วนเกิน 3.7 ล้านตัน ทำให้ราคาน้ำตาลทั่วโลกยังคงตกต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ผลประกอบการของผู้ผลิตน้ำตาลจึงมีแนวโน้มลดลงในปี 2558 แต่กำไรอาจลดลงไม่มากเหมือนผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เพราะโครงสร้างต้นทุนการผลิตน้ำตาลยืดหยุ่นกว่าจากระบบแบ่งปันรายได้และการขยายตัวของผู้ประกอบการสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น เอทานอล และไฟฟ้า

          ทริสเรทติ้งคาดว่าในปี 2558 ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 รายที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจะมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 12%-20% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2557 แต่ต่ำกว่าปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 21%-28% ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลมีหนี้ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างสูง โดยอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1-1.4 เท่าในปี 2557 สำหรับปี 2559 นั้นยังคงต้องติดตามราคาน้ำตาลว่าจะฟื้นตัวได้หรือไม่ท่ามกลางปัจจัยด้านลบต่าง ๆ เช่น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคน้ำตาล ปริมาณสินค้าคงคลังสะสมจำนวนมาก และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการให้ลดลงไปอีก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการหลายรายไม่มีภาระการลงทุนจำนวนมากในระยะใกล้ จึงน่าจะสามารถรักษาโครงสร้างเงินทุนให้ทรงตัวอยู่ในระดับเดิมได้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจน้ำตาล 3 ราย ได้แก่ บจก. น้ำตาลมิตรผล (A+/Stable) บมจ. น้ำตาลขอนแก่น (KSL -- A/Stable) และ บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR -- BBB-/Stable)

          ในส่วนของ ธุรกิจไก่และหมู นั้น ปี 2558 เป็นช่วงตกต่ำตามวัฏจักรจากปัญหาอุปทานล้นตลาดหลังจากที่ผู้ผลิตหลายรายขยายกำลังการผลิตจำนวนมากในปี 2557 และอุตสาหกรรมไก่ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่ คือ บจก. สหฟาร์ม กลับมาดำเนินการหลังจากหยุดการผลิตไป ในขณะที่ความต้องการบริโภคชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์บกปรับตัวลงมาก ความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการจึงลดลงตามราคาเนื้อสัตว์บก กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) จึงลดลงกว่า 30% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ทำให้กระแสเงินสดของกลุ่มปรับตัวลงตามวัฏจักร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกยังคงมีอยู่สำหรับธุรกิจไก่จากความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหลังจากประเทศญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปได้อนุญาตให้นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ประเทศไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่รวม 324,657 ตัน เติบโต 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไม่มีแรงกดดันเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์จึงคาดว่าธุรกิจสัตว์บกจะฟื้นตัวตามวัฏจักรโดยลำดับในปี 2559 ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสัตว์บก 2 ราย ได้แก่ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF -- A+/Stable) และ บมจ. เบทาโกร (A/Stable)

          อุตสาหกรรมกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัว

          โรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2558-2559 โดยมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริม ได้แก่ สัดส่วนของประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าสัดส่วนประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในปี 2563 และ 25% ในปี 2573 นอกจากนี้ ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนระดับแนวหน้าของไทยก็ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ในขณะที่มาตรฐานบริการก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

          บริษัทในกลุ่มนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งมีทั้งสิ้น 3 รายซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 อันดับแรก คือ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS -- AA-/Stable) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH -- A+/Stable) และกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (BCH -- A-/Stable) ทั้ง 3 กลุ่มมีรายได้รวมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 77%-78% ของรายได้รวมของผู้ประกอบการทั้งหมด 14 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (ไม่นับรวม บมจ. สมิติเวช (SVH) ที่เป็นบริษัทย่อยของ BDMS) ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องโดยมีรายได้รวมในครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 41,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมือง โดย BH และ BDMS ได้รับผลบวกจากการที่มีผู้ป่วยต่างชาติเพิ่มมากขึ้น อัตรากำไรของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี โดย BH และ BDMS มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 31% และ 21% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 จากเดิมที่ประมาณ 28% และ 18% ในปีก่อน

          การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีเนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพในขณะที่ค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรอบข้าง การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียโดยเฉพาะจีนกระตุ้นให้ความต้องการท่องเที่ยวเติบโตสูงมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติในประเทศ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวอย่างรวดเร็วจากที่เคยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP ในปี 2553 เพิ่มเป็น 9% ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเอเชีย ได้แก่ จีน (5.5 ล้านคน) และมาเลเซีย (2.3 ล้านคน)

          รายได้ของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมส่วนมากขยายตัวขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบจากปัญหาการเมือง โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนมากมีรายได้ที่ขยายตัวขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 20.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เทียบกับ 19.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ในขณะที่อัตราหนี้ต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.80 เท่า จากการลงทุนต่อเนื่องของผู้ประกอบการรายใหญ่ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม 3 ราย ได้แก่ บมจ. ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT -- A+/Stable) บมจ. โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL-- A/Stable) และ บมจ. ดุสิตธานี (DTC -- BBB+/Stable)

          ธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างในปี 2558 ค่อนข้างชะลอตัวลงจากปีก่อนและขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากความล่าช้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล ในขณะการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชนและจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยชะลอตัวจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวลง แต่แม้ว่าจะเผชิญกับปัจจัยลบที่กล่าวข้างต้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีรายได้ที่ต่อเนื่องมาจากมูลค่างานคงเหลือของโครงการก่อสร้างเดิม ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างและราคาน้ำมันที่ลดลง อัตราค่าแรงงานที่ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก ตลอดจนต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้สถานะทางการเงินยังคงทรงตัว อย่างไรก็ดีจากสภาพตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างตึงตัวทำให้ผู้ประกอบการบางรายมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ

          สำหรับแนวโน้มในปี 2559 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างน่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่จะทะยอยออกมา เพราะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 สัดส่วนการก่อสร้างจากภาครัฐคิดเป็นประมาณ 54% ของมูลค่าการก่อสร้างในประเทศรวม ส่วนโครงการก่อสร้างภาคเอกชนและโครงการที่อยู่อาศัยคาดว่าจะไม่ขยายตัวมากนัก ตามทิศทางการลงทุนภาคเอกชนต่างๆ และตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังคงชะลอตัว ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทรับเหมาก่อสร้าง 7 บริษัท ได้แก่ บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (A-/Stable) บมจ. ช. การช่าง (A-/Stable) บมจ. โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (BBB-/Positive) บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (BBB-/Stable) บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ (BBB-/Stable) และ บมจ.พรีบิลท์ (BBB-/Stable)

          ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ สภาพตลาดค่อนข้างอิ่มตัว โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2558 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในทุกระบบมีประมาณ 88.3 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรอยู่ที่ประมาณ 127% ทั้งนี้ความต้องการของผู้บริโภคในการใช้บริการด้านข้อมูลมีเพิ่มสูงขึ้น โดยรายได้จากการให้บริการโดยรวมของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ 3 รายได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เพิ่มขึ้นเพียง 3.3% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในส่วนของการให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ (Non-Voice Services) 26% ในขณะที่รายได้ในส่วนของการให้บริการด้านเสียง (Voice Services) ลดลง 14% ทำให้สัดส่วนของรายได้จาก Non-voice Services สูงกว่ารายได้จาก Voice Services เป็นครั้งแรกในไตรมาส 2 ของปี 2558

          ภายใต้สภาวะของจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่อนข้างอิ่มตัว ทำให้การแข่งขันยังคงค่อนข้างรุนแรง โดยผู้ให้บริการได้ออกโปรแกรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อแย่งผู้ใช้บริการมาจากคู่แข่ง อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการที่ต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐ (Regulatory Cost) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้คาดว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ต และ 900 เมกะเฮิร์ต (4G) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนแนวโน้มความต้องการใช้บริการด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังคงต้องลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแข่งขันประมูลใบอนุญาตที่รุนแรง อาจส่งผลต่อต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อผลประกอบการและภาระหนี้ ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตให้แก่บริษัทกลุ่มธุรกิจนี้ 4 บริษัท ได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (AA+/Stable) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (AA+/Stable) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (BBB+/Stable) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BBB+/Stable)

          ผลงานให้บริการอันดับเครดิตในปี 2558

          กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้งสรุปผลงานให้บริการจัดอันดับเครดิตในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 ดังนี้ ทริสเรทติ้งให้บริการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 15 ราย ซึ่งคาดว่ายอดรวมการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้ารายใหม่ทั้งปีของปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือ ประมาณ 20-22 รายต่อปี

          ในปีนี้ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่จะใกล้เคียงหรือต่ำกว่าปี 2557 เล็กน้อย และคาดว่ายอดคงค้างหุ้นกู้ระยะยาวจะเพิ่มเป็น 2.17 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 เทียบกับ 1.83 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2557 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 18% ส่วนในปี 2559 นั้นเชื่อว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งน่าจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการออกตราสารหนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มีต้นทุนต่ำกว่าการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มความต้องการออกตราสารหนี้มากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มอาหาร และกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เข้มบังคับใช้กม.การเกษตร ตรวจสอบคุณภาพสินค้า-ปัจจัยผลิตนำเข้ารับเออีซี

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้จัดการประชุมสัมมนาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตรและระบบตรวจสอบคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพด่านตรวจสินค้าเกษตรในการนำเข้า-ส่งออกรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (AEC) ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกว่า 300 คน รับทราบนโยบายของกระทรวงเกษตรฯด้านการบังคับใช้กฎหมายและได้รับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้านการเกษตร รวมถึงสถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดี และการเร่งรัดตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์ ประมง และปัจจัยการผลิตเป็นไปตามระบบมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทย ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับมาตรการทางสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชก่อนการนำเข้าและส่งออก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าในกลุ่มประชาคมอาเซียน และช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศได้

“กระทรวงเกษตรฯได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างเข้มงวด ทั้งยังมีนโยบายเพิ่มศักยภาพในด้านการค้า และเคลื่อนย้ายสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และแก้ไขปัญหาภาคเกษตรและความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ทันเหตุการณ์ ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล และส่งผลสัมฤทธิ์สู่เกษตรกรในทุกพื้นที่ได้มากขึ้น” รองเลขาธิการ มกอช.กล่าว

นายพิศาลกล่าวอีกว่า เบื้องต้นคาดว่าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตร และระบบตรวจสอบคุณสินค้าเกษตรและปัจจัยการผลิต อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จะสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมาย ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน และสามารถรับทราบข้อร้องเรียน รับแจ้งเหตุหรือเบาะแสการกระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังคาดว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายด้านการเกษตรได้อย่างเข้มงวด และสามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดจากการกระทำผิดกฎหมายด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ และให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ยธ.ร่วมสางปัญหาหนี้เกษตรกร รับดูข้อกม.สร้างความเป็นธรรม

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้เข้าพบหารือกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ถึงการวางแนวทางการให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดย พล.อ.ไพบูลย์ มีบัญชาให้กระทรวงยุติธรรม รับเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการพิจารณาข้อกฎหมายและข้อสัญญาต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายให้แก่เกษตรกร โดยให้สภาเกษตรกรแห่งชาติจัดทำรายชื่อเกษตรกรที่เป็นหนี้ โดยจำแนกตามกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ข้อมูลปัญหาที่ของเกษตรกรทั่วทุกพื้นที่ เพื่อจะนำระบบราชการไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ถูกต้อง และรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในส่วนของการบังคับคดีหนี้สินเกษตรกร กรมบังคับคดีได้ประสานขอให้เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดส่งรายชื่อผู้แทนสภาเกษตรกรจังหวัด เพื่อเป็นผู้ประสานงานกับกรมบังคับคดี ในการช่วยเหลือโดยการนัดไกล่เกลี่ยคู่ความทุกราย ควบคู่กับการประสานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินกู้ในการนำไปชำระหนี้ (Refinance) ตามแนวทางช่วยเหลือที่ ธ.ก.ส. หารือร่วมกับกรมบังคับคดี สำหรับกรณีวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 150,000 บาท ธ.ก.ส. สามารถอนุมัติกู้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนกรณีกู้เกินกว่ารายละ 150,000 บาท ธ.ก.ส.จะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนอำเภอ หรือ อชก.ส่วนจังหวัด หรือ อชก.กทม. (ส่วนกลาง) แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาอนุมัติตามวงเงินที่ได้รับมอบอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบให้ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้แทนสภาเกษตรกรจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นผู้ประสานกับกรมบังคับคดีจังหวัดในพื้นที่ ทั้งนี้ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดส่งรายชื่อผู้แทนสภาเกษตรกรจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเป็นผู้ประสานให้แก่กรมบังคับคดี ผู้แทนสภาเกษตรกรจังหวัดจะให้เกษตรกรที่มีรายชื่อกับกรมบังคับคดีได้อธิบายถึงสภาพปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยสภาเกษตรกรฯ จะเป็นคนกลางในการประสานงานระหว่างกรมบังคับคดีในการนำปัญหา และแนวทางแก้ไขของเกษตรกรผู้เป็นลูกหนี้ ประสานไปที่กรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการในขั้นตอนของการให้ความช่วยเหลือต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

"บิ๊กตู่"เอาจริงเร่ง'โซนนิ่งพื้นที่เกษตร'

นายกฯ สั่งมหาดไทยเกษตรฯ สำรวจความคิดเกษตรกร หากรัฐจัดโซนนิ่งพื้นที่เกษตร

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งลงพื้นที่ไปชี้แจงและถามความเห็นเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งว่า ต้องการที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรบ้างเพิ่มเติม เพื่อต้องการให้การช่วยเหลือตรงใจกับประชาชนมากที่สุด และให้รวบรวมความเห็นเสนอกับมายังครม.ภายใน 30 วัน

ขณะเดียวกัน ให้หารือและถามความเห็นกลับเกษตรกรถึงแนวทางที่รัฐบาลจะใช้การโซนนิ่งพื้นที่เกษตรด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร เพื่อจะนำมาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร

"นายกฯ กำชับว่านอกจากไปถามประชาชนว่าจะให้ช่วยเหลืออะไรแล้ว ให้ใช้โอกาสนี้ถามประชาชนเรื่องการโซนนิ่งด้วยว่าเกษตรกรเห็นอย่างไร โดยพืชที่จะส่งเสริมจะต้องเหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ศึกษาไว้หรือพื้นที่โซนนิ่งเพื่อจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรโดยเฉพาะในกลุ่มของพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ซึ่งไอเดียนี้รองนายกฯ สมคิด ได้หารือกับ ครม.ไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน และนายกฯ ได้ให้ไปลองถามประชาชนดู จะได้มีข้อคิดเห็นของประชาชนกลับมาพร้อมกับโครงการที่ประชาชนต้องการให้ช่วยเหลือแต่ยังไม่ลงรายละเอียดแต่อย่างใด" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในเบื้องต้นที่มีการหารือ เช่น รัฐจะจูงใจโดยการช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าที่ดินค่าปัจจัยการผลิต การเชื่อมโยงตลาด และรัฐเป็นผู้รับซื้อหลังจากผลผลิตขายได้ก็จะมีการปันผลกำไรให้เกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าเคยมีการพูดเรื่องนี้ แต่เมื่อรัฐต้องรับซื้อผลผลิตและหาตลาดจำหน่ายสุดท้ายเกรงว่าจะไปซ้ำรอยโครงการรับซื้อข้าว จึงยังไม่มีการพูดเรื่องนี้ แต่เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการเกษตรในอนาคตที่จะใช้นโยบายโซนนิ่งเข้ามาขับเคลื่อนภาคเกษตร นายกรัฐมนตรีจึงให้เตรียมทำข้อมูลไว้ เพราะหากไม่ปรับระบบการผลิตอนาคตเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไทยจะแข่งกับเพื่อนบ้านลำบาก เพราะต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่น

ก่อนหน้ากรมพัฒนาที่ดินได้ระบุว่า มีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว 12 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าว 60 ล้านไร่

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ดึงKSLเข้าช่องเขตศก.ตั้งรง.ที่สระแก้ว

พ่อเมืองสระแก้วดันสุดตัว ดึงทุนโรงงานน้ำตาลขอนแก่นเข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปักธงรายแรก เท1.2 หมื่นล้านร่วมกับทุนตะวันออกกลาง หวังแกกฎ ตั้งโรงงานใหม่ ระยะห่างไม่ถึง 50 กิโลเมตร ขณะที่กระทรวงอุตฯขานรับ หากมติครม.ยินดีแก้ไข สภาอุตฯดันพลังงานทดแทนเป็นกิจการเป้าหมายร่วมด้วย ระบุมีเอกชนกำเงิน 4 หมื่นล้าน รอปักฐาน ด้าน “เคเอสแอล” ตอบรับพร้อมย้ายโรงงานน้ำตาลเข้ามาลงทุนขณะที่เฟส2 ได้ที่ดินแล้ว บิ๊กตู่ลั่น!ห้ามซ้ำรอยมีผู้บุกรุกเหมือนเฟสแรก

จากนโยบายผลักดันการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะจังหวัดตากและจังหวัดสระแก้วจะต้องให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในปี 2558 นี้ และขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเริ่มเคลื่อนไหวกันมากแล้ว

ต่อเรื่องนี้ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า ได้รายงานต่อกนพ.ว่า จังหวัดมีความพร้อมขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และขณะนี่มีนักลงทุนพร้อมที่จะลงทุนในพื้นที่จำนวนมาก ล่าสุด บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน) (KSL) เตรียมลงทุนโรงงานน้ำตาลวงเงินก้อนแรก 1.2 หมื่นล้านบาท จาก 3 หมื่นล้านบาท ซื้อที่ดินกว่า 2,000 ไร่ ในรัศมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร โดยมีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี รวมทั้งร่วมลงทุนกับนักลงทุนจากตะวันออกกลางพัฒนาศูนย์กลางผลิตอาหารแปรรูปฮาลาล ส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลางและยุโรป ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดที่มีปริมาณการปลูกอ้อยจำนวนมากปีละ 4 ล้านตัน

จี้ก.อุตฯหาทางออกระยะห่าง

อย่างไรก็ดีใน เบื้องต้นจังหวัดเห็นชอบให้ทุนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แต่ติดปัญหาข้อกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับระยะห่างของการตั้งโรงงานที่กำหนดว่า ต้องห่างจากที่ตั้งโรงงานเดิม 50 กิโลเมตร แต่ปรากฏว่าที่ตั้งที่ดินของโรงงานน้ำตาลขอนแก่นห่างจาก โรงงานน้ำตาลตะวันออกเพียง 20 กิโลเมตร อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา จังหวัดได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ สำนักนายกรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อหาทางออกดังกล่าว อย่างไรก็ดี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหาทางออกเกี่ยวกับข้อกฎหมายและนักลงทุน

ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศจำนวนมากถึง 50-60 รายให้ความสนใจให้จังหวัดช่วยจัดหาที่ดินให้รายละ 2-3 หมื่นไร่ อาทิ จีน เกาหลี เยอรมนี ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ ขณะที่ผังเมืองรวมจังหวัดสระแก้วในพื้นที่ อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ กำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม แต่เรื่องนี้จังหวัดได้ผ่อนปรนให้สามารถตั้งโรงงานได้และกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างผ่อนผันออกกฎกระทรวงมหาดไทยให้พื้นที่สีเขียวสามารถตั้งโรงงานได้และอนาคตจะแก้ไขผังเมืองเป็นพื้นที่สีม่วงหรือ ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม

งัดม. 44โละก.ม.สกัดลงทุน

ด้านแหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวต่อว่าคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) เป็นประธาน ระบุว่าหากมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้อง ขัดต่อการพัฒนาหรือลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะใช้มาตรา 44 ตามร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยกเว้นหรือ ยกเลิกการบังคับกฎหมายนั้นๆ เนื่องจาก นโยบายของนายกรัฐมนตรีต้องการเปิดให้มีการลงทุนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขณะนี้ได้เสนอไปยัง คสช. เพื่อออกคำสั่งดังกล่าว

ปรับค่าเช่าทุนใหญ่-ท้องถิ่นให้จูงใจ

นอกจากนี้ยังมีมติให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน เพื่อปรับลดค่าเช่าให้เกิดการจูงใจ โดยต้องแยกให้ชัดระหว่างค่าเช่าสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ และรายย่อยในท้องถิ่น ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมสิทธิประโยชน์ก้อนแรก (แป๊ะเจี๊ยะ) สูงสุด 5-6 แสนบาทต่อไร่ ซึ่งนายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสนอให้ปรับลดลงเหลือ 2 แสนบาทต่อไร่ ส่วนค่าเช่าที่ดินดิบของกรมธนารักษ์ ต้องปรับลดด้วยเช่นกัน

เคาะที่ดินเขตศก.เฟส 2 ลงตัว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้กนพ.ยังเห็นชอบการคัดเลือกที่ดินรัฐให้เช่าเพื่อตั้งเขตอุตสาหกรรมของเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) เป็นประธาน เสนอ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 3อำเภอ คืออำเภอเชียงของ เลือกที่ดินบริเวณทุ่งงิ้ว กว่า 500 ไร่ อำเภอเชียงแสน ที่ดินส.ป.ก.ติดท่าเรือเชียงแสน และอำเภอแม่สายที่ดิน 3 แปลงของโรงงานยาสูบติดถนนพหลโยธิน กาญจนบุรี ที่ประชุมขอลดพื้นที่จาก 8,000 ไร่เป็นไม่เกิน 2,000 ไร่ บริเวณด่านบ้านพุน้ำร้อน นครพนมเลือกที่ดินติดสะพานมิตรภาพ 2,400 ไร่ และนราธิวาส เลือกที่ดินเอกชน 2,600 ไร่ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกำชับว่า จะต้องเคลียร์ปัญหาที่ดิน ไม่ให้มีการบุกรุกเหมือนเฟสแรก

เคเอสแอลตอบรับลงทุน

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนที่จะย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดชลบุรีมายัง อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว แต่ติดประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ซึ่งที่ตั้งแห่งใหม่อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกไม่ถึง 30 กิโลเมตร ที่ผ่านมาทางบริษัทพยายามที่จะขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันให้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้ยื่นเอกสารตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ว่าจะพิจารณาออกมาอย่างไร

“หากกระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันระยะห่างหรือสามารถเข้าไปอยู่ในประเภทกิจการเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ บริษัทก็พร้อมจะย้ายโรงงานน้ำตาลมาตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน”

อุตฯพร้อมทำตามมติครม.

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ในการขอปรับหลักเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณานั้น คงต้องมาพิจารณารายละเอียดของมติออกมาอย่างไร และจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่ความชัดเจน คงต้องจัดทำข้อมูลรายละเอียดให้ทางกนพ.พิจารณาอีกครั้ง ที่จะต้องไปดูว่าข้อกฎหมาย ระเบียบการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นมติครม.ออกมา ให้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ขณะนี้ต้องขอดูความชัดเจนคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ออกมาก่อน

พลังงานทดแทนขอเข้าร่วมด้วย

 นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในเร็วๆนี้ทางส.อ.ท.จะเข้าหารือกับทางสศช.และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพื่อจะขอให้กิจการพลังงานทดแทนเข้าไปอยู่ในประเภทกิจการที่จะส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มสมาชิกในส.อ.ท.ที่มีความพร้อมจะเข้าไปลงทุน แม้ว่าขณะนี้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะได้รับการส่งเสริมสูงสุดแล้วก็ตาม

ดังนั้น ในการประชุมกนพ.ครั้งที่ 5 ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 จะมีการผลักดันให้กิจการพลังงานทดแทน เข้าไปอยู่ในกิจการเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะผู้ประกอบการมีความพร้อมและสามารถเข้าไปลงทุนได้ทันที่ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการเร่งก่อสร้างสายส่ง และการยกเว้นการไม่ต้องประมูลแข่งขัน

เอกชนยันลงทุน 4 หมื่นล้าน

นายสุวัฒน์ กมลพนัส รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ทดแทน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่พร้อมจะลงทุนด้านโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ทันทีประมาณ 500 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด แต่ติดปัญหาที่ว่าทางกระทรวงพลังงานยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้า และจะต้องแข่งขันหรือเปิดประมูลผู้ที่ให้ราคาที่ถูกกว่า ตามข้อจำกัดของสายส่งที่จะสามารถรองรับได้ในแต่ละพื้นที่ หากพลังงานทดแทนเข้าไปอยู่ในกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยแก้ปัญหาในการไม่ต้องเปิดประมูล และเป็นการเร่งให้กระทรวงพลังงานเปิดรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้เอกชนมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้า ที่จะไปเตรียมตัวในการจัดทำรายละเอียดลงทุนของโครงการได้ เมื่อเทียบกับขณะนี้ไม่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไวด้านลงทุนของผู้ประกอบการแต่อย่างใด

ยันมีแผนขยายสายส่งรองรับ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เปิดเผยว่า ในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้านั้น สนพ. รับทราบว่ามีเอกชนที่ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแนวทางดังกล่าว โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2558

โดยจะพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ และ 115 กิโลโวลต์ และระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของระบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยระยะแรกมีจำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อำเภอมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 13 ตุลาคม 2558

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/10) ที่ 35.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/10) ที่ 35.36/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์กลับมาปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักสกุลอื่น เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม การซื้อขายค่าเงินดอลลาร์เมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นไปอย่างเบาบาง เนื่องจากในวันจันทร์ (12/10) เป็นวันหยุดราชการของสหรัฐเนื่องในวันโคลัมบัสเดย์ นอกจากนี้ เมื่อคืน (12/10) นายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนดาได้ออกมาให้ความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ โดยการตัดสินใจการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการจัดการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 27-28 ตุลาคม รวมถึงมีการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมเพื่อเฝ้าดูสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.41-35.57 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.56/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1352/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/10) ที่ 1.1379/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดัน หลังจากเมื่อคืน (12/10) นายเบนัวด์ โดเออร์ สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ณ ตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะตัดสินใจเกี่ยวกับการขยายวงเงิน หรือขยายเวลาในการดำเนินโครงการซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมถ้าหากมีความจำเป็น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากการที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.1345-1.1411 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1371/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 119.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/10) ที่ 120.12/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ แต่ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องจากนักลงทุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา นอกจากนี้ ในวันนี้ (13/10) ประเทศจีนได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอที่ต่อเนื่อง โดยสำนักงานศุลกากรของจีนได้เปิดเผยข้อมูลการค้าของประเทศว่าการส่งออกของจีนในเดือนกันยายน ปรับตัวลดลง 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 1.3 ล้านล้านหยวน ขณะที่การนำเข้าเดือนกันยายนลดลง 20.4% เมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ระดับ 9.24 แสนล้านหยวน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าที่ทางการจีนเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ยอดนำเข้าและส่งออกของจีนควรเติบโตได้ 6% ตลอดทั้งปี ซึ่งถือเป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจของจีนยังอยู่ในภาวะถดถอยและมีความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของโลกเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การซื้อขายเงินเยนเป็นไปอย่างเบาบาง เนื่องจากเมื่อวาน (12/10) เป็นวันหยุดราชการของญี่ปุ่น เนื่องจากวันแห่งกีฬาและสุขภาพ ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.60-120.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 119.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกันยายนของจีน (14/10), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกันยายนของจีน (14/10), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมที่มีการปรับทบทวนของญี่ปุ่น (14/10), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมของยุโรป (14/10), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนกันยายนของสหรัฐ (14/10), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (15/10), การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เดือนกันยายนของจีน (15/10), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับทบทวนเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (15/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (15/10), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกันยายนของสหรัฐ (15/10) ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index) เดือนตุลาคมของสหรัฐ (15/10), ผลการสำรวจภาวะธุรกิจเดือนตุลาคมจากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (15/10), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหภาพยุโรปเดือนกันยายนของยุโรป (16/10), การผลิตภาคอุตสาหกรรม-อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนของสหรัฐ (16/10) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วงต้นเดือนตุลาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (16/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 4.30/4.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 4.25/6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 13 ตุลาคม 2558

มท.1เร่งแก้สถานการณ์ภัยแล้ง ย้ำเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น่าจะมีการนำเสนอในที่ประชุม ครม.วันนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายงานไปแล้ว ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการดูแลภาวะฝนน้อยทั่วประเทศ 8 มาตรการ

ซึ่งมีในส่วนที่มหาดไทยรับผิดชอบ และจะสามารถเสนอแผนงานโครงการได้ โดยช่วงบ่ายตนจะประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้พูดคุยกับประชาชนว่าการทำเกษตรกรรมขอให้พิจาณาเรื่องปัจจัยน้ำว่ามีพอเพียงหรือไม่ หากปลูกพืชที่ใช้น้ำมากต้องคิดให้รอบคอบ คาดว่า 2 สัปดาห์จะมีแผนงานลงไปให้คำแนะนำประชาชนว่าควรจะปลูกอะไร สำหรับในส่วนของแก้มลิงที่ทำไปแล้วก็มีน้ำเข้าบ้าง และกำลังให้รวบรวมว่ามีที่ไหนมากน้อยเพียงใด แต่ถ้ายังไม่ได้ทำเลย หากขุดลอกเล็กๆ น้อยๆที่มีอยู่แล้วคงพอทัน แต่ถ้าขุดใหม่คงไม่ทัน ส่วนระบบชลประทานจะใช้ระบบท่อเมื่อไหร่นั้น

โดย พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าน่าจะเริ่มในพื้นที่ที่สามารถทำได้ เพราะหากทำเป็นรางเปิดก็จะแย่งน้ำกันไม่รู้จบอีก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 ตุลาคม 2558

ล้มคำสั่งอุตฯ ตั้งโรงงานน้ำตาล 

 ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงอุตฯ ให้ตั้งโรงงานน้ำตาลห่างไม่ถึง 80 กม.ได้

          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ในคดีที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว กับพวกรวม 735 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท น้ำตาล นิวกว้างสุ้นหลี โดยมีคำสั่งให้โรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลีย้ายโรงงานไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ได้ แม้ว่าจะตั้งห่างกันไม่ถึง 80 กิโลเมตร (กม.) ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศไว้ก็ตาม

          ทั้งนี้ ศาลสั่งให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาคำขอย้ายที่ตั้งโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

          คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในนามสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพารวม 735 คน ยื่นฟ้องเมื่อปี 2556 เพราะบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลียื่นเรื่องต่อกระทรวงอุตสาหกรรมขอย้ายฐานการผลิตจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ไปยัง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เมื่อปี 2550 และแจกจ่ายท่อนพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูก เพื่อจะได้ส่งอ้อยให้กับโรงงานได้ทันการผลิต แต่การตั้งโรงงานมีปัญหา เพราะสำนักงานชลประทานแจ้งว่ามีน้ำดิบไม่เพียงพอ จึงแนะนำให้ย้ายไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร

          อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ยื่นเรื่องขออนุญาตย้ายการจัดตั้งโรงงานจาก อ.ตาพระยา ไป อ.วัฒนานคร กระทรวงอุตสาหกรรมกลับแจ้งว่าที่ อ.วัฒนานคร มีโรงงานผลิตน้ำตาลรายหนึ่งตั้งอยู่แล้ว และขัดหลักเกณฑ์การตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลใหม่ว่า ต้องห่างจากโรงงานเดิมไม่ต่ำกว่า 80 กม.เพื่อป้องกันการแย่งวัตถุดิบ

          ดังนั้น เมื่อไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่ตามสัญญา เกษตรกรที่รับท่อนพันธุ์อ้อยมาปลูกจึงได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตล้นตลาด โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เพียง 1 แห่ง ใน จ.สระแก้ว เดิม ไม่สามารถรองรับผลิตได้ ชาวไร่อ้อยขาดทุนมายาวนานกว่า 5 ปี

          ขณะเดียวกัน หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเหลื่อมล้ำ เพราะอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งไปตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลเพิ่มที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ซึ่งห่างจากโรงงานผลิตน้ำตาลเดิมใน อ.วัฒนานคร เพียง 45 กม.ได้ และพบว่ายังมีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานใน จ.เลย และกำแพงเพชรด้วย คำสั่งศาลปกครองสูงสุดจึงเป็นการล้างประกาศดังกล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 13 ตุลาคม 2558

กรมชลลุ้นรอดแล้งน้ำทะลัก4เขื่อนหลัก‘เลย’สะท้านหมดฝนอุณหภูมิฮวบ8องศา

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา เปิดเผยภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำว่า จากฝนที่ตกต่อเนื่องเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของประเทศคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 3,543 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

หมดฝนน้ำ4เขื่อนหลักทะลุเป้า

“ถือเป็นข่าวดีมาก และคาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600-3,700 ล้าน ลบ.ม. ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้”นายสุเทพกล่าว และว่า ทั้งนี้ การคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า ยังมีฝนตกในช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม แต่หลังจากนั้นบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จะมีมวลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่กำลังลงมาปกคลุมพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทำให้ปริมาณฝนลดลง และมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้แทน

นอกจากนี้ ปริมาณฝนที่ตกช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้อยู่ในอัตรา 262 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยกรมชลประทานสั่งการให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้พิจารณาผันน้ำท่า ที่เหลือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ยังสามารถเก็บน้ำได้ เพื่อเก็บน้ำไว้ให้นานที่สุด

ยังติดเบรกนาปรังเก็บน้ำใช้แล้งหน้า

นายสุเทพกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์เพาะปลูกปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรบางส่วนเริ่มทยอยทำนาปรังกันบ้างแล้ว แม้กรมชลประทานจะประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำที่มีจำกัดสำหรับใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ในฤดูแล้งซึ่งกินระยะเวลาอีก 8 เดือนข้างหน้า ซึ่งกรมชลประทานก็ยังยืนยันขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

ปภ.สรุป4จว.น้ำท่วมขัง

สำหรับสถานการณ์ฝนตกน้ำท่วมหลายพื้นที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทยแถลงว่า ภาวะฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำท่วมขัง 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง นครนายก ปราจีนบุรี และอุบลราชธานี รวม 8 อำเภอ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีฝนตก ระดับน้ำเริ่มลดลง ถ้าไม่มีฝนตกเพิ่ม จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 – 2 วันทั่วปท.ยังเจอฝนตกหนักต่อเนื่อง

นายฉัตรชัยกล่าวต่อว่า จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า บริเวณความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก

ปภ.จึงประสานจังหวัดเตรียมป้องกันและแก้ไขภาวะฝนตกหนักและปริมาณฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยให้เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง

ฝนถล่มกรุงถึงเช้าน้ำท่วมรถติดหนึบ

สำหรับสถานการณ์ในส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร(กทม.) แจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.00น.-07.00 น.วันเดียวกัน มีฝนตกในพื้นที่กทม.ระดับปานกลางถึงหนักในบางแห่ง โดยที่สำนักงานเขตประเวศวัดปริมาณฝนได้ 121.5 มิลลิเมตร (มม.) เขตราษฎร์บูรณะ 106.5 มม. เขตคลองเตย 90.0 มม. เขตยานนาวา 86.5 มม. เขตยานนาวา 82.5 มม. เขตสาทร 77.0 มม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัดอย่างหนักหลายพื้นที่ เช่น ซอยลาดพร้าว 67-101 แยกเตาปูน หน้าวัดโพธิ ถนนฉิมพลี ถนนสุนทรโกษา บริเวณสนามกีฬา-ห้าแยก ณ ระนอง ถนนพระราม 3 บริเวณตลาดฮ่องกงปีนัง ถนนงามวงศ์วาน ถนนพหลโยธิน ตลาดอมรพันธ์ หน้าสน.บางเขน แยกลำลูกกา ถนนสุขุมวิท บริเวณปากซ.ลาซาล-ซ.แบริ่ง ถนนนวมินทร์ ถนนรามอินทรา ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่บริเวณถนนลาดพร้าว ตรวจสภาพและแก้ปัญหาน้ำรอการระบาย

น้ำป่าคลองลานท่วม2อ.กำแพงเพชร

ที่จ.กำแพงเพชรฝนตกกระหน่ำในอ.คลองลาน และอ.ปางศิลาทอง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าจากแนวเขาคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองลานบ่าท่วมถนนสายหลักเสียหาย พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบ ในอ.โพธิ์ทอง และอ.คลองลานหลายตำบลในแม่วงก์อ่วม

ที่จ.นครสวรรค์ หลังเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในอ.แม่วงก์ เกิดเหตุน้ำป่าจากเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนในพื้นที่ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ เสียหาย 26 หมู่บ้าน โดยเฉพาะบริเวณหมู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักเข้าแก่งลานนกยูงและแก่งเกาะใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ถูกน้ำป่าพัดถนนขาด ยานพาหนะไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ความรุนแรงของกระแสน้ำยังสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนประชาชนกว่า 300 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 5,000 ไร่ พร้อมกันนี้ จังหวัดยังออกประกาศเตือนชาวบ้านในอ.ลาดยาว ที่มีพื้นที่ติดและต้องรองรับน้ำป่าจากอ.แม่วงก์ ให้ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ

โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เศรษฐกิจย่านตลาดร้านค้าของ ต.ลาดยาว พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำไว้แล้วเลยอุณหภูมิลดฮวบ8-10องศา

ขณะที่จ.เลย เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน หลังฝนตกต่อเนื่องก่อนหน้านี้ เพียงชั่วข้ามคืนอุณหภูมิลดลง 8-10 องศาเซลเซียนในบางพื้นที่ เช่นอ.นาแห้ว บ้านนาปอ อุณหภูมิ เช้าจะอยู่ที่ประมาณ 22 องศา แต่หลังฝนตกและช่วงกลางคืนมีอุณหภูมิลงลง เหลือเพียง 12-14 องศาฯ ทำให้ชาวบ้านต้องไปรื้อผ้าห่ม เสื้อกันหนาวออกมาใช้ เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วจนปรับตัวไม่ทัน

เขื่อนเจ้าพระยาเร่งเก็บผักตบทิ้ง

ด้านนายเอกศิษฐ์ ศักดีธนาภรณ์ ผอ.โครงการเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท พร้อมเจ้าหน้าที่โครงการฯนำเครื่องจักรและรถบรรทุกออกตระเวนเก็บผักตบชวากว่า 10,000 ตัน ที่ไหลมาสะสมขวางทางน้ำอยู่หน้าบานระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และลดความเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายของชุดกว้านและบานระบายน้ำ อีกทั้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่กักน้ำไว้ใช้ให้มากขึ้น

จากhttp://www.naewna.com   วันที่ 13 ตุลาคม 2558

ปัญหาเกษตร ที่นี่มีคำตอบ : การใช้ประโยชน์หญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

คำถาม ขอทราบวิธีการปลูกหญ้าแฝก ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการครับ

คำตอบ หญ้าแฝก เป็นหญ้าที่มีรากยาว หยั่งลึก ที่แผ่กระจายลงดินในแนวดิ่ง จึงช่วยอุ้มน้ำและยึดเหนี่ยวดินได้มั่นคง และเมื่อนำมาปลูกเป็นแถวชิดติดกันอย่างแน่นหนา จะช่วยดักตะกอนดิน รักษาหน้าดินได้ดี คุณลักษณะสองประการนี้ ทำให้หญ้าแฝกไม่เพียงช่วยอนุรักษ์ดินเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูโครงสร้างดินที่สูญเสียธาตุอาหารให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ เป็นการเพิ่มคุณภาพดินและอนุรักษ์น้ำ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพาะปลูกเพิ่มผลผลิตจากการเกษตรของประเทศ หญ้าแฝกจึงเป็น “หญ้ามหัศจรรย์” ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งเปรียบเปรยว่า ทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีความสำคัญกับทุกชีวิต ถ้าดินเสียหาย ชีวิตก็อยู่ไม่ได้ การปลูกหญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นการฟื้นฟูอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การร่วมแรงร่วมใจของพวกเรา ไม่เพียงแต่ช่วยกันรักษาแผ่นดินไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทย

นักวิชาการเกษตรของกรมพัฒนาที่ดิน แนะนำวิธีปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในสภาพพื้นที่ลาดชันต่างๆ ไว้ดังนี้

- พื้นที่ภูเขาที่มีพื้นที่ที่มีความลาดชันมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ระยะห่างแถวใช้ระยะห่างเท่ากับความแตกต่างระดับในแนวดิ่ง 50 เซนติเมตร และในกรณีที่มีความลาดชันสูงมาก ทำให้ดินตื้น จะต้องใช้ไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่นๆ สานกั้นเป็นแถบ ช่วยยึดไม่ให้หญ้าแฝกหลุดร่วงก่อนที่รากจะงอกยึดจับดิน

- พื้นที่ที่มีความลาดชัน 35-45 เปอร์เซ็นต์ การปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกเป็นแถวขวางแนวความลาดชัน ระยะห่างแถวเท่ากับความแตกต่างระดับในแนวดิ่ง 1 เมตร

- พื้นที่มีความลาดชัน 31-35 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก ต้องปลูกเป็นแถวเดี่ยวขวางความลาดชัน จำนวน 6 แถว แต่ละแถวห่างกัน 8 เมตร บนความลาดชัน 40 เมตร

- พื้นที่มีความลาดชัน 21-30 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก ต้องปลูกเป็นแถวขวางความลาดชัน จำนวน 5 แถว แต่ละแถวห่างกัน 10 เมตร บนความลาดยาว ตามความลาดชันทุกระยะ 40 เมตร

- พื้นที่ที่มีความลาดชัน 11-20 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก ต้องปลูกเป็นแถวขวางความลาดชัน จำนวน 4 แถว แต่ละแถวห่างกัน 12 เมตร บนความลาดยาว ตามความลาดชันทุกๆ ระยะ 40 เมตร

- พื้นที่ที่มีความลาดชัน 6-10 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก ต้องปลูกเป็นแถวขวางความลาดชัน จำนวน 3 แถว แต่ละแถวห่างกัน 20 เมตร บนความลาดยาว ตามความลาดชันทุกๆ ระยะ 40 เมตร

- พื้นที่ที่มีความลาดชัน 3-5 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก ต้องปลูกเป็นแถวขวางความลาดชัน จำนวน 2 แถว แต่ละแถวห่างกัน 30 เมตร บนความลาดยาว ตามความลาดชันทุกระยะ 40 เมตร

- พื้นที่ที่มีความลาดชัน 0-2 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบการปลูกหญ้าแฝก ต้องปลูกเป็นแถวขวางความลาดชัน จำนวน 1 แถว บนความลาดยาว ตามความลาดชันทุกๆ ระยะ 40 เมตร

การยกร่องหรือยกแปลงป้องกันน้ำแช่ขัง ควรปลูกหญ้าแฝกเป็นแถว จำนวน 1 แถว โดยปลูกห่างจากริมขอบแปลง 30 เซนติเมตร รอบแปลงทุกแปลงป้องกันการชะล้างพังทลายของแปลงลงไปในน้ำ

การปลูกหญ้าแฝกรอบบ่อน้ำในไร่นาและร่องน้ำ ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวระดับที่ขอบบ่อ จำนวน 2 แถว ดังนี้ แถวที่ 1 ปลูกที่ขอบห่างจากริมขอบบ่อ 50 เซนติเมตร และแถวที่ 2 ปลูกห่างจากแถวที่ 1 ที่ระดับทางน้ำเข้าบ่อ ปลูกเป็นแถวริมขอบร่องน้ำ ห่างขอบร่องน้ำ 30 เซนติเมตร ปลูกทั้ง 2 ข้างร่องน้ำ ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวพาดผ่านร่องน้ำเป็นรูปตัววีคว่ำ ส่วนแหลมของตัววีคว่ำ มีมุม 90-120 องศา หัวทวนอยู่กลางร่องน้ำ ส่วนแขนทั้งสองข้างของตัววี จะพาดผ่านขึ้นไปถึงบนฝั่งร่องน้ำทั้ง 2 ด้าน ระยะห่างระหว่างแนวตัววี 2 เมตร กรณีใช้กับร่องน้ำที่แผ่กว้าง

การปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำ ให้ปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามระดับ 3 แถว ดังนี้ แถวที่ 1 ปลูกที่ระดับเก็บกักน้ำรอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ แถวที่ 2 ปลูกที่ระดับสูงกว่าแถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร รอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ และแถวที่ 3 ปลูกที่ระดับต่ำกว่าแถวที่ 1 ตามแนวดิ่ง 20 เซนติเมตร รอบอ่าง ยกเว้นบริเวณคันหรือสันอ่างเก็บน้ำ

การปลูกหญ้าแฝกขอบถนน และทางลำเลียง ให้ปลูกหญ้าแฝกบริเวณด้านข้างของไหล่ถนน โดยเฉพาะถนนลาดยาง จะปลูกในส่วนไหล่ทางที่เป็นลูกรัง และต้องไม่บดบังวิสัยทัศน์ในการขับขี่ยานพาหนะ กรณีที่ตัดผ่านภูเขาสูงชันด้านภูเขาที่ตัดดินออก จะต้องปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวขวางความลาดชัน โดยใช้ไม้ไผ่สานช่วยยึดดินและหญ้าแฝกไว้ขณะที่หญ้าแฝกยังอยู่ในระหว่างตั้งตัว จำนวนแถวและระยะห่างขึ้นกับความลาดชัน ซึ่งใช้ระยะตามแนวดิ่ง 50 เซนติเมตร ส่วนด้านดินถมใช้หญ้าแฝกปลูกเป็นแนวตามความลาดชัน

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 13 ตุลาคม 2558

นำร่องต่อเรือกำจัดวัชพืช กรมชลต่อยอดงานวิจัยจัดการคูคลองสกัดอุดตัน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชผล ผู้อำนวยการกองแผนงาน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะดำเนินการผลิตเรือกำจัดวัชพืชทางน้ำขนาดเล็ก หลังจากได้ทำการค้นคว้าวิจัยมาตั้งแต่ปี 2553 จนประสบผลสำเร็จ สามารถผลิตเรือต้นแบบแล้วจำนวน 10 ลำ ในราคาลำละ 150,000 บาท ซึ่งมีราคาถูกกว่าเรือที่ต้องสั่งมาจากต่างประเทศที่มีราคาถึง 5 ล้านบาทต่อลำ และจากการนำไปทดลองใช้งานที่ผ่านถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถให้ดียิ่งขึ้น ยังต้องมีการปรับปรุงวัสดุ ชิ้นส่วนประกอบบางอย่าง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนลำละประมาณ 300,000 บาท

ทั้งนี้ในเบื้องต้นมีแผนจะผลิตชุดแรกจำนวน 115 คัน คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2558 นี้ จำนวน 50 ลำ ส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2559 อย่างแน่นอน โดยได้เงินสนับสนุนจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน ซึ่งเป็นเงินที่จัดเก็บจากการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมจำนวน 35 ล้านบาท และจะใช้เครื่องมือตลอดจนบุคลากรจากกรมชลประทานทั้งหมดในการผลิตเรือ

ผู้อำนวยการกองแผนงาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้มีคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานความยาวรวม 35,770 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาวัชพืชเกิดขึ้นในคลองและทางน้ำชลประทานกีดขวางทางไหลของน้ำ ทำให้น้ำไหลไม่ได้ตามปริมาณที่ต้องการและบ่อยครั้งที่ไหลปนไปกับน้ำไปอุดตันประตูระบายน้ำ สร้างความเสียหายแก่เครื่องสูบน้ำ กังหันน้ำ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการส่งและระบายน้ำชลประทานลดลงถึง 40-70% ในแต่ละปีกรมชลประทานต้องจัดสรรงบประมาณในการกำจัดวัชพืชปีละไม่ต่ำกว่า 65 ล้านบาท แต่วัชพืชเติบโตและขยายพันธุ์เร็วมาก ปัญหาเรื่องนี้จึงเรื้อรังมาอย่างยาวนาน

ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรือกำจัดวัชพืชทางน้ำขนาดเล็กดังกล่าว ซึ่งสามารถเก็บวัชพืชจำพวก สาหร่ายหางกระรอก สายบัว ดีปลีน้ำ ผักตบชวาได้ 3-5 ตันต่อชั่วโมง อัตราการใช้น้ำมันสูงสุด 1.8-3 ลิตรต่อชั่วโมง สำหรับพื้นที่เป้าหมายแรกในการจัดส่งเรือไปใช้คือโครงการบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ทางเหนือของกรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ทุ่งเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เป็นต้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 ตุลาคม 2558

แนวทางพัฒนาลุ่มน้ำน่านตอนบน

 ลุ่มน้ำน่านตอนบน แหล่งเก็บน้ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำน่าน เป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำหลักของไทย อยู่ทางภาคเหนือของประเทศ มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น ประมาณ 21.7 ล้านไร่ครอบคลุม 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พะเยา แพร่ น่าน เลย สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีทั้งลุ่มน้ำ 1,287 มิลลิเมตร และมีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยทั้งลุ่มน้ำ 11,955 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

โดยมีแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่คือ เขื่อนสิริกิติ์ สร้าง กั้นแม่น้ำน่านที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เก็บกักน้ำได้ 9,510 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน สร้างกั้นแม่น้ำแควน้อย สาขาของแม่น้ำน่าน ที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เก็บน้ำได้ 939 ล้าน ลบ.ม.

โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านตอนล่างใต้เขื่อนสิริกิติ์ ลงมา รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ลุ่มน้ำน่านตอนบน เหนือเขื่อนสิริกิติ์ แทบจะไม่ได้รับประโยชน์เลย ทั้ง ๆ เป็นพื้นที่แหล่งน้ำต้นทุนของเขื่อน สิริกิติ์

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ลุ่มน้ำน่านตอนบน มีการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำน้อยมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่เกิดภาวะภัยแล้ง และภัยน้ำท่วมค่อนข้างสูง กรมชลประทานจึงได้ร่วมกับจังหวัดน่านทำการศึกษาถึงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนบนทั้งระบบ โดยจะไม่เน้นว่า เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของความเหมาะสมของพื้นที่ และความต้องการของประชาชน จากนั้นจึงพิจารณาถึงความจำเป็นว่า ควรจะดำเนินการโครงการไหนก่อนโครงการไหนทีหลัง ก่อนที่จะศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนต่อไป

ในเบื้องต้นจากการศึกษาพบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำน่านตอนบนมีศักยภาพจะสร้างอ่างเก็บน้ำและฝายได้ประมาณ 17 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดกลาง โดยมีโครงการเร่งด่วนและเหมาะสมที่จะดำเนินในระยะแรกจำนวน 4 โครงการคือ อ่างเก็บน้ำน้ำกิ อ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ่างเก็บน้ำแม่ริม และฝายน้ำยาว

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่จะสร้างอ่างฯ น้ำกิ และอ่างฯ น้ำกอน มีพื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 1,200 ไร่ และ 1,700 ไร่ตามลำดับ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าโซน C (ป่าสงวนแห่งชาติ) กรมชลประทาน จึงต้องขอใช้พื้นที่เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกรม ป่าไม้ ตามระเบียบ กฎหมายที่กำหนด“แม้พื้นที่ก่อสร้างอ่างฯ จะอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเสื่อมโทรม เป็นเขาหัวโล้น ไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่เลย มีการแปรสภาพทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เวลาฝนตกแต่ละครั้งน้ำจะไหลลงสู่พื้นราบเร็วและแรงมาก สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร และบ้านเรือนเกือบทุกปี

” ดร.สมเกียรติกล่าวอย่างไรก็ตาม การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่การพัฒนาจะให้สมบูรณ์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละลุ่มน้ำนั้นจะต้องมีทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ผสมผสานกันไป ขึ้นอยู่กับศักยภาพของพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งลุ่มน้ำน่าน จะเป็นลุ่มน้ำตัว อย่างอีกลุ่มน้ำหนึ่งที่จะพัฒนาแหล่งน้ำให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ.“

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 13 ตุลาคม 2558

ชี้ไทยตกขบวนTPPฉุดส่งออกซ้ำ พาณิชย์ถอน"พรบ.แข่งขัน"ปรับใหม่อ้างธุรกิจกังวล

 ทีดีอาร์ไอชี้ ไทยตกขบวน TPP เป็นผลร้ายฉุดซ้ำการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่อง แถมอาจโดนแย่งเงินลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่ FTA Watch ระบุ รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบก่อนเข้าร่วม ด้านพาณิชย์ถอนร่างแก้ไข "พ.ร.บ.แข่งขัน" ทบทวนใหม่ อ้างธุรกิจกังวล

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง Trans-Pacific Partnership หรือ TPP กับทางเลือกของประเทศไทย ว่า การที่ไทยยังไม่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิก TPP ที่เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่าง 12 ประเทศ นำโดยสหรัฐ ซึ่งมีสัดส่วนการค้าคิดเป็น 40% ของการค้าของไทย และ 45% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไทย ถือว่ามีผลกระทบต่อไทย เพราะปัจจุบันไทยส่งสินค้าไปสหรัฐ 10% มีอัตราภาษีตั้งแต่ 6-21% แต่ในกลุ่ม TPP จะลดอัตราภาษีเหลือ 0%

"การส่งออกของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ชี้ว่าไทยกำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการส่งออกจากการที่ติดลบ 3 ปีต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดส่งออกพบว่าในปี 2558 ไทยมีตลาดส่งออกที่ยังขยายตัวเพียง 2 ตลาด คือ สหรัฐ และกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม" น.ส.เดือนเด่นกล่าว

นอกจากนี้ การที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP จะทำให้ไทยถูกแย่งนักลงทุนต่างชาติ โดยหลายสินค้าของไทยมีความเสี่ยงจะถูกแย่งไป เช่น สินค้าเกษตร สิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากประเทศสมาชิก TPP มีอัตราภาษีที่ต่ำ และสินค้าบางอย่างไม่มีภาษี

สำหรับทางเลือกของไทย คือเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ Asean+6, ฟื้นการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป เป็นต้น

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่ม FTA Watch กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลชั่วคราว จึงยังไม่ควรที่จะสรุปท่าทีว่าไทยจะเป็นภาคี TPP หรือไม่ แต่ควรทำการศึกษาอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้นำร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ กลับมาทบทวนอีกครั้ง หลังจากที่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ประกอบกับมีกฎหมายที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหลายส่วนมีความคล้ายคลึงกัน จึงต้องการปรับปรุงให้ร่างใหม่ที่จะออกมามีผลบังคับใช้ สามารถดูแลการประกอบธุรกิจได้จริง

“กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ เพราะกระทบทุกภาคส่วน ทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ จึงต้องดูแลให้รอบคอบ ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานอย่างเข้มข้นและเร่งรัดให้การปรับปรุงกฎหมายมีความรัดกุม ชัดเจนมากที่สุด โดยจะมีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำข้อเสนอแนะทุกอย่างมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป” รมว.พาณิชย์ระบุ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ฝ่ายการเมืองถูกล็อบบี้โดยธุรกิจรายใหญ่ ไม่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดระยะเวลาการบังคับใช้เกือบ 16 ปีที่ผ่านมา และเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ได้กำหนดให้ พ.ร.บ.นี้เป็นหนึ่งในกฎหมายเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 13 ตุลาคม 2558

กรมชลฯ เผยฝนตกเพิ่มปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก คาดสิ้นเดือนต.ค.นี้ ได้ปริมาณน้ำเก็บกักตามเป้า

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ณ กรมชลประทาน สามเสน  ว่า จากปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ ปัจจุบัน (12 ต.ค 58) มีความจุรวมกันประมาณ 3,543 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นข่าวดีมาก และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 3,600-3,700 ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

สำหรับการคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)พบว่ายังคงมีฝนตกต่อเนื่องระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2558 แต่หลังจากวันที่ 14 ตุลาคมเป็นต้นไป ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มวลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่กำลังลงมาปกคลุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวทำให้ปริมาณฝนลดน้อยลง และมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้แทน

ทั้งนี้ จากปริมาณฝนที่ตกในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีเพิ่มมากขึ้น โดยปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้อยู่ในอัตราประมาณ 262 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่พิจารณาบริหารน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้พิจารณาผันน้ำท่า ที่เหลือไปเก็บกักไว้ในพื้นที่ที่ยังสามารถเก็บน้ำได้ เพื่อเก็บน้ำไว้ให้นานที่สุด

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การเพาะปลูกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเกษตรกรบางส่วนเริ่มทยอยทำนาปรังกันบ้างแล้ว แม้กรมชลประทานจะได้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำที่มีอย่างจำกัดสำหรับใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ในฤดูแล้งซึ่งกินระยะเวลาอีก8เดือนข้างหน้า ดังนั้น กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือเกษตรกรงดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

ตามติดโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก สศท.2 ชู เกษตรกรได้ประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาตรงความต้องการ

          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ติดตามผลโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2557/58 ในพื้นที่ฝั่งขวาของเขื่อน ใน 3 อำเภอ 14 ตำบล รวม 400 ครัวเรือนเกษตร เผย เกษตรกรส่วนใหญ่ เห็นว่าโครงการฯ ตรงตามความต้องการ และเกิดประโยชน์ในระดับมาก ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อทำการเกษตรได้จริง

          นายชวพฤฒ อินทรเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2558 ในโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์ ปีเพาะปลูก 2557/58 (1 พฤษภาคม 2557 – 30 เมษายน 2558) ของกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และช่วยเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอต่อการผลิต โดยการสุ่มตัวอย่าง และเก็บข้อมูลจากเกษตรกร 400 ครัวเรือน รวม 3 อำเภอ 14 ตำบล (ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2558) ที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรบริเวณฝั่งขวาของเขื่อนทดน้ำผาจุก

          จากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรมีรายได้เงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน 245,160 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปีจำนวน 103,391 บาท รองลงมาเป็นรายได้จากการปลูกข้าวเจ้านาปรังจำนวน 51,108 บาท และอ้อยโรงงาน จำนวน 68,163 บาท

          ด้านรายจ่ายเงินสดจากการปลูกพืช รวมเป็นเงิน 173,109 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย/ยา ค่าน้ำมัน ค่าจ้างแรงงานในการทำนาปี 81,947 บาท รองลงมาเป็นรายจ่ายทำนาปรัง 41,125 บาท และรายจ่ายปลูกอ้อยโรงงาน 38,681 บาท

          ด้านมูลค่าผลิตผลที่นำมาบริโภค รวมทั้งสิ้นเท่ากับ 17,016 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่มาจากด้านพืช 15,196 บาท โดยเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรของครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ 77 เฉลี่ย 8,277 บาท/ครัวเรือน โดยแยกเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ 5,297 บาท และ ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ 2,668 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

          นอกจากนี้ เกษตรกรเห็นว่า โครงการฯ ดังกล่าว ตรงกับความต้องการในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 59 มีความเหมาะสมกับพื้นที่และช่วยให้มีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นในระดับมากเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนหนี้สิน (ณ 30 เมษายน 2558) คิดเป็นร้อยละ 74 เฉลี่ย 242,317 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ คิดเป็นร้อยละ 73 (หนี้ในระบบ จำนวน 237,324 บาท และหนี้นอกระบบ จำนวน 4,993 บาท)

          ทั้งนี้ ทัศนคติของเกษตรกร เห็นว่าช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูฝน/ฝนทิ้งช่วง คิดเป็นร้อยละ 71 โดยความคาดหวังของเกษตรกรต่อการผลิตด้านการเกษตรภายหลังมีโครงการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 63 และคาดหวังว่าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อทำการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 82 เช่น คาดว่าจะช่วยให้มีน้ำเพียงพอเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้ง มีจำนวนรอบการผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำ ลดหรือบรรเทาภัยจากน้ำท่วม และขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้น เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

ปรับปรุงกม.แข่งขันทางการค้าใหม่

“พาณิชย์” ดึงร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าปรับปรุงแก้ไขใหม่อีกรอบ เพื่อสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานอื่น ๆ ก่อนชงครม.

 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้นำร่างแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่กลับมาทบทวนอีกครั้ง หลังจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ประกอบกับหลายประเด็นมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายที่เสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงต้องปรับปรุงให้ร่างใหม่ที่จะออกมามีผลบังคับใช้ สามารถดูแลการประกอบธุรกิจได้จริงและสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานอื่น ๆ

“กฎหมายฉบับนี้ มีความสำคัญ เพราะกระทบทุกภาคส่วน ทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ จึงต้องดูแลให้รอบคอบ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งรัดให้การปรับปรุงกฎหมายมีความรัดกุมมากที่สุด โดยจะมีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และนำข้อเสนอแนะทุกอย่างมาปรับปรุงแก้ไข ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอตามขั้นตอนต่อไป”

สำหรับประเด็นที่จะมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น จะทบทวนดูว่าการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ มีความเหมาะสมและมีทางเลือกอื่นหรือไม่ หรือการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการ โดยการปรับปรุงแก้ไขกำหนดให้การสรรหาต้องมาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะปลอดจากการเมืองจริงหรือไม่“

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

ชาวไร้อ้อยสระแก้วเฮ! ศาลปกครองสูงสุดไฟเขียว “นิวกว้างสุ้นหลี” ย้ายโรงงานน้ำตาลไป อ.วัฒนานคร

 “ศาลปกครองสูงสุด” ให้เพิกถอนหลักเกณฑ์กระทควงอุตสาหกรรม ให้โรงงานน้ำตาลที่ตั้งใหม่ห่างจากที่เก่ามากกว่า 80 กิโลเมตร และให้พิจารณาคำขอย้ายโรงงานของ “น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี” จาก อ.ตาพระยา ไป อ.วัฒนานคร หลังเกษตรกรเดือดร้อนเพราะตั้งโรงงานไม่ได้ วัตถุดิบล้นตลาด อีกทั้งพบเลือกปฏิบัติให้คู่แข่งที่มีอยู่เดิมตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ห่างกันแค่ 45 กิโลเมตรได้

               วันนี้ (12 ต.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ในคดีที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา, สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว กับพวกรวม 735 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม, ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด รวม 3 คน ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ สอน. ที่ อก.0601/862 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2550 เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้ง และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล เฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ที่กำหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร และให้กระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามคำร้องขอของบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ในการขอย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจาก อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด

               โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาแก้ เป็นให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ สอน. ที่ อก. 0601/862 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2550 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการขอย้ายสถานที่ตั้งและขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล เฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ที่กำหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตร โดยให้มีผลนับแต่วันออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว และให้ปลัดกระรวงอุตสาหกรรมพิจารณาคำขอย้ายที่ตั้งโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ทราบภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

               สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในนามสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กับพวกรวม 735 คน ยื่นฟ้องกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2556 โดยให้เหตุผลว่า เดิม บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ยื่นเรื่องต่อกระทรวงอุตสาหกรรมขอย้ายฐานการผลิตจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ไปยัง อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว เมื่อปี 2550 พร้อมแจกจ่ายท่อนพันธุ์ให้เกษตรกรนำไปปลูก เพื่อจะได้ส่งอ้อยให้กับโรงงานที่ก่อสร้างเสร็จพอดีได้ทำการผลิต แต่ในขั้นตอนของการจัดตั้งโรงงาน เมื่อขออนุญาตใช้น้ำเพื่อการผลิตและการปลูกอ้อย สำนักงานชลประทานพื้นที่ 9 แจ้งว่าที่ อ.ตาพระยา มีน้ำดิบไม่เพียงพอในการเกษตร และแนะนำให้ย้ายไปตั้งโรงงานที่ อ.วัฒนานคร เนื่องจากมีแหล่งน้ำดิบเพียงพอ จึงได้ยื่นเรื่องขออนุญาตย้ายการจัดตั้งโรงงานจาก อ. ตาพระยา ไป อ.วัฒนานคร แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับแจ้งว่าที่ อ.วัฒนานคร มีโรงงานผลิตน้ำตาลของบริษัทเอกชนรายหนึ่งตั้งอยู่แล้ว และกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลใหม่ว่า ต้องห่างจากโรงงานเดิมในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการแย่งวัตถุดิบ

               ขณะเดียวกัน เมื่อไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่ตามที่สัญญาไว้ ทำให้เกษตรกรที่รับท่อนพันธุ์อ้อยจาก บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ได้รับความเดือดร้อน ประสบภาวะผลผลิตล้นตลาด โรงงานน้ำตาลเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 1 แห่งในจังหวัดสระแก้วเดิมก็ไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตได้ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนต่อเนื่องมายาวนานกว่า 5 ปี อีกทั้งหลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมมีความเหลื่อมล้ำ เพราะอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่ง ไปตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลเพิ่มที่ อ.วังสมบูรณ์ ซึ่งห่างจากโรงงานผลิตน้ำตาลเดิมใน อ.วัฒนานคร เพียง 45 กิโลเมตร เท่านั้น และยังพบว่าการอนุญาตในลักษณะดังกล่าวยังเกิดขึ้นใน จ.เลย และ จ.กำแพงเพชร เมื่อสอบถามถึงเหตุผลจากกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้รับการนิ่งเฉย ส่งผลให้ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหา เพราะไม่สามารถส่งอ้อยเข้าหีบในโรงงานได้ทันตามฤดูกาลหีบอ้อยที่มีระยะเวลาจำกัด นำมาสู่การฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา

   จาก http://manager.co.th  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

ภาพสะท้อนสปท.หนึ่งเดียว‘เลิศวิโรจน์’ รัฐเทข้างปฏิรูปน้ำสูตร ‘Hard Solution’

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จำนวน 200 คนแล้ว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้ามารับไม้ผลักดันการปฏิรูปประเทศ ต่อจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 250 คน ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานได้ดำเนินการมาจนประมวลบทสรุปได้เป็น “พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ” และจัดประชุม “สปช.รายงานประชาชน” ส่งมอบข้อเสนอ 6 กรอบ 37 ประเด็นปฏิรูปให้รัฐบาลไปแล้วโดยนายกรัฐมนตรีคาดหวังให้สปท.เข้ามาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามกรอบที่ได้ตกผลึกเป็นข้อเสนอ

 จากรายชื่อ 200 สปท.ที่ปรากฏ มีหลายคนเคยเป็นสปช.มาก่อน เป็นที่คาดหมายว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มการปฏิรูปเดิมให้เดินหน้าต่อ ร่วมกับสปท.หน้าใหม่ที่เพิ่งมีโอกาสเข้าสู่เวทีในคราวนี้ ซึ่งจากองค์ประกอบพบว่าสัดส่วนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูง ทั้งพลเรือนและฝ่ายความมั่นคง อาจด้วยความคาดหวังให้ข้าราชการระดับบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาเป็นข้อต่อนำประเด็นปฏิรูปที่สปช.สรุปไว้แล้ว ไปดำเนินการต่อให้เกิดผล เช่น ในการผลักดันร่างกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูป

กลุ่มการปฏิรูปที่มี”ตัวแทน”จากยุคสปช.ต่อเนื่องถึงสปท.ที่เห็นชัด คือการปฏิรูปเศรษฐกิจ เมื่อ”สมชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ได้เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)ต่อ รวมถึง”กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ที่เคยร่วมเป็นกรรมาธิการ ชุดนี้อย่างแข็งขัน และต่อมาได้รับเลือกจากที่ประชุมสปช. ไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรธน.แทนนางทิชา ณ นคร ที่ลาออก ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสปท.ชุดใหม่ด้วย

เช่นเดียวกับการปฏิรูปต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น มีชื่อ”ประมนต์ สุธีวงศ์” อดีตประธานกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปช. ก็ได้เป็นสปท.ต่อ และสมทบด้วย”ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ที่ครบวาระแต่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อระหว่างรอกรรมการป.ป.ช.ชุดใหม่ ก็มาเป็นสปท.และถูกคาดหมายเป็นตัวชิงเก้าอี้ประธานสปท.ครั้งนี้ด้วย

ขณะที่มีสปท.หน้าใหม่ อย่าง “อภิชาต สุขัคคานนท์” อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และควงคู่มากับ “ประพันธ์ นัยโกวิท” อดีตกกต. อีกราย ถูกคาดหมายว่าจะเข้ามาเติมเต็มประเด็นการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งติดปมความเห็นต่างในการยกร่างรธน.ที่ผ่านมา เมื่อมีอดีตกกต.เข้ามานั่งเป็นสปท.ถึง 2 คน น่าจะช่วยไขปมนี้ในงานช่วงต่อไปได้ สะท้อนถึงการคัดสรรตัวบุคคลเข้ามาทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้อย่างชัดเจน

หนึ่งในกลไกปฏิรูปประเทศคือรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรธน.(กรธ.)คนใหม่ ชี้แจงว่า มีกรอบการดำเนินการที่คสช.เน้น 5 เรื่องคือ เป็นที่ยอมรับของสากล มีกลไกนำไปสู่การปฏิรูปและปรองดอง ป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ขจัดการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน

จาก 200 รายชื่อสปท.ที่ปรากฏ จึงน่ากังวลว่าทิศทางการปฏิรูปบางด้าน อาจถูกชี้นำโดยกลุ่มความคิดเดียว จนอาจกระทบต่อเป้าหมายสุดท้ายของการปฏิรูป ดังเช่น การเดินหน้าปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ

โดยรศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ชี้ว่า หากพูดถึงเฉพาะเรื่องการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำนั้น ในบัญชี 200 รายชื่อสปท.มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งมาจากภาคราชการเพียงคนเดียว ที่รอบรู้เรื่องน้ำ เมื่อมีการจัดสรรมอบหมายหน้าที่ ภารกิจผลักดันการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ คงต้องมอบหมายให้เป็นตัวหลัก

“จากจุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลได้เลือกให้น้ำหนักแนวทางการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยใช้ Hard Solution ซึ่งก็คือ ด้วยการใช้สิ่งก่อสร้างหรือไม่” รศ.ดร.สุวัฒนาตั้งข้อสังเกต ส่วนความหวังต่อการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศนั้น “ไม่ถึงกับหมดหวัง แต่แนวโน้มดูท่าจะริบหรี่”

อย่างไรก็ดี ในฐานะนักวิชาการวสท. ที่ผ่านมามีโอกาสดีที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมทำงาน กับนายปราโมทย์ ไม้กลัด ประธาน กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. ที่ได้จัดทำข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อการบริหารจัดการน้ำไว้แล้ว คือ การปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการน้ำ พ.ศ… ฉบับ สปช. ซึ่งผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. ด้วยคะแนน 186 ต่อ 23 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง

สำหรับสาระสำคัญ ของร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฉบับสปช.นั้น ประกอบด้วย 9 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 106 มาตรา เป็นกฎหมายแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ในการเข้าถึงน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การคุ้มครอง การอนุรักษ์แหล่งน้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ การจัดตั้งกองทุนทรัพยากรน้ำ การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในแต่ละลุ่มน้ำ ตลอดจนการจัดตั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ และระดับลุ่มน้ำ รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ และมีบทลงโทษผู้กระทำผิด

จุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำฉบับนี้ กมธ.ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปช. ได้ทบทวนจาก ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ และร่าง พ.ร.บ. น้ำฉบับของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ฉบับประชาชนเข้าชื่อ) โดยเปรียบเทียบข้อดี/ข้อเสีย ประมวลร่วมกับความคิดเห็นของประชาชน และข้อคิดเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมด้วย

“แนวคิดของกมธ.ปฏิรูปน้ำชุดนี้ เน้น 3 เสาหลักในการแก้ปัญหา 1.Hard Solution คือ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง 2.Soft Solution มุ่งเน้นการปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้ และ 3.People Solution คือ กระบวนการสั่งการเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้ได้ผล และเกิดประสิทธิภาพระยะยาว” รศ.ดร.สุวัฒนากล่าว และว่า หวังว่าร่างกฎหมายน้ำฉบับสปช. จะผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้

โดยที่ผ่านมานับแต่คสช.ตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน หลังเข้าควบคุมอำนาจไม่นาน เพื่อสะสางทบทวนแผนกู้ 3.5 แสนล้านบาทลงทุน 9 โมดูลบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรรมการชุดนี้มีวสท.ร่วมด้วย เป็นช่องทางให้นักวิชาการและภาคประชาสังคมเรื่องน้ำ ได้ผลักดันแนวคิดการบริหารจัดการน้ำอย่างผสมผสาน 3 ด้านดังกล่าว ขณะที่ส่วนใหญ่ของกรรมการชุดนี้เป็นตัวแทนหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จึงเน้นแผนโครงการลงทุนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก

การจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงมีการคัดง้างกันไม่ลดละ จนประธานต้องเรียกพบนอกรอบ ขณะที่นายปราโมทย์และกลุ่มนักวิชาการ-เอ็นจีโอด้านน้ำ ใช้สถานะสปช.ผลักดันแนวคิดปฏิรูประบบบริหารจัดการน้ำผ่านการทำประเด็นปฏิรูปของสปช.อีกทางหนึ่ง

วันนี้เมื่อบทบาทปฏิรูปอยู่ในมือสปท. นโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศจะไปทางไหน จึงถูกจับตาไม่กะพริบ

 จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

คลังชี้ธนาคารโลกเร่งศึกษาลดความยากจนของไทย

"คลัง" เผยธนาคารโลกกำลังศึกษาอุปสรรคและโอกาสการพัฒนาเพื่อลดความยากจนและส่งเสริมการกระจายรายได้ของไทย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ได้เข้าประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 58 เพื่อรับทราบถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการดำเนินงานและนโยบายที่สำคัญ ๆ โดยขณะนี้ธนาคารโลกกำลังศึกษาอุปสรรคและโอกาสการพัฒนา เพื่อลดความยากจนและส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมของประเทศไทย ซึ่งบ่งชี้ปัจจัยหลักๆ ที่ไทยควรให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเป็นฐานการจัดทำกรอบความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ ที่กำหนดบทบาทของธนาคารโลกในการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต เช่นกรณีของไทยที่มีจำนวนประชากรในวัยทำงานคาดว่าอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่อาจเป็นภาระทางการคลังในอนาคต รวมทั้ง หารือถึงความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของระบบการเงินโลก การเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียน แม้ปัจจุบันจะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวัง ความเสี่ยงของประเทศกำลังพัฒนา หนี้ภาคเอกชน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือมากขึ้นระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับอาเซียน

นอกจากนี้ รมช.คลัง ยังหารือกับประธานธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบีไอซี) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนญี่ปุ่นในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยผ่านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ (พีพีพี) และการหารือกันเกี่ยวกับการเข้าร่วมสนับสนุนของญี่ปุ่นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในระยะที่สอง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนและต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง

“สภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงโครงสร้างประชากร ที่เปลี่ยนไป ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ ชะลอตัวลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และความผันผวนของระบบการเงินโลก ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 ประการ เพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายในการลดความยากจนได้อย่างยั่งยืน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ถือเป็นทางออกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังยืน การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านทางการศึกษาและระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะการให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับผู้หญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เมื่อมีรายได้แล้วจะนำไปลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพของครอบครัว และการประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

รมว.พณ. ปัด ถ่วงเวลาแก้กฎหมายการค้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน ไม่ได้ถ่วงเวลาแก้กฎหมายแข่งขันการค้า แต่ต้องทำรอบคอบเพราะมีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่างแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังไม่เสร็จสิ้นในขณะนี้ ว่า เป็นเพราะมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ซึ่งต้องดูแลให้เกิดความรอบคอบที่สุด เพื่อให้ร่างแก้ไขกฎหมายที่ออกมาสามารถบังคับใช้ได้จริง โดยไม่มีข้อแม้ท้วงติงให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก โดยยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลาในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใด แต่เพื่อต้องการให้จากนี้ไป เมื่อมีกฎหมายแล้ว ฝ่ายตรวจสอบต่าง ๆ สามารถทำงานได้ และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างสมบูรณ์

ซึ่งร่างแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ มีหลายส่วนสร้างสอดคล้องกับร่างของทาง สนช. และ สปช. ที่มีการนำมาพิจารณาก่อนหน้านี้ ซึ่งมั่นใจได้ว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เดินมาถูกทางสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจได้

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2558

ดึงKSLเข้าช่องเขตศก.ตั้งรง.ที่สระแก้ว   

          พ่อเมืองสระแก้วดันสุดตัว ดึงทุนโรงงานน้ำตาลขอนแก่นเข้าเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปักธงรายแรก เท 1.2 หมื่นล้าน ร่วมกับทุนตะวันออกกลาง หวังแก้กฎ ตั้งโรงงานใหม่ ระยะห่างไม่ถึง 50 กิโลเมตร ขณะที่กระทรวงอุตฯขานรับ หากมติครม.ยินดีแก้ไข สภาอุตฯดันพลังงานทดแทนเป็นกิจการเป้าหมายร่วมด้วย  ระบุมีเอกชนกำเงิน 4 หมื่นล้าน รอปักฐาน ด้าน "เคเอสแอล" ตอบรับพร้อมย้ายโรงงานน้ำตาลเข้ามาลงทุน ขณะที่เฟส 2 ได้ที่ดินแล้ว บิ๊กตู่ลั่น! ห้ามซ้ำรอยมีผู้บุกรุกเหมือนเฟสแรก  จากนโยบายผลักดันการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะจังหวัดตากและจังหวัดสระแก้วจะต้องให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายในปี 2558 นี้ และขณะนี้เริ่มมีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเคลื่อนไหวกันมากแล้ว

          ต่อเรื่องนี้ นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาว่า ได้รายงานต่อกนพ.ว่า จังหวัดมีความพร้อมขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และขณะนี้มีนักลงทุนพร้อมที่จะลงทุนในพื้นที่จำนวนมาก ล่าสุด บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) เตรียมลงทุนโรงงานน้ำตาลวงเงินก้อนแรก 1.2 หมื่นล้านบาท จาก 3 หมื่นล้านบาท ซื้อที่ดินกว่า 2,000 ไร่ ในรัศมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร โดยมีกำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี รวมทั้งร่วมลงทุนกับนักลงทุนจากตะวันออกกลางพัฒนาศูนย์กลางผลิตอาหารแปรรูปฮาลาล ส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลางและยุโรป ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดที่มีปริมาณการปลูกอ้อยจำนวนมากปีละ 4 ล้านตัน

          จี้ก.อุตฯหาทางออกระยะห่าง

          อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นจังหวัดเห็นชอบให้ทุนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาลงทุนในพื้นที่ แต่ติดปัญหาข้อกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับระยะห่างของการตั้งโรงงานที่กำหนดว่า ต้องห่างจากที่ตั้งโรงงานเดิม 50 กิโลเมตร แต่ปรากฏว่าที่ตั้งที่ดินของโรงงานน้ำตาลขอนแก่นห่างจากโรงงานน้ำตาลตะวันออกเพียง 20 กิโลเมตร อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา จังหวัดได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ สำนักนายกรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ เพื่อหาทางออกดังกล่าว อย่างไรก็ดี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปหาทางออกเกี่ยวกับข้อกฎหมายและนักลงทุน

          ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนจากต่างประเทศจำนวนมากถึง 50-60 รายให้ความสนใจให้จังหวัดช่วยจัดหาที่ดินให้ และ อาทิ จีน เกาหลี เยอรมนี ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ ขณะที่ผังเมืองรวมจังหวัดสระแก้วในพื้นที่ อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  กำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวหรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม แต่เรื่องนี้จังหวัดได้ผ่อนปรนให้สามารถตั้งโรงงานได้และกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างผ่อนผันออกกฎกระทรวงมหาดไทยให้พื้นที่สีเขียวสามารถตั้งโรงงานได้และอนาคตจะแก้ไขผังเมืองเป็นพื้นที่สีม่วงหรือ ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม

          งัดม. 44 โละก.ม.สกัดลงทุน

          ด้านแหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่าคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) เป็นประธาน ระบุว่าหากมีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้อง ขัดต่อการพัฒนาหรือลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะใช้มาตรา 44 ตามร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557  ยกเว้นหรือ ยกเลิกการบังคับกฎหมายนั้นๆ เนื่องจาก นโยบายของนายกรัฐมนตรีต้องการเปิดให้มีการลงทุนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขณะนี้ได้เสนอไปยัง คสช. เพื่อออกคำสั่งดังกล่าว

          ปรับค่าเช่าทุนใหญ่-ท้องถิ่นให้จางใจ

          นอกจากนี้ยังมีมติให้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และภาคเอกชน เพื่อปรับลดค่าเช่าให้เกิดการจูงใจ โดยต้องแยกให้ชัดระหว่างค่าเช่าสำหรับนักลงทุนรายใหญ่ และรายย่อยในท้องถิ่น ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมสิทธิประโยชน์ก้อนแรก (แป๊ะเจี๊ยะ) สูงสุด 5-6 แสนบาทต่อไร่ ซึ่งนายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้เสนอให้ปรับลดลงเหลือ 2 แสนบาทต่อไร่ ส่วนค่าเช่าที่ดินดิบของกรมธนารักษ์ ต้องปรับลดด้วยเช่นกัน

          เคาะที่ดินเขตศก.เฟส 2 ลงตัว

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้กนพ.ยังเห็นชอบการคัดเลือกที่ดินรัฐให้เช่าเพื่อตั้งเขตอุตสาหกรรมของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) เป็นประธาน เสนอ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 3อำเภอ คืออำเภอเชียงของ เลือกที่ดินบริเวณทุ่งงิ้วกว่า 500 ไร่ อำเภอเชียงแสน ที่ดินส.ป.ก.ติดท่าเรือเชียงแสน และอำเภอแม่สายที่ดิน 3 แปลงของโรงงานยาสูบติดถนนพหลโยธิน กาญจนบุรี ที่ประชุมขอลดพื้นที่จาก 8,000 ไร่เป็นไม่เกิน 2,000 ไร่ บริเวณด่านบ้านพุน้ำร้อน นครพนมเลือกที่ดินติดสะพานมิตรภาพ 2,400 ไร่ และนราธิวาส เลือกที่ดินเอกชน 2,600 ไร่ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกำชับว่า จะต้องเคลียร์ปัญหาที่ดิน ไม่ให้มีการบุกรุกเหมือนเฟสแรก

          เคเอสแอลตอบรับลงทุน

          ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีแผนที่จะย้ายโรงงานน้ำตาลจากจังหวัดชลบุรีมายังอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว แต่ติดประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร กำหนดให้โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ขออนุญาตตั้งหรือย้ายโรงงานน้ำตาลจะต้องมีระยะห่างจากเขตโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิม 50 กิโลเมตร ซึ่งที่ตั้งแห่งใหม่อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกไม่ถึง 30 กิโลเมตร ที่ผ่านมาทางบริษัทพยายามที่จะขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันให้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้ยื่นเอกสารตามหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองใบอนุญาตตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ว่าจะพิจารณาออกมาอย่างไร

          "หากกระทรวงอุตสาหกรรมผ่อนผันระยะห่างหรือสามารถเข้าไปอยู่ในประเภทกิจการเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ บริษัทก็พร้อมจะย้ายโรงงานน้ำตาลมาตั้งให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิต 2.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน"

          อุตฯพร้อมทำตามมติครม.

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า ในการขอปรับหลักเกณฑ์ตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณานั้น คงต้องมาพิจารณารายละเอียดของมติว่าออกมาอย่างไร และจะส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจน คงต้องจัดทำข้อมูลรายละเอียดให้ทางกนพ.พิจารณาอีกครั้ง ที่จะต้องไปดูว่าข้อกฎหมาย ระเบียบการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่เป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นมติครม.ออกมา ให้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษ ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ขณะนี้ต้องขอดูความชัดเจนคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ออกมาก่อน

          พลังงานทดแทนขอเข้าร่วมด้วย

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า ในเร็วๆนี้ทางส.อ.ท.จะเข้าหารือกับทางสศช.และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เพื่อจะขอให้กิจการพลังงานทดแทนเข้าไปอยู่ในประเภทกิจการที่จะส่งเสริมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องของกลุ่มสมาชิกในส.อ.ท.ที่มีความพร้อมจะเข้าไปลงทุน แม้ว่าขณะนี้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะได้รับการส่งเสริมสูงสุดแล้วก็ตาม

          ดังนั้น ในการประชุมกนพ.ครั้งที่ 5 ที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 จะมีการผลักดันให้กิจการพลังงานทดแทนเข้าไปอยู่ในกิจการเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะผู้ประกอบการมีความพร้อมและสามารถเข้าไปลงทุนได้ทันที หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการเร่งก่อสร้างสายส่ง และการยกเว้นการไม่ต้องประมูลแข่งขัน

          เอกชนยันลงทุน 4 หมื่นล้าน

          นายสุวัฒน์ กมลพนัส รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ทดแทน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่พร้อมจะลงทุนด้านโรงไฟฟ้าชีวมวลได้ทันทีประมาณ 500 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด แต่ติดปัญหาที่ว่าทางกระทรวงพลังงานยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้า และจะต้องแข่งขันหรือเปิดประมูลผู้ที่ให้ราคาที่ถูกกว่า ตามข้อจำกัดของสายส่งที่จะสามารถรองรับได้ในแต่ละพื้นที่ หากพลังงานทดแทนเข้าไปอยู่ในกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะช่วยแก้ปัญหาในการไม่ต้องเปิดประมูล และเป็นการเร่งให้กระทรวงพลังงานเปิดรับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้เอกชนมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้า ที่จะไปเตรียมตัวในการจัดทำรายละเอียดลงทุนของโครงการได้ เมื่อเทียบกับขณะนี้ไม่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านลงทุนของผู้ประกอบการแต่อย่างใด

          ยันมีแผนขยายสายส่งรองรับ

          นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน  ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เปิดเผยว่า ในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้านั้น สนพ. รับทราบว่ามีเอกชนที่ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแนวทางดังกล่าว โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2558

          โดยจะพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์ และ 115 กิโลโวลต์ และระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของระบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยระยะแรกมีจำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 11 ตุลาคม 2558

แนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องทิศทางเดียวกับสกุลเงินเอเชีย ตลาดให้น้ำหนักเฟดขึ้น ดบ.ปีหน้า

ธ.กสิกรฯ มองค่าเงินบาทช่วงวันที่ 12-16 ต.ค. แนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวในกรอบ 35.35-35.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของสกุลเงินในเอเชีย และสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เนื่องจากตลาดทยอยเพิ่มน้ำหนักให้แก่โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปีหน้า

               ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 12-16 ต.ค. โดยระบุว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.35-35.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ มุมมองต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อาจสะท้อนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจและภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และสาขานิวยอร์ก เดือน ต.ค. ข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิสู่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เดือน ส.ค. นอกจากนี้ ตลาดน่าจะจับตาข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ของจีน และสถานการณ์การเมืองในมาเลเซียด้วยเช่นกัน

               ทั้งนี้ ค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าทดสอบระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของสกุลเงินในเอเชีย และสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เนื่องจากตลาดทยอยเพิ่มน้ำหนักให้แก่โอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในปีหน้า หลังจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ก.ย.ออกมาน้อยกว่าที่คาด ขณะที่รายงานการประชุมของเฟดเมื่อวันที่ 16-17 ก.ย. ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เฟดชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบนั้น เนื่องจากต้องการรอดูหลักฐานที่สะท้อนว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยบวกจากสถานะซื้อสุทธิหุ้น และพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยวันศุกร์ (9 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 36.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ต.ค.)

 จาก  http://www.manager.co.th วันที่ 11 ตุลาคม 2558

เงินไหลเข้าดันบาทกลับทิศแข็งโป๊ก เฟดชะลอขึ้นดบ.จุดพลุต่างชาติโหมซื้อบอนด์-หุ้น

ค่าเงินบาทกลับทิศ "แข็งโป๊ก" ช่วงสั้น เผยรอบสัปดาห์แข็งค่าขึ้น 2.4% ติดอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย ยืนต่อแถว "รูเปียห์-ริงกิต-วอน" หลังเฟดระบุชะลอขึ้นดอกเบี้ย ต.ค.นี้ เหตุเศรษฐกิจยังไม่ดี ต่างชาติขนเงินไหลกลับเข้าลงทุนตลาดในเอเชีย ทะลักเข้าบอนด์-หุ้นร่วม 1.4 หมื่นล้านบาท

นางสาวณัฏฐริยา วิทยธนเศรษฐ์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-9 ต.ค.) อยู่ในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าสุดอยู่ที่ 36.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (5 ต.ค.) จากนั้นกลับมาแข็งค่าสุดที่ระดับ 35.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (9 ต.ค.) คิดเป็นการแข็งค่าขึ้น 2.4% หรือ 0.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับการแข็งค่าของค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย พบว่า รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคนี้ ขณะที่ 3 อันดับแรกที่แข็งค่าสุดได้แก่ ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย รองลงมาคือ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย และค่าเงินวอนของเกาหลี ตามลำดับ

ทั้งนี้ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินบาท สอดคล้องไปกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ภายหลังจากที่สหรัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าผิดหวัง สะท้อนการฟื้นตัวที่ยังไม่ดีนัก เช่น การจ้างงานนอกภาคเกษตร, ดัชนีการค้า ฯลฯ อีกทั้งการเปิดเผยการบันทึกผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนวันที่ 8 ต.ค. ยังสะท้อนว่า ผู้กำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐ ยังมองภาพเศรษฐกิจสหรัฐไม่ดีนัก ทำให้อาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมรอบ ต.ค.นี้

นอกจากนี้ จากการรวบรวมข้อมูลสถิติของนักค้าเงินในตลาดฟิวเจอร์ในสหรัฐ ส่วนใหญ่มีการคาดการณ์ว่า โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในรอบเดือน ต.ค.นั้น มีความเป็นไปได้เพียง 10% เท่านั้น ขณะที่ในเดือน ธ.ค.มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 38%

"คิดว่าสุดท้าย แล้ว นักลงทุนที่เข้ามาในระยะนี้ ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาซื้อสั้น ๆ หากมองว่า การขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค.ในการประชุมรอบ ต.ค.นี้ เฟดน่าจะส่งสัญญาณออกมาบ้าง ดังนั้นช่วงตั้งแต่ต้นเดือนนี้ถึงปลายเดือน ต.ค. ก็จะยังคงมีสินทรัพย์ต่างชาติไหลเข้ามาต่อเนื่อง จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. อาจจะเริ่มเห็นดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้ หากเฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นดอกเบี้ยรอบ ธ.ค.นี้" นางสาวณัฏฐริยากล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติซื้อสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) 1.1 หมื่นล้านบาท และตลาดหุ้น 3 พันล้านบาท ซึ่งรวมเป็นมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท

นางสาวธีระดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นประมาณ 3.40% จากระดับ 1,346.35 จุด (5 ต.ค. 58) มาอยู่ที่ 1,392.15 จุด (8 ต.ค. 58) เนื่องจากเงินต่างชาติไหลกลับเข้ามาลงทุนอย่างจริงจังในช่วงระยะสั้น ทั้งจากปัจจัยเฟดยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ และมีการคาดการณ์ว่าจะชะลอไปถึงต้นปีหน้า ส่งให้เงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้าภูมิภาคเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา รวมถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ดูชัดเจน ส่งผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุน ส่วนระยะกลางถึงระยะยาว มองว่าหากการเมืองไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าไทยเพิ่มมากขึ้นต่อ เนื่อง

สำหรับเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นต่อเนื่อง 3 วัน (6-8 ต.ค. 58) มีมูลค่าซื้อสุทธิประมาณ 4,044.40 ล้านบาท ยังถือว่าไม่ได้มีจำนวนมากนักเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ไหลออกไปตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน มูลค่ารวมกว่า 103,395.19 ล้านบาท

 จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 11 ตุลาคม 2558

เอกชนเต้นไทยตกขบวนข้อตกลงTPP สหรัฐนำเปิดเสรีการค้า12ปท.แปซิฟิก

สหรัฐประกาศความสำเร็จ 12 ประเทศ หุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือความตกลงเปิดเสรี TPP ส่งผลกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน "เต้น" เสนอรัฐบาลให้ตั้ง "คณะกรรมการ" ขึ้นมาศึกษาข้อดี-ข้อเสียการเข้าร่วม ข้อตกลง TPP เน้นให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

หลังการประกาศบรรลุ ข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Partnership หรือ TPP) ของสมาชิก 12 ประเทศ นำโดยสหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น เมื่อ 5 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา

นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความตกลง TPP จะมีผลบังคับใช้เร็วสุดกลางปี 2559 หลังจากนั้นประเทศนอกกลุ่มสมาชิกจึงจะทราบข้อบทที่แท้จริงของการเจรจา ขณะที่ทุกฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าประเทศสมาชิกจะสามารถตกลงในประเทศที่เป็นข้อ จำกัดของการเจรจาก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความคุ้มครองข้อมูลสิทธิบัตรยา (Data Excucivity)

"ไทยได้รับ ผลกระทบแน่นอน ระยะสั้นแต่ยังไม่มีอะไรรุนแรง เพราะไทยได้ทำความตกลงเอฟทีเอกับสมาชิก TPP ไปแล้ว 9 ประเทศ เหลือเพียง 3 ประเทศในกลุ่ม NAFTA คือ สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ยังไม่มีเอฟทีเอกับไทย แต่กลุ่มนี้สหรัฐมีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด แต่คงไม่กระทบมากนัก เพราะสหรัฐต่ออายุโครงการให้สิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 3,000 รายการ ไปถึงปี 2560 น่าจะบรรเทาได้บ้าง ส่วนด้านการลงทุน แม้มาเลเซียและเวียดนามจะมีแต้มต่อมากกว่าจาก TPP แต่นักลงทุนจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ ทั้งแรงงาน ระบบสาธารณูปโภค"

การดำเนินการระหว่างนี้ ไทยดำเนินการ 2 ด้าน 1) เตรียมการเข้าร่วมเจรจา TPP โดยต้องรอให้สมาชิก TPP ประกาศชัดเจนก่อนว่าจะเปิดรับสมาชิกเพิ่มหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีท่าที แต่ไทยเคยแสดงเจตนารมณ์จะเข้าร่วมเจรจา TPP แล้ว ส่วนขั้นตอนภายในหากจะเข้าร่วม กรมต้องเสนอกรอบการเจรจาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาสั้นเพียง 60 วัน หลัง ครม.อนุมัติ

ผลการศึกษาเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการร่วม TPP กรมได้ศึกษาหลายฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ฉบับล่าสุดได้จัดจ้างสถาบันปัญญาภิวัฒน์ศึกษา คาดว่าจะเสร็จสิ้นต้นปี 2559 แต่ผลการศึกษาที่ผ่านมาได้ข้อสรุปทิศทางเดียวกันว่า ไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วมเจรจา TPP มากกว่าไม่ร่วมเจรจา

2) ต้องเร่งหาข้อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP) หรืออาเซียน +6 (อาเซียน+จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ให้เร็วขึ้น เพราะกลุ่มนี้มีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกับ TPP โดยเฉพาะจะช่วยขยายตลาดสำคัญ คือ อินเดีย และจีน และใช้ประโยชน์จากการใช้แหล่งกำเนิดสินค้าร่วมกัน (ROO) ซึ่งขณะนี้สมาชิกได้ข้อสรุปรายการสินค้าที่จะลดภาษีระหว่างกันแล้วเมื่อ เดือน ส.ค. 2558 ในการประชุมระดับผู้นำอาเซียน ที่อินโดนีเซีย แต่หลังจาก TPP สรุป เชื่อว่ากลุ่มสมาชิก RCEP ต้องเร่งการเจรจาให้เสร็จสิ้นเร็วขึ้น จากเดิมที่มีเป้าหมายให้จบปี 2559

 ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความเป็นห่วงท่าทีของไทยต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก หลังความตกลง TPP ได้สรุปเรียบร้อยแล้ว แต่ไทยยังไม่มีจุดยืนชัดเจน ในส่วนของความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อียู ก็ยังไม่คืบหน้า เพราะไทยมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ขาดแผนชัดเจนสำหรับระยะกลาง และระยะยาว

ดัง นั้นภาคเอกชนเห็นควรให้แต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งมีองค์ประกอบจาก 3 สถาบัน (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) องค์กรละ 5 คน ขึ้นศึกษาข้อดี-ข้อเสียในการเข้าร่วม TPP รวมทั้งประเด็นการเจรจาความตกลงฉบับอื่น ๆ เช่น การเจรจาเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน ไทย-อียู ไทย-ตุรกี และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาภายใน 2 เดือน เพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณา

"หากไม่มีการดำเนินการอย่างไรเลยจะกระทบภาค เอกชนไทย ต้องยอมรับระดับหนึ่งว่าฐานการค้า ฐานลูกค้าของไทย ก็อาจเสียเปรียบให้คู่แข่ง เช่น เวียดนาม เพราะการผลิตสินค้าส่งออกมีรูปแบบใกล้เคียงกันหลายสินค้า"

อย่างไรก็ ดี การส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐยังขยายตัว และครองสัดส่วนทางการตลาดไว้ได้ แม้ราคาลดลงแต่ปริมาณการส่งออกยังเท่าเดิม ภาพรวมการส่งออกไทยทั้งปี 2558 ยังคงติดลบ 5% จากปัจจัยของการนำเข้าสินค้าจีน สำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยคาดการณ์ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.5-5% จากเดิม 3-3.5%

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบรรลุความตกลง TPP จะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยแน่นอน เนื่องจากประเทศสมาชิกครอบคลุมเศรษฐกิจโลกถึง 40% โดยเฉพาะขีดความสามารถด้านการแข่งขันผลิตเพื่อการส่งออก ไทยจะเสียเปรียบเวียดนาม มาเลเซีย ส่วนขีดความสามารถแข่งขันด้านบริการจะเสียเปรียบสิงคโปร์ และด้านการแข่งขันทางด้านอาหารเสียเปรียบเปรู และชิลี อีกทั้งไทยไม่มีการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับ 3 ประเทศในกลุ่ม TPP คือ สหรัฐ เม็กซิโก และแคนาดา ซึ่งกลุ่มนี้มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงมาก ส่วนอีก 9 ประเทศ ไทยมีการทำเอฟทีเอแล้ว

"ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มไทย ไทยจะเสียเปรียบประเทศในสมาชิก TPP ในการส่งออกไปสหรัฐ โดยเสียภาษีนำเข้า 17.8-32.5% ตามแต่ละรายการจะเสียภาษีที่ต่างกันออกไป และหากส่งออกไปเม็กซิโก แคนาดา ไทยต้องเสียภาษี 19% ซึ่งเสียเปรียบอย่างมาก ภาคอุตสาหกรรมก็กระทบเช่นกัน เพราะสิทธิพิเศษทางภาษีในประเทศสมาชิกเสียภาษี 0% และครอบคลุมสินค้ากว่า 1,000 รายการ จะทำให้การแข่งขันต้นทุนลำบากขึ้น"

ขณะที่ ดร.รัชดา เจียสกุล หุ้นส่วนและผู้อำนวยการกลุ่มที่ปรึกษาเศรษฐกิจและธุรกิจ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี คอนซัลติ้ง จำกัด มองว่า จากการที่การศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วม TPP มา 2 ฉบับ นับจากปี 2012 และปี 2013 เห็นว่า แม้ TPP จะได้ข้อสรุป แต่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และยังไม่มีการเปิดเผยสาระของความตกลงว่าได้ข้อสรุปเรื่องที่มีความอ่อนไหว ไปแล้วหรือไม่ อีกทั้งไทยมีความตกลงเอฟทีเอกับ 9 ประเทศสมาชิก TPP แล้ว ยกเว้นกลุ่ม NAFTA คือ สหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่ง 2 ประเทศหลังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก ส่วนสหรัฐเพิ่งคืนสิทธิ GSP ให้ไทย จึงไม่น่ากระทบ แต่ในแง่การลงทุน มาเลเซียและเวียดนามอาจจะดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้นหลัง TPP จบ แต่ระหว่างนี้ไทยสามารถเร่งการเจรจา RCEP จะได้ไม่เสียเปรียบในด้านเปิดตลาดการลดภาษี และใช้แหล่งกำหนดสินค้าร่วม (Rule Of Origin) ในห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน

TPP Deal ใครได้-ใครเสีย

หลัง เจรจามานาน 5 ปี ในที่สุดกรอบการค้าเสรีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ก็บรรลุข้อตกลงกัน ถือเป็นข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ โดยสมาชิก 12 ประเทศมีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 30 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 40% ของจีดีพีทั้งโลก

ดีลนี้ยังเป็นเหมือน "กระดูกสันหลัง" ทางเศรษฐกิจของนโยบายมู่งสู่เอเชีย "Pivot to Asia" ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก นอกจากนี้ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของ "ลูกศรดอกที่สาม" ในนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์" ของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น

แต่งานนี้ใช่ว่าสมาชิก TPP จะได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ละประเทศต้องยอมยื่นหมูยื่นแมวเพื่อให้ข้อตกลงเดินหน้าไปได้ อาทิ สหรัฐ ทำเนียบขาวประเมินว่า สินค้าที่ผลิตในสหรัฐราว 18,000 รายการ จะได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า แลกกับยอมให้กุ้งจากเวียดนามและผลิตภัณฑ์นมจากนิวซีแลนด์เข้าถึงผู้บริโภค ชาวอเมริกันได้โดยปราศจากข้อกีดกัน ทั้งนี้ผลบวก-ผลลบจาก TPP ที่แต่ละประเทศได้รับ มีดังนี้

ญี่ปุ่น : รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ญี่ปุ่นจะได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้าไปยังตลาดสหรัฐ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบหนักเพราะภาษีนำเข้าเนื้อวัวจะ ลดเหลือ 9% ใน 16 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 38.5% ส่วนภาษีนำเข้าเนื้อหมูก็จะถูกปรับลดเช่นกัน ส่วนชาวนาญี่ปุ่นจะถูกตีตลาดโดยข้าวจากนอกประเทศ โดยญี่ปุ่นจะต้องยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวเป็นปริมาณ 1% ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ

: น้ำตาลจากออสเตรเลียจะเจาะตลาดสหรัฐได้มากขึ้น ส่วนญี่ปุ่นยินยอมลดภาษีนำเข้าเนื้อวัว ด้านเมล็ดธัญพืชจะได้รับโควตานำเข้าโดยไม่ต้องเสียภาษี ส่วนการลดภาษีนำเข้าเหล็ก ยา เครื่องจักร กระดาษ และชิ้นส่วนรถยนต์ ยังเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจในออสเตรเลียด้วย ใน TPP มีข้อกำหนดให้สร้างกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement-ISDS) แต่ออสเตรเลียสามารถต่อรองกับสหรัฐไม่ให้นำข้อพิพาทด้านสุขภาพและสาธารณสุข มารวมอยู่ใน ISDS ซึ่งหมายความว่า คดีฟ้องรองระหว่างบริษัทบุหรี่ฟิลิป มอร์ริส กับรัฐบาลออสเตรเลียจะไม่เข้าข่าย

นิวซีแลนด์ : สินค้า 93% ของนิวซีแลนด์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ญี่ปุ่น เม็กซิโก และเปรู จะได้รับการยกเว้นภาษี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์นม ผลไม้ อาหารทะเล ไวน์ เนื้อแกะ

เวียดนาม : จากข้อมูลของยูโรเชีย กรุ๊ป TPP จะช่วยกระตุ้นขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามได้ 11% ภายในปี 2568 สินค้าสิ่งทอจะได้รับการยกเว้นภาษีจากสหรัฐและญี่ปุ่น เช่นเดียวกับสินค้าในอุตสาหกรรมประมงของเวียดนามจะได้รับการยกเว้นภาษีนำ เข้าจากปัจจุบันอยู่ที่ 6.4-7.2% แต่ในอีกแง่หนึ่ง รัฐบาลเวียดนามต้องยินยอมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศเป็นครั้งแรก ตามข้อตกลงด้านคุ้มครองแรงงาน

มาเลเซีย : ผู้ประกอบการในมาเลเซียอาจได้รับผลกระทบหนัก เพราะหลัง TPP มีผลบังคับใช้ บริษัทจากต่างชาติจะมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล มาเลเซีย เท่าเทียมกับบริษัทภายในประเทศ ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม และยางพารา จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้า

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 11 ตุลาคม 2558

"ฉัตรชัย"เรียกผู้ว่าแก้ปัญหาภัยแล้ง หวั่นปริมาณน้ำ"ลุ่มเจ้าพระยา"แห้งขอดกว่าครึ่ง

"ฉัตรชัย"เรียกผู้ว่าแก้ปัญหาภัยแล้ง หวั่นปริมาณน้ำ"ลุ่มเจ้าพระยา"แห้งขอดกว่าครึ"ฉัตร ชัย" เรียกประชุม ผจว. 13 ต.ค. ขีดเส้น 30 วันสรุปแผนจัดการน้ำ ด้าน "TDRI" ฟันธงไทยเจอวิกฤตแล้งหนักปี"59 กระทบผลผลิตเกษตร แนะรัฐบริหารจัดการที่ดินแก้ปัญหาระยาว นักวิชาการเบรก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ หวั่นรวบอำนาจบริหารจัดการน้ำ แนะเร่งหาความเห็นผู้มีส่วนร่วมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้น้ำก่อน

 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในงานสัมมนา "วิกฤตน้ำท่วม-น้ำแล้ง : พลิกโฉมการบริหารจัดการของไทย" ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ จะเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำ และรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา ภัยแล้ง ซึ่งจะทำให้การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละ พื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายจะสรุปเสนอแผนรัฐบาลให้ได้ภายใน 30 วัน

"ปี นี้ปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้อยู่ที่ 3,200-3,300 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 6,000 ล้าน ลบ.ม. หรือลดลง 50% และเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอ หากเทียบกับความต้องการใช้ที่ 3,600-3,700 ล้าน ลบ.ม. ถือเป็นปริมาณที่ต่ำมาก จำเป็นต้องจัดสรรไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศก่อน ส่วนในระยะยาว รัฐบาลมีแผนเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนทั้งภาคตะวันตกและตะวันออก"

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI กล่าวว่า ปี 2559 เป็นปีที่เสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดวิกฤตภัยแล้งรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆ เช่น ข้าว โดยสาเหตุของปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่เกิดจากความบกพร่องของนโยบายบริหารจัดการน้ำ โดยจะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในช่วงหลังอุทกภัยปี 2554 ยังมีจุดอ่อนจากการที่มุ่งเน้นสร้างสิ่งก่อสร้าง ซึ่งไม่ใช่การบริหารจัดการน้ำที่แท้จริง การแก้ไขปัญหาน้ำยังขาดจุดเชื่อมต่อระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำระดับชาติกับ กลุ่มผู้ใช้ระดับชุมชน

ที่สำคัญการบริหารจัดการน้ำในช่วงวิกฤต ที่ผ่านมารัฐบาลมักจะรวมศูนย์การแก้ไขปัญหาไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งสวนทางกับการแก้ไขปัญหาของนานาชาติที่จะกระจายอำนาจ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำในพื่นที่ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง

รศ.ดร.นิพนธ์ให้ข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำระยะยาวจะต้องวางนโยบายที่ดินควบคู่กันไปด้วย

รศ.ดร.สุ วัฒนา จิตตลดาการ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำได้ยกร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว อยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกอบด้วย 9 หมวด 106 มาตรา แต่หลายฝ่ายยังเป็นห่วงการออกร่างฉบับนี้ว่าควรจะมีการหารือความเห็นจากทุก ภาคส่วนก่อน

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ กล่าวว่า ยังไม่ควรเร่งรัดการยกร่าง พ.ร.บ.น้ำ แต่ควรเปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงว่ามีแนวคิดอย่างไร เพื่อร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ และสามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

  จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 11 ตุลาคม 2558

ค่าเงินบาทแข็งพรวดแบงก์เตือนแค่ช่วงสั้น

บาทแข็งค่าพรวด เดียว 50 สตางค์/เหรียญสหรัฐ แบงก์เตือนแค่ชั่วคราว

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วแตะระดับ 35.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐหลังจากเพิ่งอ่อนค่าสุดในรอบ 8 ปีเมื่อปลายเดือน ก.ย. 36.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เกิดจากเงินทุนไหลกลับมายังตลาดเกิดใหม่ หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อการประชุมรอบเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยสกุลเงินประเทศในภูมิภาคต่างกลับมาแข็งค่าในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะเงินริงกิตของมาเลเซียและเงินรูเปียของอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด คือ ตัวเลขแรงงานไม่ค่อยดีอย่างที่คาดหวัง ขณะที่รายงานการประชุม FOMC ที่เพิ่งออกมาสะท้อนภาพความเป็นห่วงเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกนักลงทุนเริ่มตีความว่า มีโอกาสที่สหรัฐอาจไม่ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งทำให้นอกจากค่าเงินแข็งค่าแล้ว ตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงก็กลับมาคึกคักด้วย เช่น น้ำมัน ที่ราคาเริ่มปรับขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้วว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในระยะสั้นหากสหรัฐไม่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างที่คาดไว้ โดยตลาดเงินเป็นภาพเดียวกับเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่นักลงทุนคาดว่าสหรัฐจะยกเลิกคิวอีในเดือนก.ย. แต่เฟดชะลอการลดคิวอีออกไป ทำให้เงินบาทที่กำลังอ่อนค่าเกิน 32 ก็กลับมาแข็งค่าที่ 31 และทิศทางกลับไปเป็นอ่อนค่าอีกครั้งหลังสหรัฐทยอยลดคิวอีตั้งแต่เดือน ธ.ค.

ทั้งนี้ ต้องเตือนนักลงทุนอย่าชะล่าใจว่าเงินบาทจะกลับทิศทางไปแข็งค่าเพราะจากสถิติในอดีตเป็นคำตอบว่า บาทแข็งเพียงชั่วคราวเท่านั้น และทิศทางในระยะต่อไปยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จากดอกเบี้ยสหรัฐที่ต้องปรับขึ้นแน่นอน แม้อย่างช้าอาจจะเป็นปีหน้า แต่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังเชื่อว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนธ.ค. นี้

"เทรนด์เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่ายังอยู่ และตลาดเกิดใหม่ไม่มีปัจจัยบวกอะไรที่เศรษฐกิจจะเติบโตแรง เห็นจากไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกยังมองเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เติบโตข้าถึงปีหน้า ที่เป็นตัวกดดันในค่าเงินอ่อนค่าต่อไป"นายอมรเทพ กล่าว

ทั้งนี้ นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์ เผยว่า เงินบาทปิดตลาดเมื่อวานนี้ (9 ต.ค.) ที่ระดับ 35.52 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าจากวันก่อนหน้าที่ปิด 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวระหว่างวันในกรอบ 35.51-35.75 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 10 ตุลาคม 2558

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท “บ. น้ำตาลบุรีรัมย์” ที่ระดับ “BB+/Stable”

          ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาทของ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BB+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" อันดับเครดิตที่ระดับ "BB+" ของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดนี้น้อยกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ระดับ เพื่อสะท้อนลักษณะการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง (Structural Subordination) ของหุ้นกู้ เมื่อเปรียบเทียบกับภาระหนี้กับสถาบันการเงินที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบัน บริษัทมีหนี้มีหลักประกันมากกว่า 20% ของสินทรัพย์รวม ทำให้อันดับเครดิตตราสารหนี้จะถูกปรับลดต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กร 1 ระดับตามเกณฑ์การพิจารณาเครดิตของทริสเรทติ้ง

          อันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ "BBB-" สะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจอ้อยและน้ำตาล ตลอดจนผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่อยู่ระดับสูงของบริษัท ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทย และการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มกระแสเงินสดที่มั่นคงให้แก่บริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากขนาดการผลิตน้ำตาลที่ค่อนข้างเล็กและการมีโรงงานน้ำตาลเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย

          แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไว้ได้ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการเติบโตของรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าจะช่วยรองรับการดำเนินงานในช่วงวงจรขาลงของธุรกิจน้ำตาลไว้บางส่วน นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ในระยะยาว

          อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ หากบริษัทมีกระแสเงินสดคงที่มั่นคงเพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาล การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การลงทุนจำนวนมากก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

          บริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศไทย บริษัทก่อตั้งในปี 2506 โดยกลุ่มตระกูลตั้งตรงเวชกิจและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ณ เดือนมีนาคม 2558 ตระกูลตั้งตรงเวชกิจถือหุ้นในสัดส่วน 74.3% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 1 แห่งในจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวมเท่ากับ 17,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทสามารถหีบอ้อยได้ 1.95 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลได้ 230,379 ตัน ในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 2% หากพิจารณาจากผลผลิตน้ำตาล ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยของบริษัทอยู่ในระดับสูง โดยในปีการผลิต 2557/2558 บริษัทสามารถผลิตน้ำตาลสูงถึง 118.07 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยที่ 106.65 กก. ต่อตันอ้อย และสูงเป็นอันดับ 3 จากโรงงานน้ำตาล 50 โรงทั่วประเทศ

          บริษัทผลิตน้ำตาลทราย 2 ประเภท คือ น้ำตาลทรายขาวสีรำเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้าภายในประเทศ และน้ำตาลทรายดิบเพื่อการส่งออก นอกจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย เช่น ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและปุ๋ย โดยบริษัทจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจำนวน 16 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer - VSPP) โรงไฟฟ้าแห่งแรกขนาด 8 เมกะวัตต์และโรงงานปุ๋ยของบริษัทได้เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2555 สัดส่วนรายได้ของธุรกิจไฟฟ้าและปุ๋ยคิดเป็น 8%-12% ของรายได้รวมทั้งหมดในช่วงปี 2555-2557 และคาดว่าสัดส่วนรายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ของบริษัทเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายน 2558

          ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลงจากราคาน้ำตาลที่อ่อนแอ เช่นเดียวกับผู้ผลิตน้ำตาลทุกแห่ง แม้ว่าราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง แต่รายได้รวมของบริษัทยังคงเติบโตในช่วงปี 2557 จนถึงช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 การเติบโตของรายได้รวมมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายน้ำตาล โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 รายได้รวมของบริษัทเติบโต 7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 2,699 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลง ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของโรงงานน้ำตาลลดลงในช่วงปี 2555-2557 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 10.1%-13.1% ในช่วงปี 2555-2557 จากระดับสูงสุดที่ 18.3% ในปี 2554 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17.5% จากระดับ 9.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นรวมกับต้นทุนอ้อยที่ลดลง นอกจากนี้ รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกำไรให้แก่บริษัท รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็น 287 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ดังนั้น กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 496 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จาก 239 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557

          โครงสร้างหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากได้รับเงินเพิ่มทุนจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงปลายปี 2557 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนปรับตัวดีขึ้นจาก 79.7% ในปี 2555 มาอยู่ที่ระดับ 58.8% ในปี 2557 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 61.7% จากระดับสินค้าคงเหลือหลังจากช่วงฤดูกาลหีบอ้อย อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 13.18% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีด้วยตัวเลข 12 เดือนย้อนหลัง) ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จาก 11.95% ในปี 2557 เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไร อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 เท่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จาก 4.2 เท่าในปี 2557

          ในช่วงปี 2558-2560 บริษัทมีแผนลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่เพื่อขยายกำลังการหีบอ้อยและสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 ทั้งนี้ จากแผนการลงทุนของบริษัทและ EBITDA ของบริษัทที่คาดว่าจะอยู่ระดับประมาณ450-550 ล้านบาทต่อปี คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

          อุตสาหกรรมน้ำตาลยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 โดยลดลง 24% มาอยู่ที่ระดับ 12.8 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยที่ 16.8 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2557 สต็อกน้ำตาลคงค้างจำนวนมากในตลาดโลกยังคงกดดันราคาน้ำตาลให้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ การที่ค่าเงินเรียลของบราซิลต่อดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำตาลลดลงเช่นกัน เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 9 ตุลาคม 2558

รมว.พณ.ชี้ไม่ช้าไทยร่วมสมาชิกTPP

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยยังไม่ช้าที่ไทยจะเข้าร่วมสมาชิก TPP แต่ต้องดำเนินการรอบคอบ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ว่าประเทศไทยยังสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่จะต้องเอาข้อตกลงต่างๆ มาศึกษาและดูถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากหลายประเทศซึ่งเป็นคู่แข่งกับประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าจนถึงขณะนี้ไม่ถือว่าสายไปที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกและเห็นว่าในเรื่องของการเจรจาดังกล่าว หลายประเทศที่เป็นสมาชิก TPP ประเทศไทยมีความตกลงในส่วนของ FTA อยู่แล้วมีเพียงสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา ที่ถือเป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยและไม่มีกรอบ FTA ในการสนับสนุนการค้าระหว่างกัน โดยการเจรจาเข้าเป็นสมาชิก TPP ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นแต่ประเทศไทยก็ต้องมีการปรับปรุงศึกษาขั้นตอนการเข้าเป็นสมาชิกอย่างรอบคอบ

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 9 ตุลาคม 2558

พบ17หมู่บ้านสุโขทัยแล้งนาน2ปี

สุโขทัย-พบ 17 หมู่บ้านสุโขทัยผจญแล้งหนักนาน 2 ปี สุดรันทดไม่มีข้าวเก็บไว้กินในครัวเรือน

เมื่อวันที่9ต.ค.58 ที่ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ราษฎรทั้ง 17 หมู่บ้าน กำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก จากปัญหาภัยแล้งที่คุกคามต่อเนื่องมานาน 2 ปี ทำให้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งพืชผลการเกษตรต่างได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า

นายจำลอง อาจใย กำนัน ต.วังน้ำขาว เปิดเผยว่า ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้เกิดจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้แหล่งน้ำในพื้นที่ไม่มีน้ำกักเก็บส่งผลให้พืชผลการเกษตร เช่น นาข้าว ไร่อ้อย และมันสำปะหลัง ได้รับความเสียหายเป็นรอบที่ 2 นอกจากทำให้เกษตรกรขาดรายได้ ยังกลายเป็นหนี้เพิ่ม และก็ไม่มีข้าวเก็บไว้กินในครอบครัวด้วย

ส่วนวัวที่เลี้ยงไว้ก็ขาดน้ำ และอาหาร ขณะที่แหล่งน้ำสาธารณะของตำบล ซึ่งมีความกว้าง 200 เมตร ยาว 800 เมตร ลึก 3 เมตร ก็มีสภาพแห้งขอด ส่งผลต่อการผลิตน้ำประปาของหมู่บ้าน ล่าสุดนายอำเภอบ้านด่านลานหอย จึงได้นำน้ำดื่มบรรจุขวดแจกจ่ายราษฎร บรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 9 ตุลาคม 2558

มาตรการเตรียมรับภัยแล้ง 2558/59

การบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตลอดทั้งให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคส่วนอื่น ๆ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งปี 2558/59 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป และป้องกันการเกิดข้อขัดแย้งของกลุ่มผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วน

รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนเตรียมแนวทางและมาตรการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำน้อยในครั้งนี้โดยเบื้องต้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบกรอบมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2558/59

ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประกอบด้วย 8 มาตรการ

ซึ่งมี 25 กิจกรรม ได้แก่ 1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการจ้างแรงงานชลประทาน หรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการ ขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ การปฏิบัติการ ฝนหลวง การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อ การเกษตร 7) การเสริมสร้างสุขภาพและ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8) การสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น

ซึ่งแผนงานและโครงการภายใต้มาตรการดังกล่าว จะดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเขตชลประทานพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้จะเริ่มปฏิบัติการตามแผนตั้งแต่วันที่ 9–23 ตุลาคม 2558 โดยให้ทีมงานจากกระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงแผนงานให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสำรวจความต้องการของประชาชนส่วนการบริหารจัดการนั้น จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับประเทศ และระดับจังหวัด โดยมีการรายงานความคืบหน้ามายังกระทรวงเกษตรฯ เวลา 18.00 น. ของทุกวันด้วย และจะดำเนินการในมาตรการทั้งหมดได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 นี้

นอกจากนี้ยังได้ให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้ง ให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบแทน ซึ่งจะใช้เครื่องบินทั้งหมด 18 ลำ มีความมุ่งหวังเติมน้ำในเขื่อนของ

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 9 ตุลาคม 2558

มท.1เตือนปชช.ร่วมประหยัดน้ำ ย้ำเกษตรกรควรงดปลูกพืชหน้าแล้ง

ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายสุวิทย์ คำดี รอง ผวจ.นครราชสีมา นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชลประทานจังหวัด , ปภ.นครราชสีมา , อปท. , ประปาภูมิภาค เข้าร่วมประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เร้นชี้แจงสถานการณ์และแนวโน้มวิกฤตปัญหาภัยแล้ง ปี 2558/2559 พร้อมรับมอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากรัฐบาล โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย , พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยผู้บริหารของแต่ละกระทรวงร่วมสั่งการให้ ผวจ.ทุกจังหวัด รวมทั้ง ผวจ.นครราชสีมา

ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้รัฐบาล โดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดประกาศแจ้งเตือนไปยังประชาชนให้ร่วมกันประหยัดน้ำเนื่องจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศมีปริมาณที่น้อย ประชาชนจำเป็นต้องมีการจัดการบริหารน้ำให้ดีเพื่อมีน้ำไว้ใช้ไปตลอดฤดูแล้งนี้  โดยเฉพาะการปลูกพืชฤดูแล้งประชาชนควรงดการปลูกและหันหาอาชีพอื่นมาสริมแทนซึ่งรัฐบาลไดกำหนด มาตรการ 8 ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถปลูกพืชฤดูแล้งนี้ได้ สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนในการร่วมกันประหยัดน้ำ เนื่องจากน้ำต้นทุน ในแต่ละเขื่อนขณะนี้ มีปริมาณที่น้อย เพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของความจุเขื่อนเท่านั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บน้ำที่มีไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภค ส่วนเรื่องในการทำการเกษตรนั้น อาจจะต้องละเว้น อย่างไรก็ตามทางจังหวัดจะได้มีการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนแทนการทำการเกษตร สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้สำหรับเกษตรกร คือ นาข้าวที่กำลังจะออกรวงและจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือน พ.ย.นี้  ซึ่งฝนเริ่มทิ้งช่วง นาข้าวอาจจะได้รับความเสียหายได้ ทางจังหวัดได้มีการหารือ ในการบริหารจัดการน้ำเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ ดังนั้นเกษตรกรควรเร่งกักเก็บน้ำและเร่งสูบน้ำเข้านาเพื่อให้นาข้าวไม่ได้รับความเสียหาย

ในส่วนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคในเขตพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา นั้น ขณะนี้ ปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้การได้เหลือปริมาณเพียงแค่กว่า 100.6 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้นหรือคิดเป็น 32%  ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปริมาณน้ำรวมมีอยู่ 123.386 ล้าน ลบ.ม. โดยล่าสุดวันนี้มีน้ำไหลเข้าอ่าง 1.116 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการดึงน้ำมาใช้ในการทำน้ำประปาตั้งแต่ เขต พื้นที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.เมือง จะต้องใช้น้ำในการผลิตน้ำประปารวมกันประมาณ วัน ละ 2 แสน ลบ.ม. หรือ เดือน ละ 6 ล้าน ลบ.ม. โดยจากการคาดการณ์น้ำที่มีอยู่จะสามารถใช้ ได้เป็นเวลา 7 เดือน จนถึงเดือน พ.ค. 2559 อย่างแน่นอน ส่วนเรื่องการทำการเกษตรนั้นจะต้องมีการหารือและช่วยเหลืออีกครั้ง  

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

“พาณิชย์” แก้ พ.ร.บ.นำเข้า-ส่งออก เพิ่มมาตรการคุมเข้มสินค้า 30 รายการ ห้ามนำผ่านประเทศไทยไปยังประเทศที่ 3

        “พาณิขย์” แก้ พ.ร.บ.ส่งออกนำเข้า คุมเข้มสินค้า 30 รายการ ห้ามนำผ่าน ป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกร อุตสาหกรรมภายในประเทศ และดูแลความปลอดภัย ส่วนสินค้าที่เหลือสามารถนำผ่านได้ตามปกติ

                นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ที่จะถึงนี้ ซึ่งกรมฯ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขนิยามคำว่า “นำผ่าน” ให้มีความชัดเจนมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้การนำสินค้าผ่านแดน หรือถ่ายลำในประเทศไทยออกไปยังประเทศที่ 3 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความชัดเจนมากขึ้น และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

               ทั้งนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดสินค้าที่ห้ามนำผ่านประเทศไทย โดยเบื้องต้นมีประมาณ 30 ชนิด เช่น เครื่องเล่นเกม บารากู่ ข้าว มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาวุธยุทโธปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่มีมาตรการห้ามนำเข้าอยู่แล้ว ก็จะกำหนดไม่ให้มีการนำผ่านด้วย เพื่อเป็นการดูแลความมั่นคง ดูแลอุตสาหกรรมภายในประเทศ และเกษตรกร ไม่ให้ได้รับผลกระทบ หากมีสินค้าเล็ดลอดเข้าสู่ประเทศ

               อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการกำหนดให้สินค้าบางรายการสามารถนำผ่านได้ แต่จะมีมาตรการกำกับดูแลเป็นพิเศษ เช่น สินค้าไม้ เป็นต้น

               สำหรับสินค้าทั่วไปที่ไม่ได้มีมาตรการนำเข้า-ส่งออกซึ่งมีอยู่หลายพันรายการ สามารถนำผ่านได้โดยเสรี ส่วนสินค้าที่มีมาตรการนำเข้า-ส่งออก ที่กรมฯ ดูแลซึ่งมีอยู่ประมาณ 70 รายการก็สามารถนำผ่านได้เช่นเดียวกันภายใต้การกำกับดูแลของกรมศุลกากร      

        นายอดุลย์กล่าวว่า กรมฯ จะมีการจัดเวทีชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อให้เข้าใจถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อลดปัญหาในทางปฏิบัติก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการค้าขาย แต่ช่วยทำให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้ามีความรัดกุม ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

จาก  http://www.manager.co.th   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

พาณิชย์เตรียมลุยฝรั่งเศสกระชับสัมพันธ์การค้า

"สุวิทย์" รมช.พาณิชย์ เตรียมนำคณะนักธุรกิจไทยเยือนฝรั่งเศส กลางต.ค.นี้ หวังกระชับสัมพันธ์การค้าการลงทุน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2558 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ มีกำหนดเดินทางไปเยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อนำคณะนักธุรกิจไทยไปพบหารือกับนักธุรกิจฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและขยายโอกาสการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตามการทาบทามของฝรั่งเศส พร้อมทั้งยังมีกิจกรรมของภาครัฐ ได้แก่ การประชุม

เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจ (High Level Economic Dialogue: HLED) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเวทีที่ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ระหว่างกัน โดยกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับไทย เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการพัฒนาคุณภาพยางพารา เป็นต้น

ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในสหภาพยุโรป มีความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระดับสูงที่ทันสมัย มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีศักยภาพทางการค้าการลงทุนสำหรับไทย โดยไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องกันมายาวนาน มีการค้าระหว่างกันอยู่ในระดับดีมาโดยตลอด ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 25 ของไทย และเป็นอันดับที่ 4 ของสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร และ เนเธอร์แลนด์)

ในปี 2557 การค้ารวมมีมูลค่า 4,078 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปยังฝรั่งเศสมีมูลค่า 1,645.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เลนส์ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เครื่องจักรและส่วนประกอบ ชิ้นส่วนยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ข้าว ไทยนำเข้าจากฝรั่งเศสมีมูลค่า 2,432.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ อาทิ เครื่องบิน เครื่องร่อนและชิ้นส่วน ผักและผลิตภัณฑ์จากผัก เคมีภัณฑ์ สบู่และเครื่องสำอาง เครื่องจักรและชิ้นส่วน ยาและเภสัชภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องดื่ม เครื่องจักรไฟฟ้าและชิ้นส่วน ทั้งนี้ ฝรั่งเศสลงทุนในไทยมากเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

จาก  http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

แห่ยื่นตั้ง-ขยายโรงงานน้ำตาล46แห่ง "อรรชกา"สั่งหามาตรการช่วยราคาอ้อย 

"สอน." เผยล่าสุดมีคำขอยื่นตั้งโรงงานน้ำตาลทรายใหม่ 30 แห่ง และขยายกำลังการผลิต 16 แห่ง คาดเม็ดเงินลงทุนกว่า 2.6 แสนล้านบาท วางกรอบพิจารณาภายใน 45 วัน หากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดพร้อมไฟเขียวทันที "อรรชกา" สั่ง อนท. เร่งหามาตรการช่วยเหลือราคาอ้อยตกต่ำย้ำพยายามพึ่งพิงรัฐให้น้อยสุด

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สอน. ออกประกาศเงื่อนไขการขอตั้งหรือย้ายหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ายื่นขอคำอนุญาตตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.-3 ต.ค. 2558 มีเอกชนทยอยเข้ายื่นคำขอตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่แล้ว 30 แห่ง และขอขยายกำลังการผลิตอีก 16 แห่งโดยคำขอทั้งหมดคิดเป็นเงินลงทุนสูงถึง 2.66 แสนล้านบาท

          "โรงงานแต่ละแห่งที่มายื่น ก็จะต่างวันกันไป แต่หลักการ สอน. จะใช้เวลาพิจารณาคำขอรายละไม่เกิน 45 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้การอนุญาตต่างๆ มีกรอบเวลาชัดเจน โดยการพิจารณาต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดไว้ เราจึงตอบไม่ได้ว่าทุกรายจะผ่านหมดหรือไม่"นายสมศักดิ์กล่าว

          สำหรับเงื่อนไขสำคัญของการพิจารณาอนุมัติคำขอประกอบด้วย 1.จะต้องมีระยะห่างของโรงานที่มีอยู่ประมาณ ไม่เกิน 50 กิโลเมตร (กม.) 2.จะต้องมีแผนจัดหาอ้อยป้อนโรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตอ้อยของโรงงานนั้นๆ ที่คิดการผลิตไม่เกิน 120 วัน 3.มีแผนทางการเงินในการส่งเสริมการปลูกอ้อยที่ชัดเจน และ 4.ต้องมีแผนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

          นายสมศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2558/59 ว่า ขณะนี้ยังคงรอการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เพื่อที่จะนำมาคำนวณราคาโดยยอมรับว่าราคาอ้อยขั้นต้นมีแนวโน้มที่ไม่ดีนักเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำเฉลี่ยเพียง 12 เซ็นต์ต่อปอนด์เท่านั้น

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ อนท. ไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่มีแนวโน้มตกต่ำว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะจะมีมาตรการหรือทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากวิธีปกติเช่นที่ผ่านมา ที่ใช้วิธีการกู้เงินมาอุดหนุนราคาเพิ่มจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

          "ก็พยายามหาทางอื่นๆ อยู่ เพื่อที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้มากสุด หรือพยายามจะให้เป็นภาระกับรัฐบาลน้อยที่สุด แต่ก็ยอมรับว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำปีนี้ ทำให้มาตรการนอกเหนือจากการกู้ ธ.ก.ส. ก็ยังมีไม่มากนัก แต่ทาง อนท. และทุกฝ่ายก็พยายามจะหาหนทางใหม่ๆ อยู่" นางอรรชกากล่าว

          นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการบริหารและเลขานุการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ สมาคมฯ สนับสนุนนโยบายราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศที่มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกหน้าโรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แล้วนำรายได้ดังกล่าวเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เพื่อนำไปชำระหนี้คืนกับธ.ก.ส. จากการที่ กท. กู้เพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ที่ผ่านมา ส่วนนโยบายการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น อยู่ที่นโยบายรัฐจะพิจารณา สมาคมฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน

จาก  http://www.manager.co.th วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เอกชนลุ้นตั้งโรงงานน้ำตาล 30 แห่ง 

          นายสมศักดิ์ จันรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สอน.ออกประกาศเงื่อนไขการขอตั้งหรือย้าย หรือขยายโรงงานน้ำตาล ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ายื่นคำขออนุญาตตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.-3 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเอกชนทยอยเข้ายื่นคำขอทั้งหมดคิดเป็นเงินลงทุนสูงถึง 266,000 ล้านบาท

          "สอน.จะใช้เวลาพิจารณาคำขอรายละไม่เกิน 45 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้อนุญาตต่างๆ มีกรอบเวลาชัดเจน ซึ่งการพิจารณาต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดไว้ สอน.จึงตอบไม่ได้ว่าทุกรายจะผ่านการพิจารณาหมดหรือไม่"

          สำหรับเงื่อนไขสำคัญของการพิจารณาอนุมัติคำขอประกอบด้วย 1.ต้องมีระยะห่างของโรงงานที่มีอยู่ประมาณไม่เกิน 50 กม. 2.ต้องมีแผนจัดหาอ้อยป้อนโรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิตอ้อยของโรงงานนั้นๆ ที่คิดการผลิตไม่เกิน 120 วัน 3.มีแผนทางการเงินในการส่งเสริมการปลูกอ้อยที่ชัดเจน 4.ต้องมีแผนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ทั้งนี้ ความคืบหน้าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2558/59 ล่าสุด ขณะนี้ยังคงรอการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) ของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เพื่อที่จะนำมาคำนวณราคา โดยราคาอ้อยขั้นต้นมีแนวโน้มที่ไม่ดีนักเนื่องจากราคาน้ำตาลทรายโลกตกต่ำลง

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้สั่งการให้ อนท.ไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่มีแนวโน้มตกต่ำโดยเฉพาะจะมีมาตรการหรือทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากวิธีปกติ พร้อมยืนยันว่าได้พยายามหาทางอื่นๆอยู่เพื่อที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด หรือพยายามจะให้เป็นภาระกับรัฐบาลน้อยที่สุด

จาก  http://www.thairath.co.th  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

รายงานพิเศษ : วังขนายผลักดัน‘อ้อยอินทรีย์’ ดีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำตาล

ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งออกกำลังกาย รวมทั้งอาหารการกิน โดยเลือกกินอาหารที่ปลอดภัย ปลอดสารพิษมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวของผู้บริโภค กลุ่มวังขนาย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลออร์แกนิครายเดียวในประเทศไทย จึงเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ เพื่อผลิตน้ำตาลออร์แกนิค หวังให้ประชาชนได้บริโภคอาหารปลอดภัยและมีสุขภาพร่างกายที่ดี

ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย กล่าวว่า กลุ่มวังขนายได้ประกาศนโยบายการผลิตอ้อยอินทรีย์และน้ำตาลออร์แกนิค เมื่อปี พ.ศ.2547 และเริ่มดำเนินการส่งเสริมและให้การสนับสนุนเกษตรกรปลูกอ้อยในระบบเกษตรอินทรีย์เมื่อปี พ.ศ. 2549 จนสามารถผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เมื่อปี 2554 ได้รับการรับรองมาตรฐานของตลาดร่วมกลุ่มประเทศยุโรป (EEC 483/2007) มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา ( USDA-NOP) และมาตรฐานประเทศญี่ปุ่น (Japan Agriculture Standard; JAS ) การดำเนินโครงการอ้อยอินทรีย์เริ่มปี 2549 โดยส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อย หันมาทำการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ (IFOAM: International Federation of Organic Agriculture Movement)และจัดตั้งระบบควบคุมภายใน (Internal Control System : ICS) เพื่อติดตามตรวจรับรองแปลงแปลงอ้อยอินทรีย์ให้การฝึกอบรมนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมอ้อย ให้มีความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ระบบและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่อจากนั้นรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ฝึกอบรมให้ความรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพใช้เอง โดยกลุ่มวังขนายได้รับการสนับสนุนในการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรหลังจากนั้นได้ทำการคัดเลือกแปลงเกษตรกรตามหลักการของเกษตรอินทรีย์ เก็บตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์เพื่อการปรับปรุงดินก่อนปลูกอ้อย

“ปัจจุบัน มีเกษตรกรปลูกอ้อยอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองจำนวนกว่า 800 ราย คิดเป็นพื้นที่จำนวน 30,000 ไร่ ผลิตน้ำตาลออร์แกนิคได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ตัน และเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น กลุ่มวังขนายรณรงค์ ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอินทรีย์มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี จะเพิ่มปริมาณอ้อยอินทรีย์ให้ได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณอ้อยทั้งหมดของกลุ่มวังขนาย เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิคส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และจีน อีกทั้งยังมีนโยบายกำหนดราคาน้ำตาลออร์แกนิคให้มีราคา

 ใกล้เคียงกับน้ำตาลปกติที่จำหน่ายทั่วไป เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้บริโภคอาหารปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่ดี” ดร.ณรงค์ กล่าว

คุณเพียว จันทร์เพ็ง ชาวไร่อ้อย จังหวัดลพบุรี ที่หันมาปลูกอ้อยอินทรีย์แบบจริงจัง เพราะเห็นถึงราคาที่ได้เพิ่มขึ้นและยังมีของแถมเป็นเรื่องสุขภาพที่ดีขึ้นตามมาอีกด้วย ได้กล่าวว่า ครอบครัวเรามีพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 180 ไร่ โดยเมื่อก่อนปลูกอ้อยทั่วไปแบบใช้สารเคมีมาตลอดระยะเวลา 14 ปี รู้สึกว่าปีปีหนึ่ง ใช้เงินลงทุนกว่า 2-3 แสนบาท ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก และสภาพของดินในแปลงก็ไม่ดี ดินแข็ง สุขภาพของตัวเองก็ไม่ค่อยดี พอดีมีเจ้าหน้าที่จากโครงการอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวังขนายมาแนะนำให้รู้จักการทำเกษตรอินทรีย์ จึงลองมาเข้าร่วมโครงการในปี 2553 โดยปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK11 ในแปลงอ้อยที่ผ่านการรับรองอินทรีย์แล้ว จำนวน 7 ไร่ ซึ่งเมื่อมาเปรียบเทียบกันในแต่ละปี ภายใน 2 ปี ที่ทำมา ปีแรกเก็บเกี่ยวได้ 12 ตัน/ไร่ และปีที่ 2 ได้ 14ตัน/ไร่ ค่าความหวาน (ซีซีเอส)เพิ่มขึ้นรู้ได้เลยว่าต้นทุนลดลง แต่ได้ผลผลิตเฉลี่ยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใส่ปุ๋ย จากปุ๋ยเคมีที่เคยใช้1 กระสอบ/ไร่ ในราคา 700 บาท ก็เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากโรงงาน 1 กระสอบ ราคาเพียง 200 บาท ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าถูกกว่าเดิมมาก ในด้านสุขภาพก็ดีขึ้น วัดง่ายๆ อย่างเวลาเดินเข้าแปลงสามารถเดินเท้าเปล่าได้ สบายใจ ไม่มีสารเคมีตกค้าง ดินมีความสมบูรณ์ดี ดินฟูมากขึ้นมีไส้เดือน กิ้งกือมากขึ้น ส่งผลให้ไว้ตอมากกว่า ซึ่งในปีนี้กำลังจะทำเพิ่มอีก 32 ไร่ โดยกำลังอยู่ในช่วงรอปรับเปลี่ยน และยังอยากแนะนำให้เพื่อนบ้านทำตาม เพราะนอกจากจะได้เงินเพิ่มจากราคาอ้อยที่เป็นอินทรีย์แล้วสุขภาพของเราก็ดีตามไปด้วย

ด้าน คุณเถลิงศักดิ์ ชูเมือง เกษตรกรรุ่นใหม่ บ้านท่าหลวง จ.ลพบุรี ที่ปลูกอ้อยอินทรีย์บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ แนะอีกวิธีเพิ่มแร่ธาตุให้กับดิน โดยการปลูกถั่วเขียวในแปลงอ้อยอินทรีย์ที่ได้ผลดี และลดต้นทุน กล่าวว่า“เมื่อก่อนทำไร่ตามพ่อแบบเด็กๆ ไม่ค่อยใส่ใจวิธีการ แต่ปัจจุบันได้มีโอกาสเข้าอบรมเรื่องการปลูกพืชบำรุงดินจากกลุ่มวังขนาย และได้วิธีการดีๆ ใหม่ๆ มาลองทำเสมอ อย่างล่าสุดได้ลองปลูกถั่วเขียวลงในแปลงอ้อย เพื่อช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยให้ดิน โปร่ง ฟู กักเก็บน้ำได้ดี เพราะถั่วจะมีไนโตรเจน ทำให้อ้อยมีสีเขียวมากขึ้นและยังเป็นพืชคลุมดิน ที่ช่วยเก็บความชื้นของดินวัชพืชขึ้นน้อยผมใช้วิธีปลูกในร่องอ้อย รอให้เมล็ดดำ ถ้าหาคนเก็บได้ก็จะเก็บเมล็ดไปขาย หรือใช้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์แล้วใช้รถเข้าไปไถกลบหน้าดินเบาๆ

 เพื่อให้เมล็ดได้เกิดใหม่เป็นอีกรุ่นต่อไป ซึ่งทั้งหมดเป็นการลดต้นทุนทั้งเรื่องแรงงานคน และค่าปุ๋ย ค่ายา ผมว่ามันดีจริงๆ

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

12 ชาติบรรลุทีพีพีไม่กระทบส่งออก

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออกหลังจากที่ 12 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ว่า ไม่เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในทันทีและรุนแรง เพราะร่างข้อตกลงขั้นสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่ทราบว่าความตกลงการเปิดตลาดขั้นสุดท้ายเป็นอย่างไร และเปิดมากน้อยแค่ไหน แต่ที่การส่งออกของไทยชะลอตัวในขณะนี้ มีผลกระทบมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กำลังแผนผลักดันการส่งออกทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ในระยะสั้น จะเร่งหารือกับภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหาร เพื่อประเมินแผนผลักดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรคสำคัญๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ จะใช้ผลการหารือที่ได้ดำเนินมาก่อนหน้านี้ ในสมัย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นรมว.พาณิชย์ มาปรับให้เหมาะสม

นายสุวิทย์กล่าวว่า สำหรับแผนระยะยาว จะใช้โอกาสที่เศรษฐกิจโลกซบเซามาเร่งผลักดันโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศของไทยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยกลไกที่สำคัญที่สุด คือ ภาคเอกชนต้องพร้อมปรับตัว เบื้องต้นได้ร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดทำแผนส่งเสริมเอกชนไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เน้นกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เพราะมีแต้มต่อที่สินค้าไทยเป็นที่นิยมในตลาดอยู่แล้ว โดยมีส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยเฉลี่ยมากกว่า 50% แต่หากไม่ดำเนินการอะไร ทิศทางส่วนแบ่งตลาดจะลดลงจากสินค้าของจีน อินเดียและเกาหลี ที่เริ่มเข้าไปทำตลาด

นอกจากนี้ ยังได้ปรับโครงการการทำงานของทูตพาณิชย์ให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก ที่จะมุ่งเน้นตลาดอาเซียน จีน อินเดีย โดยจะปรับเอาทูตพาณิชย์ที่มีความรู้ ความสามารถมาประจำการในตลาดเหล่านี้ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ และยังจะเพิ่มแรงจูงใจ โดยปรับให้ทูตพาณิชย์ในตลาดอาเซียนเป็นซี 9 ทั้งหมดด้วย ส่วนทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในตลาดอื่นๆ จะมีการประเมินผลการทำงาน ต้องมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทั้งด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ไปทำงานอื่นแทน

จาก  http://www.banmuang.co.th   วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

แห่ตั้งรง.น้ำตาล2.6แสนล้าน 

          เอกชนแห่ขอตั้ง โรงงานน้ำตาลใหม่เพียบ กว่า 2.66 แสนล้าน ลั่นพิจารณาเสร็จ 45 วัน

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สอน.ได้ประกาศเงื่อนไขการขอจัดตั้งหรือย้ายหรือขยายโรงงานน้ำตาล เพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ายื่นขอคำอนุญาตตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.-3 ต.ค. 2558 ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการยื่นคำขอจัดตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่แล้วมากถึง 30 โรงงาน และยื่นขอขยายกำลังการผลิตโรงงานน้ำตาลอีก 16 โรงงานรวมมูลค่าการลงทุนกว่า 2.66 แสนล้านบาท

          "หลังจากนี้ สอน.จะใช้เวลาพิจารณาคำขอรายละไม่เกิน 45 วัน/โรงงาน ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้การอนุญาตมีกรอบเวลาชัดเจน" นายสมศักดิ์ กล่าว

          อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ 1.ต้องมีระยะห่างจากโรงงานอ้อยและน้ำตาลที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร 2.ต้องมีแผนจัดหาอ้อยให้แก่โรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต 3.ผู้ยื่นคำขอจะต้องมีแผนทางการเงิน ในการส่งเสริมการปลูกอ้อยที่ชัดเจน 4.ต้องมีแผนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

          ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 20% ได้ยื่นขอตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ด้วยเงินลงทุน 6,000 ล้านบาท

          ขณะเดียวกัน มีการประเมินว่า ฤดูกาลปิดหีบอ้อยปี 2558/2559 จะมีปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบ 106 ล้านตันอ้อย และผลิตน้ำตาลทรายได้ 11 ล้านตัน ผลจากนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการปลูกอ้อยทดแทนในพื้นที่นาข้าวและพื้นที่อื่นๆ จะทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นถึง 180-200 ล้านตัน มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้น 8-10 ล้านตัน

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย ไปพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่มีแนวโน้มตกต่ำว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกเหนือจากวิธีการกู้เงินมาอุดหนุนราคาเพิ่มเติมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพราะขณะนี้ยังคงรอการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบส่งออก (โควตา ข.) เพื่อที่จะนำมาคำนวณราคา และยอมรับว่าราคาอ้อยขั้นต้นในปัจจุบันไม่ดีนัก เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำมาก

          ด้าน นายพรวุฒิ สารสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ขณะนี้แม้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี ราคาร่วงมาอยู่ที่ 15-16 บาท/กิโลกรัม แต่สมาคมยังคงสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วยการซื้อน้ำตาลทรายในราคาเดิม 19.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดไว้ตายตัว ส่วนการเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มเพิ่มจาก 22% เชื่อว่าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ขยายปฏิบัติการ‘ฝนหลวง’ l เกษตรฯสั่งยืดเวลาเติมน้ำในเขื่อนสกัดแล้ง

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญอันดับแรกของ กรมฝนหลวงฯ คือ การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2558/59 เนื่องด้วยปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่กรมชลประทานตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในวันที่ 1 พ.ย.2558 ถึงจะเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อผลักดันน้ำเค็มหรือรักษาระบบนิเวศ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด กรมฝนหลวงฯ จึงเร่งออกปฏิบัติการขึ้นบินทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ฝนตกบริเวณต้นน้ำของ 4 เขื่อนหลัก

นอกจากนี้ ยังมีการปรับแผนปฏิบัติการทำฝนหลวงตามนโยบายของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ขยายระยะเวลาออกปฏิบัติการทำฝนหลวงจากแผนเดิมที่ดำเนินการถึงวันที่ 15 ตุลาคม ให้ขยายไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม และอาจจะขยายการปฏิบัติการต่อเนื่องไปจนกว่าสภาพอากาศไม่เหมาะสม โดยกรมฝนหลวงฯ จะติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ตลอด 24 ชม. ถ้าพบว่าสภาพอากาศเหมาะสมที่จะขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงได้ก็จะเร่งดำเนินการ

 ทันที ซึ่งขณะนี้ได้รวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบแทนโดยรวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่น พร้อมที่จะปฏิบัติทำการฝนหลวงได้ทันทีที่สภาพอากาศเหมาะสมพร้อมกันนี้ได้เตรียมแผนขยายศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ และพิษณุโลกเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในอนาคต

“แม้ว่าการปฏิบัติการฝนหลวงจะสามารถเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลัก ได้ตามเป้าหมายของกรมชลประทาน แต่ปริมาณน้ำต้นทุนก็ไม่เพียงพอที่จะทำการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งรัฐบาลก็ได้ร้องขอให้ชาวนางดทำนาปรังหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เพื่อให้ผ่านวิกฤติภัยแล้งนี้ไปได้เกษตรกรก็จะได้ทำนาตามฤดูกาลไม่ต้องขยับหรือเลื่อนการปลูก โดยคาดว่าช่วงเดือนพ.ค.2559 ก็จะผ่านพ้นปรากฏการณ์เอลนิโญ่” นายเลอศักดิ์ กล่าว

จาก  http://www.naewna.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เอกชนแห่ยื่นขอตั้ง30โรงงานน้ำตาลลงทุน2.6แสนล้าน   

          เลขาฯ สอน. ระบุยอดขอตั้งโรงน้ำตาลใหม่ล่าสุด 30 โรง ขยาย 16 โรง มูลค่าลงทุนทะลุ 2.66 แสนล้านบาท คาดได้ข้อสรุป 18 พ.ย.นี้ ด้าน"อรรชกา"สั่งเร่งศึกษาแนวทางแก้ปัญหาราคาอ้อยหวังลดภาระรัฐบาล

          นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. จนถึง 3 ต.ค. มีผู้ประกอบการโรงน้ำตาลเข้ามาขอตั้งโรงน้ำตาลใหม่แล้วทั้งสิ้น 30 โรง และขอขยายโรงงานอีก 16 โรง

          โดย สอน. จะใช้เวลาพิจารณาอนุมัติได้ภายใน 45 วัน ซึ่งจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ 1.พื้นที่ตั้งโรงงานมีระยะห่างจากโรงน้ำตาลอื่นอย่างน้อย 50 กิโลเมตร 2. มีแผนส่งเสริมการปลูกอ้อยที่จะเข้าหีบ ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำลังการหีบอ้อย 3. มีแผนการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยหรือไม่ และ 4. มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ที่ถูกต้อง เป็นต้น

          "ในขณะนี้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโรงน้ำตาลประมาณ 7 พันล้านบาทต่อ 1แห่ง และมูลค่าการขยายโรงงานประมาณ 3.5 พันล้านต่อ 1 แห่ง ดังนั้นโรงน้ำตาลที่มาขอตั้งทั้งหมดนี้ จะมีมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.66 แสนล้านบาท โดยคาดว่าโรงงานที่ เข้ามาขอตั้งใหม่และขยายจนถึงขณะนี้ จะพิจารณาได้เสร็จภายในวันที่ 18 พ.ย.นี้" นายสมศักดิ์ กล่าว

          ส่วนความคืบหน้าราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2558/59 ขณะนี้ยังคงรอการจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบส่งออก(โควตาข.) ของบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) เพื่อที่จะนำมาคำนวณราคา โดยคาดว่าราคาอ้อยขั้นต้นมีแนวโน้มที่ไม่ดีนักเนื่องจาก ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำเฉลี่ยเพียง 12 เซนต์ต่อปอนด์เท่านั้น

          นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได มอบหมายให้อนท.ไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาอ้อยขั้นต้นที่มีแนวโน้มตกต่ำว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะ จะมีมาตรการหรือทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากวิธีปกติเช่นที่ผ่านมาที่ใช้วิธีการกู้เงิน มาอุดหนุนราคาเพิ่มจากธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)

          "กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามหาทาง อื่นๆ อยู่เพื่อที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้มากสุดหรือพยายามจะให้เป็นภาระกับรัฐบาลน้อยที่สุด แต่ก็ยอมรับว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกที่ตกต่ำปีนี้ทำให้มาตรการนอกเหนือจาก การกู้ธ.ก.ส.ก็ยังมีไม่มากนัก แต่ทางอนท. และทุกฝ่ายก็พยายามจะหาหนทางใหม่ๆ อยู่" นางอรรชกา กล่าว

          นายนันทิวัต ธรรมหทัย กรรมการบริหารและเลขานุการสมาคมอุตสาหกรรม เครื่องดื่มไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกตกต่ำ ทางสมาคมฯสนับสนุนนโยบายราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ ที่มีคงการเก็บเงินจากราคาขายปลีกหน้า โรงงาน 5 บาทต่อกิโลกรัม แล้วนำรายได้ดังกล่าว เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) เพื่อนำไปชำระหนี้คืนกับธ.ก.ส.จากการกู้เงินเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่ที่ผ่านมา

          ส่วนนโยบายการปรับโครงสร้าง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น อยู่ที่นโยบายรัฐจะพิจารณาทางสมาคมฯก็พร้อมที่จะสนับสนุน

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

สมาคมเครื่องดื่มยันซื้อน้ำตาลราคาเดิม

นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เข้าพบ รมว.อุตสาหกรรม ยัน ซื้อน้ำตาลทรายในราคาเดิม แม้ราคาตลาดโลกตกต่ำ

นายพรวุฒิ สารสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวภายหลังเข้าพบ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า แม้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกขณะนี้จะตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี อยู่ที่ประมาณ 15 - 16 บาทต่อกิโลกรัม แต่สมาคมยังคงให้การสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย ด้วยการซื้อน้ำตาลทรายในราคาเดิมที่ 19.5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดไว้ตายตัว พร้อมทั้งจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 5 บาทต่อกิโลกรัมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำตาลในประเทศ ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มเพิ่มเติม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่าภาคเอกชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย โดยปัจจุบันก็มีการจัดเก็บภาษีอยู่แล้วที่ร้อยละ 22

ทั้งนี้ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในช่วงที่เหลือของปี ยังมีภาวะการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจน้ำอัดลม แต่ละบริษัทต่างนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้กับกลุ่มผู้บริโภคและร้านค้า ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท แต่หากรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มทั้งระบบจะมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท

จาก www.innnews.co.th วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เงินบาทแข็งค่า หลังสหรัฐอาจเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ย

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2558 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (6/10) ที่ระดับ 36.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาค่อนข้างอ่อนแอ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาา (6/10) กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขดุลการค้าประจำเดือนสิงหาคม ซึ่งขาดดุลเพิ่มขึ้นถึง 15.6% ที่ระดับ 4.833 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 4.74 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 4.181 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้เมื่อคืนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า โดยปรับลดลง 0.2% จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ไอเอ็มเอฟมองว่าเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2016 ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟยังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะมีการเลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แทน ทำให้ช่วงระหว่างค่าเงินสกุลภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าเงินของไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.88-36.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 35.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 1.1262/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (6/10) ที่ระดับ 1.1207/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ระหว่างวันค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย หลังจากที่กระทรวงเศรษฐกิจของเยอรมนีรายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีปรับตัวลดลง 1.2% ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% โดยเดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งใหญ่สุดในรอบ 1 ปี โดยการที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจของเยอรมนีซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป อาจมีการชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในระหว่าง 1.1221-1.1283 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1234/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนวันนี้เปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 120.36/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (6/10) ที่ระดับ 120.32/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวปานกลาง แต่การส่งออกและการผลิตได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ บีโอเจมีมติให้คงนโยบายการเงินหลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันนี้ พร้อมทั้งยืนยันที่จะเพิ่มฐานเงินในอัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปี นายคุโรดะกล่าวว่า การส่งออกอาจจะทรงตัวในขณะนี้ แต่ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2016/2017 ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยบีโอเจจะตรวจสอบความเสี่ยงทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงต่อภาวะเศรษฐกิจ และจะปรับนโยบายการเงินตามความเหมาะสม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวระหว่าง 119.75-120.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 120.01/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องจับตาดูในคืนนี้ ได้แก่ ตัวเลขยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่น (7/10) และตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่น (7/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +3.80/4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +4.50/6.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

เผย4เขื่อนหลักน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ คาดแล้งกระทบ3แสนครัวเรือน

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธาน ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าที่ประชุมได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำจาก 4 เขื่อนหลักของพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา  โดย ณ วันที่ 4 ตุลาคม มีปริมาณน้ำ 9,826 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 3,130 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ครอบคลุม 22 จังหวัด คาดมีประชาชนจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งประมาณ 330,000 ครัวเรือน

 ล่าสุด มาตรการช่วยภัยแล้ง ได้กำหนดกรอบวงเงินกว่า 11,151 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากงบประมาณปี 2559 จำนวน 6,752 ล้านบาท และงบกลางสนับสนุน 4,071 ล้านบาท  เพื่อดำเนินงานตามแผนช่วยเหลือทั้งหมด 8 มาตร 45 โครงการ และเพื่อให้การดำเนินการ โครงการ เป็นไปตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง ที่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะปูพรมลงพื้นที่ เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด พร้อมกำหนดงบประมาณที่จะต้องเสนอของบกลางเพิ่ม โดยจะเริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม คาดใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 เดือน  เนื่องจากพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา กำลังจะเข้าสู่ช่วงแล้งก่อนพื้นที่อื่น ในขณะที่พื้นที่อื่นเข้าสู่ช่วงแล้ง ในช่วงเดือน ธันวาคม  จึงต้องเร่งสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้เร็วที่สุด  โดยจะมีผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดเป็นแม่งาน ในพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนการดำเนินการตามนโยบายของทางกระทรวงเกษตรนั้นตนได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยงาน เร่งจัดทำแผนรายงานความคืบหน้าให้เป็นไปตามแผนที่ละลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้ได้ โดยต้องมีการรายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะ  เรื่องยางพารา ที่จะต้องเร่งผลักดันให้มีการเดินหน้า ในการแก้ปัญหาใกับเกษตรกรในอานคต เนื่องจากมีพระราชบัญญัติการยาง ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยต้องเร่งร่างระเบียบให้เป็นไปตาม พรบ.ยางให้เสร็จภายใน 120 วัน ให้ได้ขณะเดียวกันในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องเร่งจัดการให้ 882 ศูนย์ เรียนรู้ที่มีอยู่ ให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรให้ได้ทั้งหมด ภายใน ปี 2559

พลเอกฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณสูงสุด 3,969 ล้านบาท/กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 3,463 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง 1,800 ล้านบาท  โดยงบส่วนใหญ่ที่ที่กรมชลประทาน ในเรื่อของการก่อสร้าง ซึ่ง ตนได้กำชับให้ทำงานอย่างโปร่งใส โดยจะต้องไม่มีการทุจริตเด็ดขาด ขณะที่กรมอื่นๆ จะต้องเร่งรัดในการ ทำตาม กรอบการทำงานของตนเองให้เป็นไปตาม ภาระหน้าที่ ไม่ใช่เน้นประชาสัมพันธ์ เหมือนที่ผ่านมา

“จากนี้ไปผมลงพื้นที่ต้องไม่ให้ชาวบ้านไปรอเป็นวันๆ ผมไม่ชอบ ทุกอย่างต้องทำงานไปไม่ใช่รอให้ผมไปตรวจ ถึงทำงาน ต้องทำงานของตน ต้องไม่เน้นงานอีเว่น เวลาผมลงพื้นที่ผมก็จะไปของผมเอง ไม่ต้องการให้พาชาวบ้านมา คอย หน้าที่ใครมีอะไรก็ ทำไป เสียเวลางาน "รมว. เกษตรกล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

คอลัมน์ ทันสถานการณ์: คุมโรงงานใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ 

           พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยกำหนดให้การตั้งโรงงานผลิตพลาสติก และโรงงานกรดในพื้นที่และมีการใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ จะต้องมีพื้นที่การตั้งโรงงานที่ห่างกันประมาณ 50 กิโลเมตร หากระยะใกล้กว่านี้ต้องใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบไม่เกินกำลังการผลิต 300 ตัน/วัน เช่นเดียวกับการตั้งโรงงานน้ำตาล เพื่อให้มีการจัดสรรไร่อ้อยให้เหมาะสมกับการผลิตน้ำตาล

          นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าผู้ที่จะขอตั้งโรงงานต้องมีหลักฐานการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย โดยคำขอตั้งโรงงานที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้บังคับ

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ส.ไร่อ้อยเรียกร้องภาครัฐแก้ราคาน้ำตาลทรายตกต่ำ 

          ที่หอประชุมสมาคมชาวไร่อ้อยน้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 โดยมีนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมาเป็นประธานในพิธี มีนายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง พร้อมคณะผู้บริหารและสมาชิกชาวไร่อ้อย กว่า 1,500 คน เข้าร่วม

          นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง กล่าวว่า สมาคมก่อตั้งมา 33 ปี มีสมาชิกประมาณ 6,000 ครัวเรือน อยู่ใน 6 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุดรธานี  มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีปัญหาที่ต้องขบคิดเนื่องจากประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับการเปิดเออีซี ในปลายปีนี้ ตลอดจนราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลงโดยลำดับ จึงกังวลว่าราคาอ้อยของชาวไร่ที่จะได้รับในฤดูใหม่นี้ จะไม่คุ้มกับต้นทุน จึงจำเป็นที่จะขอความอนุเคราะห์จากทางภาครัฐ หาแหล่งเงินมาช่วยเหลือส่วนที่ขาดไปให้กับชาวไร่อ้อย เพื่อความอยู่รอดของชาวไร่อ้อย และอุตสาหกรรมโดยรวม จึงขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเอาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย สะท้อนไปถึงภาครัฐเพื่อหาแนวทางการแก้ไข เพราะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท จึงอยากให้ภาครัฐเร่งดำเนินการหาทางแก้ไขเร่งด่วนต่อไป

          ด้านนายอาทิตย์กล่าวว่า ทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และภาครัฐจะไม่ทอดทิ้งชาวไร่อ้อยอย่างแน่นอน และอยากขอความร่วมมือกับชาวไร่อ้อยในเรื่องของการเผาอ้อยก่อนนำเข้าโรงงาน เพราะนอกจากจะทำลายสภาพแวดล้อมโดยรวมแล้ว ยังทำให้ค่าน้ำตาลในอ้อยต่ำลงคุณภาพของน้ำตาลก็ยังไม่ได้อีก ส่งผลกับเกษตรกรโดยตรง คือ ราคาที่ต่ำลงไปจากเดิมมาก ส่วนราคาน้ำตาลทรายนั้นยังไม่คงที่ แต่อยากให้ประชาชน เกษตรกรมั่นใจว่าระบบอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบทางการเกษตรที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดีได้หาวิธีรองรับปัญหาเบื้องต้นให้เกษตรกรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหาเงินสำหรับชดเชยให้กับเกษตรกรเบื้องต้น หากราคาน้ำตาลตกต่ำ

จาก http://www.matichon.co.th  ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

กลุ่มไร่อ้อยจี้ภาครัฐแก้ราคาน้ำตาลตลาดโลก 

          เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 โดย นายชัยวัฒน์ คำแก่นคูณ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง กล่าวว่า สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยน้ำพอง จ.ขอนแก่น มีสมาชิกประมาณ 6,000 ครัวเรือน อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด คือ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.มหาสารคาม จ.กาฬ สินธุ์ จ.ชัยภูมิ และ จ.หนองบัวลำภู การประชุมใหญ่จะจัดทุกปี เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ลดสิ่งปนเปื้อนในการส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานน้ำตาล เพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น

          นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีปัญหาที่ต้องขบคิดเนื่องจากประเทศไทย ต้องเตรียมรับมือกับการ เปิด AEC ในปลายปี 2558 และการเปลี่ยน แปลงจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยการนำเอาผลพลอยได้ต่าง ๆ เข้าสู่ระบบของการแบ่งปัน ตลอดจนราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลงโดยลำดับ จึงเป็นกังวลว่าราคาอ้อยของชาวไร่ที่จะได้รับในฤดูใหม่นี้ จะไม่คุ้มกับต้นทุน จึงจำเป็นที่จะขอความอนุเคราะห์จากทางภาครัฐ หาแหล่งเงินมาช่วยเหลือส่วนที่ขาดไปให้กับชาวไร่อ้อย เพื่อความอยู่รอดของชาวไร่อ้อย และอุตสาหกรรมโดยรวมจึงได้ร้องเรียนผ่านทางนายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาห กรรม ได้นำเอาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย สะท้อนไปถึงภาครัฐเพื่อหาแนวทางการแก้ไข ขณะเดียวกัน ทางสมาคมฯ ในฐานะที่เป็นตัวแทนของชาวไร่ ก็พยายามหาแนวทางในการแก้ไข ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก สร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่าแสนล้านบาท จึงอยากให้ภาครัฐหาทางแก้ไขเร่งด่วนต่อไป

          ด้าน นายอาทิตย์ ปลัดกระทรวงอุตสาห กรรม ได้กล่าวให้ความเชื่อมั่นแก่กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยว่า ทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อย และภาครัฐจะไม่ทอดทิ้งชาวไร่อ้อยอย่างแน่นอน และอยากขอความร่วมมือกับชาวไร่อ้อยในเรื่องของการเผาอ้อยก่อนนำเข้าโรงงาน เพราะนอกจากจะทำลายสภาพแวดล้อมโดยรวมแล้ว ยังทำให้ค่าน้ำตาลในอ้อยต่ำลง คุณภาพของน้ำตาลก็ยังไม่ได้อีก นั่นก็ส่งผลกับเกษตรกรโดยตรง คือ ราคาที่ต่ำลงไปจากเดิมมาก ส่วนราคาน้ำตาลทรายนั้นยังไม่คงที่แต่อยากให้ประชาชน เกษตรกรมั่นใจว่าระบบอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นระบบทางการเกษตรที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี ทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้หาวิธีรองรับปัญหาเบื้องต้นให้เกษตรกรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหาเงิน สำหรับชดเชยให้กับเกษตรกรเบื้องต้น หากราคาน้ำตาลตกต่ำ

          "ต้องขอความร่วมมือกับชาวไร่อ้อย เกี่ยวกับการจ้างแรงงานเด็กในการตัดอ้อย ซึ่งหลายประเทศกำลังรณรงค์เลิกใช้แรงงานเด็ก จึงใคร่ขอความร่วมมือกับชาวไร่ด้วย และอยากให้พี่น้องชาวไร่อ้อยที่ทำการปลูกอ้อย ไปจดทะเบียนชาวไร่อ้อย เพื่อประโยชน์ของชาวไร่อ้อยเอง หากว่าปีใดมีผลกระทบในระบบการผลิต เกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียนก็จะสามารถให้การช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็น ราคาอ้อยตกต่ำ หรือผลกระทบทางการผลิตอื่น ๆ ด้วย" ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว.

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558 

ส่งออกทรุดหนักเกินคาดส่วนมาตรการรัฐไม่ส่งผล-ปีหน้าต้องลุ้น‘ภัยแล้ง-การเมือง’ ศก.ไทยเข้าสู่ภาวะชะงักงัน

เศรษฐกิจไทยปี’58 สิ้นหวัง ส่งออกทรุดหนักเกินคาด รายได้ประชาชนภาคเกษตรหดตัว ไตรมาสสุดท้ายจีดีพีหดตัวลงอีก ส่วนปีหน้ายังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงรอรุมกระหน่ำ ทั้งตลาดเงินผันผวน ภัยแล้ง และประเด็นทางการเมือง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังไม่โต้ตัวเลขเศรษฐกิจของทุกหน่วยงาน เพราะแต่ละแห่งก็มีข้อมูลและสมมุติฐานของตัวเอง คลังก็มีข้อมูลและมาตรการที่เตรียมไว้เสนอรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้เศรษฐกิจชะลอ ซึ่งคาดว่าปีนี้จะโต 3% ตามที่ สศค. คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการต้องดูไม่ให้มีปัญหาวินัยการเงินการคลัง

นายสมชัยกล่าวอีกว่า การทำงบประมาณปี 2559 มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2559 จะขยายตัวมากกว่านี้ แต่หากเศรษฐกิจขยายตัวได้น้อยตามที่ธนาคารโลกคาดการณ์ก็จะส่งผลกระทบตามมา เช่น การเก็บรายได้รัฐบาลไม่ได้ตามเป้า ทำให้ต้องเร่งดูมาตรการเพิ่มเติมว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ได้เสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ให้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ที่การพิจารณาของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หากเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ก็สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ได้ทันที แต่หากต้องการเพิ่มเติมทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค. )ก็พร้อมจะพิจารณา นอกจากนี้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังอยู่ระหว่างการพิจาณามาตรการภาคอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ชะลอตัว

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการ อาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “Whatsupp Aseanomic” ว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% โดยจะรอดูตัวเลข เศรษฐกิจจริงไตรมาส 3 ซึ่งจะประกาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนก่อนว่ามีทิศทางชะลอตัวลงมากหรือไม่ แต่ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ถือว่าเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยจีดีพีไตรมาสต่อไตรมาสโตต่ำกว่า 1% ซึ่งมาตรการรัฐที่ออกมา ช่วงนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้บ้างเป็นการประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลง แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจจริงในช่วงเดือนธันวาคมถึงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นชัดเจนปีหน้าและจีดีพีปี 2559 ขยายตัวได้ 3.3%

นายอมรเทพกล่าวว่า ภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอทั้งจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญจน 8 เดือนแรก ของปี ติดลบไปแล้ว 1.8% และทั้งปีน่าจะติดลบ 5-6% ดังนั้น ผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวด้วยการปรับปรุงคุณภาพสินค้าไม่มุ่งแข่งขันด้านราคา และหาตลาดใหม่ที่ยังมีการขยายตัวได้ดี

ส่วนค่าเงินบาทปีนี้ น่าจะอ่อนค่าสูงสุดที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปีหน้ายังอ่อนค่าลงไปแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจมากกว่า เพราะสหรัฐน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จีดีพีของไทยในช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่าจะเติบโต 2.4% ลดลงจากไตรมาส 3/58 ที่เติบโต 2.8% เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากภาคการส่งออกของไทยที่ยังติดลบต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย อย่างเช่น จีน ที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบทุกอย่างไปแล้วยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาได้ จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากต้องพึ่งพาจีนและมีการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนค่อนข้างสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มตกต่ำลง อีกทั้งค่าเงินที่แม้ว่าจะอ่อนค่าแต่ประเทศคู่ค้าได้มีการต่อรองเพื่อลดราคาสินค้า ทำให้กดดันการส่งออกเข้าไปอีก จึงประเมินว่าการส่งออกไทยในปี’58 ติดลบ 5% จากเดิมที่คาดว่าติดลบ 1.7%

“นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงแล้ว ราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องมายังไตรมาส 4 นี้ ซึ่งมาจากซัพพลายของน้ำมันดิบที่จะเข้ามามากขึ้น หากอิหร่านพ้นจากการถูก Sanction ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงมันไปกระทบราคายางพารา ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี และจีนเองที่เศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าจะใช้มาตรการเกือบทุกรูปแบบแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ดีมานด์ของจีนลดลงและมีผลราคาสินค้าที่ลดลงด้วย” ดร.พิมลวรรณ กล่าว

ด้านปัจจัยเสี่ยงไตรมาสสุดท้ายส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดการเงินจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยคาดการณ์เงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2559 อยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยในประเทศ คือ ปัญหาภัยแล้งและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญยังมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2559

สำหรับมองกรอบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP) ในปี’59 จะขยายตัว 2.5-3.5% โดยให้ค่ากลางอยู่ที่ 3% จากปีนี้ที่ประเมินว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.8% ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาทิ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการสนับสนุนทางภาษีให้กับภาคเอกชน (BOI) การให้เงินสนับสนุนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมู่บ้าน และการลงทุนอื่นๆ ของทางภาครัฐ โดยมาตรการข้างต้นจะต้องรอประกาศออกมาอย่างเป็นรูปธรรมก่อน และคาดว่าจะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ถึงปีหน้า และทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมีการประเมินกรอบการ

 ขยายตัวของจีดีพีที่แน่นอนอีกครั้ง

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เหลือ 2.5-3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3-3.5% และคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะหดตัวถึง 5% สำหรับปัจจัยที่ต้องปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจนั้น มาจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่หดตัวลงถึง 6.7% จากความต้องการกลุ่มประเทศ G3 และอาเซียนที่ชะลอตัว ขณะที่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมขยายตัวต่ำลง 24.7% เมื่อเทียบกับการขยายตัว 39.4% ในเดือนก่อนหน้านี้

“ในช่วงที่เหลือของปี กกร.ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนไตรมาสสุดท้ายของรัฐบาล วงเงินรวม 136,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภคของผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้านและกระตุ้นการลงทุนในระดับชุมชน”

นอกจากนี้ กกร.เตรียมเสนอรัฐบาลให้กำหนดโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนรายจังหวัด เพื่อให้สามารถสานต่อแนวนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและใช้งบประมาณได้ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลเตรียมจัดตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศ ทั้งไทย-สหภาพยุโรป (อียู), ไทย-อิหร่าน หรือแม้แต่ไทย-ตุรกี หลังภาคเอกชนเริ่มมีความกังวลในเรื่องนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'ในหลวง'ทรงห่วง รับสั่งแก้ภัยแล้ง 4เขื่อนใหญ่วิกฤติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งให้เตรียมแหล่งน้ำแก้มลิง ในโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผจญภัยแล้ง ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เผยอิทธิพลของพายุ “มูจีแก” ทำให้ฝนตกหลายแห่งแต่น้ำไม่ลง 4 เขื่อนหลัก ปริมาณน้ำมีแค่ 3,182 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ต้องใช้น้ำต้นทุนถึง 8-9 พันล้าน ลบ.ม. รอปาฏิหาริย์เท่านั้น เพราะอีก 27 วันหมดฤดูฝนแล้ว ชี้สาเหตุเกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด

พระมหากรุณาธิคุณในหลวงทรงห่วงพสกนิกรประสบภัยแล้ง มีรับสั่งเตรียมแหล่งน้ำแก้ภัยแล้งเปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กทม. นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานมอบรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เตรียมแหล่งน้ำและแก้มลิงในโครงการพระราชดำริทั่วประเทศรวมทั้งโครงการที่มูลนิธิอุทุกพัฒน์ฯ ร่วมกับกองทัพบก ในโครงการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งและการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงสิ้นฤดูฝนซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน เพราะขณะนี้ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าประเทศไทยจะประสบกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง เนื่องจากขาดน้ำ แม้จะมีฝนตกจากอิทธิพลของพายุ “มูจีแก” ที่ทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่ได้ส่งผลต่อการกักเก็บน้ำในเขื่อนหลักเพราะฝนไม่ตกในหรือเหนือเขื่อน

นายสุเมธกล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 2-5 ต.ค.ที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จำนวนไม่มาก แต่ทั้ง 4 เขื่อนสามารถใช้น้ำได้น้อยมาก โดยเขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้การได้เพียง 7% คือ 957 ล้าน ลบ.ม.จากปริมาณน้ำ 4,757 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การได้เพียง 17% คือ 1,663 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำ 4,513 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ มีน้ำใช้การได้เพียง 30% คือ 280 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำ 323 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักฯมีน้ำใช้การได้เพียง 29% คือ 282 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณน้ำ 285 ล้าน ลบ.ม.

ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯกล่าวอีกว่า ที่สำคัญ เมื่อเทียบปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักกับปี 2557 พบว่าปริมาณน้ำปีนี้น้อยมาก คือมีแค่ 3,182 ล้าน ลบ.ม. ส่วนปี 2557 มีน้ำถึง 5,968 ล้าน ลบ.ม. ต่างกันถึง 2,786 ล้าน ลบ.ม. โดยปี 2557 เขื่อนภูมิพลมีน้ำ 5,621 ล้าน ลบ.ม. ปี 2558 มีน้ำ 4,757 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2557 มีน้ำ 5,600 ล้าน ลบ.ม. ปี 2558 มีน้ำ 4,513 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยฯ ปี 2557 มีน้ำ 711 ล้าน ลบ.ม. ปี 2558 มีน้ำ 323 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ ปี 2557 มีน้ำ 748 ล้าน ลบ.ม. ปี 2558 มีน้ำ 285 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ฤดูฝนเหลือเพียง 27 วัน จะเอาน้ำมาจากไหน คงต้องรอปาฏิหาริย์อย่างเดียว ภาคเหนือฝนใกล้หมดและเริ่มหนาวแล้วเช่นเดียวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง

“ถ้าโชคดีมีพายุเข้าน้ำก็จะได้แค่เขื่อนอุบลรัตน์กับเขื่อนป่าสักฯ ดังนั้น ปริมาณน้ำจาก 4 เขื่อนหลักที่มีแค่ 3,182 ล้าน ลบ.ม. เดือดร้อนแน่ เพราะขนาดปี 2557 มีปริมาณน้ำเกือบ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ยังเกิดปัญหาขาดน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาและภัยแล้งในจังหวัดภาคกลางที่ชัดเจนคือการแย่งน้ำที่ จ.ปทุมธานีและสระบุรี จนต้องเปิดสระเก็บน้ำพระราม 9 โครงการพระราชดำริของมูลนิธิชัยพัฒนากับโครงการแก้มลิงทะเลสาบบ้านหมอ ต.สร่างโศก อ.บ้านหมอ จ.สระบุรีเพื่อช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงห่วงปัญหา

ภัยแล้ง โดยทรงให้เตรียมแหล่งน้ำและแก้มลิงในโครงการพระราชดำริไว้รองรับ ความเดือดร้อนของประชาชน” นายสุเมธกล่าว

เมื่อถามว่าปัญหาภัยแล้งเกิดจากสาเหตุใด นายสุเมธกล่าวว่า เกิดจากการบริหารจัดการผิดพลาด ที่ผ่านมาทุกปีหลังฤดูฝน ประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำต้นทุนไม่ต่ำกว่า 8-9 พันล้าน ลบ.ม. หรือบางปีมีถึง 1.2 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา น้ำต้นทุนมีน้อยมากเพราะมีการระบายน้ำเกินแผนซึ่งไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องระบายเกินแผน ขณะที่คู คลอง หนอง บึง ตื้นเขินไม่ได้รับการดูแลให้เป็นที่กักเก็บน้ำไว้ใช้ ดังนั้น จากนี้เป็นต้นไปขอให้ประชาชนเตรียมแหล่งน้ำของตนเองเพื่อไว้ใช้ในยามที่จำเป็น

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้งร่วมกับ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมได้หารือมาตรการที่จะให้เกษตรกรทั่วประเทศสามารถทำการเกษตรได้ภายใต้ภาวะน้ำน้อยซึ่งเราจะต้องให้ผ่านในช่วง เม.ย. 2559 นี้ไปให้ได้ โดยจะต้องไม่กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคและพืชสวน ทั้งนี้ในข้อสรุปของทุกฝ่ายที่เสนอคือให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ทหารและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงไปสำรวจพื้นที่โดยอาศัยข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องว่าสามารถทำอะไรได้บ้างหรือพื้นที่ที่มีน้ำยังเพาะปลูกได้หรือไม่

“ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะนำแผนการลงพื้นที่สำรวจเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หาก ครม.อนุมัติแล้วจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นกระทรวงเกษตรฯ จะนำแผนงานโครงการที่ได้สำรวจมาแล้วไปเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อที่จะสามารถทำแผนงานไปปฏิบัติในเดือน พ.ย. ต่อไป เมื่อถามว่าฝนที่ตกใต้เขื่อนมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ถือว่าเราเสียโอกาสไปซึ่งในการสำรวจเราจะดูข้อมูลน้ำจากที่เป็นจริง อย่างไรตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำยืนยันว่าจะเพาะปลูกนาปรังรอบสองไม่ได้อย่างแน่นอน” รมว.มหาดไทย กล่าว

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เขื่อนสิริกิติ์น้ำน้อยสุดรอบ 39 ปี ปรับลดระบาย ให้พอใช้หน้าแล้ง

เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ จ่อลดการระบายน้ำ หลังระดับน้ำต่ำสุดในรอบ 39 ปี พร้อมของดทำนาปรัง ด้าน ชลประทานจังหวัดน่าน เผย น้ำในอ่างหลายแห่งมีปริมาณลดลงมาก คาดแล้งกว่าปีที่แล้ว 20%

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 ต.ค. 58 นายสุเทพ เลิศศรีมงคล ผอ.เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุด ปริมาณอยู่ที่ 4,535.73 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 47.69% โดยปริมาณน้ำที่สามารถพร้อมใช้งานเพียง 1,685.73 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 25.31% น้ำไหลเข้าอ่างเก็บ 22.71 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าปลายเดือน ต.ค. ปริมาณฝนจะน้อยลงหรืออาจไม่ตกเลย เพราะจะเข้าสู่ฤดูแล้ง เขื่อนสิริกิติ์ จึงจำเป็นต้องลดการปล่อยน้ำตามแผนการระบายน้ำ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 - 11 ต.ค. 58 แผนระบายน้ำ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน หรืออาจปรับลดลงในการปล่อยน้ำอีกในช่วงเดือน ต.ค. จนถึงสิ้นปี 58 เพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากกว่า 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้เพียงพอหน้าแล้งปี 59 ในช่วงทำนาปี

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ ปัจจุบันยังถือว่าวิกฤติ ระดับน้ำต่ำสุดในรอบ 39 ปี ซึ่งในขณะนี้ ปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อนหลักใน จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำพียง 3,677 ล้านลูกบาศก์เมตรส่วนเขื่อนสิริกิติ์ จะต้องกักเก็บน้ำไว้เพื่อการอุโภคบริโภคและระบบนิเวศที่ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปีหน้า เพื่อเกษตรกรรมนาปรังอีก 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังไม่อยากให้รีบทำนา เพราะต้องส่งน้ำให้กลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในฤดูแล้งนี้ และคาดว่าหากปลาย ต.ค. ฝนไม่ตกก็จะลดการปล่อยน้ำลงอีก แต่จะไม่ส่งผลกระทบในเรื่องของการอุปโภคบริโภคและระบบนิเวศส่วนการเลี้ยงปลาในกระชังที่ในพื้น จ.อุตรดิตถ์ ที่มีกว่า 2,500 กระชัง

ขณะในส่วนของ จ.น่าน นายชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ ผอ.โครงการชลประทานจังหวัดน่าน กล่าวว่า ปีนี้ในพื้นที่เกิดสถานการณ์ภัยแล้งกว่าปีที่ผ่านมา เพราะฝนตกล่าช้าและน้อยกว่าปกติ โดยฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 20% น้ำในอ่างหลายแห่งมีปริมาณลดลงมาก แม้ว่า จ.น่าน จะมีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่และขนาดกลาง อาทิ อ่างเก็บน้ำน้ำแหง อ.นาน้อย อ่างเก็บน้ำแหด อ.ภูเพียง ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้เฉพาะบริเวณเขตชลประทานเท่านั้น เพราะ จ.น่าน มีพื้นที่ป่าเขา 85% เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างจากเขาไหลลงมาท่วมบ้านเรือนราษฎร ซึ่งในปีนี้ จ.น่าน แห้งแล้งกว่าปี 57 ประมาณ 20%.

จาก http://www.thairath.co.th  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯเผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนไม่พอทำนาปรัง

กรมชลประทาน เผย ปริมาณน้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ไม่เพียงพอทำนาปรัง จ่อส่ง จนท. สร้างความเข้าใจ ปชช.

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้ยังคงมีปริมาณน้อย โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณอยู่ที่ 3,180 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าความต้องการใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยในภาพรวมทุกภูมิภาคไม่เหมาะแก่การทำนาปรัง ยกเว้นภาคตะวันออก ปริมาณน้ำค่อนข้างดี สามารถทำนาปรังได้ รวมถึงในพื้นที่รอบเขื่อนกักเก็บน้ำสิรินธร มีปริมาณน้ำเพียงพอ จึงขอความร่วมมือประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้งดปลูกข้าวนาปรัง โดยจะให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานในทุกจังหวัด ลงพื้นที่ขอความร่วมมือและทำความเข้าใจกับประชาชน เชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดี

นอกจากนี้ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเข้าไปดูในแต่ละพื้นที่ ว่ามีความเหมาะสมในการทำฝ่ายชะลอน้ำ เก็บน้ำในลำน้ำสาขา และการทำแก้มลิง เพื่อเป็นการยืดระยะเวลาให้กับประชาชนสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้นานยิ่งขึ้น

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คอคอดกระ"เส้นทางสายไหมของโลก กับความหวังที่อาจเป็นจริง!

ประเทศจีนประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเล "One Belt One Road" ประกอบด้วย 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางสายไหมทางบกหรือเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic) และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21′ Century Maritime Silk Road)

ถามว่า เหตุใดจีนจึงมีแนวคิดให้มีนโยบายเส้นทางสายไหม 2 เส้นทางนี้ จีนคงตระหนักถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมืองโลก เป็นการแสดงออกได้ว่าจีนพร้อมและตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องแสดงพลังอำนาจในการต่อรองระหว่างประเทศให้เห็นว่าจีนพร้อมที่จะมีส่วนแบ่งอำนาจของโลก จีนพร้อมแล้วที่จะขยายอิทธิพลทั้งการค้า การเมือง การลงทุนและด้านอื่นๆ

 เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 จะครอบคลุมกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และดินแดนในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

ถ้าเส้นทางสายไหมทางทะเลเกิดขึ้นจริง ส่งผลสะท้อนให้เห็นว่า ต่อจากนี้ไปการเดินทางติดต่อของผู้คนและวัฒนธรรมจะขยายตัวอย่างกว้างขวาง การเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และการศึกษาเทคโนโลยีจะเดินหน้าอย่างรวดเร็วและท้าทายยิ่งกับกลุ่มประเทศหรือภูมิภาคข้างต้น การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว จะเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายระหว่างชาติ ระหว่างภูมิภาค ส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ทุกประเทศในขอบข่ายของเส้นทางสายไหมนี้ (win-win Situation)

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ทุกประเทศต้องวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อรองรับคือ โครงข่ายการคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศ ทางทะเล โครงข่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ระบบรถไฟ การสร้างเขื่อน ท่าเรือ และโรงไฟฟ้า เป็นต้น

เห็นนโยบายนี้ของจีน ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นและมีความหวัง สอดรับกับการให้ความสำคัญของท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ผ่านการแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นโยบายที่ 6 เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 เป็นแผนการลงทุนระยะ 8 ปี

ครอบคลุม 4 เส้นทางหลัก คือ ถนน ราง น้ำ และอากาศ แต่ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องนำโครงการขุนคลองกระเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับทะเลอ่าวไทยซึ่งโครงการนี้เป็นอภิมหาโครงการใช้เงินทุนสูงแต่ให้ผลตอบแทนกับประเทศมหาศาลเช่นกัน

โครงการนี้ผ่านการสำรวจและวิจัยมาหลายครั้งแต่หยุดชะงักไปด้วยเหตุและผลแต่วันเวลาและสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป ประเทศในโลกต้องเป็นหุ่นส่วนกัน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การรวมกลุ่มเพื่อแชร์ผลประโยชน์และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดร่วมกัน ประชาคมอาเซียนเปิดประตูเต็มรูปแบบ ปลายปี 2558 ข้อกังวลเรื่องเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะไม่ใช่ตัวแปรในการขับเคลื่อนโครงการนี้ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่พลิกแผ่นดินด้ามขวานทองนี้ให้เรืองรอง ประชาชนในภาคใต้ 14 จังหวัดได้ผลประโยชน์อย่างมหาศาล

ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ชาวภาคใต้สนับสนุนโครงการนี้แน่นอน ชาวภาคใต้จะต้องตระหนักไว้ว่าจะหวังอาชีพประมง อาชีพจากสวนยาง ผลไม้ และอื่นๆ คงยากแล้ว ราคายางและการประมงไม่ใช้เป้าหมายด้านรายได้หลักแก่ชาวภาคใต้อีกต่อไป การสร้างความเข้าใจและให้ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเมียนมา เข้ามามีหุ้นส่วนโครงการนี้ภายใต้กรอบของประชาคมอาเซียน ภายใต้ความรู้สึกที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหนึ่งเดียวและมีผลประโยชน์ร่วมกัน

โครงการคลองกระจะเป็นเส้นทางสายไหมของไทยโดยสอดคล้องและเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนในศตวรรษที่ 21 คลองกระจะเป็นแหล่งเงินทุนและการลงทุนแหล่งธุรกิจ แหล่งอุตสาหกรรม ที่หลากหลาย นำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศไทยเราอย่าหวังพึ่งพาอาศัยการส่งสินค้าออกไปขายในต่างประเทศอีกเลย เราต้องคิดใหม่โดยเราต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้เงิน ให้การลงทุนจากต่างชาติ นำเงินเข้าสู่ประเทศของเรา คลองกระจะเป็นแหล่งการว่าจ้างแรงงานทุกระดับทุกอาชีพ

คลองกระจะเป็นแหล่งรายได้หลักของไทยมาทดแทนและรองรับเศรษฐกิจของไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยไม่มีทรัพยากรต่างๆ หลงเหลือให้เป็นทุนสำรองสำหรับนำมาพัฒนาประเทศ

เราเลิกกังวลใจต่อปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้เดินหน้าไม่ได้โลกหวังว่าศตวรรษที่ 21 คือโลกแห่งการอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ร่วมกันคลองกระไม่ใช่คลองในจินตนาการอีกต่อไป ผู้เขียนสนใจและติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด และเคยเขียนบทความผ่านสื่อต่างๆ มาหลายครั้ง

ซึ่งเส้นทางคลองกระที่ควรดำเนินการคือ เส้นทาง 9A ผ่านจ.กระบี่, ตรัง, พัทลุง, สงขลา และ จ.นครศรีธรรมราช ระยะทาง 120 กรัม (ข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) เพราะเส้นทางนี้เงื่อนไขต่างๆ มีน้อยมาก เป็นเส้นทางผ่านตอนกลางของภาคใต้พอดี ทำให้จังหวัดในภาคใต้ได้ผลประโยชน์ที่เป็นธรรม การสร้างงาน การมีงานทำอย่างทั่วถึง

คลองกระคือนวัตกรรมใหม่ด้านการเดินเรือของโลก คลองกระคือเส้นทางสายไหมของโลก คลองกระคือเสน่ห์ที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นยุทธศาสตร์ของโลกด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และวัฒนธรรม ด้านการศึกษาและนวัตกรรมใหม่ ด้านการเมืองและยุทธศาสตร์โลก

หลับตาดูซิ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เมื่อคลองกระเกิดขึ้น ถ้ารัฐบาลและ คสช.ตัดสินใจเดินหน้าโครงการนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์ของไทย เป็นประวัติศาสตร์ของโลกแน่นอน โครงการใหญ่ย่อมมีปัญหามากมาย แต่แน่นอนผลประโยชน์ที่ตอบแทนกับประเทศก็มีมหาศาลเช่นกัน เพียงรอและกล้าพอ ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่ร่ำรวยมีเงินทุนสำรองประเทศอย่างมหาศาล คลองกระคือเส้นทางในฝันที่ประชาชนและโลกรอคอย

คนไทยและชาวโลกจะต้องจารึกการตัดสินใจครั้งสำคัญของนายกรัฐมนตรีของไทยที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปอีกแสนนาน!

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กรมชลฯเร่งทำความเข้าใจผู้ใช้น้ำ หวั่นเสี่ยงขาดทุนกระทบทั้งปท.

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานมหาราช-สรรคบุรี และลุ่มเจ้าพระยาภาคกลางตอนล่าง ในเขต จ.สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยูธยา ว่ากรมชลฯจะเร่งลงพื้นที่ชี้แจงสถานการณ์น้ำและภัยแล้งปี58/59 ซึ่งมีปริมาณน้ำเขื่อนหลักจำกัดไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำเกษตร กับกลุ่มผู้ใช้น้ำ 3.1 แสนกลุ่มในลุ่มเจ้าพระยาเพราะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากถึง10.5 ล้านไร่  โดยตั้งใจทุกพื้นที่ให้ครบ 22 จ.ภายในวันที่7 ต.ค.นี้ และวันที่ 8 ต.ค.รมว.มหาดไทย กับ รมว.เกษตรฯ จะประชุมผ่านทางไกลระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนท์ กับผู้ว่าราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้นำมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลไปชี้แจงประชาชนระหว่างวันที่ 9-22 ต.ค. ในช่วงประสบภัยแล้งโดยประเมินว่าจะมีภัยแล้งทั่วประเทศ

"ต้องเร่งบอกให้ประชาชนทราบมาตรการช่วยเหลือ 8 มาตรการหลัก เช่นการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยในรายละเอียดโครงการจะมี11 หน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบ อาทิมาตรการแรก เน้นการส่งเสริมความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ด้านปศุสัตว์ ประมง และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เข้าส่งเสริมความรู้ในการท่องเที่ยงเชิงเกษตร มาตรการสองชะลอการชำระหนี้ ขยายเวลาการขำระหนี้ ให้กับเกษตรกรที่เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ธนาคารออมสิน งดค่าเช่าพื้นที่ในพื้นที่สปก. กรมชลฯมีมาตรการจ้างแรงงานเกษตรกร และกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ก็มีการจ้างแรงงานในทุกชุมชนด้วย กรมส่งเสริมการเกษตร ต้องนำความต้องการจากชุมชนมาทำโครงการเพิ่มเติม พร้อมกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในพื้นที่เกษตร และในไร่นาของเกษตรกร ที่ยังมีน้ำฝนขังอยู่จะช่วยเข้าดูการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้การเพิ่มปริมาณน้ำ จะมีกรมทรัพยากรน้ำ ไปเจาะบ่อน้ำบาดาลให้ที่ชุมชนมีความต้องการ อีกทั้งดูแลความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สิน โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดทีมแพทย์พยาบาล ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพช่วยบรรเทาความวิตกกังวลให้ประชาชนกระทบภัยแล้ง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูไม่ให้เกิดเหตุคดี ต่างๆลักขโมย เนื่องจากรายได้ไม่พอรายจ่าย

นอกจากนี้ มาตรการต่างๆจะเปิดช่องไว้เพื่อให้ทางพื้นที่สามารถขอโครงการเพิ่มเติมเข้ามา โดยรมว.เกษตรฯได้นำเสนอเป็นแพ็กเก็จ มาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภัยแล้งเสนองบเข้าครม.เห็นชอบวันนี้  ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา เพราะภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ

"เจ้าหน้าที่กรมชลฯทุกจังหวัดต้องชี้แจงกลุ่มผู้ใช้นำรับรู้สภาพน้ำว่าถ้านำน้ำไปทำการเพาะปลูกจะเสียหายกระทบทุกภาคส่วนอย่างไร และให้รับรู้ว่ารัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือทุกด้านอย่างจริงจังที่สามารถมีเงินช่วยครอบครัวได้ดีกว่าปลูกข้าวเสี่ยงขาดทุนอีก และประชาชนจะได้เห็นความห่วงใยของรัฐบาลที่ต้องการดูแลครบทุกด้านให้ทุกคนผ่านพ้นวิฤกติแล้งไปให้ได้ พร้อมทั้ง ได้จัดทีมแพทย์ ตำรวจมาดูและใกล้ชิด จัดสินค้าธงฟ้า เสริมลงไปให้ถี่ขึ้น"รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

นายสุเทพ กล่าวเตือนเกษตรกรที่ไม่เชื่อฟังจะเดินหน้าทำนาปรังว่าขอให้ดูปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองขณะนี้ จะเห็นแล้วว่ามีระดับต่ำมาก เทียบจากในช่วงนี้ทุกปีเริ่มฤดูน้ำหลากแล้ว ซึ่งในพื้นที่ภาคกลางจะเห็นได้ชัดเจนถึงความแปรปรวนของธรรมชาติ ตอนนี้น่าห่วงที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักยังไม่ถึงเป้าหมายที่ คาดว่าจะได้ 3.6 พันล้านลบ.ม.แต่ตอนนี้ได้ประมาณ 3.2 พันล้านลบ.ม. ซึ่งดูจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเพียงวันละ 50-52 ล้านลบ.ม.ซึ่งในช่วงเดียวกันของทุกปีจะมีน้ำเข้าเขื่อนวันละ100กว่าล้านลบ.ม.แล้ว ล่าสุดปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล ลดลง เหลือวันละ13.8 ล้านลบ.ม.เขื่อนสิริกิติ์ ลดลงเหลือ22 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อย 6.1 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯเพียงแห่งเดียวได้ 12 ล้านลบ.ม.ซึ่งรับน้ำได้ดีขึ้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

“พาณิชย์” เร่งศึกษารายละเอียดข้อตกลง TPP ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมวงเปิดเสรีหรือไม่  

            “พาณิชย์” เผยพร้อมศึกษารายละเอียดข้อตกลง TPP ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่ หลังสมาชิก 12 ประเทศบรรลุข้อตกลงกันได้แล้ว       

        นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยพร้อมศึกษารายละเอียดของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) หลังจากที่ประเทศสมาชิกทั้ง 12 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้แล้ว โดยต้องวิเคราะห์เชิงลึกว่าประเทศไทยพร้อมจะเข้าร่วมเจรจาต่อไปหรือไม่ เพราะขณะนี้ข้อตกลงยังไม่มีผลบังคับใช้ ทั้ง 12 ประเทศต้องไปผ่านขั้นตอนผ่านในประเทศของตนเองก่อน และต้องใช้เวลาอีกสักพักถึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่

               ทั้งนี้ ข้อตกลง TPP เป็นความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าขนาดใหญ่ มีข้อบทซับซ้อนหลายเรื่อง ซึ่งสมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวน 12 ประเทศนี้ ไทยยังไม่มี FTA กับ 3 ประเทศ คือ สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก      

        น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมเจรจาข้อตกลง TPP และได้มีการศึกษาผลดี ผลเสียของข้อตกลง โดยได้มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว และเมื่อทั้ง 12 ประเทศได้บรรลุข้อตกลงกันได้ ก็ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของข้อตกลงอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะเท่าที่ติดตามในรายละเอียด พบว่าสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ลดภาษีรถยนต์ให้แก่ญี่ปุ่น รวมถึงเรื่องอ่อนไหวอย่างสิทธิบัตรยาจะมีการเปิดเสรีอย่างไร ซึ่งต้องมีการศึกษาให้ดี และต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย      

        ส่วนกรณีที่มีการห่วงว่าไทยมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาจเป็นอุปสรรคในการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลง TPP นั้น ขณะนี้ไม่มีประเทศสมาชิกใดๆ ออกมาตั้งแง่ถึงที่มาของรัฐบาลไทย      

        อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ TPP จะมีการรับสมาชิกใหม่เพิ่ม ต้องมีการขอความเห็นชอบจากสมาชิกเดิมก่อน ซึ่งกว่าข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ก็ปี 2559 ทำให้ไทยยังมีเวลาศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว

จาก http://www.manager.co.th วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

KTISรุกโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผยถึงโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ว่า ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 โรง มีกำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวมทั้ง3 โรง จะมีกำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่โครงการแรกอยู่ที่อุตรดิตถ์ ใช้เงินลงทุน 960 ล้านบาท โครงการที่ 2 อยู่ที่นครสวรรค์ ใช้เงินลงทุน 960 ล้านบาท เช่นกัน ทั้ง 2 โรงใหม่นี้ กลุ่ม KTIS ต้องการให้ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยสูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยีการผลิตไอน้ำแรงดันต่ำ เมื่อเทียบจำนวนเชื้อเพลิงเท่ากัน

“นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่จะสร้างรายได้และผลกำไรที่มากขึ้นแล้ว ยังรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่จะ

 เพิ่มขึ้นจากโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลและธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ ด้วย เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำมาใช้ในกลุ่ม KTIS ก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” นายประพันธ์ กล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในสายธุรกิจน้ำตาล คือโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) มีกำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) มีกำลังการผลิต 500 ตันต่อวัน ได้ก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยจะเริ่มผลิตได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2558

ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของ KTIS ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมาจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 74% สายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 26% ซึ่งในปี 2559 จะเริ่มเห็นชัดเจนว่าสัดส่วนรายได้จากสายธุรกิจชีวพลังงานจะเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลดีต่ออัตราการทำกำไรของ KTIS ด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จ่อลงทุนในเขตศก.พิเศษ4หมื่นล. l เน้นพลังงานทดแทน

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) เปิดเผยว่า ต้องการให้รัฐบาลกำหนดให้อุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มเติม จากปัจจุบันกำหนดไว้ 13 กลุ่มอุตสาหกรรม คิดเป็น 62 ประเภทอุตสาหกรรมย่อย เพราะขณะนี้นักลงทุนมีความพร้อมเข้าลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทันทีที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐ(พีพีเอ) ไม่ต่ำกว่า 500 เมกะวัตต์ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ในเขตเศรษฐกิจทั้งระยะหนึ่ง และระยะสอง รวม 10 จังหวัด และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอใน จ.สงขลา โดยไม่ต้องรอระบบสาธารณูปโภค อาทิ น้ำ ไฟฟ้า ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ภาคเอกชนหลายกลุ่มเริ่มออกมาส่งสัญญาณถึงรัฐบาลว่า หากไม่มีโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวก็เป็นเรื่องลำบากที่เอกชนจะเข้าลงทุนได้

ทั้งนี้ตามความพร้อมของเอกชนสามารถลงทุนได้ทันที 500 เมกะวัตต์ วงเงิน 40,000 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นสมาชิกของสอท.ประมาณ 10 ราย คิดเป็น 150 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท แต่หากดูจากศักยภาพรวมของนักลงทุนพบว่า มีความต้องการลงทุนมากถึง 1,380 เมกะวัตต์ วงเงินรวมประมาณ 110,400 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ชายแดนจ.เชียงราย 169 เมกะวัตต์ 2.อ.แม่สอด จ.ตาก 87 เมกะวัตต์ 3.ชายแดน จ.กาญจนบุรี 251 เมกะวัตต์ 4.ชายแดน จ.หนองคาย 66 เมกะวัตต์ 5.ชายแดน จ.มุกดาหาร 46 เมกะวัตต์ 6.ชายแดน จ.สระแก้ว 122 เมกะวัตต์ 8.ชายแดน จ.ตราด 31 เมกะวัตต์ 9.ชายแดน จ.สงขลา 133 เมกะวัตต์ 10.ชายแดน จ.นราธิวาส 88 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา ยังต้องการลงทุน 300 เมกะวัตต์

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสอท.กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สอท.ได้หารือร่วมกับนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพื่อเสนอให้บรรจุอุตสาหกรรมพลังงานอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้รับหลักๆ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมเป็นเวลา 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี และกรณีได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปีอยู่แล้วจะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งนางหิรัญญาชี้แจงว่าบีโอไอกำลังพิจารณาเพิ่มประเภทอุตสาหกรรมเป้าหมายอีก 7-10 โครงการเช่นกัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ธนาคารโลกหั่นจีดีพีเหลือ2.5%ชี้โครงสร้างมีปัญหาปฏิรูปช้า เศรษฐกิจไทยรั้งท้ายอาเซียน

ธนาคารโลกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’58 เหลือแค่ 2.5% ขยายตัวช้าสุดในอาเซียน จากปัญหาโครงสร้างการบริหารประเทศ แนะเร่งปฏิรูปใน 3 ด้านหลักทั้งการพัฒนาสินค้า โครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษา ด้านศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ประเมินปี’59 โต 2.5-3% อานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงินและสถาบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ กล่าวว่า ธนาคารโลกปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยในปีนี้เหลือโตเพียง 2.5% จากเดิมคาดโต 3% ถือว่าอัตราเติบโตช้าสุดในอาเซียน เนื่องจากไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างจากการบริหารประเทศที่ต้องใช้เวลาในการปฏิรูปกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ โดย 3 ด้านที่ต้องปฏิรูป คือด้านแรก ไทยจะต้องมีการพัฒนาการผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดที่เติบโตได้จากการส่งออก จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวได้ง่าย

ด้านที่ 2 ไทยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และด้านที่ 3 คือพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพประชากรและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากขึ้น จึงจะช่วยให้จีดีพีไทยขยายตัวสูงขึ้นได้ในระยะยาว

ธนาคารโลก ชี้ว่าตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% และรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัว 0.8% แม้ว่ายังมีสัญญาณการอ่อนแอของการส่งออกอยู่บ้างก็ตาม แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกในปีนี้ยังขยายตัวได้ 6.5%

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ 2% และการส่งออกขยายตัวได้ 1.8% ขณะที่ปี 2560 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.4% และการส่งออกขยายตัวได้ 1.3% โดยยังมีความเสี่ยงมีจากเศรษฐกิจจีนในปีหน้า จะขยายตัวได้เพียง 6.7% และมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ จากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.0-2.5% และปี 2559 จะขยายตัว 2.5-3% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ปี 2558 จะขยายตัว 3% และปี 2559 ขยายตัว 3.3% พร้อมคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้

จะติดลบ 5% ส่วนปีหน้าจะขยายตัว 0-2% เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าบริโภคลดลง รวมถึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยส่งออกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการชะลอตัว

 ของเศรษฐกิจจีนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องอีกหลายปี ขณะเดียวกัน การส่งออกไปประเทศในแถบอาเซียนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากหลายประเทศพึ่งพาการส่งไปจีนเป็นหลัก

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2559 มาจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 10% ถือเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวโดยคาดว่าช่วงกลางปีหน้าจะเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนภาคเอกชนจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

 ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นพร้อมส่งเสริมการลงทุนให้กับภาคเอกชน โดยมีนโยบายที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดกำลังการผลิต และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุนในภูมิภาคส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การไหลออกของเงินทุนและการอ่อนค่าของเงินบาทจึงไม่รุนแรงมากและไม่เป็นอุปสรรคต่อการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่วนค่าเงินบาทปีนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีหน้าคาดกว่า 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เกษตรฯของบแก้ภัยแล้ง 1.15 หมื่นล.

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 6 ต.ค.2558 จะนำเรื่องมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้ง 8 มาตรการ งบ 11,500 ล้านบาท เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยการนำเสนอครั้งนี้เสนอเป็นวาระจร เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา เพราะปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีกังวลถึงผลกระทบของพี่น้องเกษตรกรจึงกำชับให้กระทรวงเกษตรฯหารือกับกระทรวงมหาดไทยอย่างเร่งด่วน เพื่อหามาตรการช่วยเหลือและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ภายหลังเกิดปัญหาภัยเเล้งในหลายพื้นที่

"เตรียมนำแผนแก้ภัยแล้งวงเงิน 1.15 หมื่นล้านบาท ให้ครม.พิจารณา ซึ่งโครงการที่เสนอจะมีกรอบระยะเวลาประมาณ 4 เดือนครอบคลุมภัยแล้งรอบต่อไป ขณะที่บางพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน จะมีช่วงฤดูแล้งประมาณ ม.ค.-เม.ย.2559 โดย 8 มาตรการที่จะช่วยเหลือภัยแล้งนี้จะใช้เป็นโมเดลในการแก้ภัยแล้งทั่วประเทศในอนาคตด้วย"

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ในการนำเสนอเข้า ครม.วันพรุ่งนี้ จะเตรียมเสนอทั้ง 8 มาตรการ ที่ดำเนินมา แต่มี 7 มาตรการที่ใช้วงเงินประมาณ 1.15 หมื่นล้านบาท ส่วนมาตรการที่ 8 ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยังเป็นมาตรการที่ยังไม่มีวงเงินเพราะยังติดขัดเรื่องกรอบและจุดประสงค์ในการแก้ปัญหา เบื้องต้นให้ท้องถิ่นระดับจังหวัดเสนอมา ว่ามีข้อเสนอหลักการอย่างไร กระทรวงมหาดไทยจะเป็นหน่วยงานประสานรวบรวมและเสนอของบประมาณอีกครั้งในรอบต่อไป 

  จาก http://www.prachachat.net วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ลือหึ่ง! “สมคิด” เบรกแก้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ปัดชงเข้า ครม. พร้อมโยน “พาณิชย์” ทำใหม่  

           ลือหึ่ง “สมคิด” สั่งเบรกแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า โยนกลับ “พาณิชย์” พิจารณาใหม่ ไม่อนุมัติให้ชงเรื่องเข้า ครม. ทั้งๆ ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นจนได้ข้อสรุปแล้ว เอกชนผิดหวัง หากเป็นเช่นนี้จริง เผยอาจถูกรัฐวิสาหกิจและเอกชนรายใหญ่ล็อบบี้ไม่ให้แก้

               ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอร่างปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ) เพื่อพิจารณาก่อนที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป หลังจากที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และได้ข้อสรุปให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถดูแลการประกอบธุรกิจภายในประเทศไม่ให้รายเล็กถูกรายใหญ่เอารัดเอาเปรียบ

               ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เคยถูกภาคเอกชนออกมาระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ถ่วงเวลาในการแก้ไข เพราะหลังจากปรับปรุงแก้ไขเสร็จในเดือน มี.ค. 2558 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้ไปเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ จากนั้นเมื่อทำเสร็จก็เสนอใหม่ในเดือน พ.ค. 2558 แต่ก็ยังถูกดึงเรื่องเอาไว้ จนกระทั่งมีการเปลี่ยนตัว รมว.พาณิชย์ เป็นนางอภิรดี ตันตราภรณ์ ก็ได้มีการนำเสนอเรื่องถึงนายสมคิดเพื่อบรรจุเป็นวาระ ครม.ในทันที

               อย่างไรก็ตาม หลังจากเช็กวาระ ครม.ล่าสุด ไม่มีการบรรจุวาระการพิจารณาการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพราะยังไม่ได้รับการอนุมัติจากนายสมคิดให้บรรจุเข้าเป็นวาระการประชุม ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะส่งคืนให้กระทรวงพาณิชย์ไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ หรืออาจจะเป็นการดึงเกมเพื่อไม่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เหมือนที่ผ่านมาก็อาจเป็นไปได้

               ล่าสุดจากการสอบถามไปยังกระทรวงพาณิชย์ทราบว่า มีการส่งเรื่องการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้ากลับคืนมาจริง จากนี้ไปก็แล้วแต่ว่า รมว.พาณิชย์จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะยืนยันไปยังรัฐบาลว่าจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข หรือจะชะลอการนำเสนอร่างที่ปรับปรุงแก้ไขออกไปก่อน

               ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภาคเอกชนได้แสดงความเห็นด้วยหลังจากที่ รมว.พาณิชย์ได้นำเสนอการแก้ไขกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่เมื่อมาถูกเบรกก็ต้องสอบถามเหตุผลจากกระทรวงพาณิชย์ว่าเกิดจากอะไร ทำไมถึงไม่ผลักดันให้ออกเป็นกฎหมาย ทั้งๆ ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็เห็นด้วยกับการแก้ไขแล้ว และที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขซึ่งมีกำหนดไว้เมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมาจะต้องแล้วเสร็จ

               สำหรับสาระการปรับปรุงกฎหมาย กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์, กรรมการต้องสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ, กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งกับภาคเอกชนและแสวงหาผลกำไร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้, เพิ่มเติมคำนิยมของบริษัทให้ครอบคลุมบริษัทในเครือ, เปลี่ยนแปลงโทษ ทั้งอาญาและปรับ เพิ่มโทษทางปกครอง และกำหนดให้สามารถพิจารณาเอาผิดต่อธุรกิจไทยที่กระทำผิดนอกราชอาณาจักรแต่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ      

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้การแก้ไขกฎหมา ถูกรัฐวิสาหกิจและธุรกิจรายใหญ่พยายามล็อบบี้ไม่ให้มีการแก้ไข เพราะเกรงว่าจะทำธุรกิจเอารัดเอาเปรียบรายกลางและเล็กเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องถูกจับให้มาอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่น ปตท. การบินไทย ทอท. กรุงไทย อสมท เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่ที่เคยมีข่าวว่าไม่เห็นด้วย เช่น กลุ่มซีพี ไทยเบฟ เป็นต้น

จาก http://manager.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เกษตรไทย อินเตอร์ฯ เตรียมขายไฟฟ้า-ผลิตน้ำตาลพิเศษน้ำเชื่อมดันมาร์จิ้นเพิ่ม 

        เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลฯ เตรียมขายไฟฟ้าปลายปีนี้ 50 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 50 เมกะวัตต์ เปิดขายต้นปี 59 พร้อมหันผลิตน้ำเชื่อมและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษด้วยมาตรฐานสูงจากญี่ปุ่น ดันมาร์จิ้นเพิ่ม คาดปีหน้าสัดส่วนรายได้น้ำตาล และพลังงานเป็น 60% ต่อ 40% หลังโรงไฟฟ้าเสร็จ และขายไฟฟ้าได้ทุกแห่ง        

        นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTRIS เปิดเผยถึงโครงการไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยว่าปัจจุบัน กลุ่ม KTRIS มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 2 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ รวมทั้ง 3 โรงไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่โครงการแรกอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 960 ล้านบาท ส่วนโครงการที่สองอยู่จังหวัดนครสวรรค์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 960 เช่นกัน ซึ่งธุรกิจไฟฟ้าจะดำเนินการภายใต้บริษัท ไทยเอกลักษณ์ เพาเวอร์ จำกัด

               “โรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่ทั้ 2 แห่งนี้เราต้องการให้ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยสูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถผลิตไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งทำให้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยีการผลิตไอน้ำแรงดันต่ำ เมื่อเทียบกับจำนวนเชื้อเพลิงเท่าๆ กัน ซึ่ง 50 เมกะวัตต์แรกจะผลิต และขายไฟฟ้าได้ก่อนสิ้นปี 58 และอีก 50 เมกะวัตต์ จะผลิตและขายไฟฟ้าได้ในปี 59” นายประพันธ์ กล่าว

               ทั้งนี้ นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่จะสร้างรายได้ และผลกำไรที่มากขึ้นให้แก่กลุ่ม KTRIS แล้ว ยังสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการขยายกำลังการผลิตน้ำตาล และธุรกิจต่อเนื่องด้วย เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้นี้จะนำไปใช้ในกลุ่ม KTRIS ก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะขายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.

                นายประพันธ์ กล่าวถึงการผลิตในสายธุรกิจน้ำตาล คือ การผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) ด้วยกำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน หรือ 4 แสนกิโลกรัมต่อวัน และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) กำลังการผลิต 500 ตัน หรือ 5 แสนกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งขณะนี้ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องจักรเกือบจะแล้วเสร็จแล้ว คาดจะเริ่มทดลอง และเดินเครื่องผลิตได้ก่อนสิ้นปี 58 นี้ ซึ่งสินค้าใหม่นี้จะมีมาร์จิ้นสูงกว่าปกติ เพราะน้ำตาลชนิดพิเศษเทียบกับน้ำตาลธรรมดาจะมีส่วนต่างถึง 80-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และใช้ขั้นตอนการผลิตที่มาตรฐานสูง มีประสิทธิภาพ และคุณภาพตตามมาตรฐานของบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น

               โดยการเพิ่มไลน์การผลิตดังกล่าวเพื่อลดขั้นตอนการใช้สอย และเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าสามรถนำไปใช้ได้ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจน้ำตาลไม่ได้ลดลง เพียงแต่ฐานรายได้จากพลังงานจะเพิ่มขึ้น หลังจากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยเพิ่มสูง

               สำหรับปี 59 KTRIS คาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตประมาณ 10% จากการเติบโตของธุรกิจพลังงาน ซึ่งจากการที่ KTRIS ได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตในส่วนของโรงฟฟ้านั้นจะทำให้รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาเต็มปีตั้งแต่ปี 59 เป็นต้นไป ส่งผลต่อสัดส่วนรายได้ของกลุ่มบริษัทปรับเปลี่ยน โดยจากเดิมรายได้จากธุรกิจน้ำตาลจะลดลงเหลือเพียง 60% และรายได้จากไฟฟ้าจากเพิ่มจากเดิม 35% เป็น 40% ในปี 59 จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ KTRIS มาจากการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาล 74% สายชีวพลังงานและผลิตภัณฑ์ 26%

                 “รายได้จากน้ำตาลของเราไม่ได้ลด แต่ฐานของรายได้จากพลังงานจะเติบโตขึ้นมาอย่างชัดเจน ซึ่งปีนี้เราเริ่มผลิตในส่วนของการขยายกำลังการผลิต และก็เริ่มรับรู้รายได้ทันที แต่ก็ไม่มากเพราะเราจะเดินเครื่องจริงๆ ก็คงใกล้ๆ จะสิ้นปี ซึ่งเม็ดเงินไม่ชัดเจน แต่จะเห็นเต็มๆ ปี ในปี 59 และการเน้นไปพลังงานทดแทนเพราะต้องการลดความเสี่ยงในเรื่องรายได้ที่จะอิงเพียงน้ำตาลเป็นหลัก เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างผันผวน และราคาไม่สูงเหมือนที่ผ่านมาแล้ว การกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่นจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องรายได้อิงเพียงทางใดทางหนึ่ง” นายประพันธ์ กล่าว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

นำร่องพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม lดันมันสำปะหลังผลิตพืชพลังงานเต็มศักยภาพ

นายวิชิต นันทวรวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจัดทำนโยบาย สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า มันสำปะหลังเป็นพืชพลังงานที่ตลาดกำลังขยายตัวและมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น แต่ประเทศไทยยังมีการผลิตและส่งออกมันสำปะหลังในรูปมันเส้น มันสำปะหลังอัดเม็ด และแป้งมันเป็นหลัก เกษตรกรจึงได้รับผลตอบแทนในรูปวัตถุดิบต่ำ และไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในฐานะพืชพลังงานได้เต็มศักยภาพ สภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งสร้างต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นำร่องในมันสำปะหลัง (Cassava city) ในพื้นที่ อ.วังสามหมอ และ อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี จำนวน 3,000 คน ให้ผลิตมันสำปะหลังคุณภาพ พร้อมต่อยอดสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

เบื้องต้นได้ส่งเสริมให้ชาวไร่มันสำปะหลังในพื้นที่ จัดตั้งสมาคมเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังวังสามหมอ-ศรีธาตุ โดยรับสมาชิกระบบกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน รวม 3,000 คน จากนั้นจะพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรสมาชิก มุ่งเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 3.6 ตัน/ไร่ เป็นไม่น้อยกว่า 7 ตัน/ไร่ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานเอทานอลชุมชน กำลังการผลิต 5,000 ลิตร/วัน พร้อมพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง ได้แก่ ปั๊มน้ำมันและโรงงานปุ๋ยอินทรีย์จากกากมันสำปะหลัง โรงงานมันเส้นสะอาด กำลังการผลิต 200 ตัน/วัน รวมทั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลวังสามหมอ ขนาดกำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ (MW) และโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โรง/4 ตำบล กำลังการผลิตรวม ประมาณ 12 เมกะวัตต์ เป็นต้น

นายวิชิตกล่าวด้วยว่า อ.สามหมอ มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 22,050 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 69,236 ตัน เฉลี่ย 3,324 กิโลกรัม/ ไร่ ส่วน อ.ศรีธาตุ มีเนื้อที่เพาะปลูก 31,623 ไร่ ได้ผลผลิต 102,516 ตัน เฉลี่ย 3,309 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจากความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน จะช่วยสร้างมูลค่าผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น โดยยกระดับเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบขึ้นเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูป พร้อมเปลี่ยนผลตอบแทนที่ได้จากการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว เชื่อมโยง สู่การแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และเอทานอลเพื่อเป็นพลังงานทดแทน และผนึกการตลาดเข้าเป็นกระบวนการเดียวกัน ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพระบบตลาดและราคาผลผลิต ทั้งยังเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรมีโอกาสเท่าเทียมผู้ประกอบการ และช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

รายงานพิเศษ : เติมเต็มเพิ่มศักยภาพ‘ห้วยหลวง’ ทางรอด..ยุควิกฤติแหล่งน้ำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ นับวันที่จะก่อสร้างได้ยากยิ่งขึ้น จะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน บางโครงการมากกว่า 30 ปี แล้วยังก่อสร้างไม่ได้เลย จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังๆ นี้โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย โครงการล่าสุดที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง คือ โครงการห้วยโสมง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ ก็ยอมรับว่า “....ทุกวันนี้ไทยไม่สามารถสร้างเขื่อนใหม่ๆ ได้อีกแล้ว เพราะติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาพื้นที่ป่าสงวน และบ้านเรือนประชาชน....”

ในขณะที่การพัฒนาแหล่งน้ำทำได้ยากขึ้น แต่ความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น การอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว พาญิชยกรรม กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยอาจจะประสบภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งในอนาคตไม่ไกลอย่างแน่นอน หากไม่เร่งพัฒนาแหล่งเก็บกักสร้างความมั่นคงในรื่องน้ำเพิ่มขึ้น

กรมชลประทาน ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐหลักที่รับผิดชอบในเรื่องน้ำจึงได้วางแผนที่จะเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำของไทย อย่างน้อยให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ การบริการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ตั้งเป้าจะพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มปริมาณการเก็บกักให้ได้อีกประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นให้ได้อีก 8.7 ล้านไร่ ภายในปี 2569 ซึ่งหนึ่งในแผนการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำนอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งใหม่แล้วก็คือ การมองย้อนกลับมาดูโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วว่า ใช้ประโยชน์เต็มศักยภาพแล้วหรือยัง? โดยนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเพิ่มปริมาณการเก็บกักจาก 32 ล้านลบ.ม. เป็น 41 ล้านลบ.ม.ต่อยอดขยายผลให้เป็นรูปธรรม

ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ต่อยอดขยายผลพระราชดำริ ในการเพิ่มปริมาณการเก็บกักของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่หลายแห่ง เช่น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ อ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้เพิ่มปริมาณการเก็บกักจาก 1,430 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,980 ล้าน ลบ.ม. โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำบางวาด อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต จากปริมาณการเก็บกักเดิม 7.3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 10.2 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังได้วางแผน ที่จะเพิ่มความจุในอ่างฯอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เป็นต้น

และอีกหนึ่งโครงการที่กรมชลประทานได้นำแนวพระราชดำริมาต่อยอดก็คือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี

นายวีระพงษ์ แต่งเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง กรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำหัวยหลวงก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ที่บ้านโคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นเขื่อนดิน มีความสูง 13.5 เมตร ยาว 4,900 เมตร มีความจุในระดับกักเก็บสูงสุด 135.57 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งยังได้มีการก่อสร้างระบบส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวา โดยสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูฝนได้ 87,000 ไร่ และในฤดูแล้งอีกประมาณ 26,000 ไร่

นอกจากนี้ยังส่งน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาในเขตจ.อุดรธานี ได้แก่ อ.เมือง อ.กุดจับ อ.หนองวัวซอ และหมู่บ้านต่างๆ รวมประมาณ 22.66 ล้านลบ.ม.ต่อปี อีกทั้งยังส่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมประมาณ 46 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมทั้งยังช่วยป้องกันอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานีอีกด้วย

แต่...ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เติบโต และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มการใช้น้ำในทุกภาคส่วนจึงเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในบางปีเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะในปีที่ฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างเช่นปีนี้ (2558) ใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้วอ่างฯ ห้วยหลวงมีปริมาณน้ำเพียง 24 ล้านลบ.ม. และเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 17 ล้าน ลบ.ม. หรือ ประมาณร้อยละ 13 ของความจุในระดับกักเก็บสูงสุดเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องงดทำนาปรังอีกปี เพื่อที่จะใช้น้ำที่มีอยู่ในการอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำประปา

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างฯ เฉลี่ยในรอบ 30 ปี พบว่า มีปริมาณเฉลี่ยปีละ 165.60 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีความจุในระดับกักเก็บสูงสุดเพียง 135.57 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นกรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ่างฯห้วยหลวงดังกล่าว เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณการกักเก็บรองรับความต้องการทั้งน้ำอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรมของจังหวัดที่เพิ่มสูงขึ้น

“จากการศึกษาและคาดการณ์การใช้น้ำจากอ่างฯห้วยหลวงในอนาคตพบว่า เกษตรกรจะขยายพื้นที่การปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มขึ้นจาก 26,000 ไร่ เป็น 47,000 ไร่ ซึ่งจะต้องใช้น้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีการปลูกพืชฤดูฝน 87,000 ไร่ จะต้องใช้น้ำประมาณ 72 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี (ส่วนหนึ่งใช้น้ำจากน้ำฝน) และจะมีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรมและอื่นๆ เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมความต้องการใช้น้ำในอนาคตอันใกล้นี้จะสูงถึง 182 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ในขณะนี้อ่างฯห้วยหลวงสามารถกักเก็บน้ำสูงสุดได้เพียง 135 ล้าน ลบ.ม เท่านั้น ไม่เพียงพอกับความต้องการในอนาคตอย่างแน่นอน ดังนั้นจำเป็นจะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวงกล่าว

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักอ่างฯห้วยหลวงที่ดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการขุดลอกอ่างฯห้วยหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ โดยร่วมมือกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในการดำเนินงาน ในระยะแรก จะทำการขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำให้ได้อีกประมาณ 1.4 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 และในระยะยาวหากได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นจะสามารถขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักได้อีกถึง 15 ล้านลบ.ม. โดยใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่ไหลเข้าอ่างฯในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับความต้องการใช้ในอนาคตที่สูงถึง 182 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี กับปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่ไหลลงอ่างฯแล้ว ปริมาณน้ำในอ่างฯห้วยหลวงมีไม่เพียงพออย่างแน่นอน และถ้าหากปีไหนประสบภาวะฝนแล้ง ยิ่งจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำได้ ดังนั้นจำเป็นจะต้องวางแผนที่จะหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้นเติมอย่างเร่งด่วน

การหาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะจะต้องใช้ระยะเวลานาน รวมทั้งอาจจะถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอด้วยก็ได้ นอกจากนี้พื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างมีจำกัด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นแนวทางที่มีความเป็นไปได้และในทางวิศวกรรมสามารถทำได้ ก็คือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงซึ่งมีจำนวนมหาศาลมาเก็บกักไว้ในอ่างฯห้วยหลวง

“ขณะนี้กรมชลประทาน ได้ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้ำสามพร้าว ไปจนถึงปากน้ำลำห้วยหลวง โครงการดังกล่าวจะมีการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาเก็บไว้ในลำน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 150 ล้านลบ.ม. ผมจึงได้เสนอแนวคิดให้ขยายโครงการศึกษา ครอบคลุมลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบนด้วย น่าจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ” นายวีระพงษ์กล่าว

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง กล่าวต่อว่า แม้ระดับความสูงของอ่างฯห้วยหลวงจะสูงมากกว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ไม่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน สามารถที่จะสูบน้ำเป็นทอดๆ ขึ้นมาเก็บไว้ในอ่างฯห้วยหลวงได้ ตามในแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ก็มีโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามากักเก็บไว้อยู่แล้ว สามารถนำรูปแบบการสร้างสถานีสูบน้ำในลักษณะเดียวกันมาใช้เพื่อสูบน้ำเป็นทอดๆต่อเนื่องจนถึงอ่างฯห้วยหลวง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำสำรองมากเพียงพอกับความต้องการในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ทำได้ยากขึ้น การนำของเก่ามาปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน ให้เต็มศักยภาพที่สามารถทำได้....นี่แหละคือทางออกที่ดีที่สุดในยุคนี้

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

โค้งสุดท้ายหน้าฝน ฝนหลวงเร่งขึ้นบิน เติมน้ำเขื่อนทั่วปท.

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร รายงานว่าจากการบินสำรวจสถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ ป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก พบว่าทั้ง 4 เขื่อนมีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 158 ล้านลูกบาศก์เมตร

(ลบ.ม.) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 232 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,400 ล้านลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล 782.78 ล้านลบ.ม.

ถึงแม้ขณะนี้จะมีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำทุกวันแต่ก็ถือว่ายังไม่มาก โดยเขื่อนขนาดเล็ก เช่น เขื่อนป่าสักฯและเขื่อนแควน้อยฯ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ 5-10 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำวันละราว 20-40 ล้านลบ.ม. อย่างไรก็ตาม หลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนโดยรวมทั้งประเทศจะต่ำกว่าทุกปี ดังนั้นเกษตรกรจำเป็นต้องงดทำนาปรังพร้อมชะลอการปลูกพืชใช้น้ำมาก หรือจำกัดพื้นที่ปลูกพืช หลังนา

ทั้งนี้ ก่อนสิ้นฤดูฝนในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ยังมีร่องความกดอากาศที่พาดผ่านประเทศไทยทำให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอที่จะทำฝนหลวงได้ จึงมอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วย ให้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่เพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้นบินทันทีเมื่ออากาศเหมาะสมมุ่งเติมน้ำในเขื่อนและเพิ่มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด

จาก http://www.naewna.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แผนเพิ่มศักยภาพเก็บกักน้ำ ‘ห้วยหลวง’ จ.อุดรธานี

ปัจจุบันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ๆ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ นับวันที่จะเกิดขึ้นได้ยากแม้แต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ยอมรับว่า “...ทุกวันนี้ไทยไม่สามารถสร้างเขื่อนใหม่ ๆ ได้อีกแล้ว เพราะติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาพื้นที่ป่าสงวน และบ้านเรือนประชาชน”

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำในการอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และพาณิชยกรรม กลับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะประสบภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งของทุก ๆ ปี หากไม่เร่งพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำให้มีความมั่นคง

กรมชลประทานจึงวางแผนเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำตามยุทธศาสตร์ การบริการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยจะเพิ่มปริมาณเก็บกักให้ได้อีกประมาณ 9,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และขยายพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 8.7 ล้านไร่

ภายในปี 2569 ด้วยการเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทที่มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำยางชุมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเพิ่มปริมาณการเก็บกักจาก 32 ล้าน ลบ.ม. เป็น 41 ล้าน ลบ.ม.

มาขยายผลสู่การพัฒนาในโครงการอื่น ๆ เช่นโครงการอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้เพิ่มการเก็บกักจาก 1,430 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,980 ล้าน ลบ.ม.โครงการอ่างเก็บน้ำบางวาด อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จากเดิม 7.3 ล้าน ลบ.ม. เป็น 10.2 ล้าน ลบ.ม. และจะขยายผลต่อไปสู่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา และอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี

นายวีระพงษ์ แต่งเนตร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง กรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ที่บ้านโคกสะอาด อ.เมือง จ.อุดร ธานี เป็นเขื่อนดิน มีความสูง 13.5 เมตร ยาว 4,900 เมตร ระดับกักเก็บสูงสุด 135.57 ล้าน ลบ.ม. มีระบบส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและขวาสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมในช่วงฤดูฝนได้ 87,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 26,000 ไร่และเพื่อผลิตน้ำประปาในเขตจ.อุดรธานี ได้แก่ อ.เมือง อ.กุดจับ อ.หนองวัวซอ และหมู่บ้านต่าง ๆ รวมประมาณ 22.66 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี อีกทั้งยังส่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมประมาณ 46 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมทั้งยังช่วยป้องกันอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เป็นแหล่งประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานีอีกด้วย

ในอนาคตเกษตรกรจะขยายพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งเพิ่มขึ้นจาก 26,000 ไร่ เป็น 47,000 ไร่ ซึ่งจะต้องใช้น้ำประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ปลูกพืชฤดูฝน 87,000 ไร่ ใช้น้ำประมาณ 72 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นน้ำจากน้ำฝน และเพื่อการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรมและอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รวมความต้องการใช้จะสูงถึง 182 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

ในขณะนี้อ่างฯ กักเก็บน้ำสูงสุดได้เพียง 135 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จึงจำเป็นจะต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวงกล่าวซึ่งในระยะแรกจะขุดลอกเพิ่มการกักเก็บน้ำให้ได้อีกประมาณ 1.4 ล้าน ลบ.ม. ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในปี 2559 ในระยะยาวจะขุดลอกเพิ่มประสิทธิภาพเก็บกักได้อีกถึง 15 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กักเก็บน้ำได้ใกล้เคียงกับปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยที่ไหลเข้าอ่างฯ ในแต่ละปี

ขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการสำรวจจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการศึกษาแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โดยสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาเก็บไว้ในลำน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงได้เสนอแนวคิดให้ขยายโครงการศึกษาครอบคลุมลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบนด้วย เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ

นายวีระพงษ์กล่าวแม้อ่างฯ จะสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง ไม่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน สามารถที่จะสูบน้ำเป็นทอด ๆ ขึ้นมา มาเก็บไว้ในอ่างฯ ห้วยหลวงได้ตามแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งมีโครง การก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามากักเก็บไว้อยู่แล้ว สามารถนำรูปแบบในลักษณะเดียวกันมาใช้จนถึงอ่างฯห้วยหลวงได้ อันจะทำให้มีปริมาณน้ำสำรองมากเพียงพอกับความต้องการใช้ในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

‘ผ่าวิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วม โรดแม็พบริหารจัดการน้ำในอนาคต’

             คงไม่ได้เป็นการมองโลกด้วยความตื่นตระหนกจนเกินไป หากจะบอกว่าธรรมชาติในบ้านเราปีนี้มีความผิดเพี้ยนไปมากอย่างน่าเป็นห่วง

             สถานการณ์แล้งเกิดขึ้นยาวนานจนชาวนาเกือบทั้งประเทศปลูกข้าวไม่ได้ ทั้งนาปีและนาปรัง ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงให้อยู่รอดจนถึงวันตั้งท้อง ออกรวง

             เลวร้ายไปกว่านั้น ท้องถิ่นทุรกันดารไม่มีแม้กระทั่งน้ำกินน้ำใช้ จนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำและภูมิอากาศเริ่มมองหาต้นเหตุของความแปรปรวนและส่งสัญญาณเตือน เพื่อเร่งหามาตรการรับมือออกมาเป็นระยะ

             ครั้งหลังสุดเมื่อ 1 ตุลาคม  สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW26 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกันระดมผู้เชี่ยวชาญมาเสนอข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ผ่านเวทีเสวนา “ผ่าวิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วม โรดแม็พบริหารจัดการน้ำในอนาคต” ซึ่งสิ่งที่ได้จากเวทีนี้คือ เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ แต่สามารถรับมือกับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการวางแผนจัดการที่ดีพอ

             ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสดา ชี้ว่า  สถานการณ์น้ำฝนปีนี้มีความแปรปรวนมากจากภาวะเอลนีโญ ทำให้ฝนตกช้ากว่าปกติ ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะนำไปใช้ในช่วงหน้าแล้ง ปี 2558/2559 อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ทำให้กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวด เพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น

             นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ภาวะเอลนีโญ พบว่ามีแนวโน้มทรงตัวไปจนถึงต้นปีหน้าและจะเข้าสู่ต้นฤดูฝน ปี 2559 จึงเท่ากับว่าภาวะแล้งจะเกิดขึ้นอีก และอาจรุนแรงใกล้เคียงกับปีนี้ ฝนจะตกช้าอย่างแน่นอน และอาจไม่โชคดีเหมือนปีนี้ที่ลักษณะฝนกระจายในทุกพื้นที่ ดังนั้นรัฐบาล และประชาชนทั่วไปต้องเตรียมการรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นให้ดีที่สุด

             แน่นอนว่า การแก้ปัญหาภัยแล้งนั้นมนุษย์ไม่สามารถบังคับให้ท้องฟ้าผลิตน้ำฝนแจกจ่ายให้ชาวโลกได้เพียงพอทั่วทุกพื้นที่ ดังนั้นการรับมือกับภัยแล้งอย่างง่ายที่สุดและทำได้ด้วยตัวเองคือการปรับพฤติกรรมการใช้น้ำของทุกคน

             ดร.อานนท์ มองว่า แผนรับมือภัยแล้งของรัฐบาลระยะสั้นที่เร่งให้ขุดสระน้ำ ทำหลุมขนมครก ที่กำลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบงบประมาณเพื่อดำเนินงานนั้น คาดว่าจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เนื่องจากขุดสระน้ำไปแล้วยังไม่รู้จะหาน้ำที่ไหนมาเติม

             ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ไม่ได้อยู่ที่ซัพพลายไซต์หรือแหล่งจัดเก็บน้ำ แต่ควรแก้ที่ดีมานด์หรือปริมาณความต้องการใช้ที่ต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องพึ่งพาน้ำในระบบชลประทาน ต้องปรับวิถีชีวิตใหม่ เพราะปัญหาภัยแล้งนี้ผมและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองว่าจะเรื้อรังไปจนถึงปี 2560"

             “พื้นที่ภาคกลางเป็นเขตที่เจริญแล้ว มีคนอยู่มาก ความต้องการใช้น้ำก็มากกว่าทุกพื้นที่ แต่ที่นี่พึ่งพาน้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์  ในการทำระบบชลประทานเป็นหลัก  จึงเกิดการบริหารจัดการน้ำขึ้น ประชาชนในพื้นที่นี้จึงเกิดความเคยชิน เมื่อเกิดปัญหาแล้งน้ำไม่พอใช้ขึ้นมาจึงเกิดความวุ่นวาย ไม่พร้อมจะรับมือ”

             ขณะที่ ธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่า จากการคาดการณ์ที่จะมีน้ำในเขื่อนหลักเพื่อใช้ในฤดูแล้งเพียง รวม 3,500 ล้านลบ.ม. ขณะที่ทุกปีการใช้น้ำในลุ่มเจ้าพระยา ทั้งการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศมีสูงถึง 9,000 ล้านลบ.ม. ในปีนี้จึงขาดอีก 7,000 ล้านลบ.ม.

             ในขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลองที่พึ่งพาน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี รวมปีละ 8,000 ล้านลบ.ม. แต่การจัดเก็บปีนี้คาดว่าจะทำได้เพียง 5,000 ล้านลบ.ม.เท่านั้น

             ส่วนปีหน้า ธนรัชต์ คาดว่า สถานการณ์แล้งจะเกิดขึ้นอีก จึงเป็นปัญหาว่าทั้ง 2 ลุ่มน้ำต้องงดทำกิจกรรมทางด้านการเกษตรเพื่อให้น้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันพึ่งพาพลังน้ำเพียง 2% ในกรณีที่ไม่มีน้ำเพียงพอในการผลิตก็ต้องใช้พลังงานอื่นทดแทน หรือจะดึงจากลาวก็ได้ ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าไม่มีผลกระทบ

             สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) มีข้อมูลว่า  ธรรมชาติของไทยอยู่ในเขตมรสุม ทำให้เกิดได้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมสลับกัน เป็นวัฏจักรที่ต้องเผชิญ

             ที่ปรึกษาอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ บอกว่า ความรุนแรงของปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องมองย้อนไปในปี 2554 นักวิชาการสรุปว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด เขื่อนปล่อยน้ำออกมามากจนส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปี 2555-2558 ที่ประสบภาวะฝนตกเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ เมื่อแล้งซ้ำ ภูมิอากาศก็คลาดเคลื่อน

             “เป็นข้อเท็จจริงว่า คนสามารถสู้กับธรรมชาติได้เพียงระดับหนึ่ง ดังนั้นการจัดการจะทำอย่างไร เพราะภัยแล้งจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปี 2560 การจัดการระยะสั้นต้องทำ และต้องเตรียมการให้ถูกจุด ที่ปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 30 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจน การบริหารจัดการยังซ้ำซ้อน”

             นอกเหนือจากแผนการจัดการน้ำเพื่อต่อสู้กับภัยแล้งแล้ว การพึ่งพาตนเองยังเป็นอีกแนวทางที่นักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมองว่าจะช่วยให้มนุษย์อยู่รอดได้ในภาวะขาดที่พึ่ง

             วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มองว่า ภัยแล้งในปีนี้รุนแรงและน่ากลัวมาก น้ำที่มีในเขื่อนไม่เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่ปีหน้าความรุนแรงจะมากขึ้น คนกรุงเทพฯ ที่ไม่มีแหล่งน้ำเลยต้องเตรียมสำรองน้ำจืดไว้ใช้ และการประปานครหลวงจะมีประกาศให้ระวังประปาเค็ม การปรับตัวของคนกรุงทำได้ลำบากเพราะเคยชินกับการที่รัฐจัดสรรให้ ในขณะที่ประชาชนพื้นที่อื่นสามารถปรับตัวได้ดีกว่า

             วิวัฒน์ หรือที่ชาวเกษตรรู้จักดีในชื่ออาจารย์ยักษ์ บอกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางมูลนิธิเล็งเห็นมานานและเริ่มสนับสนุนให้ประชาชนเตรียมพร้อม โดยการขุดแหล่งน้ำใช้เองมานานกว่า 4 ปีแล้ว และพบว่าประสบผลสำเร็จ และพร้อมจะสนับสนุนทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการต่อสู้กับภัยแล้งนี้ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ไม่สามารถพึ่งรัฐบาลได้ ส่วนหนึ่งเพราะการขับเคลื่อนของภาครัฐทำได้ยาก อีกทั้งยังมีปัญหาคอรัปชั่นในทุกขั้นตอน ส่งผลให้งบประมาณที่เหลือถึงประชาชนนั้นมีเพียง 20%

             ข้อมูลจากเวทีเสวนาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า แม้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะต้องประสบกับภาวะภัยแล้งต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี แต่หากภาครัฐและประชาชนเตรียมการรับมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว ผลกระทบที่จะตามมาก็จะบรรเทาเบาบางลงได้มาก ดังที่ ชัยวัฒน์ โควิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม พูดไว้ในเวทีเดียวกัน

             “ปัญหาที่ไทยมีความเสี่ยงทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี และสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มระบบ ได้สร้างผลกระทบทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อให้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเดินหน้าต่อไปเพื่อรองรับปัญหาภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น”

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

คอลัมน์ ตรวจการบ้าน: ผ่าแผนแก้วิกฤติแล้งหนักสุดรอบ39

          ผ่านภัยแล้งในปี 57 ที่ว่าหนักมาแล้ว แต่ต้องมาเจอจัดหนักในปี 58 ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งตั้งแต่ต้นฤดูฝน ส่งผลหนักยาวไปถึงปี 59 เข้าตำรา "ปี 58 เผาหลอก ปี 59 เผาจริง" โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประเมินว่าสถานการณ์ภัยแล้งปี 59 จะรุนแรงที่สุดในรอบ 39 ปี ปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนทุบสถิติน้อยสุด ภาระหนักเลยตกมาที่กรมชลประทานต้องเจอโจทย์ยาก จัดหาน้ำให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ มาฟังคำตอบจาก "นายสุเทพ น้อยไพโรจน์" รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษาและจัดสรรน้ำ ภายใต้วิกฤติแล้งนี้มีทางออกให้กับประชาชนอย่างไร

          "รองสุเทพ" ระบุถึงสาเหตุภัยแล้งปีนี้ แล้งรุนแรงกว่า ปี 57 เกิดจากปริมาณฝนน้อยต่อเนื่องในปี 57-58 ต่ำกว่าค่า เฉลี่ยทุกภาคร้อยละ 17% ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 33 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บต่ำกว่า 30% ทุกภาค มีปริมาณรวม 14,500 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปี 57 ในช่วงเวลาเดียวกันถึง 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร น่าเป็นห่วงที่สุดคือลุ่มเจ้าพระยา เขื่อนใหญ่ 4 แห่ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  มีปริมาณน้ำรวมกันใช้การได้เพียง 2,934 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 2.4 พันล้าน ลูกบาศก์เมตร

          *** ในช่วงฤดูฝนที่เหลือก่อนขึ้นฤดูแล้งวันที่ 1 พ.ย. คาดการณ์ปริมาณน้ำเข้าเขื่อนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

          ยังเหลือเวลาฤดูฝนอีก 1 เดือนเท่านั้นจากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา สภาพฝนในเดือน ต.ค. ไม่มาก น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 10-25% คาดการณ์ 4 เขื่อน ไว้ทั้งภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อย ป่าสักฯ จะได้ปริมาณ 3.6 พันล้านลูกบาศก์เมตรก่อนสิ้นฤดูฝนนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำตามความจำเป็นพื้นที่ฐานโดยแบ่งเป็นช่วง 6 เดือนนับจาก 1 พ.ย. 58 - 30 เม.ย. 59 ในฤดูแล้งหน้า และบวกอีก 2 เดือนช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 59 หากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วง จะใช้น้ำอยู่ที่ 3.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าใกล้เคียงกับปริมาณน้ำที่คาดว่าจะกักเก็บได้

          *** ปริมาณน้ำจัดสรรไว้มีเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้แค่ไหนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเหมือนช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ที่การประปาธัญบุรี จ.ปทุมธานี ไม่มีปริมาณน้ำดิบเพียงพอให้สูบน้ำผลิตน้ำประปาได้ทำให้ชาวบ้านกว่า 5 หมื่นครัวเรือนเดือดร้อนมาแล้ว

          วางแผนไว้หมดแล้วจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ธัญบุรี ซ้ำ ขึ้นอีก โดยให้สถานีสูบน้ำของการประปาทั้ง อบต. ส่วนภูมิภาค และนครหลวง ที่มีสถานีสูบน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 207 สถานี เราขอให้ทำปฏิทินการสูบน้ำล่วงหน้าสอดคล้องกับความต้องการใช้จริงมาแล้วเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ซึ่งกรมชลฯจัดสรรปริมาณระบายน้ำจากเขื่อนตามช่วงเวลาที่ต้องการ โดยปล่อยอย่างระมัดระวังและขอร้องสถานีสูบน้ำต่าง ๆ ใน 22 จังหวัด ปีนี้สำรวจมีสถานีสูบน้ำเชื่อมแม่น้ำปิง ยม น่าน และเจ้าพระยา 386 สถานี ขอร้องให้สูบน้ำเฉพาะอุปโภคบริโภคเท่านั้นห้ามสูบเข้าพื้นที่เพาะปลูก 10.5 ล้านไร่

          ได้กำหนดมาตรการใช้น้ำไว้อย่างเข้มข้น รัดกุม เพื่อให้การใช้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แบ่งเป็นน้ำกินน้ำใช้ 1.1 พันล้านลูกบาศก์เมตร รักษาระบบนิเวศ-ผลักดันน้ำทะเล 1.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร

          และสำรองน้ำไว้อีก 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ช่วง 2 เดือนปีหน้ารอยต่อฤดูแล้งกับฤดูฝนหากเกิดฝนทิ้งช่วงอีก

          *** กรณีที่รัฐบาลไม่ประกาศงดส่งน้ำทำนาปรัง เปลี่ยนเป็นการชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำไม่เพียงพอคาดว่าจะได้ผลแค่ไหนเพราะปี 57 ยังปลูกข้าวนาปรังมากกว่า 6 ล้านไร่

          นโยบายหลักของรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี กำชับว่า ทุกหน่วยงานต้องลงไปช่วยเหลือชี้แจงทำความเข้าใจถึงสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นและช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้ พร้อมกับให้ติดตามปริมาณฝนตกในเดือน ต.ค. ว่าได้น้ำเพิ่มเท่าไหร่ ถ้าเกษตรกรยังต้องการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งการที่เคยพูดว่างดส่งน้ำ ไม่สนับสนุนทำนาปรัง ปีนี้เปลี่ยนคำพูดว่ากรมชลฯ ไปทำความเข้า ใจสถานการณ์น้ำไม่เพียงพอที่จะทำเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และขอความขอร่วมมือตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. กับกลุ่มผู้ใช้น้ำกรมชลประทาน มีกว่า 3.1 แสนราย ให้รู้ข้อมูลสภาพน้ำเป็นอย่างไร และช่วงวันที่ 9-22 ต.ค. จะมีเจ้าหน้าที่จาก 11 หน่วยงาน บูรณาการร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารภัยแล้ง ตั้งวอร์รูมทุกจังหวัด นำมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ไปให้เกษตรกร เพื่อมีรายได้ช่วงแล้ง และลดรายจ่าย ทั้งการจ้างแรงงานของกรมชลฯ มี 508 ล้านบาท เป้าหมายจ้างแรงงาน 1.3 แสนครัวเรือน ทุกมาตรการเป็นเมนูให้ชาวบ้านเลือก

          พร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมชลฯ ลงทำความเข้าใจแผนระบายน้ำต่าง ๆ ช่วงฤดูแล้ง ระบายจากเขื่อนภูมิพล 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อย 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำร่วมกันตอนบน เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะอยู่ที่ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร พอมาตอนล่างเขื่อนป่าสักฯ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จะปล่อย 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน  ได้จัดแผนระบายน้ำไว้ทั้งหมด มีภาพรวม 6 เดือน ใช้น้ำจากเขื่อนด้านบนประมาณ 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนเขื่อนแควน้อย ป่าสักฯ 2-3 ร้อยล้านลูกบาศก์เมตร

          *** พื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวไปแล้วมีปริมาณมากแค่ไหน จะเกิดปัญหาดึงน้ำไปจนกระทบน้ำกินน้ำใช้หรือไม่

          พบว่าในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ได้ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องไปแล้ว 4 แสนกว่าไร่ มีทั้งในบริเวณกรุงเทพฯ รอบนอก จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา หากปลูกเพิ่มเสี่ยงเสียหาย เพราะอัตราการระบายเขื่อนเจ้าพระยา แค่ระดับ 70-90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไม่เพียงพอกับการเกษตร แต่ปล่อยตามสถานการณ์การหนุนของน้ำทะเล เข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อน้ำกินน้ำใช้  จ.นครสวรรค์ อ.ตาคลี ประปาจ.ลพบุรี อ.พุทธบาท จ.สระบุรี  ลงมาประปา จ.นนทบุรี และประปา จ.ปทุมธานี

          *** ประเมินช่วงวิกฤติสุดเมื่อไหร่ เตรียมแผนสำรองไว้อย่างไร

          วิกฤติสุดช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. ปี 59 ต้องระมัดระวังมาก เพราะมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย ถ้าดักสูบน้ำกลางทางเข้าพื้นที่เพาะปลูกไปใช้กันมาก เกิดน้ำทะเลหนุนเข้าไปกระทบกับน้ำกินน้ำใช้ทั้งระบบ กระทบคุณภาพน้ำกิน ซึ่งปี 57 เดือน ก.พ.เกิดวิกฤติค่าความเค็มสูง ปีนี้ค่าความเค็มสูงเดือน ก.ค. แต่สถานการณ์คงไม่ถึงกับที่ต้องสลับกันอาบน้ำคนละวัน ยังเชื่อว่าคนไทยเมื่อถึงเวลาวิกฤติจะช่วยกัน

          "เป็นห่วงว่าถ้าปลูกกันมากดึงน้ำไปใช้มาก ไปกระทบกระเทือนภาคอื่น ๆ ผลตามเป็นลูกโซ่ เจ้าหน้าที่กรมชลฯ รีบทำความ เข้าใจ เพราะครอบครัวเกษตรเองก็มีลูกหลานมาทำงานภาคการบริการ หรือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อเกิดปัญหาวิกฤติน้ำ แน่นอนกระทบอาชีพอื่น ก็ต้องลดการจ้างงาน และมันวนกลับมากระทบชีวิตทุกคน ต้องลงไปชี้แจงอย่างนี้เพื่อให้เกษตรกรเกิดความร่วมมือถาวร เป็นสิ่งที่ท่านนายกฯ อยากให้เกิดการรับรู้ตระหนักถึงปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่ออนาคตเหตุการณ์ธรรมชาติเกิดขึ้นอีก ไม่ต้องประกาศงดนาปรังอีก เมื่อทุกคนรับรู้เข้าใจสภาพธรรมชาติแท้จริงและปรับตัวอยู่ได้โดยไม่ต้องมีการบังคับ"

          *** วางแผนแก้ไขภัยแล้งน้ำท่วมในอนาคตอย่างไร

          สำหรับแผนในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า ต้องพัฒนาแหล่งน้ำให้เพิ่มอีก 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ถึงจะพอสำหรับน้ำกินน้ำใช้ ยังไม่ได้พูดถึงน้ำเพื่อการเกษตร จากที่ผ่านมาเป็นปัญหาต่อเนื่องกินน้ำในอนาคตไปเรื่อย เพราะพื้นที่นาปรังเพิ่มทุกปี ปีละสองล้านไร่ แต่การพัฒนาแหล่งน้ำไม่เพิ่ม เราต้องขอความร่วมมือจากต่างประเทศ พัฒนาแหล่งน้ำนานาชาติ  ผันแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงหาแหล่งน้ำเชื่อมต่อในประเทศ ใน 10 ปีนี้ต้องเกิดแน่นอน.

          "ปัญหาภัยแล้งจะวิกฤติสุดช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 59 ต้องระมัดระวัง ถ้าดักสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกมาก เกิดน้ำทะเลหนุนจะกระทบน้ำกินน้ำใช้ทั้งระบบ แต่คงไม่ถึงกับต้องสลับกันอาบน้ำคน ละวัน"

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

กระทรวงเกษตรฯ สัมมนา Year End 2558 

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการประชุมสัมมนา Year End ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ "ผลงานวิชาการเกษตรพร้อมใช้ โครงการพิเศษก้าวไกลนำพาเกษตรไทยมั่นคง" ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน ที่ผ่านมาว่า...

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพืช เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนบริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ รับรอง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน น้ำ ปุ๋ย ผลผลิต และการผลิตพืช เป็นต้น เพื่อให้บริการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศและแก้ปัญหาการปลูกพืชของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง

          โดยผลงานวิจัยต่างๆ ได้ถูกนำไปขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป จนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรทั่วประเทศ

          ผลงานวิจัยถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตให้มีคุณภาพ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหลัก"เร็ว รุก สุขกับงาน วิชาการนำหน้า" เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการการทำงาน และมีการบริหารจัดการให้มีความมั่นคงและยั่งยืน

          โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรเป็นสำคัญ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

มิตรผล คว้า “รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม” ประจำปี 2558 ยกระดับคุณภาพโรงงานสู่มาตรฐานโลก

          ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบโล่ "รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม" (The Prime Minister's Industry Award) ประจำปี 2558 แก่ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง บริษัทในเครือกลุ่มมิตรผล โดยมี นายดำรง อินทรเสนา ผู้อำนวยการด้านโรงงาน เป็นผู้รับมอบ ณ อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้

          รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดที่มอบให้แก่องค์กรที่ประสบผลสำเร็จสูงสุดระดับประเทศ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันเทียบเท่าระดับสากล โดยพิจารณาคัดเลือกจาก

          1.การบริหารจัดการ อาทิ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดเก็บและการส่งมอบให้ลูกค้า 2.การประกอบธุรกิจ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ 3.การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและองค์ความรู้ อาทิ โครงการ Mitr Phol Best Innovation Awards 4.ผลกระทบของกิจการต่อระบบเศรษฐกิจ และ5.การทำคุณประโยชน์ต่อสังคม อาทิ โครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ยึดหลักธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ

          ในโอกาสนี้ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (กลาง) รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าเยี่ยมชมบูธกลุ่มมิตรผล โดยมี นายคนอง ศักดิ์เพ็ชร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโรงงาน กลุ่มมิตรผล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากกลุ่มมิตรผล ให้การต้อนรับ

          ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้คัดเลือก บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง จากสถานประกอบการทั่วประเทศ ให้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม The Prime Minister's Industry Award เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีการบริหารงานโดดเด่นมากที่สุด เหมาะแก่การเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสถานประกอบการรายอื่น โดยรางวัลนี้นับเป็นการได้รับรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ของกลุ่มมิตรผล นับตั้งแต่ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทบริหารงานคุณภาพ ในปี 2548 รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการจัดการพลังงาน ในปี 2549 และ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในปี 2550 และ รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2558 นี้

          นายกฤษฎา  มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า "กลุ่มมิตรผลมุ่งพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากอ้อย โดยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการจัดการ รวมทั้งนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศ ตามแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 4 ของโลก และเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอลอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน เราพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ความมั่นคงและยั่งยืน พร้อมกับการยกระดับความสามารถและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติ"

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ห้องแล็บสินค้าเกษตรในเออีซี

ทำกินถิ่นอาเซียน : ห้องแล็บสินค้าเกษตรในเออีซี : โดย...อาหมัด เบ็ญอาหวัง

                      ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือน หรือ 90 วันเท่านั้น การรวมตัวของกลุ่มประเทศในอาเซียนมาเป็นหนึ่งเดียวภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่เราจะต้องทุบกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าเกษตร ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องกำหนดกรอบมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารเหล่านี้ให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ว่าใครมีสินค้าเกษตรในมือแล้วสามารถส่งไปขายในกลุ่มเออีซีได้อย่างตามอำเภอใจ เพราะเราต้องคำนึงถึงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เรื่องการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

                      ภายใต้กรอบกรอบข้อตกลงยอมรับร่วมกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการตกลงหรือได้ยอมรับผลการตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ต้องผ่านห้องแล็บมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยไม่ต้องมีการตรวจวิเคราะห์ซ้ำ ซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ช่วยรับรองและสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตรในระดับสากลได้

                      แต่...ปัญหามีอยู่ว่าปัจจุบันมีห้องแล็บของไทยยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 กว่า 120 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นห้องแล็บของโรงงานเอกชน ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน อาทิ สปป.ลาว และกัมพูชา ยังไม่มีห้องแล็บมาตรฐานที่ว่านี้ด้วย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มองว่ามีความจำเป็นและถึงเวลาที่เราควรจะให้ห้องแล็บของไทยเข้าระบบเพิ่ม และพัฒนาห้องแล็บของประเทศเพื่อนบ้านสู่มาตรฐาน ISO/IEC17025 เพื่อยกระดับขีดความสามารถการตรวจสอบสินค้าเกษตรกลุ่มอาเซียนรองรับการค้า-ตลาด ในเออีซีต่อไป

                      เรื่องนี้ ท่านพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการ มกอช.บอกว่า ขณะนี้ มกอช.กำลังจัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านระบบห้องปฏิบัติการของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมุ่งพัฒนาห้องแล็บทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารภาครัฐของ สปป.ลาว รวมทั้งห้องแล็บภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาของไทยที่อยู่ในภูมิภาคการค้าไทย-ลาว ที่ยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานในรายการทดสอบสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เข้าสู่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพิ่มขึ้น

                      เบื้องต้นได้ประสานหน่วยงานที่มีห้องแล็บอยู่ในภูมิภาคการค้าไทย-ลาว เข้าร่วมโครงการ ซึ่งได้รับการตอบรับจากแล็บไทยและแล็บลาว รวม 32 แห่ง จากนั้น มกอช.ได้ประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาโดยได้คัดเลือกห้องแล็บ 3 แห่งเข้าร่วมโครงการนำร่อง ได้แก่ ห้องแล็บของ สปป.ลาว 2 แห่ง และห้องแล็บของไทย 1 แห่ง คือ บริษัท คอร์นโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อต่อยอดและขยายผลการพัฒนายกระดับขีดความสามารถห้องแล็บดังกล่าวให้เข้าสู่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ต่อไปในเร็วๆ นี้

                      เพราะถึงอย่างไรเสีย อนาคตห้องแล็บทดสอบสินค้าเกษตรและอาหารของไทยต้องได้รับการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 อยู่แล้ว เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สินค้าเกษตรไทยให้สามารถรองรับการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนหลังเปิดตลาดเออีซี

                      อย่าลืมนะครับว่า อนาคตคาดกันว่าเราต้องมีการค้าทั้งภายในและนอกตลาดเออีซีด้วยครับ!

จาก http://www.komchadluek.net วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'ธ.ก.ส.'เร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย

"ธ.ก.ส." เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อย เผยล่าสุดช่วยเหลือไปแล้ว 3.96 แสนราย จากเป้าหมาย 8.18 แสนราย

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างเร่งรัดการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรรายย่อยผ่านระบบของ ธ.ก.ส. เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรรายย่อยที่มีหนี้สินนอกระบบ ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว

ข้อมูล ณ วันที่ ณ วันที่ 28 กันยายน 2558 มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการแล้ว 396,678 ราย วงเงิน 60,038 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ ธ.ก.ส.จะให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น 818,000 ราย วงเงิน 116,000 ล้านบาท

โดยลูกค้าที่เข้าร่วม 396,678 ราย วงเงิน 60,038 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 1.เข้าร่วมโครงการปลดเปลื้องหนี้สิน 7,637 ราย วงเงิน 377.14 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 27.28% จากกลุ่มเป้าหมาย 28,000 ราย วงเงิน 4,000 ล้านบาท

2.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีลูกค้าเข้าร่วมแล้ว 91,275 ราย วงเงิน 13,128 ล้านบาท คิดเป็น 26.85% จากเป้าหมาย 340,000 ราย วงเงิน 48,000 ล้านบาท

3.โครงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ มีลูกค้าเข้าร่วมแล้ว 297,766 ราย วงเงิน 46,532 ล้านบาท จากเป้าหมาย 450,000 ราย วงเงิน 64,000 ล้านบาท

ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือน พบว่า มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนกับธ.ก.ส. 105,421 ราย มูลหนี้ 11,074 ล้านบาท โดยไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 66,923 ราย มูลหนี้ 7,068 ล้านบาท และไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ 38,498 ราย วงเงิน 4,006 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.ได้เข้าไปจ่ายเงินกู้ตามโครงการดังกล่าวแล้ว 33,597 ราย วงเงิน 3,024 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 30,326 ราย ยอดเงิน 3,457 ล้านบาท ไม่สามารถจัดสรรเงินกู้ให้ได้ เนื่องจาก รายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ เป็นต้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พลังงานเล็งลงทุน6.5แสนล. หวังกระตุ้นศก.

กระทรวงพลังงาน เตรียมลงทุน 650,000 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับเข้า ครม.เดือนนี้

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปีหน้ากระทรวงพลังงานเตรียมลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 650,000 ล้านบาท ในโครงการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 เควีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการพลังงานทดแทน การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (แอลอีดี) การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศในหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด แผนการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าระยะยาวอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ เดือนตุลาคมนี้กระทรวงพลังงานจะส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ….. และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ….. ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากกระทรวงพลังงานแก้ไขรายละเอียดบางมาตราตามที่ได้หารือร่วมกับตัวแทนของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย อาทิ เรื่องการจัดภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง เพื่อให้ภาครัฐได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หาก ครม.อนุมัติจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระ คาดว่าจะผ่านการพิจารณาจาก สนช.ภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นต้นปี 2559 จะสามารถเปิดให้เอกชนยื่นประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ซึ่งการเปิดสัมปทานดังกล่าวรวม 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเล ได้มีการแก้ไขให้เอกชนสารสามารถยื่นประมูลได้ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี

นอกจากนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ ขอยืนยันว่ากระทรวงพลังงานจะไม่มีการตั้งหน่วยงานใหม่ คือ บรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาแต่อย่างใด เพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากขณะนี้การควบคุมดูแลเรื่องพลังงานมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรคกูเลเตอร์ รับผิดชอบอยู่แล้ว

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ของ กฟผ. นั้น ได้เสนอให้มีการเดินหน้าชี้แจงประชาชนที่คัดค้านโครงการดังกล่าวจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่พอใจกับทุกฝ่าย สาเหตุที่กระทรวงพลังงานเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะหากสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เป็นการสร้างบนพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้า มีต้นทุนเพียง 8,000 ล้านบาท แต่หากสร้างบนพื้นที่แห่งใหม่อาจใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สหรัฐคงสิทธิGSPสินค้าไทย-ผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ9รายการ

กระทรวงพาณิชย์ เผย สหรัฐคงสิทธิ GSP สินค้าไทย-ผ่อนผันไม่ระงับสิทธิสินค้าเกษตร 9 รายการ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การที่สหรัฐฯ ประกาศผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP กรณี De Minimis Waivers และกรณี CNL Waivers ครั้งนี้ ทำให้สินค้าที่ได้รับการผ่อนผันดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร

ทั้งนี้การทบทวนโครงการ GSP สหรัฐฯ จะใช้ข้อมูลสถิติของปีก่อนหน้า (ปี 2557) มาพิจารณา โดยมีผลบังคับใช้ในปีถัดไป สำหรับการผ่อนผันกรณี De Minimis Waivers เป็นกรณีที่สินค้ามีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 50 แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ของสินค้านั้นจากทั่วโลกต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด (ปี 2557 = 22.5 ล้านเหรียญ) ก็สามารถขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP ได้

สำหรับกรณีการขอยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ (CNL Waivers) เป็นการขอผ่อนผันให้ยกเว้นเพดานการนำเข้าสหรัฐฯ หากสินค้านั้นได้รับการยกเว้นเพดานการนำเข้าก็จะสามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้โดยไม่มีระดับเพดาน (CNLs) ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดเพดาน 2 กรณี คือ กรณีเพดานมูลค่านำเข้าเกินที่กำหนดในแต่ละปี (ปี 2557 = 165 ล้านเหรียญ) และกรณีสัดส่วนการนำเข้าสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50

ทั้งนี้ ในการทบทวนโครงการ GSP สหรัฐฯ ประจำปี 2557 ปรากฏว่าไทยไม่มีรายการที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ GSP ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าที่ไทยเคยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ จะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทุกรายการ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกทราบโดยทั่วกันและควรเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปลัดคลังใหม่ชูธงสนองนโยบายรัฐบาลช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสนับสนุนการลงทุนทุกภาคส่วน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งวันแรก (1 ตุลาคม 2558)ว่า เตรียมเข้าหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เพื่อรับมอบนโยบายและภารกิจตามแนวทางของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ โดยเบื้องต้นจะกำหนดให้กระทรวงการคลังมีบทบาทในการรักษาวินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลัง เป็นทั้งกระทรวงหลักและกระทรวงที่ให้ความสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยไม่ค่อยสู้ดี เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ที่ผ่านมานายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ดำเนินนโยบายและออกมาตรการต่างๆ เพื่อพยุงให้เศรษฐกิจไทยไม่ตกต่ำ โดยต้องหันมาเน้นกลุ่มประชาชน และเกษตรกรให้มีความสามารถในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ใช้วงเงินลงทุนไม่สูง ด้วยการนำสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) เข้ามาช่วยปล่อยกู้เพิ่มสภาพคล่องในส่วนนี้เพื่อให้เกิดการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว กระทรวงการคลังจะสนับสนุนให้มีการลงทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการเมกะโปรเจกท์ต่างๆ พร้อมทั้งดูแลวินัยการเงินการคลังให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้แล้ว เนื่องจากขณะนี้การส่งออกของไทยติดลบอยู่ ประกอบกับจะบูรณาการการทำงานของกรมต่างๆ ภายใต้กระทรวงการคลังให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพราะทุกกรมจะช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะดำเนินนโยบายตามรัฐบาล โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้าง ทั้งด้านการเงิน ภาษี ภาระการคลังจากสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมหภาค เป็นหน้าที่ที่ข้าราชการประจำจะต้องดำเนินการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่างมั่นคง

“จะต้องทำมาตรการในระยะต่อไป กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำไปมากกว่านี้ รวมทั้งเร่งการลงทุนขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เมกะโปรเจกท์ต่างๆ ในช่วงที่ยังพึ่งพาการส่งออกไม่ได้ ซึ่งชัดเจนแล้วว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบประมาณ 4-5%” นายสมชัย กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ผวาเกษตรกรเสี่ยงทำนา‘ปรัง’ จี้กรมชลเร่งลงพื้นที่แจงข้อเท็จจริงสถานการณ์น้ำ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ที่ใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 2,684 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย จะต้องสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558-พฤษภาคม 2559 ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงมอบหมายให้กรมชลประทาน คณะกรรมการบริหารกลุ่มผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครชลประทาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงพื้นที่ชี้แจงของเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากมีความกังวลว่าหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว เกษตรกรจะทำนาปรังต่อเนื่องเหมือนฤดูปกติ ในขณะที่น้ำต้นทุนมีจำกัด ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงที่ข้าวนาปรังจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้ ล่าสุดจากการสำรวจพบว่า มีการทำนาปรังในลุ่มเจ้าพระยาไปแล้วราว 500,000 ไร่ จากพื้นที่นาปรังทั้งในและนอกเขตชลประทาน 10.7 ล้านไร่

นายธีรภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอความร่วมมือไปถึงเกษตรกร ตลอดจนผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มของลุ่มเจ้าพระยา ว่า ฤดูแล้งปีนี้ไม่มีน้ำพอสำหรับการทำนาปรัง โดยจะให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจในความจำเป็นที่จะใช้น้ำที่เห็นอยู่ในเขื่อนเพื่อประโยชน์อะไรบ้าง พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อที่จะใช้น้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมสูงสุด สำหรับในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับผู้ใช้ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาฝนตกด้านเหนือเขื่อนทั้ง 4 แห่ง น้อยมาก ทำให้สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก มีระดับน้ำและปริมาณน้ำลดต่ำลง และส่งผลต่อเนื่องให้การรับน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 10 ได้แก่ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองชัยนาท-อยุธยา และคลองระพีพัฒน์ลดน้อยลงตามไปด้วย” นายธีรภัทร กล่าว

สำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 10 มีทั้งกลุ่มพื้นฐาน และกลุ่มบริหาร โดยกลุ่มพื้นฐานมีทั้งหมด 942 กลุ่ม มีสมาชิกประมาณ 20,000 ราย ส่วนกลุ่มบริหารมีจำนวน 160 กลุ่ม มีสมาชิก 40,000 ราย ทั้งนี้การลงพื้นที่ชี้แจงนั้นจะดำเนินการไปจนถึงเดือนตุลาคม พร้อมทั้งจะมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอนาคตเพื่อเป็นแนวทางวางแผนการใช้น้ำต่อไปด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

‘สมคิด’นัดคลังถก 3 แบงก์รัฐรับมือภัยแล้ง ดันชง ครม. อุ้มเกษตรกรทันนาปรังปีหน้า

ชาวนาอ่วม! วิกฤติแล้งมาเร็วกระทบ 26 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา-แม่กลองส่อเค้าป่วน เสี่ยงไม่มีน้ำทำนาตั้งแต่มกราคม 2559 “สมคิด” นัดคลังถก 3 แบงก์รัฐ “ธ.ก.ส. ออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์” ออกมาตรการรับมือ ให้เวลา 1 สัปดาห์ก่อนดันเสนอครม. อุ้มเกษตรกรทันข้าวนาปรังปีหน้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายนโยบายการทำงานให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ที่ต้องการให้เน้นไปที่การยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรมากกว่าที่จะแสวงหาผลกำไร โดยในขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างหามาตรการดูแลช่วยเหลือภาคการเกษตรจากปัญหาภัยแล้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขั้นตั้งแต่ต้นปี หรือตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ซึ่งในเบื้องต้นได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธ.ก.ส. , ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อหาทางบรรเทาภัย

“ในการประชุมนัดที่ 2 หรือในสัปดาห์หน้า จะมีการสรุปมาตรการหลังจากให้แต่ละหน่วยงานกลับไปศึกษาในส่วนของมาตรการช่วยเหลือ จากนั้นจะนำข้อสรุปที่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในทันที สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการเชิงรุก ตั้งแต่ที่ยังไม่เกิดปัญญา ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงช่วงหน้าแล้งความช่วยเหลือน่าจะทันเวลา เป็นการปรับโครงสร้างการเกษตรทั้งหมด”

อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้งวิกฤติที่ไม่สามารถเพาะปลูกหรือทำการเกษตรได้ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องเสนอให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเหล่านี้ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการให้เงินอุดหนุนอยู่ที่ไร่ละ 1 พันบาท อย่างไรก็ดีมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ถูกขอร้องให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูการผลิตที่ผ่านมา ดังนั้นหากให้ชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ที่จะเริ่มเพาะปลูกกันตั้งแต่เดือนมกราคมก็อาจจะกระทบต่อรายได้ชาวนา

ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้พนักงานประจำสาขาในแต่ละพื้นทีส่งเข้าไปหารือกับผู้นำชุมชนแล้ว โดยเฉพาะลูกค้าของธนาคารว่าหากเกิดภัยแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้จริงๆ ธนาคารจะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น พักการชำระหนี้ รวมถึงส่งเสริมให้เกษตร กรมีอาชีพเสริมขณะที่ยังไม่สามารถเพาะปลูกได้ โดยอัตราดอกเบี้ยรวมถึงวงเงินนั้นอาจต้องรอการสรุปที่แน่นอนอีกครั้งภายในสิ้นเดือนนี้

 ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกับที่เคยให้สินเชื่อสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงิน 1 แสนล้านบาทนั้น ต้องดูความพร้อมว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมาอย่างไร

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ปกติแล้วลูกค้าของธนาคารกว่า 90% เป็นฐานลูกค้าที่อยู่ในต่างจังหวัดก็จริง แต่สัดส่วนที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบน่าจะมีประมาณ 20% เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้ประกอบการชุมชน ร้านค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ขอสินเชื่อเพื่อประชาชน ดังนั้นกลุ่มที่น่าจะกระทบมากกว่าคือ เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของธนาคาร ธ.ก.ส.

“สำหรับมาตรการที่คาดว่าจะนำเสนอในการประชุมนัดหน้า เบื้องต้นจะเน้นเรื่องมาตรการลดหย่อนต่างๆ การยืดระยะเวลาชำระหนี้ การพักชำระเงินต้นหรือพักชำระอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูกค้ากลุ่มนั้นๆ”

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นมีการประเมินว่าภัยแล้งจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 และรุนแรงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ขณะที่น้ำต้นทุนในเขื่อนกลับไม่เพียงพอ ทำให้เกิดพื้นที่วิกฤติภัยแล้งรุนแรงใน 2 ลุ่มน้ำ คือ 1.ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 122.83 ล้านไร่ ครอบคลุม 17 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทร ปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย และ 2.ลุ่มน้ำแม่กลอง มีพื้นที่รวม 18.86 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตาก อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจังหวัดเพชรบุรี ดังนั้นในส่วนของแนวทางการจัดโซนนิ่งภาคการเกษตรกรนั้น ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจไทยไม่นิ่ง โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

ไม่ว่าจะไปในวงสนทนาที่ไหนก็ดี ในวงเหล้าก็ดี หรือในการประชุมกรรมการบริษัทก็ดี หรือในงานเสวนาวิชาการที่ต่างๆ คำถามที่เจอบ่อยที่สุดก็คือ เมื่อไหร่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว หรือเศรษฐกิจลงถึงจุดต่ำสุดหรือยัง เพราะตัวเลขของทางการล่าสุดก็บอกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของบ้านเราคงจะอยู่ที่ 2.7 เปอร์เซ็นต์ ยังเหลืออยู่อีกเพียง 1 ไตรมาส ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังไม่หยุดนิ่ง ยิ่งทบทวนตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจทีไร ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ยิ่งต่ำลงทุกที

ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นของธรรมดาของการพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจขาลง เรามักจะคาดการณ์ดีกว่าความเป็นจริงเสมอ ตรงกันข้ามกับตอนที่เป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจขาขึ้น การคาดการณ์ทุกๆ ไตรมาสก็มักจะต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ และก็เป็นเช่นนี้เกือบทุกประเทศ เป็นของธรรมดา เราจึงไม่ควรจะให้น้ำหนักของตัวเลขจนเกินไป

เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยซึ่งเกี่ยวข้องไปด้วยกันเสมอมา อาจจะช้าเร็วกว่ากันบ้างก็ไม่เกิน 6 เดือน เพราะเศรษฐกิจไทยนั้นเป็นเศรษฐกิจที่เล็กและเปิด เป็นผู้รับราคาตลาดโลกสำหรับสินค้าเกือบทุกชนิด เพราะเชื่อมโยงกับการส่งออกและการนำเข้าอย่างใกล้ชิด

พูดถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อ้อยและน้ำตาล รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อาหารกระป๋อง อาหารทะเล เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เช่น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ต่างๆ ถ้ามองทะลุไปถึงปีหน้าและปีต่อไป ก็ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างไร ในเมื่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์นั้นไม่ต้องพูดถึง อาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ก็มีแต่ข่าวไม่ดี

อย่าเพิ่งถามเลยว่าเศรษฐกิจของเราจะฟื้นเมื่อใด เอาเป็นว่าเศรษฐกิจของเราในปีหน้าอัตราการขยายตัวจะลดต่ำกว่าปีนี้หรือไม่เท่านั้น เพราะมูลค่าการส่งออกก็ดี รายจ่ายของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็ดี จะยังสามารถรักษามูลค่าเท่ากับของปีนี้ได้หรือไม่ ไม่ต้องพูดถึงการลงทุน เพราะอัตราการใช้เครื่องมือเครื่องจักรก็ยังอยู่ในอัตราร้อยละ 50-60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังไม่เห็นสัญญาณว่าปีหน้าจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่สูงกว่าปีนี้ได้อย่างไร

ถ้าลากเส้นเป็นกราฟเราก็จะเห็นภาพตัว L (ตัวแอล) ที่เป็นเส้นขนานกับพื้นยาวไปข้างหน้าอย่างน้อยก็ 3-5 ปี แต่ในขณะที่เส้นกราฟขนานกับพื้นนั้น บางช่วงบางไตรมาส ในรอบปีก็อาจจะเห็นการผลิตดีขึ้นชั่วคราว ไตรมาสต่อมาก็จะฟุบตัวลงอีก นักเศรษฐศาสตร์เรียกอาการเช่นนี้ว่า "cyclical rebound" เหมือนกับดัชนีตลาดหุ้นขาลงที่จะลงขึ้นลงขึ้นเป็นรูปฟันปลา บางช่วงบางขณะก็จะมีอาการที่นิยมเรียกกันว่า "technical rebound" ขณะที่มีอาการก็คือบางไตรมาสที่การผลิตเพิ่มขึ้น สินค้าคงคลังลดลง ก็จะพากันดีใจ แต่ไตรมาสต่อมาสถานการณ์ก็จะกลับไปเหมือนเดิมอีก

ในสถานการณ์เช่นนี้ รายได้ของผู้คนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะลดลง เพราะสินค้าที่ตนผลิตราคาลดลง ในขณะที่สินค้าภาคอุตสาหกรรมขายได้น้อยลง การผลิตก็ลดลง เกิดภาวะหดหู่ ไม่แจ่มใส การค้าปลีกค้าส่ง กิจการรายย่อย ร้านค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่การค้าการเปิดตลาดก็จะซบเซา ไม่สดใสเหมือนตอนที่เศรษฐกิจเป็นขาขึ้น หรือตอนเศรษฐกิจดี

สำหรับคนชั้นกลางนอกจากจะได้รับผลกระทบจากเงินเดือนค่าจ้างไม่ขึ้น โบนัสไม่มีหรือมีน้อยลง สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการขาดทุนจากการที่ดัชนีราคาหุ้นตกลง นักพยากรณ์ดัชนีหุ้นก็มักขีดเส้นเป็นเส้นตรงที่หักปักลง และพยากรณ์ว่าสิ้นปีดัชนีราคาหุ้นจะเป็นเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งส่วนมากจะพยากรณ์ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน

ดัชนีราคาหุ้นบัดนี้มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคนชั้นกลางและคนชั้นสูง เมื่อราคาหุ้นสูงขึ้นผู้ที่ถือทรัพย์สินเป็นหุ้นหรือพันธบัตรก็จะรู้สึกว่าตัวร่ำรวยขึ้น เพราะทรัพย์สินมีมูลค่าสูงขึ้น บางคนก็มีเงินมากขึ้นจริงๆ จากการซื้อขายหุ้นในตลาด ดัชนีราคาหุ้นจึงเป็นเครื่องวัดบรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมได้เป็นอย่างดี ว่าสดใสหรือไม่สดใส

การที่นักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทยจำนวนมาก ก็เพราะราคาหุ้นที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงมีราคาสูงขึ้น ที่เมืองจีนมีบัญชีซื้อขายหุ้นถึง 200 ล้านบัญชี ถ้าราคาหุ้นสูงขึ้นก็จะมีผลต่อคนจำนวนหลายร้อยล้านคน การใช้จ่ายของคนเล่นหุ้นก็มากขึ้น การเดินทางออกไปท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินที่กำไรจากราคาหุ้นยังต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยก็มากขึ้น

ตรงกันข้ามถ้าตลาดหุ้นซบเซา ดัชนีราคาหุ้นตก คนซื้อขายหุ้นขาดทุน หรือมีความรู้สึกว่าตนจนลงเพราะราคาทรัพย์สินลดลง การจับจ่ายใช้สอยของคนในเมืองก็จะลดลง การเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยท่องเที่ยว ไปต่างประเทศก็จะน้อยลง

ปีนี้ดัชนีราคาหุ้นในเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงเริ่มลดลงตามดัชนีดาวน์โจน และดัชนีราคาหุ้นในยุโรป ปีหน้าดัชนีราคาหุ้นของจีนจะได้รับผลทางจิตวิทยาโดยตรง น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงคาดการณ์ได้ว่านักท่องเที่ยวจีนปีหน้าปี 2559 น่าจะลดลงจากปีนี้ หรือไม่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

การที่ราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว แทนที่จะเป็นผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย เพราะทำให้รายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันลดลง ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ใช้น้ำมันขับเคลื่อนพาหนะก็ลดลง แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อราคาน้ำมันลดลง ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก็มีราคาลดลง และเนื่องจากผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานนั้นมีสัดส่วนที่สูงในระบบเศรษฐกิจ และมีมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนที่สูง จึงพลอยทำให้ผลผลิตประชาชาติและราคาหุ้นของผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมีราคาต่ำลง ดึงให้การบริโภคการลงทุนมีมูลค่าต่ำลง กลายเป็นตัวที่ดึงให้เศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองกลายเป็นเศรษฐกิจขาลงไป ทุกวันนี้ถ้ามีข่าวว่าราคาน้ำมันดิบแพงขึ้นกลับกลายเป็นข่าวดีไปสำหรับคนในเมือง และบางทีสำหรับเกษตรชาวสวนยางและชาวไร่อ้อยสวนปาล์ม มันสำปะหลัง อาจจะรวมถึงข้าวและข้าวโพดด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลก กลับตาลปัตรกับเมื่อก่อนที่ข่าวราคาน้ำมันดิบขึ้นราคาเป็นข่าวไม่ดี

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยอดหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือระดับประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชน ต่ำกว่าเกณฑ์ที่เคยตั้งไว้ว่ายอดหนี้สาธารณะจะไม่ให้เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี ทุนสำรองระหว่างประเทศก็ยังอยู่ในระดับสูง มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการ ประมาณ 6 เดือนหรือประมาณ 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในด้านการเงินประเทศไทยยังมีความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง สามารถลงทุนในโครงการต่างๆ ได้อีกมากโดยไม่กระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางด้านการเงิน

การขาดดุลงบประมาณเกินกว่าเป้าหมาย เพราะรายได้จากการจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็เป็นของธรรมดาในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา เป็นปกติของเศรษฐกิจขาลง รัฐบาลก็ควรจะทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้นและชดเชยการขาดดุลโดยการออกพันธบัตรกู้จากสาธารณชน

รัฐบาลไม่ควรชดเชยการขาดดุลงบประมาณในระยะนี้โดยการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ เช่น หุ้น ปตท. การบินไทย ธนาคารทหารไทย และอื่นๆ เพราะระยะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซา ราคาหุ้นของกิจการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาหุ้นของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน ราคาจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ควรเก็บไว้ขายในช่วงเศรษฐกิจดี ราคาพลังงานสูงกว่านี้ ราคาหุ้นสูงกว่านี้ ระยะนี้ควรออกพันธบัตรกู้ประชาชนไปก่อน ประชาชนจะได้มีรายได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลด้วย

พวกเราคงเหนื่อยไปอีกหลายปี

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

'ฉัตรชัย'เดินหน้าเกษตรแปลงใหญ่ ในพื้นที่นำร่อง207แห่งใน77จว.

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ จ.กำแพงเพชร ว่าปัญหาในภาคเกษตรของไทยปัจจุบันเป็นลักษณะการทำเกษตรกรรายย่อย ต่างคนต่างผลิต ทำให้ยากต่อการจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ จึงกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน  4 ด้าน  1. การลดต้นทุน 2. การเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย 3. การบริหารจัดการ  4. การตลาด และได้มีนโยบายในเรื่องการจัดทำแปลงการเกษตรขนาดใหญ่โดยให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่ม และรวมพื้นที่การผลเป็นแปลงขนาดใหญ่ที่มีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการแปลง โดยจะวางแผน การผลิตตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกร มีความสามารถในการจัดการผลิตสินค้าเกษตรจนถึงการตลาดที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่

"ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯมีได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ 77 จังหวัด และมีพื้นที่นำร่อง 270 จุด 31 ชนิดสินค้า โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรรายย่อยมีความเข้มแข็ง และสามารถบริหารจัดการ การผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตมีคุณภาพเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดภาระหนี้สินได้"รมว.เกษตรฯ กล่าว

ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ ใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเกษตร มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตร ที่เหมาะสมช่วยแก้ปัญหาของชุมชนและสามารถตอบสนองประเด็นการพัฒนาในพื้นที่ และสอดคล้องกับ ความต้องการของเกษตรกร มีรูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการในพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการ ในลักษณะแปลงใหญ่ที่เหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่

โดยจ.กำแพงเพชร  มีเนื้อที่ทั้งหมด 5,300,000 ไร่ เป็นพื้นที่ถือครองเพื่อการเกษตร 3,200,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรกว่าร้อยละ 80 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 อันดับ ได้แก่ 1. ข้าวนาปี มีพื้นที่ปลูก 1.5 ล้านไร่, 2. มันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูก 7.5 ไร่, 3. อ้อยโรงงาน 4.5 ไร่ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตมาก เป็นอันดับ 2 ของประเทศ (รองจากนครราชสีมา) และถือเป็นพืชเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชร ที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาให้มีผลผลิตและคุณภาพสูงขึ้น

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เอกชนคาดส่งออกปีนี้ติดลบไม่ต่ำกว่า 5%

เอกชน คาดการณ์ส่งออกปีนี้ติดลบไม่ต่ำกว่า 5% หลัง 8 เดือนแรกติดลบแล้ว 4.92% ลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดันส่งออกปี 59 ฟื้นตัว

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะรองสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่าการส่งออกของไทยปี 58 คาดว่า ติดลบไม่ต่ำกว่า 5% เนื่องจากการส่งออกของไทย 8 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 142,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 4.92% และ 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่ายังขยายตัวในระดับต่ำต่อไป

“การส่งออกของไทยเดือนส.ค.58 มีมูลค่า 17,669 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 6.69% เป็นอัตราติดลบสูงสุดในรอบปีมากกว่าที่คาดไว้ และหากทั้งปีจะเห็นติดลบ 3% ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ในช่วง 4 เดือนที่เหลือจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ19,487 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นยากมากเพราะครึ่งปีหลังปีนี้มองว่าจะแย่กว่าครึ่งปีแรกแม้ว่าค่าเงินบาทของไทยจะอ่อนค่าแต่คู่แข่งทางการค้าเองก็อ่อนค่าเช่นกันความได้เปรียบในจุดนี้จึงไม่ได้มีผลนักแต่การส่งออกของไทยที่ติดลบหากเทียบกับประเทศที่เน้นการส่งออกไทยถือว่าติดลบไม่มากนักและข้อดีคือพบว่าส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละตลาดส่งออกเรายังคงไม่ลดลงชี้ให้เห็นว่าผู้ส่งออกไทยนั้นเก่งพอสมควร"

สำหรับการส่งออกที่เหลือ 4 เดือนหลังตลาดที่จะมีโอกาสเติบโตได้ยังคงการค้าชายแดนที่กระทรวงพาณิชย์เองก็มีเป้าหมายที่จะผลักดันและลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆซึ่งจะเห็นว่าเดือนส.ค.เองการค้าชายแดนของไทยเติบโตถึง 5% ขณะที่ตลาดอื่นๆลดหมด อย่างไรก็ตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์เพื่อฟื้นยอดส่งออกในปี 59 โดยการจัดทัพทูตพาณิชย์ที่มีฝีมือเพื่อบุกตลาดรายเมือง 50 แห่งทั่วโลกนั้นคงจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการส่งออกได้ชัดเจนรวมถึงเศรษฐกิจโลกมองว่าปีนี้น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ไม่มีปาฏิหาริย์ ยุติภัยแล้ง รัฐงัด 8 มาตรการ-แก้มลิง-ฝนหลวง

          ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 11 กระทรวงได้มาบูรณาการประชุมร่วมกันอย่างเข้มข้นกันอีกครั้งหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับมือภัยแล้งที่กำลังจะมาเยือนในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้ เนื่องจากไม่มีปาฏิหาริย์มากพอที่น้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเพิ่มมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ที่ 3,677 ล้าน ลบ.ม. เพราะพายุฝนที่เข้ามามีเพียง "หว่ามก๋อ" ที่มาช่วยนาข้าวและอ่างเก็บน้ำ ในภาคอีสานใต้และภาคตะวันออกไม่ให้วิกฤตหนักเท่านั้น

          การประชุมร่วมกันของ 11 กระทรวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 8 มาตรการ 25 กิจกรรมรองรับภัยแล้งนั้น เพื่อทำแผนงานโครงการโดยละเอียด ได้แก่ 1) การส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2) การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3) การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งการ จ้างแรงงานชลประทาน หรือการจ้างงานเร่งด่วนและการพัฒนาทักษะฝีมือ 4) การเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชน เพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง 5) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยให้ทุกส่วนราชการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด 6) การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ทั้งการขุดลอก แหล่งน้ำธรรมชาติ การปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 7) การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 8) การสนับสนุน อื่น ๆ อาทิ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 แผนสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น เพื่อเร่งปฏิบัติในการเข้าช่วยเหลือ

          ขณะเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินตามแผนที่กำหนดไว้ คือ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่กรมชลประทานต้องลงพื้นที่ 22 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น เพื่อชี้แจงถึงแผนการบริหารจัดการน้ำ และสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีอำนาจดูแลสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 335 แห่ง ซึ่งอยู่เหนือจังหวัดนครสวรรค์ 312 สถานี และใต้นครสวรรค์ลงมา 23 สถานี เพื่อให้ปฏิบัติตามแผนบริการจัดการที่กำหนดเอาไว้

          ในวันที่ 8 ต.ค.กระทรวงเกษตรฯร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ประชุมระบบทางไกล หรือวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รับรู้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งจัดชุดการทำงานร่วมกันโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าทีม เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ถึงความเหมาะสมของพื้นที่

          วันที่ 9-23 ต.ค.เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร จะลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรเรื่องการใช้น้ำและการทำอาชีพอื่น เพื่อสร้างรายได้ในช่วงที่ไม่สามารถทำนาปรังได้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ศกนี้เป็นต้นไป ทั้ง 8 มาตรการ 25 กิจกรรมดังกล่าวจะต้องสามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯจะตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งเฉพาะกิจขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรายงานผลการปฏิบัติในเวลา 18.00 น.ของทุกวัน

          ในปีนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศงดหรือห้ามทำนาปรัง แต่จะใช้วิธีการเข้าไปสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรว่าน้ำในเขื่อนมีน้อย จึงขอความร่วมมืออย่าทำนาปรัง เพราะทำแล้วจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา มีโอกาสจะเสียหายสูงมาก ให้ทำกิจกรรมอื่น เช่น เลี้ยงกบ หรือเลี้ยงอะไรอย่างอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          ในกรณีที่เกษตรกรจะฝืนทำนาจะพิจารณาอีกที และเกษตรกรต้องรับความเสี่ยงเอาเอง ซึ่งปัจจุบันมีบางพื้นที่เริ่มทำ ไปแล้ว หากเกษตรกรไม่ให้ความร่วมมือก็คาดว่าจะมีพื้นที่นาปรังได้รับความเสียหายไม่เกิน 5 ล้านไร่ ส่วนปริมาณน้ำที่คาดว่า 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ที่จะเก็บน้ำได้ในช่วงแล้งที่ 3,500-3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะยังมี ฝนตก และจะส่งผลให้น้ำไหลเข้าเขื่อนได้เพิ่มอีกประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

          ขุด 30 แก้มลิงอีสานตอนบน

          ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ใช้งบฯกลาง 604 ล้านบาท ก่อสร้างแก้มลิง 30 แห่งใหม่เก็บกักน้ำในเขตภาคอีสานตอนบนที่ค่อนข้างแห้งแล้งให้เสร็จภายใน 2-3 เดือน โดยอยู่ในจังหวัดนครพนม 9 แห่ง หนองคาย 6 แห่ง เลย 3 แห่ง บึงกาฬ 4 แห่ง และมุกดาหาร 8 แห่ง ซึ่งแก้มลิงดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ลำน้ำต่าง ๆ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง คาดว่าจะดำเนินการโดยกรมชลประทานและทหาร นอกจากนี้ ยังอนุมัติงบฯกลางอีก 117 ล้านบาท ทำฝายโดยใช้ถุงปุ๋ยใส่ทรายกั้นลำน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคจำนวน 562 แห่ง เพราะคาดว่าภัยแล้งในช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2558-30 เม.ย. 2559 จะรุนแรงพอสมควรจากปรากฏการณ์เอลนิโญ

          ตามแผนการจะ Kick off มาตรการทั้งหมดได้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังได้ สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รวมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ตั้งอยู่ใน พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ให้ระดมกำลังไปปฏิบัติการในพื้นที่ ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่ได้รับผลกระทบแทน ซึ่งจะใช้เครื่องบินทั้งหมด 18 ลำ มีความมุ่งหวังเติมน้ำในเขื่อน ทั้งนี้ จะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

          หลัง ต.ค.ไม่หยุดทำฝนหลวง

          สำหรับแผนการเติมน้ำในเขื่อนให้มากที่สุดนั้น นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรกล่าวว่า หลังสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้คาดว่าปริมาณ น้ำกักเก็บในเขื่อนโดยรวมทั้งประเทศจะต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องงดทำนาปรัง พร้อมชะลอการปลูกพืชใช้น้ำมากหรือจำกัดพื้นที่ปลูกพืชหลังนา เนื่องจากน้ำต้นทุนมีปริมาณจำกัด ซึ่งอาจเกิดปัญหาแย่งชิงน้ำได้ สำหรับน้ำที่เหลืออยู่ควรสงวนไว้เพื่อการอุปโภค บริโภค

          รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หากจะนำมาใช้เพื่อการเกษตรน่าจะไม่เพียงพอ

          "โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นฤดูฝนในอีก 3-4 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ยังมีร่องความกดอากาศที่พาดผ่านประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดความชื้นสัมพัทธ์เพียงพอและสามารถที่จะทำฝนหลวงได้ กรมฝนหลวงฯจึงได้มอบหมายให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วย เร่งระดมทำฝนหลวงอย่างเต็มที่ โดยให้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินขึ้นบินทำฝนหลวงทันทีเมื่อสภาพอากาศมีความเหมาะสม มุ่งเติมน้ำในเขื่อนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และเพื่อเพิ่มปริมาณ น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน"

          หลังเดือนตุลาคมเป็นต้นไป แม้สภาพอากาศจะไม่เหมาะสมต่อการทำฝนหลวง ทางกรมฝนหลวงฯก็ได้มีการจัดเตรียม "หน่วยเคลื่อนที่เร็ว" อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ 3 หน่วย และมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคคอยตรวจเช็กแลติดตาม สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ.ยังมีโอกาสที่จะเกิดฝนได้ครั้งละ 2-3 วัน หากตรวจพบว่า สภาพอากาศมีความเหมาะสม หน่วยเคลื่อนที่เร็วจะขึ้นบินฉกฉวยสภาพอากาศเพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนต่าง ๆ และทำฝนหลวงเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรที่ ต้องการใช้น้ำ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ดันCLMV-สินค้าบริการหัวหอกส่งออก 

          กระทรวงพาณิชย์รื้อยุทธศาสตร์ดันส่งออก มองภาพรวมทั้งภูมิภาค งัดกลยุทธ์ Deepening ASEAN เจาะ 3 ตลาดหลัก 50 เมืองรอง ตั้งความหวังตลาดอาเซียน-CLMV ยังไปได้ดี เดินหน้าภารกิจใหม่ ส่งออกสินค้าบริการ "สุวิทย์" ขีดเส้น 1 เดือน เร่งเครื่องข้าราชการจัดทัพทูตพาณิชย์ มั่นใจปี 2559 การส่งออกสินค้าไทยจะดีขึ้น

          กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยประจำเดือนสิงหาคม 2558 มีมูลค่า 17,669 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง -6.69% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2557 และยังลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,948 ล้านเหรียญ หรือลดลง -4.77% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเกินดุลอยู่ที่ 721 ล้านเหรียญ ส่วนการส่งออกในระยะ 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2558 มีมูลค่า 142,747 ล้านเหรียญ หรือลดลง -4.92% ด้านการนำเข้า 8 เดือนแรก มีมูลค่า 137,783 ล้านเหรียญ หรือลดลง -8.18% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 4,964 ล้านเหรียญ ประมาณการส่งออกตลอดทั้งปี ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายคาดการณ์ตรงกันว่า น่าจะติดลบเกินกว่า -3% ซึ่งจะเป็นการส่งออกติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับจาก ปี 2556 ที่ติดลบ -0.26%

          Workshop 12 กลุ่มส่งออกหลัก

          นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังจากการประชุมมอบนโยบายผู้บริหารกรม ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศว่า ในช่วง 1-2 เดือนนับจากนี้ กรมจะต้องเร่งดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ เพื่อผลักดันการส่งออกให้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ประกอบด้วย การจัดตลาดส่งออก, การจัดทัพทูตพาณิชย์, การจัดภารกิจ และการส่งเสริมหน่วยงานภายในให้มีความเข้มแข็ง

          โดยในวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะประชุม Workshop กับภาคเอกชนจาก 12 กลุ่มส่งออกสำคัญ (ยานยนต์และชิ้นส่วน-อัญมณีและ เครื่องประดับ-เกษตรและอาหาร-กลุ่มตลาด CLMV-ไลฟ์สไตล์-สิ่งทอและเครื่องหนังเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์-วัสดุ และบริการก่อสร้าง-โลจิสติกส์-สุขภาพ และความงาม-ดิจิทัลคอนเทนต์-การพิมพ์-สินค้าฮาลาล) ร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์ และจะนำผลสรุป Workshop เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะมอบให้ในที่ประชุม พกค.ให้ "ทูตพาณิชย์" ทำงานเชื่อมโยงบูรณาการกับหน่วยงานของประเทศไทย ซึ่งประจำอยู่ในต่างประเทศ ทั้ง BOI กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          ส่งออกให้มองภาพรวมภูมิภาค

          ส่วนการกำหนด 4 วาระเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการ จะประกอบไปด้วย 1) การจัดกลุ่มตลาดใหม่ให้เหมาะสม โดยจะโฟกัส 3 กลุ่ม ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย เน้นที่กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทย คิดเป็น 1 ใน 4 ของยอดส่งออกรวมทั้งประเทศ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนใหม่ (CLMV) มียอดการส่งออกเทียบเท่ากับยอดส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นตลาดจีน-อินเดีย ในขณะที่ตลาดส่งออกเดิมเริ่มจะอิ่มตัว เช่น ตลาดญี่ปุ่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป และตลาดความหวังในอนาคตอีก 1-2 ทศวรรษข้างหน้า เช่น ตลาดแอฟริกา ซึ่งมีจำนวน 54 ประเทศ

          สำหรับกลยุทธ์ในการผลักดันการส่งออกในกลุ่มตลาดใหม่ทั้ง 3 ตลาดข้างต้น ให้มองเป็น "ภาพรวมภูมิภาค" ยกตัวอย่าง เช่น ในภูมิภาคอาเซียน จะใช้กลยุทธ์ "Deepening ASEAN" ซึ่งจะเจาะลงไปถึงเมืองรองในแต่ละประเทศ เช่น ลาว มีเมืองหลวงพระบาง-สะหวันนะเขต, เมียนมา มีมัณฑะเลย์ เป็นต้น จากนั้น "ทูตพาณิชย์" จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งประชากร นักท่องเที่ยว พฤติกรรมการบริโภคสินค้าเป็นอย่างไร มีโอกาสในการ ส่งเสริมสินค้าและบริการอะไรได้บ้าง เพื่อนำมากำหนดยุทธศาสตร์ผลักดันการค้า และใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มีปัญหาและอุปสรรคใดต้องเร่งแก้ไขบ้าง พร้อมทั้งให้จัดตั้งหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการอาเซียน (ASEAN Executive Program) ส่วนมหาวิทยาลัยก็ควรจะทำการศึกษาเจาะตลาดอาเซียนเป็นรายประเทศด้วย

          โดยจะต้องแบ่งแนวทางการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการจะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ประกอบการเดิมในตลาดอาเซียน กลุ่มนี้มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว 2) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในอาเซียน กลุ่มนี้มีศักยภาพที่จะขยายการส่งออกไป ควรจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไร และ 3) กลุ่มผู้ประกอบการ ที่มีการพัฒนานวัตกรรม (IPE) ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศ

          2) ภารกิจการจัดทูตพาณิชย์ให้เหมาะสม กับตลาดส่งออก จากปัจจุบันมีสำนักทูตพาณิชย์ 61 แห่ง ใน 42 ประเทศ ซึ่งอาจจะกระจายไม่ทั่วถึงทุกประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องโยกย้ายหรือปรับให้เหมาะสมกับกลุ่มตลาดที่จะมีการจัดใหม่ รวมถึงการเสริมบุคลากร ด้วยการจ้างทูตพาณิชย์ที่เกษียณไปแล้ว ซึ่งเป็นผู้มีข้อมูลด้าน การตลาดเชิงลึกมาช่วยเป็น "พี่เลี้ยง" และประสานกับภาคเอกชนที่ไปลงทุนในต่างประเทศให้มาช่วยเป็น "พี่เลี้ยง SMEs" ตามโครงการพี่จูงน้องเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ทำไว้ในสมัยของอดีตรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ

          3) การจัดภารกิจใหม่ โดยจะมุ่งเน้นการผลักดันการส่งออกสินค้าบริการที่มีอัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก 18.4% คิดเป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นทิศทางการค้าโลก เนื่องจากในปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกสินค้าบริการของไทยในตลาดโลกมีสัดส่วนสูงกว่าการส่งออกสินค้าในตลาดโลก และทิศทางการส่งออกสินค้าบริการยังมีโอกาสขยายตัวเป็นบวก และ 4) การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใน (Back Stop) เป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของ ทูตพาณิชย์ให้เกิดความเข้มแข็ง

          ยุทธศาสตร์ใหม่ไม่ทันปี'58

          นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภา ผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งด้านของการทำ 3 ตลาดหลัก 50 เมืองสำคัญว่า เบื้องต้นอาจจะไม่ส่งผลในทันที เพราะมองว่ายุทธศาสตร์ใหม่จะส่งผลต่อการส่งออกในช่วงปี 2559 เนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ผู้ส่งออกได้รับคำสั่งซื้อ เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว และจะอยู่ระหว่างการส่งมอบสินค้า ส่วนกิจกรรมที่อาจจะช่วยให้การส่งออกในปีนี้ดีขึ้น ต้องมองไปที่การค้าชายแดน โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือประมาณการว่า การส่งออกตลอดทั้ง ปี 2558 นี้จะติดลบประมาณ -5%

          ขณะที่ นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การค้าใหม่ของกระทรวงพาณิชย์นั้น "เหมาะสมและก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง" การเจรจาการค้า การลงทุน มุ่งเจาะตลาดส่งออกไปในกลุ่มตลาดอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์จะต้องประสานงานกัน นอกจากนี้ยังให้ ความสำคัญกับการส่งออกด้านการบริการที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกดีขึ้น ส่วนประมาณการส่งออกทั้งปี 2558 ทางภาคเอกชนจะสรุปตัวเลขในการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ใน วันที่ 6 ตุลาคมนี้

          สศค.คาดการณ์ส่งออก -4%

          นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่องตามตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน โดย สศค.จะมีการพิจารณาปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจปี 2558 อีกครั้ง ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่า การส่งออกทั้งปีจะหดตัว -4% ดังนั้นต้องจับตาในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2558 ว่า จะสามารถส่งออกได้เดือนละ 18,900 ล้านบาทหรือไม่

          "ถ้าการส่งออก 3 เดือนที่เหลือออกมาใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคาดไว้ บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาก็น่าจะช่วยได้ แม้จะไม่ได้ช่วยตรง ๆ เรื่องส่งออก แต่ก็ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น ๆ ในกลุ่มที่กำลังมีปัญหาอยู่ได้ ขณะที่การส่งออกตอนนี้ก็ยังใกล้เคียงที่เราประเมิน เพราะสินค้าไทยส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังเป็นบวกอยู่ ตลาดจีนก็คาดว่าน่าจะดีขึ้น" นายกฤษฎากล่าว

จาก http://www.prachachat.net  วันที่  1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ก.เกษตรชูผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ 

          ก.เกษตรฯ สัมมนา Year End ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ "ผลงานวิชาการเกษตรพร้อมใช้ โครงการพิเศษก้าวไกล นำพาเกษตรไทยมั่นคง" พร้อมดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหลัก "เร็ว รุก สุขกับงาน วิชาการนำหน้า"

          นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการประชุมสัมมนา Year End ประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อ "ผลงานวิชาการเกษตรพร้อมใช้ โครงการพิเศษก้าวไกล นำพาเกษตรไทยมั่นคง" ระหว่างวันที่ 28p29 กันยายน ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาพืช เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนบริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ รับรอง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับดิน น้ำ ปุ๋ย ผลผลิต และการผลิตพืช เป็นต้น เพื่อให้บริการส่งออกสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศและแก้ปัญหาการปลูกพืชของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานวิจัยต่างๆ ถูกนำไปขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไปจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรทั่วประเทศ

          ทั้งนี้ มีการมอบรางวัลให้บุคคลและผลการดำเนินงานที่ได้รับรางวัล ได้แก่รางวัลข้าราชการดีเด่นประจำปี 2557 จำนวน 3 รางวัล รางวัลโครงการพิเศษดีเด่นประจำปี 2558 จำนวน 3 รางวัล และ รางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติประจำปี 2558 จำนวน 3 รางวัล คือ 1.รางวัลบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดีเด่น เรื่อง "การจัดการความรู้สู่ทุเรียนคุณภาพชั้นเลิศ" 2.รางวัลบูรณาการการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดี เรื่อง "หมู่บ้านเมล็ดพันธุ์ สู่คุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร และ 3.รางวัลพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง เรื่อง "การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร"

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่  1 ตุลาคม  พ.ศ. 2558