http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนตุลาคม 2559)

ก.อุตฯปรับโครงสร้างสู่Industry4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าปรับโครงสร้าง รองรับการพัฒนาสู่ Industry 4.0 และ SMEs 4.0

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้า การปรับโครงสร้างการทำงานภายในของกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของจัดทำรายละเอียดของการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ที่ทุกกระทรวงต้องดำเนินการ ซึ่งการปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการผู้ประกอบการสู่ Industry 4.0 และ SMEs 4.0 สร้างมูลค่าเพิ่มทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป อีกทั้งยังต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วัตถุดิบ เทคโนโลยี และการตลาด

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะปรับบทบาทเป็นกระทรวงหลักในการดำเนินการของ SMEs เพียงหน่วยงานเดียวนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ยังยึดแนวทางในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนา SMEs และ OTOP จะทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพัฒนาในส่วนของบุคลากรในชุมชน ผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพและแข่งขันได้

จาก  http://www.innnews.co.th วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559

พล.อ.ฉัตรชัยสั่งกรมชลฯคุยชาวบ้านระบายน้ำ

รัฐมนตรีฯ เกษตรและสหกรณ์ สั่งกรมชลทำความเข้าใจชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ หลังเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 เวลา 06.00 น. ณ จุดตรวจสอบน้ำ ค่ายจิรประวัติ มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงอยู่ที่1,526 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,194 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้าน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 24 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่ต่ำนอกคันกั้นน้ำพบว่า ระดับน้ำบ้านบางหลวงโดด จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณล้นตลิ่ง 0.14 เมตร บ้านบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.46 เมตร

อย่างไรก็ตาม จากการที่มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้กรมชลประทาน ได้เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาอีก 50-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นเล็กน้อย

โดย พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้กรมชลประทาน ลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ทำความเข้าใจสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น พร้อมสอบถามความเดือดร้อนต่าง ๆ จากประชาชน

จาก  http://www.innnews.co.th วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559

ก.อุตเร่งทำAction planแผนพัฒนา4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งทำ Action plan แผนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 หลัง ครม. เห็นชอบ ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ความคืบหน้านโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579 ) ล่าสุด ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการชี้นำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรมและมาตรฐานอุตสาหกรรม (สปริงบอร์ด) และเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว โดยขั้นตอนจากนี้จะรวบรวมความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 ได้แก่ การสร้างและยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เพื่อเป็นกลไกหลักทางเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาและปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมสภาพแวดล้อมและการนำเทคโนโลนี นวัตกรรมและงานวิจัยมาพัฒนา และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยตั้งเป้าทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี จากร้อยละ 3 - 3.5 เป็นร้อยละ 4 - 5 ต่อปี ยกระดับผลิตภาพจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี เป็นร้อยละ 2 ต่อปี เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เบื้องต้นแผน Action plam เมื่อแล้วเสร็จจะส่งให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง

จาก  http://www.innnews.co.th วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2559

คลังยันเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง ชู 4 ปัจจัย/นโยบายคลัง-การเงินหนุน

คลังยืนยันเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ชู 4 ปัจจัย ทั้ง การบริโภค-ลงทุน-ท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นแตะ 63.4 ปรับเพิ่มเป็นเดือนที่ 3 ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนหนุนการใช้จ่ายในระยะต่อไป ขณะที่นโยบายการคลังและการเงินยังเป็นแรงขับเคลื่อนช่วงที่เหลือของปี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง พร้อมให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ภาคการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนสะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกันยายน 2559 ที่ขยายตัว 13.4% ต่อปี ตามรายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวอยู่ที่ 4.5% ต่อปี

ส่วนยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกันยายน 2559 ขยายตัว 3.2% ต่อปี โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวถึง 5.2% ต่อปี นอกจากนี้ ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยสะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกันยายน 2559 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.4 โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะต่อไป

ถัดมา คือปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในเดือนมกราคม-กันยายน 2559 การขอรับการส่งเสริมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าทั้งสิ้น 157.8 พันล้านบาท คิดเป็น 43% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมโดยรวม โดยเป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 42.0 พันล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร 38.5 พันล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 28.0 พันล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 23.0 พันล้านบาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 13.1 พันล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 5.2 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่าสุด พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกันยายน 2559 (ข้อมูลเบื้องต้นจากกรมการท่องเที่ยว) มีจำนวน 2.4 ล้านคน ขยายตัว 17.8% ต่อปี ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 24.8 ล้านคน ขยายตัว12.4 %ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,230.2 พันล้านบาท ขยายตัว16.1 %ต่อปี ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลเบื้องต้น(ช่วง 1 – 16 ต.ค.59) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินมายังประเทศไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อีกทั้ง การดำเนินนโยบายการคลังและการเงินยังคงมีความต่อเนื่องเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานและมีเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐประจำปีงบประมาณ 2560

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ SMEs ให้สามารถแข่งขันได้ เช่น (1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) (2) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ (3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 เป็นต้น

จาก  http://www.thansettakij.com วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2559

เงินบาททยอยอ่อนค่า จับตาประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น สัปดาห์หน้า

“เงินบาททยอยอ่อนค่า ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เงินบาททยอยอ่อนค่าลง โดยเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะกลับมาทยอยอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมามีสถานะขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย ขณะที่ การอ่อนค่าของเงินหยวน และการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะที่เหลือของปี ก็กดดันสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินบาทให้อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน

สำหรับในวันศุกร์ (28 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (21 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ต.ค.-4 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของนักลงทุนน่าจะอยู่ที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางอังกฤษ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนต.ค. รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index รวมถึงรายจ่ายด้านการก่อสร้าง และยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทยและยูโรโซน และดัชนี PMI เดือนต.ค. ของหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากแรงขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,494.44 จุด ลดลง 0.40% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 9.02% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 50,282.60 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 575.93 จุด เพิ่มขึ้น 1.81% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร ตอบรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาค่อนข้างดีในไตรมาส 3/2559 ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ก่อนการประชุมเฟดในวันที่ 1-2 พ.ย. นี้

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (31 ต.ค.- 4 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,480 และ 1,460 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,520 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการประชุมเฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ดัชนี PMI ภาคการผลิต และยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงาน ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น

จาก  http://www.matichon.co.th  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2559

ราคาน้ำตาลแพงสุดในรอบ4ปี มั่นใจไทยไร้ขาดแคลน

นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเมินว่าราคาน้ำตาลโลกในปีการผลิต 2559/2560 จะอยู่ในระดับ 22-25 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และเป็นการปรับตัวที่ค่อนข้างเร็วและแรง จากปีก่อนที่ราคาร่วงลงไปแตะ 10 เซนต์ต่อปอนด์ และมองว่าราคาน้ำตาลโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากผลิตน้ำตาลทรายของโลกยังอยู่ในภาวะขาดดุล หรือปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายสูงกว่าผลผลิต โดยประเมินภาวะขาดดุลน้ำตาลในปี 2559 จะอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน และปี 2560 ยังคงจะขาดดุลต่อเนื่องอีก 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญในโลก เช่น ไทย อินเดีย และจีน ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายของโลกยังเติบโตปีละ 1.8-2% อย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในช่วง 2 ปีนี้ดีอย่างต่อเนื่อง

นายภัทรพงศ์กล่าวว่า ทั้งนี้แม้ว่าภาวะน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะขาดแคลน แต่มั่นใจว่าปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศจะไม่มีปัญหา เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลทุกโรงยังต้องกันส่วนของการบริโภคภายในประเทศไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมต่างๆ โดยบริษัทจะเริ่มเปิดรับหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูการผลิตอ้อยที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงดังกล่าว โดยปีนี้ได้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3-2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.6-2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน หรือเพิ่ม 3-4 หมื่นตัน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 28 ตุลาคม 2559

บาทปรับทิศเริ่มอ่อนค่าสหรัฐขึ้นดบ.

ทิศทางเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่า หลังเห็นสัญญาณสหรัฐพร้อมขึ้นดอกเบี้ย ธ.ค.นี้

นักค้าเงินธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 27 ต.ค. มีทิศทางอ่อนค่าลงอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น อาทิ การขาดดุลการค้าลดลง ยอดขายบ้านเพิ่มขึ้น แต่การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าแรง เพราะตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะการประกาศตัวเลข จีดีพีไตรมาส 3 ซึ่งเป็นตัวเลขสำคัญก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐในวันที่ 1-2 พย.นี้

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 35.03 บาท/เหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงจากวันก่อนหน้าที่ปิดตลาด 34.98 บาท/เหรียญสหรัฐ โดยระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหว 35.00-35.13 บาท/เหรียญสหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ 35.09 บาท/เหรียญสหรัฐ

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภาพรวมค่าเงินอ่อนค่าลงทั้งภูมิภาคเมื่อเทียบเงินเหรียญสหรัฐ เช่น เงินหยวน เหรียญสิงคโปร์ ริงกิต หลังจากกำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐออกมาดี ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้ หนุนให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินบาทต่อจากนี้จะกำหนดโดยปัจจัยต่างประเทศมากกว่าภายใน ซึ่งนอกจากปัจจัยหลักจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐแล้ว

ยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 8 พ.ย.นี้ ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ความเสี่ยงระบบธนาคารในยุโรปรวมทั้งราคาน้ำมัน "บาทเริ่มเห็นสัญญาณอ่อนค่าลง จากการที่นักลงทุนกลับมาถือเงินดอลลาร์ไว้ ก่อนการประชุมเอฟโอเอ็มซีต้นเดือนพย. แต่การอ่อนค่าไม่แรงนัก เพราะตลาดไม่คิดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ แต่จะเห็นการส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้น" นายอมรเทพ กล่าว

นอกจากนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ ฮิลลารี คลินตัน หากฝ่ายใดชนะจะมีผลต่อค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญจากนโยบายเศรษฐกิจที่ต่างกันของทั้งสองฝ่าย แต่ในภาพรวมทิศทางเงินบาทระยะต่อไป อ่อนค่าลงแน่นอน เพราะทั้งคู่ต่างมี นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่ทำให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น โดยธนาคารมองค่าเงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 36 บาท/เหรียญสหรัฐ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการการส่งออกปีนี้เหลือ 0.5% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% หลังจากมูลค่า ส่งออกสินค้าไตรมาส 3 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ 1.2% ส่งผลให้มูลค่า ส่งออกสินค้าของไทย 9 เดือนแรกของปี 2559 หดตัว 0.7% โดยสินค้าส่งออกหลักอย่างรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอาหาร ยังคงเป็นตัวหนุนให้การส่งออกสินค้าโดยรวมในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ดี ในช่วงที่เหลือของปี 2559 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 28 ตุลาคม 2559

ธนาคารโลกปรับอันดับเริ่มต้นธุรกิจในไทยขึ้นที่15

พณ. เผย ธนาคารโลก ปรับอันดับการเริ่มต้นธุรกิจ ในไทยขึ้นที่ 15 สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารโลก หรือ World Bank เปิดเผยผลสำรวจการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business 2017 ซึ่งประเทศไทยดีขึ้น 3 อันดับ โดยเลื่อนขึ้นจากอันดับ 49 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับ 46 ในปีนี้ โดยเฉพาะส่วนของตัวชี้วัด 2 ด้าน ที่กระทรวงพาณิชย์ ได้พยายามพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทำให้มีอันดับที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับผลการจัดอันดับของ 2016 คือ ตัวชี้วัด 'ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ' ซึ่งได้ปรับอันดับขึ้น 15 อันดับ จากเดิม 93 เป็นอันดับที่ 78 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปรับลดขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจให้สะดวกขึ้นจากเดิม 6 ขั้นตอน ใช้เวลา 27.5 วัน เหลือเพียง 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 25.5 วัน โดยปรับลดระยะเวลาการจัดทำตรายางลงเหลือ 2 วัน จากเดิม 4 วัน และการลดขั้นตอนของการชำระค่าธรรมเนียมมาควบรวมกับขั้นตอนจดทะเบียนตั้งบริษัทให้อยู่ ณ จุดบริการเดียวกัน โดยให้นายทะเบียนเป็นผู้รับจดทะเบียนและรับชำระฯ ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็วยิ่งขึ้น และมั่นใจว่าผลการจัดอันดับในปี 2018 ไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแผนงานเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจเพิ่มเติม

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รมว.พาณิชย์ ร่วมประชุม WEF-Mekong แลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือเศรษฐกิจยุคที่ 4

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum on the Mekong Region (WEF-Mekong) ซึ่งจัดต่อเนื่องกับการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2559 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม 

ในการประชุม WEF-Mekong ครั้งนี้ ผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการปรับตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับความก้าวหน้าของการผลิตยุคที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งจะขับเคลื่อนด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายสาขา อาทิ นาโนเทคโนโลยี พันธุวิศวกรรม หุ่นยนต์  และระบบอัตโนมัติ รวมถึงการเชื่อมอินเตอร์เน็ตเข้ากับทุกสิ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสินค้าและบริการ หากประเทศสามารถยกระดับแรงงานและผู้ประกอบการ รวมถึงกฎระเบียบรองรับเทคโนโลยีข้างต้นได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถรักษาบทบาทในห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศต่อไปได้ และสามารถเข้าถึงระบบการค้าและตลาดในอนาคต รวมทั้งลดความเสี่ยงของการว่างงานซึ่งเกิดจากการมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดจากความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีได้แตกต่างกันของประชาชนด้วย

นางอภิรดี กล่าวในการ อภิปรายเรื่อง Inclusive Growth, Innovation, and the Fourth Industrial Revolution ร่วมกับผู้นำภาคเอกชนจากประเทศลุ่มน้ำโขง โดยนำเสนอถึงแนวทางตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งจากภายในอย่างมั่นคง และเชื่อมโยงตลาดทั้งอาเซียนและตลาดโลก เมื่อผู้ประกอบการทุกระดับมีความพร้อมเพียงพอ ก็จะก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่และเติบโตไปด้วยกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งไทยมองว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ จะเป็นทั้งโอกาสในการพัฒนาภาคเกษตรให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่ส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรในวงกว้าง และเป็นโอกาสของ SME และวิสาหกิจชุมชนที่จะใช้ระบบดิจิตัลเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลตลาดและการค้ากับทั่วโลก รวมทั้งโอกาสของภาครัฐเองที่จะพัฒนาการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจรวมทั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังเป็นความท้าทายของภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ ที่จะต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนระบบการจัดการความเสี่ยงต่างๆ เพื่อรองรับบริบทการค้าในอนาคต ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไทยได้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมขึ้น เพื่อแปลงผลงานวิจัยให้เป็นสินค้าที่ตลาดต้องการและเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตไปสู่เศรษฐกิจฐานราก ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 และได้วางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) โดยตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป และกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ทั่วถึงและยั่งยืนด้วย

จาก http://www.prachachat.net   วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กรมชลฯเผย ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง เข้าสู่ภาวะปกติ น้ำลดต่ำกว่าตลิ่ง เร่งระบายลงแม่น้ำท่าจีนช่วยชาวอยุธยายังเจอน้ำเอ่อ พร้อมตุนน้ำเข้าเขื่อนรับมือแล้งปี’60

ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาล่าสุด ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,582 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) จึงระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,165 ลบ.ม./วินาที เพื่อรับน้ำบางส่วนเข้าระบบชลประทานเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่งผลให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในเขตอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท, อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี, อำเภอไชโย อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

นายทองเปลวกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในบริเวณคลองโผงเผง และคลองบางบาล ตลาดเสนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ยังคงมีน้ำเอ่อเข้าท่วมขังเป็นบางแห่งนั้น กรมชลฯ ได้วางมาตรการลดระดับน้ำในบริเวณดังกล่าวด้วยการเพิ่มการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีน จาก 150 ลบ.ม./วินาที เป็น 180 ลบ.ม./วินาที แต่จะระวังไม่ให้กระทบต่อพื้นที่การเกษตรก่อนจะระบายน้ำลงสู่ทะเลตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้เพิ่มการรับน้ำผ่านเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก จาก 150 ลบ.ม./วินาที เป็น 180 ลบ.ม./วินาที เพื่อระบายน้ำลงสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ช่วยลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้รวดเร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาล่าสุด นายทองเปลวกล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำเต็มอ่าง คือ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และ 937 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 7,620 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 80% ของความจุอ่าง ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำ 6,687 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุอ่าง คาดการณ์ว่าวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ในช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 รวมกันประมาณ 9,600 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2559/60 ของกระทรวงเกษตรฯกำลังร่วมกันวางแผนจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2559/60 ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รัฐพร้อมถกบราซิลฟ้อง WTO มั่นใจแผนชัดหลังครม.ไฟเขียวไม่มีการอุดหนุนต้นทุน

สอน.ไม่หวั่นเอกชนของบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก พร้อมเดินทางเจรจา 3-4 พฤศจิกายนนี้ ชี้แจงข้อสงสัยทุกเม็ด หลัง ครม.ไฟเขียวแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มั่นใจโอกาสถอนฟ้องมีสูง ตัดปัญหาข้อกังวลชดเชยต้นทุนผลิตอ้อย 160 บาทต่อตันได้ หลังราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกพุ่ง ชาวไร่อ้อยได้กว่า 1,000 บาทต่อตัน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2559 นี้ ทางสอน.และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะร่วมเดินทางไปประเทศบราซิล เพื่อเปิดเจรจากับทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ในฐานะเป็นผู้ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก(WTO) เป็นครั้งที่ 2 จากที่ได้เปิดเจรจาไปรอบหนึ่งแล้วเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ต่อกรณีที่ไทยมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล และอุดหนุนราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ ในช่วงที่ผ่านมา

โดยการไปเจรจาครั้งนี้ ค่อนข้างมีความมั่นใจว่า ทางบราซิล น่าจะมีความพอใจต่อการแก้ไขในข้อสงสัยต่างๆ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ.2559-2564 ที่เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าทางไทยมีมาตรการดำเนินการแก้ไขตามข้อกล่าวหา ซึ่งจะนำไปสู่การถอนฟ้อง WTO ได้ เพราะที่ผ่านมา ถือว่าทางบราซิลยังให้โอกาสกับทางไทยอยู่ ในการที่จะยังไม่ตั้งคณะผู้พิจารณา( Panel) ขึ้นมาเพื่อไต่สวนในการฟ้อง โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาให้ได้ข้อยุติก่อน

ดังนั้น เมื่อทางไทยมีแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่สอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงภายใต้ WTO ซึ่งมีการกำหนดแผนงาน เป้าหมาย กิจกรรมดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการแล้ว จึงเชื่อว่าทางเอกชนของบราซิลน่าจะถอนฟ้องได้

 “ที่ผ่านมาทางเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้มีการเจรจากับทางผู้แทนทางบราซิล เป็นที่น่าพอใจไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งการไปเจรจาครั้งนี้ ก็จะเป็นการเจรจาที่เต็มรูปแบบ ที่ฝ่ายไทยจะไปตอบคำถามในข้อสงสัยต่างๆ ให้เอกชนทางบราซิลได้เข้าใจเพิ่มมากขึ้น เมื่อเจรจากันแล้วทางบราซิล อาจจะให้เวลาไทยอีกระยะหนึ่ง เพื่อรอดูว่าได้ดำเนินการตามแผนหรือที่ได้เจรจากันไว้หรือไม่ หากทางไทยตั้งใจจริงโอกาสที่จะถอนฟ้องก็มีมากขึ้น”

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า สำหรับโอกาสที่ทางบราซิลจะถอนฟ้อง WTO ก็มีความเป็นไปได้สูง หากคณะเจรจาสามารถชี้แจงและตอบข้อสงสัยต่างๆ ห้างบราซิลเข้าใจ โดยเฉพาะแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ผ่านการพิจารณาของครม.ไปแล้ว จะต้องชี้แจงเงื่อนไขเวลาในการดำเนินงานให้มีความชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด

โดยเฉพาะเรื่องการอุดหนุนต้นทุนการผลิตอ้อย ที่แต่ละปีมีการอนุมัติเงินกู้มาช่วยเหลือชาวไร่ 160 บาทต่อตัน ซึ่งในฤดูหีบ 2559-2560 ก็ต้องทำให้เห็นว่าจะไม่มีการอนุมัติเงินกู้มาช่วยเหลืออีก ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่ราคาน้ำมันในปีนี้ปรับตัวสูงขั้นมากในระดับ 21-22 เซ็นต์ต่อปอนด์ จะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นขยับขึ้นไปอยู่ที่กว่า 1,000 บาทต่อตันได้ ด้วยราคาระดับนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องบอนุมติเงินกู้มาช่วยเหลือต้นทุนชาวไร่อ้อยแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลดีที่สามารถตัดข้อกล่าวหาของทางบราซิลออกไปได้

ส่วนการยกเลิกโควตาน้ำตาลทราย หรือการปล่อยเสรีน้ำตาลทราย ก็ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการในรูปแบบใดให้สอดคล้องกับหลัก WTO ให้มากที่สุด

อนึ่ง การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและน้ำตาลทรายดังกล่าว ที่ครม.เห็นชอบ ได้แก่ 1.การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ได้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าอ้อยและน้ำตาลทราย และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้าของ WTO เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และเป็นสาก

2. การเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย มีเป้าหมายเพื่อต้องการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยการผลิตน้ำตาลทราย และการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ 3. การกำหนดมาตรฐานน้ำตาลทรายต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย มีเป้าหมายเพื่อต้องการกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปีการผลิต 2559/2560 และมีเป้าหมายเพื่อกำหนดการคำนวณต้นทุนมาตรฐานอ้อยและน้ำตาลทรายที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ให้เป็นที่ยอมรับและเป็นธรรมกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งการกำหนดต้นทุนมาตรฐานเอทานอลและผลิตภัณฑ์จากอ้อยอื่น ๆ ด้วย

4. การรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย มีเป้าหมายเพื่อให้กองทุนอ้อยและนํ้าตาลทรายสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินหรือเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลทราย

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

BRR ลุยเปิดหีบอ้อย ธ.ค.นี้ เผยเเม้น้ำตาลทรายในตลาดโลกจะขาดแคลน เเต่ไม่กระทบไทย

BRR ลุยเปิดหีบอ้อยต้นธันวาคมนี้ มั่นใจผลผลิตฤดูการผลิตปี 2559/2560 ทะยานแตะ 2.4 ล้านตันได้ ปลื้มราคาน้ำตาลโลกพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปี ชี้ภาวะขาดแคลนน้ำตาลโลกยังอยู่ต่อเนื่องอีก 2 ปี  ส่วนปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศมั่นใจไม่มีปัญหาขาดแคลน

นายภัทรพงศ์  พงศ์สวัสดิ์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์  จำกัด (มหาชน) หรือ BRR   เปิดเผยว่า บริษัทจะเริ่มเปิดรับหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูกาลผลิตอ้อยที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงดังกล่าว โดยปีนี้ได้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3 – 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.6 – 2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน หรือเพิ่ม 3-4 หมื่นตัน

เนื่องจากบริษัทได้มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเป็น 2 แสนไร่ในปีนี้ จาก 1.9 แสนไร่ในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไร่อ้อยโดยเน้นการให้ความรู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 12,000 ราย อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา การให้ปุ๋ย และกำหนดวันตัดอ้อย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้อ้อยที่มีคุณภาพสูงสุดและสะอาดที่สุดเมื่อมาถึงโรงงาน  โดยประเมินค่าความหวานในปีผลผลิตที่จะถึงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 13.5 C.C.S จากเดิม 13 C.C.S

“การหีบอ้อยปีนี้เราเพิ่มเป้าจากเดิมค่อนข้างเยอะ หรือราว 3 - 4 แสนตัน เนื่องจากผลผลิตอ้อยในพื้นที่บุรีรัมย์ค่อนข้างที่จะมีประสิทธิภาพ เกษตรกรดูแลเอาใจใส่อย่างดีทั่วถึง และมีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น  ขณะที่สภาพอากาศในปัจจุบันก็ค่อนข้างที่จะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอ้อย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในช่วงที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวเกษตรกรชาวไร่อ้อยและบริษัท” นายภัทรพงศ์ กล่าว

นายภัทรพงศ์ ประเมินว่า ราคาน้ำตาลโลกในปีการผลิต 2559/2560 น่าจะอยู่ในระดับ 22-25 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และนับเป็นก้าวปรับตัวที่ค่อนข้างเร็วและแรง จากปีก่อนที่ราคาร่วงลงไปแตะ 10  เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงเดือนสิงหาคม

พร้อมกับให้ความเห็นว่า ราคาน้ำตาลโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากผลิตน้ำตาลทรายของโลกยังอยู่ในภาวะขาดดุล หรือ ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายสูงกว่าผลผลิต โดยประเมินภาวะขาดดุลน้ำตาล ในปี 2559 จะอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน และปี 2560 ยังคงจะขาดดุลต่อเนื่องอีก 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญในโลก เช่น ไทย อินเดีย และ จีน ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายของโลกยังเติบโตปีละ 1.8-2% อย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในช่วง 2 ปีนี้ดีอย่างต่อเนื่อง

“รอบปี 2558/2559 ถือว่าเป็นปีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างมาก แต่จะเห็นได้ว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปีนี้ทุกอย่างพลิกกลับมาอยู่ในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับบริษัท ทั้งในส่วนของปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลที่ทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วย” นายภัทรพงศ์ กล่าว

นายภัทรพงศ์  บอกด้วยว่า แม้ว่าภาวะน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะขาดแคลน แต่มั่นใจว่าปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจาก ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลทุกโรง ยังต้องมีการกันส่วนของการบริโภคภายในประเทศไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมต่างๆ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อียิปต์ขาดน้ำตาลหนัก รัฐบุกยึดจากโรงงานมาขายให้ประชาชน

เจ้าหน้าที่ทางการอียิปต์ได้เข้ายึดน้ำตาลดิบปริมาณหลายพันตัน จาก อีดิตา ฟู้ด อินดัสทรี โรงงานเอกชนผู้ผลิตอาหารใหญ่ที่สุดในอียิปต์ และโรงงานของ เป๊ปซี่โค อิงค์ ก่อนนำมาขายต่อให้ประชาชน ท่ามกลางภาวะน้ำตาลขาดตลาดอย่างหนักในอียิปต์

ฮานี เบอร์ซี ประธานอีดิตา ระบุว่า รัฐบาลได้เข้ายึดน้ำตาลจากโรงงานของอีดิตาเกือบ 2,000 ตัน ซึ่งโรงงานเตรียมไว้สำหรับผลิตลูกกวาดใน 3 สัปดาห์ และส่งผลกระทบต่อการผลิตของโรงงาน

“หากรัฐบาลพบว่าปริมาณน้ำตาลที่บริษัทกักตุนไว้มากเกินไปก็ควรจะเข้ามาเจรจาต่อรองกับบริษัท ไม่ใช่การเข้ายึดคลังสินค้าและทำเหมือนบริษัทของเราลักลอบขโมยของ” เบอร์ซี ระบุ

ขณะที่ทางการอียิปต์กำลังประเมินความเป็นไปได้ที่บริษัท อีดิตาอาจจะกักตุนสินค้าโภคภัณฑ์ในปริมาณที่มากเกินไป อย่างไรก็ตาม อียิปต์เผชิญวิกฤตขาดแคลนน้ำตาลอย่างหนัก เป็นผลให้ราคาพุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า เป็น 10 ปอนด์อียิปต์/กิโลกรัม (ราว 39.42 บาท) หลังมีการหันไปใช้เครื่องดื่มชาและขนมแลกเปลี่ยนแทนเงินสด เนื่องจากค่าเงินปอนด์อียิปต์ในระบบเศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง และค่าเงินเหรียญสหรัฐในตลาดมืดแพง

ทั้งนี้ รัฐบาลอียิปต์กำลังดำเนินการขอสินเชื่อ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.2 แสนล้านบาท) จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เผชิญปัญหามาตั้งแต่การลุกฮือต่อต้านอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก เมื่อปี 2011 ประกอบกับภัยก่อการร้ายกระทบต่อภาคธุรกิจและท่องเที่ยว และรัฐบาลสูญเงินสดสำรองระหว่างประเทศมหาศาล

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไทยติดอันดับ46ทำธุรกิจสะดวก ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลังขจัดอุปสรรคลงทุน

ธนาคารโลกขยับอันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของไทยดีขึ้น 3 อันดับรวด จาก 49 มาอยู่ที่ 46ของโลก และเป็นที่ 3 ของ อาเซียน ก.พ.ร.เตรียมนัดถก “สมคิด” เดินหน้าปรับแก้จัดการอุปสรรคต่อ หวังผลก้าวกระโดด เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยว่า ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ได้จัดอันดับความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือ Doing Business 2017 ของประเทศไทย โดยได้ขยับขึ้น 3 อันดับรวด จาก 49 เป็นอันดับที่ 46 จาก 190 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน มีผลคะแนนรวมทุกด้าน 72.53 คะแนน จาก 71.65 คะแนน ซึ่งดีขึ้น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จากอันดับ 96 เป็นอันดับ 78 ด้านการได้รับสินเชื่อ จากอันดับ 97 มาเป็น 82 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน จากอันดับ 36 มาเป็นอันดับ 27 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงจากอันดับ 57 มาเป็น 51 และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลายจากอันดับ 49 มาเป็นที่ 23

การจัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจในปีนี้ที่มีผลอันดับดีขึ้นเป็นผลมาจากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและร่วมผลักดัน ลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจให้น้อยลง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปรับปรุงบริการตามรายงาน Doing Business โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลในภาพรวม และมอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแลในด้านการปรับปรุงกฎหมาย ส่วนนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน พร้อมให้สำนักงาน ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานหลักในการประสานติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน

ปัจจัยที่ทำให้อันดับของประเทศไทยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การพัฒนากลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงตามรายงาน Doing Business ได้แก่ การตั้งคณะทำงานพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนงานบริการภาครัฐ 2.การบูรณาการงานบริการภาครัฐโดยศึกษาวิเคราะห์กระบวนงานให้บริการที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ต้นจนจบ และออกแบบแนวทางการพัฒนากระบวนงาน เพื่อให้บริการแบบครบวงจร และ3.ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้นำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงการบริการในเรื่องสำคัญหลายเรื่องเช่นการเริ่มต้นธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้เบ็ดเสร็จ,การจดทะเบียนทรัพย์สินผ่านระบบ land map ที่ทางกรมที่ดินได้พัฒนา

ด้านการได้รับสินเชื่อ โดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ได้จัดทำและให้บริการคะแนนเครดิต แก่สถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินสามารถสืบค้นรายงานข้อมูลเครดิตเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อได้ง่าย,การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกรมศุลกากรได้พัฒนาระบบบริการนำเข้าสินค้า การตรวจปล่อยสินค้าล่วงหน้ามาใช้ และการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยกรมบังคับคดีได้พัฒนาระบบ e-filimg ให้สามารถยื่นคำร้องขอชำระค่าใช้จ่ายผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้เกิดความสะดวกและลดภาระต่อภาคธุรกิจและประชาชน

นอกจากนี้ยังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจและประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ,พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ, พ.ร.บ.ล้มละลาย ทำให้ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการบังคับคดีล้มละลายลงและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยในกฎหมายล้มละลายนี้ทำให้อันดับของกลุ่มดังกล่าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย หรืออยู่อันดับ 23 ของโลก จาก 49

แต่ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือการขออนุญาตในการก่อสร้าง และการเข้าไปใช้พื้นที่ในอาคาร ซึ่งยังใช้เวลานาน เช่นเดียวกับการขอใช้ไฟฟ้า การชำระภาษีต่างๆที่มีอยู่หลายประเภท โดยเฉพาะการขอคืนภาษีที่ยังคงใช้เวลานาน โดยในอีก 1-2 สัปดาห์นี้ จะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการปรับปรุงเรื่องต่างๆให้ดีมากขึ้นในปีหน้า และให้เกิดผลอย่างก้าวกระโดด สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รวมถึงให้เกิดความมั่นใจนักลงทุนได้

นายทศพรย้ำว่า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการคือระบบการชำระภาษี ซึ่งในส่วนนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง ในฐานะเป็นผู้เกี่ยวข้องหลักของเรื่องดังกล่าวได้รับทราบและจะนำไปแก้ไขแล้ว และจะเร่งตั้งศูนย์รวมรับขออนุญาตทำธุรกิจ หรือวันสต็อปเวอร์วิส ให้เชื่อมโยงกันทั้งหมด เพื่อลดเอกสาร ลดขั้นตอน และลดเวลา โดยตั้งเป้าหมายการดำเนินงานระยะสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ให้มาอยู่ในอันดับ 2 ของอาเซียน และในปีหน้านายสมคิด ได้ตั้งเป้าหมายอยากเห็นอันดับของไทยขึ้นมาอยู่ต่ำกว่า 40

“จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลและความตั้งใจของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งปรับปรุงการบริการภาครัฐ ส่งผลให้การจัดอันดับของประเทศในรายงาน Doing Business 2017 มีอันดับที่ดีขึ้น แต่ภาครัฐยังต้องเพิ่มอัตราเร่งในการพัฒนาการบริการให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นและการปฏิรูปที่สำคัญในภาพใหญ่ เพื่อให้ก้าวทันต่อการพัฒนาของประเทศที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับต้นๆต่อไป”

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วยการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้การดำเนินการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ยังจะช่วยให้คนไทยมีงานทำ และเป็นงานที่ดีขึ้นด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เสริมขีดความสามารถภาคการเกษตรไทย l กษ.จับมือ‘FAO-UNDP’ดันยุทธศาสตร์รับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ดำเนินโครงการ Supporting the integration of the agricultural sector into the National Adaptation Plans in Thailand: NAPs-Agri in Thailand) ปี 2558-2561 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี ผ่านหน่วยงานอาสาสมัครของเยอรมนี (GIZ) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเกษตรของไทยด้านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การจัดทำแนวทางเลือกในการปรับตัว การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามแนวทางเลือก และบูรณาการการเงินในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คณะอนุกรรมการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือ CPF (Country Programme Framework) ระหว่างไทย–FAO ได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานโครงการ NAPs-Agri in Thailand โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธานคณะทำงานฯ และมีผู้แทนหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นคณะทำงาน

ในการนี้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม คณะทำงานประสานโครงการ NAPs-Agri in Thailand ได้จัดประชุม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ FAO UNDP และ GIZ เข้าร่วม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นหลัก 3 ประเด็น คือ 1) Roadmap การดำเนินงานโครงการฯ 2) แนวทางการจัดทำแผนการปรับตัวภายใต้แผนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560-2564 และ 3) โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประเมินโครงการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รองเลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นับเป็นประเด็นใหม่ในการดำเนินงานของภาคเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลการจัดสรรงบประมาณ ในโครงการลงทุนภาคเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรายละเอียดโครงการประกอบด้วย การทบทวนเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์และประเมินการลงทุนที่ใช้อยู่ในประเทศและต่างประเทศ เพื่อวางแผนโครงการและจัดทำงบประมาณ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ โดยโครงการจะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2559

จาก http://www.naewna.com วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไทยติดอันดับ 46 ของโลกเรื่อง 'ความสะดวกทำธุรกิจ'

ไทยติดอันดับ 46 จาก 190 ประเทศที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจมากสุด "เวิลด์แบงก์" แนะเร่งปฏิรูป ด้าน "สมคิด" พอใจ เตรียมถกสัปดาห์หน้าแก้จุดอ่อน

ธนาคารโลก (World Bank) รายงานผลการวิจัยประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Doing Business 2017) ซึ่งเป็นการสำรวจความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศสมาชิกของธนาคารโลกจำนวน 190 ประเทศ ปรากฏว่าไทยขยับจัดอันดับอยู่ที่ 46 จากปีก่อนอยู่ที่อันดับ 49 ปรับดีขึ้น3อันดับ

ประเทศไทยได้คะแนนรวมทุกด้านรวม 72.53 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้คะแนน 71.65 คะแนน ถือว่ามีคะแนนขยับเข้าใกล้กลุ่มประเทศที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจมากที่สุดซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD)

รายงานระบุว่า ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับดีขึ้นใน 5 ด้าน คือ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ จากอันดับที่ 96 ขึ้นมาอยู่ที่ 78 ด้านการได้รับสินเชื่อจากอันดับที่ 97 อยู่ที่อันดับ 82 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนจากอันดับที่ 36 มาอยู่ที่ 27 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงจากอันดับที่ 57 มาอยู่ที่ 51 และด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลายจากอันดับที่ 49 มาอยู่ที่ 23

นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าไทยสามารถปรับปรุงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นได้ ด้วยการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ การดำเนินการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ ยังจะช่วยให้คนไทยมีงานทำและเป็นงานที่ดีขึ้นด้วย

ตั้งเป้าปีหน้าขยับอยู่อันดับ 30

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้ดูแลขับเคลื่อนงานด้าน Doing Business จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงแนวทางการยกระดับการให้บริการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้ได้มากขึ้น

ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายสำหรับการจัดอันดับในปีหน้า ประเทศไทยจะขยับอันดับขึ้นไปจากอันดับที่ 40 กว่าในปัจจุบันต้องขยับไปให้อยู่ในระดับที่ 30 กว่าหรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7 อันดับ

นายทศพร กล่าวว่า ยังมีเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12และแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปีว่าจะต้องสามารถขยับไปอยู่ที่ 2 ของอาเซียนภายในปี2564จากที่ปัจจุบันไทยอยู่ในอันดับที่3ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ธนาคารโลกแนะเร่งแก้ 3 เรื่อง

นายทศพร กล่าวว่า ธนาคารโลกแนะนำให้ไทยแก้ไข 3 เรื่องสำคัญ คือ การปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งยังคงมีความซ้ำซ้อน และใช้เวลาในการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลานาน ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้รับทราบแล้วและจะนำไปหาทางแก้ไขต่อไป

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบวันสตอปเซอวิส โดยจะตั้งศูนย์คำขออนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อรับเรื่องการขอจัดตั้งธุรกิจ และพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานราชการต่างๆให้สามารถใช้งานได้จริง

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตก่อสร้าง และการขออนุญาตใช้ไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังคงมีความล่าช้าและมีต้นทุนในการดำเนินการสูงกว่าประเทศอื่น โดยประเทศไทยใช้เวลาในการติดตั้งมิเตอร์ 37 วันและมีค่าใช้จ่ายดำเนินการ 45.9 ดอลลาร์ ขณะที่สิงคโปร์มีสามารถขอใช้ไฟฟ้าและติดตั้งมิเตอร์ภายใน31วันและมีค่าใช้จ่ายเพียง25.9ดอลลาร์ ซึ่ง ก.พ.ร.จะประสานกับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหา

“สมคิด”มั่นใจปีหน้าอันดับดีขึ้น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจดีขึ้น3อันดับในปีนี้เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และได้มีการประชุมขับเคลื่อนมาโดยตลอด ดังนั้นผลดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย

“มั่นใจว่าปีหน้าจะดีกว่านี้อย่างก้าวกระโดด หากขับเคลื่อนโดยต่อเนื่อง เพราะหลายสิ่งที่แก้ไขจะไปปรากฏรอบหน้า ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันอย่างแข็งขัน และจะเรียกประชุมเร็วๆนี้เพื่อตระเตรียมแนวทางขับเคลื่อนและแก้ไขจุดอ่อนในบางปัจจัยที่มีนัยสำคัญในการประเมิน อันดับที่เลื่อนขึ้นนี้ย่อมมีผลต่อการจัดอันดับความสามารถแข่งขันของไอเอ็มอีและดับเบิลยูอีเอฟในรอบต่อไป" นายสมคิด กล่าว

เอกชนหวังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานชัด

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าการจัดอันดับที่ดีขึ้นในครั้งนี้สะท้อนภาพรวมความเป็นจริงของการประกอบธุรกิจของไทยในปัจจุบัน เพราะที่ผ่านมาทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน รวมทั้งส่วนอื่นๆ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการลงทุนเป็นอย่างมาก และผลการจัดอันดับครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ว่าด้วยเรื่องการลดข้อจำกัดการออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่อประกอบกิจการ

นอกจากนี้ ยังพบว่าที่ผ่านมายังมีการพัฒนาเรื่องของระบบเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตต่างๆ เข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น เป็นตัวชี้วัดอีกอย่างหนึ่งว่าไทยยกระดับขีดความสามารถในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลได้แล้ว

นายสมเกียรติ กล่าวว่าหากหลังจากนี้เห็นภาพของการลงทุนเกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจว่าไทยจะก้าวขึ้นขยับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในประเด็นของการประกอบธุรกิจมาในกรอบสูงกว่าอันดับที่ 40 ได้

เอกชนแนะเร่งแก้อุปสรรค

นายขัติยา ไกรกาญจน์กรรมการอิสระบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าอันดับของไทยเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ลดขั้นตอนการดำเนินธุรกิจและลดความซับซ้อนของกฎระเบียบภาครัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความสะดวกในการลงทุน หรือทำธุรกิจในไทย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับ 2.0 หรือเป็นระดับของการใช้แรงงาน ทำให้ยังขาดการเชื่อมโยงคนกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวมถึงการใช้เครื่องจักรให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ (Automation) ที่จะต้องเพิ่มอัตราเร่งการพัฒนาให้มากขึ้นเพื่อหนีประเทศคู่แข่ง

“ระหว่างที่เรากำลังพัฒนาก็จะมีประเทศคู่แข่งพัฒนาเรื่องเหล่านี้ไปพร้อมกับเราไทยจึงต้องเร่งการพัฒนาให้มากขึ้นโดยเฉพาะด้านการเสริมจุดแข็งของการเป็นทำเลศูนย์กลางเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปยังอาเซียนทั้งด้านโลจิสติกส์อำนวยความสะดวก ด้านพิธีการศุลกากรที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด”

นักวิเคราะห์คาดทำให้ไทยน่าสนใจลงทุน

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าสาเหตุหลักๆมาจากความพยายามของภาครัฐที่แก้กฎระเบียบต่างๆ ทำให้การทำธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมได้ นอกจากเรื่องความยากง่ายของการทำธุรกิจแล้ว ยังต้องขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐเองก็พยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพียงแต่บางเรื่องจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการบ้าง

“เรื่อง Doing Business เป็นเหมือนจิ๊กซอตัวหนึ่งที่เพิ่มความน่าสนใจลงทุนในประเทศไทย แต่ก็ยังต้องอาศัยตัวอื่นๆ มาประกอบด้วย อย่างอีกเรื่องที่ภาครัฐพยายามทำ คือ นิวเอสเคิร์ฟ ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ความน่าสนใจก็จะมีมากขึ้น เพียงแต่ส่วนนี้อาจต้องใช้เวลาบ้าง”

กรมบังคับคดีเผยธนาคารชมแก้กฎหมาย

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่าการอำนวยความสะดวกในส่วนของกฎหมาย โดยมีส่วนสำคัญในเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ซึ่งกรมบังคับคดีได้มีการพัฒนาระบบ e-Filing ให้สามารถยื่นคำร้องขอชำระค่าใช้จ่ายผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

นอกจากนี้ การปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจและประชาชน ได้แก่ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ2558พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่8)2558 ซึ่งทำให้ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการบังคับคดีล้มละลายลง และพ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่9ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับการชื่นชมจากธนาคารโลก และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลุยปรับโครงสร้างอุตฯอ้อย-น้ำตาล 

           เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างเตรียมใช้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายระบบใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และเพื่อชี้แจงต่อประเทศบราซิล ที่ฟ้องร้องไทยกรณีอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะเดินทางไปเจรจาวันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ประเทศบราซิลด้วย

          นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างจะทำให้การจัดสรรระบบโควต้าต้องยกเลิกไป และ สอน.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลระบบการจัดสรรใหม่น้ำตาลฤดูการผลิต 2559/60 โดยโควต้า ก.สำหรับบริโภคในประเทศ จะเปลี่ยนเป็นปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะมีกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลด้านราคาที่จะลอยตัวตามกลไกตลาดโลก และโควต้า ข.ที่ส่งออกผ่านการทำราคาของบริษัท อ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) จะปรับเป็นชื่อการส่งออกน้ำตาลทรายสำหรับทำราคาเพื่อคำนวณราคาส่งออก และโควต้า ค. ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศ ก็ดำเนินการตามปกติ

          "การปรับโครงสร้างดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเริ่มใช้ในปี 2559/60 คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงกระบวนการอย่างสมบูรณ์ในช่วงระยะเวลา 1 ปี คือฤดูการผลิต 2560/2561 สำหรับราคาน้ำตาลที่ลอยตัวนั้นจะส่งผลให้การเก็บเงิน 5 บาทเข้ากองทุนยกเลิกโดยปริยาย ซึ่งก็สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเห็น" นายวีระศักดิ์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

BRR ลุยเปิดหีบอ้อยธันวาคมนี้ ปลื้มราคาน้ำตาลพุ่งสูงสุดรอบ 5 ปี

          BRR ลุยเปิดหีบอ้อยต้นธันวาคมนี้ มั่นใจผลผลิตฤดูการผลิตปี 2559/2560 ทะยานแตะ 2.4 ล้านตันได้ ปลื้มราคาน้ำตาลโลกพุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปี ชี้ภาวะขาดแคลนน้ำตาลโลกยังอยู่ต่อเนื่องอีก 2 ปี ส่วนปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศมั่นใจไม่มีปัญหาขาดแคลน

          นายภัทรพงศ์ พงศ์สวัสดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทจะเริ่มเปิดรับหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลในรอบฤดูการผลิตปี 2559/2560 ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูกาลผลิตอ้อยที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงดังกล่าว โดยปีนี้ได้ตั้งเป้าปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.3 – 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.06 ล้านตันในปีก่อน และตั้งเป้าผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.6 – 2.7 แสนตัน จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.3 แสนตัน หรือเพิ่ม 3-4 หมื่นตัน

          เนื่องจากบริษัทได้มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเป็น 2 แสนไร่ในปีนี้ จาก 1.9 แสนไร่ในปีที่ผ่านมา ประกอบกับมั่นใจว่าจะได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไร่อ้อยโดยเน้นการให้ความรู้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 12,000 ราย อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา การให้ปุ๋ย และกำหนดวันตัดอ้อย เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้อ้อยที่มีคุณภาพสูงสุดและสะอาดที่สุดเมื่อมาถึงโรงงาน โดยประเมินค่าความหวานในปีผลผลิตที่จะถึงนี้เพิ่มขึ้นเป็น 13.5 C.C.S จากเดิม 13 C.C.S

          "การหีบอ้อยปีนี้เราเพิ่มเป้าจากเดิมค่อนข้างเยอะ หรือราว 3 - 4 แสนตัน เนื่องจากผลผลิตอ้อยในพื้นที่บุรีรัมย์ค่อนข้างที่จะมีประสิทธิภาพ เกษตรกรดูแลเอาใจใส่อย่างดีทั่วถึง และมีจำนวนพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพอากาศในปัจจุบันก็ค่อนข้างที่จะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอ้อย ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกอยู่ในช่วงที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับตัวเกษตรกรชาวไร่อ้อยและบริษัท" นายภัทรพงศ์ กล่าว

          นายภัทรพงศ์ ประเมินว่า ราคาน้ำตาลโลกในปีการผลิต 2559/2560 น่าจะอยู่ในระดับ 22-25 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และนับเป็นก้าวปรับตัวที่ค่อนข้างเร็วและแรง จากปีก่อนที่ราคาร่วงลงไปแตะ 10 เซนต์ต่อปอนด์ในช่วงเดือนสิงหาคม

พร้อมกับให้ความเห็นว่า ราคาน้ำตาลโลกยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น เนื่องจากผลิตน้ำตาลทรายของโลกยังอยู่ในภาวะขาดดุล หรือ ปริมาณความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายสูงกว่าผลผลิต โดยประเมินภาวะขาดดุลน้ำตาล ในปี 2559จะอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน และปี 2560 ยังคงจะขาดดุลต่อเนื่องอีก 5 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศในประเทศผู้ผลิตน้ำตาลที่สำคัญในโลก เช่น ไทย อินเดีย และ จีน ขณะที่ความต้องการบริโภคน้ำตาลทรายของโลกยังเติบโตปีละ 1.8-2% อย่างต่อเนื่อง ตามการบริโภคที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายในช่วง 2 ปีนี้ดีอย่างต่อเนื่อง

          "รอบปี 2558/2559 ถือว่าเป็นปีที่ราคาน้ำตาลตกต่ำอย่างมาก แต่จะเห็นได้ว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปีนี้ทุกอย่างพลิกกลับมาอยู่ในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับบริษัท ทั้งในส่วนของปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และราคาน้ำตาลที่ทะยานสูงสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตน้ำตาลทราย รวมไปถึงเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วย" นายภัทรพงศ์ กล่าว

          นายภัทรพงศ์ บอกด้วยว่า แม้ว่าภาวะน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะขาดแคลน แต่มั่นใจว่าปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจาก ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศบราซิล และปัจจุบัน โรงงานน้ำตาลทุกโรง ยังต้องมีการกันส่วนของการบริโภคภายในประเทศไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมต่างๆ

จาก  http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อุตฯบินถกบราซิล 4 พ.ย.

กท.เร่งแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลก่อนบินถกบราซิลวันที่ 4 พ.ย.นี้ กรณีอุดหนุนระบบน้ำตาลนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างการเตรียมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามมติ ครม. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและองค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) รวมถึงการชี้แจงต่อบราซิลในการเจรจาครั้งที่ 2 วันที่ 4 พ.ย.นี้.

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จัด300ล้านบาท สร้างระบบน้ำไร่นา

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

            กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดงบกองทุนสงเคราะห์ฯ 300 ล้านบาท หนุนสร้างระบบน้ำในไร่นา 50 จว. ขุดสระเก็บกัก-เจาะบ่อบาดาล มุ่งลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพิ่มโอกาสทำเกษตรแก่สมาชิก 6,000 ราย เพิ่มพื้นที่รับน้ำกว่า 60,000 ไร่

           นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2560 นี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร โดยกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรได้สนับสนุนเงินกู้วงเงินรวม 300 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งในเขตชลประทานและเขตรับน้ำฝนในพื้นที่ 50 จังหวัด จำนวน 100 แห่ง นำไปให้สมาชิกกู้ยืมแบบปลอดดอกเบี้ยเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของตนเองอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำและเพิ่มโอกาสในการทำเกษตรกรรมตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

           ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมการจัดระบบไร่นาของเกษตรกรให้มีความยั่งยืน มีแหล่งน้ำภายในฟาร์ม ลดการพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงจากระบบการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งธรรมชาติ เป็นการเกษตรแบบบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดน้ำ โดยมีเป้าหมายสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 6,000 ราย คาดว่า จะได้รับประโยชน์จากน้ำเฉลี่ยรายละ 10 ไร่ และเพิ่มพื้นที่รับน้ำได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ไร่

          “เบื้องต้นจะเร่งคัดเลือกสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ โดยต้องมีสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำสำรอง และมีพื้นที่เหมาะสมในการขุดสระเก็บกักน้ำฝนหรือเจาะบ่อบาดาล จากนั้นจะพิจารณาจัดสรรเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมเป็นทุนในการสร้างแหล่งน้ำในไร่นาตามที่ต้องการ อาทิ การขุดสระเก็บกักน้ำ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ลึกไม่น้อยกว่า 2  เมตร  หรือการขุดเจาะบ่อบาดาลหรือปรับปรุงระบบน้ำบาดาล พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำ โดยกรอบวงเงินกู้แห่งละ 50,000 บาท กำหนดให้ชำระเงินคืนกองทุนฯ 5 ปี เฉลี่ยปีละ 60 ล้านบาท” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าว

           นอกจากพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของสมาชิกแล้ว ยังมีมาตรการการบริหารจัดการน้ำ โดยส่งเสริมการจัดรูปแปลงที่ดิน มุ่งให้ปลูกพืชหลากหลายชนิด ควบคู่กับการลี้ยงสัตว์ และทำประมง เป็นระบบเกษตรผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ ทั้งยังส่งเสริมให้วางแผนการผลิตล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในวิกฤติน้ำใช้หรือการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ และสร้างระบบการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า โดยส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ระบบน้ำหยดหรือละอองน้ำในระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ทำให้เกษตรกรสมาชิกมีโอกาสผลิตสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมงแบบไม่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ สามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น และสามารถชำระเงินคืนได้ตามกำหนด

          “โครงการฯนี้ จะทำให้สมาชิก มีแหล่งเก็บกักน้ำสำรองและมีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น คาดว่า สมาชิกกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 85% จะมีน้ำใช้ทำการเกษตรและมีน้ำใช้ได้ในระบบไร่นาจริง ทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ กรณีการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรหรือมีระบบน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมไม่น้อยกว่า 95%” นายวิณะโรจน์กล่าว

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก.เกษตรฯปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง เติมน้ำในเขื่อน

"พล.อ.ฉัตรชัย" เผยสถานการณ์น้ำกลับสู่สภาวะปกติ ชี้ไม่น่าเป็นห่วง พร้อมปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเติมน้ำในเขื่อนอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า ปริมาณน้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยากลับเข้าสู่สภาวะปกติ มีเพียงบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และตลาดเสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยังมีน้ำล้นตลิ่งเพียงเล็กน้อย ได้สั่งการให้กรมชลประทานเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและดำเนินการให้ความช่วยเหลือในทุกด้านแล้ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เน้นการใช้ศักยภาพในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ สำหรับบางพื้นที่ที่มีการส่งน้ำในทุ่ง หากไม่มีผลกระทบใดๆ เกษตรกรสามารถนำน้ำไปใช้ในการเกษตรได้ นอกจากนี้พื้นที่ภาคอีสานตอนล่างบริเวณ จ.นครราชสีมา ที่มีปริมาณน้ำไม่มาก ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนแล้ว

สำหรับการใช้น้ำในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไม่มาก กระทรวงเกษตรฯ ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เตรียมการเรื่องการจัดสรรการใช้น้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งวางแผนการทำเกษตรในหน้าแล้ง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนสถานการณ์ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ตอนบน บริเวณเขื่อนปราณบุรี และเขื่อนแก่งกระจาน มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสถานการณ์ภาคใต้ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังไม่เข้าสู่หน้าฝนอย่างเต็มที่

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

TSMCคาดภัยแล้งกระทบอ้อยเข้าหีบลดลงรุกเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหวังระดับยิลด์ดีกว่าปีก่อน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตกลงเสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 ส่งผลให้ตออ้อยและอ้อยปลูกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ชาวไร่อ้อยจึงต้องนำผลผลิตอ้อยบางส่วนไปใช้เพาะปลูกและทำพันธุ์อ้อยสำหรับการเพาะปลูกอ้อยในฤดูกาลผลิตในปี 2560/61

ทั้งนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจึงคาดการณ์ว่า อ้อยเข้าหีบประจำฤดูกาลผลิตปี 2559/60 จะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยเข้าหีบ 94.05 ล้านตันอ้อย ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบของ สอน.ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบเพียง 91.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 3 ล้านตันอ้อย จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะลดลง แต่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคาดหวังว่าผลผลิตน้ำตาลโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 9.78 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณฝนกระจายทั่วถึงในพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี หากฝนยังตกกระจายจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปีจะช่วยให้อ้อยสามารถสร้างความหวานได้ดี และส่งผลต่อคุณภาพอ้อยเข้าหีบที่ทำให้โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิดล์) ได้ดีกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 104.95 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง เตรียมจัดประชุมเวิร์กช็อป ประจำปี 2559 เพื่อความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงาน จะร่วมกันหารือกับผู้บริหารโรงงาน ถึงการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล เพื่อลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้ พร้อมส่งเสริมให้ส่งอ้อยสดเข้าหีบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง

“เรามองว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก แต่เชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล ด้วยการส่งอ้อยสดให้แก่โรงงานนั้น เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโดยรวมในปีนี้ลดลงไม่มากนัก”นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ แซงหน้า ‘ถ่านหิน’ แล้ว IEA ยืนยัน  

        บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ระบุในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (25 ต.ค.) ว่า ศักยภาพความสามารถของโลกในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เวลานี้ได้แซงหน้าถ่านหินไปแล้ว

               ไออีเอ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลภายใต้กรอบโครงขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ระบุในรายงานฉบับนี้ว่า ในกำลังความสามารถผลิตไฟฟ้าของโลกที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วนั้น มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนถึงกว่าครึ่งหนึ่ง

               รายงานฉบับนี้แจกแจงว่า ทุกๆ วันเมื่อปี 2015 ทั่วโลกติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยวันละครึ่งล้านแผง ขณะที่ในประเทศจีนมีการติดตั้งกังหันลมเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเช่นกัน เฉลี่ยเท่ากับ 2 เครื่องทุกๆ 1 ชั่วโมง

               แหล่งพลังงานหมุนเวียน เป็นต้นว่า ลม, แสงอาทิตย์, และกระแสน้ำ ถูกจับตามองว่าเป็นส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่งในความพยายามของนานาชาติที่จะต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน

               ในขั้นตอนนี้ยังเป็นกำลังความสามารถของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า ที่แซงหน้ากำลังความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ไม่ใช่ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมาได้จริงๆ

               เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนนั้นมีลักษณะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ มีขาดหายมีเว้นวรรค ตัวอย่างเช่น ต้องขึ้นอยู่กับการสาดแสงของดวงอาทิตย์ หรือต้องมีลมพัด ไม่เหมือนกับถ่านหินซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้วันละ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี

               ดังนั้น เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าศักยภาพความสามารถเป็นอย่างมาก

               แต่กระนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ก็ถือเป็นพัฒนาการที่น่าตื่นตะลึง

กำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ แซงหน้า ‘ถ่านหิน’ แล้ว IEA ยืนยัน  

แผงวงจรพลังแสงอาทิตย์ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าจำนวนมากมายของนิคมไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซสตัส ประเทศฝรั่งเศส ภาพจากแฟ้มภาพนี้ถ่ายวันที่ 1 ธันวาคม 2015 อันเป็นวันเปิดนิคมแห่งนี้อย่างเป็นทางการ 

         ฟาตีห์ บิรอล ผู้อำนวยการบริหารของไออีเอ บอกว่า “เรากำลังเป็นพยานการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมของตลาดกระแสไฟฟ้าทั่วโลก ที่นำโดยพลังงานหมุนเวียน”

               การที่กำลังความสามารถของพลังงานหมุนเวียนขยายตัวออกไปรวดเร็วเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนที่ลดต่ำลงในการใช้ลมบริเวณชายฝั่ง และแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งรายงานฉบับนี้บรรยายว่า เป็นการลดต่ำลงที่น่าประทับใจ และไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้เลย “แม้กระทั่งเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว”

             เวลานี้ไออีเอคาดหมายว่าแนวโน้มที่ต้นทุนลดต่ำลงเช่นนี้ยังจะดำเนินต่อไป

               ทั้งนี้ เทคโนโลยีด้านพลังแสงอาทิตย์และด้านพลังลม น่าที่จะมีส่วนถึงราวสามในสี่ของอัตราเติบโตในอนาคตของพลังงานหมุนเวียนทั้งหลายโดยรวม

               ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำก็ยังจะเติบโตต่อไป รายงานบอกพร้อมกับชี้ว่า แต่น่าที่จะขยายตัวไปด้วยอัตราที่ชะลอลงกว่าเมื่อก่อน

               ต้นทุนที่ลดต่ำลงยังเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ไออีเอปรับเพิ่มคำทำนายเกี่ยวกับกำลังความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของพลังงานทดแทนในอนาคตข้างหน้า

               ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ระบุเอาไว้ในรายงานฉบับนี้เช่นกัน ได้แก่ นโยบายของรัฐบาลต่างๆ ที่ให้แรงจูงใจทางการเงินแก่การใช้พลังงานหมุนเวียนมาผลิตไฟฟ้า

               ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ มีการขยายเวลาการลดภาษี โดยที่รายงานชี้ด้วยว่าการเปลี่ยนนโยบายในจีน, อินเดีย, เม็กซิโก ก็เป็นพลังอันสำคัญซึ่งอยู่เบื้องหลังการที่ไออีเอคาดการณ์ว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเติบโต

เหล่าช่างเทคนิคคอยดูแลตู้กระแสไฟฟ้า ระหว่างพิธีเปิดสถานที่ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในเมืองโบคอล ประเทศเซเนกัล เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2016 โครงการนี้เป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในแถบซับ-ซาฮารา ของแอฟริกา 

         รายงานนี้กล่าวว่า ศูนย์กลางของการเติบโตในการใช้พลังงานหมุนเวียนกำลังเคลื่อนมาที่พวกชาติตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย

               โดยที่จีน “ยังคงเป็นผู้นำของโลกยังไม่อาจโต้แย้งได้ในเรื่องการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเป็นผู้มีส่วนในการเติบโตถึงเกือบๆ 40%”

               ถึงแม้รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพลังงานหมุนเวียนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากมายยิ่งกว่าที่เคยคาดการณ์กันแม้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ไออีเอก็ยังคงคิดว่ายังจะมีการขยายบทบาทยิ่งกว่านี้อีก

               บิรอลบอกว่า “แม้กระทั่งการคาดหมายที่สูงขึ้นเหล่านั้นก็ยังถือว่าอยู่ในระดับแค่พอประมาณ เมื่อเปรียบเทียบกับศักยภาพอันมหึมาที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียน”

               ยิ่งกว่านั้น นอกเหนือจากใช้ผลิตไฟฟ้าแล้ว พลังงานหมุนเวียนก็มีบทบาทน้อยมากๆ ในแวดวงอื่นๆ ของการใช้พลังงาน

               ดังที่รายงานชี้ว่า พลังงานหมุนเวียนยังแทรกตัวเข้าไปได้ช้าในเรื่องของการขนส่งและการให้ความร้อน

               รายงานยังเตือนด้วยว่า พลังงานหมุนเวียนต้องแสดงบทบาทให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากพลังงานชนิดนี้ไม่ว่าใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าหรือใช้ในเรื่องอื่นๆ ถือเป็นกลุ่มของเทคโนโลยีสำคัญกลุ่มหนึ่งสำหรับลดการปล่อยไอเสียของก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

               โดยที่หากไม่ใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว ก็อาจต้องมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเช่นถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

               ไออีเอระบุว่า การทำให้ได้ตามเป้าหมายของนานาชาติในการจำกัดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น จำเป็นต้องมีอัตราการปล่อยไอเสียคาร์บอนน้อยลงไปอีกมาก ซึ่งก็หมายถึงการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเร่งนำเอาพลังงานหมุนเวียนแทรกตัวเข้าไปใช้ประโยชน์ในทั้ง 3 ภาค อันได้แก่ การผลิตไฟฟ้า, การขนส่ง, และการให้ความร้อน 

จาก http://manager.co.th วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภูมิภาคเอเชีย ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่โลก

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตั้งของเศรษฐกิจสำคัญทั้งญี่ปุ่นและตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย รวมถึงตลาดอาเซียน ที่กำลังเป็นทำเลทองของนักลงทุนทั่วโลกต่างพุ่งเป้ามายังภูมิภาคนี้

สุนีล ภารตี มิททัล ประธานหอการค้านานาชาติ (ไอซีซี) เปิดเผยว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะประสบปัญหาภาวะชะลอตัว ทว่าเศรษฐกิจอาเซียนยังมีเสถียรภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีจากประเทศที่มีกำลังการบริโภคอย่างจีน ส่งผลให้อาเซียนยังเป็นทำเลทองของนักลงทุนทั่วโลก ที่ต้องการขยายฐานการผลิตเพื่อให้สอดรับกับอุปสงค์ขนาดใหญ่จากตลาดจีนและอินเดียจากความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและจำนวนแรงงานกลุ่มใหญ่

นอกจากนี้ มูลค่าการค้าในกลุ่มชาติอาเซียนยังมีอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5-10% ด้วยสนธิสัญญาทางการค้าทั้งอาร์เซ็ป ทีพีพี เอฟทีเอ และเออีซี ทั้งยังมีแผนลงทุนเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่จะเชื่อมการค้า 3 ภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรหลายพันล้านคน ซึ่งจะยิ่งทำให้มูลค่าเศรษฐกิจอาเซียนขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

สอดรับกับการคาดคะเนว่าในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก ทำให้มีกลุ่มทุนใหม่อีกมากมายจะหลั่งไหลเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในอนาคตควบคู่ไปกับภาวะการแข่งขันทางตลาดที่จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

อ๊าค บุน ลี ประธานกรรมการ บริษัทนานาชาติ ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนคาดการณ์ว่าในปี 2573 มูลค่าเศรษฐกิจในอาเซียนจะทะยานถึง 1.22 ล้านล้านบาท ประกอบกับพื้นที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีความต้องการอีกมากในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการทางเศรษฐกิจทั้งด้านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน ตลอดจนห้างสรรพสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มเติบโตดีในอาเซียนที่เรียกเม็ดเงินลงทุนตรงต่างชาติ (เอฟดีไอ) ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี)

เกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในอนาคตมองว่าภาคธุรกิจของผู้ประกอบการไทยที่จะไปได้ดีในอาเซียน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและอาหารแปรรูป ธุรกิจบริการ ตลอดจนธุรกิจด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะตลาดผู้สูงอายุกลุ่มรายได้สูง ที่ต่างต้องการเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย ส่วนอีกภาคธุรกิจที่ไทยควรต่อยอด คือ การเปิดประเทศเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งใหม่ในภูมิภาค ด้วยในภูมิภาคนี้ยังไม่มีแหล่งการศึกษาที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะรองรับประชากรวัยรุ่นที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของประชากรอาเซียน ตลอดจนประเทศไทยยังมีภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางภูมิภาคง่ายต่อการเดินทางของนักศึกษาอีกด้วย

ฮัซ ปาตี ซิงห์ยา ผู้อำนวยการหอการค้านานาชาติประจำทวีปเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมหลายด้านที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของประชากรจำนวนมาก อย่างประเทศอินเดียในอนาคต อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังคงต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนารูปแบบสินค้าอีกมากเพื่อตอบสนองอุปสงค์ตลาดในอนาคต

“อินเดียมีมูลค่าการค้าด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 1.85 หมื่นล้านบาท/ปี แนวโน้มในอนาคตที่ความต้องการสินค้าดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของประชากรอินเดีย เป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถและมาตรฐานสากลในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก” ฮัซ กล่าว

จอร์น ดานิโลวิค คณะกรรมการบอร์ดบริหารหอการค้านานาชาติ กล่าวว่า ตลาดเกิดใหม่อย่างทวีปแอฟริกายังคงมีประสิทธิภาพจากการเติบโตของเศรษฐกิจและการเกิดของประชากรรายได้ปานกลางใกล้เคียงกับอาเซียน แต่ทว่ายังด้อยด้านการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการสมัยใหม่ รวมถึงจุดอ่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสินค้าบริการ

ทำให้เป็นโอกาสของนักลงทุนอาเซียนในการเข้าไปทำตลาด และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกระหว่างชาติอาเซียนและทวีปแอฟริกา

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ดันศูนย์กลางพลังงานโลก

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. ในฐานะประธาน AESIEAP เปิดเผยถึงการดำเนินงานของ AESIEAP หลังจากการประชุมระดับผู้บริหารของสมาพันธ์ว่า การทำงานร่วมกันของสมาชิกสมาพันธ์ในช่วงปีที่ผ่านมา ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงานหลายเรื่อง โดยเริ่มโครงการที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ อาทิ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid โครงการการผลิตไฟฟ้าด้วยการลดปริมาณคาร์บอน และโครงการบริหารจัดการด้านอุปกรณ์การผลิตและการจัดส่งไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีต่อไปก็จะดำเนินการพัฒนาโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจะพยายามสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมพัฒนาพลังงานเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการเลือกใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง การเชื่อมโยงเครือข่ายภายในอุตสาหกรรมไฟฟ้าระดับโลก และมุ่งพัฒนาในเรื่องพลังงานสีเขียว และพลังงานสะอาด เพื่อให้โลกได้ลดปริมาณมลภาวะจากการผลิตไฟฟ้า ในปี 2017-2018 ประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมใหญ่เชิงวิชาการ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า หรือ CEPSI และคาดหวังขยายฐานสมาชิกเพิ่มจำนวน โดยในปี 2016 มีสมาชิกเพิ่มคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไทยมีขีดความสามารถ 34 ของโลก

The Global Competitiveness Report 2016-2017 เป็นรายงานวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ในปี 2016-2017 ตีพิมพ์โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) การสำรวจจะใช้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันรวมเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน เป็นกุญแจสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กลุ่มปัจจัยเสริมประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือ ผลักดันให้ประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกลุ่มปัจจัยด้านนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญ โดยมุ่งเน้นการผลักดันทางด้านนวัตกรรมให้แก่ประเทศ

ผลการวิเคราะห์ความสามารถทางการแข่งขันจาก 138 ประเทศทั่วโลกชี้ว่า สวิตเซอร์แลนด์อยู่ในลำดับที่หนึ่ง รองลงมาคือ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ จากการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า สวิตเซอร์แลนด์มีความสามารถทางการแข่งขันสูงสุด เพราะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากที่สุดในโลก พร้อมทั้งตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาทางด้านธุรกิจสูง สำหรับสิงคโปร์ ปัจจัยทางด้านการศึกษาและประสิทธิภาพของตลาดสินค้าถือเป็นจุดแข็งที่สุด นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันคือ นวัตกรรม การทำธุรกิจ ขนาดของตลาด พัฒนาการของตลาดการเงิน แรงงานที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการศึกษาและการอบรมระดับสูง

สำหรับประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 34 ลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ลำดับ 32 ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา จะพบว่าด้านที่มีอันดับดีขึ้นและส่งผลบวกต่อการประเมินความสามารถทางการแข่งขันโดยรวม คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค โดยตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ การใช้จ่ายภาครัฐ และการออมมวลรวมแห่งชาติ

ส่วนปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ คือ ความไม่มั่นคงของรัฐบาล ความไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ และการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวมีการปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน

จากการเปรียบเทียบกับประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจประเทศอื่นจะเห็นว่าประเทศไทยควรส่งเสริมและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สุดท้ายคือการปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้มีความน่าเชื่อถือขึ้น เมื่อประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลบวกต่ออันดับความสามารถในการแข่งขัน เสริมภาพลักษณ์และอำนาจทางการต่อรองในระดับนานาชาติมากขึ้น

จาก http://www.prachachat.net    วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลุยใช้โครงสร้างใหม่ใหม่อุตฯน้ำตาลหวังบราซิลยุติฟ้อง

นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างเตรียมใช้โครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายระบบใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าและองค์การการค้าโลก(ดับเบิ้ลยูทีโอ) และเพื่อชี้แจงต่อประเทศบราซิลระหว่างการเดินทางไปเจรจา วันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ที่ประเทศบราซิล โดยภายหลังการปรับโครงสร้างจะทำให้การจัดสรรระบบโควตาต้องยกเลิกไป และสอน.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลระบบการจัดสรรใหม่น้ำตาลฤดูการผลิต 2559/60 โดยโควตา ก.สำหรับบริโภคในประเทศจะเปลี่ยนเป็นปริมาณน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะมีกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์กำกับดูแลด้านราคาที่จะลอยตัวตามกลไกตลาดโลก มีปริมาณใกล้เคียงกับที่ผ่านมาประมาณ 26 ล้านกระสอบ หรือ 2.6 ล้านตันอ้อย และโควตา ข.ที่ส่งออกผ่านการทำราคาของบริษัท อ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) จะปรับเป็นชื่อ การส่งออกน้ำตาลทรายสำหรับทำราคาเพื่อคำนวณราคาส่งออก ปริมาณ 7-8 แสนตันอ้อย และส่วนที่เหลือที่เคยเป็นโควต้า ค. ส่งออกโดยโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศก็ดำเนินการตามปกติ

“การปรับโครงสร้างดังกล่าวอยู่ระหว่างการปรับปรุงและเริ่มใช้ในปี 2559/60 คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงกระบวนการอย่างสมบูรณ์ในช่วงระยะเวลา 1 ปี คือฤดูการผลิต 2560/2561 สำหรับราคาน้ำตาลที่ลอยตัวนั้นจะส่งผลให้การเก็บเงิน 5 บาทเข้ากองทุนยกเลิกโดยปริยาย ซึ่งก็สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติเห็น”นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตกลงเสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งที่ผ่านมา จนทำให้อ้อยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจึงคาดการณ์ว่า อ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 จะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย สอดคล้องกับการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบของ สอน. ก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบในปีนี้เพียง 91.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 3 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า

นายสิริวุทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะลดลง แต่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลคาดว่าผลผลิตน้ำตาลโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 9.78 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณฝนกระจายทั่วถึงในพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี หากฝนยังตกกระจายจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปีจะช่วยให้อ้อยสามารถสร้างความหวานได้ดี และส่งผลต่อคุณภาพอ้อยเข้าหีบที่ทำให้โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิดล์) ได้ดีกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 104.95 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

จาก http://www.matichon.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลคาดปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 58/59 ต่ำกว่าปีที่แล้ว

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ลดลงกว่าปีก่อน จากผลกระทบภัยแล้งในช่วงต้นปี สร้างความเสียหายแก่ตออ้อยและอ้อยปลูก อีกทั้ง มีการนำอ้อยไปใช้เพาะปลูกและขยายพันธุ์สำหรับปีต่อไป ระบุโรงงานน้ำตาลเตรียมประชุมเตรียมความพร้อมรับผลิต 7-8 พ.ย.นี้ เร่งระดมสมองเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลุ้นดันยิลด์ผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยดีกว่าปีก่อน หวังช่วยพยุงปริมาณผลผลิตน้ำตาลลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับปีก่อน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตกลงเสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. กำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/60 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลให้ตออ้อยและอ้อยปลูกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ชาวไร่อ้อยจึงต้องนำผลผลิตอ้อยบางส่วนไปใช้เพาะปลูกและทำพันธุ์อ้อยสำหรับการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตในปี 2560/61 ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจึงคาดการณ์ว่า อ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 จะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบของ สอน. ก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบในปีนี้เพียง 91.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 3 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะลดลง แต่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคาดหวังว่าผลผลิตน้ำตาลโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 9.78 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณฝนกระจายทั่วถึงในพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี หากฝนยังตกกระจายจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปี จะช่วยให้อ้อยสามารถสร้างความหวานได้ดี และส่งผลต่อคุณภาพอ้อยเข้าหีบที่ทำให้โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิดล์) ได้ดีกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 104.95 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง เตรียมจัดประชุมเวิร์คช็อป ประจำปี 2559 เพื่อความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/60 ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 นี้ ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงาน จะร่วมกันหารือกับผู้บริหารโรงงาน ถึงการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล เพื่อลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้ พร้อมส่งเสริมให้ส่งอ้อยสดเข้าหีบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง

Advertisement

“เรามองว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก แต่เชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล ด้วยการส่งอ้อยสดให้แก่โรงงานนั้น เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโดยรวมในปีนี้ลดลงไม่มากนัก” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

3 สมาคมโรงงานน้ำตาล คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 58/59 ต่ำกว่าปีที่แล้ว โรงงานน้ำตาลเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลุ้นยิลด์ผลิตน้ำตาลดีกว่าปีก่อน

          3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 59/60 ลดลงกว่าปีก่อน จากผลกระทบภัยแล้งในช่วงต้นปี สร้างความเสียหายแก่ตออ้อยและอ้อยปลูก อีกทั้ง มีการนำอ้อยไปใช้เพาะปลูกและขยายพันธุ์สำหรับปีต่อไป ระบุโรงงานน้ำตาลเตรียมประชุมเตรียมความพร้อมรับผลิต 7-8 พ.ย.นี้ เร่งระดมสมองเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลุ้นดันยิลด์ผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยดีกว่าปีก่อน หวังช่วยพยุงปริมาณผลผลิตน้ำตาลลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับปีก่อน

          นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตกลงเสนอ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. กำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/60 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากสภาพปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ส่งผลให้ตออ้อยและอ้อยปลูกได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ชาวไร่อ้อยจึงต้องนำผลผลิตอ้อยบางส่วนไปใช้เพาะปลูกและทำพันธุ์อ้อยสำหรับการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตในปี 2560/61 ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจึงคาดการณ์ว่า อ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 จะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบของ สอน. ก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบในปีนี้เพียง 91.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 3 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า

          อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะลดลง แต่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคาดหวังว่าผลผลิตน้ำตาลโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 9.78 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณฝนกระจายทั่วถึงในพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี หากฝนยังตกกระจายจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปี จะช่วยให้อ้อยสามารถสร้างความหวานได้ดี และส่งผลต่อคุณภาพอ้อยเข้าหีบที่ทำให้โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิดล์) ได้ดีกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 104.95 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

          ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง เตรียมจัดประชุมเวิร์คช็อป ประจำปี 2559 เพื่อความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/60 ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 นี้ ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงาน จะร่วมกันหารือกับผู้บริหารโรงงาน ถึงการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล เพื่อลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้ พร้อมส่งเสริมให้ส่งอ้อยสดเข้าหีบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง

          "เรามองว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก แต่เชื่อว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอ้อยและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล ด้วยการส่งอ้อยสดให้แก่โรงงานนั้น เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโดยรวมในปีนี้ลดลงไม่มากนัก" นายสิริวุทธิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก.อุตฯสั่งดำเนินคดีเฉียบขาดฟันโรงงาน ราชบุรีเอทานอล

ก.อุตสาหกรรม สแกนโรงงานริมน้ำแม่กลองไม่มีโรงใดใช้สารเคมี พร้อมสั่งดำเนินคดีตาม กม.อย่างเฉียบขาด ฟันโรงงาน ราชบุรีเอทานอล สาเหตุปลากระเบนตาย สร้างโมเดลจำลอง หากเป็นต้นเหตุต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด

นายสุรพล ชามาตย์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าของเหตุการณ์ปลากระเบนตายในแม่น้ำแม่กลอง ว่า จากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างและตรวจวัดคุณภาพน้ำ 7 จุด พบค่าออกซิเจนละลาย (DO) ประมาณ 1.8-3.1 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าปกติที่ต้องเกิน 4 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีค่าความเค็ม ค่าการนำไฟฟ้า และค่าของแข็งที่ละลายในน้ำอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งอาจเกิดจากน้ำทะเลหนุน หรืออาจมาจากสารปนเปื้อนในน้ำ หรือทั้งสองอย่าง และปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลง โดยค่าน้ำในแม่น้ำแม่กลองเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

ส่วนสาเหตุการตายของปลากระเบนนั้น ผลการวิเคราะห์ซากปลากระเบนของ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบมีสารไซยาไนด์ตกค้างอยู่ แต่การตรวจสอบโรงงาน และการระบายน้ำทิ้งของโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ปรากฏว่าไม่มีโรงงานใดใช้สารไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตเลย ส่วนใหญ่จะมีการใช้ไซยาไนด์สำหรับการบ่มเพาะในงานเกษตรกรรม การใช้ยาฆ่าแมลงและยาปราบวัชพืช ส่วนภาคอุตสาหกรรมจะใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก การชุบโลหะ และของการผลิตเมลามีน

และจากสถิติคุณภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองย้อนหลัง ที่จัดเก็บโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคตะวันตก กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นหน้าฝน ค่าออกซิเจนละลาย (DO) จะมีปริมาณต่ำกว่าค่าปกติ อยู่ราวๆ 2-4 เพราะมีการชะของน้ำฝนลงน้ำผิวดินจากภาคเกษตร การระบายน้ำทิ้งของชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง

 “จ.กาญจนบุรี ไม่มีโรงงานใดที่ใช้สารเคมีตั้งอยู่ ส่วนโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งใน จ.สมุทรสงคราม จำนวน 8 โรง จ.ราชบุรี จำนวน 19 โรง ได้เก็บตัวอย่างครบถ้วนแล้วทุกโรง ซึ่งผลคุณภาพน้ำจะออกมาประมาณสัปดาห์นี้ สำหรับโรงงานราชบุรีเอทานอล ที่พบการระบายน้ำทิ้งมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากได้มีอุบัติเหตุน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วรั่วไหลสู่คลองแฉลบและไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วโดยเปรียบเทียบปรับรวมเป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน” นายสุรพล กล่าว

นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ได้ทำโมเดลจำลองในการสืบค้นข้อเท็จจริง เพื่อหาค่าไนโตเจนและแอมโมเนียด้วย เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญได้ส่งผลตรวจสอบปลากระเบนที่ตายพบค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) สูงผิดปกติ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีระดับไนโตรเจน หรือแอมโมเนียในเลือดปลาสูง และสาเหตุการตายอาจเกิดมาจากการล้มเหลวของไตปลากระเบน และกลไกที่ตั้งไว้เป็นสมมุติฐานคือการที่ระดับแอมโมเนียในแหล่งน้ำสูง โดยกากน้ำตาลจะมีระดับแอมโมเนียที่สูง ซึ่งอาจเกิดจากการระบายน้ำเสียของโรงงาน จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียจากโรงงาน เพื่อนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการด้วยการศึกษาแบบจำลองสถานการณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุว่ามาจากโรงงานราชบุรีเอทานอลหรือไม่ และหากพบว่าเป็นต้นเหตุ ก็จะมีการฟ้องร้องทางคดีตามกฎหมายให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

โรงงานยื่นเปิดหีบอ้อย 1 ธ.ค.นี้ คาดปริมาณอ้อยลดลง  

         สมาคมโรงงานน้ำตาลเสนอ “สอน.” กำหนดเปิดหีบอ้อย 1 ธันวาคม เผยปริมาณอ้อยเข้าหีบส่อต่ำกว่าปีที่แล้ว 3 ล้านตัน ลุ้นยิลด์ผลิตน้ำตาลดีกว่าปีก่อน

               นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศตกลงเสนอสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. กำหนดวันเริ่มเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/60 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป โดยประเมินว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบจะมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 94.05 ล้านตันอ้อย ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบของ สอน.ก่อนหน้านี้ ที่คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบในปีนี้เพียง 91.05 ล้านตันอ้อย หรือลดลง 3 ล้านตันจากปีก่อนหน้า

               อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะลดลง แต่กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลยังคาดหวังว่าผลผลิตน้ำตาลโดยรวมทั้งอุตสาหกรรมจะมีปริมาณลดลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณน้ำตาลทรายทั้งสิ้น 9.78 ล้านตัน เนื่องจากมีปริมาณฝนกระจายทั่วถึงในพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ช่วงกลางปี หากฝนยังตกกระจายจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ และสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงปลายปี จะช่วยให้อ้อยสามารถสร้างความหวานได้ดี และส่งผลต่อคุณภาพอ้อยเข้าหีบที่ทำให้โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิดล์) ได้ดีกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 104.95 กิโลกรัมต่อตันอ้อย

               นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกแห่งเตรียมจัดประชุมเวิร์กชอป ประจำปี 2559 เพื่อความพร้อมสำหรับการเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2559/60 ในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2559 นี้ ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออร์คิด โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่และฝ่ายโรงงานจะร่วมกันหารือกับผู้บริหารโรงงาน ถึงการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาล เพื่อลดปัญหาอ้อยปนเปื้อนและอ้อยไฟไหม้ พร้อมส่งเสริมให้ส่งอ้อยสดเข้าหีบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง

               “เรามองว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะลดเพราะภัยแล้ง แต่เชื่อว่าจะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลโดยรวมในปีนี้ลดลงไม่มากนัก” นายสิริวุทธิ์กล่าว

 จาก http://manager.co.th วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

‘ก.เกษตร’เร่งเติมน้ำ3เขื่อนอีสาน หวั่นกระทบปลูกพืชฤดูแล้ง-ขาดน้ำใช้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้มอบให้กรมชลประทาน เป็นหน่วยสนับสนุนเรื่องน้ำ ส่วนเรื่องการวางแผนการเพาะปลูกหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง และกรมปศุสัตว์ แต่ละหน่วยงานบูรณาการร่วมกันว่าต้องการจะใช้น้ำเท่าไร และจะเริ่มปลูกพืชเมื่อไร เช่น การทำนารอบสอง หน่วยงานส่งเสริมต้องประสานกับกรมชลประทานว่ามีน้ำสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องเปลี่ยนไปส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย นำมากำหนดแผน พร้อมนำเกษตรกรเข้าสู่แผนที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด

‘สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้น่าจะทุเลาลงแล้ว และการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน เพื่อการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคก็ไม่มีปัญหา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้ลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำ พบว่า ภาคกลางไม่น่ากังวล น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายการบริหารจัดการน้ำ แต่ที่กังวล คือ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และน้ำใช้ของประชาชนในภาคอีสาน เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนในภาคอีสานค่อนข้างมีน้อย จึงต้องเร่งปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง และลำแชะ โดยให้กรมฝนหลวงระดมสรรพกำลังมาทำฝนหลวงเพิ่มเติมน้ำใน 3 เขื่อนนี้ให้ได้มากที่สุด’ รมว.เกษตรฯ กล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ปี 2559 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวในฤดูฝนที่ผ่านมาในเขตชลประทานมีจำนวน 14.79 ล้านไร่ จากเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนน้ำได้จำนวน 15.93 ล้านไร่ และในช่วงฤดูแล้ง ปี 2560 คาดว่าจะมีการสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกอีกประมาณ 4 ล้านไร่ ถือเป็นการเพาะปลูกตามแผนการเพาะปลูกข้าวรอบสอง แต่ยอมรับว่าฤดูแล้งที่จะมาถึง ปริมาณน้ำในภาคอีสานยังเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกที่กรมชลประทานต้องบริหารจัดการให้ดีเพราะปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนมีปริมาณน้อยมาก

ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนปราณบุรี มีปริมาณน้ำเหลือเพียง 18% เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก จึงสั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ว่าจะมีน้ำเติมในเขื่อนหรือไม่ หากปริมาณน้ำไม่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบถึงการส่งน้ำมาใช้ในพื้นที่ อ. หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรมชลประทานต้องเตรียมเสนอแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า เช่น จะสามารถส่งน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานมาช่วยได้หรือไม่ หรือหากไม่สามารถทำได้ ทำฝนหลวงยังทำได้หรือไม่ และเขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำเกือบเต็มความจุ หากมีฝนตกเพิ่มขึ้น อาจมีปัญหา ต้องบริหารจัดการ และหน่วยงานต่างๆ ต้องทราบปริมาณน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนต่อเนื่องตามภารกิจของตนเอง เช่น กำหนดช่วงการปลูกพืช ช่วงการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เป็นต้น

ขณะที่สถานการณ์น้ำปัจจุบัน พบว่าปริมาณฝนสะสมปี 2559 มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศประมาณ 9% แต่มากกว่าปี 2558 ถึง 21% และเมื่อพิจารณาตามภูมิภาคพบว่าทั่วทุกภาค ปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด ยกเว้นภาคใต้ (ฝั่งอ่าวไทย) มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 16% และน้อยกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยปี 2558 อยู่ 8% สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 อ่างของประเทศไทย พบว่าในปี 2559 ปริมาณน้ำดีกว่าปี 2558 คือ มีน้ำใช้การได้มากถึง 51% ในขณะที่ปี 2558 มีเพียง 37%

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รายงานพิเศษ : เร่งวางแนวทางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์‘ตรวจวัดคุณภาพน้ำ-อากาศ’ จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคประชาชน

 “ภาคอุตสาหกรรม” มีบทบาทอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “ภาคอุตสาหกรรม” ก็ถือเป็นแหล่งปลดปล่อยมลพิษที่สำคัญ ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนที่อยู่รอบสถานประกอบการและระบบนิเวศน์ขาดความสมดุล ต้องใช้เวลาในการเยียวยาแก้ไข

ดังนั้น การวางแนวทางการบริหารจัดการหรือควบคุมการระบายมลพิษน้ำและอากาศ จึงต้องอาศัยกระบวนการหลายด้าน หลายมิติ นอกจากจะอาศัยข้อบังคับหรือหลักกฎหมายแล้ว การส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกระบวนการหนึ่งในการที่จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน และสามารถอยู่ร่วมกันกับประชาชนได้อย่างมีความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี จึงได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” นำมาศึกษาและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะด้าน “การปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ให้คณะรัฐมนตรีรับไปพิจารณาดำเนินการ

นายศิระ จันทร์เฉิด ผู้อำนวยการส่วนเตือนภัยมลพิษโรงงานกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้จัดทำข้อเสนอแนะเรื่อง “การกำหนดให้โรงงานติดตั้งระบบรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งหรือคุณภาพอากาศจากปล่องต่อสาธารณะ” มอบให้แก่รัฐบาล ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 รับทราบข้อเสนอแนะดังกล่าว พร้อมกับมอบหมายให้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” เป็นหน่วยงานหลักไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอดังกล่าว

ทั้งนี้จากผลการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยในหลักการ ในการกำหนดให้โรงงานติดตั้งระบบรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งหรือคุณภาพอากาศจากปล่องต่อสาธารณะ พร้อมกับวางแนวทางในการดำเนินการติดตั้งระบบรายงานผลเป็น 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ให้หน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการระบายมลพิษ เป็นผู้ติดตั้งระบบรายงานแสดงผลในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เหมาะสม 2.ให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ระบายมลพิษ เป็นผู้ติดตั้งระบบรายงานแสดงผลในบริเวณหน้าโรงงานหรือพื้นที่แหล่งชุมชนที่ใกล้โรงงาน

นอกจากนี้ ยังเห็นควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้แทนชุมชนในพื้นที่โรงงานหนาแน่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการโรงงาน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน

นายศิระ กล่าวต่อว่า จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมอุตสาหกรรม จึงได้จัดการประชุมหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในภาคอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ซึ่งมติที่ประชุมได้แสดงความเห็นด้วยในหลักการให้มีการดำเนินการติดตั้งระบบรายงานแสดงผลดังกล่าว และเห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการระบายมลพิษ เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบให้สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และมีความสม่ำเสมอในการแสดงค่าการระบายมลพิษจากโรงงาน

ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชน กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดซึ่งมีที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยจังหวัดระยอง จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในระหว่างวันที่20-22 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมมาร่วมประชุมหารือทั้งสิ้น 334 คน ซึ่งในการประชุม ได้มีการบรรยายนำเสนอความเป็นมาโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงานและสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งผลจากการรับฟังความคิดเห็นและตอบแบบสอบถามในที่ประชุม พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 93 เห็นด้วยที่จะให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลด้านการระบายมลพิษ เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบรายงานผลเพื่อให้เกิดความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูล

โดยหลังจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะดำเนินการสรุปรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมด เพื่อนำเสนอกลับไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีให้ความคิดเห็นและพิจารณาสั่งการ ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าการกำหนดให้โรงงานติดตั้งระบบรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งหรือคุณภาพอากาศจากปล่องต่อสาธารณะดังกล่าวนี้ นอกจากเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดเผยค่าการระบายมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมต่อประชาชน ชุมชน และสาธารณชนแล้ว ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งด้านการกำกับดูแล ด้านการสร้างความเชื่อถือต่อภาคส่วนทั้งสามภาคส่วน คือ ผู้ประกอบการโรงงาน ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนสามารถลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนและโรงงานให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"เป๊ปซี่" ปรับสูตรธุรกิจ รับมือภาษีน้ำตาลเขย่าเครื่องดื่ม

ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง หรือภาษีน้ำหวาน เพื่อต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวาน เคยเป็นประเด็นไปทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย แม้นโยบายนี้ของไทยจะต้องพับไปในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความกังวลว่าจะกระทบอุตสาหกรรมน้ำตาลรวมถึงปัญหาขอบเขตในการจัดเก็บ จนกระแสเริ่มเงียบลง

แต่เมื่อวันที่11 ต.ค. องค์การอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชโอ (WHO) ก็ได้จุดกระแสนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการออกแถลงการณ์แนะนำให้รัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทุกชนิดในอัตราไม่น้อยกว่า 20% ของราคาขาย เพื่อลดการบริโภคน้ำหวานลง 1 ใน 5

ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เริ่มมีผู้ประกอบการและรัฐบาลบางประเทศออกมารับลูกคำแนะนำนี้แล้ว หนึ่งในนั้นคือ "เป๊ปซี่" ผู้ผลิตเครื่องดื่มและขนมรายใหญ่ซึ่งประกาศว่า ภายในปี 2568 นั้น 2 ใน 3 ของเครื่องดื่มที่บริษัทผลิตจะต้องมีพลังงานจากน้ำตาลน้อยกว่า 100 แคลอรีต่อ 12 ออนซ์ หรือประมาณ 355 มิลลิลิตร และรัฐบาลโปรตุเกสที่จะเสนอเก็บภาษีน้ำอัดลมตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

"อินดรา โนยี" ซีอีโอและประธานของเป๊ปซี่ โคกล่าวว่า แม้ปัจจุบันยอดขายในประเทศที่ชื่นชอบรสหวานจะเติบโตสูงกว่าประเทศที่เริ่มใส่ใจกับปริมาณน้ำตาล แต่บริษัทต้องเริ่มปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ของตลาดซึ่งมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ นี้ โดยจะเน้นพัฒนาสินค้ากลุ่มศูนย์แคลอรี หรือกลุ่มแคลอรีต่ำเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

"ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเราสามารถผลิตเครื่องดื่มน้ำตาลต่ำที่มีรสชาติใกล้เคียงกับสูตรปกติได้แล้วเห็นได้จากผลตอบรับของ 7 อัพสูตรน้ำตาลต่ำในจีน อินเดีย เม็กซิโก และอังกฤษ จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะอาศัยกระแสสุขภาพทำตลาดเครื่องดื่มสูตรน้ำตาลต่ำในตลาดอื่น ๆ ด้วย"

นอกจากน้ำตาลแล้ว ยังเดินหน้าปรับลดปริมาณโซเดียมในสินค้ารวมถึงขนมของ "ฟริโต-เลย์" อย่างเลย์, โดริโทส, ชีโตส ฯลฯ โดยอาศัยเทคนิคปรุงรสแบบใหม่ ช่วยให้ได้รสเค็มใกล้เคียงปกติแม้จะใช้เกลือน้อยลง รวมถึงได้พัฒนากระบวนการทอดให้มีไขมันอิ่มตัวน้อยลง 20% ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มขายในจีนและอินเดียแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ กลุ่มอาหารเองก็มีเป้าหมายปี 2568 เช่นกัน โดย 2 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโออาหารของเป๊บซี่จะต้องมีเกลือไม่เกิน 1.3 มิลลิกรัมต่อแคลอรี และต้องมีไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 1.1 กรัมต่อ 100 แคลอรี

"ปัจจุบันคนเราอายุยืนมากขึ้น จึงหันมาใส่ใจสุขภาพโดยเฉพาะการดื่มกินเพื่อไม่ให้ต้องเจ็บป่วยตอนแก่ชรา บริษัทจึงต้องปรับพอร์ตโฟลิโอให้สัมพันธ์กับดีมานด์นี้เช่นกัน"

นอกจากบริษัทอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่แล้วรัฐบาลของประเทศโปรตุเกสเองได้ประกาศว่าจะเสนอร่างกฎหมายภาษีน้ำอัดลมในปีหน้าเช่นกัน โดยตามแผนนี้น้ำอัดลมที่มีน้ำตาลมากกว่า 80 กรัมต่อลิตร จะต้องเสียภาษี 16.46 ยูโรต่อ 100 ลิตร ส่วนกลุ่มที่น้ำตาลน้อยกว่า 80 กรัมต่อลิตร จะเสียภาษี 8.22 ยูโรต่อ 100 ลิตร ส่วนเครื่องดื่มอื่นที่ทำจากนมและน้ำผลไม้จะไม่ถูกเก็บภาษี

อัตราภาษีนี้จะทำให้ราคาของโค้ก 1 กระป๋อง ขนาด 330 มิลลิลิตร ซึ่งมีน้ำตาล 35 กรัม จะมีราคาเพิ่มขึ้น 5.5 ยูโรเซนต์ และคาดว่าจะช่วยให้รัฐบาลโปรตุเกสมีงบประมาณสำหรับบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นถึง 80 ล้านยูโร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเก็บภาษีน้ำหวานนี้มีการนำไปใช้ในหลายประเทศ อาทิ เม็กซิโก ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2556 และฮังการีที่นอกจากเครื่องดื่มแล้วยังครอบคลุมถึงอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และกาเฟอีนสูงอีกด้วย รวมถึงบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ในขณะที่อีกหลายประเทศในแอฟริกาและอังกฤษเองอยู่ระหว่างศึกษาการเก็บภาษีรูปแบบนี้ เพื่อต่อสู้กับปัญหาโรคอ้วนและเบาหวานในเด็ก

โดยตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ประมาณ 42 ล้านคน อยู่ในสภาพน้ำหนักเกินหรือเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 11 ล้านคนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และในจำนวนนี้ 48% อาศัยอยู่ในเอเชีย อีก 25% อยู่แอฟริกา

 ต้องรอดูกันว่าแถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลกและการออกมารับลูกของหนึ่งในผู้ผลิตน้ำอัดลม-ขนมรายใหญ่ในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อทิศทางของอุตสาหกรรมน้ำอัดลมและขนมบ้าง

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จี้จัดการน้ำอัดลมขึ้นราคา

พาณิชย์เงียบปล่อยน้ำดำขึ้นราคาฉลุย 2 บาท ด้านผู้ผลิตมี “เป๊ปซี่-โคล่า” เจ้าเดียวที่ยืนยันไม่ได้ปรับขึ้นราคา แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้า

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้า ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ กรณีผู้ผลิตน้ำอัดลมรายหนึ่งได้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำอัดลมชนิดขวดแก้วขนาด 240 ซีซี จากเดิมขวดละ 10 บาท เป็นขวดละ 12 บาท โดยปล่อยให้ผู้ผลิตมีการปรับขึ้นราคาได้ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการอนุมัติให้น้ำอัดลมรายใดปรับขึ้นราคา

ทั้งนี้ น้ำอัดลมเป็นหนึ่งในสินค้าที่ติดตามดูแล 205 รายการ ผู้ผลิตต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน และกรมการค้าภายในจะพิจารณาราคาที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับต้นทุน หากไม่มีเหตุผลที่สมควรก็จะไม่ให้ปรับขึ้นราคา

สำหรับผู้ผลิตน้ำอัดลมที่มีการปรับขึ้นราคาในครั้งนี้คือบริษัท ไทยน้ำทิพย์ ผู้ผลิต “โค้ก” โดยได้แจ้งปรับขึ้นราคาขายส่งไปยังร้านจำหน่ายปลีกทุกร้านตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา โดยปรับราคาขายส่งแพ็ก 12 ขวด เป็นราคาแพ็กละ 123.36 บาท หรือตกราคาเฉลี่ยขวดละ 10.28 บาท และให้ราคาแนะนำขายที่ขวดละ 12 บาท ปรับเพิ่มจากเดิมที่ให้ขายขวดละ 10 บาท

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า หลังจากมีข่าวผู้ผลิตน้ำอัดลมปรับขึ้นราคาครั้งนี้ผู้ผลิตรายใหญ่ 3 ราย มีเพียงเป๊ปซี่-โคล่าเท่านั้น ที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการปรับขึ้นราคา ส่วนอีก 2 รายยังไม่มีใครออกมาปฏิเสธ

ทั้งนี้ ปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีร้านค้าปลีกได้แจ้งว่าผู้ผลิตน้ำอัดลมรายหนึ่งได้แจ้งการปรับขึ้นราคาขายส่งน้ำอัดลมแบบขวดและกระป๋อง ทำให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นจากเดิม 10 บาท เป็น 12 บาท ซึ่งในครั้งนั้นผู้ผลิตทั้ง 3 ราย และกรมการค้าภายในได้ออกมาช่วยกันยืนยันว่าไม่มีการปรับขึ้นราคา ทำให้เรื่องการปรับราคาน้ำอัดลมเงียบไป

อย่างไรก็ตามต้นเดือน ต.ค. บริษัท ไทยน้ำทิพย์ ได้แจ้งปรับขึ้นราคาขายส่งน้ำอัดลมแบบขวด ทำให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มเป็น 12 บาท และแบบกระป๋อง มีแต่ขนาด 250 มิลลิลิตร และให้ขายในราคากระป๋องละ 12 บาท

นายจรณชัย ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง กล่าวว่า บริษัทไม่ได้มีการจำหน่ายน้ำอัดลมในรูปแบบขวดแก้ว จึงไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาในส่วนนี้ และไม่ได้ปรับขึ้นราคาน้ำอัดลมกระป๋องด้วย

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รง.ราชบุรีเอทานอลส่อชดใช้ ต้นเหตุปลากระเบนแม่กลองตาย  

       กระทรวงอุตสาห- กรรมสาวหาเหตุปลากระเบนตาย ที่แม่น้ำ แม่กลอง รอโมเดลจำลองจากกรมควบ คุมมลพิษพบหากสาเหตุมาจากโรงงานราชบุรีเอทานอลจริงต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด หลังพบน้ำทิ้งมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดสั่งปรับรวมเป็นเงิน 400,000 บาทและให้ปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

          นายสุรพล ชามาตย์ รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าของเหตุการณ์ปลากระเบนตายในแม่น้ำแม่กลอง ว่า ผลการวิเคราะห์ซากปลากระเบนของ รศ.สพญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบสาเหตุการตายของปลากระเบนโดยมีสารไซยาไนด์ตกค้างอยู่ แต่การตรวจสอบโรงงาน และการระบายน้ำทิ้งของโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ แม่กลอง ปรากฏว่าไม่มีโรงงานใดใช้สาร ไซยาไนด์ในกระบวนการผลิตเลย ส่วนใหญ่จะมีการใช้ไซยาไนด์สำหรับการบ่มเพาะในงานเกษตรกรรม การใช้ยาฆ่า และยาปราบวัชพืช ส่วนภาคอุตสาหกรรม จะใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก การชุบโลหะ และของการผลิตเมลามีน

          นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ได้ทำโมเดลจำลองในการสืบค้นข้อเท็จจริง เพื่อหาค่าไนโตรเจนและแอมโมเนียด้วย เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญได้ส่งผลตรวจสอบปลากระเบนที่ตายพบค่า BUN (Blood Urea Nitrogen) สูงผิดปกติ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามีระดับไนโตรเจน หรือแอมโมเนียในเลือดปลาสูง และสาเหตุการตายอาจเกิดมาจากการล้มเหลวของไตปลากระเบน และกลไกที่ตั้งไว้เป็นสมมุติฐานคือการที่ระดับแอมโมเนียในแหล่งน้ำสูง

          "กากน้ำตาลจะมีระดับแอมโมเนีย ที่สูง ซึ่งอาจเกิดจากการระบายน้ำเสียของโรงงาน จึงได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียจาก โรงงาน เพื่อนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการด้วยการศึกษาแบบจำลองสถานการณ์ ตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อหาสาเหตุว่ามาจากราชบุรีเอทานอลหรือไม่หากพบว่าเป็นต้นเหตุก็จะมีการฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย" นายสุรพลกล่าว

          สำหรับโรงงานราชบุรีเอทานอลเกิดอุบัติเหตุน้ำกากสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วรั่วไหล จากการตรวจสอบพบการระบายน้ำทิ้งมีค่าเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากได้มีอุบัติเหตุน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วรั่วไหลสู่คลองแฉลบ และไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วโดยเปรียบเทียบปรับรวมเป็นเงิน 400,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 และออกคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันและหากพบว่าเป็นต้นเหตุทำให้ปลาตายก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดด้วย.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อุตฯแก้โครงสร้างระบบอ้อยพาณิชย์หวั่นน้ำตาลราคาพุ่ง 

          กระทรวงพาณิชย์หวั่นกระทรวงอุตสาหกรรม ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ทำราคาน้ำตาลในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เผยเตรียมแผนดูแลไม่ให้กระทบผู้บริโภคในตลาด

          แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบปี 2559-2564 เพื่อให้ราคาน้ำตาลปรับขึ้น-ลงราคาให้เป็นไปตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น คาดว่าหน่วยงานที่ดูแลและรับผิดชอบโดยตรง คือ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม อาจจะยกเลิกเพดานราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย

          โดยปัจจุบัน กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้น้ำตาลทรายเป็น 1 ใน 45 รายการ ที่เป็นราคาสินค้าควบคุม และกำหนดมาตรการด้านราคาจำหน่ายได้ไม่เกิน กก.ละ 23.50 บาท เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนราคาในพื้นที่ต่างจังหวัดจะให้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในการพิจารณาด้านราคาของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับต้นทุนค่าขนส่ง

          หลังจากนี้ ตามขั้นตอนทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องแจ้งหนังสือมาที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางการดำเนินการ เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน และต้องพิจารณาความเหมาะสม และเป็นไปตามแนวทาง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีแนวทางในการปรับราคาแนะนำราคาน้ำตาลในขณะนี้ แต่คาดว่าราคาน้ำตาลจะปรับสูงขึ้น แต่ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าราคาน้ำตาลจะปรับขึ้น-ลงมากน้อยเพียงใด

          "เดิมทีกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ในการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยภาพรวม และในทุกตัวสินค้าที่มีผลกระทบต่อประชาชน แต่สำหรับน้ำตาลนั้น เนื่องจากมี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งอยู่ภายใต้ การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีการทำโครงสร้างราคาขึ้น แต่ไม่ได้มีกฎหมายดูแลเรื่องของราคาน้ำตาล ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีกฎหมายดูแลเรื่องราคาสินค้า ขอให้เข้ามาดูแลราคาน้ำตาลและได้มีการกำหนดราคาเพดานไว้ไม่ให้ขายเกินราคาที่กำหนด คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. จึงกำหนดให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม"

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กอน.ชี้ราคาอ้อยปี59/60 ไม่ต่ำตันละ1พันบาท  

          กอน.ปลื้ม ขายน้ำตาลทราย โควตา ข ล่วงหน้า 2 ปี หนุนราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2559-2560 และ 2560/2561 ทะลุตันละ 1,000 บาท สูงสุดในรอบ 5 ปี

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยถึงผลการเปิดประมูลน้ำตาลทรายดิบโควตา ข ปี 2561 ว่า เปิดประมูล 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 น้ำตาลทราย ส่งมอบเดือน มี.ค. ปี 2561 เปิดประมูล 36,000 ตัน และขายได้แล้วประมาณ 8,300 ตัน

          ครั้งที่ 2 น้ำตาลทรายส่งมอบเดือน พ.ค. ปี2561 เปิดประมูล 36,000 ตัน และขายได้แล้วประมาณ 5,700 ตัน รวมซื้อ-ขายล่วงหน้า 2 งวด ได้แล้วประมาณ 14,000 ตัน หรือ คิดเป็น 1.78% ของปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ข ที่ได้รับจัดสรร 8 แสนตัน

          ทั้งนี้ จากการเปิดประมูลทั้ง 2 ครั้ง สามารถขายน้ำตาลทรายได้ราคาส่วนเพิ่ม(ค่าพรีเมี่ยม) เฉลี่ยอยู่ที่ 70 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งหากคำนวณจากราคาซื้อ-ขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าในปัจจุบัน อยู่ที่กว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ จะทำให้ราคาขายน้ำทรายของไทยอยู่ที่กว่า 21 เซนต์ต่อปอนด์ นับว่าสูงสุดในรอบกว่า 5 ปี ซึ่งจะส่งผลให้การกำหนด ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2560/2561 ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท และทำให้ชาวไร่อ้อยขายอ้อยได้ในราคาที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

          "แม้ว่าน้ำตาลทรายในโควตา ข จะคิดเป็นสัดส่วน10%ของปริมาณน้ำตาลทรายทั้งหมด แต่ก็เป็นการการันตีราคาน้ำตาลทรายโควตา ค ในอนาคตของประเทศที่มีปริมาณหลายล้านตัน และถือเป็นครั้งแรกของไทยที่นำน้ำตาลทรายออกมาขายล่วงหน้า 2 ปี และได้ราคาพรีเมี่ยมค่อนข้างสูง ซึ่งจะเป็นการชี้นำให้เกษตรกรวางแผนปลูกอ้อยได้เหมาะสม"

          ส่วนการเปิดประมูลน้ำตาลทรายโควตา ข ปี 2560  ที่จะเริ่มเปิดหีบอ้อยช่วงปลายปี 2559 นั้น กอน.ได้นำน้ำตาลทรายขายล่วงหน้าไปแล้ว  68.12% โดยราคาซื้อ-ขายล่วงหน้าอยู่ที่ 19.52 เซนต์ต่อปอนด์ รวมกับค่าพรีเมี่ยม อยู่ที่ 1.13 เซนต์ต่อปอนด์  ทำให้ราคาน้ำตาลทรายปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 21เซนต์ต่อปอนด์ และจะส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นในฤดูการผลิตปี  2559/2560 ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาทแน่นอน

จาก http://manager.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รัฐบาลเดินหน้าขยายการค้ากับต่างประเทศ

                    พาณิชย์ รับลูก “สมคิด” เดินหน้าทำพันธมิตรทางการค้า เน้นตลาดศักยภาพ ทั้งจีน อินเดีย ซีแอลเอ็มวี ประเดิมเวียดนาม  ยันไม่เลิกเอฟทีเอแน่นอน             

                    นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขยายความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนกับประเทศต่าง ๆ ในรูปแบบของพันธมิตรทางการค้า โดยเน้นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นตลาดการค้า และการลงทุนของไทย อาทิ จีน อินเดีย กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ทั้ง กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงรัสเซีย แอฟริกา เป็นต้น ซึ่งจะเจรจาในประเด็นที่ไทยและประเทศคู่เจรจาสนใจร่วมกัน พร้อมทั้งให้ดำเนินการคู่ขนานไปกับการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ของไทยกับประเทศต่าง ๆ

 “การทำพันธมิตรทางการค้า จะเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการ ไม่ได้หมายความว่า เราจะทิ้งเอฟทีเอ เรายังคงเจรจาอยู่ แต่เอฟทีเอกับบางประเทศที่ทำมานานแล้ว และยังเจรจาไม่จบ เช่น อินเดีย ก็อยากให้เปลี่ยนมาคุยเฉพาะสาขาที่ 2 ประเทศสนใจร่วมกัน จะไม่ทำเป็นเอฟทีเอเต็มรูปแบบ ซึ่งสาขาที่ไทยสนใจ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) ที่ต้องการความรู้จากอินเดีย และอินเดีย ก็สนใจให้ไทยเข้าไปลงทุนทำค้าปลีก เป็นต้น”

 อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ จะเดินทางไปเวียดนาม เพื่อเจรจาพันธมิตรทางการค้า ซึ่งเวียดนามต้องการให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีก ขณะที่ไทยสนใจลงทุนสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ นอกจากนี้ ช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ นายสมคิด จะนำคณะไทย เดินทางไปประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน (เจซี) ที่จีน โดยจะหารือเรื่องการทำพันธมิตรทางการค้าระหว่างกันด้วย ซึ่งการทำพันธมิตรทางการค้านั้น จะพยายามทำให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม และอาจนำมาเป็นเป็นข้อผูกพันในกรอบเอฟทีเอระหว่างกันด้วย

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รื้อใหญ่โครงสร้างก.อุตฯ

                    ก.อุตสาหกรรมเร่งทำรายละเอียดการปรับโครงส้างใหม่ ตามแนวคิด “สมคิด” รองรับไทยแลนด์ 4.0 คาดเสนอก.พ.ร.ได้ปลายพ.ย. นี้                     

                     น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงกำลังเร่งจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ส่วนงานราชการแต่ละแห่งปรับปรุงการทำงานที่ยึดหลัก 5 ประการ คือ อำนวยความสะดวกได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึง ช่วยลดต้นทุน คล่องตัว และทันสมัยรองรับการเดินหน้าประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งคาดรายละเอียดต่าง ๆ จะมีความชัดเจน แลเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้

“เบื้องต้น มีหลายส่วนงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมอาจต้องปรับเพิ่มบทบาทการทำงานมากขึ้น แต่บางส่วนงานก็ต้องปรับลดหรือโอนย้ายภารกิจรองรับโครงสร้างใหม่ โดยเฉพาะงานด้านบริการที่ต้องถ่ายโอนอำนาจไปสู่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้การทำงานตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นให้หน่วยงานภาครัฐต้องมีการทำงานที่คล่องตัว กระชับรวดเร็ว เข้าถึงง่ายขึ้น ต้นทุนการดำเนินงานถูกลง โดยข้าราชการเองต้องเปิดรับโจทย์ใหม่ และมีความทันสมัย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่มีบทบาทด้านสนับสนุนและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอาจต้องมีการปรับบทบาทมากที่สุด”

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การมาตรฐานแห่งชาติ สอดรับโครงสร้างใหม่การปรับภารกิจของหน่วยงานในกระทรวง และจัดทำพ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรม มารองรับการปรับโครงสร้างของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่อาจเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สอช.) และจัดทำพ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ และพ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยคาดรายละเอียดการปรับโครงสร้างกระทรวงต่างๆ จะแล้วเสร็จเสนอที่ประชุมครม. ได้ภายในเดือนเม.ย. 60 จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอจัดตั้งส่วนราชการระดับกรมและร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 23 ตุลาคม 2559

เป๊ปซี่ตั้งเป้าเลิกหวาน

เป๊ปซี่โค ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตน้ำอัดลมจากสหรัฐอเมริกา ประกาศเป้าหมายลดปริมาณน้ำตาลในผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมของบริษัททั่วโลก เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายร่วมแก้ไขปัญหาที่ได้กลายมาเป็นวาระสำคัญของสังคมระดับโลก เช่น โรคอ้วนและการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

เป๊ปซี่โคซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองนิวยอร์คประกาศต้นสัปดาห์นี้ (17 ต.ค.) ว่าภายในปีพ.ศ. 2568 อย่างน้อยสองในสาม หรือกว่า 60 % ของน้ำอัดลมที่บริษัทผลิตออกสู่ท้องตลาดจะมีปริมาณพลังงานจากน้ำตาลเพียง 100 แคลอรี่หรือน้อยกว่านั้น (สำหรับน้ำอัดลมขนาดบรรจุ 12 ออนซ์) ซึ่งนั่นหมายถึงแผนการผลิตน้ำอัดลมตระกูล zero (ซึ่งหมายถึงแคลอรี่ 0% ) และเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำออกมามากขึ้นนั่นเอง ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันที่เกิดขึ้นทั้งกับเป๊ปซี่และโคคา-โคล่า คู่แข่งรายสำคัญที่ ถูกกล่าวหาจากกลุ่มนักวิชาการด้านสุขภาพอนามัย องค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านการพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค และหน่วยงานรัฐบาล ที่ระบุว่าน้ำอัดลมเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

ผู้บริหารของเป๊ปซี่โคกล่าวว่า เป้าหมายใหม่ที่จะใช้ทั่วโลกนี้เป็นเป้าหมายที่หวังไว้สูงกว่าเป้าเดิมในปีที่ผ่านมาที่เป๊ปซี่ตั้งไว้ว่าจะลดปริมาณน้ำตาลลง 25% ภายในปี 2563 นายเมห์มูด ข่าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาของเป๊ปซี่เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้การตั้งเป้าหมายเช่นนี้มีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างสารปรุงแต่งรสชาติชนิดใหม่ๆที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณความหวานให้กับเครื่องดื่ม “มันไม่ใช่แค่เรื่องของสารให้ความหวาน แต่เป็นเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุดิบต่างๆที่จะให้รสชาติ มีความรู้ที่จะนำมาใช้ และมีช่องทางเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบนั้นๆ” นอกจากเป้าหมายลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มแล้ว เป๊ปซี่โคยังตั้งเป้าลดปริมาณโซเดียมและไขมันอิ่มตัว

เดือนตุลาคมนี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาให้การสนับสนุนมาตรการเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีรสชาติหวาน ซึ่งรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสและเม็กซิโกได้นำมาประกาศใช้แล้ว เป้าหมายเพื่อชักจูงให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำอัดลมและมีสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวแทนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำอัดลมได้ออกมาคัดค้านมาตรการดังกล่าวแล้ว

รายงานข่าวระบุว่า ปีที่ผ่านมา เป๊ปซี่โคล่า มีรายได้รวม 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ 12% เป็นรายได้จากการขายน้ำอัดลมภายใต้แบรนด์ ‘เป๊ปซี่’ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย รายได้ของเป๊ปซี่ 25% มาจากน้ำอัดลมแบรนด์อื่นๆ เช่น เมาเท่าดิว นอกนั้นเป็นรายได้จากสินค้าประเภทน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำผลไม้ (ซึ่งรวมถึงแบรนด์ทรอปิคาน่า) ของกินเล่น (สแน็ค) และเครื่องจิ้ม (dip)

Advertisement

มินดี้ ลับเบอร์ ประธานองค์กรเซเรส องค์กรเอกชนไม่แสวงผลกำไรที่ออกมาเรียกร้องให้ธุรกิจเอกชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ให้ความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวของเป๊ปซี่โคในครั้งนี้นับเป็นก้าวย่างสู่ทิศทางที่ดี “แต่ถ้าเรามองดูวิกฤติที่เผชิญอยู่ก็จะเห็นว่า มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังควรจะทำได้อีก ถ้าหากบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มไม่เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของคุณค่าโภชนาการ นั่นก็แปลว่าพวกเขาไม่ได้มองไปในทิศทางที่โลกกำลังมุ่งไป”

“ตอนนี้เรากำลังต่อยอดเป้าหมายเก่าที่ตั้งไว้เมื่อ 10 ปีที่ เป็นหมายที่กว้างและครอบคลุมทั้งแง่คุณค่าโภชนาการ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาสังคม” ผู้บริหารของเป๊ปซี่กล่าว ทั้งยังเปิดเผยว่า การดำเนินการตามเป้าหมายเหล่านี้ช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดเงินถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประหยัดที่เกิดจากการลดปริมาณใช้น้ำ การลดวัสดุบรรจุภัณฑ์ การลดการใช้พลังงาน รวมทั้งการลดปริมาณขยะและของเสียจากกระบวนการผลิต

จาก http://www.thansettakij.com วันที่ 21 ตุลาคม 2559

ก.อุตสาหกรรมชงกพร.ปรับโครงสร้างพ.ย.นี้

กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปรับโครงสร้างเสนอ ก.พ.ร. ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมแก้ไข พ.ร.บ. การมาตรฐานแห่งชาติ รองรับภารกิจตามโครงสร้างใหม่

น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้สถาบันและหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงอยู่ระหว่างเร่งจัดทำรายละเอียดการปรับโครงสร้างภายในของแต่ละหน่วยงาน โดยรายละเอียดการปรับโครงสร้างจะมีความชัดเจนเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ช่วงปลาย เดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ ได้เร่งแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การมาตรฐานแห่งชาติ สอดรับโครงสร้างใหม่การปรับภารกิจของหน่วยงานในกระทรวง และจัดทำ พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรม มารองรับการปรับโครงสร้างของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่อาจเป็นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สอช.) และจัดทำ พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เป็นต้น โดยคาดรายละเอียดการปรับโครงสร้างกระทรวงต่างๆ จะแล้วเสร็จเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนเมษายน 2560 จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอจัดตั้งส่วนราชการระดับกรมและร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

จาก  http://www.innnews.co.th  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กระทรวงอุตฯ ตั้ง "สำนักครีเอทีฟ"

                    กระทรวงอุตฯ ตั้ง“สำนักครีเอทีฟ” กำหนดนโยบายขับเคลื่อนงานด้านครีเอทีฟ ให้ตอบโจทย์การพัฒนาใน 4 กลุ่มหลัก คือ ศิลปะ ผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม และบริการ

                    นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ( ครีเอทีฟ อีโคโดมิก) ว่า ได้สั่งการให้นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดตั้งทีมงานมาดูแลการจัดตั้งสำนักครีเอทีฟ อีโคโนมี ซึ่งจะเป็นสำนักงานใหม่ ภายในกระทรวงอุตฯ เพื่อกำหนดนโยบายขับเคลื่อนงานด้านครีเอทีฟ ให้ตอบโจทย์การพัฒนาใน 4 กลุ่มหลัก คือ ศิลปะ ผลิตภัณฑ์ วัฒนธรรม และบริการ ที่ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) โดยทีมงานดังกล่าว จะต้องนำผลการศึกษาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่หลายหน่วยงานเคยศึกษาไว้ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ(ทีซีดีซี) มากลั่นกรอง เพื่อกำหนดคำนิยามของครีเอทีฟ อีโคโนมีให้ชัดเจน เพราะเป็นการชี้ทิศทาง และเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรม รวมถึงวางแนวทางเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการในอนาคต

  “ภารกิจของทีมงานชุดนี้จะต้องไปศึกษารูปแบบการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของแต่ละประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี แล้วนำมาประยุกต์กับรูปแบบการศึกษาของไทยที่หลายหน่วยงานได้ทำไว้แล้ว เพื่อมาวางแนวทางให้เห็นภาพว่า ครีเอทีฟ อีโคโนมี คืออะไร และจะเดินไปในทิศทางไหน รวมถึง มีสัดส่วนเท่าไหร่ต่อจีดีพี มีกรอบเวลาศึกษาแล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์หรือช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้”

  ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม มองว่าจะต้องหาหน่วยงานอื่นที่มีความถนัดหรือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับงานบันเทิง มาร่วมกำหนดนโยบายและแนวทางขับเคลื่อน เพราะที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม ไม่มีพื้นฐานหรือมีความเกี่ยวข้องกับงานบันเทิง โดยเบื้องต้นจะต้องประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ต่อไป

จาก  http://www.dailynews.co.th  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กษ.นำแนวทางทฤษฎีใหม่มาปรับใช้การเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช นำเอาแนวทางทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับการทำการเกษตร และจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมได้

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้จัดกิจกรรมตามพระราชดำริด้านการเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ทรงงานต่าง ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการ และการขยายผลโครงการพระราชดำริ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการจัดงานในพื้นที่ที่มีการทรงงานต่าง ๆ ที่ท่านได้ทรงริเริ่มไว้ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาที่ดิน การประมง การปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำหน่วยงานในสังกัดประกอบพิธีถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการบรรเทาทุกข์ของเกษตรกร ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โดยกรมชลประทาน และบริเวณท่าอากาศยาน จ.นครราชสีมา โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเกษตร เพื่อปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน

นายธีรภัทร กล่าวต่อไปว่า พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมกันบูรณาการโดยการนำเกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่จะนำเอาแนวทางทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับการทำการเกษตร จำนวน 70,000 ราย สำหรับในวาระครบ 100 วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช เสด็จสวรรคต เพื่อสนองต่อโครงการพระราชดำริให้เกิดขึ้นจริงทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ให้จัดทำโครงการต่าง ๆ โดยผ่าน 882 ศูนย์ฯ ที่จะเป็นโครงการที่ให้เกษตรกรในพื้นที่เสนอความต้องการที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่นเดียวกับแผนงานโครงการตามมาตรการที่ 4 การช่วยเหลือภัยแล้ง ให้เกิดขึ้นจริง จำนวน  9,999 โครงการ เพื่อตอบสนองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดชได้ทรงไว้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นการให้เกษตรกรสามารถนำไปขยายผลในช่วงฤดูแล้งต่อไปด้วย

สำหรับกิจกรรมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมจัดต่อไปเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ได้แก่ การเปิดให้ประชาชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ "ในหลวงรักเรา" โดยสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ทุกวันตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม - 13 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09.00 - 20.00 น. (ไม่มีค่าเข้าชม) เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลงนามถวามอาลัย และเรียนรู้พระราชประวัติ พระราชดำริ พระราชจริยวัตร หลักการทรงงาน ภาพยนตร์ 3 มิติ "เรื่องของพ่อในบ้านของเรา" เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานพระองค์ท่านสืบไป

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมหม่อนไหม ยังได้เปิดให้บริการย้อมผ้าสีดำฟรีแก่ประชาชนทั่วไป ณ กรมหม่อนไหม ภายใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 21 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยการย้อมสีของกรมหม่อนไหม จะเน้นใช้สีย้อมที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังจัดให้บริการแจกโบว์สีดำ เพื่อแสดงความไว้อาลัย ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชน และสนับสนุนให้พสกนิกรชาวไทยในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะเริ่มเปิดบริการ ระหว่างวันที่ 20 - 31 ตุลาคม 2559 นี้

จาก  http://www.banmuang.co.th   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สั่งพร้อมฟื้นการค้าไทย-ซาอุฯ พาณิชย์แย้มข่าวดีรัฐบาล 2 ฝ่ายตกลงเลิกผ่านประเทศที่ 3

Advertisement

พาณิชย์เตรียมฟื้นความสัมพันธ์การค้ากับซาอุฯในรอบ 20 ปี ระบุเป็นข่าวดี หลังต้องทำการค้าผ่านประเทศที่ 3 และไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการค้าในซาอุฯมานาน สั่งทูตพาณิชย์สำรวจความพร้อมและศึกษากฎระเบียบการค้า เผย 8 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกไปซาอุฯ 1,632 ล้านดอลล์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% ขณะไทยขาดดุลติดต่อกัน 5 ปี จากกว่า 70% นำเข้านํ้ามันดิบ

การค้าระหว่างประเทศของไทยกับซาอุดีอาระเบีย

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยและซาอุดิอาระเบียเตรียมรื้อฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ในรอบ 20 ปีนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นเรื่องที่จะต้องติดตาม แต่ในขณะนี้กรมยังไม่ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการในด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการค้ากับซาอุฯ ซึ่งคงต้องกลับไปดูในรายละเอียดการค้า การลงทุนใหม่ เพราะที่ผ่านมากิจกรรมต่างๆของกรมไม่สามารถจัดได้ในซาอุฯ ขณะที่การส่งออกไปซาอุฯนั้นต้องผ่านประเทศที่ 3

“หลังจากนี้จะให้สำนักงานทูตพาณิชย์ตรวจสอบดูว่าจะขยายการค้า การลงทุนระหว่างกันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะดูกฎระเบียบของซาอุฯดิอาระเบียว่ามีการปลดล็อกได้เพียงใด เพราะที่ผ่านมาทั้งการค้าและกิจกรรมต่างๆไม่สามารถเข้าไปส่งเสริมได้เลย”

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2554-2558)มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 10,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาโดยตลอดโดยในปี 2558 ไทยขาดดุลการค้าซาอุฯ 1,986.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ดูตารางประกอบ) โดยในปี2558 ซาอุฯเป็นคู่ค้าอันดับที่16 ของไทยในตลาดโลกและเป็นอันดับ2ในภูมิภาคตะวันออกกลาง การค้าทั้ง 2 ฝ่ายในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 7,867.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 28% จากปี 2557 และมีสัดส่วนการค้าคิดเป็น 1.89% ของมูลค่าการค้าในภาพรวมของไทยกับทั่วโลก

Advertisement

ส่วนการค้าไทย-ซาอุฯในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 ปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม ตัวเลขการค้าทั้ง 2 ฝ่ายมีมูลค่า 4,611.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นสัด 1.73% ของมูลค่าการค้าไทยกับทั่วโลก) ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน15.8% โดยไทยเป็นฝ่ายส่งออกสินค้าไปซาอุฯมูลค่า 1,632.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน14.9% (การส่งออกสินค้าไทยไปซาอุฯในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเฉลี่ย 2,818 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และไทยเป็นฝ่ายนำเข้าจากซาอุฯ 2,978.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยขาดดุลการค้าซาอุฯในช่วง 8 เดือนแรก 1,346.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 48,305 ล้านบาท)

ทั้งนี้สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยไปซาอุดิอาระเบียในช่วง 8 เดือนปี 2558 ประกอบด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ,ผลิตภัณฑ์ยาง,เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่อง,อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป,ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ, ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้,ข้าว,เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้ง และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากซาอุดิอาระเบีย 10 อันดับแรก ประกอบด้วย,น้ำมันดิบ(สัดส่วนมากกว่า 70% ของการนำเข้าสินค้าของไทยจากซาอุ),น้ำมันสำเร็จรูป,เคมีภัณฑ์, ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, ก๊าซธรรมชาติ,ผ้าผืน,เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า การค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียที่ผ่านมามีอุปสรรค เช่น ซาอุดิอาระเบียยังคงใช้มาตรการตอบโต้ไทยในการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นระดับอุปทูต ซึ่งรัฐบาลซาอุดิฯ ยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวในการกระชับความสัมพันธ์ จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคดีเพชรซาอุ ทำให้ที่ผ่านมาไทยสูญเสียโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนรวมทั้งสูญเสียตลาดแรงานที่ใหญ่ที่สุดของไทยในตะวันออกกลาง

และปัญหาสำคัญในการติดต่อการค้าระหว่างกันคือ ข้อจำกัดในการให้ตรวจลงตราแก่นักธุรกิจไทยทำให้การขยายช่องทางการติดต่อเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ตามผ่านมาผู้ประกอบการไทยเองต้องหาทางขยายตลาดซาอุฯ โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เมืองเจดดาห์และที่กรุงริยาดซึ่งเป็นช่องทางเดียวที่จะได้รับการตรวจลงตราจากฝ่ายซาอุฯ

“ซาอุดิอาระเบียถือว่าเป็นตลาดแรงงานขนาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งจากสถิติของกรมแรงงานบางช่วงเคยมีแรงงานไทยสูงถึง 3 แสนคน มีรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละ 9,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียประมาณ 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเก่าก่อนเกิดปัญหาความสัมพันธ์และส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือและงานคนในภาคบริการ เช่น ร้านอาหารไทย พนักงานธนาคาร และบริษัทห้างร้านต่างๆ ทั้งนี้แม้ว่าจะมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกันแต่ทางซาอุฯก็ไม่ได้ปิดกั้นการติดต่อธุรกิจเพียงแต่ไม่ได้ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมเพิ่มเท่านั้น ”แหล่งข่าวกล่าว

จาก  http://www.thansettakij.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

นำร่องพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง สร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองแก้ท่วม-แล้งระยะเร่งด่วน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานีและหนองคาย ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบพร้อมจัดการที่ดินเพื่อก่อสร้างพนังกั้นน้ำ อาคารบังคับน้ำ และระบบส่งน้ำชลประทาน ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วยงานหลักสำคัญ คือ งานสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง งานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา และงานระบบส่งน้ำชลประทานขนาดกลาง ใช้งบประมาณ 21,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 9 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560-2568

ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการ กรมชลประทานได้พิจารณาก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำระยะเร่งด่วน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 ปี (ปี 2560-2563) โดยจะดำเนินการพร้อมๆกับการจัดหาที่ดิน และเตรียมงานเบื้องต้นสำหรับงานด้านอื่นๆ คาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้นประมาณ 6,583 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ได้รับการจัดสรรงบรองรับจากคณะรัฐมนตรีแล้ว 675 ล้านบาท

ส่วนแผนงานที่เหลือก็จะดำเนินการทันทีที่มีความพร้อม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมงานกับเกาหลีใต้ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ จีทูจี ประกอบด้วย งานพนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำห้วยหลวง มีความยาวรวม 47.02 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำ ตามแนวเขตน้ำท่วม และช่วยควบคุมปริมาณน้ำ-รับน้ำในช่วงน้ำหลากเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง งานอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา จะก่อสร้างทั้งหมดจำนวน 15 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ และงานระบบส่งน้ำชลประทานขนาดกลาง จะดำเนินการก่อสร้างให้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 315,195 ไร่ เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตจ.หนองคายและอุดรธานี

ทั้งนี้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้สามารถเร่งดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตจ.หนองคาย และอุดรธานี 54,390 ไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 245.87 ล้าน ลบ.ม.เพียงพอสำหรับการส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การอุตสาหกรรม และการเกษตร มีประชากรที่ได้รับประโยชนฺ์ 29,835 ครัวเรือน หรือ 124,618 คน ส่วนในฤดูแล้งสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 250,000 ไร่

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อนาคตเออีซี10ปีหน้า

 “ชาติศิริ” เผยกุญแจ 3 ดอกไขการเติบโตเศรษฐกิจอาเซียนในทศวรรษหน้า ชี้เม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีก 15 ปีข้างหน้ากว่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยในงานสัมมนาเออีซี บิซิเนส ฟอรั่ม :“เออีซี 2025 : เชพพิง เดอะ ฟิวเจอร์ ออฟ อาเซียน” ว่าปัจจุบันอาเซียนมีประชากรรวมกันกว่า 600 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ แต่ในภาพรวมของภูมิภาคอาเซียนยังต้องการการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ 1.การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.การเป็นศูนย์กลางฐานการผลิต 3.การทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของสังคมเมือง

“การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนอีก 15 ปีข้างหน้าคาดมีเม็ดเงินลงทุนประมาณ 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการคมนาคม ซึ่งมองว่ากุญแจสำคัญในการเติบโตของอาเซียนทศวรรษหน้า 3 ประการ คือ 1.การเชื่อมโยงภูมิภาค 2.การขยายตัวสังคมเมือง 3.การพัฒนาธุรกิจดิจิทัล” นายชาติศิริ กล่าว 

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาของอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้าคือ “สำนึกความเป็นอาเซียน” สำคัญที่สุดต้องสร้างให้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นตลาดเดียว พัฒนาในรูปแบบที่ก้าวไปพร้อมกันและสร้างบทบาทอาเซียนในเวทีโลกให้ได้ และเห็นว่าการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกับอาร์เซ็ปได้

นายโรเบิร์ต ยัพ ประธานบริหารกลุ่มวายซีเอช ประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยในหัวข้อสัมมนา “เชพพิง เดอะ ฟิวเจอร์ ออฟ อาเซียน อีโคโนมิก คอมมูนิตี้ : ลุคกิง ทูวาร์ด 2025” ว่าการพัฒนาในอาเซียนทศวรรษหน้า หรือในปี 2568 ต้องสร้างให้เป็นการพัฒนาที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่กีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกจากกระบวนการพัฒนา ส่วนสถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาคาดส่งผลกระทบต่ออาเซียนแน่นอน แต่เชื่อว่ายังคงมีการสนับสนุนการค้าเสรีต่อไป เพราะมีผลกระทบด้านบวกมากกว่า

นายสแตนลีย์ คัง ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย เปิดเผยว่า หากมองอนาคตเออีซีในปี 2568 การพัฒนาด้านคมนาคมจะมีความเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนย้ายประชากร รวมถึงเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ โดยการพัฒนาด้านคมนาคมช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ขณะที่การเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนคือการทำงานร่วมกัน เน้นการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค

จาก  http://www.posttoday.com  วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“ดร.ซุป” มองประเทศไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการพลิกโฉม ศก.ผ่านสะพานเชื่อมเออีซี   

         “ศุภชัย” มองมาตรการกระตุ้น ศก.ระยะสั้น รบ.ได้เดินมาสุดทางแล้ว เชื่อไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยพลิกโฉม ศก.ไทย แนะควรเร่งเชื่อมโยงอาเซียน และ ศก.โลกนำไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ชมการกำหนดกรอบนโยบายของ รบ.ถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขว่า ประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า

               นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี ธนาคารกรุงเทพ AEC Business Forum : “AEC 2025” ในหัวข้อ ประเทศไทยกับทศวรรษใหม่แห่งการพลิกโฉมเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือ AEC โดยมองว่า ในเวลานี้การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้นเชื่อว่า รัฐบาลมีการดำเนินไปแบบสุดทางแล้ว ผ่านนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือ ทั้งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นห่วงว่า หากการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทำโดยไม่มีจุดจบ จะไม่ได้เป็นการพลิกโฉม หรือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

               ทั้งนี้ จากการกำหนดกรอบนโยบายของรัฐบาลถือว่ามาถูกทางแล้ว ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขว่า ประเทศไทยควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะวิสัยทัศน์ของอาเซียน หรือสหประชาชาติ (UN) ขณะเดียวกัน การเติบโตของประเทศไทยจะพึ่งพาการเติบโตภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องมีการเติบโตไปกับภูมิภาค และโลก เพื่อให้เกิดความสมดุล

               อย่างไรก็ตาม ใน Vision ที่จะนำพาไทยก้าวไปได้ในอนาคต และการกลับมากระตุ้นภายในประเทศ หรือการหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) รวมถึงการที่จะยกระดับประเทศให้มีการเติบโตขึ้น จะมาจากการปรับเพิ่มเงินเดือนในทุกระดับ การขยายผลิตภาพการผลิต (Productivity) เป็นต้น ถึงจะเรียกได้ว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง

               นอกจากนี้ เงื่อนไขสำคัญของอาเซียนในขณะนี้ที่ไทยจะต้องยึดมาเป็นหลักในการพลิกโฉม ประกอบด้วย ความต้องการที่จะเป็นตลาดเดียวกัน (Single Market) ที่จะเป็นการสร้างภูมิภาคที่ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันได้ การพัฒนากลุ่มประเทศ CLMV ทั้ง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ให้เติบโตไปด้วยกัน ซึ่ง CLMV ในขณะนี้ถือว่าเป็นเครื่องจักรของอาเซียน ที่มีอัตราการเติบโตโดยรวม 6-8% และต้องเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทเป็นผู้นำในเวทีโลก และต้องมีการรวมตัวเพื่อไปต่อสู้ใน UN ได้ เพื่อเข้าไปเจรจาหารือร่วมกันในรูปแบบ global economy เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในอาเซียน

               อย่างไรก็ตาม กระบวนการของไทยที่จะพลิกโฉม ประการแรก คือ กระบวนการ digitization ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปล่อยให้เกิดขึ้นโดยเสรี และเริ่มเข้ามามีบทบาทในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ ค้าปลีก มากขึ้น โดยไทยควรเตรียมพร้อมในเรื่องของระบบ ทักษะ และกฎระเบียบ รวมถึงความปลอดภัย จากการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

               ประการที่สอง เป็นภาพใหญ่ที่จะเข้ามาพลิกโฉมของอาเซียน และสำคัญอย่างมาก คือ connectivity หรือ การเชื่อมต่อ ที่จะต้องมีความจำเป็นในการดูแลความเคลื่อนไหวของสินค้า ของต้นทุน ของคน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนว่า จะตั้งเป้า connectivity เป็นโครงการของอาเซียนอย่างไรบ้าง เช่น สิงคโปร์ จะเป็นผู้นำทางด้าน transportation เคมี อิเล็กทรอนิกส์ และทางด้านมาเลเซีย ก็จะเป็นผู้นำทางด้านระบบการเงิน การบิน ส่วนไทย รัฐบาลก็มีการให้นโยบายออกมาแล้ว แต่ยังมีความหลากหลายอยู่มาก ซึ่งการเป็นผู้นำของไทย น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเรื่อง Ecotourism การเป็นศูนย์กลาง (Hub) อีโคคาร์ เป็นต้น

               อีกทั้งประการที่สาม การปฏิรูปการพลิกโฉม ก็น่าจะเป็นเรื่องของ Productivity การพัฒนา และวิจัย (R&D) และการมีนโยบายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกัน และยกระดับสินค้าให้ดีขึ้น

               พร้อมกันนี้กลุ่มประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) คือ CLMV ซึ่งอาเซียน จะต้องมีการเติบโตไปด้วยกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมองว่าการเชื่อมโยงของ CLMV จะเป็นหัวใจสำคัญให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอนาคต รวมถึงประเทศจีน สุดท้าย การพัฒนาเกี่ยวกับข้อตกลงอัตราแลกเปลี่ยน จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งอยากเห็นในโลกต่อไปในอนาคต ในภูมิภาคต่างๆ โดยไม่ควรให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนมากเกินไป จนทำให้เกิดการแข่งขันการดำเนินนโยบายติดลบ ซึ่งจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวไปได้

จาก http://manager.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม 2559

กรมชลฯลดระบายน้ำเขื่อนป่าสักเพื่อเริ่มกักเก็บน้ำไว้ใช้

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ประจำสัปดาห์ว่า สถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกที่ลุ่มน้ำสะแกกรังทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปริมาณน้ำโดยรวมที่จังหวัดนครสวรรค์ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ได้ปรับลดการระบายน้ำในท้ายน้ำจาก 2,300 ลบ.ม./วินาที เหลือ 2,018 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้คาดว่าจะมีการปรับลดระบายน้ำเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด

“ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจะบริหารจัดการโดยนำน้ำเข้าสู่ระบบทั้งซ้ายขวาเพื่อนำไปเก็บในคลองระบายเพื่อนำน้ำไปใช้ในฤดูแล้งต่อไป ในส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำป่าสักกรมชลฯ ได้ลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักจากเดิม 60-70 ล้านลบ.ม./วัน เหลือเพียง 35 ล้านลบ.ม./วัน ทั้งนี้มีการเก็บน้ำในวันนี้ (19 ตุลาคม) เป็นวันแรก จึงทำให้มีปริมาณน้ำที่ไหลออกน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้า ทั้งนี้คาดว่าก่อนสิ้นเดือนตุลาคมจะมีน้ำเต็มเขื่อนป่าสัก” นายสัญชัยกล่าว

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ภาพรวมการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2559 ที่ผ่านมา มีเที่ยวบินขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมด 4,034 เที่ยวบิน มีวันฝนตกคิดเป็น 97% จากจำนวนวันขึ้นบินทั้งหมด 206 วัน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 4,287 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ทั้งในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ เขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสัก รวม 2,377 ล้านลบ.ม. และมีปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักประมาณ 9,000 ล้านลบ.ม. โดยมองว่าปริมาณน้ำค่อนข้างจะดี

นายสุรสีห์กล่าวว่า สำหรับการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1-18 ตุลาคมที่ผ่านมา มีเที่ยวบินขึ้นปฏิบัติการทั้งหมด 320 เที่ยวบิน มีวันฝนตกคิดเป็น 100% จากจำนวนวันขึ้นบินทั้งหมด 18 วัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้งหมด 1,390 ล้านลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ 551 ล้านลบ.ม. แต่การปฏิบัติการในขณะนี้ยังมีส่วนที่น่าเป็นห่วงคือในส่วนเขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนปราณบุรีที่ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างน้อย ซึ่งในขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้กรมฝนหลวงฯ ปรับแผนเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้เหมาะสม อาทิ การเสริมเครื่องบินอีก 2 ลำ ในการปฏิบัติการฝนหลวงที่หน่วยโคราช เพื่อเติมน้ำในเขื่อนลำตะคอง

“ทั้งนี้อยู่ระหว่างการสำรวจวิจัยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่แคบและมีน้ำน้อยโดยเฉพาะตามแนวชายแดน อาทิ เขื่อนบางลาง เขื่อนปราณบุรี ซึ่งเป็นที่ที่ปฏิบัติการฝนหลวงยาก โดยคาดว่าจะทดลองปฏิบัติการได้ภายในปี 2560 เพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำเป็นอย่างมาก” นายสุรสีห์กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 19 ตุลาคม 2559

ก.เกษตรฯน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.9 นำแนวทางทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับการทำเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำเอาแนวทางทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับการทำการเกษตร

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้จัดกิจกรรมตามพระราชดำริด้านการเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ทรงงานต่าง ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการ และการขยายผลโครงการพระราชดำริ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการจัดงานในพื้นที่ที่มีการทรงงานต่าง ๆ ที่ท่านได้ทรงริเริ่มไว้ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาที่ดิน การประมง การปศุสัตว์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำหน่วยงานในสังกัดประกอบพิธีถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการบรรเทาทุกข์ของเกษตรกร ณ เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก โดยกรมชลประทาน และบริเวณท่าอากาศยาน จ.นครราชสีมา โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเกษตร เพื่อปฏิบัติการเติมน้ำในเขื่อน

นายธีรภัทรกล่าวต่อไปว่า พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดร่วมกันบูรณาการโดยการนำเกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่จะนำเอาแนวทางทฤษฎีใหม่มาปรับใช้กับการทำการเกษตร จำนวน 70,000 ราย สำหรับในวาระครบ 100 วันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เพื่อสนองต่อโครงการพระราชดำริให้เกิดขึ้นจริงทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ให้จัดทำโครงการต่าง ๆ โดยผ่าน 882 ศูนย์ฯ ที่จะเป็นโครงการที่ให้เกษตรกรในพื้นที่เสนอความต้องการที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่นเดียวกับแผนงานโครงการตามมาตรการที่ 4 การช่วยเหลือภัยแล้ง ให้เกิดขึ้นจริง จำนวน  9,999 โครงการ เพื่อตอบสนองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงไว้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นการให้เกษตรกรสามารถนำไปขยายผลในช่วงฤดูแล้งต่อไปด้วย

สำหรับกิจกรรมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมจัดต่อไปเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ การเปิดให้ประชาชนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ “ในหลวงรักเรา” โดยสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ทุกวันตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม – 13 พฤศจิกายน 2559 เวลา 09.00 – 20.00 น. (ไม่มีค่าเข้าชม) เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลงนามถวามอาลัย และเรียนรู้พระราชประวัติ พระราชดำริ พระราชจริยวัตร หลักการทรงงาน ภาพยนตร์ 3 มิติ “เรื่องของพ่อในบ้านของเรา” เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานพระองค์ท่านสืบไป นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมหม่อนไหม ยังได้เปิดให้บริการย้อมผ้าสีดำฟรีแก่ประชาชนทั่วไป ณ กรมหม่อนไหม ภายใน ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน และศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง 21 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยการย้อมสีของกรมหม่อนไหม จะเน้นใช้สีย้อมที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังจัดให้บริการแจกโบว์สีดำ เพื่อแสดงความไว้อาลัย ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชน และสนับสนุนให้พสกนิกรชาวไทยในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะเริ่มเปิดบริการ ระหว่างวันที่ 20 – 31 ตุลาคม 2559 นี้

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 19 ตุลาคม 2559

กระทรวงเกษตรฯ ปรับลดระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักฯ พร้อมปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีน้ำน้อย เดินหน้าวิจัยพัฒนาจรวดฝนหลวง คาดทดลองใช้ในปี 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่แคบและติดชายแดน

          พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญและตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกี่ยวกับน้ำของราษฎรในทั่วทุกภูมิภาค โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ดำเนินงานปฏิบัติการฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบันส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้เพิ่มปริมาณน้ำอย่างเป็นที่น่าพอใจ พร้อมทั้งวางแผนการเตรียมการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนหากประสบปัญหาน้ำท่วม ตลอดทั้งวางแผนการดำเนินงานไปจนถึงช่วงฤดูแล้งหน้าด้วย

          นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ว่า ขณะนี้(19 ต.ค.59) สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ 2-3 วันที่ผ่านมาจะเกิดฝนตกในบริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง แต่ก็มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นบ้างเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ในการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมชลประทาน พิจารณาปรับลดการระบายน้ำในช่วงท้ายน้ำให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งกรมชลประทานได้ปรับลดปริมาณการระบายน้ำจาก 2,300 ลบ.ม./วินาที จนเหลือ 2,018 ลบ.ม./วินาที โดยกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาโดยนำน้ำเข้าสู่ระบบทั้งซ้าย-ขวา เพื่อนำเข้าไปเก็บในลำคลอง ทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ และในพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป

          สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทานได้ลดการระบายน้ำลง จากเดิมที่เคยระบายถึง 60 ล้าน ลบ.ม. /วัน เหลือเพียง 35 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มเก็บน้ำได้เป็นวันแรก โดยได้ระบายน้ำออกน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้า ส่วนพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวเสร็จแล้วในทุ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางจังหวัดได้นำน้ำไปเก็บในทุ่งป่าโมกแล้ว ส่วนทุ่งบางบาลและทุ่งที่เหลือเกษตรกรขอเวลาเก็บเกี่ยวในวันพรุ่งนี้อีกหนึ่งวัน โดยหลังจากวันที่ 20 ต.ค.59 เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้วจะนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป

          ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ว่า ในภาพรวมของปีงบประมาณ 2559 (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.59) ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้นจำนวน 206 วัน จำนวนวันที่ฝนตก 200 วัน คิดเป็นร้อยละ97 โดยขึ้นบินจำนวน 4,034 เที่ยวบิน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 4,287 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งใน 4 เขื่อนใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 2,377 ล้าน ลบ.ม.โดยทั้ง 4 เขื่อนใหญ่ มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 9,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ค่อนข้างดี

          สำหรับในปีงบประมาณ 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ได้ออกปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18 วัน จนถึงเมื่อวานนี้(18 ต.ค.59) มีฝนตกทั้ง 18 วัน คิดเป็นร้อยละ 100 มีเที่ยวบินขึ้นปฏิบัติการทั้งหมดจำนวน 320 เที่ยวบิน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้งหมดจำนวน 1,390 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น 4 เขื่อนใหญ่จำนวน 551 ล้าน ลบ.ม. อย่างไรก็ตาม เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง และเขื่อนปราณบุรี ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนค่อนข้างน้อย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาปรับแผนการดำเนินการอีกครั้งเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าว

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนเขื่อนปราณบุรีและเขื่อนบางลาง ยังมีปริมาณน้ำน้อยและมีความยากในการปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากเป็นพื้นที่แคบและติดชายแดน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงได้มีโครงการวิจัยเกี่ยวกับการทำจรวดฝนหลวง โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีการทดลองนำมาใช้ในพื้นที่แคบ หรือพื้นที่ติดชายแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะที่โครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี 2559 ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น ในปี 2560 จะมีการขยายผลการดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง โดยจะขึ้นบินโปรยเมล็ดพันธุ์หลังการปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 19 ตุลาคม 2559

กรมโรงงานเปิดศูนย์จัดการกากอุตฯ อุ้มSMEs ตั้งเป้าเข้าระบบ 90% ปี 62

          รมโรงงานอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง ในพื้นที่ 6 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย  เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs  ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการจัดการการกากอุตสาหกรรมและต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบกว่า 90% ในปี 2562 พร้อมเดินหน้าใช้ไอทีพัมนาระบบการขออนุญาตนำกากที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงาน (สก.2) ให้ผู้ประกอบการทราบผลได้ภายใน 3 นาที จากเดิมการพิจารณาอนุญาตใช้เวลา 10-30 วัน ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการนำร่อง "AUTO e-License" กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เตรียมผลักดันผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบำบัดและกำจัดกากของเสียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

          นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า ปลายปีที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ดำเนินการสำหรับโรงงานที่ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ส่งผลให้โรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรมจะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ได้ ถือเป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ภายใน 5 ปี หรือ พ.ศ. 2562

          ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่โรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว กรมโรงงานฯ จึงได้ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ดำเนินโครงการ“ศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม”

          ศูนย์ช่วยเหลือฯ มีกระจายอยู่ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4. ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5. ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และ 6. คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

          นายมงคล กล่าวต่อว่า  ศูนย์ช่วยเหลือฯ  ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ประจำที่ศูนย์ฯ ทั้ง 6 แห่ง และจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ  ทั้ง 76 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการให้คำแนะนำด้านปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแนะนำการใช้ระบบสารสนเทศ Smart form รูปแบบ Web Application ในการกรอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจำแนกประเภทโรงงานและลักษณะกากอุตสาหกรรมตามลำดับประเภทโรงงาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นการช่วยระบุรหัสกากอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

          จากการประเมินตัวเลขกากอุตสาหกรรมมีปริมาณ 37.41 ล้านตัน ประกอบด้วย กากอันตราย 2.84 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 34.57 ล้านตัน โดยตั้งแต่เปิดศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2559 ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงงานที่เข้าสู่ระบบขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรม (สก.1 และ สก.2)  รวมแล้วประมาณ 21,500 โรง จากโรงงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนทั้งหมดซึ่งเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ประมาณ 69,000 โรง ซึ่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 31 โดยในจำนวนนี้เป็น SMEs ประมาณ 18,000 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของ SMEs ทั้งหมด

          อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในมุมของการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตราย พบว่า ปัจจุบันมีการขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรม (สก.1 และ สก.2) และแจ้งการขนส่งรวมประมาณ 7,500 โรง หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของโรงงานทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 2,200 โรงงาน

          ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ. 2558 – 2562 ซึ่งคาดว่าหากดำเนินการเป็นไปตามทั้งหมด จะสามารถส่งเสริมสนับสนุนให้กำจัดกากอุตสาหกรรมถูกวิธีอย่างจริงจังและตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ พร้อมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมในสายตาคู่ค้าต่างชาติ และช่วยลดการกีดกันทางการค้า หากไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

          เดินหน้าใช้ไอทีเข้าระบบ

          นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การพัฒนาระบบการอนุญาตกากอุตสาหกรรมจากระบบเอกสารเป็นระบบไร้กระดาษหรือการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-License) ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการที่ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม และอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบ Internet โดยมีเจ้าหน้าที่พิจารณาอนุญาตและแจ้งผลการพิจารณาในระบบไร้กระดาษ ครั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมขึ้นมาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI) วิเคราะห์ข้อมูลในคำขออนุญาตและแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบทันที

          การดังกล่าวเป็นการสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นเดียวกัน ตลอดจนเพื่อให้กากเข้าสู่ระบบตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558 – 2562 ที่จะต้องดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี

          ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าได้จับมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto E License ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพิจารณาอนุญาตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล และตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 โดยทั่วไปมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตประมาณ 10 – 30 วัน ขึ้นกับจำนวนรายการในคำขอฯ ที่โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมแต่ละรายยื่นขออนุญาต เมื่อใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ จะสามารถลดเวลาเหลือเพียงไม่เกิน 3 นาที ซึ่งระบบนี้จะรองรับเฉพาะการขออนุญาต สก.2 ที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยผู้ประกอบการเพียงยื่นขอสก.2 ที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลังจากนั้นระบบฯ ตรวจสอบข้อมูลทุกรายการในคำขอที่ยื่นขออนุญาตกับข้อมูลสารสนเทศที่มีในระบบ หลังจากนั้นเมื่อระบบประมวลผล ระบบฯ จะพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ

          ทั้งนี้ การดำเนินงานพิจารณาอนุญาต สก.2 รูปแบบใหม่ถือเป็นการพิจารณาอนุญาตโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การพิจารณาอนุญาต สก.2 เกิดความรวดเร็ว ชัดเจน เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุญาตและผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด

          ซึ่งสถิติปี 2557 - 2558 การพิจารณาการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยเจ้าหน้าที่มีจำนวนคำขอรวมประมาณ 80,000 คำขอ มีรายการกากอุตสาหกรรมที่ต้องพิจารณารวมประมาณ 500,000 รายการ ในบางช่วงเวลาทำให้คำขอของโรงงานผู้ก่อกำเนิดหลายรายใช้เวลาพิจารณานานมากกว่า 3 เดือน

          เจน นำชัยศิริ  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือดังกล่าวสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้นำร่องบริษัทผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 ราย รวมทั้งสิ้น 13 บริษัท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดี โดยเป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเข้าร่วมโครงการ โดยตั้งเป้าหมายให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปฏิบัติตามกรอบของกระทรวงอุตสากหรรมที่ต้องบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิผล นำมาซึ่งผลลัพธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน

จาก http://manager.co.th วันที่ 19 ตุลาคม 2559

ชงแผนพัฒนาเกษตรฉบับ12เข้าครม. วาง5เป้าหมาย4ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตเกษตรกรมีคุณภาพ ทรัพยากรการเกษตรมีความสมดุลและยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายสำคัญ 5 ประเด็น คือ (1) ความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 85 ในปี 2564 (2) เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือนในปี 2564 (3) เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี (4) จำนวนงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรถูกนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 5 และ (5) ทรัพยากรการเกษตรได้รับการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนเพิ่มขึ้น

ส่วนการดำเนินงาน ได้กำหนด 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งขณะนี้(ร่าง) แผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี และเตรียมประกาศใช้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยต่อไป

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 19 ตุลาคม 2559

กสอ. ชี้อุตฯอาหารไทยรั้งแชมป์เบอร์ 1 ของโลก ดันคอนเซปต์ “ฟู้ดวัลเลย์” ใช้งานวิจัยยกระดับการผลิตรับยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0”

           ? กสอ. จับมือ สวก. เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารครอบคลุมทุกภูมิภาค

          กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยยังคงรั้งแชมป์เบอร์หนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าสูงกว่า 890,000 ล้านบาท ชี้สินค้าส่งออกใน 3 กลุ่มมีการขยายตัวได้แก่ น้ำตายทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส พร้อมเตรียมเดินหน้าผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจังหลังพบยังมีปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนาในบางประการ อาทิ นวัตกรรมด้านการผลิต คุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ โดยในปี 2560 จะเน้นการใช้การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนองโมเดลประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสานต่อโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) ด้วยการจับมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อให้เกิดการใช้นวัตกรรมและนำไปพัฒนาศักยภาพให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ตลอดจนยังมี โครงการเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้ปีงบประมาณ 2560 กว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น

          สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร  02-2024414-18 หรือเข้าไปที่www.dip.go.th

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตต่าง ๆ ทั้งจากภาคเกษตรกรรม การประมง ปศุสัตว์ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคทั่วโลกได้กว่า 200 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากกว่า 897,529 ล้านบาท และถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของอาหารทั้งในแบบอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูป และยังถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อให้เข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการสร้างมูลค่า และการสร้างมาตรฐานที่ดี พร้อมเป็นศูนย์กลางเพื่อการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั่วโลกตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในสัดส่วนตามอัตราการเติบโตที่มีอย่างไม่จำกัด (ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร)

          นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดอาหารของไทยร้อยละ 59.8 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งตลาดที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน และจีน โดยสินค้าหลักได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ไก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส โดยสินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมี 3 กลุ่มคือ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส และสินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง (ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร) ทั้งนี้ แม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกในระดับที่ดี แต่ก็ยังพบว่าผู้ประกอบการและหลาย ๆ อุตสาหกรรมยังประสบปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา อาทิ นวัตกรรมด้านการผลิต การวิจัยเพื่อคุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิต

          ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุดิบ คุณภาพการผลิต มาตรฐานความปลอดภัย ผ่านการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในงบประมาณปี 2560 กสอ. ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สานต่อโครงการฟู้ดวัลเลย์ (Food Valley) ผลักดันผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมระดับพื้นที่ ได้แก่ ผลักดันให้ภาคกลางเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปในกลุ่มอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษและเพื่อสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ ภาคใต้เป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเลและฮาลาล และภาคเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกลุ่มพืชไร่ ผัก และผลไม้ นอกจากนี้ กสอ.ยังได้จัดเตรียมโครงการภายใต้งบประมาณปี 2560 กว่า 10 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล "ประเทศไทย 4.0" ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผนวกกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

          ด้านนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล จำเป็นจะต้องลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อนำความได้เปรียบด้านทรัพยากรทางการเกษตรของประเทศไทยมาต่อยอดเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร Thailand 4.0 โดยจะเน้นการพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาต่อยอดใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเทคโนโลยีเกษตร ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรให้มีศักยภาพเป็นไปตามต้องการของผู้บริโภค ส่งเสริมการพัฒนาสร้างนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยจะเป็นการพัฒนาตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นความร่วมมือภาคประชารัฐ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาครัฐ เช่น สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ภาคเอกชน เช่น หจก.บ้านต้นไม้ (ไร่ดำรงค์) และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น โดยแต่ละภูมิภาคจะต้องเกิด Food Valley ที่สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเข้าสู่อุสาหกรรมอาหารของตนเองอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการจากการทำงานหลายฝ่าย ภายใต้แนวคิดประชารัฐ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โทร 02-2024414-18 หรือเข้าไปที่www

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สมอ.ปรับแผนแม่บทกำหนดมาตรฐาน5ปี

สมอ. ทบทวนแผนแม่บทกำหนดมาตรฐาน 5 ปี ระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนร่วมกำหนดมาตรฐาน 10 กลุ่มอุตฯ เป้าหมาย

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามแผนแม่บทในการกำหนดมาตรฐานของ สมอ. ปี 2560 -2564 ตั้งเป้าหมายในการกำหนดมาตรฐานไว้ จำนวน 1,139 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 707 มาตรฐาน และกลุ่มผลิตภัณฑ์สาขาต่างๆ จำนวน 432 มาตรฐาน โดยในปี 2560 ตั้งเป้าหมายกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเป้าหมาย 173 มาตรฐาน ทั้งนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรฐานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 12 ซึ่งการทบทวนแผนแม่บทในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐาน ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ สมอ. ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การทบทวนแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐาน" ขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรมเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยภายในงานจะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายและทิศทาง สมอ. ในระยะ 5 ปี" และการบรรยายพิเศษ "การกำหนดมาตรฐานรองรับ Industry 4.0" พร้อมแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าหลังการปรับแผนแม่บทการกำหนดมาตรฐานจะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภค ช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการปรับตัวรองรับการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศสู่ประเทศไทย 4.0

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

อุตสาหกรรมอาหารไทย ยังครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ของโลก

        กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเผยการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยยังคงรั้งแชมป์เบอร์หนึ่งของโลก เผยมูลค่าสูงกว่า 890,000 ล้านบาท ชี้น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรสยังมีการขยายตัวดี พร้อมเตรียมเดินหน้าผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจังหลังพบยังมีปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา คาดปี 60 จะเน้นการใช้การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมเพื่อสนองโมเดลประเทศไทย 4.0 ผ่านการสานต่อโครงการฟูดวัลเลย์ (Food Valley)

                นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตต่างๆ ทั้งจากภาคเกษตรกรรม การประมง ปศุสัตว์ และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคทั่วโลกได้กว่า 200 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยมากกว่าปีละ 800,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 ที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าให้ประเทศได้มากกว่า 897,529 ล้านบาท และถือเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับที่ 1 ด้วยความโดดเด่นด้านความหลากหลายของอาหารทั้งในแบบอาหารแช่แข็ง และอาหารแปรรูป และยังถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ สำคัญที่ต้องเร่งผลักดันเพื่อให้เข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการสร้างมูลค่า และการสร้างมาตรฐานที่ดี พร้อมเป็นศูนย์กลางเพื่อการกระจายสินค้าสู่ตลาดทั่วโลกตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ในสัดส่วนตามอัตราการเติบโตที่มีอย่างไม่จำกัด (ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร)

                ทั้งนี้ ตลาดอาหารของไทยร้อยละ 59.8 อยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งตลาดที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น กลุ่มประเทศ CLMV อาเซียน และจีน โดยสินค้าหลัก ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ไก่ กุ้ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และเครื่องปรุงรส โดยสินค้าส่งออกที่มีปริมาณและมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมี 3 กลุ่ม คือ น้ำตาลทราย ไก่ และเครื่องปรุงรส และสินค้าที่มีปริมาณส่งออกลดลงแต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง (ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร) แม้ว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะมีแนวโน้มการเติบโตด้านการส่งออกในระดับที่ดี แต่ก็ยังพบว่าผู้ประกอบการและหลายอุตสาหกรรมยังประสบปัญหาที่ต้องเร่งพัฒนา เช่น นวัตกรรมด้านการผลิต การวิจัยเพื่อคุณภาพของสินค้า การควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การควบคุมการผลิต

        ด้าน นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ.ได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุดิบ คุณภาพการผลิต มาตรฐานความปลอดภัย ผ่านการนำกระบวนการวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในงบประมาณปี 2560 กสอ.ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สานต่อโครงการฟูดวัลเลย์ (Food Valley) ผลักดันผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมระดับพื้นที่ ได้แก่ ผลักดันให้ภาคกลางเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปในกลุ่มอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษและเพื่อสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป ปศุสัตว์ ภาคใต้เป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารทะเลและฮาลาล และภาคเหนือเป็นศูนย์กลางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกลุ่มพืชไร่ ผัก และผลไม้ นอกจากนี้ กสอ.ยังได้จัดเตรียมโครงการภายใต้งบประมาณปี 2560 กว่า 10 โครงการ เช่น โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น โดยโครงการต่างๆ ดังกล่าวล้วนสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศภายใต้โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผนวกกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

 จาก http://manager.co.th  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

"5พอ"ปลูกอ้อยบนฐานคิดเศรษฐกิจพอเพียง

โดย - อาจารย์ยักษ์ มหาลัยคอกหมู

           เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าพลังงานปิโตรเลียมมีมูลค่าสูงถึงปีละ 2.9 แสนล้านบาท และการใช้พลังงานมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่ยากต่อการแก้ไขตามมาเป็นลูกโซ่ อาทิ ข้าวยากหมากแพง เงินเฟ้อ สภาวะเช่นนี้จำเป็นที่ต้องพูดถึง "พลังงานทางเลือก" อย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

            อันที่จริงการแก้ปัญหาการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียม ด้วยพลังงานทดแทนควรกระทำอย่างจริงจังมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพูดเอาตอนนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการสร้างพลังงานทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม จากน้ำ หรือจากพืช อย่างที่ทราบกันปัญหาพลังงานผูกติดกับผลประโยชน์ทางการเมืองมานานหากไม่ถึงที่สุดรัฐก็จะไม่มีทางมองหาพลังงานทดแทนอย่างอื่นหรอก

           ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเกษตร มีพื้นที่ภาคเกษตรมากมาย พืชพลังงานไม่ว่าจะเป็น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว ปาล์ม มะพร้าว หรือสบู่ดำ จึงได้รับการกล่าวขานและสนับสนุนให้ปลูกเพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจด้านพลังงานที่จะช่วยประเทศประหยัดเงินตราส่งออกในการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ

            แต่พอเกษตรกรปลูกพืชเหล่านี้ไปได้สักระยะ วงจรอุบาทว์ของการผูกขาด และกดราคาก็เกิดขึ้น กระบวนการการปลูกที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ผลผลิตถูกกดราคา ซึ่งมีผลให้ขาดทุน เกษตรกรรายย่อยกลับกลายเป็นหนี้ ขายที่หรือไม่ก็ที่ดินถูกยึด มีผลให้การปลูกพืชพลังงานกลับกลายเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยหายไป เพราะไม่มีความสามารถในการแย่งชิงตลาด

            การปลูกพืชพลังงานเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืน จึงต้องเริ่มต้นจากฐานคิดใหม่ ที่มิใช่ฐานคิดที่นำเอาการตลาดเป็นตัวนำ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะมิอาจนำตัวเองหลุดออกมาจากวังวนของราคาที่ขึ้นๆ ลงๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อราคาขึ้น เกษตรกรก็ละทิ้งพืชอื่นๆ หันมาปลูกพืชพลังงานแทน และเมื่อราคาตกก็เลิกปลูก กลับไปกลับมาแบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด อันเป็นผลให้เกษตรกรต้องยากจนและเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น จากการที่ต้องลงทุนใหม่อยู่ตลอดเวลา

            นอกจากจะต้องไม่นำเอาหลักคิดการตลาดเป็นตัวนำในการแก้ปัญหาพลังงานทดแทนแล้ว เรายังต้องเชื่อมโยงพืชพลังงานกับปัญหาอื่นๆ หมายความว่า การแก้ปัญหาพลังงานด้วยการปลูกพืชพลังงานจะต้องไม่ไปสร้างให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การขาดแคลนอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากการแย่งชิงพื้นที่ของพืชอาหารไปเป็นพืชพลังงาน ปัญหาการบุกรุกที่ป่าเพื่อเอาไปปลูกพืชพลังงาน รวมทั้งปัญหาระบบนิเวศ เช่น ดินเสื่อมน้ำเสื่อมเพราะการใช้สารพิษในกระบวนการปลูก คงเป็นเรื่องตลกที่ประเทศไทยจะประหยัดเงินซื้อน้ำมันได้แต่ต้องควักเงินเพิ่มเพื่อซื้อขาวปลาอาหารจากประเทศอื่นทั้งที่เคยผลิตได้เอง แต่ไม่แน่นะเรื่องแบบนี้คนไทยถนัดนัก

            แล้วทางออกของพืชพลังงานที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจจะทำได้อย่างไร หากเชื่อว่าแนวทาง "เศรษฐกิจพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ "คำตอบของประเทศ" เศรษฐกิจพอเพียง ก็คือคำตอบของพืชพลังงานเช่นเดียวกัน ลองดูตัวอย่างของโมเดล การปลูกอ้อยแบบ 5 พอ คือ พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น และพอพลังงาน ที่ได้มีการริเริ่มทำกันแล้ว โดยใช้หลักคิดดังนี้

            1.การคงไว้ของพื้นที่ป่า 30% 70% เป็นพื้นที่ปลูกอ้อย แนวคิดนี้ดูจะสวนทางกับการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องใช้เนื้อที่เพาะปลูกให้เต็มประสิทธิภาพสูงสุด คือ 100% แต่การสงวนพื้นที่ป่ามากขนาดนี้เพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุลของระรบบนิเวศ ความชื้นสัมพัทธ์ที่มากพอจากป่ารอบๆ จะมีผลดีต่อดิน น้ำ และผลผลิต

            2.ใช้ระบบไถเฉียงตามเส้นชั้นความสูงและการใช้หญ้าแฝกเพื่อควบคุมการชะล้างของหน้าดิน (Erosion control) ระบบไถเฉียงเป็นระบบที่สามารถควบคุมการชะล้างของหน้าดินจากน้ำฝนที่หลากเข้ามาตามฤดูกาล และเป็นระบบที่สามารถกักเก็บความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินได้เป็นอย่างดี

            3.มีระบบเก็บกักน้ำตามธรรมชาติ มีแหล่งน้ำกระจายอยู่รอบๆ พื้นที่เพาะปลูก

            4.ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ เพื่อบำรุงรักษาดิน และ

            5.ในบริเวณป่า 30% นั้นใช้หลัก ป่า 3 ประโยชน์ 4 อย่างที่จะมีพืชสำหรับใช้กิน ใช้อยู่ และพืชสำหรับเอามาทำเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน ปลูกกระจายอยู่ตามหลักเกษตรผสมผสาน

            หากปฏิบัติตามหลักคิดข้างบนนี้เกษตรกรจะสามารถพึ่งตนเองด้านปัจจัยสี่ได้เป็นพื้นฐานทั้งอาหาร ยา ที่อยู่อาศัย และมีพืชพลังงานอ้อยไว้ขาย โดยไม่ต้องเดือดร้อนหรือพะวงกับภาวะตลาด เมื่อเกษตรกรทุกคนมีความมั่นคงเช่นนี้ ไฉนเลยประเทศชาติจะไม่มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและพลังงาน

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ปั้นบุคลากรสายวิชาชีพสายช่าง ป้อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ หรือ TSMC เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากการลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ อีกทั้งมีการย้ายและขยายกำลังการผลิตโรงงาน และลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการบุคลากรด้านวิชาชีพสายช่างเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว เช่น สาขาซ่อมบำรุงเครื่องกล สาขาเครื่องมือการเกษตรและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น

ดังนั้นผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเห็นด้วยกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการทวิภาคีระดับอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษาสายอาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือปวส. ในรูปแบบการศึกษาทวิภาคี ประกอบด้วยการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ และการเรียนในภาคทฤษฎี เพื่อพัฒนาวิชาชีพนักศึกษาระดับอาชีวะให้มีทักษะการทำงานในโรงงานน้ำตาลซึ่งจะช่วยสนับสนุนการสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ สถาบันการศึกษา และการพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพนักศึกษาและครูผู้สอน และพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ รวมทั้งสร้างบุคลากรด้านแรงงานในสายวิชาชีพ ป้อนภาคอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่มีความต้องการแรงงานสายวิชาชีพเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลพร้อมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และด้านเทคโนโลยีกับสถาบันการศึกษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอาชีพตลอดจนเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการซึ่งจะทำให้นักศึกษามีความความเชี่ยวชาญในสายอาชีพจากการเรียนรู้ปฏิบัติงานในสถานที่จริง โดยนักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรจากโครงการนี้จะได้รับใบรับรองผ่านการปฏิบัติงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย พร้อมทั้งมีโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นบุคลากรสายอาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่อไป

“อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพนักศึกษาสายอาชีวะเนื่องจากผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องมีความต้องการบุคลากรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เราจึงพร้อมสนับสนุนและร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา พัฒนาบุคลากรด้านแรงงานสายวิชาชีพ ให้มีคุณภาพมีความรู้ความเข้าใจในสายวิชาชีพเพื่อป้อนบุคลากรให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเติบโตและการขยายลงทุนของผู้ประกอบการในอนาคต” นายสิริสุทธิ์กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไทยร่วมถกความมั่นคงอาหาร‘เอเปก’ ชูการพัฒนาความร่วมมือประชารัฐ-ให้ความสำคัญเกษตรกรรายย่อย

นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดว่า ได้เข้าร่วมประชุมในสัปดาห์ความมั่นคงอาหารและการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปก ครั้งที่ 4 ภายใต้กรอบเอเปก ในหัวข้อการส่งเสริมตลาดอาหารของภูมิภาค (Enhancing the Regional Food Market) ณ เมืองเพียวร่า สาธารณรัฐเปรู ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิกเอเปก เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างกันภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะมีการรับรองปฏิญญาเพียวร่า ว่าด้วยความมั่นคงอาหารเอเปก มีสาระสำคัญ 7 หัวข้อหลัก คือ 1.ความท้าทายและโอกาสสำหรับความมั่นคงอาหารในภูมิภาค 2.ตลาดอาหารในภูมิภาคและการค้า 3.ความยั่งยืนสำหรับระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ 4.นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5.การพัฒนาชนบทและเขตเมือง 6.โครงสร้างพื้นฐานการลงทุนและการบริการเพื่อความมั่นคงอาหาร และ 7.การเข้าสู่ระบบอาหารในปี ค.ศ.2020

สำหรับร่างปฏิญญาดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปก โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (non-legal binding) ซึ่งสมาชิกสามารถพิจารณาให้ความร่วมมือตามความสมัครใจ

ในโอกาสเดียวกันนี้ ไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ การพัฒนาชนบทและเขตเมือง (Rural-Urban Development) เพื่อแสดงแนวทางของประเทศไทยว่า การเพิ่มขึ้นของพื้นที่ในชุมชนเมือง มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้การพัฒนาที่มีความร่วมมือ และครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งไทยได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ในการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความยั่งยืน คำนึงถึงชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นการจัดการความเสี่ยงให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินโครงการร่วมกับภาคเอกชน และชุมชน ผ่านโครงการประชารัฐในการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว ทั้งนี้ การรับประกันความมั่นคงอาหารในระยะยาว จะต้องทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านการผลิตและการบริโภค โดยใช้กลไกการค้าแบบเปิด ยุติธรรม และอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนความรู้ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรรายย่อย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทและเขตเมืองของเอเปกต่อไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กรมชลฯฟันธงมวลนํ้าเหนือ-เจ้าพระยา ไม่ทะลัก 22จ.ในคันกั้นนํ้า-โซนเศรษฐกิจ

กรมชลฯฟันธง มวลน้ำเหนือมีปริมาณลดลง –แผนระบายน้ำออกจากเขื่อนไม่เกิน 2,300 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที ไม่ทะลักเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะที่ 4 ทุ่งรับน้ำ 3 แสนไร่ ที่อยุธยา ชาวบ้านต้องการเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง

แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยา สู่คลองซอยชลประทานคลองธรรมชาติ กว่า2หมื่นกิโลเมตรและแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 2,297 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือไม่เกิน 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2559) ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ปกติ และ การไหลของน้ำยังอยู่ในแนวของคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้เข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและเกษตรของชาวบ้านแต่อย่างใด

ขณะที่ แม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรองรับมวลน้ำได้สูงสุด 3,500 ล้านลูกบาสกเมตรต่อวินาที แต่ เมื่อวัดปริมาณน้ำที่ สถานีบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว (ข้อมูล ณวันที่ 12 ตุลาคม 2559) กลับพบว่า มีปริมาณน้ำที่ระบายลงเพียง 2,172 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ ยืนยันได้ว่าปริมาณน้ำเหนือและน้ำฝนนับจากนี้ น่าจะรับมือไหวโดยเฉพาะกทม.และปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน

ดังนั้นฟันธงได้ว่า 22 จังหวัดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งประกอบด้วยจังหวัดตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ และสมุทรสาครจะรอดพ้นจากน้ำท่วม แต่จะมีผลกระทบสำหรับชุมชนริมแม่น้ำ หรือนอกคันกั้นน้ำเท่านั้น ส่วน พื้นที่ เศรษฐกิจจะไม่กระทบ เบื้องต้นประเมินว่าสามารถรับมือไหวเนื่องจากปริมาณน้ำฝนทางตอนเหนือลดลงแต่อาจมีบางช่วงที่ยังมีมรสุมและมีปริมาณน้ำฝนเกิด ก็พร้อมรับมือ และหากมีปริมาณน้ำมากก็สามารถใช้เส้นทางลัดเพียง600เมตรระบายออกคลองลัดโพตามแนวพระราชดำริหรือกระเพาะหมูออกชายทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการโดยไม่ต้องอ้อมไกลถึง 28กิโลเมตร

อย่างไรก็ดีหากน้ำเหนือและน้ำฝนปริมาณมาก และมีความจำเป็นต้องระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา เกิน 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมจะเสนอ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเห็นชอบต่อไป การเจรจากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่จะชะลอน้ำเข้าทุ่งรับน้ำซึ่งเป็นแก้มลิงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3แสนไร่ คือ ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก-ผักไห่ ทุ่งบางบานและทุ่งเจ้าเจ็ดในกรณีที่ปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ปริมาณน้ำที่พักเข้าทุ่งแก้มลิงดังกล่าว ชาวบ้านต้องการเก็บไว้ใช้ทำนาหรือปลูกพืชไร่ ในช่วงฤดูกาลถัดไปแก้ปัญหาภัยแล้ง ขณะที่น้ำ4 เขื่อนได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อน แควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่กรมชลประทานเก็บไว้ มีเพียง 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่ออุปโภค-บริโภคเท่านั้น

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ค้านสูตรคำนวณภาษีใหม่ ผู้ผลิตน้ำตาล-เครื่องดื่มร่อนหนังสือ

กลุ่มผู้ประกอบการ ติงร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่บังคับให้เอกชนชี้แจง โครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำสินค้า อ้างเป็นความลับสูงสุดของผู้ประกอบการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ผลิตสินค้าและต้องเสียภาษีสรรพสามิต ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เห็นด้วยที่ร่างกฎหมายให้มีการยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำสินค้าให้อธิบดีกรมสรรพสามิตพิจารณา เพราะถือเป็นความลับสูงสุดของผู้ประกอบการ

“ผู้ผลิตสุรา เบียร์ บุหรี่ เครื่องดื่ม รวมถึงผู้ผลิตน้ำตาล ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวที่มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ และได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระแรกไปแล้ว จึงได้ทำหนังสือถึงกรรมาธิการให้มีการแก้ไขยกเลิกในส่วนดังกล่าว” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตได้มีการนำร่างกฎหมาย 7 ฉบับ ของกรมสรรพสามิต มาไว้รวมกันฉบับเดียว โดยมีสาระสำคัญให้เปลี่ยนฐานราคาการเก็บภาษี จากราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปสู่ชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการเพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ราคาขายปลีกแนะนำ” ให้คำนวณจากต้นทุนการผลิต ค่าบริหารจัดการ และกำไรมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องจะมีปัญหาการตีความตามมา ว่า ค่าบริหารจัดการคิดจากอะไรบ้าง หรือ กำไรมาตรฐานคือเท่าไร เป็นต้น

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดว่า ราคาขายปลีกแนะนำต้องไม่ต่ำกว่าราคาขายต่อผู้บริโภคทั่วไปรายสุดท้ายในตลาดปกติ หากไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่เป็นไปตามกลไกตลาด อธิบดีกรมสรรพสามิต มีอำนาจประกาศราคาขายปลีกสินค้านั้นเพื่อใช้เป็นฐานการเก็บภาษีได้ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าจะเป็นการให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจมากเกินไป ทำให้การเก็บภาษีสรรพสามิตมีปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมากคือ กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ต้องแจงราคาขายปลีกแนะนำกับอธิบดีกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน และในวงการอุตสาหกรรมถือว่าโครงสร้างราคาสินค้า ถือเป็นความลับทางการค้าที่สำคัญมาก

“คณะกรรมาธิการจะพิจารณาข้อเสนอ และข้อคัดค้านของผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามก็ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บภาษีของภาครัฐ รวมถึงความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคด้วย” แหล่งข่าว กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เปิดผลศึกษา‘โซนนิ่ง’ข้าวชัยนาท สศท.7แนะ‘อ้อยโรงงาน-มันสำปะหลัง’พืชทางเลือก

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 (สศท.7) จ.ชัยนาท ได้ศึกษาแนวทางบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ข้าว ใน อ.มโนรมย์ พบว่า มีพื้นที่ปลูก 73,465 ไร่ ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง (S1, S2) 70,394 ไร่ และปลูกในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3, N) 3,071 ไร่

จากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนสุทธิ พบว่า ในพื้นที่เหมาะสมมากและปานกลาง เกษตรกรจะทำการผลิตข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เพื่อการบริโภคมากที่สุด โดยมีผลตอบแทนสุทธิสูงสุดเฉลี่ยไร่ละ 2,183.18 บาท มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 5,774.47 บาท ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 747.76 กิโลกรัม และราคาที่เกษตรขายได้เฉลี่ย 10.64 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาที่เกษตรกรขายได้จะสูงกว่าราคาข้าวขาวทั่วไป

รองลงมาเป็นการผลิตข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ กข. โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยไร่ละ 1,153.81 บาท มีต้นทุนเฉลี่ย 6,647.21 บาทต่อไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องจักรปักดำ การเพาะปลูกมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 859.33 กิโลกรัม และราคาที่เกษตรกรขายได้ 9.08 บาทต่อกิโลกรัม

ส่วนการผลิตข้าวพันธุ์ กข. เพื่อการบริโภค ให้ผลตอบแทนสุทธิน้อยที่สุด เฉลี่ยต่อไร่ 404.57 บาท มีต้นทุนการผลิต 5,004.04 บาทต่อไร่ มีผลผลิตเฉลี่ย 724.17 กิโลกรัมต่อไร่ และราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 7.47 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ข้าวที่ผลิตได้จะเป็นข้าวขาวที่ขายให้กับโรงสีเพื่อการแปรสภาพเท่านั้น

สำหรับการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม เป็นการผลิตข้าวพันธุ์ กข.เพื่อบริโภค โดยผลตอบแทนสุทธิติดลบ ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยไร่ละ 4,969.83 บาท แต่ผลผลิตที่ได้รับเฉลี่ยต่อไร่น้อยกว่า เพียง 659.30 กิโลกรัมต่อไร่ และเกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 4,969.83 บาทต่อไร่ ซึ่งขาดทุนสุทธิเฉลี่ย 45.72 บาทต่อไร่

นอกจากนี้ สศท.7 ยังได้ศึกษาพืชทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ อ้อยโรงงานซึ่งพบว่า มีผลตอบแทนสุทธิ 931.19 บาทต่อไร่ และมันสำปะหลัง มีผลตอบแทนสุทธิ 960.18 บาทต่อไร่ และได้ศึกษาพืชหลังนา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลตอบแทนสุทธิ 2,713.97 บาทต่อไร่ ถั่วเขียวมีผลตอบแทนสุทธิ 2,190.19 บาทต่อไร่ ไม้ดอกดาวเรือง มีผลตอบแทนสุทธิ 14,775.94 บาทต่อไร่ และการเลี้ยงไก่ไข่ ที่นับเป็นกิจกรรมเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดี โดยเลี้ยงแบบอินทรีย์ ไก่ไข่ 100 ตัว จะได้รับกำไรเฉลี่ย 120.84 บาทต่อวัน ในระยะการเลี้ยง 1 ปี

จาก http://www.naewna.com วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กษ.รายงานสถานการณ์น้ำลดลงต่อเนื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำลดลงต่อเนื่อง จากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์น้ำ วันที่ 17 ตุลาคม 2559 เวลา 06.00 น. ณ. จุดตรวจสอบน้ำ อ.ศรีสัชนาลัย พบว่า มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงอยู่ที่ 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวานนี้ที่ 213 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จุดตรวจสอบน้ำค่ายจิรประวัติ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ลดลง 2,097 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ลดลงอยู่ที่ 2,027 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประมาณน้ำไหลผ่าน ลดลงอยู่ที่ 480 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ลดลงอยู่ที่ 659 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2,452 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเมื่อวานนี้ 2,355 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำโดยรวมปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายในการบริหารจัดการน้ำที่ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และเล็งเห็นว่าสภาพอากาศจะเริ่มมีฝนตกลดลง และต้องเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ค่าบาทแข็งค่า 35.32/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทจากธนาคารกรุงเทพ ประจำวันจันทร์ 17 ต.ค. 2559 ค่าเงินบาทเปิดตัวที่ระดับ 35.32/36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับการปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ 14 ต.ค. 2559 ที่ระดับ 35.25/39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน (09.10 น.) มีการซื้อขายอยู่ที่ 35.42/47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินบาทอยูในทิศทางอ่อนค่า และต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของนักลงทุนในประเทศทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทวันนี้ยังผันผวนสูง ในขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศ ทางสหรัฐอเมริกามีตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมออกมา ที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน อาจส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

ธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จ่อลอยตัวราคาน้ำตาลทรายขยับราคาหน้าโรงงานปี 60 ขึ้นลง 1-2 บาท/กก.   

         กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมแผน “ลอยตัวราคาน้ำตาล” เริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 2560/61 กำหนดลอยตัวราคาหน้าโรงงานสะท้อนราคาตลาดโลกโดยจะให้เปลี่ยนแปลงขึ้นลงระหว่าง 1-2 บาทต่อ กก. จากนั้นพาณิชย์จะกำหนดราคาขายปลีกให้สะท้อนราคาที่เปลี่ยนแปลง จับตาน้ำตาลขาขึ้น คาดปีหน้าจ่อขยับทันที

               แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบนั้น แนวทางการปฏิบัติได้หารือทุกฝ่ายแล้วโดยจะเริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 2560/61 โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคาที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ซึ่งขณะนี้ได้หารือทุกภาคส่วนแล้วว่าการลอยตัวจะมีเพดานราคากำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ในระดับ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วน

               “หลักการลอยตัวราคาจะเป็นส่วนของราคาหน้าโรงงานที่ขณะนี้กำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงาน 19-20 บาทต่อ กก. โดยราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวที่ 400-700 เหรียญสหรัฐต่อตัน แนวทางการลอยตัวจะดูการเคลื่อนไหวราคาเป็นหลัก หากราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลงเมื่อคำนวณเป็นราคาไทยให้เคลื่อนไหวขึ้นลงระดับ 1-2 บาทต่อ กก.ก็จะประกาศเปลี่ยนแปลง จากนั้นตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ก็จะต้องไปดูราคาขายปลีกที่จะมีค่าการตลาด ค่าขนส่งแต่ละพื้นที่ไม่ควรเท่ากัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของพาณิชย์” แหล่งข่าวกล่าว

               สำหรับบทบาทกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ตามโครงสร้างเดิม ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าขั้นต้นกองทุนฯ ต้องจ่ายชดเชยโครงสร้างใหม่จะไม่ต้องจ่ายเป็นเรื่องของระบบที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้การคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นจากนี้ไปจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงมากขึ้นเพราะหากราคาขั้นสุดท้ายต่ำจะต้องไปหักลบกันในปีถัดไปแทน ขณะเดียวกัน กองทุนฯ จะสามารถเรียกเก็บเงินมาสะสมไว้กรณีราคาอ้อยตกต่ำได้ เช่น กรณีราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นก็สามารถเรียกเก็บมาสะสมกองทุนฯ ไว้ใช้เหมือนกรณีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

               “โควตาน้ำตาลจากเดิมที่มี ก. ข. ค. ก็จะยกเลิกนั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะก็จะมีราคากลางในการคำนวณราคาอ้อยจากน้ำตาลส่งออกที่ให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย จำกัด หรือ อนท.บริหารอยู่แล้ว และราคาในประเทศจะกำหนดให้สูงกว่าส่งออกเล็กน้อยเพื่อป้องกันการขาดแคลน โดยคำนวณว่าหากนำเข้ามาแล้วบวกค่าขนส่งต่างๆ เอาไว้” แหล่งข่าวกล่าว

               นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัว โดยคาดว่าจะปฏิบัติได้ในฤดูการผลิตปี 60/61 ซึ่งเบื้องต้นชาวไร่และโรงงานได้หารือแล้ว โดยกรอบที่วางเป็นแนวทางให้ประเทศบราซิลได้รับทราบถึงการแก้ไขปัญหาของไทยเพื่อไม่ให้ผิดระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)

                นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติเบื้องต้นในเรื่องของเกณฑ์การนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายนั้นคงจะมีผลทางปฏิบัติได้ในปี 2560/61 ระหว่างนี้ก็จะต้องมาดูเกณฑ์ต่างๆ ในทางปฏิบัติ แต่ฤดูการผลิตปี 59/60 ที่จะเปิดหีบช่วง พ.ย.นี้คงจะไม่ทัน แต่ประเด็นอื่นๆ ที่ดำเนินการได้ เช่น การกำหนดอ้อยไฟไหม้ การกำหนดประสิทธิภาพโรงงานจะดำเนินการได้ทันที

               แหล่งข่าวจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวว่า การลอยตัวนั้นเบื้องต้นหลักการจะมีการกำหนดเพดานที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบต่อทุกฝ่าย แต่บางโรงงานก็อยากเห็นการลอยตัวแบบสมบูรณ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22 เซ็นต์ต่อปอนด์ ยอมรับว่าทิศทางจะเป็นขาขึ้น

จาก http://manager.co.th   วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก.อุตฯ ระดมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งทุกโรงงานที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่คลี่คลายปัญหา ล่าสุดพบค่าน้ำของโรงงานเอทานอล จ.ราชบุรี เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

          นางนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยถึงเกิดเหตุการณ์ปลากระเบนตาย ในแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม โดยหาสาเหตุไม่ได้ ว่า กรณีดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการให้มีการติดตามเรื่องราวดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งแก้ไขให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว โดยมีการดำเนินการดังนี้

1. เจ้าหน้าที่ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี (สอจ.ราชบุรี) ได้ลงพื้นที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำของโรงงานเอทานอล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ล่าสุดวันนี้ (13 ต.ค.59) ผลการเก็บตัวอย่างน้ำได้ออกมาแล้วพบว่าค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยค่าสารแขวนลอย ค่า BOD. และค่า COD. เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน สอจ.ราชบุรี จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน และได้มีการออกหนังสือแจ้งถึงผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้รับทราบข้อกล่าวหาว่ามีความผิดต้องดำเนินการทางอาญาฐานฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ และมีคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

2. ขณะนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ ผู้บริหารกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนข้อมูลและวิชาการ และผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์ ที่ได้อยู่ในพื้นที่พร้อมอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อร่วมแก้ไขปัญหากับส่วนราชการในพื้นที่

3. โดยระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค.59 ในจังหวัดราชบุรี ได้จัดส่งชุดเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจโรงงานเป้าหมายที่มีการระบายน้ำทิ้งมาก จำนวน 4 โรง และในวันพรุ่งนี้ (14 ต.ค.59) จะตรวจโรงงานขนาดเล็กทั้งหมดที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ประมาณ 14-15 โรงโดยตรวจสอบร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์ของน้ำทิ้งจะออกทยอยออกมาภายใน 10-12 วัน  ส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งของโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำ แม่กลองจำนวน 8 โรงงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีโรงงานใดที่มีการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งผลคุณภาพของน้ำจะรายงานในวันที่ 17 ต.ค.59 หากพบโรงงานใด มีค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะสั่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

4. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ตรวจวัดตลอดลำน้ำแม่กลอง ทุก 2 เดือน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ต.ค.59 พบว่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) อยู่ในช่วง 2.2- 6.9 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งลดลงจากเดือนสิงหาคมโดยบริเวณที่ปลาตายวัดค่า DO ได้ 2.8 และ4.1 มก.ต่อลิตร อำเภอบางคณฑีและอำเภออัมพวา และไม่พบค่าของโลหะหนัก

5. อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นในแม่น้ำแม่กลอง กรอ.จะได้สนับสนุนงานเชิงวิชาการอย่างใกล้ชิดเพื่อหาสาเหตุฯ ซึ่งผลจะเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

จาก http://www.industry.go.th  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

จ่อลอยตัวราคาน้ำตาล

ผู้สื่อข่าวรายงานจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบนั้น แนวทางการปฏิบัติ ได้หารือกับทุกฝ่ายแล้ว โดยจะเริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 2560/61 โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างราคา ที่จะนำไปสู่การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับทุกภาคส่วนแล้วว่า การลอยตัวจะมีเพดานราคากำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ในระดับ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ หลักการลอยตัวราคาจะเป็นส่วนของราคาหน้าโรงงาน ที่ขณะนี้กำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงาน 19-20 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลกเฉลี่ยเคลื่อนไหวที่ 400-700 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน แนวทางการลอยตัวจะดูการเคลื่อนไหวของราคาเป็นหลัก หากราคาตลาดโลกเปลี่ยนแปลง เมื่อคำนวณเป็นราคาไทยให้เคลื่อนไหวขึ้นลงระดับ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะประกาศเปลี่ยนแปลง จากนั้นตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์จะต้องดูราคาขายปลีก ที่จะมีค่าการตลาดและค่าขนส่งด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของพาณิชย์

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายว่า การลอยตัว เบื้องต้นจะมีการกำหนด เพดานที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อทุกฝ่าย แต่บางโรงงานเองก็อยากเห็นการลอยตัวแบบสมบูรณ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายดิบซื้อขายล่วงหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22 เซนต์ต่อปอนด์ ยอมรับว่าทิศทางเป็นขาขึ้น

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะนำไปสู่การลอยตัว คาดว่าจะปฏิบัติได้ในฤดูการผลิตปี 2560/61 ซึ่งเบื้องต้นชาวไร่และโรงงานได้หารือแล้ว กรอบที่วางเป็นแนวทางให้ประเทศบราซิลได้รับทราบถึงการแก้ไขปัญหาของไทย เพื่อไม่ให้ผิดระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO)

จาก http://www.thairath.co.th วันที่ 14 ตุลาคม 2559

จ.สกลนคร รับฟังความคิดเห็นสร้างโรงงานน้ำตาล 5 พันล้าน

  จ.สกลนคร เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ทบทวนร่างรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากการสร้างโรงงานน้ำตาลทราย และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล มูลค่ากว่า 5 พันล้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่สนับสนุนเพราะเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ

  สกลนคร/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารหอประชุมวิโรจน์อิ่มพิทักษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร นายบุญฮง ยอดหอ ประธานสภาเกษตรกร จ.สกลนคร เป็นประธานเปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการที่จะตั้งโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ อ.กุสุมาลย์ โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จาก 8 ตำบล 31 หมู่บ้าน ประมาณ 3,000 คน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น มี จนท.ทหารสารวัตร และตำรวจตระเวนชายแดน นำเครื่องวัตถุระเบิดมาแสกนเพื่อความปลอดภัย โดยประธานสภาเกษตรกรฯ กล่าวว่า ที่ทางโรงงานออกมารับฟังความคิดเห็น ตนว่าเป็นเรื่องดี มีหลายสิ่งหลายอย่างเป็นที่กังวงใจของชาวบ้าน เกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่างๆ นานา ซึ่งทางบริษัทก็จัดวิทยากรมาให้ความรู้ ความเข้าในสร้างความเชื่อมั่นในระบบป้องกันอย่างเต็มที่ และอีกส่วนหนึ่ง มีการนำผู้นำท่องที่ท้องถิ่น ไปดูงานในโรงงานน้ำตาลที่ จ.เพชรบูรณ์ กลับมาก็มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะได้ชมทุกอย่างทุกระบบ เชื่อแน่ว่าจะไม่มีการสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม จะไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกมา มลภาวะในอากาศก็ควบคุมได้ ส่วนที่ดีก็มี เพราะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ลูกหลายในพื้นที่ เมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรม เศรษฐกิจก็จะดีตามมา เกษตรกรได้ปลูกอ้อยขายให้กับโรงงานในราคาประกัน ดีกว่าปลูกข้าว หรือพืชอื่นๆ ซึ่งราคาผันผวน เช่น ยางพารา หรือมันสำปะหลัง เป็นต้น คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็จะดีขึ้น

  นายสุพัฒน์ ลิ้มศิริ ผจก.บริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัท มีนโยบายที่จะก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ในพื้นที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ ขนาด 12,500 ตันอ้อย/วัน และในอนาคตยังมีแผนที่จะส่งเสริมการปลูกอ้อยให้มีศักยภาพในการผลิตที่สูงขึ้น จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต เป็น 50,000 ตันอ้อย/วัน โดยสามารถสรุปแนวทางการดำเนินงานได้ดังนี้ คือ ระยะที่ 1 กำลังการผลิตรวม 12,500 ตันอ้อย/วัน ระยะที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 40,000 ตันอ้อย/วัน ซึ่งจะดำเนินการได้ ก็เมื่อได้รับการพิจารณาเห็นชอบให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ภายใต้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลทรายในทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ประกอบกับจะต้องมีการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล เพื่อใช้เป็นหน่วยต้นกำลังในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง อันเป็นการนำกากของเสีย จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย มาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และการดำเนินการในทั้ง 2 โครงการ จำเป็นจะต้องมีการจัดทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงได้เปิดเวทีประชุมรับทราบผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสาธารณชนได้รับทราบข้อมูล และร่วมเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม เพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทางป้องกันผลกระทบ หรือสร้างผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อชุมชนอย่างรอบด้านต่อไป

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 14 ตุลาคม 2559

ก.อุตฯพบค่าของน้ำโรงงาราชบุรีเกินมาตรฐาน

ก.อุตฯ ระดมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งทุกโรงงานริมแม่น้ำแม่กลอง พบค่าของน้ำโรงงานเอทานอล จ.ราชบุรี เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

นางนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงเกิดเหตุการณ์ปลากระเบนตายในแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม โดยหาสาเหตุไม่ได้ ว่ากรณีดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมติดตามเรื่องราวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี (สอจ.ราชบุรี) ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำของโรงงานเอทานอล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ล่าสุดวันนี้ (13 ต.ค. 59) ผลการเก็บตัวอย่างน้ำ พบว่าค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด โดยค่าสารแขวนลอย ค่า BOD. และค่า COD. เกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน สอจ.ราชบุรี จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วน และได้มีการออกหนังสือแจ้งถึงผู้ประกอบการรายดังกล่าวให้รับทราบข้อกล่าวหาว่ามีความผิดต้องดำเนินการทางอาญาฐานฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ และมีคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

พรัอมกันนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูง พร้อมอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมแก้ไขปัญหากับส่วนราชการในพื้นที่ โดยระหว่างวันที่ 11-13 ต.ค. 59 ในจังหวัดราชบุรี ได้จัดส่งชุดเจ้าหน้าที่ฯ ตรวจโรงงานเป้าหมายที่มีการระบายน้ำทิ้งมาก จำนวน 4 โรง และวันพรุ่งนี้ (14 ต.ค. 59) จะตรวจโรงงานขนาดเล็กทั้งหมดที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ประมาณ 14-15 โรง โดยตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์ของน้ำทิ้งจะออกทยอยออกมาภายใน 10-12 วัน ส่วน จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งของโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำแม่กลอง จำนวน 8 โรงงาน เพื่อนำไปวิเคราะห์ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีโรงงานใดที่มีการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งผลคุณภาพของน้ำจะรายงานในวันที่ 17 ต.ค. 59 หากพบโรงงานใด มีค่าน้ำทิ้งเกินกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จะสั่งดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

โลกการค้า : ว่าด้วยความเป็นธรรมทางการค้า

ไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นหรอกที่พูดถึงการรวมพลังงานของสังคมเพื่อต่อต้านการผูกขาดทางการค้า...ทั่วโลกเขาก็ทำกัน....แต่ต่างกันที่ประเทศไทยนั้นขยับตัวช้า...กว่าจะมีระเบียบมีกฎหมายที่ออกควบคุมอำนาจการผูกขาดทางการค้า....เนิ่นนานหลายสิบปี ผ่านมาหลายรัฐบาล....!! จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรี...ได้ผ่านความเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ….แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นทันทีทันใด...เพราะขั้นตอนต่อไปจากนี้...รัฐบาลจะต้องเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2560...นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า.... ขณะนี้กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมทั้งกฎหมายลูก บุคลากร และสำนักงานที่จะแยกตัวออกไปเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐให้สอดรับและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และยังมีการปรับบทลงโทษจากเดิมมีแต่บทลงโทษทางอาญาจะเพิ่มให้มีโทษทางปกครองด้วย เพื่อความรวดเร็วในการเอาผิดกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย…ทั้งนี้ การกำกับดูแลของกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่จะดูแลไม่ให้มีการใช้อำนาจเหนือตลาด โดยการพิจารณาอำนาจเหนือตลาดจะพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจอื่นๆ ประกอบด้วย ไม่ใช่เพียงยอดขาย และส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงอย่างเดียว รวมทั้งยังห้ามการควบรวมธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อการแข่งขันทางการค้า โดยหากจะมีการควบรวมต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐก่อน รวมถึงการห้ามผู้ประกอบการตกลงร่วมกันที่ไม่เป็นธรรมทำให้เกิดการผูกขาด และลดการแข่งขัน ตลอดจนห้ามตกลงร่วมกันกับบริษัทในต่างประเทศที่เป็นการจำกัดโอกาสของบุคคลในประเทศซื้อโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อใช้เอง และห้ามผู้ประกอบการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่เสรี และมั่นใจว่าการที่ไทยมีกฎหมาย แข่งขันทางการค้าที่มีความเป็นสากลจะทำให้สามารถดูแลการแข่งขันของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยได้….โลกการค้า...มองว่าอีกประเด็นของเรื่องนี้ที่สำคัญไม่น้อยกว่าเนื้อหาในกฎหมายคือ...การบังคับใช้กฎหมาย....เพราะกลไกทำงานของเรื่องนี้จะต้องผ่าน...คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า....ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าให้มีคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่มีความเป็นอิสระที่ผ่านวิธีการสรรหา...ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี....ต้องดูโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ว่ามาจากส่วนใดบ้าง...มีอำนาจตามกฎหมายแค่ไหน...!! แล้วมาตามกันต่อนะเพราะเรื่องนี้สำคัญ...เนื่องจากประเทศไทยทุกวันนี้...มีอยู่เพียงไม่กี่ตระกูลหรอกที่มีอำนาจทางการค้า และโอกาสมากกว่าคนอื่น

จาก  http://www.naewna.com วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แห่หนุน"กม.เกษตรพันธสัญญา" Contract Farmingเอกชนระบุส่งผลบวก/สภาเกษตรหวั่นการบังคับใช้

สภาเกษตรกรแห่งชาติหนุนร่าง พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา แต่ยังหวั่นการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างจริงจัง ด้านผู้บริหารซีพีเอฟชี้เป็นการสนับสนุนภาคเกษตรในเชิงบวก ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี มีตลาดรองรับ รายได้มั่นคงและการควบคุมคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน

นายคงฤทธิ์ บัวบุญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดมหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิของเกษตรกร สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" หลังจากร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. ...ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติตราเป็นกฎหมายว่า เท่าที่ติดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ทั้งหมด จุดเสียแทบจะไม่มี ถ้าเป็นไปตามนี้ไม่มีการแก้ไขอีกถือว่าดี และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการเอกชน แต่เป็นห่วงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องความเสี่ยงที่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อกฎหมาย หากเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือพืช หรือเกิดจากเหตุสุดวิสัย ฝนตก น้ำเสีย ทำให้สัตว์เกิดอาการน็อกตาย จะป้องกันจุดโหว่นี้อย่างไร คงต้องให้คณะกรรมการที่ดูแลตามร่างกฎหมายนี้ไปพิจารณาต่อไป

ที่ผ่านมาระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เกษตรกรจะบอกว่า ไม่เป็นไปตามสัญญา ผู้เลี้ยงปลาจะไปเอาปัจจัยการผลิตจากผู้ประกอบการ ก็ต้องเอาที่ดินไปค้ำประกันไว้ พอถึงเวลาให้ไปจับปลา ช่วงที่ผลผลิตปลาออกมากก็ไม่มาจับ เกษตรกรต้องเลี้ยงต่อไป ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงหรือปลาตายเพิ่ม เกษตรกรต้องรับภาระ ฉะนั้นสัญญาต้องชัดเจนตั้งแต่ตอนแรกว่าจะทำสัญญากันอย่างไร จะซื้อผลผลิตต้องระบุเวลารับซื้อที่ชัดเจน

เท่าที่ดูร่างกฎหมายฉบับนี้ ต่อไปผู้ประกอบการเอกชนต้องจดแจ้งขึ้นทะเบียนกับทางการ พอขึ้นทะเบียนก็จะได้รู้ว่าเกษตรกรทำสัญญากับผู้ประกอบการรายใด ที่สำคัญร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องมีหนังสือชี้ชวนจากผู้ประกอบการให้เกษตรกรที่จะทำสัญญาดูก่อน ทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มีเกษตรกรบางรายไปทำสัญญากับผู้ประกอบการ แล้วซื้อรถยนต์ใหม่ออกมาใช้ ทำให้เกษตรกรรายอื่น ๆ นึกว่าดี แห่ทำสัญญาตาม สุดท้ายขาดทุนกันถ้วนหน้า ต่อไปจะได้แก้จุดเสียด้วยหนังสือชี้ชวนให้ดูกันก่อน ในส่วนเกษตรกร ถ้าไม่ทำตามสัญญาก็จะมีบทลงโทษ จึงตอบโจทย์ได้ รวมทั้งการมีคณะกรรมการเข้ามาดูแล ซึ่งไทยในอนาคตจะมีการทำสัญญาคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกันมากขึ้น ทุกวันนี้แม้แต่การปลูกตะไคร้ ดาวเรือง ก็ทำสัญญาคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ซื้อขายล่วงหน้ากันแล้ว

ขณะที่นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาหรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง เป็นเครื่องมือการทำงานระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลก หากนำไปใช้อย่างถูกต้องระบบนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกร อันได้แก่ การเข้าถึงเทคโนโลยี การมีตลาดรองรับผลผลิต และการมีรายได้ที่มั่นคง และในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ใน Supply Chain ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือข้อดีของระบบที่ตั้งอยู่บนคำว่า "หากนำไปใช้อย่างถูกต้อง"

ประเทศไทยใช้ระบบเกษตรพันธสัญญามายาวนาน แต่ยังไม่มีสัญญากลาง หรือหน่วยงานกลางใด ๆ มากำกับดูแล แม้ส่วนใหญ่จะสามารถดำเนินธุรกรรมต่อกันไปได้อย่างราบรื่น แต่ก็มีบางส่วนที่เกิดการละเมิดทั้งจากผู้ประกอบการบ้าง หรือจากเกษตรกรบ้าง นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าเกษตรพันธสัญญาเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และมีความพยายามในการร่างกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลระบบนี้ให้โปร่งใส เป็นธรรมมากขึ้น โดยซีพีเอฟมีส่วนร่วมในการสนับสนุน ตลอดจนให้ข้อมูล และนำตัวอย่างสัญญาของบริษัทมาให้คณะทำงานได้ศึกษาและพิจารณาอย่างเปิดเผยด้วย กระทั่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ. ...

ที่ผ่านมาเกษตรพันธสัญญาเป็นเหมือน "สัญญาใจ" ระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร เพราะตลอดอายุการทำงานกว่า 30 ปี ที่ต้องข้องเกี่ยวกับเกษตรกรในระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ล้วนอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และเหนือสิ่งอื่นใดคือ "ความซื่อสัตย์" ต่อกันเป็นสำคัญ เกษตรกรของซีพีเอฟที่มีเพียง 5,000 รายก็เช่นกัน กว่า 99% ที่ประสบความสำเร็จก็ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ซื่อสัตย์ และตรงไปตรงมา ภายใต้สัญญาที่ส่งเสริมให้ Win-Win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ถึงกระนั้นบริษัทก็ยังคงปรับปรุงสัญญาให้มีความทันสมัยตามแนวทางสากลของ UNIDROIT (the International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก และเป็นแนวทางที่ FAO (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) ให้การยอมรับ แนวทางสากลดังกล่าวจะเน้นความโปร่งใส เป็นประโยชน์กับทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกร รวมถึงผู้บริโภค และยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบวิจารณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น FAO หรือคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในโลกของการทำเกษตรพันธสัญญานั้นกว้างนัก มีผู้ประกอบการที่เลือกใช้ระบบนี้นับพันนับหมื่นราย มีเกษตรกรที่เข้าไปเกี่ยวข้องหลายแสนรายทั้งพืชและสัตว์ การปฏิบัติต่อกันย่อมแตกต่างไปตามแต่ละรูปแบบ ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจมีมาตรฐานส่งออกมาเป็นตัวกำหนดการผลิตสินค้า แต่พ่อค้าในท้องถิ่นที่รวบรวมผลผลิตไปขายต่อก็อาจมีวิธีของตัวเองอีกแบบหนึ่ง บนความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จึงทำให้หลายฝ่ายต้องการให้มี "หลักการ" เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติ

"ในความเห็นของผม พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญาจะเป็นประโยชน์กับภาคเกษตรอย่างมาก ถ้าสามารถสร้างหน่วยงานที่เข้ามากำกับดูแลระบบคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งในเชิงบวก หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ใช้วิธีส่งเสริมสนับสนุน ให้ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน มิใช่มุ่งแต่จะดำเนินการในเชิงลบ หรือวางมาตรการลงโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

3 ยุทธศาสตร์ บูมเศรษฐกิจไทย ขึ้นฮับลงทุนภูมิภาคเอเชีย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงาน "Sino-Thai Business Investment Forum 2016" ซึ่งธนาคาร ICBC จัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพมหานคร เมื่อ 10 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมาว่า จาการที่เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่โลกเชื่อมั่นว่าโอกาสของเอเชียกำลังมาถึง เพราะแม้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่ยังเต็มไปด้วยพลัง ส่วนอินเดียกำลังพุ่งแรง

ภายใต้ศักยภาพและความเชื่อมโยงอันหลากหลายของเอเชีย อนุภูมิภาค ASEAN คือองค์ประกอบสำคัญ เป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบ แหล่งแรงงาน Supply Chain ครบวงจร เศรษฐกิจทั้งอนุภูมิภาคเติบโตก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ด้วย GDP มวลรวมสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ศักยภาพอาเซียนจะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วยขนาดประชากร 600 ล้านคน

สำหรับประเทศไทยทำเลที่ตั้งคือศูนย์กลาง AEC และไทยมุ่งมั่นเป็นศูนย์กลางการลงทุนแห่งภูมิภาค เป็น Gateway สู่ภูมิภาค เป็นประตูออกของการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคสู่โลก โดยเฉพาะ CLMV

แม้ทศวรรษที่ผ่านมาการเมืองไทยผันผวน แต่หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารจัดการประเทศครบ 2 ปี สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

การท่องเที่ยวเติบโตเป็นประวัติการณ์ ขณะที่จีดีพีเติบโตจาก 0.8% เมื่อ 2 ปีก่อน เป็น 2.8% ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 3.2% และ 3.5% ใน 2 ไตรมาสแรกปีนี้ คาดว่าปีนี้จีดีพีจะเติบโต 3.2-3.5%

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเพื่อหวังผลระยะยาวมากกว่าระยะสั้น จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวและการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เผชิญความท้าทายจากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความสามารถในการแข่งขัน สองปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เริ่มปฏิรูปการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิต เร่งสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยทุ่มงบฯนับแสนล้านบาท พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน แปรรูปผลผลิต สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เข้าถึงแหล่งชุมชนในท้องถิ่น

นอกจากนี้ได้ยกระดับความสามารถแข่งขันของประเทศโดย 1.ปฏิรูปโครงสร้างภาคการผลิต เน้นสร้างมูลค่าและนวัตกรรมกับอุตฯเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มาตรการส่งเสริมการลงทุนได้ให้สิทธิภาษีจูงใจสูงขึ้น เน้นใช้เทคโนโลยี วิจัยพัฒนา และมุ่งพัฒนาอุตฯเป้าหมายแห่งอนาคต อาทิ กลุ่มอุตฯที่ใช้ผลผลิต

ภาคเกษตร อาทิ Biotech, Organic, Functioning Food, Biomass, Biofuel กลุ่มอุตฯที่เกี่ยวกับสุขภาพการแพทย์ กลุ่มอุตฯเน้นเทคโนโลยี เช่น ยานยนต์แห่งอนาคต การบิน, Green Petrochem, Logistics กลุ่มดิจิทัล โทรคมนาคม และ IT กลุ่ม Service และ Creative Economy เป็นต้น

2.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ มูลค่ารวมการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้ากว่า 43 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีหน้าจะเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ จะใช้ระบบ PPP เปิดให้ทั้งภาคเอกชนไทยและต่างประเทศมีส่วนร่วม

นอกจากนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบฯเกือบ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุน Internet Broadband ทุกหมู่บ้าน เคเบิลใต้น้ำ ปูทางสู่การเป็น Regional Digital Hub ตามนโยบาย Digital Thailand

3.ลงทุนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor (EEC) ใน Eastern Seaboard แหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดและเป็น Port ส่งออกสู่โลก ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

พร้อมทั้งขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภาเดิม ขยายท่าเรือแหลมฉบัง และมาบตาพุด เป็น Transshipment Port สำหรับขนส่งเข้าและออกของอนุภูมิภาค CLMV

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุน Infrastructure Fund ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ให้กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการเร่งพัฒนาบุคลากรรองรับความต้องการในอนาคต

จาก  http://www.prachachat.net  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ลอยตัวน้ำตาล ดันราคาสูงขึ้น

ชี้ราคาน้ำตาลหลังโครงสร้างใหม่ คาดราคาขายปลีกสูงขึ้น เพราะความต้องการมากกว่าผลิต

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เปิดเผยถึงกรณีคณะรัฐมนตรี เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบปี

2559-2564 ว่า สำหรับราคาน้ำตาลใหม่ที่จะปรับขึ้นลงอย่างเสรีอิงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก คาดแนวโน้มราคาคงจะสูงขึ้นจากปัจจุบัน เพราะด้วยความต้องการใช้น้ำตาลในเอเชียที่สูงถึงปีละ 80 ล้านตัน แต่ผลิตได้แค่ปีละปีละ 70 ล้านตัน ย่อมทำให้ราคาปรับขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ราคาน้ำตาลยังไม่นิ่ง ชาวไร่และผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลอยู่ระหว่างหารือ เพื่อคิดสูตรว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่จะต้องทำตามที่บราซิลให้ความเห็นมา และเชื่อว่าผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลจะปรับตัวได้กับกฎเกณฑ์ใหม่

ด้านผู้ใช้น้ำตาลรายใหญ่ธุรกิจเครื่องดื่ม นายพรวุฒิ สารสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมโค้ก กล่าวว่า สมาคมไม่กังวลต่อนโยบายการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย คาดจะกระทบต้นทุนการผลิตเครื่องดื่มปรับราคาเพิ่มขึ้นเพราะการลอยตัวราคาน้ำตาลจะผกผัน &O5532

จาก http://www.posttoday.com   วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เคาะรื้อโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาลยกเลิกเงินชดเชยใช้กลไกใหม่ดูแลเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่แทน  

          ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ สร้างระบบแบ่งปันผลประโยชน์ให้เป็นธรรม ปรับโครงสร้างต้นทุนให้ชาวไร่อ้อยได้รับรายได้คุ้มกับต้นทุน ยกเลิกเงินชดเชยใช้กลไกใหม่มาดูแลแทน

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยเห็นชอบในหลักการปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายรวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการแข่งขัน เพื่อให้เกิดระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และยังเป็นการปรับโครงสร้างต้นทุนอ้อยและน้ำตาลทรายให้ชาวไร่อ้อยได้รับรายได้ที่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

          "เรื่องนี้จะมีนัยต่อเกษตรกรประมาณ 3 แสนครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อย 11 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลเกือบ 2 แสนล้านบาท" นายกอบศักดิ์ กล่าว และว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าวยังสอดรับกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกหรือ ดับเบิลยูทีโอ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการอุดหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลกและช่ยลดความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยและบราซิล ซึ่งบราซิลเห็นว่าไทยทำไม่ถูกต้องตามกฎของดับเบิลยูทีโอ โดยระหว่างการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายก็จะมีการหารือกับบราซิลไปพร้อมๆ กันด้วย

          นอกจากนี้ จะดำเนินการเพิ่มผลิตภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะรวมทั้งเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรสมัยใหม่ เรื่องของการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้หมดไปใน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันการเก็บอ้อย 60-70% จะใช้วิธีเผาก่อนเก็บทำให้มีปัญหาอ้อยต้องเข้าหีบทันที และจะเพิ่มผลิตภาพโดยการนำของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นผลผลิตอื่น เช่น ไฟฟ้า จากกากอ้อย การบริการจัดการน้ำทั้งระบบ แผนแม่บท จัดทำศูนย์กลางอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหรือ ไบโอ ฮับ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานน้ำตาลทรายมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้สามารถคำนวณต้นทุน คำนวณส่วนแบ่งระหว่างโรงงานและชาวไร่อ้อยได้ดีขึ้น

          ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องของการให้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลเข้าไปพยุงราคาอ้อยนี้เป็นสิ่งที่ดับเบิลยูทีโอตั้งข้อสงสัยว่าผิดกฎ ซึ่งการแก้กฎหมายจะทำให้อนาคตไม่มีเงินจากรัฐบาลเข้าไปช่วยเหลือแล้ว และในอนาคตจะมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องใน 5 ภาค คือ 1.พันธุ์อ้อย 2.การบริหารจัดการอ้อยรวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตร 3.เรื่องโรคและแมลงศัตรูอ้อย 4.การพัฒนาดิน น้ำ ปุ๋ย และ 5.ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมน้ำตาลมูลค่าสูงและผลิตภัณฑ์อ้อย

          สำหรับแผนปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายของกระทรวงอุตสาหกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ 1.ปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล  ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่าของอ้อยและน้ำตาลทราย 2.ยกเลิกโควตาน้ำตาลในประเทศ ปรับปรุงโควตาการส่งออกน้ำตาลของภาครัฐและภาคเอกชน 3.ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ หลังราคาน้ำตาลในประเทศสูงกว่าราคาในตลาดโลก 4.กำหนดการนำเข้าน้ำตาลทราย ซึ่งก็มีข้อขัดแย้งในเขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ อาฟตา เช่นเดียวกัน และ 5.ยกเลิกการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยราคา 160 บาทต่อตันอ้อย และยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยกรณีราคาอ้อยต้นทุนสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายหรือราคาที่ขายได้แต่จะหากลไกใหม่มาดูแลจัดสรรปันส่วนผลประโยชน์ให้แก่ชาวไร่อ้อยต่อไป

จาก http://www.komchadluek.net    วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ถามกลับ “ราชการ - รง.เอทานอล” ความจริงใจอยู่ที่ไหน ต้นเหตุน้ำเสียแม่กลอง  

         มีการตั้งข้อสังเกตหลังบริษัท ราชบุรี เอทานอลฯ ทำหนังสือชี้แจงน้ำกากส่าสุดท้ายไหลลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ก่อนที่ในอีก 2 วันถัดมาจะเกิดปลากระเบนตายหมู่ไม่ทราบสาเหตุ ชี้หากทางราชการรู้ข่าวยังพอหาทางป้องกันได้ แต่กลับประเมินต่ำเหมือนปกป้องโรงงาน อีกด้านหนึ่ง พบผู้บริหารโรงงานไปสัมภาษณ์ทีวี อ้างว่าน้ำที่ปล่อยออกมา ไม่ใช่น้ำเสีย แต่เป็นธาตุอาหาร น้ำสีดำเพราะสาหร่าย

               เมื่อวันที่ 12 ต.ค. สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยหนังสือของ นายภราดร จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราชบุรี เอทานอล จำกัด เลขที่ 9 หมู่ 6 ต.เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง (ผ่านสำนักงานเลขานุการ) ลงวันที่ 4 ต.ค. ชี้แจงกรณีน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานราชบุรีเอทานอลรั่วไหลลงลำน้ำ ระบุว่า เนื่องจากในวันที่ 30 กันยายน 2559 เวลา 8.50 น.ได้มีน้ำกากส่าสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานราชบุรีเอทานอล รั่วผ่านทางรางระบายน้ำฝนลงแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งทางโรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเร่งด่วนด้วยการใช้ดินบดอัดอุดการรั่วซึมของบ่อกักเก็บ และใช้กระสอบทรายปิดกั้นท่อระบายน้ำฝน พร้อมทั้งเร่งสูบน้ำที่ค้างท่อใส่รถกลับไปที่บ่อกักเก็บ

               สำหรับมาตรการในเชิงป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำ ทางโรงงานฯได้เร่งดำเนินการให้มีการปรับปรุงประตูระบายน้ำเปิด-ปิดได้แบบถาวร ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ตุลาคม 2559โดยระหว่างการปรับปรุงก่อสร้างได้จัดเจ้าหน้าที่คอยระวังป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำไหลออกนอกพื้นที่

               ทางโรงงานฯ ขอเรียนชี้แจงว่า มิได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องขออภัยทางชุมชนในเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะดำเนินการแก้ไขต่างๆ จะทำอย่างเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และจะเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบประจำวันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกต่อไป

               ด้านเฟซบุ๊ก "คนอนุรักษ์" โพสต์ข้อความลำดับเหตุการณ์ ปลากระเบนราหูตายเป็นจำนวนมาก แม่น้ำแม่กลอง ระบุว่า 30 ก.ย. เหตุเกิดที่โรงงานราชบุรี เอทานอล จำกัดน้ำเสียรั่วลงแม่น้ำแม่กลอง สอดคล้องกับที่ปรากฎเป็นคลิปน้ำเสียจำนวนมากไหลลงแม่กลอง, 4 ต.ค. โรงงานทำหนังสือถึงหน่วยราชการ, 5 ต.ค. เริ่มมีการพบปลากระเบนราหูตายเป็นจำนวนมากกว่า 25 ตัว มีทีมสัตว์แพทย์ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือปลากระเบนร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำแม่กลอง, 7 ต.ค. สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค ได้รับหนังสือจากโรงงาน / พบปลากระเบนตายเพิ่มขึ้นเป็น 30 กว่าตัว / กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบน้ำ 3 จุดไม่พบสิ่งผิดปกติ

               8 ต.ค. นายสุรพล แสวงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปสอบถามข้อเท็จจริง จากบริษัท ราชบุรี เอทานอล จำกัด ได้รับคำชี้แจงว่า น้ำที่ไหลลงแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากบ่อกักเก็บน้ำของโรงงานรั่วซึม แต่เร่งซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติแล้ว ยืนยัน น้ำที่รั่วไหลไป มีการบำบัด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม / นายสวง สุดประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่าตรวจสอบกรณีน้ำในบ่อกักเก็บของโรงงานดังกล่าว ล้นไหลออกนอกบ่อ ซึ่งโรงงานแก้ไขแล้ว และปริมาณน้ำที่ออกมา ก็ไม่ทำให้แม่น้ำแม่กลองเน่าเสียได้ทั้งสาย

               10 ต.ค. มีการประชุมหน่วยราชการที่เกี่ยวช้อง มีการตรวจสอบคุณน้ำอีกครั้ง พบว่ามีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ยังไม่ทราบสาเหตุการตายของกระเบนราหู, 11 ต.ค. พบปลากระเบนตายเพิ่มขึ้นเป็น 45 ตัว แต่คาดว่าเป็นเพียง 1 ใน 3 ของกระเบนราหูที่ตาย ท่ามกลางความสงสัยอย่างมากว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และ 12 ต.ค. สื่อมวลชนเปิดเผยจดหมายฉบับนี้

               "มีคำถามว่า หากโรงงานผู้ปล่อยน้ำเสียดำเนินการแจ้งเรื่องนี้อย่างรวดเร็วกว่านี้ ไม่ใช่ใช้เวลา 5 วันออกหนังสือและอีก 2 วันจดหมายถึงเดินทางไปถึงหน่วนราชการ เราอาจบรรเทาหรือป้องกันความเสียหายได้หรือไม่ หากหน่วยราชการดำเนินการเมื่อรับทราบเหตุการณ์ อย่างจริงจังแทนที่จะประเมิน "ต่ำ" เหมือนปกป้องโรงงาน เราก็อาจช่วยเหลือกระเบนราหูได้ดีกว่านี้หรือไม่" เฟซบุ๊ก "คนอนุรักษ์" ระบุ

               อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายภราดร ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชี้แจงว่า น้ำที่เห็นในคลิปภาพ ไม่ใช่น้ำเสีย ไม่มีสารเคมีเป็นพิษ แต่เป็นน้ำที่ถูกเก็บในบ่อดิน ฝนตกหนักทำให้บ่อรั่วซึม น้ำไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ สีไม่ดำเหมือนในคลิปวีดีโอ เชื่อว่า เกิดจากเงาของสาหร่าย ทำให้เห็นเป็นสีดำ ส่วนการเชื่อมโยงการตายของปลากระเบนที่ จ.สมุทรสงครามนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง เพราะระยะทางจากโรงงานไปถึงบริเวณที่จุดปลากระเบนตายประมาณ 40 กิโลเมตร

               "เรารู้ว่ามีน้ำเราก็เช็กเลยว่าน้ำเรามีปัญหาอะไรหรือเปล่า ซึ่งหลังจากเช็กก็คงเป็นธาตุอาหารเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ในกระบวนการผลิตก็ไม่ได้มีใส่สารเคมีที่เป็นพิษเข้าไปเลย มันก็เลยมีความปลอดภัย ในเชิงของว่า น้ำเป็นพิษก็จะไม่ใช่ แต่ว่าน้ำจะมีธาตุอาหาร อันนี้ถือว่าใช่ แต่ว่าถ้าไปอยู่ในพืชก็โอเค พอไปอยู่ในน้ำอาจจะทำให้เกิดประเด็นอื่นขึ้นมาได้" นายภราดร กล่าว

               ด้านเฟซบุ๊ก "ศิษย์ มัฆวาน" ได้ตั้งข้อสังเกตในเฟซบุ๊กกลุ่ม "รักษ์บ้านโป่ง" ระบุว่า "อยากแฉ ... พฤติกรรมและความจริงใจโรงงานอยู่ตรงไหน?

                1. วันศุกร์ที่ 30 ก.ย. 59 เวลาประมาณ 08.30 น. เกิดเหตุการณ์น้ำเสียปล่อยลงแม่น้ำแม่กลอง

               2. วันอังคารที่ 4 ต.ค. 59 โรงงานออกหนังสือชี้แจงไปถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง ในวรรคท้ายระบุ "มีความสำนึกรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องขออภัยทางชุมชนในเหตุการณ์ดังกล่าวฯ"

                3. วันศุกร์ที่ 7 ต.ค. 59 ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนช่องไทยพีบีเอส ในรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส กลับให้สัมภาษณ์มีประเด็นดังนี้

               3.1 น้ำที่ไหลออกมามีสีดำ เกิดจากเงาสาหร่าย

               3.2 น้ำที่ไหลออกมาพบว่า เป็นธาตุอาหารเสียเป็นส่วนใหญ่.................................. แต่ว่าน้ำจะมีธาตุอาหาร

               4. หนังสือชี้แจงวรรคสองระบุว่าเป็นทางระบายน้ำฝนของโรงงาน แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ ๆ น้ำเสียไหลออกมาก่อนที่จะลงแม่น้ำคือคลองสาธารณะ ชื่อว่า "คลองแฉลบ"

                อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฯ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ได้ส่งอาสาสมัครพิทักษ์ลุ่มน้ำแม่กลองตอนกลาง ออกสำรวจลำน้ำพบโรงงานอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำแม่กลองแล้ว

จาก http://manager.co.th  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เตรียมพร้อมจัด‘ชลประทานโลก’ บริหารน้ำสร้างความมั่นคงอาหาร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ จ.เชียงใหม่ เนื่องจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ หรือ ICID เล็งเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาค และการบริหารจัดการน้ำของไทยยังอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก

สำหรับการประชุมในครั้งนี้จะเกิดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การบริหารการจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก: บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร” โดยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 หัวข้อ คือ 1.แสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างน้ำอาหารพลังงานและระบบนิเวศ 2.ร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่มีผลต่อปริมาณน้ำทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง และ 3.เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจนและความหิวโหย ซึ่งในการประชุมจะมีการร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร นอกจากนี้ทางกระทรวงเกษตรฯจะเสนอการจัดการชลประทานต่อความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกควบคู่ไปกับการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีแนวทางการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดการชลประทาน โดยในขณะนี้มีการตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้วประมาณ 1,200 คนจาก 60 ประเทศทั่วโลก

จาก http://www.naewna.com วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ดึงระบบไอทีพัฒนาอุตฯแปรรูปเกษตร

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  ได้จัดสรรงบประมาณราว 40 ล้านบาท  ดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค  ตามนโยบาย One  Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI(โอ-ปอย) ในปี 2560  ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับผลิตภัณฑ์สู่มาตรฐานสากล  และกำหนดกลยุทธ์การตลาดสร้างมูลค่าเพิ่ม ตามนโยบายไทยแลนด์4.0

          ทั้งนี้ โครงการโอ-ปอย ในปี 2560 มีผู้ประกอบการทั่วประเทศสมัครเข้าร่วม130 ราย โดยแผนงานพัฒนาโครงการ จะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ด้าน  เช่น นำระบบไอที เข้ามาใช้ตั้งแต่กระบวนการผลิต การ บริหารจัดการคลังสินค้า เชื่อมโยงสู่ การตลาดให้เกิดประสิทธิภาพ และ ในอนาคตจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ให้สามารถป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายS-curve ได้

          "แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปในปีหน้า  จะมุ่งเน้นระบบดิจิทัล เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตและลดต้นทุน ที่จะก่อให้เกิด การประหยัดราว 600-700 ล้านบาท  และต้องเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมจังหวัดกับผู้ประกอบการท้องถิ่น  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีเกษตรแปรรูป "

          สำหรับโครงการโอ-ปอย ในปีงบประมาณ 2559 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดสรร งบประมาณ  31.6 ล้านบาท  พัฒนาผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200  ล้านบาท จำนวน 137 รายทั่วประเทศ สามารถลด ต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถานประกอบการ มูลค่ากว่า 326  ล้านบาท  หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม เฉลี่ยต่อราย 2.38 ล้านบาท

          ขณะที่ผลการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2550-2558 มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 1,336 ราย สามารถ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสถานประกอบการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,455 ล้านบาท จากงบประมาณรวม 354.6 ล้านบาท

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พณ.เผยพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าบังคับใช้ปี60

อธิบดีกรมการค้าภายใน เผย พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ที่ผ่าน ครม. เมื่อวานนี้ จะมีผลบังคับใช้ได้ในปีหน้า

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ... แล้ว ขณะนี้ทางกรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งการจัดตั้งสำนักงาน/บุคลากร เพื่อให้สอดรับกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยในส่วนของบุคลากร ได้มีการเตรียมความพร้อมให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการจัดฝึกอบรมด้านการสืบสวนสอบสวน เพื่อรองรับการทำหน้าที่พนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มั่นใจว่า การดูแลด้านการแข่งขันของประเทศไทย นับจากนี้ไปจะมีความเข้มแข็งและสามารถดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบธุรกิจทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมั่นใจว่าพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2560 ซึ่งในระหว่างนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ และบทลงโทษให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและหลักสากล โดยปรับจากบทลงโทษทางอาญาเป็นโทษในทางปกครอง เพื่อทำให้การเอาผิดทางการค้า สามารถทำได้รวดเร็วมากขึ้น ทั้งในส่วนของการสั่งปรับ ทำได้ในทันทีพร้อมทบทวนในเรื่องของอำนาจเหนือตลาด ให้รวมนำหุ้นส่วนของธุรกิจเข้าไปรวมอยู่ด้วยเพื่อให้เกิดการแข่งขันในประเทศมากขึ้น และให้รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 12 ตุลาคม 2559

บาทอ่อนค่ามากสุดในอาเซียน

นายจิติพล พฤกษเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบีอนาไลติกส์) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันที่ 12 ตุลาคม 2559 เปิดตลาด 35.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยปัจจัยมาจากตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก ทำให้มีแรงขายในตลาดพันธบัตรทุกประเภทจากนักลงทุนในประเทศเป็นหลักและต่างชาติเล็กน้อย รวมทั้งผลจากโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีความเป็นไปได้สูงขึ้น ผลจากความชัดเจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคะแนนเสียงของนางฮิลลารี คลินตัน เป็นต่อมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีทิศทางที่อ่อนค่าลง

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 15.00 น. ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.73-35.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการอ่อนค่า 2.3% นับตั้งแต่ปิดตลาดสัปดาห์ก่อน วันที่ 7 ตุลาคม ที่ 34.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าลง 1.17% ตั้งแต่เปิดตลาด ซึ่งวันนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในอาเซียน คาดว่าการเคลื่อนไหวเงินบาทวันนี้จะมีแนวต้านอยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม

“ค่าเงินบาทวันนี้หลังอ่อนค่ามากกว่า 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐก็อ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าแบงก์ชาติได้เข้ามาดูแลค่าเงินบาทช่วง 35.70 บาท แต่บาทก็ยังอ่อนค่าไปสูงสุดที่ 35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าบาทกลับมาแข็งค่าเล็กน้อย ปิดตลาด สิ้นวันที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ปัจจัยกระทบค่าเงินบาทเป็นปัจจัยข่าวในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากยังข่าวในแง่ลบออกมาอีกคาดว่าค่าเงินบาทน่าจะอ่อนมากกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามหากไม่มีข่าวออกมาเพิ่มเติมหรือข่าวเป็นไปในทิศทางทีดีขึ้นคาดว่ากรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทช่วงนี้จะอยู่ระหว่าง 35.50-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ” นายจิติพล กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 12 ตุลาคม 2559

‘สมคิด’ ตั้งเป้า ‘ไทย’ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมของเอเชีย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ที่ห้องประชุมสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการ กรอ.ส่วนกลาง และคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) โดยมีผลมาจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์น อีโคโนมิค คอร์ริดอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (Eastern Economics Corridor Development – EEC) ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการไปแล้ว คาดว่าจะออกกฎหมายมาใช้ในเร็วๆนี้

นายสมคิดกล่าวว่า ในการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนั้น อย่าคิดแต่เพียงว่าเป็นท่าเรือส่งออกเท่านั้น อยากให้เป็นแบบทั้งนำเข้าและส่งออกด้วย และอยากให้มีการศึกษา CLMV คือประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง และอยากให้ประเทศไทยเป็นคลัสเตอร์ของเอเชียในภาคอุตสาหกรรม

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวถึงการพัฒนาในเรื่องระเบียงเศรษฐกิจในพื้นที่ จ.ชลบุรี ว่าในการพัฒนาพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนคือ โครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางหลวงหมายเลข 322 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 3 (แยกเจ) ทางหลวงหมายเลข 3 แยกสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 14 กิโลเมตร เพราะปัจจุบันมี 2 ช่องทางจราจร ซึ่งมีปริมาณรถยนต์คับคั่งถึง 12,000 คันต่อวัน ซึ่งถนนสายดังกล่าวรองรับได้เพียง 8,000 คันต่อวัน และถนนบางส่วนยังชำรุดเสียหายด้วย โดยเพิ่มช่องการจราจรเป็น 4 ช่องทาง เพื่อรองรับการขยายตัวของสนามบินอู่ตะเภาด้วย นอกจากนี้อยากให้มีการพัฒนาถนนสาย 344 สายชลบุรี-แกลง ตอนอำเภอบ้านบึง เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักในการขนส่งสินค้าไปสู่ระยอง จันทบุรี และตราด ซึ่งถนนชำรุดเสียหายมากและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง นอกจากนี้ จ.ชลบุรียังประสบปัญหาภัยแล้ง จำเป็นต้องเร่งพัฒนาแหล่งน้ำ ปัจจุบันมีเพียงอ่างเก็บน้ำบางพระเท่านั้นที่เป็นแหล่งต้นทุนน้ำ ไม่เพียงพอต่อการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและบริโภค จำเป็นจะต้องมีการผันน้ำจากแหล่งน้ำอื่น อาทิ อ่างเก็บน้ำประแสร์ คลองชลประทานพานทอง เพื่อเพิ่มให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อจะได้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ได้เน้นในเรื่องของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยมีการใช้วิดิโอในการบรรยาย โดยเน้นให้พื้นที่ภาคตะวันออกให้เป็นเศรษฐกิจชั้นนำ สนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของเอเชีย ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการขนส่ง การพัฒนาเมือง สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อำนวยความสะดวกและการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และการท่องเที่ยว โดยมีแผนงานรวมทั้งสิ้น 191 โครงการ ในวงเงิน 609,739.80 ล้านบาท โดยแบ่งระยะการทำงานออกเป็น 3 ระยะใน 15 ปี

โดยระยะสั้น พ.ศ.2559-2560 เร่งรัดโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคม เพิ่มศักยภาพระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และการบริการด้านสาธารณสุข จัดการสิ่งแวดล้อมเมือง ระยะกลาง พ.ศ. 2561-2563 พัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ-ระยอง) รถไฟรางคู่มาพัทยา ท่าเรือเฟอร์รี่ พัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ระยะยาว 2564 เป็นต้นไป พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ต่อเนื่อง พัฒนาระบบรางและระบบน้ำ ให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงทั้งระบบ

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 12 ตุลาคม 2559

กรมชลเร่งระบายน้ำเคลียร์พื้นที่รอฝนหนักในช่วงปลายสัปดาห์

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศว่า ในช่วงวันที่ 11–13 ตุลาคม 2559 บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลยังคงมีฝนตกชุก กับมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 14–17 ตุลาคมนี้ บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯรวมกัน 15,550 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 63% ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,854 ล้านลบ.ม. ส่วนบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 2,202 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังคงควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,297 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกในช่วงวันที่ 14 – 17 ตุลาคม โดยจะทำให้พื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ นอกคันกันน้ำได้ ยังคงได้รับผลกระทบคือ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี อ.เมือง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ไชโย อ.ป่าโมก คลองโผงเผง จ.อ่างทอง และคลองบางบาล ตลาดเสนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และมีระดับน้ำทรงตัว

“ส่วนเขื่อนพระรามหก ปัจจุบันมีการระบายน้ำ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่สถานี C.29A ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,366 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง และไม่ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำล้นคันกั้นน้ำได้ รวมถึงผลกระทบต่อกรุงเทพฯและปริมณฑลแต่อย่างใด”นายทองเปลว กล่าว

นายทองเปลว กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชี ฝนที่ตกสะสมและมีปริมาณมากในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ทำให้เกิดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในลำคันชู และแม่น้ำชีตอนบน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรและชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ในเขตจ.ชัยภูมิ จำนวน 6 อำเภอ จ.ขอนแก่น 9 อำเภอ จ.ยโสธร 1 อำเภอ และจ.อุบลราชธานี 1 อำเภอ ขณะนี้ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล ระดับน้ำที่สถานี M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,270 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้ไหลผ่านไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา วัดได้ 2,300 ลบ.ม.ต่อวินาที มีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูลในเขตอ.เมือง จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบน้ำท่วมเป็นบางแห่ง ขณะนี้ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

นายทองเปลว กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมชลฯขอชี้แจงกรณีประตูระบายน้ำปลายคลองเริงรางหลุด ส่งผลให้เกิดเอ่อเข้าท่วมในเขตเทศบาลท่าลาน อ.บ้านหมอ จ.สระบุรีนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นท่อระบายน้ำตั้งอยู่บริเวณปลายคลองเริงราง ใช้ในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก มีลักษณะเป็นท่อสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 3 เมตร จำนวน 2 ช่อง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าลาน อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี จากปริมาณน้ำแม่น้ำป่าสัก ที่มีระดับสูง ทำให้เกิดแรงดันบานท่อระบายน้ำ จนบานโก่งตัวอ้าออก 1 ช่อง ส่งผลให้มีน้ำไหลย้อนเข้าไปในพื้นที่ แต่ปริมาณไม่มากนัก ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรแต่อย่างใด กรมชลฯโดยสำนักงานชลประทานที่ 10 จึงได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยการนำแผ่นเหล็กเข้าไป ปิดบานที่เสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำไหลย้อนเข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าภายในวันที่ 12 ตุลาคม จะดำเนินการได้แล้วเสร็จ ส่วนปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นในคลอง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำลงสู่ แม่น้ำป่าสักต่อไปแล้ว

“ส่วนกรณีน้ำเจ้าพระยาเข้าท่วมพื้นที่ริมตลิ่ง ชุมชนวัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ขอเรียนว่า กรมชลฯได้มีการแจ้งข่าวให้ชุมชนพื้นที่ต่างๆ ให้ได้รับทราบก่อนเกิดภาวะน้ำท่วมแล้ว ซึ่งประชาชนชุมชนวัดสะตือก็ทราบดี เนื่องจากจะเกิดน้ำท่วมเช่นนี้ทุกปี จนถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนชุมชนวัดสะตืออยู่แล้ว” นายทองเปลว กล่าว

จาก http://www.matichon.co.th   วันที่ 12 ตุลาคม 2559

ผ่าโครงสร้าง'อ้อยน้ำตาล'ทั้งระบบ กล่อมบราซิลยกฟ้องขัดกฎค้าโลก  

          นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ภายหลังประเทศบราซิลแสดงความกังวลว่า ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินมาตรการอุดหนุนระบบน้ำตาลทราย และชาวไร่อ้อยที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีไทยภายใต้ดับเบิลยูทีโอ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของบราซิลไปยังตลาดโลก โดยประเทศไทยจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับแผนดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาของบราซิลต่อไป

          สำหรับแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าว มีสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำไว้เป็นแผนระหว่างปี 59-64 เช่น การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับข้อตกลงดับเบิลยูทีโอ และเขตการค้าเสรี (อาฟต้า) ด้วยการยกเลิกระบบโครงสร้างน้ำตาล ก ข และ ค การยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ

          พร้อมกับยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย การยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น  พร้อมกันนี้ยังปรับแก้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้กรอบอาฟต้าเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดมาตรการทดแทนหรือมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยโรงงานน้ำตาลและผู้บริโภค

          ต่อมาเป็นการเพิ่มผลิตสภาพอ้อยและน้ำตาลทราย และการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ด้วยการส่งเสริมทำเกษตรสมัยใหม่ ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้หมดภายใน 5 ปี การนำของเสียจากโรงงานมาเป็นผลผลิตหรือเป็นสารบำรุงดินในไร่อ้อย เพิ่มผลิตภาพการผลิตไฟฟ้าจากอ้อย และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในแปลงปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งระบบ.

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 12 ตุลาคม 2559

ครม.เห็นชอบรื้อโครงสร้างอ้อย-น้ำตาล เลิกให้การอุดหนุนชาวไร่ ปล่อยราคาตามตลาดโลก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนทั้งระบบตั้งแต่ปี 2559-2564 ให้สอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) โดยจะมีการกำหนดแผนงาน เป้าหมาย กิจกรรมดำเนินการและระยะเวลาดำเนินการ

สำหรับแผนดังกล่าวประกอบด้วย 5 แผนงาน สาระสำคัญ คือ 1.ปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อ้อยและนำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ได้ โดยจะยกเลิกระบบโควตาน้ำตาล, ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ, ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่ เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่อุดหนุนให้ 160 บาทต่อตันอ้อย , ยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น

นอกจากนี้ยังต้องปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้กำหนดให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครอบคลุมไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และปรับปรุงกฎหมายตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายผังเมือง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้สามารถดำเนินได้ตามยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

ส่วนแผนงานที่ 2 เป็นการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ให้หมดภายใน 5 ปี, การนำของเสียจากโรงงานมาเป็นผลผลิตหรือเป็นสารบำรุงดินในไร่อ้อย, การเพิ่มผลิตภาพการผลิตไฟฟ้าจากอ้อย, การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในแปลงปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ

แผนงานที่ 3 เป็นการกำหนดมาตรฐานน้ำตาลทรายต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีผลิต 2559/60 เพื่อให้การคำนวณต้นทุนมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่และให้เป็นที่ยอมรับกับระบบอุตสาหกรรมอ้อนและน้ำตาลทราย

แผนงานที่ 4 เป็นการรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยมีเป้าหมายเพื่อให้กองทุนฯสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินหรือเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหา และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่น เสริมสภาพคล่องชาวไร่อ้อย, การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร และโรงงานเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการผลิต

แผนที่ 5 คือการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์อ้อย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาดิน, น้ำและปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลิตภาพอ้อย เป็นต้น

“การปฏิรูปโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งนี้ ถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ และจะเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องน้ำตาลภายใต้ WTO ระหว่างไทยกับบราซิล ในเรื่องอุดหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ เพราะการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ ที่ผ่านมาราคาที่กำหนดสูงกว่าราคา ตลาดโลก แต่รัฐบาลจะมีกลไกใหม่ ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป” นายกอบศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.naewna.com  วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างอุตฯอ้อยและน้ำตาล

"ครม."เห็นชอบปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ ชู 5 แผนหลัก หวังสอดคล้อง WTO เดินหน้าเลิกอุดหนุนราคา

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำแผนทั้งระบบตั้งแต่ปี 2559-2564 และให้สอดคล้องกับพันธกรณีและความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก หรือ WTO โดยจะมีการกำหนดแผนงาน เป้าหมาย กิจกรรมดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการ

สำหรับแผนดังกล่าวจะประกอบด้วย 5 แผนงานโดยมีสาระสำคัญ คือ 1.ปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและนำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆได้ โดยจะยกเลิกระบบโควตาน้ำตาล ,ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ, ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่อุดหนุนให้ 160 บาทต่อตันอ้อย , ยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น

นอกจากนี้ยังต้องปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนหรือ AFTA อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงได้กำหนดให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครอบคลุมไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆเช่น เอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี และปรับปรุงกฎหมายตามกฎหมายโรงงาน กฎหมายผังเมือง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ให้สามารถดำเนินได้ตามยุทธศาสจร์อ้อยและน้ำตาลทราย และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า แผนงานที่ 2 เป็นการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ ให้หมดภายใน 5 ปี , การนำของเสียจากโรงงานมาเป็นผลผลิตหรือเป็นสารบำรุงดินในไร่อ้อย ,การเพิ่มผลิตภาพการผลิตไฟฟ้าจากอ้อย , การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในแปลงปลูกอ้อยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนแผนงานที่ 3 เป็นการกำหนดมาตรฐานน้ำตาลทรายต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำหนดมาตรฐานการผลิตน้ำตาลทรายของโรงงานน้ำตาล ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีผลิต 2559/60 เพื่อให้การคำนวณต้นทุนมีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่และให้เป็นที่ยอมรับกับระบบอุตสาหกรรมอ้อนและน้ำตาลทราย

ขณะที่แผนงานที่ 4 เป็นการรักษาเสถียรภาพกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายโดยมีเป้าหมายเพื่อให้กองทุนฯสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินหรือเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหา และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เช่นเสริมสภาพคล่องชาวไร่อ้อย , การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร และโรงงานเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการผลิต

 และแผนที่ 5 คือการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์อ้อย ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาดิน. น้ำและปุ๋ยเพื่อเพิ่มผลิตภาพอ้อย เป็นต้น

"การปฏิรูปโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งนี้ ถือเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่ และจะเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องน้ำตาลภายใต้ WTO ระหว่างไทยกับบราซิล ในเรื่องอุดหนุนราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ เพราะการกำหนดราคาน้ำตาลในประเทศ ที่ผ่านมาราคาที่กำหนดสูงกว่าราคาตลาดโลก แต่รัฐบาลจะมีกลไกใหม่ ในการเข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยต่อไป" นายกอบศักดิ์ กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เคาะเลิกอุ้มอุตฯอ้อย ปล่อยค้าเสรีน้ำตาล

ครม.ไฟเขียวปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เผย รัฐเลิกอุ้มปล่อยค้าน้ำตาลเสรี แต่ช่วยเกษตรกร-โรงงานทางอื่น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการต่อแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ภายหลังจากที่บราซิลมีความกังวลว่าไทยได้ดำเนินการอุดหนุนระบบน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของบราซิลไปยังตลาดโลก

สำหรับแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าว มีสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำไว้เป็นแผนระหว่างปี 59-64 ประกอบด้วย 5 แผนงาน คือ การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับข้อตกลงดับเบิ้ลยูทีโอ และเขตการค้าเสรี (อาฟตา) ด้วยการยกเลิกระบบโครงสร้างน้ำตาล ก ข และ ค การยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ

  นอกจากนี้ ยังยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย, การยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาล กรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น พร้อมทั้งยังปรับแก้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้กรอบอาฟตา เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว

โดยจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดมาตรการทดแทนหรือมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยโรงงานน้ำตาลและผู้บริโภคในภายหลัง เป็นต้น.

จาก http://www.thaipost.net   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลฉลุย

                    ครม.ผ่านแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ลุยเจรจากับบราซิล ให้ยกเลิกฟ้องร้องไทยขัดกฎเกณฑ์องค์การการค้าโลก

                    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ภายหลังประเทศบราซิลแสดงความกังวลว่า ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินมาตรการอุดหนุนระบบน้ำตาลทราย และชาวไร่อ้อยที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีไทยภายใต้ดับเบิ้ลยูทีโอ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของบราซิลไปยังตลาดโลก โดยประเทศไทยจะส่งข้อมูลเกี่ยวกับแผนดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาของบราซิลต่อไป

 สำหรับแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าว มีสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำไว้เป็นแผนระหว่างปี 59 - 64 มี 5 แผนงาน คือ การปรับปรุงพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย รวมทั้งกฎหมายและระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ ได้ โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าอ้อยและน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับข้อตกลงดับเบิ้ลยูทีโอ และเขตการค้าเสรี (อาฟต้า) ด้วยการยกเลิกระบบโครงสร้างน้ำตาล ก ข และค การยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศ

 พร้อมกับยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือค่าอ้อยแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย 160 บาทต่อตันอ้อย การยกเลิกให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจ่ายเงินชดเชยค่าอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาลกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น  พร้อมกันนี้ยังปรับแก้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการนำเข้าน้ำตาลทรายภายใต้กรอบอาฟต้าเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำหนดมาตรการทดแทนหรือมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวไร่อ้อยโรงงานน้ำตาลและผู้บริโภคในภายหลัง เป็นต้น

จาก http://www.dailynews.co.th  วันที่ 11 ตุลาคม 2559

ครม.ทบทวนพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า

ที่ประชุม ครม. ทบทวน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าก่อนเสนอ สนช. เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หลังคาดการณ์ผลผลิตเพิ่มขึ้น

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าที่ประชุม ติดตามความคืบหน้าของการแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ซึ่งเตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดย นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้พิจารณาโดยเร็วที่สุด หลังจากใช้ระยะเวลาการทบทวนนานพอสมควร เนื่องจากต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ โดยเน้น เพิ่มคำนิยม ของ "ผู้มีอำนาจเหนือตลาด" ให้ครอบคลุมไปถึงธุรกิจที่อยู่ในเครือด้วย รวมทั้งปรับให้มีความอิสระ จากการบังคับใช้กฎหมาย หลังที่ผ่านมา ยังถูกแทรกแซงทางการเมืองสูง โดยมีคณะกรรรมการขึ้นมาดูแล และเพิ่มโทษทางปกครอง ที่สามารถส่งปรับได้ทันที จากเดิมจะสามารถบังคับคดีทางอาญาเท่านั้น รวมไปถึงกำหนดให้มีการทบทวนกฎเกณฑ์ในทุกๆ 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายณัฐพร ยังกล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติการทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูข้าวนาปี 59/60 จำนวน 2 มาตรการ หลังจากการคาดการณ์ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ได้แก่ มาตรการให้สินเชื่อ เพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้เก็บในยุ้งฉาง จากเดิมจะเอื้อประโยชน์เฉพาะชาวนาที่มียุ้งฉางเท่านั้น แต่ได้ขยายให้กับเกษตรกร สามารถรวมกลุ่มเพื่อใช้ยุ้งฉางเดียวกันเพื่อเก็บข้าวได้ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สามารถใช้มาตรการนี้ได้ตามเป้าหมายเดิมที่ 2 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการเก็บสต๊อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารเพื่อดูดซับผลผลิตในเป้าหมาย 8 ล้านตัน โดยพิจารณาจากวงเงินกู้ในการเก็บสต๊อกของผู้ประกอบการ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4 ต่อปี หากเก็บเกิน 3 - 6 เดือน แต่หากเก็บตามระยะเวลาที่กำหนดไม่เกิน 2 เดือน จะได้ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีตามเดิม

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 11 ตุลาคม 2559

ก.อุตฯตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อนาคต

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต พัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงงานโนวาเมดิค ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไหมเย็บแผล วัสดุปิดแผล จังหวัดสมุทรปราการ ว่า กระทรวงเตรียมเปิดศูนย์ส่งเสริมงานวิจัยสู่อุตสาหกรรมในอนาคต หรือ Industry Transformation Center (ITC) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ระหว่างผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ มาทำงานร่วมกับหน่วยงานวิจัย ให้สามารถนำนวัตกรรมไปผลิตเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน อาทิ กลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ และดิจิตอล เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยขาดการเชื่อมโยง 2 ประเด็น ได้แก่ งานวิจัยและพัฒนาไม่เข้าใจความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนางานวิจัยเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถทำได้ยาก เนื่องจากไทยเน้นการรับจ้างผลิตเป็นหลัก รวมถึงไทยยังขาดการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม

เบื้องต้น สถาบันพลาสติกร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะกำกับดูแลการจัดตั้งศูนย์ไอทีซี เพื่อนำร่องสนับสนุนกลุ่ม S Curve โดยมีผลงานนำร่อง ได้แก่ ถุงทวารเทียมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่สถาบันพัฒนาร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบประชารัฐ และกระตุ้นให้ผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร และพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นวัสดุสิ้นเปลืองหรือใช้แล้วทิ้ง เช่น เข็ม ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย สายยาง เป็นต้น และมีสัดส่วนนำเข้าวัตถุดิบสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 11 ตุลาคม 2559

ครม.เคาะงบกลาง 2 พันลบ. เยียวยาเกษตรกร 6.5 แสนครัวเรือน ครัวเรือนละ 3 พันบ.

เปิดหลักเกณฑ์มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยน้ำท่วม! ครม.เคาะงบกลาง 2 พันลบ. เยียวยาเกษตรกร 6.5 แสนครัวเรือน ครัวเรือนละ 3 พันบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60

2.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในกรอบวงเงิน งบประมาณ 2,259.72 ล้านบาท แบ่งเป็น

1) การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 วงเงิน 1,953.72 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบมากกว่ากรอบวงเงินที่ได้ประมาณการไว้  กษ.จะขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเติม ในคราวต่อไป

2) การชดเชยดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 306 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

1.มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบให้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงิน โดยมีหลักเกณฑ์ อัตราการช่วยเหลือดังนี้

1.1 คุณสมบัติของเกษตรกร

1) เป็นเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้ (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์2560)

2) เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและประกอบกิจกรรมการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก่อนเกิดภัยเท่านั้น หากเกษตรกรรายใดได้รับผลกระทบมากกว่า 1 ด้าน ให้ได้รับการช่วยเหลือเพียง 1 ด้าน โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ระบุว่าจะขอรับการช่วยเหลือด้านใด ทั้งนี้ กรณีเกษตรกรไม่ได้ขึ้นทะเบียนก่อนเกิดภัยพิบัติให้หน่วยงานจัดทำบัญชีไว้เพื่อรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

3) เป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน/ชุมชน

1.2 อัตราการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559/60 กรณีได้รับผลกระทบ

ช่วยเหลือเยียวยาด้านพืช ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ อัตราครัวเรือนละ 3,000 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรที่ได้รับช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นตามทะเบียนของหน่วยงานที่กำกับดูแลเกษตรกรแต่ละด้าน

1.3 กรอบวงเงินการช่วยเหลือเยียวยา

ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2559 จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 แล้ว จำนวน 5,427 หมู่บ้าน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คิดกรอบวงเงินโดยคำนวณเฉลี่ยหมู่บ้านละ 120 ครัวเรือนเกษตร รวม 651,240 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 3,000 บาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ทั้งนี้ ยังไม่รวมกรอบวงเงินที่จะช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบในระยะต่อไปจนสิ้นสุดฤดูฝน

1.4 ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2560

2. มาตรการพักชำระหนี้สิน และขยายระยะเวลาชำระหนี้ แก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/60

2.1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2559/60 ดังนี้

1) ให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นระยะเวลา 6 เดือน

2)  กองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) สนับสนุนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยให้สหกรณ์กู้ในวัตถุประสงค์เป็นทุนให้สมาชิกกู้ปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี

2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย

1)  โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 ที่ขยายระยะเวลาชำระหนี้เดิมไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560                                                   

2)  โครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ วัตถุประสงค์เพื่อการปลูกข้าว เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 และลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกร รวมถึงการคืนดอกเบี้ยให้ลูกค้าเพื่อลดภาระหนี้

4) โครงการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ วัตถุประสงค์เพื่อการปลูกมันสำปะหลัง เป็นระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 11 ตุลาคม 2559

กรมชลฯ เผยน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักฯทรงตัว ยันระบายน้ำเท่าเดิม รอรับปริมาณฝนอีกระลอก

ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีแนวโน้มทรงตัว หลังฝนตกทางตอนบนน้อยลง แต่ยังคงการระบายน้ำออกจากเขื่อน รอรับปริมาณฝนวันที่ 14-15 ต.ค.

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 เว็บไซต์กรมชลประทานได้เผยแพร่ประกาศ โดยมีรายละเอียดว่า นายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สภาพน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 902 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 94 ของความจุอ่างฯ (ความจุเก็บกัก 960 ล้านลูกบาศก์เมตร) มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 57.53 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุด 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 59) ระบายน้ำในอัตรา 60.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ กรมชลประทานจะคงการระบายน้ำไว้ในเกณฑ์นี้อีกประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้มีพื้นที่ว่างพอที่จะเก็บกักน้ำจากปริมาณฝน ซึ่งคาดว่าตกหนักลงมาอีกในช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคม 2559 โดยจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และได้วางแผนเก็บกักน้ำให้เต็มเขื่อนในช่วงสิ้นตุลาคมนี้

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำบริเวณ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง เริ่มลดลงเหลือ 2,232 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ 161 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามลำดับ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงจากระดับสูงสุด +16.70 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) เหลือ +16.60 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร กรมชลประทานจะลดระดับน้ำหน้าเขื่อนลงให้คงเหลือระดับ +15.50 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อไว้รองรับสถานการณ์น้ำตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกเพิ่มอีกในช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงตามลำดับ หากมีฝนตกไม่มากนัก

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักฯ จะไหลมารวมกันที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ในอัตรา 2,172 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่จะไม่มีผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เนื่องจากความสามารถในการรับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตอนล่างอยู่ที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่วนพายุไต้ฝุ่น "ซงด่า" ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีทิศการเคลื่อนตัวไปทางเหนือ โดยไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่าในช่วงวันที่ 10-13 ตุลาคม 2559 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนตกชุก กับมีฝนตกหนักบางแห่งได้ ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีปริมาณฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 ตุลาคม 2559 บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 11 ตุลาคม 2559

เร่ง"บ้านช่องด่าน"แก้ขาดน้ำ-พื้นที่เกษตร ช่วยคน"บ่อพลอย"

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

          กรมชลฯ ผุดอาคารทดน้ำ"บ้านช่องด่าน"ส่งน้ำช่วยพื้นที่เกษตร อ.บ่อพลอย ขณะที่ อ.ห้วยกระเจา ในโครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง สภาพน้ำสมบูรณ์ช่วยลดปัญหาแห้งแล้งในพื้นที่ได้

          นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในพื้นที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี ด้วยการก่อสร้างอาคารทดน้ำบ้านช่องด่าน พร้อมระบบส่งน้ำ บริเวณ ต.หลุมรัง อ.บ่อพลอย โดยเริ่มก่อสร้างปี 2559 แล้วเสร็จปี 2561 ทั้งนี้ อ.บ่อพลอย เป็น 1 ใน 4 อำเภอ ของ จ.กาญจนบุรี ที่ได้ชื่อเป็นอีสานเมืองกาญจน์ เนื่องจากความแห้งแล้งถึงขั้นขาดแคลนน้ำรุนแรง

         อาคารดังกล่าวจะกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำเหนืออาคารทดน้ำขึ้นไปราว 2 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะติดตั้งสถานีสูบน้ำและส่งน้ำทางท่อไปยังพื้นที่เกษตรกร ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 2,000 ไร่

         “เกษตรกรลำบากเรื่องน้ำมาก โดยเฉพาะฤดูแล้งที่อาศัยน้ำในลำห้วยตะเพิน ซึ่งไม่ค่อยมีน้ำต้องลงทุนเจาะบ่อในลำห้วยแล้วสูบขึ้นมาใช้ คนที่อยู่ห่างลำห้วยก็ส่งไปไม่ถึง การมีอาคารทดน้ำพร้อมระบบจึงมีแหล่งน้ำต้นทุนและมีระบบส่งน้ำ ลดความเดือดร้อนเรื่องน้ำทำกินมาก”

         นายประพิศ กล่าวอีกว่า ขณะที่ อ.ห้วยกระเจา ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของพื้นที่อีสานเมืองกาญจน์เช่นกัน กรมชลประทานได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนเรื่องน้ำ โดยลงทุนพัฒนาโครงการสถานีสูบน้ำท่าล้อ-อู่ทอง สูบน้ำจากเขื่อนแม่กลองแล้วส่งทางท่อขนาดใหญ่ ซึ่งจะแยกกระจายไปตามจุดต่างๆ เพื่อเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำและสระน้ำที่มีอยู่

         อาทิ อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ความจุ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร สระน้ำวัดทิพย์สุคนธาราม ในพระบรมราชินูปถัมภ์ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำหนองมะสังข์ 4 แสนลูกบาศก์เมตร เป็นต้น ทำให้ทั้ง 4 ตำบล ใน อ.ห้วยกระเจา มีปริมาณน้ำตอบสนองทั้งการอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างเพียงพอ

จาก http://www.komchadluek.net  วันที่ 11 ตุลาคม 2559

สมชาย"ย้ำเม.ย.60เคาะโครงสร้างก.อุตฯ เอกชนหนุนปรับภารกิจชื่อใหม่ไม่จำเป็น   

          ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมย้ำการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายรัฐบาลชื่อกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใหม่ยังไม่ตกผลึกคาดสรุปได้ เม.ย. 60  ขณะที่ภาคเอกชนย้ำชื่อไม่สำคัญเท่ากับบทบาทที่ควรปรับเปลี่ยน

          นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมโดยมุ่งเน้นที่จะให้สอดรับนโยบายรัฐบาลในการ ส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือนเมษายน 2560 โดยแนวทางจะมีการปรับภารกิจต่างๆ ที่จะให้มีการเสริมกับภารกิจเดิมให้เข้มแข็งขึ้นโดยจะไม่ไปซ้ำซ้อนกับภารกิจกระทรวงอื่นๆ

          "เรายังไม่ตกผลึกว่าที่สุดจะใช้ชื่อกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการหรือไม่เพียงแต่เสนอไว้เบื้องต้นเท่านั้น รวมไปถึงกรณีสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่จะเปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพก็หารือกันในหลักการที่จะขยายงานให้ครอบคลุมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมชีวภาพให้มากขึ้นซึ่ง ไม่เพียงแต่อ้อยที่จะมาเป็นวัตถุดิบการผลิต ไบโอพลาสติกยังมีปาล์ม และมันสำปะหลัง แต่เราจะมาดูภาพรวมเพราะในแง่วัตถุดิบนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบอยู่แล้ว" นายสมชายกล่าว

          นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่คาดว่าจะให้สอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งก็เห็นด้วยเพราะกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 สถานการณ์การค้า และการลงทุนก็เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ชื่อ กระทรวงฯ จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนไม่ได้สำคัญที่ภารกิจและบทบาทที่ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนและการปฏิบัติสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

          "ส่วนตัวผมคิดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมชื่อเดิมก็ดีอยู่แล้วและเป็นที่รู้จักของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ การเปลี่ยนชื่อหรือไม่คงไม่สำคัญกับการที่บทบาทของกระทรวงฯที่จะมีการจัดหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดให้มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและราชการเองก็จะต้องปรับตัวให้สอดรับกับยุค 4.0 ด้วยเอกชนปรับลำพังไม่ได้เพราะรัฐเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกให้เอกชนเครื่องไม้เครื่องมือต้องทันสมัย เอกสารต่างๆ ต้องลดขั้นตอน"นายธนิตกล่าว

          นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่าหาก สอน.จะปรับบทบาทใหม่และมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลถือเป็นสิ่งที่ดีแต่การจะปรับบทบาทและภารกิจก็ควรจะหารือกับทุกส่วนให้เข้าใจตรงกันด้วยเพราะชาวไร่เองก็ไม่ได้รับรู้เลยว่าจะปรับชื่อใหม่ทราบอีกทีก็เปลี่ยนแล้วในข่าว

          นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันฯได้จัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยปี 2559-2564 โดยมีเป้าหมาย ที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตเป็น 1.18 ล้านล้านบาทในปี 2564 และเพิ่มการส่งออกจาก 19% ปัจจุบันเป็น 30.16% โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน 2.ยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อหน่วยให้สูงขึ้น 3.ยุทธศาสตร์ มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อม.

จาก http://manager.co.th  วันที่ 11 ตุลาคม 2559

สมคิด"ดึงเยอรมันลงทุนไทย จุดประกายอีอีซีเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0

          "สมคิด"ยึดเยอรมันต้นแบบพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ดันสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นศูนย์พ้ฒนาเอสเอ็มอี พร้อมชูอีอีซีดูดนักลงทุนทั่วโลก

          นายสมคิด จากตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการนำคณะไปเชิญชวนนักลงทุนในฝรั่งเศสและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 5-8 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า มั่นใจจะสามารถดึงนักลงทุนจากยุโรปได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับการเจรจาเป็นรายบริษัทบางแห่งยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกประเทศที่จะไปลงทุน แต่มั่นใจว่าจะเลือกประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อได้นำเสนอพื้นที่การลงทุนใหม่ที่รัฐบาลไทยกำลังพัฒนาเพื่อรองรับอุสาหกรรมเทคโนโลยีสูงคือ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่น กลุ่ม BMW กำลังพิจารณาการลงทุนครั้งใหญ่ในเรื่องรถยนต์แสดงความสนใจแนวคิดการพัฒนาโครงการอีอีซีอย่างมากจึงเชื่อว่าจะเริ่มคิดอย่างจริงจังและคงจะตัดสินใจภายในเดือน พ.ย.นี้

          "ประเทศเยอรมนีมีอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายที่มีเทคโนโลยีสูงแทบทุกอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการส่งเสริมให้เข้ามลงทุน เพียงแต่ที่ผ่านมาการเมืองไม่ได้เอื้อให้เราสามารถติดต่อเขาได้จึงใช้ช่องทางของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีไอโอ ในการคัดเลือกให้พบกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากกลุ่ม BMW แล้ว ยังได้เจรจาเป็นรายบริษัทกับกลุ่มผู้ผลิตยางเส้นรายใหญ่ที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อ เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจของบริษัท ซึ่งจะตอบโจทย์ประเทศไทยมาก เพราะอุตสาหกรรมยางมีความสำคัญกับคนไทย รัฐบาลก็มีนโยบายที่จะให้ยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานและทีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และไม่ต้องการเพียงให้มีโรงงานมาเปิด แต่ต้องการให้ทเกิดความร่วมมือระหว่างผู้ผลิต มหาวิทยาลัย สถาบัน เพื่อยกระดับศักยภาพ-การผลิตของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นและอีกรายหนึ่งที่ได้ชักชวนไปลงทุนในไทยเป็นกิจการสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้"

          นายสมคิดกล่าวว่า แม้ครั้งนี้จะมีเวลาน้อยในการมาพบนักลงทุนคือ 2 วันใน 2 ประเทศ แต่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ เพราะไทยจะมีการเลื่อกตั้งใน 1 ปีข้างหน้า และนักลงทุนก็มีบทบาทสำคัญในการส่งเสียงไปยังรัๆฐบาล และ 2 ประเทศที่คณะได้มาพบนักลงทุนคือฝรั่งเศสและเยอรนี ก็มีเสียงค่อนข้างดังในกลุ่มของยุโรป

          นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากการพบนักลงทุนแล้ว ครั้งนี้ตนยังได้เยี่ยมชมศูนย์ SMEs Competence Center ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีดาร์มสตัด ที่ได้รับยอมรับว่าเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากที่สุดแห่งหนึ่งของเยอรมนี และรัฐบาลเยอรมนีให้การสนับสนุนด้านการเงินภายใต้นโยบาย SME 4.0-Digital Production and Work Proccsscs เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตและทำงาน โดนที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาเอกชนให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระตุ้นให้เอกชนมองเห็นภาพอุตสาหกรรม 4.0 ว่าจะทำให้ธุรกิจรอดท่ามกลางการแข่งขันได้อย่างไร

          "หลังดูงานครั้งนี้เกิดแนวคิดว่า กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเป็นแกนหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกระทรวงวิทยาศาสตร์ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องบีไอโอ สถาบันการเงิน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยผลักดันให้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นศูนย์ในลักษณะเดียวกันนี้เพื่อเป็นตัวเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0".

จาก http://www.thairath.co.th   วันที่ 11 ตุลาคม 2559

เตือนระวังเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบระบาดแล้ว6หมื่นไร่11จังหวัด

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว (ศตส.) ตรวจสอบพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ 62,020 ไร่ ของ 11 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบด้วย พิจิตร แพร่ สุรินทร์ ศรีสะเกษ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท สระบุรี นครปฐม นครนายก และฉะเชิงเทรา ดังนั้นกรมการข้าวจึงทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้ประกาศเตือนเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสำคัญกับการดูแลศัตรูข้าว ส่วนวิธีการจัดการสามารถดูได้จากข้อมูลองค์ความรู้เรื่องข้าวจากเว็บไซต์กรมการข้าว www.ricethailand.go.th หรือติดต่อศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว หน่วยงานกรมการข้าวใกล้บ้านทันที

“วันนี้สถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังค่อนข้างน่าเป็นห่วง แม้จะมีรายงานว่าพบการระบาดในพื้นที่ 11 จังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง แต่จริงๆ แล้วทุกจังหวัดต้องระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยกรมการข้าวจะพยายามจำกัดวงการระบาดให้อยู่ในพื้นที่และปราบให้ได้ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดขยายวงกว้าง ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมาก กรมการข้าวเป็นห่วงเกษตรกรรายย่อยที่บางครั้งอาจละเลยไม่ได้ลงสำรวจแปลงนา เวลาพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็เกินระยะที่จะแก้ไขป้องกันได้แล้ว แต่ถ้าเป็นพื้นที่นาแปลงใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจากมีการรวมกลุ่มเกษตรกรและจัดตั้งกลุ่มย่อยในการดูแลนาข้าวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะมีกลุ่มบริหารศัตรูข้าวที่มีทีมสำรวจแปลงนาอยู่ตลอดเวลา เมื่อพบศัตรูข้าวระบาดสามารถจัดการได้อย่างทันท่วงที” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว

จาก http://www.naewna.com   วันที่ 11 ตุลาคม 2559

โคคา-โคลาเดินหน้า ‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย’

’ เสริมแกร่งพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยร่วมกัน

•โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ระยะแรก ที่เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้ช่วยพัฒนาศักยภาพเจ้าของร้านค้าปลีกหญิงไปแล้วกว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ

•เดินหน้าโครงการฯ ระยะที่ 2 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย นำร่อง 1 ปี ด้วยงบลงทุนโครงการนำร่องจากโคคา-โคลา   4 ล้านบาท มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน

•มุ่งสร้างคุณค่าร่วมอย่างยั่งยืนให้กับผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าหรือแวลูเชนของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาผ่านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่สร้างรายได้ให้ประเทศมากกว่า 150,000 ล้านบาท ต่อปี

กรุงเทพฯ, 14 กันยายน 2559 – กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย อันประกอบไปด้วย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้า ‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย’ ร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากเปิดตัวโครงการฯ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเจ้าของร้านค้าปลีกหญิงเมื่อปีพ.ศ. 2557 โดยล่าสุด โคคา-โคลา ลงทุน 4 ล้านบาทในโครงการนำร่องเพิ่มศักยภาพเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการการเงินและทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายใน 1 ปี (สิงหาคม พ.ศ. 2559 – กรกฎาคม พ.ศ. 2560)  โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการฯ นำร่องไปสู่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยและกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลรายอื่นในระยะต่อไป เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในรูปแบบการสร้างคุณค่าร่วมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ

นายพรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะผู้นำตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย  กลุ่มธุรกิจ โคคา-โคลาฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม กล่าวคือการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน จากการเปิดตัวโครงการในระยะแรกในปี 2557 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือเจ้าของร้านค้าปลีกหญิง จนถึงขณะนี้  มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ”

“ในปีนี้ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาฯ ได้ขยายโครงการฯ ไปสู่กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยเราได้ร่วมกับพันธมิตรในการออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นในสองหัวข้อหลัก คือ การบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน อันเกิดจากการประเมินความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย[1] ซึ่งพบว่า กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัวและมีอำนาจตัดสินใจทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้และทักษะในสองเรื่องนี้ ทั้งนี้ โครงการฯ ในระยะที่สองนี้ จะไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในการประกอบอาชีพและดูแลครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างคุณค่าร่วมให้ทุกฝ่ายที่ทำงานในโครงการฯ คือ ส่งเสริมพันธกิจพัฒนาศักยภาพเกษตรกรชาวไร่อ้อยของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ส่งเสริมการผลิตน้ำตาลและจัดหาวัตถุดิบที่ได้คุณภาพของน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ส่งเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ สอดคล้องกับพันธกิจการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing) ของโคคา-โคลา”

ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับพันธกิจของกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ที่เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย และได้ดำเนินโครงการส่งเสริมเกษตรยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเตรียมและบำรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรีย์และปรับปรุงคุณภาพดิน การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุน ไปจนกระทั่งการส่งเสริมการลดการเผาอ้อยในฤดูเก็บเกี่ยว ตลอดจนมีการให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการปลูกอ้อยและการทำอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทฯ ได้คัดเลือกเกษตรกรสตรีกลุ่มเป้าหมายรวม 600 คน ที่มีศักยภาพในการต่อยอดองค์ความรู้ให้เครือข่ายเกษตรกร เข้าร่วมโครงการฯ และมีเจ้าหน้าที่บริษัทฯ 30 คน เข้ารับการอบรมเพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงกับกลุ่มเกษตรกรให้คำแนะนำและติดตามผลตลอดโครงการฯ โดยคาดว่าหลังจากนี้ 1 ปี เกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมโครงการจะมีผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20”

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า        “การฝึกอบรมเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในโครงการฯ นี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อยให้ดีขึ้นผ่านการเสริมสร้างทักษะการทำบัญชีและการบริหารจัดการเงินในครัวเรือน โดยสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นองค์กรซึ่งทำงานด้านนี้มายาวนานกว่า 15 ปี เราจึงเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการฯ โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยกลุ่มเป้าหมาย และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาหลักสูตรการบริหารจัดการการเงิน ที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น ซึ่งเบื้องต้นได้เริ่มทำการอบรมไปแล้วกว่า 200 คน  และตลอดการดำเนินโครงการฯ จะมีการติดตามและประเมินผลเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับความต้องการหรือปัจจัยต่างๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ คาดว่า ภายหลังเข้ารับการอบรม เกษตรกรสตรีจะมีผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงิน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และมีระดับความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30”

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไทย เพราะสร้างงานให้เกษตรกรกว่า 600,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศจากการบริโภคในประเทศและส่งออกถึงปีละ 150,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.6 % ของจีดีพี[2] โดยไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล และอันดับ 1 ในเอเชีย และยังเอื้อต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อาหาร พลังงาน ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีพันธกิจขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสู่ความเป็นเลิศ และจะร่วมผลักดันและประชาสัมพันธ์การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ในโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลาฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรปรับตัวต่อสภาวะแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 ‘โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก ‘5by20’ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา ได้แก่ ร้านค้าปลีก ผู้ผลิตวัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ผู้แทนจำหน่าย คนเก็บบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไป       รีไซเคิล และช่างฝีมือที่ใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 ล้านคน ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ภายในปีพ.ศ. 2563 มีที่มาจากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ที่ระบุว่า ผู้หญิงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม คือ การใช้จ่ายทั่วโลกที่เกิดจากผู้หญิงมีมูลค่าสูงกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และแรงงานของผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 66 ของแรงงานทั่วโลก แต่รายได้ของผู้หญิงกลับมีเพียงร้อยละ 10 ของรายได้รวมของทั้งโลก ในขณะที่ผู้หญิงนำรายได้กว่าร้อยละ 90 ไปใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงให้สามารถเพิ่มรายได้จึงถือเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมในภาพรวม ปัจจุบัน ในระดับโลก โคคา-โคลาได้พัฒนาศักยภาพผู้หญิงไปแล้วกว่า 1.2 ล้านคน

เกี่ยวกับโครงการ 5by20

โครงการ 5by20 เป็นพันธกิจระดับโลกของโคคา-โคลาที่มุ่งเพิ่มศักยภาพด้านการดำเนินธุรกิจให้กับผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของ          โคคา-โคลาจำนวน 5 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ผู้หญิงทั่วโลกล้วนมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจและห่วงโซ่คุณค่าของ        โคคา-โคลา จากแนวคิดนี้ เราจึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา เริ่มตั้งแต่ชาวสวนผลไม้ ไปจนถึงช่างฝีมือ ภายใต้โครงการ 5by20 โคคา-โคลาพยายามตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจที่ผู้หญิงส่วนใหญ่พบเจอ โครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เรียนรู้ทักษะในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน และมีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพหรือผู้ให้คำปรึกษา รวมถึงมอบความมั่นใจในการทำธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จแก่พวกเขา

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะเจ้าของแบรนด์ รับผิดชอบกิจกรรมตลาด และสองพันธมิตรผู้ผลิตและจัดจำหน่าย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด รับผิดชอบ 62 จังหวัดทั่วประเทศ และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบใน 14 จังหวัดภาคใต้ ผลิตภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทยได้แก่ โค้ก, โค้ก ซีโร่, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปร์ท, ชเวปปส์, รูทเบียร์ เอแอนด์ดับบลิว  รวมถึงน้ำผลไม้มินิทเมด สแปลช มินิทเมด พัลพิ  มินิทเมด     นิวทริบู๊สท์ เครื่องดื่มสมุนไพร ฮาบุ และ  น้ำดื่มน้ำทิพย์

[1] การศึกษาเพื่อประเมินความต้องการของกลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ระหว่างมกราคม ถึงมีนาคม พ.ศ. 2559 โดยสถาบันคีนันแห่งเอเซีย

[2] ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี พ.ศ. 2557 คิดเป็น 9,211.6 พันล้านบาท (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

จาก http://www.matichon.co.th    วันที่ 11 ตุลาคม 2559

จับตาครม.ผ่านร่างกม.แข่งขันทางการค้า

เกาะติดการประชุมครม.เตรียมผ่านร่างพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าพร้อมพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ (11 ต.ค. 2559) มีวาระสำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย ความมั่นคง และการต่างประเทศหลายวาระที่ต้องติดตาม แต่ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเริ่มเป็นประธานการประชุม ครม. นั้น เวลา 8.59 น. นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ห้องสีฟ้า ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช

สำหรับวาระที่ส่วนราชการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ด้านกฎหมาย นั้นต้องติดตามการเสนอกฎหมายสำคัญคือกระทรวงพาณิชย์จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. .. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมยาง(ฉบับที่...) พ.ศ....ด้านกระทรงกลาโหม จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ...และร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งข้าราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ....

ส่วนประเด็นด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ กระทรวงพาณิชย์เสนอเพื่อทบทวนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/2560 ด้านการตลาด คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) จะสรุปมติการประชุม กนย. ครั้งที่ 1/2559 ต่อที่ประชุม ครม.

ด้านกระทรวงพลังงาน เสนอแผนการดำเนินงานงบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และเสนอโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ระยะที่1 ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเสนอโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะแรก (6 พื้นที่) และการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบาล สารวัตรกำนัด ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บานฝ่ายรักษาความสงบ

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังเสนอขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อจ่ายเป็นค่าทดแทนให้แก่ราษฎรที่เดือดร้อนและเสียโอกาสจากการก่อสร้างฝายห้วยละห้า และกระทรวงศึกษาธิการจะขอความเห็นชอบในหลักการจัดสรรเงินอุหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

ส่วนประเด็นด้านการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะขอความเห็นชอบต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 21 และกระทรวงพลังงานจะเสนอร่างสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG SPA)ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กับบริษัท SHELL EASTERN TRADING(PTE) LTD และบริษัท BP SINGAPORE PTE. LIMITED  LTD และบริษัท BP SINGAPORE PTE. LIMITED

อย่างไรก็ตาม มีบางประเด็นที่ส่วนราชการเสนอเข้ามาเป็นวาระเพื่อทราบหากไม่มีข้อทักท้วงถือว่าครม.ให้ความเห็นชอบหรือนุมัติที่น่าสนใจ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.)จะเสนอแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) สำนักงาน ป.ป.ช.เสนอยุทธศาสตร์ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม ครม.เวลา 9.45 น. นายแจ๊ค หม่า ประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา มีกำหนดการเข้าเยี่ยมคารวะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าการได้พบกับประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เช่น รมว.กระทรวงไอซีที กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในโอกาสที่ได้พบกับผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซรายใหญ่นี้รัฐบาลจะเชิญให้เข้ามาช่วยเหลือในส่วนที่รัฐบาลกำลังมีโครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไปในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งต้องการให้เข้ามาช่วยเหลือด้านการเทรนนิ่งการทำอีคอมเมิร์ซ

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 11 ตุลาคม 2559

กระทรวงเกษตรฯจัดใหญ่ประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2  กว่า 60 ประเทศเข้าร่วม

กระทรวงเกษตรฯ แถลงความพร้อมจัดประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2  มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 60 ประเทศ เพื่อร่วมผนึกกำลังประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วม และสร้างความยั่งยืนด้านอาหาร พร้อมจัดนิทรรศการแสดง  พระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทั่วโลกได้รับรู้

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานแถลงข่าวการประชุมชลประทานโลก ครั้งที่ 2 (2nd World Irrigation Forum : WIF2)  และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ ครั้งที่ 67 ( The 67th  International Executive Committee Meeting : 67th IEC Meeting) ว่า การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชลประทานโลก และการประชุมมนตรีฝ่ายบริหารระหว่างประเทศในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ ว่าด้วยการชลประทานและการระบายน้ำ (International Commission on Irrigation and Drainage: ICID) เห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านชลประทานมากที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยการประชุมจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 12 พฤศจิกายน 2559 ณ ศูนย์ประชมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยน แปลงของโลก   : บทบาทการชลประทานต่อความยั่งยืนด้านอาหาร” (Water Management in a Changing World: Role of Irrigation in Sustainable Food Production)

ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูง เอกอัครราชทูต ผู้บริหารจากสถานบันการศึกษา นักวิชาการด้านน้ำและชลประทาน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตอบรับเข้าร่วมประชุมแล้ว 60 ประเทศ จำนวนประมาณ 1,200 คน โดยเป็นระดับรัฐมนตรียืนยันที่จะมาร่วมประชุมแล้ว 13 ประเทศ คือ จีน อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เนปาล ปากีสถาน รัสเซีย แอฟริกาใต้ ซูดาน ยูเครน อุซเบกิสถาน ซิมบับเว และอยู่ระหว่างรอตอบรับอีกว่า 10 ประเทศ

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 หัวข้อหลักๆ คือ 1) การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการร่วมกันเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงาน และระบบนิเวศ 2) การร่วมกันกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง     และ3) เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำ เพื่อลดความยากจนและความหิวโหย โดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้มาก เพราะนอกจากจะทำให้ได้รับทราบความก้าวหน้าของการชลประทานของไทย และมีผลทางอ้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของประเทศแล้ว ที่สำคัญที่สุดยังจะทำให้ทั่วโลกได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะมีการนำเสนอแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำชลประทานตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยในส่วนของนิทรรศการจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ในวันที่ 7 – 8 พฤศจิกายน 2559

ด้าน นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานยังจะใช้ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ต้อนรับและดูงานของผู้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีและผู้ที่สนใจเพื่อแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พลิกผืนดินที่แห้งแล้งกว่า 8,500 ไร่ ให้เป็นผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ จนกลายเป็นศูนย์การศึกษาที่สมบูรณ์แบบ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรที่จะเข้ามาศึกษากิจกรรมต่างๆ แล้วนำไปใช้ปฏิบัติอย่างได้ผล ทั้งการพัฒนาพื้นที่ป่าไม้     การพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการส่งเสริมการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าการเกษตร การประมง ปศุสัตว์ รวมทั้งด้านการเกษตรอุตสาหกรรมอีกด้วย ดังมีพระราชดำริว่า ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือน“พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” หรืออีกนับหนึ่งเป็น “สรุปผลของการพัฒนา” ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้

“การประชุมชลประทานโลกครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบชลประทานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย โดยในส่วนของประเทศไทยยังได้คัดเลือก Smart Farmer หรือ เกษตรกรปราดเปรื่อง จำนวน 4 คน เข้าร่วมประชุมและร่วมพบปะหารือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆกับ Smart Farmer ของประเทศต่างๆ อาทิ ซูดาน อินเดีย อิหร่าน กว่า 10 คน ซึ่งถือเป็นการพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถ ความเข้มแข็ง ทักษะ ประสบการณ์ใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรในอนาคตอย่างมั่นคาง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลกตามนโยบายของรัฐบาล”พลเอก ฉัตรชัยกล่าว

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ไทย-อิหร่านเดินหน้าขยายการค้าและการลงทุน

ไทยประสบความสำเร็จในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับอิหร่าน อย่างเป็นรูปธรรม หลังกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรีระหว่างไทยกับอิหร่าน ครั้งที่ 1 วันที่ 10 ตุลาคม 2559  ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้า (นายโมฮัมหมัด เรซา เนมัทซาเด) เป็นประธานร่วมในการประชุม ในระหว่างการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีอิหร่าน (นายฮัสซัน โรฮานี) เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชียที่ไทยเป็นเจ้าภาพ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุม JTC ร่วมกับอิหร่านว่า ไทยและอิหร่านต่างเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยไทยสามารถเป็นความมั่นคงด้านอาหารและเป็นประตูสู่ตลาด CLMV และอาเซียนให้กับอิหร่าน ในขณะที่อิหร่านสามารถเป็นความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นประตูสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค CIS ซึ่งไม่มีทางออกทะเล และมีประชากรกว่า 300 ล้านคน

สองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า ให้มีเป้าหมายการค้าร่วมกันให้ถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 (2021) และยังตกลงจะให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement – PTA) เพื่อเร่งเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างกันอีกด้วย โดยคาดว่าการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2560 นอกจากนี้ สองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมทางการค้าและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

สำหรับการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว อิหร่านพร้อมที่จะเร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานข้าวไทย เพื่อให้ไทยสามารถส่งออกข้าวไปยังอิหร่านโดยเร็วที่สุด โดยไทยตั้งเป้าที่จะขยายการส่งออกข้าวไปยังอิหร่านให้ถึง 7 แสนตันต่อปี เหมือนช่วงก่อนอิหร่านโดนมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงความสนใจที่จะขยายสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยสินค้าที่อิหร่านมีความต้องการนำเข้าและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ผลไม้เมืองร้อน อาหารทะเล ยางพารา เป็นต้น ในขณะที่อิหร่านต้องการส่งออกถั่วพิตาชิโอและฟิกซ์มาไทย

นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่จะนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก รวมถึงผลิตภัณฑ์พลังงานอื่นๆ อาทิ น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งประสงค์เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานร่วมกับอิหร่านและต้องการพัฒนาความร่วมมือในพลังงานทางเลือกกับอิหร่าน ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศจะรื้อฟื้นความร่วมมือทางด้านพลังงานหลังจากที่ได้มีการลงนามมาตั้งแต่ปี 2547 โดยไทยพร้อมเดินหน้าเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานร่วมด้านพลังงานในต้นปีหน้า เพื่อหารือและส่งเสริมภาคพลังงานระหว่างกันโดยเฉพาะ

ในการประชุม JTC ครั้งนี้ อิหร่านต้องการให้มีความร่วมมือและการลงทุนจากไทย ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป สิ่งทอ และอัญมณี เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันทางด้านมาตรฐานฮาลาลและส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของกลไกการชำระเงินในการทำการค้ากับอิหร่าน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศอีกด้วย

นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากความสำเร็จของการประชุม JTC ในครั้งนี้แล้ว ยังมีการดำเนินกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเอกชนอิหร่านและเอกชนไทย กว่า 100 ราย รวมทั้งการหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้าอิหร่าน กับบริษัทชั้นนำของไทย ที่มีศักยภาพที่จะขยายการค้าการลงทุนไปยังอิหร่านอีกด้วย ซึ่งคาดว่าผลของกิจกรรมดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอิหร่านเติบโตได้อีกมาก

ไทยและอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน และภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ไทยได้ดำเนินการสานความสัมพันธ์ทวิภาคีกับอิหร่านมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอิหร่านเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 9 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในปี 2558 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า อิหร่านเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มั่งคั่งด้วยแหล่งพลังงาน (น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) และมีศักยภาพในการเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค CIS ซึ่งไม่มีทางออกทะเล ปัจจุบัน อิหร่านมีการจัดทำ PTA แล้วกับปากีสถานและตุรกี และอยู่ระหว่างการหารือจัดทำ PTA กับจีน อินเดีย และยูเรเซีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย)

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ค้าเออีซีปีแรกติดลบ ฝันสลาย8เดือนหดตัว5.6%อ้างเศรษฐกิจโลกซบ

ประเดิมเปิดเออีซีปีแรกหงอย ยอดค้าการค้าไทย-อาเซียน 8 เดือน ติดลบ 5.6% นักวิชาการ-ภาคเอกชนชี้ติดปัญหาใหญ่ เศรษฐกิจโลกซบฉุดค้าทรุดตาม ขณะเพื่อนบ้านแห่ผุดมาตรการกีดกัน สินค้าจีนตีตลาดทุบซํ้า จี้กระทรวงพาณิชย์เจรจาเปิดทางสะดวก ฟันธงส่งออกไทยไปอาเซียนปีนี้หดตัว 2-3% ด้านรมว.พาณิชย์ถก 3 กลุ่มสินค้าใหญ่หวังดันตัวเลขโค้งสุดท้ายปี 59

สถิติการส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียน (9ประเทศ) รอบ 5 ปี

จากที่อาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามได้ประกาศเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยลดภาษีส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างกันส่วนใหญ่ลงเป็น 0% เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลการค้า(ส่งออก+นำเข้า)ของไทยกับอาเซียน 9 ประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 5.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในส่วนของการส่งออกไทยไปอาเซียนยังติดลบที่ 3.0% (ดูตารางประกอบ) และการนำเข้าติดลบที่ 9.3% คำถามคืออะไรคือสาเหตุ?

 ศก.โลก-กีดกันค้าปัจจัยหลัก

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การค้าในภาพรวม รวมถึงการส่งออกและการนำเข้าของไทยกับอาเซียนที่ยังติดลบ มีสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญคือ จากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลงในปีนี้ มีผลให้ประเทศเพื่อนบ้านมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพื่อไปผลิตส่งออกอีกทอดหนึ่ง ลดลงตามไปด้วย จากการผลิตสินค้าในอาเซียนมีซัพพลายเชนเชื่อมโยงกัน

ประการต่อมา เป็นผลจากแต่ละประเทศในอาเซียนมีมาตรการภายใน และมีออกมาตรการภายในเพิ่มขึ้นที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายใน เช่น อินโดนีเซียมีการกำหนดท่าเรือนำเข้าสินค้า ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น หรือ ในบางแขวงของสปป.ลาวมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการนำสินค้าไปพักไว้ ขณะที่เมียนมาในบางรัฐอิสระ เช่น รัฐฉาน (ท่าขี้เหล็ก)ยังมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 3-10 % เป็นต้น นอกจากนี้การขนส่งสินค้าไทยไปประเทศที่ 3 เช่นต้องผ่านลาวไปเวียดนามยังไม่สามารถทะลุไปได้โดยตรง แต่ต้องหยุดรถที่ลาวเพื่อเปลี่ยนรถไปเวียดนาม ทำให้สินค้ามีต้นทุนเพิ่มขึ้น

 ส่งออกไปอาเซียนปีนี้ติดลบ

“มาตรการภายในของแต่ละประเทศเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้การค้าขายไม่สะดวกคล่องตัว แม้จะลดภาษีเป็น 0% แล้วก็ตาม ขณะที่มาตรฐานสินค้าของอาเซียนก็เป็นแบบมาตรฐานของใครของมันยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน หรือเป็นอาเซียนสแตนดาร์ด ทำให้สินค้าที่ส่งเข้าไปถูกตรวจสอบมาตรฐานอีก และยังมีปัญหาการนำสินค้าจากประเทศอื่นมาปลอมแปลงฉลาก เช่น ทุเรียนทอดกรอบ โดยระบุเป็นสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์ ขายได้ราคาสูง แต่สินค้าด้อยคุณภาพทำให้ไทยเสียชื่อเสียง”ดร.อัทธ์ กล่าว และว่า

ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ภาครัฐ เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องไปเจรจากับเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวก ลดการกีดกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มตัวเลขได้ อย่างไรก็ดีจากตัวอย่างปัญหาอุปสรรคข้างต้นคาดจะมีผลให้การส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียนในปีแรกของเออีซีในปีนี้จะขยายตัว 0% -1%

FDI เข้าไทยลด-ส่งออกวูบตาม

สอดคล้องกับนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า การค้าไทย-อาเซียนที่ติดลบ ยังมีปัจจัยสำคัญจากการลงทุนจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ)เข้ามาไทยลดลง ซึ่งการที่ไทยจะส่งออกไปอาเซียนได้เพิ่มขึ้น ขึ้นกับการลงทุนจากต่างประเทศด้วย นอกเหนือจากผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปตลาดอาเซียนอยู่แล้วก็ยังส่งอยู่

“การลงทุนจากต่างประเทศเวลานี้ไปเพิ่มในเวียดนาม อินโดนีเซียมากทั้งจากต่างประเทศ และจากประเทศไทย และในอนาคตจะไปเพิ่มในเมียนมา ซึ่งการไปลงทุนจะไปช่วยเพิ่มยอดการส่งออกให้ประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การส่งออกจากไทยจะลดลง นอกจากนี้การค้าไทย-อาเซียนยังมีกฎระเบียบเพิ่มขึ้นเป็นอุปสรรค”

 ผุดสารพัดมาตรการตีกัน

 ตัวอย่างมาตรการของอินโดนีเซียซึ่งมีความเข้มงวดมาก เช่น การจำกัดท่าเรือทำให้ไทยส่งออกยากขึ้น มาตรการของมาเลเซียต้องขอใบอนุญาตนำเข้าเช่นในสินค้ารถยนต์ของมาเลเซียทำให้เกิดความล่าช้า หรือหากเอกชนมาเลเซียไม่อนุญาตก็นำเข้าไม่ได้ ส่วนประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีการจำกัดโควตานำเข้า รวมถึงการกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าในสินค้าบางรายการ ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าของไทยก็มีเช่น แต่บังคับใช้ไม่เข้มงวด ทำให้ยังมีการลักลอบนำเข้าตามแนวชายแดนได้

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้การค้าของไทยในอาเซียนเติบโตได้ยาก สิ่งที่รัฐควรไปทำคือการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคให้น้อยลง ผมเสนอให้มีการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติอาเซียนเพื่อร่วมมือกันเปิดเผยข้อมูลว่าคุณกีดกันอะไรบ้าง จะยกเลิกได้หรือไม่ เพราะมาตรการเหล่านี้มีผลทำให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนลดลง”

 ส่งออกน้ำมันวูบ-จีนตีตลาด

ด้านนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผุ้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนที่ชะลอตัวที่มีผลต่อการค้าไทยกับอาเซียนที่ลดลงแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป(เป็น 1 ในสินค้า 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย)มีมูลค่าลดลง และยังส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกลดลงตาม

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินค้าจากจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่าเข้ามาตีตลาดในอาเซียน กระทบต่อการนำเข้าสินค้าไทย โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ที่เป็นตลาดที่กำลังขยายตัวสูงของไทย รวมถึงยังมีต่างชาติรวมทั้งไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นในอุตสาหกรรมซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ทำให้ลดการนำเข้าจากไทย

“แม้การค้า การส่งออก-นำเข้าของไทยกับอาเซียนช่วง 8 เดือนแรกในภาพรวมจะยังติดลบ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลพบการส่งออกของไทยไปหลายประเทศในกลุ่มยังขยายตัวเป็นบวก เช่น อินโดนีเซีย(+5.4%) เมียนมา (+2.6%) ฟิลิปินส์ (+13.6%) และเวียดนาม (+1.6%) อย่างไรก็ตามภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังอาเซียน 9 ประเทศในปีนี้คาดจะยังติดลบที่ระดับ 3% หรือดีสุดติดลบ 2% ซึ่งต้องรอดูมูลค่าการส่งออกไทยไปอาเซียนในช่วง 4 เดือนที่เหลือว่าจะขยายตัวได้มากน้อยเพียงใด”

นายนพพร ได้ให้ข้อเสนอแนะการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอาเซียน เช่น การเข้าไปขยายการลงทุนโดยตรงเพื่อลดต้นทุนและขยายตลาด แทนการส่งออกจากไทย การปรับตัวผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรม และมูลค่าเพิ่มสูง หรือสินค้าที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดผลกระทบการแข่งขัน เป็นต้น

 พาณิชย์รับปีนี้คาดติดลบ

ก่อนหน้านี้นางพรพิมล เพชรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.)ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการส่งออกไปตลาดอาเซียนของไทยในปี 2559 คาดจะติดลบ 0.8% หรือจะมีมูลค่าประมาณ 54,713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ขยายตัว 7.4% มูลค่า 59,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าไม่ดีจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกของอาเซียนได้รับผลกระทบ และอุตสาหกรรมอย่างสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม มีการย้ายฐานผลิตไปยังเพื่อนบ้านจำนวนมาก ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยลดลง แต่ไปเพิ่มการส่งออกให้กับประเทศเพื่อนบ้านแทน

 เป้าส่งออกไปอาเซียนปีหน้าโต2.5%

ขณะที่ในปี 2560 ในเบื้องต้น ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายส่งออกไปตลาดอาเซียนจะขยายตัวได้ที่ 2.5% หรือมีมูลค่าประมาณ 56,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปีหน้าสคต.จะมีแผนผลักดันให้ทุนไทยไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้นและจะส่งเสริมการค้าการลงทุนไปยังเมืองรอง (ซิตี้ โฟกัส) เช่น เวียดนาม ที่ไฮฟอง ซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนเหนือ เน้นกิจกรรมจัดงานแสดงสินค้าเพื่อแนะนำสินค้าไทยในกลุ่ม CLMV เป็นต้น ทั้งนี้สินค้าและบริการที่เป็นเป้าหมายไปในปีนี้และปีหน้า เช่น อาหาร วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ โลจิสติกส์ บริการสุขภาพ และบันเทิง

 หวัง 3 กลุ่มสินค้าดันตัวเลขปี59

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับภาคเอกชน(7 ต.ค.59)ประกอบด้วย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงการหารือถึงสถานการณ์การส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้กับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญได้แก่ กลุ่มอาหาร ยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อผลักดันการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ และวางแผนการส่งออกในปีหน้า โดยทั้ง 3 กลุ่มมีสัดส่วนส่งออกประมาณ30% ของมูลค่าการการส่งออกทั้งหมด

จากการหารือกับกลุ่มผู้ส่งออกอาหารพบว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ มีโอกาสเติบโตได้ดี ทั้งสินค้าทูน่า กุ้งและผัก ผลไม้ เนื่องจากได้รับอานิสงส์ จากการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) และแก้ไขปัญหาแรงงานได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์สินค้าอาหารของไทย ทั้งปีน่าจะเติบโตได้ 1.9% จากปีก่อนที่มีมูลค่าการส่งออก 17,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ขอให้เอกชนสร้างแบรนด์สินค้าในตลาดโลกและความเชื่อมั่นให้สินค้าของไทยให้มากขึ้น

ในขณะที่ภาคเอกชนเองยังมีแผนเดินหน้าเข้าพบผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารของไทยโดยเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยนำคณะเดินทางไปเจราจาซื้อขายสินค้าในต่างประเทศต่อเนื่อง(กลุ่มอาหาร มีสัดส่วนการส่งออก 8.2% ของการส่งออกไทย โดยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้วมูลค่า 11,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 2.0%) และในเร็วนี้ๆ ผู้นำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นวอลมาร์ต ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกา จะเข้ามาสำรวจสินค้าไทย เพื่อนำไปวางจำหน่าย ดังนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรที่จะสร้างประชาสัมพันธ์สินค้าไทย ให้ผู้นำเข้า เข้าใจถึงการแก้ไข ปัญหาสินค้าไทย โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาแรงงาน ประมงผิดกฎหมาย เชื่อว่าจะทำให้การนำเข้าสินค้าจะขยายตัวดีขึ้น

ส่วนกลุ่มยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีสัดส่วนต่อการส่งออกไทยภาพรวม 15.3% ซึ่ง 8เดือนแรกปีนี้มีการส่งออกแล้วมูลค่า 21,538 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% และ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ มีสัดส่วนต่อการส่งออกไทยภาพรวม 7.4% ช่วง 8 เดือนปีนี้ส่งออกมูลค่า 10,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.6% แต่หากหักการส่งออกทองคำจะมีมูลค่า 4,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 2.6%

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ไทยเร่งปฏิรูปACDพัฒนาเศรษฐกิจปท.อาเซียน

ประเทศไทยเร่งปฏิรูป ACD พัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอาเซียน - เตรียมเป็นประธานประชุมรัฐมนตรี EU 13 - 14 ต.ค. นี้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึง การประชุม ACD Summit ครั้งที่ 2 ว่า เป็นการพบกันของรัฐมนตรีประเทศต่างๆ เพื่อปรึกษาหารือในทุกเรื่องราว ซึ่งเป็นการรวมตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศในเอเชีย โดยเมื่อประเทศไทยได้โอกาสเป็นเจ้าภาพ ก็มองว่า ACD ควรเกิดการปฏิรูป เนื่องจากมีเนื้อหามากเกินไป จึงเกิดแนวทาง 6 เสาหลักขึ้น เพื่อเชื่อมโยงความเป็นจริงในปัจจุบันและความเป็นไปของโลกขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย โดยมีการพัฒนาเกิดขึ้น รวมถึงมีเอกสารผลลัพย์ของการประชุม 3 ฉบับ คือ วิสัยทัศน์ของ ACD ใน ค.ศ.2030, ปฏิญญากรุงเทพฯ และคำแถลงการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในเชิงการเชื่อมโยงของหุ้นส่วน 34 ประเทศ และได้รับการตอบรับจากประเทศต่างๆ ดีมาก ซึ่งทุกฝ่ายมีการตื่นตัวเกินกว่าความคาดหมาย โดยผลของการประชุมจะนำมารายงานผู้นำประเทศในเวลาประมาณ 17.00 น. วันนี้

ทั้งนี้ นายดอน กล่าวว่า โดยรวม 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ได้รับเสียงตอบรับจากนานาประเทศดีมาก และประเทศไทยจะเป็นประธานการประชุมระหว่างรัฐมนตรีของ EU 20 กว่าประเทศ กับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ในวันที่ 13 - 14 ต.ค. นี้

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ก.เกษตรจ่อชงครม.ช่วยเกษตรกรน้ำท่วมพรุ่งนี้

เกษตรฯ เตรียมเสนอ 4 แนวทางเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ต่อ ครม. พรุ่งนี้

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำขณะนี้ว่า ยังไม่น่ากังวล โดยเฉพาะในพื้นที่ชลประทาน ที่ยังสามาถบริหารจัดการได้ ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำลุ่มเจ้าพระยา ขณะที่แผนการระบายน้ำปัจจุบันของเขื่อนเจ้าพระยา พบว่า มีการระบายน้ำที่ 2,270 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานีบางไทร 2,114 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานยังสามารถควบคุมได้ เพราะจุดเฝ้าระวังต้องระบายน้ำที่สถานีบางไทร 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนที่เขื่อนพระราม 6 ล่าสุดระบายน้ำอยู่ที่ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเสนอ 4 แนวทาง เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมประกอบด้วย จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยฟื้นฟูพื้นที่เสียหายหลังน้ำลด สหกรณ์การเกษตรปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกร และยืดเวลาการชำระหนี้ โดยจะเสนอแนวทางดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (11 ตุลาคม)

จาก http://www.innnews.co.th   วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์ชงครม.พิจารณา ร่างแก้ไขกม.แข่งขันทางการค้า มั่นใจช่วยดูแลการประกอบธุรกิจให้แข่งขันอย่างเป็นธรรมได้  

         "พาณิชย์"ชงครม.ไฟเขียวร่างแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า หลังปลดล็อคเรื่องการส่งรายได้จากค่าปรับยุติแล้ว ก่อนเสนอ สนช. พิจารณา ออกเป็นกฎหมายต่อไป มั่นใจช่วยดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมได้แน่

               น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 11 ต.ค.2559 กระทรวงพาณิชย์จะเสนอร่างปรังปรุงแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ... ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบในรายละเอียด และส่งกลับมายังกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไม่มีขัดข้องที่จะมีกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งหาก ครม. อนุมัติ ก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามขั้นตอน เพื่อผลักดันให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

                สาเหตุที่มีการนำร่างแก้ไขของกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ล่าช้า จากเดิมที่กำหนดจะให้ ครม. พิจารณาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากยังติดรายละเอียดจะต้องเจรจาในเรื่องของการส่งเงินรายได้ให้กับกระทรวงการคลัง โดยล่าสุดจากการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปว่าเงินรายได้จากค่าปรับทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการภายใต้ร่างกฎหมาย จะส่งคืนให้กระทรวงการคลัง เว้นค่าที่ปรึกษาจะเป็นค่าใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของสำนักงานแข่งขันทางการค้า ส่วนเงินที่ใช้ดำเนินการภายในสำนักงาน ต้องของบประมาณกลางเข้ามาใช้และบริการจัดการในองค์กร

               น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีองค์กรกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่มีความคล่องตัวและเป็นอิสระ และมั่นใจว่ากฎหมายจะช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกันครอบคลุมในทุกประเภทธุรกิจ เสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจทั้งในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ

               ขณะเดียวกัน กฎหมายจะช่วยลดปัญหาข้อเรียกร้องจากต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันให้ครอบคลุมการประกอบธุรกิจตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ กลไกตลาด และการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

               สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า เช่น ให้นำรัฐวิสาหกิจเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ แต่ให้มีข้อยกเว้นว่าการกระทำของรัฐวิสาหกิจที่ทำเพื่อความจำเป็นต่อการทำงานของรัฐบาล ประเทศ และเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ และกำหนดให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

 จาก http://manager.co.th   วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

สศอ.อัดงบหนุนโรงงานเพิ่มประสิทธิภาพผลิต 

          นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวว่า นโยบายขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย ในปี 2560  สศอ.จัดสรรงบประมาณการใช้งบบูรณาการปีแรก โดยจะมุ่งเน้นภารกิจสำคัญ คือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (โปรดักทิวิตี้) ของภาคอุตสาหกรรมให้เพิ่มขึ้น 2% เพื่อยกระดับการแข่งขัน และผลักดันให้ จีดีพี ภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 ให้ขยายตัว 3%สูงขึ้นจากปี 2559 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2%จากช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา จีดีพี ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว ไม่เกิน 1% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ทำให้การใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ60% "ที่ผ่านมาผลิตภาพการผลิตของไทยต่ำ ทำให้เราตกขบวนโกลบอล ซัพพลาย เชน ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพการผลิต จะต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสริมการแข่งขัน เพื่อผลักดันการส่งออกสินค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งผลสำเร็จจะวัดจากต้นทุนการผลิตสินค้า ที่ลดลง และยอดการส่งออกของแต่ละโรงงานต้องเพิ่มขึ้น"

          ทั้งนี้ แผนงานในการเพิ่มผลิตภาพ การผลิต จะดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับจากแรงงานฝีมือต่ำ ไปสู่แรงงานทักษะฝีมือชั้นสูง ซึ่งจะเร่งพัฒนาแรงงาน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-Curve)เป็นหลัก 2.การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อพัฒนาการกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม โดยจะร่วมมือกับสถาบันเครือข่าย ทำแผนปรับปรุงสิทธิภาพเครื่องจักรของแต่ละโรงงาน ไปสู่การใช้เทคโนโลยีชั้นสูง 3.การปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อขจัดอุปสรรค ในการลงทุน เช่น เรื่องของกฎหมายสิ่งแวดล้อม ที่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้สูงเกณฑ์ไป โดย จะต้องหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางผ่อนปรนกฎระเบียบต่อไป

          นายศิริรุจ กล่าวถึงความคืบหน้าทำแผน ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม 20 ปีว่าอยู่ระหว่างนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ไม่เกินกลางเดือนต.ค.นี้ และหากได้รับการอนุมัติแล้วก็จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในปี 2561 ให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะ การขับเคลื่อนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

กรมชลฯ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก-ออก

เมื่อเร็วๆ นี้กรมชลประทานจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร นำทีมโดย ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ลงพื้นที่ศึกษาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก

กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำหลาก โดยการระบายผ่านแม่น้ำและคลองชลประทาน ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทย ซึ่งปัจจุบันประสิทธิภาพของการระบายน้ำลดลงไม่เต็มศักยภาพ และความไม่ต่อเนื่องของคลองต่างๆ ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการระบายน้ำลงสู่ทะเล รวมถึงการออกแบบคลองหลายคลองเป็นคลองส่งน้ำ จึงมีขนาดจำกัดต่อการระบายน้ำ

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวว่า ทางกรมชลประทานได้มีการวางระบบที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ โดยใช้คลองชลประทานเดิมที่มีอยู่ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เนื่องจากว่าในแม่น้ำเจ้าพระยามีความสามารถในการระบายน้ำเต็มที่ได้ 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที เพราะฉะนั้นจะต้องระบายน้ำออกทางซ้ายและขวาตามที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรได้มอบหมายมา ซึ่งน้ำที่ต้องไหลจากบนสู่ล่างทางด้านฝั่งตะวันตกจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ปัญหาจะอยู่ที่คลองมหาสวัสดิ์ลงข้างล่าง ตัวย่างแบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2554 ทำให้น้ำเอ่อเนื่องจากพื้นที่ต่ำ

ขณะนี้กรมชลประทานได้ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท กรุงเทพมหานคร เพิ่มขีดความสามารถในการทำคลองใหม่ ขุดอุโมงค์ นอกจากนี้ยังได้ทำการสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแผนการดำเนินการอยู่ระหว่างการเจรจากับชาวบ้านว่ามีผลกระทบมาน้อยขนาดไหน ส่วนฝั่งตะวันออกจะเห็นว่าโครงสร้างเดิมดีอยู่แล้ว สายสูบน้ำมีมากหลังจากปี 2554 จะเห็นได้ว่าทำไม่ระบายออกไป

สำหรับการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา การศึกษาปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตกจะประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 โครงข่าย คือ โครงข่ายระบบชลประทานในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ตอนบน) เหนือคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน โดยมีลักษณะโครงการเป็นพื้นที่ชลประทานที่มีทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำเต็มรูปแบบ โดยส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เข้าทางแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ และเข้าทางแม่น้ำน้อยผ่านทางประตูระบายน้ำบรมธาตุ ซึ่งสภาพปัญหาด้านการส่งน้ำและการระบายน้ำค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ตอนล่าง เนื่องจากเป็นพื้นที่ตอนบนอยู่ต้นน้ำ และความลาดชันของคลองมากกว่า แต่อาจต้องปรับปรุง/ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในคลองเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำให้ดีขึ้น โดยใช้คลองชลประทานและคลองธรรมชาติ 37 คลองเป็นโครงข่ายหลักในการระบายน้ำ

ส่วนโครงข่ายระบบชลประทาน ในพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ตอนล่าง) ใต้คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน มีลักษณะโครงการตั้งแต่ใต้คลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน จนไปถึงคลองมหาสวัสดิ์ ได้แก่ พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าเจ็ด-บางยี่หน โครงการฯ พระยาบันลือ และโครงการฯ พระพิมล ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม รับน้ำจากพื้นที่ตอนบนร่วมกับจากแม่น้ำท่าจีนโดยคลองในระบบโครงข่ายส่วนใหญ่มีศักยภาพในการส่งน้ำ แต่มีปัญหาในการระบายน้ำ เนื่องจากอาคารบังคับน้ำในคลองระบบโครงข่ายมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดคลอง โดยจุดที่สำคัญคือพื้นที่ใต้คลองมหาสวัสดิ์ลงมาจนถึงทะเล ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรม สภาพปัญหา ได้แก่ คลองเดิมมีปริมาณน้อย มีปัญหาการรุกล้ำเขตคลอง ความลาดชันของคลองมีน้อยเมื่อเทียบกับด้านบน ทำให้การระบายน้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ลงมาถึงคลองภาษีเจริญ และแก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย เป็นไปด้วยความยากลำบาก เป็นเหตุให้น้ำท่วมพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตก (ตอนล่าง) อย่างหนัก จึงต้องหาทางแก้ไข

 จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รัฐบาลแนะทำเกษตรแปลงใหญ่ ช่วยลดความเสี่ยง

 "สรรเสริญ" ชี้รัฐบาลแนะทำเกษตรแปลงใหญ่ ลดความเสี่ยง ใช้ต้นทุนน้อยแถมเพิ่มผลผลิต ตั้งเป้าปีหน้า 1 พันแห่ง เล็งรวมกลุ่มปลูกผลไม้ป้อนตลาดจีน

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งปฏิรูปภาคการเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมการเพาะปลูก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะการจัดทำเกษตรแปลงใหญ่ บูรณาการทุกหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนการปลูกพืชของเกษตรกร และมีผู้จัดการแปลงดูแลทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

“การรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรกรสามารถกู้เงินได้ถึงแปลงละ 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี โดยในปีนี้ตั้งเป้าจัดทำเกษตรแปลงใหญ่กับพืชชนิดต่าง ๆ 580 แห่ง พื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ และจะขยายผลในปี 2560 ให้เป็น 1,000 แห่งขึ้นไป พร้อมส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะปลูกและแปรรูปผลผลิต”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า เฉพาะการส่งเสริมนาแปลงใหญ่ ล่าสุดได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงซื้อขายผลผลิตข้าวระหว่างกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่กับโรงสีหรือสหกรณ์ที่รับซื้อข้าวทั่วประเทศ ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พาณิชย์ มหาดไทย ร่วมกันสนับสนุนตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร เป็นการรับประกันว่าผลผลิตข้าวของเกษตรกรจะมีผู้รับซื้อแน่นอน หลังจากที่ภาครัฐช่วยจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร แนะนำวิธีเพาะปลูก และเจรจาต่อรองให้แล้ว

“ขณะนี้มีนาแปลงใหญ่ที่เกษตรกรเข้าร่วมใน 66 จังหวัด จำนวน 386 แปลง รวมพื้นที่กว่า 8.3 แสนไร่ ซึ่งช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลิตได้มาก เช่น นาแปลงใหญ่ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ มีต้นทุนการผลิตนาดำลดลงจาก 4,620 บ./ไร่ เป็น 4,050 บ./ไร่ และนาหยอด จาก 4,620 บ./ไร่ เป็น 3,285 บ./ไร่ นอกจากนี้ ยังมีมันสำปะหลังแปลงใหญ่ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และการปลูกหญ้าเนเปียร์แปลงใหญ่สำหรับโคนม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ที่ได้ผลดีเช่นเดียวกัน” พลโทสรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลยังจะกระตุ้นให้เกษตรกรหันไปปลูกมังคุด ทุเรียน กล้วยหอม ถั่วเหลือง ทั้งแบบปกติและแบบแปลงใหญ่ พร้อมกับลงนามความร่วมมือกับภาคเอกชนของจีน เพื่อให้รับซื้อผลผลิตซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ตลอดจนช่วยป้องกันเกษตรกรถูกเอาเปรียบจากบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการออกกฎหมายเกษตรพันธะสัญญา โดยจะต่อยอดให้ กระทรวงเกษตรฯ และ กระทรวงพาณิชย์ เข้ามาบริหารจัดการในรายละเอียดต่อไป

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

'ค่าบาท' อ่อนค่า รับคาดการณ์เฟดขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

"ค่าเงินบาท" เปิดตลาดเช้านี้ 34.95บาทต่อดอลลาร์ ตลาดคาด "เฟดขึ้นดบ." ปลายปีนี้ จับตาดีเบตสหรัฐ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า บาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ใกล้ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ แรงขายเงินดอลลาร์ เริ่มชะลอลงบางส่วน เพราะแม้ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ จะออกมาแย่กว่าที่คาด แต่ตลาดก็ยังคงประเมินว่า ยังมีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ 1 ครั้งในการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีนี้

สำหรับความเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาด น่าจะอยู่ที่ผลการดีเบตคู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ จุดสนใจของนักลงทุนในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ อาจจะอยู่ที่ข้อมูลเศรษฐกิจจีน และสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่เฟด

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บิ๊กตู่สั่งลุยทำแผนการค้า 6 เดือน

พาณิชย์เด้งเชือกรับ “ประยุทธ์” ดันแผนทำงานเร่งด่วนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตั้งเป้าลุยการค้าชายแดน สร้างความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับ CLMV ดันคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ผลักดัน SMEs และ Start Up เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ดันลืมงานเร่งด่วนช่วยลดค่าครองชีพ แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เผยผลสำรวจเงินเฟ้อ ตอกหน้า ราคาอาหารบริโภคในบ้านนอกบ้านพุ่งกระฉูดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ส่วนข้าว มัน ข้าวโพด ราคายังดิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยราชการเร่งหาผลงานที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในช่วง 6 เดือน โดยต้องไม่ใช่งานที่ดำเนินการเป็นประจำ และต้องเป็นงานที่คิดทำขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นผลงานของรัฐบาล และจะมีการแถลงผลงานเหล่านี้ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้นัดประชุมร่วมกับผู้บริหารทุกกรมแล้ว และได้มีการกำหนดแผนการทำงานเร่งด่วนออกมา

โดยในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ มีแผนจะเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุน และการแก้ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน การค้าชายแดน การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า การกำกับดูแลการทำสินค้าเกษตรแบบมีพันธสัญญา (Contract Farming) การโรดโชว์ขายข้าว มันสำปะหลัง การผลักดันให้ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตต่างๆ

สำหรับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะเร่งรัดผลักดันการส่งออก โดยเน้นการทำยุทธศาสตร์หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) กับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) จากนั้นจะขยายไปยังจีน อินเดีย การจับคู่ทางธุรกิจกับบริษัทข้ามชาติ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ สนับสนุนการค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)

ขณะที่กรมการค้าภายใน จะเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค โดยเพิ่มช่องทางการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน จัดระบบโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเพื่อการค้า เช่น ยุ้งฉาง ตลาดกลาง และพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ

ส่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และผู้เริ่มทำธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) การกำหนดยุทธศาสตร์บริการ ยกระดับมาตรฐานบริการ และสนับสนุนผู้ประกอบการบริการ รวมถึงจะเร่งปรับปรุงแก้ไขความง่ายในการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทย (Ease Of Doing Business) กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเน้นการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์และการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จะเน้นการทำระบบข้อมูลทางการค้า รวมถึงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแก้ไขกฎหมายให้สนับสนุนการค้า เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเน้นการทำงานเป็นทีมโดยใช้ข้าราชการรุ่นใหม่ๆ จากกรมต่างๆ มาทำงาน และจะเร่งสร้างเรื่องราวต่างๆ (Story) เพื่อโปรโมทงานของกระทรวง

อย่างไรก็ตาม จากแผนการทำงานเร่งด่วน ไม่ปรากฏว่ามีแผนแก้ไขปัญหาด้านค่าครองชีพสูง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่ชัดเจนออกมา ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาเร่งด่วน และเป็นปัญหาที่ประชาชนและเกษตรกรได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด

โดยในส่วนของค่าครองชีพพบว่า ราคาสินค้าอาหารยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลสำรวจตัวเลขเงินเฟ้อในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) มีการยืนยันชัดเจนว่าประชาชนยังคงต้องบริโภคอาหารที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาหารมาทำกินเองที่บ้าน เพราะราคาวัตถุดิบในการปรุงอาหารปรับตัวสูงขึ้น หรือการออกไปบริโภคอาหารนอกบ้านตามร้านอาหาร ภัตตาคาร หรือตามร้านค้าทั่วไปในตลาดและริมถนน

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าในเดือน ม.ค. อาหารบริโภคในบ้านเพิ่มขึ้น 0.65% นอกบ้าน เพิ่ม 1.06% เดือน ก.พ. ในบ้าน เพิ่ม 0.55% นอกบ้านเพิ่ม 0.76% เดือนมี.ค. ในบ้านเพิ่ม 0.95% นอกบ้านเพิ่ม 0.70% เดือน เม.ย. ในบ้านเพิ่ม 1.07% นอกบ้านเพิ่ม 0.94% เดือน พ.ค. ในบ้านเพิ่ม 1.07% นอกบ้านเพิ่ม 0.88% เดือน มิ.ย. ในบ้านเพิ่ม 1.34% นอกบ้านเพิ่ม 0.91% เดือน ก.ค. ในบ้านเพิ่ม 1.22% นอกบ้านเพิ่ม 0.78% เดือน ส.ค. ในบ้านเพิ่ม 1.09% นอกบ้านเพิ่ม 1.02% และเดือน ก.ย. ในบ้านเพิ่ม 1.00% นอกบ้านเพิ่ม 1.07%

ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ก็ยังมีราคาตกต่ำ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการออกมารองรับ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 7,800-7,900 บาทต่อตัน มันสำปะหลังราคา 1.50-1.65 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคา 8-8.05 บาทต่อ กก. เป็นต้น ซึ่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะข้าวที่กระทบกับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกประชารัฐที่มีเอกชนเข้าร่วมพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและภาคการค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เพื่อช่วยในการผลักดันการส่งออกช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนสุดท้ายของปี 59

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศผ่านกลไกประชารัฐที่มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจ (SMEs) โดยได้กำหนดเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของผู้ประกอบการ SMEs ให้ถึง 50% เพิ่มมูลค่าการส่งออกของ SMEs 5% และให้ SMEs เข้าสู่ระบบ 50,000 รายต่อปี โดยดำเนินการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “สานพลังประชารัฐ ส่งเสริม SMEs Start-up & Social Enterprises” ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร 67 หน่วยงาน จำนวน 7 ฉบับ อาทิ การสนับสนุน SMEs ผ่านโครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมช่องทางตลาดอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

  รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดร่วมกับภาคเอกชน อาทิ การจัดงาน “SME Market Place ไทยช่วยไทย by ประชารัฐ” เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.อุดรธานี, สงขลา, เชียงราย, อุบลราชธานี และจะจัดอีกครั้งที่ จ.ระยอง ซึ่งผลการดำเนินงานใน 4 จังหวัดมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 450 ราย (เป้าหมาย 5 จังหวัด 500 ราย) มูลค่าซื้อขายกว่า 12 ล้านบาท และการส่งเสริมให้มีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ปตท. โดยนำร่องที่ จ.สมุทรสงคราม โดยให้ร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบในการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์เป็นร้านกระจายสินค้าและจำหน่าย เพื่อให้สินค้าเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่ได้มากขึ้น ส่งผลสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

  ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกลไกประชารัฐในการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งในปี 2559 ได้มีเป้าหมายการส่งออกให้เติบโตในระดับ 5% จึงได้ดำเนินการเร่งส่งเสริมพัฒนาให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินการส่งออกและลงทุนได้ โดยมาตรการปลดล็อกปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV โดยจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชน (กรอ.ด้านเศรษฐกิจ) ในประเทศ CLMVT จัดกิจกรรมผนึกกำลังร่วมกับภาคเอกชนพันธมิตรในการสร้างเครือข่ายธุรกิจของกลุ่มชนชั้นนำของไทยกับกัมพูชา เพื่อสร้างโอกาสพบปะกันระหว่างนักธุรกิจ ชั้นนำของประเทศของทั้งสองฝ่าย รวมถึงจัดสัมมนาเสริมสร้างความรู้ในการทำการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวม 460 ราย

  สืบเนื่องจากการจัดงาน CLMVT Forum เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกิจกรรมต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งสภาธุรกิจ (CLMVT Business Council) และการจัดทำข้อมูลร่วมกัน (Knowledge Tank) เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญด้านการค้าการลงทุน ฯลฯ อีกผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้ว คือ ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยที่กรุงพนมเปญ ภายใต้ชื่อ AEC Town ที่กรุงโฮจิมินห์ ภายใต้ชื่อ Viet-Thai Commercial Center ทั้ง 2 แห่งคาดว่าจะเปิดได้ในปี 2560

  รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนกลไกประชารัฐผ่านคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) รวม 12 คณะ ซึ่งคณะทำงานประชารัฐที่กระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐมีจำนวน 2 ชุด ประกอบด้วยการส่งเสริมเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ และการส่งเสริมส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

น้ำเหนือล้น เตือน7จว.รับมือ

ลุ่มเจ้าพระยาหนีไม่พ้น  ลพบุรีอ่วมน้ำท่วมรอบ3  ท่าเรือ-กรุงเก่าสูง1เมตร

รัฐบาลเตือน 7 จว.ภาคกลางเตรียมรับน้ำระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำ “บิ๊กตู่’เห็นใจเกษตรกรเสียสละเพื่อส่วนรวม สั่ง กษ.-มท.สำรวจความเสียหาย เร่งเยียวยา ขณะที่ลพบุรีฝนหนักน้ำท่วมรอบ 3 เขื่อนป่าสักฯ เร่งระบายหวั่นน้ำล้นอ่าง ด้านชาวโผงเผง “อ่างทอง” เร่งเสริมกระสอบทรายบนคันดินหลังเขื่อนปล่อยน้ำเพิ่ม ส่วนน้ำท่วม อ.ท่าเรือ 4 ตำบลอ่วม น้ำสูงกว่าเมตร หลังเขื่อนพระราม 6 ระบายเกินจุดวิกฤติที่รองรับได้ ทางด้านแม่น้ำวังล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนลำปางริมฝั่ง ขณะปริมาณน้ำเขื่อนกิ่วคอหมาเต็มความจุแล้ว

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.59 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบนส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดหมายว่าในวันที่ 10 ต.ค. จะมีน้ำเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 2,800 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,300 ลบ.ม./วินาที เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและรักษาสมดุลระหว่างน้ำเหนือเขื่อนและน้ำท้ายเขื่อน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 25-75 ซม. รัฐบาลจึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จ.ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัดประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ให้รีบดำเนินการโดยด่วน รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน แพร้านอาหาร ที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ เตรียมนำทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง

 “นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและมีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์หากมีปริมาณน้ำมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เตรียมการรับมือ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และนายกฯ ยังได้ฝากแสดงความเห็นใจและขอบคุณเกษตรกรบางส่วน ที่ต้องเสียสละพื้นที่ของตัวเองเพื่อรองรับน้ำจากเขื่อนซึ่งถือเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่ยังเก็บเกี่ยวไม่แล้วเสร็จ โดยได้กำชับให้ผู้ว่าฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรว่าจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการอย่างทั่วถึง” พล.ท.สรรเสริญ กล่าวและว่า กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมกันลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอย่างละเอียด ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน เพื่อพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้เหมาะสมกับสภาพความเสียหายที่แท้จริงอันเกิดจากการระบายน้ำของรัฐ ซึ่งอาจจะสูงกว่าค่าชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติปกติ เช่น น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง ภัยหนาว พายุ เป็นต้น

ลพบุรีฝนหนักเขื่อนป่าสักฯ เร่งระบาย

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ลงพื้นที่หมู่บ้านหลังวิทยาลัยอาชีวศึกษา หมู่ 6 ต.ป่าตาล อ.เมืองลพบุรี หลังมีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน กว่า 50 หลัง ระดับ 50-80 ซม. การเข้าออกบ้านต้องใช้เรือ โดยหมู่บ้านแห่งนี้ถูกน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 แล้ว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ด้านนายอรรถพร ปัญญาโฉม ผู้อำนวยการจัดสรรน้ำสำนักงานชลประทานที่ 10 จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้เพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนอีกระลอก ในอัตรา 660 ลบ.ม./วินาที หรือวันละ 57 ล้าน ลบ.ม. หลังมีน้ำไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ 62 ล้าน ลบ.ม. ทำให้น้ำสะสมของเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 907 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ส่งผลให้เขื่อนเหลือพื้นที่กักเก็บน้ำได้อีกเพียง 53 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออก ซึ่งก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไหลผ่าน จ.ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ปรับระดับสูงขึ้นอีกครั้ง จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสักเตรียมความพร้อมเก็บสิ่งของมีค่าไว้บนที่สูง

ชาวป่าโมกเร่งเสริมกระสอบทราย

สถานการณ์น้ำไหลผ่านจังหวัดอ่างทองได้เพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 2,350 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้น้ำเพิ่มระสูงขึ้น 12 เซนติเมตร เอ่อล้นไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวนหลายหลัง นอกจากนี้ ระดับน้ำที่เพิ่มระสูงขึ้นยังส่งผลให้น้ำในคลองโผงเผงเอ่อล้นไหลข้ามคันดินกันน้ำในบริเวณพื้นที่หมู่ 5 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกันมีชาวบ้าน พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยทหาร สังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 รักษาพระองค์ จ.ลพบุรี ได้ช่วยกันเสริมคันดินพร้อมกรอกกระสอบทรายนำมาวางเสริมคันดินกันน้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 700 เมตรขนานไปกับคลองโผงเผง เพื่อป้องกันน้ำล้นไหลท่วมบ้านเรือนจำนวน 48 ครัวเรือที่อยู่ในแนวกันน้ำ

ด้านเทศบาลเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ได้ระดมลูกจ้างพนักงาน ครูนักเรียนในสังกัดเทศบาล ร่วมกับพ่อค้าประชาชนในเขเทศบาลเมืองกว่า 400 คนกรอกกระสอบทรายนำไปเสริมกำแพงเขื่อนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง เพื่อรับมือน้ำที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศเตือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งให้เก็บของไว้ที่สูงพร้อมเฝ้าระวังน้ำติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดอ่างทอง ขณะนี้มีผู้ประสบภัยน้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ป่าโมก 2 ตำบล 8 หมู่ บ้าน 727 ครัวเรือน อ.วิเศษชัยชาญ 5 ตำบล 20 หมู่บ้าน 502 ครัวเรือน อ.เมืองอ่างทอง 3 ตำบล 6 หมู่บ้าน 76 ครัวเรือน ด้านพื้นที่การเกษตรเสียหายจากน้ำล้นตลิ่งและฝนตกชุกลงขังในพื้นที่การเกษตร ได้รับความเสียหายจำนวน 6 อำเภอ 14 ตำบล เป็นนาข้าว 3617 ไร่ พืชสวน 130 ไร่ รวมพื้นที่การเกษตรที่เสียหาย 3,747 ไร่

น้ำท่วม อ.ท่าเรือ 4 ตำบลสูงกว่าเมตร

  นายวิทิต ปิ่นนิกร นายอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า สถานการณ์ใน อ.ท่าเรือหลังเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เร่งระบายน้ำสู่ท้ายเขื่อน ทำให้เขื่อนพระรามหก ซึ่งตั้งอยู่ในเขต ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ ต้องเร่งระบายน้ำเช่นกัน ด้วยการเพิ่มระดับการปล่อยอยู่ที่อัตรา 700 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมตลิ่งเน้นจุดลุ่มต่ำใน 4 ตำบล ของอำเภอ ประกอบด้วย ต.ท่าเรือ ท่าหลวง ศาลาลอย และวังแดง ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นเข้าท่วม ล่าสุดระดับน้ำบางจุดมีความสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้าน 20 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ ย่านตลาดท่าเรือ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก คาดว่าไม่นานสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ทั้งนี้ได้แจ้งเตือนให้ชาวบ้าน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังจับตาระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มสูงว่าเขื่อนจะเพิ่มระดับระบายน้ำอีกในระยะนี้ ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือขณะนี้ ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของ อ.ท่าเรือ นั้น จะได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งก็ต่อเมื่อเขื่อนพระรามหกปล่อยน้ำในระดับ 600 ลบ.ม./วินาที ซึ่งขณะนี้ถือว่าเกินจุดวิกฤติไปมาก

ธารน้ำใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมชัยภูมิ

สถานการณ์อ่างเก็บน้ำลำคันฉู ทะลักท่วม 2 อำเภอ ใน จ.ชัยภูมิ ทำให้กลุ่มเยาวชนที่อยู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ได้รวมตัวกันนำสิ่งของข้าวสารอาหารแห้ง ใส่รถกระบะกว่า 40 คัน ไปแจกให้ผู้ประสบภัย รวม 4 หมู่บ้าน 4 ตำบล 2 อำเภอ ที่บ้านมะเกลือโนนทอง ต.หนองบัวบาน อ.จัตุรัส, บ้านละหาน ต.ละหาน อ.จัตุรัส, บ้านหนองแวง ต.บ้านเพร็ช อ.บำเหน็จณรงค์ บ้านวังกะอาม ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งระดับมวลน้ำยังคงสูงถึง 30- 60 เซนติเมตร จนทำให้เด็กๆ ในหมู่บ้านหนองแวง ออกมาเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานอีกด้วย

ด้านนายชูศักดิ์ ตรีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยนายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ นายอำเภอบำเหน็จณรงค์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจดูปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำคันฉู ซึ่งล่าสุดมีปริมาณน้ำ 44.930 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับความจุคิดเป็น 105.46% จนล้นสปิลล์เวย์ออกมา ในระดับ 0.33 เมตร ถือว่าลดลงจากเมื่อวานนี้ 0.08 เมตร ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณสะพานบ้านปากจาบ ลำน้ำสาขา และประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมลุ่มน้ำลำคันฉู ให้ขนของขึ้นสู่ที่สูง เพราะอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณมวลน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน โดยให้มีการเตรียมความพร้อมไว้และคอยรับฟังข่าวสารการเตือนภัยจากจังหวัดอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หากไม่มีฝนตกลงมาอีก สถานการณ์ก็จะเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติในเร็วๆ นี้

น้ำวังสูงเอ่อทะลักท่วมบ้านเรือนริมฝั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านม่วงหมู่ 4 และ บ้านม่วงงามหมู่ 6 ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้ามืด หลังผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศเสียงตามสาย ว่า วันนี้ระดับน้ำวังได้เพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 2 ริมฝั่ง กระทบชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน เสียหายในเบื้องต้นประมาณ 20 หลัง และมีพืชผลทางการเกษตร รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ได้รับความเสียหาย แต่ชาวบ้านบางรายได้ ย้ายทรัพย์สินมีค่า เช่น รถจักรยานยนต์ และรถไถนา สัตว์เลี้ยง ขึ้นมาไว้บนถนนได้ทัน ขณะที่น้ำวังยังคงเพิ่มระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังเขื่อนกิ่วคอหมาในเขต อ.แจ้ห่ม ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือมีระดับน้ำกักเก็บเต็มความจุแล้ว แต่ก็ยังเป็นเขื่อนใหญ่ที่มีศักยภาพรับน้ำได้สูงสุดถึง 209 ล้าน ลบ.ม. โดยทางเขื่อนได้ทำการพร่องน้ำ มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบดังกล่าว

ฝนเทมหาสารคามน้ำล้นอ่างแก่งเลิงจาน

ที่ จ.มหาสารคาม ภายหลังจากฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานมีปริมาณเกินความจุทำให้น้ำล้นสปิลเวย์ไหลเข้าท่วมสวนมะนาวของนางอรวัลย์ จันทร์ลุน ชาวบ้านหมู่ 12 บ้านโนนหัวฝาย ซึ่งอยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำไหลเชี่ยวและเข้าท่วมนาข้าวทั้ง 19 ไร่ต้นไผ่ 200 ต้น และต้นมะนาวอีกกว่า 200 ต้น ได้รับความเสียหายทั้งหมดโดยอ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจานมีปริมาณความจุ 143.830 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ขณะนี้ปริมาณน้ำอยู่ที่ ร้อยละ 116.80 ส่งผลให้พื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 1,000 ไร่

  น.ส.วรางคนา ศิลปกิจ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าขณะนี้หลายพื้นที่เกิดมีน้ำท่วมขังโดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำชีที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มและพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่และน้ำเหนือที่มาจาก จ.ชัยภูมิและขอนแก่นได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอให้เร่งสำรวจและเข้าช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนแล้วส่วนหนึ่ง โดยได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านรายงานความเสียหายต่อนายอำเภอเพื่อที่จะส่งให้จังหวัดเร่งทำการช่วยเหลือต่อไป

พะเยาอ่วมน้ำท่วมพืชไร่ ศัตรูพืชซ้ำ

นายอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตร จ.พะเยา เปิดเผยว่า ในพื้นที่พะเยา เกิดฝนตกเมื่อเดือนสิงหาคมผ่านมา ฝนได้ตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ อ.เชียงคำ-เชียงม่วน-ภูซาง และ อ.ปง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย คือนายนพรัตน์ คันทะเรศร์ อายุ 39 ปี อยู่ในพื้นที่ ต.นาปรัง อ.ปง ด.ช.ณัฐภูมิ ป่าสุวรรณ อายุ 1 ขวบ อยู่ในพื้นที่ ต.ขุนควร-ปง โดยรวม 18 ตำบล 120 หมู่บ้าน ราษฎรกว่า 3,000 ครัวเรือน ประชากร 9,000 คนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะด้านการเกษตร มีไร่ข้าวโพด 50,000 ไร่ ที่นา 30,000 ไร่ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 11-12 ก.ย. เกิดฝนตกน้ำป่าไหลหลากอย่างหนักเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เมืองพะเยา อ.ภูกามยาว และ อ.ดอกคำใต้ รวม 17 ตำบล 161 หมู่บ้าน และที่เสียหายมากคือ อ.ดอกคำใต้ รวม 11 ตำบล 116 หมู่บ้าน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 15,625 คน ส่วน อ.เมืองพะเยา เสียหาย 4 ตำบล 41 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนนับ 1,000 ครัวเรือน นอกนั้นอีก 2 อำเภอ เสียหายเล็กน้อยรองลงมา ตามลำดับ แล้วพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 20,000 ไร่

นายอุดมศักดิ์กล่าวอีกว่า ล่าสุดในพื้นที่พะเยา 6 อำเภอ ประสบปัญหาทางด้านศัตรูพืช แยกออกเป็นแต่ละอำเภอประกอบด้วย อ.เมืองพะเยา-จุน-เชียงคำ-ดอกคำใต้-แม่ใจ และภูซาง รวม 39 ตำบล 347 หมู่บ้าน เบื้องต้นได้มอบหมายให้เกษตรตำบล อำเภอ เร่งดำเนินให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวมไปถึงกำจัดศัตรูพืช 4 ชนิด เช่น โรคระบาดไหม้ข้าว-เพลี้ยกระโดสีน้ำตาล และแมลงบั่ว ที่ระบาดในนาข้าวอยู่ในขณะนี้ ส่วนความเสียหายทางด้านภัยธรรมชาติทั้ง 2 ชนิดไม่ว่าจะเป็นอุทกภัยและโรคระบาดหรือศัตรูพืช ทางเกษตรจังหวัดฯ ได้ส่งไปยัง รบ.คสช.แล้ว

นอกจากนี้ รายงานระบุว่า เกษตรจังหวัดฯ ได้สรุปพื้นที่เกิดศัตรูพืชในนาข้าว 6 อำเภอ 39 ตำบล 347 หมู่ พื้นที่ทำนาได้รับความเสียหายจำนวน 40,272 ไร่ ในเชิงพาณิชย์คิดเป็น 1 ไร่ ประมาณ 800-1,000 กก. ความเสียหายรวม 40,272,000 กิโลกรัม หรือ 40,272 ตัน ถ้าหากคิดเป็นราคาข้าวเปลือกตามไซโล ณ วันนี้ราคา กก.ละ 15-17 บาท รวมเป็นเงินนับ 684,624,000 ล้านบาท ในส่วนการช่วยเหลือเฉพาะหน้าและระยะยาว ให้ชาวนาไปลงทะเบียนรับการช่วยเหลือจากรัฐบาล คสช. รับค่าชดเชยเป็นเงินไร่ละ 1,113 บาท แต่ที่นาจะต้องได้รับความเสียหายจากโรคระบาดที่เป็นศัตรูพืชโดยสิ้นเชิง คิดเป็นความเสียหาย 90% และภาพรวมความเสียหายทางด้านพื้นที่ทำการเกษตรคิดเป็นเงินกว่า 684 ล้านบาท

นครปฐมสั่งเตรียมพร้อม 24 ชม.

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครปฐม นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนช์ จากกระทรวงมหาดไทย โดยนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชนในจังหวัดต่างๆ เนื่องจากกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท เพิ่มขึ้นเป็น 2,300 ลบ.ม./วินาที ส่วนของ จ.นครปฐม อาจได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 115 ลบ.ม./วินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวรวมกับน้ำหลากจากลำน้ำสาขาก็จะไหลลงมาสู่จุดควบคุมหลักของแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ด้านเหนือประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา โดยจะบริหารจัดการน้ำเข้าไปเก็บไว้ในระบบชลประทาน และบริหารจัดการปริมาณน้ำหลากที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก ในเขตชลประทานซึ่งจะทำให้แม่น้ำท่าจีนตอนล่างในเขต อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าฯ นครปฐม ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน เกษตรกรที่ประกอบอาชีพประมง เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำท่าจีน อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร กระชังปลา รวมถึงนักท่องเที่ยวให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์และระมัดระวังอันตรายจากน้ำเอ่อล้นตลิ่งผ่านทางวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่นสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น และแจ้งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครในพื้นที่เพิ่มความถี่ในการแจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสารณภัยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ยานพาหนะ และการเตรียมวางแนวกระสอบทรายพร้อมระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำเอ่อล้นพื้นที่ ตลอดจนจัดหน้าที่เผชิญเหตุอาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน ชุดหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกูชีพกู้ภัย ติดตามเฝ้าระวังพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กรอ.อุ้มSMEs-เปิดศูนย์ช่วยเหลือจัดกากอุตฯ

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปลายปี 2558 ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ดำเนินการสำหรับโรงงานที่ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ลงวันที่

21 ตุลาคม 2558 ส่งผลให้โรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม จะไม่สามารถต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ได้ ถือเป็นมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม มากกว่า 90% ภายใน 5 ปี หรือปี 2562

ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่โรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และจะต้องต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว กรอ.จึงได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการ “ศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม”

โดยศูนย์มีกระจายอยู่ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ 1.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3.ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4.ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 5.ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา 6.คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  

นายมงคล กล่าวว่า ศูนย์ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ประจำที่ศูนย์ฯทั้ง 6 แห่ง และจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไปให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ ทั้ง 76 จังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากการให้คำแนะนำด้านปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือแนะนำการใช้ระบบสารสนเทศSmart form รูปแบบ Web Applicationในการกรอกข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจำแนกประเภทโรงงานและลักษณะกากอุตสาหกรรมตามลำดับประเภทโรงงาน ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้เป็นการช่วยระบุรหัสกากอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินการได้รวดเร็วขึ้

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

'ธนินท์'ชี้ไทยพร้อมเป็นฮับอาเซียน หนุนออกกม.รองรับสถานการณ์ศก.

ประธานซีพี หนุนรัฐบาลออกกฏหมายรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจเชื่อมั่นประเทศไทย ศูนย์กลางของอาเซียน หนุน ธุรกิจบริการ

7 ต.ค.59 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เปิดเผยในหัวข้อ "พันธมิตรระดับโลกในยุคโลกานิยม" ของงานสัมมนา The Nikkei Asia 300 Global Business Forum ว่า กลุ่มอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วหลังจากนี้ และไทยก็จะยังเป็นแหล่งลงทุนที่ดี เพราะมีภูมิประเทศที่ดี เป็นประตูอาเซียนแท้จริง ที่รายล้อมทั้งจีน ,อินเดีย, เมียนมา, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่รัฐบาลไทย โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับธุรกิจไบโอเทคโนโลยี การสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง, สนามบิน เป็นต้น

"ประเทศไทยวันนี้ปรับเป็นเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งไทย โดยนายกฯประยุทธ์ กำลังออกกฎหมายรองรับที่ดี จะทำให้ไทยเป็นตัวอย่างเอเชีย 10 ประเทศ ในการดึงการลงทุน โดยเฉพาะการให้ญี่ปุ่นลงทุนเข้ามาลงทุน เนื่องจากได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และรู้จักไทย แต่ญี่ปุ่นต้องกล้าที่จะเสี่ยงเข้ามาลงทุน"นายธนินท์ กล่าว

นายธนินท์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่กำลังฟื้นตัวจะฟื้นตัวเร็วที่สุด เพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเทคโนโลยี โดยเฉพาะไบโอเทคโนโลยี และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ รวมถึงเป็นกลุ่มประเทศมีนวัตกรรม และเน้นในเรื่องคุณภาพที่มีโอกาสของความได้เปรียบ ส่วนจีนจะเป็นประเทศที่ 3 ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วจากสถานการณ์การเมืองที่นิ่ง ทำให้สามารถวางนโยบายได้อย่างต่อเนื่อง

“เครือซีพีได้ไปลงทุนทุกประเทศ และบริษัทก็เติบโตไปกับประเทศนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต แต่จะสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ เพราะเครือซีพีใช้เทคโนโลยีในการบริหารธุรกิจซึ่งทำให้การบริหารงานได้ดียิ่งขึ้น “

ทั้งนี้ เครือซีพี ซึ่งมีการลงทุนอยู่มากในธุรกิจอาหาร โดยมีห่วงโซ่อุปทานในทุกขั้นตอน ก็จะนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในเรื่องธุรกิจการเกษตรทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศก็จะได้รับผลประโยชน์จากอุตสาหกรรม 4.0 และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาใช้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปหลังจากนี้คือ ธุรกิจบริการมากขึ้น การผลิตที่มีความก้าวหน้า และอาจจะทำให้มีผู้ว่างงานมากขึ้นเพราะทุกสถานที่สามารถทำงานได้กับทั่วโลก ขณะเดียวกันก็จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแล โดยในส่วนนี้เครือซีพีก็ให้ความสนใจศึกษาโครงการลงทุนสถาบันเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งได้หารือร่วมกันทุก 3 เดือนกับพันธมิตรอย่างอิโตชู และ CITI จากจีน

ทางด้าน นายนาโอโตชิ โอกาดะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิกเคอิ ระบุว่า  ดัชนี Nikkei Asia300 จะแสดงให้เห็นถึงพลังของเอเชียในฐานะศูนย์กลางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ นิกเคอิ ยังมีสื่อที่นำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจับตาในภูมิภาคเอเชียให้แก่ผู้อ่านในระดับสากล

“นิกเคอิ จะนำเสนอข่าวสาร และข้อมูลเชิงวิเคราะห์ให้แก่ผู้อ่านทั่วโลก โดยอ้างอิงจากดัชนี Nikkei Asia300 ผ่านทางสื่อต่างๆ ในเครือ ได้แก่ หนังสือพิมพ์นิกเคอิ นำเสนอข่าวภาคภาษาญี่ปุ่น ข่าวออนไลน์ผ่านทาง www.nikkei.com ข่าวภาษาอังกฤษผ่านทางนิตยสารนิกเคอิ เอเชี่ยนรีวิว และภาคภาษาจีน ผ่านทางเวปไซต์ (cn.nikkei.com) นอกจากนี้ ทางนิกเคอิ ยังมีแผนที่จะพัฒนาดัชนีอื่นๆ ภายใต้ดัชนี Asia300 เพื่อนำไปสู่การให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ”  ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิกเคอิ กล่าว

ด้าน Mr. Loh Boon Chye ประธานบริหาร ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับการคัดเลือกจากนิกเคอิ ในการร่วมพัฒนาดัชนี Asia300 และมุ่งหวังจะพัฒนาการร่วมมือกันในครั้งนี้ให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการออกดัชนีเพิ่มเติม เพื่อที่จะทำให้นักลงทุนสามารถติดตาม และจัดอันดับเปรียบเทียบกับบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะทำให้เห็นข้อมูลเชิงลึกได้ดียิ่งขึ้น นำมาซึ่งพอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับ ดัชนี Nikkei Asia300 มีจำนวนทั้งสิ้น 325 บริษัท ที่อยู่ในกลุ่ม Asia300 (ณ เดือนกันยายน 2016) โดยดัชนีจะถูกคำนวณเป็นดอลลาร์สหรัฐ มีบริษัทของประเทศจีน 3 บริษัท ที่จดทะเบียนเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จะไม่ถูกนำมานับรวมในดัชนีดังกล่าวนี้

โดยดัชนีจะถูกคำนวณระหว่างวันจันทร์ – วันศุกร์ (ยกเว้นวันที่ 1 มกราคม) ในระหว่างเวลา 0.00 GMT ณ เวลาเปิดการซื้อ-ขาย ของตลาดหลักทรัพย์เกาหลี และเวลา 10.00 GMT ณ เวลาปิดของตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์ (BSE) โดยจะประกาศเฉพาะราคาปิดการขายสำหรับดัชนีของประเทศและภูมิภาคเท่านั้น

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

BRRเชื่อราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งต่อเนื่อง

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า ธุรกิจของบริษัทมีทิศทางการเติบโตจากอานิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลก ที่ขณะนี้ทะยานขึ้นมาอยู่ในระดับ 23-24 เซนต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี และเป็นการพุ่งขึ้นมานับเท่าตัว จากปีก่อนหน้าที่ราคาน้ำตาลลงไปตกต่ำอยู่ในระดับ 10-14 เซนต์/ปอนด์ และช่วงต้นปีที่ราคาอยู่ในระดับ 12-13 เซนต์/ปอนด์

โดยแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก อย่างบราซิล ประสบปัญหาสภาวะอากาศ ขณะที่ทวีปเอเชียก็เผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะอินเดีย จีน และไทย ทำให้ปริมาณอ้อยออกสู่ตลาดลดลง ท่ามกลางความต้องการบริโภคน้ำตาลที่ยังคงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ส่งผลให้ปี 2558/59 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาล ขณะที่ปี 2559/60 ก็จะยังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสหรัฐฯ (USDA) ประเมินว่าความต้องการน้ำตาลในปี 2559/60 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 1.1% เป็น 173.6 ล้านตัน ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลปี 2559/60 จะขาดดุลอีกประมาณ 4.3 ล้านตัน ซึ่งทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

“อานิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นมา จะส่งผลโดยตรงกับบริษัทตั้งแต่ต้นปี 2560 ทันที เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลที่มีปริมาณขายน้ำตาลค่อนข้างมาก ประกอบการฐานราคาขายในต้นปี 2559 ที่ค่อนข้างต่ำเพียง 12-13 เซนต์/ปอนด์ ทำให้ประเมินไว้ว่าผลงานต้นปี 2560 จะออกมาสอดคล้องกับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น”นายอนันต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดหีบอ้อยในรอบปี 2559/60 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ล้านตัน ในปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างแข็งแกร่ง โดยการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปลูก และบริหารจัดการอ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงการเก็บเกี่ยว ประกอบกับมีแหล่งน้ำที่ดี ส่งผลให้บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวนเพิ่มขึ้นโดยตลอด และมีคุณภาพค่าความหวานที่สูง แม้จะเกิดภัยแล้งขึ้นก็ตาม โดยในปี 2561/62บริษัทตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 2.5 แสนไร่ จากปัจจุบัน 2 แสนไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3 ล้านตัน และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายอยู่ที่ 3.45 แสนตัน

จาก http://www.naewna.com วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2559

น้ำตาลบุรีรัมย์ รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลพุ่ง   

          น้ำตาลบุรีรัมย์ เตรียมรับอานิสงส์ราคาน้ำตาลทะยานสูงสุดรอบ 4 ปี เชื่อแนวโน้มราคาน้ำตาลยังพุ่งต่อเนื่อง หลังเกิดเหตุน้ำตาลขาดแคลนจากภาวะอากาศ ขณะที่ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว พร้อมวางแผนหีบอ้อยปี 2559/60 มั่นใจมีปริมาณอ้อยแตะ 2.4 ล้านตัน      

        นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ยอมรับว่า ธุรกิจของบริษัทมีทิศทางการเติบโตจากอนิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ขณะนี้ทะยานขึ้นมาอยู่ในระดับ 23-24 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี และเป็นการพุ่งขึ้นมานับเท่าตัวจากปีก่อนหน้าที่ราคาน้ำตาลลงไปตกต่ำอยู่ในระดับ 10-14 เซ็นต์/ปอนด์ และช่วงต้นปีที่ราคาอยู่ในระดับ 12-13 เซ็นต์/ปอนด์

                โดยแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกอย่างบราซิล ประสบปัญหาสภาวะอากาศ ขณะที่ทวีปเอเชีย ก็เผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะอินเดีย จีน และไทย ทำให้ปริมาณอ้อยออกสู่ตลาดลดลง

                ทั้งนี้ ท่ามกลางความต้องการบริโภคน้ำตาลที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปี 2558/59 นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาล ขณะที่ปี 2559/60 ก็จะยังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นได้จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของสหรัฐฯ (USDA) ประเมินว่า ความต้องการน้ำตาลในปี 2559/60 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 1.1% เป็น 173.6 ล้านตัน ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาล 2559/60 จะขาดดุลอีกราว 4.3 ล้านตัน ซึ่งทำให้สต๊อกน้ำตาลในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

               “อานิสงส์ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ทะยานขึ้นมา จะส่งผลโดยตรงกับบริษัทตั้งแต่ต้นปีหน้าทันที เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลที่มีปริมาณขายน้ำตาลค่อนข้างมาก ประกอบการฐานราคาขายในต้นปี 2559 ที่ค่อนข้างต่ำเพียง 12-13 เซ็นต์/ปอนด์ ทำให้เราประเมินไว้ว่า ผลงานต้นปีหน้าจะออกมาสอดคล้องกับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้น” นายอนันต์ กล่าว

               นายอนันต์ ระบุด้วยว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดหีบอ้อยในรอบปี 2559/60 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบราว 2.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ล้านตันในปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างแข็งแกร่ง โดยการส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการปลูก และบริหารจัดการอ้อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงการเก็บเกี่ยว ประกอบกับมีแหล่งน้ำที่ดี ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบจำนวนเพิ่มขึ้นโดยตลอด และมีคุณภาพค่าความหวานที่สูง แม้ว่าจะเกิดภัยแล้งขึ้นก็ตาม โดยในปี 2561/62 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 2.5 แสนไร่ จากปัจจุบัน 2 แสนไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 3 ล้านตัน และมีปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายอยู่ที่ 3.45 แสนตัน

จาก http://manager.co.th  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ถกอาเซียน!เห็นชอบ7ข้อเคลื่อน"เกษตร-ป่าไม้-ไอยูยู"

โดย - โต๊ะข่าวเกษตร

         รมว.ก.เกษตรฯ ”ร่วมถกรัฐมนตรีเกษตร ป่าไม้ อาเซียนครั้งที่ 38 ชงแผนแก้ประมงไอยูยูอาเซียน พร้อมขับเคลื่อนภาคเกษตร 4.0 ที่ประชุมเห็นชอบ 7 ข้อขับเคลื่อด้านการเกษตร อาหาร ป่าไม้ และไอยูยูของอาเซียน ตามกรอบยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งหน้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2568

         พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยภายหลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 38 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยท่าทีของประเทศไทยได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้

         นอกจากจะยืนยัน ถึงความพร้อมของไทยในการสนับสนุนและร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังหารือกับประเทศสมาชิกร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งรัดและผลักดันให้เกิดความร่วมมือแก้ไขปัญหาประมงไอยูยูในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงการจัดทำ “นโยบายการประมงอาเซียน” เพื่อเสริมความเข้มแข็งของความพยายามร่วมกันในการทำการประมงอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบสู่ความเป็นหนึ่งของประชาคมอาเซียน

          ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะถือโอกาสนี้นำเสนอนโยบายของกระทรวงฯ ในบางประเด็น อาทิ การลดต้นทุนการผลิตในภาคการเกษตร นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” เพื่อเปลี่ยนจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็น “Smart Farming”และ “การทำการเกษตรแปลงใหญ่” ซึ่งไทยยินดีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับประเทศสมาชิกในเวทีต่างๆ

         นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบใน 7 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การร่วมมือกันเพื่อมุ่งหน้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2568 ทั้งในด้านเศรษฐกิจระดับภูมิภาคในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีนวัตกรรมและมีพลวัต มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตเชิงผลผลิตสูงอย่างยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือของอาเซียนด้านปศุสัตว์ พืช และประมง ปี 2559-2563 รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือของอาเซียนด้านป่าไม้ ปี 2559-2568 รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตัวชี้วัดของแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ปี 2559-2568

         2.ด้านความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (SPA-FS)ปี2558-2563 เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารที่มีโภชนาการในภูมิภาคอย่างยั่งยืน 3. ผลักดันความร่วมมือภายใต้คณะทำงานด้านต่างๆ

         อาทิ การประสานงานในด้านมาตรฐานด้านอาหาร การเกษตร และผลิตผลป่าไม้ ในอาเซียนให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจเกี่ยวกับผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการค้า หารือแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสหกรณ์การเกษตรของอาเซียน ปี2558-2563และการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านสุขภาพสัตว์และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพื่อให้มีการดำเนินงานโดยเร็วต่อไป

         4.ความร่วมมือด้านการดื้อยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตร ทั้งในภาคปศุสัตว์และสาธารณสุขทำให้จำเป็นต้องสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากประเทศภาคีที่พัฒนาแล้ว และจากองค์กรที่สนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อที่จะกำหนดรากฐานสำหรับระบบสุขภาพสัตว์และคนที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ด้วย 5.ความร่วมมือด้านป่าไม้ เช่น (1) การส่งเสริมการบริหารจัดการด้านป่าไม้ยั่งยืน (2) กระบวนการนโยบายป่าไม้สากล (3) การออกใบรับรองด้านป่าไม้ (4) การพัฒนาพืชสมุนไพรและพืชที่ใช้เป็นยา (5) การบังคับใช้กฎหมายสัตว์ป่าและความร่วมมือด้าน CITES เป็นต้น

        6.ความร่วมมือด้านประมง ซึ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการบริหารจัดการด้านประมงอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย และความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ประมงของอาเซียน

       7.ความร่วมมือกับคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศเช่น ความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น FAO, UN, และ การประชุมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มเจรจาด้านการเกษตร

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

นายกฯมอบ6ข้อจัดการน้ำ"ช่วยผู้ประสบภัย-พัฒนาภาคเกษตร"

โต๊ะข่าวเกษตร

นายกฯ ลงพื้นที่ดูแลประชาชนผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ประสบภัย

         (วันที่ 5 ตุลาคม 2559) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง ร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) พบปะ มอบถุงยังชีพและเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคกลาง 11 จังหวัด ที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาทว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้

         1) ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อาทิ เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ 

         2) การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนปกติ ให้ดำเนินการตามขั้นตอน

         3) การช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2559 นี้

        4) จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงรุก หากมีน้ำมากขั้นวิกฤตเกินกว่าแผนที่กรมชลประทานเตรียมไว้ปัจจุบัน ให้เตรียมหาแก้มลิงและพื้นที่สำรองเก็บกักน้ำเพิ่มเติมหรือหาแนวทางอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้การสร้างเขื่อนในอนาคตจะทำได้ยากขึ้น จึงควรหาแนวทางใหม่

       5) การจ่ายเงินช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น กรณีการผันน้ำที่เกิดจากภาครัฐไปมีผลกระทบกับพื้นที่ของเกษตรกร ควรต้องมีการจ่ายชดเชยที่สูงกว่าปกติ ให้ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และการหาแก้มลิงสำรอง ให้หาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอุทกภัยอยู่แล้ว หรือพื้นที่ที่เหมาะสม แล้วจ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่ให้เกษตรกรเพื่อไว้กักเก็บน้ำ ระยะเวลาขึ้นกับช่วงเวลาที่จำเป็นหรือระยะยาว และ

       6) จัดทำคู่มือ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมตัวเผชิญปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ โดยให้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น

       นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอบคุณข้าราชการทุกหน่วยงาน รวมทั้งพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนอีกด้วย

จาก http://www.komchadluek.net   วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

'ก.อุตสาหกรรม'เร่งทำแผนใช้งบกลางปี วงเงิน 20 ลบ.

"ก.อุตสาหกรรม" เร่งทำแผนใช้งบกลางปี 2559 วงเงิน 20 ล้านบาท พร้อมโรดโชว์ดึงต่างชาติลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม4.0และSME 4.0" นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บรรยายพิเศษ หัวข้อ "Thailand 4.0 เชื่อมโยง Industy4.0 และ SME 4.0 ได้อย่างไร"โดยระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างจัดทำแผนประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หลัง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ EEC ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) จะเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก่อนประกาศใช้ช่วงต้นปี 2560

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ(กนอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) รวมกันจัดทำแผนการเดินทางออกไปชักชวนนักลงทุนต่างชาติ(โรดโชว์)ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา ภายในปี 2560 ซึ่งจะต้องกำหนดประเทศเป้าหมาย และอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้ชัดเจน โดยใช้งบประมาณกลางปี 2559 วงเงิน 20 ล้านบาท ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับจากสำนักงบประมาณ และจะต้องใช้ให้หมดภายในเดือน มี.ค.ปี2560

"ขณะนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง สถาบันเครือข่ายภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะทำงาน S-Curve อยู่ระหว่างคัดกรอกประเทศเป้าหมายที่มีนักลงทุนหลักๆ เช่น เอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ให้เข้ามาลงทุนในคลัสเตอร์ต่างๆ และหากปัญหาผังเมืองยุติลง สามารถประกาศใช้พร้อมกับพ.ร.บ.EECในต้นปีนี้ จะให้การลงทุนเห็นภาพชัดเจนขึ้น"

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะรวบรวมข้อมูลเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวก รองรับการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายรายแสดงความสนใจเข้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมที่จะเห็นการลงทุนเกิดขึ้นได้เร็ว คือ กลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรนิกส์ อากาศยาน และ ปิโตรเคมี ซึ่งในส่วนของปิโตรเคมี เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ จะเห็นการลงทุนชัดเจนต้องใช้เวลา 2-3 ปี

นางอรรชกา กล่าวว่า ส่วนการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ยกระดับผลิตภัณฑ์ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย จะยกระดับสู่ เอสเอ็มอี 4.0 ให้ได้ก่อน จากนั้นจะใช้กลไกการทำงานของสถาบันเครือข่าย เช่น สถาบันพลาสติก สถาบันยานยนต์ และสถาบันอาหาร เชื่อมโยงการพัฒนาเอสเอ็มอีในรูปแบบคลัสเตอร์ ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เร่งลงพื้นที่ทั่วประเทศ ดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโอทอป เข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เพื่อยกระดับสู่ เอสเอ็มอี 4.0 ภายใต้ 2 โครงการสำคัญ คือ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือ SMEs Rescue Center ที่จะให้คำปรึกษาช่วยเหลือในทุกเรื่อง เช่นการจัดการแผนธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น และโครงการศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาการออกแบบสร้างมูลค่าให้กับสินค้าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กสอ.จะเดินหน้าจัดกิจกรรมมหกรรมวันนัดพบผู้ประกอบการทั่งประเทศอีก 12 ครั้ง หลังจากนำร่องจัดมหกรรมฯในภาคตะวันออก ที่จ.ชลบุรี โดนตั้งเป้ามีผู้ประกอบการเข้าถึงกิจกรรมและบริการส่งเสริมจากภาครัฐในปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แจงสี่เบี้ย : การจัดการทรัพยากรดินตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

โครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ตรวจการสหกรณ์ ถูกจัดตั้งขึ้นจากวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มทักษะและประสบการณ์แก่ผู้ตรวจการสหกรณ์ ให้ก้าวพ้นสถานการณ์ และเพื่อให้ผู้ตรวจการสหกรณ์สามารถปฏิบัติงานตรวจการสหกรณ์ได้ตามแนวทางที่วางไว้ ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ตรวจสหกรณ์ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการต่างๆ จัดระดับผู้ตรวจการสหกรณ์ พร้อมกับกำหนดหลักสูตรอบรม ประชุมสัมมนาโดยในปี 2559 กรมได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 7,794,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอำนวยการ และการจัดอบรม จำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 100 คน รวมทั้งสิ้น 600 คน

จากการดำเนินการที่ผ่านมาได้มีความก้าวหน้าในเบื้องต้นคือ ได้กำหนดหลักสูตรการพัฒนาผู้ตรวจการสหกรณ์ โดยแบ่งหลักสูตรเป็น 3 ระดับ ดังนี้ หลักสูตร 1 (ระดับพื้นฐาน)ความรู้พื้นฐานทั่วไปที่ผู้ตรวจการสหกรณ์ต้องทราบ หลักสูตร 2 (ระดับกลาง) ความรู้ด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์ หลักสูตร 3 (ระดับสูง) ความรู้ด้านกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินธุรกรรมของสหกรณ์แต่ละประเภทการประเมินความเสี่ยงของธุรกรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์แต่ละธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภท ประสบการณ์ในการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ

นอกจากนี้ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯพิจารณาหักสูตร 3 ระดับ เรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร “ผู้ตรวจการสหกรณ์ระดับพื้นฐาน” แก่ข้าราชการที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานหน้าที่ผู้ตรวจการสหกรณ์ เพื่อเป็นการสร้างศักยภาพให้กับบุคลากร เป็นการพัฒนากลไกการตรวจสอบของภาครัฐให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ตลอดจนระงับยับยั้งป้องปรามการทุจริตและให้มีการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องต่างๆ โดยดำเนินการจัดอบรมไปแล้ว 4 รุ่น มีเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรแล้วจำนวน 410 ราย ซึ่งการจัดอบรมในหลักสูตรทั้ง 3 ระดับอย่างต่อเนื่องได้แล้วเสร็จแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

จาก http://www.naewna.com วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กลุ่มน้ำตาลและอ้อยตะวันออก มั่นใจภัยแล้งช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก ไม่กระทบภาพรวมผลผลิต คาดมีอ้อยเข้าหีบ 3.4 ล้านตันอ้อย ดันยอดผลิตน้ำตาลพุ่ง รับจังหวะราคาในตลาดโลกขาขึ้น           

'บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก' ผู้ประกอบธุรกิจและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เตรียมพร้อมรับอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 59/60 คาดการณ์มีปริมาณอ้อยกว่า 3.4 ล้านตัน แม้ช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกจะมีปัญหาภัยแล้งคุกคาม มั่นใจผลิตน้ำตาลเพิ่มได้เป็น 3.78 แสนตัน รับจังหวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้น พร้อมนำผลพลอยได้ไปสร้างความมั่นคงให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เอทานอลและก๊าซชีวภาพ

          คุณกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 โดยเพิ่มกำลังการผลิตหีบอ้อยเฉลี่ยต่อวันเป็น 36,000 ตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 34,000 ตัน เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะมีปริมาณ 3.4 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกก็ตาม

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะดีขึ้นกว่าปีก่อน ส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลในรอบการผลิตปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มเป็น 3.78 แสนตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 108.64 กิโลกรัมน้ำตาล โดยคาดว่าค่าความหวานในอ้อยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเป็น 12 ซี.ซี.เอส เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 3.53 แสนตัน จากยิลด์เฉลี่ย 102.64 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11.57 ซี.ซี.เอส ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกที่ดีขึ้น

          "ปัญหาภัยแล้งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบไม่มากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านการเพาะปลูกและการผลิตที่ดี โดยโรงงานได้ร่วมกับชาวไร่คู่สัญญาเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบมาโดยตลอด หวังรักษาศักยภาพการผลิตน้ำตาลทรายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง และผลักดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงขึ้น เพื่อรองรับโอกาสในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ชาวไร่มีโอกาสทำรายได้จากการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และทางโรงงานเองยังสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อไป" คุณกิตติศักดิ์ กล่าว

          ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก กล่าวว่า จากปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2559/60 จะสามารถสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 78 MW และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวม 48 MW และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะขายไฟฟ้าเพิ่มอีก 20 MW หลังจากขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มอีก 55 MW ที่ตกลงจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วเสร็จ

          นอกจากนี้ ยังสามารถนำกากน้ำตาลมาช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ สามารถนำน้ำกากส่าจากการผลิตเอทานอลมาปรับสภาพและหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยบริษัทฯ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 125,000 ลบ.ม.ต่อวัน จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 90,000-100,000 ลบ.ม.ต่อวัน พร้อมกันนี้ ยังสามารถนำกากหม้อกรองมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีและวัสดุปรับปรุงดิน รวมกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่เครือข่ายเกษตรกรชาวไร่อ้อยของ ESCอีกด้วย

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สมคิดเดินหน้าผ่าตัดก.อุตฯ ชูพัฒนา 5 คลัสเตอร์ให้ครอบคลุมกว่า 10 กลุ่มเป้าหมาย

 “สมคิด”รับหลักการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ ชื่อกระทรวงอุตฯและผู้ประกอบการ มอบปลัด” สมชาย”หารือ กพร.เดินหน้าศึกษาภายใน 2 เดือน สั่งขยายการพัฒนาและส่งเสริมใน 5 กลุ่มคลัสเตอร์เพิ่ม จากเดิม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยังไม่ครอบคลุม ด้าน “อรรชกา” เผย สนง.คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เป็นตัวขับเคลื่อน

จากที่”ฐานเศรษฐกิจ”ได้นำเสนอข่าวปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะมีการตั้ง 2 กรมฯขึ้นมาใหม่และ 1 สำนักงานฯแห่งชาติขึ้นมารองรับ ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25-28 กันยายน ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ประชุมรวมกับผู้บริหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงการการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ว่า ได้รับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอโครงสร้างใหม่เสนอมาให้พิจารณาแล้ว ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใน 20 ปีข้างหน้า ที่ต้องการให้ประเทศก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้ระดับสูงขึ้น

โดยเห็นว่าโครงการสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม แม้วันนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้บริหารกระทรวงไปพิจารณาเพิ่มเติม และนายสมชาย หาญหิรัญ ให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) ถึงความเป็นไปได้ในโครงสร้างและสามารถดำเนินการในส่วนใดได้ก่อนบ้าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปและนำกลับมาเสนออีกครั้ง

ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องมีการการปรับเปลี่ยนการทำงานให้เกิดการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งภาระกิจเดิมที่รองรับเพียง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ S Curve ยังไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมทั้งหมด อย่างอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์และอุตสาหกรรมบริการ ต้องปรับไปสู่การสร้าง 5 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ครอบคลุมไปภาคอุตสาหกรรมในทุกๆ ด้าน

ด้านดร.อรรชการ สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมใหม่ ที่เสนอไปแล้วนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้รับหลักการไปแล้ว และได้ให้ไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมการทำงานมากที่สุดภายในเวลา 2 เดือน โดยเฉพาะการเปลี่ยนกระทรวงฯเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ที่จะสอดรับกับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ รองนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งแต่อย่างใด แต่จะเน้นเนื้อในของโครงสร้างมากกว่า

สำหรับโครงสร้างใหม่ที่เสนอไปนั้น จะมีการเปลี่ยนบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) มาเป็นจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและ 5 คลัสเตอร์ต่างๆ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)พัฒนาอุตสาหกรรม ขึ้นมารองรับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา และการตั้งสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการออกพ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ เพื่อยกระดับสถาบันอาหาร เป็นสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติแทน

ขณะที่การทำงานเชิงส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) รับผิดชอบการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี จะเปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการขึ้นมาแทน และออกพ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เพื่อรองรับการตั้งสำนักงานส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ

ส่วนการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการเน้น ปัจจุบันมีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและคอยอำนวยความสะดวกหรือสนับสนุนให้กับหน่วยงานต่างๆ ในการออกใบอนุญาตต่างๆ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) ที่จะมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่จะเพิ่มบทบาทในการเข้าไปดูแลกำกับพืชชนิดอื่นที่ไม่เฉพาะอ้อยอย่างเดียว เช่น มันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับการกำดับดูแลอุตสาหกรรมชีวภาพหรือไบโอชีวภาพในอนาคต เป็นต้น

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่  5 ตุลาคม 2559

พาณิชย์ วางแผนงานปีงบประมาณ60

กระทรวงพาณิชย์วางแผนงาน ปีงบประมาณ 60 ส่งผู้ตรวจราชการและที่ปรึกษา ลงพื้นที่ภูมิภาค 8 แห่ง ขับเคลื่อนนโยบาย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ว่า พาณิชย์วางแผนงาน ปีงบประมาณ 60 โดยส่งผู้ตรวจราชการและที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ ไปประจำกระทรวงพาณิชย์ในภูมิภาค 8 แห่ง เพื่อเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนนโยบายหลังคาเดียวกัน ทำให้การทำงานทั้งพาณิชย์จังหวัด กรมต่าง ๆ ในภูมิภาค สามารถประสานงานร่วมกับจังหวัด แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร และค่าครองชีพในต่างจังหวัดได้โดยเร็ว พร้อมส่งผู้บริหารกระทรวงออกตรวจราคาสินค้าในตลาดต่าง ๆ ทั่วประเทศถี่ขึ้น เพื่อช่วยดูแลราคา และความพอเพียงของสินค้า ตามความต้องการผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังพร้อมเชื่อมโยงช่องทางตลาด กับห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ผู้ให้บริการขนส่ง เพื่อรองรับผลผิตสินค้าเกษตรในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก ซี่งจะช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่  5 ตุลาคม 2559

กรมชลฯควบคุมระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

กรมชลประทาน ควบคุมการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไม่ให้กระทบพื้นที่ท้ายเขื่อน

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนได้ทั้งหมด ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนยังอยู่ในเกณฑ์มาก ทำให้ต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะสามารถเก็บกักน้ำได้เต็มอ่างฯ ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักฯ ด้วยการใช้เขื่อนพระรามหกเป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดยบริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก จะแบ่งรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ ในปริมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบัน (5 ต.ค. 59) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 530 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในครั้ง

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่  5 ตุลาคม 2559

ครม. ไฟเขียว พ.ร.บ.พื้นที่เขตศก.พิเศษตะวันออก

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4ต.ค.59 ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .. ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช. ) ในขั้นต่อไป ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ภายในต้นปีหน้าเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือEEC) เบื้องต้นในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบไปด้วยจังหวัด ชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา เพื่อนำไปสู่แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบ รวมทั้ง การอำนวยความสะดวกในการให้บริการของภาครัฐในพื้นที่เขต EEC และ สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับการลงทุนใน 10อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า "เป็นความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้พื้นที่ภาคตะวันออก เป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมขั้นสูง ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย และยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนอย่างแท้จริง

จาก http://www.banmuang.co.th   วันที่  5 ตุลาคม 2559

รมว.เกษตรเห็นชอบและกำหนดแผนปฏิบัติการยึดคืน พัฒนาและจัดสรรพื้นที่ส.ป.ก.

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 เรื่อง มาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตรวจสอบการถือครองที่ดินและยึดที่ดิน ส.ป.ก. คืนจากผู้ครอบครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เห็นชอบและกำหนดแผนปฏิบัติการยึดคืน พัฒนา และจัดสรรพื้นที่ ส.ป.ก. ที่มีการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) ขั้นตอนเตรียมการ 2) ขั้นตอนแจ้งเตือน 3) ขั้นตอนการยึดที่ดินและรื้อถอน 4) ขั้นตอนปรับปรุงพัฒนาที่ดิน และ 5) ขั้นตอนการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกร ส.ป.ก.

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนที่ 3 คือ ขั้นตอนการยึดและรื้อถอนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ผลสรุปการตรวจสอบการถือครองที่ดินที่  ส.ป.ก. ชี้พื้นที่เป้าหมายแปลงที่ดินที่มีผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. เกินกว่า 500 ไร่ ทั้งสิ้น จำนวน 431 แปลง เนื้อที่ 441,054 ไร่ ในพื้นที่ 27 จังหวัด มีผู้ยื่นคัดค้าน จำนวน 362,865 ไร่ ผลการพิจารณาจาก ส.ป.ก. จังหวัดมีเอกสารคำคัดค้านฟังขึ้น จำนวน 289,482 ไร่  แบ่งเป็นที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 109,531 ไร่ และที่ดินที่ครอบครองเดิม 179,591 ไร่ สำหรับคำคัดค้านฟังไม่ขึ้น จำนวน 15,816 ไร่  ยึดคืนมาได้ 151,572 ไร่ และหลักฐานทั้งหมดที่ฟังขึ้นได้ส่งต่อให้ ส.ป.ก. ส่วนกลางตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผลการตรวจสอบมีมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ ส.ป.ก. ได้วางแผนนำพื้นที่ที่ยึดคืนได้มาพัฒนาตามขั้นตอนที่ 4 คือ ขั้นตอนปรับปรุงและพัฒนาดินแล้ว คาดว่า   มีเนื้อที่ที่สามารถนำพื้นที่มาพัฒนาได้กว่า 111,642 ไร่ โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้จัดประชุมคณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 4/2559 และอนุมัติหลักการใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นวงเงินจำนวน 960 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายตามโครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้รับรายงานถึงผลความคืบหน้าการใช้มาตรา 44 ยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. โดยมิชอบแล้วว่า นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส อดีตเลขาธิการ ส.ป.ก. ได้ตรวจสอบเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งสิ้น 431 แปลง แต่มีข้อมูลบางส่วนที่คลาดเคลื่อนไปสำหรับพื้นที่ที่ไม่มีผู้ยื่นคัดค้าน จากเดิม 28 แปลง เหลือเพียง 23 แปลง สาเหตุเพราะ 5 แปลงนี้ มีการนำเอกสารตามประมวลกฎหมายที่ดิน นส3. ยื่นเต็มแปลง จำนวน 3 แปลง เป็นพื้นที่  ที่มีความลาดชันเกินกว่า 15% ไม่เหมาะแก่การประกอบเกษตรกรรม จำนวน 1 แปลง และเป็นพื้นที่ที่มีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แล้วแต่เกิดความคลาดเคลื่อนในการกำหนดพื้นที่เป้าหมายตั้งแต่แรก จำนวน 1 แปลง สำหรับพื้นที่ที่มีการคัดค้านเต็มแปลง จำนวน 403 แปลง ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประมวลข้อมูลลงระบบเพื่อประเมินผล เพราะมีพื้นที่ที่ให้ยึดเพิ่ม พื้นที่ที่ต้องการตรวจสอบเพิ่มเติม   ทั้งพื้นที่ที่อ้างด้วย นส3. และ ภบท.5 ซึ่งคาดว่ากระบวนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในอาทิตย์นี้

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่  5 ตุลาคม 2559

ปลัดกระทรวงเกษตรฯเผยนายกฯมอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรี พบปะ มอบถุงยังชีพและเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี ณ เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท โดยนายกฯ มีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายเรื่อง อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย และสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำ

นายธีรภัทร  ประยูรสิทธิ  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) พบปะ มอบถุงยังชีพและเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัย ที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคกลาง 11 จังหวัด ที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ 1) ให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อาทิ เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ 2) การช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนปกติ ให้ดำเนินการตามขั้นตอน 3) การช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2559 นี้ 4) จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงรุก หากมีน้ำมากขั้นวิกฤตเกินกว่าแผนที่กรมชลประทานเตรียมไว้ปัจจุบัน ให้เตรียมหาแก้มลิงและพื้นที่สำรองเก็บกักน้ำเพิ่มเติมหรือหาแนวทางอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้การสร้างเขื่อนในอนาคตจะทำได้ยากขึ้น จึงควรหาแนวทางใหม่

5) การจ่ายเงินช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น กรณีการผันน้ำที่เกิดจากภาครัฐไปมีผลกระทบกับพื้นที่ของเกษตรกร ควรต้องมีการจ่ายชดเชยที่สูงกว่าปกติ ให้ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี และการหาแก้มลิงสำรอง ให้หาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอุทกภัยอยู่แล้ว หรือพื้นที่ที่เหมาะสม แล้วจ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่ให้เกษตรกรเพื่อไว้กักเก็บน้ำ ระยะเวลาขึ้นกับช่วงเวลาที่จำเป็นหรือระยะยาว  และ 6) จัดทำคู่มือ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเตรียมตัวเผชิญปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำ โดยให้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวขอบคุณข้าราชการทุกหน่วยงาน รวมทั้งพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนอีกด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่  5 ตุลาคม 2559

ชาวบ้าน'สระแก้ว'เฝ้าระวัง'โรงไฟฟ้าชีวมวล'กระทบสิ่งแวดล้อม 

          การก่อสร้างโรงงานและโรงไฟฟ้า ชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ในพื้นที่ สีเขียว  ภายหลังจากบริษัทน้ำตาลและ อ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงงาน ในพื้นที่ อ.วัฒนานคร เตรียมขยายโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวล มาตั้งในพื่นที่ดังกล่าว และมีการจัดทำประชาพิจารณ์ และผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ก่อนหน้านี้ นายสุทธิรักษ์ วันเพ็ญในฐานะตัวแทนและกลุ่มชาวบ้านที่ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียว กล่าวว่าตนเองและชาวบ้านผู้ร่วมกันลงชื่อ ยื่นหนังสือเรียนพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ของรัฐบาล ขอคัดค้านการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล และไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่สีเขียว ซึ่งกฏหมายกำหนดห้ามไว้ ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง เนื่องจากประชาชน เกรงว่า จะเกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมตามมาในอนาคต ตามหนังสือร้องเรียนนั้น จนมีการยกเลิกการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในพื้นที่เดิม แต่มีความพยายามยื่นเรื่องขอก่อสร้างในพื้นที่ใหม่อีกครั้ง

          เมื่อเร็วๆนี้ ชาวบ้านและเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดลั้อมและสิทธิชุมชน จ.สระแก้ว สาขาวังสมบูรณ์ ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ ในเรื่อง "สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อปกป้องชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม" เพื่อให้ความรู้ทางด้านกฏหมาย การร้องเรียนร้องทุกข์กับชาวบ้าน และกระบวนวิธีการจัดทำข้อมูลสารสนเทศของชุมชน

          โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีประกอบด้วย นาย ศุภกฤต พรรคนาวิน อุตสาหกรรรมจังหวัดสระแก้ว ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด , นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย นักกฏหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และนายปรมินทร จันทการ นักวิชาการจากสหพันธ์ที่ดินจังหวัดสระแก้ว ที่ศาลเจ้าแม่วังใหม่ มีประชาชน ในพื้นที่เข้าร่วมเวทีกว่า 200 คน

          นายศุภกฤต กล่าวว่า การขอตั้งหรือ ขยายโรงงานตามกฏหมาย จะต้องเป็นไป ตามที่กฏหมายกำหนด ซึ่งหากพื้นที่ใดมีประชาชนไม่เห็นด้วยหรือร้องคัดค้านมา การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ จะต้องมีข้อมูลของฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสมอ ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทุกคนที่อาศัย อยู่ในรอบรัศมี 5 ก.ม.ต้องรับรู้ทุกคน และเมื่อเปลี่ยนจุดก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษาต้องเชิญประชาชนรายใหม่เข้ามาร่วมในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย ถ้าข้อมูลไม่ถูกต้อง บริษัทก็มีความเสี่ยง ที่ กระทรวงการคลังซึ่งดูแลบริษัทที่ปรึกษา จะถอดถอนใบอนุญาตได้ ส่วนการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเป็นถ่านหิน ที่มาจากลิกไนท์(ถ่านหิน) เวลาเผา จะเกิดซัลเฟอร์ เมื่อปลิวไปในอากาศและไปโดนฝน จะกลายเป็นกรดซัลฟุลิกทันที ดังนั้นถ้าโรงงานไม่ทำตามที่ขออนุญาตหรือลักลอบไปใช้ถ่านหิน เราจะปิดทันที อุตสาหกรรมจังหวัดจะทำตามข้อมูลที่ ถูกต้องและเป็นกลาง ขอให้มั่นใจว่า ภาครัฐ จะตรงไปตรงมา

          "ผมเคยสั่งปิดโรงงานและถูกนายทุนโทรมาต่อว่า ผมก็บอกว่า คุณลงทุนจะต้องไม่เอาเปรียบและต้องทำให้ถูกต้อง เราเจอทั้งคนร้องและคนฝั่งนายทุน ถูกฟ้องทั้งสองฝ่าย แต่เราทำตามพื้นฐานความจริงจึงสามารถยืนหยัดได้ถึงทุกวันนี้ ส่วนกรณีการยื่นขอใช้ ม.44 เพื่อยกเว้นผังเมืองและ ตั้งโรงงานได้เลยนั้น นายกรัฐมนตรี ไม่อนุญาต หรือใช้ ม.44 พร่ำเพรื่อแน่ เพราะต้องการให้พิจารณารายพื้นที่เป็นรายๆ ไปในกรณีที่มีชาวบ้านคัดค้าน"

          น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า เราต้องลุกขึ้นมาตรวจสอบว่า ผิดกฏหมายหรือไม่ กฏหมาย รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาลงประชามติ ระบุว่าสิทธิเรื่องการมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เรามีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่กฏหมายบัญญัติ รวมไปถึงข้อมูลของราชการ ซึ่งการศึกษาอีไอเอต้องมีพื้นที่ขอบเขตที่ชัดเจน ต้องรู้ที่ตั้งขอบเขตอย่างไร ซึ่งสามารถขอข้อมูลได้ที่สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) รวมทั้งขอตรวจสอบ ข้อมูลความเห็นจากคณะกรรมการที่พิจารณาได้ด้วย

          กรณีของโรงไฟฟ้าชีวมวล การถามว่าวัตถุดิบซึ่งใช้จำนวนมาก ขนกันทั้งวัน น้ำใช้จากไหน จำนวนเท่าไหร่ เราถามได้ และต้องระบุไว้ในอีไอเอด้วย ขี้เถ้าที่เผาแล้ว กองไว้ เมื่อฝนตกหรือลมพัดปลิวหรือไหลไปไหน โดยชาวบ้านสามารถส่งความเห็นไปที่คณะกรรมการพิจารณาอีไอเอ เพื่อนำไปพิจารณาร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้ด้วย

          นายปรมินทร กล่าวว่า การจัดทำข้อมูล สารสนเทศของประชาชนในพื้นที่ จะสามารถทราบศักยภาพและปัญหา ดีไม่ดีอย่างไร เราต้องสู้โดยข้อมูลที่เราทำขึ้นมา การพัฒนาหมู่บ้านคือทำแล้วต้องดีขึ้น เราเน้นเรื่องข้อมูล เพื่อต่อสู้ในชั้นศาลและคัดค้าน

          ดังนั้น ชาวบ้านต้องลงไปจับจีพีเอส เพื่อลงไปเก็บข้อมูลด้วยตนเอง ค้นหาศักยภาพของพื้นที่นี้ว่าเหมาะสมกับอุตสาหกรรมการเกษตรเท่านั้น ที่พี่น้องจะได้ประโยชน์ เป็นเมืองแห่งพืชพลังงานและการค้าชายแดน โดยการถอดบทเรียนการใช้ประโยชน์ เราจะ ตอบได้ อบรมวันเดียวก็ทำข้อมูลเรื่องผลกระทบ ถือเป็นวิธีการผลักดันโดยภาคประชาชนและได้ผลที่สุด

          "วันนี้เราติดอาวุธทางปัญญาให้ ชาวบ้าน  กระทบเท่าไหร่ เราต้องทำเอง ทำข้อมูลพร้อมกับการวิเคราะห์ ข้อมูลเบื้องต้นตอนนี้ของพื้นที่วังสมบูรณ์ เรามีเกือบครบถ้วนแล้วไปถึงรายบุคคล ท่านต้องการอะไรจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ชาวบ้านต้องร่วมกันหาคำตอบร่วมกัน"

          สำหรับการขอตั้งโรงงานดังกล่าว ในเบื้องต้นบริษัทเอกชนขอใช้พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ แต่คาดว่าจะไม่เพียงพอ เพราะในความเป็นจริง การลงทุนระดับนี้ต้อง ใช้เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ จึงจะทำระบบได้สมบูรณ์

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่  5 ตุลาคม 2559

สอท.-หอการค้าขานรับพรบ.อีอีซี 

          การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ใน จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดย กอบศักดิ์ ภูตระกูลผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอาเซียน หลังจากที่เราผลักดันได้ใน 25 ปีที่ผ่านมา ภายใต้กฎหมายการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการลงทุนให้กับรัฐบาลปัจจุบันและเป็นแนวทางสำหรับรัฐบาลต่อไป รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าจะมีการผลักดันการพัฒนาและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างจริงจัง

          ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประกอบไปด้วย 5 หมวด 60 มาตรา มีสาระสำคัญคือกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกฯ เป็นประธาน มีคณะกรรมการ 24 คน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย อนุมัติแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการดูแลพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

          ขณะเดียวกัน จะจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้กำกับดูแล มีอำนาจอนุมัติกิจกรรมตามกฎหมายในพื้นที่ครอบคลุมกฎหมาย 6 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

          "ในส่วนกรอบเวลาที่กฎหมายจะออกมาบังคับใช้นั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ให้ความเห็นว่าจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูแลขั้นตอนการออกกฎหมายเป็นพิเศษ เพื่อเร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาโดยเร็ว ก่อนจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาคาดว่ากฎหมายจะผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2560 โดยนายกฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตั้งต้นให้โครงการสามารถเดินหน้าหลังรัฐบาลนี้ได้" กอบศักดิ์ กล่าว

          ด้าน เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในระยะแรก 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เช่น สนามบิน การขนส่งทางราง ระบบขนส่งที่เชื่อมต่อกับสนามบิน ท่าเรือ และเตรียมความพร้อมพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม โดยเชื่อว่าภายหลังการศึกษาและออกแบบพื้นที่ได้แล้วจะมีการลงทุนจากภาครัฐทันที หลังจากนั้นจะมีภาคเอกชนทยอยลงทุนตามอย่างแน่นอน

          อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมด้านการลงทุนอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากสนามบินมีการขนส่งสะดวกทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำอยู่แล้ว ดังนั้นการพัฒนาจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้เร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น

          พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะกระตุ้นให้การลงทุนพื้นที่ขยายตัว แต่จะจูงใจภาคเอกชนมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นที่รัฐบาลออกให้ด้วย เช่น สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ออก โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กฎระเบียบในการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น แต่ในภาพรวมเชื่อว่าจะทำให้เกิดความน่าสนใจจากภาคเอกชนมากขึ้นแน่นอน

          "ความน่าสนใจในพื้นที่อีอีซี มองเป็นสองประเด็นคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานต้องสะดวก ค่าแรงจูงใจอยากให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนและประเด็นการเคลื่อนย้ายสินค้าที่ต้องมีอัตราภาษีศุลกากรที่แข่งขันได้" พรศิลป์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ครม.ไฟเขียวร่างเขตศก.พิเศษ หวังดันอุตสาหกรรม4.0

ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก คาดประกาศใช้ต้นปี 60 หวังยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 คาดเกิดการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทใน 10 ปี

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ... ครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่ใน3จังหวัดได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยองและ จ.ฉะเชิงเทรา ตามนโยบายยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2560

พื้นที่ดังกล่าวจะมีเนื้อที่ราว 70,000 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นการยกระดับภาคการผลิตของไทยไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ตามนโยบาย“อุตสาหกรรม4.0”

รัฐบาลประเมินว่าหากสามารถสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสำเร็จ จะก่อให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น รถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าเรือ และสนามบินอู่ตะเภาวงเงิน4แสนล้านบาท การลงทุนในด้านเมืองใหม่ โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัย วงเงิน4แสนล้านบาท และการลงทุนในด้านการท่องเที่ยวคุณภาพ และเชิงสุขภาพวงเงิน2แสนล้านบาท โดยแผนการลงทุนโดยละเอียดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

สำหรับการจัดเตรียมพื้นที่รองรับการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พื้นที่สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ70,000ไร่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี18,000ไร่ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต18,000ไร่ อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร20,000ไร่ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์2,000ไร่ และอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ครบวงจร30,000ไร่ เป็นต้น

ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นว่าจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูแลขั้นตอนการออกกฎหมายเป็นพิเศษ เพื่อเร่งรัดให้ผ่านการพิจารณาโดยเร็ว ก่อนจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาคาดว่ากฎหมายจะผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี2560

ตั้งบอร์ดดูแลนายกฯเป็นประธาน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกประกอบไปด้วย5หมวด60มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการ24คน โดยมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย อนุมัติแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งกำหนดมาตรการที่จำเป็นในการดูแลพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ส่วนการกำกับดูแลในพื้นที่ให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยเป็นหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานของรัฐแต่ไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้กำกับดูแล และมีอำนาจในการอนุมัติกิจกรรมตามกฎหมายในพื้นที่ครอบคลุมกฎหมาย6ฉบับได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร กฎหมายว่าด้วยสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

ให้สิทธิเช่าที่ดินรวม99ปี

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ให้กับนักลงทุนประกอบไปด้วย การให้สิทธิ์ในการเช่าที่ดินเพื่อทำธุรกิจเป็นระยะเวลา50ปีและต่อระยะเวลาการเช่าได้อีก49ปี สามารถนำแรงงานต่างด้าวที่มีฝีมือ หรือเป็นผู้บริหารเข้ามาทำงานในพื้นที่ได้ รวมทั้งมีการอำนวยความสะดวกให้สามารถนำครอบครัวเข้ามาอยู่อาศัยได้ รวมทั้งมีการกำหนดให้มีการลดหย่อนภาษีอากรแก่แรงงานฝีมือ

นอกจากนั้นมีการให้สิทธิ์ในการใช้เงินตราต่างประเทศในพื้นที่ที่มีการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งมีการจัดตั้งเคาท์เตอร์ให้บริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติในพื้นที่ มีการตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)อำนวยความสะดวกในการพิจารณาให้การอนุญาต การขออนุญาตการทำงาน การทดทะเบียนพาณิชย์ การขออนุญาตแรงงาน โดยสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

บีโอไอแก้กฎหมายให้สิทธิพิเศษภาษี15ปี

สำหรับการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้มีการทบทวนกฎหมายใหม่โดยให้สิทธิ์ในการรับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลสูงสุดเป็นระยะเวลา15ปี

ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยเก็บเงินจากผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนบางส่วนเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนในการพัฒนาท้องถิ่น และเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจาการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการส่งเงินเข้ากองทุนอีกครั้งหลังจากที่กฎหมายมีการประกาศใช้แล้ว

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอาเซียน หลังจากที่เราเคยประสบความสำเร็จในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกตลอด25ปีที่ผ่านมา โดยกฎหมายนี้ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมการลงทุนทั้งสำหรับรัฐบาลนี้และเป็นแนวทางสำหรับรัฐบาลต่อไป รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่ารัฐบาลจะมีการผลักดันการพัฒนาและการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างจริงจัง” นายกอบศักดิ์กล่าว

จาก http://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

'นายกฯ'แจงปล่อยน้ำท่วมบางพื้นที่ เผยพื้นที่เกษตรเสียหายแล้ว6แสนไร่

"บิ๊กตู่"แจงปล่อยน้ำท่วมบางพื้นที่ เหตุต้องรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ เผย'มท.'สำรวจความเสียหาย 6 แสนไร่แล้ว

4 ต.ค. 59 เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ ว่า พยายามทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอก็ลงไปในพื้นที่ ซึ่งปัญหาอยู่ที่ประชาชนยังไม่เข้าใจว่าทำไมน้ำเยอะ ทำไมต้องปล่อยน้ำเข้าพื้นที่ และตนได้อธิบายว่าปัญหาน้ำเกิดจากตรงไหน ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน จนถึงภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม จึงต้องมีการทยอยปล่อยน้ำเรื่อย ๆ เพราะน้ำเหนือมีจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำที่อยู่ใต้เขื่อน ก็มีการบริหารจัดการระบายน้ำมาตลอด ซึ่งต้องแก้ปัญหาจากข้างบนว่าจะทำอย่างไรน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่เดือดร้อนก็ยังไม่ต้องระบายลงไป ถ้าจำเป็นก็ต้องระบาย แต่ที่ผ่านมาก็ทยอยจัดการมาโดยตลอด จะเห็นได้ว่าน้ำที่ไหลผ่านเจ้าพระยาเข้ามาข้างในยังรักษาระดับ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ก็ต้องท่วมในบางพื้นที่เพราะฝนตกหนัก ซึ่งเป็นน้ำนอกเขตชลประทานและเป็นพื้นที่ต่ำ ในเมื่อปลูกพืชในพื้นที่ต่ำก็ต้องระวังเรื่องน้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมี 2 มาตรการ 1.ต้องมีการระบายออกเพื่อไม่ให้ท่วมกว่าเดิมเหมือนปี 2554 โดยการทำพื้นที่แก้มลิง แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากอยู่ในช่วงการเพาะปลูกอยู่ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ให้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวแล้ว และได้ชี้แจงว่าหากน้ำไม่มากกว่านี้ก็ไม่ต้องระบายลงไป ทั้งนี้จะต้องมีการบริหารจัดการการเพาะปลูกในพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศเพื่อทยอยการใช้น้ำ สิ่งที่ตนกังวลในตอนนี้คือการสร้างความเข้าใจ 2.คนที่ได้รับความเดือดร้อนจะต้องมีมาตรการรองรับการชดเชยที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะไม่พอเพียงในบางพื้นที่ ตรงไหนที่จำเป็นต้องท่วมจะไม่ปล่อยลงไป เพราะจะไปท่วมในพื้นที่ใหญ่นั้นและจะระบายไม่ทัน จึงต้องมีมาตรการสำรอง ต้องไปอธิบายกับประชาชนว่าเหตุใดจึงต้องปล่อยน้ำให้ท่วมเพราะสาเหตุอะไร ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาทุกเรื่อง

"เพราะเราขาดการบริหารจัดการที่ดีมานานแล้ว วันนี้กำลังแก้ไขต้องทำใหม่ เวลาในการทำใหม่ก็มีจำกัด ถ้าทุกคนทำตามแผนบริหารจัดการน้ำไม่มีความขัดแย้ง ทุกคนยอมรับในกติกา มีได้ มีเสีย ได้น้อยหน่อย เสียน้อยหน่อย ผมว่าน่าจะรับกันได้ ถ้าทุกคนไม่ยอมรับอะไรกันเลย แล้วทำเหมือนเดิมจะกลับไปที่เก่า ผมก็อธิบายด้วยการไปเยี่ยมเขา ทุกอาทิตย์ผมได้รับรายงานสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ ตรงไหนมีความเสียหาย ทุกอย่างมีแผนหมดแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาจะปล่อยน้ำ เขาต้องปล่อยตามแผน ที่ผ่านมาไม่เคยทำตามแผน แล้วมันท่วมทั้งประเทศจะเอาอย่างไร เลือกเอา" นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า พื้นที่ที่ถูกปล่อยน้ำ เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ การชดเชยจะต้องมากขึ้นจากเกณฑ์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้จากการสำรวจทางจิสด้านั้น พบว่าพื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนกว่า 600,000 ไร่ รวมถึงให้กระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่าจริงตามที่จิสด้าระบุหรือไม่

"ผมไม่ได้บริหารงานแบบคิดเอาเอง รัฐบาลไม่เคยทำ รัฐบาลไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำ แต่อยู่ดีๆ จะให้ผมเอาเงินไปให้ เอาไปแจกผมไม่ทำ ต้องมีหลักเกณฑ์ ถ้าเราไม่ให้คนรู้จักการเรียนรู้ก็จะเป็นอยู่แบบเดิม พอน้ำแห้งก็ปลูกข้าวกันอีก ปลูกกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำจะหมด พอใกล้จะหมดก็ร้องขอว่าน้ำแล้ง ทำไมไม่สอนคนให้พอเพียง ว่าควรปลูกปีละกี่ครั้ง อันนี่ปลูกคนละ 5-6 ครั้งจะมีน้ำที่ไหน รัฐบาลนี้เข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใช่ไหม ไม่ใช่เข้ามาเพื่อที่จะบังคับคน เพื่อจะไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าผมเป็นแบบนั้นจะไม่มานั่งอธิบายแบบนี้" นายกฯ กล่าว

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เช็คชื่อ!ครม.ต่ออายุ-แต่งตั้งขรก. 'สมบูรณ์'ขึ้นอธิบดีกรมอุตสาหกรรม

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนี้

ครม.เห็นชอบต่อเวลาการดำรงตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งเอกอัครราชทูต 4 ราย ตำแหน่งอธิบดี 2 ราย ต่อไปอีก 1 ปี ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ ได้แก่

1.น.ส.วิมล คิดชอบ เป็น เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก

2.นายเรืองเดช มหาศรานนท์ เป็นเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู

3.นายธานี ทองภักดี เป็นเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

4.น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ เป็นอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ

5. นายชุตินธร คงศักดิ์ เป็นอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ

6.นายภาสกร ศิริยะพันธุ์ เป็นเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

โดยลำดับที่ 1 ถึง 5 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 - 30 ก.ย.60 ลำดับที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.59 - 16 ต.ค.60

ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ จำนวน 4 ราย ดังนี้

1.นายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

2.น.ส.วันเพ็ญ สุวรรณวิสิฏฐ์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3.นางไพรวรรณ พลวัน รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4.นายณรงค์ คงคำ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอ จำนวน 4 ราย ดังนี้

1.นายประเสริฐ บุญเรือง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

2.นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3.นายประชาคม จันทรชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

4.นายกฤตชัย อรุณรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง เป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง

ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอ จำนวน 6 ราย ดังนี้

1.นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

2.นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3.นายสุรพล ชามาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

4.นายณัฐพล รังสิตพล รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

5.นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

6.นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ แต่งตั้ง นาวาเอก ปิยะ อาจมุงคุณ เป็นผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และการกำหนดอัตราเงินเดือนของผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน ตามมติคณะกรรมการสถาบันการบินพลเรือน ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 26 เม.ย.59 และครั้งที่ 7/2559 เมื่อวันที่ 5 ก.ค.59 ส่วนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นรวมทั้งเงื่อนไขการจ้างและการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่ ครม.มีมติ

ครม.เห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ได้แก่ นางวิไลวรรณ ทัพวงศ์ศรี หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาการพาณิชย์ (นักวิชาการพาณิชย์ทรงคุณวุฒิ) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

กระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบแต่งตั้ง นายกำพล กาญจโนภาศ นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม สาขาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา) กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ เป็นนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรม) งานบริการสุขภาพชุมชน กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

ครม.เห็นชอบแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ชุดใหม่ จำนวน 11 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 21 ต.ค.59 ดังนี้

1.นายสมยศ เชื้อไทย ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

2.พลตำรวจตรี รัฐวิทย์ แสนทวีสุข ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

3.นายจักกพงศ์ ณ บางช้าง ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

4.นายสุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

5.นายบุญมา เตชะวณิช ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

6.นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

7.นายศุทธา ปริยวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

8.นายสมศักดิ์ พณิชยกุล ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

9.นายวรารักษ์ ชั้นสามารถ ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน

10.นางภาณุมาศ สิทธิเวคิน ผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ

11.นางสาวอรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.59 เป็นต้นไป

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก.เกษตรเผยน้ำเจ้าพระยาลดลงต่อเนื่อง

กระทรวงเกษตรฯ เผย สถานการณ์น้ำในเเม่น้ำเจ้าพระยาลดลงต่อเนื่อง พร้อมสั่งกรมชลประทาน ปรับลดระบายน้ำ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำยม ณ วันที่ 4 ต.ค. เวลา 05.00 น.ว่า ขณะนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคันกั้นน้ำกับตลิ่งแม่น้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าปัจจุบันมีน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,712 ลบ.ม./วินาที ลดลงเทียบกับวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,998 ลบ.ม./วินาที และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่ 1,649ลบ.ม./วินาที โดยสั่งการให้กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ลง ส่งผลให้น้ำที่บ้านบางหลวงโดด ลดลง 0.35 ม. น้ำที่ อ.บางบาล ลดลง 0.27 ม. และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แม่น้ำยม พบว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านตามจุดต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต่ำกว่าตลิ่ง มีเพียง อ.บางระกำ ท่านั้น ที่ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและสูงกว่าตลิ่ง 1.46 ม.

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

กรมพัฒนาที่ดินแนะพื้นที่น้ำท่วมใช้สารเร่ง พด.6 ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสีย

 นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีมรสุมพัดผ่านทำให้เกิดฝนตกปานกลางถึงหนักมากในหลายพื้นที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำท่วมขังนาน ทำให้น้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น เกิดมีลูกน้ำและยุงรำราญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยของชุมชนในเมือง เพื่อช่วยลดปัญหานี้ ขอแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพกรมพัฒนาที่ดิน สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๖ ทำสารบำบัดน้ำเน่าเสียและช่วยขจัดกลิ่นเหม็น จากเศษขยะสดหรือเศษอาหารเหลือทิ้งในครัวเรือน ที่มีต้นทุนต่ำและสามารถทำเองได้ด้วยวิธีที่ง่าย ๆ ซึ่งได้มีการพัฒนาให้มีคุณภาพที่สูงขึ้นช่วยกำจัดลูกน้ำและยุ่งรำคาญ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบและโรคเท้าช้างได้ด้วย เพราะสารเร่งซุปเปอร์ พด. ๖ เป็นสารที่ช่วยย่อยสลายขยะสด ซึ่งประกอบด้วยวัสดุอินทรีย์จากเศษอาหาร ผัก ผลไม้ เศษปลาสด และเนื้อสัตว์ โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ ในสภาพที่ไม่ออกซิเจน ทำให้ได้ของเหลวสีน้ำตาลซึ่งมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเน่าเสียที่ท่วมขังตามที่ต่างๆ ช่วยลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ ถ้าหากพื้นที่ใดมีน้ำท่วมขังนิ่งและเกิดลูกน้ำยุงรำคาญให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๖ (ชนิดผง) โรยลงไปในพื้นที่น้ำท่วมขังนิ่ง จะช่วยกำจัดและลดปัญหาลูกน้ำยุงรำคาญได้ผลเป็นอย่างดี

 “วิธีการทำสารบำบัดน้ำเน่าเสียให้นำเศษอาหารและกากน้ำตาลผสมลงในถังหมัก ละลายสาร เร่งซุปเปอร์ พด.6 ในน้ำ 10 ลิตร เทลงในถังหมักอีกทีหนึ่ง คลุกเคล้าให้เข้ากันจากนั้นทำการปิดฝาไม่ต้องให้แน่นสนิท อากาศสามารถ่ายเทได้ ใช้เวลาในการหมักนาน 20 วัน ให้ถังหมักอยู่ในที่ร่มเพราะถ้าหาก โดนแสงแดดมากไปการทำปฏิกิริยาของจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดเน่าเสียใช้งานไม่ได้ ส่วนวิธีการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย ให้ใช้อัตรา 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน เทใส่ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำเน่าเหม็นทุกวันได้ทุกวัน หรือใส่ทุก 3 วัน จะช่วยในการแก้ไขปัญหาและดับกลิ่นเหม็นของน้ำเน่าเสียได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

นายสุรเดช กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน โทร. 0 2941 1565 หรือ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. 0 2579 8515

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ก.ทรัพยากรฯประชุมหารือแนวทางการปฏิรูปหน่วยงานด้านน้ำ

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการปฏิรูปหน่วยงานด้านน้ำ สร้างความเข้าใจแก่บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างการดำเนินงาน 2 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อยกระดับการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อีกทั้งแหล่งน้ำได้รับการดูแล

ทั้งนี้ ในการปฏิรูปการดำเนินงานดังกล่าว ยังไม่มีการรวมหรือยุบหน่วยงานแต่อย่างไร แต่ขณะนี้อยู่ระหว่าง การหารือและพิจารณา (ร่าง) โครงสร้างหน่วยงาน ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการประกอบด้วย 1. พิจารณากรอบแนวทางกฎหมาย 2. ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปให้เป็นหน่วย Regulator 3. การพัฒนาบุคลากร

จาก http://www.thansettakij.com   วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บ.น้ำตาลตะวันออกเพิ่มกำลังผลิตปี’59/60

นายกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออกจำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่าบริษัทได้เตรียมความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 โดยเพิ่มกำลังการผลิตหีบอ้อยเฉลี่ยต่อวันเป็น 36,000 ตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 34,000 ตัน เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะมีปริมาณ 3.4 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะดีขึ้นกว่าปีก่อน ส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลในรอบการผลิตปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มเป็น 3.78 แสนตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 108.64 กิโลกรัมน้ำตาล โดยคาดว่าค่าความหวานในอ้อยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเป็น 12 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 3.53 แสนตัน จากยิลด์เฉลี่ย 102.64 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11.57 ซี.ซี.เอส. ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกที่ดีขึ้น

ทั้งนี้จากปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2559/60 จะสามารถสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 78 MW และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวม 48 MW และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะขายไฟฟ้าเพิ่มอีก 20 MW หลังจากขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มอีก 55 MW ที่ตกลงจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ ยังสามารถนำกากน้ำตาลมาช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบัน บริษัท มีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ สามารถนำน้ำกากส่าจากการผลิตเอทานอลมาปรับสภาพและหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยบริษัท มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 125,000 ลบ.ม.ต่อวัน จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 90,000-100,000 ลบ.ม.ต่อวัน พร้อมกันนี้ ยังสามารถนำกากหม้อกรองมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีและวัสดุปรับปรุงดิน รวมกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่เครือข่ายเกษตรกรชาวไร่อ้อยของ ESC อีกด้วย

จาก http://www.naewna.com วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

น้ำตาลขอนแก่น’ ดันลูกเข้าตลาด

“น้ำตาลขอนแก่น” ดันธุรกิจเอทานอลเข้าจดทะเบียน ไตรมาส3 ปีหน้า ขยายกำลังการผลิตอีก 2 แสนลิตรต่อวัน งบลงทุน 1,000-1,200 ล้านบาท

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) KSL เตรียมนำ บริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ จำกัด (KKA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอล โดยใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 3.5 แสนลิตรต่อวัน โดยเตรียมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ปี2560

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการของบริษัท เปิดเผยว่า ภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ บริษัทจะยังคงถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% จาก 100% ในปัจจุบัน โดยเงินระดมทุนหลักจะนำไปขยายโรงงานผลิตเอทานอลแห่งใหม่ เพิ่มกำลังการผลิตอีก 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1,000 - 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะต่อยอดไปยังธุรกิจไบโอ พลาสติก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีผู้เล่นมากนัก และตลาดยังไม่ได้ขยายตัวในวงกว้าง

“โดยหลักแล้วการขยายกำลังการผลิตเอทานอลจะทำเพื่อผลิตพลังงานเป็นหลัก แต่บริษัทก็กำลังหาโอกาสที่จะต่อยอดไปยังธุรกิจไบโอพลาสติก ซึ่งบริษัทกำลังมองหาพันธมิตรที่มีเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาร่วม เพราะบริษัทมีวัตถุดิบอยู่แล้ว”

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้น ปัจจุบันอยู่ที่ราว 23-24 เซนต์ต่อปอนด์ โดยฟื้นตัวจากราว 11 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปี และหลังจากนี้ก็มีโอกาสที่ราคาน้ำตาลจะปรับตัวขึ้นไปอีกได้ หากปริมาณการผลิตและสต๊อกสินค้ายังคงขาดแคลน

“โดยปกติแล้ววัฏจักรของราคาน้ำตาลจะอยู่ราว 2 ปี ซึ่งหลังจากนี้ราคาก็มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปต่อได้ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ อย่าง สต๊อกสินค้ากันต่อไป เพราะหากราคาสูงขึ้นถึงจุดหนึ่งก็จะมีผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยราคาน้ำตาลเคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราว 33 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อปี 2554 ทั้งนี้ราคาน้ำตาลที่ปรับตัวขึ้นรอบนี้น่าจะส่งผลบวกอย่างชัดเจนในปีหน้ามากกว่า เพราะผลผลิตในปีนี้ขายออกไปล่วงหน้าเกือบหมดแล้ว”

ด้านนายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า การขยายธุรกิจเอทานอลในครั้งนี้บริษัทต้องการที่จะต่อยอดไปทำไบโอ พลาสติก ซึ่งเป็นการสนองต่อนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล โดยหลังจากขยายกำลังการผลิต จะทำให้บริษัทขึ้นไปเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของประเทศ

จาก http://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เร่งคืนสิทธิที่ดินเกษตรกร

เกษตรฯ ลงนามเอ็มโอยู ธ.ก.ส.-บจธ.นำร่องปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเกษตรกร 800 ราย 202 ล้าน คืนสิทธิที่ดินทำกินจากหนี้นอกระบบ

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) สำหรับการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดินปี 2559 กับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ดีในช่วงที่ผ่านมา มีปัจจัยมาจากสภาพดินฟ้าอากาศ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้เกษตรกรเกิดปัญหาหนี้สินจนบางรายถึงขั้นต้องเสียสิทธิในการครอบครองที่ดินทำกินของตัวเองไป โดยนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือ การเร่งแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

“กระทรวงเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร โดยเฉพาะที่ดินที่ถูกนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินจนอาจถูกยึดที่ดินทำกินไป เบื้องต้นมีเกษตรกรที่ผ่านการอนุมัติให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) กว่า 808 ราย รวมวงเงิน 202.74 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรกลุ่มนี้ ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยยังมีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อชก. อีกจำนวน 330 ราย รวมเป็นวงเงิน 323.17 ล้านบาท ที่จะทยอยพิจารณาอนุมัติออกมา” นายธีรภัทร กล่าว

ทั้งนี้ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2559 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยพบว่าหนี้สินเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบที่มีภาระในการผ่อนชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูง โดยใช้กลไกตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนหมุนเวียน เพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ. 2546 และข้อบังคับ บจธ.ว่าด้วยการให้สินเชื่อเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินเกษตรกรรม พ.ศ. 2559 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและช่องทางให้เกษตรกรมีโอกาสในการรักษาสิทธิในที่ดินตัวเองต่อไป

นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวว่า เกษตรกรกลุ่มแรกๆ จะเข้าไปช่วยเหลือคือ กลุ่มเกษตรกรที่มีแนวโน้มที่ดินทำกินหลุดจำนองแน่นอนและกลุ่มที่ขายฝาก โดยเบื้องต้นจะปล่อยสินเชื่อเงินกู้วงเงินรายละ 8 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่ปัจจุบันคิดกันในอัตรา 15% ต่อปี หรือบางรายต่อเดือนก็มี ซึ่งเกษตรกรที่มีสิทธิได้รับพิจารณาสินเชื่อจะต้องมีภาระหนี้นอกระบบอย่างหนักจากการกู้หนี้มาใช้ทำการเกษตรและเป็นเจ้าของที่ดินเอง ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 5-10 ไร่ อย่างไรก็ดี ขั้นตอนต่อไปที่ บจธ.กำลังดำเนินการคู่ขนานกับการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรที่จ่อจะเสียสิทธิในที่ดินทำกินตัวเองคือ การเข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าของที่ดินทำกินเกษตรที่หลุดจำนองไปแล้ว เพื่อซื้อที่ดินเกษตรคืนก่อนจะจัดสรรให้เกษตรกรที่ยากจนและไร้ที่ดินทำกินต่อ โดยคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลและเริ่มจัดสรรได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้

“เกษตรกรที่มีที่ดินหลุดมือไปแล้ว ปัจจุบันมีหลายแสนครอบครัวต้องเช่าที่นาตัวเองทำนา ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ทาง บจธ.มีงบประมาณเพื่อเข้าไปซื้อที่ดินว่างเปล่านำมาจัดสรรให้กับกลุ่มสหกรณ์และเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน (รับจ้างทำนา) รวมทั้งเจรจากับเจ้าของที่ดินใหม่ที่เกษตรกรขายและเช่าที่ดินตัวเอง เพื่อซื้อที่ดินคืนแล้วให้เกษตรกรมาผ่อนกับ บจธ.หรือ ธ.ก.ส.แทน เพื่อให้เกษตรกรกลับมาเป็นเจ้าของเอง” นายสถิตย์พงษ์ กล่าว

จาก http://www.posttoday.com วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขับเคลื่อนพลังงานสู่ Energy 4.0

            พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2560 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ในด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 59.4% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 64.5% และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็น 9.6% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้เพียง 6.4% รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือ 16.8% ซึ่งเดิมในปี 2559 ใช้อยู่ที่ 18.6%

              แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP จะลดความเข้มการใช้พลังงานลง 8.20 ktoe ต่อพันล้านบาท หรือคิดเป็น 3.98% โดยจะเร่งดำเนินการในมาตรการกำกับดูแลการอนุรักษ์พลังงานตามกฎหมายสำหรับโรงงานและอาคารควบคุม และมาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรม 5,500 แห่ง อาคาร 2,000 แห่ง และอาคารภาครัฐ 850 แห่ง โดยมีเป้าหมายการลดใช้พลังงาน จำนวน 314 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) พร้อมทั้งการผลักดันและส่งเสริมมาตรฐาน Building Code สำหรับอาคารใหม่ เพื่อผลักดันการบังคับใช้ในอาคารขนาดใหญ่ขนาดพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร ในปี 2560 ซึ่งจะมีการตรวจประเมินและรับรองแบบอาคารใหม่ จำนวน 150 อาคาร และการศึกษามาตรฐานพลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย โดยจะสำรวจข้อมูลบ้านอยู่อาศัยขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จำนวน 1,500 ตัวอย่าง และจัดทำต้นแบบบ้านประหยัดพลังงาน 12 แบบ

             แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP จะดำเนินการรวบรวมศักยภาพของพลังงานทดแทนในรายภาคเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความเป็นจริง เร่งรัดให้มีการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับโรงไฟฟ้าที่มีใบอนุญาตแล้ว (PPA) จำนวน 9,327.15 เมกะวัตต์ ในปี 2560 การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาลงทุนในด้านผลิตพลังงานความร้อน โดยพิจารณาแนวทางสนับสนุน (Heat Incentive) ในเป้าหมายจำนวน 7,115.10 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น อาทิ เอทานอล 3.84 ล้านลิตร/วัน และไบโอดีเซล 3.67 ล้านลิตร/วัน ในปี 2560

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ESC คาดมีอ้อยเข้าหีบ 3.4 ล้านตันฯดันยอดผลิตน้ำตาลพุ่ง

นายกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน)

บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก เตรียมพร้อมรับอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 59/60 คาดการณ์มีปริมาณอ้อยกว่า 3.4 ล้านตัน แม้ช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกจะมีปัญหาภัยแล้งคุกคาม มั่นใจผลิตน้ำตาลเพิ่มได้เป็น 3.78 แสนตัน รับจังหวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกขาขึ้น พร้อมนำผลพลอยได้ไปสร้างความมั่นคงให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล เอทานอลและก๊าซชีวภาพ

นายกิตติศักดิ์  วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC  ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ฯลฯ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2559/60 โดยเพิ่มกำลังการผลิตหีบอ้อยเฉลี่ยต่อวันเป็น 36,000 ตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 34,000 ตัน เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะมีปริมาณ 3.4 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกก็ตาม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบจะดีขึ้นกว่าปีก่อน ส่งผลดีต่อการผลิตน้ำตาลในรอบการผลิตปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มเป็น 3.78 แสนตัน หรือคิดเป็นผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) อยู่ที่ 108.64 กิโลกรัมน้ำตาล โดยคาดว่าค่าความหวานในอ้อยเฉลี่ยจะสูงขึ้นเป็น 12 ซี.ซี.เอส เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลิตน้ำตาลได้ 3.53 แสนตัน จากยิลด์เฉลี่ย 102.64 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยมีค่าความหวานเฉลี่ยอยู่ที่ 11.57 ซี.ซี.เอส ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออกที่ดีขึ้น

“ปัญหาภัยแล้งจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบไม่มากนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านการเพาะปลูกและการผลิตที่ดี โดยโรงงานได้ร่วมกับชาวไร่คู่สัญญาเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยเข้าหีบมาโดยตลอด หวังรักษาศักยภาพการผลิตน้ำตาลทรายอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง และผลักดันผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยให้สูงขึ้น เพื่อรองรับโอกาสในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ชาวไร่มีโอกาสทำรายได้จากการเพาะปลูกที่เพิ่มขึ้น และทางโรงงานเองยังสามารถนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อไป”

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2559/60 จะสามารถสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 78 MW และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวม 48 MW และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะขายไฟฟ้าเพิ่มอีก 20 MW หลังจากขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มอีก 55 MW ที่ตกลงจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ ยังสามารถนำกากน้ำตาลมาช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจผลิตเอทานอล ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายก๊าซชีวภาพ สามารถนำน้ำกากส่าจากการผลิตเอทานอลมาปรับสภาพและหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยบริษัทฯ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 125,000 ลบ.ม.ต่อวัน จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 90,000-100,000 ลบ.ม.ต่อวัน พร้อมกันนี้ ยังสามารถนำกากหม้อกรองมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีและวัสดุปรับปรุงดิน รวมกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้แก่เครือข่ายเกษตรกรชาวไร่อ้อยของ ESC อีกด้วย

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

กลุ่มน้ำตาลฯมั่นใจภัยแล้งไม่กระทบการผลิต

นายกิตติศักดิ์ วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี2559/60 โดยเพิ่มกำลังการผลิตหีบอ้อยเฉลี่ยต่อวันเป็น 36,000 ตัน จากเดิมที่ผลิตได้ 34,000 ตัน เพื่อรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะมีปริมาณ 3.4ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แม้ว่าในหลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูกก็ตาม

จาก http://www.banmuang.co.th วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

เร่งคืนสิทธิในที่ดินให้เกษตรกรหนี้ล้นมือ นำร่อง 809 ราย กลางเดือน ต.ค.นี้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน ปี 2559

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯกำลังเร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้ในระบบแต่เสียดอกเบี้ยสูง โดยใช้เงินช่วยเหลือของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนของ บจธ. เบื้องต้นมีเกษตรกรผ่านการพิจารณาช่วยเหลือด้านเงินกู้จากคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน (อชก.) ส่วนจังหวัด และ อชก.ส่วนอำเภอ จำนวน 809 ราย วงเงิน 202.74 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 330 ราย วงเงิน 323.17 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 525.91 ล้านบาท แต่กระทรวงเกษตรฯติดปัญหาเรื่องงบประมาณ จึงได้ลงนามเอ็มโอยู เพื่อให้ บจธ.และ ธ.ก.ส. เข้ามาช่วยเหลือด้านเงินกู้แทน คาดภายใน 1-2 สัปดาห์ บจธ.และ ธ.ก.ส.จะสามารถอนุมัติเงินกู้ช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มแรกก่อน 809 ราย

“เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบต้องจ่ายดอกเบี้ย 3-4% ต่อเดือน โดยนำที่ดินไปค้ำประกันนายทุน หรือขายฝากที่ดินโดยโอนกรรมสิทธิ์ให้เลย และซื้อคืนทีหลัง ทำให้โอกาสสูญเสียสิทธิในที่ดินสูงมาก เพราะดอกเบี้ยแพงและจ่ายไม่ไหว จึงเร่งช่วยเหลือเพื่อเกษตรกรไม่ต้องเสียสิทธิในที่ดินทำกิน เฉลี่ยจะมีที่ดินรายละ 5-15 ไร่ และให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำกว่า 3 % ต่อปี รวมทั้งสนับสนุนให้ประกอบอาชีพอื่น” นายธีรภัทรกล่าว

นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า บจธ.จะดำเนินการไถ่ถอนที่ดินจากนายทุนแทนเกษตรกรก่อน เพื่อให้เกษตรกรกลับมามีสิทธิในที่ดินและนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกู้เงินอัตรา 3% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 800,000 บาทต่อราย ระยะชำระคืนสูงสุด 30 ปี พร้อมกับช่วยไกล่เกลี่ยด้วยกรณีที่มีปัญหา

สำหรับความคืบหน้า บจธ.เตรียมยกระดับเป็นธนาคารที่ดิน สังกัดกระทรวงการคลัง โดยมี 3 ภารกิจหลัก คือ 1.การป้องกันการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร 2.การกระจายถือที่ดินในประเทศ 3.การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ได้จัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดินเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และผ่านความเห็นชอบ ครม.ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก่อนให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมาย คาดจะสามารถจัดตั้งธนาคารที่ดิน ภายในเดือนกรกฎาคม 2560

นายอดุลย์ กาญจนวัฒน์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบและไม่สามารถชดใช้หนี้สินเองได้ ส่วนใหญ่ 60% เป็นเกษตรกรจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ดินเฉลี่ยต่อราย 14-15 ไร่

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

เงินเฟ้อ ก.ย.สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เพิ่ม 0.38% ทำ 9 เดือน เงินเฟ้อกลับมาบวก 0.02%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2559 เท่ากับ 106.68 สูงขึ้น 0.38% เทียบกับ ก.ย.2558 ซึ่งขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับส.ค.2559 เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.04% โดยเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน สูงขึ้น 0.02%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อบวกเป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.47% ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.24% สินค้าสูงขึ้น เช่น เนื้อหมู ผักสด ไข่ไก่ อาหารบริโภคในบ้าน

ทั้งนี้ จากการติดตามสินค้า 450 รายการ พบว่า มีสินค้า 139 รายการปรับราคาสูงขึ้น สินค้า 199 รายการที่ระดับราคาทรงตัว และสินค้า 112 รายการที่ปรับราคาลดลง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯยังคงประมาณการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ขยายตัว 0.0-1.0% ภายใต้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.3% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35-37 บาท/เหรียญสหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

พาณิชย์คุยคู่ค้ารุมตอมไทย ปี60 เปิดแฟ้มถก FTA คึกคัก /ส่งไม้อธิบดีใหม่สานต่อ

กรมเจรจาการค้าชี้ไทยเนื้อหอมสุดๆ ต่างชาติทั้งในเอเชีย และยุโรปรุมตอมขอเปิดเจรจาเอฟทีเอ-เจรจาขยายการค้า หลังระดับผู้นำประเทศเดินทางเยือนนำร่อง ไล่ตั้งแต่ บังกลาเทศ ศรีลังกา สวิตเซอร์แลนด์เยอรมนี มัลดีฟส์ เนปาล ขณะเอฟทีเอที่ยังค้างทั้ง RCEP อาเซียน-ฮ่องกงไทย-ปากีสถาน ส่งไม้อธิบดีคนใหม่สานต่อ

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

นางสาวศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” (ก่อนเกษียณอายุราชการ)ว่า กรมยังคงเดินหน้าเจรจาเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศที่น่าสนใจและประเทศดังกล่าวสนใจจะเจรจากับไทยเช่นกัน ทั้งนี้มีหลายประเทศที่สนใจจะเจรจาเอฟทีเอกับไทยภายหลังการเดินทางเยือนนานาประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อาทิ บังกลาเทศ ที่ไทยเห็นว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพทั้งทางด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของ2ประเทศ ไทยเองยินดีที่จะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า(JTC)ไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่4 ที่บังกลาเทศจะเป็นเจ้าภาพเร็วๆนี้ ทั้งนี้ไทยมีมูลค่าการค้า(ส่งออก+นำเข้า)กับบังกลาเทศในปี2558 มูลค่ารวม 903 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปีนี้ช่วง 8 เดือนแรก การค้าสองฝ่าย มีมูลค่าการค้ารวม 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“กับศรีลังกา กระทรวงพาณิชย์ผลักให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าไทย-ศรีลังกา ครั้งที่ 2 เพื่อแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน และหาช่องทางเพิ่มมูลค่าเพิ่มทางค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยกำหนดเป้าหมายเพิ่มค่าการค้าระหว่างกันไว้ที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี2560”

ขณะที่ในส่วนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้มีการหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการลงทุน และปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน โดยการค้ากับสวิตเซอร์แลนด์ในช่วง8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 6,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัว 50% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในปี 2558 การค้าไทย-สวิตเซอร์แลนด์มีมูลค่า 7,066 ล้ายดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17%

ส่วนเยอรมนีเองไทยได้เชิญชวนให้เยอรมนีมาลงทุนในไทย โดยที่เยอรมนีได้แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและเห็นว่าการปรับปรุงพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยไทยมีมูลค่าการค้ากับเยอรมนีช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มูลค่า 6,807 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทั้งปี 2558 การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 9,834ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 6%

ด้านประเทศมัลดีฟส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เตรียมจะเดินทางไปดูลู่ทางโอกาสทางการค้าในช่วงเดือนตุลาคมนี้ และจะมีการหารือกับทางมัลดีฟส์ในการผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้ขยายตัว โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561(จากปี 2558 การค้าไทย-มัลดีฟส์มีมูลค่า 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

“นอกจากนี้ยังมีเนปาลที่ขอให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้า รวมถึงให้สิทธิพิเศษทางภาษีส่วนไทยเองขอให้เนปาลช่วยผลักดันให้ความตกลง BIMSTEC FTA สรุปผลโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิกโดยรวมซึ่งรวมถึงไทยและเนปาลด้วย”

นางสาวศิรินารถ กล่าวอีกว่า ในส่วนเอฟทีเอที่ยังค้างอยู่นั้น อธิบดีกรมเจรจาฯ คนใหม่(บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร) จะสานต่อได้และมั่นใจในฝีมือและการทำงาน โดยเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(RCEP หรืออาเซียน+6) อาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งในส่วนของ RCEP ได้สรุปผลประเด็นสำคัญแล้วในปีที่ผ่านมา และมีเป้าหมายที่จะเจรจาประเด็นทางด้านเทคนิคในรายละเอียดต่อไป เพื่อสรุปผลการเจรจาในประเด็นสำคัญที่ยังค้างให้ได้ตามเป้าหมายในปีนี้ โดยการประชุมครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2559 ที่ประเทศเวียดนาม

“ส่วนเอฟทีเอไทย-ปากีสถานแม้จะได้มีการเจรจากันไปแล้ว 5 รอบและอยู่ระหว่างยื่นสินค้าที่จะลดภาษีระหว่างกัน เช่น สินค้าอะไรที่ต้องลดภาษีให้เป็น 0% และสัดส่วนเท่าไหร่ โดยได้ตั้งเป้าจะลงนามความตกลงในปี 2560 ส่วนเอฟทีเออาเซียน-ฮ่องกงมีเป้าหมายสรุปผลการเจรจาภายในปีนี้”

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

เอกชนชี้ศก.โลกยังไม่ตํ่าสุด ส่งออกปี60อย่าหวังเกิน1%

สภาผู้ส่งออกชี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และยังซึมต่อ ชี้ปัจจัยเสี่ยงเพียบทั้งเบร็กซิท-นโยบายการค้า ลงทุนของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ประเมินปีหน้าส่งออกไทยโตได้บวกหรือลบ 1% ไม่น่าขยายตัวได้ถึง 3% ตามเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์ ด้าน “สุวิทย์” ลุ้นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นฉุดส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน-สินค้าเกษตรพุ่งตาม

การค้าระหว่างประเทศของไทยช่วง 8 เดือนแรกปี 2559

จากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมล่าสุด มีมูลค่า 1.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 5 เดือน และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม 2559 ที่ขยายตัว 1.3% ขณะภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวลดลง หรือยังติดลบที่ 1.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ประเมินการส่งออกของไทยในปี 2559 คาดจะขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย หรือหากจะติดลบไม่เกิน 1% นั้น

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยังคาดการณ์ส่งออกของไทยในปี 2559 จะติดลบที่ประมาณ 2% เพราะยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะทำให้การส่งออกไทยกระเตื้องดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบยังเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกรณีที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรที่จะอ่อนค่าลงมาก จะกระทบการส่งออกไทยไปยุโรปในปีหน้า นอกจากนี้ยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ว่าผลจะเป็นอย่างไร และนโยบายด้านการค้า การลงทุนของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่คือนางฮิลลารี คลินตัน หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์จะเป็นอย่างไร จะกระทบกับไทยหรือไม่

“ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้เพราะมองว่าเศรษฐกิจในสหรัฐฯยังไม่ดีจริง คงต้องรอดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ถ้ารัฐบาลใหม่เน้นการค้าการลงทุนลดความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น แต่ถ้านโยบายใหม่มาสร้างความขัดแย้งโลกก็ยังไม่สงบ ถือว่ายังมีปัจจัยเสี่ยง และถ้าจีนกับสหรัฐฯยังทะเลาะกันแบบนี้ความเสี่ยงของโลกยังมีอยู่อีก 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย ขณะที่ทางสภาผู้ส่งออกมองเศรษฐกิจโลกเวลานี้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นอาจจะยังไม่ปรับในช่วงนี้แต่อาจจะไปปรับในช่วงที่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อเอาใจก็เป็นไปได้”

จากปัจจัยเสี่ยงหลักที่กล่าวมา ยังไม่รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการก่อร้าย ภัยธรรมชาติ การกีดกันทางการค้า และอื่นๆ คาดในปี 2560 การส่งออกของไทยจะขยายตัวจากปี 2559 ได้ในอัตราบวก หรือลบ 1% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2560 ในเบื้องต้นขยายตัวได้ที่ 3% มองว่าคงทำได้ไม่ถึงเพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกคือแนวโน้มราคาน้ำมันในเดือนตุลาคมถึงธันวาคมที่น่าจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะมีผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและความต้องการตลาดโลก

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

โครงสร้างใหม่ก.อุตฯยังไม่ผ่าน'สมคิด' สั่งกลับไปหารือ ก.พ.ร. 

          ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2560-2579) กระทรวงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องปรับปรับโครงสร้างองค์กร ภารกิจงานและบทบาทใหม่ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0

          โดยนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายให้จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่

          ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา คือ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมทั้งแนวดิ่งและแนวราบ สร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน, เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและสังคมผู้ประกอบการ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิรูปองค์กรภาครัฐให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็น "กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ" Ministry of Industry and Entrepreneur (MIE) และยุทธศาสตร์ที่ 3 เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกลับเศรษฐกิจโลก

          ยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงประกอบไปด้วยเรื่องกฎหมาย ภาษีส่งเสริมการลงทุน การออกแบบการผลิต องค์กรเฉพาะทางเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ศูนย์บริการข้อมูล Rescue การมาตรฐาน การเพิ่มผลผลิต โดยกำหนด 5 เป้าหมายภายใน 20 ปี จะต้องมีผู้ประกอบการใหม่จำนวน 150,000 ราย มีสัดส่วนการลงทุนเติบโตปีละ 10% จากเดิมอยู่ที่ 2% ด้านผลิตภาพเติบโตปีละ 2% จากเดิมอยู่ที่ 0.7% ด้านการส่งออกเติบโตปีละ 8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมเติบโตปีละ 4-5% ปัจจุบันโตอยู่ที่ 3% ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง

          ผ่าตัดพลิกโฉมโครงสร้างใหม่

          การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการปรับโครงสร้าง ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานได้เสนอแนวคิดใหม่แบบพลิกโฉมทีเดียว

          โดยโครงสร้างใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม มีสำนักงานรัฐมนตรีกำกับ จะปรับการทำงานให้มีความยืดหยุ่นสำหรับ 4 กลุ่มงานหลัก คือ 1.กลุ่มสำนักงานปลัดกระทรวง ทำหน้าที่บริหารงานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส่วนภูมิภาค สำนักงานอุตสาหกรรมภาค และบริหารส่วนกลางในภูมิภาค

          2.กลุ่มการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม เป้าหมาย มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สอช.) ทำหน้าที่บริหาร โดยจะมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. พัฒนาอุตสาหกรรม และมีกองทุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา มาทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการ S-Curve โดยมีสำนักการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน ขณะเดียวกันภายใต้ พ.ร.บ.ฯ จะมีสำนักงานการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานแห่งชาติ (SPRING) เข้ามากำกับดูแลงาน 4 ส่วน

          นอกจากนี้จะจัดทำร่าง พ.ร.บ. พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ โดยมีสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติบริหาร และนำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติขึ้นมาดำเนินงานต่อไป

          3.กลุ่มการพัฒนา SME และผู้ประกอบการ มีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการบริหาร

          4.กลุ่มการส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบการ มีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติ บริหาร และมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (เปลี่ยนมาดูผลิตภาพทั้งประเทศ) ซึ่งปัจจุบันผลิตภาพของประเทศอยู่ที่ 1.1% แบ่งเป็นผลิตภาพด้านอุตสาหกรรม 0.7% ซึ่งตามแผนต้องการให้ผลิตภาพของทั้งประเทศอยู่ที่ 2.5%

          ทั้งนี้ ยังเตรียมโครงการ Flagships ต่าง ๆ เช่น  Industrial Transformation Centre (Disign/Commercial Testing) และการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (World Food Valley Thailand) สำหรับผู้ประกอบการทุกกลุ่มทุกอุตสาหกรรม S-Curve

          กรมต่าง ๆ ในกระทรวงจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เช่น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเปลี่ยนเป็น สำนักงานคณะกรรมการอุตสาหกรรมชีวภาพ เพราะอ้อยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio) ได้ หรือแม้แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ (กพร.) อาจต้องย้ายไปอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โครงสร้างใหม่ของกระทรวงจะเกิด พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นอีก 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรม, พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ, พ.ร.บ.ส่งเสริมผลิตภัณฑ์แห่งชาติ, พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ ขึ้นมารองรับการเกิด สำนักงานการมาตรฐานแห่งชาติ ที่กำลังจะ แยกออกมาจากสำนักงานมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)"

          ชง "สมคิด" ดัน 4 พ.ร.บ.ใหม่

          ในการประชุมคณะกรรมการเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรม และมาตรฐานแห่งชาติ (Spring Board) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 30 ก.ย.นี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอวาระ 7 เรื่อง เพื่อพิจารณา 1.ร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (2560-2579) เป็นกรอบการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเฉพาะด้านของประเทศ 2.เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็น กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ 3.เสนอปรับโครงสร้างการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสำนักงานปลัดกระทรวง กลุ่มการ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย กลุ่มพัฒนา SME และผู้ประกอบการ กลุ่มส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการ

          4.เสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ เสนอต่อ ครม. 5.เสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งชาติ เสนอต่อ ครม. 6.เสนอให้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ เสนอต่อ ครม.และ 7.เห็นชอบ โครงการ Flagships ต่าง ๆ เช่น Industrial Transformation Centre (Disign/Commercial Testing) และการพัฒนา อุตสาหกรรมอาหาร (World Food Valley Thailand) ทั้งนี้ ผลการประชุมนายสมคิดได้เห็นชอบแนวคิดกาปรับโครงสร้างกระทรวงฯใหม่ แต่ให้กลับไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกครั้ง

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ตำบลอุ่มจานขานรับตั้งโรงงานน้ำตาล

สกลนคร/ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศาลาวัดบ้านสนามบิน ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร นายบุญชู อุ้มจันสา กำนัน ต.อุ่มจาน ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอกุสุมาลย์ พร้อม ผญบ. และชาวบ้านกว่า 300 คน ได้มาเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์กันเองของชาวบ้าน กรณีจะมีกลุ่มทุนเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อจะก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ บ.สนามบิน ต.อุ่มจาน เรื่องนี้ทำให้แกนนำองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์บางคน ออกมาขวางและต่อต้านการก่อสร้างโรงงาน พร้อมทั้งโฆษณาชวนเชื่อต่อชาวบ้านว่าหากมีโรงงานอ้อยและน้ำตาลขึ้น จะทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย ทั้งยังกระทบต่อลำน้ำอูนที่อยู่ใกล้ๆ กับที่ตั้งของโรงงาน เพราะน้ำเสียจะไหลลงลำน้ำทำให้สัตว์น้ำตายลง นอกจากนี้จะมีการปล่อยควันพิษออกมาด้วย ส่วนถนนหนทางสัญจรไปมาก็จะเสียหาย เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง

บรรยากาศการทำประชาพิจารณ์กันเองครั้งนี้ มีการเขียนป้ายข้อความต่างๆ มีเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ.29 ค่ายกฤษณ์สีวะรา และ จนท.จากอำเภอกุสุมาลย์ มาคอยสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งหลังจากที่กำนัน ต.อุ่มจาน กล่าวผลดีผลเสียของการก่อสร้างโรงงานแล้ว ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นของ ผญบ.เกือบหมดทั้งตำบล และชาวบ้านที่ได้เดินทางไปดูงานที่โรงงานน้ำตาล ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ แล้วกลับมาเล่าสิ่งที่ไปเห็นมาให้ชาวบ้านที่ไม่ได้ไปดูฟัง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์ มีตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยชรา ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า สิ่งที่ได้ยินมาจากแกนนำองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ (NGO) ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่ได้ไปเห็นมากับตาไม่ได้มีความเลวร้ายดังที่หวั่นเกรง ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงานแม้แต่หยดเดียว ทุกอย่างมีระบบบำบัดครบถ้วน ไม่มีแม้แต่กระทั่งกลิ่นเหม็น

          นางรัตนา ประทีภา ราษฎร บ.อุ่มจาน หมู่ 1 ต.อุ่มจาน กล่าวว่า ในความรู้สึกก็ดีที่คนในชุมชนจะมีรายได้ ตามปกติชาวบ้านก็ทำนา หลังจากนั้นก็ไม่มีรายได้ ก็อยู่บ้านเฉยๆ ส่วนน้องๆ ที่เรียนจบก็ไปทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ถ้ามีแหล่งงานในชุมชนแล้วความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต ชาวบ้านก็ไม่ออกนอกพื้นที่เพราะมีงานในพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะนักวิชาการก็ควบคุมทั้งระบบ คงไม่ปล่อยให้กระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่ควรจะมีเอกสารออกมาแจกจ่ายให้กับชาวบ้านก็จะโอเค. ตอนนี้โรงงานยังไม่เกิดแต่คิดไปก่อนว่าจะป่วยเป็นโรคนั้นโรคนี้ ไม่มีโรงงานก็ป่วยอยู่แล้ว ถ้างั้นตรงไหนมีโรงงานคนทั่วไปก็ตายกันหมด ฉะนั้น คนที่ออกมาคัดค้านมีแค่ส่วนเดียวซึ่งน้อยมากแล้วยังให้ข้อมูลชาวบ้านผิดๆ เทียบกับชาวบ้านผู้อยากได้โรงงานไม่ได้เลย

นายบุญชู อุ้มจันสา กำนัน ต.อุ่มจาน ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอกุสุมาลย์ กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่แทบทั้งหมด อยากให้มีโรงงานเพราะคุณภาพชีวิตจะได้ดีขึ้น จากการที่ได้ไปดูงานทุกส่วนของโรงงานแล้วรู้สึกมั่นใจมาก เพราะการบริหารจัดการค่อนข้างเป็นเลิศ ส่วนที่มีคนคัดค้านนี้ ตนเห็นว่าเขาคงจะไม่ได้ไปดูหรือไม่ได้เข้าไปศึกษาตัวที่จะมาสร้างว่าเป็นยังไง จึงมีแนวคิดที่เห็นต่าง เช่น หวั่นกระทบกับมลภาวะ กระทบกับน้ำ เป็นต้น ซึ่งจากการที่ตนกับชาวบ้านนับร้อยได้ไปดูมาแล้ว ไม่รู้สึกหนักใจอีกต่อไป ตนพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆ ได้ไปศึกษาผลกระทบต่างๆ แล้ว เห็นว่าไม่มีผลกระทบใดๆ ที่จะมีต่อชาวบ้าน อีกอย่างมี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลควบคุมอยู่ ทางโรงงานไม่น่าจะปล่อยให้กระทบกับการก่อสร้างโรงงานอย่างแน่นอน อ้อยและน้ำตาลเป็นสิ่งใหม่ ส่วนใหญ่ชาวบ้าน อ.กุสุมาลย์จะทำนา คราวนี้จะได้แบ่งพื้นที่มาปลูกอ้อยบ้าง

จาก http://www.banmuang.co.th  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ตีตกงบฯตั้งสถาบันเกษตรนวัตกรรม 

          ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า ความคืบหน้าในการจัดตั้งมูลนิธิสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรและนวัตกรรม ซึ่งได้เสนอของบประมาณปี 2560 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวงเงิน 350 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณสนับสนุน ทำให้มูลนิธิไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ วางไว้ว่าจะเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ 30 กันยายน 2559

          นางสาวชุติมากล่าวว่า หลังจากเสนอของบประมาณปี 2560 ไม่ผ่าน ได้ส่งมอบงานนี้ให้กับ นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการต่อ โดยได้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อขอรับงบฯกลางสนับสนุนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสำหรับใช้ดำเนินการในปีแรก จากนั้นจะเสนอขอเป็น งบประมาณในปี 2561 ต่อไป

          สำหรับแผนการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม ได้ดำเนินการ จดทะเบียนตั้งเป็นมูลนิธิ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ร่วมกันยื่นจดจัดตั้ง และมีนางสาวชุติมาในฐานะปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมูลนิธิคนแรก มีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารสถาบัน และมี เจ้าหน้าที่ 14 คน ปฏิบัติงานภายใต้การกำกับของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ และคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการ เอกชน และเกษตรกร  โดยครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม เสนอของบประมาณ 750 ล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตร 10 รายการ สร้างมูลค่าเพิ่ม 20,000 ล้านบาท  ใน 5 ปี และภายหลังลดวงเงินที่เสนอขอเหลือเพียง 350 ล้านบาทซึ่งใช้เพื่อพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย เชื่อมโยงสู่ผู้ผลิต สร้างตลาดเชิงรุกนำร่องในน้ำมันจากข้าว และแป้งข้าวก่อน

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ค่าบาทแตะ 34.59/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทจากธนาคารกรุงเทพ ประจำวันจันทร์ 3 ต.ค. 2559 ค่าเงินบาทเปิดตัวที่ระดับ 34.59/63 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับการปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. 2559 ที่ระดับ 34.65/68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากข่าวว่าธนาคารดอยซ์แบงค์จะเจรจากับทางการสหรัฐ ในการจ่ายค่าปรับลดลง เพื่อยุติการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (mbs) อย่างไรก็ตามโดยนักลงทุนในตลาด จับตามองตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในช่วงวันศุกร์ (7 ต.ค.) นี้ โดยนักลงทุนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น อยู่ที่ 170,000 ตำแหน่ง อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทก็จะอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 34.55-35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

จาก http://www.prachachat.net วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

เอกชนชี้ศก.โลกยังไม่ตํ่าสุด ส่งออกปี60อย่าหวังเกิน1%

สภาผู้ส่งออกชี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และยังซึมต่อ ชี้ปัจจัยเสี่ยงเพียบทั้งเบร็กซิท-นโยบายการค้า ลงทุนของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ประเมินปีหน้าส่งออกไทยโตได้บวกหรือลบ 1% ไม่น่าขยายตัวได้ถึง 3% ตามเป้าหมายกระทรวงพาณิชย์ ด้าน “สุวิทย์” ลุ้นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นฉุดส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน-สินค้าเกษตรพุ่งตาม

จากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมล่าสุด มีมูลค่า 1.88 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 5 เดือน และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 เดือน นับจากเดือนมีนาคม 2559 ที่ขยายตัว 1.3% ขณะภาพรวมการส่งออกของไทยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 1.41 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวลดลง หรือยังติดลบที่ 1.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ประเมินการส่งออกของไทยในปี 2559 คาดจะขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย หรือหากจะติดลบไม่เกิน 1% นั้น

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยังคาดการณ์ส่งออกของไทยในปี 2559 จะติดลบที่ประมาณ 2% เพราะยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะทำให้การส่งออกไทยกระเตื้องดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบยังเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกรณีที่อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรที่จะอ่อนค่าลงมาก จะกระทบการส่งออกไทยไปยุโรปในปีหน้า นอกจากนี้ยังต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ว่าผลจะเป็นอย่างไร และนโยบายด้านการค้า การลงทุนของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่คือนางฮิลลารี คลินตัน หรือนายโดนัลด์ ทรัมป์จะเป็นอย่างไร จะกระทบกับไทยหรือไม่

“ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้เพราะมองว่าเศรษฐกิจในสหรัฐฯยังไม่ดีจริง คงต้องรอดูว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ถ้ารัฐบาลใหม่เน้นการค้าการลงทุนลดความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น แต่ถ้านโยบายใหม่มาสร้างความขัดแย้งโลกก็ยังไม่สงบ ถือว่ายังมีปัจจัยเสี่ยง และถ้าจีนกับสหรัฐฯยังทะเลาะกันแบบนี้ความเสี่ยงของโลกยังมีอยู่อีก 1-2 ปีเป็นอย่างน้อย ขณะที่ทางสภาผู้ส่งออกมองเศรษฐกิจโลกเวลานี้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นอาจจะยังไม่ปรับในช่วงนี้แต่อาจจะไปปรับในช่วงที่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่เพื่อเอาใจก็เป็นไปได้”

จากปัจจัยเสี่ยงหลักที่กล่าวมา ยังไม่รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการก่อร้าย ภัยธรรมชาติ การกีดกันทางการค้า และอื่นๆ คาดในปี 2560 การส่งออกของไทยจะขยายตัวจากปี 2559 ได้ในอัตราบวก หรือลบ 1% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2560 ในเบื้องต้นขยายตัวได้ที่ 3% มองว่าคงทำได้ไม่ถึงเพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกคือแนวโน้มราคาน้ำมันในเดือนตุลาคมถึงธันวาคมที่น่าจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะมีผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและความต้องการตลาดโลก

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

รัฐบาลเตรียมจ่ายชดเชยพื้นที่เกษตรเสียหาย กว่า 120,000 ไร่ 13 จังหวัด

รัฐบาลเตรียมจ่ายชดเชยพื้นที่เกษตรเสียหาย กว่า 120,000 ไร่ 13 จังหวัด ขณะที่กรมชลประทานลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนบริเวณคันกั้นน้ำกับตลิ่งแม่น้ำ

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการป้องกันช่วยเหลือน้ำหลากในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทองที่เขื่อนพระราม 6 อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ จึงอยากสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือพร้อมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลาก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 59) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 42,659 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เกษตร 121,619 ไร่ รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด จำนวน 38 อำเภอ 198 ตำบล 1,011 หมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะมีการจ่ายค่าชดเชยและช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ เป็นต้น จึงขอให้มีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะยึดหลักประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคันกั้นน้ำกับตลิ่งแม่น้ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,762 ลบ.ม./วินาที เทียบกับ 1,998 ลบ.ม./วินาที ก่อนวันที่  30  กันยายนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม  จากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558/2559 ทำให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกช้ากว่าปีปกติ คือ เริ่มประมาณเดือนมิถุนายน –กรกฎาคม  ทำให้ขณะนี้ยังมีข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการที่ Gistda ใช้ดาวเทียมถ่ายภาพสำรวจ พบว่า มีปริมาณน้ำในลำน้ำมาก แต่ไม่มากเท่าปี 2554 ปัจจุบันยังมีพื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในอีก 1 เดือน รัฐบาลจึงมีความห่วงใยเกษตรกร จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานพิจารณาการผันน้ำ ซึ่งหากพื้นที่ใดยังไม่ได้ทำการเก็บเกี่ยวจะไม่มีการผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตร

พลเอกฉัตรชัย  กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มองพื้นที่ภาพรวมได้มีการหารือกับทุกฝ่ายและตัดสินใจดำเนินการโดยยึดประชาชนเป็นหลัก โดยการผันน้ำออกฝั่งซ้ายขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ยังมีโอกาสฝนตกใต้เขื่อน ทำให้มีน้ำหลากเกิดขึ้นอีก จึงต้องเร่งระบายน้ำ โดยทางที่เร็วที่สุด คือ การระบายทางตรงผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับน้ำท่วมขังในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ลุ่มต่ำนั้น เป็นการท่วมระหว่างคันกั้นน้ำกับแม่น้ำยังไม่ล้นคันกั้นน้ำ จึงยังไม่มีการปล่อยน้ำส่วนนี้เข้าพื้นที่เกษตรกรที่เก็บเกี่ยวแล้ว เพราะน้ำยังไม่มากเกินไปแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถรับได้

ส่วนกรณีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์น้ำใกล้จะเต็มเขื่อนนั้น ถือเป็นลักษณะปกติ เพราะมีพื้นที่รับน้ำมากสามารถระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้เขื่อนพระราม 6 ได้ ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประมาณ 1,600 ลบ.ม./วินาที หากจะท่วม กทม.ต้องมีน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 3,800 ลบ.ม./วินาที แต่ได้สั่งการให้กรมชลประทานพยายามรักษาระดับน้ำไว้แค่เพียง 2,000 ลบ.ม./วินาที และให้ลดการระบายน้ำลงอีก ถ้ามีปริมาณฝนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ จึงอยากสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือพร้อมจ่ายค่าชดเชย ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมน้ำหลาก (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 59) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 42,659 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เกษตร 121,619 ไร่ รวมทั้งสิ้น 13 จังหวัด จำนวน 38 อำเภอ 198 ตำบล 1,011 หมู่บ้าน โดยรัฐบาลจะมีการจ่ายค่าชดเชยและช่วยเหลือปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ เป็นต้น จึงขอให้มีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งได้มีการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะยึดหลักประชาชนเป็นสำคัญ

จาก http://www.prachachat.net  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

รมว.เกษตรฯสั่งกรมชลปรับลดระบายน้ำ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สั่งกรมชลประทาน ปรับลดระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำที่บ้านบางหลวงโดด และ อ.บางบาล ลดลงอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคันกั้นน้ำกับตลิ่งแม่น้ำ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,762 ลบ.ม./วินาที เทียบกับ 1,998 ลบ.ม./วินาที จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาลงตามนโยบาย ก่อนลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 59 ส่งผลให้น้ำที่บ้านบางหลวงโดด และ อ.บางบาล ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนสถานการณ์น้ำปัจจุบัน หากจำเป็นต้องปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ในทุกพื้นที่จะต้องแจ้งล่วงหน้า โดยจะใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ตรวจสอบด้วยทางวิทยาศาสตร์ลดผลกระทบในพื้นที่เกิดความเสียหาย และจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือจ่ายชดเชยให้เกษตรกร เช่น นาข้าว ไร่ละ 1,113 บาท และให้ทุกพื้นที่ลดผบกระทบให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จก่อนผันน้ำเข้าทุ่งอีกด้วย

จาก http://www.innnews.co.th วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

'สมคิด'คุยปรับภารกิจโครงสร้าง ใช้กระทรวงอุตฯและผู้ประกอบการ 

          รองนายกฯ"สมคิด"ประชุมร่วมกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาตั้งภารกิจ-ปรับโครงสร้างให้ชัดเจน ครอบคลุม พร้อมเปลี่ยนชื่อกระทรวงให้เหมาะ

          ผู้สื่อข่าวรายงานกระทรวงอุตสาหกรรมว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานประชุมทบทวนภารกิจและการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีการพิจารณารวมถึงการเปลี่ยนชื่อเป็น "กระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ" และปรับเปลี่ยนภารกิจแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจนพร้อมเปลี่ยนชื่อหลายหน่วยงานด้วย

          โดยนายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมข้อมูลในการนำเสนอ 3 ประเด็น ที่สำคัญคือ เรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลได้ และยังเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ตลอดจนโครงการสำคัญที่เป็น Flagship Project ของกระทรวงฯ เช่น ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Thailand Industrial Designศูนย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอี หรือ SME Rescue Center โครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่โลกFood Valley และ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village)

          สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด ประกอบด้วย 6 กรม1 รัฐวิสาหกิจ และ 11 สถาบันเครือข่ายร่วมด้วยรวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Developing Bank) เข้าร่วมด้วย

จาก http://www.siamrath.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ไทย-จีนต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจ5ปี

สศค. ชี้ ไทย-จีนต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีหนุนความสัมพันธ์เน้นแฟ้น ดันเศรษฐกิจโต

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 11.1 ของมูลค่าส่งออกไทยรวมในปี 58 นอกจากนี้ จีนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 20.3 ของมูลค่านำเข้ารวม ในปี 58 ดังนั้น การต่ออายุแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปีฉบับเดิมที่จะหมดอายุลง ณ สิ้นปี 59 นี้ไปอีก 5 ปี หรือ ต่ออายุไปจนถึงปี 64 ซึ่งแผนดังกล่าวครอบคลุมความร่วมมือทั้งสิ้น 14 สาขา จะทำให้ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของไทยและจีนเน้นแฟ้นขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่การเติบโตจากภายในประเทศมากขึ้น อาจทำให้จีนมีแนวโน้มลดการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศรวมถึงไทย ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงดังกล่าวด้วย

จาก http://www.innnews.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

KSLส่งลูกเข้าตลาดหุ้น ชนะคดีได้เงินคืน68ล้าน

KSL แจกข่าวดี ส่งขอนแก่นแอลกอฮอล์เข้าตลาดหุ้น ศาลปกครองสูงสุดพลิกให้ชนะคดีกองทุนอ้อยและน้ำตาลรับเงิน 68.91 ล้าน พร้อมดอกเบี้ย 7.5%นายจำรูญ ชินธรรมมิตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559 อนุมัติให้นำบริษัท ขอนแก่นแอลกอฮอล์ (KKA) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าน่าจะยื่นคำขอเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ในไตรมาส 3 ปี 2560 ภายหลังการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) แล้ว ทาง KSL จะยังคงถือหุ้นใน KKA ในสัดส่วน 70% โดยนำหุ้นประมาณ 30% มาเสนอขายให้กับประชาชน

จาก http://www.posttoday.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 20 ปี

การชูนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการนำพาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศหนึ่ง ที่กาวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้าง เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังจะเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี(2560-2579) ให้นายสมคิด จาจุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบภายในเร็วๆนี้ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งถือเป็นแผนที่นำทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 ให้ได้

ทั้งนี้ เท่าที่เห็นแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะประกอบไปด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและมูลค่าของการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ลดของเสียจากภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มอัตราการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการดำเนินการของผู้ประกอบการจะประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์ ที่สำคัญได้แก่ 1.1 การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะมีการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งตี่การพัฒนาวัตถุดิบ การผลิต และจำหน่าย สร้างการเชื่อมโยงผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายย่อยในคลัสเตอร์ เป็นต้น

1.2 การเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและสังคมผู้ประกอบการ ที่จะเข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะ และให้เกิดการยกระดับด้วยนวัตกรรม เป็นต้น และ 1.3 การยกระดับผลิตภาพ มาตรฐาน และนวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้า เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นการปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญา มีเป้าหมายในการเพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา เพิ่มจำนวนนักวิจัยในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มมูลค่าเพิ่มของผลผลิตของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มจำนวนแรงงานคุณภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และปฏิรูปองค์กรภาครัฐเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งประกอบไปด้วย 3 กลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ 2.1 การพัฒนาระบบนิเวศรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม ให้เอื้อต่อการประกอบกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม เช่น การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ พัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดานดิจิตอลมารองรับ

2.2 การปฏิรูปองค์กรภาครัฐให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างของกระทรวงอุตสาหกรรมให้มีความยืดหยุ่น ที่จะปรับเปลี่ยนจากหน่วยงานกำกับดูแล มาเป็นหน่วยงานที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น การปรับปรุงการจัดตั้งและยุบหน่วยงานรัฐให้ง่ายขึ้น และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานตามบทบาทหน้าที่ และ2.3 การพัฒนาทักษะ องค์ความรู้รองรับการเปลี่ยนแปลง เช่น การยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกร การเชื่อมโยงนวัตกรรมและอง๕ความรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เป็นการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มการลงทุนในผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเพิ่มการขยายตัวของอุตสาหกรรมกลุ่มเป้หมาย ประกอบด้วยไปด้วย 3 กลยุทธ์ ได้แก่ 3.1 การเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดด้วยดิจิตอล 3.3 ส่งเสริมการลงทุนขยายฐานการผลิตในและนอกประเทศ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของโลก

ทั้งนี้ หมดนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ภาพกว้างๆในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีเป้าหมายว่า จะเพิ่ม GDP ภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี และผลิตภาพรวม เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 ต่อปี

จาก http://www.thansettakij.com  วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559