http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนตุลาคม 2563]

อุตฯน้ำตาลวูบหนักรอบ 10 ปี 7 ปัจจัยเสี่ยงรุมซัดกระหน่ำ

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยตั้งอยู่บนความเสี่ยงอย่างน้อย 7 ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออนาคตของโรงงานน้ำตาล และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย

หลายปีก่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลอยู่ในกลุ่มสินค้าและพืชเกษตรที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอ้อยที่มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่ชัดเจน  และเป็นพืชเกษตรที่มีราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรนับแสนครัวเรือนที่กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ แห่ปลูกอ้อยกันจำนวนมาก ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกก็มีแรงหนุนที่ดี จากการบริโภคของโลกที่สูงขึ้น โดยไทยยืนอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเพราะเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์ 2 ของโลก

แต่สถานการณ์วันนี้อาจกำลังไปสู่โหมดตรงข้าม เนื่องจากวิกฤติภัยแล้งของโลก และข้อกังวลใหญ่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเปลี่ยนไป ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) ถึงความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตามองให้ดีนับจากนี้ไป

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า

นายอภิชาติ มองว่า ปี2564 ทั้งโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยยังต้องรับศึกหนักจากปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่ยังรุมเร้าต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศที่อาจไม่เอื้อต่อการปลูกอ้อย  ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การบริโภคน้ำตาลของโลกชะลอตัวลง  อีกทั้งการสูญเสียตลาดส่งออกน้ำตาลของไทยครั้งรุนแรงที่สุด ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังผันผวน (ดูกราฟิกปัจจัยเสี่ยงประกอบ)

และถ้าโฟกัสให้ดีตัวแปรสำคัญต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจะพบว่า 1. กำลังซื้อทั้งหมดในโลกลดลง (ภาวะปกติที่ควรจะเป็นจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี) 2. การผลิตน้ำตาลจากประเทศบราซิลเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นประมาณ 9-10 ล้านตันน้ำตาลในปีการผลิตปัจจุบัน จากราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลในบราซิลทำการผลิตน้ำตาลมากขึ้น เพราะขายได้ราคามากกว่าน้ำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอล

ถ้ามองอีกด้าน ก็จะพบว่าเกษตรกรมีการปรับตัวในการผลิตมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ที่ได้ราคาดีกว่า หรือมีการปรับปรุงต้นทุนการผลิตอ้อยให้ดีขึ้น  ในขณะที่โรงงานน้ำตาลจะมีการทำงานที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรมากขึ้นในการวางแผนการปลูกและการผลิต

ห่วงปริมาณอ้อยวูบ

ปี 2563/2564 ฤดูผลิตใหม่ที่เริ่มเดือนตั้งแต่ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป พยากรณ์กันว่าปริมาณอ้อยจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ ที่มีปริมาณอ้อยมากกว่า 100 ล้านตันอ้อยต่อปี โดยคาดว่าจะมีปริมาณอ้อยประมาณ 65-70 ล้านตัน เป็นปริมาณที่น้อยเกินไปกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลต่อหน่วยสูงขึ้นจากกำลังการผลิตที่มีจำนวนมาก และอาจจะสูญเสียตลาดบางส่วนในการส่งออกในระยะยาวหากว่าการผลิตอ้อยยังน้อยต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ส่งออกต่ำสุดรอบ 10 ปี

สำหรับราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับสูงขึ้นมาที่ระดับ 14 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากที่เกิดความกลัวและเทขายออกมาจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาจากที่วิกฤติไวรัสโควิด-19 แต่ราคาน้ำตาลน่าจะกลับเข้ามาสู่ภาวะที่สมดุลมากขึ้น แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าการผลิตที่มากกว่าการบริโภคในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ก็ตาม เนื่องจากยังมีความกลัวเรื่องปริมาณน้ำตาลที่จะส่งออกจากประเทศอินเดีย (มีการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลมากขึ้น แต่รัฐบาลของอินเดียจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการสนับสนุนราคาในการส่งออกน้ำตาลในปีการผลิตที่จะถึงนี้ และยังคงค้างชำระหนี้ในการสนับสนุนการส่งออกกับโรงงานน้ำตาลเป็นจำนวนมากในฤดูการผลิตล่าสุดที่ผ่านมา) รวมถึงความต้องการลดความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงทางอาหารที่สูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศ และภาคเศรษฐกิจและการเมืองที่มีความผันแปรมากขึ้น

ส่วนไทยคาดว่าจะเหลือการส่งออกน้ำตาลประมาณ 4.0 - 4.5 ล้านตัน ในฤดูการผลิตใหม่ และน่าจะลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี เทียบจากก่อนหน้านี้ไทยส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกแต่ละปีตั้งแต่ 7-11 ล้านตัน

รง.น้ำตาลเสี่ยง

นายอภิชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า น่าจับตานับจากนี้ไป โรงงานน้ำตาลอาจเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงสูงจากปริมาณอ้อยจะลดลงจากปีที่ผ่านมา รวมถึงความเสี่ยงที่ต่อเนื่องในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า หากภาวะราคาน้ำตาลยังไม่สูงขึ้นมาอย่างเด่นชัด ก็ยากที่จะทำให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกอ้อยมากขึ้นเหมือนเดิม

ขณะที่คาดว่าการบริโภคน้ำตาลของคนไทยในปีปัจจุบันน่าจะลดลงประมาณ 7-8% จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ประเมินโดยภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังยืนอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 31 ตุลาคม 2563

พืชป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนวุ่น “ปลัดเกษตร” รอถกพลังงาน

แผนปลูกพืชพลังงาน คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากยังไม่คืบ ปลัดเกษตรแง้มชงสภาพัฒน์ดันเกษตรจดทะเบียนนิติบุคคล เข้าระบบแปลงใหญ่ ตั้งเป้าเฟสแรก 2,000 แปลง พร้อมอัดฉีด 6 พันล้าน ล่าสุดไทยมีวิสาหกิจชุมชนจดตั้งนิติบุคคลแค่ 460 รายเท่านั้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากำหนดเป้าหมายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ไว้ที่ 1,933 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 10.3% ของแผนพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด แบ่งเป็นชีวมวล 600 เมกะวัตต์ สัดส่วน 3.2% ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงานหมุนเวียน) 600 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 3.2%ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 183เมกะวัตต์ สัดส่วน 1% และไฮบริด+พลังงานแสงอาทิตย์ น้อยกว่า 40% อีก 550 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.9%

สำหรับรูปแบบโครงการนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) กลุ่มผู้เสนอโครงการที่เป็นเอกชน หรือเอกชน+องค์กรของรัฐ สัดส่วน 90% และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสัดส่วน 10% ซึ่งต้องเป็นวิสาหกิจที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เป็นผู้ปลูก/จัดหาเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 80% โดยผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าต้องทำสัญญาคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อจัดหาวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า

ล่าสุด นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นทราบแนวคิดนโยบายกระทรวงพลังงานในการประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังไม่ได้รับการประสานว่าจะมีการหารือถึงเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ปลูกพืชพลังงานตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

“ผมยังไม่ได้มีการประชุมไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการ หรือกำหนดการประชุมใด ๆ หรือรับนโยบายพืชพลังงานแต่อย่างใด หากการประชุมมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบ ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรฯนั้นมีเพียงการขับเคลื่อนนโยบายแปลงใหญ่ และปรับแก้กฎหมายวิสาหกิจชุมชน ให้เข้าร่วมแปลงใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น”

ที่ผ่านมากระทรวงมีนโยบายสนับสนุนเกษตรกรเข้าระบบแปลงใหญ่ให้มากขึ้นซึ่งเร็ว ๆ นี้จะได้เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้แก้ไขปรับเกณฑ์เพื่อเปิดทางให้วิสาหกิจชุมชน รูปแบบแปลงใหญ่จดทะเบียนนิติบุคคลให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมาย 2,000 แปลง งบประมาณสนับสนุน 3 ล้านบาทต่อแปลง เข้าไปช่วยยกระดับเทคโนโลยีด้านการเกษตร สร้างรายได้ พึ่งพาตนเอง

รายงานข่าวจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 เป็นฉบับปี พ.ศ. 2562 ซี่งเดิมกฎหมายไม่ได้รับรองวิสาหกิจชุมชนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล หากต้องการฐานะเป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายอื่นร่วมด้วย การแก้กฎหมายจะช่วยให้ชุมชนสามารถนำความรู้และทรัพยากรในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสินค้าและบริการ สร้างรายได้เพิ่ม

ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบาทในฐานะที่ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยให้กรมและสำนักงานเกษตรจังหวัดทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการรับเรื่องประสานงาน ติดตามผลการดำเนินการ

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 92,584 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ต.ค. 63) มีสมาชิกรวมกัน 1,558,968 ราย แต่จากข้อมูลตามทะเบียนวิสาหกิจชุมชน พบว่า มีวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องน้อยมาก รวมกันประมาณ 460 ราย แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 31 ตุลาคม 2563

สศก. โชว์ผล Zoning by Agri-Map เคลมเพิ่มรายได้จริงเกษตรกร

สศก. ตามผลงานโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรฯ ปรับปรุงพื้นที่ตามความเหมาะสม ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ข้าว-ยางพารา

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตโดยเฉพาะสินค้าข้าวและยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามแผนที่เกษตรช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก จัดทำแผนที่แสดงชั้นข้อมูลความเหมาะสมพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นทางเลือก โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานในพื้นที่ ทั้งการถ่ายทอดความรู้ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วนสำหรับการปรับเปลี่ยนการผลิต

ทั้งนี้ สศก. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ 2562 ซึ่งกำหนดพื้นที่เป้าหมาย 24 จังหวัด พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสม จำนวน 138,595 ไร่ เป็นการทำประมง หญ้าเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจอื่น เช่น อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง รวมถึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และเกษตรผสมผสาน โดยในฤดูการผลิตปี 2562/63 เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมอื่นข้างต้น ร้อยละ 42 ได้รับผลผลิต เช่น อ้อยโรงงาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมดแล้ว ร้อยละ 21 ได้ผลผลิตบางส่วน อีกร้อยละ 37 ยังไม่ได้รับผลผลิต เนื่องจากอยู่ในระหว่าง รอการเก็บเกี่ยว และเป็นไม้ผลไม้ยืนต้น ซึ่งให้ผลตอบแทนในระยะยาว โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 89 ยังคงผลิตสินค้าที่ปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง และเกษตรกรร้อยละ 28 ต้องการขยายพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยรายละ 5 ไร่

"พาณิชย์"จัดงานสร้างเครือข่ายสินค้าไทยแนะใช้ FTA ขยายส่งออกตลาดโลก

ด้านการประเมินผลทางเศรษฐกิจ พบว่า ทุกชนิดสินค้าที่เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการปลูกข้าว โดยผลตอบแทนสุทธิการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สูงกว่า 2,696 บาท/ไร่/ปี อ้อยโรงงาน สูงกว่า 1,408 บาท/ไร่/ปี เกษตรผสมผสาน สูงกว่า 643 บาท/ไร่/ปี ประมง สูงกว่า 286 บาท/ไร่/ปี และหญ้าเลี้ยงสัตว์ สูงกว่า 285 บาท/ไร่/ปี

ทั้งนี้ ในภาพรวมเกษตรกร พึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิตบางส่วน ไม่ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนด้วยตนเองมากนัก หลังจากได้รับผลผลิตแล้วช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่ทำประมงและเกษตรผสมผสานสามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนได้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการในระยะต่อไปควรดำเนินกิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการผลิต ถ่ายทอดความรู้สำหรับการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รวมทั้งผลักดันให้สหกรณ์เข้ามามีบทบาท ในการจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มอีกทางหนึ่ง โดยเกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนการผลิตตามพื้นที่ Agri-Map สามารถขอคำแนะนำได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 31 ตุลาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท"ทรงตัว"ทรงตัวจนกว่าจะผ่านช่วงเลือกตั้งของสหรัฐในสัปดาห์หน้า

อัตราแลกเปลี่ยนค่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวในคืนที่ผ่านมาหลังจากมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและการทำกำไรของบริษัทใหญ่ที่แข็งแกร่ง โดยดัชนี S&P 500 กับ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.2%  และ 1.6% ตามลำดับ

การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเห็นได้ชัดหลังทางการสหรัฐประกาศจีดีพีไตรมาสที่ 3 ครั้งแรกฟื้นตัวขึ้นถึง 33.1% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) ด้วยแรงหนุนของการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว 40.7% ขณะที่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (U.S. initial jobless claims) ก็ลดลงเหลือเพียง 7.51 แสนตำแหน่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้

ส่วนฝั่งนโยบายการเงิน ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นที่ระดับ -0.1% และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัว 2.6% ในปี 2021 ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่า “ไม่ลังเล” ที่จะมีนโยบายการเงินเพิ่มเติมเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าสถานการณ์โควิดยังคงไม่คลี่คลายในช่วงไตรมาสนี้

ด้วยภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและนโยบายการเงินที่ไม่เปลี่ยนแปลง บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี จึงดีดตัวขึ้น 8bps กลับที่ระดับ 0.84% โดยมีเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น 0.5% นอกจากนี้ก็มีราคาน้ำมันและทองคำที่ปรับตัวลง 3.5% และ 0.5% เข้ามาประกอบ ทั้งสกุลเงินผันผวนสูงเช่นดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และสกุลเงินปลอดภัยเช่นเยนญี่ปุ่น (JPY) จึงปรับตัวลงพร้อมกัน

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบโดยมีเพียงนักเก็งกำไรซื้อสลับขายจากมุมมองการเปิดหรือปิดรับความเสี่ยงของตลาด ในช่วงสั้น เชื่อว่าเงินบาทจะทรงตัวในระดับปัจจุบันได้ไปจนกว่าจะผ่านช่วงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจ้างงานกว่า 3 หมื่นรายฤดูผลิต 63/64

ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียมงบประมาณเพื่อจ้างลูกจ้างชั่วคราวในช่วงของการหีบอ้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,342 อัตรา เป็นเงินจำนวน 83,360,800 บาท จากเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นการนำเงินจากกองทุนฯ มากระตุ้นเศรษฐกิจ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเร่งเดินหน้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียมงบประมาณเพื่อจ้างลูกจ้างชั่วคราวในช่วงของการหีบอ้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,342 อัตรา เป็นเงินจำนวน 83,360,800 บาท จากเงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ถือเป็นการนำเงินจากกองทุนฯ มากระตุ้นเศรษฐกิจ

พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชากรในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในการดำเนินการในช่วงของการ  หีบอ้อยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ดำเนินการจ้างแรงงานมาอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูการหีบอ้อย ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ นอกจากในส่วนของภาครัฐที่มีการจ้างแรงงานชั่วคราวในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ช่วงของการหีบอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะเปิดหีบในช่วงเดือนธันวาคมแล้วนั้น ทางโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 แห่ง ก็ได้เตรียมแผนการจ้างงานเพื่อเข้ามาทำงานในช่วงของการหีบอ้อย โดยคาดว่าแต่ละโรงงานจะมีการจ้างแรงงานชั่วคราวกว่า 500 อัตรา รวมการจ้างแรงงานชั่วคราวทั่วประเทศในโรงงานน้ำตาลกว่า 29,000 อัตรา สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 800 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

“อาคเนย์ มันนี่” อัดเงิน 400 ล้านหนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อย

 “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ผุด “อาคเนย์ มันนี่” รุกธุรกิจสินเชื่อครบวงจร เตรียมวงเงินกว่า 400 ล้านบาท หนุนการเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในเครือโรงงานน้ำตาลของทีซีซี

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการเปิด “อาคเนย์ มันนี่” หรือ “SOUTHEAST MONEY” (SEMONEY) บริษัทด้านการเงินเพื่อธุรกิจและรายย่อย ภายใต้แนวคิด “Financial Solutions” ผสานนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการด้านการเงินทั้งเพื่อธุรกิจและส่วนบุคคล ผสานการออกแบบกระบวนการที่กระชับและดิจิตอลเทคโนโลยี เพื่อกระบวนการอนุมัติที่รวดเร็ว ไร้รอยต่อ ลดขั้นตอน สะดวกสบายยิ่งขึ้น  และวางแผนธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ

“เรามีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่เข้าใจทุกคนที่มีความจำเป็นและต้องการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อให้ชีวิตและธุรกิจไปต่อได้ ทั้งในยามปกติและภาวะฉุกเฉิน เราจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการทางการเงินใหม่ๆ เช่น อาคเนย์ มันนี่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อในราคาที่เหมาะสม รวดเร็ว และได้รับการปฏิบัติจากผู้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม”

 นายไตรรงค์ บุตรากาศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “อาคเนย์ มันนี่” มีเป้าหมายในการเป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการด้านนวัตกรรมการเงินแบบครบวงจรสำหรับองค์กร (Completed and Innovative Enterprise’s Financial Solution) ตั้งแต่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อพนักงาน สินเชื่อบุคคลทั่วไปแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อสำหรับ Suppliers and Buyers โดยมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการนำ digital technology เข้ามาใช้

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ความรวดเร็ว และบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม โดยโครงการแรกของบริษัทฯ คือ โครงการ “รับซื้อลดเช็คเกษตรกรชาวไร่อ้อย” เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มบริษัททีซีซี สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้นานสูงสุดถึง 18 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสนับสนุนเกษตรของเครือทีซีซี โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าว่าจะมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,600 ราย วงเงินสินเชื่อเบื้องต้นกว่า 400 ล้านบาท เกษตรกรที่สนใจขอรับสินเชื่อได้แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป หรือตามรอบฤดูกาล

 “เราตั้งใจทำให้การขอสินเชื่อเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากโดยจัดเก็บเอกสารและโอนเงินแบบออนไลน์ครบจบที่หน้าโรงงาน ช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยผ่านการรับซื้อลดเช็คค่าอ้อยและเช็คค่าบำรุงอ้อยที่เป็นเช็คของโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชรซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลในเครือก่อนในระยะแรก โดยจะเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกร นำเงินสดไปใช้หมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายปลูกอ้อย เช่น ค่าปุ๋ย ค่าคนงานตัดอ้อยและค่าซ่อมรถบรรทุก เป็นต้น ในแต่ละฤดูกาลผลิตอ้อย”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เตรียมจ้างแรงงานหีบอ้อยชั่วคราวฤดู 63/64 กว่า 30,000 อัตรา

“สุริยะ” ขานรับนโยบายของภาครัฐเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจจ้างแรงงานในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 แห่ง จ้างงานชั่วคราวโรงละ 500 อัตรา กว่า 29,000 อัตรา สร้างรายได้กว่า 800 ล้านบาท หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเร่งเดินหน้าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ได้เตรียมงบประมาณเพื่อจ้างลูกจ้างชั่วคราวในช่วงของการหีบอ้อยทั่วประเทศ จำนวน 1,342 อัตรา เป็นเงิน จำนวน 83,360,800 บาท จากเงิน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

ถือเป็นการนำเงินจากกองทุนฯ มากระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชากรในชุมชนท้องถิ่น

ซึ่งการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในการดำเนินการในช่วงของการหีบอ้อยนั้น สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ดำเนินการจ้างแรงงานมาอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูการหีบอ้อย ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้นำไปพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ นอกจากในส่วนของภาครัฐที่มีการจ้างแรงงานชั่วคราวในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ช่วงของการหีบอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่คาดว่าจะเปิดหีบในช่วงเดือนธันวาคมแล้วนั้น ทางโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศรวม 57 แห่ง ก็ได้เตรียมแผนการจ้างงานเพื่อเข้ามาทำงานในช่วงของการหีบอ้อย

โดยคาดว่าแต่ละโรงงานจะมีการจ้างแรงงานชั่วคราวกว่า 500 อัตรา รวมการจ้างแรงงานชั่วคราวทั่วประเทศในโรงงานน้ำตาลกว่า 29,000 อัตรา สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 800 ล้านบาท ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

“จุรินทร์” สั่งลุย JTC อินเดีย เคลียร์อุปสรรค-ดันส่งออกโค้งสุดท้าย

“จุรินทร์”เตรียมใช้เวที JTC ไทย-อินเดีย 29 ต.ค.นี้ เคลียร์อุปสรรคการค้า หลังพบอินเดียออกมาตรการนำเข้าปุ๋ย-แหล่งกำเนิดสินค้าป้องกันการสวมสิทธิ์เอฟทีเอเข้มมาก หวั่นกระทบผู้ส่งออกไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียมีความกังวล หลังพบว่าอินเดียออกมาตรการด้านการนำเข้าในหลายสินค้า เช่น มาตรฐานสินค้าเคมีภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2564 นี้

คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย ล่าสุดมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-อินเดีย (JTC ไทย-อินเดีย) ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2563 นี้ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อหาทางออกเรื่องนี้

“เวทีเจทีซีประชุมหลังจากไม่ได้มีการประชุมมาร่วม 10 ปี ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะนำประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เข้าไปหารือและพูดคุย เพื่อหาทางออกและลดอุปสรรคร่วมกัน อีกทั้งเพิ่มมูลค่าการค้า-การส่งออกให้มากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ล่าสุดรายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ระบุว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 กรมสรรพากรของอินเดียประกาศกฎระเบียบศุลกากรใหม่ โดยปรับปรุงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าโดยเฉพาะสินค้าในความตกลงการค้าเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 กันยายน 2563 ซึ่งอินเดียอ้างว่าต้องการป้องกันการทุ่มตลาดจากประเทศที่ 3ที่มีเอฟทีเอ อาทิ ประเทศสมาชิกอาเซียน เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น

“ประกาศดังกล่าว กรมสรรพากรจะเข้มงวดในการตรวจหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) และใบตราส่งสินค้า (B/L) โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อตรวจพิสูจน์ข้อมูลในใบ C/O และ B/L จากผู้นำเข้าหรือตัวแทน จึงประสานขอข้อมูลจากผู้ผลิตในประเทศต้นทางเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า (origin criteria) ตามความตกลงการค้านั้น ๆ ซึ่งข้อมูลบางรายการเป็นข้อมูลด้านการตลาด ซึ่งเป็นความลับทางการค้า รายละเอียดมีมากเกินไป ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนและความล่าช้าของสินค้า”

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการขอตรวจสอบข้อมูลนั้น ศุลกากรของอินเดียหากสงสัยในเอกสาร ข้อมูลในใบ C/O และ B/L สามารถส่งข้อมูลเพื่อขอยืนยันจากประเทศต้นทางได้ แต่พบว่าเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบ ทำให้การนำเข้าสินค้าล่าช้า สินค้าคงค้างที่คลังไม่ถูกกระจายสินค้าออกไป

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยกังวลการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย และไทย-อินเดีย เพื่อออกใบ C/O และ B/L ในการใช้สิทธิลดภาษี เพราะหากไม่ใช้จะมีภาษีเพิ่มขึ้น เช่น จอทีวีแอลอีดี เสียภาษีนำเข้า 5% เป็นต้น โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2563 พบว่าไทยใช้สิทธิ์เอฟทีเอ ต่อมูลค่าการส่งออกไทยไปอินเดียในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ์ อยู่ที่ 83.48% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ที่สิทธิ์ 72.02%

สินค้าที่มีการใช้สิทธิ์กันมาก 10 อันดับแรก เช่น เครื่องปรับอากาศโพลิคาร์บอเนต ตู้เย็นที่มีตู้แช่แข็งโพลิอะไมด์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ เป็นต้น สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทย-อินเดีย ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2563 คิดเป็นมูลค่ารวม 3,507.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกจากไทยมูลค่า 2,029.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 23.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 1,477.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า จำนวน 551.85 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า โดยปกติอินเดียนำเข้าแม่ปุ๋ยเป็นหลัก แต่ไม่ได้นำเข้าจากไทย ซึ่งมาตรการนำเข้าสินค้ากรณีปุ๋ยเคมีไม่กระทบต่อผู้ส่งออกไทย เนื่องจากไทยส่งออกปุ๋ยสำเร็จรูป และส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

จับตา 'สถานการณ์น้ำ' และภาพรวมเขื่อน รับมือพายุ (29 ต.ค.63)

อัพเดทสถานการณ์น้ำ-เขื่อน รับมือพายุฝน แต่ละแห่งมีปริมาณน้ำเท่าไร? ขณะนี้มีประเทศไหนที่ประสบภาวะน้ำท่วมแล้วบ้าง?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) ฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2563 โดยมีการระบุรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ

ปัจจุบันสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมทั้งหมด 46,915 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% แต่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีก่อนหน้า 2562 ประมาณ 3,766 ล้าน ลบ.ม. ที่มีอยู่ราว 50,681 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67% ของความจุอ่าง โดยขณะนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 22,984 ล้าน ลบ.ม. โดยสามารถรับน้ำได้อีก 29,199 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมทั้งหมด 12,426 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 50% ของความจุอ่าง โดยเป็นปริมาณที่ใช้การได้ราว 5,730 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของความจุน้ำใช้การ มีปริมาณน้ำระบายอยู่ราว 8.99 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทำให้ยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีก 12,4445 ล้าน ลบ.ม.

จับตาสถานการณ์น้ำอ่างที่เกิน 80%

ขณะเดียวกัน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ "มากกว่า 80% ขึ้นไปของความจุอ่าง" วันนี้พบทั้งหมด 7 อ่าง ดังนี้

 1.ลำตะคอง จ.นครราชสีมา

ปริมาตรน้ำวันนี้ 348 ล้าน ลบ.ม. หรือ 111% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 1.99 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำที่รับได้อีก 0 ล้าน ลบ.ม.

2.หนองปลาไหล จ.ระยอง

ปริมาตรน้ำวันนี้ 177 ล้าน ลบ.ม. หรือ 108% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.65 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำที่รับได้อีก 0 ล้าน ลบ.ม.

3.ขุนด่านปราการชล จ.นครนายก

ปริมาตรน้ำวันนี้ 224 ล้าน ลบ.ม. หรือ 100% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.50 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำที่รับได้อีก 0 ล้าน ลบ.ม.

4.ลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา

ปริมาตรน้ำวันนี้ 150 ล้าน ลบ.ม. หรือ 97% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.27 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำที่รับได้อีก 5 ล้าน ลบ.ม.

5.มูลบน จ.นครราชสีมา

ปริมาตรน้ำวันนี้ 132 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.72 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำที่รับได้อีก 9 ล้าน ลบ.ม.

6.จุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ

ปริมาตรน้ำวันนี้ 152 ล้าน ลบ.ม. หรือ 93% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.22 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำที่รับได้อีก 12 ล้าน ลบ.ม.

7.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

ปริมาตรน้ำวันนี้ 1,683 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 0.50 ล้าน ลบ.ม.

ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 283 ล้าน ลบ.ม.

เผยความลับเหลือเชื่อ วิธีถูกหวย 2-3 งวดติด

สถานการณ์อุทกภัย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันประสบทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี นครปฐม สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สอน.เตรียมเปิดให้บริการรับจดทะเบียนชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย ประจำปี 63 ครั้งที่ 2

เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ดีๆ ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยจะเริ่มให้บริการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2563 (เว้นวันหยุดราชการ) ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. โดยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียน ได้ที่เขตบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย 1-8 และหน่วยประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่งทั่วประเทศ ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น

สิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับจากการจดทะเบียน ขอเชิญพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกท่านจดทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ

1. ได้รับสิทธิ์ในการส่งอ้อยเข้าโรงงานอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2. ได้รับเงินค่าอ้อยเพิ่มขึ้นกรณีที่การประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายมากกว่าราคาอ้อยขั้นต้น

3. ได้รับการสนับสนุนและการให้ความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็ก รวมถึงโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร

ทังนี้ สามารถโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-202-3290 หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ประกาศในเว็บไซต์สำนักงาน www.ocsb.go.th หัวข้อ “ประกาศ-คำสั่ง” เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการรับบริการ

จาก https://www.thairath.co.th  วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กษ.จับมือปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาคนสู่ผู้นำภาคเกษตรยุคใหม่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายขับเคลื่อนงานพัฒนาการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านการส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรครอบคลุมทั่วถึงยั่งยืน กรมจึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เพื่อสร้างความร่วมมือผลิตพัฒนากำลังคนทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ให้สอดคล้องการพัฒนากำลังคนภาคการเกษตร ส่งเสริมสนับสนุนการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาเด็ก และเยาวชน ยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer และ Smart Farmer รวมทั้งพัฒนาบุคลากรทั้งสองฝ่าย โดยแบ่งปันทรัพยากรบุคลากร นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ วัสดุอุปกรณ์ และข้อมูลส่งเสริมการเกษตรซึ่งกันและกัน

สำหรับการพัฒนาบุคลากรทางการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น ดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องทุกระดับผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่เยาวชนผ่านกระบวนการพัฒนายุวเกษตรกร ปัจจุบันมี 5,292 กลุ่ม สมาชิก 121,121 ราย ส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ โดยพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer สู่ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ปัจจุบันมี 13,051 ราย รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นำข้อมูลมาใช้วางแผนผลิตและการตลาด ปัจจุบันมี Smart Farmer 1,101,650 ราย ซึ่งการร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาบุคลากรที่มีองค์ความรู้ และประสบการณ์เพิ่มทั้งสองฝ่าย

“การลงนามบันทึกข้อตกลงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างกรมกับสถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาบุคลากรภาคเกษตรให้ขยายผลวงกว้าง และประสบผลสำเร็จลุล่วงตามจุดประสงค์ที่วางไว้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

“ERS” หนุนยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ,อี 85 และบี 20

กลุ่ม ERS เห็นควรลดชนิดเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ 91 ,อี 85 และ บี 20 เหตุเป็นนโยบายการเมือง

นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS ) เปิดเผยว่า ควรลดชนิดเชื้อเพลิงยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91, อี 85 (E85) และบี 20 (B 20) เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมือง ไม่เกี่ยวข้องความมั่นคงด้านพลังงานแต่อย่างใด

ทั้งนี้  ล่าสุดทราบว่าท่าทีกระทรวงพลังงานจะแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี โดยเห็นควรคงไว้เช่นเดิม เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

นายคุรุจิต นาครทรรพ หนึ่งในแกนนำ ERS  กล่าวว่า ขอเร่งรัดให้พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนที่จะด้อยค่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (Covid-19) ด้วย ได้แก่ การเปิดแข่งขันประมูลปิโตรเลียมรอบ 23 การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ

“กรณีแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณที่จะต้องเปลี่ยนโอเปอเรเตอร์ก็ควรจะเปลี่ยนผ่านตามแผน เพราะหากสะดุดจะกระทบความมั่นคงด้านพลังงาน โดยทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวได้ผ่านจุดการผลิตสูงสุดไปแล้วที่เคยผลิต 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะเหลือเฉลี่ย 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็ถือว่าลดลง ขณะที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจี (LNG) มาป้อนโรงแยกก๊าซไม่ได้ ไม่ช้าไม่เร็วเราอาจต้องนำเข้าแอลพีจี  เพราะฉะนั้น ไทยจึงต้องเร่งหาแหล่งก๊าซใหม่ ๆ มาป้อน”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 ตุลาคม 2563

เพิ่มชำระค่าธรรมเนียมผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสและธนาคารอีกกว่า 15 แห่ง

 “กระทรวงอุตสาหกรรม” ยกระดับสำนักงานทั่วประเทศ สู่ 4.0 รับชำระค่าธรรมเนียมโรงงาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ช่วงต้นปี 64 กระทรวงอุตสาหกรรมจะเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ,ธนาคารกสิกรไทย ,ธนาคารออมสิน ,ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารอื่นๆ รวมกว่า 15 ธนาคาร เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการชำระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อชำระเงินแล้วจะได้รับใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ทันที ผ่านระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (e-Payment Portal of Government) ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งข้อดีของการชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะช่วยลดภาระด้านเอกสารในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดความยุ่งยากในการชำระเงินสด และสามารถตรวจสอบผลการชำระเงินจากระบบของของธนาคารได้ทันที โดยหากผู้ประกอบการไม่สะดวกที่จะชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถชำระผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตามเดิมได้

“การยกระดับการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานและ ร.ง.4 มาสู่รูปแบบการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (D-Payment) จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ

สำหรับยุค New Normal สังคมไร้เงินสด จะยิ่งกลับมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น และกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังว่า จะขับเคลื่อนการทำงาน สู่องค์กรดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศ สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย โดยในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เปิดให้ชำระค่าธรรมเนียมโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการ

 นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยการชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน ผ่าน D-Payment หรือ Digital Payment ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะได้รับใบแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมรายปีจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสามารถนำไปชำระผ่านช่องทางของธนาคารกรุงไทย ทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้ ATM และ Mobile Banking

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 28 ตุลาคม 2563

เอกชนหนุน“เอฟทีเอ-ยูเค” ผวาเบร็กซิทป่วนการค้าโลก

เอกชนเตรียมพร้อมรับมือ Brexit หวั่นค่าเงินผันผวน แนะรัฐคุมค่าบาท เร่งทำ เอฟทีเอ กับUK ดันมูลค่าเพิ่มส่งออกสินค้าเกษตร

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 สหราชอาณาจักร (UK)จะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) อย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า Brexit  ซึ่งจะนำไปสู่ภูมิศาสตร์การค้าโลกกำลังขยับเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพื่อให้เข้าใจและเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดสัมมนา "Brexit the Series โอกาสดีๆที่ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องรู้”

ดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไทยและUK กำลังดำเนินการรวมกันว่าด้วยการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างกันหรือ Joint Trade Policy Review  ( Joint TPR)  เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาการค้าในรูปแบบข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)

สาระสำคัญเบื้องต้นสองฝ่ายนำเสนอสินค้าและบริการที่สนใจเพื่อทำตลาดซึ่งกันและกัน โดยฝ่ายไทยได้แก่ เกษตรกรรมและการผลิตอาหาร การประมง การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตภัณฑ์ยาง การท่องเที่ยว การขนส่ง การให้บริการทางการเงิน การโทรคมนาคมและการก่อสร้าง ส่วนUK ต้องการเปิดตลาดสินค้าในไทย คือ เทคโนโลยีทางการเกษตร เครื่องดื่ม การศึกษา การให้บริการทางการเงิน การดูแลสุขภาพและเภสัชกรรม บริการวิชาชีพ เทคโนโลยี และการผลิต

"หลังBrexitจะเกิดความสับสน ผันผวนหลายอย่าง เช่นเราไม่เคยเห็นเงินปอนด์เท่ากับดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่รวมกฎระเบียบต่างๆและอัตราภาษี ดังนั้น การทบทวนการค้าให้ชัดเจนสองฝ่ายก่อนเดินหน้าความสัมพันธ์ต่อ จึงจำเป็นและJoint TPRคาดว่าจะนำเสนอในการประชุมระดับรัฐมนตรีได้สิ้นปีนี้"

ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยยังมีอุปสรรคสำคัญ 2 ปัจจัยได้แก่ ค่าเงินบาทพบว่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้  ยังมีปัจจัยจากการขาดแต้มต่อการแข่งขันอันเกิดจากการมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เนื่องจากการเสียภาษีเท่ากับหรือน้อยกว่าคู่แข่งจะทำให้การแข่งขันของไทยดีขึ้น

ในส่วนของข้อตกลงกับUKประเมินว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าของไทยเพราะUK เป็นเทรดดิ้งเนชั่นที่สำคัญของยุโรป เป็นผู้นำเข้ารายสำคัญของภูมิภาค หากไทยมีแต้มต่อผ่านเอฟทีเอกับUKจะทำให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

สำหรับการเจรจาเอฟทีเอกับUK หากการเจรจาสำเร็จ ประเมินคราวๆ ว่า สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น กุ้ง ปลา ไก่ ยาง ผัก ผลไม้ อาหารสำเร็จรูป จะทำให้การส่งออกในปีแรกนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 1-1.5 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ราคาเกษตรไทยปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งตัวเลขที่ประเมินเป็นแค่เบื้องต้นเพราะอาจมีมูลค่าส่งออกที่มากกว่านี้และอาจทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารติด 1 ใน 10 ของโลกภายใน 1-2 ปี ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือ จะทำให้การเจรจาเอฟทีเอกับEUทำได้ง่ายมากขึ้นด้วย

“สงครามการค้าและโควิด-19 จะยังอยู่กับไทยและโลกต่อไป แต่การผลักดันการบริโภคภายในประเทศไม่สามารถพยุง และผลักดันเศรษฐกิจของไทยได้ ดังนั้นการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริม และเอฟทีเอกับUKจะเป็นแต้มต่อการแข่งขันที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร”

ขณะที่เรื่องของการลงทุน ก็จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์มากในอุตสาหกรรมต่างๆเพราะต้องยอมรับว่าUK เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี โนว์ฮาวต่างๆ มีงานวิจัยจำนวนมาก ซึ่งการที่มีเอฟทีเอไทย-ยูเค จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆของไทยสามารถพัฒนาได้พัฒนามากขึ้นสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ไม่ว่าจะเป็น เช่น อุตสาหกรรมยา แม้จะมีประเด็นสิทธิการใช้สิทธิบัตรเหนือสิทธิบัตร(CL) ที่ยังไม่ตรงกันก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้ต้องหารือกันให้เกิดความชัดเจนเพื่อปูทางสู่ความร่วมมือทั้งทางวิชาการและการลงทุนในอนาคต

“ดูจากการที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จับมือกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 คาดว่าน่าผลิตได้เร็วและราคาถูก นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมยาง เครื่องบิน ยานยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ซึ่งการลงทุนจากUKจะสร้างห่วงโซ่อุปทาน และสร้างมูลค่าได้ยาวนานซึ่งทั้งหมดจะได้มาจากข้อตกลงการค้านั่นเอง”

คึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า การที่UKออกจากEU คงต้องดูขั้นตอนการนำเข้าไก่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งเรื่องภาษีนอกและในโควตา รวมถึงการมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า UK จะนำเข้าไก่จากประเทศไหน เช่น จีน บราซิล ซึ่งผลกระทบก็ยังไม่ชัดเจน ระยะต่อไปอาจมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมการตรวจโรงาน เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทางUKจะมีความเข้มงวด ไม่แตกต่างมากนักกับการนำเข้าไก่ไปEU

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 28 ตุลาคม 2563

ไทยชูนโยบาย 3S-เกษตร4.0 ต่อที่ประชุมรมต.ความมั่นคงอาหารเอเปค

ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร APEC 2020 รับมือผลกระทบโควิด 19 ชูนโยบาย 3S-เกษตร4.0 ยืนยันความพร้อมเป็นแหล่งอาหารสำรองอาเซียนและครัวโลก เดินหน้าเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหาร APEC 2020 วันนี้ (28ต.ค) ว่า ตามที่ตนได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย พร้อมด้วยนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในการร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค (APEC Virtual Ministerial Policy Dialogue on Food Security) ร่วมกับรัฐมนตรี และผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขต เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ นายฉู ตงหยู (Mr. Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทุกประเทศจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายที่จะเสริมสร้างนวัตกรรมด้านอาหาร ทั้งด้านการตลาด การส่งเสริมเทคโนโลยี ความปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมถึงการผลิตอาหารให้เพียงพอกับประชากรโลก

สำหรับการประชุมผ่านระบบทางไกลดังกล่าว มีการรับรองแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค เรื่อง การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความสำคัญของการดำเนินงานเกี่ยวกับความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารระหว่างสมาชิกเอเปค โดยไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งสมาชิกสามารถพิจารณาให้ความร่วมมือตามความสมัครใจ โดยสาระสำคัญของแถลงการณ์ฯ ได้กล่าวถึง ผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงอาหาร การเกษตร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมง รวมทั้งห่วงโซ่อาหารในภูมิภาค ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้เปราะบาง

ทั้งนี้ สมาชิกเอเปคได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือที่ต่อเนื่อง การสนับสนุนในด้านการผลิตอาหารและการเข้าถึงอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าระบบอาหารทั่วโลกยังคงเปิดกว้าง มีนวัตกรรม เชื่อถือได้ มีความยืดหยุ่น และยั่งยืน รวมทั้งการให้ความสำคัญของการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ อาทิ FAO และ WHO เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเน้นการอำนวยความสะดวกของสินค้าและบริการ ผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตร รวมถึงปัจจัยการผลิตข้ามพรมแดนที่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการค้าอาหารทั่วโลก โดยมาตรการฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรเพื่อรับมือต่อโรคโควิด-19 จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม โปร่งใส และต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบของ WTO

อีกทั้ง ต้องเสริมความร่วมมือและการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนความสำคัญของเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เช่น การเกษตรดิจิทัล การทำฟาร์มอัจฉริยะ และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากากรระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับนโยบายของไทยในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ในครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตามประเทศไทย ได้เน้นย้ำนโยบาย 3 ด้าน หรือ 3S ของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้แก่ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Food Security) และความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นครัวโลก (Kitchen of the World) และมีความพร้อมเป็นแหล่งอาหารสำรองอาเซียน(ASEAN Food Reserve) รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ AIC ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรวิถีใหม่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิด Public-Private Partnership (PPP)

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่กำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารภายในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงบทบาทของไทยในการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร ที่มีความพร้อมเป็นแหล่งสำรองอาหารของภูมิภาคอาเซียน และมาตรการรับมือต่อโรคโควิด-19 แล้ว ยังเป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบาย มาตรการ แผนงาน และโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหารของสมาชิก อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงอาหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคครั้งถัดไป ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2565

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 28 ตุลาคม 2563

สังคมไร้เงินสด อุตฯยกระดับสำนักงานทั่วประเทศ สู่ 4.0 รับชำระค่าธรรมเนียมโรงงาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

กระทรวงอุตสาหกรรมยกระดับสู่หน่วยราชการ 4.0 เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสู่องค์กรดิจิทัล เดินหน้าให้บริการชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ พร้อมเตรียมเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์อื่นๆรวมกว่า 15 ธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ พร้อมเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยการชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (D-Payment หรือ Digital Payment) ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะได้รับใบแจ้งการชำระค่าธรรมเนียมรายปีจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสามารถนำไปชำระผ่านช่องทางของธนาคารกรุงไทย ทั้งเคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้ ATM และ Mobile Banking

นอกจากนี้ภายในต้นปี 2564 จะเพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส และธนาคารพาณิชย์อื่นๆอาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารอื่นๆรวมกว่า 15 ธนาคาร เพื่อเพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการชำระค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ด้วย

ทั้งนี้เมื่อชำระเงินแล้วจะได้รับใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ทันที ผ่านระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ (e-Payment Portal of Government) ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งข้อดีของการชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะช่วยลดภาระด้านเอกสารในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดความยุ่งยากในการชำระเงินสด และสามารถตรวจสอบผลการชำระเงินจากระบบของของธนาคารได้ทันที ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไม่สะดวกที่จะชำระผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ก็สามารถชำระผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดตามเดิมได้

“การยกระดับการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการชำระค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานและใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) มาสู่รูปแบบการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (D-Payment)จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ลดความเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินสด ทั้งนี้ในยุค New Normal สังคมไร้เงินสดจะยิ่งกลับมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น"

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังว่า จะขับเคลื่อนการทำงานสู่องค์กรดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการให้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพของเศรษฐกิจในการแข่งขันระหว่างประเทศ สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย ทั้งนี้ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เปิดให้ชำระค่าธรรมเนียมโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการ

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 28 ตุลาคม 2563

"พลังงานทางเลือก" กระแสแรงหลังโควิด 19

เครือข่ายสื่อมวลชนไทย ใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า เผยทิศทางพลังงานหลังวิกฤตโควิด 19 ประชาชนให้ความสนใจพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ แนะเร่งให้ความรู้ และข้อมูลแก่ประชาชน และชุมชนเรื่องพลังงานทางเลือกจากเชื้อเพลิงขยะ

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน และประธานเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อกิจการตามมาตรา 97(5) ประจำปีงบประมาณ 2562 กล่าวว่า ปัจจุบันทิศทางการพัฒนาและใช้พลังงานทางเลือกในประเทศไทย กำลังจะกลายเป็นกระแสหลักแทนพลังงานจากฟอสซิล โดยเฉพาะ หลังวิกฤตโควิด 19 ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ผู้ประกอบการ และประชาชนก็ต้องมีการปรับตัว มีวิถีชีวิตที่เข้ากับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ต้องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจกับพลังงานทางเลือก หรือพลังงานสีเขียวมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการที่จะผลิต พัฒนา และใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ด้วยต้นทุนในการดำเนินงานที่ถูกลงและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีทางด้านของการกักเก็บพลังงานที่เรียกว่า Energy Storage เพราะฉะนั้นในอนาคตนอกจากต้นทุนการผลิตจะถูกลงแล้ว ยังสามารถจะกักเก็บพลังงานไว้ใช้ได้ตลอดเวลา

ภาครัฐเองก็มีนโยบายในการส่งเสริมเรื่องการใช้พลังงานทางเลือก อาทิ โซลาร์ รูฟท็อป หรือการติดแผงผลิตไฟฟ้าบนหลังคา ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศประเทศไทยที่มีแสงแดดเกือบตลอดทั้งปี ยิ่งสนับสนุนในเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในอนาคตเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้ค่อนข้างดี

ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ถือเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันขยะทั่วไป รวมถึงขยะอุตสาหกรรม นับเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ และมีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถควบคุมหรือบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ การนำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น นับว่ามีประโยชน์ในหลายมิติ ทำให้ปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่มีปริมาณลดลง ส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ยังคงต้องให้ความรู้ และทำความเข้าใจกับประชาชน และคนในชุมชนให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งเชื่อว่าเมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแล้วจะให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน เพราะผู้ ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือชุมชนนั่นเอง

ปัจจุบัน คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทางเลือกจากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว สังเกตได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์ เพื่อรับพลังงานจากแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าใช้ ซึ่งเริ่มมีการจำหน่ายอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ในขณะที่พลังงานทางเลือกจากเชื้อเพลิงขยะ ยังต้องใช้เวลา และศึกษาให้ความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีในการกำจัดมลภาวะ และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ปัจจุบันพลังงานทางเลือกใหม่ ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปทุกภาคส่วน ผู้ประกอบการก็มีความตื่นตัวที่อยากจะใช้พลังงานทางเลือกเป็นจุดขาย ยกอย่างเช่นธุรกิจบ้านจัดสรร หรือ ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ถ้าโครงการบ้านจัดสรร หรือคอนโดมีเนียมมีการติดตั้งเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ไปด้วยก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้ และเป็นจุดขายของสินค้าไปด้วยเช่นกัน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 27 ตุลาคม 2563

อีอีซีแม่เหล็กดึงทุนนอก 'สุริยะ'มั่นใจช่วยขับเคลื่อนศก.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนา “EEC GO เดินหน้าลงทุน” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่าขณะนี้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆมากมาย แม้ว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะเติบโตค่อนข้างดี แต่เมื่อปี 2562 อุตสาหกรรมไทย เริ่มได้รับผลกระทบจากเหตุปัจจัยภายนอกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สงครามการค้าส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมของโลกชะลอตัวลง ตามมาด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางไปทั่วโลก แต่ละประเทศต่างเร่งหาวิธีบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการหาหนทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและกลับมาเติบโตได้ตามปกติโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ ที่สำคัญก็คือ การมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีที่เป็นเสมือนหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง โดย อีอีซี เป็น Mega Project ที่จะยกระดับความสำคัญของ ประเทศไทยในเอเชีย ตลอดจนสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างงานคุณภาพ ภายใต้แนวคิดที่เน้นความครอบคลุมทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะการขับเคลื่อน อุตสาหกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองแบบ Smart Cities การมีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอ มีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมที่ครบครัน ซึ่งเอื้อต่อการขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศอันจะทำให้ อีอีซี เป็นประตูเชื่อมสู่ CLMVอาเซียน เอเชีย และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกต่อไป

สำหรับการชักจูงการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรม S-Curve โดยร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ดึงดูดการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนล่าสุด ในพื้นที่อีอีซี ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีทั้งสิ้น 277 โครงการ เงินลงทุนรวม 106,300 ล้านบาท คิดเป็น สัดส่วนสูงถึง 51% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ

“ผมยังเชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศที่ยังได้รับความสนใจจากหลายประเทศในการย้ายฐานการลงทุนและฐานการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร การแปรรูปสินค้าเกษตร และเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพและได้รับอานิสงส์ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิตในประเทศเอง เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวเช่นเดียวกัน” นายสุริยะกล่าว

สำหรับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นมาโดยตลอดเพราะฉะนั้นนักลงทุนโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นจะคุ้นชินกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าอาจจะส่งผลต่อการลงทุในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ประเด็นที่สำคัญและน่าเป็นห่วงมากกว่าคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบ และเกิดการชะลอตัวลงไปบ้าง จึงเชื่อว่าประเด็นเรื่องการเมืองไม่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุน และจากการหารือกับนักลงทุนจำนวนมาก พบว่าส่วนใหญ่ยังมีความพึงพอใจกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันเพียงแต่ยังกังวลกับไวรัสโควิด-19

“หากสถานการณ์คลี่คลาย นักลงทุนสามารถเดินทางเข้า-ออกประเทศได้น่าจะได้เห็นการตอกเสาเข็มในการสร้างโรงงาน โดยเฉพาะในอีอีซี ซึ่งเบื้องต้นมีการประเมินว่าจะมีวัคซีนป้องกันในกลางปีหน้า และจะทำให้บรรยากาศการลงทุนน่าจะกลับมาดีขึ้นในปลายปี รัฐบาลจึงเตรียมการเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอีอีซีให้พร้อมและเชื่อว่าการลงทุนในอีอีซีก็น่าจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน” นายสุริยะกล่าว

จาก https://www.naewna.com  วันที่ 27 ตุลาคม 2563

ใช้สิทธิการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีลดฮวบ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ในเดือน ม.ค.-ก.ค.63 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิรวมเท่ากับ 35,421.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.77% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.94% แบ่งเป็นเอฟทีเอ 32,875.25 ล้านเหรียญฯ ลด 15.88% และจีเอสพี 2,546.60 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2.61%

“แม้ภาพรวมการใช้สิทธิลดลง แต่สินค้าบางรายการของไทยยังส่งออกได้ต่อเนื่อง ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป แม้มีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ส เช่น นม ผลไม้สดต่างๆ ทั้งทุเรียน มังคุด มะม่วง อาหารปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ปลาทูน่าปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่งที่ทำจากเกล็ดธัญพืช เต้าหู้ปรุงแต่ง ซอสปรุงแต่ง กุ้ง ข้าวโพดหวาน ปลาสคิปแจ็ก เป็นต้น”

สำหรับการใช้สิทธิเอฟทีเอนั้น ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 11,152.89 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.84%, อาเซียน 10,798.63 ล้านเหรียญฯ ลดลงถึง 24.02%, ญี่ปุ่น 3,890.21 ล้านเหรียญฯ ลดลงเกือบ 15%, ออสเตรเลีย 3,426.95 ล้านเหรียญฯ ลดลงกว่า 20% และอินเดีย 1,784.67 ล้านเหรียญฯ ลดลงกว่า 30% ขณะที่การใช้สิทธิจีเอสพี 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ นั้น ตลาดที่มีมูลค่าใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐฯ 2,243.21 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 0.49% โดยมูลค่าใช้สิทธิดังกล่าว คำนวณจากสินค้าที่ได้รับสิทธิ 2,672 รายการ ไม่รวมสินค้า 573 รายการ ที่ถูกตัดสิทธิไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.63 ส่วนอันดับ 2 คือ สวิตเซอร์แลนด์ 200.24 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 29.17% ตามด้วยรัสเซียและเครือรัฐเอกราช 84.64 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4.92% และนอร์เวย์ 18.51 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 34.72%.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 27 ตุลาคม 2563

พาณิชย์จับตาเวียดนามเปิดไต่สวนเอดีน้ำตาล

กรมการค้าต่างประเทศ จับตาเวียดนาม เปิดไต่สวนเอดี/ซีวีดีน้ำตาลผิดขั้นตอนดับบลิวทีโอ ขณะที่"จุรินทร์" ขอ “กอน.” ดูแลปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศ หลังเวียดนามเปิดไต่สวนเอดี/ซีวีดี นำเข้าอาจชะลอนำเข้าจากไทย และปริมาณล้นตลาด ฉุดราคาดิ่ง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่เวียดนามประกาศเปิดไต่สวนตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี)  และตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) สินค้าน้ำตาลทรายที่นำเข้าจากไทยว่า  ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมทำหนังสือถึงคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อขอให้ดูแลปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศ และส่งออกอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่า ในช่วงที่เวียดนามเปิดไต่สวน อาจทำให้ผู้นำเข้าของเวียดนามชะลอการนำเข้า เพื่อรอผลการตัดสินขั้นสุดท้ายว่าจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าไร และอาจส่งผลให้ ปริมาณน้ำตาลทรายที่ส่งออกไม่ได้ ล้นตลาดในประเทศ และฉุดให้ราคาตกต่ำ 

ส่วนความคืบหน้าการเปิดไต่สวนนั้น กรมได้ชี้แจงกับผู้ประกอบการน้ำตาลทรายของไทยแล้วว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้ โดยเฉพาะตอบแบบสอบถามของเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านการผลิต การค้าของแต่ละราย ซึ่งเวียดนามจะใช้ประกอบการพิจารณาว่า ไทยทุ่มตลาดน้ำตาลทรายในเวียดนาม หรือขายในราคาต่ำกว่าที่ขายในไทยจริงหรือไม่ อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของเวียดนามเสียหายจริงหรือไม่ เป็นต้น ถ้าพบว่า จริงจะกำหนดอัตราการจัดเก็บอากรเอดีจากไทย 

ขณะที่การไต่สวนซีวีดีนั้น กรมจะเป็นผู้ตอบแบบสอบถามของเวียดนาม และดำเนินการโต้ข้อกล่าวหาของเวียดนาม ที่ระบุว่า รัฐบาลไทยให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว ทั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้น

“การไต่สวนเอดี ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ เอง แต่เรื่องไต่สวนซีวีดี กรมจะเป็นผู้แก้ข้อกล่าวหาเอง ซึ่งได้เชิญหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว และพบว่า มีโครงการให้ความช่วยเหลือโรงงานน้ำตาล 14 โครงการ แต่จะใช่การอุดหนุนตามที่เวียดนามกล่าวหาหรือไม่ ต้องมาโต้กัน พร้อมกับขอให้เวียดนามขยายเวลาการตอบแบบสอบถามออกไปอีก 30 วันจากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 16 พ.ย.63” 

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เวียดนามเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี/ซีวีดีนี้ กรมอยู่ระหว่างพิจารณาว่า เวียดนามได้ดำเนินการตามขั้นตอนขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) หรือไม่ หากมีการข้ามขั้นตอน หรือผิดกฎระเบียบดับบลิวทีโอ กรมก็จะทักท้วงไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปลายเดือนก.ย.63 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ประกาศเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทรายที่นำเข้าจากไทย ระหว่างวันที่ 1 ก.ค.62-30 มิ.ย.63 โดยอัตราอากรที่จะเรียกเก็บสูงสุดอยู่ที่ 37.90% ซึ่งเป็นการไปตามการร้องเรียนของสมาคมน้ำตาลและอ้อยของเวียดนาม และผู้ผลิตน้ำตาลทรายในประเทศ 

ทั้งนี้เพราะพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ที่เวียดนามยกเลิกโควตาภาษีนำเข้าน้ำตาลทรายสำหรับไทย ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ทำให้เวียดนามนำเข้าน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นมากเกือบ 950,000 ตัน หรือกว่า 6 เท่าจากช่วงเดียวกันของปี 62 โดยในจำนวนนี้นำเข้าจากไทยเกือบ 860,000 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนนำเข้าเพียง 145,000 ตัน ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำตาลทรายของเวียดนามสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด และต้องลดปริมาณการผลิตลงเหลือน้อยกว่า 800,000 ตันในช่วงปี 62-63 จาก 1.2 ล้านตันในปี 61-62

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 ตุลาคม 2563

'กระทรวงเกษตรฯ' เดินหน้าแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั่วประเทศ

"กระทรวงเกษตรฯ" เตรียมแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ 5.12 ล้านไร่ พร้อมผลักดัน 7โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.63  นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ว่า คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้พิจารณาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ศักยภาพน้ำ ความเหมาะสมของพื้นที่ พันธุ์ข้าว แนวโน้มการตลาด และโครงการต่างๆของรัฐบาล ที่จะดำเนินการในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งได้มีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

ปี 2563/64 ทั้งประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.97 ล้านไร่) สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีแผนการเพาะปลูก จำนวน 1.04 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กอง 7 จังหวัด มีแผนการเพาะปลูก 0.30 ล้านไร่

นอกจากนี้ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการ "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ได้มีการหารือร่วมกับส่วนราชการ พิจารณาโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 เพื่อขอจัดสรรงบกลางในการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 7 โครงการ ได้แก่

โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว)

โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพประมงในบ่อดิน (ปลาดุก, ปลาตะเพียนขาว)

โครงการเพิ่มผลผลิตกุ้งก้ามกรามและปลากินพืชในแหล่งน้ำชุมชน

โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก (ไก่พื้นเมือง, เป็ดไข่, เป็ดเทศ)

โครงการส่งเสริมปลูกพืชอาหารสัตว์

โครงการสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพการเกษตรให้แก่สมาชิกสถาบันเกษตรกร

โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ทั้งนี้จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ จัดเตรียมรถแบคโฮล รถบรรทุก กระสอบทราย และเครื่องฉีดน้ำปูน (Grout) นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมเสบียงอาหารสัตว์ ถุงยังชีพสำหรับสัตว์ คอกสัตว์สำหรับตั้งจุดอพยพสัตว์ และทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ ได้ดำเนินการอพยพสัตว์แล้ว 4,062 ตัว และแจกจ่ายเสบียงอาหารสัตว์พระราชทาน 39.2 ตัน รวมถึงได้สนับสนุนเรือตรวจประมงน้ำจืดพร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างไรก็ตาม หน่วยงานในสังกัด "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมเยียนและประเมินความเสียหายหลังน้ำลดต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 26 ตุลาคม 2563

พาณิชย์ไล่จี้ กอน. ดูแลน้ำตาล หวั่นส่งออกสะดุดฉุดราคาดิ่ง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่เวียดนามประกาศเปิดไต่สวนตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) สินค้าน้ำตาลทรายที่นำเข้าจากไทยว่า ล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมทำหนังสือถึงคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อขอให้ดูแลปริมาณน้ำตาลทรายในประเทศ และส่งออกอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าในช่วงที่เวียดนามเปิดไต่สวน อาจทำให้ผู้นำเข้าของเวียดนามชะลอการนำเข้า เพื่อรอผลการตัดสินขั้นสุดท้ายว่าจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าไร และอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลทรายที่ส่งออกไม่ได้ ล้นตลาดในประเทศ และฉุดให้ราคาตกต่ำ

 “การไต่สวนเอดี ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆเอง แต่เรื่องไต่สวนซีวีดี กรมจะเป็นผู้แก้ข้อกล่าวหาเอง ซึ่งได้เชิญหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องมาหารือแล้ว และพบว่ามีโครงการให้ความช่วยเหลือโรงงานน้ำตาล 14 โครงการ แต่จะใช่การอุดหนุนตามที่เวียดนามกล่าวหาหรือไม่ ต้องมาโต้กัน พร้อมกับขอให้เวียดนามขยายเวลาการตอบแบบสอบถามออกไปอีก 30 วันจากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 16 พ.ย.63”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 26 ตุลาคม 2563

“BRR”ยกระดับประสิทธิภาพผลิตน้ำตาลทรายทั้งซัพพลายเชน หนุนยิลด์เพิ่มรับราคาตลาดโลกขาขึ้น

BRR มั่นใจแนวโน้มธุรกิจน้ำตาลสดใส รับเตรียมเปิดหีบอ้อยปลายปีนี้ คาดมีปริมาณอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลมากกว่าปีก่อน 200,000 ตันอ้อย พร้อมเร่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในทุกด้าน หวังขยับปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยิลด์)เพิ่มขึ้น รับจังหวะราคาตลาดโลกสู่ขาขึ้นรอบใหม่ หลังเศรษฐกิจโลกค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR ผู้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ และนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลไปต่อยอดทางธุรกิจอย่างครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจน้ำตาลของ BRR ในปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่น หลังจากประเมินปริมาณอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2563/64 ที่เตรียมเปิดหีบภายในไตรมาสนี้คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 1.79 ล้านตันอ้อย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตทั้งระบบซัพพลายเชน ตั้งแต่กระบวนการให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกอ้อยให้แก่ชาวไร่คู่สัญญาเพื่อเพิ่มปริมาณอ้อยต่อไร่ให้มากขึ้น รวมถึงแนะนำการจัดเก็บผลผลิตเพื่อส่งมอบอ้อยที่มีคุณภาพแก่โรงงาน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลทรายเพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย(ยิลด์)สูงสุด เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 121.92 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ทำให้บริษัทสามารถเก็บเกี่ยวรายได้ที่ดีที่สุดจากการดำเนินธุรกิจน้ำตาลทราย ในช่วงจังหวะที่แนวโน้มราคาขายน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16-17 เซนต์ต่อปอนด์ จากเดิมอยู่ที่ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ หลังจากมีปริมาณการบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆฟื้นตัวตามลำดับ

ขณะเดียวกัน BRR ยังเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจน้ำตาล โดยนำน้ำตาลทรายดิบมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์(รีไฟน์)มากขึ้น เนื่องจากมีราคาขายต่อหน่วยที่ดีกว่า สนับสนุนให้ธุรกิจน้ำตาลของ BRR มีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะส่งผลดีต่อภาพรวมการดำเนินงานปี 2564

“แม้ปีนี้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า BRR จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000 ตัน ที่ทำให้เราสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจน้ำตาลได้มากขึ้น และส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำลง สนับสนุนให้มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนโดยรวมดีขึ้น และเมื่อรวมกับแผนงานที่ต้องการเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจน้ำตาล เชื่อว่าธุรกิจการขายน้ำตาลทรายของเราจะมีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ”

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 26 ตุลาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิด "อ่อนค่า"ที่ระดับ31.30บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์บาท-คาดจะเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีทิศทางของตลาดหุ้นโลกเป็นองค์ประกอบหลัก

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.20-31.40 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท สัปดาห์นี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีทิศทางของตลาดหุ้นโลกเป็นองค์ประกอบหลัก ในระยะสั้นถ้าตลาดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่ากลับ แต่ในทางกลับกันถ้าเกิดการปรับฐานในตลาดหุ้น ก็อาจเห็นเงินบาทอ่อนค่าเร็วเนื่องจากปัจจุบันขณะที่ก็มีความเสี่ยงการเมืองในประเทศกดดันมากกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นๆ

สำหรับสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรปที่ต้องติดตาม

ในวันพฤหัส ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีกำหนดการประชุมนโยบายการเงิน ซึ่งตลาดเชื่อว่าจะ “คง” นโยบายการเงินทั้งหมด โดยในฝั่ง BOJ จะใช้ดอกเบี้ย (Policy Balance Rate) ที่ -0.1% ขณะที่ ECB ก็กำหนดดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ -0.5% ซึ่งต้องจับตาท่าทีของทั้งสองธนาคารกลางว่าจะมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินแบบใหม่เพื่อประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้ที่ทั้งเงินเยนและยูโรแข็งค่าขึ้นมากหรือไม่

ด้านเศรษฐกิจ น่าสนใจที่สุดคือการประกาศจีดีพีไตรมาสที่สามของสหรัฐ คาดว่าจะฟื้นตัว 31.8% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) ด้วยแรงหนุนของการบริโภคหลังกลับมาเปิดทำการภาคธุรกิจปรกติ ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ในสหรัฐก็คาดว่าจะปรับตัวลงมาที่ระดับ 7.80 แสนตำแหน่งจากสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 7.87 แสนตำแหน่ง

ส่วนตลาดเงิน มองว่าสัปดาห์นี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบไปก่อน โดยตลาดรับข่าวว่านายโจ ไปเดน จะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายนไปแล้ว ขณะที่ในสัปดาห์นี้ก็จะมีการประกาศแผนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน ซึ่งคาดว่าจะหนุนให้เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวในปีหน้า ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้เป็นปัจจัยที่จะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

ขณะที่ระยะสั้น ยังมีความเสี่ยงเรื่องการเลื่อนการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐ รวมไปถึงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเข้ามาสร้างความผันผวน อาจหนุนให้ตลาดขายทำกำไรและดอลลาร์ฟื้นตัวได้เช่นกัน

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 92.5-93.5จุด ระดับปัจจุบัน 92.8 จุด

กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 26 ตุลาคม 2563

ดัน “อมตะ” ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำครบวงจรระดับประเทศ

“สวสก.” ทุ่มงบประมาณดัน “อมตะ” เป็นฐานวิจัยเชิงปฏิบัติการ พร้อมชูเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำครบวงจรระดับประเทศ

นายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้ อมตะซิตี้ ชลบุรี เป็นฐานสำหรับทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ และเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และระดับประเทศต่อไป ทางด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจรภายในนิคมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้  อมตะ มีระบบการบริหารจัดการน้ำของนิคมอุตสาหกรรมอมตะอย่างครบวงจร เต็มประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy System)  ด้วยการใช้เทคโนโลยี 3R และ IoT โดยได้มีการบรรยายให้คณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำได้รับทราบในรายละเอียด

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ ยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการภายในอมตะฯ ได้แก่ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ทำการวิจัยการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจรและมีประสิทธิภาพ ภายในสถานประกอบการ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC และระดับประเทศอีกด้วย

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 23 ตุลาคม 2563

เตือน 45 จังหวัด เสี่ยงขาดน้ำทำเกษตร

​​​​​​​สทนช. เผยฤดูแล้งถาโถมหนัก พายุ ไม่ช่วยเติมน้ำเขื่อน “ประวิตร” เคาะแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2563/64  เปิดพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำกิน น้ำใช้ ขาดน้ำทำเกษตร  เตรียมชงมาตรการรับมือแล้งเข้า ครม.

วันที่ 22 ตุลาคม 2563  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2563  เปิดเผยว่า ขณะนี้ถือเป็นช่วงปลายฤดูฝนที่ประเทศยังได้รับอิทธิพลจาก "พายุ" และ "ร่องความกดอากาศต่ำ" ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งยังได้สั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พร้อมมาตรการรับมือน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้   ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมอย่างใกล้ชิดด้วย

ขณะเดียวกัน ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64(1 พ.ย. 63 - 30 เม.ย. 64) ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่  1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 2.รักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อการเกษตรกรรม และ 4.เพื่อการอุตสาหกรรม โดยจากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุน (ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563) พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ จำนวน 41,879 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)  สามารถนำมาจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งประเทศ รวม 22,847 ล้านลบ.ม. ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2564 จำนวน 19,032 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ 9 มาตรการหลักรับรองสถานการณ์ขาดแคลนน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเน้นจัดการน้ำให้สมดุลระหว่างน้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำ พร้อมทั้งให้มีการติดตามประเมินผลและสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบชัดเจน ได้แก่ 1.เร่งเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ก่อนสิ้นสุดฤดูฝน 2.จัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พร้อมวางแผนวางท่อน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาคสาขาข้างเคียง และแผนรับน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำโดยตรง 3.ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

4. กำหนดปริมาณน้ำจัดสรรในฤดูแล้งที่ชัดเจน มีการติดตามกำกับให้เป็นไปตามแผน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค พร้อมจัดทำทะเบียนผู้ใช้น้ำ 5.เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง 6.วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการควบคุมการสูบน้ำ การแย่งน้ำ กรณีไม่อาจสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรได้ให้มีการกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่รวดเร็วและชัดเจน 7.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า 8.ติดตามประเมินผลการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ 9.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำอย่างต่อเนื่อง ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด 

“ปริมาณน้ำต้นทุนในภาพรวมปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีปริมาณมากกว่าเล็กน้อย ดังนั้น จึงต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อน 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า มีปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงสามารถจัดสรรน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรต่อเนื่อง (ไม้ผลไม้ยืนต้น) เท่านั้น  ส่วนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ นั้น ให้คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) ในพื้นที่วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน รวมถึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามมาตการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในแล้งนี้ต้องไม่มีปัญหา” รองนายกฯ กล่าว

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมยังรับทราบคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคฤดูแล้ง ปี 2563/64 ทั้งในเขตการให้บริการของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งมีพื้นที่สาขาที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน     41 สาขาในพื้นที่ 28 จังหวัด และพื้นที่การให้บริการของประปาท้องถิ่นที่อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค มีจำนวน 50 จังหวัด 334 อำเภอ 966 ตำบล ขณะที่ด้านการเกษตร มีพื้นที่เฝ้าระวังขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จำนวน 45 จังหวัด 176 อำเภอ 489 ตำบล แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำมากกว่า 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อตำบล และพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำปานกลาง ตั้งแต่ 1 – 5 ล้าน ลบ.ม. ต่อตำบล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการรุกล้ำของเค็มที่อาจส่งผลกระทบกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร จำนวน 4 แห่ง คือ แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล (กปน.) แม่น้ำท่าจีน บริเวณสถานีปากคลองจินดา แม่น้ำแม่กลอง บริเวณสถานีปากคลองดำเนินสะดวก และแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบ้านสร้าง

“เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝนหน้าได้ตามแผน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติในเชิงป้องกันเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์แล้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์ให้ภาคส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า สทนช. จะเสนอแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 และ 9 มาตรการหลักป้องกันและแก้ไขปัญหาฤดูแล้งที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครั้งนี้ นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้” ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 ตุลาคม 2563

ส่งออก 9 เดือนยังติดลบ 7.3%

ส่งออกไทยยังซมพิษโควิด เดือนกันยายนติดลบน้อยลง เหลือ -3.8% แต่ภาพรวม 9 เดือนแรกยังติดลบ 7.3%

นางสาวพิมพ์ชนก  วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงสถานการณ์ส่งออกเดือนกันยายน 2563  ว่ามีมูลค่า 19,621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงหรือติดลบ 3.86%   เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,391ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 9.08%  ดุลการค้ายังเป็นบวก 2,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะภาพรวมส่งออก 9 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.)มีมูลค่า 172,996 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 7.33% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 152,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยยังเกินดุลการค้า 20,623 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 ตุลาคม 2563

"พาณิชย์"เจรจารัสเซีย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 3 แสนล้าน ใน 3 ปี

“จุรินทร์” ลุยถกรัสเซีย 8 ประเด็น เพิ่มเป้ามูลค่าการค้าปีละ 1 แสนล้านบาท หรือ 3 แสนล้านใน 3 ปี ขอนำเข้ายางพาราและสินค้าเกษตรจากไทยเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงาน (22 ต.ค.2563) ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ได้ประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-รัสเซีย ครั้งที่ 4 ผ่านทางระบบประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการโสมสวลี ชั้น 11 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

หลังการประชุม นายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้รัสเซียเป็นเจ้าภาพโดยมีตนป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทยและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นประธานฝ่ายรัสเซีย มีประเด็นสำคัญ 8 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1.ตนเสนอให้มีการกำหนดเป้าหมายตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับรัสเซีย ใน 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2564-2566 ให้ช่วยกันผลักดันให้มีมูลค่าการค้ารวม 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 หรือเฉลี่ยปีละ 3,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ ปีละ 100,000 ล้านบาท

ประเด็นที่ 2 รัสเซียจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศให้ความร่วมมือสนับสนุนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาโควิดรวมทั้งเรื่องของการพัฒนาวัคซีน โดยทางรัสเซียมีความคืบหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ประเด็นที่ 3.ขอให้ทางรัสเซียเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยเพราะสินค้าเกษตรของไทยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับโลกและเป็นที่ยอมรับว่ามีความปลอดภัยโดยเฉพาะจากโควิด ทั้งในหมวดของพืชเกษตร ปศุสัตว์  ประมงโดยเฉพาะในหมวดปศุสัตว์นั้นประกอบด้วยสินค้าไก่และกุ้ง

ประเด็นที่ 4 ขอให้รัสเซียนำเข้ายางพาราประเทศไทยมากขึ้นซึ่งยางพาราไทยถือว่ามีคุณภาพสูงทั้งยางแผ่น ยางแท่งหรือน้ำยางข้น เพื่อเข้าไปช่วยเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์และยุทโธปกรณ์ ที่เป็นสินค้าสำคัญของรัสเซียและขอให้ รอสเทค(Rostec)ของรัสเซียซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับยางได้เร่งจัดทำ MOU กับการยางแห่งประเทศไทยโดยเร็วโดยทางไทยได้ยกร่าง MOU เสร็จแล้ว

ประเด็นที่ 5 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศหารือกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันต่อไปภายหลังจากสถานการณ์โควิดหรือแม้ในช่วงโควิดถ้ามีการผ่อนปรน ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากรัสเซียมาไทยล่าสุดปีที่แล้วประมาณ 1.5 ล้านคน ประเด็นที่ 6 ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันส่งเสริมการค้าในรูปแบบอีคอมเมิร์ซหรือในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งการจับคู่เจรจาทางธุรกิจหรือเรื่องของการจัดงานแสดงสินค้าในรูปของ virtual exhibition ก็ตาม

 ประเด็นที่ 7 สนับสนุนให้มีการส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคีซึ่งประกอบด้วยทั้งอาเซียน รัสเซีย และเอฟทีเอระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศยูเรเซีย และประเด็นที่ 8 ไทยและรัสเซียมีความเห็นร่วมกันในการที่จะให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ MOU เพื่อขยายความเข้าใจความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของไทยกับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของสหพันธรัฐรัสเซีย ฉบับใหม่เพื่อยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น และหวังว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น 300,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 22 ตุลาคม 2563

EEC เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่จะผลักดันการพัฒนา และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน

อย่างที่ทราบกันว่า รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง ซึ่งต่อไปจะพัฒนาไปเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ การพัฒนา EEC เป็นตัวอย่างการบูรณาการการพัฒนาที่คำนึงถึงการต่อเนื่องเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด โดยมีการจัดวางตำแหน่งสถานประกอบการและตำแหน่งการจัดวางระบบสาธารณูปการที่เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนประชาชนในพื้นที่ และผู้ประกอบการกิจการ รวมทั้งการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรซึ่งแน่นอนประชาชนในพื้นที่จะมีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นจากการพัฒนาที่ระบบ

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ใน EEC เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยถือว่า การพัฒนา EEC เป็นกลไกขับเคลื่อน ‘ประเทศไทย 4.0’ แบบก้าวกระโดด และเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้างการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างระบบการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงสู่คนไทย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม

ประชาชน หรือผู้ประกอบการ ได้ประโยชน์อะไรจากการพัฒนา EEC

ในการพัฒนา EEC เป้าหมายที่สำคัญ คือ ประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการยกระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ด้วยสภาพชีวิตที่ดีกว่า มีเมืองที่น่าอยู่ที่ดีกว่า อาทิ

โอกาสมาถึงบ้าน-รายได้มาถึงตัว งานดีมีมากขึ้นเป็นโอกาสใหม่ให้เยาวชน

ลูกหลานไม่ต้องออกนอกพื้นที่เพื่อหาสถานศึกษาที่ดีขึ้น หางานที่ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่ได้กับพ่อแม่เป็นครอบครัวอบอุ่น

ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลที่ดีมีคุณภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

มีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมที่ดี จากโครงการลงทุน และการท่องเที่ยวมีเส้นทางคมนาคมที่ดีขึ้น

มีกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน หากประชาชนได้รับผลกระทบรัฐจะให้การดูแลอย่างทั่วถึง และรวดเร็ว โดยมีการตั้งกองทุนขึ้นมาโดยเฉพาะ

เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ในระยะเวลาสั้น และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ ที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูง ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของหลักสูตรการอบรม ที่เกี่ยวกับ EEC ที่รวบรวมผู้ที่รู้จริง รู้เชิงลึกในพื้นที่โดยแท้ หลักสูตร “EEC Prime” ของ “พรีโม อะคาเดมี” ดำเนินการโดย บริษัทพรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น ผู้ให้บริการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยมีเป้าหมายให้นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงได้รับเทคนิคและเคล็ดลับ บูรณาการความรู้สู่การลุยธุรกิจใน EEC

หลักสูตรดังกล่าว ได้รวบรวมบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในพื้นที่ EEC และมีความโดดเด่นใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. เทคโนโลยี (Tech) 2. แนวโน้มการเติบโตแห่งอนาคต (Trend) 3. การค้า (Trade) และ 4. ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business) โดยจะมีทั้งเรื่องราวประสบการณ์ตรงจากวิทยากรแต่ละท่าน กรณีศึกษา (Case Study) ความรู้ด้านกฎหมาย ระบบภาษีที่เกี่ยวข้อง ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ที่จะช่วยเพิ่มพูนทักษะการบริหารธุรกิจใน EEC พื้นที่ที่ได้รับความสนใจในการลงทุนจากทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

หลักสูตร EEC Prime จะจัดอบรมทุกวันศุกร์ ต่อเนื่อง 9 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ศุกร์ที่ 20 พ.ย.2563 - 29 ม.ค. 2564 โดยจัดอบรมภายในพื้นที่ EEC โดยตรง ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง พร้อมทั้งมีบริการที่พัก 1 คืน ในวันอบรม มีการพาดูงานนอกสถานที่ในพื้นที่ EEC จำนวน 2 ครั้ง และมีการนำเสนอ Project Presentation ในวันปิดอบรม โดยเปิดรับสมัครจำนวนจำกัด ตั้งแต่วันนี้ – 6 พ.ย. 2563 และผู้ที่สนใจ จะได้ส่วนลดพิเศษสุด ถ้าสมัครเข้าร่วมอบรมภายในเดือนตุลาคม 2563 ที่ https://www.primo.co.th/primo-academy/eec-prime/ สอบถามโทร 080 990 9987, 065 512 6185

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 ตุลาคม 2563

"พลังงาน" คาด เปิดรับซื้อไฟโรงไฟฟ้าชุมชน ม.ค.ปีหน้า นำร่อง 100-150 เมกะวัตต์

 “สุพัฒนพงษ์” ลุยจัดทำหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน หลังครม.ผ่านแผนPDP รับยังไม่สรุปวิธีการคัดเลือก "ประมูล" หรือ "กำหนดราคา" รับซื้อไฟ ด้าน พพ.คาด เปิดยื่นเสนอโครงการเป็น ม.ค.64 เล็งเข้มวางแบงก์การันตี สกัดดัมพ์ค่าไฟ ป้องกันละทิ้งโครงการ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปบรูณาการ 5 แผนพลังงาน คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ให้เป็นแผนเดียวกัน ภายใน 6-8 เดือน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2563 ได้เห็นชอบ 4 ร่างแผนพลังงานแล้ว คือ แผน PDP ปี 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1(PDP 2018 Rev.1), แผน AEDP 2018,แผน EEP 2018 และแผน Gas 2018 โดยเห็นว่า ควรจัดทำเป็นแผนตามข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561 - 2580)

โดยให้จัดทำรายละเอียดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนในทุกๆ 5 ปี (ปี2561-2565) ซึ่งขณะนี้เหลือเวลา 3 ปี ฉะนั้น กระทรวงพลังงาน จะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ช่วงปี 2563-2565 ให้ชัดเจน โดยเป้าหมายดำเนินงานหลักๆในทุก 5 แผน ยังอยู่เหมือนเดิม เช่น เป้าหมายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ ภายใน 20 ปี เพื่อให้บรรลุป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก็จะเดินหน้าภายใต้กรอบแผน PDP 2018 Rev.1 โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการใหม่ ให้สอดรับกับข้อเสนอแนะ สศช. ที่ให้จัดทำเป็นโครงการนำร่อง รับซื้อประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ เพื่อประเมินนผลโครงการก่อน ซึ่งหากหลักเกณฑ์ฯชัดเจนแล้ว ก็จะเสนอคณะกรรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ต่อไป

“ขณะนี้กำลังดูว่าขั้นตอนคัดเลือกโครงการฯ 2 วิธี คือ แนวทางประมูลแข่งขัน หรือ การกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้า แต่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเกษตรกรได้รับการประกันราคา และต้องไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน”

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ คาดว่า จะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงเดือน ม.ค.2564 เนื่องจากขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯโรงไฟฟ้าชุมชน ให้สมบูรณ์แบบ หลังจากได้จัดรับฟังความคิดเห็น(โฟกัสกรุ๊ป) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 พบว่า ยังมีหลายประเด็นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

คาดว่า จะจัดทำหลักเกณฑ์ฯใหม่เสร็จภายในเดือนต.ค.นี้ และนำเสนอเข้าสู่การพิจารณของ กพช.ในเดือนพ.ย.นี้ จากนั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะต้องดำเนินการออกระเบียบประกาศรับซื้อไฟฟ้าใหม่ฯ และต้องเปิดประชาพิจารณ์ ประมาณ 15 วันตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลา ฉะนั้น ทำให้ต้องขยับเป้าหมายเดิมที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในปลายปีนี้ เป็นเดือนม.ค.ปีหน้าแทน

สำหรับหลักเกณฑ์ฯใหม่ เบื้องต้น ยังไม่ได้ข้อสรุปวิธีการคัดเลือกโครงการฯ ว่าจะเป็นการเปิดประมูลแข่งขัน(บิดดิ้ง) หรือไม่ ซึ่งแนวทางนี้หลายฝ่ายยังมีข้อกังวลว่า อาจเกิดการดัมพ์ราคาค่าไฟและสุดท้ายนำไปสู่การละทิ้งโครงการฯ ฉะนั้นในประเด็นนี้ ภาครัฐได้เตรียมแนวคิดที่จะกำหนดให้มีการวางเงินค้ำประกันโครงการ หรือ แบงก์การันตี ให้กับภาครัฐในวงเงินที่สูงขึ้น แต่อยู่ระหว่างกำหนดวงเงินที่เหมาะสม และจะต้องกำหนดบทลงโทษให้เข้มงวด เพื่อป้องกันการละทิ้งโครงการ แต่รัฐจะทยอยคืนเงินค้ำประกันให้ ตามความคืบหน้าการลงทุนในแต่ละระยะที่กำหนดไว้ ซึ่งพบว่า ไม่มีความดำเนินการตามที่กำหนด ก็จะถูกตัดสิทธิและให้ผู้เสนอโครงการลำดับต่อไป ได้สิทธิดำเนินโครงการแทน

รวมถึงต้องวางแบงก์การันตีให้กับวิสาหกิจด้วย เบื้องต้น ควรอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ ซึ่งโรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้พื้นที่เพาะปลูก 1,000 ไร่ ฉะนั้นหากกำหนดให้โรงไฟฟ้ามีขนาด 6 เมกะวัตต์ ก็คาดว่า จะต้องวางแบงก์การันตีในส่วนนี้ 5-6 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เป็นต้น

“หากเลือกวิธีบิดดิ้ง ก็ต้องดูว่าจะแยกประเภทเชื้อเพลิง หรือ ให้แข่งขันทั้งหมด แต่จะต้องจำกัดสิทธิผู้ประกอบการแต่ละเจ้าว่าไม่ให้ยื่นเสนอโครงการเกิน 3-5 โครงการ และไม่กำหนดโซนแต่จะดูจากความพร้อมของสายส่งเป็นหลัก”

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ความเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า จะกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนต้องถือหุ้นโรงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10% ขณะที่ผลตอบแทนชุมชนนั้น รัฐไม่ได้กำหนดรูปแบบแต่ให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนตกลงกันเอง อีกทั้ง ยังป้องการนำโครงการเก่ามาสวมสิทธิ โดยจะต้องเป็นโครงการที่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผูกพันกันรัฐมากก่อน

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 22 ตุลาคม 2563

เงินบาทแข็งค่าที่ 31.19 บาท/ดอลลาร์ ผันผวนระยะสั้น

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (22 ต.ค. 2563) ที่ระดับ 31.19 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.24 บาท/ดอลลาร์ นักวิเคราะห์ชี้มีความผันผวนระยะสั้น แนะติดตามรายงานตัวเลขการค้าของไทย หนุนเงินบาทแข็งค่าในอนาคต

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (22 ต.ค. 2563) ที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.24 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐแกว่งตัวกว้างด้วยความหวังว่าทางการสหรัฐจะอัดฉีดนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผิดหวังที่ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ จึงปรับตัวลง 0.2% ขณะที่ผลการหยั่งคะแนนเสียงล่าสุดชี้ว่ามีโอกาสที่โจ ไบเดน จะชนะเลือกตั้งถึง 87.8% ด้วยความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่ยอมรับผลเลือกตั้งเมื่อมีประชาชนสหรัฐกว่า 30% ที่ทำการเลือกตั้งผ่านช่องทางจดหมาย

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน เป็นภาพการเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เหมือนช่วงฟื้นตัวรอบก่อนหน้า โดยเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.6% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ โดยเป็นระดับดัชนีดอลลาร์ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น 2bps มาที่ระดับ 0.80% อย่างไรก็ดีในครั้งนี้กลับไม่ได้มีแรงกดดันจากราคาน้ำมันโดย WTI ปรับตัวลงถึง 4.1% ด้วยความกังวลเรื่องการบริโภคที่ต่ำ และการระบาดของไวรัสที่มีอยู่ทั่วโลก

ส่วนฝั่งเงินบาท ระยะสั้นไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจน เนื่องจากมีทั้งแรงกดดันจากความผันผวนในตลาดทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ตลาดก็บวกสลับลบรายวัน ส่วนวันนี้ต้องติดตามการรายงานตัวเลขการค้าของไทย คาดว่าจะหดตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ด้วยการนำเข้าที่ชะลอตัวมากกว่าจะเห็นการเกินดุลการค้าที่ระดับ 3.38 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นบวกต่อแนวโน้มการแข็งค่าในอนาคต

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 22 ตุลาคม 2563

กรอ.พาณิชย์ ผุด15แนวทางดันส่งออกปี63

กรอ.พาณิชย์ ผุด15 แนวทางเร่งหาทางออก หวังช่วยดันส่งออกไทยปี63 ให้กระเตื้อง หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ด้านสอท.-หอการค้า เห็นด้วย ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออก ขณะที่หอการค้ามองส่งออกไทยปีนี้ติดลบ6.5%  ด้านพาณิชย์ประเมินติดลบต่ำกว่า7%

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2563 ที่ประกอบด้วย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สมาคมธนาคารไทย ว่า  ที่ประชุมเห็นชอบในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและหาทางออกเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยใน 15 ประเด็นสำคัญ ภายใต้ผลกระทบของเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 โดยมั่นใจว่าจากความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้การค้า การส่งออกของไทยดีขึ้นหลังจากแนวโน้มการส่งออกดีขึ้น และการส่งออกทั้งปีต่ำกว่า ติดลบ 7%

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออก และแนวทางการผลักดันการส่งออกไทยจากนี้ใน 15  ประเด็นหลักได้แก่  การเร่งรัดการส่งมอบข้าวของไทยไปจีน หลังลงนามบันทึกข้อตกลงส่งออกปริมาณ 1 ล้านตัน  โดยส่งมอบไปแล้ว  7 แสน  ยังคงเหลือ 3 แสนตันที่อยู่ระหว่างเร่งเจรจาส่งมอบ  การเร่งผลักดันส่งออกรถยนต์ไปเวียดนาม หลังติดปัญหาเรื่องการตรวจสอบรถยนต์ ซึ่งเกิดความซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกล่าช้า ล่าสุดมีการแก้ไขปัญหาโดยการทำข้อตกลง 10 ประเทศในอาเซียนสำหรับการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ส่งออก ซึ่งทำได้จะทำให้การส่งออกเร็วขึ้น

การแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าไทย  โดยเฉพาะกลุ่มเคมีภัณฑ์  ปุ๋ยเคมี  ซึ่งอินเดียกำหนดมาตรฐานการส่งออกมีผลบัคับใช้ต้นปี 2564  นี้  โดยเร่งให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแก้ไขเรื่องนี้  การส่งออกรถยนต์ใหม่  ที่ติดปัญหาเรื่องของไม่มีทะเบียนรถยนต์ทำให้การส่งออกติดขัดบริเวณท่าเรือ  มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขเรื่องนี้  การเร่งประชาสัมพันธ์สินค้าไทยปลอดเชื้อโควิด-19  ในหลายภาษาเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้า  หลังจากบันทึกข้อตกลงจาก 4 กระทรวงหลักที่ให้การรับรองคุณภาพสินค้าไทย

การเร่งเจรจาแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์  การแก้ไขปัญหาเรื่องของค่าเงินบาท  การแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าน้ำตาลไทยไปเวียดนาม  ทำให้เวียดนามกล่าวหาเรื่องของการทุ่มตลาดน้ำตาล  การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  เข้าถึงแหล่งเงินทุน  โดยประสานไปยังธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ในการเพิ่มช่องทางหลักประกันในการกู้เงิน  การเร่งรัดเปิดด่านชายแดนสำคัญ  โดยเฉพาะด่านไทย-สปป.ลาว  ไทย-กัมพูชา  เร่งให้มีการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 ประเทศ ได้แก่  ไทย-สปป.ลาว-จีน  เพื่อสร้างความร่วมมือการค้า การส่งออก

การพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในการส่งออกสินค้าชายแดน-ข้ามแดน  การอำนวยความสะดวกในรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (CO)  เนื่องจากมีความล่าช้า  การเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ)  เช่น FTA ระหว่าง ไทย-สหภาพยุโรป  ไทย-อังกฤษ  ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ,ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ EFTA  การผลักดันการลงนาม ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป  การผลักดันการจัดทำกองทุน เอฟทีเอ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)  กล่าวว่า  สำหรับการหารือ กรอ.พาณิชย์  ครั้งนี้  เชื่อว่าเป็นแนวทางสำคัญที่ทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการหาทางออกแก้ไขปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น  พร้อมกันนี้  จะเป็นส่วนช่วยให้เอกชนผลักดันการส่งออกและลดต้นทุนที่เกิดขึ้น  นอกจากนี้  สำหรับทิศทางการส่งออกทั้งปี 2563  ของไทยนั้น  จากที่ประชุม กกร. มองเป้าหมายการส่งออกไทยทั้งปี ติดลบ 10-12% ในช่วงต้นปี  และปรับประมาณการอย่างต่อเนื่องลงมาที่  ติดลบ 8-10% และจากสถานการณ์ที่ดีขึ้น  แนวทางการแก้ไขปัญหาการส่งออก  เชื่อว่าการส่งออกทั้งปี  น่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้  โดยเฉพาะขณะนี้ตัวเลขการส่งออกรถยนต์ปรับตัวดีขึ้น

ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  หอการค้าไทยมองว่าการส่งออกไทยทั้งปี  2563  คาดว่าจะอยู่ที่ ติดลบ 6.5%  จากทิศทางสถานการณ์ต่างๆดีขึ้น  ส่งผลต่อภาคการส่งออกเริ่มขยับตัว  นอกจากนี้  ยังประเมินว่า  การส่งออกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563  จะมีทิศทางที่ดีขึ้น  ส่งผลให้เชื่อว่าการส่งออกในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564  น่าจะติดลบไม่มาก

จาก https://www.thansettakij.com    วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

น้ำต้นทุนลด 11% ห่วงรับมือ 'แล้ง' ปี 64

แม้ขณะนี้หลายจังหวัดของไทยกำลังประสบปัญหา "น้ำท่วม" แต่ในทางกลับกันสถานการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บไว้ช่วงฤดูแล้ง ปี 63/64 กลับอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก "น้ำเขื่อน" ขนาดกลาง-ใหญ่ ลดลงจากปีก่อน 11% จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการน้ำของประเทศอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์ ก่อนที่จะสรุปปริมาณน้ำเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการช่วงฤดูแล้ง ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่น้ำจะเข้าเขื่อน และมีแนวโน้มที่จะต้องบริหารจัดการน้ำเข้มงวดขึ้น เพราะมีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่าปี 2563

"ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล" รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า แม้จะมีฝนตกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักใน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงปริมาณน้ำในภาพรวมเพื่อกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปี 2563/2564 ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้-30 เม.ย.2564 นั้น พบว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก

ขณะที่โอกาสลุ้นให้ฝนตกเพื่อให้น้ำไหลลงอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางในเขตภาคเหนือ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังย่างเข้าฤดูหนาว และทิศตะวันตกปีนี้มีฝนน้อย ส่วนเส้นทางของฝนกำลังเบี่ยงลงทิศใต้

ภาพรวมปริมาตรน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ในวันที่ 20 ต.ค.2563 อยู่ที่ 21,474 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) น้อยกว่าปี 2562 ถึง 5,611 ล้าน ลบ.ม.หรือ 11% ในขณะที่ยังมีขีดความสามารถจะรับน้ำได้อีก 30,693 ล้าน ลบ.ม. หรืออีก 40% หรืออยู่ในระดับที่กรมชลประทานตั้งสมมติฐานไว้ตั้งแต่ต้นฤดูฝนว่าในกรณีฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าในฤดูแล้งนี้ไทยจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมที่ 18,138 ล้าน ลบ.ม. หรือปริมาณ 38% ของความจุอ่าง

ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ดังกล่าว “คณะกรรมการบริหารแต่ละลุ่มน้ำ” จะกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำตามความจำเป็น ยกเว้น 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งกรมชลประทานต้องบริหารจัดการเอง เนื่องจากจำเป็นต้องนำมาใช้ในเขตลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง แต่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุดทั้งการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และภาคการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรัง และการบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจะใช้เขื่อนชัยนาทเป็นเครื่องมือในการทดน้ำ

ข้อมูลเบื้องต้นในวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักดังกล่าวมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวม 5,505 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าแผนที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวม 6,200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น กรมชลประทานต้องบริหารจัดการในฤดูแล้งนี้อย่างเข้มงวด และคาดว่าปริมาณน้ำนี้จะไม่เพียงพอสำหรับภาคการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาปรังในบางพื้นที่สำคัญในปี 2564 คนไทยทุกคนต้องร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดอีกครั้ง

“ตอนนี้ต้องลุ้นกันว่าสิ้นสุดอิทธิพลของร่องมรสุม พายุจรต่างๆ เหล่านี้จะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนมากน้อยเพียงใด หลังจากนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือเพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำแต่ละลุ่มน้ำอีกครั้ง แต่ 4 เขื่อนหลักนั้นจะต้องนำมาใช้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง ดังนั้น น้ำที่มีอยู่จึงต้องให้ความสำคัญกับการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก”

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง กรมชลประทานคาดว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนทั้งประเทศรวม 23,965 ล้าน ลบ.ม. การนำมาใช้แยกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.จัดสรรตลอดฤดูแล้ง (30 พ.ย.2563-30 เม.ย.2564) รวม 15,740 ล้าน ลบ.ม.หรือ 66% ของน้ำต้นทุน

สำหรับน้ำเพื่อการจัดสรรตลอดฤดูแล้งนั้น จะแบ่งเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 2,591 ล้าน ลบ.ม.หรือ 16% เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,618 ล้าน ลบ.ม.หรือ 48% เพื่ออุตสาหกรรม 388 ล้าน ลบ.ม.หรือ 3% และการเกษตร 5,143 ล้าน ลบ.ม.หรือ 33%

2.สำรองไว้ใช้เป็นน้ำต้นฤดูฝน 2564 (พ.ค.-ก.ค.2564) 8,225 ล้าน ลบ.ม.หรือ 34% ของน้ำต้นทุน โดยกันเอาไว้เพื่อใช้ในช่วงต้นฤดูฝนนั้นจะนำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 4,909 ล้าน ลบ.ม. และกรณีฝนทั้งช่วง 3,316 ล้าน ลบ.ม.หรือ 40%

สำหรับพื้นที่ “ลุ่มเจ้าพระยา” ที่ต้องบริหารจัดการน้ำจาก 4 เขื่อนหลักนั้นกำหนดให้มีการใช้น้ำได้ 5,943 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน คือใช้เพื่อการจัดสรรตลอดฤดูแล้ง 4,000 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของน้ำต้นทุน และสำรองไว้ต้นฤดูฝน 1,443 ล้าน ลบ.ม.หรือ 41% ของน้ำต้นทุน

อีกลุ่มน้ำที่สำคัญคือ "ลุ่มน้ำแม่กลอง" กำหนดแผนการจัดสรรน้ำช่วงแล้งไว้ 4,500 ล้าน ลบ.ม.หรือ 69% แยกเป็นน้ำเพื่อการจัดสรร 3,000 ล้าน ลบ.ม.ในจำนวนนี้ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค 460 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 1,590 ล้าน ลบ.ม. ปลูกพืชต่อเนื่อง 950 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ต้นฤดูฝน 1,500 ล้าน ลบ.ม.หรือ 33% ซึ่งใช้เพื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด

เมื่อพิจารณาแผนการใช้น้ำในภาพรวมทั้งหมดแล้วจะเห็นว่าปี 2564 จะใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกได้เพียง 5.8 ล้านไร่เท่านั้น แบ่งเป็นเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าว 1.12 ล้านไร่ พืชไร่ 3.41 แสนไร่ พืชผัก 1.99 แสนไร่ พืชอื่นๆ 4.1 ล้านไร่ ในจำนวนนี้จะไม่สามารถสนับสนุนให้ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มแม่กลองได้เลย

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

“เฉลิมชัย” ใช้ภาคเกษตรฟื้นเศรษฐกิจ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างร่วมงานวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร ครบรอบ 53 ปี ว่า ภาคเกษตรของไทยมีศักยภาพในการผลิต แปรรูป การทำตลาดส่งออก จึงต้องมุ่งใช้ภาคเกษตรของไทยฟื้นเศรษฐกิจ หลังปัญหาโควิด-19 เพื่อใช้โอกาสนี้ทำตลาดบุกตลาดโลกช่วงทุกประเทศมีปัญหา กระทรวงเกษตรฯ จึงมุ่งหวังใช้นโยบาย “เกษตรปลอดภัย” “การตลาดนำกรผลิต” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดผู้ซื้อสินค้า นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการผลิต การตลาด และส่งเสริมคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยทำตลาด

ทั้งนี้ สนับสนุนให้กรมส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าโครงการเกษตรแปลงใหญ่ หลังจากรวบรวมเกษตรกร 400,000 ราย จำนวน 6,868 แปลง พื้นที่ 6.61 ล้านไร่ ลดต้นทุนการผลิตได้กว่า 16,888 ล้านบาท เพิ่มผลผลิต 19,291 ล้านบาท การพัฒนาเกษตรรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmer 13,000 ราย เตรียมพร้อมเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ 5,245 ราย พัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการ StartUp 949 ราย ยกระดับไปสู่ตลาดสากล 100 ราย และยังกระจายศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ 77 ศูนย์ ใน 77 จังหวัด

สำหรับการส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรปี 2563 ได้จัดตลาดเกษตรกร 77 จังหวัด มูลค่า 298 ล้านบาท ลงนามร่วมกับผู้ประกอบการ ห้างค้าปลีก เพื่อรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร การทำตลาดออนไลน์ “ผ่านตลาดเกษตรกร” ตั้งแต่เปิดตลาดออนไลน์ ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท จึงต้องการส่งเสริมให้เกษตกรทำตลาดออนไลน์มากขึ้น

จาก https://tna.mcot.net   วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กรมชลฯ แจ้งเตือนน้ำสูง 11 จว.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน (ชป.) ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 2 ไปยังผู้ว่าราชการในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 11 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ และกรุงเทพฯ ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักกระจายบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และพิจิตร ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี รวมกันไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่พื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก มีปริมาณมากต้องเร่งระบายออก จึงสามารถแบ่งระบายน้ำจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งได้เพียงเล็กน้อย ประกอบกับในระยะนี้มีฝนตกกระจายทั่วพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ระดับน้ำเหนือเขื่อนจ้าพระยา อยู่ที่ระดับ +16.50 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนจ้าพระยา 889 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณระหว่าง 900-1,100 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คลองโผงเผง คลองบางบาล บริเวณอำเภอบางบาล อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร

ทั้งนี้ หากมีฝนตกเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าเกณฑ์ดังกล่าว จะแจ้งให้ทราบต่อไป ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงขอให้ทางจังหวัดประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ESB สู่ EEC ลดแรงกดดัน 'โลกาภิวัตน์' สู่ 'นวัตกรรม'

"อิสเทิร์นซีบอร์ด" เมกะโปรเจคหนุนส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมจากต่างประเทศในอดีต ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกาภิวัฒน์ สู่ปัจจุบัน "อีอีซี" เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โครงการที่ดึงนวัตกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมสู่ New S-Curve

ในอดีตที่ผ่านมา นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคแรกๆ ได้เน้นไปที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า มีการให้สิทธิพิเศษทางภาษี ต่อมามีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกและการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีการหลั่งไหลของการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก และมีการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมบางประเภทเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในยุคต่อมา เป็นยุคที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องเปิดเสรีการค้า การเงินและการลงทุนไปพร้อมๆ กัน ประเทศไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมซิเมนต์ ปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน นโยบายลงทุนเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และตามการย้ายฐานการผลิตระลอกสองจากประเทศญี่ปุ่น เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เกิดการพัฒนาในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า “โครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด” หรือ ESB ซึ่งจากการวางแผนที่ดีทำให้ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและความเหมาะสมของการพัฒนา จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย

ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนี้ ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน 2 ด้าน หรือมีสภาพเป็น “แซนด์วิช” ที่ด้านบนถูกบีบจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งสามารถพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน

ขณะที่ด้านล่างก็ถูกบีบจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงถูกกว่า จึงกลายเป็นคู่แข่งสินค้าอุตสาหกรรมของไทยด้วย ในระยะหลังนโยบายอุตสาหกรรมของไทยจึงได้เน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญด้านมูลค่าเพิ่ม คุณภาพมาตรฐาน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

จากปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ ปัญหาอุปทานส่วนเกินในหลายๆ อุตสาหกรรม ข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต เช่น การขาดพัฒนาทักษะแรงงาน นวัตกรรมการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ ประเทศไทยจึงหนีไม่พ้นที่จะต้องยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น โดยใช้โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นการกำหนดเศรษฐกิจใหม่ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “เกษตรหรือโภคภัณฑ์ดั้งเดิม” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม”, เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น

ปัจจุบันไทยอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการสนับสนุนการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค โดยคาดหวังให้พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็น “สปริงบอร์ด” เพื่อตอบโจทย์ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งจะเป็นห่วงโซ่อุปทานโลกให้กับการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งมีทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

ในอนาคต การเดินหน้าสานต่อและพัฒนาอุตสาหกรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้พื้นที่อีอีซีที่ภาครัฐเร่งผลักดัน ก็ได้เดินหน้าไปมากแล้วทั้งโครงสร้างพื้นฐาน 5 โครงการหลักและการศึกษาโครงการเชื่อมโยง อาทิ แลนด์บริดจ์-สะพานไทย-ท่าเรือบก การผ่านกฎหมายและนโยบายการลงทุนทั้งเพื่อการต่อยอดการลงทุนและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จึงเชื่อมั่นว่าจะเป็นกลไกสำคัญผลักดันให้เป้าหมาย “ไทยแลนด์ 4.0” ประสบความสำเร็จ และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแนวโน้มใหญ่ที่ธุรกิจต้องปรับตัว

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...สุรัสวดี ไพเราะ ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ AFPTTM ธนาคารกสิกรไทย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเรื่องที่ทุกคนยังคงต้องให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นเรื่องของสภาวะโลกร้อน หรือ global warming โดยนิยามของภาวะโลกร้อนคือ การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งอุณหภูมิบริเวณผิวโลกและอุณหภูมิจากน้ำทะเลในมหาสมุทร โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอากาศมาจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ในเกือบทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าหรือการบริการ การขนส่งหรือการส่งมอบสินค้า การตัดไม้ทำลายป่า เกษตรกรรม การปศุสัตว์นำมาซึ่งขยะมูลฝอย การกระทำดังกล่าวมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรสะท้อนกลับออกไปในปริมาณที่เหมาะสม กลับถูกก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้กักเก็บไว้ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

สภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับเรามากกว่าที่คิด

สภาวะโลกร้อนที่รุนแรงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุของการเกิดภัยพิบัติ สร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตมนุษย์ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภัยแล้ง ความรุนแรงของพายุ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลง โดยในประเทศไทยเองซึ่งเป็นประเทศเมืองร้อนก็รู้สึกได้ถึงอากาศบ้านเราที่ร้อนขึ้นทุกปี และจากหน้าหนาวที่เคยมีกลายเป็นมีเพียงแค่อากาศร้อนกับร้อนมากเท่านั้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญและช่วยกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีผู้แทนจากทั่วโลกมากกว่า 195 ประเทศ ให้ความเห็นชอบและร่วมลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความร่วมมือที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว

ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันภัยพิบัติ

จากเวทีโลกที่มีการกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาระดับประเทศ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับองค์กร หลายบริษัทจากหลายภาคส่วนได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ภาคการผลิตหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น การใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทางเลือกที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น การคมนาคม ก็มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยควันเสียมาทำร้ายสภาพแวดล้อม โดยระยะยาวค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมบำรุงรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้ายังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า ไม่เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการค้าปลีกก็หันมาส่งเสริมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการใช้ถุงพลาสติกและส่งเสริมให้ลูกค้านำถุงผ้ามาใช้ ขณะที่ระดับบุคคลทั่วไปก็สามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อหยุดภาวะโลกร้อนได้ ผ่านการประหยัดไฟ และการปลูกต้นไม้

ภาวะโรคระบาดเป็นตัวเร่งให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การปรับตัวในช่วงที่มีโรคระบาดเป็นการบังคับทางอ้อมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยบริษัทห้างร้านต่างๆ มีการปรับตัวในแนวทางที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขอความร่วมมือเพื่อหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวในที่ชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด การทำงานที่บ้านหรือการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จึงเข้ามาแก้ไขปัญหาให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ ยิ่งกิจกรรมในการออกไปที่ชุมชนน้อยลงโอกาสในการสร้างขยะหรือใช้พลาสติกที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดภาวะเรือนกระจกก็จะน้อยลง การทำงานหรือการสร้างเอกสารผ่านระบบออนไลน์ที่มากขึ้นก็ทำให้การตัดต้นไม้เพื่อนำมาผลิตเป็นกระดาษก็น้อยลงเช่นเดียวกัน

ธรรมชาติได้ฟื้นฟูในขณะที่บริษัทก็เติบโตอย่างยั่งยืน

ผลพลอยได้จากการที่บริษัทต่างๆ ดำเนินการหรือกำหนดกลยุทธ์ในการทำธุรกิจเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระยะสั้นจะเห็นได้จากความสามารถในการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทที่สิ้นเปลือง เช่น ค่าน้ำค่าไฟในสำนักงาน ค่าเดินทางของพนักงาน ค่าใช้จ่ายทางเอกสารและการจัดเก็บ ขณะที่ระยะยาวแรกจะส่งผลให้บริษัทต่างๆ มีการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในประเทศที่มีนโยบายให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่บริษัทที่สามารถลดก๊าซ Co2 ได้จะส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษี และในอีกด้านหนึ่ง บริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะสามารถลดความเสี่ยงจากการมีปัญหากับคนในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาซึ่งการฟ้องร้องในอนาคต ส่งผลให้บริษัทสามารถที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างราบเรียบมากขึ้น เช่น NIKE ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของโลก ได้หันมาใช้พลังงานทางเลือกในการผลิต 100% และสามารถรีไซเคิลของเสีย การผลิตเส้นใยจากขวดพลาสติก

ลงทุนอย่างไรในภาวะที่โลกกำลังตื่นตัวในการดูแลสิ่งแวดล้อม

กระแสของการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อมนำมาซึ่งโอกาสของนักลงทุนในการเข้าลงทุนในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบรับไปกับทิศทางการเติบโตของโลก โดยเม็ดเงินจากการลงทุนจะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามการลงทุนไปกับบริษัทที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นเรื่องที่ใหม่ กองทุนประเภทนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นักลงทุนสามารถทยอยลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของผู้ลงทุนจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว และเชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้การลงทุนที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นกระแสหลักในธีมการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะเลือกไว้เป็นอันดับต้นๆ โดยเราสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆผ่านการลงทุน

จาก https://www.posttoday.com   วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

119 เขื่อน-อ่าง วิกฤติ น้ำทะลักเกินเกณฑ์ 

กอนช. เปิด 119 ระดับน้ำเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ วิกฤติ น้ำทะลักเกินเกณฑ์ ผวาล้น “สปิลเวย์” จับตาเจอ พายุซ้ำ ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย.

ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)   รายงานสถานการณ์ ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2563  เผยแหล่งน้ำที่ต้องฝ้าระวัง คิดจาก % ปริมาตรน้ำเก็บกัก (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ต.ค. 63)  ทั้งหมด 119 ระดับน้ำเขื่อน-อ่างเก็บน้ำ” ทั่วประเทศ เฝ้าระวัง (100%)  โดยแบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 3 แห่ง แยกเป็น  ภาคตะวันออก 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล (107%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคำตะคอง (102%) และอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง (109%)

ส่วน ขนาดกลาง 90 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ได้แก่ ฮ่างเก็บน้ำน้ำแห (100%) อ่างเก็บน้ำแม่มาน (100%) อ่างเก็บน้ำแม่ถาง (101%),อ่างเก็บน้ำแม่คำปอง (101%) และอ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น (102%), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 61 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำเลย (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยทอน (103%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยหินแก้ว (100%), จ่างเก็บน้ำห้วยทราย (100%) อ่างเก็บน้ำบ้านจั่น (107%) อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง (107%) ,อ่างเก็บน้ำลำซ่อระกา(122%) , อ่างเก็บน้ำน้ำพรม (124%), อ่างเก็บน้ำลำพะยัง(ตอนบน) (100%), อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยมะโน (102%)

อ่างเก็บน้ำแก่งละว้า (101%), อ่างเก็บน้ำหนองกรองแก้ว (101%), อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน (102%) จ่างเก็บน้ำหนองขอนสัก(105%) อ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง (110%), อ่างเก็บน้ำหนองบ่อ (101%),อ่างเก็บน้ำห้วยจอกขวาง (102%), อ่างเก็บน้ำห้วยหินขะแนน (102%), อ่างเก็บน้ำห้วยศรีคุณ (102%), อ่างเก็บน้ำห้วยมุก (100%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ (104%), อ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ (107%), อ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือ(ห้วยผึ้ง) (100%) ,อ่งเก็บน้ำห้วยจันลา (100%), อ่างเก็บน้ำห้วยวังใหญ่ (100%), อ่างเก็บน้ำห้วยเดือนห้า (106%), อ่างเก็บน้ำหนองข้างใหญ่ (111%) ,อ่างเก็บน้ำหัวยโดน (107%),อ่างเก็บน้ำห้วยละมืด (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยสวาย (103%) ,อ่างเก็บน้ำคลองมะนาว (136%), อ่างเก็บน้ำห้วยตะโก (104%) ,อ่างเก็บน้ำลำสำลาย (115%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยเตย (104%)

อ่างเก็บน้ำลำเซียง (103%), อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง (106%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยขนุน (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยด่านไอ (109%), อ่างเก็บน้ำห้วยตาจู (106%), อ่างเก็บน้ำหัวยสำราญ(104%), อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา(105%), อ่างเก็บน้ำหัวยตั๊กชู (114%) อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำคำ(103%), อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย (102%) ,อ่างเก็บน้ำหนองสิ (120%), อ่างเก็บน้ำห้วยทา (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยตะแบง (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว (106%),อ่างเก็บน้ำห้วยขนาดมอญ (102%) ,อ่างเก็บน้ำอำปีล (117%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (129%), อ่างเก็บน้ำหัวยลำพอก (115%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยตาเกาว (106%). อ่างเก็บน้ำห้วยกะเลงเวก (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยซับประดู่ (105%)

อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ (106%), อ่างเก็บน้ำลำเซียงไกร ตอนบน (108%), อ่างเก็บน้ำห้วยสะกาด (100%), อ่างเก็บน้ำห้วยทับครั้ว (101%) และอ่างเก็บน้ำห้วยประหาวล่าง (106%) ภาคตะวันออก 16 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศาลทราย (110%),อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร (101%), อ่างเก็บน้ำเขาอีโต้ (101%) , อ่างเก็บน้ำทับลาน (101%) อ่างเก็บน้ำคลองระโอก (106%) ,อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ (102%) อ่างเก็บน้ำเขาระกำ (108%), อ่างเก็น้ำบ้านมะนา (111%), อ่างเก็บน้ำตำนชุมพล (130%), อ่างเก็บน้ำห้วยแร้ง (103%), อ่างเก็บน้ำคลองสะพานหิน (100%),อ่างก็บน้ำคลองโสน (103%) อ่างเก็บน้ำห้วยซัน (100%) ,อ่างเก็บน้ำซ่องคลำลง (101%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยตะเคียน (116%) และอ่างเก็บน้ำคลองพระสทึ่ง (106%)

ภาคตะวันตก 7 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน (102%), อ่างเก็บอ่างเก็บน้ำชัฏป่าหวาย (104%),อ่างเก็บน้ำห้วยมะหาด (111%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยผาก (104%) ,อ่างเก็บน้ำห้วยไทรงาม (103%), อ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น (102%) และอ่างเก็บน้ำห้วยมงคลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (111%) ภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองหยา (104%)

อย่างไรก็ดีกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าไทยมีโอกาสเจอ "พายุ" ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย.

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ทองเปลว กองจันทร์ ปรับโฉมเกษตร 4.0 ฝ่าโควิด

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจฐานราก เป้าหมายการเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ถือเป็นภารกิจร้อนที่รัฐบาลต้องมุ่งหน้าไปพร้อมกับการควบคุมสถานการณ์โควิด แม่ทัพกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ “นายทองเปลว กองจันทร์” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่ก้าวจากอธิบดีกรมชลประทานเข้ารับตำแหน่ง “ปลัดกระทรวง” แทน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ซึ่งเกษียณอายุราชการไป มีมุมมองและแนวทางการทำงานภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำ การเพิ่มรายได้เกษตรกร

Q : ภารกิจกรมชลฯต่อยอดงานปลัด

ปัญหาท่วม แล้ง ที่เกิดขึ้นบางปีเป็นภัยธรรมชาติ บางพื้นที่ไม่เคยมีปริมาณน้ำจำนวนมาก เช่น ลำพระเพลิง ตั้งแต่ปี 2553 ที่มีปริมาณน้ำเท่าปีนี้ เหนือสิ่งอื่นใดคือการบริหารจัดการน้ำที่เวิร์กที่สุด คือ แผนกักเก็บน้ำ (water storage) ให้มากที่สุดเพื่อตุนไว้ใช้หน้าแล้งและสามารถทำได้เลย และผมทำมาตลอดคือและจะมุ่งเน้นต่อจากนี้คือ เพิ่มแหล่งน้ำ เพิ่มความจุโดยรอบเขื่อนเดิมที่มีให้มากที่สุด ด้วยในยามฤดูฝน

เช่น โครงการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล งบประมาณ 70,000 ล้านบาท จะเพิ่มปริมาณน้ำได้อีก 1,800 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ คาดว่าจะแล้วเสร็จปี”65 และโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำ สร้างเสริมศักยภาพการเก็บน้ำให้มากขึ้นในโครงการเหลียวหลัง ทั้งหมดจะเน้นเพิ่มกักเก็บน้ำ เพราะส่วนก่อสร้างแห่งใหม่ ๆ ต้องยอมรับว่าใช้เวลานาน

Q : จุดอ่อน-จุดแข็งภาคเกษตร

10 กว่าวันที่ดำรงตำแหน่งปลัดเกษตรฯและประสบการณ์การทำงานด้านเกษตร เราเห็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง จุดอ่อนกระทรวงคือ ตัวเกษตรกรที่มีสถานะการเงิน รายได้ ฐานะปานกลางไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือพื้นที่ในการทำการเกษตรของเกษตรกรไทยยังไม่มีเป็นของตัวเอง หลายพื้นที่ที่ทำเกษตรยังเป็นพื้นที่เช่า และเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ส่วนการเพาะปลูก การจัดการระบบการผลิต ยังมีต้นทุนที่สูงมาก แต่จุดแข็งของเกษตรไทยในวันนี้คือ ภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์ในการทำเกษตรดีมาก มีแหล่งน้ำ และสภาพอากาศที่ครบทุกฤดู เกษตรทฤษฎีใหม่ จากภูมิปัญญาของเรา ข้าว ยาง อ้อย มัน ปาล์ม คือ สินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สามารถปลูกได้

Q : แนวทางรับมือวิกฤตโควิด

พอเจอปัญหาโควิด-19 ผมกลับมองว่ายิ่งเป็นโอกาสภาคเกษตร เพราะรายได้ภาคเกษตรมหาศาลมาก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สิ่งที่อยากจะทำเลยทันทีคือ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,805 ล้านบาท ต้องปรับปรุงเกณฑ์ และคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ หลังเปิดรับสมัคร 2 ครั้ง มีเกษตรกรเข้าร่วม 33,500 ราย จากเป้าหมาย 64,144 ราย

ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกำชับ การจัดซื้อจัดจ้าง ควรเป็นแบบกระจาย ให้ผู้รับจ้างหลากหลายผู้รับจ้างรายย่อย อย่ามัดรวมโครงการจัดจ้างรายใหญ่เพียงรายเดียว เพื่อให้เงินกระจายสู่ชุมชนมากที่สุด ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้มีการกระจายเงินเข้าสู่ระบบ มีการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อรองรับคนที่ตกงานจากโควิด-19

Q : ต่อยอดการตลาดนำการผลิต

ภายในเดือน ต.ค.นี้ จะหารือกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศทั่วโลก เพื่อให้เร่งประชาสัมพันธ์ผลผลิตด้านการเกษตรของไทย โดยหาตลาดใหม่ ในขณะที่ต้องรักษาตลาดเดิมเอาไว้ด้วย โดยให้ชูสินค้าเกษตรที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ หรือ GI เป็นตัวนำตลาด สร้างเรื่องราวเชื่อมโยงท่องเที่ยว ดังนั้น อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ของประเทศนั้น ๆ ต้องศึกษา วิเคราะห์ ความต้องการแต่ละตลาด เพื่อแนะนำการผลิตให้สอดคล้องกัน เช่น จีน มีความต้องการทุเรียน น้ำมะพร้าวน้ำหอม ส้มโอ สหภาพยุโรป หรืออียู ต้องการสินค้าอินทรีย์ เป็นต้น

“ผมคิดว่าสินค้าไทยเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ปัญหาคือผู้บริโภคยังไม่รู้จัก ดังนั้น ทูตเกษตรต้องทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์แนะนำ ประชาสัมพันธ์ ให้ประเทศเป้าหมายที่ไทยจะส่งออก หรือเปิดตลาดสินค้าเกษตร ให้รู้จัก ให้ทูตเกษตรทำเป็นงานหลัก

โดยเฉพาะช่วงที่การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผู้บริโภคไม่สามารถเดินทางได้ แต่การส่งออกสินค้าจากไทยไปทั่วโลกยังมีต่อเนื่อง ที่สำคัญสินค้าจากไทยเมื่อออกจากโรงงานนั้นสามารถรับรองการปลอดเชื้อโควิดด้วย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดได้ในสถานการณ์เช่นนี้”

Q : เดินหน้าการทำเกษตร 4.0 ต่อ

นอกจากนี้ ทูตเกษตรยังต้องประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาส่งเสริมภาคเกษตรของไทยด้วย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ภาคการเกษตรของไทยยังมีความก้าวหน้าน้อยมาก ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการส่งเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของไทยให้สูงขึ้น เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหล่านี้สามารถนำมาต่อยอดยกระดับในโครงการแปลงใหญ่ ที่ประสบผลสำเร็จแล้วกว่า 5,200 แปลงแล้ว หรือ 5 ปี เป้าหมาย 7 ล้านไร่

และผมได้เสนอแก้ไขกฎหมายเปิดทางให้วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อให้ตอบโจทย์การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ให้ประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้และพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“ผมจะมุ่งเน้นเทคโนโลยีมาช่วยมากขึ้น คาดว่าภายในปี 2565 จะสามารถยกระดับพื้นที่เกษตรได้ประมาณ 5-10% หรือประมาณ 14-15 ล้านไร่ ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ จะกลายเป็นเกษตรยุคใหม่ และในจำนวนนี้ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากมาตรการลดต้นทุน 15% เพิ่มรายได้ 15% เกษตรกรกลุ่มนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 31,342.11 บาท/ครัวเรือน/ปี หรือรายได้รวม 135,815.81 บาท/ครัวเรือน/ปี จากปัจจุบันมีรายได้ 104,473.7 บาท/ครัวเรือน/ปี

ที่สำคัญคือ ภาคการเกษตรต้องดำเนินไปควบคู่ไปกับการตลาด สินค้าที่ผลิตได้ต้องสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดตามมา ดังนั้น ทูตเกษตรต้องขับเคลื่อนตลาดต่างประเทศคู่กับตลาดในประเทศให้ได้และต้องเร่งวิเคราะห์ข้อมูล และแจ้งกลับมายังเกษตรกรอย่างรวดเร็ว เพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้อง”

Q : วางอนาคตกระทรวงเกษตรฯยุคใหม่

สิ่งหนึ่งที่อยากจะทำคือ ปฏิรูปสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นคืองานประชาสัมพันธ์ ประสานงานกระทรวง กรม และรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ว่องไวรวดเร็ว ผมขอใช้คำว่าปรับลุกข้าราชการใหม่ให้ทันสมัย ทันต่อสถานการณ์ข่าวสารต้องเร็ว ตอบโจทย์และไม่ยืดเยื้อ พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับสถาบันเกษตราธิการ ให้เป็นคนเกษตรยุคใหม่

ท้ายสุด “ปลัดทองเปลว” ให้คำมั่นว่า ในระยะเวลา 2 ปีที่เหลือก่อนเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะทำเต็มที่ และทำให้ดีที่สุด จะเร่งยกระดับเกษตรกรไทย โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย ในช่วงประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย นำบิ๊กดาต้ามาช่วยเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาด้านเกษตร และจูงใจลูกหลานเกษตรกร ผลักดัน young smart ผมมองว่าคนเก่ง ๆ วงการเกษตรมีเยอะมาก ๆ ทำไมเราไม่ผลักดันให้มากกว่านี้

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สศก. พร้อมเป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร

สศก. วางตัวเป็น เนวิเกเตอร์ ชี้นำเศรษฐกิจการเกษตร รวดเร็ว แม่นยำ ใช้ได้จริง ก้าวเป็นศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ในปี 65

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ภายในปี 2565 จำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ และด้วยบทบาทภารกิจสำคัญยิ่ง ที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานจัดทำ Big Data ด้านการเกษตรของประเทศ จึงต้องพร้อมทั้งสมรรถนะ และศักยภาพบุคลากร เพื่อให้องค์กรเติบโตสู่ Digital Transformation ในยุค New Normal

“ปัจจุบัน โลกก้าวไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ทุกองค์กร จึงต้องก้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาดคนและสัตว์ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีนวัตกรรม ดังนั้น การดำเนินงานของ สศก. ต้องเน้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม มาประยุกต์ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ จึงทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง หรือ ‘เนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร’ เพื่อชี้แนะข้อมูล ทิศทางแนวโน้มภาคเกษตร ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง”

สำหรับนโยบายการปฏิบัติงาน จะมุ่งเน้นให้ สศก. ขับเคลื่อนงานทั้งด้านข้อมูล วิจัย นโยบาย ประเมินผล และด้านบริหาร อย่างครอบคลุม โดยต้องเป็นหน่วยงานที่พัฒนา เตรียมพร้อม และสามารถรับมือต่อทุกสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตรให้แก่ประเทศด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งภารกิจ 5 ด้าน คือ

ด้านข้อมูล พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ นำไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย จัดทำนโยบายได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งการจัดทำ Big data ต้องพัฒนาไปสู่ ระบบการประมวลผลที่มีการวิเคราะห์เชิงลึก (Artificial Intelligence: AI) ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าใจง่าย และนำไปใช้ประโยชน์ได้

ด้านวิจัย ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง สนองต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน ด้านนโยบาย จัดทำและเสนอโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนองต่อความต้องการและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ด้านประเมินผล ประเมินผลตามข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

และด้านบริหาร จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงให้ทุกภาคส่วนรับรู้ พร้อมทั้งเสนอแนะ แนวทางในการแก้ไขและพัฒนาอย่างชัดเจนและปฏิบัติได้จริง มีการทำงานรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ มีความเป็นทีม ทั้งภายในและภายนอก สศก. ที่สำคัญคือต้องพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ

สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของ สศท. 1-12 ให้สามารถทำงานแทนส่วนกลางได้ และไม่ลืมในด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อมุ่งสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร

นอกจากนี้ สศก. จะให้ความสำคัญกับนโยบายหลักของรัฐบาล รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง เศรษฐกิจการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ครม.ไฟเขียวแผนนโยบายด้านพลังงานประเทศ

ครม. เห็นชอบ 5 แผนงานเชิงนโยบายด้านพลังงานและ 5 แนวทาง หวังสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในอนาคต

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ 5 แผนงานเชิงนโยบายพลังงานและรับทราบ 5 แนวทาง ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยเห็นชอบ 5 แผนเชิงนโยบายด้านพลังงาน ได้แก่ 1.ร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580  2.ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1  3. ร่างแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2561 – 2580  4. ร่างแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 และ 5. แผนรองรับวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563 – 2567

พร้อมรับทราบ 5 แนวทางบริหารจัดการกิจการพลังงาน ได้แก่ 1. แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า 2.การศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าและการจัดการระบบจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า 3. โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน 4. การกำหนดอัตราส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และ 5. ขอปรับปรุงหลักการและรายละเอียดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

“ทั้งหมดนี้เป็นกรอบแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของประเทศไทยในระยะยาว เพื่อให้หน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพลังงานของประเทศ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 การส่งเสริมการใช้ก๊าชธรรมชาติในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ การสำรวจและจัดหาก๊าชธรรมชาติให้มีความสมดุลและเพียงพอ รวมทั้งแผนรองรับวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการเดินหน้าตามแผนงานนโยบายพลังงานดังกล่าว จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รองรับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกในอนาคต ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย”

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ค่าเงินบาททรงตัว 31.20 บาท/ดอลลาร์ จับตาเงินหยวนจีนสร้างกระแสทุนไหลเข้า

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (20 ต.ค. 2563) ที่ระดับ 31.20 บาท/ดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.10-31.30 บาท/ดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (20 ต.ค. 2563) ที่ระดับ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินผันผวนสูง ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ปรับตัวลงถึง 1.6% ขณะที่ดัชนีวัดความกลัวของตลาดหรือ VIX Index ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับ 30% สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม หลังความไม่แน่นอนเรื่องแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาเป็นประเด็นที่นักลงทุนกังวล

ด้านการเลือกตั้ง โจ ไบเดน ก็เร่งคะแนนความนิยมนำห่างถึง 87.5% สูงที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาทำให้ตลาดขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงออกมาก่อนการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยในฝั่งสหรัฐปรับตัวขึ้น โดยบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ขยับขึ้นแตะระดับ 0.77% และดัชนีดอลลาร์ย่อตัวลง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ชี้ให้เห็นว่าตลาดเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของฝั่งเดโมแครตจะกดดันดอลลาร์และบอนด์ระยะยาว

ส่วนเงินบาท ระยะสั้นแทบไม่มีความเคลื่อนไหว โดยในช่วงวันก่อนแกว่งตัวอยู่ในช่วง 31.18-31.25 บาทต่อดอลลาร์ เรามองความเสี่ยงการปรับฐานของตลาดลดบทบาทลงเมื่อเงินดอลลาร์ไม่แข็งค่า จึงควรกลับมาติดตามทิศทางของสกุลเงินเอเชีย โดยเฉพาะเงินหยวนจีน (CNY) ที่ล่าสุดแข็งค่าแตะ 6.68 หยวนต่อดอลลาร์ แพงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2018 ซึ่งถ้าแข็งค่าต่อจะสร้างกระแสเงินทุนไหลเข้าสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ตามมาด้วย

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

รู้จักหุ่นยนต์ตัวใหม่ RPA ที่สามารถขับเคลื่อนทุกองค์กรสู่โลกดิจิทัล 

โดย ดร.ลิสา พัทธ์วิวัฒน์ศิริ  ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายปฏิรูปธุรกิจ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ 45

ในยุคที่มีการแข่งขันสูงในทุกวันนี้ ดูเหมือนว่า Digital Transformation ได้ถูกกล่าวถึงและนำมาใช้ในองค์กรต่างๆ มากมาย

ในทุกสายงานและทุกธุรกิจ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ทันเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการไปสู่สิ่งที่ลูกค้าคาดหวังได้ ท่ามกลางเทคโนโลยีต่างๆ ที่องค์กรได้เลือกนำมาใช้ชื่อของ Robotic Process Automation หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า RPA เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทุกองค์กรหมายตาและอยากศึกษาเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างแน่นอน เหตุผลที่ชัดเจนที่สุดก็คืองบประมาณที่ไม่สูงจนเกินไป ความยุ่งยากในการติดตั้งใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากจนเกินไป และประโยชน์ที่เห็นอย่างชัดเจนในเรื่องของการทำงานแทนมนุษย์ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานมากที่สุดและยังสามารถลดต้นทุนขององค์กรได้อีกด้วย

RPA ย่อมาจาก Robotic Process Automation หรือแปลตรงตัวได้ว่าหุ่นยนต์กระบวนการอัตโนมัติ เมื่อเวลาพูดถึงคำว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในกระบวนการทำงาน เราทุกคนมักจะนึกไปถึงหุ่นยนต์ที่ติดตั้งใช้งานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่เรียกกันว่า Physical Robot หรือ Hardware Robot อย่างไรก็ตาม RPA เป็นซอฟต์แวร์หุ่นยนต์ (Software Robot) ที่เราชอบเรียกกันว่า โรบอท ซึ่งเป็นโปรแกรม Application ที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วสามารถทำงานได้เปรียบเสมือนมนุษย์หนึ่งคน มีความสามารถในการจัดการกับงานต่างๆที่พนักงานมนุษย์เป็นคนทำ โดยเฉพาะ งานที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นงานที่มนุษย์ทำเป็นประจำอยู่ทุกวันหรืองานที่เกิดความผิดพลาดจากมนุษย์ได้โดยง่าย เช่นงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขบัญชี หรือการกระทบยอดต่างๆ เพราะโรบอทสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วกว่า

จากประสบการณ์ที่กรุงศรี คอมซูมเมอร์ ในฐานะผู้ให้บริการบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีฐานสมาชิกบัตรกว่า 9 ล้านบัญชี ได้มีการนำ RPA มาใช้งานในองค์กรมากกว่า 50 กระบวนการแล้ว โรบอทสามารถทำให้งานเสร็จได้รวดเร็วกว่าพนักงานมนุษย์ 5-10 เท่า และมีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าอีกทั้งในบางงานเราสามารถตั้งให้โรบอทปฏิบัติงานได้ในช่วงเวลาที่กำหนด เช่นกำหนดให้โรบอททำงานในเวลาเที่ยงคืนของทุกๆวัน หรือทำรายงานปิดงบการเงินในช่วง Month-End ของทุกๆเดือน และเมื่องานส่วนใหญ่ได้ถูกจัดการด้วยโรบอทแล้ว พนักงานมนุษย์ของเราก็จะสามารถมีเวลาทำงานที่ต้องใช้ความสามารถของมนุษย์โดยแท้จริงได้มากขึ้น ดังนั้นจึงเกิดประสิทธิภาพได้สูงสุดในองค์กร และสร้างประสบการณ์การบริการให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ในขณะที่เราก้าวไปสู่อนาคต มนุษย์จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์เพื่อเปลี่ยนวิธีที่เราทำธุรกิจที่จะส่งผลให้ต้นทุนต่ำกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและการบริการลูกค้าที่ดีมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมหลายๆ องค์กรจึงเริ่มให้ความสนใจกับนวัตกรรมเทคโนโลยี RPA มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2020 จะเห็นได้ว่าการเจริญเติบโตของทุกธุรกิจนั้นมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวอันเนื่องมาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่ในส่วนของเทคโนโลยี RPA นั้นกลับกลายเป็นทาง เลือกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในปัจจุบัน เพราะหลายองค์กรมีความจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนการทำงานและในหลายองค์กรเริ่มมีการใช้นโยบาย Work From Home ซึ่งพนักงานจะอยู่ในออฟฟิศน้อยลงแต่ปริมาณงานไม่ได้น้อยลงหรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำหลากหลายรายงานยังพบอีกว่าในปี 2019 การใช้งานเทคโนโลยี RPA นั้นได้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจในอเมริกาเหนือทั้งหมด ผลการสำรวจจาก Gartner (บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำของโลก) ระบุว่าการใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยี RPA คาดว่าจะสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 ส่วนการศึกษาของ Forrester ระบุว่าตลาด RPA สามารถโตไปถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2564 และสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 ครอบคลุมทุกธุรกิจตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิต ค้าปลีก ธุรกิจธนาคาร และประกันภัย รวมถึงการแพทย์และสถานพยาบาล

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี RPA จะดูเหมือนว่าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี แต่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกกระบวนการทำงานที่เหมาะสมที่จะนำ RPA มาใช้ทำงานแทนมนุษย์อีกด้วย หากเราเลือกกระบวนการทำงานที่ไม่เหมาะสมแล้ว ก็คงไม่ต่างจากคนที่มีรถหรูแต่ไม่รู้วิธีขับรถ ดังนั้นกระบวนการทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้ RPA ทำงานแทนมนุษย์ได้ดีนั้นควรจะมีลักษณะหลักๆ ตามแบบ RHRS ซึ่งประกอบไปด้วย

Repetitive - กระบวนการทำงานที่ทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ เช่นการรับและยืนยันคำสั่งซื้อ 100 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มจากการรับอีเมลคำสั่งซื้อ-คัดลอกข้อมูลคำสั่งซื้อไปที่อีกระบบหนึ่ง-ทำการคำนวณราคาคำสั่งซื้อในระบบ-กดปุ่มยืนยันคำสั่งซื้อ-ส่งอีเมลยืนยันคำสั่งซื้อให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง และทำเช่นนี้เหมือนเดิมทุกครั้ง

High Volume/ Turnaround Time - กระบวนการที่มีจำนวนมากๆ ต่อวัน เช่น กระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่มีประมาณ 5,000 ธุรกรรมต่อวัน หรือกระบวนการที่ใช้เวลานานมากในการทำตั้งแต่ต้นจนจบต่อหนึ่งกระบวนการ

Rules-Based - กระบวนการต้องมีกฎเกณฑ์ชัดเจนในการตัดสินใจ เราต้องไม่ลืมว่า RPA เป็นโรบอท เค้าไม่มีชีวิตจิตใจ ดังนั้นหากกระบวนการที่มีจุดตัดสินใจ โดยใช้ความรู้สึกหรือใช้ประสบการณ์ของพนักงานเป็นตัวตัดสินโรบอทจะไม่สามารถทำงานนี้แทนมนุษย์ได้

Standardization & Stability - กระบวนการจะต้องมีมาตรฐานชัดเจน มีจำนวนข้อยกเว้น (exception) ที่น้อยที่สุด และที่สำคัญต้องเป็นกระบวนการที่มีเสถียรภาพไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย วิธีคิดอย่างง่ายที่สุดคือใน 1 ปีที่ผ่านมาไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการดังกล่าว เพราะการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการย่อมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโปรแกรมที่ RPA อีกด้วย

นอกจากการเลือกกระบวนการที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว การนำเทคโนโลยี RPA มาใช้ในองค์กรให้ประสบความ สำเร็จได้นั้นยังคงต้องอาศัยเทคนิคแอบแฝงอีกหลายประการ แต่ 4 ตัวหลักที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเตรียมตัวองค์กรให้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี RPA ประกอบไปด้วย

Mindset สร้างกรอบความคิดความเชื่อให้พนักงานในทางบวกเพื่อการเปลี่ยนแปลง“Automation isn’t a Threat”

Strong Team การสร้างโรบอทให้ฉลาดและเก่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากทีมงานที่แข็งแกร่งตั้งแต่การเข้าใจกระบวนการ การออกแบบกระบวนการใหม่ และการพัฒนาโรบอท

Agile ความยืดหยุ่น และการใช้เวลาในการพัฒนาโรบอทต่อหนึ่งกระบวนการควรจะไม่นานจนเกินไป และรับฟังความต้องการใช้งานจริงจากคนทำงานเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

Company wide ทุกกระบวนการทำงานย่อมส่งผลต่ออีกกระบวนการหนึ่งในอีกทีมงานเสมอ ดังนั้นการพัฒนาโรบอทไม่ควรจำกัดที่แผนกใดแผนกหนึ่งแต่ควรนำมาใช้งานอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พณ.เปิดฟังความเห็นเอกชนดันส่งออกพรุ่งนี้

กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นเอกชนประเด็นต่างๆ ผ่านเวที กรอ. พณ. พรุ่งนี้

ในวันพรุ่งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ เพื่อรับฟังและหารือถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขในการกระตุ้นการส่งออกของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนได้มีการเตรียม ข้อเสนอแนะที่จะให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเพื่อที่จะทำให้ภาคเอกชนสามารถฟื้นการส่งออกและกลับมามีความสามารถในการแข่งขันอีกครั้ง หลังจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาของภาคเอกชนเวลานี้ อาทิ การให้บริการด้านการขนส่งที่มองว่ามีความผูกขาด รวมถึงค่าเงินบาทของประเทศ ซึ่งยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ผู้ส่งออกพอใจ

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กลุ่ม KTIS ประกาศพร้อมร่วมโครงการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี

เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ประกาศเข้าร่วมโครงการ “ส.อ.ท.ช่วยเศรษฐกิจไทย : F.T.I. Faster PAYMENT” สำหรับกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร ที่ล่าสุดพร้อมให้ความร่วมมือชำระค่าสินค้าและบริการให้แก่คู่ค้าของบริษัทฯ (เครดิตเทอม) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วนและได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.- 31 ธ.ค.2563 โดย ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS ย้ำชัดว่า นาทีนี้มีอะไรช่วยเหลือกันได้ ต้องช่วยกัน เพราะเอสเอ็มอีกำลังเผชิญปัญหาเปราะบางทางการเงิน จำเป็นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ค้าต้องช่วยเติมสภาพคล่อง ร่นเวลาการชำระเงินให้เร็วขึ้น งานนี้ต้องให้เครดิตสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่สร้างสรรค์โครงการดีๆ แบบนี้

จาก https://www.banmuang.co.th  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

"อาคม" เร่งเครื่อง ฟื้นเศรษฐกิจ

ขุนคลังคนใหม่ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เดินหน้าทำงานทันที ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง รับมือเศรษฐกิจเปิด หลังโควิดตลี่คลาย

กระทรวงการคลังที่เงียบเหงามากว่า 1 เดือน  คึกคักขึ้นทันที เมื่อได้ขุนคลังคนใหม่เข้ามาทำงานอย่าง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ที่เดินหน้าทันที ตั้งแต่วันแรกของการเข้าทำงาน ด้วยการประกาศเร่งทำ 5 เรื่องด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับเข้าที่เข้าทางได้โดยเร็ว หลังจากถูกโควิด-19 กัดกินมานาน

ชัดเจนแล้วว่า รายได้ของประเทศสูญหายไปมาก โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะผลจากการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มี นักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 6.7 ล้านคน หดตัว 66.15% มีรายได้เพียง 3.3 แสนล้านบาท หดตัวถึง 65.15% จากที่เคยคาดไว้ช่วงต้นปีก่อนเกิดโควิด-19 ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะสูงถึง 40.08 ล้านคน จะทำรายได้เข้าประเทศถึง 3.18 ล้านล้านบาท

ขณะที่รายได้จากการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ แม้เดือนสิงหาคม จะขยับดีขึ้นคือ ติดลบน้อยลงเพียง 7.94% แต่เมื่อรวมทั้ง 8 เดือนแล้วยังติดลบ 7.75% ทำให้รายได้จากการส่งออกหายไปเกินครึ่งจากปีก่อนหน้า

ดังนั้นทางออกเดียวที่จะทำได้คือ เพิ่มรายได้หรือดึงกำลังซื้อจากในประเทศให้ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งนายอาคม จัดเต็มสูบทันทีซึ่งมีทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง

มาตรการระยะสั้น อย่างแรกคือ เร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือต่อเนื่อง หลังหมดมาตรการพักชำระหนี้ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ โดยให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สรุปภายใต้หลักการ ควรกำหนดระยะเวลาพักชำระหนี้อย่างมีขอบเขตเหมือนในต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดวินัยในการชำระหนี้ และเกิดหนี้เสียสะสมเป็นระยะเวลานาน แต่ควรจะใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้และการปรับโครงสร้างธุรกิจของภาคเอกชนหลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้มากกว่า

ต่อมาคือ หามาตรการรองรับปัญหาการว่างงาน โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด ตามมาด้วย การสร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล

นอกจากนั้น ยังต้องเร่งรัดการเบิก จ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุน โดยเฉพาะงบจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดเพื่อช่วยกระตุ้น เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รวมถึงเร่งรัดเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

สุดท้ายคือ เพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด

“ผมได้สั่งการให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปประเมินว่า มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ออกมาทั้งมาตรการคนละครึ่ง เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาท 3 เดือน และช้อปดีมีคืน จะมีผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะออกมาตรการเสริมในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนที่ต้องการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่อีก”

ดังนั้น ก็งต้องดูว่า มาตรการที่ออกมานั้น จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ได้มากน้อยแค่ไหน และจะทำให้จีดีพีปีนี้ติดลบตํ่ากว่า 8.5% ได้ตามที่คาดได้หรือไม่

ขณะเดียวกัน ท่านขุนคลังคนใหม่ยังประกาศลุยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะปานกลางเป้าหมายคือ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและดูแลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยจะให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย เช่น การจัดเก็บภาษี E-commerce, Online-trade และ E-logistics

โดยเฉพาะการเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังเศรษฐกิจเปิด (Reopening economy) ทั้งมาตรการด้านการเงินการคลัง และการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุน (Financing infrastructure) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป

จากนี้ไป ก็คงเหลือรายละเอียดที่จะเดินตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งหากยังไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ การเพิ่มกำลังซื้อในประเทศระลอกใหม่ ก็คงมีออกมาให้เห็นอีกเป็นแน่แท้ แต่จะเป็นมาตรการที่แรงพอที่จะกระตุกเศรษฐกิจให้ทยานขึ้นได้หรือไม่ ต้องรอวัดฝีมือขุนคลังคนนี้ ที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งของ 4 เสาหลักเศรษฐกิจมาแล้ว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ก.อุตสาหกรรมผนึกกำลังมอ. เพิ่มดีกรีการแข่งขันผู้ประกอบการ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ มอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการรวบรวมความรู้และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่พร้อมสู่การนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมโดยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ในด้านการเชื่อมโยงองค์ความรู้ และงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

โดยมีเป้าหมายดำเนินการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ7 ด้าน ได้แก่ ด้านยางพารา ด้านปาล์มน้ำมัน ด้านอาหาร ด้านแพทย์สปา และพืชสมุนไพรด้านดิจิทัล ด้านโลจิสติกส์ และด้านการพัฒนาธุรกิจ SMEs โดยกรอบความร่วมมือ จะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย รวมถึงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมาประยุกต์ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุน ด้านผู้เชี่ยวชาญ การพัฒนาบุคลากร ตลอดจนสื่อทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมในโครงการการผลักดันแนวความคิดและผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ : BCG HACKATHON and Innovation bazaar 2020 เพื่อเพิ่มศักยภาพความพร้อมของนักวิจัย ตลอดจนบุคลากรที่มีความพร้อมถ่ายทอด หรือต่อยอดงานวิจัยในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นการกระตุ้น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกิจกรรมการเจรจาธุรกิจจาก 35 ผลงาน มูลค่าการเจรจาธุรกิจมากกว่า 30 ล้านบาท โดยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

“การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เกิดประโยชน์ต่อวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไทย 4.0 อย่างมีศักยภาพ”นางวรวรรณกล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เงินบาทอ่อนค่า จับตาปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า

เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ จากความกังวลต่อปัจจัยภายในและต่างประเทศ จับตาปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามสัปดาห์หน้า ทั้งประเด็นการเมือง ผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของบจ. ของไทย สถานการณ์โควิด-19  การเมืองของสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทอ่อนค่าลง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และเงินหยวน หลังธนาคารกลางจีนยกเลิกการกันสำรองของสถาบันการเงินเมื่อทำธุรกรรมฟอร์เวิร์ดสกุลเงินต่างประเทศสำหรับลูกค้า (จากเดิมที่ต้องกันสำรองที่ 20%)

นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากสถานะขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลงในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามปัจจัยทางการเมืองในประเทศ การเจรจามาตรการเยียวยาโควิด-19 ของสหรัฐฯ และสถานการณ์ในช่วงโค้งสุดท้ายใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ (16 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.16 เทียบกับระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนก.ย. การดีเบตรอบสุดท้ายของคู่ชิงประธานาธิบดีนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเด็นข้อตกลง BREXIT

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,233.68 จุด ลดลง 2.64% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 49,287.72 ล้านบาท ลดลง 3.60% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.83% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 313.98 จุด

หุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ อาทิ สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง การระงับการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังไร้ข้อสรุป การเจรจาข้อตกลง Brexit ไม่คืบหน้า ขณะที่ หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงมากสุดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (19-23 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,220 และ 1,200 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,245 และ 1,255 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นการเมือง รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของบจ. ของไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด-19 ประเด็นการเมืองและการดีเบตของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และประเด็น BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. และดัชนี PMI Composite เดือนต.ค. (เบื้องต้น) ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/63 ของจีน และดัชนี PMI Composite เดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กรมเจรจาฯ เตรียมเปิดเวทีนำเสนอผลการศึกษาจัดตั้งกองทุน FTA วันที่ 22 ต.ค.นี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมเปิดเวทีนำเสนอผลการศึกษา “การจัดตั้งกองทุน FTA” วันที่ 22 ต.ค.นี้ ระดมความเห็นภาคเกษตร ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และเอกชน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมจัดเวทีสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น เรื่อง การจัดตั้งกองทุนเพื่อรองรับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในวันที่ 22 ต.ค. 2563 ณ โรงแรมแมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยการสัมมนาครั้งนี้ผู้วิจัยจะนำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้น และรูปแบบการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมระดมความเห็น และได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และนักวิชาการ ร่วมเสวนาและวิพากษ์ผลการศึกษา

การสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็น และการประชุมระดมความเห็นกลุ่มย่อย ที่กรมฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานวิจัยจัดขึ้นในเดือน ส.ค.-ต.ค. 2563 ซึ่งจากการรับฟังความเห็นหลายภาคส่วน เห็นว่าการเจรจาจัดทำ FTA เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน และขยายตลาดให้กับสินค้าและบริการของไทยในต่างประเทศ จำเป็นที่รัฐจะต้องดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ในรูปแบบกองทุน FTA ที่ถาวร เนื่องจากกลไกช่วยเหลือที่มีอยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการตอบโจทย์ความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ จากการหารือกับกรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับคำแนะนำว่าการจัดตั้งกองทุนในปัจจุบันต้องมีการบริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 รวมทั้งต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน ซึ่งต้องระบุรายละเอียดที่สำคัญ เช่น โครงสร้างการบริหารทุนหมุนเวียน แหล่งเงินทุนและแหล่งรายได้ การลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนหมุนเวียนที่มีอยู่ มีรายรับ และเป้าหมายและประโยชน์ที่ได้รับต้องชัดเจน เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากการสัมมนาฯ กรมฯ จะรวบรวมรายละเอียดการขอจัดตั้งกองทุน FTA เสนอต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าต่อไป

สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมการสัมมนาย้อนหลัง และร่วมแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จาก https://mgronline.com  วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ไทยไม่พร้อมร่วม CPTPP ชี้ “เสียเปรียบ-ไม่ตอบโจทย์”

ครบกำหนดระยะเวลา 120 วันในการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้นเพื่อศึกษา CPTPP เมื่อ 11 มิถุนายน 2563 เป้าหมายเพื่อหาข้อสรุปว่า ไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ โดย กมธ.วิสามัญเตรียมเสนอผลการศึกษาความยาว 204 หน้า ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนพฤศจิกายน 2563

กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าวประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ 49 คนมี นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน และได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช มี นายอนันต์ ศรีพันธุ์ เป็นประธาน, คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข มี นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นประธาน และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มี นายเกียรติ สิทธีอมร เป็นประธาน

โฟกัสผลกระทบ 3 เรื่องหลัก

เหตุที่ต้องแบ่งการศึกษาเป็น 3 เรื่อง มาจากความวิตกกังวลหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP ส่งผลให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเอกชน ภาคเกษตร ภาควิชาการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป นำมาสู่ความขัดแย้งและต่อต้านรุนแรง จนกระทรวงพาณิชย์ต้องถอนเรื่องนี้ออกจากวาระการประชุม ครม. วันที่ 27 เมษายน 2563 ก่อนการประชุมเพียง 1 วัน และตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบในภาพรวม และนั่นได้ทำให้ไทยไม่สามารถยื่นแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเจรจา CPTPP ได้ทันการประชุมคณะรัฐมนตรี CPTPP เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

หวั่นตกขบวนสูญเสียโอกาส

ในการศึกษา กมธ.ได้นำความเห็นของทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ขึ้นพิจารณา โดยฝ่ายสนับสนุนชี้ว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้มูลค่าการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากคู่เจรจาในกลุ่มสมาชิก CPTPP ซึ่งมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่ง 2 ประเทศหลัง ไทยยังไม่เคยมีความตกลงการค้าเสรีมาก่อน หากช้าจะยิ่ง “ตกขบวน” เสียโอกาสจากการเปิดตลาดไม่ทันการ นักลงทุนจะหนีไปลงทุนที่อื่น โดยเฉพาะหนีไปเวียดนาม

ประเด็นความกังวล อาทิ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ฝ่ายนี้ชี้ว่าถูกถอนออกไปแล้ว พร้อมกับการถอนตัวของสหรัฐ ส่วนความกังวลเรื่องเมล็ดพันธุ์ จะไม่กระทบเมล็ดพันธุ์เก่าที่ไทยมี แต่ยังเป็นการเกื้อหนุนให้เกิดแรงจูงใจสำหรับนักวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่จะวิจัยพันธุ์พืชใหม่ ๆ และไทยยังสามารถกำหนดข้อสงวนการเจรจา (ขอยืดเวลาเปิดตลาด) ได้เช่นเดียวกับประเทศอื่น

ติงหลังโควิดอาจไม่ตอบโจทย์

ฝ่ายที่คัดค้าน CPTPP ระบุว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะถูกบังคับให้ต้อง “ยอมรับพันธกรณี” ซึ่งอาจกระทบต่อไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะอนุสัญญาการขึ้นทะเบียนและคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) ไทยต้องแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 เกิดการรอนสิทธิการใช้พันธุ์พืช เกษตรกรต้องเสียค่าเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่มขึ้น ไม่สามารถใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (compulsory licensing) ได้ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องการเปิดตลาดบริการและการลงทุนให้ต่างชาติ การวางกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและนักลงทุน การเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างรัฐ

พร้อมชี้ว่า การเปิดตลาดสินค้าไทยไม่จำเป็นต้องทำ CPTPP เพราะไทยทำเอฟทีเอกับ 5 ใน 7 ประเทศสมาชิกแล้ว เหลือแค่แคนาดากับเม็กซิโก และหากเปิดตลาดสินค้าเกษตรกว่า 95-99% จะทำให้สินค้าบางตัวยังไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น สุกร ข้าวโพด ถั่วเหลือง โคเนื้อ มะพร้าวแห้ง รวมถึงไทยยังขาดการศึกษาผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนในช่วงหลังโควิด (post COVID) ซึ่งทำให้การเจรจาอาจไม่ตอบโจทย์

ผลศึกษาชี้ไทยยังไม่พร้อม

ในการศึกษา กมธ.ได้หยิบยกข้อมูลเหตุผลของสองฝ่ายมาพิจารณา พบว่าทั้งฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายคัดค้าน ต่างมีข้อมูลน่ารับฟัง แม้จะถูกมองว่าเป็นการ “ซื้อเวลา” แต่ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงจากความขัดแย้งลงได้บ้าง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะ 65 คนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนทั้งตัวแทนคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ร่วมให้ความเห็นผลการศึกษาที่ได้จัดทำขึ้น ได้ข้อสรุปว่า ไทยยังต้องเตรียมพร้อมหลายเรื่อง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนการเตรียมพร้อม และต้องมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างเพียงพอ รวมทั้งเตรียมรองรับภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาผลกระทบ ขณะเดียวกันการเจรจาควรมีกรอบการเจรจาที่เกิดจากกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวไม่ควรเข้าร่วมภาคีความตกลง นอกจากนี้ ต้องผลักดันจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผลกระทบจากการเปิดเสรีด้วย

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตเรื่องเกษตรและพันธุ์พืชว่า เกษตรกรรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการเกษตร จะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง ถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP และจะถูกบังคับให้ร่วม UPOV1991 ฉะนั้น ไทยจึงยังไม่พร้อมจะเจรจา CPTPP จนกว่าจะทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้า UPOV ได้

ยึดมาเลย์-เวียดนามต้นแบบ

ประเด็นผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ข้อสรุปว่า การตัดสินใจควรขึ้นอยู่กับ “ความพร้อมและการเตรียมการภายในประเทศ” โดยต้องศึกษาเพิ่มเติมประเด็นเรื่องการขึ้นทะเบียนตำรับยา ราคายาสูงขึ้น ผลกระทบการเข้าถึงยาของประชาชน และค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะเพิ่มจาก 1.2% เป็น 3-4% ของจีดีพีในอีก 30 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องพึ่งพายานำเข้าเพิ่มจาก 71% เป็น 89% ในปี 2580 ขณะที่มูลค่าตลาดยาในประเทศจะลดลง 1 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้จะกระทบทำให้มูลค่าตลาดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลดลง1 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

ซึ่งภาครัฐควรหารือถึงผลกระทบเชิงโครงสร้าง และเตรียมความพร้อม โดยต้องจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงแนวทางการจัดทำ “ข้อสงวน” ในการเจรจา ซึ่งต้องยึดต้นแบบจากเวียดนาม และมาเลเซีย ที่ขอยกเว้นตลาดการจัดซื้อจัดจ้าง 50% เป็นเวลา 20 ปี

11 รัฐวิสาหกิจไม่พร้อมแข่งขัน

ประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ก็ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกันว่า ไทยยังต้องเตรียมความพร้อมหลายด้าน รัฐบาลจึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอเพื่อเตรียมความพร้อม และปรับโครงสร้างภายใน ปรับกฎระเบียบ เช่น อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ฟรีโซน ภาษีดิจิทัล 2% กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การจัดทำมาตรฐานสินค้า เป็นต้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่สำคัญ ต้องประเมินผลกระทบ post COVID เพิ่มเติม เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก

ที่น่าห่วงคือการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ต่างชาติก็อาจจะกระทบต่อรัฐวิสาหกิจไทย 11 แห่ง ที่ไม่พร้อมจะแข่งขัน เช่น บมจ.ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) บมจ.ทอท. บมจ.กสท โทรคมนาคม การนิคมอุตสาหกรรมฯ (กนอ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นต้น

ต้องจับตามองว่ารัฐบาลจะนำผลการศึกษาดังกล่าวไปพิจารณา ก่อนฟันธงว่าจะเข้าร่วม-ไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP หรือไม่ อย่างไร ที่สำคัญอาจเป็น “ธง” สำหรับการเจรจาการค้าของไทยในอนาคต ทั้งความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศมหาอำนาจฉบับอื่น ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป อังกฤษ แคนาดา EFTA ไม่ใช่แค่ CPTPP เท่านั้น

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

รายงานพิเศษ : ขับเคลื่อนพระราชดำริ3,200โครงการ 57ปีเพิ่มพื้นที่ชลประทาน3.41ล้านไร่

กรมชลประทานสนองพระราชดำริ 57 ปี ดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จกว่า 3,200 โครงการ ขยายพื้นที่ชลประทานได้ 3.41 ล้านไร่ ราษฎรได้รับประโยชน์กว่า 589,000 ครัวเรือน ปี 2564 เตรียมขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี อีก 8 โครงการ ขยายพื้นที่ชลประทาน 12,050 ไร่

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อบรรเทาภัยเดือดร้อนมากมายให้แก่ราษฎร ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์นานกว่า70 ปี ทรงให้ความสำคัญในเรื่องน้ำมากเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กรมชลประทานได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ตั้งแต่อดีตซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ต.หนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกเมื่อปี 2506 จนถึงปัจจุบันเกิดผลเป็นรูปธรรมมีมากกว่า 3,000 โครงการ มีทั้งโครงการชลประทานขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นอกจากนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งแสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสานพระราชภารกิจของพระบรมราชชนกนาถ ที่จะดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร โดยยังพระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาราษฎรอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่างๆ และได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดหาน้ำสนับสนุนให้แก่ราษฎรในพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไปนั้นด้วย

“ตลอดระยะเวลา 57 ปี ที่กรมชลประทานดำเนินงานสนองพระราชดำริภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี มีความก้าวหน้าภาพรวมของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 3,481 โครงการ ในจำนวนนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 3,206 โครงการ เป็นอ่างเก็บน้ำประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด ที่เหลือเป็นอาคารประเภทต่างๆ เช่น ฝาย สถานีสูบน้ำ สระเก็บน้ำ เป็นต้น อยู่ภาคเหนือ 1,277 โครงการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 758 โครงการ ภาคกลาง 498 โครงการ และภาคใต้ 673 โครงการ สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 6,771 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 4.9 ล้านไร่ และมีราษฎรได้รับประโยชน์กว่า 589,000 ครัวเรือน ขยายพื้นที่ชลประทานได้ 3.41 ล้านไร่” รักษาการอธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2563 กรมชลประทานได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จจำนวน14 โครงการ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำแม่อาง จ.ลำปาง โครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ จ.สระแก้ว โครงการจัดหาน้ำให้แก่ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านดอยแสง ฝายบ้านดอยแสงพร้อมระบบส่งน้ำ จ.แม่ฮ่องสอน โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้บ้านแพะ บ้านแม่ละนา บ้านอมยะ บ้านกามาผาโด้ จ.ตาก โครงการอาคารบังคับน้ำวังคางฮูง ในลำห้วยทวน จ.อุดรธานี โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยลาดเหนือตอนบน จ.ชัยภูมิ โครงการระบบท่อส่งน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยปรือ – อ่างเก็บน้ำคลองโบด จ.นครนายก โครงการฝายทดน้ำวังครก พร้อมระบบส่งน้ำ จ.ราชบุรี โครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรของหมู่บ้านทะเลปัง จ.นครศรีธรรมราช โครงการจัดหาน้ำให้ ศกร.ตชด.บ้านหลังอ้ายหมี จ.นครศรีธรรมราช และโครงการจัดหาน้ำช่วยเหลือศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภักดี ที่ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา เป็นต้นเพิ่มพื้นที่ชลประทานพร้อมระบบส่งน้ำจำนวน 2,700 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์รวม 8,189 ไร่ ความจุเก็บกักน้ำรวม 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และจำนวนครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 2,091 ครัวเรือน

ส่วนปี 2564 กรมชลประทานจะยังคงเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีก 8 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 11.56 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 23,088 ไร่ และมีราษฎรได้รับประโยชน์กว่า 8,700 ครัวเรือน ขยายพื้นที่ชลประทานได้ 12,050 ไร่

“กรมชลประทานยังเดินหน้าขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อม ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ จึงยังคงมีภารกิจที่กรมชลประทานต้องดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริและเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศอยู่ต่อไป” นายสัญญากล่าวในที่สุด

จาก https://www.naewna.com วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด"ทรงตัว"

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบลงมาก เหตุทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยซื้อตราสารหนี้สวนทางกับการขายหุ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้(วันที่16ตุลาคม2563)ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.12-31.32 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าในคืนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่สาม ดัชนี S&P 500 และ NASDAQ ย่อตัว 0.2% และ 0.5% ตามลำดับ ขณะที่โดยรวมไม่มีประเด็นทางเศรษฐกิจหรือการเมืองใหม่ที่น่าสนใจมาก โดยจะมีเพียงตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. initial jobless claims) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 8.98 แสนตำแหน่ง จากระดับ 8.45 แสนในสองสัปดาห์ก่อน ส่งสัญญาณว่าแรงหนุนทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากในระยะสั้น

ฝั่งตลาดเงิน ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักทันทีที่ตลาดเคลื่อนไหวในเชิงปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) โดยที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปีอยู่ที่ระดับ 0.73% และประเด็นหลักที่ตลาดจับตาคือนโยบายการคลัง ถ้าพรรคริพับบลิกันและโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถหาข้อสรุปเรื่องปริมาณการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็อาจกลับมากดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าได้อีกครั้ง

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบลงมาก เนื่องจากมีทั้งนักลงทุนต่างชาติที่ทยอยซื้อตราสารหนี้สวนทางกับการขายหุ้น จึงไม่ได้เป็นลบกับเงินบาทมากนัก ส่วนในระยะสั้นต้องกลับมาจับตาภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มเติม ถ้าฟื้นตัวช้ากว่าที่ตลาดคาดหวัง ก็อาจกดดันให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง และเงินบาทอ่อนค่าได้ต่อเช่นกัน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (16 ต.ค.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยตลาดรอติดตามปัจจัยภายในประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับอานิสงส์จากสัญญาณไร้ข้อสรุปของมาตรการสหรัฐฯ ประกอบกับตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาน่าผิดหวัง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.00-31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยสำคัญที่รอติดตามยังอยู่ที่ สถานการณ์การเมืองของไทย และประเด็นทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนต.ค.

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เกษตรฯ เข้ม! สั่งทุกหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์น้ำ ผ่านวอร์รูมอย่างใกล้ชิด

เกษตรฯ เข้ม! สั่งทุกหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์น้ำ ผ่านวอร์รูมอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่การเกษตร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้มอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายทองเปลว กองจันทร์) จัดตั้งวอร์รูมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปัจจุบันในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีการรับฟังรายงานสถานการณ์ประจำวันจากเกษตรและสหกรณ์จังหวัดและกรมชลประทาน ที่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอุทกภัยขึ้นทั่วประเทศ พร้อมทั้งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครองในจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันจัดทำแผนเตรียมความพร้อม ตลอดจนวางแผนปฏิบัติงานในสภาวะวิกฤติ โดยมีการกำหนดพื้นที่ ผู้ปฏิบัติงาน และจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ ให้พร้อมเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจพื้นที่ความเสียหายหลังน้ำลด ทั้งนี้ หากเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืช มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละรอบการผลิต ขอให้มาแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน หรือหากเป็นเกษตรกรรายใหม่ให้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ ณ ที่ตั้งแปลงพร้อมเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้บริการ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรายเดิมสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ด้วยตนเองผ่านทางแอปพลิเคชัน Farmbook เพื่อที่เกษตรกรจะได้รับความสะดวกในการใช้สิทธิขอรับการสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือรับบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น กรณีการขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในด้านพืช ตามระเบียบกระทรวงการคลัง

“อย่างไรก็ตาม ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะติดตามสถานการณ์ปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 01.00 น. วันนี้ (15 ตุลาคม 2563) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว บริเวณแขวงหัวพัน ประเทศลาว โดยพายุนี้จะทำให้บริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดอุทกภัย น้ำไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และวาตภัย ช่วงวันที่ 7 ต.ค.63 - ปัจจุบัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยนาท เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สระแก้ว พังงา ตรัง และจังหวัดสตูล สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 8 จังหวัด ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ตรัง และจังหวัดสตูล

จาก https://www.naewna.com วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ลุยเตรียมเจรจา 3FTAใหม่ เพิ่มแต้มต่อค้าไทยหลังโควิด

เปิดไทม์ไลน์พาณิชย์ เตรียมแผนเจรจา 3 เอฟทีเอใหม่ ไทย-อียู ไทย-EFTA ไทย-อังกฤษ พร้อมเตรียมลงนาม RCEP เพิ่มแต้มต่อค้าไทยสู้คู่แข่ง หลัง 7 ปีกินบุญเก่ามีเอฟทีเอกับแค่ 18 ประเทศทำเสียเปรียบหนัก

เป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วที่ประเทศไทย ได้ว่างเว้นการเปิดเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(FTA)ในระดับทวิภาคีเพื่อใช้เป็นแต้มต่อ ในการขยายการค้ากับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ซึ่งณ เวลานี้ไทยยังกินบุญเก่า จากเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้วรวม 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทยลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน

ข้อมูลปี 2562 เทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ไทยอยู่อันดับ 5 ของประเทศที่มีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศคู่เอฟทีเออยู่ที่ 62.8% ส่วนอันดับ 1 ถึง 4 ประกอบด้วย สิงคโปร์ ทำเอฟทีเอแล้ว 26 ฉบับกับ 65 ประเทศ มีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 94.5% ของการค้ารวม, อินโดนีเซีย มีเอฟทีเอ 15 ฉบับ กับ 61 ประเทศ สัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 76%, มาเลเซีย มีเอฟทีเอ 17 ฉบับกับ 56 ประเทศสัดส่วนการค้า กับคู่เอฟทีเอ 71.5% และเวียดนามมีเอฟทีเอ 13 ฉบับ กับ 53 ประเทศ สัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอ 69.9%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไทยมีสัดส่วนการค้ากับคู่เอฟทีเอประมาณ 63% แสดงว่าอีก 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ไทยค้ากับประเทศที่ไม่มีแต้มต่อด้านภาษีหรือแต้มต่อด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังนั้นถ้าเทียบมาตรฐานการค้าที่คู่แข่งขันของไทยค้ากับประเทศคู่เอฟทีเอสัดส่วน 70% ขึ้นไปถือมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งสร้างพันธมิตรทางการค้าโดยการทำเอฟทีเอเพิ่มเติม

ล่าสุดไทยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเจรจา 3 เอฟทีเอ ได้แก่ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป(อียู 27 ประเทศ) ซึ่งมีสัดส่วนการค้า กับไทย 9.2%ในปี 2562, เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)ซึ่งเป็นคู่ค้าลำดับที่ 16% ของไทย(ปี 2562 มีสัดส่วนการค้า 2%) และเอฟทีเอไทย-สหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ที่มีสัดส่วนการค้ากับไทย 1.3%

“ถ้าจัดตามลำดับความสำคัญคือเอฟทีเอไทย-อียูมาก่อน จากเวลานี้อียูทำเอฟทีเอกับสิงคโปร์ และเวียดนามแล้ว ซึ่งเอฟทีเอไทย-อียู ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้ว 98% คาดพร้อมเผยแพร่ปลายเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเปิดรับฟัง และรวบรวมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดท่าทีการเจรจาของไทย และเราจะคุยกับทางอียูเพิ่มเติม เพื่อรับทราบความคาดหวังของทั้งสองฝ่าย เสร็จแล้วจะรวบรวมนำเสนอผลให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องการเจรจาประมาณเดือนธันวาคม 2563”

ขณะเดียวกันในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรืออาเซียนบวก 6) คาดหวังความตกลงจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วสุดในครึ่งหลังของปี 2564 (อ่านบทสัมภาษณ์หน้า 9)

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้ภาครัฐเร่งศึกษาและเปิดเจรจาเอฟทีเอเพิ่มเติมเฉพาะอย่างยิ่งเอฟทีเอ ไทย-อียู และ CPTPP ที่ต้องมีความชัดว่าจะเจรจาหรือจะทำหรือไม่ เพราะเวลานี้จากไทยไม่มีเอฟทีเอใหม่ ๆ ที่จูงใจ ส่งผลให้นักลงทุนไหลเข้าไปลงทุนในเวียดนามที่มีเอฟทีเอกับหลายประเทศมากกว่าไทย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติสนใจลงทุนในไทยลดลง

ด้านนายวีระกร คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กล่าวว่า จากที่กมธ.ได้พิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ล่าสุดได้ครบกำหนดและเสร็จสิ้นการพิจารณาศึกษาแล้วครบในทุกด้านเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ซึ่งจะได้จัดพิมพ์เป็นเล่ม และจะทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณา (จะเปิดสภา 5 พ.ย.63) และเปิดให้สมาชิกได้แสดงความเห็นหากได้รับความเห็นชอบ กมธ.จะได้ส่งรายงานสรุป ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้รัฐบาลพิจารณาและเพื่อใช้ตัดสินใจอนุมัติ-ไม่อนุมัติเข้าร่วมเจรจา CPTPP ต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

"พาณิชย์" เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยรอบอ่าวเป่ยปู้ ร่วมขยายส่งออกระหว่างอาเซียน

"พาณิชย์" ใช้กรอบร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ เพิ่มโอกาสขนส่งสินค้าไทย-จีน หนุนยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ต่อยอดสู่การค้าเสรีอาเซียน-จีน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในช่วงพิธีเปิดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 (11th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยเน้นเรื่องการผลักดันความร่วมมือเชิงลึกกับมณฑลต่างๆ ของจีน

รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของจีน ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยเห็นควรใช้ประโยชน์จากเครือข่ายความเชื่อมโยงของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ เพื่อเพิ่มการขนส่งสินค้าระหว่างกัน อันจะเป็นประโยชน์ในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าของไทยให้สามารถเข้าสู่ตลาดจีน รวมถึงตลาดในเอเชียกลางและยุโรปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

นางอรมน กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในหัวข้อ “จับตามองท่าเรือสากล ร่วมกันเสริมสร้างระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ในยุคสมัยใหม่ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้” พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือและเส้นทางขนส่งทางบก ความร่วมมือและการพัฒนาด้านการขนส่งในหลายรูปแบบ และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ การพัฒนาความเชื่อมโยงข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ของไทยไปจีนได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งปัจจุบันมีการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกันกว่า 90% ของรายการสินค้าทั้งหมดแล้ว

 “ไทยเข้าร่วมการประชุมฯ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ (หรืออ่าวตังเกี๋ย) และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน และสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้ให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนและผลักดันกว่างซีให้เป็น “ประตูสู่อาเซียน” และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมทางทะเลในทศวรรษที่ 21 และข้อริเริ่ม BRI ของจีน” นางอรมน เสริม

ในปี 2562 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้า 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,200 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 50,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 51,723.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 คิดเป็น 0.26% โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปจีน 19,625.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากจีนมาไทย 32,098.63 ล้านเหรียญสหรัฐ

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

คลังเร่งมาตรการด่วนแก้วิกฤตเศรษฐกิจ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรับทราบการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคบริการ และการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายการคลัง ที่จะต้องบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม โดยจะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในเรื่องการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก

รมว. คลัง ได้กล่าวถึงนโยบายการคลังที่จะเน้นการประสานนโยบายและมาตรการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างยั่งยืน (Fiscal Sustainability)

(1) ในระยะสั้นจะให้ความสำคัญกับการบริหารภาพรวมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ได้แก่ การขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน คือ การกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ

(1.1) การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม SME เช่น มาตรการ Soft loan การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ในระยะต่อไป โดยกระทรวงการคลังต้องประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป

(1.2) การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด

(1.3) มาตรการรองรับปัญหาการว่างงานอันเกิดจากวิกฤตโควิด-19 โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนไว้แล้ว

(1.4) การสร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล

(1.5) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนโดยเฉพาะงบการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

(2) สำหรับมาตรการระยะปานกลาง เป้าหมายคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและดูแลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย เช่น การจัดเก็บภาษี E-commerce, Online-trade และ E-logistics เป็นต้น โดยมีประเด็นเร่งด่วน คือ การเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังเศรษฐกิจเปิด (Reopening economy) ทั้งมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว และการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุน (Financing infrastructure) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป

ทั้งนี้ รมว.คลังได้มอบนโยบายในการทำงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังดังนี้ (1) ต้องมุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับ รายจ่ายและงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตราฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส

(2) จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

(3) จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย

จาก https://www.posttoday.com  วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

KTIS แตกไลน์ผลิตหลอดชานอ้อย

KTIS แตกไลน์ผลิตหลอดชานอ้อย  ชูจุดขายไม่เปื่อยยุ่ยง่าย ย่อยสลายได้ใน 15 วัน

นายณัฎฐปัญญ์  ศิริวิริยะกุล  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้ผลิตอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือหลอดชานอ้อย ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของกลุ่มบริษัท

สำหรับหลอดชานอ้อยนี้ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อยคือ บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) มีกำลังการผลิตในช่วงเริ่มต้น 500,000 หลอดต่อวัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกหากมีปริมาณความต้องการสูง โดยตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 30 ล้านหลอด

 “หลอดชานอ้อยจะต่างจากหลอดกระดาษทั่วไป ตรงที่ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายแม้จะแช่ในน้ำเป็นชั่วโมง ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน จึงปลอดภัย 100% สำหรับการบริโภค และการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ทำให้ช่วยลดการตัดไม้มาทำเยื่อกระดาษหรือหลอดกระดาษอีกด้วย หลอดชานอ้อยจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”

ในปัจจุบันกระแสรักสิ่งแวดล้อม หรือรักษ์โลกแผ่กว้างออกไปเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากการรณรงค์ลดใช้พลาสติกในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น สิ่งที่จะเข้ามาแทนพลาสติกและโฟมที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติอย่างชานอ้อยจึงมีแนวโน้มการเติบโตสูง จึงเชื่อว่าโครงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยนี้ จะประสบผลสำเร็จด้วยดี

ทั้งนี้กลุ่ม KTIS เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลแบบครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกอ้อย หีบอ้อย ผลิตเยื่อชานอ้อย และนำเยื่อชานอ้อยมาผลิตเป็นหลอดชานอ้อย จึงมั่นใจได้ว่า EPAS จะไม่ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตหลอดชานอ้อยอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจุดแข็งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลอดชานอ้อยให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หลอดชานอ้อยจำนวนมาก

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พิษโควิดฉุด “นครสวรรค์ไบโอ” “KTIS-GGC” จ่อทบทวนแผน-งบลงทุน

พิษโควิดลากบิ๊กโปรเจ็กต์ “นครสวรรค์ไบโอ” 7,500 ล้านบาท อืด 1 ปีKTIS ถก GGC ผู้ร่วมหุ้นทบทวนแผน-งบประมาณ คาดสรุปในต้นปี 2564 วอนรัฐหนุนสิทธิประโยชน์เทียบเท่า EEC ดัน bioeconomy ด้าน สศอ.ย้ำไม่ทิ้ง ขอเดินหน้าต่อตามนโยบายเดิม

นางดารารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอาจจะต้องพิจารณทบทวนแผนการลงทุนโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 2,000 ไร่ ใน ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มูลค่าการลงทุน 7,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC และได้ผ่านการรายงานสิ่งแวดล้อม(EIA) อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 75%

เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ไม่สามารถนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ ซึ่งเครื่องจักรต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ต้องนำเข้ามาทั้งหมด ไทยยังไม่สามารถผลิตเองได้ ส่งผลให้โครงการนครสวรรค์ไบโอ ต้องล่าช้าออกไป 1 ปีจากเดิมที่แผนจะสามารถเปิดดำเนินกิจการปลายปี 2563 นี้

“โรงงานประกอบเครื่องจักรในต่างประเทศหลายแห่งยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ แม้จะมีโรงงานในบางประเทศที่สามารถเปิดผลิตเครื่องจักรได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถขนส่งเข้ามาได้”

ล่าสุดทางบริษัทได้มีการหารือกับ GGC ถึงแนวทางการดำเนินการ ซึ่งอาจต้องปรับลดวงเงินลง โดยจะสรุปผลการทบทวนโครงการนี้ในต้นปี 2564

“เรายังไม่ล้มโครงการ แต่เราขอทบทวนเงินลงทุน 7,500 ล้านบาทก่อนทาง GGC เองก็มีความเข้าใจถึงสถานการณ์นี้ที่เกิดขึ้น เราทั้ง 2 จึงจะเดินหน้าต่อ แต่แค่กลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรกับมันต่อ ตอนนี้มีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจอยากเข้ามาร่วมทุนกับเราอีก แต่ติดปัญหาที่ทางภาครัฐเหมือนมีนโยบายที่ไม่แน่ชัด ซึ่งรายนี้เขามีเทคโนโลยีที่เก่ง เราบอกไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่ในวงการถ้าพูดถึงเทคโนโลยีด้านชีวภาพก็เป็นอเมริกา”

สำหรับนโยบายการสนับสนุนภาครัฐก่อนหน้านี้ได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม bioeconomy เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงได้สิทธิประโยชน์สูงสุดเท่ากับกลุ่ม S-curve ทั่วไป แต่ยังไม่มีสิทธิประโยชน์ที่ออกมาเฉพาะและชัดเจน

“แน่นอนว่ามันไม่พอ เพราะทางเอกชนเคยขอให้รัฐพิจารณาสิทธิประโยชน์พื้นที่ที่กำหนดให้สำหรับอุตสาหกรรม bioeconomy ให้ได้เท่ากับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งรัฐยังไม่พิจารณาให้ และที่สำคัญ คล้ายว่ารัฐจะลดความสำคัญของอุตสาหกรรม bioeconomy ลง เพราะไม่มีการพูดถึง ไม่มีการกระตุ้นไม่มีการหารือกับเอกชนเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากระดับโลกเข้ามา นอกจากนี้ เอกชนยังต้องการให้รัฐสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้พร้อม”

“ที่เราต้องดันไบโอเพราะเกี่ยวข้องกับชาวไร่อ้อย ในตอนนี้อ้อยก็น้อยปี 2563/2564 คงไม่ถึง 70 ล้านตันราคาน้ำตาลก็ไม่ดี ชาวไร่ก็ต้องเข้ามาตรการรัฐเรื่องลดการเผา เขาต้องซื้อรถตัดอ้อย ซึ่งเราก็ช่วยชาวไร่ที่เป็นคู่สัญญา ดอกเบี้ยรถตัดอ้อยตอนนี้ก็ถือว่ายังสูงสำหรับเขา ที่เราช่วยได้ตอนนี้คือนอกจากรับซื้ออ้อยเข้าหีบยังรับซื้อใบอ้อยตันละ 800 บาท เข้ามาเพื่อเป็น เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ เอทานอล ไบโอ มันจึงต้องเกิด”

ทั้งนี้ โครงการ “นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” หรือ NBC ถือเป็น bio hub แห่งแรกของอาเซียน และไบโอคอมเพล็กซ์แบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้วัตถุดิบจากอ้อย ดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุนระหว่างGGC และ KTIS ในนามบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI ซึ่งเป็นโครงการนำร่องตามนโยบายโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) ของประเทศ

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ทิ้งนโยบายการผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ bioeconomy และยังคง เดินหน้าต่อตามแผนเดิม ส่วนการจะต้องปรับปรุงอะไรใหม่นั้น ต้องหารือกันกับหน่วยงานที่ร่วมกันทำแผน เช่น สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไม่เพียง bioeconomyอย่างเดียว แต่รัฐยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือนโยบาย BCG เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เศรษฐกิจสีเขียว (green economy)

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เวียดนามฟ้องไทย ทุ่มตลาด “น้ำตาล” เอกชนแจงราคาตลาดโลกดิ่ง

ไทยแก้ต่างเวียดนามฟ้องทุ่มตลาดน้ำตาล เอกชนแจงเหตุราคาตลาดโลกร่วงจากบราซิลผลผลิตทะลัก-ค่าเงินอ่อน มั่นใจเทรดเดอร์ไม่ขายต่ำกว่าทุน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ออก Decision No. 2466/QD-BCT เปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและอุดหนุน (AD/CVD) สินค้าน้ำตาลที่นำเข้าจากไทยตามข้อเรียกร้องจากสมาคมน้ำตาลและอ้อยเวียดนาม (VSSA) และผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ ซึ่งระบุว่าหลังจากเวียดนามได้ยกเลิกโควตาภาษีนําเข้าตามความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

พบว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) 2563 เวียดนามนำเข้าน้ำตาลเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว มีปริมาณ 950,000 ตัน ซึ่งเป็นการนำเข้าจากไทย 860,000 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 145,000 ตัน กระทบผู้ผลิตน้ำตาลเวียดนามจนต้องลดการผลิตเหลือ 800,000 ตัน จากเดิม 1.2 ล้านตัน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนได้ยื่นข้อมูลประกอบการพิจารณาต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแล้ว เบื้องต้นแต่ละปีไทยส่งออกน้ำตาลไปยังเวียดนามผ่านเทรดเดอร์ปีละ 200,000 ตัน แต่เพิ่มเป็น 400,000 ตันเวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกท็อป 5 ของไทย

“ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้ ลดลงเหลือ 13 เซนต์ต่อปอนด์จากปีก่อนที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ สาเหตุที่ราคาลดลงเพราะบราซิลประเทศผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก มีผลผลิตออกมาปริมาณมาก ค่าเงินบราซิลอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนและราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ไทยก็อิงตามราคาตลาดน้ำตาลล่วงหน้า ค่าบาทก็แข็ง และขายผ่านเทรดเดอร์ด้วย คงไม่มีเทรดเดอร์ที่ไหนจะไปขายต่ำกว่าทุน”

ที่ผ่านมาไทยและเวียดนามอยู่ในกลุ่ม ASEAN Sugar Alliance ซึ่งเวียดนามก็น่าจะรับทราบสถานการณ์ดี โดยไทยได้ปฏิบัติตามหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) เพราะไทยก็เคยดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับบราซิลมาแล้ว

จาก https://www.prachachat.net   วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กลุ่ม KTIS เปิดตลาด “หลอดชานอ้อย”

กลุ่ม KTIS ออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม “หลอดชานอ้อย” ปิดจุดอ่อนหลอดกระดาษ และย่อยสลายได้ภายใน 15 วันหลังฝังกลบตามธรรมชาติ เริ่มต้นมีกำลังการผลิตวันละ 5 แสนหลอด คาดปีนี้ขาย 30 ล้านหลอด

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือหลอดชานอ้อย ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของกลุ่มบริษัทฯ ที่ว่า “KTIS รักษ์โลก...โลกน่ายล ชุมชนน่าอยู่”

บริษัทย่อยคือ บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ สตรอว์ จำกัด (EPAS) เป็นผู้ดำเนินการผลิตหลอดชานอ้อย เริ่มต้นอยู่ที่ 500,000 หลอดต่อวัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกหากมีปริมาณความต้องการสูง โดยตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ไว้ที่ 30 ล้านหลอด

ทั้งนี้ การที่กลุ่ม KTIS เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลแบบครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกอ้อย หีบอ้อย ผลิตเยื่อชานอ้อย และนำเยื่อชานอ้อยมาผลิตเป็นหลอดชานอ้อย จึงมั่นใจได้ว่า EPAS จะไม่ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตหลอดชานอ้อยอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจุดแข็งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลอดชานอ้อยให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หลอดชานอ้อยจำนวนมาก

“หลอดชานอ้อยจะต่างจากหลอดกระดาษทั่วไป ตรงที่ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายแม้จะแช่ในน้ำเป็นชั่วโมง ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน จึงปลอดภัย 100% สำหรับการบริโภค และการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ทำให้ช่วยลดการตัดไม้มาทำเยื่อกระดาษหรือหลอดกระดาษอีกด้วย หลอดชานอ้อยจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

จาก https://mgronline.com วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อ้อยน้อยเพราะภัยแล้ง

อ้อยน้อยเพราะภัยแล้ง - รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ผลผลิตอ้อยของไทยในฤดูหีบปี 2563/64 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบภัยแล้ง แม้จะมีฝนเข้ามาแต่ก็เป็นปลายฤดูเพาะปลูก ทำให้ปริมาณอ้อยต่ำ โดยชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ประเมินฤดูหีบ 2563/63 จะปริมาณอ้อยไม่ถึง 60 ล้านตัน ขณะที่จากการประเมินของรัฐ โรงงาน คาดเฉลี่ยจะอยู่ที่ 67 ล้านตัน จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยืนยันน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศ มีปริมาณเพียงพอ ไม่ขาดแคลนเพราะสำรองไว้แล้ว

จาก https://www.khaosod.co.th   วันที่ 14 ตุลาคม 2563

IMF ฟันธง "เศรษฐกิจไทย" รอดตำแหน่งบ๊วยอาเซียน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “IMF” คาดศก.ไทยปีนี้ติดลบ 7.1% น้อยกว่าฟิลิปปินส์ที่ประเมินว่าจะติดลบ 8.3% รอดตำแหน่งบ๊วยในอาเซียน ขณะว่างงานต่ำสุด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO)  โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบ7.1% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะติดลบ 7.7% ขณะที่เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะติดลบ 8.3% ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน

ส่วนปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.0%

ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน-5 ซึ่งประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คาดเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะหดตัว 1.5% ในปีนี้ และขยายตัว 6.1% ในปีหน้า, มาเลเซียจะหดตัว 6.0% ในปีนี้ และขยายตัว 7.8% ในปีหน้า, ฟิลิปปินส์จะหดตัว 8.3% ในปีนี้ และขยายตัว 7.4% ในปีหน้า ส่วนเวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีการขยายตัวในปีนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 1.6% ขณะที่ปีหน้าขยายตัว 6.7%

IMF ยังคาดการณ์ว่าไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในอาเซียน โดยทรงตัวที่ระดับ 1.0% ในปีนี้ และปีหน้า เช่นเดียวกับในปี 2562

ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.4% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ที่ระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 4.9% โดย IMF ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 5.2% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนมิ.ย.ว่าจะขยายตัว 5.4%

IMF ระบุว่า การทบทวนปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวที่ดีกว่าคาดของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในช่วงไตรมาส 2 ขณะที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้นในไตรมาส 3

อย่างไรก็ดี IMF เตือนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน และไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ขณะที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 4.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 8.0% ก่อนที่จะมีการขยายตัว 3.1% ในปีหน้า

ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนคาดว่าจะหดตัว 8.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 10.2% ก่อนที่จะมีการขยายตัว 5.2% ในปีหน้า

ขณะที่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ IMF คาดว่าจะมีการขยายตัวในปีนี้ โดยจะอยู่ที่ระดับ 1.9% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 1.0% และจะพุ่งขึ้น 8.2% ในปีหน้า

IMF คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่จะหดตัวลง 3.3% ในปีนี้ ขณะที่อินเดียจะหดตัวลงมากกว่า 10%  

นอกจากนี้ IMF คาดว่าปริมาณการค้าโลกจะทรุดตัวลง 10.4% ในปีนี้ แต่จะขยายตัว 8.3% ในปีหน้า

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 14 ตุลาคม 2563

เงินบาทอ่อนค่า กรอบ 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์ หลังจีนแทรกแซงเงินหยวนให้อ่อนค่า

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 14 ตุลาคม อยู่ที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเข้าสู่ช่วงพักฐานดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวลง 0.63% เนื่องจากตลาดกลับมากังวลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐผ่านนโยบายการคลังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปก็ย่อตัวลง 0.55% ด้วยความกังวลว่าสหภาพยุโรปและอังกฤษอาจไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้จากการเจรจาล่าสุด

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจกลับมาเป็นบวกขึ้นเล็กน้อย โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF รายงานมุมมองเศรษฐกิจโลกประจำเดือนตุลาคม 2020 “ดีขึ้น” กว่าการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศกลับมาเปิดทำการได้ โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัว 5.2% ในปี 2021 ด้วยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่จะฟื้นตัว 3.9% และประเทศกำลังพัฒนาถึง Emerging Markets ที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวถึง 6.0%

ด้านตลาดเงินเลือกตอบรับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นระยะสั้นด้วยมุมมองปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10ปี ปรับตัวลง 5bps มาที่ 0.73% และดัชนีดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้น 0.5% โดยมีดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ที่อ่อนค่าลงมากที่สุด 0.8% และราคาทองคำแกว่งตัวอยู่ในระดับ 1891 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ด้านเงินบาทระยะสั้นกลับมาเคลื่อนไหวฝันผวนตามเงินหยวนจีน (CNY) ที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางจีน (PBoC) จะแทรกแซงให้อ่อนค่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กดดันให้สกุลเงินเอเชียอื่นๆถูกเทขายไปพร้อมกันด้วย

ส่วนในวันนี้ ภาพตลาดการเงินที่ปิดรับความเสี่ยง ถือว่าไม่เป็นบวกกับเงินบาท จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการอ่อนค่าต่อในระยะสั้น

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 14 ตุลาคม 2563

ภัยแล้งดันหุ้น ‘น้ำตาล’ พุ่งยกแผง โบรกชี้ราคาตลาดโลกฟื้นต่อเนื่อง

หุ้นกลุ่มน้ำตาลปรับขึ้นยกแผง หลังราคาน้ำตาลโลกพุ่งแตะ 14 เซนต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากจุดต่ำสุดเมื่อปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์เผยแรงหนุนจากความกังวลเรื่องภัยแล้ง พร้อมแนะเข้าเก็งกำไร

ความเคลื่อนไหวของหุ้นในกลุ่มธุรกิจน้ำตาล 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) บมจ.น้ำตาลครบุรี (KBS) บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) และบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ต่างปรับตัวขึ้นได้ทั้งหมด โดย KSL เพิ่มขึ้นสูงสุด 10.92% แตะ 2.64 บาท สูงสุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง KTIS เพิ่มขึ้น 5.18% แตะ 2.84 บาท สูงสุดในรอบ 3 เดือน BRR เพิ่มขึ้น 9.15% แตะ 3.10 บาท สูงสุดรอบ 2 เดือน ขณะที่ KBS เพิ่มขึ้น 7.09% แตะ 3.32 บาท สูงสุดรอบ 1 เดือนครึ่ง

นายประสิทธิ์ สุจิรวรกุล ผู้อำนวยการสายงานวิจัย ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เปิดเผยว่า แรงหนุนสำคัญต่อหุ้นกลุ่มน้ำตาลคือ ราคาน้ำตาลในตลาดโลกทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 7 เดือน โดยเพิ่มขึ้นแตะระดับ 14 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะเดียวกันราคาส่งออกน้ำตาลเฉลี่ยในไตรมาส 3 ปีนี้ เพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสก่อน และงวดเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 11,811 บาทต่อตัน

ทั้งนี้ จะเห็นว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากจุดต่ำสุดที่ราว 9.2 เซนต์ต่อปอนด์ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา คิดเป็นการฟื้นตัวกว่า 50% ในเวลา 6-7 เดือน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำตาลปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเกิดจากความกังวลในเรื่อง ‘ลานีญา’ โดยเฉพาะในประเทศบราซิลและอาร์เจนตินา รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าอุปทานของน้ำตาลจะลดลงไปราว 7% ขณะที่ปริมาณฝนมีแนวโน้มจะลดลง 5-20% โดยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีการปรับเพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะดังกล่าวประมาณ 70-90% ระหว่างไตรมาส 3 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1 ปี 2564

“จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้หุ้นกลุ่มน้ำตาลสามารถเข้าเก็งกำไรได้ เพราะโดยปกติแล้วราคาหุ้นกลุ่มนี้จะวิ่งตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก โดยผู้บริหารของ KSL เคยประเมินไว้ว่าราคาน้ำตาลปีนี้จะอยู่ในกรอบราว 11.5 – 13.5 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่เรามองว่ามีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นทะลุ 15 เซนต์ต่อปอนด์ จากผลของลานีญา แต่โอกาสที่จะปรับขึ้นไปมากกว่านั้นอาจจะไม่สูงนัก เพราะยังมีแรงกดดันจากอุปทานที่จะเข้ามาเพิ่มจากอินเดีย จีน และบราซิล หลังจากผ่านหน้าแล้ง หนุนให้อุปทานเพิ่มขึ้น 10-15%”

สำหรับผลประกอบการของหุ้นกลุ่มนี้ แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผลของราคาจะสะท้อนมายังผลประกอบการบริษัทต้องรอไปอีก 1-2 ไตรมาส เพราะโดยปกติแล้วราคาขายน้ำตาลจะกำหนดเป็นสัญญากันล่วงหน้า สำหรับบริษัทน้ำตาลในไทยน่าจะมีการเริ่มสัญญาใหม่ในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. ของทุกปี ส่วนราคาน้ำตาลน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วที่ระดับ 9-10 เซนต์ต่อปอนด์

นางสาวนารี อภิเศวตกานต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้นกลุ่มราคาน้ำตาลปัจจุบันภายใต้การวิเคราะห์ของเราคือ KSL ซึ่งราคาปัจจุบันปรับขึ้นมาเกินราคาพื้นฐานที่ประเมินไว้แล้ว

โดยภาพรวมการพุ่งขึ้นมาของราคาหุ้นหนุนจากแนวโน้มราคาน้ำตาลโลกปรับขึ้นจากความกังวลในเรื่องของสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้เกิดแรงเก็งกำไรเข้ามา ซึ่งไม่เฉพาะแค่น้ำตาลเท่านั้น ยังรวมไปถึงราคาถั่วเหลืองที่ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกัน

“มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายวิเคราะห์อาจจะปรับประมาณการหุ้นกลุ่มน้ำตาลขึ้นได้ หากราคาน้ำตาลยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง สำหรับภาพในระยะสั้นมองว่ายังพอที่จะซื้อขายเก็งกำไรได้”

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 13 ตุลาคม 2563

“สมอ.” ผนึกเอกชนดันมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนยกระดับประเทศ

“สมอ.” เตรียมจับมือ “GC” และ “เอสซีจี” เดินหน้าผลักดันใช้มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน ในภาคธุรกิจสร้างพื้นฐานการผลิตสินค้าบนหลักการรักษ์สิ่งแวดล้อม

นายวันชัย  พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน)และ เอสซีจี  รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐและวิสาหกิจ ตลอดจนสถาบันการศึกษา นำมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economyไปประยุกต์ใช้ในองค์กรเพื่อจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่การผลิตการใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ

และการออกแบบสินค้าหรือบริการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรทั้งทางตรง และทางอ้อม นอกจากนี้ ยังสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภคเพราะสินค้าหรือบริการที่ได้จะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการผลิตในรูปแบบเดิม ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าหรือบริการที่มีราคาต่ำในขณะที่คุณภาพและประสิทธิภาพการใช้งานยังเหมือนเดิม โดย สมอ. มีแผนจะดำเนินการในเร็วๆ นี้ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ทั้งนี้  การดำเนินการดังกล่าวของ สมอ. สอดคล้องตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาลด้าน  BCG (Bio Circular Green)ในด้านการสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการขับเคลื่อน สมอ. จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวทั้งนี้

“ผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมกับ สมอ. สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.tisi.go.thหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ กลุ่มพัฒนาผู้ประกอบการด้านการมาตรฐาน กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ.”

นายวันชัย กล่าวต่อไปอว่า วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี องค์กรระหว่างประเทศด้านการมาตรฐาน ประกอบด้วย องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization - ISO) คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (InternationalElectrotechnical Commission - IEC) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union - ITU) กำหนดให้เป็น “วันมาตรฐานโลก”

สำหรับปีนี้กำหนดหัวข้อการรณรงค์ให้กับทุกประเทศทั่วโลกคือ มาตรฐานช่วยปกป้องคุ้มครองโลก โดยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและสนับสนุนการนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดกลับมาใช้ใหม่ตลอดจนใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปกป้องคุ้มครองโลก

“สมอ. ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ เป็นผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิก ISO และ IEC มีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและอำนวยความสะดวกในทางการค้าและบริการของประเทศ ได้ร่วมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันมาตรฐานโลกมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับมวลสมาชิกกว่า 160 ประเทศทั่วโลกในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน และพิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา” 

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 ตุลาคม 2563

ประเทศไทยเตรียมเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022

ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022 ที่เนเธอร์แลนด์ พร้อมเคาะวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุน 187.64 ล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ว่า ครม.เห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022 (EXPO 2022 Floriade Almere) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในวงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการรวมทั้งสิ้น  187.64 ล้านบาท

สำหรับงานดังกล่าวถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์สินค้าพืชสวน สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ สินค้าเพื่อสุขภาพของไทย รวมถึงสร้างเครือข่ายด้านการค้าในเวทีนานาชาติและส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ของไทยในด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์

มหกรรมพืชสวนโลก 2022 (EXPO 2022 Floriade Almere) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์

ขณะที่ระยะเวลาดำเนินการเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเริ่มเตรียมความพร้อมก่อนเปิดงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เมษายน 2565 และมีระยะเวลาจัดนิทรรศการ เริ่มตั้งแต่ 14 เมษายน 2565 –  9 ตุลาคม 2565

รวมระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่การเตรียมการจนเสร็จสิ้นการส่งมอบพื้นที่คืน รวม 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 187.64 ล้านบาท

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 13 ตุลาคม 2563

เปิดแผนใช้เงินกองทุนส่งออก 1 พันล้าน เพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศ

ครม. รับทราบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 237 โครงการ 1,047 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปีงบประมาณ 2564 (แผนปฏิบัติการประจำปี 2564) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติแผนปฏิบัติการระยะยาว กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำปี 2564 – 2568 และแผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2564

 สำหรับ สาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. แผนปฏิบัติการระยะยาว กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำปี 2564 – 2568 มีวัตถุประสงค์ในการมุ่งเน้นการดำเนินโครงการและกิจการเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตและการส่งออกสินค้าและบริการ เพื่อผลักดันความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 5 ของเอเซียน ภายในปี 2568 ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ , การเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดตลาด และการเร่งรัดทำการตลาดเชิงกลยุทธ์

2. แผนการใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2564 จะแบ่งออกเป็น การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การผลักดันคลัสเตอร์เป้าหมาย การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการการค้าระหว่างประเทศของไทย การพัฒนาส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มและการสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ และการพัฒนาองค์กรสู่อนาคต มีทั้งหมด 62 โครงการ 62 โครงการ วงเงิน 718.8133 ล้านบาท

แผนการเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดตลาด โดยจะมีการประชุมเจรจาเชิงรุก และการปกป้องผลประโยชน์และการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า มีทั้งหมด 161 โครงการ วงเงิน 57.9199 ล้านบาท การเร่งรัดทำการตลาดเชิงกลยุทธ์ โดยจะการรักษาและขยายตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ ฟื้นตลาดเก่า และการผลักดันการค้าผ่านช่องทางตลาดพาณิชย์ดิจิทัลและช่องทางการกระจายสินค้ารูปแบบใหม่ มีทั้งหมด 13 โครงการ วงเงิน 220.8693 ล้านบาท และงบงานตามนโยบายและมาตรการเร่งด่วน 1 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท

โดยทั้งหมดนี้จะเป็นโครงการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวม 11 หน่วยงาน จำนวน 237 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,047,602,500 บาท ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ระเบียบ หลักเกณฑ์และมติคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่กำหนดไว้

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 13 ตุลาคม 2563

ร่างโรงไฟฟ้าชุมชนหนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล-ก๊าซชีวภาพ

ร่างเกณฑ์ฯ โรงไฟฟ้าชุมชนเตรียมเปิดรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์และก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 75 เมกะวัตต์ เน้นพืชพลังงานปลูกใหม่เท่านั้น ด้านวิสาหกิจชุมชนแนะให้แยกประเภทโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงในการแข่งขัน

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์และรูปแบบการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน​เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อจะเร่งสรุปให้สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปีนี้ กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไว้ที่ 150 เมกะวัตต์ แยกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass ) 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน (Biogas) 75 เมกะวัตต์​ กำหนดปริมาณการขายไฟฟ้าไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/แห่ง ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการเปิดให้แข่งขันราคาในการขายไฟ (Competitive Bidding)

คุณสมบัติเบื้องต้นผู้ยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเข้าร่วมโครงการต้องใช้เชื้อเพลิงจากการปลูกใหม่เท่านั้น เช่น ไม้โตเร็ว ไผ่ รวมถึงเพิ่มการใช้หญ้าเนเปียร์สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล และเชื้อเพลิง​กำหนดให้ผู้ประกอบการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) กับเกษตรกรตาม พ.ร.บ.พันธสัญญา (ไม่กำหนดว่าต้องร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือนขึ้นไป) โดยกำหนดสัดส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 2 ส่วนได้แก่  1.ร้อยละ 80 ผ่าน Contract Farming โดยข้อนี้เพื่อเป็นการยืดหยุ่นกรณีเหตุสุดวิสัยเกษตรกรไม่สามารถจัดหาเชื้อเพลิงได้ให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาได้เอง (มีหน่วยงานมากำกับดูแลและตรวจสอบ) 2.สัดส่วนร้อยละ 20 ให้โรงไฟฟ้าจัดหาได้เองและให้ผู้ประกอบการวางแบงก์การันตี เพื่อเป็นหลักประกันให้เกษตรกรกรณีหยุดรับซื้อไม่เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนไปปลูกพืชชนิดอื่น ส่วนแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน​ เช่น​ อาจแบ่งกำไรร้อยละ 10 ให้กับชุมชน

ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม. ) กล่าวว่า แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าควรจะแยกแข่งขันตามประเภทของโรงไฟฟ้า ( Biomass , Biogas ) และ เชื้อเพลิง ( ไม้โตเร็ว, หญ้าเนเปียร์ และอื่น ๆ) เพื่อที่จะทำให้การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ควรกำหนดตัวเลขตายตัว (fix) สำหรับผลตอบแทนที่วิสาหกิจชุมชนจะได้รับ เพื่อเปรียบเทียบกันได้ง่ายและยกเลิกการจ่ายเงิน 0.25 บาท/kwh เข้ากองทุนโรงไฟฟ้า ควรเน้นให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก, การอยู่ได้ของนักลงทุนเป็นอันดับ 2 และการมีโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าได้จริง และเดินเครื่อง 20 ปีอย่างยั่งยืนเป็นอันดับ 3 มากกว่าการให้ความสำคัญกับการเสนอค่าไฟต่ำสุด

ทั้งนี้ ​ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ได้เร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณายกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA ) กับการไฟฟ้าได้ทัน 13 ธันวาคม2562 ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์ จากผู้ร่วมโครงการทั้งหมด 17 ราย กำลังผลิตติดตั้งรวม 434 เมกะวัตต์ แต่มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ โดยให้ กกพ.พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 ตุลาคม 2563  และนำกลับมารายงาน กบง.อีกครั้ง การยกเลิกสัญญาดังกล่าวจะส่งผลให้โครงการ SPP Hybrid Firm เหลือโควตาอีก 100 เมกะวัตต์ เพื่อนำโครงการดังกล่าวมาจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแทน ซึ่งจะช่วยให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเดินหน้าได้ทันที.-

จาก  https://tna.mcot.net  วันที่ 12 ตุลาคม 2563

ชาวไร่เฮลุ้นอ้อยขั้นต้นราคาทะลุ 800-900 บาทต่อตัน

ราคาอ้อยตลาดโลกเริ่มขยับ หนุนรายได้ชาวไร่ลุ้นอ้อยขั้นต้นราคาทะลุ 800-900 บาทต่อตัน

รายงานข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ทิศทางราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย800-900 บาทต่อตัน เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยขยับเพิ่มสูงมาอยู่ในระดับ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ หลังสต็อกน้ำตาลโลกลดลง จากผลผลิตของไทยในฤดูหีบดังกล่าวมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่อง จากผลกระทบภัยแล้ง โดยทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งรัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อยประเมินว่า มีประมาณ 67 ล้านตันเท่านั้น               

“ตอนนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย (อนท.) ที่บริหารน้ำตาลทราบดิบส่งออก 8 แสนตัน ได้บริหารการจำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าฤดูหีบใหม่แล้ว 15% ราคาเฉลี่ยทำได้ 16 เซนต์ต่อปอนด์ หากทำราคาระดับนี้ จะมีโอกาสเห็นราคาอ้อยขั้นต้น 800-900 บาทต่อตัน แต่ยอมรับว่า ผลผลิตปีนี้แม้ฝนจะมีเข้ามา แต่เป็นท้ายฤดูเพาะปลูก จึงส่งผลกระทบให้ปริมาณอ้อยลดต่ำลง ซึ่งชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ประเมินว่า จะไม่ถึง 60 ล้านตันด้วยซ้ำไป  ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งปริมาณดังกล่าวหากมีการเปิดหีบยอมรับว่า ระยะเวลาหีบของโรงงานที่จะมีโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่งเป็นทั้งสิ้น 58 แห่ง จะใช้เวลาหีบเพียง 45  วันก็อาจปิดหีบ”  

อย่างไรก็ตามปัญหาผลผลิตอ้อยที่ลดต่ำต่อเนื่อง เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานรัฐกำลังหาทางออกถึงปัญหาการส่งมอบน้ำตาลทรายตามสัญญาเก่าฤดูหีบปี 62/63 ที่โรงงานน้ำตาลหลายแห่งต้องเลื่อนการส่งมอบ เนื่องจากโรงงานได้ทำสัญญาขายน้ำตาลเกินปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จริงโดยโรงงานน้ำตาลได้มีข้อเสนอที่จะขอรับซื้อน้ำตาลทรายดิบจาก บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) ที่อนท.บริหารทั้งหมด 8 แสนตัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าชาวไร่อ้อยบางส่วนจะไม่ขัดข้องแต่การดำเนินงานดังกล่าวจะขัดต่อระเบียบที่กำหนดไว้ได้ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบซึ่งต้องใช้เวลานาน

จาก  https://www.dailynews.co.th วันที่ 12 ตุลาคม 2563

ก.พลังงานเร่งเคาะเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชน 150 MW เปิดแข่งขันราคา

กระทรวงพลังงานเร่งวางเกณฑ์ฯ โรงไฟฟ้าชุมชน วางเป้ารับซื้อ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 75 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน 75 เมกะวัตต์ เน้นพืชพลังงานปลูกใหม่เท่านั้น เปิดประมูลแข่งขันราคา ด้านวิสาหกิจชุมชนแนะให้แยกประเภทโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงในการแข่งขัน กกพ.เร่งหาช่องดึง SPP Hybrid Firm ที่เหลือ 100 MW โยกมาเป็นโรงไฟฟ้าชุมชน

แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์และรูปแบบการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อจะเร่งสรุปให้สามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปีนี้ กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไว้ที่ 150 เมกะวัตต์ แยกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) 75 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน (Biogas) 75 เมกะวัตต์ กำหนดปริมาณการขายไฟฟ้าไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/แห่ง ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการเปิดให้แข่งขันราคาในการขายไฟ (Competitive Bidding)

โดยคุณสมบัติเบื้องต้นผู้ยื่นข้อเสนอโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเข้าร่วมโครงการต้องใช้เชื้อเพลิงจากการปลูกใหม่เท่านั้น เช่น ไม้โตเร็ว ไผ่ รวมถึงเพิ่มการใช้หญ้าเนเปียร์สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล และเชื้อเพลิงกำหนดให้ผู้ประกอบการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) กับเกษตรกรตาม พ.ร.บ.พันธสัญญา (ไม่กำหนดว่าต้องร่วมกับวิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือนขึ้นไป) โดยกำหนดสัดส่วนการจัดหาเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

1. 80% ผ่าน Contract Farming โดยข้อนี้เพื่อเป็นการยืดหยุ่นกรณีเหตุสุดวิสัยเกษตรกรไม่สามารถจัดหาเชื้อเพลิงได้ให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาได้เอง (มีหน่วยงานมากำกับดูแลและตรวจสอบ) 2. สัดส่วน 20% ให้โรงไฟฟ้าจัดหาได้เองและให้ผู้ประกอบการวางแบงก์การันตีเพื่อเป็นหลักประกันให้เกษตรกรกรณีหยุดรับซื้อไม่เป็นไปตามสัญญา เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนไปปลูกพืชชนิดอื่น ส่วนแนวทางการจัดสรรผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน เช่น อาจแบ่งกำไร 10% ให้ชุมชนยังไม่ได้ข้อสรุป

ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม.) กล่าวว่า แนวทางการรับซื้อไฟฟ้าควรจะแยกการแข่งขันตามประเภทของโรงไฟฟ้า (Biomass, Biogas) และเชื้อเพลิง (ไม้โตเร็ว, หญ้าเนเปียร์ และอื่นๆ) เพื่อที่จะทำให้การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม

รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ได้เร่งรัดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณายกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบ SPP Hybrid Firm ปี 2560 ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) กับการไฟฟ้าได้ทัน 13 ธันวาคม 2562 ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 100 เมกะวัตต์ เพื่อนำโครงการดังกล่าวมาจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแทน ซึ่งจะช่วยให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเดินหน้าได้ทันทีเพราะไม่ต้องรอแผนพีดีพี 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) ผ่าน ครม.แต่อย่างใด

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข่าวดี! ราคาอ้อยมีลุ้น 900 บาท/ตัน แต่ผลผลิตตกต่ำ โรงงานดิ้นหาน้ำตาลส่งมอบ

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัญหารุมเร้า แม้ข่าวดีราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 63/64 มีโอกาสลุ้น 800-900 บาทต่อตันหลังราคาตลาดโลกเริ่มขยับ แต่ข่าวร้ายที่ผลผลิตอ้อยปีนี้จะยังคงลดต่ำลงอีกคาดการณ์เฉลี่ยได้แค่ 67 ล้านตัน ขณะที่โรงงานที่มีถึง 58 แห่ง จับตาปัญหาพัลวันโรงงานเลื่อนส่งมอบน้ำตาลฤดูเก่าหลังทำสัญญาไว้เกินปริมาณน้ำตาลที่ได้จริง เล็งขอดึง “อนท.” มาบริหารส่งมอบแทน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2563/64 มีโอกาสที่จะอยู่ในระดับเฉลี่ย 800-900 บาทต่อตัน หลังราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยขยับเพิ่มสูงมาอยู่ในระดับ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์เนื่องจากสต๊อกน้ำตาลโลกลดลง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือผลผลิตของไทยในฤดูหีบดังกล่าวมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบภัยแล้ง โดยจากการประเมินของทั้งจากรัฐ โรงงาน และชาวไร่อ้อยแล้วเฉลี่ยจะอยู่ที่เพียง 67 ล้านตันเท่านั้น

“ขณะนี้บริษัทอ้อยและน้ำตาลทรายไทย จำกัด (อนท.) ซึ่งบริหารน้ำตาลทรายดิบส่งออก 8 แสนตัน ได้จำหน่ายน้ำตาลล่วงหน้าฤดูหีบใหม่แล้ว 15% ราคาเฉลี่ยทำได้ 16 เซ็นต์ต่อปอนด์ หากทำราคาระดับนี้ก็จะมีโอกาสเห็นราคาอ้อยขั้นต้น 800-900 บาทต่อตัน แต่ก็ยอมรับว่าผลผลิตปีนี้แม้ว่าฝนจะมีเข้ามาแต่เป็นท้ายฤดูเพาะปลูกจึงยังคงกระทบให้ปริมาณอ้อยลดต่ำซึ่งชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ประเมินว่าจะไม่ถึง 60 ล้านตันด้วยซ้ำไปจึงต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งปริมาณดังกล่าวหากมีการเปิดหีบยอมรับว่าระยะเวลาหีบของโรงงานที่จะมีโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่งเป็นทั้งสิ้น 58 แห่งจะใช้เวลาหีบเพียง 45 วันก็อาจปิดหีบ” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาผลผลิตอ้อยที่ลดต่ำต่อเนื่อง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งโรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานรัฐกำลังหาทางออกถึงปัญหาการส่งมอบน้ำตาลทรายตามสัญญาเก่าฤดูหีบปี 2562/63 ที่โรงงานน้ำตาลหลายแห่งต้องเลื่อนการส่งมอบเนื่องจากโรงงานได้ทำสัญญาขายน้ำตาลเกินปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้จริงเพราะไม่คาดคิดว่าอ้อยจะลดลงไปมาก โดยโรงงานน้ำตาลได้มีข้อเสนอที่จะขอรับซื้อน้ำตาลทรายดิบจาก อนท.ที่มีน้ำตาลบริหาร 8 แสนตัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวไร่อ้อยบางส่วนจะไม่ขัดข้องแต่การดำเนินงานดังกล่าวจะขัดต่อระเบียบที่กำหนดไว้ ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบซึ่งต้องใช้เวลานาน

“ระเบียบกำหนดให้ อนท.ส่งออกโดยตรงไม่ได้กำหนดให้ผ่านโรงงานแล้วค่อยส่งออก ซึ่งจะต้องแก้ไขระเบียบดังกล่าวที่คงจะไม่ทันการณ์ก็ต้องมาหาทางออกกัน ส่วนน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศนั้นยืนยันว่าไม่ขาดแคลนเพราะเป็นน้ำตาลทรายขาวที่ได้เตรียมสำรองไว้แล้วจึงขออย่ากักตุน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ผลผลิตอ้อยฤดูหีบปี 62/63 ที่ผ่านมาลดลงอย่างหนักจากวิกฤตภัยแล้ง โดยมีผลผลิตอ้อยเพียง 74.89 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทราย 8.27 ล้านตัน เมื่อเทียบกับฤดูหีบปี 61/62 พบว่าอ้อยลดลง ถึง 56.08 ล้านตัน (ผลผลิตอยู่ที่ 130.97 ล้านตัน) ขณะที่น้ำตาลทรายลดลง 6.31 ล้านตัน (ผลผลิตที่ 14.58 ล้านตัน) ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลได้ทำการขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าเพื่อการส่งออกเกินปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่จริงทำให้ต้องเลื่อนสัญญาส่งมอบ และหากไม่สามารถนำน้ำตาลจาก อนท.มาส่งมอบก่อนได้ก็คงจะต้องเจรจาเลื่อนออกไปและชะลอจนกว่าจะมีการเปิดหีบฤดูใหม่ปี 2563/64 ที่จะเปิดในช่วงสิ้นปีนี้ แต่ผลผลิตที่มีทิศทางลดลงก็ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ยังชะลอการตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า

“กอน.เองก็ยังประชุมไม่ได้เพราะมีกรรมการ 2 คนหมดวาระต้องรอแต่งตั้ง ขณะที่ปัญหาหลายด้านก็ไม่ชัด ทั้งราคาอ้อยที่ยังไม่รู้ว่ารัฐจะช่วยเหลือปัจจัยการผลิตหรือไม่อย่างไร เรื่องเป้าหมายอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 20% ซึ่งนับตั้งแต่ลอยตัวน้ำตาลส่งผลกระทบหลายด้านเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ไม่พร้อม” แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://mgronline.com   วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สอน.เข้มอ้อยไฟไหม้ปีนี้ห้ามเกิน 20% ชาวไรลุ้นขั้นต้นแตะ 800-900 บ.ตัน

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) กล่าวว่า สอน.เตรียมดำเนินมาตรการกำหนดสัดส่วนการหีบอ้อยฤดูการผลิตใหม่ ปี 2563/64 ให้โรงงานรับอ้อยสด 80% และอ้อยไฟไหม้เพียง 20% เพื่อลดปัญหาการเผาไหม้ที่เป็นสาเหตุสำคัญของพีเอ็ม 2.5 หากเกษตรกรยังคงเผาอ้อยก่อนตัดจะได้รับเงินที่น้อยกว่าอ้อยสด โดยสอน.ดำเนินการให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้อ้อยไฟไหม้หมดลงภายในปี 2565

นายเอกภัทร กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2563/64 จะสูงกว่าราคาขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2562-63 แน่นอน ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 750 บาทต่อตัน สาเหตุที่ไม่สามารถระบุราคาได้ชัดเจนเพราะปัจจุบันราคามีความผันผวนสูงจากหลายปัจจัยทั้งสภาพอากาศ ตลาดโลก หากระบุชัดเจนแล้วทำไม่ได้อาจทำให้เกษตรกรไม่พอใจ เกิดปัญหาตามมา

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูหีบปี 2563/64 มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 800-900 บาทต่อตันหลังราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกเฉลี่ยขยับเพิ่มสูงมาอยู่ในระดับ 14-15 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากสต็อกน้ำตาลโลกลดลง ปัจจัยสำคัญคือผลผลิตของไทยในฤดูหีบดังกล่าวมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบภัยแล้งโดยจากการประเมินของทั้งจากรัฐ โรงงานและชาวไร่อ้อยแล้วเฉลี่ยจะอยู่ที่เพียง 67 ล้านตันเท่านั้น

“ขณะนี้ กอน.ยังไม่สามารถประชุมได้เนื่องจากคณะกรรมการไม่ครบ เพราะมีกรรมการ 2 คนหมดวาระ ต้องรอแต่งตั้ง ปัจจุบันมีหลายประเด็นที่รอกอน.พิจารณา แม้ราคาอ้อยดีแต่ความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ปัจจัยจากการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ของฤดูหีบปีนี้ ที่กำหนดสัดส่วนอ้อยสดถึง 80% ทำให้ชาวไร่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการตัดสด ขณะที่ภาครัฐยังไม่ชัดเจนถึงอัตราการช่วยเหลือการตัดอ้อยสดว่าจะอยู่ระดับเท่าใด”แหล่งข่าวกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th    วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

EU-ABC เคาะ "เศรษฐกิจอาเซียน" ยังมาแรง

สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป เผยผลสำรวจ "ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ" อาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด

สภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป EU-ASEAN (EU-ABC) คณะทำงานหลักเพื่อภาคธุรกิจของยุโรปในภูมิภาคอาเซียน เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจครั้งที่ 6 โดยมีประเด็นสำคัญจากการสำรวจ ดังนี้

• 56% ของธุรกิจในสหภาพยุโรปมีแผนที่จะขยายการดำเนินงานในอาเซียนลดลงเล็กน้อยจาก 61% ในปี 2562

• 65% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย มีแผนที่จะขยายการดำเนินงาน

• ธุรกิจในยุโรปยังคงให้ความสำคัญกับการที่สหภาพยุโรปเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของสหภาพยุโรป - อาเซียน ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่สอง ในฐานะทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ FTA ซึ่งผลสำรวจในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน

• 59% ของผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศไทย พอใจกับมาตรการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาล

• 53% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ดีที่สุดสำหรับโอกาสทางธุรกิจ (ปี 2562 ได้ 63%)

• 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลัง พิจารณาปรับโครงสร้างซัพพลายเชน หลังเกิดเหตุการณ์ โควิด-19 โดยมีอาเซียน ยุโรป และจีนเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ

• 73% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า จะขยายระดับการค้าและการลงทุนในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2562 ได้ 84%)

• มีเพียง 2% ของผู้ตอบแบบสำรวจที่รู้สึกว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว (ปี 2562 ได้ 6%)

• มีเพียง 4% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่พบว่ากระบวนการศุลกากรของอาเซียนมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (ปี 2562 ได้ 8%)

• 62% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้งานซัพพลายเชนรายงานว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมายในการใช้งานซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพในอาเซียน (ปี 2562 ได้ 78%)

• 98% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการให้อียูเร่งการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับอาเซียนและสมาชิก (ปี 2562 ได้ 96%)

นายโดนัลด์ แคแนก ประธานสภาธุรกิจอาเซียน-สหภาพยุโรป กล่าวถึงผลสำรวจว่า การสำรวจในปีนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าอาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่ถูกมองว่ามีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แต่ทว่าก็เป็นไปดังคาดหมายว่าวิกฤติโควิด-19 ทำให้การค้าและการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งสัญญาณอ่อนตัวลง

หนึ่งในคำถามของแบบสำรวจ ถามว่า ภูมิภาคใดจะเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจต่อการลงทุนในซัพพลายเชนมากขึ้นหลังโควิด-19 ซึ่งภูมิภาคอาเซียนได้รับคะแนนสูงสุด ส่วนยุโรปและจีนก็ได้รับคะแนนโหวตจำนวนมากเช่นกัน

ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่ง คาดหวังว่าซัพพลายเชนควรได้รับการจัดโครงสร้างใหม่หลังโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และส่งผลต่อความคืบหน้าของการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า เพื่อสร้างการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอาเซียน

นายคริส ฮัมฟรีย์ ผู้อำนวยการ สภาธุรกิจอาเซียน-ยุโรป กล่าวว่า ผลการสำรวจค่อนข้างชัดเจนว่าการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนดูเหมือนจะหยุดชะงัก อาเซียนและกลุ่มประเทศต่างๆ จำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025)

ขณะนี้ ธุรกิจในยุโรปต่างกำลังปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจตามสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่ โดยไม่รอหรือหวังผลความคืบหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ธุรกิจในยุโรปมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความไม่คืบหน้าในการเจรจาการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติมกับภูมิภาคอาเซียน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพูดคุยกันมานานเกี่ยวกับการค้าเสรีระดับภูมิภาคต่อภูมิภาค ซึ่ง 8 ใน 10 เห็นว่าอาจให้ประโยชน์มากกว่าการค้าเสรีแบบทวิภาคีหลายชุด ธุรกิจในยุโรปต้องการให้คณะกรรมาธิการยุโรปเร่งการเจรจาและการมีส่วนร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชัดเจน

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

จากปาก“วีระกร คำประกอบ” คืบหน้า CPTPP ไทย ถึงไหนแล้ว

“วีระกร” เผย กมธ.พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP เสร็จแล้ว ก้าวต่อไปเตรียมเสนอสภาฯให้ความเห็นชอบก่อนชงรัฐบาลตัดสินใจ ฟันธงไม่ช้าก็เร็วไทยต้องเข้าร่วมวงแน่

จากที่สภาผู้แทนราษฎรได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ( เมื่อ 11 มิ.ย.2563) จากมีความเห็นต่างจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็นที่ยังคลุมเครือว่าไทยจะได้มากกว่าเสียจากการเข้าร่วมเจรจาเพื่อเป็นสมาชิก CPTPP จริงหรือไม่ ล่าสุดการพิจารณาศึกษาได้ครบกำหนดและสิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563

นายวีระกร  คำประกอบ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตลอดระยะเวลานานกว่า 4 เดือนเต็มที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ชุดใหญ่ และคณะอนุกรรมาธิการ 3 คณะย่อย ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตร, คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์ และสาธารณสุข และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ได้ร่วมหารือลงลึกในรายละเอียดกันอย่างเข้มข้น

ล่าสุดได้ข้อสรุปครบทุกด้านแล้ว ซึ่งจะได้จัดพิมพ์เป็นเล่มถึงผลสรุปการพิจารณาศึกษา และจะทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสมัยสามัญของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนพฤศจิกายนนี้(สภาจะเปิดวันที่ 5 พ.ย.63) หากทางกรรมาธิการได้นำรายงานเสนอต่อที่ประชุมสภาฯ และสมาชิกได้อภิปราย และลงมติให้ความเห็นชอบแล้ว ทางคณะกรรมาธิการจะได้ส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง CPTPP ที่จะมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข และเร่งรัดดำเนินการในเรื่องที่ยังเป็นข้อกังวลและจุดอ่อนของไทย ส่วนการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเจรจา CPTPP นั้นอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจ

สำหรับเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากในคณะกรรมาธิการก่อนหน้านี้ อาทิ ในประเด็นด้านเมล็ดพันธุ์และการเกษตร ตามข้อตกลง CPTPP ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991)  ทำให้เกิดข้อกังวลใจของเกษตรกรว่าจะสามารถนำพันธุ์พืชที่ได้จากการเพาะปลูกพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองเพื่อใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกในฤดูกาลถัดไปได้หรือไม่นั้น จากที่กมธ.ได้ศึกษาและได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง UPOV เป็นที่ชัดเจนว่าเกษตรกรสามารถทำได้ หากใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการเพาะปลูกเอง นำไปปลูกต่อไม่มีปัญหา และการปลูกเพื่อขายยังชีพก็สามารถทำได้ เพราะไม่กระทบบริษัทผู้ผลิตเจ้าของพันธุ์หรือเจ้าของสิทธินักปรับปรุงพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นนำพันธุ์เขาไปพัฒนาต่อและขายแข่งเชิงพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ และอาจถูกฟ้องร้องได้หากไม่ได้รับอนุญาต

“ตั้งแต่มี UPOV 1991 มา 30 ปี ไม่ปรากฏมีการฟ้องร้องเกษตรกรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น  ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่เขาอยากให้เราเข้าร่วม เขาบอกไม่เคยมีใครฟ้องร้องเกษตร เพราะถ้าไม่รุนแรงจริง เขาฟ้องไปมีแต่จะเสีย คนก็จะไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์ของเขา ดูแล้วเกษตรกรไม่น่าเป็นห่วง ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่า หากไม่นำเมล็ดพันธุ์ที่เจ้าของสิทธิยังได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาขายแข่งเชิงการค้าเขาคงไม่ฟ้อง ดังนั้นไม่ต้องกังวล”นายวีระกร กล่าว

ส่วนประเด็นด้านการเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง เช่น การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อี-คอมเมิร์ซ) ซึ่งเป็นข้อบทหนึ่งในความตกลง CPTPP  ซึ่งปัจจุบันแม้ไทยมีกฎหมายอี-คอมเมิร์ซบังคับใช้แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงยังไม่สามารถบังคับใช้ได้กับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ในเรื่องการจัดเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ได้ รวมถึงได้แนะนำให้เพิ่มพิกัดศุลกากรของไทยให้มีความละเอียดขึ้นอีก 2 หลัก เพื่อให้สามารถแยกแยะและบริหารจัดการสินค้านำเข้าได้ละเอียดขึ้นว่าเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้งาน หรือเป็นสินค้าเก่าที่ถูกใช้งานแล้ว เพราะในความตกลง CPTPP ระบุ สินค้าที่ผ่านการใช้งานแล้ว ต้องเปิดให้นำเข้าจากประเทศสมาชิกเข้ามาได้ด้วย การเพิ่มพิกัดศุลกากรอีก 2 หลักจะช่วยเพิ่มความละเอียดในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามา

“ที่เรามองเลยไปข้างหน้าก็คือ ไม่ช้าก็เร็ว ไทยต้องเข้าร่วมเอฟทีเอมาตรฐานสูงอย่าง CPTPP หรือไม่ว่าจะเป็นไทย-อียูที่เรากำลังจะฟื้นการเจรจา ถามว่าทำไมเราต้องเข้า ตอบได้เลยวันนี้ประเทศไทยล้าหลังไปมาก เพราะตั้งแต่ปี 2556 หรือกว่า 7 ปีมาแล้ว ไทยไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาที่จะเข้าสู่เอฟทีเอใหม่ ๆ เลย  เรายังย่ำอยู่กับเอฟทีเอที่มีอยู่กับ 18 ประเทศ ขณะที่ช่วง 6-7 ปีมานี้ เวียดนามกระโดดข้ามเราไปแล้ว การลงทุนโดยตรงจากประทศ (FDI) ก็แซงหน้าไทยไปแล้ว จากเขามีเอฟทีเอกับ 53 ประเทศ ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนเขาก็ต้องมองว่าจะลงทุนผลิตในไทยหรือเวียดนามจะดีกว่ากัน ถ้าผลิตในเวียดนามเขาสามารถผลิตสินค้าและเอาไปขายได้โดยไม่ต้องเสียภาษีใน 53 ประเทศ แต่ถ้าผลิตในไทยสามารถส่งไปขายโดยไม่มีภาษีเพียง 18 ประเทศ”

ดังนั้นมองว่าในอนาคตไม่ช้านี้ ไทยต้องมีเอฟทีเอกับคู่ค้ามากกว่าในปัจจุบัน และเอฟทีเอที่ไทยจะเข้าส่วนใหญ่ก็พัฒนาเป็นเอฟทีเอที่มีมาตรฐานสูง เพราะฉะนั้น อยากจะบอกว่าอย่าไปกังวลเกินเหตุ กรรมาธิการฯมองว่า ประเทศไทยเราต้องเตรียมความพร้อมโดยเร็ว ซึ่งคำว่า Hi-Standard ส่วนใหญ่จะหมายถึงการปกป้องผู้ผลิตพันธุ์พืชใหม่ การปกป้องผู้ที่มีการวิจัยและพัฒนา(อาร์ แอนด์ ดี) ที่ดีกว่า

“อย่างไรก็ดีจากที่ประมวลภาพรวมแล้ว พบว่าการทำอาร์ แอนด์ ดี ของไทยเพื่อแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในโลกมีอยู่เซ็กเตอร์เดียวที่ไทยสู้ได้ และเราสามารถยืนอยู่ในโลกของความเป็นเอฟทีเอมาตรฐานสูงได้คือ อาร์ แอนด์ ดีทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตร ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนงานวิจัยด้านนี้ ไม่ใช่มาลดทอนงบด้านวิจัยลงทุกปี อะไรที่เป็นการวิจัยขึ้นหิ้งต้องลดลง”

นายวีระกร กล่าวอีกว่า ภาครัฐหลาย ๆ ประเทศในโลก ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่น พันธุ์พืชของญี่ปุ่นที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เป็นพันธุ์พืชที่รัฐบาลเขาผลิตเองประมาณ 60% หรือเกือบ 70% เพราะฉะนั้นไทยต้องพัฒนาพันธุ์พืชของเราจนเป็น “หนึ่ง”ให้ได้ หรืออย่างน้อยต้องสู้เขาได้ เมื่อเราเข้าสู่เอฟทีเอมาตรฐานสูง แทนที่เราไปกลัวเขา เขาต้องกลัวเรา จากเราจะมีพันธุ์ที่เหนือกว่าคนอื่น หากเร่งงานวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์พืช หรืองานวิจัยที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพืชต่าง ๆ  ที่เราสู้ได้ เพราะไทยมีนักวิจัย และมีความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น หากสามารถพัฒนาพันธุข้าวที่ให้ผลิตสูงถึง 1,500 กิโลกรัมต่อไร่ได้ การเข้าร่วมเป็นภาคี UPOV 1991 ก็ไม่ต้องกลัว ในทางตรงข้ามเราสามารถเอาพันธุ์ข้าวไปผลิตเพื่อการค้าและขายทั่วโลกได้

“ล่าสุดที่เราประชุมกันร่วมกับสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณ(8 ต.ค.63) ทางกรรมาธิการฯ ได้ขอความร่วมมือทั้งสองหน่วยงาน ต้องเร่งอัดฉีดงบประมาณเพื่องานวิจัยด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น ส่วนงานวิจัยด้านอื่นให้ไปกระตุ้นภาคเอกชนให้เป็นคนทำดีกว่า”

นายวีระกร กล่าวตอนท้ายว่า ไทยไม่ควรกังวลเรื่อง CPTPP มาก เพราะหากในประเด็นใดที่มีความอ่อนไหว ไทยสามารถเจรจากับประเทศสมาชิกเดิม เพื่อขอผ่อนผันขยายเวลา หรือยกเว้นการบังคับใช้ชั่วคราวได้ เช่นในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่ในความตกลง CPTPP ต้องเปิดให้ผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกเข้าประมูลแข่งขันได้อย่างเสรีและเท่าเทียมกัน หากเห็นว่าจะกระทบผู้ประกอบการในประเทศจะเสียเปรียบมากก็อาจขอขยายเวลาการบังคับใช้ความตกลงในประเด็นนี้ได้ ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกัน

“มองไปข้างหน้าหากรัฐบาลเห็นควรเข้าร่วมเจรจา CPTPP และเมื่อเจรจาแล้วเสร็จก็ต้องนำเสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมความตกลงอีกครั้ง แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กรรมาธิการฯได้ศึกษาไว้ ทั้งในเรื่องที่เป็นข้อกังวล หรือข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข ที่เมื่อเข้าร่วมความตกลงแล้วเราต้องได้มากกว่าเสีย และไม่เสียเปรียบเกินไป หากเป็นไปตามแนวทางที่เราศึกษาก็มีโอกาสที่สภาจะอนุมัติให้เข้าร่วมความตกลงได้ในอนาคต”

อนึ่ง ความตกลง CPTPP  ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยสมาชิกได้ลงนามความตกลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี  และความตกลงได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่<วันที่ 30 ธันวาคม 2561>วันที่ 30 ธันวาคม 2561

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

จุรินทร์ นำ พาณิชย์ยกระดับเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจรอบอ่าวตังเกี๋ย -จีน

“จุรินทร์”เตรียมเข้าประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ผ่านระบบทางไกล15ต.ค. เปิดทางเชื่อมโยงการค้าการลงทุนของไทยผ่านอ่าวเป่ยปู้

นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมปาฐกถา พิเศษในพิธีเปิดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ ครั้งที่ 11 (11th Pan-Beibu Gulf Economic Cooperation Forum) ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 15 ต.ค. 2563 ที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน โดยนายจุรินทร์จะเข้าร่วมโดยใช้ปาฐกถาผ่านระบบการประชุมทางไกล

นางมัลลิกา กล่าวว่า  นายจุรินทร์ให้ความสำคัญในการหารือเรื่องท่าเรือสากลการเสริมสร้างระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ในยุคสมัยใหม่ของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจนี้ ซึ่งที่ประชุมจะได้มีการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับ ทางทะเลสายใหม่ หรือ New International Land-Sea Trade Corridor ความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือและ เส้นทางขนส่งทางบก ความร่วมมือและการพัฒนาด้านการขนส่งในหลายรูปแบบ และการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการ ทางศุลกากรระหว่างประเทศสมาชิก

" การพัฒนาความเชื่อมโยงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ของไทยไปจีนได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงของประเทศ “

ทั้งนี้นโยบายไทยเราพร้อมใช้จุดแข็งด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศร่วมมือกับจีน ในการขยายความร่วมมือด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านการขนส่งทางทะเล และการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง ท่าเรือของประเทศรอบอ่าวและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาด ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งปัจจุบันมีการยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกันกว่า90 %ของรายการ สินค้าทั้งหมดแล้ว"

นางมัลลิกา กล่าว นายจุรินทร์ ให้ความสำคัญความร่วมมือนี้เพื่อพัฒนาให้อ่าวเป่ยปู้หรืออ่าวตังเกี๋ยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อขยายการค้าการลงทุนระหว่าง ประเทศสมาชิก เน้นการหารือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการขนส่งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างท่าเรือของประเทศสมาชิก ซึ่งนายจุรินทร์ เห็นว่าจีนโดยรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีเป็นเจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้มาแล้ว 10 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกับอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีนใต้ ได้แก่ จีน โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กว่างซี) มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลไห่หนาน และ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไทย และจากนโยบายของนายจุรินทร์ที่ผ่านมามีผู้แทนระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนและประเทศสมาชิกในภูมิภาคอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ จีนยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย การค้าระหว่างไทยกับจีนเมื่อปี 2562 มีมูลค่า 79,500 ล้านดอลลาร์คิดเป็น16.4 %สินค้าส่งออกสาคัญ เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 50,300 ล้านดอลลาร์ สินค้าเข้ามา เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและ ส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อุตฯโอนอำนาจคุมโรงงานให้อปท. จัดการตรวจสอบลดผลกระทบชาวบ้าน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การถ่ายโอนภารกิจดูแลโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยานั้น เป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ. โรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการกระจายอำนาจการบริหารในส่วนที่จำเป็นแก่ท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน และดูแลประชาชน ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ภายใต้ 3 ภารกิจหลักที่สำคัญ ได้แก่ การกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1และจำพวกที่ 2 การรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และการตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อน ตรวจสอบการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย

“การถ่ายโอนภารกิจดูแลโรงงานดังกล่าวเป็นไปตามหลักการของกฎหมาย และถือเป็นการให้อิสระและอำนาจแก่ อปท. ในการควบคุมดูแลกิจการโรงงานในพื้นที่ การตัดสินใจและตรวจสอบกรณีโรงงานมีปัญหา หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ กำกับดูแล และตรวจสอบโรงงานได้ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรอ. ยังมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาทางเทคนิควิชาการ ดำเนินการฝึกอบรมจนกว่า อปท. จะมีความพร้อมและเข้าใจขอบเขตในการรับการถ่ายโอนภารกิจ จนสามารถปฏิบัติภารกิจให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ดีขึ้น มีคุณภาพมาตรฐาน และประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานงานเพื่อเป็นหลักการบริการสาธารณะให้มีคุณภาพอีกด้วย” นายสุริยะ กล่าว

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 พบว่า ในปี 2563 มีโรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 ที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้า หรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม ที่เข้าข่ายการโอนภารกิจดูแลโรงงานให้ไปอยู่ในการกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยา ทั้งสิ้น 2,200 โรงงานแบ่งเป็น โรงงานในกรุงเทพมหานคร 500 โรงงาน และโรงงานในจังหวัดต่างๆ อีก 1,700 โรงงาน โดยกรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยา จะมีหน้าที่รับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 เก็บค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับโรงงานจำพวกที่ 2 กำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2 รวมถึงตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อน และตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว กรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จึงมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยโรงงานให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปีนี้ได้มีการถ่ายโอนภารกิจดูแลโรงงานให้ อปท. ไปแล้ว 2,200 โรงงาน และในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมได้จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยโรงงานและการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ให้กับข้าราชการกรุงเทพมหานคร 50 เขต รวมทั้งสิ้น200 คน และในเดือนกันยายน ได้มีการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้ระบบสารสนเทศ สำหรับการรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ให้กับข้าราชการกรุงเทพมหานคร 50 เขตรวมทั้งสิ้น 100 คน โดยในปี 2564 กรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ยังได้มีการเตรียมความพร้อมในการจัดการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้กับกรุงเทพมหานคร เทศบาล และเมืองพัทยาอีกด้วย

จาก https://www.naewna.com วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ลั่นเป็น “เนวิเกเตอร์ เศรษฐกิจการเกษตร”

 “ฉันทานนท์” มอบนโยบายขับเคลื่อนภารกิจ ชี้ สศก. ต้องเป็นผู้นำทาง  เสมือน “เนวิเกเตอร์ เศรษฐกิจการเกษตร” ที่รวดเร็ว แม่นยำ

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก. ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ ภายในปี 2565  จำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทัน  ต่อการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ  และด้วยบทบาทภารกิจสำคัญยิ่ง ที่รับผิดชอบเป็นหน่วยงานจัดทำ Big Data  ด้านการเกษตรของประเทศ  จึงต้องพร้อมทั้งสมรรถนะ และศักยภาพบุคลากร เพื่อให้องค์กรเติบโตสู่ Digital Transformation ในยุค New Normal

“ปัจจุบัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกได้ก้าวไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ทุกองค์กร และพวกเราทุกคน จึงต้องก้าวให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะภาคเกษตร ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งด้านภัยพิบัติธรรมชาติ โรคระบาดคนและสัตว์ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ  เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีนวัตกรรม ดังนั้น การดำเนินงานของ สศก. ต้องเน้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม มาประยุกต์ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  และในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาภาคเกษตรและศูนย์กลางสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ  จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้นำทาง หรือ ‘เนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร’ เพื่อชี้แนะข้อมูล ทิศทางแนวโน้มภาคเกษตร ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง” เลขาธิการ สศก. กล่าว

สำหรับนโยบายการปฏิบัติงานที่นายฉันทานนท์ ได้วางแนวทางไว้ให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ในโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สศก. คือ การมุ่งเน้นให้ สศก. ขับเคลื่อนงานทั้งด้านข้อมูล วิจัย นโยบาย ประเมินผล และด้านบริหาร อย่างครอบคลุม   โดยต้องเป็นหน่วยงานที่พัฒนา เตรียมพร้อม และสามารถรับมือต่อทุกสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อทำหน้าที่เป็นเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตรให้แก่ประเทศด้วยความรวดเร็ว แม่นยำ ทั้งภารกิจ 5 ด้าน ดังนี้

ด้านข้อมูล พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศให้รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ นำไปใช้ในการวิเคราะห์ วิจัย จัดทำนโยบายได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งการจัดทำ Big data ต้องพัฒนาไปสู่ ระบบการประมวลผลที่มีการวิเคราะห์เชิงลึก (Artificial Intelligence: AI) ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าใจง่าย และนำไปใช้ประโยชน์ได้

ด้านวิจัย ใช้ประโยชน์ได้ มีผลกระทบต่อคนในวงกว้าง สนองต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน

ด้านนโยบาย จัดทำและเสนอโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนองต่อความต้องการและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

ด้านประเมินผล ประเมินผลตามข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน

ด้านบริหาร จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงให้ทุกภาคส่วนรับรู้ พร้อมทั้งเสนอแนะ

แนวทางในการแก้ไขและพัฒนาอย่างชัดเจนและปฏิบัติได้จริง  มีการทำงานรวดเร็ว แม่นยำ  มีประสิทธิภาพ  มีความเป็นทีม ทั้งภายในและภายนอก สศก.  ที่สำคัญคือต้องพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ มีความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของ สศท. 1-12 ให้สามารถทำงานแทนส่วนกลางได้  และไม่ลืมในด้านคุณธรรม จริยธรรม เพื่อมุ่งสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร

ทั้งนี้ นอกจากนโยบายแนวทางปฏิบัติงานที่ได้มอบให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ดังกล่าวแล้ว สศก. ยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับนโยบายหลักของรัฐบาล รวมถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความมั่นคง เศรษฐกิจการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไปสู่การพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ จ่อหลุด31บ./ดอล

เงินบาทไทยจ่อหลุด 31.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะ 31.05 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาทยอยแข็งค่าขึ้น แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 31.05 บาทต่อดอลลาร์ โดยการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ เผชิญแรงเทขาย หลังรายงานข่าวระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ สามารถออกจากโรงพยาบาล กลับมากักตัวต่อที่ทำเนียบขาว 

ประกอบกับตลาดเริ่มมีความหวังอีกครั้งในเรื่องมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐ จากโควิด-19 หลังประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดโอกาสสำหรับการผ่านบางมาตรการออกมาก่อนเลือกตั้ง นอกจากนี้ภาพรวมสกุลเงินเอเชียยังได้อานิสงส์เพิ่มเติมในช่วงปลายสัปดาห์ตามสัญญาณการแข็งค่าของเงินหยวนหลังตลาดการเงินจีนกลับมาเปิดทำการอีกครั้งหลังจากช่วงวันหยุดยาว

ทั้งนี้ในวันศุกร์ (9 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.05 บาทต่อดอลลาร์เทียบกับระดับ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (12-16 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ การเจรจา BREXIT กำหนดการดีเบตรอบสองของนายโดนัลด์ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน และบทสรุปของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐ

จาก https://www.dailynews.co.th   วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ดึงงานวิจัยลงจากหิ้ง จัดการน้ำอีอีซี

สทนช.ดึงงานวิจัยลงจากหิ้ง หนุนจัดการน้ำอีอีซี แนะกำหนดเกณฑ์การใช้น้ำในแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน เอื้อต่อการนำไปปฏิบัติ

วันที่ 9 ต.ค. 2563 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาของแผนงานวิจัยการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากทีมวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ โดยมีผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สทนช. ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก องค์การจัดการน้ำเสีย กรมชลประทาน การประปาส่ววนภูมิภาค การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมรับฟังและให้ข้อคิดเห็น ว่า ขณะนี้แผนงานวิจัยดังกล่าวดำเนินการในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีประเด็นการศึกษาหลัก ๆ ได้แก่ การศึกษาสมดุลน้ำและมาตรการลดการใช้น้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี   การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม แผนงานวิจัยการจัดการความต้องการใช้น้ำ และการป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ

สำหรับการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ทีมนักวิจัยจะนำไปปรับปรุงเพื่อให้งานวิจัยมีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เช่น การประเมินสมดุลน้ำ แผนที่ขาดน้ำและแผนจัดสรรน้ำที่เหมาะสม แผนป้องกันและจัดการความขัดแย้งในการใช้น้ำระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ แผนจัดการน้ำด้านอุปสงค์ (Demand Side Management) รวมทั้งขอเสนอเชิงนโยบาย กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่มีหลายภาคส่วนเกี่ยวข้อง การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องการประหยัดน้ำ การใช้น้ำในแต่ละกิจกรรมที่มีความแตกต่างกันให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการจัดการน้ำด้านอุปสงค์สู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง 

“พื้นที่อีอีซีมีแนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นการนำเสนอผลงานวิจัยในวันนี้ สทนช.ต้องการนำผลงานวิจัยที่ได้ไปต่อยอดปรับใช้ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ สามารถกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างสมดุลการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยจะนำเสนอผลงานวิจัยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ  คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาซึ่งคาดว่าในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป” ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พาณิชย์กางแผนเจรจาFTA เน้นรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่

พาณิชย์ กางแผนการเจรจาFTA ปี 2564 เน้นรักษาตลาดเดิมเพิ่มตลาดใหม่ เดินหน้าเตรียมการฟื้นเจรจา FTA กับอียูและเอฟต้า และเปิดเจรจา FTA ใหม่ กับสหราชอาณาจักร สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และอาเซียน-แคนาดา เร่งรัดเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา พร้อมผลักดันลงนาม RCEP พ.ย. นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการทำงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ของกรมใน ปี 2564 โดยจะเร่งรัดการเจรจา FTA ที่ค้างท่อ ตลอดจนรักษาตลาดเดิม และขยายตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยกำหนดแผนงานสำคัญ ได้แก่ การลงนามและเร่งรัดการบังคับใช้ความตกลง RCEP การเตรียมการฟื้นหรือเปิดเจรจา FTA การเร่งรัดการเจรจาที่คงค้าง ยกระดับและปรับปรุง FTA กรอบอาเซียน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

สำหรับการลงนามและเร่งรัดการบังคับใช้ความตกลง RCEP ไทยจะร่วมกับสมาชิก RCEP ผลักดันให้มีการลงนามความตกลงฯ ในเดือน พ.ย. 63 และจะเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้ไทยสามารถให้สัตยาบันได้ในปี 2564 อีกทั้ง กรมฯ มีแผนเตรียมการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) โดยได้มอบสถาบันวิจัยศึกษาประโยชน์และผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ปลายเดือน ต.ค. 63 พร้อมเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องความพร้อมและท่าทีการเจรจาของไทย ตั้งเป้าเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเดือน ธ.ค. นี้ และเตรียมการฟื้นเจรจา FTA ไทย – สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ที่ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปีหน้า และจะเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องความพร้อมและการเตรียมการของไทย

นอกจากนี้กรมฯ ยังมีแผนเตรียมการสำหรับการเจรจา FTA กับประเทศและกลุ่มประเทศหลักๆ ได้แก่ FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK) ซึ่งคาดว่าการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงต้นปี 2564 และจะเปิดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมหารือเบื้องต้นกับ UK เพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบายต่อไป สำหรับ FTA ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย คีร์กิซสถาน และรัสเซีย ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบเช่นกัน คาดว่าจะเสร็จและเผยแพร่ช่วงปลายปี 2564 ขณะเดียวกันจะรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหารือกับ EAEU เพื่อรวบรวมข้อสรุปเสนอระดับนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ จะหารือความเป็นไปได้เรื่องการเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา เดือน ม.ค. 64 เพื่อนำไปสู่การจัดทำเอกสารระบุขอบเขต ความคาดหวัง และข้อบทที่คาดว่าจะบรรจุไว้ในความตกลง FTA เพื่อเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา พิจารณาในเดือน ส.ค. 64 ว่าจะเปิดการเจรจาหรือไม่

ทั้งนี้ ยังเร่งรัดการเจรจา FTA ที่คงค้างอยู่ 3 ฉบับ ที่ไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ให้คืบหน้าและได้ข้อสรุป พร้อมยกระดับและปรับปรุงความตกลง FTA กรอบอาเซียน ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ FTA อาเซียน-จีน FTA อาเซียน-อินเดีย FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมในรายการสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาด และยกระดับความตกลงข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัย สอดรับกับสภาพแวดล้อมและรูปแบบทางการค้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

สำหรับการประชุมระดับทวิภาคี และการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้ากับประเทศคู่ค้า เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่างๆ มีแผนจะประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) กับประเทศคู่ค้า ได้แก่ อาเซียน อาทิ กัมพูชา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เอเชีย อาทิ จีน บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และภูฏาน และภูมิภาคอื่นๆ เช่น รัสเซีย สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) และสหราชอาณาจักร เป็นต้น ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะจัดในรูปแบบการประชุมทางไกล

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู ชิลี อินเดีย ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยในปี 2562 มูลค่าการค้าของไทยกับ 18 ประเทศ อยู่ที่ 302,991 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 62.8% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก สำหรับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.- ส.ค.) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศ มีมูลค่า 179,550.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วน 62.3% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกมูลค่า 92,866.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 86,683.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

 จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

นักลงทุนห่วงเศรษฐกิจถดถอย

FETCO เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนซบเซา ชี้นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐ แต่กังวลการถดถอยของเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองในประเทศ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือน หรือเดือนธันวาคม 2563 อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง อยู่ที่ระดับ 67.44 โดยนักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ, สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ

ขณะที่ ความเชื่อมั่นรายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ในระดับ“ทรงตัว” ที่ 80.30 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในระดับ “ทรงตัว” เท่าเดิมที่ 100.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 68.42 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ “ซบเซา” ที่ 42.86 สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม(FOOD) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK)

“ดัชนีหุ้นไทยเดือนกันยายน 2563 ปิดที่ 1,237.04 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 5.62% จากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน อาทิ  ข่าวการหยุดชะงักของโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีในหลายประเทศปรับลงแรง ข่าวสถาบันการเงินของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% ไปจนถึงปี 2566 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ"

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่  การกลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งของไวรัสโควิด-19 จนต้องกลับมาใช้มาตรการ lock down ในหลายประเทศ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ - จีนที่เพิ่มมากขึ้นการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่ใกล้เข้ามา ส่วนปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ ผลจากการอนุมัติให้บุคคลเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รวมถึงเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ร้อนแรงขึ้น และผลจากการกลับมาเริ่มใช้เกณฑ์ปกติ Short Selling Ceiling & Floor ของ SET และ TFEX”

จาก https://www.thansettakij.com  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กสอ.หนุนสินค้าเกษตรแปรรูป มั่นใจสิ้นปีมูลค่าโตแตะ1แสนล้าน

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า กสอ.มุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปให้ได้รับมาตรฐานสากลโดยมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐานสากลจำนวน 10 กิจการ พร้อมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการเกษตรจำนวน 30 ราย ร่วมกับบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทมหรือ เทสโก้ โลตัส บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล หรือ ท็อปส์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้แทนจากห้างสรรพสินค้าจะพิจารณาจากคุณภาพสินค้ากระบวนการผลิตและการได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อการันตีคุณภาพผลิตภัณฑ์ พร้อมหารือโดยตรงกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกัน สร้างรายได้และขยายฐานลูกค้า

ที่ผ่านมากรมได้จัดกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล ทั้งอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำระบบมาตรฐานสากลเข้าไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจขยายโอกาสทางการตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ประเมินความพร้อมเพื่อตรวจประเมินขอการรับรองมาตรฐานแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ มีความพร้อมสำหรับจัดทำระบบมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ ได้เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้ได้รับมาตรฐานระบบต่างๆ อาทิ มาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์หรือ GMPมาตรฐานควบคุมดูแลความปลอดภัยในทุกกระบวนการ

ผลิตอาหาร หรือ HACCP มาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร หรือ BRC มาตรฐานองค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ หรือ ISO 9001 มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001 มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร หรือISO 22000 และมาตรฐานสากลเพื่อการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หรือ ISO 45001ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหมดได้รับการตรวจประเมินจากหน่วยงานให้การรับรอง (Third Party Audit)

โดยในปี 2564 กรมได้ตั้งเป้าขยายการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้รับมาตรฐานสากลในทุกภูมิภาค โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ทั้ง 11 ศูนย์ ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม ตั้งเป้าหมายส่งเสริมผู้ประกอบการ 100 กิจการ ทั้งนี้ เมื่อได้รับมาตรฐานสากลแล้ว จะช่วยให้การจำหน่ายสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีผลต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค

ภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มสินค้าแปรรูป ตั้งแต่ช่วงต้นปี จนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2563 ;ธนาคารแห่งประเทศไทย) มีมูลค่าตลาดอยู่ที่83,009.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,139.16 ล้านบาท จากเดือนมกราคม 2563และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการ และด้วยการดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสอดรับความต้องการของตลาดในทั่วทุกมุมโลก คาดว่าสิ้นปี 2563 มูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปจะเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

FAOชื่นชมความสำเร็จโครงการหมอดิน ยกเป็นโมเดลต้นแบบขยายไปทั่วโลก

 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า นายเอดัวร์โด แมนซูร์ (Eduardo Mansur) ผู้อำนวยการด้านดิน น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แสดงความชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทย และยังขอบคุณกรมพัฒนาที่ดินในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินโครงการหมอดินของไทยจนนำไปสู่โครงการหมอดินโลก(Global Soil Doctors Programme)และ FAO ยังนำชุดทดสอบดินที่พัฒนาโดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(ศูนย์ AIC กรุงเทพมหานคร) และเอกสารการถ่ายทอดความรู้ด้านดินของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้นแบบขยายโครงการหมอดินโลกไปประเทศทั่วโลกต่อไป

ทั้งนี้ เป็นรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม กรณี FAO และสมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership หรือGSP) จัดงานเปิดตัวโครงการหมอดินโลก (Global Soil DoctorsProgramme) โดย FAO นำประสบการณ์และความสำเร็จของ “โครงการหมอดินอาสา” ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรฯไปขยายโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คนจากทั่วโลก

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFP และประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก(Committee on World Food Securityหรือ CFS) กล่าวถึงความสำคัญของโครงการหมอดินกับความมั่นคงอาหารและเกษตรยั่งยืน โดยหมอดินอาสามีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านดินแก่เกษตรกร องค์ความรู้ของหมอดินเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่มานาน ปัจจุบันมีหมอดินอาสา 80,000 คนทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในระดับหมู่บ้าน ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินเบื้องต้น เก็บตัวอย่างดิน และช่วยสำรวจจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านคุณภาพดินระดับหมู่บ้าน หมอดินอาสาของไทยยังน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ทำเกษตรในพื้นที่ของตนจนเกิดผลสัมฤทธิ์ โดย FAO ส่งเจ้าหน้าที่

มาร่วมศึกษาดูงานโครงการหมอดินอาสาของไทย พร้อมนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและการเกษตรที่กรมพัฒนาที่ดินเผยแพร่ให้เกษตรกรไปศึกษาและขยายผลโครงการเป็นเครือข่ายหมอดินระดับโลก

นายอลงกรณ์กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่ FAO ให้การยกย่องการบริหารจัดการดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้โครงการหมอดินอาสาของกระทรวงเกษตรฯจนนำไปเป็นต้นแบบให้ประเทศต่างๆทั่วโลกและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ได้ใช้นโยบายเกษตร 4.0 และเกษตรกรรมยั่งยืนยกระดับอัพเกรดระบบ Agimap โดยร่วมกับสวทช.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการดินโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ถวายเหรียญ นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และได้เสนอให้ วันที่5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก ผ่าน FAO โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations-UN)

จาก https://www.naewna.com วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อีอีซีหนุนสะพานไทยเชื่อมโลก หอการค้าบูมเศรษฐกิจอ่าวไทย-อันดามัน

“หอการค้า” หนุนบิ๊กโปรเจ็กต์อีอีซี เชื่อมโยงแหลมฉบังไทย-นานาชาติ ก่อสร้างสะพานไทย-ท่าเรือบก-จุดบรรจุและกระจายสินค้า มั่นใจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2563 พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และได้หารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ประกอบด้วย 3 โครงการสำคัญ ได้แก่

1.โครงการท่าเรือบก (Dry Port) โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ สกพอ.จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่งคุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนย์ปิดอว์ มัณฑะเลย์ (พม่า) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) ซึ่งคาดว่าเมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์จะเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู) ต่อปี

2.โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land Bridge)สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC(บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาลและศรีลังกา)

โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และยังมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จ.ชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้า เชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่ ทางหลวง motorway เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย

3.โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซีไปสู่เอสอีซี โดยก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอ่าวไทยตอนบนระยะทาง 80-100 กม. นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในโอกาสที่ร่วมประชุมกพอ. ว่า การพัฒนาและสร้างความเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติถือเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะจะมีส่วนส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว

โดยเฉพาะโครงการสะพานไทย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมเส้นทางบกและเส้นทางขนส่งทางรถไฟ ระหว่างแหลมฉบังฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก โดยพาดผ่านอ่าวไทยไปยัง จ.เพชรบุรี ระยะทาง 86 กม. หรือเชื่อมไปยัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง110 กม. ซึ่งจะช่วยลดเวลในการเดินทาง1 ชั่วโมง-1ชั่วโมงครึ่ง

โดยจากนี้ยังต้องมาเลือกว่าเส้นที่จะตัดไปที่ จ.เพชรบุรี หรือประจวบคีรีขันธ์ และต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ จัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลา 15 ปี หากสำเร็จจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว เป็นการกระจายความเจริญไปทั้งสองฝั่ง

“วันนี้คุยกันถึงแนวทางเชื่อมโยงไทยกับนานาชาติ ซึ่งอีอีซีให้รายละเอียดทั้งการพัฒนาสะพานไทย เชื่อมเส้นทางขนส่งทางบก เส้นทางรถไฟจากแหลมฉบังจะเชื่อมต่อลงมาที่ชุมพร ระนอง และส่งผ่านไปยังเมียนมา การทำดรายพอร์ตถือว่าเป็นไอเดียที่ดี และยังมีการพัฒนาจุดบรรจุและกระจายสินค้า 3 จังหวัดคือ โคราช ขอนแก่น นครสวรรค์ ซึ่งจะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ระยะสั้นอาจปรับตัวแข็งค่าได้ต่อด้วยแรงหนุนของสกุลเงินเอเชียที่แข็งค่าเป็นส่วนใหญ่

อัตราแลกเปลี่ยนค่เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.21 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.10-31.30 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไม่ได้มีปัจจัยใหม่ โดยมีเพียงแรงซื้อดอลลาร์ของนักเก็งกำไรในประเทศประคองไว้ ในระยะสั้นจึงอาจเห็นเงินบาทปรับตัวแข็งค่าได้ต่อด้วยแรงหนุนของสกุลเงินเอเชียที่แข็งค่าเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงถัดไป วัคซีนต้านไวรัสยังคงเป็นปัจจัยหลักที่เราเชื่อว่าสามารถหนุนให้สกุลเงินเอเชียแข็งค่าต่อได้ในกรณีที่การวิจัยสำเร็จและสามารถจ่ายวัคซีนได้ภายในช่วงไตรมาสสี่นี้

ตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นถึง 1.7% ด้วยความหวังว่าอาจมีเซอร์ไพรซ์จากฝั่งการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐได้ สวนทางกับตลาดหุ้นฝั่งยุโรปที่บวกสลับลบ เมื่อการเจรจา Brexit ไม่คืบหน้า และฝั่งอังกฤษขู่ที่จะออกจากการเจรจาถ้าไม่มีข้อสรุปในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตามตลาดเงินยังคงเป็นกระแสการอ่อนค่าของดอลล่าร์ 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก สวนทางกับบอนด์ยีลด์สหรัฐที่ปรับตัวขึ้น 0.78% ชี้ว่าตลาดฟื้นตัวกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) อีกครั้ง แต่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นเล็กน้อยมาที่ระดับ 1888 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ตัดสินใจว่านโยบายการคลังครั้งนี้จะเป็นบวกหรือลบกับสภาพคล่อง บวกกับการเมืองที่ไม่แน่นอนภาพตลาดจึงจะผันผวนในลักษณะนี้ไปจนถึงช่วงเลือกตั้งในต้นเดือนหน้า

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 8 ตุลาคม 2563

‘พลังงาน’ จับมือ ‘สหราชอาณาจักร’ พัฒนาแบบจำลอง 2050 Calculator ของประเทศไทย

สนพ.จับมือ รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมลงนามพัฒนาแบบจำลอง 2050 Calculator ของประเทศไทย หวัวใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสาขาพลังงาน

นายวัฒนพงษ์  คุโรวาทผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงานและ H.E. Brian Davidson  เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(Memorandum of Understanding: MoU) ในการ “พัฒนาแบบจำลอง2050 Calculator ของประเทศไทย” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงานและThe United Kingdom Department for Business, Energy and Industrial Strategy (BEIS) ของรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาแบบจำลอง2050 Calculator ให้กับประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน โดยคณะทำงานประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้สนพ. เป็นหน่วยประสานงานในการดำเนินงานรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการพลังงานและคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้มอบหมายให้สนพ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศสาขาพลังงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ตามNDC Roadmap (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021 -2030) ซึ่งสนพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปีพ.ศ. 2564 – 2573 สาขาพลังงานแล้วเสร็จในปี2561 และได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเมื่อวันที่19 พฤศจิกายน2561 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการดังกล่าวและมอบหมายให้สนพ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ แบบจำลอง2050 Calculator ของประเทศไทย ที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสนพ. ทั้งในส่วนของการติดตามและประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงานรวมทั้งจะสามารถนำมาเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาการจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในอนาคตและช่วยเพิ่มศักยภาพบุคลากรของสนพ. ให้มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลอุปสงค์และอุปทานด้านพลังงานเชื่อมโยงกับงานด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาปรับปรุงแบบจำลองให้สอดคล้องและรองรับกับบริบทที่เปลี่ยนไปได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 8 ตุลาคม 2563

FAO เปิดตัว “หมอดินโลก”

"อลงกรณ์" เผย เอฟเอโอ ชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทย เปิดตัวโครงการหมอดินโลก ใช้โมเดล "หมอดินอาสา" ไทยเป็นต้นแบบทั่วโลก

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงวันนี้(7ต.ค.)ว่า นาย เอดัวร์โด แมนซูร์(Eduardo Mansur)ผู้อำนวยการด้านดิน น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO )ได้แสดงความชื่นชมในความสำเร็จของประเทศไทย และยังแสดงความขอบคุณต่อกรมพัฒนาที่ดินในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินโครงการหมอดินของไทยจนนำไปสู่โครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) และFAO ยังได้นำชุดทดสอบดินที่พัฒนาโดยคณาจารย์ของมหาวิทยาลัเกษตรศาสตร์(ศูนย์AICกรุงเทพมหานคร)และเอกสารการถ่ายทอดความรู้ด้านดินของกรมพัฒนาที่ดินเป็นต้นแบบในการขยายโครงการหมอดินอาสา ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่อไป

ทั้งนี้เป็นรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม) กรณีที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ สมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership หรือ GSP) ได้จัดงานเปิดตัวโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) โดย FAO ได้นำประสบการณ์และความสำเร็จของ “โครงการหมอดินอาสา ” ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปขยายโครงการหมอดินโลก (Global Soil Doctors Programme) เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรให้ความสำคัญในการจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 600 คนจากทั่วโลก

นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต(ฝ่ายเกษตร)ผู้แทนถาวรไทยประจำ FAO/IFAD/WFPและประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Committee on World Food Security หรือ CFS) ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการหมอดินอาสา  กับความมั่นคงอาหารและเกษตรยั่งยืน หมอดินอาสา  มีบทบาทที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านดินแก่พี่น้องเกษตรกร องค์ความรู้ของหมอดินเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันมีหมอดินอาสาจำนวนกว่า 80,000 คน ทั่วประเทศ หมอดินอาสา ทำงานร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินในระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้ด้านการจัดการดินอย่างยั่งยืนให้แก่พี่น้องเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินเบื้องต้น การเก็บตัวอย่างดิน และช่วยสำรวจจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านคุณภาพดินในระดับหมู่บ้าน

“หมอดินอาสา ” คือ ครูและเพื่อนที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกร การเรียนรู้จากประสบการณ์จากเกษตรกรด้วยกันเอง (Farmer-to-farmer learning) ทำให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริงในพื้นที่ หมอดินอาสาของไทยยังได้เรียนรู้ในการน้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรในพื้นที่ของตนจนเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯและนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้ ดร.บรรเจิดลักษณ์ จินตฤทธิ์ เป็นผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอผลความสำเร็จของการดำเนินงาน โครงการ หมอดินอาสา ในหัวข้อ “ประสบการณ์ความสำเร็จของหมอดินอาสาไทย” และได้เล่าถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหมอดินเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการและปัจจัยการผลิตที่สำคัญแก่เกษตรกร พร้อมได้นำเสนอวิดีทัศน์ผลความสำเร็จของหมอดินอาสาของไทย นายยวง เขียวนิลให้แก่ประเทศสมาชิกและผู้ร่วมประชุมได้ร่วมรับทราบข้อมูล

สำหรับโครงการ Global Soil Doctors Programme นี้ FAO เป็นกิจกรรมที่เป็นต้นแบบที่ดี (Best practice) ในการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และระหว่างเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาดินในภาคเกษตร สามารถสร้างผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ในการจัดการทรัพยากรดินสู่ความยั่งยืน และนำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร โดย FAO ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมศึกษาดูงานการดำเนินงานโครงการหมอดินอาสาของประเทศไทย พร้อมทั้งนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและการเกษตรที่ กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรไปศึกษาและแปลเพื่อจัดทำเป็นเครื่องมือและคู่มือสำหรับเกษตรกร อีกทั้งขยายผลโครงการเป็นเครือข่ายหมอดินอาสา ระดับโลก เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เรียนรู้แลกเปลี่ยน และนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมในแต่ละประเทศ

นายอลงกรณ์กล่าวว่า นี่เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติให้การยกย่องการบริหารจัดการดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้โครงการหมอดินอาสา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนนำไปเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆทั่วโลก และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ.ได้ใช้นโยบายเกษตร4.0และเกษตรกรรมยั่งยืนยกระดับอัพเกรดระบบAgimapโดยร่วมกับสวทช.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดินโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้ถวายเหรียญ นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 และได้เสนอให้ วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดินโลก" ผ่านทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations- UN)

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 7 ตุลาคม 2563

กระทรวงอุตสาหกรรม เว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. กว่าแสนราย เริ่ม 10 ต.ค.นี้

​กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หลัง ครม. เห็นชอบมาตรการเยียวยายกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ สมอ. เริ่ม 10 ต.ค.นี้-30 เม.ย.64

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ สมอ. เสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มอก. และค่าธรรมเนียมใบรับรองระบบงาน ISO เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 10,000 ราย รวมมูลค่ากว่า 110 ล้านบาท ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2563 นี้ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด 19 และการชะลอตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมอ. จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้าสู่สภาวะปกติได้ในไม่ช้า ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะดำเนินการยกเว้นจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564  จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาติดต่อขอรับบริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอใบอนุญาต มอก. ทางออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ www.tisi.go.th  ทั้งการยื่นขอใบอนุญาต มอก. ผ่านระบบ e-License ที่ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอได้ทุกมาตรฐาน ซึ่งผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลตรวจโรงงานจะถูกส่งตรงจากห้อง LAB และหน่วยงาน Outsource ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยผู้ประกอบการไม่ต้องมีภาระเรื่องเอกสารดังกล่าวอีกต่อไป”

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 7 ตุลาคม 2563

บาทเริ่มอ่อนค่า ตัวแปรตลาดเงินโลก เกาะติดราคาพลังงาน-การบริโภค

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 7 ตุลาคม อยู่ที่ระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินกลับไปปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 และ NASDAQ ของสหรัฐปรับตัวลง 1.4% และ 1.6% ตามลำดับ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลกับทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าจะ “ไม่มี” การกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนที่ตนจะชนะเลือกตั้ง สวนทางกลับผลโพลจาก CNN ล่าสุด ที่ชี้ว่านายโจ ไปเดน มีคะแนนความนิยมนำอยู่ 57% ต่อ 41% เช่นเดียวกันกับที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ออกโรงเตือนว่าถ้าไม่กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงนี้ อาจทำให้เกิดการตกงานในระยะยาวมากขึ้นในสหรัฐ

ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวลงมาที่ระดับ 0.77% (-2bps) ราคาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลงต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง และดัชนีดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีโครนนอร์เวย์ (NOK) ที่อ่อนค่ามากที่สุด เหลือเพียงเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่ากว่าดอลลาร์

ส่วนเงินบาท แม้จะปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงวันก่อน แต่เชื่อว่ามีโอกาสอ่อนค่ากลับได้ในวันนี้ถ้าตลาดทุนฝั่งเอเชียปิดรับความเสี่ยง เพราะมีนักเก็งกำไรทำการซื้อขายอยู่ทั้งสองด้าน

“ในระยะถัดไป ยังคงมุมมองเชิงบวกกับเงินบาทมากกว่าลบ ขณะที่แรงซื้อดอลลาร์ของกลุ่มธุรกิจพลังงานก็มีอยู่เพียงประปราย เพราะราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ และปริมาณการบริโภคก็ไม่ได้ฟื้นตัวมาก”ดร.จิติพล กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 7 ตุลาคม 2563

เช็คเงิน "ค่าอ้อยขั้นสุดท้าย"  เคาะสูตรคำนวณรายได้แล้ว​​ ที่เดียวจบ

โรงงานน้ำตาล เปิดสูตรเคาะคำนวณรายได้ค่าอ้อยขั้นสุดท้าย หรือเงินตาม สรุปเป็นตัวอย่างแต่ละเขต ราคาจะได้รับไม่เท่ากัน เช็คเลย

เพจโรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์ถึงพี่น้องชาวไร่อ้อยจำนวนมากสอบถามการคำนวณรายได้ค่าอ้อยขั้นสุดท้าย หรือ “เงินตาม” จึงขอทำสรุปทำเป็นตัวอย่างรายเขต เพื่อให้ใช้อ้างอิง สำหรับตัวเลขเงินค่าอ้อยขั้นสุดท้าย จะต้องรอประกาศอย่างเป็นทางการ ภายในเดือนตุลาคม 63 นี้ คาดว่าโรงงานน้ำตาลจะโอนเงินหลังจากมีประกาศ (โรงงานน้ำตาลบางแห่งได้มีการจ่ายก่อนประกาศ) 1)ต้องทราบว่าท่านส่งอ้อยเขตใด แต่ละเขตราคาที่ได้รับจะไม่เท่ากัน ให้ใช้ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของเขตนั้นมาคำนวณ เช่น เขต 9 ค่าอ้อยประมาณ 825 บาทต่อตันอ้อย

2)ต้องทราบว่ามีอ้อยเข้าหีบจำนวนกี่ตันและค่าความหวานเฉลี่ยทั้งฤดูหีบ 62/63 ให้นับเฉพาะที่ส่งเข้าหีบกับโรงงานตามเลขที่โควต้าของท่าน ไม่นับการขายพันธุ์อ้อย  3)นำราคาอ้อยส่วนเพิ่มโดยคำนวนจาก ค่าอ้อยขั้นสุดท้าย หักลบ ค่าอ้อยขั้นต้น เช่น เขต 9 ค่าอ้อยส่วนเพิ่ม 825 - 750 คิดเป็นเงิน 75 บาทต่อตัน ให้ใช้ค่านี้ คูณ อ้อยที่ส่งเข้าหีบ 4)นำค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยที่ท่านส่งอ้อย หักลบ 10 ซีซีเอส จะได้ความหวานส่วนเพิ่ม เช่น ชาวไร่มีอ้อยหวาน 13.50 ซีซีเอส - 10 ซีซีเอส จะได้ความหวาน 3.50 ซีซีเอส

 5)รายได้จากค่าความหวาน 6% ของราคาอ้อย หรือให้คิดส่วนเพิ่ม โดยใช้ 6% ของค่าอ้อยส่วนต่าง เช่น เขต 9 ให้ใช้ 6% ของ 75 บาท คืดเป็นเงิน 4.50 บาทต่อ 1 ซีซีเอส  6)นำความหวานอ้อย ส่วนที่ชาวไร่มีเพิ่มจาก 10 ซีซีเอส คูณ เงินค่าซีซีเอส เช่น ค่าความหวานส่วนเพิ่ม 3.50 ซีซีเอส คูณ  ค่าความหวานอ้อย 4.50 บาท จะได้เงิน 15.75 บาทต่อตัน  7)คำนวณเงินค่าความหวานที่จะได้รับ โดยให้นำจำนวนอ้อยที่ชาวไร่ส่งเข้าหีบปี 62/63 (อ้อยทั้งหมด) คูณ เงินค่าความหวานต่อตัน เพื่อให้ทุกตันอ้อยที่ส่งถูกคำนวนเป็นรายได้

8)คำนวณรายได้ที่ชาวไร่จะได้รับเพิ่ม จะมี 2 ส่วน ประกอบด้วย รายได้จากจำนวนอ้อยส่งเข้าหีบส่วนที่ได้เพิ่ม บวก จำนวนเงินค่าความหวานส่วนที่ได้เพิ่ม  หมายเหตุ : ข้อมูลเงินค่าอ้อยของชาวไร่แต่ละราย ตามปรกติทางโรงงานน้ำตาลจะคำนวณให้กับชาวไร่ จากตัวอย่างและแนวทางการคำนวน สามารถทดลองทำตามข้อมูลที่นำเสนอ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 ตุลาคม 2563

“ปตท.”ผุด “โซลาร์ลอยน้ำบนทะเล” แห่งแรกของไทย

“ปตท.”ผุด “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” แห่งแรกของไทย นวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน นำร่องผลิตไฟป้อนใช้ภายในกลุ่มฯ โดยใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ InnoPlus HD8200B

นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่มได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทยสอดรับกับนโยบายรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยได้ริเริ่มโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลเหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน

โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษเพื่อนำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เป็นผู้ออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล โดยในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ

“โครงการนี้ เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล ที่ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้”

นายปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) กล่าวว่า เพื่อตอบสนองการใช้งานทุ่นลอยน้ำชนิดลอยในทะเล ที่มักประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล และการใช้งานกลางแดดจัด ทำให้ทุ่นลอยน้ำเกิดความเสียหายและอายุการใช้งานสั้น GC จึงได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก InnoPlus HD8200B ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่าย ช่วยลดความหนา เมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion blow molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ

นอกจากนี้ ยังเป็นเป็นทุ่นลอยน้ำต้นแบบที่เพิ่มสารต้านการยึดเกาะและลดการเกาะสะสมของเพรียงทะเลเป็นครั้งแรก ได้การรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี ทำให้จากผลการทดสอบที่ผ่านมา พบว่าทุ่นลอยน้ำในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ ซึ่งลอยอยู่ในน้ำทะเลมีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลน้อยลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล โดย GC ยังคงมุ่งพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง

เพื่อให้ทุ่นลอยน้ำมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้นสามารถต้านการยึดเกาะและลดการสะสมของเพรียงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) กล่าวว่า GPSC ซึ่งเป็นแกนนำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% เข้าร่วมพัฒนาโครงการต้นแบบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานของประเทศ โดยมีความแตกต่างจากการพัฒนาระบบโซลาร์ลอยน้ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

และได้ผ่านการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งในด้านคุณภาพการจ่ายไฟฟ้า ความคงทนต่อการกัดกร่อนจากความชื้น และความเค็มของน้ำทะเล โดยโครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่ม ปตท. ที่ได้มีการผสานเทคโนโลยี ทั้งด้านเคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่จะนำแนวทางของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ครั้งนี้ ไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมทั้งในและต่างประเทศต่อไป

 หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) กล่าวว่า จากการติดตั้งระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) ขนาด 100 กิโลวัตต์ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชน เยาวชนในพื้นที่รวมถึงผู้ที่มีความสนใจทั่วไป

              นายคมสัน ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) กล่าวว่า การติดตั้ง Floating Solar ในน้ำทะเล แตกต่างจากการติดตั้งในบ่อน้ำทั่วไป เนื่องจากต้องมีการคำนึงถึงระดับน้ำทะเลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องออกแบบการคำนวณระบบยึดโยงตามหลักวิศวกรรม และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมบริเวณทะเลนี้ เช่น ระดับความสูงของคลื่น ความเร็วลม เพื่อให้การยึดโยงแผงและทุ่นลอยน้ำมีความแข็งแรง รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล ทั้งนี้ CHPP ยังมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับทุ่นลอยน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ ให้ CHPP ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายทุ่นลอยน้ำชั้นนำของประเทศไทย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 ตุลาคม 2563

สรท.ประเมินส่งออกปีนี้มีโอกาสหดตัว 8%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ประเมินส่งออกในปีนี้น่าจะหดตัว -10% ถึง -8% ขณะที่การส่งออกในเดือน ส.ค.หดตัว -7.94% ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวลดลง

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 63 มีโอกาสหดตัวน้อยลงมาอยูที่ -8% จากช่วงประมาณการที่ -10 ถึง -8% ซึ่งเดิมเคยคาดว่าการส่งออกปีนี้อาจหดตัวลงลึกถึง -10%

ปัจจัยบวกสำคัญที่มีผลทำให้การส่งออกดูดีขึ้น คือ อุปสงค์ทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เห็นได้จากดัชนีทางเศรษฐกิจในหลายส่วนเริ่มมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายผลิตในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีค่าเกิน 50 แสดงถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิต และยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกทั่วโลกที่ขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มที่มีศักยภาพขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สินค้าอาหาร (ข้าวกลุ่มพรีเมียม ทูน่ากระป๋อง) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน (เครื่องใช้ไฟฟ้า) และสินค้าเพื่อการป้องกันการระบาดของโรค (ถุงมือยาง)         

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกที่ยังมีความอ่อนแอ 2.เงินบาทที่ยังอยู่ในระดับแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 3. ปัญหาการขนส่งระหว่างประเทศ 4.ปัญหาภัยแล้ง 5.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

"สรท. ปรับคาดการณ์ส่งออกในปีนี้น่าจะหดตัว -10% ถึง -8% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -10% เนื่องจากการส่งออกน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังมีการเปิดประเทศ โดยการส่งออกในเดือน ส.ค.หดตัว -7.94% ซึ่งมีแนวโน้มหดตัวลดลง แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาต้นทุนขนส่งและปริมาณตู้สินค้าที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากการส่งออกของจีนขยายตัว 11% จนอาจฉุดการฟื้นตัวส่งออกไทย" น.ส.กัณญภัคระบุ

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1.รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ หรือไม่แข็งค่ากว่สกุลเงินอื่นในภูมิภาค 2.แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไม่เพียงพอ 3.แก้ปัญหาการปรับเพิ่มอัตราค่าระวางและค่าบริการภายในประเทศ 4.แก้ปัญหาปริมาณระวางเรือและตู้บรรจุสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ประธาน สรท.กล่าวว่า หลังจากมี รมว.คลัง คนใหม่แล้วก็อยากเห็นมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระดับล่าง และต้องหาวิธีใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกการเก็บภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในเรื่องสภาพคล่องได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใช้การลงทะเบียนผ่านสมาร์ทโฟนนั้น เห็นว่าอาจทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงของประชาชนบางกลุ่มได้

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 ตุลาคม 2563

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาดแข็งค่า-รับแรงหนุนระยะสั้นจากดอลลาร์อ่อนค่า

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาดแข็งค่า-กรอบระหว่างวัน 31.21-31.41 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.21-31.41 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตามระยะสั้น อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ได้รับแรงหนุนจากการขายดอลลาร์ของนักลงทุนต่างชาติ ตามกระแสการอ่อนค่าของดอลลาร์ ประกอบกับไม่มีแรงขายบอนด์ไทยของนักลงทุนต่างชาติเนื่องจากเงินเฟ้อในไทยล่าสุดหดตัวอย่างมาก ส่วนในอนาคต เชื่อว่าถ้าสามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวบางส่วนกลับเข้ามาได้ จะสร้างมุมมองเชิงบวกกับทั้งเงินบาทและตลาดทุ้นไทยได้อีก

สำหรับตลาดการเงินกลับมาฟื้นตัวสดใสในช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐและ STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวขึ้น 1.8% และ 0.8% ตามลำดับ โดยปัจจัยหลักมาจากการฟื้นไข้ของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่นักลงทุนเชื่อมั่นมากว่าการเมืองจะไม่พลิกโผ และทรัมป์จะแพ้อย่างแน่นอนหนุนให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี พลังงาน และบริการสุขภาพปรับตัวขึ้นทั้งหมด

ส่วนฝั่งตลาดเงินก็กลับมาน่าสนใจเมื่อบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแรงถึง 6bps มาที่ระดับ 0.76% พร้อมด้วยยีลด์อายุ 30 ปีที่เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 1.56% สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน สวนทางกับเงินดอลลาร์ที่กลับอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 0.4% ชี้ว่าตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) เต็มตัว

จากhttps://www.thansettakij.com วันที่ 6 ตุลาคม 2563

กีดกันค้าโลกฟัดเดือด "ไทยอ่วม" 12 คู่ค้ารุมกีดกันนำเข้า

กีดกันค้าโลกฟัดเดือด ไทยอ่วม 12 คู่ค้า เปิดไต่สวนทุ่มตลาด การอุดหนุน และเซฟการ์ด 35 รายการ ชี้แนวโน้มการใช้มาตรการยังรุนแรง หลังโควิดทำสินค้าล้นตลาดโลก ต้องเร่งหาที่ระบาย

สถานการณ์กีดกันการค้าระหว่างประเทศยังแรงไม่ตก ล่าสุดข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุ ณ ปัจจุบัน มีประเทศคู่ค้าใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) สินค้าไทยรวม 103 รายการ จาก 16 ประเทศ แบ่งเป็น 1.สินค้าที่อยู่ในระหว่างถูกเรียกเก็บอากรเอดี รวม 75 รายการ จาก 14 ประเทศ 2.สินค้าที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการเอดี 14 รายการ จาก 4 ประเทศและ 3.สินค้าที่อยู่ระหว่างการเปิดทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการเอดี หรือทบทวนเพื่อเปลี่ยนแปลงอัตราอากรเอดี 15 รายการ จาก 9 ประเทศ

 มาตรการตอบโต้การอุดหนุน(CVD) มีสินค้าที่อยู่ระหว่างการทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการซีวีดี 2 รายการ จาก 2 ประเทศ และสินค้าที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการซีวีดี 2 รายการจาก 2 ประเทศ และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาก(Safeguard : SG ) มีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกเรียกเก็บอากรเซฟการ์ด รวม 11 รายการจาก 9 ประเทศ และมีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการเซฟการ์ด 19 รายการ จาก 8 ประเทศ รวมทั้ง 3 มาตรการ(AD / CVD / Safeguard) ขณะนี้มีคู่ค้าเปิดไต่ส่วนเพื่อใช้มาตรการกับไทยรวมสินค้า 35 รายการ จาก 12 กลุ่มประเทศ (อินเดีย สหรัฐฯ เวียดนาม อียิปต์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ยูเครน ตุรกี กลุ่ม GCC กลุ่ม States of the Gulf แอฟริกาใต้)

นายกีรติ  รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)กระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การกีดกันการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งผลจากโควิด-19 ทำให้การค้าโลกหดตัว สินค้าจากประเทศผู้ผลิต ต้องเร่งระบายเพื่อประคองธุรกิจ กลยุทธ์ที่สำคัญคือการขายราคาตํ่าเพื่อแย่งชิงลูกค้า ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศ ในส่วนของไทยกรณีมีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดโดยขายในราคาตํ่ากว่าราคาขายในประเทศต้นทาง หรือขายตํ่ากว่าต้นทุน ภาคเอกชนที่ได้รับกระทบสามารถยื่นเรื่องและข้อมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนที่มีรัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานเพื่อขอให้เปิดไต่สวนได้

 “ล่าสุดไทยถูกเวียดนามเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้านํ้าตาล(เปิดไต่สวน 21 ก.ย.63) ซึ่งจะได้เชิญผู้ส่งออก นํ้าตาลมาหารือ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และอธิบายขั้นตอนการแก้ต่าง รวมถึงให้ทูตพาณิชย์ช่วยประสานงานต่อไป”  

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หลายฝ่ายมีความกังวลว่าสินค้าจีนที่มาผลิตในไทยจะส่งออกไปขายในราคาตํ่าและอาจถูกสหรัฐฯ หรือประเทศคู่ค้าเปิดไต่เพื่อใช้มาตรการเอดี/ซีวีดี หรือเซฟการ์ด ทำให้สินค้าของผู้ประกอบการไทยถูกใช้มาตรการไปด้วย ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในสินค้ายางรถยนต์ที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีกับยางรถยนต์ที่นำเข้าจากประเทศไทย(ผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นจีน) กรณีที่อาจเกิดขึ้นกับหลายสินค้าในลักษณะเช่นนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่เช่นนั้นจะกระทบส่งออกไทยระยะยาว

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่ามาตรการกีดกันการค้าที่จะมาแรงในยุคโควิด คือมาตรการด้านสุขอนามัย (SPS) และมาตรการอุปสรรคทางเทคนิค(TBT)ของแต่ละประเทศที่จะมีความเข้มข้น ขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าไม่มั่นใจว่าสินค้านำเข้าจะปลอดภัยจากโควิด

 “ขอเสนอให้รัฐบาลไปตรวจสอบเพื่อรับรองโรงงานว่าในขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ทั้งการคัดเลือกวัตถุดิบรถขนเข้าโรงงาน และการแปรรูป พนักงานและคนงานในทุกขั้นตอนมีการใส่หน้ากากอนามัย มีสเปรย์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ มีเจลล้างมือ มีการตรวจวัดอุณหภูมิ และอื่นๆโดยจัดทำเป็นคลิปให้ลูกค้า รวมถึงผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองรัฐบาลอาจออกเป็นสติ๊กเกอร์ติดที่ผลิตภัณฑ์สินค้าส่งออกว่าปลอดจากโควิด(COVID FREE) โดยมีหน่วยงานให้การรับรองเพื่อสร้างจุดขายใหม่ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กรมเจรจาฯ เผยเกษตรกรหนุนตั้งกองทุน FTA แบบถาวร จ่อชงคณะทำงาน ธ.ค.นี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยผลการระดมความคิดเห็นกลุ่มเกษตรกรเห็นตรงกันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการเข้าถึง เหตุกองทุนเดิมใช้ยาก ไม่ตอบโจทย์ เล็งเสนอคณะทำงานพัฒนากองทุนพิจารณาเดือน ธ.ค.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยภาคเกษตร เรื่อง “ปัญหาและผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และกลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี” เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมเห็นชอบได้มีข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร โดยกองทุนควรมีความเป็นอิสระจากระเบียบราชการ ควรมีการจ่ายชดเชยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและมีระยะเวลาการชำระคืนที่นาน รวมทั้งขอให้ส่งเสริมเกษตรกรใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรขั้นต้นเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมได้ และกองทุน FTA ควรเป็นรูปธรรม มีความคล่องตัว สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบให้สามารถปรับตัวและมีศักยภาพในการแข่งขัน ตลอดจนสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นในเรื่องข้อจำกัดของกลไกช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ที่มีอยู่ว่าเกษตรกรไม่สามารถเขียนโครงการขอรับการช่วยเหลือได้ มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เกณฑ์การพิจารณามีความเข้มงวด มีระเบียบขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติ งบประมาณโครงการและรูปแบบการช่วยเหลือยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการ ไม่สามารถช่วยให้เกษตรกรปรับโครงสร้างการผลิตได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบันภาครัฐมีกลไกช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA โดยมีกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเน้นช่วยเหลือภาคเกษตรเป็นหลัก และโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งเน้นช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการธุรกิจบริการ แต่กลไกดังกล่าวยังมีข้อจำกัด และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรเท่าที่ควร

“ตั้งเป้าจะรวบรวมข้อมูลและความเห็นที่ได้จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำรายละเอียดการขอจัดตั้งกองทุน FTA เสนอต่อคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาภายในเดือน ธ.ค. 2563 นี้” นางอรมนกล่าว

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมการระดมความคิดเห็น ประกอบด้วย กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสมาชิกสภาเกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

จาก https://mgronline.com  วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤติแล้ง พายุผ่าน4เขื่อนหลักเติมน้ำได้เพียง24%

สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยายังน่าห่วง อิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทย เติมน้ำในอ่างฯได้ไม่มากนัก กนช.สั่งให้เร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำคุมวิกฤติแล้ง คาดน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสนับสนุนนาปรัง พร้อมสั่งเฝ้าระวังอ่างฯขนาดใหญ่-กลางทั่วประเทศ ปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% วอนประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำ

แห่งชาติ (กอนช.)เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์น้ำโดยรวมของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 105 แห่ง จะต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 24 เท่านั้น จึงได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนตุลาคม 2563 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ต่อไป รวมถึงได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่แท้จริงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 141,489 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 42,961 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณการกักเก็บ โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% รวม 105 แห่ง เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 13 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 92 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่งภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง

ทั้งนี้ กอนช.ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ในช่วงต้นฤดูแล้งปี 2563/2564 (วันที่ 1 พ.ย.2563) จะมีปริมาณน้ำรวม 42,019 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่าง โดยภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำคาดการณ์ 17,954 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 13,062 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,013 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 4,205 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,031 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 754 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับแม้ว่าอิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย พายุซินลากูน ร่องมรสุม และพายุโนอึลจะช่วยเติมน้ำให้ 4 เขื่อนหลักรวม 2,600 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 654 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,669 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 159 ล้าน ลบ.ม.และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 118 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในระดับกักเก็บของแต่ละเขื่อนแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) ได้คาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าว จะปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 6,270 ล้านลบ.ม.ใกล้เคียงกับปริมาณในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในฤดูแล้งหรือทำนาปรัง ดังนั้น จำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 อย่างรอบครอบ โดยจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศและการเกษตรกรต่อเนื่องเท่านั้นนอกจากนี้ ยังจะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝน และใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2564 อีกด้วย

“จากมติที่ประชุม กนช.มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับกอนช.จัดทำแผนและมาตรการในการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563/64 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งให้หน่วยงานแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชน เกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สทนช.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และให้ส่งกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เพื่อสรุปนำเสนอต่อคณะทำงานอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม” ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ต่างชาติขนเงินกลับกดค่าเงินบาทอ่อน

9 เดือน เงินไหลออกกว่า 3.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% จากทั้งปีก่อน ขณะที่ "อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท" อ่อนค่า 5.1% รองจากรูเปียห์ ที่อ่อนลงถึง 6.7% ผล 2ปัจจัยชั่วคราว “การเมืองใน-ต่างประเทศ” ฉุดเงินบาทแกว่งตัวช่วงต.ค-ต้นพ.ย. ชี้ทิศทางแข็งค่าเหตุเกินดุลการค้าเป็นปัจจัยหนุน

นับจากต้นปี อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงแล้วราว 5% เป็นอันดับสองรองจากสกุลเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่าลง 6.7% และกรอบการเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา  โดยเงินบาทอ่อนค่าลงมากในช่วงไตรมาส 1/63 ท่ามกลางแรงกดดันจากกระแสเงินทุนไหลออก ซึ่งมีแรงกระตุ้นจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้น เริ่มมีรายงานการติดเชื้อนอกประเทศจีน

 อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาได้บางส่วนในช่วงไตรมาส 2/63 โดยมีแรงหนุนจาก 3 เรื่องสำคัญคือ 1.แรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยลงมาที่กรอบตํ่าใกล้ศูนย์ และส่งสัญญาณพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก 2.การเกินดุลการค้าของไทย โดยเฉพาะดุลทองคำ ซึ่งในเวลานั้นราคาทองคำในตลาดโลกทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 3. การปรับสถานการณ์ลงทุนในต่างประเทศของกลุ่มกองทุนและนักลงทุนไทย ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้า

 ขณะที่ไตรมาส 3/63 เงินบาทเคลื่อนไหวเป็นกรอบ Sideway โดยปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 30.90-31.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

 นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัย กสิกรไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายปีนี้ มีความผันผวนมากตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย 9 เดือน (จากต้นปีถึง 1 ตุลาคม 2563) นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ ทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยที่ 277,793 ล้านบาท และ 67,620 ล้านบาท ตามลำดับเทียบกับทั้งปี 2562 ที่ขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตร 45,245 ล้านบาท และ 69,616 ล้านบาท ตามลำดับ

 ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ธนาคาร กสิกรไทยประเมินว่า แนวโน้มแข็งค่าไปที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ยังอยู่ในเทรนด์อ่อนค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯรวมถึงความกังวลต่อการระบาดรอบสองของโควิด-19 โดยต้องจับตาจุดยืนของเฟดที่น่าจะยังคงส่งสัญญาณผ่อนคลายการดำเนินนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันต้องติดตามปัจจัยการเมืองภายในด้วย เพราะปัจจัยดังกล่าวอาจมีผลกดดันเงินบาทให้เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเป็นระยะ

 “การเลือกตั้งในสหรัฐฯ เป็นประเด็นใหญ่ที่จะมีผลต่อตลาดเงินในไตรมาสสุดท้ายของปี”

 นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า 2 ปัจจัยส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยด้านต่างประเทศขึ้นกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งเงินบาทอยู่ในทิศทางผันผวนได้แต่ไม่ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์หรือนาย โจ ไบเดนจะได้รับชัยชนะ สหรัฐยังคงดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะช่วงนี้นายโจ ไบเดนได้รับคะแนนนิยมมากกว่า มีโอกาสจะเป็นประธานาธิบดีสูงกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ตลาดตอบรับในด้านลบ เพราะนักลงทุนกังวลนโยบายปรับขึ้นภาษีธุรกิจหรือนโยบายที่ไม่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ

 ส่วนปัจจัยในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีหน้ายังไม่สดใส ภาพรวมเศรษฐกิจอาจฟื้นตัวไม่ดีนัก เห็นได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดประมาณการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีหน้ารวมถึงซีไอเอ็มบีไทยด้วย โดยมองผ่านภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตช้า การเกินดุลการค้าผ่านการนำเข้าที่หดตัวแรงจากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ย่อลง

 “เดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายนไม่มีสตอรี่ใหม่ ยกเว้นการเมืองต่างประเทศและการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจะกดดันการเคลื่อน ไหวเงินบาทแกว่งตัวที่ 31.50-32.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากปัจจัยต่างประเทศคลี่คลาย เงินบาทจะแข็งค่าได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเกินดุบการค้าที่อยู่ในระดับสูง”

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด(SCBS)กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งไทยชะลอตัว ส่วนทิศทางค่าเงินบาทมีโอกาสจะกลับตัวแรงกว่า ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน ทุนสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่งอยู่ในระดับสูง ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศดูแลค่าเงิน เช่น ตุรกี อินโดนีเซีย บราซิล และเม็กซิโก

 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยผันผวนชั่วคราวจากการเมืองในสหรัฐจะคลี่คลายไปเมื่อเลือกตั้งประธานาธิบดี ประกอบกับแนวโน้มที่จะมียาต้านไวรัสกลางปี 2564 จึงมีความหวังว่า จำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกไทยจะกระเตื้องปลายปี 2564

 “ช่วงที่เหลือ มีปัจจัยบวกมาก กว่าปัจจัยลบ เช่น ยาต้านไวรัส ภาคส่งออกไทยหมวดสินค้ารายการใหญ่เริ่มฟื้นไตรมาส4 ปี64 ขณะที่การดำเนินนโยบายการคลังสหรัฐ จะกดดันสกุลเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าในไตรมาส4 ปีนี้ แต่เมืองไทยจำเป็นต้องเพิ่มความสามารถด้านสาธารณสุขหากยังหวังเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

จาก https://www.thansettakij.com   วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563

'แบนสารพิษเกษตร' ยังไม่จบ!!! องค์กรรัฐ-ภาคอุตฯ รวมหัวดิ้น'เลื่อน-ยกเลิก'

      นับตั้งแต่รัฐบาล โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจจำกัดและแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่มีการใช้หรือตกค้างมากที่สุด คือ ไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยสารสองชนิดหลังถูกประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (วอ.4) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นมา ซึ่งจะมีผลให้ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง ฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามที่จะให้มีการยกเลิกการจำกัดและแบนสารเคมีดังกล่าว โดยการส่งเรื่องฟ้องศาลปกครองเพื่อให้มีการเพิกถอนประกาศดังกล่าว และความเคลื่อนไหวในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองที่จะขอให้มีการทบทวนการแบนสารเคมีนี้เช่นกัน

      ด้านกลุ่มอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ทำหนังสือขอเลื่อนการแบน ยกเหตุผลสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบวงกว้างกับภาคธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางอาหารโลก เพราะสารดังกล่าวใช้เพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบสำหรับแปรรูปอาหารคนและอาหารสัตว์ การแบนจะทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต เกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและส่งออก จะซ้ำเติมวิกฤตินี้ ขณะที่รัฐบาลและคนจำนวนมากเห็นว่า หลังโควิดประเทศต้องทบทวนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาสู่เกษตรผสมผสาน และเกษตรปลอดภัย ลดใช้สารเคมี สร้างความมั่นคงทางอาหารให้มากขึ้น

      ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่มีทั้งผลประโยชน์และผลเสียมากมายของบริษัทเกษตรข้ามชาติ เกษตรกรไทย และผู้บริโภคเป็นเดิมพัน จะส่งผลต่อแนวทางในการแบนสารเคมีเกษตรต่อไปอย่างไร และนโยบายการเกษตรที่นำไปสู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารจะสามารถทำได้อย่างไร ยังจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสารเคมีอีกหรือไม่อย่างไร  ยังเป็นคำถามที่ท้าทายต่อประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความมั่งคั่งด้านการเกษตรและความมุ่งมั่นที่จะเป็น “ครัวของโลก” อย่างประเทศไทย

      เหตุนี้ สำนักข่าว Bangkok Tribune News, ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และโปรเจ็กต์เสวนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Project SEVANA South-East Asia จัด Dialougue Forum แบนสารพิษเกษตร เส้นทางสู่ครัวปลอดภัยของไทยและของโลก? ที่ SEA-Junction หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน เปิดเวทีสัมมนาประเด็นร้อนของสังคมเกี่ยวกับ 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ ไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส

      วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ฉายภาพรวมการเกษตรไทยก่อนแบนสารพิษเกษตรว่า ระบบเกษตรกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อมีการปฏิวัติเขียว ปี 2503 ใกล้เคียงกับเวลาเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2504  เดิมทีระดับผลผลิตข้าวของไทยยังไม่มาก เช่น ภาคกลาง 400 กิโลกรัมต่อไร่ แต่กลับได้ผัก ปลา ในระบบนิเวศเกษตร เกษตรกรเพาะปลูกครั้งเดียวฤดูกาลทำนา แต่หลังปฏิวัติเขียว มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ทำให้ปลูกข้าวได้นอกฤดูกาลมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี มีการใช้พื้นที่เข้มข้น  ผลผลิตเพิ่มเป็น 700 กก.ต่อไร่ แต่สิ่งที่เราต้องแลกคือ ต้องใช้เงินทุนมากขึ้น มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างกว้างขวาง ไม่มีการพักดิน ส่งผลทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป ส่วนการทำนา เปลี่ยนจากนาดำเป็นนาหว่าน เพราะควบคุมได้โดยการใช้สารเคมี และนำมาสู่การใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นี่ยังเป็นแค่ข้าว ส่วนภาพรวมเกษตรกรรมอื่นก็เช่นกัน อ้อย ข้าวโพด ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ใช้สารเคมีมากขึ้น สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

      ผอ.มูลนิธิชีววิถีได้หยิบยกงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกร ปี 2557 พบว่า พื้นที่กสิกรรมของไทยส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันดับ 1 ข้าว 53% รองลงมายางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปลูกอ้อยแซงมันสำปะหลังและข้าวโพดไปแล้ว ซึ่งใช้สารเคมีปริมาณมากจัดการพืชและแมลง ขณะที่ตัวเลขการใช้สารเคมีในไทย ติดอันดับ 5 ของโลก ใกล้เคียงกับเวียดนาม แต่ถ้าเทียบพื้นที่ต่อประชากรเวียดนามใช้มากกว่าเรา ขณะที่เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรมไทยเป็นอันดับ 9 ใช้มากกว่าสหรัฐและญี่ปุ่น

      “ การเสนอยกเลิกใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เริ่มโดยกระทรวงสาธารณสุขปี 2560 เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีจำนวนมากในไทยและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  เกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนสู่การใช้สารเคมีชนิดอื่นๆ ทั้งนี้ สัดส่วนของสารเคมีที่ถูกเสนอแบน อย่างพาราควอตและไกลโฟเซต เป็นสารกำจัดศัตรูพืช มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของปริมาณการนำเข้าสารเคมีทั้งหมด ส่วนคลอร์ไพริฟอสเป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่นำเข้ามากที่สุด จึงเกิดการและเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทสารเคมี วันที่ 22 ต.ค.2562 เสนอแบน 3 สารพิษ สหรัฐไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้ยกเลิกแบนไกลโฟเซต เพราะสหรัฐและแคนาดาถือหุ้นบริษัทผู้ผลิต 30% นี่คือแหล่งผลประโยชน์ ทั้งยังสัมพันธ์กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ พืชดัดแปลงพันธุกรรม 80% มียีนต้านทานไกลโฟเซต ถ้าแบน พืชจีเอ็มโอไม่มีแต้มต่อ" วิฑูรย์ กล่าว

      แม้จะมีความพยายามคัดค้านการจำกัดและแบนสารเคมีดังกล่าว ผอ.มูลนิธิชีววิถีบอกว่า ในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินใจจำกัดและแบนสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ตามมาด้วยการแสดงความไม่เห็นด้วยจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และรัฐบาลต่างชาติ จากนั้นมีการลงมติใหม่แบน 2 สาร ยับยั้งการใช้ 1 สาร ล่าสุดยืนยันมติดังกล่าวอีกครั้ง นี่คือการต่อสู้และประเด็นท้าทายแบนสารเคมีเพื่อเป็นครัวปลอดภัยของโลก ต้องแบนสารเคมีทั้งหมดหรือควบคุมการใช้สารเคมี ต้องหาทางออกร่วมกันให้ได้

      ปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ซึ่งติดตามและขับเคลื่อนประเด็นการแบนสารพิษมาต่อเนื่อง ร่วมแลกเปลี่ยนในการสัมมนาว่า หลายภาคีเครือข่ายดำเนินการผลักดันแบนสารพิษ โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ตระหนักปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนมลพิษ เพราะการฉีดพ่นสารเคมีในการเกษตรจะกระจายสู่สิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ไทยนำเข้าสารเคมีกว่าสามหมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยพูดถึงผลกระทบภายนอก มีการประเมินมูลค่าผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศกว่า 27,440 ล้านบาท ทุกๆ หนึ่งบาทที่นำเข้าสารเคมีจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ 76 สตางค์ ต้องจ่าย นี่เป็นต้นทุนชีวิต

      “ Thai-Pan สุ่มตรวจสารพิษตกค้างในผักผลไม้ในตลาด ห้างสรรพสินค้า โดยส่งแล็ปที่สหราชอาณาจักร พบว่า ปี 59 ตกค้าง 51% ปี 60 ตกค้าง 48% ปี 62 ตกค้าง 41% ขณะที่สารพิษตกค้างในสหภาพยุโรป ปี 2561 อยู่ที่ 1.4% เท่านั้น ยังเป็นคำถามเมื่อไหร่สารพิษตกค้างในไทยจะลดลงได้ตามค่ามาตรฐานของกฎหมาย ตัวเลขปี 61 ผักผลไม้ไทยที่ส่งสหภาพยุโรปตกค้างระดับสูง 17.5% สูงกว่าจีน ผักผลไม้ไทยยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสารเคมีตกค้าง อาหารที่ไม่ปลอดภัยกระทบเศรษฐกิจประเทศและการส่งออก" ปรกชลย้ำปัญหา

      ปรกชลระบุอีกว่า การยกเลิกใช้สารเคมีเป็นไปตามหลักวิชาการ บางประเทศประเมินความเสี่ยง บางประเทศพูดถึงอันตราย ปี 2535-2552 ยุโรปยกเลิกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรวมกันกว่า 74% จาก 1,000 ชนิด จำแนกเป็น 67% ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน 7% แบน และ 26% อนุญาตให้ใช้ได้ ซึ่งมีการเปลี่ยนกฎหมายและระบบขึ้นทะเบียนใหม่ ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานให้เห็นว่า สารเคมีที่ใช้ปลอดภัยเพียงพอ จะไม่ได้รับอนุญาต ทำอย่างไรไทยจะเดินไปสู่จุดนั้น มีการตั้งกฎเกณฑ์ดูแลสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมประชาชน สำหรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายสูง เกณฑ์กำหนดโดย WHO และ FAO พิจารณาจากมีพิษเฉียบพลันสูง ก่อโรคระยะยาว ก่อมะเร็ง หรือตกค้างในสิ่งแวดล้อมยาวนาน

      “ ไทยยังมีการใช้สารเคมีอันตรายสูงถึง 150 ชนิด เราไม่ต้องการแบนสารพิษทั้งหมด แต่พูดถึงการจัดการสารเคมีอันตรายสูง หากมองยุทธศาสตร์จัดการสารเคมีในไทย เริ่มจากจัดการที่ต้นทาง ไม่มีสารเคมีอันตรายร้ายแรงใช้ในประเทศ สารออกฤทธิ์เหล่านี้เราต้องนำเข้า ต้องแบน และจำกัดการใช้ ปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้ ถัดมาผู้บริโภคมีส่วนร่วม ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบ สร้างระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย นอกจากนี้ ต้องพัฒนาทางเลือกในการควบคุมศัตรพืช ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการปลูกผักกินเอง นี่คือเทคโนโลยีทางเลือก ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องยกระดับในประเทศไทย" ปรกชลกล่าว

      แต่อดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กลับมองต่างมุม โดยระบุว่า การเป็นครัวปลอดภัยของไทยและของโลก จะพูดถึงความปลอดภัยอย่างเดียวไม่ได้ ยังมีด้านสินค้าคุณภาพดี ราคาสามารถแข่งขันตลาดโลกได้ ตลอดสิบปีมานี้ถกเถียงกันมานาน เกษตรต้องไร้สารเคมีโดยสิ้นเชิงหรือไม่ ทั้งประเภทยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืช อีกประเภท ปุ๋ยเคมี ยังมีคำถามต้องเป็นเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ใช่หรือไม่ ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ชาติส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในทุกพืชและพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ ตนแสดงความเห็นมาตลอดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้นต่างจากเขตหนาว มีศัตรูพืชตลอดปี หากไม่ใช้จะใช้สารใดไปกำจัดแมลง ปีนี้เพลี้ยระบาดไร่มันสำปะหลัง 4-5 แสนไร่ ปีก่อนเพลี้ยกระโดดทำลายนาข้าว โอกาสทั่วประเทศทำเกษตรปลอดสารเคมีไม่มีทางสำเร็จ แต่ถ้าทำ 100 ไร่ หรือ 1,000 ไร่ เป็นไปได้

      “ เกษตรอินทรีย์เป็นของดี แต่เกษตรใช้สารเคมีไม่ใช่ของไม่ดี แต่ต้องใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 5 แสนไร่ทั่วประเทศ หากตัดข้าวออกไป เหลือพื้นที่ไม่มาก ผมเห็นว่า ต้องผลักดันให้กระทรวงเกษตรฯ และผู้เกี่ยวข้องเร่งรัดทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น แต่เป็นกลุ่มผักและพืชไร่ กลุ่มข้าว อ้อย เป็นวัตถุดิบใช้แปรรูป ไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้ด้วย" อดิศักดิ์กล่าว

      อดิศักดิ์แสดงทัศนะอีกว่า เส้นทางสู่ครัวโลกนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อให้เกษตรปลอดภัยต้องยึดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ จะต้องอบรมแนวทางทำเกษตร ขบวนการผลิตปลอดภัย สินค้าผักผลไม้ไทยจะปลอดภัยส่งออกสู่ครัวโลกและมีปริมาณสารตกค้างในระดับที่ยอมรับได้ อีกทั้งต้นทุนการผลิตจะต่ำลง อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแบนสารเคมีเกษตร ประเทศไทยมีระบบการจัดการวัตถุอันตรายกำกับดูแลอยู่แล้ว การอนุญาตให้นำเข้าสารเคมีและอนุญาตขึ้นทะเบียนพิจารณาด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ

     ในช่วงท้ายเวที วิฑูรย์ ผอ.มูลนิธิชีววิถี แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า ประเด็นการแบนสารเคมีกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ต้องแยกกัน ซึ่งการแบนสารเคมีเป็นการจัดการเกษตรกรรมกระแสหลัก ในกระแสโลกการแบนสารเคมีที่มีพิษภัยร้ายแรงหรือมีความเสี่ยงเกินกว่าจะใช้ในระบบเกษตรเคมีเป็นเรื่องปกติ มีตัวอย่างบราซิลปลูกอ้อยมากกว่าไทย 7.3 เท่า ประกาศแบนพาราควอตแล้ว มีผลวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา, มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าเรา 7.4 เท่า แบนตั้งแต่ 1 ม.ค., ไนจีเรียปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง มากกว่าไทย 4.9 เท่า ประกาศแบนและจะมีผลเร็วๆ นี้ ปัจจุบันรวม 60 ประเทศทั่วโลกและแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ส่วนสหรัฐมีความเคลื่อนไหวอีกฝั่ง ส.ส.พรรครีพับลิกันกำลังผลักดันกฎหมายแบนพาราควอตสวนทางกับทรัมป์ ฉะนั้น การเสนอแบนในไทยไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของฝ่ายที่สนับสนุนอย่างที่โจมตีกัน

      “ เกษตรเชิงเดี่ยวทุกวันนี้เกษตรกรกำไรต่อไร่น้อยมาก มีการสำรวจปลูกอ้อยและปาล์มกำไร 1,500 บาทต่อไร่ บางปีขาดทุน เป็นความไม่มั่นคง สิ่งที่ซ่อนในระบบนี้เราต้องใช้เงินช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรมหาศาล ปีนี้รัฐบาลใช้เงิน 7 หมื่นล้านแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ประกันรายได้ช่วยค่าเก็บเกี่ยว ปรับปรุงคุณภาพ เราต้องเปลี่ยนการผลิตเพื่อไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น สภาผู้แทนราษฎรประกาศหมุดหมายไทยสู่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 100% ในปี 2573 โดยพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ได้ 30% ปัจจุบันตัวเลขพื้นที่เกษตรอินทรีย์มีล้านไร่ อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ มียุทธศาสตร์เพิ่มให้ได้ 1.5 ล้านไร่ สิ่งที่ต้องทำคู่กันพัฒนาระบบการตลาด" วิฑูรย์กล่าว

      ผอ.มูลนิธิชีววิถีย้ำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี ชีวิตคนที่โดนทำร้ายมากที่สุดอันดับแรกไม่ใช่ผู้บริโภค แต่คือเกษตรกร ยูเอ็นวิจารณ์ประเทศอุตสาหกรรมไม่ผลิตแต่ส่งสารพิษกำจัดศัตรูพืชให้เกษตรกรรายย่อย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน วันนี้เกษตรเชิงเดี่ยวไปไม่รอด ต้องปรับสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ต้องเต็มร้อย แต่เกษตรอินทรีย์เป็นโอกาสให้เราเข้าถึงอาหารปลอดภัย นี่คือความหวังและความฝันของคนไทย การเปลี่ยนแปลงต้องสู้ด้วยข้อมูล เหตุผล และมองอนาคตข้างหน้า

      ประเด็นการแบนสารพิษอันตรายยังต้องจับตากันต่อไป อีกทั้งรัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ซึ่งไทยกำลังเผชิญวิกฤติเหล่านี้สาหัสไม่แพ้วิกฤติจากไวรัสโควิดระบาดกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

จาก https://www.thaipost.net  วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เงินบาทสัปดาห์หน้า31.50-31.80/$

ธนาคารกสิกรไทย คาด เงินบาทสัปดาห์หน้าอยู่ในกรอบ 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาการเมือง มาตรการเยียวยาโควิด-19ของสหรัฐฯ

ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 5-9 ต.ค. อยู่ในกรอบ 31.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นทางการเมือง และบทสรุปของมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ของสหรัฐฯ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย. และปัจจัยทางการเมืองของไทย

สำหรับเงินบาทในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวในกรอบแคบ แม้ในภาพรวมยังเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 31.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ตามปัจจัยในประเทศและสัญญาณขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ เงินบาทสามารถลดช่วงอ่อนค่าลงบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ตามจังหวะการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค แต่กรอบการฟื้นตัวของเงินบาทยังเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ กลับมามีแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยหลังมีรายงานว่า ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ในวันศุกร์ที่ 2 ต.ค. เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.60 ใกล้เคียงระดับ 31.59 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า 25 ก.ย.

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563

‘สุพัฒนพงษ์’รื้อโรงไฟฟ้าชุมชน เงื่อนไขใหม่ต้องเอื้อประโยชน์เกษตรกร

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยภายในงานพบปะสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 ว่า โรงไฟฟ้าชุมชนขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดที่จะต้องตอบโจทย์ให้ประโยชน์ตกกับเกษตรกรโดยต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานใหม่เพื่อเพิ่มการสร้างงาน สร้างรายได้ โดยจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ภายในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้

“เราจะทำนำร่อง 100-150 เมกะวัตต์โดยจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ และมีการปลูกพืชพลังงานใหม่เกิดขึ้น เช่น หญ้าเนเปียร์ กระถินณรงค์ เป็นต้น ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ตอบโจทย์การสร้างงานหรือสร้างอาชีพเพิ่ม และต้องไปดูว่าพื้นที่ปลูกมีได้มากน้อยเพียงใด”นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะเสนอแนวทางการปรับปรุงเงื่อนไขและเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้ร่างไว้แล้วว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่ อย่างไร ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)และกพช.ต่อไป

“เงื่อนไขร่างไว้แล้วแต่จะต้องหารือกับทุกส่วนก่อน เบื้องต้นเชื้อเพลิงจะต้องปลูกไม้โตเร็ว และก๊าซชีวภาพที่มาจากพืชพลังงานเท่านั้น ส่วนของเดิมที่ให้ผสมผสานกับพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) ได้นั้นก็คงจะต้องตัดไป ในส่วนของเกษตรกรที่จะให้ถือหุ้นบุริมสิทธินั้นก็อาจจะเปลี่ยนไปรับซื้อราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรแทนแต่ค่าไฟจะเพิ่มหรือไม่คงจะต้องไปดูเทคโนโลยีด้วย”นายประเสริฐ กล่าว

นายวิบูลย์  ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการหาความชัดเจนเรื่องของกรอบและแนวทางปฏิบัติในการจ้างงาน รวมถึงอยู่ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจโรงไฟฟ้าว่าจะสามารถเพิ่มเติมส่วนใดได้บ้าง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถทำให้เกิดการจ้างงานได้ 2,000 อัตรา ซึ่งหากสามารถเก็บข้อมูลได้ชัดเจนแล้วว่า พื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้ามีเกษตรกรปลูกพืชชนิดบ้าง รวมถึงสภาพของพื้นที่ และจำนวนประชาชนในชุมชนมีความหนาแน่นแค่ไหน ก็จะพิจารณาว่าควรจะส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดใดบ้าง  และมีตลาดรองรับหรือไม่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ชป.รับมือฝนตกหนัก หวังอานิสงส์เติมน้ำ 13 เขื่อนแล้ง ชี้เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้ 6%

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 2- 5 ตุลาคมนี้ ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ให้ทุกโครงการชลประทานเฝ้าระวังติดตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 90%  พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดแผนการส่งน้ำฤดูแล้งปี 2563/2564 โดยเน้นย้ำให้โครงการชลประทานที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำชี-มูล สำรวจพื้นที่เก็บกักน้ำ อาทิ แก้มลิง บ่อยืม พร้อมประเมินปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำ

รายงานข่าวจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุว่า แม้สถานการณ์ฝนตกต่อเนื่อง แต่ไทยยังคงมีเขื่อนที่มีระดับน้ำใช้การได้น้อยในระดับวิกฤตน้อยกว่า 30% มี 13 เขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนลำแซะ เขื่อนกระเสียว เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนลำนางรอง เขื่อนมูลบน เขื่อนบางพระ เขื่อนกระเสียว และ บึงบอระเพ็ด โดยเขื่อนอุบลรัตน์ เหลือใช้การน้อยที่สุด 6% และเขื่อนภูมิพล 13%  ส่วนเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากในระดับวิกฤตมี 2 เขื่อน คือ เขื่อนหนองปลาไหล 95.59% และเขื่อนขุนด่านปราการชล 95.26%

จาก https://www.matichon.co.th   วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563

กนช.ไฟเขียวสร้างแหล่งน้ำ3โครงการ อ่างฯ95แห่งวิกฤติสั่งทำแผนรับมือแล้ง

กนช.ไฟเขียว 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำมูลค่ากว่า 5,900 ล้านบาท หวังสร้างความมั่นคงให้พื้นที่ EEC นครราชสีมา และเชียงราย พร้อมเผยสถานการณ์น้ำในอ่างฯขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ น่าห่วง สั่งเฝ้าระวัง 95 แห่งน้ำน้อย เร่งทำแผนจัดสรรน้ำรับมือภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กนช. ครั้งที่ 3/2563 พิจารณาเห็นชอบหลักการให้ดำเนินโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จ.ระยอง ของกรมชลประทาน พัฒนาแหล่งน้ำในแผนพัฒนารองรับเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สามารถกักเก็บน้ำได้ 40 ล้าน ลบ.ม. เมื่อแล้วเสร็จสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ 30,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภคและการเกษตรในเขต อ.เขาชะเมา ช่วยบรรเทาอุทกภัยช่วงฤดูน้ำหลากในเขตอ.แกลง และเป็นแหล่งน้ำสำรองสนับสนุน EEC โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-67 งบประมาณ 3,551 ล้านบาท

2.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงราย ของกรมชลประทานเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในต.ป่าแดด อ.แม่สรวย เมื่อแล้วเสร็จ จะกักเก็บน้ำได้ 32 ล้านลบ.ม. ส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรได้ 17,200 ไร่ และส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของราษฎรได้ 4,775 ครัวเรือน ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2565–68 งบประมาณทั้งสิ้น 1,325 ล้านบาท

และ 3.โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่าจากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า จ.นครราชสีมา ของเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบประปาทดแทนระบบเดิมที่เสื่อมสภาพ เพื่อลดการสูญเสียในระบบท่อส่งน้ำและรองรับการขยายตัวของชุมชนเมืองพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมาและพื้นที่ข้างเคียง 7 ตำบล เมื่อแล้วเสร็จทำให้มีปริมาณน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาเพิ่มจากเดิม 50,000 ลบ.ม./วัน พื้นที่รับประโยชน์ 11 ตำบล 229,351 ครัวเรือนครอบคลุมพื้นที่ 76.70 ตารางกิโลเมตรงบประมาณ 1,047 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งกนช.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเปิดโครงการดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ยังพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดขอบเขต บทบาทอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ หลักเกณฑ์มอบหมายคณะกรรมการลุ่มน้ำปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการลุ่มน้ำประจำลุ่มน้ำตามมาตรา 27 ของพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ 2561 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ให้เป็นพื้นที่ชะลอและรองรับน้ำหลากช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ในฤดูแล้ง โดยเร่งดำเนินการนำร่องใน 4 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ บึงสีไฟ จ.พิจิตร หนองหาร จ.สกลนคร และคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร

ด้านดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนช.ยังรับทราบสถานการณ์น้ำช่วงเดือนพ.ค.-21 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ไทยได้รับอิทธิพลจากพายุ ทำให้มีฝนตกหนักมีน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น จากพายุซินลากู พายุฮีโกส อิทธิพลจากร่องมรสุม และล่าสุดพายุโนอึล รวมแล้วเกือบ 5,000 ล้านลบ.ม. แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอ่างขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2558 ที่มีน้ำในอ่างฯน้อยที่สุด และยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งรองนายกฯเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าว จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินปริมาณน้ำต้นทุนก่อนสิ้นฤดูฝนพร้อมเร่งทำแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี2563/64 ทั้งประเทศ ให้แล้วเสร็จกลางเดือนตุลาคม เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ทราบ ก่อนให้หน่วยงานปฏิบัตินำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการช่วยเหลือหากเสี่ยงได้รับผลกระทบ รวมถึงให้ข้อมูลภาคประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ก่อนเข้าฤดูแล้งด้วย

“ปัจจุบันแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมคิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณกักเก็บ โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางถึง 95 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% แบ่งเป็น อ่างฯขนาดใหญ่ 11 แห่ง และอ่างฯขนาดกลาง 84 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นสทนช.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินน้ำต้นทุนในทุกแหล่งน้ำ ความต้องการน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ของทุกลุ่มน้ำ เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนจัดสรรน้ำโดยเฉพาะพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่พบว่าหากต้องสนับสนุนน้ำในการเพาะปลูกกรณีฝนทิ้งช่วงต้องมีปริมาณน้ำ 9,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำใช้การรวมของ 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ช่วงฤดูฝนอีกประมาณ 1 เดือนที่เหลือจำเป็นต้องเร่งเก็บกักน้ำเพิ่ม และบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เป็นไปตามแผน”ดร.สมเกียรติ กล่าว

จาก https://www.naewna.com วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

บาทนิ่ง นักวิเคราะห์ชี้ทิศทางค่าเงินทั่วเอเชีย เคลื่อนไหวแคบๆ ไร้ปัจจัยใหม่

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 2 ตุลาคมอยู่ที่ระดับ 31.56 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.45-31.65 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินแกว่งตัวในกรอบแคบในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.5% จากแรงฉุดของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวลงถึง 3.4% บนความกังวลกับตัวเลขส่งออกของซาอุดิอาราเบียล่าสุดซึ่งคำนวณกลับเป็นปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน

ในฝั่งเศรษฐกิจ แม้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (U.S. ISM manufacturing) จะปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 55.4จุด แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว ส่วนตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. initial jobless claims) ที่ปรับตัวลงเหลือเพียง 8.37 แสนตำแหน่ง และมีผู้ขอรับสวัสดิการต่อเนื่องเหลือเพียง 11.8 ล้านคน ทำให้ตลาดมีมุมมองในเชิงบวกกับการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในคืนนี้ว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นระดับสูงเช่นเดียวกัน

ฟากตลาดเงิน แม้กระแสหลักยังเป็นการอ่อนค่าของดอลลาร์ 0.5% แต่ก็มีปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ร่วงลงหลังจากการเจรจา Brexit ไม่คืบหน้า

โดยประเด็นที่ต้องจับตามากที่สุดคือการผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.2 ล้านล้านของพรรคเดโมแครต ซึ่งจะมีการโหวตกันในคืนนี้แต่ตลาดเชื่อว่าอาจถูกชะลอในชั้นวุฒิสภา

ส่วนเงินบาทระยะสั้นยังไม่ไปไหน แต่มีแรงหนุนเพิ่มจากสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ที่แข็งค่ากลับมาบ้างแล้ว จึงต้องจับตาดูในคืนนี้ว่าการจ้างงานในสหรัฐจะฟื้นตัวด้วยความเร่งระดับเกินหนึ่งล้านตำแหน่งต่อเดือนได้อีกหรือไม่ เพราะประเด็นดังกล่าวจะหนุนการลงทุนเอเชียและทำให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าลงไปได้ต่อ

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

“สุริยะ”สั่งแบนพาราควอตต่อ ส้มหล่น”กลูโฟซิเนต”นำเข้าพุ่ง

หลังคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ “แบน” พาราควอต-คลอร์ไพริฟอสต่อไป ล่าสุดพบมีการนำเข้าสารเคมีทดแทนทุบสถิติ “กลูโฟซิเนต” 8 เดือนยอดพุ่งเป็น 3 เท่าตัว ด้านวงการค้าสารเคมีให้จับตากรมวิชาการเกษตรเข็นร่างหลักเกณฑ์วัตถุอันตราย เปิดทางนำระบบโควตานำเข้ามาใช้โดยอาศัยมาตรฐาน ISO ปิดทางผู้ค้ารายอื่น

แม้ว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ “แบน” สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรงทั้ง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ด้วยการปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 3 มาเป็นชนิดที่ 4 ห้ามผลิต-นำเข้า-ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ในขณะที่สารเคมี “ไกลโฟเซต” หลังจากที่ถูก “แบน” มาได้ระยะเวลาหนึ่งก็กลับถูก “ถอน” จากบัญชีควบคุมชนิดที่ 4 กลับมาอยู่ในบัญชีควบคุมชนิดที่ 3 ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามแรงกดดันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อ้างว่า ยังไม่สามารถหาสารเคมีใดมาทดแทนได้

ล่าสุดได้มีความพยายามที่จะขอยกเลิกการ “แบน” สารเคมีการเกษตร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” อีกครั้ง โดยมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการ “ทบทวน” มติยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 2 ประเภท ด้วยคะแนนเสียง 20 ต่อ 4 (กรรมการเข้าร่วมประชุม 25 คน จากทั้งหมด 27 คน) ส่งผลให้ยังคงมีการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสต่อไป ตามมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 “มติครั้งนี้ถือเป็นไฟนอลแล้ว ถือเป็นที่สิ้นสุด” นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายกล่าว

ส่วนการจัดหาสารทดแทนนั้น นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรยังไม่สามารถจัดหาสารทดแทนได้ แต่มีสารทางเลือกซึ่งต้นทุนสูงกว่าและกระบวนการทางเกษตรอินทรีย์ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ หาแนวทางและมาตรการทางการตลาด จูงใจให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เลิกใช้สารเคมี

ทั้งนี้ สารทางเลือกที่มีราคาและต้นทุนแพงกว่าพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดก็คือ สารกลูโฟซิเนต ที่มียอดจำหน่ายและยอดนำเข้าที่สูงมากในขณะนี้

รายงานข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยถึงปริมารการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มกลูโฟซิเนต โดยนับจากการแบนสารเคมีพาราควอต+คลอร์ไพริฟอสว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ “ไม่มีการนำเข้าพาราควอต-พาราควอตไดคลอไรซ์-คลอร์ไพริฟอส” ขณะที่สารไกลโฟเซตที่มีการนำมาตรการจำกัดการใช้ มียอดการนำเข้าสะสม 920 ตัน มูลค่า 44.1 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ก่อนที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีผลบังคับใช้ ส่วนในช่วงหลังจากเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาก็ยังไม่ได้มีการนำเข้าแล้ว

ส่วนสารเคมีทดแทนอย่าง “กลูโฟซิเนต” ที่ถูก “ปลดล็อก” ให้นำกลับมาผลิต-นำเข้า-ส่งออก และจำหน่ายได้ ด้วยมาตรการจำกัดการใช้นั้น กลับมียอดนำเข้าสะสมถึง 4,224 ตัน คิดเป็นมูลค่า 461.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 1,308 ตัน มูลค่า 190.8 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ได้รับความนิยม “ตีคู่” มากับสารเคมีไกลโฟเซตเลยทีเดียว

โดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า การแบนสารเคมีไม่ได้เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร แต่เป็นไปตามเป้าหมายของกลุ่มทุนเป็นหลัก โดยแหล่งนำเข้าสารเคมีทดแทนหลักยังคงมาจากจีน มีบริษัทยักษ์ใหญ่ 1-2 ราย ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองเป็นผู้นำเข้า แต่ทั้งนี้ หากให้เปรียบเทียบทั้งคุณสมบัติของกลูโฟซิเนตกับ 3 สารเคมียังไม่สามารถทดแทนกันได้ เรื่องราคาถึงจะแพงกว่าก็ไม่เป็นไร หากทดแทนกันได้จริง ๆ “ไกลโฟเซตมีฤทธิ์ดูดซึมดี เกษตรกรจึงมักจะใช้ฉีดนอกแปลงเพื่อป้องกันไม่ให้พืชดูดซึมเข้าไป พาราควอตใช้สู้ไกลโฟเซตไม่ได้ แต่เป็นสารที่มีประสิทธิภาพดีสุดเพราะพืชไม่ดูดซึมเข้าไป และไม่มีสารตกค้าง ส่วนกลูโฟซิเนตมีคุณสมบัติก้ำกึ่ง ใช้ในแปลงก็ดูดซึม ส่วนฤทธิ์การเผาไหม้สู้พาราควอตไม่ได้”

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากวงการสารเคมีการเกษตรเข้ามาว่า ขณะนี้ได้มีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะ “กดกัน” ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกมาตรการ “นำเข้า” ไกลโฟเซตอย่างมีเงื่อนไข หรืออาจเรียกได้ว่า จะมีการกำหนดโควตานำเข้า โดยอ้างมาตรการจำกัดการใช้ที่มีมติออกมาก่อนหน้านี้ โดยให้ผู้ประสงค์จะนำเข้าไกลโฟเซต ต้องยื่นขออนุญาตนำเข้าในปริมาณที่ใช้ในแต่ละปี ประมาณ 13,000 ตัน แต่วิธีการนี้ยังไม่มีการกำหนดเป็น “ทีโออาร์” ออกมาบังคับใช้

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ผ่านมานี้ กรมวิชาการเกษตรได้เสนอ ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรา 15 และกำหนดให้มีระบบมาตรฐาน ISO ประกอบกับมีผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก จึงมีมติมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรนำข้อสังเกตดังกล่าวของคณะกรรมการไปพิจารณาทบทวน และให้แจ้งผลการทบทวนในประเด็นที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยให้ฝ่ายเลขานุการทราบ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการต่อไป

“มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการค้าสารเคมีการเกษตรว่า หากวาระที่เสนอโดยกรมวิชาการเกษตรผ่านก็จะเป็นการบล็อกให้มีบริษัทที่สามารถขออนุญาตนำเข้าสารเคมีเหลือเพียง 3 รายที่มีมาตรฐาน ISO ส่วนรายอื่นก็จะไม่สามารถขอโควตานำเข้าได้ จึงต้องจับตามองว่าจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปอีก”

จาก https://www.prachachat.net  วันที่ 1 ตุลาคม 2563

'เฉลิมชัย' จับมือทูต 62 ประเทศ ชู 3 นโยบายเสริมแกร่งเกษตรไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

“เฉลิมชัย” ประกาศนโยบายเกษตรต่างประเทศแก่ทูต 62 ประเทศ ชู 3 นโยบาย ความปลอด ความมั่นคง ความยั่งยืน พร้อมจับมือนานาประเทศ ผ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ก้าวไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเสริมแกร่งสินค้า

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในจัดการแถลงนโยบายด้านการเกษตรให้แก่คณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวม 62 ประเทศว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคเกษตรไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยต่อยอดและปรับเปลี่ยนจากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรในทุกมิติ และวางรากฐานโครงสร้างให้เกิดผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยมีนโยบายด้านการเกษตรและอาหารที่สนับสนุนและมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก

โดยมีกรอบการทำงานในการขับเคลื่อนร่วมกันใน 3 ด้าน หรือที่เรียกว่า “3 คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) กำหนดให้การผลิตสินค้าเกษตรต้องมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ ตลอดห่วงโซ่ จากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร สินค้าต้องได้รับรองมาตรฐาน GAP และ GMP จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ กำกับดูแล ตามสอบ ทั้งระดับฟาร์ม ระดับไร่นา และตรวจสินค้าเกษตรที่ส่งออก

ด้านของความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Security) ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สามารถส่งออกทั้งในรูปแบบแปรรูปและผลิตภัณฑ์ไปยังนานาประเทศ ตอกย้ำศักยภาพของการเป็นครัวของโลก และความพร้อมของการเป็นแหล่งสำรองอาหารของอนุภูมิภาคอาเซียน

“ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ ประเทศไทยไม่มีนโยบายห้ามการส่งออก มีแต่มาตรการที่จะทำให้เป็นไปอย่างปลอดภัย อีกทั้งยังสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินการได้ตามกลไกของการตลาด และพร้อมที่จะร่วมมือผ่านกลไกภาครัฐหากมีความจำเป็น”

อีกทั้ง ยังพัฒนาศักยภาพเกษตรกร โดยการตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (AIC) โดยมีการตั้งศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (Big Data) เป็นต้น

ด้านความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) กระทรวงเกษตรฯ มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรประมง และการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา IUU ด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ในทุกกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 ตุลาคม 2563

กอนช.เร่งแผนคุมน้ำ-แจ้งเตือนประชาชนก่อนสิ้นฝนเข้าแล้ง

ลุ่มเจ้าพระยาเสี่ยงวิกฤตมีน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักเพียง 24% กนช.สั่งให้เร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาคุมวิกฤตแล้ง คาดน้ำต้นทุนไม่เพียงพอสนับสนุนนาปรัง พร้อมสั่งเฝ้าระวังอ่างฯขนาดใหญ่-กลางทั่วประเทศ ปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% วอนประหยัด

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องสถานการณ์น้ำโดยรวมของประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางถึง 105 แห่ง จะต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 24 เท่านั้น จึงได้สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนตุลาคม 2563 เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นำไปใช้บริหารจัดการน้ำ กำหนดมาตรการก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ต่อไป

รวมถึงได้เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำที่แท้จริงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจะต้องใช้น้ำอย่างประหยัดรู้ คุณค่า ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั่วประเทศ 141,489 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 42,961 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของปริมาณการกักเก็บ โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% รวม 105 แห่ง เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 13 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง ภาคตะวันออก 2 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 92 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 31 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 38 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง ภาคตะวันตก 10 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง ทั้งนี้ กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ในช่วงต้นฤดูแล้ง ปี 2563/2564 (วันที่ 1 พ.ย. 63) จะมีปริมาณน้ำรวม 42,019 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่าง โดยภาคตะวันตกมีปริมาณน้ำคาดการณ์ 17,954 ล้าน ลบ.ม. ภาคเหนือ 13,062 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,013 ล้าน ลบ.ม. ภาคใต้ 4,205 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 1,031 ล้าน ลบ.ม. และภาคกลาง 754 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ

ทั้งนี้ แม้ว่าอิทธิพลของพายุที่พัดผ่านประเทศไทยในช่วงผ่านมา ประกอบด้วย พายุซินลากูน ร่องมรสุม และพายุโนอึล จะช่วยเติมน้ำให้กับ 4 เขื่อนหลักรวม 2,600 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนภูมิพล 654 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,669 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 159 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 118 ล้าน ลบ.ม. แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำในระดับกักเก็บของแต่ละเขื่อนแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคม 2563 จะยังคงมีร่องมรสุมทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์ว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยาทั้ง 4 แห่งดังกล่าว จะปริมาณน้ำต้นทุนรวมประมาณ 6,270 ล้าน ลบ.ม. ใกล้เคียงกับปริมาณในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวในฤดูแล้งหรือทำนาปรัง

ดังนั้น จำเป็นจะต้องวางแผนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 อย่างรอบครอบ โดยจะสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเกษตรกรต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำขั้นต่ำวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังจะต้องสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้เพื่อการเตรียมแปลงปลูกพืชช่วงต้นฤดูฝน และใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงในปี 2564 อีกด้วย

จากมติที่ประชุม กนช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ กอนช. จัดทำแผนและมาตรการในการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563/64 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งให้ทันต่อสถานการณ์ พร้อมทั้งให้หน่วยงานแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชน เกษตรกร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา สทนช.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานดำเนินการจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 และให้ส่งกลับมายัง สทนช.ภายในวันที่ 12 ตุลาคม 2563 เพื่อสรุปนำเสนอต่อคณะทำงานอำนวยการภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

จาก https://www.bangkokbiznews.com   วันที่ 1 ตุลาคม 2563

เตือน!! ค่าบาทผันผวนเร็ว ตามแรงเก็งกำไรทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)กล่าวว่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 1 ตุลาคม อยู่ที่ระดับ 31.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.68 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.50-31.70 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อได้ 0.8% ด้วยความหวังเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (U.S. ADP employment change) ที่เพิ่มขึ้นอีก 7.49 แสนตำแหน่งในเดือนกันยายน และดัชนีวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (U.S. MNI Chicago business activity) ที่ฟื้นตัวกลับมาที่ระดับ 62.4จุดเท่ากับช่วงปลายปี 2019

ส่วนในฝั่งตลาดเงินบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้น 3.5bps ไปที่ 0.68% สะท้อนภาพตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.4% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ด้านเงินบาทช่วงนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยมีแรงเก็งกำไรจากทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศกดดันให้เงินบาทอ่อน สวนสกุลเงินเอเชียในช่วงเช้า

“แต่ก็มักปรับตัวลงในช่วงค่ำจากทิศทางของเงินดอลลาร์ ระยะสั้นเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงรอติดตามการรายงานตัวเลขการจ้างงานสหรัฐคืนวันศุกร์นี้”ดร.จิติพล กล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 1 ตุลาคม 2563