|
|
ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกันยายน 2553) |
ทุ่มน้ำตาลแสนกระสอบกลับตลาด อุตฯระบายได้ผล-โควตาพิเศษพาณิชย์ขายไม่ออก
กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้ากระจายน้ำตาลโควตา ค. ซื้อคืนออกสู่ตลาด เผยขึ้นงวดไปแล้ว 2 งวด 100,000 กระสอบ ส่งผลราคาน้ำตาลในตลาดอ่อนตัวลงทันที
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และคณะกรรมการจำหน่ายน้ำตาลโควตา ค.ที่ซื้อคืนมา เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากที่มีการปรับปรุงวิธีการซื้อน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) จำนวน 743,000 กระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) กลับคืนมาเรียบร้อยแล้ว ทางกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้นำน้ำตาลจำนวนดังกล่าวมาจำหน่ายระบายสู่ตลาดไปได้แล้ว 2 งวด (หรือ 2 สัปดาห์) งวดละ 50,000 กระสอบ ส่งผลให้ภาวะน้ำตาลตึงตัวในตลาดผ่อนคลายลง ราคาน้ำตาลในท้องตลาดเริ่มอ่อนตัวลง
ทั้งนี้ น้ำตาลโควตา ค.ที่ซื้อคืนกลับมา 743,500 กระสอบ เป็นการซื้อจากบริษัทออกัส ทอปเฟอร์ (August Topfer) จากเยอรมนี, บริษัทบุงกี้ (Bunge) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทหลุยส์ เดร์ฟัส (Louis Dreyfus) จากสวิตเซอร์แลนด์ แบ่งเป็นน้ำตาลทรายขาว 52,900 กระสอบ กับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 690,600 กระสอบ โดยกองทุนอ้อยฯเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการซื้อน้ำตาลจำนวนดังกล่าว พร้อมกับรับภาระ "ส่วนต่าง" ในส่วนที่ซื้อน้ำตาลมาแพงในช่วงราคาตันละ 705-720 เหรียญสหรัฐ หรือซื้อเฉลี่ยที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม และต้องมาขายถูกตามราคาควบคุมหน้าโรงงาน 19-20 บาท/กิโลกรัม
วิธีการซื้อคืนในครั้งแรก กองทุนอ้อยฯทำสัญญาซื้อน้ำตาลคืนจากเทรดเดอร์ ซึ่งในทางปฏิบัติสัญญาดังกล่าวต้องมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร 2 ต่อ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุงวิธีการซื้อคืนใหม่ ด้วยการให้กองทุนอ้อยฯทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานน้ำตาลแทน เพื่อปลดภาระภาษี VAT เมื่อกระบวนการส่วนนี้เสร็จสิ้น ทำให้กระบวนการซื้อคืนและระบายน้ำตาลสามารถเดินหน้าต่อไปได้
การระบายน้ำตาลโควตา ค.ที่ซื้อคืนออกสู่ตลาดจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ถ้าหากภาวะน้ำตาลยังคงตึงตัวและราคายังแพงอยู่ อาจจะมีการเพิ่มปริมาณน้ำตาลที่จะขายในแต่ละงวดให้มากขึ้น แต่ถ้าทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ราคาอ่อนตัวลง ก็ให้คงปริมาณการระบายไว้ที่ 50,000 กระสอบ เป็นระยะเวลา 15 สัปดาห์เหมือนเดิม
"เท่าที่ผมได้รับรายงาน เมื่อมีการระบายน้ำตาลโควตา ค.ที่ซื้อคืนมาออกสู่ตลาดแล้ว สถานการณ์ดีขึ้น ผู้ค้ารายย่อยสามารถซื้อน้ำตาลได้มากขึ้น จำนวน 200-300 กระสอบก็สามารถซื้อหาได้ ไม่ใช่กระจุกอยู่ที่ผู้ค้ารายใหญ่เท่านั้น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยันเดินหน้าระบายน้ำตาลลอตนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ชะลอแต่อย่างใด จะมีเปลี่ยนแปลงก็คือระบายน้ำตาลให้มากขึ้นในแต่ละงวด กรณีสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย" นายวิฑูรย์กล่าว
อย่างไรก็ตามเร็ว ๆ นี้อาจจะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับน้ำตาลโควตาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์ขอไป 1 ล้านกระสอบ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นงวดไปให้แล้วคิดเป็น 803,000 กระสอบ แต่ขณะนี้เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 6 เดือนแล้ว น้ำตาลโควตาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์ขอไประบายออกไปได้เพียง 300,000 กว่ากระสอบเท่านั้น ยังเหลืออีกกว่า 400,000 กระสอบยังไม่สามารถระบายออกไปได้ โดยประเด็นที่จะหารือก็คือ กระทรวงพาณิชย์จะมีการจัดการอย่างไรกับน้ำตาลที่ค้างอยู่ มีการเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือในการกระจายน้ำตาล แต่กระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ขอทวงคืนน้ำตาลในส่วนที่เหลือ
สำหรับประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ จะขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดสรรน้ำตาลโควตาพิเศษมาให้กระทรวงพาณิชย์บริหารจัดการทุกปี ปีละ 1 ล้านกระสอบนั้น "ผมยังไม่รับเรื่องอย่างเป็นทางการ" ถ้าหากขอมาจริงก็คงต้องมาหารือกันใน กอน. "อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมดูแลอยู่ ก็น่าจะให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้บริหารจัดการจัดสรรโควตาจะเหมาะสมกว่า"
จาก http://www.prachachat.net 30 กันยายน 2553
รายงานข่าวจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการ ส่งออกในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 มูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดรวม 4,047,974.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 24.31
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรเดือนมกราคม-สิงหาคม 2553 มีมูลค่า การส่งออกรวม 716,145.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 21.67 โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง น้ำตาลดิบ ยางพารา เนื้อไก่ และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงได้แก่ ข้าว และผลิตภัณฑ์สับปะรด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลแล้วคาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยจนถึงสิ้นปี 2553 จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าอย่างแน่นอน
อาทิ ข้าว ส่งออกได้ 5.206 ล้านตัน มูลค่า 100,061 ล้านบาท เนื่องจากเวียดนามลดค่าเงินดองในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และมีการลดราคาข้าว 5% และ ข้าว 25% สองครั้งในเดือนเมษายน 2553 ครั้งละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน ทำให้ ราคาข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทยเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน ส่งผลให้ลูกค้าข้าวในตลาดเอเชีย เปลี่ยนไปซื้อข้าวจากเวียดนามแทน
มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ปริมาณ 5.497 ล้านตัน มูลค่า 47,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 3.929 ล้านตัน มูลค่า 27,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.90 และ 72.32 ตามลำดับ น้ำตาล มีปริมาณส่งออกรวม 3.755 ล้านตัน มูลค่า 57,344 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 3.116 ล้านตัน มูลค่า 35,987 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.50 และ 59.35 ตามลำดับ ปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกิดภาวะตึงตัวของน้ำตาลในตลาดโลก ทำให้ผู้ซื้อเร่งทำการส่งมอบน้ำตาล ส่วนมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ยางพารา ไทยส่งออกยางพาราทั้งสิ้น 1.792 ล้านตัน มูลค่า 156,997 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 1.726 ล้านตัน มูลค่า 81,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.83 และ 92.65 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายางพาราที่สำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น.
จาก http://dailynews.co.th/ 30 กันยายน 2553
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการขายน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ได้อนุมัติให้ยี่ปั๊วและซาปั๊ว 64 รายรับซื้อน้ำตาลทรายกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ได้ซื้อคืนจากโควตา ค. (ส่งออก) ลอต 2 จำนวน 5.02 หมื่นกระสอบเพื่อกระจายน้ำตาลทรายให้ผู้บริโภครายย่อย เบื้องต้นหลังจากที่กองทุนฯ ได้กระจายลอตแรก 4.58 หมื่นกระสอบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าราคาขายปลีกน้ำตาลในประเทศปรับลดลงแล้ว 50 สต.-1 บาท ต่อ กก.
เดิมได้ตั้งเป้าที่จะกระจายน้ำตาลทรายเพิ่มสัปดาห์ละ 5 หมื่นกระสอบแต่เมื่อยี่ปั๊วและซาปั๊วต้องการนำไปขายมากขึ้นกองทุนฯ ก็จะเพิ่มปริมาณเกินโควตาเล็กน้อยในแต่ละงวด ส่วนใหญ่ที่ซื้อจะเป็นผู้ค้าจากภาคกลางและภาคเหนือ
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปริมาณน้ำตาลในลอตที่ 2 คาดว่า จะเกิดการขนย้ายได้ตั้งแต่ 29 ก.ย. หลังจาก มีการแจ้งโอนเงินตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดเพิ่มขึ้นและสามารถเข้าไปกดดันราคาในท้องที่ห่างไกลลดลงได้อีกระดับหนึ่ง
พบว่าสถานการณ์ตึงตัวของน้ำตาลเริ่มผ่อนคลายขึ้นมากและจะได้มีการประเมินอีกครั้งเมื่อลอต 2 กระจายถึงมือผู้บริโภค เพื่อดูภาพรวมซึ่งเราขายราคาหน้าโรงงานรวมภาษี คือ น้ำตาลทรายขาว 20.33 บาทต่อ กก. ทรายขาวบริสุทธิ์ 21.44 บาทต่อกก. ทำให้ยี่ปั๊วรายเล็กที่เคยซื้อผ่านรายใหญ่ที่มีการบวกราคาเพิ่มส่วนหนึ่งหันมาซื้อตรง ส่งผลให้น้ำตาลที่เคยสูงเริ่มลดต่ำ
อย่างไรก็ตามเริ่มมีเสียงท้วงติงจากผู้ ซื้อบางรายว่าการกระจายน้ำตาลงวดละ 5 หมื่นกระสอบจนถึงสิ้นปีตามแผนจนครบ 7.43 แสนกระสอบนั้นอาจไม่ค่อยเห็นผลต่อตลาดมากควรจะนำมากระจายทีเดียวหรือมากกว่า 5 หมื่นกระสอบ แต่บางฝ่ายก็ยังเห็นตรงข้ามเนื่องจากเกรงว่าท้ายสุดอาจไปตึงตัวช่วงปลาย ปีได้ ซึ่งทั้งหมดมีทั้งข้อดีและข้อเสียทางคณะกรรมการขายอาจต้องหารือเพื่อประเมินสถาน การณ์อย่างรอบคอบ
สำหรับการขายน้ำตาลลอต 2 เริ่ม มีผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางรายเข้ามาเจรจา ขอซื้อแต่ทาง กท. ได้ปฏิเสธการขายไปเนื่อง จากนโยบายหลักของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม กำหนดชัดเจนว่าการซื้อคืนจากเทรดเดอร์ ที่ กท.ต้องรับภาระส่วนต่างราคาที่ซื้อ คืนซึ่งสูงกว่าขายในประเทศประมาณ 200 กว่าล้านบาทนั้นเป็นการดำเนินการเพื่อผู้บริโภครายย่อยเนื่องจากขณะนั้นปริมาณน้ำตาลในประเทศตึงตัว
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานต้องการให้รัฐได้พิจารณาถึงการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายเพิ่มเติมจากแผนให้กับสมาคมผู้ประกอบการเครื่องดื่มด้วยการพิจารณารายละเอียดว่าแท้จริงแล้วการ เพิ่มดังกล่าวตลาดในประเทศเติบโตมากอย่าง ที่อ้างจริงหรือไม่ หรือแท้จริงส่วนหนึ่งส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านกันแน่ซึ่งหากเป็นข้อหลังเท่ากับชาวไร่และโรงงานกำลังอุดหนุนต่างชาติอยู่
แหล่งข่าวจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาล ทราย กล่าวถึงส่วนกรณีที่สมาคมเครื่องดื่มไทยต้องการน้ำตาลทรายเพิ่มอีก 3.8 หมื่นตันหรือ 3.8 แสนกระสอบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะจัดสรรน้ำตาลทรายโควตา ก. (ปริมาณในประเทศ) ที่มีอยู่ว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งหากมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดสรรได้ก็คงไม่มีปัญหา แต่หากมีไม่เพียงพอกระทรวงอุตสาหกรรมคงจะจัดสรรให้เพิ่มเติมไม่ได้ ส่วนน้ำตาลที่ซื้อคืนจากโควตา ค. จำนวน 7.3 แสนกระสอบก็คงให้ไม่ได้เช่นกันเพราะต้องจัดสรรให้กับผู้บริโภครายย่อยตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัดต้องซื้อน้ำตาลทรายในราคาแพง
นายประจวบ ตยคีพิสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารและโฆษกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม รอบที่ 2 แล้ว เพื่อย้ำถึงความต้องการน้ำตาลทรายของผู้ประกอบการเครื่องดื่มในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอัตราการเติบโตของการบริโภคประมาณ 3.8 หมื่นตัน และหากไม่ได้รับคำตอบภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการวางแผนการผลิตของผู้ประกอบการ.
จาก http://dailynews.co.th/ 28 กันยายน 2553
โรงงานน้ำตาลหนุนชาวไร่กู้ซื้อรถตัดอ้อย
กรุงเทพฯ 28 ก.ย. - นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขของการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว โรงงานน้ำตาลทรายจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ให้แก่ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย หรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ที่มาขอสินเชื่อ หรือหากโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ขอสินเชื่อเองต้องมีคณะกรรมการของโรงงานน้ำตาลและหรือบุคคลที่ ธ.ก.ส.พิจารณาเห็นชอบเป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน
นายประกิต กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลพร้อมสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ โดยพยายามผลักดันระยะหนึ่งแล้ว เพราะเชื่อว่าเป็นประโยชน์กับชาวไร่อ้อยอย่างมาก เนื่องจากการนำอ้อยไฟไหม้มาส่งให้โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อยจะต้องถูกตัดราคารับซื้อ อีกทั้งยังสูญเสียน้ำหนักมากกว่าอ้อยสด ในด้านของโรงงานก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งปนเปื้อนจำนวนมากที่ติดมากับอ้อยไฟไหม้ ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้ดีขึ้น
สำหรับรายละเอียดของโครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยนั้น ธ.ก.ส.จะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 3,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยต่อราย หรือต่อกลุ่ม ภายในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ภายใน 6 ปีนับจากวันกู้ โดยผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ที่ MRR- ร้อยละ 2.00 ต่อปี ส่วนต่างที่เหลือรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระชดเชยให้ หากคิดจากอัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันที่ร้อยละ 6.75 ต่อปี ธ.ก.ส.คิดอัตราดอกเบี้ยตามโครงการนี้ร้อยละ 4.75 ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 2.00 รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างอีกร้อยละ 2.75 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องชดเชยตลอดระยะเวลาโครงการ รวมทั้งสิ้นประมาณ 288.75 ล้านบาท
ส่วนการเผาอ้อยหรืออ้อยไฟไหม้นั้น ได้มีการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (ส่วนพัฒนาการผลิต) สรุปว่าแม้การเผาอ้อยก่อนตัดจะทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว แต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลหลายด้าน คือ ทำให้สูญเสียน้ำหนักมากกว่าอ้อยสด หากทิ้งไว้ในไร่เกิน 3 วัน จะสูญเสียความหวาน ตออ้อยตายมากกว่าอ้อยสด และหนอนกอเข้าทำลายได้ง่าย มีวัชพืชขึ้นมากกว่า เพราะไม่มีใบคลุมดิน และสูญเสียอินทรีย์วัตถุในดิน ในการขายให้โรงงานจะถูกตัดราคา และอาจมีปัญหาการค้าน้ำตาลในตลาดโลกในอนาคต มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อากาศ สุขภาพ สูญเสียน้ำตาลในอ้อย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่ำ ทำให้น้ำอ้อยมี Dextran มากกว่าอ้อยสด ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น การทำใส การกรอง การต้มเคี่ยว การตกผลึกน้ำตาลช้ากว่าปกติ. -สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net/ 28 กันยายน 2553
ก.อุตฯจัดน้ำตาลล็อต2ผ่าน 64 ราย ตลาดผ่อนคลายราคาเริ่มปรับลด
น้ำตาลทรายในประเทศเริ่มผ่อนคลายจากการตึงตัวโดยราคาเริ่มลด 50สต.-1บาทต่อก.ก.แล้วหลังกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งระบายน้ำตาลที่ซื้อคืนจากเทรดเดอร์สัปดาห์นี้เป็นล็อตที่ 2 โดยมีผู้ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 64 รายรวม 5.02 หมื่นกระสอบ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการขายน้ำตาลทรายที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.) ได้เริ่มกระจายการขายน้ำตาลทรายที่ซื้อคืนจากเทรดเดอร์จำนวน 7.43 แสนกระสอบล็อต 2 อีก 5.02 หมื่นกระสอบแล้วหลังคัดเลือกผู้ค้าที่ยื่นแสดงเจตจำนงค์ในการรับซื้อได้ทั้งสิ้น 64 รายจากที่ยื่นประมาณ 80 ราย
ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาลดังกล่าวคาดว่าจะเกิดการขนย้ายได้ตั้งแต่ 29 ก.ย.หลังจากมีการแจ้งโอนเงินตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดเพิ่มขึ้นและสามารถเข้าไปกดดันราคาในท้องที่ห่างไกลลดลงได้อีกระดับหนึ่ง ภายหลังจากที่กท.ได้ดำเนินการขายล็อตแรกผ่าน 46 รายปริมาณ 4.58 หมื่นกระสอบเบื้องต้นได้รับการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการพบว่าราคาในต่างจังหวัดบางพื้นที่เฉลี่ยปรับลด 50 สตางค์-1บาทต่อกิโลกรัม(ก.ก.)
เราพบว่าสถานการณ์ตึงตัวของน้ำตาลเริ่มผ่อนคลายขึ้นมากและจะได้มีการประเมินอีกครั้งเมื่อล็อต 2กระจายถึงมือผู้บริโภค เพื่อดูภาพรวมซึ่งเราขายราคาหน้าโรงงานรวมภาษี คือน้ำตาลทรายขาว 20.33 บาทต่อก.ก ทรายขาวบริสุทธิ์ 21.44 บาทต่อก.ก.ทำให้ยี่ปั๊วรายเล็กที่เคยซื้อผ่านรายใหญ่ที่มีการบวกราคาเพิ่มส่วนหนึ่งหันมาซื้อตรงจึงทำให้น้ำตาลที่เคยสูงเริ่มลดต่ำแหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตามเริ่มมีเสียงท้วงติงจากผู้ซื้อบางรายว่าการกระจายน้ำตาลงวดละ 5 หมื่นกระสอบจนถึงสิ้นปีตามแผนจนครบ 7.43 แสนกระสอบนั้นอาจไม่ค่อยเห็นผลต่อตลาดมากควรจะนำมากระจายทีเดียวหรือมากกว่า 5 หมื่นกระสอบ แต่บางฝ่ายก็ยังเห็นตรงข้ามเนื่องจากเกรงว่าท้ายสุดอาจไปตึงตัวช่วงปลายปีได้
ซึ่งทั้งหมดมีทั้งข้อดีและข้อเสียทางคณะกรรมการขายอาจต้องหารือเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ น้ำอัดลมดอดซื้อโดนเบรก
สำหรับการขายน้ำตาลล็อต 2 เริ่มมีผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางรายเข้ามาเจรจาขอซื้อแต่ทางกท.ได้ปฏิเสธการขายไปเนื่องจากนโยบายหลักของนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรมกำหนดชัดเจนว่าการซื้อคืนจากเทรดเดอร์ที่กท.ต้องรับภาระส่วนต่างราคาที่ซื้อคืนซึ่งสูงกว่าขายในประเทศประมาณ 200 กว่าล้านบาทนั้นเป็นการดำเนินการเพื่อผู้บริโภครายย่อยเนื่องจากขณะนั้นปริมาณน้ำตาลในประเทศตึงตัว
แหล่งข่าวจากสมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า โรงงานต้องการให้รัฐได้พิจารณาถึงการจัดสรรปริมาณน้ำตาลทรายเพิ่มเติมจากแผนให้กับสมาคมผู้ประกอบการเครื่องดื่มด้วยการพิจารณารายละเอียดว่าแท้จริงแล้วการเพิ่มดังกล่าวตลาดในประเทศเติบโตมากอย่างที่อ้างจริงหรือไม่ หรือแท้จริงส่วนหนึ่งส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านกันแน่ซึ่งหากเป็นข้อหลังเท่ากับชาวไร่และโรงงานกำลังอุดหนุนต่างชาติอยู่
จาก http://www.manager.co.th 28 กันยายน 2553
วิจัยสาหร่ายพันธุ์ไทยผลิต "ไฮโดรเจน" พร้อมบำบัดน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล
พลังงานไฮโดรเจนคือเชื้อเพลิงสะอาดที่ทั่วโลกยอมรับ และเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับยานยนต์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ หนึ่งในนั้นคือการผลิตไฮโดรเจนจากสาหร่าย ล่าสุดนักวิจัย วว. พบสาหร่ายพันธุ์ไทยสามารถผลิตไฮโดรเจนได้มากที่สุดในประเทศและช่วยบำบัดน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลได้ด้วย
นายสมรักษ์ รอดเจริญ นิสิตปริญญาเอก โปรแกรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ไฮโดรเจนนั้นสามารถแยกได้จากน้ำด้วยกระบวนการทางเคมีและฟิสิกส์ หรือสามารถผลิตไฮโดรเจนได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพโดยใช้สาหร่ายเป็นโรงงานผลิต ซึ่งทำได้ทั้งทางตรงคือให้สาหร่ายผลิตไฮโดรเจนออกมาโดยตรง หรือทางอ้อมโดยผลิตไฮโดรเจนจากชีวมวลสาหร่าย
ในการศึกษาวิจัยการผลิตไฮโดรเจนจากสาหร่ายสีเขียวและสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในประเทศไทยนั้นนายสมรักษ์เลือกใช้วิธีทางอ้อม โดยการเลี้ยงสาหร่ายเพื่อให้ได้ชีวมวลสาหร่ายในปริมาณมากๆ จากนั้นนำชีวมวลสาหร่ายไปหมักด้วยแอนแอโรบิคแบคทีเรียในสภาวะไร้ออกซิเจน เพื่อให้ผลิตกรดอินทรีย์ แล้วเปลี่ยนกรดอินทรีย์ให้เป็นไฮโดรเจนด้วยแบคทีเรียสังเคราะห์ด้วยแสง
นักวิจัยศึกษาการผลิตไฮโดรเจนจากสาหร่ายสีเขียวและสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 25 สายพันธุ์ พบว่าสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวชนิด นอสต็อค มัสคูรัม (Nostoc muscurum TISTR 8871) สามารถผลิตชีวมวลและสะสมแป้งได้ปริมาณมากที่สุดหรือประมาณ 33% เมื่อเลี้ยงด้วยอาหารเลี้ยงเชื้อในสภาวะเดียวกันเป็นเวลา 20 วัน
เมื่อนำชีวมวลสาหร่ายนอสต็อค มัสคูรัม ไปหมักด้วยแอนแอโรบิคแบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ นาน 48 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนแป้งชีวมวลสาหร่ายให้เป็นกรดอินทรีย์ พบว่าชีวมวลสาหร่ายที่หมักด้วยแบคทีเรียสายพันธุ์ แลคโตบาซิลลัส เบรวิส (Lactobacillus brevis subsp. brevis TISTR 868) สามารถผลิตกรดอินทรีย์ได้มากที่สุด โดยกรดอินทรีย์ที่ผลิตได้มีทั้งกรดมาลิค กรดแลคติค กรดอะซิติค กรดซิติค และกรดบิวทิริค โดยผลิตกรดอะซิติคได้ปริมาณสูงที่สุด
จากนั้นนำกรดอินทรีย์ที่ได้เหล่านี้ไปเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียสังเคราะห์ด้วยแสง 4 สายพันธุ์ เป็นระยะเวลา 3 วัน พบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์โรโดซูโดโมนาส เอสพี (Rhodopseudomonas sp. TISTR 1953) ที่คัดแยกได้จากฟาร์มเลี้ยงกุ้ง สามารถผลิตไฮโดรเจนได้มากที่สุดประมาณ 17 มิลลิลิตรต่อลิตรต่อชั่วโมง (ml/l/h) ในถังหมักขนาด 600 มิลลิลิตร ซึ่งนับว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีการรายงานในประเทศไทย
นอกจากนั้นนักวิจัยยังได้ศึกษาการใช้สาหร่ายสายพันธุ์ดังกล่าวบำบัดน้ำเสียและผลิตไฮโดรเจนในเวลาเดียวกัน โดยทดลองเลี้ยงสาหร่าย นอสต็อค มัสคูรัม ในน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง และฟาร์มสุกร รวม 4 แห่ง ผลปรากฏว่าสาหร่ายที่เลี้ยงในน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาล สามารถผลิตชีวมวลและผลิตก๊าซไฮโดรเจนได้ปริมาณสูงที่สุดประมาณ 6-7 ml/l/h ทั้งยังช่วยให้น้ำเสียมีคุณภาพดีขึ้นและสามารถปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้
"สาหร่ายนอสต็อค มัสคูรัม มีศักยภาพเหมาะสมที่จะใช้เป็นแหล่งผลิตชีวมวลสาหร่ายเพื่อผลิตไฮโดรเจนสำหรับใช้เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต ขณะเดียวกันยังช่วยบำบัดน้ำเสียจากโรงงานน้ำตาลได้ และที่สำคัญยังใช้สาหร่ายและจุลินทรีย์สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยด้วย โดยหลังจากนี้จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในถังหมักที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และหาสภาวะและวิธีการที่เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้สาหร่ายสามารถผลิตไฮโดเจนได้ปริมาณเพิ่มขึ้นและมีความต่อเนื่องตลอดกระบวนการผลิต" นายสมรักษ์ กล่าวสรุปผลการวิจัยที่ได้รับทุนจากโครงการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ประจำปี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
จาก http://www.manager.co.th 27 กันยายน 2553
จีดีพีพุ่งปรี้ดขยับเป้า7.5% อดีตปลัดคลังเตือน ธปท.จ่อขึ้น ดบ.ดันบาทแข็ง
คลังปรับเป้าจีดีพีปีนี้ทะลุ 7.5% หลังเศรษฐกิจไทยพุ่งกระฉูด ปัจจัยบวกหนุนเพียบทั้งส่งออก บริโภคในประเทศการลงทุนขยายตัว คาดปีหน้ากลับมาขยายตัวในประดับปกติที่ 4.5% สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงของประเทศ ศุภรัตน์ อดีตปลัดคลังเตือนแบงก์ชาติ จ่อขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ จะยิ่งดึงเงินทุนไหลเข้ามาไทยมากขึ้นกดดันค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่า ทำให้การแก้ไขยิ่งยืดเยื้อ ซี.พี.คาดปลายปีเห็นแน่ค่าเงินบาทหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ยันไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง
นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 ใหม่ เป็น 7.5% โดยมีช่วงการขยายตัวที่ 7.3-7.8% จากเดิมที่คาดการไว้ขยายตัวเพียง 5.5% เนื่องจากเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 10.6% ขณะที่ประเทศคู่ค้าฟื้นตัวต่อเนื่องส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงมากทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 13.9% อีกทั้งยังเป็นผลมาจากการใช้จ่ายในประเทศที่ฟื้นตัวทั้งการบริโภคและการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงถึง 16.5% จากที่คาดการณ์ไว้เดิมเพียง 4.2%
ขณะที่ปี 2554 นั้นกระคาดว่าอัตราการขยายตัวจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.5% หรือมีช่วงขยายตัวที่ 4-5% จากการที่มีฐานสูงปีก่อน โดยมีแรงส่งจากการบริโภคและการลงทุนที่ฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงมีต่อเนื่องแต่การส่งออกอาจชะลอตัวลงบ้าง ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.5% ตามราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
จากสมมุติฐานต่างๆ ที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจปีนี้พบว่าล้วนดีกว่าที่คาดาการณ์ไว้เดิมทำให้จีดีพีเขยิบขึ้นจากเดิมถึง 2% ตัวเลข 7.5%ถือว่าสูงจากปกติมากสวนหนึ่งเป็นเพราะตัวเลขที่ติดลบปีก่อและการเร่งเติมเต็มสต็อกในปีนี้ ส่วนปีหน้าจีดีพีจะปรับเข้ามาสู่ภาวะปกติตามศักยภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย นายสาธิตกล่าว
อย่างไรก็ตาม สศค. ยังจับตาปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ต่อเนื่องและอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ โดยสิ้นปีอาจแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ซึ่งทุกการแข็งค่าของเงินบาท 1 % จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก 0.4% และกระทบจีดีพี 0.3% ส่วนปี 54 มองว่ามีเฉลี่ยอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนั้น ต้องจับตาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังมีปัญหาการว่างงานสูง ส่วนอาเซียนที่เคยเศรษฐกิจร้อนแรงเริ่มชะลอตัวลง จึงอาจมีผลต่อการส่งออกไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องปีหน้า รวมถึงความเสี่ยงด้านการเมืองที่คาดว่าจะมีเลือกตั้งใหม่ในปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ.
**เตือนขึ้นดบ.เงินทุนยิ่งไหลเข้า** นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล รองประธานคณะกรรมการบริหารการเงินและกรรมการการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) และอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานมุมเศรษฐกิจกับซี.พี. ครั้งที่ 2/2553 ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 เดือนนี้มาจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเอเชียเป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยทั้งจากทางการค้า การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดพันธบัตร และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐห่างกันถึง 1.9% เป็นสาเหตุสำคัญที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า
ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้นับจากนี้ไปเงินทุนจะไหลเข้ามาในเอเชียและไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างเนื่อง หากค่าเงินบาทผันผวนอย่างรวดเร็ว ภาครัฐอาจต้องเข้าไปบริหารจัดการในบางจังหวะ เพื่อลดความผันผวนลง นอกจากนี้ รัฐบาลควรดูแลเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐให้เหมาะสม โดยไม่เห็นด้วยกรณีที่แบงก์ชาติจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เพราะจะยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยถ่างมากขึ้น ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามามาก มีผลให้ค่าเงินบาทยิ่งแข็งค่าขึ้นยากต่อการแก้ไข ดังนั้นควรมองหาแนวทางอื่นในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อจะดีกว่า เชื่อว่ากระทรวงการคลังและแบงก์ชาติหารือกันอย่างตลอด เพียงแต่จะออกมาทิศทางใด
ช่วง 2 เดือนนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นรวดเร็ว 5-6% ก็แรงพอแล้ว ถ้าหากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐยิ่งถ่างมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เงินทุนไหลเข้ามามาก ส่งผลให้บาทแข็งค่าขึ้นอีก ยิ่งกระทบต่อSME
*** ปลายปีเห็นบาทหลุด 30 /ดอลล์ นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในปลายปีนึ้คงหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ 29 บาทกว่า/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (SME) ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักซึ่งปรับตัวไม่ทันดังนั้นภาครัฐควรเข้ามาดูแลช่วยเหลือโดยให้สถาบันการเงินผ่อนคลายความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มSME
จากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ปีนี้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารที่ตั้งเป้าไว้ 8.3 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 10%จากปีก่อนคงต้องปรับลดการขยายตัวลงบ้างเหลือ 9% ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและสิ่งทอก็ได้รับกระทบบ้างจากการแข็งค่าของเงินบาท
นายอาชว์ กล่าวต่อไปว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามากนัก เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และรัสเซีย โดยบริษัทยังมองโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้การลงทุนในต่างประเทศมีต้นทุนที่ต่ำลงส่วนการลงทุนในประเทศก็เป็นโอกาสในการเพิ่มเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 27 กันยายน 2553
ประธานสภาอุตฯ ระบุ หากธปท.ยังมีการส่งสัญญาณว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุ หากธนาคารแห่งประเทศไทย ยังมีการส่งสัญญาณว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ กรณีจะมีการชุมนุมปิดมาบตาพุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เตรียมนัดชุมนุมปิดมาบตาพุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ เห็นว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างมีเป้าหมาย และสร้างสรรค์มากกว่า ซึ่งในต่างประเทศ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ก็มีการดำเนินการในลักษณะนี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน ส่วนการออกใบอนุญาตให้โรงงานเดินหน้าเชิงพาณิชย์ เชื่อว่า จะทยอยออกใบอนุญาตได้ในโครงการที่ไม่อยู่ในข่าย 11 กิจการรุนแรง โดยขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของแต่ละโครงการในการขอใบอนุญาตจากภาครัฐ ขณะที่ ค่าเงินบาทในขณะนี้ ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องการให้ภาครัฐ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณดูแลค่าเงินบาทอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่หากยังมีการส่งสัญญาณว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ก็จะยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้นไปอีก โดยปัญหานี้ส่งผลให้ผู้ส่งออก มีรายได้ลดลง และกระทบกำลังซื้อในประเทศลดลงตามไปด้วย
นายพยุงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยังไม่กระทบต่อการจ้างงาน หรือมีการปิดกิจการลง เพียงแต่อยู่ในระหว่างการปรับตัว รับกับภาวะที่มีรายได้ และกำไรลดลงเท่านั้น
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 27 กันยายน 2553
ดีเปรสชั่นแมทธิวทำน้ำท่วมหนักทั่วอเมริกากลางและใต้ของเม็กซิโก
กัวเตมาลาซิตี -พายุโซนร้อนแมทธิวทำให้น้ำท่วมและลมกระโชกแรง ต้นไม้หักโค่นทั่วอเมริกากลางและทางตอนใต้ของเม็กซิโก ไร่อ้อยและกาแฟเสี่ยงเกิดน้ำท่วมขัง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำมันของเม็กซิโก
ประชาชนตามชายฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำในอเมริกากลางหอบลูกหลานและข้าวของหนีน้ำ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เร่งเปิดถนนที่ถูกโคลนถล่ม มีคนถูกคลื่นซัดหาย 1 คนในเอลซัลวาดอร์ และชาวประมงจมน้ำ 1 คนในนิการากัว พายุลูกนี้เป็นลูกที่ 13 ประจำฤดูเฮอริเคนในมหาสมุทรแปซิฟิก พัดถล่มรัฐเชียปาสทางตอนใต้ของเม็กซิโก ลมกระโชกแรงจนต้นไม้หักโค่น ทางการต้องอพยพผู้คน แต่คาดว่าพายุจะสลายตัวในอีกไม่กี่ชั่วโมง ท่าขนส่งน้ำมันในเม็กซิโกเปิดทำการอีกครั้งเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ ตามเวลาท้องถิ่น และคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อบ่อน้ำมันของเม็กซิโก
ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติของสหรัฐแจ้งว่า พายุมีความเร็วลมคงที่ลดลงเหลือ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมงแล้ว แต่เตือนว่า ยังจะเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง เพราะหย่อมความกดอากาศต่ำขนาดใหญ่ได้ก่อตัวในทะเลแคริบเบียน แม้ว่ามีโอกาสน้อยที่จะกลายเป็นไซโคลนในเร็ว ๆ นี้
ด้านผู้ปลูกอ้อยและกาแฟในอเมริกากลาง ซึ่งเผชิญฝนตกมาตลอดช่วงฤดูเฮอริเคนนี้ วิตกว่าพายุแมทธิวอาจทำให้การเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องล่าช้าออกไป ผลผลิตน้ำตาลเสี่ยงเสียหาย เพราะไร่อ้อยยังมีน้ำท่วมขัง ขณะที่ต้นกาแฟเสี่ยงเป็นโรคและขึ้นราจากสภาพอากาศชื้น.-สำนักข่าวไทย
จาก http://www.mcot.net วันที่ 27 กันยายน 2553
ไอทีดีเผยผลวิจัย 'เจาะเกษตรลาว'
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ไอทีดี) เปิดเผยผลการวิจัยสถานการณ์การลงทุนด้านการเกษตรในลาวเพื่อเป็นแนวทางช่วยเหลือนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุน ขณะที่ผู้เคยผ่านประสบการณ์การลงทุนในลาวเตือน แม้ไทยและลาวจะมีหลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างที่ต้องระวัง
ไอทีดี นำผลการวิจัยภายใต้โครงการศึกษาโอกาสและศักยภาพการลงทุนภาคการเกษตรของผู้ประกอบการไทยในสปป.ลาว มานำเสนอในการสัมมนาเรื่อง "โอกาสและความท้าทายต่อการลงทุนใน CLV (กัมพูชา ลาว เวียดนาม)" เมื่อวันพุธที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา นายเดชา ศุภวันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหนึ่งในคณะผู้ทำวิจัย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยดังกล่าวว่า เนื่องจากในเวลานี้ผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทยเข้าไปลงทุนในลาวเป็นจำนวนมาก แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคในด้านการติดต่อกับทางการหลายๆ ส่วน ทำให้การลงทุนไม่ราบรื่นอย่างที่คิด จึงได้ไปศึกษาดูว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการของไทยได้อย่างไรบ้าง
คณะวิจัยใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการศึกษาและลงพื้นที่เก็บข้อมูลสินค้าเกษตร 8 รายการโดยพิจารณาจากสินค้าที่นักลงทุนจากไทยเข้าไปลงทุนอยู่และมีศักยภาพที่น่าลงทุน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน กาแฟ ยางพารา และไม้ยูคาลิปตัส นายเดชากล่าวว่าจากสินค้าเกษตร 8 ชนิด อ้อยและน้ำตาลเป็นสินค้าที่ไทยเข้าไปลงทุนด้วยมูลค่าสูงที่สุด โดยมี 2 บริษัทน้ำตาลใหญ่ คือ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้น้ำตาลยังเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีศักยภาพสูงในแง่ของโอกาส เพราะลาวสามารถส่งออกสู่สหภาพยุโรปในอัตราภาษี 0%
ข้าวโพดหวานเป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในแง่การส่งออกหากย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศลาว เพราะนอกจากการส่งออกสู่สหภาพยุโรปจะไม่ต้องเสียภาษีแล้ว การส่งออกจากประเทศไทยยังถูกตั้งกำแพงภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (เอดี) สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปกติการนำเข้าจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จะต้องเสียภาษีสูงกว่า 50% บวกค่าเซอร์ชาร์จ (surcharge) อีก 50 บาท แต่ถ้านำเข้าจากลาวจะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าภายใต้กรอบอาฟต้า
ข้อมูลจากไอทีดีระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในลาวมากที่สุด มูลค่าการลงทุนระหว่างปี 2549-2551 อยู่ที่ 1,123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยจีนเป็นอันดับ 2 ที่ 1,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประเภทการลงทุนที่นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า 52.65% อุตสาหกรรมและหัตถกรรม 12.91% ส่วนการลงทุนด้านการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4.64%
"หลายคนอาจคิดว่าทำไมต้องย้ายฐานการผลิตไปที่ลาวในเมื่อทำในประเทศไทยก็ได้ แต่สำหรับสินค้าบางประเภท พื้นที่ในไทยมีจำกัด ขยายออกไปไม่ได้อีกแล้ว นอกจากนี้การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านกันเป็นการช่วยสร้างงานให้กับประชาชนลาว ส่งเสริมรายได้ให้พวกเขา ซึ่งจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนบ้านด้วย" นายเดชากล่าว อย่างไรก็ดี ขีดจำกัดในการเข้าไปลงทุนยังมีหลายเรื่อง อาทิ เรื่องแรงงานที่ยังไม่คุ้นเคยกับการทำการเกษตรเชิงพาณิชย์ ดังนั้นอาจจะต้องมีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพิ่มเติม เป็นต้น
ด้านดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าสปป.ลาวเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดเมื่อเทียบกับกัมพูชาและเวียดนาม เพราะมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อยู่ท่ามกลางตลาดขนาดใหญ่ ทั้งจีน ไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยในอนาคตลาวจะกลายเป็น Land Link ที่สำคัญในภูมิภาค การลงทุนในลาวจะเป็นการลงทุนเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าการผลิตขายภายในประเทศ นอกจากนี้ลาวยังมีทรัพยากรน้ำและที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งยังไม่มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อีกเป็นจำนวนมาก และลาวเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ ทางด้านการค้าจากองค์การสหประชาชาติในฐานะประเทศด้อยพัฒนาที่สุด
นายพิเศษ เอี่ยมสกุลรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท ลำปางฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ผักดอง ลูกชิด ผลไม้กระป๋อง และซอสปรุงรส กล่าวในแง่มุมของผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในการเข้าไปลงทุนทำการผลิตในสปป.ลาวเป็นเวลา 16 ปี ว่าได้เลือกประเทศลาวเนื่องจากปัจจัยทางด้านความอุดมสมบูรณ์ ด้านแรงงาน ด้านวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย และที่สำคัญที่สุด คือความสะดวกเพราะสามารถใช้คู่ค้าทางธุรกิจเดิมได้ นอกจากนี้ยังเห็นว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในลาว เพราะคนลาวนิยมสินค้าไทย จะทำให้เงินไหลกลับเข้าประเทศในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนในช่วงแรกต้องพบกับอุปสรรค เพราะในความเหมือนนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ วิถีชีวิตของคนลาวแตกต่างจากคนไทยในหลายเรื่อง ดังนั้นนายพิเศษจึงแนะนำว่านักลงทุนควรศึกษาและทำความเข้าใจธรรมชาติการใช้ชีวิตของคนลาวให้ดีเสียก่อน "ที่สำคัญที่สุด คืออย่ายกระบบเมืองไทยไปทั้งระบบ แนวทางในพระราชดำริ คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นแนวทางที่จะนำไปใช้ได้ดีที่สุด"
พร้อมกันนี้ นายพิเศษได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศลาว ว่าควรเลือกกิจกรรมที่เข้ากับคนหมู่มาก และผลิตภัณฑ์ต้องมีจุดขายในตลาดการแข่งขันโลก เพราะต้นทุนการผลิตในลาวไม่ถูก และขายตลาดในประเทศไม่ได้ แนวทางที่น่าสนใจคือการทำเกษตรกรรมอิงธรรมชาติแบบยั่งยืน เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการอาศัยธรรมชาติกลับมาเอื้อให้เกิดจุดเด่นทางการตลาดได้
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 27 กันยายน 2553
ดร.โกร่ง สับธปท.พ่ายยับแก้บาทแข็ง
นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนา โอกาสและความท้าทายต่อการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยระบุว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ผ่อนปรนเงื่อนไขให้นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศในช่วงที่มีแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า กรณีดังกล่าว คงไม่มีใครนำเงินออกไปลงทุนแน่นอน เพราะเก็บเงินไว้จะดีกว่า และคงไม่สามารถควบคุมเงินทุนไหลเข้าได้อีก
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาแบงก์ชาติ และ รัฐมนตรีคลัง ส่งสัญญาณว่าจะมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่ายังมีโอกาสได้กำไรแน่นอน จากแนวโน้มดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง และผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จึงอยากให้แบงก์ชาติหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นายวีรพงษ์ กล่าวอีกว่า ผู้บริหารแบงก์ชาติพูดหลอกคนไทยว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปตามภูมิภาค ทั้งที่ควรมองเศรษฐกิจของตัวเองมากกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือกำหนดนโยบายเอาใจธนาคารพาณิชย์มาก เกินไป
ขอย้ำว่า นักเก็งกำไรจากต่างชาติไม่มีทางเก็งกำไรให้ค่าเงินบาทแข็งค่า มีแต่จะเก็งกำไรและโจมตีให้เงินอ่อนค่าเท่านั้น เพราะเป็นช่องทางสะดวกในการเก็งกำไร
ด้านนางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดเงิน ธปท. กล่าวว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ร้อยละ 0.25 ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะเงินไหลออกจากสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทย เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นอีก แบงก์ชาติจึงได้เตรียมประกาศให้ผู้ส่งออกสามารถชำระค่าระวางเรือเป็นเงินตราต่างประเทศได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบ จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ส่งออก พร้อมกับอีก 5 มาตรการ ผ่อนคลายการลงทุนในต่างประเทศ โดยต้องรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้
จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 25 กันยายน 2553
ตั้งเป้าปี 2567 ปลูกอ้อยได้ผลผลิต 100%
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล หนึ่งในคณะทำงานด้านอ้อยและประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล
ทราย (กอน.) ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้โดยการแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแล ติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาอ้อย
ไฟไหม้ อันประกอบไปด้วย ผู้แทนชาวไร่อ้อย โรงงาน และราชการ โดยทางกลุ่มโรงงานน้ำตาลพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้เป็น
ไปอย่างมีประสิทธิภาพได้มีการกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงกว่า 60% ให้เหลือ 0% ภายในเวลา 15 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3
ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จากฤดูการผลิตปี 2552/2553 ซึ่งอยู่ที่ 63% ลงเหลือ 40% ภายในฤดูการผลิตปี 2557/2558
ระยะที่ 2 ลดจาก 40% เหลือ 20% ภายในฤดูการผลิตปี 2562/2563 และระยะที่ 3 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จาก 20% ลงเหลือ 0% ภายในฤดูการผลิตปี 2567/2568
จาก http://www.siamturakij.com วันที่ 24 กันยายน 2553
รมว.คลังลงนาม 5 มาตรการคุมเงินบาทแล้ว
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยกระทรวงการคลังจะออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่บุคคลรับอนุญาต (ฉบับที่ 8) และประกาศ
กระทรวงการคลัง เรื่อง การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 4) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้เป็น 5 มาตรการ ดังนี้ 1. ผ่อนคลายให้นิติบุคคลลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือได้ไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนด
2. อนุญาตให้นิติบุคคลให้กู้ยืมแก่กิจการที่ไม่ใช่กิจการในเครือได้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. เพิ่มวงเงินที่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในประเทศประสงค์จะโอนเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือที่พักอาศัยจากไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อรายต่อปี เป็นไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อรายต่อปี
4. เพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากไว้กับสถาบันการเงินในประเทศ ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) จึงผ่อนคลายให้ ในกรณีที่ไม่มีภาระผูกพัน ให้มียอดคงค้างในบัญชีไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนด
5. ขยายวงเงินค่าสินค้าส่งออกที่ไม่ต้องนำเงินเข้าประเทศจาก 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว ธปท. ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจะได้พิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอื่น ๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
การผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออกให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อความผันผวนของค่าเงินบาทได้อีกทางหนึ่ง
จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 23 กันยายน 2553
เปิดแนวรุกใหม่บุกตลาดลาตินอเมริกา
บราซิลเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และมีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการขยายตัวที่อัตราปีละ 7% เกือบๆ 90 %
ของรถยนต์ที่วิ่งกันอยู่บนท้องถนนของบราซิลเป็นรถประเภทที่เรียกว่า เอฟเอฟวี หรือ flex-fuel vehicle (FFV) หมายถึงรถที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษให้สามารถใช้พลังงานทางเลือก คือเอทานอล ผสมผสานกับน้ำมันเบนซิน (ซึ่งในบราซิล รัฐบาลกำหนดให้น้ำมันเบนซินต้องผสมเอทานอลอย่างน้อย 25% อยู่แล้ว) ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก คือ เอทานอล ที่ผลิตมาจากพืชผลการเกษตร เช่น อ้อย ทดแทนการพึ่งพาน้ำมันปิโตรเลียม อันเป็นนโยบายที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 และมีเป้าหมายว่าบราซิลจะไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศอีกต่อไป
จากนโยบายที่กำหนดให้รถที่จำหน่ายในบราซิลต้องสามารถใช้เอทานอลขั้นต่ำได้ 25% นี้เองทำให้รถประเภทเอฟเอฟวี มีการผลิตออกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และมีจำนวนบนท้องถนนอย่างน้อย 10 ล้านคัน กล่าวกันว่ารถประเภทนี้ในบราซิลมีหลากหลายรุ่นมากกว่าในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ด้วยซ้ำไป ปัจจัยสำคัญอีกประการคือการส่งเสริมการปลูกอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเอทานอลและมีการเพาะปลูกทั่วประเทศบราซิล โดยเฉพาะในเขตเซาเปาโล ที่นี่มีการผลิตอ้อยคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของปริมาณการผลิตอ้อยทั่วประเทศ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลและเชื้อเพลิงเอทานอลของประเทศบราซิล นอกจากนี้ ยังมีการรวมตัวกันเป็นองค์กรที่แข็งแกร่งในรูปของสหพันธ์ผู้ผลิตอ้อย น้ำตาล และเอทานอลแห่งประเทศบราซิล ภายใต้ชื่อองค์กรยูนิก้า (UNICA) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมและกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการการส่งออกน้ำตาล เอทานอลและไฟฟ้าชีวภาพของบราซิล เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
นางสาวนายานา ริซโซ โฆษกของยูนิก้ากล่าวว่า ทางองค์กรมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม 120 ราย ส่วนจำนวนผู้ปลูกอ้อยนั้นมีถึง 70,000 ราย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีการว่าจ้างแรงงานอย่างเป็นทางการถึง 1.28 ล้านคน มีโรงงานถึง 434 แห่ง (ตัวเลขล่าสุด ณ ปี 2553) และก็ทำรายได้ถึงปีละ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 8.54 ล้านบาท นอกจากการสร้างผลผลิตอ้อยป้อนให้กับอุตสาหกรรมเอทานอลเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เครื่องเบนซินแล้ว บราซิลยังกำลังมุ่งต่อยอดพัฒนาเอทานอลเพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ ในอุตสาหกรรมด้วย เช่น เคมีภัณฑ์ ไบโอพลาสติก การผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น และน้ำมันดีเซล (cane-diesel) เพื่อใช้กับรถบรรทุก
" เราประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เอทานอลกลายเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในรถยนต์ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา(2552) ซึ่งทำให้น้ำมันเบนซินกลายเป็นเชื้อเพลิงรองไปในที่สุด ก้าวต่อไปในอนาคตคือการผลักดันการวิจัยและพัฒนาการนำเอทานอลไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆให้มากที่สุด ยกตัวอย่าง การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเอทานอล ซึ่งปัจจุบัน (2553) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 3% ของกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม แต่ในอนาคตมีการตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตเป็น 14% ให้ได้ภายในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2563 อีกตัวอย่าง คือการพัฒนาเชื้อเพลิงดีเซลจากเอทานอล ปัจจุบันบริษัทท้องถิ่นของบราซิลมีการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติวิจัยและพัฒนาในเรื่องนี้อยู่ 2 รายด้วยกัน" ผู้บริหารของยูนิก้าระบุว่า 2 บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกา ได้แก่ บริษัท อามายริสฯ (Amyris) และแอลเอสไนน์ (LS9)
พัฒนาการดังกล่าวนับเป็นส่วนสำคัญของแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลและเอทานอลของบราซิล ซึ่งไม่เพียงมุ่งพัฒนาตลาดและอุปสงค์ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยับบทบาทออกสู่การพัฒนาตลาดในต่างประเทศเพื่อเพิ่มการส่งออก ด้วยการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมและเพิ่มอรรถประโยชน์การใช้เอทานอลดังกล่าวข้างต้น
สำหรับความร่วมมือด้านการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมเอทานอลระหว่างบราซิลกับประเทศไทยซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 5 ของโลกนั้น นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้หลายช่องทางด้วยกัน ซึ่งในเบื้องต้นนั้นน่าจะได้แก่การแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน รวมทั้งข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาเอทานอลเพื่อการผลิตเชื้อเพลิงดีเซลและไบโอพลาสติก นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังน่าจะสามารถร่วมมือกันได้ในการด้านการพัฒนาตลาดเอทานอลในต่างประเทศเป็นลำดับต่อไป
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 23 กันยายน 2553
แบงก์ชาติติดกับดักค่าเงินบาท สูตรสกัดเงินเฟ้อดึงดอลลาร์ไหลเข้า
แบงก์ชาติใช้มาตรการอ่อน ทำได้แค่เบรกความร้อนแรง ก่อนเดินหน้าสู่ 30 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง ต้อนรับผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ท่ามกลางโจทย์หินเงินเฟ้อเพิ่ม หากยึดสูตรขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ยิ่งเปิดช่องเงินต่างชาติไหลเข้ากินส่วนต่างเพิ่ม
ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวระดับเฉียด 31 บาท หลังจากที่เดินหน้าลงไปเกือบหลุด 30 บาท แม้รัฐบาลจะส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าดำเนินการ หลังจากที่มีแนวโน้มว่าภาคการส่งออกอาจจะได้รับผลกระทบในอีกไม่ช้า แต่ค่าเงินบาทก็อ่อนลงทันตาเมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนเมื่อ 15 กันยายน 2553
พร้อม ๆ กับท่าทีที่เอาจริงเอาจังในเรื่องการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทของไทย ที่หลายฝ่ายกังวลกันในเรื่องการงัดมาตรการกันสำรอง 30% มาใช้เหมือนในอดีต ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ท้ายที่สุดมาตรการดังกล่าวก็ไม่มีออกมา มีเพียงแนวทางในการดูแลค่าเงินบาทที่กระทรวงการคลังที่หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเน้นไปที่การเพิ่มช่องทางในการนำเอาเงินออกนอกประเทศของนิติบุคคลและคนไทยมากขึ้นเท่านั้น
การเพิ่มวงเงินในการซื้ออสังหาริมทรัพย์จาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐเป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มวงเงินฝากเงินสกุลต่างประเทศในแบงก์ไทยมากกว่า 5 แสนเหรียญสหรัฐ ขยายวงเงินค่าส่งออกสินค้าที่ไม่ต้องนำกลับมาในประเทศจาก 2 หมื่นเหรียญสหรัฐเป็น 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ และให้สถาบันการเงินของรัฐเข้ามาดูแลเรื่องสภาพคล่องให้กับกลุ่มธุรกิจ SME
หลักการดังกล่าวใกล้เคียงกับการผ่อนคลายการลงทุนในต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2553 โดยเฉพาะวงเงินในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศนั้นเป็นตัวเลขเดียวกัน
โจทย์ใหญ่ผู้ว่าฯใหม่
ระยะที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังรอความชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทยและภาครัฐบาล ทำให้ค่าเงินบาททรงตัวที่ระดับ 30.70-30.80 บาท เมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีมาตรการออกมาสกัดกัน ดังนั้นแนวโน้มค่าเงินบาทคงยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม ภายใต้ปัจจัยที่เกื้อหนุนเงินบาทแข็งค่า
นักการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า ทิศทางโดยรวมทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองไปในทางเดียวกันคือเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปฟื้นตัวได้ยาก ค่าเงินของประเทศเขาย่อมด้อยค่าลง ขณะที่ฟากฝั่งเอเชียเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารเงินย่อมต้องโยกเงินจากโซนยุโรปและสหรัฐเข้ามาหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในย่านเอเชีย
เมื่อเศรษฐกิจเอเชียฟื้น ทิศทางดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้น การหนีผลตอบแทนที่ระดับ 0.5% มาซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ระดับ 2-2.4% หรืออาจเข้ามาลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่ให้ผลตอบแทนระดับ 3-5% ในปัจจุบันย่อมคุ้มค่ากว่าการปล่อยให้ค่าเงินด้อยลง
รวมไปถึงทิศทางในอนาคตที่เศรษฐกิจฟื้น การจับจ่ายใช้สอยของคนแถบเอเชียมีมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องการสินเชื่อเพื่อขยายกิจการ อัตราเงินเฟ้อย่อมขยับขึ้นเห็นได้จากเงินเฟ้อในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมเพิ่มจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 3.3% ซึ่งเป็นการเพิ่มอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 11 เดือน โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นอีกจึงมีความเป็นไปได้
แม้แบงก์ชาติอาจจะเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม เพื่อชะลอการไหลของเงินต่างชาติเข้ามาหาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย แต่หากเงินเฟ้อขยับขึ้นสูงเรื่อย ๆ ท้ายที่สุดเชื่อว่าแบงก์ชาติคงไม่มีทางหลีกเลี่ยง เมื่อนั้นส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับของชาติยุโรปหรือสหรัฐย่อมกว้างขึ้นกว่าเดิม
ส่วนมาตรการในการขยายวงเงินออกนอกประเทศนั้น คงไม่สามารถช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทได้ ทั้งจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศอื่น รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้
มาบตาพุด - 3G หนุนบาทแข็ง
ในอีกด้านหนึ่งคือตลาดหุ้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่อมมีมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นมายืนเหนือระดับ 900 จุด ผู้บริหารเงินต่างชาติจึงสามารถบริหารเงินด้วยการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรหรือลงทุนทั้ง 2 ตลาดไปพร้อม ๆ กัน เห็นได้จากมูลค่าการซื้อขายทั้งในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้มีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาสูงมาก
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนอื่นอีกทั้งเรื่องความคลี่คลายจากกรณีมาบตาพุด ที่หลายกิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่ำไปได้ หรือการประมูล 3G ที่ทำให้หุ้นในกลุ่มสื่อสารคึกคักขึ้นมา แม้จะมีการยืดเรื่องออกไปบ้าง แต่เมื่อเห็นความพยายามที่จะผลักดันโครงการดังกล่าวแล้ว ท้ายที่สุดระบบโทรศัพท์ 3G ย่อมต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย
ในส่วนนี้ย่อมต้องมีเม็ดเงินจากต่างชาติอีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้เพื่อสนับสนุนการประมูลดังกล่าว แม้จะเป็นการเปิดให้เฉพาะบริษัทของไทย แต่ในทางปฎิบัติแล้ว บริษัทมือถือของไทยมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมถือหุ้นในบริษัทแม่แทบทั้งสิ้น เพราะเงินที่ใช้ในการประมูลครั้งนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ถือหุ้นต่างชาติ
บาทเดินหน้าแข็งต่อ
ค่าเงินบาทที่เดินหน้าสู่ระดับ 30 บาทหรืออาจหลุดลงไปแตะที่ 29 บาท จึงกระทบต่อผู้ส่งออก เห็นได้จากการแสดงความไม่พอใจในมาตรการของแบงก์ชาติในการสกัดกั้นค่าเงินที่เป็นมาตรการที่เบามาก เมื่อเทียบกับกรณีการลดค่าเงินด่องของเวียดนามหรือการเข้ามาแทรกแซงอย่างจริงจังของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบางประเทศมีมาตรการในการเก็บภาษีจากเงินทุนไหลเข้า
ยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตราเดิม และแนวโน้มของเงินเฟ้อในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น หากตัวเลขในเดือนกันยายนออกมาสูง การประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไปในวันที่ 20 ตุลาคมนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาเป็น 2% หรืออาจทำได้แค่ยืดการปรับขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป
สถานการณ์นี้เป็นเรื่องที่ยากต่อการตัดสินใจ เพราะหากปล่อยไว้อย่างนี้ภาคส่งออก ภาคการท่องเที่ยวย่อมได้รับผลกระทบ และจะทำให้เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามามากขึ้น หากออกมาตรการที่รุนแรงก็จะทำให้เม็ดเงินเหล่านี้ไหลออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ดัชนีตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงรวมถึงผลตอบแทนจากตลาดตราสารหนี้
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 23 กันยายน 2553
เงินทะลัก!บาทจ่อหลุด30 กรณ์เซ็นแล้ว5มาตรการ หุ้นพุ่งฝรั่งซื้อ4.2พันล้าน
2 แรงบวก เฟดคงดอกเบี้ย ธปท.ยังเฉย ดันบาทแข็งโป๊กแตะ 30.60 ต่อดอลลาร์แล้ว แบงก์ชาติจ่อเปิดช่องผู้ส่งออกชำระค่าระวางเรือเป็นเงินเหรียญ "กรณ์" รับอนุมัติแล้ว 5 มาตรการขนเงินลงทุนนอก กลุ่มอาหารโอดยอดส่งออกสูญ 8.2 พันล้านบาท หุ้นแรงดีไม่ตก ปิด 945 จุด ต่างชาติกระหน่ำซื้อ 4.2 พันล้านบาท
การประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไว้ที่ 0.00-0.25% บวกกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ออกมาตรการดูแล ส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 22 ก.ย.แข็งค่าต่อเนื่องไปแตะระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 30.64-30.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า การกลับมาแข็งค่าของเงินบาทเมื่อวันที่ 22 ก.ย. สาเหตุหนึ่งเกิดจากเฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนมองเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะฟื้นตัวช้าลงไป ประกอบกับเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ในระดับต่ำ จึงมีการคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และจะทำให้มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปอีกนาน มุมมองนี้ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าเอเชียรวมทั้งไทย เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนดีกว่า ทำให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคและเงินบาทแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกัน
"สถานการณ์เช่นนี้คงมีผลให้เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคและไทยเรามากขึ้น ดังนั้น ธปท.จึงเตรียมประกาศให้ผู้ส่งออกสามารถชำระค่าระวางเรือเป็นเงินตราต่างประเทศได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ส่งออกจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา เราจะพยายามออกประกาศเรื่องนี้พร้อมๆ กับ 5 มาตรการผ่อนคลายการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้คล่องตัวขึ้น" นางสุชาดากล่าว
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.ยังมีความจำเป็นต้องดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้เป็นในทิศทางเดียวกันกับตลาดในภูมิภาค เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดในการทำธุรกิจของภาคธุรกิจ
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ต่อในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า โดยอาจแข็งค่าไปที่ระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปี 2553
ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่า สถานการณ์เงินบาทมีแนวโน้มอาจจะแข็งค่าถึงปี 2554 ทำให้ ธปท.ไม่น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายครบทุกครั้งในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ได้เซ็นอนุมัติ 5 มาตรการผ่อนคลายค่าเงินบาทแข็งตามข้อเสนอของ ธปท.ซึ่งจะนำไปสู่การลดแรงกดดันของเงินบาท
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวในงานสัมมนา "อุตสาหกรรมอาหารก้าวไกล เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง" ว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปีนี้ลดลงรวม 8,259 ล้านบาท ส่งผลทำให้ภาพรวมการส่งออกอาหารทั้งปีมีมูลค่า 821,742 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 830,000 ล้านบาท ขยายตัว 9% หรือลดลง 1% จากที่คาดว่าจะขยายตัว 10%
ดัชนีหุ้นไทยยังร้อนแรง โดยปิดที่ 945 จุด เพิ่มขึ้น 7.79 จุด มูลค่าการซื้อขาย 42,363.18 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อ 786.83 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อ 195.24 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อ 4,244.46 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขาย 5,226.53 ล้านบาท.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 23 กันยายน 2553
เปิดมาตรการ คลายบาทแข็งระลอกแรก
หลังเงินลงทุนต่างชาติไหลทะลักเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอย่างไม่ขาดสาย จนทำให้ค่าเงินทั่วภูมิภาคแข็งค่าขึ้นแรงไปตามๆ กัน หลายประเทศต่างผุดมาตรการทางการเงินเพื่อรับมือกับสถานการณ์ค่าเงิน ++ผ่อนเกณฑ์เงินนำออกเพิ่ม
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมประกาศแพ็กเกจผ่อนคลายเงินทุนไหลออกในสัปดาห์นี้ เปิดทางเอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น หลังกระทรวงการคลังอนุมัติแล้วเมื่อ 17 กันยายนที่ผ่านมา แม้ไม่ได้ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯโดยตรงแต่เป็นการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถดูแลบริหารความเสี่ยงได้หรือบริหารเงินตราต่างประเทศได้ ซึ่งจะช่วยให้การปรับตัวของเงินบาทเกิดความสมดุล
มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ที่เพิ่มวงเงินจากเดิมไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี
การให้กู้ยืมแก่บริษัทในต่างประเทศที่ไม่ใช่บริษัทในเครือ จากเดิมที่ต้องขออนุญาตรายกรณี มีการผ่อนคลายเป็นให้กู้ยืมแก่บริษัทที่ไม่ใช่บริษัทในเครือ ไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี โดยไม่ต้องขออนุญาตรายกรณี
การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ ที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ จากเดิมที่จำกัดวงเงินว่า นิติบุคคลไม่เกิน 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และบุคคลธรรมดา ไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่อนคลายเป็นเพิ่มยอดคงค้างในบัญชีดังกล่าวเป็น 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
การลงทุนโดยตรงหรือการให้กู้ยืมในต่างประเทศของนิติบุคคล จากเดิมที่จะจำกัดวงเงินไว้ ก็มีการผ่อนคลายเป็นการลงทุน หรือให้กู้ยืมแก่บริษัทแม่และกิจการในเครือได้ โดยไม่จำกัดจำนวน
แม้จะเป็นมุกเก่าที่นำมาอัพเกรดใหม่ ตามที่บอร์ดนโยบายการเงิน ย้ำว่า "ธปท.คงใช้เครื่องมือเดิม ๆที่มีอยู่" แต่ก็น่าจะช่วยให้สถานการณ์เงินบาทเกิดความสมดุลขึ้น
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงนี้หากต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ก็ถือเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะขณะนี้เงินบาทแข็งค่า การออกไปลงทุนต่างประเทศจะทำให้ใช้เงินบาทน้อยลง ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้คนไทยที่ต้องการไปถือทรัพย์สินในต่างประเทศได้มากขึ้น
"มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เอกชนมีความต้องการเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปลงทุนมากขึ้น แม้ไม่ได้เป็นการดูแลค่าเงินบาทโดยตรง แต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนในการบริหารเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินลงได้ ถือเป็นการเปิดเสรีมากขึ้น" ++"กรณ์" ขอทบทวน 2 มาตรการเพิ่ม
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากมาตรการที่ธปท.เสนอให้กระทรวงการคลัง ( ก.คลัง) พิจารณาผ่อนผันเพื่อให้เกิดการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ก.คลังจะอนุมัติให้ได้ทั้งหมด ขณะนี้เหลือ 2 ใน 5 ข้อที่ก.คลังได้ขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะต้องมองถึงเหตุผล ความจำเป็นการเลือกแนวทางดังกล่าว รวมถึงผลต่อการลดแรงกดดันของค่าเงินแล้วจะทำให้เงินทุนไหลออกได้อย่างไร
"สองมาตรการดังกล่าวคือ 1.การให้นิติบุคคล หรือบุคคลไทยสามารถให้นิติบุคคลหรือบุคคลที่อยู่ต่างประเทศกู้ยืมเงินเป็นสกุลต่างประเทศในจำนวนมากขึ้น เพื่อทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออก ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดัน อัตราแลกเปลี่ยน และ2. การพิจารณาให้นิติบุคคล หรือบุคคลไทยลงทุนในบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยทั้ง 2 ข้อหากพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ ก.คลังก็จะอนุมัติข้อเสนอให้ทั้งหมด" ++ปรับโครงสร้างตลาดตราสารหนี้
อย่างไรก็ดีนอกเหนือจากการเพิ่มความเข้มข้นจากมาตรการเดิมที่ธปท.ทำอยู่อาทิ 1.การแทรกแซงค่าเงิน ( intervene ) 2.ผ่อนเกณฑ์การลงทุนต่างประเทศเพิ่ม คาดว่าทั้งก.คลังและธปท. ยังเดินหน้าเพิ่มมาตรการอื่นๆ รับมือสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยน อาทิการออกพันธบัตรระยะยาว ดูดซับสภาพคล่องจากทุนไหลเข้า ดังล่าสุด ( 21 ก.ย. ) นายกรณ์ได้เรียกประชุมทีมงานของธปท. เพื่อวางระบบที่จะปรับโครงสร้างตลาดตราสารหนี้ของประเทศ หลังจากพบว่า นักลงทุนต่างชาติแห่ขนเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาครัฐเป็นจำนวนมากอย่างผิดปกติ โดยวางแผนที่จะยืดอายุพันธบัตรในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น 1 วันที่ดอกเบี้ย 1.75% ในขณะที่ 14 วันให้ผลตอบแทน 1.6% ต่อปี เพื่อลดการเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศ
ถือเป็นการนัดหารือครั้งแรก ระหว่าง 2 ก.คลัง-ธปท. ที่ร่วมผนึกหามาตรการรับมือค่าเงินอย่างเป็นรูปธรรมชัด และตัดสินใจร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดซื้อคืนพันธบัตรที่ให้ผลแทนอยู่ในระดับสูง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ++ออกบอนด์ดูดทุนนอก
สอดคล้องกับนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดอาร์/พี 14 วันจำนวนมากหลังจากที่ ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบาย 2 ครั้ง โดยในเดือนก.ค. 2553 มีเงินไหลเข้าซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตร 19,327 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็น 30,441 ล้านบาทในเดือนส.ค. และล่าสุดในเดือนก.ย. 2553เพิ่มขึ้น 32,301 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยก็เพิ่มขึ้น 6.6% ในเดือนก.ค. 8.2% ในเดือนส.ค. และเดือนก.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 9.9% จากสิ้นปี 2552 ที่มีนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยเพียง 3.7%
นอกจากนี้สบน.เตรียมออกตราสารทางเงิน 3 ประเภท เพื่อดูดซับสภาพคล่องและเงินทุนให้เข้าซื้อตราสารในระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ 1. พันธบัตรรัฐบาลอายุ 50 ปี เริ่มไตรมากแรกปีงบ 2554 อัตราดอกเบี้ยเบื้องต้น 4.25% วงเงิน 5,000-10,000 ล้านบาท, 2.พันธบัตรอิงกับอัตราเงินเฟ้อมีอายุประมาณ 10 ปี โดยจะสอบถามความต้องการของนักลงทุนก่อน และ3. ตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น) ดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 12-20 ปี โดยการเพื่อแปลงหนี้เงินกู้จากธนาคารพาณิชย์วงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดเป็นการใช้นโยบายการคลังช่วยดูแลเงินทุนไหลเข้าในช่วงนี้
จาก http://www.thannews.th.com วันที่ 23 กันยายน 2553
จ.อุตรดิตถ์ ประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
จังหวัดอุตรดิตถ์ ประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทราย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค
นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทราย เนื่องจากขณะนี้น้ำตาลทรายยังมีราคาอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลาย จึงจำเป็นต้องกำกับดูแลระบบการค้าน้ำตาลทรายให้เกิดความเป็นธรรมและรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดมีผลบังคับใช้ในทุกท้องที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันถัดจากวันประกาศ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2553 เป็นต้นไป โดยเป็นสินค้าควบคุมที่อยู่ในบังคับแห่งประกาศ คือ น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ยกเว้นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ชนิดก้อนสี่เหลี่ยมบรรจุกล่อง หรือชนิดที่บรรจุในซองปริมาณสุทธิไม่เกินซองละ 10 กรัม และบรรจุในกล่องหรือภาชนะอื่นใด น้ำตาลทรายขาว (เกรด 1 และเกรด 2) น้ำตาลขาวสีรำ (เกรด 3) ให้ผู้จำหน่ายน้ำตาลทราย จำหน่ายปลีกไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 25.75 บาท น้ำตาลทรายขาวธรรมดา กก.ละ 24.75 บาท และน้ำตาลทรายสีรำ กก.ละ 24.25 บาท
สำหรับการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่มีการบรรจุถุงปริมาณสุทธิ 1 กิโลกรัม ที่ปิดผนึกแน่นหนา และมีฉลากระบุได้ไม่เกินกิโลกรัมละ 0.75 บาท กรณีบรรจุถุงที่มีลักษณะแตกต่างจากข้างต้น ให้คิดค่าภาชนะบรรจุไม่เกินกิโลกรัมละ 0.50 บาท จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ โทรศัพท์ 0-5581-7742
จาก http://thainews.prd.go.th วันที่ 22 กันยายน 2553
เปิดทาง"ลงทุนนอก"แก้บาทแข็ง "กรณ์"จ่อเซ็น5มาตรการ ธปท.ยันสัปดาห์นี้คลอดแน่
"กรณ์" จ่อเซ็นมาตรการสู้บาทแข็งตามข้อเสนอ ธปท. เปิดทางเงินไทยไหลลงทุนนอกได้เสรีมากขึ้น ด้าน "สุชาดา" ยันภายในสัปดาห์นี้คลอดแน่ ย้ำจับตาการเก็งกำไรตลาดตราสารหนี้ใกล้ชิด "ดุสิต" ชมแนวคิดดี แต่ผลจริงต้องรอดูหลังมาตรการมีผล
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมลงนามในการบังคับใช้มาตรการควบคุมดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอมา โดยสาระสำคัญคือ เพื่อให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยสามารถขยายการลงทุนไปต่างประเทศได้มากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงเป็นโอกาสในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในตลาดสากลด้วย
อย่างไรก็ดี การบังคับใช้มาตรการจะเป็นเมื่อใดต้องขึ้นกับการนำไปปฏิบัติของทาง ธปท.หลังจากลงนามแล้ว สำหรับมาตรการประกอบด้วย 1.การให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยลงทุนในบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศได้มากขึ้น 2.การให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยสามารถให้นิติบุคคลหรือบุคคลที่อยู่ต่างประเทศกู้ยืมเงินเป็นสกุลต่างประเทศในจำนวนมากขึ้น 3.การเพิ่มวงเงินที่นิติบุคคลหรือบุคคลโอนออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จากเดิมจำกัดไว้ที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มเพดานเป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ 4.การให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการฝากเงินสกุลเงินตราต่างประเทศไว้กับสถาบันการเงินในประเทศให้มียอดเงินคงค้างในบัญชีได้สูงถึง 5 แสนเหรียญสหรัฐ และ 5.มาตรการที่จะขยายวงเงินค่าสินค้าส่งออกที่ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาในประเทศเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ เป็น 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ธปท.จะออมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกได้ภายในสัปดาห์นี้ หลังกระทรวงการคลังอนุมัติแล้ว
ทั้งนี้ มาตรการผ่อนคลายเงินไหลออกไม่ได้ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐโดยตรง แต่เป็นการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการสามารถดูแลบริหารความเสี่ยงได้หรือบริหารเงินตราต่างประเทศได้ ทำให้ไม่ต้องรีบขายล่วงหน้าซึ่งจะช่วยให้การปรับตัวของเงินบาทเกิดความสมดุล
ส่วนผลกระทบต่อค่าเงินบาทนั้น มองว่ามาตรการดังกล่าวจะเหมือนเป็นการเปิดเสรีมากขึ้น และเป็นการปล่อยให้เงินบาทออกไปมากขึ้นไม่ถูกจำกัดก็จะทำให้มีความต้องการเงินตราต่างประเทศเพื่อนำไปลงทุนมากขึ้น ส่วนความกังวลเรื่องเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ ขณะนี้ ธปท.ตรวจสอบดูแลอยู่และยอมรับว่าการแข็งค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐเป็นผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ ทำให้ยากในการบริหารความเสี่ยง แต่ช่วงหลังๆ นี้ ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าในอัตราชะลอลงแล้ว
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการที่ ธปท. และกระทรวงการคลังได้มีการหารือเพื่อแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท มองว่าเป็นแนวความคิดที่ดี แต่เมื่อมาตรการออกมาแล้วจะสามารถช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้มากน้อยแค่ไหน.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 21 กันยายน 2553
ส.เครื่องดื่มวอนรัฐจัดสรรน้ำตาลเพิ่มหวั่นกระทบแผนผลิตรองรับปีใหม่
สมาคมอุตฯเครื่องดื่มยื่นหนังสือรอบ 2 วอนจัดสรรน้ำตาลทรายเพิ่มเติม 3.8 หมื่นตันหวังคำตอบสิ้นเดือนนี้หวั่นกระทบแผนการผลิตรองรับเทศกาลปีใหม่ หลังได้รับแจ้งไม่มีน้ำตาลแล้ว กอน.เล็งถกหามาตรการช่วยเร็วๆ นี้
นายประจวบ ตยคีพิสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารและโฆษกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯได้ทำหนังสือรอบ 2 ไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแจ้งย้ำถึงความต้องการน้ำตาลทรายของผู้ประกอบการเครื่องดื่มในช่วงสิ้นปีนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากอัตราการเติบโตของการบริโภคประมาณ 3.8หมื่นตันซึ่งหากภายในสิ้นก.ย.นี้ไม่มีคำตอบจะกระทบต่อการวางแผนการผลิตของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ก่อนหน้าสมาคมฯได้เข้าพบนายชัยวุฒิ บรรณวัฒต์ รมว.อุตสาหกรรมเพื่อแจ้งความต้องการน้ำตาลทราย นายชัยวุฒิจึงมอบหมายให้สมาคมฯไปประเมินถึงความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งสมาคมฯไปรวบรวมจากสมาชิกและพบว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีอัตราขยายตัวปีนี้เพิ่ม 7-8% โดยเฉลี่ยจึงทำให้มีความต้องการน้ำตาลทรายจากสมาชิกรวมประมาณ 3.8หมื่นตันจึงแจ้งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมช่วงส.ค. และเมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน)ได้แจ้งกลับมาว่าไม่สามารถจัดสรรน้ำตาลให้ได้เนื่องจากสต็อกน้ำตาลจากโรงงานหมดแล้ว
ช่วงสิ้นปีนี้เครื่องดื่มจะต้องมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ทำให้ความต้องการน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ถ้าไม่มีน้ำตาลก็คงไม่สามารถขยายการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เราก็หวังว่าภาครัฐจะหาทางช่วยเรื่องนี้ ซึงส่วนของน้ำตาลทรายที่รัฐจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ 1 แสนตันนั้นหากขายไม่ได้ในที่สุดแล้วกระทรวงอุตสาหกรรมจะดึงกลับคืนมาจัดสรรให้ภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ก็อยู่ที่นโยบายของ 2 กระทรวงที่จะเห็นชอบร่วมกันนายประจวบกล่าว
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สอน.ไปรวบรวมถึงความต้องการปริมาณน้ำตาลทรายในภาคอุตสาหกรรมทุกกลุ่มรวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ต้องการน้ำตาลเพิ่มเติมจากแผนที่เคยประเมินไว้เพื่อที่จะนำมารือในการประชุมกอน.ในช่วงสิ้นเดือนนี้
กรณีน้ำตาลทรายที่ซื้อจากเทรดเดอร์นั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะกระจายให้กับผู้บริโภครายย่อยเท่านั้นส่วนนี้คงจะไม่จัดสรรให้กับภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใดนายวิฑูรย์กล่าว
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 21 กันยายน 2553
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบหลักการโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวมวงเงิน 3,000 ล้านบาทนั้น โครงการดังกล่าวถือเป็นประโยชน์กับชาวไร่อ้อยมาก ดังนั้นโรงงานน้ำตาลจะเร่งแจ้งข่าวสารให้ชาวไร่อ้อยในแต่ละพื้นที่ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการขอสินเชื่อเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยมาใช้จัดเก็บอ้อยสดให้ทันต่อการเปิดหีบอ้อยประจำปี 2553/2554 ในปลายปีนี้
จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 กันยายน 2553
ผวาเงินหาย4พันล. อุตฯน้ำตาลหวั่นพิษบาทสูบรายได้หด
นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.) จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้ส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น หรือค่าพรีเมียมน้ำตาลทรายในตลาดอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากช่วงต้นปีนี้ที่ค่าพรีเมียมอยู่ในระดับต่ำมาก จนบางครั้งถึงขั้นต้องแถมส่วนลดให้ลูกค้า โดยล่าสุดค่าพรีเมียมอยู่ในระดับ 3.67 เซ็นต่อปอนด์ ซึ่งถือเป็นข่าวดีของการส่งออกน้ำตาลไทย โดย อนท.ได้ทำราคาซื้อขายน้ำตาลทรายล่วงหน้าไปแล้ว 60% เฉลี่ยที่ระดับ 19.2 -19.3 เซ็นต่อปอนด์ ส่วนน้ำตาลที่เหลือคาดว่าจะทำราคาได้ไม่ต่ำไปกว่าปีก่อนที่ทำได้ระดับ 19.1 เซ็นต่อปอนด์
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ช่วงนี้ค่าพรีเมียมน้ำตาลทรายในตลาดโลกเริ่มกลับมาอยู่ในระดับสูงอีกครั้ง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ทำให้ปริมาณความต้องการน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าพรีเมียมน้ำตาลทรายขาวในตลาดโลกล่าสุดสูงถึงตันละ 200 เหรียญสหรัฐ เมื่อรวมราคาขายแล้วทำให้มีราคาสูงถึงตันละ 800 เหรียญสหรัฐ
"แต่เป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะแข็งค่าขึ้นจนหลุดไปที่ระดับ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะจะทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายหายไปจากระบบ 4,000 ล้านบาท เพราะเดิมคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ" นายสุรัตน์ กล่าว
ด้านนายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยมีความกังวลเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2554/2555 ที่เดิมเคยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับตันละ 1,000 บาท อาจจะเหลือไม่ถึงตันละ 900 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อยก็เพิ่มสูงขึ้น จึงอาจต้องมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาในเร็วๆนี้
จาก http://www.naewna.com วันที่ 20 กันยายน 2553
ฝันที่เป็นจริง ชาวไร่อ้อยสุโขทัยได้เฮ
โรงงานน้ำตาลทิพย์ (สุโขทัย) ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2550 จนถึงปัจจุบัน เหลืออีกประมาณ 1 ปีเศษ เพื่อให้พร้อม เปิดหีบอ้อยได้ในปีแรก ในฤดูกาลผลิตปี 2554 และ 2555 เพื่อรองรับวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย และพื้นที่ จังหวัดใกล้เคียงอีก 3-4 จังหวัด โดยได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลทราย (สรข.1) 02-056/2553 โรงผลิตไฟฟ้าชีวมวล (สรข.5) 02-144/2553 เป็นที่เรียบร้อยแล้วตามกฎหมายกำหนด
โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไป เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยมี นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการ จังหวัดสุโขทัย เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ พร้อมด้วย นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลทิพย์ (สุโขทัย) และ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ นอกจากนี้ยัง ได้รับเกียรติจากนักการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้านักธุรกิจและประชาชนทั่วไปจำนวนมากร่วม ในพิธี
ความเป็นมาของโรงน้ำตาลแห่งนี้ แต่เดิมคือโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็น โรงงานน้ำตาลรัฐวิสาหกิจ สังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นโรงงานขนาด 3,000 ตัน ของอ้อยต่อวัน ก่อตั้งในปี 2484 มีอายุเก่าแก่ถึง 69 ปี ผู้ก่อตั้งคือ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ย้ายสถานที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มา ตั้งใหม่ที่จังหวัดสุโขทัย บนเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ ที่ตำบลบ้านตึกและตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีกำลัง การผลิตถึง 36,000 ตัน ของอ้อยต่อวัน
โรงงานน้ำตาลทิพย์ (สุโขทัย) แห่งนี้คาดการณ์ว่าในระยะแรกมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ ที่ 18,000 ตัน ของอ้อย ต่อวัน และทางโรงงานต้องการอ้อยเข้าหีบปีละประมาณ 2 ล้านตัน ในระยะนี้ โดยมีพื้นที่ปลูกอ้อยของเกษตรกรถึง 2 แสนไร่ ในโครงการ และระยะที่สองจะต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 36,000 ตัน ของอ้อยต่อวัน ต้องการอ้อยเข้าหีบปีละประมาณ 4 ล้านตัน คาดว่าจะต้องมีพื้นที่ปลูกอ้อยของเกษตรกรถึง 4 แสนไร่ พื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อยจากการ ส่งเสริมและรองรับวัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงอีก 2-3 จังหวัด
สำหรับอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะ ป้อนสู่โรงงานน้ำตาลทิพย์ (สุโขทัย) บริษัทฯ มีนโยบายส่งเสริมการผลิตอ้อยให้มีปริมาณเพียงพอกับการผลิตได้อย่างยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมการปลูกอ้อย ในเขตระยะทางขนส่งอ้อยไม่เกิน 50 กม. ก่อน เป็นหลักเพื่อช่วยประหยัดค่าขนส่งให้แก่พี่น้องชาวไร่อ้อยได้อีกทางและอย่างถาวร ลดต้นทุนในการขนส่งของชาวไร่เอง ได้อย่างมหาศาล ในแต่ละปี และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตาม ลำดับ
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากอ้อยเข้าหีบ ปีละ 4-5 ล้านตัน รายได้จากค่าอ้อยตันละ 1,000 บาท จะทำให้มีเงินสะพัดในท้องถิ่นปีละ 4-5 พันล้านบาท สร้างอาชีพชาวไร่อ้อยประมาณ 8,000-10,000 ราย สร้างงานที่เกี่ยวข้องและสร้างความ เจริญในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรของจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์มี รายได้ต่อหัวสูงขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ด้าน นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหารโรงงานน้ำตาลทิพย์ (สุโขทัย) กล่าวว่า บริษัทฯ ถือเป็นพันธกิจ รับผิดชอบต่อสังคมอย่างเต็มที่ โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกส่วนงาน ทุกระดับ ใส่ใจให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ดีมาเป็นอันดับแรกให้กับพื้นที่ท้องถิ่นชุมชน และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้ดี ทำงานใกล้บ้านประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป.
จาก http://www.dailynews.co.th วันที่ 20 กันยายน 2553
บางจากเล็งทุ่ม3พันล้านซื้อหุ้นร่วมทุนโรงงานเอทานอล
บางจากทุ่มเงิน 2,000-3,000 ล้านบาทเล็งซื้อหุ้นร่วมทุนโรงงานเอทานอลรองรับการใช้ที่เพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนลิตร/วันหลังยกเลิกขายเบนซิน91 ปี 55
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรร่วมทุนโรงงานผลิตเอทานอล 1-2 ราย โดยคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เพื่อหาแหล่งผลิตเอทานอลที่มั่นคง รองรับปริมาณความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นจากวันละ 2 แสนลิตรเป็น 4 แสนลิตร/วัน หลังมีแผนยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 91 ในปี2555 ทำให้ต้องหันมาจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทุกประเภท
ทั้งนี้มีมีนโยบายชัดเจนจะยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 91 ซึ่งยอมรรับว่าจากนี้ไปจะทำให้รายได้หายไปปีละ 100 ล้านบาท เนื่องจากเมื่อเทียบการจำหน่ายเบนซินจะได้ค่าการตลาดน้ำมันที่ดีกว่าการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ ดังนั้นนอกจากการหาแหล่งผลิตเอทานอลไว้ใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์แล้ว การเข้าไปซื้อหุ้นในโรงงานเอทานอลก็หวังจะได้กำไรจากการลงทุนในส่วนนี้เพื่อทดแทนรายได้ที่ลดลงไป
อย่างไรก็ดีบางจากมีแผนขยายปั๊มแก๊สโซลฮอล์อี20ให้ครบ 500 แห่งจากปัจจุบันมีอยู่ 300 แห่ง และขยายปั๊มแก๊สโซฮอล์อี85 ให้ครบ 50 แห่ง ภายในปี 2555 โดยจะเป็นการชดเชยหัวปั๊มน้ำมันของเบนซิน91 ที่จะยกเลิกจำหน่าย
ก่อนหน้านี้บางจากเคยมีแผนที่จะตั้งโรงงานเอทานอลเอง แต่เมื่อพิจารณาแล้วควรจะวิธีการซื้อหุ้นในโรงงานเอทานอลที่เดินเครื่องการผลิตอยู่แล้วดีกว่าซึ่งไม่ควรถือหุ้นต่ำกว่า 40% วิธีการดังกล่าวน่าจะทำให้การบริหารได้ดีกว่า เพราะบางจากไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มาก่อน ซึ่งคาดว่าภายสิ้นปีนี้จะมีข้อสรุปแผนการซื้อหุ้นโรงงานเอทานอล 1 แห่งก่อน หลังจากนั้นในปีถัดไปจะซื้อหุ้นอีก 1แห่ง โดยระหว่างนี้กำลังศึกษาถึงเงื่อนไขการลงทุนที่เหมาะสมนายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวถึง สถานการณ์ราคารน้ำมันสัปดาห์นี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเพราะราคาน้ำมันตลาดโลกเคลื่อนไหวอยู่ที่ 73 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นสูงสุด 78 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30.72 บาท/เหรีญญสหรัฐ เป็นผลดีทำให้ต้นทุนราคาน้ำมันลดลง ดังนั้นในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงทรงตัวในระดับสูงทำให้ราคาขายปลีกไม่ปรับเพิ่มขึ้น โดยทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้น จะมีผลต่อราคาน้ำมัน 50 สต./ลิตร ซึ่งขณะนี้ค่าการตลาดน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 1.40 บาท/ลิตร ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกไม่เปลี่ยนแปลงราคาในประเทศยังคงอยู่ในระดับเดิม
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 20 กันยายน 2553
อุตฯเครื่องดื่มเตือนรัฐระวังน้ำตาลไม่พอปลายปี
อุตฯเครื่องดื่มร้องหวั่นน้ำตาลไม่พอผลิตรองรับเทศกาลปีใหม่ คาดต้องการใช้น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น 3.8 หมื่นตัน เร่งกระทรวงหาทางช่วยเหลือ
นายประจวบ ตยคีพิสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารและโฆษกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นครั้งที่ 2 เพื่อย้ำถึงความต้องการน้ำตาลทรายของผู้ประกอบการเครื่องดื่มในช่วงสิ้นปีนี้ ที่จะเพิ่มขึ้นจากอัตราการเติบโตของการบริโภค ทำให้ต้องการน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นประมาณ 3.8 หมื่นตัน จากเดิมที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำตาลไปแล้วในช่วงต้นปี จึงต้องการทราบความชัดเจนว่าจะมีการจัดสรรให้อย่างไร เพราะหากภายในสิ้นก.ย.นี้ไม่มีคำตอบจะกระทบต่อการวางแผนการผลิตของผู้ประกอบการ
ก่อนหน้าสมาคมฯได้เข้าพบนายชัยวุฒิ บรรณวัฒต์ รมว.อุตสาหกรรมเพื่อแจ้งความต้องการน้ำตาลทราย นายชัยวุฒิจึงมอบหมายให้สมาคมฯไปประเมินถึงความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งสมาคมฯไปรวบรวมจากสมาชิกและพบว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีอัตราขยายตัวปีนี้เพิ่ม 7-8% โดยเฉลี่ยจึงทำให้มีความต้องการน้ำตาลทรายจากสมาชิกรวมประมาณ 3.8 หมื่นตันจึงแจ้งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมช่วงเดือนส.ค. และเมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน)ได้แจ้งกลับมาว่าไม่สามารถจัดสรรน้ำตาลให้ได้เนื่องจากสต็อกน้ำตาลจากโรงงานหมดแล้ว
"ช่วงสิ้นปีนี้เครื่องดื่มจะต้องมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลปีใหม่ทำให้ความต้องการน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นมาก ในช่วงนี้ถ้าไม่มีน้ำตาลก็คงไม่สามารถขยายการผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ เราก็หวังว่าภาครัฐจะหาทางช่วยเรื่องนี้ ซึ่งส่วนของน้ำตาลทรายที่รัฐจัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ 1 แสนตันนั้นหากขายไม่ได้ในที่สุดแล้วกระทรวงอุตสาหกรรมจะดึงกลับคืนมาจัดสรรให้ภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ก็อยู่ที่นโยบายของ 2 กระทรวงที่จะเห็นชอบร่วมกัน"นายประจวบกล่าว
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สอน.ไปรวบรวมถึงความต้องการปริมาณน้ำตาลทรายในภาคอุตสาหกรรมทุกกลุ่มรวมถึงอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ต้องการน้ำตาลเพิ่มเติมจากแผนที่เคยประเมินไว้เพื่อที่จะนำมารือในการประชุมกอน.ในช่วงสิ้นเดือนนี้
"กรณีน้ำตาลทรายที่ซื้อจากเทรดเดอร์นั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะกระจายให้กับผู้บริโภครายย่อยเท่านั้นส่วนนี้คงจะไม่จัดสรรให้กับภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด"นายวิฑูรย์ กล่าว
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า แนวทางการช่วยหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้น ขณะนี้จะพยายามประสานงานให้โรงงานน้ำตาลจัดสรรน้ำตาลให้ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าน้ำตาลที่โรงงานอุตสาหกรรมทำสัญญาไว้กับโรงงานน้ำตาลถูกใช้ไปหมดหรือยัง รวมทั้งจะเสนอให้นำน้ำตาลทรายที่ออกมาในช่วงต้นของการเปิดหีบฤดูกาลใหม่ในช่วงปลายปี ออกมาให้กับภาคอุตสาหกรรมก่อน ซึ่งน่าจะพอดีกับช่วงที่ผู้ประกอบการต้องการ
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 20 กันยายน 2553
ส่งออกพล่านขอลูกค้าขึ้นราคา15% อุตฯอ้อยอ่วมสูญ1.4หมื่นล.-"สุชาติ"อัดขึ้นดอก
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า, เสื้อผ้า, อัญมณีและเครื่องประดับ, เยื่อและกระดาษ, อาหารสำเร็จรูป และเกษตรแปรรูป เริ่มเจรจากับลูกค้าต่างประเทศในการขอปรับขึ้นราคาสินค้า 10-15% เพื่อลดปัญหาการขาดทุนจากการแข็งค่าของเงินบาทไทย เพราะในปีนี้สูญเสียรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยน 2-3 แสนล้านบาทแล้ว ล่าสุดคู่สัญญาในต่างประเทศให้ปรับราคาสินค้าแล้วเฉลี่ยที่ 5% ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเสริมสภาพคล่อง
นายสุรัตน์ ธาดาชวสกุล ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย (อนท.) กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าเงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาลในไทยในปีหน้า ปกติจะส่งออกปีละประมาณ 4-5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ในการคำนวณราคาในระบบอ้อยน้ำตาลที่กำหนดไว้ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ เงินบาทที่แข็งค่ากว่า 2 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่กว่า 30 บาท/เหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มว่าในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 29 บาท/เหรียญสหรัฐ ดังนั้นคาดว่าหากเงินบาทแข็งค่า 2 บาท/เหรียญสหรัฐ รายได้ของน้ำตาลที่ส่งออกจะหายไปประมาณ 4,000 ล้านบาท
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี"54/55 ที่เดิมเคยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,000 บาท/ตัน อาจจะเหลือไม่ถึง 900 บาท ดังนั้นจึงอาจต้องมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหานี้ นอกจากนี้ ชาวไร่อ้อยกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องของภัยแล้งต้นปี และตอนนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่อีก ประเมินว่าฤดูกาลผลิตปี"53/54 ปริมาณอ้อยอาจไม่ถึงระดับ 60 ล้านตันอ้อย ซึ่งถือว่าปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงจากฤดูกาลผลิตปี"52/53 ปีก่อนเกือบ 10 ล้านตัน ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยสูญเสียรายได้ประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ตรงนี้ยังไม่รวมกับปัญหาค่าเงินบาทที่กำลังเกิดขึ้น
นายกำธร กล่าวว่า ขณะนี้ค่าเงินที่แข็งกว่าที่อยู่ในสูตรคำนวณกว่า 2 บาท/เหรียญสหรัฐแล้ว คาดว่าจะกระทบต่อรายได้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับปริมาณอ้อยที่ลดลงคาดว่าจะทำให้รายได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปีนี้หายไปไม่น้อยกว่า 13,000-14,000 ล้านบาท
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า เวลานี้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นจาก 33 บาท/เหรียญสหรัฐ เมื่อช่วงต้นปี"53 มาอยู่ที่ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือสูงขึ้น 8% มากที่สุดในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่เคยขยายตัวสูงถึง 50% ในช่วงต้นปี น่าจะหดตัวลง ไม่ถึง 10% ทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะชาวบ้านที่ปลูกข้าว เนื่องจากราคาข้าวขาว ที่เคยคาดกันไว้ว่าจะสูงถึงตันละ 12,000 บาท แต่เวลานี้อยู่ที่ตันละ 7,000-8,000 บาทเท่านั้น
นายสุชาติ กล่าวว่า เหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เพราะมีเงินร้อนไหลเข้ามาเก็งกำไร ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร เนื่องจากดอกเบี้ยของไทยสูงกว่าดอกเบี้ยตลาดโลกเป็นอย่างมาก โดยอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 1.75% ขณะที่ดอกเบี้ยโลกอยู่ประมาณ 0.25% จึงมีการนำเงินเหรียญสหรัฐเข้ามาเก็งกำไร ส่งผลให้ดัชนีในตลาดหุ้นสูงขึ้น ซึ่งตนคาดการณ์ว่าในวันหนึ่งจะสูงเกินเพดานภูเขาหิมาลัย และเมื่อถึงจุดหนึ่งนักลงทุนต่างประเทศจะเทขายออกจนดัชนีตลาดหุ้นลดลงจนต่ำกว่าพื้นมหาสมุทร เมื่อถึงช่วงเวลานั้นจะทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนกไปทั่ว หรือแพนิก ในตลาดหุ้นไทย และจะทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤต
นายสุชาติ กล่าวว่า จากการติดตามพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างไม่ถูกจุด เพราะยิ่งขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตนมีข้อเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ธปท. แก้ปัญหาอย่างเดียว เพราะหากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งต่อไป ผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี กว่า 3.8 ล้านรายเจ๊งกันหมด
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 20 กันยายน 2553
ผู้ส่งออกรอธปท.ไม่ไหวปรับราคา ชี้บาทแข็งทำเอกชนสูญ3แสนล้าน
ผู้ส่งออกทนแบงก์ชาติไม่ไหว แห่เจรจาลูกค้าอ้อนขอขึ้นราคาสินค้า 10-15% ลดปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน มั่นใจไม่เสียลูกค้าเหตุคู่แข่งก็ดัมพ์ราคาไม่ไหว ชาวไร่อ้อยหวั่นกระทบต้นทุน
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า เสื้อผ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เยื่อและกระดาษ อาหารสำเร็จรูป และเกษตรแปรรูป เริ่มเจรจากับลูกค้าต่างประเทศในการขอปรับขึ้นราคาสินค้า 10-15% เพื่อลดปัญหาการขาดทุนจากการแข็งค่าของเงินบาทไทย เพราะในปีนี้สูญเสียรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยน 2-3 แสนล้านบาทแล้ว ล่าสุด คู่สัญญาในต่างประเทศให้ปรับราคาสินค้าแล้วเฉลี่ยที่ 5% ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยเสริมสภาพคล่อง ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยปิดกิจการจะเกิดความยุ่งยากในการหาลูกค้าใหม่ในประเทศอื่น ที่สำคัญลูกค้ายังยอมรับคุณภาพสินค้าไทยอยู่
ทั้งนี้ยอมรับว่าภาคเอกชนคงรอมาตรการความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเข้ามาสกัดไม่ให้ค่าเงินแข็งมากนักไม่ได้อีกแล้ว เพราะตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยแข็งค่า 32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ไม่เห็น ธปท.เข้าไปดำเนินการอย่างจริงจังนัก แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง หรือแม้แต่คณะผู้บริหารของ สอท. ขอความร่วมมือให้ดำเนินเร่งด่วนแล้วก็ตาม ขณะเดียวกันคู่แข่งทางการค้าของไทยหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย จีน และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมาใช้นโยบายเจาะตลาดโลกโดยการดัมพ์ราคาสินค้าให้ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ล่าสุดผู้ประกอบการของประเทศเหล่านี้เริ่มขาดทุนอย่างหนัก ทำให้หลายรายต้องถือโอกาสเจรจากับคู่ค้าในการปรับขึ้นราคาสินค้าเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ช่วงนี้สิ่งที่ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินการคือ การชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปถึงปลายปีก่อน เพราะหากยังปรับขึ้นจะทำให้เงินต่างประ เทศไหลเข้ามาในประเทศไทยอีกจนกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งตัว
นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารได้ขอปรับราคาสินค้าส่งออกบางรายการขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เช่น ข้าว สับปะรดกระป๋อง ปลากระป๋อง น้ำตาล มันสำปะหลัง เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงมากจนกระทั่งขาดทุน-กำไรไปแล้ว แต่ถือว่าโชคดีที่ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคก็มีการขอปรับราคาสินค้าขึ้นเช่นเดียวกับไทย จึงทำให้สินค้าไทยยังสามารถแข่งขันได้
นายทวี ปิยะวัฒนา รองประธาน ส.อ.ท. ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เอฟ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและทำตลาดอาหารแปรรูปจากเนื้อปลาแช่แข็งยี่ห้อพีเอฟพี (PFP) กล่าวว่า บริษัทได้ขอปรับราคาสินค้าขึ้น 10 เซนต์ต่อกิโลกรัม กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก เพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นมา แต่ยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่มีลูกค้ารายใดตอบรับเลย นอกจากนี้ กลางปีที่ผ่านมาบริษัทเคยขอปรับราคาสินค้าไปแล้ว 5-10 เซนต์ต่อกิโลกรัม
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยตอนนี้เป็นกังวลเกี่ยวกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 54/55 ที่เดิมเคยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,000 บาทต่อตันอ้อย อาจจะเหลือไม่ถึง 900 บาทต่อตันอ้อย ในขณะที่ต้นทุนของชาวไร่อ้อยก็เพิ่มสูงขึ้น จึงอาจต้องมีการหารือกันในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหานี้.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 20 กันยายน 2553
ของเก่ายังไม่หมดดอดขอใหม่ พาณิชย์ขอน้ำตาลล้านกระสอบ
กระทรวงพาณิชย์หน้ามึน เตรียมขอ กอน.จัดสรรน้ำตาลโควตาพิเศษให้ทุกปี 1 ล้านกระสอบ อ้างสร้างสมดุลตลาด ยันไม่คืนโควตาที่เหลือให้กระทรวงอุตสาหกรรม แถมขอขึ้นงวดอีก 1.9 แสนกระสอบให้ครบ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา 6 เดือนกระจายได้เพียง 3 แสนกระสอบ จาก 8 แสนกระสอบ
นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานบริหารน้ำตาลโควตา ก. พิเศษ และประธานคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนโยบายจะเสนอให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณาจัดสรรน้ำตาลจำหน่ายในประเทศ (โควตา ก.) เป็นพิเศษให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้บริหารจัดการประจำทุกปีการผลิตปีละ 1 ล้านกระสอบ (กระสอบละ 100 กิโลกรัม) เพื่อสร้างความสมดุลให้กับตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดูแลแบ่งจัดสรรน้ำตาล ดังกล่าวให้กับผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก (ยี่ปั้ว ซาปั้ว) เพื่อกระจายไปสู่ผู้บริโภค หากเกิดปัญหาน้ำตาลตึงตัวอย่างเช่นในปีนี้
"ผมจะเสนอที่ประชุม กอน. ซึ่งจะประชุมประมาณปลายเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ ให้จัดสรรน้ำตาลโควตา ก.พิเศษสำรองปีละ 1 ล้านกระสอบ ให้กระทรวงพาณิชย์ทุก ๆ ปี เพราะเชื่อว่าวิธีนี้จะสร้างความสมดุลเป็นธรรมให้กับตลาด และกระจายน้ำตาลสู่มือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง โดยนโยบายนี้ผมคิดว่าจะมีผลดีกับตลาด และจะเสนอให้ทางกระทรวงพาณิชย์พิจารณาก่อนเร็ว ๆ นี้" นายมนัสกล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการรับมอบน้ำตาลโควตาพิเศษ กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินการรับมอบต่อ และจะไม่คืนโควตาให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม คงเป็นความเข้าใจผิดในการสื่อสารที่บอกว่า กระทรวงพาณิชย์ยอมคืนน้ำตาลส่วนที่ยังจำหน่าย ไม่หมดให้ พร้อมกับจะเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมขึ้นงวดน้ำตาลส่วนที่เหลืออีก 1.9 แสนกระสอบต่อไป ยืนยันว่า จะทยอยรับมอบและบริหารจัดการน้ำตาลทรายโควตา ก.ที่ได้รับจัดสรรมาจนถึงปลายฤดูการผลิตราวเดือนธันวาคมให้หมด
"ขณะนี้ผมอนุมัติให้ยี่ปั๊วซาปั๊วไปรับมอบแล้ว 7 แสนกระสอบ จากปริมาณที่เราได้รับจัดสรรมา 8 แสนกระสอบ แต่ได้รับรายงานว่า ขณะนี้รับมอบจริงเพียง 3-4 แสนกระสอบ ซึ่งกระทรวงก็ยังจะเดินหน้า รับมอบน้ำตาลนี้ต่อเนื่องจนถึงปลายฤดูอีก 2 เดือน ถึงราวเดือน ธ.ค. เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาน้ำตาลขาดแคลนอีก และน้ำตาลที่กระทรวงอุตฯซื้อคืนมาจากเทรดเดอร์ก็ยังติดปัญหาเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%" นายมนัสกล่าว
นายมนัสกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการส่ง เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการรับมอบน้ำตาลที่มีความล่าช้า และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับโรงงานน้ำตาลทรายหลายแห่ง เพิ่มจากเดิมที่แจ้งความดำเนินคดีกับโรงงานไทยเอกลักษณ์ที่ปฏิเสธการจำหน่าย ขณะนี้ก็ยังดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมาย
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า การขึ้นงวดน้ำตาลโควตาก.พิเศษที่จัดสรร ให้กับยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้ง 14 ราย ผ่านมา 6 เดือน จากที่มีการขึ้นงวดจำหน่ายลอตแรกจำนวน 803,000 กระสอบ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถรับมอบและกระจายน้ำตาลไปสู่ท้องตลาดได้หมด ได้แค่ 340,000 กว่ากระสอบเท่านั้น
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 20 กันยายน 2553
"กรณ์" เผย สศค.จ่อคลอด 5 มาตรการแก้บาทแข็งตามข้อเสนอ ธปท. เพิ่มวงเงินลงทุน-กู้ยืมไปต่างประเทศ ขยายเพดานเงินจากการส่งออกที่ไม่ต้องนำเข้าไทย
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างพิจารณา 5 มาตรการที่จะประกาศในเร็วๆ นี้ เพื่อดูแลค่าเงินบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอมา โดยตามหลักการคิดว่าคงไม่มีปัญหา อย่างน้อย 3 ใน 5 มาตรการจะมีการดำเนินการแน่นอน ส่วนอีก 2 มาตรการอยู่ระหว่างพิจารณาผลกระทบข้างเคียงให้รอบคอบ
"เชื่อว่ามาตรการที่จะประกาศ น่าจะช่วยลดระดับแรงกดดันค่าเงินในส่วนที่คลังพอจะช่วยได้ ส่วนภาระหลักในการดูแล ธปท.ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตอนนี้อ่อนค่ามาก โดยแนวโน้มเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐยังชะลอตัวอย่างนี้ ดอลลาร์ก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ อยู่แล้ว" นายกรณ์กล่าว
สำหรับ 5 มาตรการ ได้แก่ 1.การให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยลงทุนในบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศได้มากขึ้น 2.การให้นิติบุคคลหรือบุคคลไทยสามารถให้นิติบุคคลหรือบุคคลที่อยู่ต่างประเทศกู้ยืมเงินเป็นสกุลต่างประเทศในจำนวนมากขึ้น เพื่อทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกเพื่อลดแรงกดดันอัตราแลก เปลี่ยน 3.การเพิ่มวงเงินที่นิติบุคคลหรือบุคคลโอนออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จากเดิมที่ จำกัดไว้ที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีข้อเสนอจาก ธปท.เพิ่มเพดานเป็น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
4.การให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการฝากเงินสกุลเงินตราต่างประเทศไว้กับสถาบันการเงินในประเทศ ให้มียอดเงินคงค้างในบัญชีได้สูงถึง 5 แสนเหรียญสหรัฐ และ 5.มาตรการที่จะขยายวงเงินค่าสินค้าส่งออกที่ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาในประเทศเพิ่มขึ้นจาก ณ ปัจจุบัน 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ เป็น 5 หมื่นเหรียญสหรัฐ.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 18 กันยายน 2553
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขายน้ำตาล กล่าวว่า ในวันที่ 20 ก.ย. กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) จะเริ่มกระจายน้ำตาลโควตา ค ที่ซื้อคืนมาจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลในไทย จำนวน 743,500 กระสอบ ให้กับผู้ซื้อจำนวน 46 ราย ปริมาณ 45,790 กระสอบ ในราคาขายหน้าโรงงานรวมภาษี คือน้ำตาลทรายขาว 20.33 บาท/ก.ก ทรายขาวบริสุทธิ์ 21.44 บาท/ก.ก. หลังจากนั้นทยอยกระจายน้ำตาลดังกล่าวอีกสัปดาห์ละ 50,000 กระสอบไปจนถึงปลายปี ทั้งนี้ ปริมาณน้ำตาลที่กระจายออกไปนี้เมื่อรวมกับงวดปกติอีก 403,000 กระสอบ เป็น 453,000 กระสอบ จะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในตลาดให้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลนที่ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ ช่วยทำให้ราคาน้ำตาลในไทยปรับลดลง จากขณะนี้บางพื้นที่ที่ไกลๆ มีราคาแพงถึง 30 บาท/ก.ก. คาดว่าจะช่วยทำให้ราคาน้ำตาลลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 25 บาท/ก.ก.
สำหรับผู้ค้าที่ต้องการน้ำตาลสามารถยื่นคำขอมาที่ศูนย์บริหารการผลิต โทร. 0-2221-0847 โดยต้องเป็นผู้ที่ค้าขายน้ำตาลมาเกิน 3 ปี ให้หน่วยงานราชการใน อาทิ เทศบาล รับรองการค้าขายน้ำตาล เนื่องจากกระทรวงต้องการให้น้ำตาลที่ซื้อคืนมานี้ กระจายไปยังผู้บริโภคอย่างแท้จริง
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 18 กันยายน 2553
กระทรวงอุตฯ เริ่มขายน้ำตาลซื้อคืนโควตา ค 4.5 หมื่นกระสอบวันที่ 20 ก.ย.นี้ คาดช่วยกดราคาขายลง 5 บาท/ก.ก.
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขายน้ำตาล กล่าวว่า ในวันที่ 20 ก.ย. กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)จะเริ่มกระจายน้ำตาลโควตา ค ที่ซื้อคืนมาจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในไทย(จำนวน 743,500 กระสอบ) ให้กับผู้ซื้อ 46 รายปริมาณ 45,790 กระสอบ ในราคาขายหน้าโรงงานรวมภาษี คือน้ำตาลทรายขาว 20.33 บาท/ก.ก ทรายขาวบริสุทธิ์ 21.44 บาท/ก.ก. หลังจากนั้นทยอยกระจายน้ำตาลดังกล่าวอีกสัปดาห์ละ 50,000 กระสอบไปจนถึงปลายปี
ทั้งนี้ปริมาณน้ำตาลที่กระจายออกไปนี้เมื่อรวมกับงวดปกติอีก 403,000 กระสอบ เป็น 453,000 กระสอบ จะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำตาลในตลาดให้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำตาลขาดแคลนที่ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ ช่วยทำให้ราคาน้ำตาลในไทยปรับลดลง จากขณะนี้บางพื้นที่ที่ไกลๆ มีราคาแพงถึง 30 บาท/ก.ก. คาดว่าจะช่วยทำให้ราคาน้ำตาลเฉลี่ยในไทยปรับลดลงอยู่ในระดับราคาควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ หรือเฉลี่ยในระดับ 25 บาท/ก.ก.
สำหรับผู้ค้าที่ต้องการน้ำตาลสามารถยื่นคำขอมาที่ศูนย์บริหารการผลิต โทร 02-221-0847 โดยต้องเป็นผู้ที่ค้าขายน้ำตาลมาเกิน 3 ปี ให้หน่วยงานราชการใน อาทิ เทศบาล รับรองการค้าขายน้ำตาล เนื่องจากกระทรวงต้องการให้น้ำตาลที่ซื้อคืนมานี้ กระจายไปยังผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงจะไม่ขายให้โรงงานอุตสาหกรรม และผู้ซื้อรายใหญ่ โดยมีข้อกำหนดว่าจะกระจายไม่เกิน 3,000 กระสอบ/รายที่ขอมา
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 17 กันยายน 2553
บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3/53 (พ.ค.-ก.ค.53) น่าผิดหวังขาดทุนสุทธิ 53 ล้านบาท แย่กว่าไตรมาสก่อนหน้าที่กำไรสุทธิ 101 ล้านบาท และช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 154 ล้านบาท
บริษัทมีการบันทึกค่าปรับจากการยกเลิกสัญญาขายน้ำตาลจำนวน 111 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายการนี้ยังมีกำไรปกติอยู่ 58 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นลดลงมากเหลือ 16.4% แย่กว่าไตรมาส 3/52 ที่ 19.9%
รวมแล้วงวด 9 เดือน KSL ทำกำไรสุทธิได้เพียง 250 ล้านบาท (0.16 บาท/หุ้น) ลดลง 71% yoy ซึ่งแนวโน้มงวดไตรมาส 4 คาดว่าจะย่ำแย่กว่างวดไตรมาส 3 เพราะโรงไฟฟ้ามีการปิดซ่อมบำรุงนานและเร็วกว่าปกติเพราะวัตถุดิบมีปัญหา อีกทั้งธุรกิจเอทานอลมีอัตรากำไรที่ลดลง รวมถึงการบันทึกต้นทุนค่าอ้อยที่เพิ่มขึ้นเมื่อปิดฤดูกาล และจะมีการบันทึกต้นทุนค่าขนย้ายเครื่องจักรจากโรงงานเก่าไปโรงงานใหม่จำนวนราว 30 ล้านบาท
ดังนั้นจึงต้องปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี"52/53 ลงจาก 402 ล้านบาท เป็น 181 ล้านบาท และปรับลดกำไรสุทธิปี"53/54 ลง 2.3% เป็น 799 ล้านบาท ราคาหุ้นปัจจุบันยังซื้อขายแพงที่ PER ปี"52/53 และ ปี"53/54 สูงถึง 95 เท่า และ 21.5 เท่า ตามลำดับ ด้วยผลการดำเนินงานที่ยังมีแนวโน้มลดลง
บล.กิมเอ็ง จึงยังคงแนะนำ ขาย โดยประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้วิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) อัตราคิดลดที่ 11% ได้ราคาเหมาะสมปี"54 ที่ 9.60 บาท
จาก http://www.khaosod.co.th วันที่ 17 กันยายน 2553
ธปท.ปัด"ยาแรง"คุมบาทแข็ง เอกชนใจชื้นเงินร้อนผวา หุ้นดิ่งลึก19จุดก่อนดีดกลับ
"ธาริษา" ยัน ธปท.ยังไม่ออกมาตรการสกัดบาทแข็ง ชี้ข่าวลือคงมาจากตลาดเก็งผลประชุม กนง.นัดพิเศษ เล็งดึง ธสน.อุ้มเอสเอ็มอีทำเฮดจิ้ง "จัตุมงคล" ระบุหากฉีดยาแรงถูกด่าขรมแน่ ส.อ.ท.เริ่มใจชื้น เงินร้อนเก็งกำไรเริ่มผวาถูกควบคุม หุ้นดิ่งลึก 19 จุด ก่อนดีดกลับติดลบ 1 จุด หลังแบงก์ชาติปัดข่าวลือ
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวลือตามห้องค้าหลักทรัพย์ที่ระบุว่า ธปท.จะมีการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทว่า เพิ่งกลับจากต่างประเทศเมื่อเช้าวันที่ 15 ก.ย. จึงไม่ทราบว่าข่าวลือที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย. เกิดจากสาเหตุใด แต่ในส่วนของ ธปท.ยืนยันว่าการดูแลค่าเงินยังคงเป็นไปตามนโยบายเดิมคือ ธปท.ไม่ได้มีระดับค่าเงินที่เหมาะสมในใจว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับใด "เข้าใจว่าข่าวลืออาจเกิดจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีการประชุม กนง.นัดพิเศษ เพื่ออัพเดตสถานการณ์ต่างๆ ให้บอร์ดได้รับทราบ ซึ่งบอร์ดก็เห็นด้วยกับแนวทางที่ ธปท.ดำเนินการอยู่ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป และบอร์ดเองก็ได้ขอให้เราติดตามดูแลค่าเงินต่อไป" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ธปท.ได้เชิญผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาหารือถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเข้าใจว่าการทำประกันความเสี่ยง (เฮดจิ้ง) มีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งเรียกเงินประกันบางส่วนในการทำเฮดจิ้ง ดังนั้น ธปท.จะไปดูว่ามีแนวทางในการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งอาจขอให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยส่งออก (ธสน.) เข้ามาช่วยดูแลด้วย
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธานกรรมการ ธปท. กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ทราบถึงข่าวลือที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ และไม่ทราบด้วยว่า กนง.มีประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 10 ก.ย. จึงไม่ทราบว่า ธปท.จะมีมาตรการอะไรเป็นพิเศษออกมาหรือไม่
"หากแบงก์ชาติออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าจริงคงถูกรุมด่าอีกแน่ แต่ถ้าเป็นนโยบายที่ช่วยให้ค่าเงินอ่อนไปบ้าง อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทางที่ดีต้องให้เอกชนบริหารตัวเองดีที่สุด โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออกที่เป็นรายใหญ่ควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เพราะแบงก์ชาติเองก็ได้ผ่อนเกณฑ์ให้โดยไม่ต้องขออนุญาตแล้ว" ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่ ธปท.ส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาดูแลการแข็งค่าของเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกลของระบบเศรษฐกิจ และมีมาตรการจัดการกับเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไร ซึ่งเมื่อมีข่าวลือเกิดขึ้นในตลาด เงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรเริ่มหวั่นไหว มีการเทขายทำกำไรทั้งเงินบาทและตลาดหุ้น โดยมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทมีรายละเอียดทางเทคนิคหลายวิธี ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้พิจารณา
หุ้นไทยช่วงเช้าร่วงไป 19 จุด แตะ 902.46 จุด ก่อนจะฟื้นตัวปิดลบ 11 จุดในเที่ยง และหลังจาก ธปท.ออกมายืนยันไม่ออกมาตรการเพิ่มเติม ทำให้ดัชนีปรับตัวขึ้นทันที และปิดที่ระดับสูงสุด 921.10 จุด ลดลง 0.29 จุด มูลค่าการซื้อขาย 41,255.93 ล้านบาท สถาบันขาย 3,314.57 ล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ขาย 113.46 ล้านบาท ต่างชาติขาย 266.54 ล้านบาท รายย่อยซื้อ 3,694.57 ล้านบาท.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 16 กันยายน 2553
กอน.ตั้งเป้าลดการเผาอ้อยใน 15 ปี
กอน.เตรียมแผนแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ ส่งเสริมการตัดอ้อยสด ตั้งเป้าลดปริมาณการเผาอ้อยให้เหลือ 0% ใน 15 ปี เพื่อคงค่าความหวาน และคุณภาพอ้อยให้ดีที่สุด
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล หนึ่งในคณะทำงานด้านอ้อยและประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้กำหนดแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยกำหนดเป้าหมายการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 0% ภายในเวลา 15 ปี จากปัจจุบันที่มีอ้อยไฟไหม้อยู่ที่ระดับสูงกว่า 60% เพื่อให้ได้อ้อยที่มีคุณภาพ และคงค่าความหวานไว้
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จากฤดูกาลผลิตปี 2552/2553 ซึ่งอยู่ที่ 63% ลดลงเหลือ 40% ภายในฤดูกาลผลิตปี 2557/2558 ระยะที่ 2 ลดจาก 40% เหลือ 20% ภายในฤดูกาลผลิตปี 2563/2563 ระยะที่ 3 ลดปริมาณอ้อยไฟไหม้จาก 20% เหลือ 0% ภายในปี 2567/2568
ในทางปฏิบัติจริง การลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ให้เหลือ 0% หรือไม่มีอ้อยไฟไหม้เลยนั้นคงเป็นไปได้ยาก เพราะอาจมีสาเหตุอื่นนอกเหนือจากการจงใจเผาอ้อย เช่น ภัยธรรมชาติ หรือการเผาอย่างอื่นในบริเวณใกล้เคียง แล้วลุกลามมาติดอ้อย เป็นต้น ดังนั้น เป้าหมาย 15 ปี หากลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ลงเหลือไม่ถึง 10% ก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
สำหรับการดำเนินการได้มีการกำหนดมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว โดยมาตรการในระยะสั้น จะเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการตัดอ้อยสด เพื่อลดอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง ทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายส่วนกลาง
ขณะเดียวกันจะเร่งรัดจัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนชาวไร่อ้อยและโรงงานในการจัดซื้อรถตัดอ้อย โดยใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกทั้งสนับสนุนองค์กรจัดตั้งในรูปแบบบริษัทกลาง โดยความร่วมมือระหว่างโรงงาน ชาวไร่อ้อย และหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดหาแรงงานตัดอ้อยเพื่อบริการตัดอ้อย และการนำต้นแบบโลจิสติกส์ในการวางแผนการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง
มาตรการที่คาดว่าจะจูงใจชาวไร่มากที่สุดให้ คือ การให้สิทธิพิเศษแก่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสด สามารถขอความช่วยเหลือจากภาครัฐได้ เช่น หากตัดอ้อยสดเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะลดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือได้สิทธิพิเศษกรณีกู้เงินซื้อรถตัดอ้อย หรือได้สิทธิซื้อปุ๋ยราคาพิเศษ เป็นต้น นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
สำหรับมาตรการระยะกลาง จะจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ และกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย นอกจากนี้ จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานในการจัดการพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมสำหรับการใช้เครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวและส่งอ้อยเข้าสู่โรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่มาตรการระยะยาว จะส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรตัดอ้อยขนาดเล็ก และเครื่องมือสำหรับการขึ้นอ้อย การสาง การสับ และคลุกใบอ้อย เป็นต้น
จาก http://www.posttoday.com 13 กันยายน 2553
แฉโพยหุ้นกลุ่มได้-เสีย บาทแข็งค่า ธุรกิจนำเข้ารุ่ง-ส่งออกร่วง
เปิดโพยแฉหุ้นกลุ่มได้-เสีย จากกรณีบาทแข็งค่า โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ กลุ่มนำเข้าวัตุถดิบและเครื่องจักรจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาฯ เหล็ก ยานยนต์ และขนส่ง ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะจำพวกสินค้าการเกษตร
บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน ระบุว่า นับตั้งแต่สิ้นปี 2552 จนถึง ส.ค.2553 ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว 6.18% ซึ่งเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และมาเลเซีย และบทสมมติฐานว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่ามายืนที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2554 ขยายตัวลดลงเหลือ 3.9% จากเดิมขยายตัว 4.8%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากเพราะเงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1% จะทำให้การส่งออกลดลง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรจะลดลง 0.54% หมวดที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ สินค้าอุตสาหกรรมประเภท รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าจะลดลง 0.46%
ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลดีจากบาทแข็งค่ าคือ กลุ่มที่นำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักรจากต่างประเทศและมีรายได้หลักในประเทศรวมถึงกลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศ ดังนั้น จึงแนะนำ 1.กลุ่มรับเหมาฯ และอสังหา เช่น บ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์( ITD ) บ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ งแอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) บ.ช.การช่าง( CK) บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น (TTCL ) แอลพีเอ็นดีเวลล็อปเมนต์ (LPN) บ.พฤกษาเรียลเอสเตท (PS) เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ (AP) เนื่อง จากต้นทุนเหล็กก่อสร้างและเครื่องจักรก่อสร้างนำเข้าที่น่าจะลดลง รวมถึงต้นทุนในการขนส่ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะช่วยสนับสนุนให้ราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบถูกลง (มาร์จินดีขึ้น)
2.กลุ่มเหล็ก ทาทาสตีล (ประเทศไทย) (TSTH) และ สหวิริยาสตีล (SSI) ได้ประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์
3.กลุ่มยานยนต์ สมบูรณ์แอดวานซ์ (SAT) ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) อาปิโก ไฮเทค (AH) เนื่องจากต้นทุนชิ้นส่วน และเครื่องจักรนำเข้าเป็นสกุลดอลลาร์ส่วนใหญ่ แต่ระยะยาวอาจจะมีผลกระทบหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินคาดเนื่องจาก อาจถูกแรงกดดันด้านมาร์จิ้นจาก Supplier ที่เป็นผู้ประกอบชิ้นส่วน (Assembly) ส่งออก
4.กลุ่มขนส่ง (ที่มีหนี้ต่างประเทศ) คาด การบินไทย( THAI) อาร์ซีแอล( RCL) ได้ประโยชน์จาก FX gain เพราะสัดส่วนสกุลเงิน EUR และ USD สูง แต่ ท่าอากาศยาน(AOT) (ผลกระทบยังไม่ชัดเจนยังต้องรอปิดงวด) ปัจจุบันน่าจะมี FX loss จากมีเงินกู้เยนสูง และ ค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบบาทในปัจจุบัน
จาก http://www.manager.co.th 13 กันยายน 2553
กอน.ผ่าทางตัน ซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค. เปลี่ยนผู้ซื้อใหม่ เลี่ยง "สรรพากร" เก็บ VAT 2 ต่อ
ปัญหาน้ำตาลตึงตัวที่เกิดขึ้นมา ตั้งแต่ต้นปี 2553 ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลก "สูงกว่า" ราคาจำหน่ายภายในประเทศ (โควตา ก.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการขอน้ำตาลโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ มากระจายออกสู่ตลาดของกระทรวงพาณิชย์ หรือ การให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซื้อน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ที่ขายล่วงหน้าไปแล้วกลับคืนมาจำหน่ายในประเทศ
ปรากฏว่าการดำเนินการกระจาย น้ำตาลทรายลงสู่ตลาดภายในประเทศของทั้ง 2 หน่วยงานเป็นไปอย่างล่าช้ามาก โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์เพิ่งมีการกระจายน้ำตาลทรายผ่าน "ยี่ปั๊วจัดตั้ง" ไปได้แค่ 341,375 ล้านกระสอบ ขณะที่น้ำตาลโควตา ค. ที่ซื้อกลับคืนมา 743,500 กระสอบ ของกระทรวงอุตสาหกรรมยังติดขัดปัญหาการเรียกเก็บภาษี (VAT) จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถนำ ออกมาจำหน่ายได้
ซื้อโควตา ค.คืน แต่ติดภาระภาษี
ในส่วนการดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการ ได้มอบหมายให้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ดูแลตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน โดยกระทรวงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ
1)คณะกรรมการรับซื้อน้ำตาล โควตา ค. มี นายประเสริฐ ปตนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เป็นประธาน พร้อมตัวแทนหลายหน่วยงานเป็นกรรมการ อาทิ กระทรวงพาณิชย์-ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)-สำนักงานอัยการสูงสุด-สำนักงบประมาณ-โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย รวมทั้งสิ้น 12 คน กับ 2)คณะกรรมการจัดจำหน่ายน้ำตาลที่ซื้อคืนกลับมา มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์-กระทรวงเกษตรและสหกรณ์-สำนักงานอัยการสูงสุด-โรงงานน้ำตาล และชาวไร่อ้อย
ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดซื้อได้เปิดประมูลซื้อน้ำตาล จากผู้ค้าส่งออก (เทรดเดอร์) ได้ข้อยุติ 3 รายที่เสนอราคาขายเข้ามาต่ำสุด ได้แก่ บริษัทออกัส ทอปเฟอร์ (August Topfer) จากเยอรมนี, บริษัทบุงกี้ (Bunge) จากสหรัฐอเมริกา และบริษัทหลุยส์ เดร์ฟัส (Louis Dreyfus) จากสวิตเซอร์แลนด์ โดยกองทุนอ้อยฯได้เข้าไปซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์ทั้ง 3 ราย รวม 74,350 ตัน หรือ 743,500 กระสอบ แบ่งเป็นน้ำตาลทรายขาว 52,900 กระสอบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 690,600 กระสอบ ซื้อในช่วงราคาตันละ 705-720 เหรียญสหรัฐ หรือซื้อเฉลี่ยที่ราคา 23 บาท/กิโลกรัม โดยกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะใช้เงินในการซื้อน้ำตาลครั้งนี้ประมาณ 1,700 ล้านบาท
แม้จะได้ข้อยุติว่ากองทุนอ้อยฯจะซื้อน้ำตาลคืนจากเทรดเดอร์รายใด จำนวนเท่าไหร่แล้วก็ตาม แต่ก็เกิดปัญหาเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่กองทุนอ้อยฯจะต้องเข้ามารับภาระ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น จากเดิมที่คิดกันง่าย ๆ ว่า เมื่อกองทุนอ้อยฯทำสัญญาซื้อน้ำตาลคืนจากเทรดเดอร์ในราคาตลาดโลกรวม พรีเมี่ยม และรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เมื่อนำไปขายต่อให้กับยี่ปั๊ว/ซาปั๊วก็จะเป็นราคาควบคุมหน้าโรงงาน รวมกับภาษี 7% เท่ากับกองทุนอ้อยฯก็จะรับภาระ "ส่วนต่าง" ของราคาน้ำตาลที่ซื้อมาแพง แต่นำมาขายถูกเท่านั้น (ซื้อเฉลี่ย 23 บาท/กิโลกรัม ขายเฉลี่ย 20 บาท/กิโลกรัม)
แต่ในทางปฏิบัติ โรงงานน้ำตาลที่ขายน้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ให้กับผู้ค้า ต่างประเทศและมีการส่งออกน้ำตาลจริง ตามกฎหมายจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ได้รับสิทธิ์เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 0%) ดังนั้นการคิดราคาน้ำตาลก็จะไม่รวมภาษี แต่เมื่อผู้ค้าต่างประเทศนำน้ำตาลกลับเข้ามาขายภายใน (ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง น้ำตาลโควตา ค.ที่ซื้อกลับคืนมายังไม่ได้ ขนย้ายออกจากโกดัง)
กรมสรรพากรกลับตีความในกรณีนี้ว่า น้ำตาลลอตดังกล่าวไม่ได้เป็นน้ำตาลส่งออก แต่เป็นสินค้าที่นำกลับเข้ามาขายภายใน ผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบในการชำระภาษีตามคำสั่งของกรมสรรพกรที่ ป.97/2543 คิดเป็นมูลค่าของภาษีที่ต้องเสียประมาณ 97 ล้านบาท ในประเด็นนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ว่า กองทุนอ้อยฯหรือโรงงานน้ำตาลจะเป็น ผู้รับภาระเสียภาษี
ที่ผ่านมา กองทุนอ้อยฯพยายามหารือกับกรมสรรพากร เพื่อให้ "ยกเว้น" การเก็บภาษี ในส่วนดังกล่าว แต่กรมสรรพากรก็ยังยืนยันที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่สามารถยกเว้นการเก็บภาษีได้ ประเด็น ดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นโยบายการซื้อน้ำตาลโควตา ค.กลับคืนมาจำหน่ายภายในประเทศล่าช้า จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถนำน้ำตาลจำนวนดังกล่าวมากระจายได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
เลี่ยง VAT ทำสัญญาซื้อขายใหม่
ล่าสุด นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ออกมากล่าวถึงปัญหานี้ว่า เมื่อ เร็วนี้ ๆ กองทุนอ้อยฯได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กอน.ให้พิจารณา และที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงวิธีการซื้อน้ำตาลโควตา ค.ใหม่ กล่าวคือจากเดิมที่กองทุนอ้อยฯซื้อน้ำตาลโควตา ค. คืนจากเทรดเดอร์ 3 ราย รวม 743,500 กระสอบ แล้วถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี 2 ต่อ จากเทรดเดอร์ที่คืนน้ำตาลโควตา ค.ให้กับโรงงานและเทรดเดอร์ ขายน้ำตาลจำนวนนั้นให้กับกองทุนอ้อยฯก็ เปลี่ยนมาเป็นการยกเลิกสัญญาซื้อขายเดิมที่กองทุนอ้อยฯซื้อน้ำตาลคืนจากเทรดเดอร์ มาเป็นการซื้อกับโรงงานน้ำตาลแทน
ส่วนโรงงานน้ำตาลก็ยกเลิกสัญญาการส่งมอบน้ำตาลให้กับเทรดเดอร์ ด้วยการยอมเสียค่าปรับให้เป็น "ส่วนต่าง" ราคาน้ำตาลตามราคาตลาดโลก ตัวอย่าง เช่น โรงงาน A ขายน้ำตาลล่วงหน้าให้กับ เทรดเดอร์ A ในราคาตันละ 660 เหรียญสหรัฐ การยกเลิกสัญญาการส่งมอบโรงงานต้องเสียค่าปรับให้กับเทรดเดอร์ คิดส่วนต่างจากราคาน้ำตาลตลาดโลก หากราคาน้ำตาลช่วงดังกล่าวอยู่ที่ตันละ 720 เหรียญสหรัฐ เท่ากับโรงงานน้ำตาลเสีย ค่าปรับให้กับเทรดเดอร์ 60 เหรียญสหรัฐ และโรงงานก็นำน้ำตาลลอตดังกล่าวมาขายให้กับกองทุนอ้อยฯตามสัญญาใหม่ในราคา 720 เหรียญสหรัฐ รวม VAT
ด้วยวิธีการนี้เชื่อว่ากลางเดือนกันยายนจะสามารถส่งมอบน้ำตาลโควตา ค. ลอตแรกที่ซื้อกลับคืนมาจากโรงงานได้จำนวน 279,000 กระสอบ
ต่อจากนั้นกองทุนอ้อยฯก็จะจำหน่ายน้ำตาลทรายในราคาควบคุมหน้าโรงงานรวม VAT แบ่งเป็น น้ำตาลทรายขาวกิโลกรัมละ 19 บาท รวม VAT 7% เป็น 20.33 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท รวม VAT 7% เป็น 21.40 บาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว กองทุนอ้อยฯ ไม่ต้องรับภาระภาษี แต่จะรับภาระเฉพาะ "ส่วนต่าง" ของราคาน้ำตาลที่ซื้อแพงและขายถูกตามราคาควบคุมเท่านั้น ซึ่งตกประมาณ 230-250 ล้านบาท ส่วนกรมสรรพากรก็ไม่เสียหายอะไร
สำหรับการกระจายหรือขายน้ำตาลทรายออกสู่ท้องตลาดก็จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เช่นเดียวกัน จากเดิมกำหนดการกระจายน้ำตาลออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกกระจายน้ำตาล 79,000 กระสอบ ให้กับยี่ปั๊ว/ซาปั๊ว 16 ราย ปรับเปลี่ยนมาเป็นไม่ต้องกำหนดเป็นเฟสการจำหน่าย แต่ค่อย ๆ ทยอยกระจายน้ำตาล 745,000 กระสอบ ออกแต่ละงวด งวดละ 50,000 กระสอบ จำนวน 15 สัปดาห์ พร้อมเปิดเสรีให้ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วทั่วประเทศมาขอซื้อน้ำตาลลอตนี้จาก กองทุนอ้อยฯได้ แต่มีเงื่อนไขยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจะต้องมีประวัติ การค้าน้ำตาลไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยได้รับการรับรองจากส่วนราชการ เทศบาล และอุตสาหกรรมในพื้นที่นั้น ๆ ซึ่งน้ำตาลลอตนี้จะไม่จำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมโดยตรง แต่จะมุ่งกระจายสู่ผู้บริโภคเท่านั้น
อย่างไรก็ตามกว่าที่กระบวนการแก้ไขปัญหาจะเสร็จสิ้น นายวิฑูรย์ยอมรับว่า "สถานการณ์น้ำตาลตึงตัวในปัจจุบันเริ่มคลี่คลายลงแล้ว กล่าวคือมีน้ำตาลที่ขึ้นงวดและค้างกระดานอยู่ประมาณ 1.2 ล้านกระสอบ ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลโควตาพิเศษของกระทรวงพาณิชย์ 400,000 กว่ากระสอบ เป็นของโรงงานน้ำตาลประมาณ 800,000 กว่ากระสอบ แต่การซื้อน้ำตาลโควตา ค. กลับคืนมากระจายสู่ตลาดครั้งนี้ "เชื่อว่าคงไม่ทำให้น้ำตาลล้นตลาด แต่จะ ส่งผลให้ราคาจำหน่ายปรับตัวลดลง"
จาก http://www.prachachat.net 13 กันยายน 2553
โควตาพิเศษน้ำตาลล้านกระสอบเหลือบานเบอะ
นอกเหนือจากแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะน้ำตาลตึงตัวของกระทรวงอุตสาหกรรมในการซื้อน้ำตาลโควตา
ค.คืนเพื่อนำมาจำหน่ายภายในประเทศแล้ว
กระทรวงพาณิชย์ยังเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้าร่วมแก้ไขปัญหานี้ด้วย
โดยขอน้ำตาลโควตาพิเศษไปจัดสรรเองจำนวน 1 ล้านกระสอบ
โดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มี นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี เป็นประธาน
ได้มีมติจัดสรรน้ำตาลจำนวนดังกล่าวให้กับกระทรวงพาณิชย์ไปตั้งแต่เดือนมีนาคม
ทั้งนี้น้ำตาลทรายโควตาพิเศษได้ถูกนำมาขึ้นงวดจำหน่ายลอตแรก จำนวน 803,000 กระสอบ นับจากวันที่ กอน.มีมติถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว ปรากฏว่ากระทรวงพาณิชย์สามารถจัดสรรน้ำตาลให้กับ "ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้ง" ที่เสนอขอมาทั้งสิ้น 14 ราย ได้แค่ 341,000 กระสอบ (ตารางประกอบ) หรือยังเหลือน้ำตาลทรายที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปกว่า 461,000 กระสอบ
แต่แทนที่กระทรวงพาณิชย์จะออกมา "ยอมรับ" ว่า น้ำตาลทรายที่ขอนำมา บริหารจัดการเองทั้ง 1 ล้านกระสอบนั้น มี "ปัญหา" ในการระบายผ่านยี่ปั๊ว/ซาป?*ว จัดตั้ง กลับปรากฏว่าคณะทำงานจัดสรรน้ำตาลทรายโควตาพิเศษ 1 ล้านกระสอบ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายตึงตัว ได้อ้างเหตุผลของการกระจายน้ำตาลได้ช้าว่า มาจากสถานการณ์การชุมนุมประท้วง/การจลาจลที่เกิดขึ้น ทำให้โรงงานน้ำตาลหลายโรงปิดทำการ หนักเข้าก็ออกมากล่าวหาว่าโรงงานน้ำตาลไม่ยอมให้ความร่วมมือในการส่งมอบน้ำตาลเท่าใดนัก
สุดท้ายเมื่อไม่สามารถระบายน้ำตาลออกไปตามกำหนดได้ คณะทำงานกลับใช้ "ไม้ตาย" ด้วยการนำกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ 2542 ขึ้นมา "ขู่" โรงงานน้ำตาล เพื่อ "ขอความร่วมมือ" หากโรงงานน้ำตาลรายใด "ปฏิเสธ" หรือไม่ยอมขายน้ำตาลให้กับยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้ง โรงงานน้ำตาลโรงนั้น "อาจจะ" ประสบปัญหาความยุ่งยาก
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า การใช้อำนาจและออกระเบียบที่เข้มงวดของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับโควตาพิเศษที่กระทรวงพาณิชย์จัดสรรนั้น บรรดายี่ปั๊ว/ ซาปั๊วจัดตั้งอาจจะต้องซื้อน้ำตาลทรายในราคาที่สูงกว่าปกติ หรือสูงกว่าการซื้อหน้าโรงงาน เนื่องจากน้ำตาลปริมาณดังกล่าวมี "ค่าใช้จ่ายพิเศษ" เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางที่จะมาถึงยี่ปั๊วซาปั๊วรายหลัง ๆ ส่งผลให้น้ำตาลกระจายออกได้ช้า เพราะราคาน้ำตาลโลกเริ่มผ่อนคลาย การลักลอบส่งออกน้ำตาลน้อยลง
ดังนั้นปริมาณน้ำตาลทรายภายในประเทศจึงมีมากขึ้น การจำหน่ายด้วยการ "บวกเพิ่ม" ราคาภายในจึงทำได้ยาก สะท้อนออกมาจากตัวเลขการขอรับน้ำตาลโควตาพิเศษจากโรงงานน้ำตาลของบรรดายี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้งน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดในการขึ้นงวดหลัง ๆ นอกจากนั้นน้ำตาลทรายยังเป็นสินค้าที่กำไรน้อย การออกระเบียบที่เข้มงวดส่งผลให้ยี่ปั๊ว/ซาปั๊วจัดตั้งต้องมีขั้นตอนการแจ้งขนย้าย สต๊อกสินค้ามากกว่าเดิม จึงตัดสินใจที่จะไม่ขายน้ำตาล ลดความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี
จาก http://www.prachachat.net 13 กันยายน 2553
แบงก์ชาติขยับตัว ลดความร้อนแรงค่าบาท
เงินบาทแข็งค่าทุบสถิติกันรายวัน โดยวันที่ 9 ก.ย.53 เงินบาทเคลื่อนไหวหลุด 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค.2540 หรือกว่า 13 ปีที่แล้ว ร้อนถึงแบงก์ชาติคลัง ต้องเร่งศึกษามาตรการพิเศษมาสกัดความร้อนแรง ในขณะที่ธปท.แนะรัฐ-เอกชน ควรฉวยโอกาสบาทแข็งต้นทุนถูกโละเครื่องจักรเก่า เร่งลงทุนโลจิสติกส์ยกระดับแข่งขันประเทศ
หากลองมองย้อนภาพกลับไปเมื่อปี 2549 ซึ่งเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยช่วงเพียง 8 เดือนในปีนั้น (1 มกราคม-31 สิงหาคม 2549) ค่าบาทแข็งค่าขึ้นถึง 6.57% ถือเป็นการแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก จนในที่สุด แบงก์ชาติต้องตัดสินใจออกมาตรการกันสำรอง 30% เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เข้ามาช่วย ซึ่งถือเป็นยาแรงที่ช่วยสกัดเงินลงทุนไหลเข้าได้เป็นผลสำเร็จ แม้ต้องแลกกับการสูญเสียมูลค่าตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ในตลาดหุ้นไทยถึง 800,000 ล้านบาท หลังจากต่างชาติเทกระจาดหุ้นไทยดัชนีรูดลงไป 108 จุด
"แบงก์ชาติอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการสกัดการผันผวนเงินบาทเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ (Capital Control) โดยเทียบเคียงกับมาตรการของธนาคารกลางทั่วโลกที่ประกาศใช้ขณะนี้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เช่น การใช้มาตรการภาษีสกัดกั้นเงินไหลเข้า ที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียใช้อยู่ในขณะนี้ หรือ การเพิ่มการสำรองเงินทุนของสถาบันการเงิน ที่จะต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการเข้ามาเก็งกำไรจากค่าเงิน" นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว
เธอกล่าวเมื่อ 8 กันยายน 2553 ก่อนที่วันถัดมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะไฟขียวให้ธปท.สามารถพิจารณาใช้มาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกได้หากมีความจำเป็น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแบงก์ชาติในฐานะหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการเงิน ได้ให้ความสนใจเรื่องนี้ไม่น้อย *หนุนลงทุนนอก/ลดความร้อนแรง
นางสุชาดา กล่าวอีกว่า แบงก์ชาติได้พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนต่างๆ ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ด้วยการอนุญาตให้บุคคลหรือนิติบุคคลไทยที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถออกไปลงทุนทางตรง(FDI) ในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดมูลค่า และให้กู้ยืมได้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ขณะที่บุคคลหรือนิติบุคคลไทยที่บริษัทไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถลงทุนออกไปได้ไม่เกินรายละ 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ประกอบกับยังอนุญาตให้สามารถลงทุนในตราสารต่างประเทศได้ ในวงเงินเพิ่มเติมจาก 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังได้ประกาศเพิ่มเติมให้นิติบุคคลที่มีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ให้สามารถไปลงทุนในตราสารหรือทำธุรกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
รวมถึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มวงเงินการเข้าไปลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์จาก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างรออนุมัติเพื่อออกเป็นประกาศโดยกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ จากรายงานของแบงก์ชาติระบุว่าเม็ดเงินที่ออกไปลงทุนและให้กู้ยืมยังต่างประเทศของบริษัทไทยภายหลังจากการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุน เมื่อปี 2551 ถึง เดือนมิถุนายน 2553 มีมูลค่ารวมแล้วกว่า 11,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ จากข้อมูลเบื้องต้น ณ 30 มิถุนายน 2553 พบว่า มีผู้ลงทุนสถาบัน 8 ประเภทที่มียอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจำนวน 18,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 27% อย่างไรก็ตาม การออกไปลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ Holding Company จะมีการส่งเงินไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
เธอกล่าวยกตัวอย่างว่า ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีความแข็งแกร่งหากเทียบย้อนสถานการณ์กับครั้งอดีตปี 2549 จึงมีความแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1/53 อยู่ที่ 12%,ไตรมาส 2/53 ที่ 9.1% จากอุปสงค์ในประเทศปรับตัวได้ดี ไตรมาส 1/53 อยู่ที่ 11.8% ไตรมาส 2/53 อยู่ที่ 9.2% ,การส่งออกไตรมาส 1/53 อยู่ที่ 10.2% ไตรมาส 2/53 อยู่ที่ 13.6% และในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ไทยเกินบัญชีเดินสะพัดกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง
เทียบกับปี 2549 เศรษฐกิจชะลอตัว จากอุปสงค์ที่ลดลงต่อเนื่องในไตรมาส 1/49 อยู่ที่ 6% ไตรมาส 2/49 อยู่ที่ 5.3% และไตรมาส 3/49 อยู่ที่ 4.6% การส่งออกปรับลดลงในไตรมาส 1/49 อยู่ที่ 8.9% ไตรมาส 2/49 อยู่ที่ 5.9% และไตรมาส 3/49 อยู่ที่ 3.4%
*เทียบทุนไหลเข้าปี 2549 VS 2553
จึงไม่แปลกที่จะยังเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในไทยช่วงไตรมาส 1/53 ถึง 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ,ไตรมาส 2/53 มี 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตัวเลข ณ เดือนก.ค.53 มี 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2549 มีเงินทุนไหลเข้าทั้งปี 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไตรมาส 1/49 มี 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไตรมาส 2/49 มี 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไตรมาส 3/49 มี 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นผลให้ค่าเงินบาท ณ วันที่ 6 ก.ย. 53 แข็งค่าขึ้น 6.57% แต่ยังถือว่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปี 49 ที่เงินบาทแข็งค่าระดับ 9.35% ที่สำคัญเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบันยังสอดรับกับพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีด้วยอย่างเห็นได้ชัด
"แบงก์ชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับศึกษามาตรการหรือแนวทางดูแลค่าเงินจากธนาคารกลางหลายๆ แห่งทั่วโลก แต่สุดท้ายแบงก์ชาติจะนำมาใช้หรือไม่คงต้องพิจารณาผลกระทบกันอย่างรอบคอบ"
++เปิดบัญชีเงิน 2 สกุลลดค่าหัวคิว
ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการส่งออกแบงก์ชาติยังมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งออกที่มีการซื้อขายในประเทศ สามารถเปิดบัญชีได้ 2 สกุลเงิน ในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเพื่อปิดความเสี่ยงจากกรณีค่าเงินผันผวน โดยเฉพาะค่าระวางเรือในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งตามระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตรา การชำระเงินระหว่างบริษัทในประเทศต้องทำเป็นบาท ดังนั้น หากบริษัทใดต้องการทำเป็นสกุลเงินต่างประเทศให้มีหนังสือมายังแบงก์ชาติ แล้วแบงก์ชาติจะพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นเป็นรายกรณี ทั้งนี้ เพื่อเปิดกว้างไม่ให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าธรรมเนียมบริการจากธนาคารพาณิชย์ โดยอนุญาตสำหรับบุคคลธรรมดาที่ 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนนิติบุคคลจำกัดไว้ที่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯและอยู่ระหว่างพิจารณาขยายเพิ่ม
++ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวกระทบชิ่งส่งออก
สำหรับผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น นางสุชาดา กล่าวต่อว่าค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน เพราะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านโลจิสติกส์ ดังนั้นจึงควรเน้นในเรื่องนี้กันมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือเป็นตัวที่ช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมาก การจะบอกว่าให้แข่งกันเฉพาะค่าเงินอย่างเดียว ก็ดูจะเป็นการโยนภาระที่ง่ายไป ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน และจะอยู่บริหารประเทศนานแค่ไหนก็ตาม ต้องเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโดยเร็ว นอกจากนี้ ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนี้ ถือเป็นจังหวะดีที่รัฐบาลจะเร่งชำระคืนหนี้ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ ขณะเดียวกันการที่โครงการมาบตาพุดมีความชัดเจนขึ้น และรัฐบาลหันมาเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ก็อาจเป็นตัวหนุนที่ลดแรงเสียดทานจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน
จาก http://www.thannews.th.com 12 กันยายน พ.ศ. 2553
ชูไทยศักยภาพที่ 1 ชวนลงทุน พลาสติกชีวภาพ
บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนเทคโนโลยี แมคคินซีย์ ชูไทยมีศักยภาพชวนลงทุน พลาสติกชีวภาพ ด้วยต้นทุนวัตถุดิบต่ำ และมีเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังจีนใกล้กว่าบราซิล ส่วน เนเจอร์เวิร์ค บริษัทผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพอันดับ 1 ของโลกแนะสร้างตลาดพลาสติกทั่วไปให้เกิดก่อนขยับสู่ตลาดพลาสติกในอุตสาหกรรมขั้นสูง
ดร.วันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงอนาคตของพลาสติกชีวภาพในเมืองไทยว่ามีศักยภาพสูงเนื่องจากไทยมีวัตถุดิบมากและมีเทคโนโลยีการผลิตในระยะห้องปฏิบัติการครบตั้งแต่ระยะต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมีอุตสาหกรรมพลาสติกครบวงจร แต่อยากให้รัฐบาลยื่นมาช่วยเหลือในมาตรการด้านภาษีแก่ผู้ประกอบการ
ตัวอย่างของมาตรการด้านภาษีที่จะเสนอแก้รัฐบาลเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในไทย เช่น การเสนอให้ผู้วิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ 500% หรือมาตรการลดหย่อนภาษี 300% ให้แก่บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่นำพลาสติกชีวภาพมาใช้ในธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับศักยภาพของไทยที่จะเป็นสถานที่ลงทุนธุรกิจพลาสติกชีวภาพนั้น ดร.มาร์โค ซีเกลอร์ (Dr.Marco Ziegler) ประธานบริษัทแมคคินซีย์แอนด์คอมพานี (McKinsey&Company) ประจำญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาบรรยายพิเศษในงานอินโนไบโอพลาสต์ 2010 (InnoBioPlast2010) เมื่อวันที่ 9 ก.ย.53 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค กล่าวว่า ในโลกมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีวัตถุดิบราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ได้แก่ ไทย อินเดีย บราซิล และจีน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนแล้วไทยวัตถุดิบราคาถูกที่สุด และยังมีเส้นทางในการขนส่งสินค้าไปจีนที่ใกล้กว่าการเดินทางระหว่างบราซิลกับจีน
ดร.วันทนีย์ยังกล่าวถึงความเห็นของตัวแทนจาก บริษัท เนเจอร์เวิร์คสแอลแอลซี (NatureWorks LLC) จากหสรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพอันดับ 1 ของโลกและได้มาร่วมประชุมงานอินโนไบโอพลาสต์ 2010 ว่า ตลาดในปัจจุบันยังไม่ทำให้ผู้บริโภคขยายตัวได้ และผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หันไปให้ความสนใจตลาดระดับบนอย่างพลาสติกยานยนต์และพลาสติกในอุตสาหกรรมชั้นสูงอื่นๆ แต่อยากให้ช่วยกันทำให้ตลาดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งขยายตัวมากขึ้นด้วย รวมถึงทำทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงกำไรหรือเอ็นจีโอให้เข้าใจด้วยว่าการผลิตพลาสติกชีวภาพไม่ได้แย่งส่วนแบ่งตลาดอาหารไปด้วย
พร้อมกันนี้ ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังกล่าวถึงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทยที่สอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ฉบับปี 2551-2555 โดยมี 4 กลยุทธ์ คือ 1.กลยุทธ์สร้างความพร้อมด้านวัตถุดิบชีวมวล โดยในปี 2552 ไทยผลิตอ้อยและมันสำปะหลังเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 80 ล้านตันและ 30 ล้านตัน ตามลำดับ 2.กลยุทธ์เร่งรัดและสร้างเทคโนโลยี โดยมีนักวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องประมาณ 100 คน 3.กลยุทธ์สร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม และ 4.กลยุทธ์การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดว่าแผนที่นำทางจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจเป็นมูลค่าขั้นต่ำ 5.5 พันล้านบาท
จาก http://www.manager.co.th 1 0 กันยายน 2553
ชาวไร่อ้อยลุ้นอ้อยขั้นต่ำ 1 พันบาทต่อตัน
ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เผย ชาวไร่อ้อยลุ้นอ้อยขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อตัน
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายกำธร กิตติโชคทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยต้องการเห็นราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2553-54 มีราคาอย่างต่ำ 1,000 บาทต่อตันเนื่องจากต้นทุนการผลิตของชาวไร่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งค่าแรงงาน ปุ๋ย รวมถึงผลผลิตต่อไร่ที่ยังคงตกต่ำจากปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาซึ่งคาดว่าผลผลิตอ้อยเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 60 ล้านตันเท่านั้น
ชาวไร่อ้อยพอใจในระดับราคาดังกล่าว แต่ท้ายสุดหากการคำนวณออกมาไม่ถึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาหาแนวทางแก้ไข เพราะราคาอ้อยเราไม่ได้สูงเลยตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งต่างจากอินเดียราคาอ้อยอยู่ที่ 1,600-1,700 บาทต่อตัน จีน 1,500 บาทต่อตัน ซึ่งชาวไร่พยายามที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อให้ได้อ้อยเพิ่มขึ้นเต็มที่แล้ว นายกำธรกล่าว
แหล่งข่าวจากบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า ขณะนี้อนท.ได้ทำการขายน้ำตาลทรายดิบเพื่อส่งออก (โควตา ข) ล่วงหน้าฤดูการผลิตปี 53/54 แล้วกว่าร้อยละ 50 โดยทำราคาเฉลี่ยไว้ที่ระดับ 19 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกยังคงมีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยล่าสุดเฉลี่ยที่ 21 เซนต์ต่อปอนด์โดยเริ่มไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากที่เคยตกลงไปต่ำสุดที่ 13 เซนต์ต่อปอนด์ ทั้งนี้สาเหตุที่ที่ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเริ่มขยับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสภาวะอากาศทั่วโลกแปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตอ้อยหลายแห่งผิดกว่าเป้าหมายที่คาดไว้จนส่งผลให้ล่าสุดมีการประเมินว่าปริมาณน้ำตาลทรายโลกที่จะผลิตได้ปีนี้จากเดิมจะเกินความต้องการถึง 5 ล้านตันจะหายไป 2 ล้านตัน.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 10 กันยายน 2553
บาทหลุด 31 วันเดียวสวิงเกือบ 20 สต. มาร์คไฟเขียว ธปท.ออกมาตรการเข้ม
วันเดียวค่าเงินบาทสวิงเกือบ 20 สต.ล่าสุดแตะ 30.85 นายกรัฐมนตรีไฟเขียวแบงก์ชาติออกมาตรการคุมเงินไหลเข้า-ออก ด้านสภาอุตฯ ถกด่วนหาทางรับมือ จี้ ธปท.ทำงาน อัด "ธาริษา" อย่านั่งรอเวลาเกษียณ
นักบริหารเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เงินบาทวานนี้ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตลาดที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ แล้วไปแตะระดับแข็งค่าสุดของวันที่ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 30.87-30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว โดยแนวรับของค่าเงินบาทในระดับต่อไปอยู่ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแนวต้านที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"ยังไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ๆเข้ามา และทิศทางก็ยังคงจะแข็งค่าต่อไป แต่ที่ต้องจับตาดูคือมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะมีการออกมาตรการมาหรือไม่"
นายกฯ ไฟเขียว ธปท.คุมเข้ม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ว่า ไม่ได้อยู่เหนือจากความคาดหมาย พร้อมได้ให้แนวทางกับ ธปท.ไปแล้วว่า หากมีความจำเป็น ธปท.สามารถพิจารณาใช้มาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าออกได้ โดยแนวโน้มค่าเงินบาทยังแข็งค่าอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะแข็งค่าไปถึงระดับ 29 บาทหรือไม่
ส่วนมีการเข้ามาเก็งกำไรหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเก็งกำไรก็มีเงื่อนไขจากตัวพื้นฐานด้วย ซึ่งจำเป็นต้องดูหลายตัวชี้วัดทั้งการเคลื่อนไหวของค่าเงินภูมิภาคเพื่ออ้างอิงและเทียบเคียงกัน รวมถึงในแง่ของการซื้อขายเงินว่าเป็นคนภายในประเทศเองหรือเป็นการซื้อขายมาจากต่างประเทศ และผู้ส่งออกที่ขายดอลลาร์เป็นใคร ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดก็จะนำมาพิจารณาเพื่อดูความจำเป็นในการกำหนดมาตรการต่อไป
กรณีที่ทางหอการค้าไทยคาดการณ์ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าไปถึง 29.80 บาท/ดอลลาร์ในช่วงไตรมาส 4/53 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เรามีการเกินดุลฯ อยู่ แต่ไม่ขอลงรายละเอียดว่าเงินบาทจะไปอยู่ที่ระดับใด
กสิกรฯ แนะผู้ส่งออกซื้อฟอร์เวิร์ด
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าอาจจะกระทบต่อผู้ส่งออกโดยตรง ซึ่งผู้ส่งออกที่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอีควรการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ฟอร์เวิร์ด) เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการธุรกิจ และ ทราบว่ารายได้ที่เป็นเงินบาทจะอยู่ที่ประมาณเท่าใด ซึ่งจะสามารถบริหารจัดการกำไรได้ตามเป้าหมาย โดยหากไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงก็อาจขาดทุนได้
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีความกังวลว่าผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วน 20% นั้นมีการทำฟอร์เวิร์ดน้อยมาก ซึ่งพบว่ามีเพียง 20% จากอัตราทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาถึงการส่งออกกลับมีมูลค่าสูงถึง 70% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งหากมีปัญหาทั้งระบบก็สามารถส่งผลทางอ้อมต่อกลุ่มเอสเอ็มอีได้
"ผู้ประกอบการในส่วนที่เหลือควรพิจารณาทำฟอร์เวิร์ด หรือ หาทางควบคุมบริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุด แต่ต้องไม่ลดคุณภาพของสินค้า อีกทั้ง ควรขยายตลาดไปยังประเทศที่เป็นเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ประเทศแถบเอเชีย เป็นต้น"นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์กล่าวว่า แม้การทำฟอร์เวิร์ดของธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีต้นทุนที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่หากประเมินการสูญเสียรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนก็จะทำให้พบว่าการฟอร์เวิร์ดล่วงหน้าจะมีประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมามีการผันผวนสูง ด้านกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีรายย่อยนั้น ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุดเนื่องจากไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งกลุ่มลูกค่าดังกล่าวธนาคารมีอยู่น้อย โดยลูกค้าประเภทนำเข้า และ ส่งออก รวมกันไม่ถึง20% ของพอร์ต
ส.อ.ท.ถกด่วนผลกระทบบาทวันนี้
นายธนิต โสรัตน์รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า วันนี้(10ก.ย.) จะจัดทำรายงานสรุปผลกระทบเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมในสังกัดส.อ.ท.ทั้ง39กลุ่มจากกรณีเงินบาทแข็งค่าเพื่อเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)รับไปพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเพราะขณะนี้ค่าบาทหลุดมาแตะที่30.80บาทต่อเหรียญสหรัฐถือเป็นจุดอันตรายในภาคการส่งออกของประเทศไทยแต่ธปท.ก็ไม่ได้หามาตรการใดๆออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ
"คงจะสรุปภาพรวมได้ในวันนี้ซึ่งเบื้องต้นแต่ละกลุ่มได้มีการส่งข้อมูลมาบ้างแล้ว และขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถรับคำสั่งซื้อหรือออเดอร์จากต่างประเทศได้เพราะก่อนหน้านี้ได้กำหนดแนวรับในการรับออเดอร์สินค้าที่เงินบาทระดับ31.50บาทแต่เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระดับปัจจุบันจึงไม่กล้ารับออเดอร์เพราะเกรงว่าจะมีรายรับที่ลดลงไม่คุ้มต้นทุนการผลิตนายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่าธปท.ต้องออกมาตรการมาสกัดไม่ให้เงินเหรียญสหรัฐฯไหลทะลักเข้ามาในไทยเพื่อเก็งกำไรแล้วนำเงินกลับออกไปในทันทีทันใดไม่ใช่มานั่งรอวันเกษียณอายุโดยไม่ทำอะไรเลย
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนมีความเป็นห่วงประเด็นค่าเงินบาทแข็งค่าว่าจะกระทบกับภาคการส่งออกไทยที่ทำให้การแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทำได้ยากขึ้น เพราะผู้ส่งออกคงไม่สามารถปรับขึ้นราคากับลูกค้าต่างประเทศได้ ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลด่วน เพราะส.ค.เพียงเดือนเดียวเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 1.8% ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลควรนำมาใช้ คือ ไม่ให้มีเงินต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินในประเทศ และไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลังอีก หลังจากที่ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนหน้านี้ 0.25%
หวั่นทำศก.เจ๊ง-จีดีพีโตไม่ถึง 7%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการที่ของธปท.ควรจะส่งสัญญาณ เพื่อไม่ให้มีการเก็งกำไรค่าเงินบาท คือการประกาศใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนโดยเร็ว เช่น หากเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนระยะสั้น 3-6 เดือน แล้วนำเงินออกไปจะต้องถูกเรียกเก็บภาษี 5-10%
ทั้งนี้ หากไม่มีการดูแลและปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว โดยหลุดกรอบ 30 บาท/เหรียญสหรัฐ ในไตรมาส 4 นี้ จะทำให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกหายไปอีก 5 หมื่นล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวหายไปประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ขยายตัวเหลือ 3-4% เพราะทุกๆ 1 แสนล้านบาทที่หายไปจะกระทบให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยลดลง 1% หรือปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวลดลงเหลือ 6% ต่ำกว่าเป้าที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 7.5%
เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาท จะทำให้การส่งออกกระทบ 2-3% หรือมีมูลค่าหายไป 2-3 แสนล้านบาท ของการส่งออกในภาพรวมทั้งหมด ปัญหาเงินบาทจึงเป็นประเด็นที่น่าห่วงและหลายฝ่ายจับตามองที่อาจกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยที่จะบานปลายไปถึงปีหน้า อาจทำให้เศรษฐกิจปี 2554 โตไม่ถึง 4%
แบงก์ชาติระบุกำลังศึกษามาตรการคุมการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนที่เสี่ยงเกิดการเก็งกำไรเกินควร จากหลายๆ ธนาคารกลางในภูมิภาค พร้อมงัดมาใช้ได้หากจำเป็น แต่ในขณะนี้มองว่า การไหลเข้าของเงินทุนยังเป็นการหากำไรในตลาดหุ้น-ตราสารหนี้ มากกว่าการตั้งใจเข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างเดียว
ธปท.เตรียมพร้อมออกมาตรการ
แหล่งข่าว ธปท.เปิดเผยว่า ฝ่ายตลาดการเงินได้มีการประชุมผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทตลอดเวลา ทั้งในตลาดเงินบาทในประเทศ และตลาดเงินบาทต่างประเทศ ส่วนการเตรียมมาตรการในการดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศนั้น ได้มีการศึกษามาตรการที่ธนาคารกลางหลายประเทศนำมาใช้ โดยเฉพาะธนาคารกลางเกาหลีใต้ ธนาคารกลางไต้หวันและธนาคารกลางอินโดนิเซียที่นำมาใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นมาตรการจำกัดการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนบางประเภทของ ทั้งนักลงทุนในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศ ที่มองว่าเป็นการซื้อขายที่จะก่อให้เกิดการเก็งกำไรมากเกินไป ว่าเหมาะสมหรือไม่ และอย่างไรกับประเทศไทย
ส่วนการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศด้วยการให้สำรองเงินทุนบางส่วน หรือการเก็บภาษีจากรายได้ของเงินทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนระยะสั้นนั้น เป็นมาตรการที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 9 กันยายน 2553
เงินบาทแตะ31บาท แข็งโป๊กรอบ13ปี เงินนอกทะลัก-ผู้ส่งออกทิ้งดอลลาร์
"บาท"แข็งไม่หยุด แตะ 31 บาท/ดอลล์ ทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี เหตุเงินทุน ตปท.ไหลเข้าตลาดหุ้น-พันธบัตร-ผู้ส่งออกเทขายดอลล์ ธปท.ฉุนอย่าโยนให้เป็นแพะ ต้นเหตุมาจากรัฐไม่เพิ่มการลงทุน
เมื่อวันที่ 8 กันยายน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ตามที่คาดการณ์จากหอการค้าไทยที่ประเมินว่าค่าเงินบาทมีทิศทางสูงขึ้นจนถึงปลายปีและต้นปีหน้า โดยคาดว่าจะแข็งค่าขึ้นถึง 29 บาทต่อ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐในต้นปีหน้า จะมีผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทย หากคิดในรูปค่าเงินบาทจะทำให้ไทยสูญเสียรายได้การส่งออกปีนี้ ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท จากที่คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกได้ 8.3 แสนล้านบาท
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงขณะนี้คือการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาท มีแนวโน้มจะแตะที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงกับภาคส่งออกและกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม โดยภาคส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือสินค้าเกษตรและอาหาร จึงอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาดูแลบริหารติดตามค่าเงินอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินบาท และควรชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรืออาร์พี ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศมีส่วนต่าง ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าและยิ่งทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ค่าเงินบาทไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียความสามารถในการแข่งขัน หากพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของไทยปี 2553 อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลกเท่ากับปี 2552 ธปท.ได้ดูในข้อเท็จจริงพบว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 46 จากที่เคยอยู่อันดับ 42 ของโลก ถือเป็นจุดอ่อนของประเทศ
"ขณะนี้ยังไม่เห็นการเพิ่มการลงทุนภาครัฐมากนัก ประเทศไทยก็เสียโอกาสไปมาก อย่าโยนให้ ธปท.เป็นแพะจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น เพราะความจริงแล้วมาจากภาครัฐหยุดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมานานมาก ดังนั้น ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือรัฐบาลจะอยู่นานแค่ไหนควรจะเร่งเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง"
นางสุชาดากล่าวว่า ธปท.ได้จับตาการเก็งกำไรค่าเงินซึ่งยังไม่สามารถระบุชัดว่ามีการโจมตีค่าเงินบาท ส่วนที่ค่าเงินบาทวันเดียวกันนี้ ปรับตัวแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี คงเป็นเพราะตลาดยังตื่นตระหนกต่อกระแสข่าวต่างๆ ทั้งนี้ เห็นว่าภาครัฐควรใช้จังหวะนี้ชำระหนี้ในต่างประเทศเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท
นายศรันย์ ภู่พัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงิน 1 ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันเดียวกันนี้ แข็งค่ามากสุดที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ สูงสุดรอบ 13 ปี นับจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผลจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินไหลเข้ามากถึง 1 แสนล้านบาท คาดว่าช่วงปลายปีนี้ค่าเงินบาทจะแตะที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า บาทแข็งค่าครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์อย่างมากด้วย ส่วนที่มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นอย่างคึกคักเพราะนักลงทุนมั่นใจเข้าซื้อบาทหลังจากธปท.ยังไม่มีมาตรการสกัดการแข็งค่าเงินบาท โดยยังไม่เห็นสัญญาณการแทรกแซงของ ธปท.แม้เงินบาทแข็งค่าสูงสุดรอบ 13 ปีก็ตาม
จาก http://www.prachachat.net วันที่ 9 กันยายน 2553
PTTCH เปิดสวิตซ์ 3 โครงการใหญ่ปลายปีนี้
นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH) เปิดเผยว่า คาดว่าภายในปลายปีนี้ จะสามารถเดินเครื่องผลิตจาก 3 โครงการขนาดใหญ่ ที่ถูกระงับชั่วคราวก่อนหน้านี้ได้ หลังหลุดกรณีปัญหามาบตาพุดแล้ว ซึ่งจะช่วยหนุนให้กำลังการผลิตโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนของรัฐด้วย
PTTCH เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่มีโครงการในพื้นที่มาบตาพุด ที่ถูกระงับการดำเนิน กิจกรรมชั่วคราวตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุด ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ โครงการที่ไม่ได้ติดอยู่ใน 11 ประเภทกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อชุมชน สามารถดำเนินการได้
โดยคำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้โครงการของ PTTCH จำนวน 3 โครงการ คาดว่าจะหลุดจากการถูกระงับการลงทุน ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีเอทิลีน ชนิดความหนาแน่นสูง (HDPE) 50,000 ตันตันปี โครงการขยายกำลังการผลิต HDPE อีก 250,000 ตันต่อปี และ โครงการผลิตสารเอทานอลเอมีน 50,000 ตันต่อปี ขณะที่ยังคงเหลือโครงการขยายกำลังการผลิตโมโนเอทิลีนไกลคอล (MEG) อีก 95,000 ตันต่อปี ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และต้องกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนกลับมาขอใบอนุญาตอีกครั้งหนึ่ง
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ปลายไตรมาส 4 บริษัทยังจะเดินเครื่องโรงงานโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) โรงใหม่ด้วย หลังจากที่การก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เดินเครื่อง เพราะรอวัตถุดิบจากโรงงานอีเทนแครกเกอร์ใหม่ของบริษัท ที่ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ในขณะนี้
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 8 กันยายน 2553
อุตฯแก้ปัญหาภาษีหันซื้อน้ำตาลตรง
ก.อุตสาหกรรมเปลี่ยนวิธีซื้อน้ำตาลโควตา ค. เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวเป็นซื้อตรงจากโรงงานแก้ปัญหาเสียภาษี 2 เด้ง เชฟเงินได้ 97 ล้านบาท เตรียมเริ่มกระจายน้ำตาลโควตาล็อตแรก 2.79 แสนกระสอบภายในสัปดาห์นี้ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขายน้ำตาลทราย ว่าขณะนี้คณะกรรมการจัดซื้อน้ำตาลเพื่อการส่งออก (โควตา ค.) คืน ได้ทำการจัดซื้อน้ำตาลทรายเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 7.435 แสนกระสอบ แต่ที่การซื้อขายน้ำตาลล่าช้าเพราะไม่คาดคิดว่าจะมีการเสียภาษี 2 ต่อ คือเดิมโรงงานน้ำตาลขายน้ำตาลให้ผู้ค้าส่งออก (เทรดเดอร์) แล้วกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายก็จะไปซื้อน้ำตาลคืนจากเทรดเดอร์ ดังนั้นจึงยกเลิกวิธีการซื้อน้ำตาลคืนแบบเดิมเหลือเป็นให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลซื้อน้ำตาลจากโรงงานโดยตรงแทน ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดความเสียหายได้ 97 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้กรมสรรพกรเห็นชอบแล้ว ทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องรับภาระขาดทุนจากการซื้อน้ำตาลโควตา ค.คืน ตามที่คาดการณ์ไว้คือประมาณ 230-250 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจะได้รับมอบน้ำตาลโควตา ค. ที่ซื้อคืนล็อตแรกจำนวน 2.79 แสนกระสอบได้วันที่ 10 ก.ย.นี้ แล้วคณะกรรมการขายก็จะกระจายน้ำตาลทรายเข้าสู่ตลาดสัปดาห์ละ 5 หมื่นกระสอบ เป็นเวลา 15 สัปดาห์ โดยเปิดเสรีให้ผู้ค้าส่งสามารถซื้อน้ำตาลโควตาดังกล่าวได้นอกเหนือจากยี่ปั๊วที่มีการค้าขายอยู่แล้ว 16 ราย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีปริมาณน้ำตาลที่ขายยังไม่หมดเหลือค้างกระดาน 1.1 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม 7 แสนกระสอบ กระทรวงพาณิชย์อีก 4 แสนกระสอบ.
จาก http://www.thaipost.net วันที่ 8 กันยายน 2553
รื้อวิธีซื้อคืนน้ำตาลโควตาค. จ่อระบายลงตลาดแก้ตึงตัว
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการขายน้ำตาล ว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้ปรับวิธีซื้อคืนน้ำตาลทรายโควตา ค.(ผลิตเพื่อส่งออก) 743,000 กระสอบ เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัว โดยจะทำสัญญาซื้อขายกับโรงงานน้ำตาลโดยตรง และให้โรงงานปรับสัญญาซื้อขายจากผู้ประกอบการค้าส่งออกน้ำตาล(เทรดเดอร์) เพื่อให้กองทุนฯซื้อน้ำตาลจากโรงงานโดยตรงเพื่อเสียภาษี 1 ต่อ จากเดิมที่คาดว่าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ในการซื้อคืนจากเทรดเดอร์ แต่กลับต้องเสียภาษีในส่วนนี้ทำให้กองทุนฯมีภาระในการเสียภาษีเป็น 2 ต่อ ซึ่งขณะนี้โรงงานได้ปรับสัญญากับเทรดเดอร์แล้ว และกองทุนฯจะซื้อจากโรงงานโดยตรง ทำให้ประหยัดภาษีได้ 97 ล้านบาท
"คาดว่าหลังวันที่ 10 กันยายน จะเริ่มกระจายน้ำตาลทรายล็อตแรก 279,000 กระสอบ เพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำตาลตึงตัวได้ โดยจะทยอยกระจายสัปดาห์ละ 50,000 กระสอบ และจะกระจายได้หมดภายใน 15 สัปดาห์ หรือราวปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยหลังกระจายน้ำตาลเข้าสู่ระบบแล้วจะช่วยทำให้ราคาขายอ่อนตัวลง โดยราคาน้ำตาลทรายขาว บวก VAT จะขายที่กิโลกรัมละ 20.33 บาท ส่วนน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ บวก VAT อยู่ที่กิโลกรัมละ 21.40 บาท" นายวิฑูรย์ กล่าว
ทั้งนี้ ได้เปิดกว้างให้ให้ผู้ค้าส่ง(ยี่ปั๊ว) น้ำตาลทั่วประเทศ สามารถซื้อน้ำตาลไปกระจายสู่ผู้บริโภคได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจค้าส่งน้ำตาลเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี และต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการด้วย จากเดิมที่กำหนดให้มียี่ปั๊ว 16 ราย เป็นผู้กระจายน้ำตาล
สำหรับสถานการณ์น้ำตาล ล่าสุด ณ วันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา มีน้ำตาลค้างกระดานราว 1.3 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นของกระทรวงพาณิชย์ราว 400,000 กระสอบ และกระทรวงอุตสาหกรรมราว 800,000 กระสอบ ส่วนกรณีที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะขอคืนน้ำตาลจำนวนดังกล่าวให้กระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีการคืนน้ำตาลแต่อย่างใด
จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน 2553
"อลงกรณ์"ตะลุยอเมริกาใต้ เจาะตลาดใหม่ก่อนเปิดFTA
นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 2-10 กันยายน ตนได้นำคณะเดินทางเยือน 4 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ คือ บราซิล เปรู ชิลี และอาร์เจนตินา ก่อนที่จะมีการลงนามข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี(FTA) ร่วมกันในอนาคต โดยบราซิลเป็นประเทศแรก ซึ่งได้หารือกับผู้แทนสหพันธ์ผู้ผลิตอ้อยและเอทานอลที่ใหญ่ที่สุดของบราซิล ซึ่งตนได้ชักจูงให้เข้ามาตั้งสำนักงานแห่งใหม่ในไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมอ้อย และจะทำให้เป็นผู้กำหนดแนวทางบริหารการส่งออกน้ำตาล เอทานอล และไฟฟ้าชีวภาพ ที่แข่งขันในตลาดโลกได้
"นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมท่าเรือซานโตส ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่สุดของบราซิลและทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งสำคัญต่อการส่งสินค้าของไทยมาบราซิล และประเทศฝั่งตะวันออกของทวีปนี้ จึงเป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งของไทยในการเจาะตลาดอเมริกาใต้" นายอลงกรณ์ กล่าว
ส่วนการเดินทางเยือนเปรูนั้น ตนได้มีโอกาสร่วมประชุมกับประธานและคณะผู้บริหารการท่าเรือและสำรวจพื้นที่จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า ณ ท่าเรือคาเยา ประเทศเปรู ซึ่งเป็นท่าเรือพาณิชย์ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของทวีปอเมริกาใต้ โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างไทยและเปรูด้วย รวมถึงได้หารือประเด็นด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้ากับ รมช.การค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยว ผู้แทนสภาหอการค้า และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมของเปรูด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดี และคาดว่าจะช่วยให้การค้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก
จาก http://www.naewna.com วันที่ 8 กันยายน 2553
ได้ฤกษ์ระบายน้ำตาลซื้อคืนเทรดเดอร์-เปิดทางค้าส่งกระจายถึงมือรายย่อย
"อุตฯ" ได้ฤกษ์ระบายน้ำตาลทรายซื้อคืนเทรดเดอร์ล็อตแรกแล้ว หลังรับมอบ 10 ก.ย.จำนวน 2.79 แสนกระสอบ ส่วนที่เหลืออีกราว 4.6 แสนกระสอบทยอยส่งมอบได้ไม่เกินสิ้น ก.ย. พร้อมขึ้นงวดเพิ่ม 5 หมื่นกระสอบต่อสัปดาห์รวม 15 งวด เปิดเสรีให้ผู้ค้าส่งยื่นซื้อน้ำตาลเพื่อขายให้ผู้บริโภครายย่อยทั่วไป แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ค้าไม่น้อยกว่า 3 ปี
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการขายน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ได้มีการจัดซื้อน้ำตาลทรายโควตาส่งออก (โควตา ค.) คืนจากเทรดเดอร์ 3 รายจำนวน 7.43 แสนกระสอบ (7.43หมื่นตัน) ล่าสุดคณะกรรมการเพื่อจัดซื้อน้ำตาลทรายจะสามารถดำเนินการรับมอบล็อตแรก 2.79 แสนกระสอบได้ไม่เกินวันที่ 10 ก.ย.นี้ และหลังจากนั้น จะสามารถกระจายน้ำตาลทรายเพื่อป้อนสู่บริโภคทันทีตามนโยบายรมว.อุตสาหกรรมที่ต้องการนำน้ำตาลดังกล่าวแก้ไขปัญหาภาวะตึงตัวและราคาแพง
ทั้งนี้ กระบวนการส่งมอบน้ำตาลทรายที่ซื้อคืนจากเทรดเดอร์ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ซ้ำซ้อน เนื่องจากขั้นตอนเดิมนั้น เมื่อโรงงานน้ำตาลทรายขายน้ำตาลให้เทรดเดอร์แล้วทำการส่งออกจริงจะไม่ต้องจ่าย VAT เพราะเป็นน้ำตาลส่งออก และกองทุนฯ ซื้อคืนกับเทรดเดอร์เป็นการซื้อขายในประเทศจ่าย VAT 7% ตามปกติ แต่เมื่อเปลี่ยนน้ำตาลที่จะส่งออกจริงมาขายในประเทศแทน คำสั่งสรรพากร 97/43 ระบุว่าโรงงานจะต้องจ่ายภาษี VAT ซึ่งโรงงานจะต้องจ่ายส่วนนี้ถึง 97 ล้านบาท
ดังนั้น จากการหารือร่วมกับกรมสรรพสากร จึงให้ปรับสัญญากับเทรดเดอร์ด้วยการให้โรงงานไปซื้อคืนน้ำตาลจากเทรดเดอร์แล้วมาขายคืนให้กับกองทุนฯ โดยโรงงานสามารถเรียกภาษีคืนจากกองทุนฯ ได้ และกองทุนฯ ก็จะเรียกเก็บจากผู้บริโภคปลายทางเป็นการหักกลบภาษีตามขั้นตอนการค้าปกติ ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นจากการจ่ายภาษีเพิ่มถึง 97 ล้านบาท
สำหรับการกระจายน้ำตาลนั้น จะมีการเปิดเสรีให้ผู้ค้าส่งน้ำตาลทั่วประเทศทั้งหมดมายังกท.ตั้งแต่ 10ก.ย. โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีประวัติการค้าน้ำตาลอย่างน้อย 3 ปี และผู้ค้าในต่างจังหวัดที่ต้องการน้ำตาลก็ให้ทำเรื่องมา โดยมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น เทศบาล เซ็นกำกับ เพื่อยืนยันว่าเป็นผู้ค้าน้ำตาลมาแล้วอย่างน้อยไม่เกิน 3 ปีเช่นกัน ซึ่งน้ำตาลที่จะรับมอบจากเทรดเดอร์ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยรับมอบได้ภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ และน้ำตาลทั้งหมดจะทยอยนำมาขึ้นงวดสัปดาห์ละ 5 หมื่นกระสอบรวม 15 งวดจนถึงสิ้นธ.ค.
น้ำตาลที่จำหน่ายหน้าโรงงานรวม VAT 7% ขาวธรรมดาจะอยู่ที่ 20.33 บาทต่อกิโลกรัม และขาวบริสุทธิ์อยู่ที่ 21.40 บาทต่อก.ก. ซึ่งแต่ละพื้นที่จะเป็นไปตามราคาที่ควบคุมตามค่าขนส่ง ซึ่งน้ำตาลส่วนนี้จะเน้นให้กับผู้บริโภครายย่อย ซึ่งคาดว่ากองทุนอ้อยฯ จะมีภาระในการจ่ายส่วนต่างราคาน้ำตาลที่รับซื้อคืนในราคาแพงแต่ขายถูกประมาณ 230-250 ล้านบาทนายวิฑูรย์กล่าว
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 8 กันยายน 2553
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่สัปดาห์หน้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะขึ้นงวดน้ำตาลทรายเพิ่มจาก 4.03 แสนกระ สอบเป็น 4.53 แสนกระสอบ หรือเพิ่มอีก 5 หมื่นกระสอบเพื่อป้อนปริมาณน้ำตาลทราย ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถทยอยรับมอบน้ำตาลทรายที่รับซื้อคืนจากโควตา ค. (ส่งออก) มาป้อนในตลาดได้ลอตแรกในวันที่ 10 ก.ย. 2.79 แสนกระสอบ และเป็น 7 แสนกระสอบ ภายในเดือน ก.ย. นี้
ปริมาณน้ำตาลทรายที่รับซื้อคืนจากโควตา ค. จำนวน 7 แสนกระสอบเดิมกองทุนอ้อยฯจะซื้อน้ำตาลจากเทรดเดอร์ (ผู้ขาย) ที่จะไปจำหน่ายในต่างประเทศ แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหลายต่อ ทำให้กองทุนฯต้องยกเลิกสัญญากับเทรดเดอร์แล้วหันไปซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรง โดยหลังจากรับมอบแล้วก็จะกระจายน้ำตาลทรายสัปดาห์ละ 5 หมื่นกระสอบ
ทั้งนี้มั่นใจว่าในสัปดาห์หน้าหลังจากที่มีการกระจายน้ำตาลทรายเพิ่มเป็น 4.53 แสนกระสอบแล้วปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลทรายในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทยจะลดลงและราคาน้ำตาลก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศไว้ ซึ่งทำให้ ประชาชนหาซื้อน้ำตาลได้ง่ายและราคาถูกลง สำหรับจำนวนน้ำตาลที่รับซื้อคืนจากโควตา ค. นั้นกองทุนอ้อยฯ ได้กำหนดเงื่อน ไขให้ผู้ค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) สามารถส่งหนังสือเพื่อเป็นตัวแทนในการกระจายสินค้าได้ โดยให้ส่วนราชการท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เช่น เทศบาล เป็นผู้รับรองว่ายี่ปั๊วได้ทำกิจการประเภทนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยกองทุนฯจะขายน้ำตาลทรายขาวให้ยี่ปั๊วใน กก.ละ 20.33 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 21.40 บาท
นายนภดล ศิวะบุตร รองประธานกลุ่มอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมถึงเดือน ต.ค. ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องการน้ำตาลทรายเพิ่มอีก 3.8 หมื่นตันหรือ 3.8 แสนกระสอบ และได้หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมให้แก้ปัญหาแล้ว แต่ถ้ากระทรวงฯ ไม่สามารถจัดสรรเพิ่มได้ ต้องหาแนวทางอื่น เช่น นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ติดปัญหาภาษีนำเข้าจนอาจกระทบราคาสินค้า
นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประ ธานคณะกรรมการบริหารและโฆษกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อแจ้งถึงความต้องการน้ำตาลทรายที่คาดว่าจะสูงกว่าแผนการผลิตของปี 53 แล้วจำนวน 3.8 หมื่นตัน เพราะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีการขยายตัว 5-8% จากภาวะอากาศที่ร้อนจัดและเป็นปีที่มีเทศกาลฟุตบอลโลก.
จาก http://dailynews.co.th วันที่ 8 กันยายน 2553
กระจายน้ำตาลสัปดาห์ละ 50,000 กระสอบนาน 15 สัปดาห์แก้ปัญหาน้ำตาลแพง
กรุงเทพฯ 7 ก.ย.- นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ตามที่นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย จัดซื้อน้ำตาลโควตา ค น้ำตาลส่งออก นำมาช่วยแก้ไขปัญหาน้ำตาลบริโภคในประเทศหรือน้ำตาลโควตา ก ตึงตัวและราคาแพง ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการจัดซื้อน้ำตาลทราย ได้ทำจัดซื้อได้เปิดประมูลซื้อน้ำตาลทรายโควตา ค น้ำตาลเพื่อการส่งออกกลับคืนมาจากผู้ค้าต่างประเทศ 3 ราย โดยทำสัญญาซื้อน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จำนวน 7.43 หมื่นตันนั้น ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.) วันนี้ (7 ก.ย.) ได้พิจารณาแล้ว พบว่าการดำเนินการลักษณะดังกล่าว เกิดภาระภาษีเป็นจำนวนมาก จึงได้ยกเลิกการซื้อดังกล่าว และเปลี่ยนมาทำสัญญาซื้อน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลโดยตรงแทน ช่วยลดภาระภาษีเหลือเพียง 97 ล้านบาท และเมื่อรวมค่าซื้อน้ำตาลทั้งหมด กองทุนฯ จะมีค่าใช้จ่ายรวม 230-250 ล้านบาท
น้ำตาลโควตา ค งวดแรกจะกระจายได้หลังวันที่ 10 กันยายนนี้ จำนวน 279,000 กระสอบ โดยกระจายรวม 15 สัปดาห์ ๆ ละ 50,000 กระสอบจนครบจำนวนกว่า 7 แสนกระสอบ การกระจายน้ำตาลที่ซื้อมา จะกระจายโดยเปิดเสรีให้กับผู้ค้าน้ำตาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยต้องมีประวัติค้าน้ำตาลมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี โดยจะต้องมีหนังสือรับรองจากส่วนงานราชการแนบมาด้วย การจัดสรรน้ำตาลจะให้ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระจายน้ำตาลที่ซื้อมานี้ จะสามารถชดเชยน้ำตาลทรายงวดสัปดาห์ที่ 51-52 ที่ร่นนำมาขึ้นงวดก่อนหน้านี้เพื่อบรรเทาปัญหาได้ด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำตาลขึ้นงวดจะมากกว่าปกติ อีกทั้งมีน้ำตาลทรายที่กระทรวงพาณิชย์นำไปแก้ปัญหานำตาลขาดแคลนที่ยังเหลืออีกกว่า 4 แสนกระสอบจากรับไปกว่า 8 แสนกระสอบอีกจำนวนหนึ่งด้วย จึงมีปริมาณน้ำตาลอย่างเพียงพอแน่นอน เป้าหมายการดำเนินการทั้งหมดนี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลในประเทศตึงตัวและราคาแพง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงมากแล้ว.
จาก สำนักข่าวไทย 07 กันยายน 2553
ครม.ไฟเขียวให้ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ชาวไร่อ้อย 3,000 ล้านกำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี
วันนี้ (7 ก.ย.) นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดย ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อแก่ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อยหรือโรงงานน้ำตาล และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. หรือสกต. เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยต่อรายหรือต่อกลุ่ม ภายในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี นับแต่วันกู้ ซึ่งธ.ก.ส.คิดดอกเบี้ยเท่ากับโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ระยะที่ 2 คือ เอ็มอาร์อาร์ลบ 2% หรือ 4.75% โดยจะเรียกเก็บจากผู้กู้ 2% และรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างในอัตรา 2.75% ต่อปี และให้โรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามโครงการฯ ของผู้กู้ทุกราย ส่วนกรณีที่โรงงานน้ำตาลเป็นผู้กู้ต้องจัดให้มีกรรมการของโรงงานน้ำตาลและหรือบุคคลที่ ธ.ก.ส. พิจารณาเห็นสมควรเป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน ที่สำคัญธ.ก.ส.ได้ผ่อนผันหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อโดยจะแยกวงเงินในโครงการนี้ออกจากวงเงินกู้ปกติของผู้กู้แต่ละรายด้วย.
จาก http://dailynews.co.th 07 กันยายน 2553
เปิดเสรีขายน้ำตาลโควตา ค.ล็อตแรก 2.79 แสนกระสอบ
กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเสรีขายน้ำตาลโควตา ค.ล็อตแรก2.79แสนกระสอบตั้งเงื่อนไขต้องมีการันตีเป็นผู้ค้าส่งจริงจากอุตสาหกรรมจังหวัดมายื่นที่กองทุนอ้อยฯ
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังว่า ที่ประชุม คณะกรรมการขายน้ำตาล เห็นชอบแนวทางการกระจายน้ำตาลโควตาค.(เพื่อการส่งออก)ล็อตแรกจำนวน 2.79 แสนกระสอบที่ซื้อคืนจากผู้ค้าทั้งหมด 7.4 แสนกระสอบเพื่อนำมาแก้ปัญหาน้ำตาลในประเทศตึงตัว โดยจะเปิดเสรีให้ผู้ค้าส่งหรือผู้ค้ารายย่อยที่มีความต้องการน้ำตาลไปจำหน่ายสามารถยื่นความจำนงค์มาที่กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย(กท.)พร้อมแสดงหลักฐานประวัติการเป็นผู้ค้าส่งที่มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า3ปีและมีการเซ็นรับรองจากเทศบาลและอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่มาด้วย
การระบายน้ำตาลครั้งนี้กำหนดไว้ไม่เกินสัปดาห์ละ5หมื่นกระสอบ หลังจากนั้นจะเริ่มรับมอบน้ำตาลในส่วนที่เหลือจนครบจำนวนน้ำตาลโควตาค.ที่ซื้อคืนกลับมาจนครบ 7.4 แสนกระสอบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 15 สัปดาห์ เริ่มได้หลังวันที่ 10 ก.ย.เป็นต้นไป ซึ่งกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย อยู่ที่ 20.33 บาท/ก.ก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 21.40 บาท/ก.ก.
วิธีการนี้จะทำให้ให้ผู้ค้าส่งในต่างจังหวัดได้รับสิทธิ์ในการซื้อน้ำตาลโควตาพิเศษนี้และจะช่วยกระจายน้ำตาลไปถึงผู้บริโภคได้เร็ว เพียงแต่การขอซื้อน้ำตาลนอกจากกำหนดปริมาณน้ำตาลที่ต้องการแล้วทางผู้ค้าส่งจะต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานในจังหวัดเช่น เทศบาลหรืออุตสาหกรรมจังหวัดเซ็นยืนยันเป็นผู้ค้าน้ำตาลจริงที่มีประวัติไม่น้อยกว่า 3 ปีแนบมาด้วยและต้องซื้อเป็นเงินสดเท่านั้นนายวิฑูรย์กล่าว และว่า จะช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกองทุนอ้อยฯประมาณ 97 ล้านบาทเมื่อเทียบกับวิธีการเดิม
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการกระจายน้ำตาลโควตาค.ที่ซื้อคืนมาจากผู้ค้าส่งต่างประเทศ(เทรดเดอร์)มีความล่าช้า เนื่องจากติดขั้นตอนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีความซ้ำซ้อน โดยมีการปรับสัญญาซื้อขายกันใหม่ ให้โรงงานฯไปซื้อคืนน้ำตาลจากเทรดเดอร์แล้วมาขายคืนให้กับกองทุนฯ ซึ่งจะช่วยลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ประมาณ 97 ล้านบาท
นายวิฑูรย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำตาลในประเทศว่า เริ่มคลี่คลายปัญหาขาดแคลน โดยขณะนี้มีปริมาณน้ำตาลที่จำหน่ายยังไม่หมดเหลือค้างกระดาน 1.1 ล้านกระสอบ แบ่งเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรม 7 แสนกระสอบและกระทรวงพาณิชย์ 4 แสนกระสอบ สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าทางกระทรวงพาณิชย์ต้องการคืนน้ำตาล 4 แสนกระสอบ มาให้กระทรงวงอุตสาหกรรมตามเดิม เพราะยังไม่มีการระบายได้เท่าที่ควรนั้น ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวและยังไม่มีการส่งหนังสือจากกระทรวงพาณิชย์แต่อย่างใด
จาก http://www.posttoday.com 07 กันยายน 2553
แก๊งค์กรีดผ้าใบรถบรรทุกขโมยน้ำตาลทรายออกอาละวาดทั่วเมืองปทุมธานี ตำรวจระบุมีหลายรายตกเป็นเหยื่อ
เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 7 ก.ย. พ.ต.ท.ไชยันต์ ดาวเรือง สารวัตรเวร สภ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้รับแจ้งเกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนกรีดผ้าใบรถบรรทุก ปล้นเอาน้ำตาลทราย บริเวณปากทางเข้าศูนย์กระจายสินค้าของห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส ถนนบางปะอิน-บางบัวทอง ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หลังรับแจ้งจึงรีบนำกำลังเดินทางไปตรวจสอบพบ นายสุภพ พรมบุตร อายุ 46 ปี ยืนคอยเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยหน้าตาตื่นตกใจอยู่ข้างรถบรรทุกน้ำตาลทรายของ บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด สาขามิตรภูเวียง ที่ด้านหลังรถบรรทุกเชือกรัดผ้าใบถูกตัดขาด ที่ผ้าใบคลุมรถมีร่องรอยถูกกรีดเป็นรอยขาดยาว โดยมีน้ำตาลทรายหายไป 1 ตัน เจ้าหน้าที่จึงลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
สอบสวนนายสุภพ คนขับรถบรรทุก ให้การว่า กำลังจะนำสินค้าส่งให้กับลูกค้าย่าน จ.สมุทรสาคร แต่ระหว่างทางเกิดง่วงนอน จึงได้จอดรถพักบริเวณดังกล่าว เพราะเห็นว่ามีรถบรรทุกคันอื่น ๆ จอดอยู่ประมาณ 20 คัน รอส่งสินค้าเข้าคลัง ขณะนอนอยู่ได้มีรถเทรนเลอร์เปิดไฟใส่บอกสัญญาณ ตนเองจะลงรถไปดู แต่ไม่สามารถเปิดประตูได้ เนื่องจากถูกคนร้ายล็อคประตูจากภายนอก จากนั้น จึงได้ไขกระจกลงแล้วปีนออกมา พบคนร้ายพากันหลบหนีไปพร้อมน้ำตาลทราย จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ด้าน พ.ต.ท.ไชยันต์ เปิดเผยว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็กำลังติดตามตัวคนร้ายอยู่ เชื่อว่าคนร้ายที่ลงมือเป็นคนกลุ่มเดียวกัน.
จาก http://dailynews.co.th/ 7 กันยายน 2553
พาณิชย์บี้ปุ๋ยหั่นราคา อย่าเอาเปรียบเกษตรกร ชี้ได้รับอานิสงส์บาทแข็ง ช่วยลดต้นทุนนำเข้า
พาณิชย์เร่งศึกษาผลต่อราคาสินค้า หลังเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ระบุสินค้านำเข้าจากต่างประเทศน่าจะได้รับอานิสงต้นทุนถูกลง ไล่บี้ลดราคาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค นำร่องที่ปุ๋ยเคมี เหล็ก พร้อมชงของบฯธงฟ้า 1 พันล้านเอาไว้ดูแลปากท้องคนไทยปี54
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า จากกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 33 บาทต่อดอลล่าร์เป็น 31 บาทต่อดอลล่าร์ในปัจจุบัน คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสรุปและแจ้งผลการศึกษาให้ทราบในวันที่ 13 กันยายน 2553
ทั้งนี้ต้องศึกษาว่า สินค้าแต่ละกลุ่มมีการนำเข้าวัตถุดิบในช่วงไหน ก่อนหรือหลังเงินบาทแข็งค่า ปริมาณสต็อกสินค้าก่อนและหลังค่าเงินบาทแข็งค่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการค้า และส่งออกสินค้าเกษตรด้วย เพราะการส่งออกสินค้าเกษตรมีผลโดยตรงกับรายได้ของเกษตรกร ซึ่งเงินบาทแข็งค่าอาจส่งผลเสียต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ทำให้ราคาแพงกว่าคู่แข่งซึ่งมีค่าเงินที่อ่อนกว่า
แต่เงินบาทที่แข็งค่าจะส่งผลดีทำให้ต้นทุนสินค้าบางรายการลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนนำเข้าถูกลง อาจต้องปรับลดราคาจำหน่ายให้สอดคล้องกับต้นทุนด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้บริโภคภายในประเทศ
"ภายใน1สัปดาห์ จะทราบว่า สินค้ารายการใดบ้างที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่แข็งค่า และรายการใดบ้างที่ต้องลดราคาจำหน่าย โดยมีปุ๋ยเคมี เป็นสินค้ารายการแรกที่เราจะเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะนำเข้าจากต่างประเทศ100% หากพบว่าต้นทุนนำเข้าลดลง ก็ต้องสั่งให้ปรับลดราคาจำหน่ายโดยเร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งยังเป็นช่วงที่ความต้องการใช้เริ่มเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลการเพาะปลูกอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเหล็ก ตะกั่ว ทองแดง นิกเกิล รถยนต์ เป็นสินค้าอีกกลุ่ม ที่ได้รับผลดี ต้นทุนลดลง อาจต้องลดราคาจำหน่ายเช่นกัน"
นางวัชรี กล่าวต่อว่า กรมฯต้องเร่งดำเนินโครงการธงฟ้าให้เข้มข้นมากขึ้นโดยเฉพาะปี 2553 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน โดยเตรียมเสนอของบฯจากส่วนกลางจำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดูแลค่าครองชีพประชาชนในปีหน้า โดยจะต้องเพิ่มจำนวน และพื้นที่การจัดงานธงฟ้าให้ถี่และมากขึ้น เพื่อดูผู้แลผู้บริโภคให้ทั่วถึง
จาก http://www.naewna.com/ 6 กันยายน 2553
ชี้ 3 ปัจจัยดึงราคาสินค้าเกษตรพุ่ง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์สินค้าเกษตรมาโดยตลอด และสามารถสรุปทิศทางภาคเกษตรไทยว่าถึงแม้ในปีนี้จะมีผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และแมลงศัตรูพืชระบาดทำลายผลผลิตทางการเกษตรเสียหายอย่างหนัก แต่ก็ไม่สามารถฉุดรั้งราคาให้สินค้าเกษตรตกต่ำไปได้ เพราะในความโชคร้ายก็มีความโชคดีปนอยู่ด้วยเสมอ
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีการปรับตัวสูงขึ้นนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ทำให้เศรษฐกิจของไทยดีตามไปด้วย ประชาชนมีกำลังการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้ามีมากขึ้นนั่นเอง 2. ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วมและแมลงศัตรูพืชระบาด ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร เสียหายไปมาก ผลผลิตในภาพรวมจึงลดปริมาณลง ในขณะที่ความต้องการมีเท่าเดิมหรือมากขึ้น และ 3.ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความต้องการนำพืชอาหาร จำพวก อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ไปใช้เป็นพืชพลังงานมากขึ้น
สำหรับสินค้าเกษตรที่มีทิศทางสดใสในช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้น ยางพารา ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นปีทองของเกษตรกรชาวสวนยางก็ว่าได้ เนื่องจากราคาจำหน่ายปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท และถึงแม้จะมีบางช่วงที่ราคาปรับลดลงบ้างแต่ก็อยู่ในช่วงแคบ ๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่เกษตรกรเคยได้ที่ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม แล้ว ถือว่าเป็นราคาที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว
มันสำปะหลัง ก็เป็นตัวหนึ่งที่ราคาปรับขึ้น จากปีที่แล้วที่ราคาประกันอยู่ที่ 1.70 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้ราคาขยับไปอยู่ที่ 3-4 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ซึ่งก็เป็นผลมาจากเพลี้ยแป้งระบาดทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังหายไปจากระบบถึง 1 ใน 3 หรือจากเดิมที่มีผลผลิตอยู่ที่ 30 ล้านตัน ตอนนี้เหลือไม่ถึง 20 ล้านตันแล้ว
สำหรับมันสำปะหลังนับว่าเป็นความโชคดีในความโชคร้ายก็ว่าได้ เพราะช่วงที่เกิดเพลี้ยแป้งระบาด เกษตรกรต้องสูญเสียเงินทุนและผลผลิตไปจำนวนมาก แต่ขณะนี้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดีขึ้นกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้สินค้าจะราคาดี และมีความต้องการ ซื้อทั้งจากต่างประเทศก็มีออร์เดอร์เข้ามามาก แต่เรากลับไม่มีสินค้าจะขาย ทำให้เสีย โอกาสไปเหมือนกัน นายอภิชาต กล่าว
ส่วนเรื่องของ ข้าว นั้น แม้ว่าสต๊อกข้าวโลกจะยังขาดแคลนและมีความ ต้องการสินค้า แต่กลับไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ทำให้ ผู้ส่งออกหรือโรงสีข้าวไม่สามารถรับซื้อข้าวจาก เกษตรกรในราคาที่สูง อีกทั้งสต๊อกข้าวของรัฐบาลมีจำนวนมาก ดังนั้น รัฐจึงต้องเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อกให้ได้มากที่สุดก่อนจะถึงช่วงปลายปีที่ผลผลิตข้าวฤดูกาลใหม่จะออกมาอีก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ประเทศคู่แข่งอย่างอินเดียและจีน ประสบปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงทำให้ผลผลิตเสียหาย ไม่มีสินค้าจะส่งออกด้วยแล้ว เรายิ่งต้องเร่งหาวิธีส่งออกสินค้าให้ได้ ที่สำคัญขณะนี้ประเทศรัสเซีย ผลผลิตเกี่ยวกับธัญพืชของเขาเกิดความเสียหาย และมีคำสั่งงดส่งออกสินค้าประเภทนี้ทั้งหมด ก็นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ไทยจะสามารถเพิ่มกำลังการส่งออกข้าวได้เช่นเดียวกัน
...แม้ว่าทิศทางราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ขอให้เกษตรกรระมัดระวังและ เตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติ ที่สถานการณ์ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง รวมถึงโรคและแมลงศัตรูพืชมีความรุนแรงมากขึ้น อาจสร้างความเสียหายทั้งผลผลิตและทรัพย์สินของเกษตรกรได้ ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่าง ใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ถ้าช่วงนี้ท่านสามารถจำหน่ายสินค้าได้ราคาดีขึ้นก็ควรเก็บออม ไว้บ้าง เพราะราคาสินค้าเกษตรมันมี ความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ก็ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัว ท่านเอง.
จาก http://dailynews.co.th/ 6 กันยายน 2553
โปรย 3 พันล้านกู้ซื้อรถตัดอ้อย-น้ำ ชาวไร่จ้องตาไม่กะพริบโรงงานค้ำตามปริมาณอ้อย
กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายรวยอู้ฟู่ หาลู่ทางใช้เงินด้วยการปล่อยกู้ 2 โครงการ พัฒนาแหล่งน้ำ/ซื้อรถตัดอ้อย รวม 3,000 ล้านบาท คาดชาวไร่อ้อย/โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศแย่งขอกู้อุตลุด เหตุเงื่อนไขน้อย ดอกเบี้ยต่ำ 2% ไม่เหมือนขอกู้ ธ.ก.ส.ที่มีขั้นตอนยุ่งยากมากกว่า
นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการให้สินเชื่อในโครงการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ กับการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้อนุมัติในหลักการปล่อยกู้ให้กับชาวไร่อ้อยแล้ว
ทั้งนี้ เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีนาย ประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เสนอวงเงินรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อสำหรับการขาดแคลนน้ำ 2,000 ล้านบาท กับสินเชื่อซื้อรถตัดอ้อยแก้ไขขาดแคลนแรงงาน 1,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาการกู้ยืมระหว่างกองทุนอ้อยฯกับชาวไร่ มีโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ค้ำประกัน หากตรวจสอบร่างสัญญาเสร็จคาดว่าจะมีชาวไร่อ้อยมาขอกู้ยืมจำนวนมาก
"โครงการให้สินเชื่อรถตัดอ้อยเดิมมีอยู่แล้ว โดยรัฐบาลมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ปล่อยกู้ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเงื่อนไขของการปล่อยกู้ยากมาก ต้องเข้า ครม.ด้วย จึงมีชาวไร่ไปใช้สินเชื่อกับ ธ.ก.ส.น้อย แต่ขณะนี้กองทุนอ้อยฯพอมีเงินที่จะมาปล่อยกู้กับชาวไร่ได้ เงื่อนไขผ่อนปรนลง ดอกเบี้ยไม่สูง ผมคิดว่าชาวไร่น่าจะมาขอกู้กันเยอะ ถึงขั้นแย่งกันด้วยซ้ำ ทางโรงงานน้ำตาลก็ยินดีจะเป็นผู้ค้ำประกันให้กับชาวไร่" นายประกิตกล่าว
ทั้งนี้เงื่อนไขการให้สินเชื่อ 2 โครงการ ประกอบด้วย 1) สินเชื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 2,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ให้ชาวไร่แต่ละรายไม่เกิน 500,000 บาท ผ่านโรงงานน้ำตาล 46 โรงงาน ตามสัดส่วนปริมาณอ้อยเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (เฉลี่ยตันละ 28.81 บาท) ระยะการชำระคืนภายใน 4 ปี (ชำระคืนปีละครั้ง) อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น ขุดสระ หรือเจาะบ่อบาดาลสร้างระบบส่งน้ำ หรือมีโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำในไร่อ้อย ได้แก่ ระบบน้ำหยด หรือจัดหาเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการจัด การน้ำในไร่อ้อยหรือมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้งในไร่อ้อยอื่น ๆ เพื่อให้มีแหล่งน้ำไว้ใช้เพาะปลูกอ้อยได้อย่างเพียงพอ
2) สินเชื่อเพื่อซื้อรถตัดอ้อย 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 1 ปี (ฤดูการผลิต 2553/2554) อัตราดอกเบี้ย 2% ระยะการชำระคืนภายใน 6 ปี (ชำระปีละครั้ง) โดยมีเงื่อนไขให้นำไปจัดซื้อรถตัดอ้อยตามราคาจริง แต่ไม่เกิน 15 ล้านบาท/คัน กรณีผู้ขอสินเชื่อเป็นชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย หรือสหกรณ์ชาวไร่อ้อย จะให้โรงงานเป็นผู้ค้ำประกัน แต่หากโรงงานเป็นผู้กู้จะต้องมี หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งวงเงินกู้กระจายตามสัดส่วนปริมาณอ้อยเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีเช่นเดียวกัน (เฉลี่ยตันละ 14.40 บาท)
สำหรับปัญหาการขาดแคลนน้ำถือเป็นปัญหาสำคัญ จะเห็นได้จากการสำรวจ ไร่อ้อยในปีนี้พบว่าอ้อยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นฤดูการเพาะปลูก โดยเมื่อเปรียบเทียบความสูงของต้นอ้อยในเดือน สิงหาคมปีนี้สูงเพียง 1-1.2 เมตรเท่านั้น "ต่ำกว่า" เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2552 ที่มีความสูงในระดับ 1.5-1.7 เมตร อย่างไรก็ตามหากฝนยังคงตกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2553 หรือมีการจัดการเรื่องแหล่งน้ำที่ดีก็จะทำให้ความสูงของต้นอ้อยเพิ่มขึ้นได้อีก 80-100 เซนติเมตร รวมแล้วต้นอ้อยจะสูง 2 เมตรเศษ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
โครงการสินเชื่อทั้ง 2 ส่วน คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยฯจะตั้งคณะทำงานบริหารโครงการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาว่า กิจกรรมที่จะนำเงินสินเชื่อไปใช้นั้นตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ส่วนกรณีที่โรงงานน้ำตาลทรายซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย กองทุนอ้อยฯได้ขอให้โรงงานน้ำตาลทุกแห่งช่วยหักเงินค่าอ้อยจากชาวไร่นำส่งเข้ากองทุนแทนการชำระหนี้โดยตรง หากโรงงานไม่หักเงินค่าอ้อยหรือไม่นำส่งเงิน สำนักงานคณะ กรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะงดออกหนังสืออนุญาตขนย้ายน้ำตาลทราย
สถานภาพของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขณะนี้ถือว่า "ดีมาก" เนื่องจากกองทุนมีเงินจากการขึ้นราคาจำหน่ายน้ำตาลภาย ในประเทศ (โควตา ก.) กิโลกรัมละ 5 บาท วัตถุประสงค์เพื่อมาชำระหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. ตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีต ซึ่งตามแผนชำระหนี้เดิม 5 ปี ระบุปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศตกปีละ 19 ล้านกระสอบ (กระสอบ 100 กิโลกรัม) แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปริมาณจำหน่ายน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 20 และ 21 ล้านกระสอบ ส่งผลให้เงินที่ส่งเข้ากองทุนมีเหลือจากแผนชำระหนี้เดิมที่ทำไว้
จาก http://www.prachachat.net 3 กันยายน 2553
พาณิชย์เล็งคืนโควตาน้ำตาลทรายสอน.
"พาณิชย์" เล็งคืนโควตาน้ำตาลทรายค้านกระดาน 4.4 แสนกระสอบให้ สอน. เหตุมีปัญหาระบบวางเงินสดก่อนนำน้ำตาลออกจากโรงงาน
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมพิจารณาความเป็นไปได้ในการคืนโควตาน้ำตาลทรายค้างกระดานอยู่ จำนวน 4.4 แสนกระสอบ จากที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จำนวน 1 ล้านกระสอบ หลังประเมินสถานการณ์น้ำตาลทรายในตลาดคลี่คลายลง และปัญหาต้องวางเงินสดก่อนนำน้ำตาลทรายออกจากโรงงาน ทำให้ยี่ปั๊วที่ได้รับจัดสรรโควตา ติดปัญหาดังกล่าว จึงไม่สามารถนำน้ำตาลทรายออกจากโรงงานได้ และเป็นปัญหายืดเยื้อที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
เรื่องน้ำตาลทรายโควตาของกระทรวงพาณิชย์ที่ค้างสต็อกอยู่ เป็นปัญหาเดิมๆ ที่คุยกันแล้ว แต่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะต้องนำเงินสดไปวางจึงจะนำน้ำตาลออกจากโรงงานได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์ถือว่าคลี่คลายแล้ว ก็เป็นไปได้ว่าอาจพิจารณาคืนโควตาส่วนนี้ไป เพราะเดิมเราต้องการให้มีน้ำตาลส่วนหนึ่งที่จะแจกให้ผู้ค้าอื่น นำไปกระจายให้กว้างขึ้นเพื่อลดภาวะตึงตัวตอนนั้น นายยรรยง กล่าว
ทั้งนี้ สอน.ได้แจ้งปริมาณจำหน่ายและน้ำตาลคงเหลือ ณ วันที่ 30 ส.ค. โควตากระทรวงพาณิชย์ เดิมได้รับจัดสรร 1 ล้านกระสอบ ตั้งแต่มี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด เหลือค้างกระดานอยู่ 449,150 กระสอบ ซึ่งลดลงจากวันที่ 27 ส.ค. 453,185 กระสอบ, วันที่ 26 ส.ค. 456,555 กระสอบ และ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา 618,161.5 กระสอบ
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำตาลทรายในตลาดดีขึ้นมาก ประชาชนสามารถหาซื้อได้ในราคาที่กำหนดไว้ ต่างจากที่ผ่านมาต้องซื้อราคาแพงและจำกัดปริมาณ เนื่องจากมาตรการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ออกประกาศ 2 ฉบับ เรื่องการแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีควบคุมสินค้าน้ำตาลทรายปี 2553 และการควบคุมการขนย้ายน้ำตาลทรายปี 2553 เพื่อให้น้ำตาลทรายมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ ป้องกันการกักตุน
ทุกครั้งที่ราคาน้ำตาลโลกเปลี่ยนแปลง กรมต้องวางแผนดูแลปริมาณและราคาจำหน่ายในตลาดแล้ว เพื่อไม่ให้มีการกักตุนและนำน้ำตาลทรายส่วนที่จะใช้ภายในไปทำกำไร แต่พอออกมาตรการแจ้งที่จัดเก็บแล้วทุกอย่างดีขึ้น แต่ก็ไม่ประมาทยังให้เจ้าหน้าที่ติดตามอย่างต่อเนื่องป้องกันปัญหากลับมาเกิดขึ้นอีก
จาก http://www.bangkokbiznews.com 3 กันยายน 2553
ชาวไร่อ้อยสุโขทัยโวยรัฐบาล มาร์ค ขวางย้าย รง.น้ำตาลเข้าสวรรคโลก
สุโขทัย - ชาวไร่อ้อยสุโขทัย รวมตัวยื่นนายกฯ เร่งเดินเรื่องย้ายโรงงานน้ำตาลจากอุตรดิตถ์เข้า สวรรค์โลก หลังเรื่องผ่าน ครม.มาตั้งแต่ 11 พฤษภาฯ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงวันนี้ ครวญต้องแบกค่าขนส่งรวมกว่า 100 ล้าน/ปี ติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว
รายงานข่าวจากจังหวัดสุโขทัย แจ้งว่า วันนี้ (3 ก.ย.) ชาวไร่อ้อยจากอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสุโขทัยกว่า 500 คน นำโดย นายสุชัย ลิ้มสมมุติ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลูกพระยาพิชัย ได้รวมตัวกันมายื่นหนังสือถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง นายจักรกฤษ ทับทิมทอง หัวหน้าคณะทำงานกลั่นกรองโครงการและแผนงานที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ให้มาเจรจา และทำความเข้าใจแก่ชาวไร่อ้อยครั้งนี้ ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสวรรคโลก
กลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวว่า ต้องการให้มีการเร่งรัดหน่วยงานที่รับผิดชอบ รีบดำเนินการย้ายโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จาก จ.อุตรดิตถ์ มาตั้งที่ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยเร็ว เพราะชาวไร่อ้อยสุโขทัย จำนวน 2,537 ราย ที่เป็นคู่สัญญาของโรงงานแห่งนี้ ได้รับความเดือดร้อน จากการแบกภาระค่าขนส่ง ปีละกว่า 100 ล้านบาท มานาน 3 ปีแล้ว
กลุ่มผู้ชุมนุม ระบุอีกว่า พวกเขามีข้อสงสัยว่า การย้าย และขยายกำลังหีบอ้อย ของโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พร้อมกับโรงงานน้ำตาลอื่นๆ รวม 12 โรงงาน ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพียงแค่รับไปทำให้ครบขั้นตอนตามระเบียบ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีการเสนอเรื่อง หรือไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา
จาก www.manager.co.th 3 กันยายน 2553
ปลุกจัดการอนุรักษ์ดิน-น้ำ พด.กระตุ้นกิจกรรมฟื้นฟู-ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินพื้นที่ลาดชัน
กรมพัฒนาที่ดินเร่งจัดกิจกรรมป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ลาดชันและที่ถูกน้ำท่วม ช่วยฟื้นฟูการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกลงมาอย่างมากในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนตลอดจนพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและหน้าดินถูกชะล้างพังทลายมีหลายปัจจัย อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมาะสมในบริเวณพื้นที่เทือกเขาสูงชัน,พื้นที่ลาดเท ประกอบกับมีการแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนรอย และการลักลอบตัดไม้ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายจำนวนมาก อีกทั้งดินและหินมีลักษณะผุกร่อนอ่อนตัวง่าย เมื่อมีปริมาณฝนตกมากผิดปกติและติดต่อกันจึงทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน รวมไปถึงเกิดการชะล้างพังทลายของดิน
ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดินจึงได้จัดทำกิจกรรมฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ลาดเทหรือลาดชัน และในพื้นที่เกษตรที่มีความวิกฤติต่อการสูญเสียหน้าดิน รวมพื้นที่ 6,182 ไร่ สำหรับรูปแบบการดำเนินการนั้นจะใช้ทั้งวิธีกลและวิธีพืช ตลอดจนกำหนดมาตรการในการใช้ที่ดินให้ถูกต้อง เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพดินไม่ให้ถูกทำลายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
"ที่ผ่านมากรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำกิจกรรมฟื้นฟูและป้องกันการชะล้างพังทลายของดินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พื้นที่เหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ลาดเทและน้ำท่วมนั้น กรมฯ ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 27,600 ไร่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีพื้นที่อีกมากที่ยังรอการแก้ปัญหาอยู่ และที่สำคัญการดำเนินการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่จึงจะสำเร็จลุล่วงได้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว
จาก http://www.naewna.com วันที่ 3 กันยายน 2553
มข.คิดค้นปุ๋ยดูดซับและละลายฟอตเฟสส่งเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตพืชหลายชนิด
ผศ.ดร.โสภณ บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงผลการ ศึกษาวิจัยผลิตปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์กลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟต
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย มข.คิดค้นปุ๋ยชีวภาพกลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟต ส่งผลดีต่อการเจริญของ ถั่วลิสง อ้อย พริก มะละกอ ประสิทธิภาพใกล้เคียงปุ๋ยเคมี แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เล็งพัฒนางานวิจัยต่อเพื่อให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะกระบวนการผลิตและเก็บรักษาป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในปุ๋ยตาย
ผศ.ดร.โสภณ บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงผลการ ศึกษาวิจัยผลิตปุ๋ยชีวภาพจากจุลินทรีย์กลุ่มดูดซับและละลายฟอสเฟตว่าในการศึกษานักวิจัยได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ตามดินทั่วไป ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับพืชอาศัย
โดยเชื้อรานี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารในดินให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น มะละกอ อ้อย พริก และถั่วลิสง
ส่วนแบคทีเรียละลายฟอสเฟต (phosphate solubilizing bacteria, PSB) พบได้ทั่วไป ในดิน เช่นเดียวกัน แต่มีคุณสมบัติในการผลิตกรดอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายฟอสเฟตที่ถูกตรึงอยู่ในดิน ในรูปที่ไม่ละลายน้ำ ทำให้ฟอสฟอรัสละลายออกมาสู่ดิน จากนั้นเชื้อราไมคอร์ไรซาจึงช่วยดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้มากขึ้น จึงทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่สูงและให้ผลิตดี
โดยการศึกษาวิจัยได้ศึกษาทดลองด้วยการนำเชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไปใช้ในการปลูกถั่วลิสงในสภาพแปลงปลูกทดลอง เสร็จสมบูรณ์แล้ว และพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ในกระบวนการทดลอง ผศ.ดร.โสภณ บุญลือ ระบุว่า โดยปกติแล้ว หากจะทำการทดลองในพืชชนิดใด นั้น ก็จะไปเก็บดินที่อยู่บริเวณรอบๆ รากของพืชนั้นมา จากนั้นก็จะนำมาแยกสปอร์ของเชื้ออาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า ด้วยวิธีการร่อนแบบเปียก คือ ร่อนผ่านน้ำในตระแกรง ถึง 4 ชั้น รูของตะแกรง มีขนาดเล็กแตกต่างกันในระดับไมโครเมตร นำสปอร์ที่ได้มาตรวจสอบคุณลักษณะ ว่าใช่เชื้อราอาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซ่า หรือไม่ โดยส่องผ่านกล้องจุลทรรศ์ แบบสเตอร์ริโอไมรโคร สโคป
พร้อมทั้งคัดเลือกสปอร์ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และนำมาเพิ่มปริมาณโดยใช้พืชอาศัย เช่น ข้าวโพดที่มีระบบรากจำนวนมาก มีวงชีวิตสั้น ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็สามารถเพิ่มปริมาณสปอร์ของเชื้อได้ดี
สำหรับแบคทีเรียละลายฟอสเฟต นำมาแยกโดยใช้อาหารจำเพาะที่ผสมไตรแคลเซียมฟอสเฟต แล้วเพาะเลี้ยงในอาหารเหลว และผสมกับพาหะซึ่งใช้ผงซีโอไลท์ทำให้แห้งแล้วนำไปใช้ทดลองต่อไป
เมื่อได้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มในปริมาณที่เพียงพอแล้วแล้วก็จะนำไปทดสอบกับพืชเป้าหมาย ในขั้นแรกจะนำไปทดสอบในระดับกระถางก่อน โดยใช้ถั่วลิสงที่มีสายพันธุ์แตกต่างกัน มาทดสอบกับเชื้ออาบัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟต ในแต่ละชนิด ซึ่งพบว่าเชื้ออาบัสคูลาร์ไมคอร์ไรซา ชนิดโกมัส คาร์ลัม เป็นเชื้อที่ดีที่สุด สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสงได้ดีที่สุด ส่วนพันธุ์ของถั่วที่มีให้ผลการเจริญเติบโตที่ดีต่อเชื้อราอาร์บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา ชนิด โกมัส คาร์ลัม นั้น คือพันธุ์ไทยนาน 9 ซึ่งตอนนี้ก็เป็นพันธุ์ถั่วที่เกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูก โดยการคัดสายพันธุ์ถั่ว รวมถึงการทดลองในระดับแปลง ได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.สนั่น จอกลอย อาจารย์ประจำภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.ดร.โสภณกล่าวอีกว่า สิ่งที่ได้ค้นพบจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้พบว่า ต้นถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ที่ใส่เชื้อราอาบัสคูลาร์ ไมคลอไรซา ชนิด โกมัส คาร์ลัม ร่วมกับแบคทีเรียละลายฟอสเฟตในการปลูกถั่ว ทำให้ถั่วลิสงมีเมล็ดโต น้ำหนักดี เมื่อเปรียบเทียบกับ ถั่วที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ยชนิดใดเลย และได้ผลดีเทียบเท่ากับถั่วลิสงที่ใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคลอร์ไรซายังเป็นกลุ่มจุลลินทรีย์ที่สามารถดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้ดี ส่วนแบคทีเรียละลายฟอสเฟต ช่วยละลายฟอสเฟตในรูปที่ไม่ละลายน้ำ ให้เชื้อราไมคอร์ไรซานำไปสู่พืช
ดังนั้น การใช้เชื้อจุลินทรีย์ทั้ง 2 กลุ่มจึงเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของถั่วลิสง เนื่องจากการทำงานของเชื้อร่วมกันนี้ และยังช่วยรักษาสภาพดินให้ร่วนซุยได้ดีอีกด้วย
สำหรับแนวทางในการพัฒนาขั้นต่อไปนั้น ผศ.ดร.โสภณกล่าวว่า ต้องการพัฒนาให้เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอไรซ่า และแบคทีเรียละลายฟอสเฟตให้เป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีคุณภาพสูง โดยจะพัฒนาทั้งในเรื่องของกระบวนการผลิต โดยได้ดำเนินการทดลองการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมัก ที่ใส่เชื้อราอาร์ บัสคูลาร์ ไมคอร์ไรซา และแบคทีเรียละลายฟอสเฟต ซึ่งกำลังทดลองใช้กับอ้อย นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาการเก็บรักษาปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยแบคทีเรียละลายฟอสเฟต
เพราะปัญหาที่พบในปุ๋ยชีวภาพในปัจจุบันนี้ คือ ปุ๋ยไม่มีคุณภาพเนื่องจากการเก็บรักษาที่ถูกต้อง ทำให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในปุ๋ยตาย จึงเป็นปัญหาของปุ๋ยไม่ได้ผลตามโฆษณาหรือปุ๋ยปลอมนั่นเอง
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 2 กันยายน 2553
กลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 มอบเงิน 4 แสนบาท หนุนปฏิบัติการฝนหลวง
กลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เมืองกาญจนบุรี รวมตัวมอบเงิน 400,000 บาท สนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง
เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ (2 ก.ย.) นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี พร้อมด้วย นายสุพัฒพงษ์ อริยสัจจเวคิน ผจก.ฝ่ายไร่ บริษัทน้ำตาลท่ามะกา และคณะผู้ผลิตน้ำตาลทรายภาค 7 จำนวน 9 บริษัท เดินทางไปที่บริเวณสนามบินกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง เพื่อมอบเงินจำนวน 400,000 บาท สนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคกลาง เพื่อนำไปซื้อตู้คอนเทนเนอร์ปรับปรุงเป็นสำนักงาน โดยมี นายอาคเนย์ บุญเลิศ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง เป็นผู้รับมอบเงินจำนวนดังกล่าว
นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า นับว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงได้มาตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นไร่อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไร่นา และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก มักจะประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่ทุกปี
เนื่องจากฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ทำให้ผลผลิตพืชผักได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ 4 อำเภอ เช่น อ.ห้วยกระเจา อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ อ.เลาขวัญ ซึ่งทั้ง 4 อำเภอนี้ ถือว่าประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด ซึ่งหลังจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางได้มาตั้งฐานในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีก็จะสามารถช่วยเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
ด้าน นายสุพัฒพงษ์ อริยสัจจเวคิน ผจก.ฝ่ายไร่ บริษัท น้ำตาลท่ามะกา กล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลทราย ภาค 7 ทุกโรงงานได้ร่วมกันสนับสนุนเงินจำนวน 400,000 บาท เพื่อมอบให้กับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 ตู้ เนื่องจากทราบว่าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงยังขาดแคลนสถานที่ทำงาน หรือสำนักงานในการวางแผนในการปฏิบัติงาน
ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลทรายจึงได้ประสานไปยัง นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้มาเป็นประธาน และสักขีพยานในการมอบเงินสนับสนุนในครั้งนี้
นายอาคเนย์ บุญเลิศ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง กล่าวว่า ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลางได้มาตั้งฐานปฏิบัติการที่กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งหลังจากได้มาตั้งฐานที่นี่ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ก็ได้มาตรวจเยี่ยมศูนย์แล้วหลายครั้ง ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พบว่าศูนย์ปฏิบัติการนั้นมีความคับแคบ
ท่านจึงได้ประสานไปยัง สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลทรายภาค 7 เพื่อให้ช่วยสนับสนุนหาสถานที่ทำงานให้ ซึ่งเงินที่ได้มา ทางศูนย์จะนำไปซื้อตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 ตู้เพื่อนำมาปรับปรุงให้เป็นสถานที่ทำงาน หรือสำนักงานในการทำงานเพื่อวางแผน ในการปฏิบัติการฝนหลวง ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อไป
จาก http://www.manager.co.th วันที่ 2 กันยายน 2553
ติตตามการประชุม ครม.เศรษฐกิจชุดเล็กนัดพิเศษ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีต้องเรียกหารือถด่วนถายหลังจากจากกรณีเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
1.ตั้งแต่เช้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดเล็กเป็นกรณีพิเศษ ในเวลาประมาณ 07.00 น.เพื่อหารือถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง นางพรทิวา นาคาศัยรมว.พาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้นดังนั้นต้องจับตากันว่าทางรัฐบาลจะเข็นมาตรการทางเศรษฐกิจใดออกแทรกแซงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นหรือไม่
2.วันนี้จะมีการประชุมติดตามความคืบหน้าคดีคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยมี พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหราณ อยุธยา ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานการประชุม โดยจะเน้นติดตามตรวจความคืบหน้าในการติดตามคนร้ายผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุยิง รวมถึงจุดที่คนร้ายซุ่มยิง ซึ่งจำเป็นต้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ และกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อตรวจหาวิถีโค้งในการยิงวิถีกระสุนพร้อมกับเร่งควานหาภาพคนร้ายจากวงจรปิดอย่างละเอียดทุกตัวเพื่อหาเบาะแสให้ได้
3.ยังเกาะติดอย่างต่อเนื่องกับประเด็นที่ดินเขาแพงของพรรคเพื่อไทย โดยในวันที่ 2 ก.ย. นายประเกียรติ นาสิมมา สส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ได้เชิญนายแทน เทือกสุบรรณบุตรชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี มารับฟังการสรุปผลการพิจารณาศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการถือครองที่ดินเขาแพง ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
4.ต้องลุ้นระทึกกันอีกรอบเพราะปัญหามาบตาพุดยังไม่จบลงง่ายๆเมื่อศาลปกครองกลางได้นัดผู้ประกอบการฟังคำตัดสินคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้อง 76 โครงการมาบตาพุด ดังนั้นจึงต้องติดตามกันว่าผลคำตัดสินจะออกมาอย่างไร และนายสุทธิอัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคตะวันออก ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ด้วยเช่นกันเพื่อคัดค้านมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่มีมติเห็นชอบร่างประกาศประเภทกิจการรุนแรง 11 กิจการ เพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง
5.นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วย นายกรณ์จาติกวณิช รมว.คลัง จะตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานผลดำเนินกิจการของบริษัท การบินไทย เวลา 13.00 น. หลังเกิดฝุ่นตลบทางการเมืองขึ้นกับเจ้าจำปีสายการบินแห่งชาติ เมื่อนายปิยสวัสดิ์อัมระนันทน์ ผู้อำนวยการการบินไทยเดินเครื่องซื้อหุ้นไทยเกอร์ แอร์เวย์สสัญชาติสิงคโปร์ เหยียบตาปลานายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ที่โวยว่าเป็นการทำงานข้ามหัว
6.ยังต้องจับตาตลาดเงินและตลาดหุ้นต่อ หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย.บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยได้รับอิทธิพลจากเงินทุนไหลเข้าดันจนปิดตลาดที่ 919.34 จุด บวก 6.15 จุดหรือ 0.67% มูลค่าการซื้อขายรวม49,075 ล้านบาท เป็นนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิถึง 1,898 ล้านบาท กดให้ค่าเงินบาทแข็งตัวปิดที่ 31.17/19 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ถือว่าแข็งค่าต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ย. นักค้าเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า ยังมีโอกาสแข็งค่าได้อีก คาดอยู่ที่31.10-31.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
7.นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังเปิดแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่ถูกเพลิงไหม้เนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยรวมพลกันที่บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกราชประสงค์
จาก http://www.posttoday.com วันที่ 2 กันยายน 2553
แบงก์ชาติยันไม่พบโจมตีค่าเงินบาท ระบุแข็งค่าตามภูมิภาค แนะป้องกันความเสี่ยง
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทย ยังไม่พบการเข้ามาถล่มเก็งกำไรอย่างที่เป็นห่วง แม้ในช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากในช่วงต้นปี2553 มีปัญหาภายในประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคปรับแข็งกว่าไปก่อนหน้าตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยขณะนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าเป็นอันดับสองในภูมิภาครองจากประเทศมาเลเซีย ในแง่รายได้ผู้ส่งออกไทยอาจจะลดลงไป แต่จะมีตัวขับเคลื่อนอื่นเข้ามาชดเชยคือ การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท จากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศได้มากนักจากปัญหาทางการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ก็จะนำข้อมูลดังกล่าวรายงานกับนายกรัฐมนตรีในวันที่ 2 กันยายนนี้
ขณะนี้ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าอยู่ที่6.4% จากเดิมแข็งค่าอยู่ที่ 3.5% แต่ก็ยังเป็นไปตามประเทศในภูมิภาคหากเทียบกับกลุ่มประเทศจี 3 จะเห็นความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเป็นปัจจัยที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้า และหากดูการขยายตัวการส่งออกยังขยายตัวมากกว่า 30% หากจะกระทบคงจะส่งผลในแง่ของรายได้ผู้ส่งออก จึงควรป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า ที่มองว่าธปท.ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่เต็มที่นั้น ก็ไม่รู้ว่าดูจากอะไร เพราะธปท.ยังดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากจนเกินไป แต่ค่าเงินก็คงต้องขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายด้วย
นางธาริษา กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการกันสำรองเงินลงทุนจากต่างประเทศ30 %เป็นปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มความระมัดระวังอยู่ และอย่างมาตรการที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียใช้ล่าสุดคือ ขยายระยะเวลาเงินทุนที่ไหลเข้ามาต้องอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลา 3 เดือนจากเดิม 1 เดือน เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน แต่ของไทยเองก็ไม่ได้มีเงินทุนไหลเข้ามามากขนาดนั้น และหากดูในแง่ของความผันผวนแล้วค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่มาตรการที่ธปท.ทำไปก่อนหน้ายังเป็นสิ่งเตือนใจผู้ลงทุนอยู่ เพราะนักลงทุนยังเกรงว่าธปท.เคยทำมาแล้ว อาจจะทำอีกก็ได้
นางธาริษา กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษเพื่อดูแลเงินทุนไหลเข้า เพราะไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว และธปท.ไม่มีเกณฑ์ว่าจะให้ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง แต่เรื่องของค่าเงินนั้น หากพิจารณาจากเดือนกรกฎาคมมีการขาดดุลจากที่มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออกทั้งนี้หากเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น ก็ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นของวัฏจักรการลงทุนภาคเอกชน และเป็นตัวที่จะเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้หากมีเงินไหลเข้าเร็ว-ออกเร็วภาคเอกชนก็ต้องป้องกันความเสี่ยงของตนเอง ใครที่ไม่ได้ทำก็ต้องทำ ขณะเดียวกันก็มองว่าภาคเอกชนควรจะต้องมีพัฒนา โดยเฉพาะภาคแรงงานที่ธปท.คาดว่าจะมีปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันคงต้องใช้จังหวะนี้ในการลงทุนด้านเครื่องจักร
แนวโน้มคาดว่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้า แต่ก็ไม่ใช่จะเข้ามาเรื่อยๆ คงมีทั้งไหลเข้าและไหลออกตามกระแสข่าวภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป แต่ก็ไม่เชื่อว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างนี้ไปเรื่อยๆคงไม่ใช่ ขณะเดียวกันหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี การนำเข้าคงมากขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีการขาดดุลในระยะต่อไป อย่างไรก็ตามการเงินบาที่แข็งค่าขึ้นก็มีทั้งคนได้และเสียผลประโยชน์ โดยรายได้ของผู้ส่งออกอาจจะลดลง ขณะที่ผู้นำเข้าก็จะได้ซื้อวัตถุดิบที่ถูกลง โดยเฉพาะน้ำมัน และเครื่องจักรที่จำเป็นจะต้องนำมาขยายกำลังการผลิต นางธาริษากล่าว
จาก http://www.matichon.co.th วันที่ 1 กันยายน 2553