http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล(เดือนกันยายน 2562)

อุตฯเดินหน้ายุทธศาสตร์ สร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมจะทุ่มงบประมาณหลักพันล้านบาทจากงบประมาณรวมทั้งกระทรวงที่ขอไป 14,000 ล้านบาท มาใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรไทยตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัจจุบันภาคการเกษตรเป็นภาคที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุดในเศรษฐกิจประเทศ แต่มูลค่ารวมของภาคเกษตรกลับมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีไม่มาก

ระหว่างนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตร คาดว่ายุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนจะได้ข้อสรุปเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืนควรจะดำเนินการต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3-4 ปี ในรูปแบบประชารัฐ ตัวอย่างรูปแบบที่อาจพิจารณานำมาใช้ในการขับเคลื่อนแนวทางหนึ่งที่อยู่ระหว่างเลือก คือ การเข้าไปต่อยอดเกษตรกรไทยที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตอยู่แล้ว ให้มีการขยายออกไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ นายพสุ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) OIE Forum 2019 และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง สศอ.กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีดี แบงก์) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุนรวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันผ่านระบบ i-industry ซึ่งป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงอุตสาหกรรมไว้ด้วยกันในลักษณะของฐานข้อมูลBig Data

จาก https://www.naewna.com วันที่ 12 กันยายน 2562

ส่อง “ภาษีน้ำหวาน” โจทย์ใหม่ ท้าทายตลาดเครื่องดื่มแสนล้าน

       นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวานตามพ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 จะดีเดย์บังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป หลังจากที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการปรับตัว ปรับสูตรลดปริมาณความหวานลงให้เป็นไปตามที่กำหนด เพื่อไม่ต้องรับภาระภาษีเพิ่มตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

       ผลที่เกิดขึ้นจึงเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ดาหน้าเกิดขึ้นในตลาดจำนวนมาก แทบจะเดือนต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นสินค้าในหมวดเครื่องดื่ม และเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้อย   แต่เครื่องดื่มเหล่านั้น กลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดี  มียอดขายที่สูง ด้วยเหตุผลเพราะ คนไทยยังติดรสหวาน

      ผู้บริหารเครื่องดื่มน้ำดำรายหนึ่งกล่าวยอมรับว่า น้ำดำสูตรหวานน้อย ไม่เป็นที่นิยมของคนไทย

        แม้จะมุมานะสร้างการรับรู้ถึงสูตรใหม่ รสชาติใหม่ “หวานน้อย” ที่ดีต่อสุขภาพอย่างหนัก แต่ผลตอบรับก็ยังไม่เติบโตตามที่คาดหวัง

      ขณะที่ “น้ำผลไม้”  ที่งานนี้ก็โดนหางเลขไปด้วย เพราะมีปริมาณความหวานสูงไม่ต่างกัน ต่างก็เร่งปรับตัว แม้ที่ผ่านมาจะไม่ใส่น้ำตาลในปริมาณที่สูง แต่ด้วยความหวานจากธรรมชาติก็มีปริมาณสูงอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึง “น้ำหวาน” ล้วนๆ ที่งานนี้เจ๊กอั๊ก!!  เต็มๆ

      แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายก็ไม่สะทกสะท้าน เมื่อต้องควักจ่ายภาษีมากขึ้น ก็เดินหน้าขึ้นราคาซะเลย!!

      งานวัดกันเห็นๆ ว่า “ถ้ากล้าขึ้น ก็กล้าซื้อ” หรือ “ใครจะอยู่ ใครจะไป!”

       เห็นได้จากเบอร์ 1 ในตลาดน้ำหวานอย่าง “เฮลล์บลูบอย”  ที่ประกาศลั่นแบบ โนสน โนแคร์  เดินหน้าขึ้นราคาแบบชิล ชิล  แค่ขวดละ 10 บาท ใครรักกันจริง ชื่นชอบกันจัง ควักจ่ายได้สบายๆ 

         ส่วน “Pepsi”  ก็ไม่หวั่น ออกมายอมรับว่า ปรับขึ้นราคาไปล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคมที่ผ่านมาแล้ว แต่เป็นสูตรออริจินัล ส่วนวันที่ 1 ตุลาคมนี้จะปรับขึ้นอีกระลอกหรือไม่ คงต้องจับตาดูต่อไป 

       เพราะ การปรับขึ้นราคาน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มหลายประเภทสามารถกระทำได้เลย เพราะไม่ใช่สินค้าควบคุม ขณะที่สินค้าอีกหลายประเภทแม้จะเป็นสินค้าควบคุม แต่ก็ยังสามารถขยับราคาให้สูงขึ้นได้ เพราะยังไม่ชนเพดาน  งานนี้จึงต้องจับตาดูทั้งกาแฟพร้อมดื่ม  ชาพร้อมดื่ม  นมข้นหวาน  ครีมเทียม ฯลฯ

      ที่พลาดไม่ได้  ก็ต้องจับตาดูเงินในกระเป๋าเราๆ นี่แหละ เพราะเดิม 100 บาท อาจจะซื้อได้ทั้งกาแฟ  นมข้นหวานพร้อมน้ำแข็ง  แต่อนาคตอาจจะซื้อได้ไม่ครบเครื่องอย่างต้องการ

      ล่าสุดรองโฆษกกรมสรรพสามิต “ณัฐกร  อุเทนสุต”  ออกโรงยืนยันเองว่า อัตราภาษีน้ำหวานใหม่จะเริ่มมีผล 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป  โดยยึดหลักที่ต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบการลดการใช้น้ำตาล  เพื่อสุขภาพของประชาชน ส่วนผลงาน 1 ปีเศษที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณความหวานลดลงมากนัก  แต่โลโก้สุขภาพหรือผลิตภัณฑ์ที่ควบคุมความหวาน ปรับเพิ่ม 200-300 รายการจากเดิมที่มีอยู่ 60-70 รายการ โดยกลุ่มเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นกว่า 200% 

       แต่ไม่ว่าจะขายดีหรือไม่อย่างไร  กรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้เนาะๆ เพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้จากภาษีน้ำหวานรวมทั้งสิ้น 3,500-4,500 ล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันที่เก็บได้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี

      จากภาพรวมของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2562 ที่คาดการณ์ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีทั้งสิ้น 5.84 แสนล้านบาท และปี 2563 ที่ 6.4 แสนล้านบาท

      ขณะที่ผลการสำรวจที่สรรพากรร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำขึ้นพบว่า การออกมาตรการจัดเก็บภาษีใหม่ มีผลจูงใจให้ผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องดื่มปรับตัว  ลดปริมาณความหวานลงค่อนข้างมาก  มีการเพิ่มเครื่องหมายเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 200%   ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต่ำกว่า 30 ปี ให้ความสนใจในมาตรการภาษีความหวาน แต่วัยทำงานที่มีอายุ 30-60 ปี ยังให้ความสนใจน้อย

      แม้การออกมาป่าวประกาศว่าการจัดเก็บภาษีน้ำหวานเพราะห่วงใยในสุขภาพของประชาชนคนไทย ที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ตามมา แต่ในอีกมุมหนึ่งเงินที่จัดเก็บได้ ก็จะตกไปอยู่ในคลังกลายเป็นเงินหมุนเวียนใช้จ่าย

      ส่วนในภาคของธุรกิจ บริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้หลายคนมองว่าทิศทางของตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จะเปลี่ยนไปสู่เทรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่จะต้องเพิ่มสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างแน่นอน ทั้ง ไลน์สินค้าใหม่สูตรหวานน้อย สินค้าเดิมแต่ปรับสูตร หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบ 100%  แต่ทว่าในแง่ของการดำเนินธุรกิจยังมีอีกหนึ่ง “ตัวแปร” สำคัญคือเรื่องของ “อินไซต์ผู้บริโภค”

      ที่หลายผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ต่างให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า แม้เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจะเป็นกระแสที่มาแรง แต่ในแง่ของยอดขายและความนิยม “สูตรดั้งเดิม” ยังกินขาด ส่วนเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนั้น ต้องค่อยๆสร้างฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งคาดว่าต้องกินเวลานานกว่า 2 ปี ในการสร้างความคุ้นเคยและชื่นชอบ ซึ่งจะทำให้การแข่งขันของตลาดก็ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่องโดยมี การลด แลก แจก ชิงโชคเข้ามาเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างรายได้และยอดขายพุ่งไปข้างหน้า

       ที่ผ่านมา เครื่องดื่มสูตรดั้งเดิมใช้เวลานานนับ 10 ปี บางรายใช้มากกว่า 30 ปีกว่าจะแจ้งเกิดหรือสยายปีกในเอเชีย

       หากจะมาคาดหวังกับเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยก็จำเป็นต้องใช้เวลา เงินทอง และกลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาช่วยในการสร้างฐานที่มั่น และก่อร่างสร้างการเติบใหญ่เช่นกัน

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กันยายน 2562

หุ้นนํ้าหวานไม่กระทบ ‘ปรับภาษี’ ขึ้นรอบ 2   

โบรกฯเผยขึ้นภาษีนํ้าหวานรอบ 2 ดีเดย์ 1 ตุลาคมนี้ไม่กระทบหุ้นเครื่องดื่ม หลังปรับตัวได้แล้ว และไตรมาส 3 เป็นโลว์ซีซัน แนะซื้อหุ้น TACC- SAPPE จากการปรับสูตร นํ้าตาลและเพิ่มสินค้าใหม่

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การขึ้นภาษีนํ้าหวานเพิ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นเครื่องดื่มอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันสินค้าเครื่องดื่มที่จำหน่ายในประเทศจะถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิต แบ่งเป็นตามมูลค่า คือ นํ้าอัดลมและเครื่องดื่ม บำรุงกำลัง ถูกจัดเก็บในอัตรา 14% ส่วนนํ้าผักผลไม้ที่ไม่ได้รับการยกเว้น เช่น ชาและกาแฟ อัตรา 10% ของราคาขายปลีกแนะนำ ไม่รวม VAT 7%

ขณะที่แบ่งตามปริมาณนํ้าตาล ขึ้นอยู่กับปริมาณนํ้าตาล ซึ่งในปัจจุบันตามที่ได้ประกาศในกฎกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ณ วันที่ 15 กันยายน 2560 จัดเก็บตั้งแต่ 0.10-1.00 บาทต่อลิตร และจะปรับเพิ่มทุก 2 ปี โดยในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะครบกำหนดที่จะถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม โดยประเมินการขึ้นภาษีนํ้าตาลครั้งนี้ ไม่มีผลต่อ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI), บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI), บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) และบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) (SAPPE) อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ช่วงไตรมาส 3 เป็นช่วงโลว์ซีซันของกลุ่มเครื่องดื่มด้วย

ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัสฯ ระบุว่า การเก็บภาษีความหวานครั้งนี้ ไม่กระทบต่อ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP), บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (TACC), บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (OISHI), บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ICHI), บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CBG) และบริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) (SAPPE) ซึ่งปรับตัวเรียบร้อยแล้ว ยกเว้น บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) (TIPCO) และ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MALEE) เพราะนํ้าผลไม้ 100% ปรับสูตรไม่ได้ ทั้งนี้ กลุ่มเครื่องดื่ม แนะนำซื้อ TACC ที่ราคาเป้าหมาย 6 บาท ส่วน OSP ราคาเป้าหมาย 37 บาท และ SAPPE ราคาเป้าหมาย 25 บาท โดยแนะนำให้รอซื้อช่วงที่อ่อนตัว เนื่องจาก Upside มีจำกัด

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)ฯ ระบุว่า หุ้นแนะนำซื้อในกลุ่มเครื่องดื่ม คือ TACC หลังจากรายได้ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามจำนวนสาขาของเซเว่น อีเลฟเว่นและ All cafe ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงฤดูร้อนที่ค่อนข้างนานกว่าปกติช่วยกระตุ้นการบริโภคเครื่องดื่ม นอกจากนี้ มีรายได้จากเครื่องดื่มตามฤดูกาล คือ เมลอนลาเต้ ที่สร้างรายได้ช่วงปลายไตรมาส ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 31.1% เพิ่มขึ้นจาก 29.4% ในไตรมาส 2 ปี 2561 จากการปรับสูตรนํ้าตาลน้อยทำให้ภาษีนํ้าตาลลดลง และรายได้จากธุรกิจลิขสิทธิ์การ์ตูน ซึ่งมีกำไรเพิ่มขึ้น ประมาณการกำไรปกติทั้งปีของ TACC อยู่ที่ 140 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าจะพิเศษกว่าทุกปี เนื่องจากมีรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์มาช่วยหนุนอีกแรง จากไตรมาส 3 ปกติกำไรจะลดลง เพราะเป็นฤดูฝน

แต่ปีนี้คาดว่าไตรมาส 3 อาจทรงตัว จากปริมาณฝนตกน้อยกว่าทุกปี และเมนูใหม่ใน All cafe เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ได้ปรับคำแนะนำเป็นซื้อในหุ้น SAPPE โดยคาดกำไรสุทธิจะเติบโตไม่น้อยกว่า 50% ในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากรายได้ในประเทศเติบโตจากสินค้าใหม่ รายได้ในต่างประเทศกลับมาเติบโต หลังหดตัว 13% เพราะฟิลิปปินส์จัดเก็บภาษีนํ้าตาลเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับไทย อินโดนีเซียการบริหารสินค้าคงคลังไม่ดี และประเทศตะวันออกกลางค่าเงินอ่อนค่าหนัก แต่ช่วงครึ่งปีหลังปัญหาทุเลาลงแล้ว ทั้งนี้ ยังคงประมาณการรายได้ปี 2563 ที่ 3,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% YoY

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กันยายน 2562

บูรณาการจัดการน้ำ ขับเคลื่อนทั้งระบบ

          ภายหลังเผชิญสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและเกิดภาวะภัยแล้งอย่างยาวนานส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อไร่นาเกษตรกรและพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กลับถูกกระหนํ่าซํ้าเติมด้วยพิษภัยพายุดีเปรสชั่นส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่เหมือนเคราะห์ซํ้ากรรมซัดกับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในภาคอีสานและภาคเหนือ จากที่ก่อนหน้านี้เผชิญภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า กำลังซื้อถดถอยในกลุ่มฐานราก

          พิษภัยจากพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ก่อให้เกิดฝนกระหนํ่าอย่างรุนแรง เกิดภาวะนํ้าท่วมขังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายนับหมื่นล้านบาท และเฉพาะหน้าประชาชนขาดแคลนอาหาร นํ้าดื่ม ยารักษาโรค เกิดภาวะโรคระบาดที่มากับนํ้าท่วมตามมา ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าไปเร่งดำเนินการแก้ปัญหาให้กับผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที

          ภายหลังจากนํ้าลดที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในราว 20-30 วันหลังจากนี้ รัฐบาลควรบูรณาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในการจัดการบรรเทาสาธารณภัย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนให้กลับคืนสภาพเดิมโดยเร็ว รวมทั้งให้การช่วยเหลือในแง่ของการประกอบอาชีพ เยียวยาเกษตรกรที่ไร่ นา ผลผลิตเสียหายให้สามารถกลับมาเพาะปลูกได้โดยเร็ว

          ขณะเดียวกันหน่วยงานที่วางแผนอย่างกรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) จะต้องมีแผนงานบริหารจัดการนํ้าอย่างเป็นระบบ ทั้งการกักเก็บนํ้า การระบายนํ้า การบริหารจัดการลุ่มนํ้าต่างๆ การเร่งปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารบังคับนํ้าที่มีอยู่ให้สามารถใช้การได้ตามปกติ ตลอดจนใช้อาคารบังคับนํ้าบริหารจัดการนํ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งหน่วงนํ้า ผันนํ้า วางระบบพื้นที่แก้มลิง พื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับนํ้า หน่วงนํ้า ลดผลกระทบพื้นที่ด้านล่างลงมา เพราะแม้พายุจะผ่านพ้นและนํ้าลด แต่ยังเป็นฤดูฝนที่มีปริมาณนํ้ามาก จึงต้องเร่งวางแผนดูแลจัดการ

          ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าประเทศไทย เผชิญทั้งปัญหาภัยแล้งซํ้าซากและนํ้าท่วมจนกลายเป็นความเคยชิน เพราะขาดการบูรณาการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งระบบเตรียมการรับมือล่วงหน้า การเตือนภัย ขาดแผนรับมือเฉพาะหน้าหรือรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน และแผนงานฟื้นฟูตามหลังภัยพิบัติธรรมชาติ เราเห็นถึงเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน่วยราชการ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็งมากกว่านี้ เพื่อป้องกันปัญหาซํ้าๆเดิมๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยไม่โทษว่าธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว

จาก www.thansettakij.com วันที่ 11 กันยายน 2562

เตือนรีบกักเก็บน้ำช่วงนี้ต.ค.-พ.ย.ฝนลด

เปิดปริมาณฝนล่วงหน้า 3 เดือน ก.ย.ฝนปานกลาง 151-300มม.ตกหนักตะวันออก-ใต้ 401-600 มม.ต.ค.เริ่มลด พ.ย.ฝนน้อยมาก เตือนใช้น้ำประหยัด

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้รับความมือจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในการคาดการณ์ลักษณะอากาศและปริมาณฝนล่วงหน้า 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2562)

 ทั้งนี้พบว่า หลังจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” และดีเปรสชั่น “คาจิกิ” ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องกันหลายวัน เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ประเทศไทยมีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนดีขึ้น โดยในระยะ 3 - 5 วันนี้ ยังไม่มีพายุใด ๆ ที่จะเข้าสู่ประเทศไทย และกรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามสภาพอากาศในบริเวณทะเลจีนใต้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ในช่วงเดือนกันยายน 2562 จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศ ปริมาณน้ำฝนทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะมีฝนตกปานกลางอยู่ที่ 151 – 300 มิลลิเมตร เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของพืชที่ต้องการน้ำมาก ส่วนพืชที่ต้องการน้ำน้อยควรมีการระบายน้ำออกจากแปลง สำหรับภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี และตราด ภาคใต้ ได้แก่ ระนอง ชุมพร พังงา และภูเก็ต ปริมาณน้ำฝนจะตกหนัก อยู่ที่ 401 – 600 มิลลิเมตร             

ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม 2562 จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศจะมีปริมาณฝนลดลง ปริมาณน้ำฝนในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีปริมาณฝนตกปานกลางอยู่ที่ 151 – 300 มิลลิเมตร ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า จะมีปริมาณฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางอยู่ที่ 91 – 150 มิลลิเมตร

โดยเฉพาะภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และชัยภูมิ ปริมาณฝนจะตกเล็กน้อยอยู่ที่ 90 – 120 มิลลิเมตร จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรรีบเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงที่มีฝนตกในระยะนี้ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงแล้ง              

 ส่วนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 จากการคาดการณ์ลักษณะอากาศ พบว่า ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง จะมีฝนตกน้อยมากเพียง 20 – 90 มิลลิเมตร ซึ่งจะไม่เพียงพอต่ออัตราการใช้น้ำของพืช จึงขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรรีบสำรองน้ำไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค และสำรองให้เพียงพอสำหรับพืชที่เพาะปลูกไว้แล้ว โดยขอแนะนำให้ใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย สำหรับภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจะมีฝนตกปานกลางถึงฝนตกหนักปริมาณฝนอยู่ที่ 200 – 600 มิลลิเมตร

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้เกษตรกรและประชาชน ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากประกาศของทางราชการและกรมอุตุนิยมวิทยา รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด

จาก www.komchadluek.net วันที่ 11 กันยายน 2562

หวิดล่ม! ประชาพิจารณ์สร้าง รง.น้ำตาลมิตรบ้านไผ่ “ไผ่ ดาวดิน” พร้อมพวกบุกขวาง

“ไผ่ ดาวดิน” นำพวกและนักศึกษา มข.ร่วมขวางจัดประชาพิจารณ์สร้าง รง.น้ำตาลมิตรบ้านไผ่ จนเวทีในห้องประชุมล่มต้องย้ายออกมาเปิดเวทีนอกห้องประชุมแทน ด้านกลุ่มฮักบ้านเกิดบ้านเมืองเพียลั่นค้านถึงที่สุดหวั่นระบบนิเวศพัง ตามล้มอีก 2 เวทีที่เหลือ

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (10 ก.ย.) เวลาประมาณ 08.30 น. ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านไผ่ศึกษา โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล “มิตรบ้านไผ่” ในกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาล และโครงการส่วนผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยมีนายรุจน์ รังษี นายอำเภอบ้านไผเป็นประธานเปิดเวทีฯ

เวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโครงการฯ กำหนดจัดขึ้นต่อเนื่อง 3 วัน ระหว่างวันที่ 10-12 ก.ย.นี้ ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโครงการ จำนวน 46 หมู่บ้าน ทั้งพื้นที่ อ.บ้านไผ่ อ.ชนบท และ อ.โนนศิลา โดยวันพรุ่งนี้ (11 ก.ย.) เปิดเวทีที่ว่าการอำเภอชนบท และในวันสุดท้าย 12 ก.ย.จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการฯ ที่ห้องประชุมโรงเรียนเปือยใหญ่บ้านชาติ-หนองบ่อ

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการเปิดเวทีในวันแรกไม่ค่อยราบรื่นตามคาด เพราะมีสมาชิกกลุ่มดาวดินที่มีจุดยืนต้านรัฐบาลทหารเรียกร้องประชาธิปไตย นำโดยนายจตุรภัทร บุญภัทรรักษา ร่วมด้วยพี่น้องชาวบ้านไผ่ที่คัดค้านโครงการในนามกลุ่มฮักบ้านเกิดบ้านเมืองเพีย และแกนนำเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภาคอีสานรวมแล้วประมาณ 50 คนได้พากันเข้าขัดขวางการเปิดเวที

ทั้งการโห่ร้องและเป่านกหวีดเสียงดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามเข้าไปควบคุมสถานการณ์แต่ไม่สามารถกันกลุ่มคัดค้านออกจากห้องประชุมได้เพราะมีการวางแผนการล่มเวทีมาล่วงหน้า ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจรจาตกลงให้กลุ่มคัดค้านฯ ทำกิจกรรมภายในห้องประชุมตามสะดวก แล้วแจ้งให้ทางโครงการฯ ขนย้ายเก้าอี้มาตั้งภายนอกห้องประชุมเปิดเวทีประชาพิจารณ์ต่อ แต่ก็มีเสียงเป่านกหวีด ร้องรำทำเพลงรบกวนเป็นระยะ

นายชัยยุทธ เล็กอ่อง ผู้อำนวยการบริหารโครงการฯ ในนามตัวแทนบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด (บ้านไผ่) กล่าวว่า บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (บ้านไผ่) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 58 ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายที่มีกำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อยต่อวัน ในพื้นที่ ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น โดยโครงการฯ มีนโยบายที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในระบบผลิตน้ำตาล และมีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้เป็นโรงงานสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งยังมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบโรงงานอย่างยั่งยืน

สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มให้การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีความสมบูรณ์ครอบคลุม ทั้งในมุมมองของนักวิชาการและมุมมองของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่

“การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งขอบเขตการศึกษาและการประเมินทางเลือกโครงการ ซึ่งรวมถึงขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อประกอบการจัดทำร่างรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” นายชัยยุทธกล่าว

น.ส.จิตปราณี ราชซุย แกนนำกลุ่มฮักบ้านเกิดบ้านเมืองเพีย อ.บ้านไผ่ กล่าวว่า ที่พวกเรามาคัดค้านการเปิดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้เพราะต้องการตอกย้ำจุดยืนของพี่น้องชาวบ้านไผ่และอำเภอใกล้เคียงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องการให้โรงงานน้ำตาลมาตั้งในพื้นที่ พวกเราต้องการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำผืนนี้ไว้ให้ลูกหลานได้อาศัยอยู่อาศัยทำมาหากินได้ต่อไปอย่างปลอดภัยจากมลภาวะ พื้นที่บริเวณนี้ไม่เหมาะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใดๆ

“พวกเราจะตามไปขัดขวางทุกเวทีที่เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น เราไม่ต้องการให้มีโรงงานเกิดขึ้นในบ้านเกิด หากมิตรผลตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นมาระบบนิเวศจะพังหมด พวกเราจะคัดค้านให้ถึงที่สุด โรงงานจะเกิดขึ้นไม่ได้” น.ส.จิตปราณีกล่าว

ด้านนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มดาวดิน บอกอีกว่า กลุ่มน้ำตาลมิตรผลที่จะเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานน้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในพื้นที่รอยต่อ 3 อำเภอ คือ อ.บ้านไผ่, อ.โนนศิลา และ อ.ชนบท นั้น ทางบริษัทให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนแก่ชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มองแล้วประชาชนถูกเอาเปรียบทั้งปิดบังข้อมูล ทราบมาว่าตอนนี้ทางโครงการพยายามเร่งรัดหน่วยงานรัฐอำนวยความสะดวกเพื่อจะได้ขึ้นโครงการได้เร็วที่สุด

ประเด็นที่กลุ่มดาวดินเป็นห่วงคือ ปัญหาการช่วงชิงทรัพยากรในพื้นที่ เพราะทางโรงงานน้ำตาลต้องใช้ทรัพยากรร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและต้องใช้ปริมาณที่สูงมาก โดยเฉพาะการแย่งทรัพย์น้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอย่างรุนแรง และเมื่อโรงงานเดินเครื่องจักรหีบอ้อยจะก่อมลพิษทางอากาศเกิดขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ปนเปื้อน จนเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ

ที่สำคัญ พื้นที่แก่งละว้า ของ อ.บ้านไผ่ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มแม่น้ำชีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ทางกลุ่มมิตรผลได้เข้ามาซื้อที่ดินรอบๆ แก่งละว้าไว้หมดแล้ว การสร้างโรงงานน้ำตาลจะสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ จะมีการปลูกอ้อยป้อนโรงงานจำนวนมาก เป็นไปได้สูงที่สารเคมีจากการปลูกอ้อยอาจปนเปื้อนดินและน้ำ กระทบถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ได้

ทางกลุ่มดาวดินจะเคลื่อนไหวคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการลงทุนของโรงงานน้ำตาลมิตรผล พื้นที่ อ.บ้านไผ่ให้ถึงที่สุด ซึ่งวันพรุ่งนี้ (11 ก.ย. 62) จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอชนบท และวันสุดท้ายที่หอประชุมโรงเรียนบ้านเปือยใหญ่ชาติหนองบ่อ อำเภอโนนศิลา โดยกลุ่มดาวดินจะเข้าไปให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ถึงผลกระทบจากการลงทุนโรงงานน้ำตาล และจะคัดค้านให้ถึงที่สุดเช่นกัน

จาก https://mgronline.com  วันที่ 10 กันยายน 2562

“จุรินทร์” เดินหน้าอาเซียน+3 สร้างความร่วมมือรับมือเศรษฐกิจโลกผันผวน ผลักดันอาเซ็ป ให้เห็นผลในปีนี้

 “จุรินทร์”เผยผลประชุมอาเซียนและคู่เจรจาคืบหน้าพร้อมจับมือต่อยอดการค้าโต เตรียมนำผลสรุปเสนอกรอบผู้นำเดือน พ.ย.62

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้องจะเสร็จสิ้นในวันนี้ ซึ่งเหลือการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจกับประเทศคู่เจรจาแบบแยกเป็นรายประเทศ เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

โดยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวก 3 คือ จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นในช่วงเช้าถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่อาเซียนจะได้คุยกับคู่ค้าสำคัญที่จะต่อยอดมูลค่าทางการค้า จากที่ผ่านมาการส่งออกและนำเข้าทั้ง 3 ประเทศกับอาเซียนยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นโอกาสในการเดินหน้าตามแผนรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกตามเป้าหมายปี 2563 เพื่อให้เกิดความร่วมมือทุกมิติแบบระยะยาว โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อยของอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวก 3 รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานเอกชนในภูมิภาคอย่างสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก

ทั้งนี้หากดูด้านการค้าการลงทุนของปี 2560 อาเซียนบวก 3 เพิ่มขึ้นถือว่ามีการขยายมูลค่าทางการค้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวนที่จะต่อยอดมูลค่าทางการค้าได้ โดยมูลค่าการค้าอาเซียนบวก 3 ปีที่ผ่านกว่า 869 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 6.8 ส่วนด้านการลงทุน การลงทุนอาเซียน-ประเทศบวก 3 มีมูลค่า 37.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 24.5 ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 จากปีก่อน

ขณะที่การหารือในกรอบไทยกับอินเดียนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะขยายกรอบการค้าภายใต้ FTA ระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 แต่ในช่วง 7 เดือนของปีนี้ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.6 ดังนั้น จึงเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศมีโอกาสจะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันได้อีกมาก และระหว่างวันที่ 24-28 ก.ย.นี้จะนำคณะเยือนประเทศอินเดีย เพื่อเร่งสร้างตลาดในอินเดียให้เพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าไทยหลายรายการทั้งอาหาร เกษตร เครื่องปรับอากาศและอื่น ๆ ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอินเดียอย่างมาก

นอกจากนี้ในการประชุมกรอบต่างๆที่เกิดขึ้นตลอด 6 วันถือว่าประสบผลสำเร็จและสามารถตกลงตามกรอบต่างๆได้ด้วยดี เมื่อนำข้อสรุปต่าง ๆ เสนอในกรอบผู้นำที่จะมีการประชุมในช่วงเดือนพ.ย.62 เชื่อว่าทุกประเทศจะได้ประโยนช์ทั้งสิ้น รวมถึงประเทศไทยที่จะทำให้สินค้าของไทยสามารถไปขยายตลาดทั้งอาเซียนและกรอบเจรจาต่างๆเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลก แม้จะอยู่ในช่วงชะลอก็ตาม เพราะการค้าระหว่างกันจะมีความสะดวกและรวดเร็ว รวมถึงยังลดปัญหาอุปสรรคระหว่างกันได้อีกด้วย

จาก https://siamrath.co.th วันที่ 10 กันยายน 2562

เครือข่ายต้านสารพิษบุกเกษตรฯทวงสัญญา"มนัญญา"แบนพาราควอต

เครือข่ายต้านสารพิษ 686 องค์กร บุกกระทรวงเกษตรฯพรุ่งนี้ ทวงสัญญา มนัญญา ประกาศแบน 3 สารสิ้นปีนี้ จี้พิสูจน์ตัวเองทำเพื่อประชาชน หากไม่ทำมีผลกระทบการเมืองทันที

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย)เปิดเผยว่าวันนี้ (10ก.ย.)เครือข่ายต้านสารเคมีวัถตุอันตรายทางการเกษตร ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งหมด 68 6องค์กร จะเดินทางปกระทรวงเกษตรฯ

ทั้งนี้เพื่อเข้าพบ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนให้มีการแบนสารพิษ 3 สาร พาราควอต ไกลโฟรเซส คลอร์ไพริฟอส ในสิ้นปีนี้ ตามคำให้สัมภาษณ์ของรมช.เกษตรฯรวมทั้งยังที่ได้ให้นโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการกรมวิชาการเกษตร ไว้เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งรมช.เกษตรฯ

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายกว่า 30 คน มาเข้าพบครั้งนี้เพื่อต้องการจะเสนอแนะต่อรมช.เกษตรฯในเรื่องการหามาตรการสนับสนุนเกษตรกร ที่ต้องการปรับเปลี่ยนทำเกษตรโดยไม่ใช้สารพิษร้ายแรง ทั้งนี้กรณีที่รมช.เกษตรฯได้ประกาศตั้งกรรมการพิจารณาผลกระทบการใช้สารเคมี 3 ชนิด ภายใน 15 วัน ทางเครือข่ายไม่เห็นด้วยเพราะการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาผลกระทบ ได้ตั้งหลายรอบแล้วซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ผลสรุปชัดเจนอยู่แล้วว่ามีผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นให้คณะกรรมการชุดของรมช.เกษตรฯมุ่งไปสู่เรื่องการหามาตรการทดแทนการใช้สารเคมีและ มาตรการสนับสนุนเกษตรกร ปรับเปลี่ยนวิธีทำเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี

มาตรการทดแทน  วิธีการทดแทน มีหลายมาตรการ มากกว่าการใช้สารเคมี เช่นการใช้เครื่องจักรกล เครื่องมือกลทางการเกษตร การจัดระบบปลูกพืช การใช้พืชคลุมดิน ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตร ที่ผ่านมามีงานวิจัยและมาตรการการทดแทนใช้สารเคมี ไว้เป็นจำนวนมากแต่กลับไม่ถูกนำเสนอขึ้นมา  อีกทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

 ขณะนี้มีประสบการณ์มากมาย ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ที่ทำเกษตรประสบความสำเร็จโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯไม่สนใจ วิธีการเหล่านี้จะผลัดดันลงพื้นที่ให้ถึงเกษตรกรไทยและจริงๆมีหน่วยงานดูแลทำเรื่องนี้ในกรมวิชาการเกษตร ไม่ดึงมาดำเนินการโดยตรง ในสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชนและเกษตรกร จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก

นายวิฑูรย์ กล่าวว่าตอนนี้กระทรวงเกษตรฯอย่าโยนภาระให้กระทรวงอื่นในเรื่องการแบนสารพิษ เพราะเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร โดยตรงที่จะไม่อนุญาตนำเข้าสารเคมี และเสนอให้มีการแบนตามขั้นตอน ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับข้อเสนออย่างน้อยสองในเรื่องมาตรการทางเลือก วิธีทดแทนสารเคมี มีความเสี่ยงสูง และมาตรการสนับสนุนเกษตร บางส่วนที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนของนโยบาย ว่าจะสนับสนุนอย่างไรเพราะเกษตรกรบางกลุ่ม บอกว่าถ้าใช้เครื่องจักรกล ต้นทุนแพง ก็จะต้องมีทางเลือกทดแทนไว้ให้ด้วย

 ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์รัฐบาล เอาจริงหรือไม่เอาในการแบนสารพิษ ซึ่งเสียงประชาชนเรียกร้องให้แบนมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และพิสูจน์ตัวเองของรมช.มนัญญา ด้วยที่รับปากไว้จะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งผมได้ข่าวขณะนี้เหมือนกับ หน่วยงานข้างล่าง ไม่สนับสนุนนโยบายรมช.เกษตรฯเต็มที่ และข้างบนดูเงียบ ๆ

ดังนั้นการขับเคลื่อนของประชาชน จะมีผลให้ตัดสินใจเรื่องนี้ รวมทั้งบรรยากาศการเมืองเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เห็นว่าสิ่งที่แถลงนโยบายไว้ ถ้าไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบทางการเมืองทันที พรุ่งนี้มาพบเพื่อสนับสนุน การแบนสารพิษร้ายแรงภายในสิ้นปี พร้อมเสนอแนะขบวนการทำงานขั้นตอนต่อไป เพราะถ้าไปดูพื้นที่จริงๆคนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่เกษตรกรส่วนใหญ่ ซึ่งควรเปลี่ยนวิธีสนับสนุนอย่างไรโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน

จาก www.komchadluek.net วันที่ 10 กันยายน 2562

ไทยชูพลังงานเพื่อทุกคนขึ้นเวทีโลก

                     รมว.พลังงาน ร่วมพิธีเปิดการประชุมเวิล์ด เอ็นเนอจี คอนเกรส ชูพลังงานเพื่อทุกคนขึ้นเวทีโลก เข้าถึงเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอนาคต

                    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังร่วมพิธีเปิดการประชุมเวิล์ด เอ็นเนอจี คอนเกรส ครั้งที่ 24 ที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การพลังงานโลก มี 150 ประเทศเข้าร่วมว่า ในวันที่ 10 ก.ย. จะมีการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 8 (อาเมอร์) ซึ่งจะเป็นเวทีสำคัญที่ไทยจะเสนอยุทธศาสตร์พลังงานเพื่อทุกคน (เอ็นเนอจี ฟอร์ ออล) ในการบริหารจัดการพลังงานให้เข้าถึงทุกคน การทำให้พลังงานมีต้นทุนที่ต่ำ มีความมั่นคง ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งในด้านหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน ขณะที่อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนสามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และได้ใช้ศักยภาพของชุมชนมาเป็นประโยชน์ต่อการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจพลังงาน ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานในอนาคต

               "ผลที่คาดว่าได้รับจากการเข้าร่วมประชุมเอเมอร์ ครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศ ในภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ เช่น การอนุรักษ์และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานปิโตรเลียม ถ่านหิน ไฟฟ้า พลังงานทดแทน และยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแนวโน้มสถานการณ์พลังงานในเอเชีย แสวงหา แหล่งทรัพยากรด้านพลังงานใหม่ และถือเป็นโอกาสในการนำเสนอแนวนโยบายด้านพลังงานของไทยในเวทีนานาชาติ ตลอดจนได้พบปะผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของประเทศต่างๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคี และพหุภาคีในอนาคตต่อไป"

   ส่วนการประชุมเวิล์ด เอ็นเนอจี คอนเกรส ครั้งที่ 24 งานประชุมครั้งนี้ มีประเทศเข้าร่วม 150 ประเทศ ในธีมพลังงานเพื่อความมั่งคั่ง โดยอนาคตพลังงานจะมุ่งสู่พลังงานทดแทน และการสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพให้เข้ามาเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน ขณะที่ประเทศไทยจะชูพลังงานเพื่อทุกคน โดยจะสนับสนุนให้เกิดการผลิตไฟฟ้าใช้เองในภาคชุมชนจากเชื้อเพลิงต่างๆ อาทิ ชีวมวล โซลาร์ เพื่อจะดูแลต้นทุนไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน ขณะเดียวกันจะดูแลการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ให้เพียงพอกับการใช้ในประเทศด้วยต้นทุนที่เหมาะสม สอดรับไปกับการแสวงหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

จาก https://www.dailynews.co.th วันที่ 9 กันยายน 2562

เอกชนเครื่องดื่มปรับตัวรองรับรับภาษีน้ำตาล ตั้งแต่ 1 ต.ค. 62 นี้

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเห็นภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำตาลส่วนผสม พบว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับลด ปริมาณการใส่น้ำตาลลงพร้อมติดโลโก้แสดงสัญลักษณ์เพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว  ผู้ที่ให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมีอายุอยู่ในช่วง 30 ปีลงมา และ 60 ปีขึ้นไป ส่วนอายุในช่วงระหว่าง 30  ถึง 60 ปีไม่ค่อยความสนใจมากนัก

โดยผู้ตอบแบบสำรวจ เกี่ยวกับมาตรการภาษีความหวานและการตระหนักถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นของร่างกาย มีไม่ถึง 50% สะท้อนให้เห็นถึงการประชาสัมพันธ์ที่ไม่เพียงพอตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งควรเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์สินค้าที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงเพิ่มมากขึ้น และได้หารือกับคณะทำงาน และผู้ประกอบการเพื่อปรับเปลี่ยนโลโก้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งแสดงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับแนวทางเพิ่มการจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลโดยเสนอปรับอัตราภาษีแบบขั้นบันไดในทุก  2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตร เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีความหวานภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นและรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ โดยการใช้มาตรการภาษีดังกล่าวสนับสนุนให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอย่างดี ในการปรับสูตรการผลิตเพื่อส่งเสริมเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด ส่งผลให้ประชาชนมีทางเลือกในการบริโภคเครื่องดื่มมากขึ้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตามนโยบายในการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานมากเกินความจำเป็นของร่างกายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 อัตราภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มจะมีการปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจำเป็นต้องพยายามที่จะมีการปรับสูตรการผลิตเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ส่งต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน และการจัดจัดเก็บภาษีปีที่ผ่านมารายได้ 2,000- 3,000 ล้านบาท และคาคว่าในปีงบประมาณ 2563 เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ล้านบาท

“ยอมรับว่า ประชาชนส่วนใหญ่บริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงเกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 2 ถึง 3 เท่า ต่อการใช้พลังงานของร่างกายในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิเช่น  โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ” นายณัฐกร .

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 9 กันยายน 2562

เอ็นจีโอทวงสัญญายกเลิกสารเคมี 3 ชนิด

เครือข่ายต้านสารพิษ 686 องค์กร บุกกระทรวงเกษตรฯ พรุ่งนี้ ทวงสัญญายกเลิกสารเคมี 3 ชนิดสิ้นปีนี้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการ มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไท) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (10 ก.ย.) เครือข่ายต้านสารเคมีวัถตุอันตรายทางการเกษตรที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด 686 องค์กรจะมาที่กระทรวงเกษตรฯ เพื่อเข้าพบ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนให้มีการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส สิ้นปีนี้ ตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้ รวมทั้งได้ให้นโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการกรมวิชาการเกษตรเมื่อเข้ารับตำแหน่ง

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ตัวแทนเครือข่ายกว่า 30 คนมาเข้าพบครั้งนี้ เพื่อต้องการจะเสนอแนะต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวกับการหามาตรการสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรโดยไม่ใช้สารพิษร้ายแรง ทั้งนี้ กรณีที่ รมช.เกษตรฯ จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบการใช้สารเคมี 3 ชนิด ภายใน 15 วันนั้น ทางเครือข่ายไม่เห็นด้วย เพราะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบหลายชุดแล้ว กระทรวงสาธารณสุขมีผลสรุปชัดเจนว่ามีผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ให้คณะกรรมการชุดของ รมช.เกษตรฯ มุ่งไปสู่การหามาตรการทดแทนการใช้สารเคมีและมาตรการสนับสนุนเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีทำเกษตรโดยไม่พึ่งสารเคมี

สำหรับมาตรการทดแทนมีหลายมาตรการ เช่น การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร การจัดระบบปลูกพืช การใช้พืชคลุมดิน ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และกรมวิชาการเกษตรมีงานวิจัยและมาตรการการทดแทนใช้สารเคมีจำนวนมาก แต่กระทรวงเกษตรฯ ไม่นำเสนอ ขณะนี้มีตัวอย่างของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ทำเกษตรประสบความสำเร็จ โดยไม่ใช้สารเคมีใด ๆ มากมาย ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ไม่สนใจวิธีการเหล่านี้ อีกทั้งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ไม่ดำเนินการสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกร จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจมาก

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ อย่าโยนภาระให้กระทรวงอื่นในเรื่องการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรที่อันตราย เพราะเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรโดยตรง เป็นหน่วยงานอนุญาตนำเข้าสารเคมี รวมทั้งจะเสนอให้มีการยกเลิกตามขั้นตอนไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย พร้อมกับข้อเสนอถึงการกำหนดทางเลือกและวิธีทดแทนสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงและมาตรการสนับสนุนเกษตร บางส่วนที่ต้องการทำเกษตรปลอดสารเคมี สำหรับเกษตรกรบางกลุ่มบอกว่า ถ้าใช้เครื่องจักรกลจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จึงต้องมีทางเลือกทดแทนไว้ให้ด้วย

“ครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลจริงจังยกเลิกใช้สารพิษทางการเกษตรหรือไม่ อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ตัวเองของ รมช.มนัญญาด้วย ทราบมาว่า หน่วยงานปฏิบัติไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว  ดังนั้น การขับเคลื่อนของประชาชนจะมีผลให้ตัดสินใจเรื่องนี้ ถ้าไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบทางการเมืองทันที พรุ่งนี้มาพบรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการยกเลิกสารพิษร้ายแรงทางการเกษตรภายในสิ้นปีนี้” นายวิฑูรย์ กล่าว

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 9 กันยายน 2562

ก.อุตฯ จับมือ 13 พันธมิตรร่วมลงทุนขับเคลื่อน InnoSpace Thailand

กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือพันธมิตร 13 หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ลงทุน 500 ล้านบาท   ร่วมขับเคลื่อน InnoSpace Thailand หวังยกระดับผู้ประกอบการ Startup ไทย มุ่งเน้นยกระดับเกษตรกร สร้างนวัตกรรมใหม่ ทัดเทียมนานาชาติ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมและพัฒนา Startup ไทยมีอุปสรรคหลายด้านและขาดการเติมเต็มระบบนิเวศของการสร้างและพัฒนา Startup  ขณะที่ต่างประเทศมีองค์กรอย่าง HK Cyberport คอยดูแลการส่งเสริมและพัฒนา Startup อย่างจริงจัง  ไทยจึงต้องมีหน่วยงานขับเคลื่อนในรูปแบบเอกชนที่สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทุกภาคส่วน  รัฐบาลจึงผลักดันการจัดตั้ง  InnoSpace (Thailand) มุ่งเน้นการเชื่อมโยงภาคการเกษตรปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอุตสาหกรรม การพัฒนาด้านการบิน ด้านโทรคมนาคม และภาคบริการ รองรับความต้องการแรงงานของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการร่วมพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงต้องดึงทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุดมศึกษาฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาร่วมพัฒนาบุคลากร เพราะเด็กไทยยุคใหม่มีความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเป้าหมายรัฐบาล

สำหรับ InnoSpace (Thailand) ตั้งอยู่ที่ VISTEC ใน EECi ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องด้าน Smart City เพื่อสร้าง Innovation Platform จึงจะช่วยให้เกิดแหล่งรวมของเทคโนโลยี งานวิจัย นักลงทุน และ Startup ที่มีศักยภาพ อีกทั้งโครงการ EEC ยังเป็นโครงการที่สำคัญเป็นประตูสู่ CLMV และภูมิภาคอาเซียน เป็นข้อต่อสู่ Greater Bay Area ของประเทศจีน ทำให้ Startup ไทยมีโอกาสก้าวไกลสู่นานาชาติได้ เพื่อให้การดำเนินงาน InnoSpace (Thailand) เดินหน้าไปได้จะต้องมีเสาหลักที่แข็งแรง ทั้งสถาบันการศึกษา จะเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญและผลงานวิจัย สถาบันการเงิน เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและการเร่งเข้าสู่ธุรกิจ ภาคเอกชน ให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงิน ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนใน Startup ที่มีศักยภาพ และหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ

“การลงนามความร่วมมือพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตของประเทศ หากไม่รีบเปลี่ยนแปลงจะก้าวไม่ทันนานาชาติ จึงต้องปูพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยยกระดับทั้งภาคเกษตร อุตสาหรกรรมยุคใหม่ และต้องทยอยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกร ให้พัฒนาสินค้าไปสู่ภาคเกษตรชั้นสูง จึงหารือกับกระทรวงการคลัง ส่งเสริมกองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมขับเคลื่อนภาคเกษตร” นายสมคิด กล่าว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผลักดันโครงการ InnoSpace (Thailand) เพื่อเป็นแพลทฟอร์มในการเสริมสร้างและเติมเต็มระบบนิเวศของการพัฒนา Startup ให้ครบถ้วนตลอดวงจรชีวิต และผลักดันให้ Startup ไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ InnoSpace (Thailand) จึงมีจุดเด่นเชื่อมโยงบูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นเครือข่ายร่วมดำเนินงาน ทั้งลักษณะพันธมิตรด้านการลงทุน พันธมิตรด้านการบ่มเพาะธุรกิจ และพันธมิตรด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ทั้งด้านการวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการสร้าง Startup ที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

ดังนั้น เพื่อให้บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด มีการดำเนินงานที่คล่องตัวและสามารถเร่งขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจเริ่มต้น ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว การลงนามความร่วมมือวันนี้พันธมิตรด้านการลงทุนทั้ง 13 หน่วยงาน จึงพร้อมใจกันแสดงพลังอย่างเป็นรูปธรรมที่จะผลักดันให้บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เป็น National Startup Platform เพื่อเป็นกลไกที่จะบูรณาการความเข้มแข็งและบูรณาการกิจกรรมของทุกฝ่ายไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนช่วยสร้างระบบนิเวศที่เข้มแข็ง ยกระดับ Startup ไทยให้ถึงระดับ Unicorn และให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต 

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานที่ปรึกษา บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อินโนสเปซ (ประเทศไทย) เป็นการร่วมมือกันของพันธมิตรภาครัฐ ธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษา  จากแนวนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็น National Platform ขับเคลื่อน การสร้าง Innovative Ecosystem ที่เอื้อต่อการบ่มเพาะและพัฒนา Startup ไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ เป็นรากฐานของพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมายจะสนับสนุนตลอดวงจรชีวิตของ Startup ตั้งแต่ในช่วง Pre-Seed หรือ Seed ทั้งในกลุ่ม Deep Tech และในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

สำหรับการลงนามความร่วมมือพันธมิตรด้านการลงทุนครั้งนี้ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งด้านประสบการณ์ เครือข่าย ได้แก่ 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด  8. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 9. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 11. บริษัทในเครือสหพัฒน์ 12. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ 13. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศบนพื้นฐานของนวัตกรรม ยกระดับ Startup ไทยให้ถึงระดับ Unicorn และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Thailand 4.0

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 9 กันยายน 2562

“สมคิด“สั่งยกระดับอุตฯเกษตรสร้างความเข้มแข็ง,เร่งพัฒนาคนรับEEC

"รองนายกฯสมคิด" สั่งกระทรวงการคลัง, เกษตรฯ วางมาตรการยกระดับปฏิรูปภาคเกษตรสิ้นเดือนนี้ พร้อมพัฒนาคนรองรับ EEC

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา จีดีพี ไทยขยายตัวอยู่แค่ในกรอบร้อยละ 3-5 ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามพัฒนา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการนำเทคโนโลยี และความรู้ เข้ามาเปลี่ยนแปลง ซึ่งในสิ้นเดือนนี้จะให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการพัฒนาใให้มีมูลค่ามากขึ้น มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม รวมทั้งต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบขนส่ง เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามายังประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งเน้นการพัฒนา และสร้างบุคคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ยุค 4.0 เนื่องจากที่ผ่านมากนักลงทุนส่วนใหญ่สอบถามถึงบุคคลากร ที่มีความสามารถ ในการรองรับการลงทุนในประเทศไทยหรือไม่

ดังนั้นการมี InnoSpace Thailand อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยยกระดับธุรกิจในประเทศ สร้างเชื่อมโยง

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเชื่อมโยงกันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 9 กันยายน 2562

อาเซียนถก 11 ประเทศ เร่งเปิด FTA

ไทยนำอาเซียนร่วมถกคู่เจรจา 11 ประเทศ เพื่อทบทวน FTA เพิ่มการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมอาเซียนคู่เจรจา 11 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งประเด็นและเนื้อหาการเจรจานั้น จะมีการหยิบยกพร้อมทบทวนข้อตกลงภายใต้การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่อาเซียนทำไว้กับประเทศต่าง ๆ และมีผลบังคับใช้แล้วกว่า 10 ปี แต่เนื่องจากมีรายการสินค้าหรือบริการบางรายการที่ยังไม่สามารถลดภาษีเหลือร้อยละ 0  ได้ หรือการเจรจามีความคืบหน้าในสินค้าอ่อนไหวของบางประเทศที่ยังลดภาษีไม่ได้ตามกรอบเวลา เช่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดียให้มีความคืบหน้าได้โดยเร็ว

นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาประเด็นใหม่ให้สอดคล้องตามความเหมาะสมของสภาพภาวะเศรษฐกิจ อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พิธีการศุลกากร การติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบการเจรจาที่ควรใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทำให้ภาพรวมการค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาสามารถขยายการค้าและความร่วมมือต่าง ๆ ได้มากขึ้นกันต่อไป

สำหรับผลการหารือกรอบอาเซียนกับประเทศจีนนั้น ที่ประชุมยินดีที่ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีนครบแล้ว รวมทั้งเริ่มบังคับใช้กฎหมายเฉพาะฉบับใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 และยินดีที่อาเซียนและจีนตกลงจะเริ่มหารือเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและปกป้องการลงทุนปีหน้า ตลอดจนการพิจารณาความร่วมมือสาขาอื่น ๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนจีนต่อไปและที่ประชุมชื่นชมต่อการให้ความช่วยเหลือของจีนในการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนและการบูรณาการผ่านโครงการต่าง ๆ และยินดีกับความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเชื่อมโยงข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน 

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 479,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของการค้ารวมของอาเซียน ที่ประชุมเห็นควรให้ยกระดับความร่วมมือ 3 เรื่อง คือ การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม การปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับการค้ายุคใหม่และเตรียมเปิดเสรีทางด้านการลงทุน ขณะที่ประเทศไทยเสนอขอใช้เงินกองทุนช่วยสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียน 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วยโครงการการพัฒนาเส้นทาง R3A ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงจากคุนหมิง-เชียงราย เป็นการเพิ่มโอกาสการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้น โครงการพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่และโครงการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ระหว่าง CLMVT ซึ่งทางประเทศจีนได้รับปากนำไปพิจารณา.-สำนักข่าวไทย

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 9 กันยายน 2562

“จุรินทร์” นำทัพอาเซียนถก 11 ประเทศ เร่งเปิด FTA ลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มมูลค่าการค้า

ไทยนำอาเซียนร่วมถกคู่เจรจา 11 ประเทศทบทวน FTA ลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มมูลค่าการค้า พร้อมพิจารณาประเด็นใหม่ให้สอดคล้องตามความเหมาะสมของสภาพภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานการประชุมอาเซียนคู่เจรจา 11 ประเทศประกอบด้วย ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งประเด็นและเนื้อหาการเจรจาได้มีการหยิบยกพร้อมทบทวนข้อตกลงภายใต้การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่อาเซียนทำไว้กับประเทศต่างๆ และมีผลบังคับใช้แล้วกว่า 10 ปี แต่เนื่องจากมีรายการสินค้าหรือบริการบางรายการที่ยังไม่สามารถลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ได้ หรือการเจรจามีความคืบหน้าในสินค้าอ่อนไหวของบางประเทศที่ยังลดภาษีไม่ได้ตามกรอบเวลาเช่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดียให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว

ทั้งนี้ต้องพิจารณาประเด็นใหม่ให้สอดคล้องตามความเหมาะสมของสภาพภาวะเศรษฐกิจ อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พิธีการศุลกากร การติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบการเจรจาที่ควรใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทำให้ภาพรวมการค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาสามารถขยายการค้าและความร่วมมือต่าง ๆ ได้มากขึ้นกันต่อไป

สำหรับผลการหารือกรอบอาเซียนกับประเทศจีนนั้น ที่ประชุมยินดีที่ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียนจีนครบแล้ว รวมทั้งเริ่มบังคับใช้กฎหมายเฉพาะฉบับใหม่เมื่อเดือนส.ค.62 และยินดีที่อาเซียนและจีนตกลงจะเริ่มหารือเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและปกป้องการลงทุนปีหน้า ตลอดจนการพิจารณาความร่วมมือสาขาอื่นๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนจีนต่อไปและที่ประชุมชื่นชมต่อการให้ความช่วยเหลือของจีนในการสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนและการบูรณาการผ่านโครงการต่างๆ และยินดีกับความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเชื่อมโยงข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน

โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 479,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของการค้ารวมของอาเซียน ที่ประชุมเห็นควรให้ยกระดับความร่วมมือ 3 เรื่องคือ การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม การปรับปรุงกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับการค้ายุคใหม่และเตรียมเปิดเสรีทางด้านการลงทุน ขณะที่ประเทศไทยเสนอขอใช้เงินกองทุนช่วยสนับสนุนการดำเนินการของอาเซียน 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯประกอบด้วยโครงการการพัฒนาเส้นทาง R3A ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงจากคุนหมิง-เชียงราย เป็นการเพิ่มโอกาสการค้าข้ามพรมแดนระหว่างกันมากขึ้น โครงการพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่และโครงการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ระหว่าง CLMVT ซึ่งทางประเทศจีนได้รับปากนำไปพิจารณา

จาก https://siamrath.co.th  วันที่ 9 กันยายน 2562

อุตสาหกรรมชูนโยบาย 5 ด้านมุ่งสู่ 4.0

กระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดนโยบาย 5 ด้าน มุ่งสู่ 4.0 เน้นประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม

นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพให้เติบโตและเข้มแข็ง พัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม และเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทั้งในส่วนของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน ให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมภาคการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้กำหนดแผนการดำเนินงานสำคัญ 5 ด้าน คือ

1.การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมไปถึงการสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตร (Agricultural Driven Economy)

2.การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่ 4.0 มุ่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม การเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

3.การส่งเสริมภาคการผลิตไปสู่ 4.0 (Factory 4.0 & Sustainable Development) การยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ Factory 4.0

4.การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ (Investment Promotion) การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนานิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการผลิต

5.การปรับแนวคิดและรูปแบบการปฏิบัติงานในการให้บริการของทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงฯ ให้สอดรับกับรูปแบบการประกอบการที่มีประสิทธิภาพ (MOI Transformation)

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 9 กันยายน 2562

ขึ้นภาษีเครื่องดื่มมีน้ำตาลอีกรอบ1ต.ค.

สรรพสามิต ปรับขึ้นภาษีเครื่องดื่มมีน้ำตาลอีกรอบ 1 ต.ค.นี้ ขณะ ปี 2566 เก็บสูงสุด 5 บาท/ลิตร

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ผลการสำรวจภาคประชาชน ผู้เชี่ยวชาญ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลพบว่า มาตรการการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่ม ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยเพิ่มการจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่ม โดยเสนอปรับอัตราภาษีเป็นขั้นบันไดในทุก ๆ 2 ปี สูงสุดถึง 5 บาทต่อลิตรในปี 2566 และในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 จะมีการปรับขึ้นอีกครั้ง ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มเกิดการปรับตัว ส่งผลให้มีการปรับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน และการจัดจัดเก็บภาษีปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 2,000 ถึง 3,000 ล้านบาท และตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่บริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูงเกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 2 ถึง 3 เท่า ต่อการใช้พลังงานของร่างกายในแต่ละวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิเช่น  โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ

จาก https://www.innnews.co.th  วันที่ 9 กันยายน 2562

พาณิชย์ หวังนำบทเรียนอังค์ถัดกระตุ้นเศรษฐกิจไทยรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4

ผู้ช่วยรมต.พาณิชย์ หวังนำบทเรียนอังค์ถัดช่วยเสริมนโยบายกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย รับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4

ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ ดร.มูคิสะ คิทูยี เลขาธิการอังค์ถัด ร่วมเป็นประธานเปิดเวทีการประชุมทางวิชาการหัวข้อ "การค้า เทคโนโลยี และความตึงเครียดในอนาคต : โอกาสและภัยคุกคามไร้ขอบเขต" จัดโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ไอทีดี โดยจะนำบทสรุปและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ บนเวทีสัมมนา มาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ และนำมาช่วยผลักดันนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ อาทิ การส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ การพัฒนาภาคบริการ การหนุนการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) รวมถึงการคาดการณ์ผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลจากสงครามการค้ายุคใหม่

ดร.สรรเสริญ เปิดเผยว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนาประจำปี 2562 และเป็นการฉลองครบ 19 ปี ไอทีดี ซึ่งเป็นเจ้าภาพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากทั่วโลกมาร่วมสะท้อนประเด็นที่อยู่ในกระแสสำคัญของโลก อาทิ ความตึงเครียดทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับแนวโน้มการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยอังค์ถัด และไอทีดี คาดหวังผลจากเวทีสัมมนา จะกระตุ้นให้ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย ร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการการค้าและการลงทุนเพื่อสนองตอบต่อโลกยุคใหม่และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ จะนำแนวคิดต่างๆมาช่วยเสริมนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สภาวะโลกปัจจุบัน ไอทีดี รายงานว่า โลก กำลังเผชิญกับ กระแสโลกาภิวัตน์ที่รุนแรง (Hyper-Globalization) การปฏิวัติอุตสาหกรรม รอบที่ 4 (4th Industrial Revolution) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Mega Trends ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และอาจส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม เช่น เกิดความเหลื่อมล้ำ และการว่างงานที่สูงขึ้น แต่ก็นับว่าเป็นช่องว่างเปิดโอกาสสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้ การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการพัฒนาเข้าด้วยกันที่จะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนทัศน์ และระบบการคิดใหม่ ทั้งในเชิงนโยบายและความร่วมมือภาคีเครือข่ายต่างๆ

สำหรับ สาระสำคัญในการสัมมนาทั้ง 4 ช่วงได้คือ ช่วงที่ 1 การเตรียมก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไร้การใช้ธนบัตร (Demonetized Economy) ที่ต้องมีการออกข้อกฎหมายให้รองรับ และต้องศึกษาหาแนวทางสำคัญในการควบคุมและกำกับดูแลด้านการเงินให้กับรัฐบาลอื่นๆ ต่อไปในอนาคต ช่วงที่ 2 ปัญญาประดิษฐ์ AI ความท้าทายใหม่ในโลกแห่งอนาคตที่จะช่วยกำหนดทิศทางของพัฒนาการของเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงการพัฒนาต่างๆ เช่น ระบบการค้าพหุภาคี ความไม่เสมอภาคทางสังคม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความวิตกกังวลว่า เราจะได้รับผลกระทบอย่างไรจาก AI

ช่วงที่ 3 สังคมอนาคตกับบริบทเทคโนโลยี ใครเป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง บทบาทของเทคโนโลยี ทั้งในเรื่องการสร้างงาน การให้สวัสดิการทางสังคม จนถึงคำถามสำคัญว่า เราจะต้องมีขีดความสามารถอะไรในยุคของ AI ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 และช่วงที่ 4 แบ่งปันมุมมองประสบการณ์กรณีตัวอย่างของการนำนโยบายด้านเทคโนโลยีและข้อกฎหมายมาใช้ เพื่อกำหนดนโยบายด้านการค้าและการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิตของภาคเกษตรและประมง ที่ช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 7 กันยายน 2562

กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 30.40-30.80 บาทต่อดอลลาร์

ธนาคารกสิกรไทยประเมินการเคลื่อนไหวของเงินบาท ที่ระดับ 30.40-30.80บาทต่อดอลลาร์ (ระหว่างวันที่ 9- 13 กันยายน2562)โดยปัจจัยต่างประเทศที่ตลาดรอติดตามประกอบด้วย ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้ง Brexit ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯที่จะประกาศระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาสินค้านำเข้าและส่งออก ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยจำกัดประเมินดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,640 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,680 และ 1,700 จุดตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานะการเจรจาทางการค้าสหรัฐฯ-จีน และ BREXIT

จาก www.thansettakij.com วันที่ 7 กันยายน 2562

นายกฯ หวังอาเซียนร่วมมือฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจโลก

นายกฯ เปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 หวังร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมั่นคงและยั่งยืน ฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจโลก

ที่โรงแรม แชงกรี-ลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่โรงแรม แชงกรี-ลา โดยมีรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจของไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึง ความกล้าฝันของผู้ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ที่อยากเห็นภูมิภาคมีความมั่นคงทางการเมือง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม โดยที่ผ่านมามีการบูรณาการความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในทุกมิติ ด้วยความกล้าลงมือในการขับเคลื่อนอาเซียนให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อาเซียนได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแนวคิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า)  เพื่อใช้กลไกการลดอัตราภาษีนำเข้าระหว่างกัน  และริเริ่มแนวคิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)  เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ส่วนข้อริเริ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) นั้น เพื่อขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับคู่ภาคีภายนอกอาเซียน ทั้ง 6 ประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับประชากรกว่า 3,500 ล้านคน และขนาดเศรษฐกิจที่มีมูลค่า GDP กว่า 27.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 32.3 ของ GDP โลก ซึ่งจะต้องผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปีนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด อาเซียนจึงต้องก้าวหน้าสู่อนาคต และก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ และต้องร่วมใจกันเสริมสร้างความเชื่อมโยง ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะขับเคลื่อนความฝันของอาเซียนให้ก้าวไกลและยั่งยืน เพื่อรับมือกับอนาคต เสริมสร้างความเชื่อมโยงและความยั่งยืนในทุกมิติ ขับเคลื่อนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้าและใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวอาเซียน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญในขณะนี้คือ การเผชิญกับปัญหาสงครามการค้า ซึ่งกลุ่มอาเซียนต้องร่วมมือกันให้ผ่านปัญหานี้ไปได้ ต้องอาศัยพลังและพึ่งพาซึ่งกันและกัน ด้วยการเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการค้าตามแนวชายแดน รวมถึงต้องเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ฝากให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะทะเล รวมถึงการพัฒนาให้เกิดสมาร์ทซิตี้ พร้อมทั้งต้องมีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ และหุ่นยนต์ได้มากขึ้นด้วย ขอยืนยันว่าไทยในฐานะประธานอาเซียน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจและพร้อมขับเคลื่อนอาเซียนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อระโยชน์ให้กับประชาชน.

จาก https://tna.mcot.net  วันที่ 6 กันยายน 2562

บาทเปิด 30.66 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่า

เงินบาทเปิดตลาด 30.66 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯหนุนดอลล์แข็ง จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรคืนนี้

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 30.66 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันที่ 5 ก.ย. ที่ปิดตลาดที่ระดับ 30.55/56 บาท/ดอลลาร์

"เช้านี้บาทอ่อนค่าเนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบสกุลหลักหลังตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อคืนนี้ออกมาดีกว่าคาดทั้ง ISM  ภาคบริการ และการจ้างงานภาคเอกชน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯก็ปรับตัวสูงขึ้นมามาก ส่วนราคาทองคำปรับลงมาเยอะเลย วันนี้อาจจะได้เห็นแรงซื้อเข้ามาในตลาดทองคำบ้านเรา นักบริหารเงิน กล่าวต่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ออกมาดี อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องรอดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ คืนนี้อีกตัว" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.60 - 30.70 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.posttoday.com วันที่ 6 กันยายน 2562

อาเซียนตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม 23%ในปี68

ประชุมพลังงานอาเซียน บรรลุเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค ตั้งเป้าการใช้พลังงานทดแทนให้สูงขึ้น เป้าหมาย 23% ภายในปี 2568

 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานสรุปผลความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศพร้อมประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศและองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 โดยกล่าวว่า กลุ่มอาเซียนพร้อมที่รับมือกับความท้าทายใหม่ๆและการก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานยั่งยืน รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการลงนามความตกลงร่วมมือระหว่างศูนย์ประสานงานพลังงานอาเซียนกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ช่วยผลักดันการพัฒนาและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพลังงานชีวมวลให้มากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนรีไซเคิลด้วย

 ส่วนความร่วมมือที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ผลักดันให้ขยายการเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่าง 3 ประเทศคือ ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย ให้มากขึ้นจาก 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ โดยจะมีการลงนามระหว่างกันในปี 2562 นี้ ผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนสูงขึ้นสู่เป้าหมาย 23% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ภายในปี 2568 จากปัจจุบันอาเซียนใช้พลังงานทดแทนรวมอยู่ที่ 14%

“อาเซียนกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดและเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน และผลักดันให้มีการตั้งเป้าหมายลดความเข้มข้นในการใช้พลังงานอย่างมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนตั้งเป้าหมายจะลดความเข้มข้นการใช้พลังงานให้ได้ 20% ในปี 2563 แต่ปัจจุบันอาเซียนได้บรรลุผลสำเร็จแล้วตั้งแต่ปี 2560 ที่ 21.7% ดังนั้นจะต้องตั้งเป้าหมายใหม่ให้สูงและท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม”

จาก www.thansettakij.com วันที่ 5 กันยายน 2562

กกร.ห่วงเงินบาทยังแข็งค่า กระทบการแข่งขันด้านส่งออก-ลงทุน วอน ก.คลัง-แบงก์ชาติออกมาตรการดูแลเงินบาทโดยด่วน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ว่า กกร.ยังมีความกังวลต่อเรื่องเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีกหากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันภาคการส่งออกและการลงทุนของไทย จึงอยากให้ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หารือและออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าโดยด่วน เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังขาดปัจจัยสนับสนุน ซึ่งอาจทำให้ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เผย เงินบาทแข็งค่า 10% เมื่อเทียบกับจีน และแข็งค่ามากถึง 14% เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบชัดเจนเรื่องการเข้ามาลงทุนในไทย และเรื่องค่าบาทแข็งยังกระทบกับส่งออก และการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยธปท.และกระทรวงการคลังต้องหารือกัน เช่น อาจมีเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือสนับสนุนการนำนักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น มาตรการป้องปรามการเก็งกำไร หรือช่วยเรื่องวงเงินพันธบัตรก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้ และต้องผลักดันให้ออกเร็วขึ้น

จาก https://tna.mcot.net วันที่ 4 กันยายน 2562

แผนหักหลัง...พืชพลังงาน

มาว่ากันต่อเรื่อง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่คลอดออกมาทำร้ายเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันต้องหมดหนทางหากิน สูญเสียรายได้ไปกว่าปีละ 50,000 ล้านบาท

เพราะกฎหมายฉบับนี้จะมีผลทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมจากผลผลิตของพืชพลังงานที่เกษตรกรปลูกจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐอีกต่อไป

เมื่อวานได้ตั้งข้อสังเกต...นี่น่าจะเป็นแผนการทำร้ายเกษตรกรเพื่ออุ้มชูนายทุนน้ำมันปิโตรเลียม เพราะข้อมูลที่คนกระทรวงพลังงานชี้แจงกับ คณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาปัญหาเรื่องอ้อยในคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สภาผู้แทนราษฎร...มันฟ้องว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2551 ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2564 จะทำให้คนไทยใช้เอทานอลที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ให้ได้วันละ 9 ล้านลิตร

นั่นเป็นแผนแรก แต่ทำไปทำมาปี 2555 มีแผน 2 คลอดออกมาแทน ขอยืดระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี...มาปี 2558 แผน 2 ยังทำไปไม่ถึงไหน ได้ไม่ถึงครึ่งของเป้าหมาย ยังอุตส่าห์คลอดแผน 3 ออกมาอีก คราวนี้เหมือนจะดูดี ขอเพิ่มเป้าหมายจะให้คนไทยได้ใช้เอทานอลจริงวันละ 11.3 ล้านลิตร แต่ขอยืดเวลาไปอีก 14 ปี จะทำให้ได้ภายในปี 2579

แค่นั้นไม่พอ ปีที่แล้วมีแผน 4 ออกมาอีกแล้ว คราวนี้ลดเป้าจะให้ใช้วันละ 6.6 ล้านลิตร แถมด้วยขอถ่วงเวลา ยืดออกไปอีก 1 ปี เป็นจะให้บรรลุเป้าหมายในปี 2580

ตกลงนี่มันใช่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนเหรอ...น่าจะเรียกว่า แผนลดการใช้พลังงานทดแทนซะมากกว่า

โดยอ้างเหตุผล เนื่องจากต่อไปรถไฟฟ้าจะเข้ามาแทนรถยนต์...ขอถามหน่อยเหอะ มันใช่เหตุผลจริงมั้ย เอทานอล น้ำมันปาล์ม เอามาผลิตไฟฟ้าไม่ได้รึยังไง

ช่วยตะแบงให้มีตรรกะหน่อยนะ ท่านสาวกน้ำมันปิโตรเลียมจากฟอสซิลทำลายโลก.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 3 กันยายน 2562

ภารกิจร่วมของ “นายกฯ” กับ “สุริยะ” ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยสู่โลก 4.0

ประเด็นสำคัญของการที่ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ก็คือสงครามการค้าที่เกิดขึ้นในโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน...ประเทศไทยจะเปลี่ยนวิกฤติของโลกในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร

“ท่านนายกฯโทร.มาหาผมว่า ทราบเรื่องที่ผู้บริหารของ US-ASEAN Business Council : USABC หรือสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ที่เข้าพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CNBC หรือไม่ว่า อย่างไรเสียนักธุรกิจของสหรัฐฯก็จะต้องเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังประเทศไทย...ผมก็เรียนว่าผมทราบแล้ว และกำลังวางแผนปรับปรุงโครงการของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการขอสิทธิพิเศษเพื่อการลงทุนในประเทศไทยอยู่ ซึ่งท่านก็เห็นด้วย และได้รับการฝากฝังเรื่องนี้จากท่านนายกฯด้วยดี”

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยเรื่องนี้กับ ทีมเศรษฐกิจ ระหว่างการสนทนากับเขาถึงแนวคิดในการปรับโครงสร้างภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งตามความเห็นและข้อสงสัยของเราก็คือ นานกว่า 25 ปีกระมัง ที่สินค้าส่งออกของเรามีอยู่เพียง 11 รายการ ไม่นับรวมทองคำกับน้ำมัน ในจำนวนสินค้าเหล่านี้ มีแต่สินค้าเดิมๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ เครื่องจักรกลและอะไหล่ รถยนต์และอะไหล่ อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น

ที่เป็นปัญหา คือ ยิ่งวัน สินค้าอุตสาหกรรมที่มาแทนที่สินค้าภาคการเกษตรในสัดส่วน 80-20% นั้น ค่อยๆกลายเป็นสินค้าส่งออกประเภทที่เป็นต้นน้ำที่ไม่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นไปกว่าเดิม กระทั่งมีการย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานถูกกว่าจำนวนมาก

การขยายฐานทางธุรกิจ-อุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักธุรกิจจากต่างประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะในเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ เพื่อการลงทุนเพื่อให้สู้กับต่างประเทศ หรือเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเองให้ได้ และหลังจากตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงดูก็พบว่ากระทรวงพิจารณาคำขอไว้ประมาณ 14,500 ล้านบาท ในการปรับภาคการผลิตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของโลก ตามความจำเป็นเร่งด่วน

โดยเฉพาะในด้านการยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มุ่งสู่ “อุตสาหกรรม 4.0” เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าโลกที่เป็นเครื่องมือที่หลายประเทศดำเนินการต่อกัน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ไทยควรใช้โอกาสนี้ดึงการลงทุนจาก 2 ประเทศ ขณะที่การใช้งบประมาณในแต่ละรายการและความสำคัญลำดับก่อนหลังนั้น จะต้องมุ่งไปยังโครงการที่สำคัญมากเท่านั้น และต้องไม่ใช่การเหวี่ยงแหเพื่อให้สำนักงบประมาณเห็นความสำคัญของโครงการเหล่านี้ว่ามีความจำเป็นจริงๆ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ชี้แจงต่อสำนักงบประมาณว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยควรมีการปรับตัวอย่างเร่งด่วน ดังนั้นโครงการที่เป็นพื้นฐานสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมแข็งแกร่งควรได้รับการพิจารณาด้วย

เช่น ล่าสุดการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ลดต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน และอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คือยานยนต์ ปิโตรเคมี ที่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกแล้วว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยกำลังเผชิญปัญหาหลายเรื่องด้วยกัน

สำหรับโครงการที่ต้องได้รับการปรับปรุงเร่งด่วนก็เช่น โครงการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และศูนย์ทดสอบยานยนต์ รวมถึงยางล้อแห่งชาติ ตรงนี้ของบไว้ 1,565 ล้านบาท โครงการต่อไปคือ ยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่สากล 386 ล้านบาท

โครงการปั้นสินค้าเด่นระดับชุมชน 340 ล้านบาท โครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 259 ล้านบาท โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก 858 ล้านบาท เป็นต้น

นายสุริยะ กล่าวว่า ตนได้สั่งให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ สมอ.เร่งทำมาตรฐานอุปกรณ์การใช้โครงสร้างพื้นฐานของการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของไทย ดัดหลังต่างชาติที่อ้างสินค้าไทยไม่ได้มาตรฐาน มอก.ต้องนำเข้าสินค้าตัวเองมาก่อสร้างแทน “ตรงนี้ถ้าเราทำได้เอง คนไทยต้องได้ประโยชน์มาก”

เขาเปิดเผยด้วยว่า ได้มีโอกาสร่วมงาน 10 ปีของการครบรอบการมาเปิดตัวในประเทศไทยของ JETRO หรือองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเขาอยากให้เราสนับสนุนธุรกิจเชื่อมโยงการผลิตของเขาและบรรดา SMEs ที่จะตามมา ถ้าประเทศไทยเราสามารถทำให้การทำธุรกิจของ SMEs ของเขาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ได้ เขาก็น่าจะย้ายฐานการลงทุนมาได้มาก โดยเฉพาะในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

“ผมคิดว่า ถ้าเราให้แบงก์  ทั้งของเราและของเขาซึ่งจะเป็นธุรกิจต่อเนื่องกับการผลิตในอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นได้ กู้ในอัตราที่ดอกเบี้ยต่ำตั้งแต่ 1–5% แล้ว เมื่อเขาทำแล้วประสบความสำเร็จตามสมควรก็ขอให้เงินหมุนเวียนกลับมาฝากแบงก์ใหม่เพื่อเป็นทุนในการขยายกิจการต่อเนื่องต่อไป”

แนวคิดนี้ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีอีกทางโดยเฉพาะในการจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมประชารัฐ ซึ่งจะต้องขอให้ภาคเอกชนไทยทำบัญชีเดียว เพื่อให้การทำบัญชีทางการเงินเข้า-ออกจาก Book Bank สะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย...

ในขณะที่กองทุนนี้จะแบ่งเป็นกองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ SMEs ตั้งแต่ขนาน S คือ Small-Medium ไปจนถึง Large (SML) โดยเฉพาะเมื่อการเติบโตของ SMEs ในประเทศไทยนั้นเพียง 10 ปี คือ จากปี 2551-2561 สูงถึง 40% หรือคิดเป็นจำนวน 3,884-5,224 ราย และเป็น Startup ราว 1,040-1,089 รายที่ประสบความสำเร็จ

สำหรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ นายสุริยะ กล่าวว่า เขาได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ไปจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมระบบราง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ท่าเรือ รถไฟฟ้า โดยให้ไปพิจารณาว่า สินค้าประเภทใดของประเทศไทยที่ต้องการผลิตให้ได้ มอก.

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากล เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศให้ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายกังวลว่า กลุ่มผู้ชนะการประมูลโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Easter Economic Corridor) มีบริษัทต่างชาติร่วมทุนอยู่หลายโครงการ จึงเกรงว่าจะต้องนำเข้าอุปกรณ์ในแต่ละโครงการหากอุปกรณ์นั้นๆผลิตในประเทศไม่ได้ มอก.

“นโยบายนี้ภาครัฐต้องเน้นอุปกรณ์หรือสินค้าที่ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการผลิตในประเทศ และต้องการให้ภาครัฐออกมาตรฐานสินค้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับสากล โดยผมจะไปหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องข้อกำหนดการส่งเสริมใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพื่อสนับสนุนการใช้สินค้าไทย โดยต้องไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศควรให้ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ในประเทศได้รับผลประโยชน์”

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งก็จะต้องเร่งสร้างคุณค่ามาตรฐาน ทักษะแรงงาน เพื่อสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พัฒนาฝีมือให้เป็นระบบ รวมถึงส่งเสริมมาตรฐานอาหารแปรรูป สินค้าที่แปรรูปจากการเกษตรสำคัญมาก คือต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

นอกจากนี้ ยังจะเร่งรัดดำเนินโครงการ 5 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เครื่องยนต์แรก พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือเอสเคิร์ฟ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆขึ้นในประเทศเพื่อต่อยอดนโยบายในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่มีค่ายผู้ผลิตรถยนต์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ต่อไปจะให้ความสำคัญกับการลงทุนจากประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่นมากขึ้น

เครื่องยนต์ที่ 2 จะยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยจะนำนวัตกรรมการส่งเสริม สร้างต้นแบบพัฒนาผู้ประกอบการให้เกิดความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจรากหญ้า และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในปี 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในแนวทางเกษตรอุตสาหกรรมวงเงิน 400 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์การเกษตรแปรรูปต่างๆ รวมทั้งเตรียมยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม เสริมเครื่องทุ่นแรงในการแปรรูปอย่างง่าย และพัฒนาสินค้าให้มีความคิดสร้างสรรค์พร้อมนวัตกรรม

เครื่องยนต์ที่ 3 เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคโดยการขับเคลื่อนผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เน้นสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตร

เครื่องยนต์ที่ 4 เน้นส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน, การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียน เพื่อให้เป็นกลไกเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในรูปแบบใหม่ โดยจะแก้ไขข้อติดขัดของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการนำวัตถุดิบหมุนเวียนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์

เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย ต้องปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น ระบบการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ ระบบการรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์แทน

การตรวจสถานประกอบการเพื่อต่ออายุใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ใบ รง.4, มอก.ECO-Sticker สำหรับรถยนต์ที่ลดมลพิษ, ระบบการชำระค่าบริการออนไลน์ เป็นต้น

นายสุริยะ ยังเปิดเผย หลังหารือร่วมกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่สำนักงาน ส.อ.ท.ว่า ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงเข้าหารือกับ ส.อ.ท.เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนโดยเฉพาะด้านปัญหา และอุปสรรคที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข่งขันระดับโลกได้

โดย ส.อ.ท.ได้เสนอโมเดล Made In Thailand ให้กระทรวงไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้โครงสร้างพื้นฐานของไทยทุกโครงการที่กำลังเดินหน้าใช้วัตถุดิบที่ผลิตในไทยในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 90%

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติพบว่าโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าที่ผลิตโดยคนไทย ยกเว้นบางโครงการ อาทิ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่กำหนดให้ใช้สินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 90% หรือการผลิตรถยนต์ของไทยที่กำหนดชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่า 90% ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างจริงจังเพราะไทยกำลังจะมีโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.จะไปรวบรวมบัญชีสินค้าที่สามารถผลิตได้ในไทย และเสนอรัฐบาลควบคู่ไปด้วย

“ส.อ.ท.ยังเสนอให้มีการจัดงาน เมด อิน ไทยแลนด์ อินดัสทรี เอ็กซ์โป ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแสดงสินค้านวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆของคนไทย เพราะปัจจุบันคนไทยสามารถผลิตสินค้าได้ทุกอุตสาหกรรม โดยหลังจากนี้จะติดตามความคืบหน้าของข้อเสนอทั้งหมดว่าขับเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง”

นายสุริยะ กล่าวว่า เขารับข้อเสนอ ส.อ.ท.เต็มที่ด้วยการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานไทยให้ใช้ Local Contents 90% และให้หามาตรการตอบโต้เวียดนามเพื่อคุ้มครองนักลงทุนไทยด้วย

นายสุริยะ กล่าวในตอนท้ายว่าเขารับฟังเสียงสะท้อนที่เข้ามาของสภาอุตสาหกรรมและ พร้อมนำไปแก้ไขและปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านปัญหาและอุปสรรคที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ขณะเดียวกันก็ให้สภาอุตสาหกรรมไปรวบรวมบัญชีสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเพื่อนำเสนอรัฐบาลในการดำเนินการตามโครงการต่างๆควบคู่กันไป

ท้ายที่สุดทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรม จะจัดงาน Made In Thailand ร่วมกันเพื่อแสดงความก้าวหน้าของสินค้าไทย นวัตกรรมใหม่ๆ และเทคโนโลยีต่างๆที่เป็นของคนไทยคิดค้นขึ้นในหลายสาขา และในภาคการผลิตสินค้าจำนวนไม่น้อย ซึ่งหากทั้งสองเดินไปในทิศทางเดียวกัน ในที่สุดประเทศไทยก็จะสามารถขับเคลื่อนภาคการผลิตในอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพ และขีดความสามารถเพื่อแข่งขันกันในเวทีการค้าของโลกได้

ที่สำคัญก็คือทั้งหมดจะนำมาซึ่งเงินตราเข้าประเทศ และทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้อันเป็นภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และยั่งยืนที่คนไทยทั้งประเทศต้องการ.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 2 กันยายน 2562