http://www.sugarzone.in.th


ข่าวเศรษฐกิจเกี่ยวกับอ้อยและน้ำตาล (เดือนกันยายน 2565]

เปิดช่องบราซิลฟ้อง WTO ผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ไทยยังอุดหนุนนํ้าตาลอื้อ

เปิดผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับใหม่ยังไม่ตอบโจทย์บราซิลฟ้องไทยอุดหนุนน้ำตาล จี้เร่งปรับระบบให้สอดคล้อง WTO หัวหน้าคณะวิจัยชี้เส้นทางยังอีกไกล แม้ไทยแพ้ในศาลชั้นต้น แต่ขั้นอุทธรณ์ยังเป็นอัมพาต หลังสหรัฐฯขวางทาง วงการชี้เหมือนไทยร่างคำฟ้องให้บราซิล

จากที่บราซิล ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของโลกได้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนเมษายน 2559 กล่าวหารัฐบาลไทยอุดหนุนน้ำตาล(อุดหนุนเกษตรกรและการส่งออก) ซึ่งฝ่ายไทยได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอของบราซิล ในการแก้ไขให้สอดคล้องหลักการของ WTO หากไทยยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอในขั้นตอนต่อไปบราซิลอาจยื่นฟ้องไทยอย่างเป็นทางการเพื่อขอให้ WTO ตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (Panel) มาตัดสิน

 บราซิลจับตาไทยแก้กติกา

ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศยังอยู่ในกระบวนการหารือ โดยที่ไทยได้ออกมาตรการชั่วคราวในช่วงปลายปี 2560 ที่รัฐบาลได้ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง ประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อทดลองใช้เป็นเวลา 2 ปี (ปีการผลิต 2560/61-2561/62) ควบคู่ไปกับความพยายามปรับตัวภายใน โดยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายปี 2527 ให้สอดคล้องกับกติกาของ WTO ซึ่งบราซิลได้ติดตามดูผลการดำเนินการของไทยว่าจะแก้ไขทั้งหมดตามที่เรียกร้องหรือไม่

อย่างไรก็ดีจากรายงานผลการวิจัย โครงการติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลในองค์การการค้าโลก (WTO) และจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตามข้อผูกพันกับ WTO ที่ให้ลำดับความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ปีที่สอง โดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประกอบด้วย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง, ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต และนายวุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์ ที่เผยแพร่ล่าสุด (มิ.ย.2565) โดยเป้าหมายสำคัญของรายงานข้อสรุปจะเน้นเรื่องของข้อกังวลต่อแนวนโยบายของไทยที่อาจจะไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของบราซิลและข้อผูกพันกับ WTOซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

เปิดช่องบราซิลฟ้อง WTO ผลวิจัยทีดีอาร์ไอ ไทยยังอุดหนุนนํ้าตาลอื้อ

 ยังเข้าข่ายอุดหนุนหลายเรื่อง

ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ...ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเดิม (ปี 2527) ที่คณะผู้วิจัยได้นำเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ เช่น การกำหนดให้กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อาจนำไปสู่การถูกกล่าวหาว่าเป็นการอุดหนุนได้ หากมีการใช้มาตรการในการแทรกแซงราคา หรือให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย

 การแก้ไขมาตรา 17 (18) อาจยังคงเป็นการอุดหนุนได้ หากผู้ใช้มาตรการที่แทรกแซงราคาหรือให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลคือคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ (ตามการตีความของ WTO) ขณะที่การแก้ไขวัตถุประสงค์และองค์ประกอบของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอาจยังเข้าข่ายการอุดหนุนได้ หากคณะกรรมการกองทุนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ (ตามการตีความของ WTO) นำเงินไปใช้ในการแทรกแซงราคา หรือให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทราย

 การแก้ไขที่มาของกองทุนตามมาตรา 27 ก็อาจเข้าข่ายการอุดหนุนได้ หากมีการนำเงินกองทุนไปใช้โดยหน่วยงานของรัฐ ในลักษณะที่เป็นการอุดหนุนผู้ประกอบการ แม้เงินกองทุนจะมาจากภาคเอกชนก็ตาม รวมถึงคณะกรรมการน้ำตาลทรายที่แม้จะมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแต่อาจยังเป็นหน่วยงานของรัฐได้ (ตามการตีความของ WTO) และหากคณะกรรมการฯใช้มาตรการในการแทรกแซงราคา หรือให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายก็อาจเข้าข่ายเป็นการอุดหนุน

 เข้มกว่าเดิม "ห้ามนำเข้าน้ำตาล"

นอกจากนี้ในมาตรา 47 เดิมระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าน้ำตาลทรายเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” แก้ไขเป็น “ผู้ใดจะนำเข้าน้ำตาลทรายต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด” ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เดิม และการใช้คำว่า “ห้าม” ทำให้ฟังดูว่าเป็นการกระทำที่เข้มงวดกว่าการอนุญาต

 อย่างไรก็ตามในเรื่องการอุดหนุนคณะผู้วิจัยระบุ ไม่ใช่สิ่งที่ห้ามกระทำ แต่ต้องใช้ให้สอดคล้องกับความตกลงด้านการเกษตร (AOA) และความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน และจะถือเป็นการใช้มาตรการอุดหนุนเมื่อ “มีความเป็นรัฐ” และ “มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการ” เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนการรักษาเสถียรภาพของราคา หากเป็นการดำเนินการโดยเอกชนที่ “ไม่มีรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรณีใด ๆ” มิใช่การอุดหนุน

 ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ไม่ต่างจากเดิมมาก

คณะผู้วิจัยยังชี้ว่า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับแก้ไขที่คาดจะประกาศใช้ปลายปีนี้ ไม่ค่อยแตกต่างจากฉบับเดิม ซึ่งไม่ได้กำหนดมาตรการต่างๆ ในรายละเอียดมากเท่ากับ คำสั่ง ประกาศ และระเบียบที่ออกโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) หรือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และจากการวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ประกาศ และระเบียบต่างๆ ที่ออกมาใช้ในปัจจุบันพบว่า ยังมีลักษณะเป็นกติกาที่เปลี่ยนชื่อและรูปแบบมากกว่าการปรับเปลี่ยนเนื้อหาอย่างเป็นระบบจริง ๆ

 “2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับแก้ไขและมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้จะได้รับการยอมรับจากบราซิลจนนำไปสู่การถอนฟ้อง และเพียงพอที่จะทำให้ประเทศคู่แข่งอื่นไม่คิดจะฟ้องไทยหรือไม่ ที่ผ่านมาบราซิลเคยแจ้งว่าจะรอดูการดำเนินการของฝ่ายไทย รวมถึง รอ พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับใหม่ด้วย” รายงานวิจัย ระบุ

 แนะเปิดเสรีนำเข้าสร้างเชื่อมั่น

ขณะที่มาตรการหนึ่งที่อาจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่แข่ง ว่าการแทรกแซงและบทบาทของรัฐในส่วนนี้ไม่ได้เป็นความพยายามที่รัฐจะเข้ามาอุดหนุนคือ การอนุญาตให้สามารถนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศได้โดยเสรี โดยให้ยกเลิกระบบที่ต้องขออนุญาตนำเข้า

 ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ หัวหน้าโครงการและนักวิจัยหลักในโครงการข้างต้น ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก(26 ก.ย.65) ว่า ปัจจุบันมีโอกาสไม่มากที่บราซิลจะหันมายื่นฟ้องไทยเพราะต่อให้ฟ้องแล้วชนะในศาลชั้นต้น (ดังเช่นที่บราซิลชนะอินเดียเมื่อปลายปี 64) ก็จะไปติดที่ขั้นอุทธรณ์ของ WTO ที่คงจะยังเป็นอัมพาตต่อไปอีกหลายปี จากการที่สหรัฐอเมริกาสามารถขวางการแต่งตั้งคณะอุทธรณ์จนไม่เหลือสักคนมาสองปีแล้ว

 “สำหรับการแก้กฎหมายซึ่งเพิ่งผ่านทั้งสองสภา โดยแก้ไปไม่มากนักนั้น ผมจะหาเวลาเขียนบทความอธิบายประเด็นต่างๆ ในเร็ว ๆ นี้” ดร.วิโรจน์ กล่าว

  ขณะที่แหล่งข่าววงการน้ำตาล มองว่า จากรายงานโครงการวิจัยข้างต้น หากทางบราซิลนำไปแปลความจะเปรียบเสมือนไทยได้ร่างคำฟ้องไว้ให้บราซิลเรียบร้อยแล้ว รวมถึงยังมีตัวอย่างประกอบที่ไทยยังให้การอุดหนุนน้ำตาลที่ยังขัดกับกติกาของ WTO ซึ่งจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ต้องจับตา

จาก https://www.thansettakij.com/วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2565

4 องค์กรชาวไร่อ้อย ตบเท้าเข้าขอบคุณรองนายกฯ หลัง ครม. อัดงบฯ 8,319.74 ล้านบาท

4 องค์กรชาวไร่อ้อย ตบเท้าเข้าขอบคุณรองนายกฯ หลัง ครม. อัดงบฯ 8,319.74 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 คาดจ่ายเงินช่วยเหลือได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังจากให้ผู้บริหาร 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อแสดงความขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตันเช่นเดียวกับฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดง ได้ประโยชน์รวมกว่า 200,000 ราย คาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/65 รวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่าตันละ 1,100 บาท สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพต่อไป

จาก https://www.industry.go.th/ วันที่ 22 กันยายน 2565

"กอนช." เตือน 7 จังหวัด ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เฝ้าระวัง ระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา จะสูงขึ้น ช่วง 21-26 ก.ย. นี้ จะมีฝนตกเพิ่ม เขื่อนระบายน้ำเพิ่ม

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ  (กอนช.) เตือนเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ระบุว่า เนื่องด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา คาดจะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 21 – 26 กันยายน 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 กอนช. ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ C.2 อยู่ในเกณฑ์ 2,100 - 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที , แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที , ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  มีความจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่

ส่งผลให้ ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร  บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา , อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา , อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี , อ.ไชโย จ.อ่างทอง , จ.ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และ

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 2,041 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที , เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำเหนือเขื่อน 16.64 เมตร/รทก. ท้ายเขื่อน 14.45 เมตร/รทก. ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.89 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยา มีอัตราการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 1,989 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,013 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ขณะที่เทศบาลตำบลโพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้เร่งสร้างคันดินกั้นน้ำความสูง 1.5 เมตร ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งเตรียมสถานที่อพยพพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

นายสุธี เปี่ยมแก้ว สมาชิกสภาเทศบาลตำบลโพนางดำออก เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลโพนางดำออก ได้สร้างคันกั้นน้ำตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณหมู่ 1-3 ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ความสูงประมาณ 1.5

ขณะที่ประชาชนก็ติดตามสถานการณ์น้ำและการแจ้งเตือนของทางราชการ มีการเตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว ส่วนหนึ่งมั่นใจในแนวทางป้องกันน้ำท่วมของทางเทศบาล ซึ่งได้เตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อป้องกันไว้ก่อนเกิดภัย และหากเกิดน้ำท่วมต้องอพยพประชาชน ทางเทศบาลฯก็เตรียมสถานที่รองรับไว้ที่ริมถนนคันคลองมหาราช จัดเตรียมไฟฟ้า น้ำประปา สุขา ไว้เพื่อนำเข้าอำนวยความสะดวกประชาชนให้เร็วที่สุด

จาก https://www.komchadluek.net/   วันที่  23 กันยายน 2565

BRR มั่นใจปี’65รายได้เติบโต70%

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจากการ รอส่งมอบน้ำตาลอีก 80,000 ตัน ที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแล้ว แต่ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีประเด็นที่ต้องจับตามองเพิ่มเติมในเรื่องราคาน้ำตาลในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากการที่บราซิลลดการผลิตเอทานอล และหันมาผลิตน้ำตาลมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าอาจเกิดการขาดแคลนน้ำตาลในไตรมาสที่ 4 หากอินเดียระงับ หรือชะลอการส่งออก ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำตาลสูงขึ้น

“คาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายดิบใน 3-6 เดือนต่อจากนี้ จะอยู่ในช่วงราคา 18.00-19.50 เซนต์/ปอนด์ ส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจส่งออกน้ำตาลของไทยในปี 2565 โดยผลผลิตอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6-2.7 ล้านตัน สูงกว่าฤดูกาลผลิตที่แล้ว 10 - 14% ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาล และภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัท” นายอนันต์ กล่าว

ศักยภาพการเติบโตของกลุ่มธุรกิจ BRR ในปี 2565 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน มากกว่าแผนเดิมที่วางไว้ที่ 50% เหตุจากทุกธุรกิจในเครือเติบโต อีกทั้งธุรกิจหลักมีแนวโน้มขาขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกขยายตัวประกอบกับปริมาณผลผลิตน้ำตาลที่ออกสู่ตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้นหนุนรายได้เติบโตแข็งแกร่ง

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565

‘ชาวไร่อ้อย’เฮ ‘อุตฯ’ยันพ.ย.นี้ รับเงินตัดอ้อยสด 120บาทต่อตัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อย สดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ประโยชน์กว่า 2 แสนราย คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/65 รวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่าตันละ 1,100 บาท สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพ

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยจะสามารถส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2565 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลบัญชีและอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่ชาวไร่อ้อย คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

จาก https://www.naewna.com วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2565

"ค่าเงินบาท"แตะอ่อนค่าสุดครั้งใหม่รอบเกือบ 16 ปี เตือนรับมือผันผวน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เตือนผู้ประกอบการรับมือ"บาทผันผวน"ช่วงที่เหลือของปี หลังล่าสุด"เงินบาท"แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ จากแรงกดดัน "ดอลลาร์ฯแข็งค่า" จากนโยบายการเงินคุมเข้มของเฟด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "สถานการณ์ค่าเงินบาท" โดยระบุว่า ล่าสุด เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีครั้งใหม่ท่ามกลางสัญญาณการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทั้งนี้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นนับเป็นระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 หรืออ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ยังคงเป็นทิศทางที่สอดคล้องและเกาะกลุ่มไปกับทิศทางค่าเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค โดยเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ เป็นอันดับ 5 ในเอเชีย ตามหลังเงินเยนญี่ปุ่น เงินวอนเกาหลีใต้ เงินเปโซฟิลิปปินส์ และเงินดอลลาร์ไต้หวันตามลำดับ

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การอ่อนค่าของทุกสกุลเงินในเอเชียที่กระจายเป็นวงกว้าง สะท้อนว่า ชนวนสำคัญมาจากเรื่องของเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าอย่างมากตามจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินแบบแข็งกร้าวของเฟด

"คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินเอเชียในภาพรวมในปีนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ปรับเปลี่ยนเร็วในระหว่างรอบการประชุม มากกว่าปัจจัยทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น ดังนั้น สถานการณ์เงินบาทในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเรื้อรังจากความไม่สมดุลหลายด้านพร้อมกันและต้องใช้เวลานานกว่าที่จะคลี่คลายลง นอกจากนี้ เข้าใจว่า ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิดและใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างระมัดระวัง เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน" บทวิเคราะห์ ระบุ

อย่างไรก็ดี หากต่อภาพไปในช่วงที่เหลือของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังและควรเลือกใช้เครื่องมือ (อาทิ สัญญาฟอร์เวิร์ด หรือออปชั่น) เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะคงต้องยอมรับว่า ตลาดการเงินยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะในการติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อและประเด็นแวดล้อมอื่นๆ ของสหรัฐฯ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอที่จะตกผลึกมุมมองในเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

ทั้งในเรื่องแนวโน้มและจุดสิ้นสุดของวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากมุมมองในเรื่องแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดมีความชัดเจนมากขึ้นแล้ว ก็น่าจะช่วยให้แรงกดดันด้านอ่อนค่าที่มีต่อเงินบาทและสกุลเงินอื่นในภูมิภาคทยอยคลี่คลายลงไปได้ตามลำดับ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 22 กันยายน 2565

เกษตรไทยยุคใหม่จากหิ้งสู่ห้าง

โมเดลเศรษฐกิจ BCG วาระแห่งชาติที่จะพาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ทุกภาคส่วนจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้เกิดขึ้นจริง พร้อมไปกับเตรียมพร้อมปรับตัวต่อความท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และอาหาร การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก ซึ่งเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรในทุกด้าน

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จึงจัดงาน ARDA Virtual Research expo 2022 : สุดยอดเกษตรยุคใหม่ ยกระดับด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาการวิจัยการเกษตร มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก้าวเข้าสู่สุดยอดเกษตรไทยยุคใหม่ เติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีศักยภาพ

ภายในงานประกอบด้วย พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยของ สวก.จำนวน 6 โครงการ 6 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท แอมโบรส เอเชีย จำกัด 2) บริษัท กลิทเทอรี่ อินโนเวชั่น คอสเมติก จำกัด 3) บริษัท ไอยรา แพลนเน็ต จำกัด 4) บริษัท รักษ์กัญจ์ กรุ๊ป จำกัด 5) ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.ที.สุพรรณ วัสดุก่อสร้างและการเกษตร 6) บริษัท อริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด จำกัด

การเสวนาพิเศษหัวข้อ “โอกาส และทางรอด ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ได้รับเกียรติจาก นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และ เรื่อง “นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ เปลี่ยนอนาคตเกษตรไทย” ได้รับเกียรติจาก นายพิษณุ พงษ์วัฒนา รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

พร้อมทั้งพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยของ สวก. จำนวน 6 โครงการ 6 บริษัท และมีการนำเสนอเทคโนโลยีจากผลงานวิจัย ของ สวก.จำนวน 12 โครงการ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวไทยสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน บรรจุภัณฑ์อาหารย่อยสลายทางชีวภาพจากเยื่อฟางข้าวและชานอ้อย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “น้ำส้มจากผง”

สำหรับผู้ที่สนใจผลงานวิจัยเพิ่มเติม หรือกิจกรรมอื่นๆของ สวก. สามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง เว็บไซต์ www.arda.or.th และ Facebook เกษตรก้าวไกล กับ สวก. หรือ ardathai.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 22 กันยายน 2565

 ชาวไร่อ้อยโอด ปุ๋ย-ยา แพงหูฉี่-กำไรไม่เหลือ ชง รบ.ช่วยเกษตรกรตรงจุด ดีกว่าอัดฉีดเงิน

เมื่อวันที่ 21 กันยายน นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง นายกสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี เปิดเผยถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่นพิษ (PM2.5) ฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกราย ที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้นในอัตรา 120 บาทต่อตัน ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่มีการจ่ายประจำกันอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ให้เผาอ้อยเพราะสร้างมลภาวะ หรือ PM2.5 ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของประเทศในขณะนี้ แต่หากจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยจริงๆ ควรช่วยเหลือเกษตรกร เรื่องราคาปุ๋ย ยากําจัดวัชพืช ค่าแรงงานคนตัดอ้อย น้ำมัน ที่มีราคาสูงขึ้นมากกว่า

นายจิรวุฒิกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลสนใจว่าทำอย่างไรให้ปุ๋ย ยากําจัดวัชพืชมีราคาถูกลง เนื่องจากเป็นต้นทุนของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย รวมทั้งพืชชนิดต่างๆ ที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ อยากให้ออกมาตรการมาช่วยเหลือให้ชัดเจน เพราะทุกวันนี้สินค้าภาคเกษตรทุกตัวราคาตกต่ำ เกษตรกรแทบไม่มีผลกำไรจากผลผลิตส่วนปัญหาที่ทำให้ต้นทุนเพาะปลูกสูง ซึ่งมาจากราคาปุ๋ยปีที่ผ่านมาซื้อในราคาถุงละ 900 บาท แต่ปีนี้ราคาถุงละ 1,500 บาท ซึ่งราคาเพิ่มขึ้นไปเกือบเท่าตัว หากใช้ปุ๋ยดีเพื่อเพิ่มผลผลิต ก็จะมีราคาแพงขึ้นไปอีก แล้วเกษตรกรจะเหลืออะไร

“อยากให้รัฐบาลสนใจชาวไร่อ้อยบ้าง หาวิธีในเรื่องลดราคาปุ๋ย ยากําจัดวัชพืช รวมทั้งน้ำมัน ก็จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง” นายจิรวุฒิกล่าว

จาก https://www.matichon.co.th  วันที่ 21 กันยายน 2565

เปิดตัวผู้แทนรณรงค์กิจกรรม ไทยพร้อม APEC

พร้อมอนุชา นาคาศัย นำทัพชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าบ้านต้อนรับการประชุมเอเปก 2022.

ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในปี 2565 ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2565 เพื่อให้ประชาชนตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วมจากการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ จึงจัดพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “ไทยพร้อม APEC พร้อม” ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ห้องแกรนด์บอลรูม 1-3 เมื่อเร็วๆนี้

ทั้งนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในงาน กล่าวว่า การจัดพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ “ไทยพร้อม APEC พร้อม” มุ่งเน้นนำเสนอภายใต้แนวคิด Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งนี้ ไทยได้คำนึงถึงการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปกในครั้งนี้ด้วย ตลอดจนนำเสนอผลสำเร็จตามผลงานสำคัญของรัฐบาล เพื่อแสดงถึงความพร้อมของการเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยปี 2565 ผ่านการนำเสนอในกิจกรรมของงานการแสดง วีดิทัศน์ และบูธสาธิต

พร้อมกันนี้ กรมประชาสัมพันธ์ได้เปิดตัวผู้แทนอย่างเป็นทางการในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์การจัดงานทั้ง 9 ท่าน ได้แก่ คมสันต์ แซ่ลี, เขมนิจ จามิกรณ์, เชฟชุมพล แจ้งไพร, แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส, ทารีน่า โบเทส, ฐิติพันธ์ ทับทอง, เข็มอัปสร สิริสุขะ, อุกฤษ อุณหเลขกะ และศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ เพื่อประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ของไทยอย่างเป็นทางการ โดยกิจกรรมทั้งหมดจะจัดขึ้นในช่วงเวลาก่อนหน้าไปจนถึงวันกำหนดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้าน Soft power ของเยาวชน รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคน ได้รับรู้ ภูมิใจ และพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกในครั้งนี้ ติดตามข่าวสารการจัดงานประชุม APEC 2022 Thailand ได้ทางเว็บไซต์ของกรมประชาสัมพันธ์ APEC2022.prd.go.th หรือทาง Facebook : APEC พร้อม ไทยพร้อม #APEC พร้อมไทยพร้อม #APEC2022THAILAND

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 21 กันยายน 2565

ตัดอ้อยสด"ลดฝุ่นPM2.5 รัฐเคาะ8.3พันล้านอุดหนุน

ครม.เคาะ8.3 พันล้านช่วยชาวไร่อ้อย ตันละ 120 บาทหวังจูงใจใช้วิธีตัดสดแทนใช้ไฟไหม้ก่อนตัดต้นเหตุก่อฝ่นPM2.5

คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่20 ก.ย. 2565 มีมติอนุมัติในหลักการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอเพิ่อเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานผ่านการสมทบจ่ายค่าแรงงานให้แก่เกษตรกรที่ตัดอ้อยสดแทนการตัดอ้อยไฟไหม้

สำหรับความช่วยเหลือดังกล่าวเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเป็นกรณีเฉพาะเป็นการชั่วคราวภายในกรอบวงเงินโครงการ 8,319.24 ล้านบาทตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ประกอบด้วย

1. การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงการคลัง (กค.) ได้ให้ความเห็นชอบความเหมาะสมของอัตราค่าใช้จ่ายแล้ว ในวงเงิน 8,159.14 ล้านบาท

2. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. สำหรับชดเชยต้นทุนเงินในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 (ปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส) ปัจจุบันคิดเป็น 1.95% ต่อปี และค่าบริหารจัดการรายละ 5 บาทวงเงิน 160.10 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM2.5ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ใช้จ่ายจากแหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชดเชยภาระทางการเงินให้แก่ ธ.ก.ส. ตามภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงต่อไป โดยโครงการฯ โดย ธ.ก.ส. โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยโดยตรงในอัตรา 120 บาทต่อตันเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ฤดูการผลิตปี 2564/2565

โดยมีปริมาณอ้อยสดที่ให้ความช่วยเหลือทั้งสิ้น จำนวน 67.99 ล้านตันมีรูปแบบการดำเนินการและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเช่นเดียวกับการดำเนินการในฤดูการผลิตปี 2563/2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่าโครงการนี้ไม่ขัดต่อพันธกรณีภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO)เนื่องจากมาตรการดังกล่าวเป็นไปตามพันธกรณีในข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Green box) ด้านการเกษตร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและราคาสินค้ารวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า อัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือ 120 บาทต่อตัน มีความเหมาะสม และได้รับแจ้งจาก ธ.ก.ส. ว่า ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการสำรองจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการฯ ไปพลางก่อนอีกทั้งโครงการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ด้วยแล้ว โดยรูปแบบโครงการที่เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงตามปริมาณอ้อยตามเงื่อนไขที่กำหนดในครั้งนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2561/2562

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 20 กันยายน 2565

ข่าวดี ปุ๋ยเคมีราคาลดลงแล้ว15-20% "พาณิชย์"ยันไม่ขาดแคลน

“ค้าภายใน”ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ปุ๋ยเคมี พบเต็มคลัง ไม่มีปัญหาขาดแคลน พร้อมแจ้งข่าวดี ราคาเริ่มปรับลดลงต่อเนื่องจากช่วงกลางปี ล่าสุดปุ๋ยยูเรียลงแล้วประมาณ 15-20%

นายจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์สินค้าปุ๋ยเคมี ที่คลังสินค้าของบริษัท เจียไต๋ จำกัด อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นคลังเก็บสินค้าปุ๋ยเคมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งโดยจากการสำรวจ พบว่า มีปริมาณปุ๋ยเคมีเป็นจำนวนมาก และทางบริษัทยืนยันว่าจะมีการนำเข้ามาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนนำเข้ามาจากบริษัท ซาบิก ซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย

“จากการติดตามสถานการณ์และการลงพื้นที่สำรวจในครั้งนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่า ปัญหาปุ๋ยเคมีขาดแคลน จะไม่เกิดขึ้น และปริมาณปุ๋ยมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของเกษตรกร ที่อยู่ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกหรือเตรียมที่จะเพาะปลูกในรอบถัดไป ดังนั้น ขอให้เกษตรกรเบาใจได้”

สำหรับสถานการณ์ราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมี แม้ราคายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ ซึ่งเป็นไปตามราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก เพราะวัตถุดิบแม่ปุ๋ยทำมาจากก๊าซธรรมชาติ แต่ขณะนี้พบว่าราคาได้ปรับลดลงมาจากช่วงกลางปีที่ผ่านมาแล้ว โดยปุ๋ยยูเรีย ซึ่งเกษตรกรใช้กันมากที่สุด ราคาลดลงมาแล้วประมาณ 15-20% ตามราคาปุ๋ยตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งกรมฯ ก็จะติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป และได้กำชับให้จำหน่ายในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ลงพื้นที่ติดตามการจำหน่ายปัจจัยการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ที่สหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งในช่วงนี้สหกรณ์ฯ ได้จัดงานจำหน่ายปัจจัยการเกษตร มีผู้ผลิต

และจำหน่ายปุ๋ยเคมีและปัจจัยการเกษตรมาจัดแสดงและลดราคาจำหน่ายสินค้าประมาณ 30 ราย เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกซื้อไปใช้ และช่วยลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งเท่าที่สำรวจราคาจำหน่ายปุ๋ยเคมีในงานพบว่าลดราคาถึงตันละประมาณ 300-500 บาท หรือกระสอบละ 15-25 บาท

ด้านนางสาวผ่องศรี  สิมะวัฒนา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ปุ๋ยเคมีมีราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อราคาปุ๋ยเคมี ที่ผลิตจากปิโตรเคมี แต่จากการช่วยเหลือของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้ดำเนินการเจรจากับผู้จำหน่ายปุ๋ยรายสำคัญในตลาดโลก เช่น ซาอุดิอาระเบีย ทำให้ปริมาณปุ๋ยเคมีในประเทศไม่ขาดแคลน และยังมีจำหน่ายต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงแรกจะยังมีราคาสูงขึ้น ก็เป็นไปตามต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ขณะนี้ ราคาเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว ถือเป็นข่าวดีของเกษตรกร ที่จะซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลง เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตลงมาด้วย

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2565

หวั่นม็อบชาวไร่อ้อย ครม.จัดให้เคาะ 8,320 ล้าน ช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาท/ตัน

ครม.อนุมัติกรอบวงเงิน 8,320 ล้านบาท ช่วยเกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงาน ในฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตรา 120 บาท/ตัน เพื่อลดฝุ่น PM 2.5

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM25 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 8,319.74 ล้านบาท

ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 25 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตรา 120 บาทต่อตัน โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 8,159.14 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน จะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดยมีอัตราเงินช่วยเหลือเท่ากับเงินส่วนต่างรายได้ค่าแรงต่อวันที่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดได้น้อยกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน เท่ากับฤดูการผลิตปี 2563/2564 ซึ่งฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีปริมาณอ้อยสดทั้งสิ้น 67.99 ล้านตัน

โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานโดยตรง หลังปิดหีบของฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 เพียงครั้งเดียว (ภายในเดือนธันวาคม 2565)

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในภาคอุตสาหกรรมที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานทุกรายนั้น กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย

กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอลหรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่นกัน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ต่อไป

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2565

ปลัดกระทรวงพลังงาน กางแผนพลังงานชาติ เดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ปลัดกระทรวงพลังงาน กางแผนพลังงานชาติ ขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ด้วยมาตรการเร่งด่วน เผยต้องผนึกทวิภาคี ร่วมสนับสนุนเทคนิค และการเงิน ระบุการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ไม่สามารถเดินคนเดียวได้ ต้องประสานมือพันธมิตรต่างประเทศร่วมผลักดัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวบนเวทีสัมมนา NEW ENERGY แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ในหัวข้อ “แผนพลังงานชาติ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่ "ฐานเศรษฐกิจ" จัดขึ้น โดยกล่าวว่า ในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานฟอสซิล ที่ถูกควบคุมด้วย Carbon Emission ที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เราต้องควบคุมอุณหภูมิต่างๆ ไว้

ไทย ปล่อยคาร์บอนประมาณปีละ 300 ล้านตัน 64% มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง ที่มีการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาคพลังงาน 36% ในการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง 28% ในเรื่องการใช้รถสันดาปที่ใช้น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ภาคพลังงงานในเรื่องการผลิตไฟฟ้านั้น ในประเทศไทย ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ตอนนี้ 70% มาจากก๊าซธรรมชาติในอ่าว 16% มาจากถ่านหิน และอีก 2% มาจากน้ำมันเตา

 11% มาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ที่สามารถลดภาวะโลกร้อนหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนนี้ จะต้องมีการควบคุมตรงนี้ เพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นๆ เพราะถ้าไม่มีมาตรการเร่งรัด การจะปรับเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน จาก 11% ให้ขยับขึ้นอาจต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้น การที่เราจะสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือสังคมคาร์บอนต่ำ ในปี 2065 ต้องเร่งและจัดทำแผนต่างๆ

เดิมกระทรววงพลังงานจัดทำแผนไว้ 5 แผน คือ แผนพลังงานไฟฟ้า PDP (Thailand Power. Development Plan : PDP) เป็นหลักสำคัญ แล้วก็มีแผนย่อยมาอีก เช่น แผนน้ำมัน แผนก๊าซ แผนอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทน และแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า เป็นงานที่แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ เมื่อนำมาประกอบร่างและเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 ตุลาคม 2563  ครม. ได้มีมติให้นำแผนทั้งหมดมาบูรณาการใหม่ ทำให้ออกมาเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นนโยบายที่มีทิศทางชัดเจน ในการกำหนดทิศทางของพลังงานเดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นยูนิตี้ ซึ่งแผนพลังงานชาตินี้ ทำโดยการดูทิศทางและสถานการณ์พลังงานโลก และสถานการณ์พลังงานไทย มารวมกับแผนพลังงานชาติ

ทิศทางของพลังงานโลก ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ น้ำมันและก๊าซที่เป็นพลังงานฟอสซิล ยังถือเป็นพลังงานหลัก โดยที่ไฟฟ้ากับไฮโดรเจน จะเป็นพระเอก และไฟฟ้า ที่ได้จะต้องผลิตจากแหล่งพลังงานสะอาดเท่านั้น ขณะเดียวกัน ต้นทุนด้านพลังงาน ในเรื่องโซล่า ไบโอแมส เปรียบเทียบต้นทุนถูกลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สัดส่วนการผลิตไฟฟ้า จากทั่วโลก แบ่งกันไปตามแหล่งเชื้อเพลิง พลังงานที่เป็นไฮโดรเจน จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

ประเทศต่างๆ มีการกำหนดนโยบาย เช่นเดียวกับแผนพลังงานชาติของไทย มีการใส่เงินเข้าไป เพื่อพัฒนาพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่น ใช้เงินถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการทำกลยุทธ์การขับเคลื่อนสู่พลังงานสีเขียว และยังร่วมกับประเทศต่างๆ ในการพัฒนาเรื่องพลังงานสะอาด ซึ่งโดยหลักการแล้ว การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำไม่ได้ หากไม่มีการร่วมมือกันของประเทศต่างๆ

สรุปแนวโน้มพลังงานในอนาคต

การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิมต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

แนวโน้ม Electrification โดยเฉพาะ EV เพิ่มขึ้นอย่างมาก
จะทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 พลังงานหมุนเวียนจาก Solar & Wind จะเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนสูงมากในการผลิตไฟฟ้า และมีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับ

 เทคโนโลยี Hydrogen และ CCUS เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต

 สำหรับประเทศไทย ในปี 2030 มีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก 233 ล้านตัน ให้เหลือ 216 ล้านตัน ซึ่งมีการเตรียมความร่วมมือกันในส่วนต่างๆ ทั้ง CCUS  ปตท. ก็ร่วมกับการทำก๊าซในอ่าว แหล่งอาทิตย์ แหล่งการกักเก็บคาร์บอน และบนบก แหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ก็มีการทดลองกักเก็บก๊าซ โรงไฟฟ้าน้ำพอง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซ ก็เริ่มดำเนินการ CCUS ด้วย

เรื่องของกรีนไฮโดรเจน กฟผ. ได้ดำเนินการอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้ ที่ลำตะคอง โดยการใช้พลังงานลม แต่มีขนาดเล็กมาก จำเป็นต้องมีการขยายตรงนี้ขึ้นมา ถ้าเราได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งเราก็คุยกันในระดับทวิภาคี เขาจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค และการส่งเสริมด้านการเงิน

นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป และบริษัท เจร่า จำกัด ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจการจัดหาเชื้อเพลิง LNG ตั้งแต่การศึกษาตลาด การวางแผนกลยุทธ์ การเข้าร่วมประมูล ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และยังมีวัตถุประสงค์ในการขยายโอกาสการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างการเผาไหม้ เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคตสำหรับการผลิตไฟฟ้า

"เราจะเริ่มดำเนินการในหลายๆ เรื่อง เรื่องไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในแผน PDP เรากำหนด ไว้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ มาจากโซล่า 3,000 มกะวัตต์ มาจากโซล่าฟาร์ม และโซล่ารูฟท็อป และ 2,700-2,800 เมกะวัตต์ มาจาก floating solar ตามเขื่อนต่างๆ ที่ดำเนินการแล้ว คือ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินทร และจะขยายต่อไปอีก ชีวมวล ชีวภาพ ที่เป็นโรงไฟฟ้าชุมชนอีก 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ ขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรมอีก 200 เมกะวัตต์ และจะนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำของ สปป.ลาวเข้ามาอีก 2,000 เมกะวัตต์" นายกุลิศกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายดังกล่าว หากดูจากศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาค Energy ในปี ค.ศ.2030 ในปี ค.ศ. 2020 ภาคพลังงานสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ที่ระดับ 56.47 MtCO2 คิดเป็น 15.38% ดังนั้น เพื่อให้บรรลุตาม NDC ฉบับใหม่ ภาคพลังงานต้องเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 160 MtCO2 ภายในปี ค.ศ. 2030

ส่วนกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy plan : NEP)

สนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อย CO2 สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050

สร้างศักยภาพการแข่งขันและการลงทุนของผู้ประกอบการของไทยให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การลงทุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามทิศทางโลก ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการลงทุนในนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการลดการปลดปล่อย GHG ของประเทศในระยะยาว

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2565

ยกเลิกไม่ปลูกอ้อย ในสนามบินเสรีไทยแล้ว! หลังชาวบ้านค้านหนัก

ได้ข้อสรุป ไม่ปลูกอ้อยที่สนามบินเสรีไทยแล้ว หลังชาวบ้านค้านหนัก ตัวแทนประชาชนพอใจ แต่ยังวางใจไม่ได้ จะขอติดตามสถานการณ์เชิงลึกต่อเนื่อง

วันที่ 19 ก.ย.2565 นายบำรุง คะโยธา พร้อมชาวบ้านร่วมกันประท้วงกองทัพอากาศที่จะปลูกอ้อยที่สนามบินเสรีไทย ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เพราะหวั่นว่าสารเคมีจะไหลปนเปื้อนแหล่งผลิตน้ำของชาวบ้าน วันนี้จึงมารวมตัวกันที่ว่าการอำเภอนาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งล่าสุดทางกองทัพได้ยกเลิกการปลูกอ้อยแล้ว อ่านข่าว ค้านกองทัพ ใช้สนามบินเสรีไทย ปลูกอ้อย หวั่นสารเคมี กระทบแหล่งน้ำ

นายนฤนาท เมืองแสน นายอำเภอนาคูเผยว่าหลังจากรับทราบเรื่องดังกล่าวได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุย ได้ข้อยุติว่ากองบิน 23 จะยกเลิกโครงการปลูกอ้อย 100 ไร่ นอกจากนี้ทางกองบิน 23 ที่ดูแลสนามบินเสรีไทย ยังจะได้ทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านอีก 2 ประเด็น คือขอใช้พื้นที่สนามบินเสรีไทย 25 ไร่ สำหรับเป็นพื้นที่ประกอบของโรงพยาบาลนาคู และจัดพื้นที่อีกส่วนหนึ่งสำหรับสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าในโอกาสต่อไป

นายบำรุงเผยว่าการยกเลิกดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านพอใจระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ปักใจเชื่อ จนกว่ากองบิน 23 จะทำตามที่พูดให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นส่วนตัวคิดว่ามีเงื่อนงำ มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น เหมือนจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนเข้ามาปลูกอ้อย และที่ผ่านมาตนเคยผิดหวังและถูกทางราชการหลอกมาหลายครั้งหลายโครงการ ทั้งนี้ ตนจะติดตามเรื่องในเชิงลึกต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่ทำให้ชาวบ้านและสังคมเกิดความสับสนต่อไป

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 20 กันยายน 2565

ไทยเตรียมเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกของประเทศ 21 ก.ย.นี้

‘วราวุธ’ รมว. ทส. ชี้ไทยเตรียมเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 21 กันยายน 2565

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โพสต์ทางเฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ข้อความว่า  เมื่อวานที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมงาน NEW ENERGY : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และได้รับเกียรติให้เป็น Keynote Speaker พูดคุยในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ” 

ซึ่งในปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่าสภาพอากาศของโลกมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก เมื่อเดือนที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วันเดียวมีน้ำท่วมสูงถึง 380 มิลลิเมตร กลับกันทางประเทศจีน เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่ยาวนานเป็นเดือน ทำให้ปริมาณฝนที่ตกน้อยเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำอีกหลายสาย เกิดภัยแล้งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องตระหนักว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที

สำหรับแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในประเทศไทยนั้น  หนึ่งในหนทางสำคัญที่เราได้เดินหน้าผลักดัน คือ การเพิ่มแหล่งกักเก็บ และดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากปัจจุบันนี้ภาคเอกชนเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด

ซึ่งโครงการนี้จะสอดคล้องกับแผนการเปิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 21 กันยายน 2565 โดยเงื่อนไขการแบ่งปัน คือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10% ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่าเหล่านี้ครับ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2565

"MILL" มุ่งลดต้นทุนพลังงาน 40 ล.บาทต่อปี วางเป้าใช้พลังงานทดแทน 8.5 เมกปีนี้

"MILL" วางเป้าลดต้นทุนพลังงาน 40 ล้านบาทต่อปี รองรับต้นทุนพลังงานพุ่ง นำร่องติดตั้งโซล่าเซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ ตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทน 8.5 เมกะวัตต์ภายในปีนี้

นางสาวสุรีรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบุคลากรและนวัตกรรมธุรกิจ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL  เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการนำบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเข้ามาบริหารจัดการด้านพลังงาน นำร่องด้วยการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop)  ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าได้ที่ 6.0 เมกะวัตต์

และเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้กลุ่มบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 8.5 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำให้ภาพรวมกลุ่มบริษัทสามารถลดต้นทุนพลังงานในการดำเนินงานได้มากกว่า 40 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ กลุ่มมิลล์คอน สตีลฯ มีเป้าหมายในการลดต้นทุนด้านการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มบริษัท ตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ จากการผลิตและใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาด

พร้อมตั้งเป้าหมายเป็นต้นแบบผู้นำด้านพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรม 100% อีกทั้งมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอย่างรู้ค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการดำเนินงานตามกรอบธุรกิจแบบ ESG ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)

“การใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินงาน นับเป็นก้าวที่สำคัญที่สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานของกลุ่มบริษัทฯ ได้อย่างยั่งยืน และเป็นอีกทั้งหนึ่งวิธีที่จะช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งหากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 4,900  ตันคาร์บอนฯ”

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2565

เลื่อน! ขึ้นภาษีความหวาน ออกไปอีก 6 เดือน

ครม. เห็นชอบขยายเวลาขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบขยายเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566  เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ต่อไป

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มตั้งแต่ปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด

โดยมีการกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได ระยะที่ 1 ในวันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง  30 กันยายน 2562 ระยะที่ 2 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 ระยะที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2566

ต่อมาได้มีการขยายเวลาการปรับขึ้นอัตราภาษีระยะที่ 3 ออกไป 1 ปี จากวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หากมีการปรับขึ้นภาษีตามกำหนดเวลาเดิม อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ประกอบการอาจดำเนินการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ กรมสรรพสามิต จึงเสนอขยายเวลาการขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า การดำเนินการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตความหวานตามปริมาณน้ำตาลตามที่กำหนดไว้นั้น นอกจากจะเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ

ยังถือได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตที่มุ่งหวังจะเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสังคมและสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 20 กันยายน 2565

ชาวนาคูจี้กองบิน 23 ยกเลิกอนุญาตปลูกอ้อยในสนามบินเสรีไทย

จากกรณีกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ผู้ไทยอีสานเมืองน้ำดำ ชาวบ้าน และผู้นำชุมชน ชาวบ้านออกมาคัดค้านต้านโครงการของกองบิน 23 อุดรธานี กองทัพอากาศที่จะปลูกอ้อยปลูกอ้อย 100 ไร่ ในสนามบินเสรีไทย เนื่องจากชาวบ้านเห็นว่าเป็นการลบร่องรอยประวัติศาสตร์ สนามบินเสรีไทย  และเป็นการย่ำยีหัวใจและทำลายแผ่นดินประวัติศาสตร์ โดยได้รวมตัวกันคัดค้าน แสดงจุดยืนในการปกป้องสนามบินเสรีไทย ด้วยการชูป้าย เพื่อแสดงสัญลักษณ์คัดค้าน และขอให้กองทัพอากาศ ยกเลิกโครงการแปลงสนามบินเสรีไทยเป็นแปลงปลูกอ้อยตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 19 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสการคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง หลายคนยังได้จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับหนังสือขออนุญาตโครงการของกองทัพอากาศ โดยกองบิน 23 อุดรธานี ที่จะใช้สนามบินเสรีไทยจำนวน 100 ไร่เป็นแปลงปลูกไร่อ้อย ซึ่งชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “คิดได้ไง” ในเมื่อพื้นที่ของสนามบินเสรีไทยประมาณ 500 ไร่นั้น ถือเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติไทย มีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวอำเภอนาคูและชาวไทยทั้งประเทศ แต่กำลังจะถูกแปลงสภาพเป็นแปลงปลูกอ้อยของนายทุนที่เข้ามาเช่า โดยกองบิน 23 จะเอาเงินค่าเช่าไปเป็นเงินสวัสดิการ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะ ไม่ควร โดยประการทั้งปวง

 ทั้งนี้มีรายงานว่า นายประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 5 พร้อมหน่วยงานทุกภาคส่วน ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและรับทราบปัญหากับชาวบ้านเมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา  โดยจากการรับฟังจากชาวบ้านทั้งหมดไม่เห็นด้วยที่กองทัพอากาศอนุญาตให้ใช้พื้นที่  สนามบินเสรีไทย (ตามหนังสืออนุญาตการใช้พื้นที่) ใช้พื้นที่ ปลูกอ้อย จำนวน 100 ไร่ในบริเวณสนามบิน เสรีไทย อ.นาคู และทุกคนขอคัดค้านการอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีจารึกไว้ในหน้าประวัติ ศาสตร์การต่อสู้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำอุปโภค บริโภค  เพราะใกล้ อ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ที่ใช้ทำประปา  เพราะถ้าปลูกอ้อยใช้ปุ๋ยเคมีมาก อีกทั้งที่ผ่านมามีการขอใช้เพื่อทำ โรงพยาบาลชุมชนกว่าจะอนุญาตการประสานงานลำบาก และขอใช้พื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และเพื่อท่องเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกลับไม่อนุญาต

 ด้านนายสมาน รุสดี  อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่  172 หมู่ 12 ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนและชาวบ้านในอำเภอนาคู มีความผูกพันกับสนามบินเสรีไทย ซึ่งสนามบินที่อยู่คู่วิถีชีวิตชาวนาคูและเครือข่ายชาวผู้ไทยมาเกือบ 70 ปี  โดยเป็นสนามบินลับสำหรับใช้เป็นฐานปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อต้านกำลังพลของญี่ปุ่นและรักษาอธิปไตยของชาติ ซึ่งมีการสร้างสนามบินเสรีไทยเพื่อเป็นที่ขึ้น–ลงของเครื่องบินฝ่ายพันธมิตร ในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์และครูฝึกเข้ามาฝึกยุทธวิธีให้แก่พลพรรคเสรีไทย ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร สนามบินเสรีไทยจึงมีความสำคัญในชัยชนะครั้งนี้ ที่ทำให้ชาติไทยเป็นเอกราชมาจนถึงปัจจุบัน ตนซึ่งในสมัยนั้นมาอายุประมาณ 2-3 ขวบ เป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับสนามบินเสรีไทย จึงจะยอมไม่ได้ที่จะให้มีการแปลงสภาพสนามบินเสรีไทยเป็นแปลงไร่อ้อย จึงได้ออกมาคัดค้านหนังสืออนุญาตดังกล่าวให้ถึงที่สุด

 ขณะที่นางสุพร อุดทะกิจ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 168 หมู่ 12 ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เล็กจนถึงทุกวันนี้ ตนและทุกคนต่างภาคภูมิใจ ที่ได้เกิดมาบนผืนดินประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งก็คือสนามบินเสรีไทยตรงนี้ ที่นอกจากจะเป็นสถานที่สำคัญดังที่ทราบกันดี คือเป็นสนามบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ มาที่นี่เมื่อประมาณปี 2513-2519 เพื่อเยี่ยมพสกนิกรชาว อ.นาคู และทรงมีรับสั่งให้ชลประทานทำการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยมะโน ให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค เป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม และบริเวณสนามบินเสรีไทยเอง ซึ่งมีสภาพเป็นที่โล่ง สลับกับแนวป่าก็เป็นแหล่งอาหารชุมชนตลอดปี หากอนุญาตให้มีนายทุนเข้ามาปลูกอ้อยตามหนังสือดังกล่าว  ก็เท่ากับเป็นการลบร่องรอยประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงอยากเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งเสีย และควรที่จะร่วมมือกันพัฒนาสนามบินเสรีไทย เพื่อเทิดพระเกียติในหลวง ร.9 และเป็นเกียรติประวัติแก่บรรพชนเสรีไทยจะดีกว่า ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหลานสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง ร.9 และรำลึกในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ของบรรพชนเสรีไทยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

 อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าชาวบ้านในอำเภอนาคู และอำเภอต่างๆใน จ.กาฬสินธุ์ และเครือข่ายชาติพันธุ์ผู้ไทยหลายจังหวัดทั้งใน จ.กาฬสินธุ์ จ.สกลนคร จ.นครพนม และใกล้เคียง จะเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อคัดค้าน ไม่ให้กองทัพอากาศแปลงสนามบินเสรีไทยเป็นแปลงปลูกอ้อย โดยจะนัดรวมตัวกันที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอนาคู ในช่วงสายวันนี้อีกด้วย

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 19 กันยายน 2565

เงินบาทวันนี้เปิดตลาด "แข็งค่า"ระดับ  36.80 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC อาจพลิกกลับมาแข็งค่า เงินดอลลาร์ยังไม่อ่อนค่าหนักมีโอกาสแกว่งตัวเหตุได้แรงหนุนจากSafe Haven

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.80 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์

 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงรุนแรง หลังตลาดกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด

 ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุม FOMC นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางหลักอื่นๆ และรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญของผู้เล่นในตลาด คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด หรือ FOMC โดยเรามองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย +0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เฟดอาจไม่ได้ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (ตลาดมองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึงระดับ 4.50%-4.75%)

 โดยคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือ Dot Plot ใหม่อาจสะท้อนว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.00%-4.25% ในปีนี้ ก่อนที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในปีหน้า และอาจลดลงสู่ระดับ 3.25%-3.50% ในปี 2024 หลังเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางส่งสัญญาณชะลอลง อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมชะลอลงมากขึ้น

 ซึ่งเราคาดว่า เฟดอาจปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลงบ้าง พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราการว่างงานขึ้นเล็กน้อยในปีหน้า รวมถึงปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ เมื่อเทียบกับคาดการณ์เศรษฐกิจในการประชุมเดือนมิถุนายน

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ตลาดคาดว่า ภาคการบริการของสหรัฐฯ อาจหดตัวในอัตราชะลอลง หนุนโดยการใช้จ่ายของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่ยังคงขยายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) เดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45.5 จุด จาก 43.7 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว)

 ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจขยายตัวต่อเนื่อง ในอัตราชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูงอยู่ โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 51.3 จุด จากระดับ 51.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 2.25% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี BOE อาจแสดงความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินผันผวน โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ (GBP) อาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าลงได้ แม้ว่า BOE จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดคาดว่า รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ จะยังคงสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของเศรษฐกิจยุโรป ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของยูโรโซนในเดือนกันยายน อาจปรับตัวลงต่อสู่ระดับ 48.7 จุด และ 49 จุด ตามลำดับ

 นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในวันอาทิตย์ โดยผลโพลล่าสุดสะท้อนว่า พรรค Brothers of Italy ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจกลับมากังวลปัญหาการเมืองยุโรปมากขึ้นได้

 ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า แนวโน้มการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานในหลายประเทศฝั่งเอเชียจะยังคงหนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +0.50% สู่ระดับ 4.25% ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจขึ้นดอกเบี้ยราว +0.25% สู่ระดับ 4.00% ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมกับเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี เพื่อตรึงให้บอนด์ยีลด์ ไม่เกินกว่าระดับ 0.25% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

 นอกจากนี้ BOJ ยังไม่ได้เผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อมากเท่ากับธนาคารกลางอื่นๆ เพราะแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นจะเร่งขึ้นสู่ระดับ 2.9% ในเดือนสิงหาคม แต่อัตราเงินเฟ้อเมื่อหักราคาพลังงานและอาหารสด (Core-Core Inflation) ก็อยู่ที่ระดับเพียง 1.5% ซึ่งยังไม่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.00% ของ BOJ

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าดุลการค้าของไทยในเดือนสิงหาคมอาจขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงาน ทำให้ยอดการนำเข้าโตราว 18%y/y ส่วนยอดการส่งออกยังโตได้ราว +7%y/y

 สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า จนกว่าตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ซึ่งเงินบาทอาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงพร้อมกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ

 ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยหากแรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลง หรือนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นไทยและบอนด์ไทยในจังหวะย่อตัวก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ อนึ่ง เราประเมินแนวต้านเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.20 ส่วนแนวรับจะอยู่ในโซน 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์

 ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้หรือแกว่งตัว Sideways ในระยะสั้น หลังสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของ RSI ยังคงอยู่ ในกราฟค่าเงินบาทหลายกรอบเวลา (Time Frame) ทั้งกราฟเงินบาท รายวัน (Daily) รายสัปดาห์ (Weekly) และรายเดือน (Monthly)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากและมีโอกาสย่อตัวลงได้ หลังตลาดได้ประเมินว่าเฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 4.50%-4.75% ทำให้หาก Dot Plot ใหม่ของเฟดไม่ได้สะท้อนแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่ตลาดคาด ก็อาจกดดันเงินดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจยังได้แรงหนุนจากต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทำให้เงินดอลลาร์ยังไม่กลับมาอ่อนค่าลงหนักและมีโอกาสแกว่งตัวค่อยๆ อ่อนค่าลงแบบ sideways down  

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.50-37.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.70-36.90 บาท/ดอลลาร์

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 19 กันยายน 2565

โอกาสของไทย ร่วมกลุ่ม RCEP

โอกาสของไทย ร่วมกลุ่ม RCEP : บทความ โดย.. พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3818

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อพิจารณาเกี่ยวกับโอกาสของไทย จากการที่มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 (พ.ศ.2568) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 15 ประเทศที่ร่วมลงนาม ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยจะผลักดันให้การส่งออกเพิ่มขึ้น 10.4% รวมทั้งการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น 2.6 % และ GDP ของประเทศสมาชิก RCEP จะเพิ่มขึ้นอีก 1.8%

ทั้งนี้ เนื่องจากการบรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และการที่ RCEP ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 จะช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  

อีกทั้งยังจะช่วยส่งเสริมการปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย จึงถือเป็นการกระตุ้นศักยภาพของความร่วมมือ รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคนี้ให้เพิ่มมากขึ้น  

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ Bio-Circular-Green Economy Model เป็นวาระแห่งชาติ  อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยได้มากขึ้นจากความร่วมมือด้านการค้าภาคบริการอีกด้วย

นอกจากนี้ พลโท ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ยังได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของโครงการรถไฟความเร็วสูงตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ใน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากการขนส่งทางทะเลเป็นเวลา 11 วัน ขบวนรถไฟความเร็วสูงจากจีนที่ส่งออกไปยังจาการ์ตา ได้เดินทางมาถึงท่าเรือจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกที่มาถึงอินโดนีเซียภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง และเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด 

ทั้งนี้ รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุง เป็นโครงการสำคัญในการก่อสร้างร่วมกันของโครงการตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง" และความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างจีนและอินโดนีเซีย โดยมีความยาวรวม 142 กิโลเมตร หลังจากสร้างเสร็จและเปิดให้สัญจรแล้ว จะใช้เวลาเดินทางจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปยังเมืองบันดุง ลดลงจาก 3 ชั่วโมงในปัจจุบัน เหลือเพียง 40 นาที

 ในขณะที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะให้ประโยชน์ ดังนี้

1.ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนประเทศไทยทุกปีอาจเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคน ในขณะเดียวกันรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

2. เหมาะสำหรับการขนส่งที่จะอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าไทยไปจีน และหากเปิดการสัญจรได้ทั้งสายจะทำให้สามารถส่งออกสินค้าของไทยไปยังยุโรปได้ภายใน 12 วัน

3. จีนและไทยจะยิ่งกระชับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติขนาดใหญ่ และยังคงเสริมสร้างความร่วมมือในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุน

4. ภายหลังการเปิดรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย จากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนานไปกรุงเทพฯ จะประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ อันสนับสนุนในการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างจีน-อาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ

5. โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยจะส่งผลในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ของไทยทั้งในระหว่างและหลังการเปิดดำเนินการ

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 18 กันยายน 2565

สสส.ส่ง “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ลดสถิติฉาวขอนแก่นเผาอ้อยสูงสุด 1 ใน 3 ไทย

ผวาขอนแก่นเผาอ้อยสูงสุด 1 ใน 3 ไทย !! สสส.ผนึกภาคี ป้องกัน PM 2.5 ประเดิมอีสานต่อยอดนวัตกรรม “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ปั้นเด็กมัธยม รู้ทันภัยฝุ่น-ส่งต่อความรู้สู่ชุมชน แปลงซากอ้อยเป็นปุ๋ยหมัก-น้ำมันเชื้อเพลิงทดแทน ด้าน ผู้ว่าฯ ขอนแก่น Kick-off ปี 66 ห้ามเผาอ้อย ตั้งเป้า หยุดฝุ่นควันให้ได้ 100 %

วันที่ 17 ก.ย.65 ที่โรงแรมเฮือนต้นนุ่น อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ หากเข้าไปสะสมในถุงลมฝอยของปอด แทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ สสส. ห้างหุ้นส่วนจำกัดเติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เร่งสร้างความร่วมมือขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปถึงระดับนโยบาย ริเริ่มโครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มุ่งพัฒนาแนวทางการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามบริบทของ 4 พื้นที่เสี่ยง 1.ภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่ แม่ฮ่องสอน พะเยา) 2.พรมแดนระหว่างประเทศ (ไทย-ลาว) 3.ภาคกลาง (กรุงเทพฯ) 4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุดรธานี ขอนแก่น) เพื่อให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 นำไปสู่นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า สสส. เร่งขยายพื้นที่ต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น จากเดิม 30 โรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ครอบคลุม 140 โรงเรียนทั่วประเทศในปี 2565 เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการรับมือกับวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ผ่านการสร้างองค์ความรู้ โดยมีนักเรียนเป็นแกนกลางสู่การตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพร่วมกับชุมชนและท้องถิ่น ล่าสุดได้ขยายผลมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เริ่มที่จังหวัดขอนแก่นเป็นแห่งแรก และต่อไปยังอุดรธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ประสบภาวะวิกฤตปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากพฤติกรรมการเผาภาคการเกษตร ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม www.ห้องเรียนสู้ฝุ่น.com

นายรุจติศักดิ์ รังสี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์การเกิดจุดความร้อนหรือ Hotspot ของจังหวัดขอนแก่น 10 ปีย้อนหลัง (2555-2564) พบจุดความร้อนตั้งแต่ ธ.ค. ถึง มี.ค. เหมือนกันทุกปี สาเหตุหลักเกิดจากกิจกรรมการเผาภาคเกษตร โดยเฉพาะการเผาในไร่อ้อย ทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและส่งผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ จึงได้ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาต่อยอดและขยายผล “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการสร้างองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 มุ่งเป้าสร้างโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น 10 โรงเรียน

“ขอนแก่น ถือเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในไทย เมื่อถึงฤดูการเก็บเกี่ยวอ้อยต้องใช้การเผาเป็นหลัก นโยบายต่างๆ ของจังหวัดที่ออกประกาศห้ามเผา อาจใช้ไม่ได้ผลเท่าพลังของคนในชุมชนและสังคมห้องเรียนสู้ฝุ่น จึงถือเป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ ที่ทำให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ร่วมรับมือกับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ที่เกิดการเผา สิ่งสำคัญคือ การสร้างพลเมืองให้สามารถสื่อสารสร้างความตระหนักรู้แก่คนในชุมชนถึงผลกระทบต่อสุขภาวะจากฝุ่น PM 2.5 จนเกิดเป็นการเปลี่ยนค่านิยมลดการเผาในที่โล่งเป็นศูนย์ภายในปี 2566 สู่การเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาและงดเผาอ้อยไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้” นายรุจติศักดิ์กล่าว

นายศราวุธ นาเสงี่ยม ผู้อำนวยการโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน 3 หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบห้องเรียนสู้ฝุ่น สสส. กล่าวว่า โรงเรียนเคยประสบกับปัญหาฝุ่นควันจนต้องหยุดทำการเรียนการสอน แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการของ สสส. ทางโรงเรียนได้เพิ่มกิจกรรมห้องเรียนสู้ฝุ่น เสริมหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เรียนรู้เรื่องพิษภัยและวิธีป้องกันฝุ่นในระดับชั้นมัธยมศึกษา สอดคล้องนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวิเคราะห์หาสาเหตุและผลกระทบ เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ จิตสำนึกที่ดี ทำให้เด็กมีความรู้ สามารถอ่านค่าจากเครื่องวัดค่าฝุ่น และแสดงค่าฝุ่นแจ้งเตือนสถานการณ์วิกฤต ผ่านแอปพลิเคชัน BLUESCHOOL สิ่งสำคัญนักเรียนได้นำความรู้เรื่องการไม่เผาไร่อ้อยส่งต่อไปยังผู้ปกครองและชุมชน แนะนำการกำจัดด้วยการหมักทำปุ๋ย ทำน้ำมันไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทน เพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 17 กันยายน 2565

กรมโรงงานฯ ย้ำ 1 ม.ค. 67 ยกเลิกใช้สารเป่าโฟมทำลายโอโซน ลดโลกร้อน!

กรมโรงงานฯ ย้ำ 1 ม.ค. 67 ยกเลิกใช้สารเป่าโฟมทำลายโอโซน ลดโลกร้อน มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้ COP 26

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. เตรียมประกาศห้ามใช้สารไดคลอโรฟลูออโรมีเทน (HCFC-141b) ในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2567 พร้อมเร่งผลักดันทุกภาคส่วนให้ใช้สารที่ไม่ทำลาย ชั้นบรรยากาศโอโซน โดยร่วมมือกับธนาคารโลก ธนาคารออมสิน และกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยโพลียูรีเทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการที่จะเลิกใช้โฟมแบบฉีดพ่น

กรอ. ในฐานะหน่วยงานหลัก ภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน โดยห้ามใช้สาร HCFC-141b ในกระบวนการผลิตโฟมทุกชนิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ยกเว้นโฟมแบบฉีดพ่น ทำให้แม้จะสามารถลดการใช้สาร HCFC-141b จำนวน 132 โอดีพีตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 870,000 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า แต่ กรอ. ยังเดินหน้าเพื่อให้การใช้สาร HCFC-141b ในภาคอุตสาหกรรมโฟมแบบฉีดพ่นเป็นศูนย์ จึงได้เตรียมออกประกาศห้ามใช้สาร HCFC-141b ในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2567 และผลักดันให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมโฟมแบบฉีดพ่น เปลี่ยนมาใช้สารไฮโดรฟลูออโรโอเลฟิน หรือสาร HFOs แทน ซึ่งเป็นสารที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ และเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายวันชัย กล่าวต่อว่า กรอ. ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการโฟมแบบฉีดพ่นทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2563 – 2566) เป็นจำนวนเงินกว่า 62 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบ สำหรับปรับเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์ในกระบวนการผลิตจากเดิมที่ใช้สาร HCFC-141b ไปใช้สาร HFOs ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการโฟมแบบฉีดพ่นที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 2 ราย และผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอรับการช่วยเหลืออีก 4 ราย สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายย่อยจะได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการ และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารทดแทน

การดำเนินการดังกล่าวของ กรอ. จะสอดคล้องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แสดงเจตนารมณ์ของ ประเทศไทย ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศร้อยละ 40 ในปี พ.ศ. 2573 และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP 26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

จาก https://www.matichon.co.th วันที่ 17 กันยายน 2565

ชาวไร่ ขีดเส้นทวงค่าชดเชยอ้อย วันที่ 20 ก.ย. ต้องเข้า ครม. ถ้าไม่ได้ บุกกรุง

“สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ “ นำผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย พบที่ปรึกษากระทรวงการคลัง ประกาศขีดเส้นตายเงินอ้อยสด 120 บาท ต้องเข้า ครม. ในวันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 นี้ ถ้าไม่เข้า ครม. ชาวไร่อ้อยบุกกรุงแน่นอน

จากมติ คณะรัฐมนตรีวันที่ 1! พฤษภาคม 2564 เห็นชอบแนวทางและ หลักเกณ ฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น P.M 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตราตันละ 120 บาท เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและแบ่งเบาภาระเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสด สถาบัน ชาวไร่อ้อยและสมาชิกชาวไร่ อ้อยทั่วประเทศได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลและพร้อมที่จะดำเนินการปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้กำหนดไว้

ขณะนี้การหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2564/65 ได้เสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 โคยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งสิ้น 92.07 ล้านตัน มีปริมาณอ้อยสด 66.95 ล้านตัน มีผลผลิตน้ำตาลทรายรวมทั้งสิ้น 101.56 ล้านกระสอบคิดเป็นปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้น 38. 12 * ของฤดูการผลิตที่ผ่านมา และ ในฤดูการผลิตปี 2565/66 จะเริ่มต้นการหีบอ้อยในเดือนพฤศจิกายน 2565

ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องมีการเตรียมความพร้อมในการบำรุงรักษาอ้อยเพื่อให้ได้อ้อยและน้ำตาลที่มีคุณภาพดี เป็นการสร้างรายได้ให้กับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันเกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดมีความคืบหน้าแล้ว

สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย   เผยว่า วันนี้ 15 ก.ย. สส.สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ นำผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยพบที่ปรึกษากระทรวงการคลังขีดเส้นตายเงินอ้อยสด 120 บาท ต้องเข้า ครม. ในวันอังคารที่ 20 กันยายน 2565 นี้ ถ้าไม่เข้า ครม. ชาวไร่อ้อยบุกกรุงแน่นอน

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 15 กันยายน 2565

"มิสเตอร์เกษตร"วอน รมว.คลัง เร่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินตัดอ้อยสดช่วยเกษตรกร หลังล่าช้ามาหลายเดือน

"มิสเตอร์เกษตร"วอน รมว.คลัง เร่งอนุมัติเบิกจ่ายเงินตัดอ้อยสดช่วยเกษตรกร หลังล่าช้ามาหลายเดือน พร้อมขอบคุณ"สุริยะ"เพิ่มงบประมาณช่วยชาวไร่อ้อย

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ ขอบคุณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ที่ได้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ด้วยการเสนอขออนุมัติงบประมาณเพิ่มขึ้นในการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงาน จากเดิม 7,557 ล้านบาท เป็น 8,319 ล้านบาท โดยจากการติดตามของตนทราบว่าขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าเรื่องนี้มีปัญหาบางประการที่กระทรวงการคลัง ตนจึงอยากขอให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เร่งรัดพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายให้เกษตรกรได้

นายสัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ปกติเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ตามกฎการตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในปี 2564 เกษตรกรได้รับเงินในช่วงปลายเดือน มิ.ย. แต่ปี 2565 นี้เข้าสู่ เดือน ก.ย. แล้วชาวไร่อ้อยยังไม่ได้รับเงิน ทำให้พวกเขามีความเดือดร้อนใจ เพราะว่าจะต้องนำเงินไปใช้หนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุนปลูกอ้อยในช่วงต้นปี ตนจึงอยากขอให้ดำเนินการเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 15 กันยายน 2565

KTIS ลั่นปี 66 โตต่อเนื่อง เหตุมีอ้อยเข้าหีบเพิ่ม-ราคาน้ำตาลสูง

KTIS เผยเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2565/2566 จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อนราว 15-20% เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมากทำให้อ้อยมีผลผลิตต่อไร่สูง รวมทั้งมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยจากแรงจูงใจของราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่อเนื่องทำรายได้ในปี 2566 โตขึ้น มั่นใจเศรษฐกิจโลกถดถอยและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบ

นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) เปิดเผยว่าประมาณการผลผลิตอ้อยของหน่วยงานรัฐ และโรงงานน้ำตาล ในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คาดว่าปริมาณอ้อยและน้ำตาลทรายจะมากกว่าปี 2564/2565 ค่อนข้างมากราว 15% เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกมากทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น อีกทั้งราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็อยู่ในระดับสูง ทำให้ชาวไร่อ้อยเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยอีกด้วย

ทั้งนี้ ในฤดูการผลิตปี 2564/2565 บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบรวม 6.2 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 6.3 ล้านกระสอบ และคาดว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบของปีการผลิต 2565/2566 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ กลุ่ม KTIS จะได้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15-20%

นายสมชายกล่าวว่า ปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้วัตถุดิบที่ส่งเข้าสู่โรงงานต่างๆ มีมากขึ้นกว่าปีก่อนด้วยเช่นกัน ทั้งโมลาส (กากน้ำตาล) ที่เข้าสู่โรงงานผลิตเอทานอล ชานอ้อยสำหรับผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อยและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวลก็จะมีเชื้อเพลิงมากขึ้นด้วย กอปรกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลดีต่อการส่งออกทั้งน้ำตาล เยื่อกระดาษจากชานอ้อย บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากชานอ้อย ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผลประกอบการปี 2566 ปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ความคืบหน้าโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากชานอ้อย กำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน เริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2565 ช่วยเสริมให้ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ที่สนใจติดต่อขอเป็นผู้แทนจำหน่ายบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยเข้ามาหลายราย และติดต่อเข้ามาจ้างผลิตในลักษณะของ OEM อีกจำนวนหนึ่ง

นายสมชายกล่าวว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบน้อยมากจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากธุรกิจน้ำตาลยังมีตลาดรองรับแน่นอน และบริษัทก็มีการลงทุน Fully Automation เพิ่มขึ้นลดการใช้แรงงานคน ทำให้ได้รับผลกระทบน้อยเช่นกัน

สำหรับผลประกอบการบริษัทงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2565 บริษัทมีรายได้รวม 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 8.24 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 315.32 ล้านบาท ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,224.51 ล้านบาท

จาก https://mgronline.com วันที่ 15 กันยายน 2565

ทูตพาณิชย์ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย

“พาณิชย์”ดันส่งออกปีนี้5%ลุยฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย ด้านผู้ส่งออก ยังมั่นใจ ส่งออกไทยไปได้ตาอเนื่อง ชูสินค้าอาหาร สิ่งทอ พระเอกส่งออกไทย

การส่งออกยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2565 แต่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยที่อาจมีผลต่อการกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ต้องมีแผนเพื่อกระตุ้นการส่งออกในช่วงปลายปีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้อัตราการขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมาย 4-5%

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมสรุปแผนผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึกครึ่งปีหลัง 2565 ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ใน 58 สำนักงาน 42 ประเทศ ว่า การส่งออกไทยยังต้องเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกทั้งสงครามการค้า โควิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาจีนกับไต้หวันเพิ่มเติมขึ้นมา ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของผู้ค้าของเราชะลอตัว บางประเทศมีแนวโน้มติดลบ

รวมทั้งปัญหาการขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินและระบบการขนส่งสินค้าก็ตาม ซึ่งทูตพาณิชย์จากทุกประเทศ ได้จัดทำแผนร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและภาคเอกชน ทำแผนงานที่มีความชัดเจน จากเดิมกำหนดไว้กิจกรรมในปี 2565 ไว้ที่ 185 กิจกรรม แต่แผนใหม่ปรับเป็น 530 กิจกรรม มีกิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 345 กิจกรรม เพื่อทำตัวเลขครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นกว่าเป้าเดิมที่ทำไว้

สำหรับกิจกรรมการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 345 กิจกรรม มีทั้งกิจกรรมเชิงรุกและเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นการเจาะตลาดเมืองรอง จากที่เน้นการเจาะเมืองหลักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งตลาดเมืองรองมีเป้าหมายชัดเจนจะเจาะ 105 เมือง ใน 36 ประเทศ จะเจาะตลาดสินค้าชนิดใหม่เพิ่ม เช่น สินค้าก่อสร้างและบริการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์

รวมทั้งเจาะตลาดซาอุดิอาระเบีย ที่มีนโยบายสร้างเมืองใหม่ สินค้าฮาลาล และเจาะตลาดจีนที่มณฑลกานซู่ ที่มีชาวมุสลิมมาก และอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นสินค้าดาวเด่น และจะเร่งรัด Mini-FTA โดยช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีการลงนามมินิเอฟทีเอ เมืองคยองกี ประเทศเกาหลี เมืองเสิ้นเจิ้น และ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน

นอกจากนี้จะส่งเสริมการค้าระบบออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การนำซอฟพาวเวอร์ใส่สินค้าและบริการของไทย การให้ความสำคัญกับ BCG การเร่งรัดการเดินหน้าตามนโยบาย รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่และฟื้นตลาดเก่า

“ในครึ่งปีหลังกำหนดมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอีกเป็น 570 ล้านดอลล่าร์ หรือ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากทำได้มูลค่าการส่งออกทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเป็นได้ 284,933 ล้านดอลาร์ จากเดิม 284,863 ล้านดอลลาร์ หรือขยายตัว 4 %"นายจุรินทร์ กล่าว

ปัจจุบัน การส่งออกช่วง 7 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) ทำรายได้เข้าประเทศแล้ว 172,814.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.5% เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% ซึ่งการเพิ่มตัวเลขส่งออกในช่วยครึ่งปีหลังนี้อีกเป็น 570 ล้านดอลล่าร์ แต่กระทรวงก็ยังไม่มีการปรับเป้า

สำหรับการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเร่งรัดตัวเลขส่งออกและการแก้ปัญหาการส่งออกรูปธรรม คือ การแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนและค่าระวางเรือมีราคาสูงมาก ปัจจุบันได้แก้ปัญหาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วสามารถแก้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนได้โดย เฉพาะ 6 เดือนแรกของปีนี้ ตู้คอนเทนเนอร์มีให้ใช้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นถึง 12% และค่าระวางเรือปรับลดลงจาก 15,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์ ลดลงมาเหลือ 7000 ถึง 10,000 ดอลลาร์ ลดลง 50% ทำให้ส่งออคล่องตัวขึ้น และการเปิดโอกาสให้เรือใหญ่มาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้ มีส่วนช่วยเสริมให้มีพื้นที่เหลือ ส่งออกได้มากขึ้น

ประคัลร์ กอดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน อังกฤษ กล่าวว่า กล่าว มีการประเมินว่าเศรษฐกิจยุโรปในช่วงครึ่งปีหลังจะถดถอยจากภาวะเงินเฟ้อ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สกัดเงินเฟ้อ

สำหรับส่งออกไปยุโรปยังมีโอกาส ซึ่งจะผลักดันผ่าน 64 กิจกรรม โดยกิจกรรมเชิงรุกวางไว้ 33 กิจกรรม อาทิ ตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee : JETCO) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงการค้าระหว่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าไทยกับสหราชอาณาจักร การสร้างความร่วมมือกับออสเตรีย

ขณะที่กิจกรรมเชิงลึกวางไว้ 31 กิจกรรม คือ การเจาะตลาดใหม่ เมืองรอง 9 แห่ง การเจาะสินค้าและบริการ 6 กลุ่ม ผ่านงานแสดงสินค้า จัด trade mission ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 2,775 ล้านบาท

เกษสุรีย์ วิจารณภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกครึ่งปีแรกมีมูลค่า 9 แสนกว่าล้านบาท ขยายตัว 31.74 % ส่วนลาตินอเมริกาในครึ่งปีแรกส่งออกมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท ขยายตัว 19.6%

สำหรับสถานเศรษฐกิจภูมิภาคนี้หลายฝ่ายคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 จากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง อย่างไรก็ตามยังมีดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณดีอยู่ เช่น ราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเดินต่อไปได้ ซึ่งมีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยต้องดูว่า มาตรการของเฟดที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ สคต.วางแผนส่งเสริมกิจกรรมผลักดันการส่งออก 36 กิจกรรม มีกิจกรรมเชิงรุก 21 กิจกรรม เช่น ซอฟเพาเวอร์ อีคอมเมิร์ซ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ ส่วนกิจกรรมเชิงลึก 15 กิจกรรม จะเจาะตลาดเมืองรองใน 9 รัฐของอเมริกาเหนือ รวมถึง 2 เมืองในลาตินอเมริกา และ 4 ประเทศในแคริบเบียน จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 2,864 ล้านบาท

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ที่มีแผนเชิงรุกและเชิงลึกทำให้เอกชนเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งรัดการเดินหน้าตามนโยบาย รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่และฟื้นตลาดเก่า ซึ่งเอกชนจะเดินตามแผนที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ โดยประสานผู้ส่งออกร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ สรท.มั่นใจว่าการส่งออกปี 2565 จะขยายตัว 8% จากกิจกรรมการส่งออก ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้เอื้อต่อการส่งออกไทย แม้มีความกังวลเศรษฐกิจถดถอยในประเทศค้าหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป แต่ดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่อยู่ระดับสูง อัตราการว่างงานน้อย แม้เศรษฐกิจถดถอยแต่ไม่ได้เลวร้ายนัก ซึ่งสินค้าที่เป็นเรือธงส่งออกของไทยยังเป็นอาหาร เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 15 กันยายน 2565

พาณิชย์เร่งผลักดันส่งออกสุดลิ่ม สบช่องบาทอ่อนสร้างรายได้เพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมสรุปแผนผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึก ครึ่งปีหลังปีนี้ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ใน 58 สำนักงาน 42 ประเทศ และภาคเอกชนว่า ครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มกิจกรรมผลักดัน การส่งออกแบบเชิงรุก และเชิงลึกอีก 345 กิจกรรม จากแผนทั้งปีที่จะดำเนินการ 185 กิจกรรม รวมเป็น 530 กิจกรรม เพื่อช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปีนี้ ที่จะสร้างรายได้ 9 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจ-นโยบาย“กระทรวงยังไม่ปรับเป้าหมายใหม่ยังยืนยันขยายตัวของปีนี้ที่ 4% แม้ 7 เดือนแรก ทำรายได้เข้าประเทศแล้ว 5.774 ล้านล้านบาท หรือ 172,814 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.5% เกินกว่าเป้าหมายแล้ว”

สำหรับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น การเร่งรัดทำ Mini-FTA กับเมืองและมณฑลเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การนำซอฟต์ เพาเวอร์ใส่ในสินค้าและบริการของไทย การให้ความสำคัญการส่งเสริมสินค้าที่ผลิต โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG), การเร่งรัดรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่า

“จะเร่งรัดการเจาะตลาดใหม่ โดยเน้นตลาดเมืองรองให้มากขึ้น ใน 105 เมือง จาก 36 ประเทศ เช่น เมืองมักกะ เมืองบิซาห์ เมืองยันบู ของซาอุดีอาระเบีย, เวอร์จิเนีย แมรีแลนด์ คอนเนกติกัต สหรัฐฯ เป็นต้น รวมถึงเจาะตลาดสินค้าใหม่ๆ เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าฮาลาล และอาหารสัตว์เลี้ยง ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัว มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทำให้สินค้าเกษตรมีโอกาส อาทิ ข้าว ที่ปรับเพิ่มเป้าหมายส่งออกใหม่เป็น 7.5 ล้านตัน รวมถึงแก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือแพง”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 15 กันยายน 2565

ไทย – จีน ร่วมมือพัฒนาจราจรทางอากาศเชื่อมเศรษฐกิจ

รัฐมนตรีฯศักดิ์สยาม เป็นประธานพิธีลงนาม ร่วมมือไทย – จีน พัฒนาการให้บริการจราจรทางอากาศ เชื่อมโยงเศรษฐกิจ ตอกย้ำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างหน่วยงาน Air Traffic Management Bureau Civil Aviation Administration of China (ATMB/CAAC) สาธารณรัฐประชาชนจีน และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ในรูปแบบออนไลน์ (Zoom) พร้อมด้วยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และ Mr. Tao Ma, Regional Director, ICAO APAC Office, Mr. Hu Zhen Jiang รองผู้อำนวยการ CAAC ร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยมีนายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. และ Mr. Che Jin Jun, Director General of ATMB/CAAC ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ณ กระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งเน้นขับเคลื่อนและให้การสนับสนุนในการส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการจราจรทางอากาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการร่วมกันพัฒนาการให้บริการจราจรทางอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานและวิสัยทัศน์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์และแสดงบทบาทในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคของทั้งสองประเทศ ผ่านการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรทางอากาศ

อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศ เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค ขยายผลองค์ความรู้ด้านการบริหารการจราจรทางอากาศไปในวงกว้าง เป็นพื้นฐานการต่อยอดสังคมอุดมปัญญา หรือ Knowledge Based Society รวมถึงสานต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานด้านการจราจรทางอากาศของทั้งสองประเทศ

โดยประโยชน์ทางด้านการบริหารความคล่องตัวจราจรทางอากาศ ที่ได้รับจากบันทึกความเข้าใจฯ (MOU) ฉบับนี้ ประกอบด้วย

1. การร่วมพัฒนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กับศูนย์ Operational Management Center ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นศูนย์บริหารข้อมูลการจราจรทางอากาศของประเทศจะเป็นการยกระดับของการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการพัฒนาวิธีปฏิบัติด้าน Cross Border ATFM ตามมาตรฐาน ICAO

2. ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนสร้างช่องทางในการบูรณาการการจราจรทางอากาศในเส้นทางระหว่างประเทศ ทำให้สามารถพยากรณ์/ลดการออก Flight Restriction เช่น Minutes-in-trials หรือ Miles-in-trials ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน (ลด/ยกเลิกการบินวนรอเข้าน่านฟ้า) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์ของอุตสาหกรรมการบินพลเรือน ตามแนวทาง CORSIA

3. ประเทศไทย โดย บวท. จะได้ร่วมมือกับ ATMB/CAAC ในการร่วมกันพัฒนามาตรฐาน Cross Border ATFM ในเวที ICAO ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนนับเป็นรัฐภาคีที่มีบทบาทสูงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 15 กันยายน 2565

จุรินทร์ เร่งเครื่องส่งออกท้ายปี’65 สั่งทูตพาณิชย์ทั่วโลกทำแผนรุก เป้าทั้งปีโต 4%

“จุรินทร์” เร่งเครื่องส่งออกสินค้า ประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก ปรับแผน “รุก-ลึก” เจาะตลาดเก่า-ใหม่-เดิม พร้อมดัน 345 กิจกรรมส่งเสริมขาย คาดทำเงินเข้าประเทศเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ช่วงท้ายปี พร้อมยังคงเป้าหมายส่งออกทั้งปี 4% ขณะที่ครึ่งปีแรกส่งออกโตไปแล้ว 11.5%

วันที่ 14 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมสรุปแผนผลักดันการส่งออกเชิงรุกและเชิงลึก ครึ่งปีหลัง 2565 ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) 42 ประเทศ 58 สำนักงาน ว่า เพื่อปรับแผนงานในการผลักดันการส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์คงตัวเลขการส่งออกทั้งปี 2565 ขยายตัวที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9 ล้านล้านบาท ขณะที่การส่งออกครึ่งปีแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2565) พบว่ามีมูลค่า 5.774 ล้านล้านบาท ขยายตัว 11.5%

ทั้งนี้ การประชุมหารือเพื่อปรับแผนการส่งออกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่หลายประเทศเผชิญปัญหา โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งครามการค้า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาจีน-ไต้หวัน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ความผันผวนของค่าเงิน การขนส่งยังมีปัญหา

ดังนั้น เพื่อให้การส่งออกเป็นไปได้ตามเป้าหมาย จึงต้องปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประเทศคู่ค้าเผชิญอยู่ อีกทั้งตนได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกจัดทำแผนเชิงรุก-ลึก ให้ขยายการส่งออกไปในรายประเทศให้มากที่สุด โดยร่วมกับภาครัฐและเอกชน จากเดิมกำหนดกิจกรรมไว้ในการส่งเสริมการส่งออกในปี 2565 ไว้ที่ 185 กิจกรรม ปรับแผนใหม่เป็น 530 กิจกรรม มีกิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นอีก 345 กิจกรรมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพื่อทำให้ตัวเลขครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นกว่าเป้าเดิมที่ทำไว้

“345 กิจกรรม จะมีทั้งกิจกรรมเชิงรุกและเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นเร่งรัด Mini-FTA ส่งเสริมการค้าระบบออนไลน์ การจับคู่เจรจาธุรกิจ การนำซอฟต์พาวเวอร์ใส่สินค้าและบริการของไทย การให้ความสำคัญกับ BCG การเร่งรัดการเดินหน้าตามนโยบาย รักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่และฟื้นตลาดเก่า โดยมีมาตรการรายละเอียดเพิ่มเติมชัดเจน ในการเจาะตลาดใหม่มีรูปแบบชัดเจนมากขึ้น”

นอกจากนี้ การเจาะตลาดเมืองรองก็ยังเป็นเป้าหมายที่จะผลักดัน โดยมีเป้าหมายเจาะตลาดเมืองรองทั้งสิ้น 36 ประเทศ 105 เมือง เช่น การรุกตลาดซาอุดีอาระเบีย โดยตนได้นำคณะไปเจรจาการค้าซึ่งเน้นไปในกลุ่มสินค้าก่อสร้างและการให้บริการด้านการก่อสร้าง ซึ่งซาอุดีอาระเบีย มีนโยบายสร้างเมืองใหม่จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการของไทยในการเข้าไปทำการค้า การลงทุน ตลาดอื่นที่น่าสนใจเพิ่มเติม อาทิ ตลาดเฟอร์นิเจอร์ ตลาดสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะผู้บริโภคมุสลิมในมณฑลกานซู ของจีน ที่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจ รวมไปถึงตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นดาวเด่นในการส่งออกช่วงปีที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นตลาดยุโรป เป็นต้น

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 กันยายน 2565

ส.อ.ท.เปิดตลาดส่งออกซาอุดีอาระเบีย ลุยเกษตร-อาหาร-อุตสาหกรรม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ร่วมคณะผู้บริหารของกระทรวงพาณิชย์ ไปเจรจาการค้าการลงทุนกับภาครัฐและเอกชนของประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเร็วๆนี้ โดย ส.อ.ท.ในนามผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. หรือ JSCCIB) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เพื่อ จัดตั้ง Joint Business Council (JBC) กับสภาเอกชนของซาอุดีอาระเบีย เพื่อร่วมกันผลักดันและส่งเสริมขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร อุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆที่เกี่ยวเนื่องในตลาดซาอุดีอาระเบีย

“จะร่วมกันจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อเจรจาทางการค้า ซึ่งคาดการณ์ว่าสามารถทำการค้าร่วมกัน ซื้อขายสินค้าระหว่าง กันได้ 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการลงนามจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบียขึ้น เพราะขณะนี้ซาอุดีอาระเบียต้องการดึงนักลงทุนจากทั่วโลกและนักลงทุนจากไทย เพื่อไปร่วมโครงการพัฒนาประเทศ (Saudi Vision 2030) ที่ตั้งเป้านำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่อนาคตใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม กับนโยบายในการสร้างเมืองใหม่ที่มีชื่อว่า นีอุม NEOM (Saudi Arabia Smart City) เมืองไฮเทคแห่งอนาคตเชื่อมั่นว่าเอกชนไทยจะสามารถสร้างโอกาส โดยส่งออกสินค้าที่ช่วยหนุนนโยบายนี้ได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์, วัสดุก่อสร้าง, เหล็ก, ปูนซีเมนต์ เครื่องปรับอากาศ และอาหารฮาลาล เป็นต้น”.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 14 กันยายน 2565

ค่าเงินบาทวันนี้ (14 ก.ย.) เปิดตลาดอ่อนค่าพรวด 36.66 บาท เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ย 1%

ค่าเงินบาทวันนี้ (14 ก.ย.) เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 36.66 บาท อ่อนค่าถึง 1.1% หลังเงินเฟ้อสหรัฐสูงกว่าคาด หวั่นเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 1% โดยกรอบแนวรับวันนี้อยู่ที่ 36.50 บาท แนวต้าน 36.80 บาท

วันที่ 14 กันยายน 2565 รายงานจากห้องค้าเงิน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทวันนี้ (14 ก.ย.) เปิดตลาดอ่อนค่าที่ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นวันทำการก่อนหน้า โดยกรอบการเคลื่อนไหววันนี้คาดการณ์แนวรับที่ 36.50 บาท แนวต้านที่ 36.80 บาท

ทั้งนี้ เงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่ามากถึง 1.1% หลังจากที่เงินเฟ้อสหรัฐออกมามากกว่าที่ตลาดคาด ทำให้เงินไปเก็งกำไรดอลลาร์กันอีกรอบและตลาดบางส่วนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 100bps ในการประชุมสัปดาห์หน้า

โดยปัจจัยขับเคลื่อนตลาด ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐเดือนสิงหาคมออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด

ขณะที่ผลสำรวจคาดการณ์ภาวะธุรกิจของสหภาพยุโรปจัดทำโดยสถาบันซิวปรับลดลงไปอยู่ที่ -60.7 ในเดือนกันยายน

ส่วนอัตราการว่างงานอังกฤษปรับลดลงไปอยู่ที่ 3.6% ในช่วงสามเดือนถึงกรกฎาคม

ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตญี่ปุ่นขยายตัว 9.0% ต่อปี (YOY) ในเดือนสิงหาคม

ส่วนในประเทศ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ (14-16 ก.ย.) ได้แก่ รายงานเงินเฟ้ออังกฤษ และ ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐในวันนี้, ดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐวันพฤหัสบดี และดัชนียอดค้าปลีกจีนกับความเชื่อมันสหรัฐในวันศุกร์

จาก https://www.prachachat.net วันที่ 14 กันยายน 2565

เครื่องผลิต “ไฮโดรเจน” จาก “รถตุ๊กตุ๊กเอทานอล” ทางเลือกใหม่ของพลังงาน

มจธ.ผลิต “พลังงานไฮโดรเจน” ที่ได้จาก “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเอทานอล” ขับเคลื่อนพลังงานสะอาดสู่ชุมชนขนาดเล็ก และมีแพลนต่อยอดไปสู่โรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีการปลดปล่อยมลพิษซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ทราบหรือไม่ว่า กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานไฟฟ้าที่ไทยผลิตได้นั้น มาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นเดียวกับน้ำมัน

จึงเป็นที่มาของ “รถยนต์ไฮโดรเจน” ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “รถยนต์พลังงานสะอาดที่สุดในโลก” เพราะไฮโดรเจนเป็นธาตุที่แทบจะไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก เนื่องจากพลังงานเหล่านี้แฝงอยู่ในแต่ละโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณ เช่น สารเคมีจำพวกไฮโดรคาร์บอน หรือในสิ่งที่เราอุปโภคและบริโภค เช่น น้ำ หรือ น้ำทะเล และสิ่งที่ได้จากการทำปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าของก๊าซไฮโดรเจน ร่วมกับก๊าซออกซิเจนที่มีอยู่ในอากาศ

ณัฐพล วงศ์เยาว์ นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คิดค้น “โครงการผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่จากแอลกอฮอล์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาเทคนิคในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากเอทานอล ที่สามารถผลิตได้โดยใช้อ้อยและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต

ทั้งนี้ ได้พัฒนาระบบการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากเอทานอลโดยใช้ชุดท่อปฏิกรณ์ความร้อนสูงที่ใช้นิเกิล (Ni) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ภายใต้กระบวนการปฏิรูปด้วยไอน้ำ ในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนในรูปแบบของ syngas (H2 CH4 CO CO2) ที่มีองค์ประกอบไฮโดรเจนมากกว่า 90% ที่มีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย และสามารถเคลื่อนที่ขนย้ายได้

โดยได้เลือกนำเครื่องผลิตไฮโดรเจนมาต่อกับเครื่องผลิตไฟฟ้า เพื่อแปลงไฮโดรเจนให้เป็นกระแสไฟฟ้าผ่านชุดเซลล์เชื้อเพลิงแบบออกไซด์แข็ง (SOFC) ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงหลัก คือ H2 และยังสามารถใช้ CH4 และ CO ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กลายเป็น “ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเอทานอลขนาดเล็ก (Minimal)” และ “นำไปติดตั้งบนรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจากพลังงานเอทานอล”

จากต้นทุนราว 7 หมื่นบาท (ไม่รวมตัวรถ) จะสามารถผลิตก๊าซไฮโดรเจนให้แก่ชุดเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 1 kW โดยใช้เอทานอลเฉลี่ย 0.23 l/hr และในการทดสอบการเคลื่อนที่ของรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าคันนี้ที่มีน้ำหนักประมาณ 480 kg และใช้มอเตอร์ขับเคลื่อน 1 Hp สามารถวิ่งได้จริงที่ความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

“สำหรับการนำเซลล์ผลิตไฟฟ้าจากเอทานอลไปใช้งานจริงกับรถยนต์ไฮโดรเจนเหมือนรถตุ๊กตุ๊กคันนี้ อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนาเพื่อลดความซับซ้อนของระบบ รวมถึงการผลักดันนโยบายที่ชัดเจนจากทางภาครัฐบาล เช่นเดียวกับมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่เราสามารถนำเอทานอลมาผลิตไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟฟ้าภายในรถยนต์ไฟฟ้าได้โดยตรง”

จุดเด่นของระบบการผลิตไฟฟ้าจากเอทานอลที่มีขนาดเล็ก คือ สามารถเคลื่อนย้ายได้ และมีการบำรุงรักษาที่ไม่ยุ่งยาก ใช้สำหรับการนำมาแก้ปัญหาด้านพลังงานให้กับชุมชนขนาดเล็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลที่ระบบสายส่งไฟฟ้ายังไปไม่ถึง หรือพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้

“เมื่อนำชุดผลิตก๊าซไฮโดรเจนจำนวนหลายๆ ตัวมาต่อกันก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้นตามจำนวนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เพิ่มขึ้น จาก 1 กิโลวัตต์ เพิ่มเป็นหลายร้อยกิโลวัตต์ ทำหน้าที่เป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับระบบไฟฟ้าของชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเป็นสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมันทำงานได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ต่างจากระบบโซล่าเซลล์ที่ใช้ได้เฉพาะช่วงที่มีแสงแดด”

ในส่วนของงานวิจัยในระยะต่อไปนั้น ณัฐพล อธิบายว่า จะยุบรวมระบบผลิตก๊าซไฮโดรเจนและระบบผลิตกระแสไฟฟ้าให้อยู่ในระบบเดียวกัน เพื่อเป็นการลดปริมาณชิ้นส่วนและความซับซ้อนลง ทำให้ได้ขนาดระบบรวมเล็กลง ซึ่งจะทำให้ชุดผลิตไฮโดรเจนจากเอทานอลขนาดเล็กตัวนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีต้นทุนด้านพลังงานที่ลดลงต่อไป รวมถึงการประยุกต์ใช้งานก๊าซไฮโดรเจนกับเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น เครื่องยนต์ หรือ ระบบเผาไหม้ความร้อนสูงที่ใช้กับภาคอุตสาหกรรม

โครงการผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่จากแอลกอฮอล์ จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามของนักวิจัยไทยที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง กลุ่ม SMEs ที่ผลิตแอลกอฮอล์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นแอลกอฮอล์

อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสถียรภาพและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ตามหลักการของ BCG พร้อมกับแสดงถึงการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกตามพันธสัญญาที่ให้กับประชาคมโลก (COP26) ไปพร้อมกัน

จาก https://www.bangkokbiznews.com  วันที่ 13 กันยายน 2565

‘ซับคอน อีอีซี 2022’คึกคักเจรจาธุรกิจ414คู่

นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการเจรจาจับคู่ธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรืองาน “ซับคอน อีอีซี 2022” (Subcon EEC 2022)ซึ่งจัดคู่กับงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Automation)โดยความร่วมมือระหว่างบีโอไอ กับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 24-26สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการจัดงานครั้งแรกในพื้นที่ภาคตะวันออก ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีการจับคู่ธุรกิจรวม 414 คู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,450 ล้านบาท

“การจับคู่ธุรกิจที่เกิดขึ้นมีทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี ผลตอบรับที่ดีเกินคาดครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ ที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะยกระดับภาคการผลิตไทยให้เป็นศูนย์กลางผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับภูมิภาคเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” นางสาวซ่อนกลิ่นกล่าว

สำหรับการจัดงาน Subcon EEC 2022 ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานเกือบ 4,000 คนโดยบีโอไอนำผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตร เข้าร่วมกว่า 80 บริษัท โดยมีผู้ซื้อรายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติกว่า 40 บริษัท โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจในครั้งนี้

“จากความสำเร็จในครั้งนี้ บีโอไอจึงมีแผนจะจัดงานนี้เป็นประจำทุกปีควบคู่กับงานซับคอนที่กรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวและสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยในอนาคต” นางสาวซ่อนกลิ่นกล่าว

ทั้งนี้ งาน Subcon Thailandซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จะจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 10-13 พฤษภาคม 2566 และ Subcon EECจะจัดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 4-6 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565

จับกระแสพลังงาน :ไทยต้องถอดบทเรียนวิกฤตพลังงานในหลายประเทศ

ผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้ส่งผลสะเทือนแค่ประเทศไทยเท่านั้นไม่ต้องอื่นไกล ประเทศใกล้บ้านเวลานี้ต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์พลังงานกันถ้วนหน้าเราจะเห็นภาพคนต่อคิวยาวที่ปั๊มน้ำมันในหลายๆ ประเทศ ล่าสุด ที่อินโดนีเซียประกาศลดการอุดหนุนราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล ทำให้ระดับราคาน้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลเพิ่มถึง 30% และมีการวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเสี่ยงต่อการประท้วงต่อต้านครั้งใหญ่

ประเทศในแถบเอเชีย อย่าง “ศรีลังกา”ก็กำลังเผชิญวิกฤตหลายด้านวิกฤตพลังงาน วันก่อนมีเวทีเสวนาออนไลน์ของกระทรวงพลังงานเรื่อง “ถอดบทเรียนวิกฤตพลังงานโลก” ได้เชิญตัวแทนคนไทยในต่างแดนมาแชร์ประสบการณ์ มีข้อคิดน่าสนใจ ที่เราน่าจะนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน คนไทยในศรีลังกาก็แชร์ข้อมูลว่า วิกฤตพลังงานทำให้ใช้ชีวิตลำบากขึ้น ช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการขาดแคลนน้ำมันส่งผลให้การขนส่งเกิดความไม่ต่อเนื่อง เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภค-บริโภคในซูเปอร์มาร์เก็ตแทบจะไม่มีของเลย มีการกักตุนสินค้า แต่ขณะนี้การขนส่งเริ่มดีขึ้นรัฐบาลได้เข้ามาดูแลโดยใช้นโยบายตรึงราคาสินค้าหลายอย่าง ทั้งน้ำมัน แก๊ส อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นถึง 50-60% จากเดิมปีที่แล้วเงินเฟ้อราว 10-15%

ด้านไฟฟ้าของศรีลังกาเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการหยุดจ่ายไฟเป็นระยะเวลายาวนาน 10-16 ชั่วโมง จึงจะสามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ด้านน้ำมัน ในช่วงเดือนพฤษภาคม ต้องต่อคิวที่ปั๊มยาว 4-5 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีคิวยาวเหยียดให้เห็นแล้ว เนื่องจากรัฐบาลศรีลังกาได้รับความช่วยเหลือจากอินเดียและหลายประเทศที่ส่งน้ำมันเข้ามาช่วยบรรเทาการขาดแคลน อีกทั้งรัฐบาลได้มีการจัดคิวนำระบบคิวอาร์โค้ด มาบริหารจัดการในการเข้าเติมน้ำมันที่ปั๊มทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

อีกสักตัวอย่างจากประเทศ “ญี่ปุ่น”ที่มีเศรษฐกิจอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก แต่ญี่ปุ่นก็ต้องนำเข้าพลังงานมากเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน บวกกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงมาก ทำให้การนำเข้าพลังงานแพงขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วคนญี่ปุ่นปรับตัวอย่างไร เรื่องนี้น่าสนใจเพราะโดยภาพรวม คนญี่ปุ่นปรับตัวไปแล้วตั้งแต่มีปัญหาวิกฤตฟูกุชิมะ ซึ่งตอนนั้นมีปัญหาเรื่องขาดแคลนไฟเช่นกัน คนญี่ปุ่นจึงมีความคุ้นเคยกับปัญหาวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะมีเสียงบ่นของประชาชนผ่านโลกออนไลน์บ้าง แต่ก็ยังไม่มีการประท้วงเรื่องราคาพลังงานแต่อย่างใด

กลับมาดูที่บ้านเรา นอกจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาช่วยบรรเทาผลกระทบด้านราคาพลังงานไปแล้วหลายระลอก ก็ยังมีมาตรการด้านผู้ใช้ที่เร่งให้เกิดการลดใช้พลังงานอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม โดยภาครัฐประกาศตัวนำร่องก่อนด้วยการวางเป้าหมายให้หน่วยงานของภาครัฐลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันลง 20% และใช้เป้าหมายนี้เป็นตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ของหน่วยงาน พร้อมทั้งเร่งภาคประชาชน ภาคเอกชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 26-27 องศาเซลเซียส ปิดลิฟต์บางตัวในช่วงที่มีการใช้งานน้อย การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 การวางแผนก่อนการเดินทางโดยรถยนต์ เป็นต้น…

เพราะตอนนี้ไม่มีทีท่าเลยว่าราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันจะปรับลดลงได้เมื่อใด แต่ที่รู้แน่ๆ คือทั้งโลกเชื่อว่าจะยังคงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป ตราบที่สถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงอยู่ และตราบเท่าที่สหรัฐฯและหลายชาติพันธมิตรของสหรัฐฯในยุโรปยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอยู่เช่นนี้ ดังนั้นก็ต้องยอมรับว่ามาตรการต่างของรัฐที่จะนำมาช่วยพยุงราคาเชื้อเพลิง และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ก็มีขอบเขตจำกัด เพราะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

ดังนั้นมาตรการหลายรูปแบบที่เสนอแนะให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงานนั้น ถึงแม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้เรื่องประหยัดพลังงานไม่เป็นเพียงแค่การรณรงค์ชั่วครั้งชั่วคราวอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องที่ฝังลึกเป็นวิถีปฏิบัติของคนรุ่นใหม่ในอนาคต ที่ยังคงต้องรับมือกับความผันผวนด้านพลังงานที่จะเกิดขึ้นอีกยาวนาน

จาก https://www.naewna.com วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565

ชาวไร่บุกกระทรวงอุตฯ พรุ่งนี้ กดดันมติ ครม.เพิ่มอ้อยสด 120 บาทต่อตัน

ตัวแทนชาวไร่อ้อย 4 องค์กรเตรียมนัดรวมพลที่กระทรวงอุตสาหกรรม 13 ก.ย.นี้เพื่อรอฟังมติ ครม.ในวันดังกล่าวจะเคาะเพิ่มค่าอ้อยสด 120 บาทต่อตันหรือไม่หลังปิดหีบมานานแต่ไม่คืบ จี้รัฐถึงเวลาปรับราคาหน้าโรงงานหลังต้นทุนพุ่ง จับตาเริ่มมีกระบวนการลักลอบขนน้ำตาลออกนอกประเทศหลังราคาเพื่อนบ้านสูงกว่า

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตัวแทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยเบื้องต้นราว 300 คนได้นัดที่จะเดินทางไปรอฟังคำตอบของมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 ก.ย.นี้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับความคืบหน้าเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 อัตราตันละ 120 บาท

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า 4 องค์กรชาวไร่อ้อยที่ประกอบด้วย 37 สมาคมฯ จะนำตัวแทนชาวไร่อ้อยทั้งหมดสมาคมฯ ละ 1 รถตู้ไปรอฟังคำตอบ ครม. 13 ก.ย. หากมีมติจ่ายค่าอ้อยสดเราก็จะขอบคุณนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม แต่หาก ครม.ไม่อนุมัติก็คงจะหารือกำหนดท่าทีกันต่อไป

“วันนี้ชาวไร่อ้อยลำบากเราตัดอ้อยสดตามนโยบายทั้งที่ต้นทุนต่างๆ ขึ้นไปมากจนปิดหีบมานานแล้วเงินนี้ก็ยังไม่อนุมัติ และฤดูผลิตปี 65/66 ต้นทุนทั้งปุ๋ย ค่าแรง น้ำมันทุกอย่างขึ้นไปอย่างมาก ต้นทุนเราสูงถึง 1,400 บาทต่อตัน มันถึงเวลาแล้วที่รัฐเองก็ต้องมองในเรื่องของการปรับขึ้นราคาหน้าโรงงาน ขณะที่ราคาตลาดโลกรวมพรีเมียมเฉลี่ย 22 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แล้ว” นายธีระชัยกล่าว

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ที่ปรึกษาบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า จากระดับราคาน้ำตาลทรายขายปลีกประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูงกว่าไทยทำให้เริ่มพบกระบวนการลักลอบนำน้ำตาลทรายในประเทศออกไปตามแนวชายแดนมากขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจกระทบต่อปริมาณน้ำตาลทรายบริโภคในประเทศเกิดภาวะขาดแคลนได้เช่นอดีตที่เคยเป็นมาดังนั้นจึงต้องติดตามใกล้ชิด

“ราคาน้ำตาลทรายตลาดโลกเฉลี่ยรวมพรีเมียม 21-22 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคาน้ำตาลทรายขาวขายปลีกประเทศเพื่อนบ้านเฉลี่ยขณะนี้มีราคาสูงราว 29-30 บาทต่อ กก. ส่วนราคาขายปลีกของไทยบรรจุถุงขนาดกิโลกรัม (กก.) ปรับไปอยู่ราว 23 บาทต่อ กก. ขณะที่ราคาหน้าโรงงานคงเดิม 17.25-18.25 บาทต่อ กก. ทำให้ส่วนต่างของกำไรสูงขึ้นมาก จึงมีการออกตั๋วน้ำตาลบริโภคในประเทศแต่ขนออกไปตามแนวชายแดน” นายบุญถิ่นกล่าว

ปัจจุบันราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานที่ใช้คำนวณราคาอ้อยของไทยยังคงเดิม โดยน้ำตาลทรายขาวธรรมดาอยู่ที่ 17.25 บาทต่อ กก. และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธ์อยู่ที่ 18.25 บาทต่อ กก. ขณะที่น้ำตาลทรายบรรจุถุง 1 กก.มีการปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งราคาขายปลีกที่ปรับขึ้นไม่ได้นำมาสู่การคำนวณในระบบทำให้ฝ่ายชาวไร่อ้อยเองเสียเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องนี้ ซึ่งล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จึงอยู่ระหว่างพิจารณาต้นทุนการผลิตและการเพาะปลูกอ้อยเพื่อนำมาสู่กระบวนการพิจารณาราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามสูตรราคาแบบ Cost Plus

แหล่งข่าวจาก สอน.กล่าวว่า เบื้องต้นจากการพิจารณาทิศทางต้นทุนต่างๆ ที่ทั้งฝ่ายชาวไร่และโรงงานเสนอมายอมรับว่ามีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง โดยตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการที่ราคาหน้าโรงงานน้ำตาลจะปรับขึ้นอยู่ที่ราว 2.75 บาทต่อกก. แต่ทั้งนี้คงจะต้องหารือกับทุกฝ่ายก่อนเป็นมติ กอน.อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ล่าสุดตัวแทนฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายได้ยื่นลาออกจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ กอน. เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไข ที่มีการเพิ่ม “กากอ้อย” ในบทนิยามในผลพลอยได้ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์นำมาแบ่งปันรายได้ ดังนั้น การพิจารณาระดับนโยบายก็อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขาดองค์ประชุมจึงต้องมองหาแนวทางอื่นๆ

จาก https://mgronline.com วันที่ 12 กันยายน 2565

กรมเจรจาฯ เผย ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประชุม ATIGA นัดแรกในรอบ12ปี

กรมเจรจาฯ เผยไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ATIGA ครั้งแรก ในรอบ 12 ปี มุ่งหารือปรับปรุงโครงสร้างความตกลงให้ทันสมัย เปิดกว้าง เน้นเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค หวังหนุนมูลค่าการค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกของคณะเจรจายกระดับความตกลง ATIGA (Trade Negotiating Committee for the ATIGA Upgrading Negotiation: ATIGA TNC) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2565 ณ จังหวัดกระบี่ เพื่อหารือแผนงานการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA)

โดยมีเป้าหมายปรับปรุงความตกลง ATIGA ให้อาเซียนเป็นตลาดเดียว และเคลื่อนย้ายสินค้าภายในภูมิภาคได้อย่างเสรี ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างอาเซียน ซึ่งได้ลงนามเมื่อปี 2552 และมีผลบังคับใช้ในปี 2553 ให้สอดคล้องกับการพัฒนาในภูมิภาคและระดับสากล และเปิดกว้างสำหรับประเด็นใหม่ๆ ในทิศทางของโลกในอนาคต

เช่น การยกระดับให้พิธีการศุลกากรของประเทศสมาชิกสอดคล้องกับมาตรฐานสากล (Customs Modernisation) ที่มีความสะดวกและง่ายต่อการตรวจปล่อยสินค้ากรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน (Express Consignment) การค้ากับสิ่งแวดล้อม (Trade and Environment) การสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เข้าถึงตลาดในภูมิภาคมากขึ้น การเชื่อมโยงระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) เป็นต้น

สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมคณะเจรจาฯ จะประกอบด้วยหัวหน้าคณะเจรจายกระดับความตกลง ATIGA (ATIGA TNC Lead) ของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประธานคณะทำงานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ คณะเจรจาด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า คณะเจรจาด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า

คณะเจรจาด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช คณะเจรจาด้านมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิคและกระบวนการตรวจสอบและรับรอง คณะเจรจาด้านการเยียวยาทางการค้า และคณะเจรจาด้านกฎหมายและสถาบัน

“การประชุมของคณะเจรจาฯ ในช่วงปลายเดือนนี้ จะเป็นการเจรจายกระดับความตกลงในรอบ 12 ปี เพื่อให้ความตกลง ATIGA เป็นความตกลงที่สอดคล้องกับสภาวะการค้าในปัจจุบัน และรองรับทิศทางการค้าในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาคที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้าในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น” นางอรมนเสริม

อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 110,868.81 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 20.5% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียนมูลค่า 19,430.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกและนำเข้าจากอาเซียนเป็นอันดับหนึ่ง ในสัดส่วน 23% และ 17% ของมูลค่าการค้าไทยกับโลกตามลำดับ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น น้ำมันสำเร็จรูป ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 12 กันยายน 2565

EXIM BANK-กรมการค้าต่างประเทศเปิดงานจับคู่เจรจาธุรกิจ

EXIM BANK จับมือกรมการค้าต่างประเทศ ส่งเสริมนวัตกรรมสินค้าเกษตรไทย จับคู่เจรจาธุรกิจเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เป็นประธานเปิดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจงานวิจัยสินค้าเกษตรนวัตกรรม Agri-Tech Innovation Connection 2022 : นวัตกรรมสินค้าเกษตรไทยแห่งอนาคต

จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อต่อยอดผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมสินค้าเกษตรที่พร้อมใช้ประโยชน์ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานสนับสนุน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน

โดยมี นายชลัช รัตนบุญนิธิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับ พร้อมนำทีมร่วมให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อพัฒนาต่อยอดสินค้าในเชิงพาณิชย์

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 12 กันยายน 2565

“กอบศักดิ์” แนะดู7ปัจจัย ตปท.กระทบส่งออก-ค่าบาท

“กอบศักดิ์” แนะติดตาม7ปัจจัยต่างประเทศส่งผลกระทบส่งออก-ค่าเงินบาท ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนกดดันราคาพลังงานสูงต่อเนื่อง

 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวอภิปราย เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานโลก ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 ว่า ได้ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี2566 ว่าจะขยายตัวได้ 3-4%

โดยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3% แต่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม อยู่ 7 ประเด็นจากต่างประเทศ คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ รัสเซีย และจีน 2.การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางต่างๆ 3.การลดลงของเงินเฟ้อโลก 4.การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 5.การเริ่มของ Global Recessions 6.การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะชัดเจนขึ้น 7.การก่อตัวของ Emerging Market Crisis

โดยหลังจากนี้ สิ่งที่จะกระทบกับผู้ประกอบการ คือ โอกาสของการส่งออกที่ลดลงจากต้นทุนสินค้าที่จะยังผันผวน อัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวนและค่าเงินบาทที่จะมีแรงกดดันไปอีกระยะ ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเมื่อวิกฤตจีนลุกลาม, วิกฤต Emerging Market จะมีหางเลขกระทบมาไทยช่วงหนึ่งเช่นกัน, การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ธปท. มองว่า สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.25% และหลังจากนั้นจะติดตามความชัดเจนของสภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศว่าจะเป็นอย่างไร

ด้านทิศทางราคาน้ำมันในระยะถัดไปคาดจะอ่อนตัวลง ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามบานปลาย, Geopolitics ระหว่างสหรัฐและจีนที่ลุกลามบานปลายขึ้นจากสงครามการค้า

จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 12 กันยายน 2565

เกษตรกรอ่วม GISTDA รายงานน้ำท่วมขัง พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 9 หมื่นไร่

GISTDA รายงาน ภาพถ่ายดาวเทียมชี้ น้ำท่วมขังแล้วกว่า 5 แสนไร่ในหลายจังหวัดแถบ 6 ลุ่มน้ำ พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 9 หมื่นไร่ ส่วนลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ยังท่วมขังกว่า 2 แสนไร่

GISTDA ใช้ดาวเทียม Sentinel-1 ของวันที่ 10 กันยายน 2565 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด พบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้วจำนวน 573,855 ไร่ ในหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางประกง ได้แก่ นครสวรรค์ 114,110 ไร่  พิจิตร 110,286 ไร่ สุโขทัย 105,044 ไร่ พิษณุโลก 66,486 ไร่ พระนครศรีอยุธยา 48,015 ไร่ ปราจีนบุรี 29,434 ไร่ อ่างทอง 14,204 ไร่

เพชรบูรณ์  12,946 ไร่ สุพรรณบุรี 10,716 ไร่ อุทัยธานี 10,645 ไร่ ชลบุรี 8,860 ไร่ ฉะเชิงเทรา 8,704 ไร่ สระบุรี 6,772 ไร่ ชัยนาท 6,746 ไร่ ลพบุรี 5,998 ไร่ กาญจนบุรี 5,643 ไร่ อุตรดิตถ์  5,410 ไร่ นครปฐม  1,478 ไร่ นครนายก 1,355 ไร่ ขอนแก่น 739 ไร่ นครราชสีมา  263 ไร่ ในขณะที่พื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 93,396 ไร่

ส่วนลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ยังท่วมขังกว่า 2 แสนไร่ โดยข้อมูลจากดาวเทียม Cosmo-SkyMed-1 พบพื้นที่น้ำท่วมขัง 222,458  ไร่ บริเวณบางส่วนของจังหวัด #กาฬสินธุ์  12,463 ไร่ #บุรีรัมย์  3,985 ไร่ #มหาสารคาม  19,530 ไร่ #ยโสธร  25,521 ไร่ #ร้อยเอ็ด  73,021 ไร่#ศรีสะเกษ  28,226 ไร่ #สุรินทร์  46,933 ไร่ #อำนาจเจริญ  400 ไร่ #อุดรธานี  101 ไร่ และ #อุบลราชธานี  12,278 ไร่ โดยพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบแล้วทั้งสิ้น 131,227 ไร่

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

บรรยายหัวข้อ ความรู้เบื้องต้นด้านการส่งออก เป็นต้น”

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 11 กันยายน 2565

สุริยะ เผย ก.อุตเดินหน้าเหมืองแร่โพแทชลดต้นทุนปุ๋ยเกษตร โครงสร้างปลอดภัยไม่กระทบสวล.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยผ่านรายการ “คุยเรื่องบ้าน เรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี” ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่พบว่าราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์โดยช่วงรอบปีที่ผ่านมาราคาปุ๋ยเคมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากหลายปัจจัยรวมกันได้แก่ การขึ้นราคาของแก๊สธรรมชาติ และน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตปุ๋ยเคมี สงครามในยูเครน ประกอบกับการจำกัดการส่งออกของผู้ผลิตปุ๋ยที่สำคัญ เช่น รัสเซีย และจีน ซึ่งราคาปุ๋ยเคมีเริ่มมีราคาสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น การหาทางออกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรไทย ด้วยการแก้ปัญหาปุ๋ยเคมีระยะยาวคือ โครงการเหมือนแร่โพแทช เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา โดยการนำแร่โพแทช มาสกัดเป็นปุ๋ยโพแทชซึ่ง เป็น 1 ใน 3 ของธาตุอาหารหลักของพืชใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยในปีนี้ (2565) ราคาปุ๋ยโพแทชภายในประเทศ ปรับขึ้นจากตันละ 9,000 บาท เป็นตันละ 25,600 บาท และมีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก

สำหรับโครงการเหมืองแร่โพแทชจะอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ถูกต้องและคำนึงถึงองค์ประกอบทุกส่วนเป็นสำคัญ ทั้งความปลอดภัยของตัวเหมือง การขุดเจาะที่ไม่ทำให้ดินยุบ โครงสร้างที่แข็งแรงและด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการทำเหมืองแล้วจะต้องไม่เกิดผลกระทบกับแหล่งน้ำ ดิน ฝุ่น การปนเปื้อนจากเกลือซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐจะต้องกำชับกับบริษัทผู้ประกอบกิจการให้มาก

ขณะเดียวกันเชื่อมั่นว่าโครงการเหมืองแร่โพแทชจะทำให้ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อีสานตอนบนเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญโดยเฉพาะธุรกิจปุ๋ยซึ่งหากมีการทำเหมืองแร่โพแทชก็ลดการนำเข้าปุ๋ยโพแทชประมาณ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยสูงเป็นอันดับ 5 ในทวีปเอเชีย โดยนำเข้ามาจากประเทศแคนาดา รัสเซีย เบลารุส และเยอรมนีที่สำคัญคือ เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยได้ในราคาที่ถูกลงไม่น้อยกว่า 20% เพราะไม่ต้องเสียค่าขนส่งมาจากต่างประเทศอีกต่อไป

จาก  https://www.matichon.co.th วันที่ 11 กันยายน 2565

NEA  เสริมแกร่งให้เกษตรกร จัดอบรมเกษตรยุคใหม่ ออนไลน์ทั่วโลก

NEA  เสริมแกร่งให้เกษตรกรจัดอบรมเกษตรยุคใหม่ ออนไลน์ทั่วโลก  ครั้งที่ 3 เปิดโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหารของไทย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่าโครงการ เกษตรยุคใหม่ ออนไลน์ทั่วโลก เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการที่ทำสินค้าเกษตรของไทยทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้ได้รับความรู้ด้านการส่งออก ด้านการค้าออนไลน์ ด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น

โดยการจัดอบรมในรูปแบบสัมมนาเชิงทฤษฎีและปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์สถาบัน NEA ได้เชิญกูรูในด้านการทำสินค้าการเกษตรและผู้รู้การค้ายุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จขายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ Thaitrade.com ไปรษณีย์ไทย DHL EXPRESS และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

มาเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการกว่า1,000ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

“โครงการเกษตรยุคใหม่ ออนไลน์ทั่วโลก ที่จัดขึ้นระหว่างระหว่างเดือนเมษายน - กันยายน 2565เป็นการจัดอบรมด้วยกัน 3 ครั้งในปีนี้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้สนใจทั่วไป เนื้อหาในหลักสูตรเน้นให้ความรู้ความเข้าใจในด้านการค้าระหว่างประเทศ การสร้างแรงบันดาลใจ และการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อาทิ การบรรยายหัวข้อ ความรู้เบื้องต้นด้านการส่งออก เป็นต้น”

จาก  https://www.thansettakij.com วันที่ 9 กันยายน 2565

ปิดฉากแล้ว! มหกรรมงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล เอทานอล และการเกษตร ครั้งที่ 3 ที่ จ.ขอนแก่น

ไฟร์เวิร์คสร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน 3 สมาคมหลักอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม หนุนการจัดงาน Sugarex Thailtand และ Agri Expo 2022 มหกรรมงานครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดอุตสาหกรรมอ้อย, น้ำตาล, เอทานอล และการเกษตร ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งที่ 3 การจัดงาน Sugarex Thailand และAgi Expo 2022 การจัดงานในครั้งนี้ มุ่งเพิ่มชีดความสามารถการผลิตอย่างยั่งยืน สู่อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล และเกษตร 4.0 และเพื่อตอกย้ำศักยภาพของประเทศในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลทรายอันดับ 2 ของโลก อีกทั้งเป็นการรวมตัวของนักวิซาการ ผู้ประกอบการ นักลงทุนคู่ค้าทั่วแถบทวีปเอเชีย

วันนี้ 8 กันยายน 2565เมื่อเวลา 09.30 น.  ที่บริเวณหน้าฮอลล์ 2 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (ไคซ์) จังหวัดขอนแก่น นายจารึก  เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Sugarex Thailand @ Agri Expo Thailand 2022  โดยมีนายสามารถ น้อยวัน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม, Mr.Kenny Yong กรรมการผู้จัดการบริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย (ไทยแลนด์) ,นางปุณฑริกา แสนฤทธิ์ ผู้จัดการ บริษัท ไฟร์เวิร์คส มีเดีย (ไทยแลนด์) ,ดร.เทพวรรณ์ เตียมไธสง รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ,นายพิพันน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด ,นายดร  สีโสภาเลขาธิการ ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ,นายรังสิต เฮียงราช ผู้อำนวยการ บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัดหัวหน้าส่วนราชการ และแขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง ร่วมงาน อย่างคับคั่ง

นายสามารถ  น้อยวัน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า "สอน. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกและต้านการเก็บเกี่ยวโดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการบริหารจัดการในไร่อ้อยให้มากขึ้น มีความเจริญก้าวหน้า สามารถแข่งชันในตลาดโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน"และในปีนี้ สอน. ได้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ การปรับตัวของเกษตรกรซาวไร่ไทย ยุค 4.0 และในงานประชุมน้ำตาลนานาชาติ "Sugar Industry Outlook and Forecast in Southeast Asia"

 นางปุณฑริกา แสนฤทธิ์ ผู้จัดการบริษัท ไฟร์เวิร์ตส มีเดีย (ไทยแลนด์) กล่าวว่าการจัดงาน Sugarex Thailand แล: Agri Expo 2022 ครั้งที่ 3 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 89 กันยายน 2565 ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท ไทยชูการ์ มิลเสอร์ จำกัด องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ100 ราย หน่วยงาน ร่วมกันจัดงาน ซึ่งกิจกรรมในงานประกอบด้วย ประชุมน้ำตาลนานาซาติ สัมมนาทางเทคโนโลยี และงานแสดงสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล และการเกษตร 

นางปุณฑริกา กล่าวเพิ่มเติมว่าส่วนภายในงาน ยังมีเวทีสัมมนาเทคโนโลยี Smart Farm เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตอย่างยั่งยืน สู่อุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล และเกษตร 4.0 ซึ่งเปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจได้เข้าฟังสัมมนาฟรี ที่บริเวณ เวทีสัมมนางาน Sugarex Thailand และ Agri Expo 2022 เป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆปี และเป็นงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ด้านอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาล เอทานอส และการเกษตร ซึ่งภายในงาน จะได้พบกับผู้ผลิต เครื่องจักร อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการผสิตชั้นนำจากต่างประเทศที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาล รวมถึงในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล และเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยอย่างครบวงจร สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถข้ามาชมงานได้วันที่ 8 - 9 กันยายน 2565 เวลา 10.00 - 17.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น (KICE) จังหวัดขอนแก่น

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565

ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งสกัดเงินเฟ้อ-ลดหนี้เสีย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา “การกอบกู้และก้าวต่อของเศรษฐกิจไทย The Great Reset” ว่า เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โจทย์ขณะนี้คือ การทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่มีจุดสะดุดจนเกินไปได้อย่างไร และจุดที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจสะดุด เรื่องแรกคือ เงินเฟ้อที่สูง และหากปล่อยให้สูงจนเกินไปจะกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมาก ขณะที่โจทย์ที่ 2 คือ การดูแลสถานะ และหนี้สินของกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งช่วยให้ระบบธนาคารยังทำงานได้ปกติ เราไม่อยากเห็นการไม่ยอมปล่อยสินเชื่อใหม่ของแบงก์ และไม่อยากเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ธปท.มีความจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น โดย กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้หลุดไปจนควบคุมไม่ได้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะทำโดยไม่ให้กระทบประชาชนมากเกินไป โดยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เหมาะกับบริบทของประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว และการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ขณะนั้น เช่น หากบางช่วงจำเป็นต้องหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อน ก็จะทำ แต่ถ้าช่วงไหนขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.25% ก็ทำได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน ภายใต้การปรับขึ้นดอกเบี้ยสิ่งที่ต้องทำคือต้องดูแลภาระหนี้สินของกลุ่มเปราะบาง ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โครงการพักทรัพย์พักหนี้ การเติมเงินใหม่ รวมทั้ง มาตรการต่างๆที่ใช้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตลอดก็ยังทำต่อไป”

ผู้ว่าการ ธปท. ยังได้กล่าวต่อถึงทิศทางนโยบายในอนาคตของ ธปท.ว่า เรื่องแรกที่ ธปท.ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คือ การปรับระบบการเงินไทยเพื่อรองรับการไปสู่ระบบการเงินดิจิทัล ขณะที่แนวทางที่ 2 คือ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของไทยที่อยู่ในอันดับต้นๆในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับนโยบายที่เปลี่ยนสู่เศรษฐกิจสีเขียวทั่วโลก โดยนโยบายจะให้ระบบการเงินไทยเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่น มีการวางพื้นฐานระบบมาตรฐานกลางของธุรกิจสีเขียว เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อในอนาคตที่คำนึงถึงธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ขณะที่อีกปัญหาที่ต้องดูแลคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเป็นปัญหาที่อยู่มายาวนาน ซึ่งแม้ไม่สามารถแก้ได้ในเร็ววัน แต่จะต้องมีความพยายามแก้ไขแบบยั่งยืน.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565

Thai Water Expo 2022 สุดยอดงานแสดงเทคโนโลยีด้านการจัดการน้ำและน้ำเสีย

งาน Thai Water Expo 2022 (THW) งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำและน้ำเสียงานเดียวในประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนเดินหน้าจัดงาน ชูแนวคิด การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 ประเด็นเรื่องการขาดแคลนน้ำ ถูกหยิบยกขึ้นมาในเวทีการประชุมสุดยอดระดับโลกอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มสหประชาชาติ ( UNSDG ) ระบุว่าขณะนี้ร้อยละ 40 ของคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำ ทางอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านการจัดแสดงสินค้าและกิจกรรมสำหรับการเจรจาธุรกิจ ระดับนานาชาติ ผนึกกำลังหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคการศึกษา จัดงาน Thai Water Expo 2022 (THW) โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6 และในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Integrating Technology for Sustainable Water Management Towards SDGs" หรือ "การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งสู่การบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสานด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่             

ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กล่าวว่า “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เรามีเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งในแง่ของการจัดการน้ำท่วม น้ำแล้งและคุณภาพน้ำ โดยดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งที่ผ่านมา สทนช.ได้ขยายผลผ่านการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ อาทิ ระบบ Thai Water Plan เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ , ระบบ ONE MAP เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์น้ำ รวมทั้งระบบ Thai Water Resources เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำแหล่งน้ำทั่วประเทศ”

“การจัดงาน Thai Water Expo 2022 ถือเป็นหนึ่งโอกาสสำคัญในการร่วมกันพาไทยไปสู่ความพร้อมในการสร้างสังคมสะอาดและขานรับต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามหลัก SGDs ของสหประชาชาติที่มุ่งมั่นจะให้มีน้ำเพื่อใช้ประโยชน์และมีการจัดการน้ำและสุขาภิบาลสำหรับทุกคน นับเป็นเป้าหมายที่เป็นความท้าทายสำคัญที่จะเข้าถึงสำหรับทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทย” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย          

ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราเชื่อมั่นความมั่นคงทางน้ำจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนในวันข้างหน้า ทาง วิศวฯ จุฬาฯ เดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนเปิดเวทีให้นักศึกษาคิดค้นงานวิจัยต่างๆ ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนความรู้จากนักวิจัย วิศวกร นักวิชาการ ชั้นนำทั้งของไทยและอาเซียน เพื่อร่วมกันตกผลึกและสร้างประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการน้ำ     

“โดยในปีนี้ทาง วิศวฯ จุฬาฯ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดการประชุมนานานาชาติ Water Forum ในห้อข้อ “Enhance the Caps of Water Resource Management to Cope with Climate Change in Post COP26” หรือ “ยกระดับการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลัง COP26” ภายในงาน THW 2022  โดยในฟอรั่มนี้ได้รับเกียรติจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลากหลายภาคส่วน จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานด้านเงินและการลงทุนเฉพาะด้านน้ำ มาให้ข้อมูลเพื่อร่วมกันสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญและมองหาโอกาสใหม่ๆเกี่ยวกับจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขสภาพภูมิอากาศในอนาคต พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการจัดแสดงผลงานวิจัยและโครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ต่อการต่อยอดการจัดการน้ำในมิติต่างๆ” ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวเสริม              

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า Thai Water Expo 2022 (THW) ถือเป็นงานแสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติ ด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียงานเดียวในประเทศไทย ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Integrating Technology for Sustainable Water Management Towards SDGs" หรือ การบูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการจัดการน้ำสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในครั้งนี้เราได้ยกทัพนวัตกรรมที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการน้ำและน้ำเสีย จากแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Yokogawa, Nagase, Kuraray และจากพาวิเลียนสวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมด้านการจัดการน้ำดีและน้ำเสีย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการดูแลทรัพยากรน้ำให้ทันสมัยและขยายผลในการยกระดับการจัดการน้ำในอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป      

เตรียมพบกับงาน Thai Water Expo 2022 จะจัดขึ้นร่วมกับงาน ASEAN Sustainable  Energy Week 2022 งานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ครบครันที่สุดในภูมิภาค ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2565 ณ ฮอลล์ 1-2 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

จาก https://www.banmuang.co.th วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565

ส.อ.ท.แนะปรับตัวสู่4.0 ในวิกฤตยังมีโอกาส

ส.อ.ท.ชี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวสู่ยุค 4.0 มองในวิกฤตยังมีโอกาส ขณะแบรนด์ไทยยังส่งออกได้มากขึ้น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกำลังปรับตัว จากกระแสการ Disruption ที่รุนแรง อุตสาหกรรมจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมไปสู่ 4.0 ให้ได้

โดยปัญหาจรกโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวดับหมด เครื่องยนต์สำคัญของประเทศไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว ก่อนการเกิดโรคโควิดระบาดนั้น ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน

ทำจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของ GDP ประเทศ โดยช่วงโควิดเหลือเครื่องยนต์ตัวเดียว คือ “ภาคการส่งออก” ช่วงนั้นอุตสาหกรรมต้องผลิตภายใต้สถานการณ์ที่มีโรคระบาด ทำอย่างไรที่ทำให้การผลิตต่อเนื่องและแม้จะรอดมาได้ แต่มีส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบอยู่

ขณะเดียวกัน วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ถึงแม้จะไกลจากประเทศไทย แต่ก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่อง “เงินเฟ้อ” ที่เกิดจากราคาพลังงาน และสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงการขาดแคลนอาหารของโลก และความเสี่ยงต่อเรื่องของ Supply Chain

อย่างไรก็ตามมองว่าในทุกวิกฤตมีโอกาส และไม่ได้แย่ไปทั้งหมด แบรนด์ไทยยังส่งออกได้มากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล ทั้งการซื้อของออนไลน์ Streaming work from home อุตสาหกรรมการแพทย์ยารักษาโรค อาหารเสริมเติบโตขึ้นมาก

เหล่านี้กลายเป็นเทรนด์ใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม จากเสน่ห์ที่มีแรงงานเยอะ ค่าแรงถูก ที่ดินราคาไม่แพง แต่เป็นอดีตไปแล้ว ขณะที่ เพื่อนบ้านก็เป็นคู่แข่งที่เข้มแข็ง

บริษัทต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทยก็ไม่มามากเท่าเดิม ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง อุตสาหกรรมของคนไทยบางอย่างยังต้องย้ายฐานเช่นกัน ดังนั้นเราต้องเร่งปรับตัว

 จาก https://www.innnews.co.th วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2565

‘สมาคมวิทยาการวัชพืช’จี้หน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งหาทางกำจัด‘หญ้าแม่มด’ภัยคุกคาม‘ไร่อ้อย’

วันที่ 5 กันยายน 2565 เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย. ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย โพสต์ข้อความระบุว่า

สมาคมฯเตือนภัยมาหลายปีแล้ว..ว่าพบการระบาดของหญ้าแม่มด (Witch weed) ชนิดดอกสีขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Striga angustifolia พบในแหล่งปลูกอ้อยจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ ปี 2560 แต่ดูเหมือนเรื่องนี้จะไม่มีการเตือนภัยจากหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง ด้วยเหตุผลว่า "เกรงจะมีผลกระทบต่อการส่งออก..หากประเทศคู่ค้าทราบว่าประเทศไทยมีการระบาดของหญ้าแม่มด"

การเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เพราะเกรงจะกระทบการส่งออก แต่ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ต้องทำอะไรเลย  เพราะหญ้าแม่มด ไม่ใช่วัชพืชกาฝากในอ้อยเท่านั้น แต่สามารถดูดกินน้ำเลี้ยงในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอื่นๆได้ด้วย เช่น ข้าวไร่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง วัชพืชใบแคบ (เช่น หญ้าคา หญ้าตีนกา หญ้าตีนกา หญ้ารังนก หญ้าปากควาย หญ้าตีนติด หญ้านกสีชมพู และหญ้าพง เป็นต้น)

ทำไมทั่วโลกกลัวอันตรายร้ายแรงของหญ้าแม่มด

เพราะหญ้าแม่มด..เป็นกาฝากที่ราก (root parasite) หลังจากงอก จะแทงรากที่เรียกว่า haustorium  เข้าไปในรากพืชอาศัยเพื่อดูดกินน้ำเลี้ยงในขณะที่ยังอยู่ใต้ดินไม่มีแสงแดด หลังจากแข็งแรงดีแล้ว.หญ้าแม่มด จะโผล่ขึ้นมาพ้นผิวดินเป็นต้นเล็กๆสูงไม่เกิน 30 เซนติเมตรอยู่รอบๆพี่อาศัยได้จะออกดอกติดเมล็ดอยู่ในดิน

สิ่งที่น่ากลัว‼คือเมล็ดหญ้าแม่มดจะมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน 15-20 ปี  เนื่องจาก เมล็ดมีขนาดเล็กมากคล้ายฝุ่น.จึงสามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดข้าวฟ่างหรือ ข้าวได้.. ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทั่วโลกตั้งข้อรังเกียจเมล็ดหญ้าแม่มด.. ไม่ต้องการให้ติดไปกับเมล็ดพันธุ์ที่จะเข้าไปขายในประเทศของเขา

หญ้าแม่มดมดในอ้อย..ไม่ใช่มีเฉพาะประเทศไทย แต่มีรายงานพบในหลายประเทศ เช่นอินเดีย อินโดนีเซีย และ ออสเตรเลีย  น่าสนใจว่า.วิธีการแก้ปัญหาหญ้าแม่มดในอ้อยของประเทศออสเตรเลียทำอย่างไร แต่ที่แน่ๆคือ ออสเตรเลียไม่ได้เก็บเป็นความลับเหมือนประเทศไทย ทำไมเค้าไม่กลัวถูกกีดกันทางการค้า..โปรดติดตามตอนต่อไป

จาก https://www.naewna.com วันที่ 6 กันยายน 2565

เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยงทำส่งออกไทยปีนี้ป่วน

เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยง ทำส่งออกไทยอ่วม ชี้เงินเฟ้อโลก  ราคาพลังงาน  ค่าระวางเรือ ขาดแคลนวัตุดิบ ตัวการหลักทำส่งออกไทยป่วน สรท.ชี้ครึ่งปีหลังเข้าสู่ภาวะขยายตัวแบบถดถอย เหตุประเทศผู้ซื้อออเดอร์สินค้าล่วงหน้าไปแล้ว ลุ้นท้ายปีมีคำสั่งซื้อจากเทศกาลต่างๆ

ผ่านมาครึ่งปีแล้วที่การส่งออกไทยยังคงอยู่ในแดนบวกมาต่อเนื่องแต่เป็นการขยายตัวที่ลดลง  โดยเดือนก.ค. ไทยมีการส่งออกไปมูลค่า23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมขยายตัว 4.1%)

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289.8 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 ขาดดุลเท่ากับ 3,660.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 139,911 ล้านบาท

โดยภาพรวมการส่งออกไทยในเดือนมกราคม - กรกฎาคมของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,774,277 ล้านบาท ขยายตัว 22.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม - กรกฎาคมขยายตัว 8.3%)

ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,192,216 ล้านบาท ขยายตัว 33% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม-กรกฎาคมของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 9,916.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 417,939 ล้านบาท

แม้ว่าตัวเลขส่งออกไทยจะยังคงขยายตัวในทิศทางที่เป็นบวกอยู่แต่ก็เ)นการขยายตัวที่ลดลง เนื่องจากมีการออเดอร์สินค้าล่วงหน้าไปตั้งแต่ไตรมาส1-2 แล้วดังนั้นในไตรมาส3และไตรมาส4 การส่งออกจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ประกอบกับยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ค่อนข้างหืดขึ้นคอสำหรับภาคเอกชน ซึ่งคงต้องลุ้นปลายปีว่าในเทศกาลต่างๆทั้งคริสมาส ปีใหม่จะมีออเดอร์เพิ่มหรือไม่

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผย  ปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกไทยในปีนี้ทั้งนี้ยังคงมี4ปัจจัยหลักๆ

 สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง IMF คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2565 ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลดตัว

 ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง  ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

 สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง อีกทั้งค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

เปิด 4 ปัจจัยเสี่ยงทำส่งออกไทยปีนี้ป่วน

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเองมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลให้เร่งช่วยเหลือหรือเยียวยาทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน เช่น  ขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป รวมถึงช่วยพิจารณาควบคุมหรือตรึงอัตราค่าไฟฟ้า (ค่า FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนออกไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ผู้ผลิต  ภาคครัวเรือน ต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านการผลิตและค่าใช้จ่ายประจำวันที่สูงจนเกินไป  และให้ภาครัฐช่วยพิจารณาอนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 6 กันยายน 2565

ชาวไร่อ้อยประกาศลั่น หากรัฐไม่ช่วย 10 ก.ย. บุกพบ 'ประวิตร' ถึงทำเนียบฯ

ชาวไร่อ้อยประกาศลั่น หากรัฐไม่ช่วย 10 ก.ย. บุกทวง ‘ประวิตร’ ถึงทำเนียบฯ ทันที โอดรอไม่ได้ เกษตรกรเดือดร้อนจริงๆ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 ก.ย.2565 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน พร้อมด้วยนายกสมาคมชาวไร่อ้อยจาก 20 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า การจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และการช่วยเหลือเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี ในอัตราตันละ 120 บาท

นายธีระชัย กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ถึงเงินช่วยเหลือที่ต้องได้รับ จึงทำให้มีความกังวล เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนนี้ในการลงทุนปลูกอ้อยในฤดูกาลผลิตหน้าในเดือน ต.ค. 2565 หากรัฐบาลยังไม่จ่ายเงินช่วยเหลือให้ก็จะทำให้เกษตรกรไม่มีเงินในการจ้างแรงงาน ซื้อปุ๋ย และลงทุนอื่นๆ จะส่งผลกระทบทั้งเรื่องการนำเงินไปใช้จ่ายหนี้สินด้วย

“สำหรับเงินช่วยเหลือนี้มาจากมติ ครม. วันที่ 1 พ.ค.2564 เห็นชอบแนวทางและหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตัดอ้อยสด ในอัตราตันละ 120 บาท เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและแบ่งเบาภาระเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการตัดอ้อยสด เนื่องจากต้องลงทุนเพิ่ม”

” สถาบันชาวไร่อ้อยและสมาชิกชาวไร่อ้อยทั่วประเทศได้รับทราบนโยบายของรัฐบาล พร้อมที่จะดำเนินการปฏิบัติตามแนวทางที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดไว้ แต่ชาวไร่อ้อยรอไม่ได้ วันนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเดือดร้อนจริงๆ”

“ฝนตกลงมาเตรียมเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกอ้อย แต่ไม่มีเงินซื้อปุ๋ย ไม่มีเงินใช้หนี้ ทนไม่ไหวแล้ว เพราะหากไม่ออกมาเคลื่อนไหว รัฐบาลก็ไม่รับฟังเสียงของเรา และหากภายในวันที่ 10 ก.ย. 2565 ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศจะเคลื่อนพลเข้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงเงิน”

นายธีระชัย กล่าวต่อว่า สำหรับอัตราเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการตัดอ้อยสดกว่า 200 บาท ใช้คน ใช้รถตัด ซึ่งเป็นต้นทุนของชาวไร่อ้อย ที่รัฐบาลรับปากว่าจะช่วยเหลือ ซึ่งชาวไร่อ้อยยินดีสนองนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด วันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอไปยัง ครม. เพื่อให้รัฐมนตรีเห็นชอบเพื่ออนุมัติงบประมาณ ช่วยเหลือเกษตรกรโดยผ่าน ธ.ก.ส. ทราบว่าจะมีการเสนอเข้า ครม. แต่ผ่านมากว่า 1 เดือน แล้วก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

“ชาวไร่อ้อยไม่มีที่พึ่งแล้ว จึงมารวมตัวกัน เพื่อหารือกับสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ หามติในที่ประชุมว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร วันไหน เพราะรัฐบาลยังนิ่งเฉยต่อปัญหาของชาวไร่ และภายในอังคารนี้หากเงินเรื่องการช่วยเหลือยังไม่เข้าประชุม ครม. เกษตรกรชาวไร่อ้อยทุกจังหวัดที่มีอ้อย เตรียมเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลทันที” นายธีระชัย ทิ้งท้าย

จาก https://www.khaosod.co.th วันที่ 5 กันยายน 2565

กรมวิชาการเกษตร คุมคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า ป้องหลอกขายเกษตรกร

มนัญญา สั่งคุมเข้มคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า ขณะกรมวิชาการเกษตร ลงเรือตรวจติดตามการนำเข้าจากเรือใหญ่ เชื่อแนวโน้มราคาอาจลดลง ชี้ 3 ปีซาอุติดโผนำเข้ามากสุด ไร้เงา ยูเครน-รัสเซีย

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า  ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร   ตรวจเข้มคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า(สูตร 46-0-0)  เพื่อให้เกษตรกรของไทยได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพที่ดี และคุณสมบัติถูกต้องตามที่สำแดง  และเป็นการป้องกันการปลอมปนของปุ๋ยด้อยคุณภาพ 

 ทั้งนี้คาดว่าจากนี้ไปราคาปุ๋ยน่าจะมีโอกาสลดลง เนื่องจากปริมาณปุ๋ยยูเรียที่ภาคเอกชนขอนำเข้าเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคม 2565  มีการนำเข้าแล้ว  1.25 ล้านตัน   จาก ปี 2564 มีการนำเข้าทั้งปี 1.96  ล้านตัน  ปี25 63 นำเข้า 2.1 ล้านตัน ปริมาณเกือบเท่ากับการนำเข้าในช่วงภาวะปกติก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย  ที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุทำให้ปุ๋ยมีราคาแพงเพราะเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญ 

“ ทั้งนี้ปุ๋ยยูเรียที่นำเข้าย้อนหลังปี 2563- กรกฎาคม. 2565 พบว่า 12 อันดับที่ไทยนำเข้านั้นไม่มีชื่อของประเทศยูเครนและรัสเซีย  โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบีย  การตาร์และมาเลเซีย   ซึ่ง 3 ประเทศนี้ ไทยนำเข้ารวมกว่า 80%   ดังนั้นราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอ้างเหตุจากสงครามน่าจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริง

ซึ่งกำลังให้กรมวิชาการเกษตรไปช่วยดูว่าจะทำอย่างไรให้ปุ๋ยมีราคาลดลงเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะหากเกษตรอยู่ไม่ได้  ไม่มีเงินซื้อ ธุรกิจต่อเนื่องก็เดือดร้อนเช่นกัน จึงหวังว่าจะเกิดความร่วมมือช่วยเหลือกันทุกฝ่าย” นางสาวมนัญญากล่าว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  วันที่  4 กันยายน 2565 ได้ลงเรือตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย  ร่วมกับกองทัพเรือ   โดยตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย 46-0-0  จากเรือใหญ่ และการขนถ่ายปุ๋ยยูเรีย รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่นข้าว  และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในบริเวณทะเลรอบเกาะสีชัง และท่าเรือเอกชน เขตพื้นที่ชายฝั่ง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

โดยเฉพาะมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามและควบคุมการนำเข้าปุ๋ยเคมีในลักษณะการนำเข้าแบบเทกอง (Bulk) เพื่อป้องกันการนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.  2518  พร้อมกับสร้างความมั่นใจถึงมาตรการในการควบคุมการนำเข้าปุ๋ยยูเรียจากต่างประเทศของกรมวิชาการเกษตรที่จะมีมาตรการและแนวทางการปฏิบัติในการควบคุมการนำเข้าจากแหล่งผลิตต้นทางจากต่างประเทศ   และกำหนดให้เอกชนที่ขอนำเข้าต้องมีการขึ้นทะเบียนขอเป็นผู้นำเข้า มีการขึ้นทะเบียนผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าในประเทศรวมถึงการขอนำเข้า

“ กรมวิชาการเกษตรจะมีการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยยูเรียเป็นรายชิปเมนต์ทั่วประเทศก่อนจะมีการตรวจปล่อยออกสู่ตลาด  รวมถึงมีกระบวนการติดตามตรวจสอบโดยได้กำชับให้สารวัตรเกษตร และสารวัตรเกษตรอาสา ทั่วประเทศเฝ้าระวังไม่ให้มีปุ๋ยด้อยคุณภาพวางจำหน่ายในตลาด "

 เนื่องจากปุ๋ยยูเรียมีความสำคัญในระบบการผลิตทางการเกษตร หากปุ๋ยด้อยคุณภาพก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกษตรกร  พร้อมนี้ ได้เน้นย้ำนโยบายการป้องกันการลักลอบสวมสิทธิ์สินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย

อนึ่ง การนำเข้าปุ๋ยยูเรียของไทยนั้น  ปี  2563  มีการนำเข้า 2.1 ล้านตัน   ปี 64 มีการนำเข้า 1.96  ล้านตัน และปี  65 ( ม.ค. – ก.ค.) มีการนำเข้าแล้วประมาณ 1.25 ล้านตัน     สำหรับในช่วงเดือนสิงหาคมมีการขอนำเข้าปุ๋ยยูเรีย46-0-0 ผ่านช่องทางทะเลบริเวณ เกาะสีชัง และได้แจ้งขออนุญาตนำเข้ากับกรมวิชาการเกษตร และผ่านพิธีการศุลกากร จำนวน  74,109.83 ตัน  

 โดยแหล่งผลิตปุ๋ยยูเรียที่สำคัญและประเทศไทยนำเข้าใน 3 ปีที่ผ่านมา อันดับ 1-12  คือ 1.ซาอุดิอาระเบีย ปี 63  นำเข้า 1.01 ล้านตัน  ปี 64  นำเข้า8.2 แสนตัน ปี 65 (ม.ค.- ก.ค.)  นำเข้า  5.9 แสนตัน  2.กาตาร์ ปี 63 นำเข้า 5.4 แสนตัน  ปี 64 นำเข้า3.2 แสนตัน  และครึ่งปี 65 นำเข้า 2.5 แสนตัน  3.มาเลเซีย ปี 63 นำเข้า3.2  แสนตัน ปี 64 นำเข้า 3.2 แสนตัน และครึ่งปี 65 นำเข้า 2.1 แสนตัน  4.  โอมาน 5.บาห์เรน 6. เวียดนาม 7.จีน 8.ญี่ปุ่น 9.สเปน 10.อินโดนีเซีย 1 1.อุซเบกิสถาน 12.บรูไน

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 กันยายน 2565

กวก.นครสวรรค์ 1 อ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่

อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนับเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 2 ใน 3 ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท

ที่สำคัญอ้อยเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนนอกจากการแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายแล้วยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายชนิด รวมทั้งนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

“การยกระดับผลผลิตและปริมาณอ้อยให้เพียงพอต่อความ ต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดคือ พันธุ์อ้อย แต่การปรับปรุงพันธุ์อ้อยต้องใช้ระยะเวลานาน 10-12 ปีถึงจะได้พันธุ์ดี และพันธุ์อ้อยที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK92-110 เป็นพันธุ์ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้พบการระบาดของโรคมากขึ้น ที่สำคัญการใช้พันธุ์อ้อยพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งในสัดส่วนที่มากเกินไป จะก่อให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากศัตรูพืชมีการปรับตัวจนสามารถเข้าทำลายอ้อยพันธุ์นั้นได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้พันธุ์อ้อยที่เคยให้ผลผลิตสูงมีผลผลิตลดลง”

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า หลังจาก ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ใช้เวลาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยมานาน 12 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ล่าสุดได้อ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่ “กวก.นครสวรรค์ 1” เป็นพันธุ์ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์แม่ Q76 และพันธุ์พ่อ CP63-588

ลักษณะเด่นของอ้อยโรงงานพันธุ์ใหม่ มีความหวานสูงถึง 15.77 ซีซีเอสสูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และพันธุ์ขอนแก่น 3 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.82 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 ให้ผลผลิตอ้อยไร่ละ 18.02 ตัน ทรงกอตั้งตรงสะดวกต่อการเก็บ เกี่ยวด้วยแรงงานคนหรือใช้เครื่องจักร

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยอีกว่า อ้อยพันธุ์ “กวก.นครสวรรค์ 1” เป็นทางเลือกให้กับชาวไร่อ้อยอีกพันธุ์หนึ่ง โดย เฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินร่วน ร่วนเหนียวและดินเหนียว เขตน้ำฝน ได้แก่ จังหวัดนคร สวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครราชสีมา

นอกจากนั้น อ้อยโรงงานพันธุ์ยังจะช่วยยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะค่าความหวานที่สูงถึง 15.77 ซีซีเอส จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น โดยค่าความหวานมาตรฐาน 10 ซีซีเอส และ 1 ซีซีเอสที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ได้ราคาเพิ่มอีก 6% ของราคาต่อตันอ้อย

เกษตรกรที่สนใจอ้อยพันธุ์ กวก. นครสวรรค์ 1 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โทร. 0-5624-1019.

จาก https://www.thairath.co.th วันที่ 5 กันยายน 2565

กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงพื้นที่

กรมส่งเสริมการเกษตรได้นำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มีเป้าหมายพัฒนาภาคการเกษตรสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง มาเป็นกรอบในการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วย BCG Model แบบบูรณาการเชิงได้จับมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาคีระดับพื้นที่และระดับนโยบาย รวมถึงการพัฒนาต่อยอดจากฐานการพัฒนาที่มีอยู่แล้วให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจนต่อเกษตรกรและชุมชน สร้างรายได้ กระจายผลประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

จาก tna.mcot.net วันที่ 5 กันยายน 2565

‘เงินบาทแข็งค่า’เปิดตลาดที่ 36.72บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทอาจส่งสัญญาณกลับตัว แข็งค่าขึ้นได้จากสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของ RSI ที่เริ่มก่อตัวขึ้น และยังผันผวนอ่อนค่าได้ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติ และทิศทางราคาทอง มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (5ก.ย.) ที่ระดับค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.72 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ36.74 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.35-36.95 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อนึ่ง เงินบาทอาจส่งสัญญาณกลับตัว แข็งค่าขึ้นได้จากสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของRSI ที่เริ่มก่อตัวขึ้น ทั้งนี้ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ (ล่าสุด ราคาทองคำเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทราว 62%)

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์อาจผันผวน “Sideways”โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB โดยหาก ECB เร่งขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อาจช่วยพยุงค่าเงินยูโรและกดดันเงินดอลลาร์

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย มาตรการ Lockdown ในจีน และวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรป กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง ถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ชี้ว่า ตลาดมองเฟดมีโอกาส 57% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกันยายน สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้น ตลาดประเมินว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนสิงหาคม อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการบริการสหรัฐฯขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของตลาดบ้านสหรัฐฯ ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยบ้านตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญในสัปดาห์นี้ จะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจะหนุนให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +0.75% สู่ระดับ 0.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อใหม่ของ ECB ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากเผชิญกับวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองของอังกฤษ หลังพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) จะประกาศผลการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนาย Boris Johnson โดยมีความเป็นไปได้ว่า นายกฯ อังกฤษคนใหม่อาจเป็น นาย Rishi Sunak อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในตลาดการเงินทั้ง Investment Bank และ Hedge Fund

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอาจสะท้อนผ่านยอดการส่งออกของจีน (Exports) ในเดือนสิงหาคม ที่จะโตราว +12%y/y ลดลงจาก +18% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) อาจขยายตัวเล็กน้อย +1.1%y/y สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) รวมถึง ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.35% (ขึ้น 0.50%) และ 2.25% (ขึ้น 0.25%) ตามลำดับ หลังเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวดีขึ้นรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

ฝั่งไทย – เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคมอาจเร่งขึ้นเล็กน้อย +0.1% จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 7.92% โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจที่หนุนให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยกเว้นราคาสินค้าพลังงานปรับตัวขึ้นต่อได้ ส่วนการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นปัจจัยที่กดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งนี้ เราคงมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง (แต่ไม่สูงเกินคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปมาก) และการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 28 กันยายนได้

จาก https://www.bangkokbiznews.com วันที่ 5 กันยายน 2565

เงินเฟ้อยุโรปพุ่งนิวไฮ 9.1%  คาด ECB ขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% สัปดาห์หน้า

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 8 ก.ย. นี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ 9.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราเป้าหมาย 2% ของ ECB มากกว่า 4 เท่า

นายริคคาร์โด มาร์เซลลี ฟาบิอานี นักวิเคราะห์จากออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิคส์ เปิดเผยว่า เงินเฟ้อ ที่พุ่งขึ้นจะกดดันอุปสงค์ ฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และส่งผลให้ เศรษฐกิจยูโรโซน เข้าสู่ ภาวะถดถอย ในฤดูหนาวนี้

ขณะที่นายมาดิส มูลเลอร์ ประธานธนาคารกลางเอสโทเนีย กล่าวว่า ECB ควร ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 8 ก.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงนิวไฮในเวลานี้ "ผมคิดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ควรเป็นตัวเลือกหนึ่งในการประชุมเดือนก.ย. เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อยังไม่ดีขึ้น"

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ECB ควรเข้มงวดในการใช้นโยบายการเงิน เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไป และขณะนี้อยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ 2% ของ ECB มากกว่า 4 เท่า

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยล่าสุดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2540 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.0% จากระดับ 8.9% ในเดือนก.ค.

นอกจากนี้ ดัชนี CPI ยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้ที่ระดับ 2%

นางอิสซาเบล ชนาเบล กรรมการ ECB ระบุเช่นกันว่า ECB ควรจะใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 0.50% ในการประชุมเดือนก.ย.นี้  แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยได้       

สื่อรายงานว่า ดัชนี CPI ของยูโรโซนทำสถิติปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 9 เดือนแล้ว โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน ขณะที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่แผ่กระจายไปทั่วยุโรป รวมทั้งการทำสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนด้วย

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ ECB ให้ความสำคัญ ดีดตัวสู่ระดับ 5.5% ในเดือนส.ค. จากระดับ 5.1% ในเดือนก.ค.

จาก https://www.thansettakij.com วันที่ 1 กันยายน 2565